เรื่องเด่น ทำไมตั้งใจจะละอาสวะให้หมดไป จึงไม่หมดไปได้อย่างใจ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย สติจงมา, 17 พฤษภาคม 2017.

  1. สติจงมา

    สติจงมา สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2017
    โพสต์:
    47
    กระทู้เรื่องเด่น:
    20
    ค่าพลัง:
    +191
    [​IMG]

    สนทนาธรรมภาคปฏิบัติ ปฏิปัตติวิภัชน์
    พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
    จากหนังสือ จิตตภาวนา มรดกล้ำค่าทางพุทธศาสนา

    ผ. ถามว่า การปฏิบัติก็มุ่งต่อความพ้นจากกิเลส แต่ทำไมตั้งใจจะละอาสวะให้หมดไป จึงไม่หมดไปได้อย่างใจ

    ฝ. ตอบว่า อาสวะเป็นกิเลสที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา ต้องอาศัยอริยมรรคที่เป็นกุศลพ้นเจตนาจึงละไว้ได้ การตั้งใจละนั้นเป็นกุศลที่ประกอบด้วยเจตนา เพราะฉะนั้นจึงละอาสวะไม่ได้ คงละได้แต่กิเลสที่ประกอบด้วยเจตนา แต่ก็ละได้ชั่วคราว ภายหลังอาจเกิดขึ้นได้อีก เพราะเป็นโลกิยกุศล

    ผ. พูดว่า อ้อ อย่างนี้นี่เล่า ข้าพเจ้าไม่รู้ว่ากิเลสที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา ต้องละด้วยกุศลที่พ้นจากเจตนา คือ อริยมรรค ส่วนกิเลสที่ประกอบด้วยเจตนา เป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป ต้องละด้วยกุศลที่ประกอบด้วยเจตนา ซึ่งเป็นกรรมวัฏฝ่ายบุญ

    ฝ. พูดว่า ถ้าตั้งใจจะละอาสวะได้ง่าย ๆ เหมือนอย่างตั้งใจทำกรรมวัฏฝ่ายบุญแล้ว พระอรหันต์ก็คงหาได้ง่าย ๆ ในโลก พระอริยสงฆ์คงไม่น่าอัศจรรย์เท่าไหร่ แม้พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี เสขบุคคล ๓ จำพวกนี้ก็ต้องอาศัยอริยมรรค ซึ่งเป็นกุศลที่พ้นจากเจตนา จึงจะฆ่าสังโยชน์ได้

    ผ. ถามว่า เมื่อกุศลที่พ้นจากเจตนายังไม่เกิดขึ้น เราจะทำอย่างไร เพราะท่านอธิบายว่า กุศลที่ประกอบด้วยเจตนานั้นฆ่าสังโยชน์ไม่ได้ ต้องอาศัยอริยมรรคที่เป็นกุศลพ้นจากเจตนาจึงจะฆ่าสังโยชน์ได้ขอท่านจงอธิบายในเรื่องกุศลที่พ้นจากเจตนา คือ อริยมรรคให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ฝ. ตอบว่า ท่านถามปัญหาถึงเรื่องรู้เห็นในอริยมรรคอย่างนี้ ข้าพเจ้าไม่มีปัญญาจะตอบ เพราะผู้บรรลุอริยมรรคนั้น ต้องเป็นพระอริยะตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไปจึงจะตอบถูก เพราะท่านเคยบรรลุอริยมรรค แต่ถึงเช่นนั้นท่านก็ปิดคุณธรรมของท่าน

