นิมิต - กรรมฐาน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 11 พฤษภาคม 2019.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    ?temp_hash=ad335f7ee99c51c2a17ab523f35c8e58.jpg



    .
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน (๑)



    สมเด็จพระญาณสังวร

    สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

    วัดบวรนิเวศวิหาร


    คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

    อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

    ]

    บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

    พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้รู้เป็นผู้เห็น ได้ตรัสแสดงแนะนำวิธีปฏิบัติกรรมฐาน อันเกี่ยวแก่วิตกไว้อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกนั้นคือความตรึกหรือความคิดนึก คู่กับวิจารที่แปลว่าความตรอง และก็เป็นอกุศลวิตก วิตกที่เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลวิตก วิตกที่เป็นกุศลก็มี แม้ในการปฏิบัติจิตตภาวนาหรือกรรมฐาน ก็ต้องใช้วิตกคือความที่ตรึกนึกถึงกรรมฐานที่ปฏิบัติ ที่เรียกว่าเป็นการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐาน หรือยกอารมณ์กรรมฐานขึ้นสู่จิต ต้องมีวิตกคือความตรึกนึกคิด ซึ่งเป็นความกำหนดด้วยสติขึ้นเป็นเบื้องต้น แต่ว่าถ้าเป็นอกุศลวิตกแล้วก็ตรัสสอนให้รำงับเสีย ดังที่ได้แสดงอธิบายไปแล้ว

    สำหรับอีกปริยายหนึ่งนั้นตรัสสอนภิกษุ แต่ก็รวมถึงผู้ปฏิบัติประกอบกระทำจิตสมาธิทั้งปวงด้วย

    ว่าในการกระทำกรรมฐานนั้น กรรมฐานที่ตั้งจิตสติกำหนดธรรมนั้นเรียกว่านิมิต ที่แปลว่ากำหนด สิ่งที่กำหนดก็เรียกว่านิมิต ความกำหนดก็เรียกว่านิมิต เพราะฉะนั้นในการทำกรรมฐานจึ่งต้องมีนิมิต คือเครื่องกำหนดของใจ หรือความกำหนดใจในเครื่องกำหนดนั้น

    นิมิตของกรรมฐาน

    เช่นว่า เมื่อปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ กายเวทนาจิตธรรม หรือปฏิบัติตามข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในพระสูตรใหญ่ที่ว่าด้วยสติปัฏฐานดั่งกล่าว เริ่มด้วยหมวดกายอันตั้งต้นแต่อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ต่อมาก็กำหนดอิริยาบถทั้ง ๔ ต่อมาก็ให้กำหนดอิริยาบถประกอบทั้งหลาย เช่น ก้าวไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลังเป็นต้น ให้มีความรู้ตัวอยู่ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหวนั้นๆ และต่อมาก็กำหนดอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ที่มีอยู่ในกายนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ และต่อมาก็ตรัสสอนให้กำหนดธาตุทั้ง ๔ ในกายนี้อย่างนี้เป็นต้น ข้อที่ตั้งจิตกำหนดเหล่านี้ก็ให้กำหนดข้อใดข้อหนึ่งในคราวหนึ่ง เรียกว่าเป็นนิมิต แปลว่าเครื่องกำหนดของจิตใจ ความกำหนดในเครื่องกำหนดนี้ก็เรียกว่านิมิต

    เพราะฉะนั้นในเวลาที่ตั้งใจทำกรรมฐาน กำหนดนิมิตของกรรมฐานดังที่กล่าวมานี้ ข้อใดข้อหนึ่งอยู่ ถ้าหากว่าจิตไม่อยู่ในบทกรรมฐาน ไม่อยู่ในนิมิตของกรรมฐาน แต่ว่ามีวิตกคือความตรึกนึกคิดไปในอารมณ์ที่ประกอบด้วยฉันทะความพอใจชอบใจ หรือด้วยราคะความติดใจยินดี โลภะความโลภอยากได้ก็ดี ตรึกนึกคิดไปด้วยพยาบาท คือความตรึกนึกคิดไปถึงสัตว์และสังขารทั้งหลาย ด้วยพยาบาท คือความกระทบกระทั่งขัดเคืองโกรธแค้น จนถึงมุ่งหมายล้างผลาญก็ดี ตรึกนึกคิดไปด้วยอำนาจโมหะคือความหลงก็ดีในสัตว์และสังขารทั้งหลาย

    คำว่าในสัตว์และสังขารทั้งหลายนี้ สัตว์ก็หมายบุคคลก็ได้ เดรัจฉานก็ได้ คือเป็นสิ่งที่มีใจครอง สังขารก็คือสิ่งทั้งหลายเช่นบ้านเรือนต้นไม้ภูเขา สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่ไม่มีใจครอง หากว่าจิตเป็นดั่งนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้ส่งจิตไปสู่อารมณ์อื่น หรือสู่นิมิตอื่น จากนิมิตกรรมฐานที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้น เพื่อที่จะได้ระงับวิตกคือความตรึกนึกคิดนั้นเสีย

    สุภะนิมิต อสุภะสัญญา

    และอารมณ์อื่นหรือนิมิตอื่นที่ตรัสสอนให้ส่งจิตไปนั้น พระอาจารย์ได้อธิบายว่า จะเป็นนิมิตกรรมฐานข้อใดก็ขึ้นอยู่กับวิตกของจิตในขณะนั้น คือถ้าหากว่าวิตกคือความตรึกนึกคิดของจิตไปในสัตว์และสังขารทั้งหลาย ด้วยฉันทะความชอบ หรือราคะความติดใจยินดี โลภะความโลภอยากได้ ถ้าเป็นไปในสัตว์คือบุคคลนั้นๆ หรือแม้ในสัตว์เดรัจฉานนั้นๆ ก็ให้ใช้ อสุภสัญญา ( เริ่ม ๑๖๖/๑ ) ความสำคัญหมายในบุคคลนั้นๆ ว่าไม่งาม ด้วยพิจารณาว่ากายนี้ประกอบไปด้วยสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาดต่างๆ เป็นอันมาก

    ถ้าเป็นความชอบในสังขาร คือในสิ่งทั้งหลายจะเป็นบ้านเรือนแก้วแหวนเงินทองหรือสิ่งใดๆ ก็ตาม ก็ให้พิจารณาด้วย อนิจจสัญญา ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง คือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดดับ หรือว่าด้วย อนัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าเป็นเหมือนอย่างของขอยืม ไม่ใช่เป็นของๆ ตน คือแม้จะได้มาก็ไม่ใช่ได้มาเป็นของๆ ตน เหมือนอย่างเป็นของขอยืมเขามาซึ่งจะต้องส่งคืน ไม่มีเจ้าของ คือไม่มีตัวเราเป็นเจ้าของ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะเป็นเหตุให้ระงับความตรึกนึกคิดออกไปด้วยความสำคัญหมายว่างดงาม หรือว่าให้เป็นของๆ เรา ดั่งนี้ได้

    และถ้าวิตกตรึกนึกคิดไปด้วยอำนาจของความชอบในวัตถุทั้งหลาย ก็ให้ปฏิบัติดั่งนี้ ถ้าในสัตว์ทั้งหลายก็ให้ปฏิบัติด้วยอสุภสัญญาดังกล่าวข้างต้น

    ถ้าปฏิบัติดั่งนี้ความตรึกนึกคิดไปด้วยความชอบนั้นก็จะสงบ และเมื่อสงบก็กลับเข้ามาสู่กรรมฐานที่ตั้งไว้เดิม เช่น หากกำลังปฏิบัติทำอานาปานสติอยู่ ก็กลับมาทำอานาปานสติตามเดิม

    ปฏิฆนิมิต เมตตานิมิต ธาตุกรรมฐาน

    อนึ่ง ถ้าตรึกนึกคิดไปในสัตว์และสังขารทั้งหลายด้วยอำนาจของโทสะ คือความกระทบกระทั่งขัดใจโกรธเคือง จนถึงพยาบาทมุ่งร้ายหมายล้างผลาญดังกล่าว ถ้าหากว่าเป็นไปในสัตว์ เช่นในบุคคลนั้นๆ ก็ให้กำหนด เมตตานิมิต นิมิตเครื่องกำหนดคือเมตตา แผ่เมตตาออกไปให้บุคคลนั้นๆ เป็นสุข ถ้าวิตกคือความตรึกนึกคิดด้วยโทสะนั้นเป็นไปในสังขาร เช่นในวัตถุทั้งหลาย เช่นว่า ถูกหนามตำก็โกรธหนาม เหยียบกระเบื้องคมบาดเท้าหรือเจ็บเท้า ก็โกรธกระเบื้อง เหยียบหินกรวดเจ็บเท้า ก็โกรธก้อนหิน ดังนี้เป็นต้น ก็ให้พิจารณา ธาตุกรรมฐาน คือพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ว่านั่นเป็นแต่สักว่าธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ แม้ร่างกายของตนเองก็ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรจะไปโกรธธาตุทั้งหลาย และเมื่อพิจารณาดั่งนี้โทสะก็จะสงบ

    โมหนิมิต ปัญญาแก้ความหลง

    อนึ่ง หากตรึกนึกคิดไปในสัตว์และสังขารทั้งหลายด้วยอำนาจของความหลง เพื่อที่จะแก้ความหลง หากว่าแก้ด้วยปัญญาของตนไม่ได้ ตนยังไม่มีปัญญาที่จะแก้ความหลง ก็ให้เข้าไปสู่สำนักอาจารย์ เรียนกับอาจารย์ ไต่ถามอาจารย์ ฟังธรรมโดยกาล และพิจารณาวินิจฉัยธรรมะที่เป็นฐานะ และไม่เป็นฐานะ คือตามเหตุและผล เพื่อให้ได้ปัญญาที่จะแก้ความหลงนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้ความหลงนั้นดับลงไปได้ และเมื่อดับวิตกที่ประกอบด้วยโทสะ ประกอบด้วยโมหะคือความหลงลงได้แล้ว ก็กลับเข้ามาปฏิบัติในกรรมฐานที่ตั้งเอาไว้เดิมต่อไป

    เพราะว่าต้องการให้เปลี่ยนจากนิมิตของกรรมฐานเดิมที่ปฏิบัติอยู่ ไปสู่กรรมฐานอื่นใหม่ ในเมื่ออกุศลวิตก ความตรึกที่เป็นอกุศลบังเกิดขึ้นดังกล่าว ก็เพื่อที่จะได้ดับอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อดับได้แล้วจึงกลับเข้ามาสู่กรรมฐานที่ตั้งไว้เดิม ซึ่งถือเป็นข้อปฏิบัติเริ่มต้น หรือที่ถือเป็นข้อปฏิบัติประจำ