    ผ. พูดว่า เมื่อตอบตัดปัญหาเช่นนี้ ก็ไม่มีเค้าเงื่อนว่าจะทำในใจอย่างไรถูก ขอท่านจงอธิบายไปตามแนวพระพุทธภาษิต จะได้เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งมรรคและผล เสียแรงอุตส่าห์เดินมาหาในเวลากลางคืน ขอท่านจงอธิบายในเรื่องอริยมรรคให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ฝ. พูดว่า ท่านจะมาเค้นถามในเรื่องอริยมรรค เหมือนจะมาเอาหนวดเต่าเขากระต่ายในข้าพเจ้าให้ได้ จะต้องค่อย ๆ นึกถึงพระพุทธสุภาษิตที่ได้สดับมาเสียก่อน ท่านจงมีสติสงบใจให้พ้นนิวรณ์ ที่เรียกว่า สมาธิ และพิจารณาธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง คือ ธาตุดิน ๑๙ มีผม ขน เล็บ ผัน หนัง เป็นต้น แยกออกไปให้เป็นส่วน ๆ ธาตุน้ำ ๑๒ แยกออกไปให้เป็นส่วน ๆ ธาตุลม ๖ แยกออกไปให้เป็นส่วน ๆ ธาตุไฟ ๔ ก็แยกออกไปให้เป็นส่วน ๆ และอากาศธาตุ วิญญาณธาตุ เมื่อแยกกระจายออกไปเป็นส่วน ๆ แล้ว พึงพิจารณาดูตามความเป็นจริงให้เห็นเป็นสักแต่ว่า ดิน สักแต่ว่าน้ำ สักแต่ว่าไฟ สักแต่ว่าลม สักแต่ว่าอากาศ และสักแต่ว่าวิญญาณ ทั้ง ๖ อย่างนี้ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ คน เรา เขา ใคร ๆ ก็ไม่มี ให้เห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างไร และ ธาตุ ๖ นี้เป็นแต่กองสังขาร อาศัยปัจจัย คือ อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และนามรูป จึงเกิดขึ้น เมื่อปัจจัยเหล่านี้ดับไป ธาตุ ๖ ก็ย่อมดับไป เมื่อพิจารณาไป ๆ ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในธาตุเหล่านั้น และเมื่อเบื่อหน่ายแล้ว ก็จะคลายจากความกำหนัดในธาตุทั้ง ๖ นี่แหละ คือ อริยมรรค พ้นจากอาสวะ คือ วิมุตติอริยผล ข้าพเจ้าอธิบายให้ท่านฟังตามแบบที่ได้สดับมา จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ตามพระพุทธสุภาษิตที่ข้าพเจ้าบรรยายให้ฟังนี้ จะได้ไม่เสียเวลาที่ท่านอุตส่าห์มาหากลางคืน

    ผ. ถามว่า ท่านอธิบายเรื่องสงบใจให้พ้นนิวรณ์จนเป็นอารมณ์เดียวแล้ว จะพิจารณาอย่างไรได้ เพราะเวลาที่พิจารณานั้น ใจยังคงไม่สงบ จึงคิดถึงธาตุได้หลาย ๆ อย่าง เวลาที่อยู่บนเขา ข้าพเจ้าปรารภความเพียรมีสติรู้สึกตัวอยู่ ไม่ส่งใจไปคิดอย่างอื่น มีอารมณ์อันเดียวจนลืมกาย ไม่รู้สึกตัว เสวยสุขอันเกิดแต่วิเวก จะคิดอะไร ๆ ก็คิดไม่ออก คงมีแต่รู้กับเฉย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เข้าใจในเรื่องพิจารณาธาตุ ๖ ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ฝ. ตอบว่า การพิจารณานั้น ไม่ใช่ให้นึกหรือคิด คือ มีสติสงบใจให้เป็นอารมณ์เดียวแล้ว จึงสังเกตดูว่า อย่างนี้ธาตุดิน อย่างนี้ธาตุน้ำ อย่างนี้ธาตุไฟ อย่างนี้ธาตุลม อย่างนี้ธาตุอากาศ อย่างนี้วิญญาณธาตุ แล้วสังเกตดูความเกิดขึ้นของธาตุ ๖ และความดับไปของธาตุ ๖ ให้เห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างไร ไม่ใช่ให้นึกหรือคิด เพราะความคิดนั้น ปิดความเห็น เพราะฉะนั้นจึงต้องสงบใจ ไม่ให้มีนึกมีคิด วิธีพิจารณานั้น ท่านคงเข้าใจว่าใช้ความนึกคิด เพราะใจที่ยังไม่สงบนั้น การปฏิบัติจึงใช้นึก ใช้คิด ก็เป็นชั้นสัญญา ไม่ใช่ชั้นปัญญา เพราะปัญญานั้นไม่ใช่คิดหรือนึกเอา เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นต่อจากจิตที่สงบแล้ว และพ้นจากเจตนาด้วย ข้าพเจ้าอธิบายให้ละเอียดเช่นนั้น ท่านเข้าใจได้ความหรือยัง ถ้าไม่เข้าใจ ถามต่อไปอีกได้