    เปลี่ยนนิมิตของกรรมฐานแก้วิตก

    อธิบายอย่างนี้ เป็นการอธิบายที่เป็นไปแก่บุคคล ที่กำลังปฏิบัติกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่งที่ตนตั้งไว้อยู่ก่อนแล้ว และเกิดอกุศลวิตกขึ้นมาขัดขวางเป็นกามวิตกบ้าง พยาบาทวิตกบ้าง วิหิงสาวิตกบ้าง หรือว่าเป็น ฉันทะ ราคะ โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ จึ่งเปลี่ยนนิมิตของกรรมฐานใหม่ คือหยุดกรรมฐานที่กำลังปฏิบัติไว้เดิมก่อน แล้วไปแก้จิตที่เกิดอกุศลวิตกนี้ขึ้นเสียก่อน เมื่อดับได้แล้วจึงกลับไปสู่กรรมฐานข้อที่ตั้งเอาไว้ นี้เป็นวิธีปฏิบัติในกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้

    และเมื่อเปลี่ยนกรรมฐานให้ใหม่ดั่งนี้แล้ว อกุศลวิตกก็ยังไม่สงบ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสอนต่อไปให้พิจารณาโทษของอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นขัดขวางนั้น ว่าเป็นสิ่งที่มีโทษ ดับปัญญา ไม่เจริญปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้นเดือดร้อน ไม่เป็นเพื่อความดับกิเลสและดับทุกข์ และเมื่อเห็นโทษดั่งนี้ ก็จะทำให้เกิดความหน่าย เกิดความระอา เกิดความเกลียดชังอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้น จิตก็จะสงบจากอกุศลวิตกนั้น และเมื่อสงบแล้วก็กลับเข้าไปสู่กรรมฐานข้อเดิมที่ได้ตั้งเอาไว้ เปรียบเหมือนอย่างว่า ขยะแขยงรังเกียจศพของงูของสุนัข หรือของมนุษย์ที่ผูกไว้ที่คอ ต้องการที่จะเหวี่ยงทิ้งไปเสียให้พ้นคอของตน เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาเห็นโทษของอกุศลวิตก บังเกิดความรังเกียจ ต้องการจะสลัดทิ้งดั่งนี้ ก็จะสลัดทิ้งเสียได้ จะสงบลงได้

    ส่วนข้อแรกที่ตรัสสอนไว้เป็นประการแรก ให้เปลี่ยนนิมิตของสมาธิใหม่ คือให้พักนิมิตของสมาธิที่ทำไว้แต่เดิมก่อน และไปกำหนดนิมิตของสมาธิอีกอันหนึ่งอื่นแทน ดังที่ได้อธิบายแล้วนั้น ท่านก็อุปมาเหมือนอย่างว่า ช่างไม้หรือลูกมือของช่างไม้ ที่ตอกลิ่มเก่าที่ติดอยู่บนกระดานแล้ว อันเป็นลิ่มที่หยาบที่ไม่ดี ด้วยลิ่มใหม่อันเป็นลิ่มที่ดี ลงไปแทนให้ลิ่มเก่านั้นหลุดออกไป ลิ่มใหม่เข้าไปแทนที่ ก็เปรียบเหมือนอย่างว่าใช้วิตกในนิมิตของสมาธิใหม่ ตอกนิมิตของสมาธิเก่า โดยตรงก็คือว่าตอกอกุศลวิตกนั่นแหละ ให้หลุดไปจากจิต

    เพราะอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นนั้นก็เปรียบเหมือนเป็นลิ่มสลัก ที่ตอกอยู่ในแผ่นกระดานคือจิตใจ ไม่หลุดไป ก็ต้องเอาลิ่มใหม่มาตอก เพราะว่าสมาธิที่ปฏิบัติอยู่เดิมนั้นยังไม่อาจที่จะสลัดอกุศลวิตกได้ เพราะไม่ใช่คู่ปรับกันโดยตรง จึ่งต้องใช้นิมิตของสมาธิที่เป็นคู่ปรับกันโดยตรง ดังที่แสดงแล้วในข้อ ๑ และเมื่อไม่สำเร็จก็มาใช้ข้อ ๒ คือพิจารณาเห็นโทษ เมื่อมาใช้ในข้อ ๒ พิจารณาให้เห็นโทษไม่สำเร็จอีก ก็ตรัสสอนให้ใช้ข้อ ๓ คือให้ไม่ตั้งสติระลึกถึง ไม่ใส่ใจถึงอกุศลวิตกเหล่านั้น คือถอนใจเสียออกจากอกุศลวิตกเหล่านั้น เบี่ยงบ่ายใจออกเสียจากอกุศลวิตกเหล่านั้น เปรียบเหมือนอย่างว่า เมื่อมองดูสิ่งที่มาประจวบกับสายตาจำเพาะหน้า เมื่อไม่ชอบใจในรูปที่มาประจวบจำเพาะหน้านั้น ไม่อยากดูก็หลับตาเสีย หรือว่าเบนหน้าไปเสียในที่อื่น ไม่มอง เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้อกุศลวิตกที่เบี่ยงบ่ายใจออกไปเสียได้นั้นต้องสงบลงไป

    แต่ว่าในข้อนี้แม้ว่าจะเบี่ยงเบนหน้าไปเสียจากสิ่งที่เห็นจำเพาะหน้า ไม่เห็นสิ่งจำเพาะหน้าแล้ว ถ้าไม่หลับตาเสียก็จะต้องเห็นสิ่งอื่น จึงหมายความว่าไปคิดถึงสิ่งอื่นแทนก็ได้ ดังที่พระอาจารย์อธิบายไว้ว่า วิธีที่จะเบนใจออกไปจากอกุศลวิตก ดังที่ตรัสสอนไว้ในข้อนี้นั้น กระทำได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่นด้วยวิธีที่มาจัดโน่นจัดนี่ ทำโน่นทำนี่ ด้วยกายก็ได้ ให้จิตใจเบนไปเสียจากอกุศลวิตก

    ซึ่งวิธีนี้ก็ได้มีแสดงถึงว่าพระอาจารย์ได้เคยทำกับสามเณรรูปหนึ่งมาแล้ว ซึ่งเป็นสามเณรที่บวชเข้ามาเพื่อตั้งใจปฏิบัติให้บรรลุถึงผลที่สุด และต่อมาสามเณรนั้นก็เกิดเบื่อหน่ายใคร่ที่จะลาสิกขาไปเสีย พระอาจารย์จึงใช้วิธีที่นำตัวเข้าไปอยู่ในถ้ำ และให้สามเณรสร้างเสนาสนะ สำหรับอยู่ด้วยตนเองให้ไปทำการทำงาน และเมื่อสร้างเสนาสนะเสร็จแล้ว พระเถระก็ให้สามเณรอยู่ในเสนาสนะที่สร้างขึ้นนั้นเอง คราวนี้สามเณรก็กลับมาจับทำสมาธิไปใหม่ ก็ได้ความปลอดโปร่งของจิต จากอกุศลวิตกทั้งหลาย เพราะได้เบนใจมาทำการทำงาน ทำโน่นทำนี่เสีย จนหลุดออกจากอกุศลวิตก คือความเบื่อหน่ายที่บังเกิดขึ้นนั้น ก็บรรลุถึงความสำเร็จได้ ดั่งนี้เป็นวิธีที่ ๓

    เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนไว้ถึงวิธีปฏิบัติในการทำสมาธิดั่งนี้ และหากจะถามว่าจะทำสมาธิข้อที่ตั้งไว้แต่เดิมต่อไปให้จริงๆ ไม่ได้หรือ ก็ตอบว่า ก็อาจได้เหมือนกัน แต่ว่าอาจจะดับอกุศลวิตกได้ยากกว่า เหมือนอย่างการดับไฟที่บังเกิดขึ้น จะดับด้วยฟืน ดับด้วยไม้ หรืออะไรก็ดับได้ คือเอาไม้ฟาด เอาฟืนฟาดไฟ เอาไม้ฟาดไฟ เอาผ้าฟาดไฟ อะไรเป็นต้น ก็อาจจะดับไฟได้เหมือนกัน แต่ว่าไม่เหมือนอย่างดับด้วยน้ำ ดับด้วยน้ำสะดวกไฟจะดับได้ง่าย เพราะฉะนั้น การจะใช้กรรมฐานที่ไม่ใช่คู่ปรับกันดับนั้น เช่นกรรมฐานที่ตั้งทำไว้เดิม หากว่าไม่ใช่คู่ปรับกัน เช่นอานาปานสติเป็นต้นนั้น ก็จะดับได้เหมือนกัน แต่ว่าดับยาก

    เพราะฉะนั้น ก็ให้พักกรรมฐานที่ทำไว้เดิมนั้นก่อน แล้วมากำหนดนิมิตกรรมฐานใหม่ จากกรรมฐานเดิมนั้น ดั่งที่ตรัสสอนมาในข้อ ๑ ข้อ ๒ และข้อ ๓ นี้ ก็จะดับอกุศลวิตกได้สะดวก เหมือนอย่างไฟบังเกิดขึ้นก็เอาน้ำมาเทดับ ก็จะดับได้ง่ายกว่า และเมื่อดับแล้วจึงกลับไปทำกรรมฐานเดิมต่อไปใหม่

    ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
     
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    tnews_1509870641_944-jpg.jpg

    สงสัยในการจับภาพพระ

    : พระราชพรหมยาน วัดจันทาราม

    ผู้ถาม :- " เวลาจับภาพพระที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า. บางแห่งเขาบอกว่า. เห็นภาพแล้วให้ปล่อยทิ้ง. ไม่มีประโยชน์. บางแห่งก็บอกว่า. ถ้าเห็นพระพุทธรูปก็ดีเป็นศิริมงคล. ไม่ทราบว่าจะเอาแห่งไหนดี.? "

    หลวงพ่อ :- " เอา ๒ แห่งเลย แบ่ง ๒ ตา เอาตาขวาจับ. เอาตาซ้ายปล่อยไป. แต่นี่เป็นเรื่องของคณาจารย์. ที่เขาคิดว่าอะไรจะถูกหรือไม่ถูกนะ.
    กรรมฐานมี ๔๐ กอง ใช่ไหม. ?

    ๐ :- ถ้าเจริญ #อสุภสัญญา. หรือ #อสุภกรรมฐาน. ถ้าเห็นภาพพระพุทธรูปก็ไม่ถูก.