    ผ. ถามว่า ความคิดที่ปิดความเห็นนั้นเป็นอย่างไร ส่วนจินตามัยปัญญานั้นก็ต้องคิด ทำไมความคิดจึงไม่ปิดความเห็น ขอท่านจงอธิบายลักษณะจิตนามัยปัญญาให้ข้าพเจ้าเข้าใจ

    ฝ. ตอบว่า คือ ความปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ไม่มีสติ ครั้นรู้ตัวขึ้นจึงมีสติแล้ว เปลี่ยนใจมาให้คิดอยู่ในขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ หรือ ธาตุ ๖ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ระหว่างที่คิดถึงไตรลักษณ์อยู่นั้น ใจยังไม่สงบ ถ้าจะสงบลงบ้าง ก็เป็นเพียงสมถะ จึงเป็นชั้นสัญญา มิใช่ชั้นปัญญา นี่แหละความคิดที่ปิดความเห็น ส่วนจินตามยปัญญานั้น คือ ทำในใจโดยแยบคาย เป็นสัมมาสังกัปโป ส่วนความเห็นที่ชัดเจนขึ้นเป็นสัมมาทิฏฐิ นี่เป็นลักษณะของจิตนามัยปัญญา เพราะฉะนั้น สุตมัยปัญญา จินตามัยปัญญา ภาวนามัยปัญญา ทั้ง ๓ อย่างนี้ เวลาที่เกิดขึ้นนั้น พ้นเจตนา เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบทั้งนั้น

    ผ. พูดว่า ข้าพเจ้าพึ่งเข้าใจในเรื่องความคิดที่ปิดความเห็น ลักษณะของใจยังไม่สงบ การปฏิบัติจึงต้องใช้คิด ใช้นึก และประกอบด้วยเจตนาทั้งนั้น แม้สงบลงได้ ก็เป็นชั้นสมถะ ไม่ใช่ปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติมุ่งต่อความพ้นจากกิเลส ไม่ควรส่งใจให้ออกไปนอกสติปัฏฐาน จะได้ไม่มีความคิดที่ปิดความเห็น เพราะมีวิริยะ สติ สมาธิ บริบูรณ์ขึ้นแล้ว จะได้พิจารณาธาตุ ๖ เป็น อนัตตา เมื่อความเห็นชัดเจนขึ้นเป็นอริยมรรค จะได้ถ่ายสังโยชน์ธรรมเบื้องต่ำและเบื้องบนให้หมดไปจากสันดาน

    ฝ. กล่าวว่า สาธุ ข้าพเจ้าของอนุโมทนา การปฏิบัติเช่นนั้น เป็นสัมมาปฏิปทาอย่างดีทีเดียว สมด้วยพระพุทธสุภาษิต ที่ตรัสสอนภิกษุว่า

    กุมฺโมว องฺคานิ สเก กปาเล เต่าหดอวัยวะได้ในกระดองของตนฉันใด

    สธมทหํ ภิกฺขุ มโนวิตกฺเก ภิกษุสะกดวิตกในใจไว้ฉันนั้น

    อนิสฺสิโต อญฺญมเหฐยาโน ไม่อาศัยอะไรหมด มิได้เบียดเบียนผู้อื่น

    ปรินิพฺพุโต นูปวเทยฺย กญฺจิ เป็นผู้ดับกิเลสหมด ไม่พึงพูดกระทบซึ่งใคร ๆ
    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_mun/lp-mun_04.htm


    [​IMG]
     
  2. ครูเรือง

    ครูเรือง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 มกราคม 2010
    โพสต์:
    976
    ค่าพลัง:
    +686
    หลวงปู่มั่น พระอาจารย์ใหญ่ สายพระป่า
    กระผมขอ อนุโมทนา สาธุ ครับ
     
  3. เจี๊ยบ รักพ่อหลวงภูมิพล

    เจี๊ยบ รักพ่อหลวงภูมิพล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    1,646
    ค่าพลัง:
    +4,272
    น้อมจิตกราบหลวงปู่มั่นเจ้าค่ะ สาธุ
     
  4. สาสนี

    สาสนี Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 พฤศจิกายน 2015
    โพสต์:
    197
    กระทู้เรื่องเด่น:
    3
    ค่าพลัง:
    +210
    FB_IMG_1491059761071.jpg
     

แชร์หน้านี้

Loading...