    ๐ :- ถ้าเจริญใน #พุทธานุสสติ. เห็นภาพพระพุทธรูปนี่ถูก.

    ๐ :- หรือว่าบางทีเราเจริญ #อสุภสัญญา หรือ #กสิณ แต่ว่าพอเห็นภาพพระพุทธรูป. เราเปลี่ยนเป็นพุทธานุสสติก็ใช้ได้

    ๐ :- เขาทำแบบไหนละ.?

    ความจริงพุทธานุสสตินี่มีความหมายมาก.

    ๐ :- เป็นทั้งพุทธานุสสติด้วย.

    ๐ :- เป็นทั้งกสิณด้วย.

    ก็เอาทั้งสองอย่างไม่ดีหรือ. คือว่าอย่าทิ้งในเมื่อมีประโยชน์
    อะไรก็ตามถ้าเกิดขึ้นมาเป็นประโยชน์เรายึดเอาเลย.
    ทีนี้ท่านให้ปล่อยไป. เพราะท่านถือ #รูปนาม. ไม่ได้ถือนิมิต. ก็เป็นเรื่องของท่านส่วนหนึ่ง. ก็ไม่ผิดเหมือนกัน. "

    คัดลอกจากหนังสือ : หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ. พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี เล่ม ๗ หน้าที่ ๓๙.

    **************************
     
  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    maxresdefault-jpg.jpg

    คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง
    นิมิตทำให้บ้าจริงหรือ


    มีเรื่องที่จะทำให้บ้าอีกเรื่องหนึ่งคือ นิมิต
    นิมิต คือ ภาพที่ปรากฏให้เห็น เพราะ
    เมื่อกำลังสมาธิเข้าถึงระยะอุปจารสมาธินี้ จิต
    ใจเริ่มสะอาดจากกิเลสเล็กน้อย เมื่อจิตเริ่ม
    สะอาดจากกิเลสพอสมควรตามกำลังของสมาธิ
    ที่กดกิเลสไว้ ยังไม่ใช่การตัดกิเลส อารมณ์
    เริ่มเป็นทิพย์นิดๆ หน่อยๆ ยังไม่มีความ
    เป็นทิพย์ทรงตัวพอที่จะเป็น ทิพจักขุญาณ ได้
    จิตที่สะอาดเล็กน้อยนั้นจะเริ่มเห็นภาพนิดๆ
    หน่อยๆ ชั่วแวบเดียวคล้ายแสงฟ้าแลบ คือ
    ผ่านไปแวบหนึ่งก็หายไป ถ้าต้องการให้เกิด
    ใหม่ก็ไม่เกิด เรียกร้องอ้อนวอนเท่าไรก็ไม่มา
    อีก ท่านนักปฏิบัติต้องเข้าใจตามนี้ ว่าภาพอย่าง
    นี้เป็นภาพที่ผ่านมาชั่วขณะ จิตไม่สามารถบังคับ
    ภาพนั้นให้กลับมาอีกได้ หรือบังคับให้อยู่นาน
    มากๆ ก็ไม่ได้เหมือนกัน
    ภาพที่ปรากฏนี้จะทรงตัวอยู่นาน หรือ
    ไม่นานอยู่ที่สมาธิของท่าน เมื่อภาพปรากฏ ถ้า
    กำลังใจของท่านไม่ตกใจพลัดจากสมาธิ ภาพ
    นั้นก็ทรงตัวอยู่นานเท่าที่สมาธิทรงตัวอยู่
    ถ้าเมื่อภาพปรากฏท่านตกใจ สมาธิก็พลัด
    ตกจากอารมณ์ ภาพนั้นก็จะหายไป ส่วนใหญ่
    จะลืมความจริงไปว่า เมื่อภาพจะปรากฏนั้น
    เป็นอารมณ์สงัด ไม่มีความต้องการอะไร จิต
    สงัดจากกิเลสนิดหน่อยจึงเห็นภาพได้
    ครั้นเมื่อภาพปรากฏแล้ว เกิดมีอารมณ์
    อยากเห็นต่อไปอีก
    อาการอยากเห็นนี้แหละ เป็นอาการ
    ฟุ้งซ่านของจิต

    จิตตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส
    จิตมีความสกปรกเพราะกิเลส อย่างนี้
    ต้องการเห็นเท่าไร ก็ไม่เห็น
    เมื่อไม่เห็นตามความต้องการก็เกิดความ
    กลุ้ม ยิ่งกลุ้มความฟุ้งซ่านยิ่งเกิด เมื่อความ
    ปรารถนาไม่สมหวัง ในที่สุดก็เป็นโรคประสาท
    บางรายบ้าไปเลย ที่เป็นอย่างนี้เพราะไม่
    เชื่อตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแนะ
    นำไว้ว่า จงอย่ามีอารมณ์อยาก หรืออย่าให้
    ความอยากได้เข้าครอบงำบังคับบัญชาจิต


    ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๔๙ เดือนเมษายน ๒๕๕๓ หน้า ๑ - ๒
     
  5. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    c_oc=AQlwVp2Icq7nLTfMbops9oAgv53Gs_5gEnymNRUPTPdWxSB6Jy_LtEj7LdOaqpvBa2I&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg

    เรื่อง จับภาพพระ

    "ที่ให้ภาวนาว่า พุทโธ และให้นึกถึงภาพพระ นึกถึงภาพพระพุทธรูป เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าหากว่าพระสีเหลืองเป็นทองคำ เป็นปีตกสิณ พระสีเขียว หรือสีดำเป็นนีลกสิณ พระสีขาวเป็นโอทาตกสิณ นี่เป็นได้ทั้งสองอย่าง และก็เป็นกสิณด้วย ทั้งพยายามทำจิตจับภาพพระพุทธรูปไว้ในใจ คือเห็นลอยอยู่ตรงหน้า อยู่ตรงไหนก็ได้ ไม่ว่าอะไรใช้ได้หมด อย่างนี้ไม่ช้าอารมณ์จิตก็จะเป็นฌานโดยง่าย ทั้งเวลาจับภาพพระ จิตก็นึกถึงลมหายใจเข้าออกไว้ด้วย ลมหายใจเข้าออกนี่เราทิ้งไม่ได้ แต่ก่อนที่จะจับภาพพระ เราก็นึกถึงลมหายใจเข้าออกเสียก่อน ทำใจให้สบายแล้วค่อยจับภาพพระจนกระทั่งจิตนี่จะทรงตัว นั่งอยู่ เดินอยู่ ยืนอยู่ ไปทางไหนอยู่ ภาพนั้นปรากฏติดตาติดใจอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ชื่อว่าเราได้ฌานในกสิณ"

    ✡คำสอน พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
     
  6. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    c_oc=AQkReEG1wZcTqBBinQAkdea_V4kT15yb-lLfbb1jjW3YTzCMKqMwruJWsmiSyGlcIjQ&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
    วิธีที่เราจะทรงฌานให้ได้ง่ายที่สุด


    สำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายทำแล้วทุกอย่าง ทั้งการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา นี่เราทำกันมาแล้วทุกอย่าง อานิสงส์แต่ละอย่างย่อมไม่สม่ำเสมอกัน การให้ทานเป็นผลให้มีโภคสมบัติมาก การรักษาศีลย่อมเป็นเหตุป้องกันอบายภูมิทั้ง ๔ ได้ การเจริญภาวนาเป็นปัจจัยให้มีกำลังเป็นเทวดาหรือพรหม หรือเข้าถึงพระนิพพานได้

    ท่านทั้งหลายทำบุญมากกว่ามัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ฉะนั้นการเจริญพระกรรมฐานถึงแม้ว่าจะมีสมาธิขั้น ขณิกสมาธิ ถ้าตายจากความเป็นมนุษย์ก็จะมีความสุขมีความเจริญดีกว่ามัฏฐกุณฑลีเทพบุตร

    วันนี้ก็จะขอพูดแต่เพียงโดยย่อ ขอตัดคำสุดท้ายคือขั้นสุดท้าย วิธีที่จะรักษากำลังใจให้ทรงเป็นฌานอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่าทุกวันเราจะมีฌานเป็นปกติ ถ้าตายจากความเป็นมนุษย์อย่างเลวที่สุดเราก็เกิดเป็นพรหม ถ้ามีจิตใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เราก็ถึงนิพพานได้ทันที

    ทีนี้วิธีที่เราจะทรงฌานให้ได้ง่ายที่สุด นั่นก็คือว่าเวลาที่นอนลงไป ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งใจจับลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ แล้วใช้คำภาวนาว่า "พุทโธ" และก่อนที่เราจะภาวนาก็ตั้งใจไว้ว่าถ้าเราตายจากชาตินี้ เราจะไปนิพพาน จับอารมณ์ไว้อย่างเดียว คือรักการไปพระนิพพาน "ทำจิตให้มั่น เราจะให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี เจริญภาวนาก็ดี เราตั้งใจไว้อย่างเดียวว่าเราทำอย่างนี้เราทำเพื่อหวังพระนิพพานเท่านั้น" ไม่ต้องการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือพรหม เป็นอารมณ์ที่ให้รักษาไว้เป็นประจำ

    แล้วเวลาที่ท่านทั้งหลายภาวนา นอนลงไปภาวนาว่า "พุทโธ ธัมโม สังโฆ" ก็ตาม หรือถ้าภาวนาไม่ไหว มันฟุ้งซ่านจะรักษากำลังใจหรือรู้ลมหายใจเข้าออกก็ดี ถ้าทำได้อย่างนี้จนกระทั่งหลับไปพร้อมๆ กับการภาวนาอยู่หรือว่าการพิจารณาลมหายใจเข้าออก อย่างนี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดทราบว่านั่นจิตของท่านเข้าถึง "ปฐมฌาน" แล้ว เป็นการรักษาฌานแบบง่ายๆ แล้วก็ทำได้ทุกคน

    แต่ว่าถ้าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทำใหม่ๆ ถ้าภาวนาไปหรือว่ากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อารมณ์มันเกิดซ่าน นอนไม่หลับ อย่าลืมว่า "ถ้าจิตของท่านเข้าไม่ถึงปฐมฌานมันจะหลับไม่ได้" มันจะเกิดความรำคาญ ถ้าฝึกใหม่ๆ ท่านเกิดอารมณ์ซ่าน เราก็เลิก ภาวนาเสีย ปล่อยให้มันหลับไป คิดอะไรก็คิดให้มันหลับไป แต่ต่อไปถ้าความชำนาญเกิดขึ้น ภาวนาจนกระทั่งถึงยืนหลับได้ ก็ขอได้โปรดได้ทราบว่าการภาวนาถึงหลับจัดว่าจิตเข้าสู่ "ปฐมฌาน" และในระหว่างหลับก็ถือว่าหลับอยู่ในฌาน ถ้าตายในระหว่างหลับก็เป็นพรหมทันที

    ทีนี้เราสังเกตได้หน่อยหนึ่ง เวลาตื่นขึ้นมาถ้าใจของเรามันยังว่างอยู่ คือต้องเตือนให้ภาวนา นอนแบบนั้นไม่ต้องลุกขึ้นมา อย่างนี้ชื่อว่าจิตของเราขณะหลับเข้าถึง "ปฐมฌานหยาบ"

    ถ้าหากว่าภาวนาจนหลับ เมื่อตื่นขึ้นมาเต็มอัตรา พอตื่นและรู้สึกตัวเต็มที่มันภาวนาขึ้นมาเอง อย่างนี้ชื่อว่าเข้าถึง "ปฐมฌานอย่างกลาง"

    ปฐมฌานหยาบ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑
    ปฐมฌานอย่างกลาง เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๒

    ถ้าหากว่านอนหลับตื่นขึ้นครึ่งหลับครึ่งตื่น รู้สึกตัวก็ภาวนาขึ้นมาเลย อย่างนี้เป็น "ปฐมฌานละเอียด" ถ้าทรงแค่ฌานเท่านี้ก็เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๓ คือตอนตื่นมาใหม่ๆ ก็จับลมหายใจเข้าออกภาวนาต่อไปพอจิตสบาย ทำอย่างนี้อารมณ์ใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจะมีความสุขตลอดวัน

    ⚘หากว่าบังเอิญจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ และก็ทำแบบนี้เป็นปกติ เวลาป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น เราก็ไปนิพพาน แล้วก็จับอารมณ์ได้ง่ายๆ ภาวนาว่า "พุทโธ" เป็นประจำใจ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกได้ด้วย พอทำบ้างเผลอไปบ้าง นี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่จะยึดไว้อย่างเดียวคือพระนิพพาน ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทตั้งอารมณ์ไว้อย่างนี้ ถ้าตายในคราวนั้นท่านจะไปที่อื่นไม่ได้ นอกจากพระนิพพาน

    ✴หลวงพ่อพระราชพรหมยานมหาเถระ วัดท่าซุง อุทัยธานี
    จากหนังสือ "ธัมมวิโมกข์" ฉบับที่ ๓๓๖ มีนาคม ๒๕๕๒ หน้าที่ ๓๑-๓๒
    คัดลอกโดย ธัมม สุขโข
     
  7. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    ?temp_hash=975e514cf26cd15886f36fdfc55cd40c.jpg
    ?temp_hash=40e66803c2c183612c4ff1d46259aa29.jpg
    วิธีฝึกจับภาพพระให้มีกำลังเข้มข้น


    เมื่อตอนที่ องค์ปฐม ท่านมา ท่านบอกใช้อย่างนี้
    ให้จับภาพพระพุทธเจ้าเป็นปกติ
    ให้จิตทรงกำลัง ฌาน ๔ เป็นปกติ
    ไอ้ทรงฌาน ๔ เป็นปกติ
    ฌาน ๔ นี่ เวลาเราออกจากร่างกายนี่
    เราเป็นฌาน ๔ แล้ว

    แต่ นั่นเป็นฌาน ๔ เบื้องต้นที่มีกำลังอ่อน
    ต้องใช้ให้มีกำลังเข้มข้น

    นั่นก็คือนึกถึงภาพพระพุทธรูปเมื่อไร
    นึกพับเห็นทันที

    นึกจับพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ชัดเจนแจ่มใสตามกำลังให้ได้ทุกวันทุกวัน
    และทุกเวลาที่เราต้องการ

    ไม่ใช่นั่งรอเวลา เงียบสงัด
    ไม่ใช่อย่างนั้น

    เดินไปเดินมา ทำงานอยู่นึกพับให้เห็นเลย

    เห็นแล้ว อธิษฐานพระพุทธเจ้า
    ขอพระองค์ทรงโตขึ้น ใหญ่ขึ้นสว่างกว่านี้ เล็กลง
    อยู่ข้างบน สูงมาก สูงน้อย

    เราทำอย่างนั้นอย่าคิดว่าเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย "

    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
    หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  8. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    ?temp_hash=33a1f84bdc5f2946ae6d50f2ce23be13.jpg
    จับภาพพระไม่จับลม
    .
    ผู้ถาม : เวลาเราทำกรรมฐาน
    เราจับแต่ภาพพระ ไม่จับลมหายใจ
    อย่างนี้จิตจะเข้าถึงฌานได้ไหมครับ..?
    .
    หลวงพ่อ : คงไม่ได้ ขอยืนยันว่าไม่ได้แน่นอน
    ความจริงคนที่คล่องแล้วจริง ๆ เขาเรียกว่า
    "ผู้ทรงฌาน" มันจับไปพร้อมกัน
    ทั้งรูปพระและลมหายใจเข้าออก

    พอจิตเข้าถึงฌานก็ตัดไปเลย

    ถ้าไม่จับลมหายใจเข้าออกนิวรณ์ก็กวน
    จิตเป็นสมาธิไม่ได้ จับแต่ภาพพระเฉย ๆ
    จิตจะทรงตัวไม่ได้นาน
    .
    ที่มา : หนังสือ ธัมมวิโมกข์ ฉบับ ๗๕ (หน้า ๘)
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  9. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    เราทำสมาธิเพื่อไปพระนิพพาน

    “ทุกวันนี้เราปฏิบัติเพื่อสร้างบุญสร้างบารมีให้เกิด เสริมสร้างปัญญาให้เกิด หรือว่าเราปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างกำลังให้กับกิเลสทุกวัน?”

    การภาวนา เมื่ออารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ก็มีกำลังที่จะมาพิจารณาตัดกิเลสได้ แต่ถ้าเราไม่นำกำลังนั้นมาพิจารณาตัดกิเลส เมื่อคลายออกมา มันจะวิ่งเข้าไปหาความฟุ้งซ่านในรัก โลภ โกรธ หลงของมันเอง คราวนี้ก็จะฟุ้งซ่านเป็นหลักเป็นฐานเป็นงานเป็นการ เพราะมันได้กำลังจากสมาธิมา กลายเป็นมิจฉาสมาธิ ซ้ำเติมเราให้ลำบากยิ่งขึ้น ทำให้กิเลสมีกำลังกล้าแข็งยิ่งขึ้น ดังนั้น..ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติมา ให้ดูตัวเราเองด้วยว่า ทุกวันนี้เราปฏิบัติเพื่อสร้างบุญสร้างบารมีให้เกิด เสริมสร้างปัญญาให้เกิด หรือว่าเราปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างกำลังให้กับกิเลสทุกวัน?

    "เราทำสมาธิเพราะเราเคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราทำสมาธิเพราะเราจะไปพระนิพพาน"

    ในเมื่อเราเห็นแล้วว่าการเกิดมาไร้สาระแบบนี้ มีแต่ความทุกข์ยากแบบนี้ เราก็ไปพระนิพพานดีกว่า ก็ย้อนมาหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของเรา ตั้งใจว่าที่เรารักษาศีลก็เพราะความเคารพใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรารักษาศีลก็เพราะเราจะไปพระนิพพาน

    เราทำสมาธิเพราะเราเคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราทำสมาธิเพราะเราจะไปพระนิพพาน ตอกย้ำตัวเองให้แน่น ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนไม่ต้องไปตอกหัวตะปู ทุกอย่างก็แน่นอยู่ในใจของเรา

    เก็บตกงานกฐินวัดเขาวง-วัดถ้ำป่าไผ่ ( ๓๑ ตุลาคม-๑ พ.ย. ๕๒)
     
  10. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    c_oc=AQnql2DNgB1JBQ57jZfDCVnMmbQ8HxKgINoabPsTepa7daq4C0dzJIvjjV2FVN3kg5E&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg

    "การปฏิบัติสมาธิภาวนานั้น จุดที่สำคัญที่สุด ก็คือว่าเราไม่สามารถรักษาอารมณ์ปฏิบัติให้ต่อเนื่องได้ เหตุที่เราไม่สามารถรักษาอารมณ์ปฏิบัติให้ต่อเนื่องได้ เกิดจากสาเหตุสองอย่างด้วยกัน
    อย่างแรก สติ สมาธิและปัญญายังไม่เพียงพอ จึงปล่อยให้กำลังขาดช่วงลง
    อย่างที่สองก็ คือ ยังไม่เห็นทุกข์เห็นโทษ ของการที่จิตไปวุ่นวายกับ รัก โลภ โกรธ หลง อย่างแท้จริง เมื่อไม่เห็นโทษอย่างแท้จริง เราก็จะไม่เข็ดและปล่อยให้ใจหลุดจากสมาธิไปอยู่เรื่อย ๆ "

    คัดลอกข้อความเพียงบางส่วนมาจาก
    กระดานสนทนาวัดท่าขนุน,เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน
    สมาธิ : ปรียานันท์ธรรมสถาน หน้าที่ ๒
     
  11. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    หลวงพ่อฤาษีลิงดำ แนะนำ เทคนิคการฝึกสมาธิเบื้องต้น

    ตอนที่ 1
    (เรื่องการรู้ลมหายใจเข้าและรู้ลมหายใจออก)

    พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า มหาสติปัฏฐาน 4
    เป็นทางเอกทำให้สำเร็จซึ่งพระนิพพาน ได้แก่

    (1) ให้พิจารณากายในกาย
    (2) พิจารณาเวทนาในเวทนา
    (3) พิจารณาจิตในจิต
    (4) พิจารณาธรรมในธรรม

    ข้อที่ว่า ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายนั้น คืออะไร?????

    ท่านตอบว่า คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไปอยู่ในป่า
    หรือว่าอยู่ที่โคนต้นไม้ หรือไปอยู่ที่ว่างบ้านเรือน
    แล้วก็นั่งกายให้ตรง ดำรงสติมั่น
    ภิกษุนั้นหายใจออกก็มีสติ หายใจเจ้าก็มีสติ

    การพิจารณากายในกาย
    ในขั้นแรก ท่านถือเอากองลมเป็นสำคัญ
    จุดเริ่มต้นนี้เขาเรียกว่า อานาปานบรรพ
    หรือว่า อานาปานสติกรรมฐาน นั่นเอง

    อานาปานสติกรรมฐานนี้มีกำลังมาก มีความสำคัญมาก
    สามารถทรงฌาน 4 ได้แล้ว ถ้าหาว่าท่านเจริญตามแบบนี้
    ท่านจะมีความสุขแบบสุขวิปัสสโก

    แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาสติปัฏฐานสูตรนี้
    เราจะสามารถดัดแปลงขึ้นไปสู่ วิชชาสาม
    อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณ ก็ทำได้
    ก็ทำกันตอนอานาปานสติกรรมฐานนี้แหละ
    (แต่ส่วนนี้จะยังไม่พูดตอนนี้นะ)

    การพิจารณากายในกาย
    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อานาปานสติกรรมฐานนี่นะ
    ท่านสอน ให้เข้าไปทีละนิด ๆ ท่านไม่ได้ให้ทำแบบหักโหม

    ตอนนี้
    ท่านสอนอานาปานสติกรรมฐานตอนต้น
    ว่าเราหายใจเข้าก็มีสติ หายใจออกก็มีสติ

    วันนี้เอาแค่นี้แหละ …………..

    ถ้าพูดว่าสติ ดูเหมือนว่ามันยุ่ง ๆ
    ไปสักหน่อย เอาคำว่ารู้นี่ดีกว่า

    แล้วรู้น่ะ รู้ตรงไหน
    รู้ตรงจมูก ไม่ต้องรู้มาก

    เวลาลมเข้ามันกระทบจมูก เวลาลมหายใจออกมันกระทบจมูก
    เอาแค่รู้อย่างเดียว ไอ้รู้สั้นรู้ยาวนี่ตอนนี้ยังไม่ต้อง ก็ได้

    ท่านผู้หญิงจะทำครัว เวลาหั่นผักหั่นหญ้า ซาวข้าว
    ทำกับข้าว รู้ลมหายใจเข้าออกด้วยก็ดี

    ท่านผู้ชายทำงานนอกบ้าน ทำงานในบ้าน
    รู้ลมเข้าออกด้วยก็ดี

    ทำอย่างนี้ให้ชิน จนกระทั่งจิตไม่ต้องระวังเรื่องลมเข้าออก
    รู้ได้เป็นปกติเป็นอัตโนมัติของมันเอง

    ขอย้ำอีกนิดหนึ่งว่า

    ขอให้บรรดาพุทธบริษัทจำไว้ว่า
    ท่านจะเจริญมหาสติปัฏฐานสูตร
    ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในบทว่าอานาปานบรรพ
    เราจะรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกอยู่เสมอ
    จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน พระจะไปบิณฑบาต
    จะอาบน้ำ จะทำวัตร จะดูหนังสือ จะเดินไปไหน
    ชาวบ้านก็เหมือนกัน ทำการทำงานอย่างใดก็ตาม
    รุ้ลมเข้า รู้ลมออก

    รู้แค่นี้นะ ไม่ช้าจะดีเอง

    แล้วถ้าหากว่า จะมีนักปราชญ์มาถามว่า
    แล้วมันจะได้ฌานได้ยังไง
    ขอตอบว่า เอาเถอะ ค่อย ๆ ทำไปเถอะ

    ทำตามนี้ก็แล้วกัน
    ค่อย ๆ ทำไปแล้วจะรู้ผลเอง

    (จบตอนที่ 1)
     
  12. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    ตอนที่ 2 (เรื่องการเห็นนิมิต)

    ทีนี้มาพูดกันถึงว่าเราทำได้ถึงตอนนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
    เรื่องของพระกรรมฐานกับนิมิต เป็นเรื่องธรรมดา
    เรื่องนิมิตที่พึ่งเกิดจากสมาธินี่ เป็นของธรรมดา
    นิมิตของอานาปานสติกรรมฐานก็มี เช่น
    สีเขียว สีแดง สีสว่างคล้าย ๆ แสงไฟฉาย หรือเหมือนฟ้าแลบ

    นี่เป็นนิมิตของอานาปานสติกรรมฐาน

    ส่วนเรื่องของการได้บุญนะ
    ถ้ากลัวว่าจะไม่ได้บุญ ละก็โปรดเข้าใจด้วยว่า
    เขตของการบุญนะ มันอยู่ตรงที่จิตเป็นสมาธิ
    ตัวบุญนะอยู่ที่จิตเป็นสมาธิที่มีอารมณ์ตั้งมั่น
    ตัวบุญไม่ได้อยู่ที่องค์ภาวนาอย่างเดียว
    คำว่าเอกัคคตารมณ์ แปลว่า เป็นหนึ่ง
    อารมณ์ของเราเป็นหนึ่งไม่มีสอง
    อย่างนี้จัดว่าเป็นสมาธิ คือ ตัวรู้อยู่
    ตัวบุญใหญ่ ก็คือ การทรงสมาธิจิต
    ถ้าสมาธิสูงมากเพียงใด

    นิวรณ์ที่จะมากั้นความดีคืออารมณ์ของความชั่ว
    ก็เข้าสิงได้ยากเพียงนั้น

    คำว่านิวรณ์ก็ได้แก่อารมณ์ของความชั่ว
    ถ้าขณะใดจิตทรงสมาธิ ที่เรียกกันว่าได้ฌาน

    คำว่าฌานนี้
    ฌานัง แปลว่าการเพ่ง การทรงอยู่ของจิต
    จิตเพ่งอยู่เฉพาะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
    อันนี้เราเรียกกันว่าฌาน

    ขณะที่จิตอยู่เฉพาะลมหายใจเข้า หายใจออก
    จิตไม่ส่ายไปสู้อารมณ์อย่างอื่น อย่างนี้ เราเรียกกันว่าฌาน

    แต่ว่าจะเป็นฌานขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นปลาย
    อะไรก็ตาม นั่นก็เป็นอีกเรืองหนึ่ง
    เป็นอาการละเอียดของจิต เป็นอาการทรงของจิต

    เรามีสติ สามารถจะรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
    ที่กระทบจมูกได้ รู้แล้วนะ
    เมื่อรู้ ๆ ไป อย่างนี้จิตก็จะเริ่มเป็นสมาธิ แต่ยังหยาบนัก
    อย่างนี้เรียกว่า ขณิกสมาธิ

    คำว่า ขณิกสมาธิ
    แปลว่า สมาธิเล็กน้อย สมาธิยังไม่ใหญ่

    เมื่อเริ่มเข้าถึง ขณิกสมาธิตอนปลาย
    จิตเริ่มละเอียด ลมที่กระทบจมูกจะเบาลง ๆ
    แต่จิตเรียบร้อยดีเพราะส่ายออกไปน้อย

    ตอนนี้แหละและตอนต่อไป เมื่อ ขณิกสมาธิ
    ละเอียดขึ้น จิตก็จะเข้าสู่ อุปจารสมาธิ
    ซึ่งเป็นสมาธิสูงกว่านั้น ใกล้จะถึงฌาน

    ตอนนี้ อารมณ์ของจิตที่เป็นทิพย์จะปรากฏ

    นี่แหละที่เขาเรียกว่าสามารถเห็นผี เห็นเทวดา
    เห็นพรหมได้ หรือเรียกว่าจิตเป็นทิพย์

    คือไม่ใช่ลูกตาเป็นทิพย์นะ

    ฟังให้ดี
    จิตเป็นทิพย์ คือ จิตย่อมว่างจากกิเลส

    จิตก็ว่างจากนิวรณ์ทั้ง 5 ประการ
    เมื่อจิตว่างจาก นิวรณ์ 5 ประการแล้ว
    จิตก็สมารถเป็นทิพย์

    แต่ว่าจะเป็นมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสมาธิจิต
    บางทีมันเป็นประเดี๋ยวเดียว

    ว่างจากนิวรณ์นิดหนึ่ง แว๊บหนึ่งของวินาที
    หรือครึ่งวินาที จิตก็กลับมัวหมองใหม่

    ที่นี้ เวลาจิตเป็นทิพย์ มันเป็นยังไง
    จิตเป็นทิพย์มันก็จะเห็นแสง เห็นสี เห็นภาพต่าง ๆ
    ที่เราคิดไม่ถึง ที่เราคาดไม่ถึง

    จำให้ดีนะ
    คือ บางทีก็เห็นเป็นแสง เป็นสีเขียว สีแดง
    เป็นแสงสว่าง แปลบปลาบคล้าย ๆกับฟ้าแลบก็มี

    นี่ตอนนี้ จงรู้ว่าจิตของเราเป็นสมาธิ
    และจิตเริ่มเป็นทิพย์ สามารถเห็นแสงที่เป็นทิพย์ได้

    แต่ถ้าอาการปรากฏอย่างนี้
    มักจะปรากฏแผล๊บเดียว แล้วก็หายไป
    ในเมื่อปรากฏแล้วหายไป บางคนเสียคนตอนนี้เยอะ
    บางคนมาเอาดีกันตอนเห็น ต่อไปถ้าเห็นไม่ได้
    จิตใจก็ฟุ้งซ่าน ที่มาเสียกันตอนนี้เสียมาก

    เพราะอะไร

    เพราะว่าเข้าใจพลาด คิดว่าอาการอย่างนี้เป็นของดี
    แล้วก็ควรยึดถือ เพราะว่าเป็นของใหม่ มีความปลาบปลื้มใจ
    มีความภูมิใจมาก

    บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพ
    ถ้าอาการปรากฏอย่างนี้นะ ขอพระคุณเจ้าโปรดทราบว่า
    ภาพที่ปรากฏก็ดี แสงที่ปรากฏก็ดี

    จงอย่าเอาจิตเข้าไปเกาะ
    เพราะจะทำให้สมาธิของท่านจะคลาย
    สมาธิของท่านจะเคลื่อน ความดีจะสูญไป

    จงทิ้งอารมณ์นั้นเสีย
    ทิ้งภาพนั้นเสีย
    อย่าเอาจิตเข้าไปติด

    หนีมาเริ่มต้นความดีกันใหม่ จับลมหายใจเข้าออกกันใหม่

    ขอให้โปรดทราบว่า การเห็นนิด ๆ หน่อย ๆ อย่างนี้
    มันพึ่งอ่านตัว ก. ไม่จบตัวนี่
    ถ้าจะเทียบกับนักเรียนประชาบาลนะ
    เขาเรียกว่าเขียนตัว ก.ยังไม่ครบตัวเลย

    โปรดทราบว่า จิตของท่านได้ผ่าน ขณิกสมาธิไปแล้ว
    กำลังจะเข้าอุปจารสมาธิ และเมื่อเห็นแว๊บเดียวหายไป
    ก็แสดงว่า อุปจารสมาธิของท่านยังดีไม่พอ

    เมื่อเห็นแว๊บหนึ่งจิตก็ฟูไป ดีใจในภาพเห็น
    หรือว่าตกใจในภาพเห็น จิตก็เลยเคลื่อนจากสมาธิ
    ภาพที่เห็นนั้นก็เลยไม่เห็นต่อไป

    ถ้าอาการเป็นอย่างนี้ ก็โปรดทราบว่า จงอย่าสนใจ

    ภาพจะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ช่าง ไม่มีความสำคัญ

    เราต้องการอย่างเดียว คือรู้อยู่ว่าลมหายใจเข้า
    หรือลมหายใจออก จำไว้แค่นี้

    เป็นอันว่าถ้าท่านจะเรียนกรรมฐาน
    ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็ดี
    หรือที่แบบอื่นก็ดี ก็โปรดทราบว่า

    จงเรียนตามคำสั่งของพระพุทธเจ้า
    ท่านสั่งแค่ไหนทำแค่นั้น
    อย่าเพิ่งพลิกแพงไป แล้วท่านจะได้ดี

    (จบตอนที่ 2)
     
  13. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    ?temp_hash=ef4b9dfce848aab9252044c0a5fac70d.jpg
    หลวงพ่อฤาษีลิงดำ แนะนำ เทคนิคการฝึกสมาธิเบื้องต้น


    ตอนที่ 3
    (เรื่องการทรงฌาน และความสัมพันธ์ระหว่างสมถะกับวิปัสสนา)


    เรื่องที่ได้พูดไปบ้างแล้ว คือเรื่อง มหาสติปัฏฐานสูตร
    และ อานาปานสติกรรมฐาน และโดยเฉพาะ
    กายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน
    การกำหนดลมหายจะเข้าและลมหายใจออก

    กฎของการปฏิบัติอันดับต้นนั้น
    พระพุทะเจ้าทรงสอนวิธีง่าย ๆ แล้ววิธีปฏิบัติก็ให้ทำในเวลา
    ที่เราเห็นว่าเหมาะ ให้ทำกันตลอดวันได้
    ไม่ต้องไปตั้งท่าตั่งทาง ไม่ต้องไปหาเวลาทำสมาธิ
    ว่างตอนไปนั่งก็ขัดสมาธิทำกัน หรือจะนั่งเหยียดขาก็ได้
    ห้อยขาก็ได้ ยืน เดิน นอนก็ได้ ทำได้ทั้งในท่านั่ง
    ยืน เดิน นอน ทำกอริยาบถทำได้ดีทั้งนั้น

    ขอเพียงให้ กำหนดรู้ลมเข้า กับรู้ลมออก
    คือ เอาสติเข้าไปคุมไว้

    คำว่าสติเป็นภาษาบาลี
    ถ้าฟังแล้วรู้สึกอึดอัด เราก็จะใช้ว่ารู้ ๆ แค่นี้
    จะสบายกว่า ตัวรู้นี่ก็ได้แก่ตัวสติ

    พระพุทธเจ้าทรงให้ฝึกเฉพาะสติก่อนเท่านั้น
    ยังไม่เข้าถึงสัมปชัญญะ ซึ่งก็อยู่ใน
    กายานุปัสสนามหาสติปัฏฐานเหมือนกัน
    แต่ให้ทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนก็แล้วกัน

    วันนี้มาจะขยับต่อไปอีกสักนิดหนึ่ง
    แต่เวลาท่านฟัง(อ่าน)นี่ ลองซ้อมอารมณ์เดิมดูสิว่า
    ลมหายใจเข้าออกท่านยังรู้สึกอยู่หรือเปล่า
    แล้วให้ท่าฟัง(อ่าน)ไปด้วย สติจะได้ทรง
    นี่เป็นการฝึกสติ หรือเป็นการฝึกสมาธิโดยตรง

    ที่นี้ เอาไปอีกนิดหนึ่ง คือ
    ท่านบอกว่าเวลาที่จะหายใจเข้ายาวหรือสั้น
    ก็จงรู้ว่าเราหายใจเข้ายาวหรือสั้น
    หายใจออกยาวหรือสั้น
    ก็จงรู้ว่าหายใจออกยาวหรือสั้น

    แล้วรู้ต่อไปอีกนิดก็ดีว่า เมื่อเวลาที่เราหายใจเข้า
    หรือออกนี่มันหายใจแรงหรือหายใจเบา

    อย่างนี่เรียกว่าเพิ่มสติให้มากกว่าเดิมอีกนิดหนึ่ง

    เอาเท่านี้นะ
    จะนั่งอยู่ที่ไหน จะทำอะไรอยู่ก็ตาม จะนอน จะยืน จะเดิน
    จะนั่งห้อยขา ทำได้ทุกอิริยาบถ ไม่จำกัด ลองซ้อมดู

    ทีนี้ มาว่ากันว่าพระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ทำไม
    คำตอบ ก็คือ เพื่อสร้างสติให้มันมากขึ้น
    นี่ท่านค่อย ๆ สอนนะ สอนให้ค่อย ๆ ทำ
    อย่าคิดว่าช้าเกินไปนะ

    อีตอนที่กำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก รู้ยาว รู้สั้น
    นี่แหละ ถ้าทำได้แล้วมันเป็นอุปจารสมาธิ
    และปฐมฌานด้วย อย่าลืมนะ เพราะสมาธิเริ่มมากขึ้น
    อารมณ์เริ่มละเอียดขึ้น

    อุปจารสมาธิ มีอาการอย่างไร?????

    ก็มีปีติให้ปรากฏ มีความชุ่มชื่น มีขนพองสยองเกล้า
    มีน้ำตาไหล มีร่างกายโยกโคลงอะไรเป็นต้น

    มีความอิ่มเอิบ มีความปลาบปลื้มใจ มีอารมณ์ดิ่ง
    มีอารมณ์ละเอียด มีความสบายมากกว่าปกติ นี่เป็นปีตินะ
    ทีนี้เวลาเข้าไปถึงปฐมฌาน มันเป็นยังไง
    จะขอพูดให้ฟังเสียก่อน ถ้าไม่พูดประเดี๋ยวจะเฝือ

    มีคนถามว่าฉันนั่งนี่เป็นยังไงบ้าง ทำอย่างนี้มันจะสำเร็จไหม
    ถามอย่างนี้ตอบไม่ได้ จะตอบได้ยังไง
    ก็ท่านรับประทานเกลือเองแล้วไปถามชาวบ้านว่า
    เค็มหรือไม่เค็ม เรารู้ของเราเองดีกว่า

    คือ อาการของการเข้าถึงปฐมฌาน นั้นมันเป็นอย่างนี้นะ
    อารมณ์ของเราในขณะนั้นย่อมไม่ข้องกับนิวรณ์ทั้ง 5ประการ คือ

    1. ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ รสอร่อย กลิ่นหอม สัมผัสนิ่มนวล
    ไม่มี อารมณ์นิ่ง พอใจในการภาวนาหรือพอใจในการกำหนดลมหายใจเข้าออก

    2. ความโกรธพยาบาทไม่ปรากฏ

    3. ความง่วงเหงาหาวนอนไม่ปรากฏ

    4. อารมณ์ภายนอก นอกจากการกำหนดลมหายใจ เข้าออกไม่ปรากฏ

    5. ทรงอารมณ์หายใจเข้าออกไว้ เวลาหูได้ยินเสียงภายนอกทุกอย่าง

    แม้แต่การนินทาว่าร้ายเราเอง หูได้ยินทุกอย่าง
    แต่ว่าใจไม่กังวล จิตใจไม่สอดส่ายไปตามอารมณ์นั้น
    คงรักษาลมหายใจเข้าออกไว้ได้อย่างสบาย ๆ
    ไม่เกิดความรำคาญ

    อาการอย่างนี้เป็นอาการของปฐมฌาน

    ค่อย ๆ ทำไปนะ อย่ารีบร้อน หาเวลาวันหนึ่ง ๆ ทำให้มาก
    อย่าทำแต่เฉพาะสองทุ่ม สามทุ่ม สองยาม
    นอกนั้นปล่อยอารมณ์ให้เลื่อนลอยไป
    อย่างนี้ละก็เชื่อว่ายังไกลความสำเร็จมาก

    อาณาปานสตินี้ เป็นกรรมฐานใหญ่
    สามารถทรงได้ถึงฌาน 4
    แล้วถ้าทรงฌาน 4 ได้แล้ว
    ก็สามารถจะทรงวิชชาสามและอภิญญาหก
    ปฏิสัมภิทาญาณด้วย

    วิชชาสามเป็นหลักสูตรสำคัญ ที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง
    เพราะว่าเป็นหลักสูตรที่สามารถพิสูจน์คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้
    ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า สวรรค์มีจริง นรกมีจริง พรหมมีจริง
    อะไรพวกนี้ คนตายแล้วไปเกิดที่ไหน คนที่มาเกิดมาเกิดจากไหน
    เรื่องนี้จะทิ้งท้ายไว้แค่นี้ก่อน

    คราวนี้ เมื่อเข้าถึงปฐมฌาน ก็รู้อยู่แล้วว่า จิตไม่กังวล อย่างนี้
    ท่านกล่าวว่า จิตมันเริ่มแยกจากกาย หูเป็นกาย
    สัมผัสกับเสียง แต่จิตที่อยู่ภายในกายนี้ไม่สนใจกับเสียง
    ได้ยินเหมือนกันแต่จะว่าอย่างไรก็ช่าง จะนินทา หรือจะชม
    หรือจะร้องเพลงละครก็ช่าง ฉันไม่เกี่ยว
    ทรงอารมณ์สบาย ๆ นี่เป็นอาการของปฐมฌาน

    ต่อไปก็ขยับเข้าอีกนิดหนึ่ง
    ฟัง(อ่าน) ให้ดี ๆ นะ คือ

    ก่อนที่จะรู้ลมหายใจเข้า รู้หายใจออกนั้น
    ให้เราจะกำหนดกองลมเสียก่อน

    คำว่ากองลม ก็คือ
    ความตั้งใจไว้ว่านี่เราจะหายใจเข้า ว่านี่เราจะหายใจออก
    แล้วหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น ก็รู้ไว้ด้วย

    ขยับเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ก็คือ
    อีตอนหายใจเข้าหายใจออกนั้น ก็ให้ รู้เฉพาเท่านั้น
    ไม่ต้องกำหนดกองลม

    แล้วตอนหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น
    ไม่ต้องกำหนดรู้กองลม คือ มันจะหายใจของมันเอง

    ตอนนี้มาตอนที่สาม
    รู้อยู่ว่านี่เราจะหายใจเข้า นี่เราจะหายใจออก
    นี่ทำสติของท่านให้ละเอียดเข้าไปอีกนิดหนึ่ง
    ให้กระชั้นเข้าไป

    แต่การกำหนดให้รู้อยู่ว่านี่เราหายใจเข้า นี่เราหายใจออก
    หายใจเข้าสั้นหรือยาว ออกสั้นหรือยาว
    ไอ้การรู้อย่างนี้ ถ้าสามารถทรงได้เป็นเอกัคคตารมณ์
    หมายความว่าไม่ปล่อยอารมณ์อื่นให้เข้ามายุ่ง
    เรากำหนดอย่างนี้ได้ครั้งละ 2-3 นาที หรือ 5 นาทีก็ตาม
    ก็แสดงว่าอารมณ์จิตของเราเข้าถึงฌานที่ 2 และฌานที่ 3

    อย่างนี้บรรดาคณาจารย์ทั้งหลายอาจจะเถียงบอกว่า
    ไอ้ฌานที่ 2 และฌานที่ 3 นี่มันไม่มีการภาวนา
    ไม่มีการกำหนดรู้อยู่
    คำตอบก็คือ การภาวนาไม่มีจริงถ้าทำถึงนะ
    แต่การรู้ลมหายใจเข้าออกยังมีอยู่อย่างนี้
    ลองสอบอารมณ์จิตของท่านให้ดี
    ถ้าท่านจะค้านว่า ต้องไม่รู้ลมหายใจเข้าออกอันนี้ไม่ถูก
    ที่ถูกก็ต้องบอกว่ารู้ลมหายใจเข้าออก

    ถ้านึกกรรมฐานที่ใช้องค์ภาวนาด้วย
    ตั้งแต่ฌาน 2 ขึ้นไป ก็จะเลิกภาวนา
    องค์ภาวนาจะหยุดไปเอง
    ไม่ใช่หยุดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
    แต่เวลาลมหายใจเข้าออกจะรู้สึกเบาลงไป

    สำหรับฌานที่ 2
    จะรู้สึกว่าลมหายใจเข้าออกเบาลงไป มีจิตชุ่มชื่น
    มีความเยือกเย็น มีความสบายมากขึ้น
    หูยังได้ยินเสียง แต่รู้สึกว่าเบากว่าปกตินิดหน่อย
    เบากว่าสมัยที่เป็นปฐมฌานนิดหนึ่ง

    ที่นี้ พอเข้าถึงฌานที่ 3
    จะรู้สึกว่าทางกายมันเครียด
    เรานั่งธรรมดา เรานอนธรรมดาเหมือนมีอาการเกร็งตัว
    มีอาการตึงเป๋ง ลมหายใจรูสึกว่าน้อยลง
    เสียงที่ได้ยินเบาลงมากเข้า
    เสียงที่ไดยินจากภายนอกนะเขาพูดแรง ๆ
    เราก็รู้สึกว่าเบาลงมาก นี่เป็นอาการของฌานที่ 3

    เมื่อทำได้ถึงตอนนี้ ก็ให้รักษาไว้ ทรงไว้ให้ดี ๆ
    อย่ารีบ อย่าจู่โจม นี่ใกล้จะดีแล้ว

    ถ้าอานาปานสติกรรมฐานที่ทำได้ถึงฌาน 4
    แล้วก็ทรงฌาน 4 ไว้ให้ได้ตลอดชีวิต
    รักษาไว้ด้วยชีวิต ไม่ใช่ว่าได้แล้วก็ปล่อยไปนะ

    คราวนี้ มาอันดับที่ 4
    ตอนเป็นเรื่องอาการของฌาน 4

    พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า
    จงไม่กำหนดรู้ลม คือปล่อยกองลมเสีย
    มันจะหายใจเข้าหรือหายใจออกก็ตามใจ
    เราจะไม่ยอมรู้มันละ
    คือ เราจะไม่ยุ่งกับเรื่องของลมหายใจ
    มันจะหายใจเข้า หรือหายใจออก็ตามใจ
    เรารักษาอารมณ์ดีไว้อย่างเดียว

    กล่าวย้อนนิดหนึ่ง ก็คือ
    ในตอนต้น ๆ
    เวลาทำต้องขึ้นต้นมาตั้งแต่รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
    สักประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วก็มา รู้ลมหายใจเข้าสั้นหรือยาว
    ออกสั้นหรือยาว อีกประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วกำหนดรู้กองลม
    ก็รู้อีกประเดี๋ยวหนึ่ง จิตก็ละเอียดขึ้นมาก
    และในอันดับสุดท้าย เราไม่สนใจกับกองลม
    มันจะหายใจเข้าหรืออกก็ตามใจ

    ส่วนของฌาน 4 นี้นะ ลมหายใจที่เรากำลังหายใจอยู่นี่นะ
    จะเกิดมีความรู้สึกเหมือนไม่หายใจ แต่อารมณ์จิตภายใน
    มีความโพลง มีความสว่าง มีการทรงตัวดีมาก
    มีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นหนึ่ง
    เป็นอุเบกขาวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวง
    มีความชุ่มชื่น มีความสุขที่สุด มีความสบายที่สุด
    ไม่รู้สึกในการสัมผัสภายนอก คือ ลมจะมากระทบ
    ยุงจะมากัดเรา เวลานั่งความปวดเมื่อยไม่ปรากฏ
    อย่างนี้เป็นอาการของฌาน 4

    เมื่อเราเข้าถึงฌาน 4 หรือฌานที่เท่าไรก็ตามที่ทำได้
    ก็ขอให้จงรักษาไว้ หมั่นทำไว้เสมอให้คล่อง
    จะกำลังนั่งยืนหรือเมื่อไรก็ตาม
    เราต้องสามารถ เข้าฌาน 4 ได้ทันทีที่ต้องการ
    แล้วก็สามารถจะกำหนดเวลาออกได้ด้วย

    อานาปานสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่ระงับกายสังขาร
    ที่มีคุณประโยชน์มาก เวลาป่วยไข้ไม่สบายมีทุกขเวทนาสาหัส
    ถ้ากำหนดลมหายใจเข้าออกจนจิตเป็นฌาน อาการปวดเมื่อย
    ทั้งหลายเหล่านั้น มันจะสลายไป

    ท่านที่ได้อานาปานสติกรรมฐานจนคล่อง จนชำนาญ
    จะสามารถกำหนดเวลาตายได้

    ตัวอย่าง เช่น หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
    อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

    ท่านบอกเวลาตายล่วงหน้าไว้ 3 ปี กำหนดเดือน
    กำหนดวันกำหนดจนกระทั่งเวลาที่ท่านจะตาย

    พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนในตอนท้ายไว้ด้วยว่า

    “การกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้
    เรากำหนดเพื่อรู้ความเกิดขึ้น ความเสื่อมไป
    แล้วการสลายตัว ของร่างกายของเรา
    ร่างกายเรานี้ที่ชื่อว่าร่างกายของเรา เมื่อมันเกิดขึ้น
    แล้วมันก็เสื่อมไป แล้วมันก็สลายตัว
    เราจะไม่ยึดถืออะไรทั้งหมดในร่างกายนี้”
    ตอนนี้เป็นวิปัสสนาญาณ

    บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
    ท่านคิดว่าอัตภาพร่างกายนี้เกิดขึ้นได้แล้วจะเป็นกายเรา
    ก็ตาม กายคนอื่นก็ตาม ถ้ากายเราท่านเรียกว่ากายภายใน
    ถ้าเป็นกายคนอื่นเรียกว่ากายภายนอก
    ขอให้ท่านนึกถึงว่ามันมีสภาพเหมือนกัน
    มันมีความปกติเหมือนกัน คือ มีความเกิดขึ้น
    มีความเสื่อมไป และมีการสลายตัวไปเหมือนกัน
    เราจะไปยึดมั่นมันไว้เพื่อประโยชน์อะไร
    เราจงอย่าคิดว่ากายนี้เป็นของเรา
    จงอย่าคิดว่าเรามีในกาย หรือกายมีในเรา
    นี่มันไม่มี สภาวะของมันเป็นยังไงมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น
    ถึงเวลามันจะแตกมันจะสลายมันก็สลายตัวของมันเอง
    ไม่มีใครไปบังคับบัญชามันได้

    ทีนี้ ขอให้ท่านย้อนกลับไปอีกนิดหนึ่งว่า
    ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ถ้าจิตใจยังไม่สบาย เกิดอารมณ์ฟุ้งซ่าน
    ท่านบอกให้หักใจกลับเข้ามาเสียอีกนิดหนึ่งว่า
    ที่เรากำหนดการตั้งขึ้นของร่างกาย
    และความเสื่อมไปขอร่างกายนี่
    เราไม่กำหนดเพื่ออย่างอื่น เรากำหนด “เพื่อรู้” เท่านั้น
    เป็นการทรงสติไว้ นี่หลบกลับมาเป็นสมถะ

    ตอนก่อนหน้านี้เป็นวิปัสสนา ตอนนี้หลบมาหาสมถะ

    นี่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท
    และพระคุณเจ้าที่เคารพ คงจะเห็นแล้วว่า
    สมถะของพระพุทธเจ้าย่อมควบคุม วิปัสสนาฌานไว้เสมอ

    (จบตอนที่ 3)
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  14. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    คุยกับคนอื่นแล้วเผลอขาดสติ
    ช่วงที่ฝึกกรรมฐานใหม่ ๆ ด้วยความที่ระยะแรกตัวเองผิดพลาดล้มเหลวบ่อย เพราะเผลอปล่อยให้สติหลุด ก็เลยระมัดระวัง โดยเฉพาะการเสียเวลาไปพูดคุยกับคนอื่น

    แรก ๆ ยังไม่คล่องตัวในการทรงอารมณ์ พอคุยกับเขาก็หลุดจากการภาวนา แล้วรัก โลภ โกรธ หลง ก็กินใจเรา ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งอยู่เป็นปี ๆ กว่าที่อารมณ์ใจจะทรงตัวในระยะนานได้

    เนื่องจากได้รับบทเรียนในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้ระมัดระวัง เลยค่อนข้างจะเป็นคนเก็บตัว วัน ๆ นอกจากทำงานแล้วก็เอาแต่ภาวนา แทบจะไม่พูดจาปฏิสันถารกับใครเลย คราวนี้มีปัญหา ตอนที่มาทำงานให้หลวงพ่อท่านที่บ้านสายลม หลายคนเขามองว่าเราหยิ่ง ถามคำก็ตอบคำ ความจริงก็คือ กลัวว่าถ้าหากว่าหลุดแล้วจะโดนกิเลสเหยียบแบน จนกระทั่งมาเป็นครูสอนกรรมฐาน ก็มีปัญหาตรงที่ว่า พอลูกศิษย์ติดขัดตรงไหนจะมาถาม ก็เจอครูที่ถามคำตอบคำ ไม่ถามครูก็เฉย

    คิดไปคิดมา เราเองปฏิบัติมา ตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ก็ประมาณสิบปีแล้ว กำลังใจก็เรียกว่าพอทรงตัวได้ในระดับหนึ่ง ในเรื่องของมโนมยิทธิก็พอทำความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าคนที่เพิ่งมาศึกษาเขาไม่เข้าใจ ถ้าเรายังไม่พูดไม่คุยอยู่ เขาก็จะเสียประโยชน์ จึงตัดสินใจว่าเราต้องพูด

    พอตัดสินใจก็ทำเลย เพราะเป็นคนไม่ชอบอะไรช้า เห็นคนอื่นเขาตั้งวงคุยกัน เราก็ลุยเข้าไปกลางวงเลย "ขออนุญาตคุยด้วยคนนะครับ" อย่างกับฟ้าผ่า..! ทุกคนอึ้งตะลึงไปตาม ๆ กัน แล้วในที่สุดคนแรกที่หลุดปากออกมา ก็คือป้าน้อย (กานดา) ป้าน้อยบอกว่า "ป้าคิดว่าชาตินี้แกจะไม่พูดกับใครแล้ว..!"

    คราวนี้เข้ากับคนอื่นได้ แต่ก็มีผลเสียอีก พอคุยแล้วอดเผลอสติไม่ได้ ท้ายสุดกรรมฐานที่ทรงต่อเนื่องระยะยาวเป็นเดือน ๆ ก็พัง..! ต้องกลับไปฝึกซ้อมเรื่องของสมาธิใหม่

    ทำอย่างไรที่เราจะแบ่งความรู้สึกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งอยู่กับสมาธิ อีกส่วนหนึ่งอยู่กับสิ่งที่เราทำเฉพาะหน้า ซ้อมอยู่เป็นปี กว่าที่จะทำอะไรไปด้วย พร้อมกับการภาวนาและจับภาพพระได้พร้อมกัน

    นึกถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า คนเราไม่ควรกล่าววาจาอันเป็นเหตุให้ต้องเถียงกัน เพราะวาจาอันเป็นเหตุให้ต้องเถียงกันทำให้จำเป็นต้องพูดมาก บุคคลที่พูดมากจิตใจย่อมฟุ้งซ่าน บุคคลที่ฟุ้งซ่านย่อมห่างจากสมาธิ ชัดเลย..โดนกับตัวเองมาเต็ม ๆ ..!

    ถ้าหากใครคิดจะเอาดีในการคุยด้วย และเอาดีในการปฏิบัติด้วย อย่างน้อยต้องแยกกำลังใจเป็นสองส่วน แล้วรักษาสองส่วนให้อยู่กับเราให้ได้ ไม่ใช่ไป ๆ มา ๆ ก็เหลืออยู่แค่ส่วนเดียว
     
  15. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    c_oc=AQnWvF_FIHLXVVX-UTAv6Qe5punNSCHIN3wJ__5aYkLQ49dtPTeSa4DVaWbNkmuQo3g&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  16. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    c_oc=AQmwpnMH-AUkZy1pNie4MjX-BK4p5n5gp_rLGzRYpfXEmyoZ4JpFwURxTYW-R635iIE&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  17. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    at=111&_nc_ohc=Y7OX4McDvaEAQnyjKjz-GD9UgzhKsvuF3vQGruHeZJ9aIp_C6v9wQVLvw&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
    “ข้อแนะนำแนวทางสำหรับการฝึกปฏิบัติธรรม”

    เรื่องของการปฏิบัติ บางคนพอบอกให้นั่งสมาธิจะเริ่มต้นด้วยการนึกถึงคำภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งทันที เช่น พุทโธ สัมมาอะระหัง นะมะพะทะ เป็นต้น แล้วกำกับควบคู่ไปกับลมหายใจเข้าและออก บางคนสามารถนึกถึงภาพพระไปได้ด้วย เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก มีคนมากมายทำได้ทั้ง 3 อย่างพร้อมกัน แต่ในชีวิตประจำวันที่ต่างต้องวุ่นวายอยู่กับการทำมาหากิน สารพัดเรื่องราวที่วิ่งเข้ามาสู่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ การทำสมาธิทั้ง 3 อย่างไปพร้อมกันเป็นของยากเกินไป อาตมาจึงแนะนำให้ทำทีละอย่างไปก่อน เช่น อาจเริ่มต้นจากการรู้ลมหายใจเข้าและออกเท่านั้น แตะใจสัมผัสลมหายใจเบาๆ ลมเข้าก็ให้รู้ว่าลมกำลังเข้า ลมออกก็ให้รู้ว่าลมกำลังออก เริ่มต้นแค่นี้ไปก่อน ถ้ายุ่งกับงานจนลืมดูลมหายใจ เมื่อนึกได้ให้เริ่มรับรู้ใหม่ ทำอย่างนี้เรื่อยไป จนใจเริ่มชิน เมื่อชินมันจะรู้ของมันเบาๆอยู่ตลอดโดยไม่ต้องเอาจิตไปกำหนดรู้การไหลของลม มันรู้ของมันเอง จากนั้นจึงเริ่มเอาคำภาวนาที่พอใจกำกับลงไป เช่น หายใจเข้าให้นึกว่า “พุท” หายใจออกให้นึกว่า “โธ” ใหม่ๆมันจะหลุดเป็นธรรมดา ถ้าหลุดไปให้เริ่มใหม่ ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนใจชิน เมื่อใจชินจนเกิดความคล่องตัวคราวนี้ลองกำหนดภาพพระลงไปด้วย คือ รู้ลมหายใจไปพร้อมกับคำภาวนาแถมนึกถึงภาพพระเพิ่มไปอีก ต้องยอมรับว่าใหม่ๆจะยากไปหมด เดี๋ยวลืมลมหายใจ เดี๋ยวลืมคำภาวนา เดี๋ยวลืมภาพพระให้ยุ่ง ซึ่งถ้าคนเอาจริง ใจจะจดจ่ออยู่กับการบ้านเหล่านี้ ดังนั้นคนพวกนี้จึงไม่อยากคุยกับใคร หน้าตาอาจดูบึ้งตึงเคร่งเครียดเพราะจิตใจกำลังยุ่งอยู่กับการภาวนานั่นเอง แต่นั่นถือเป็นตบะเมื่อผ่านช่วงนี้ไปได้ ผู้นั้นจะกลายเป็นผู้ที่มีความสุขใจตลอดเวลา สำหรับคนที่มีงานยุ่งทั้งวัน ขอแนะนำให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งไปก่อน เอาเท่าที่ได้ ถ้าลืมด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ให้เริ่มใหม่ด้วยวิธีอย่างหนึ่งไปก่อน เช่น ดูลมหายใจอย่างเดียวไปก่อน หรือนึกแต่คำภาวนาไปก่อน(ในส่วนของอาตมาคำภาวนาคือ พระคาถาเงินล้าน จิตมันจะนึกของมันเอง) หรือใครที่ชอบมององค์พระก็ให้นึกถึงภาพพระที่ชอบ ให้เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใจรักไปก่อน เมื่อคล่องตัวประการใดแล้วจึงเพิ่มการบ้านลงไป ถ้าทำอย่างจริงจัง ที่สุดแล้ว มันจะทำได้ทั้งหมดไปพร้อมกันโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปสั่งหรือบังคับจิตแต่อย่างใดเพราะใจมันชิน เมื่อชินก็ถือว่าเราทรงฌานอยู่ตลอดเวลา มรรคผลมันจะใกล้เข้ามา เอาคร่าวๆเท่านี้ก่อน

    คำสอนของของพระอาจารย์เอ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  18. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    c_oc=AQkEmZhmRcMAzNSIWK6UtxHvzdezfWdEuVfpKXJ5bSA9jvTOlstDfWD7iI7_NtkE7-E&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
    ผู้ทรงฌาน

    คำว่า "ผู้ทรงฌาน" แปลว่า ผู้มีจิตใจปกติ จะไม่ตกเป็นทาสของนิวรณ์ อำนาจของนิวรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม จะไม่ให้มีอำนาจเหนือจิตใจ ยามว่าง...ถ้าเรายังไม่เป็นอรหันต์ ย่อมมีนิวรณ์เข้ากินใจเป็นธรรมดา แต่ถ้าเวลาต้องการฌานเมื่อใด นิวรณ์จะต้องกระเด็นออกทันที ถ้ากระเด็นบ่อยๆ ไม่ช้ามันก็ไม่เข้ามายุ่งกับใจ เราทำงานทำการทุกอย่างใจไม่ตกเป็นทาสของนิวรณ์

    อย่าถือว่า ทำฌานสมาบัติแล้ว ทำโน่นทำนี่ไม่ได้ ไอ้นั่นละตัวลงนรกละ ไม่ช้า...มานะมันจะเกิด...และ

    จะกินที่ไหนล่ะ..!!

    ไม่ทำตายโหงตายห่าล่ะ..!!

    มันก็ต้องทำ ทำแล้วจิตใจไม่ตกอยู่ในอำนาจของนิวรณ์เท่านั้น

    พระอรหันต์ท่านนั่งนิ่งที่ไหน...พระพุทธเจ้าท่าน...ไม่นั่งนิ่ง

    ถ้าเราระงับนิวรณ์ได้

    จิตเป็นฌานที่ 1

    จิตทรงปีติ..ถ้าจิตทรงปีติมันเป็นฌานที่ 2

    จิตตัดปีติออกเหลือแต่สุข..จิตเป็นฌานที่ 3

    จิตตัดสุขออกเหลือแต่เอกัคคตา..อุเบกขา..เป็นฌานที่ 4

    ทีนี้เวลาทรงฌานไม่ใช่นั่งสมาธิทั้งวัน ทำงานอยู่คุยอยู่กับเพื่อน อ่านหนังสืออยู่ ฟังเทป ฟังเทศน์ ดายหญ้าวัดทำงานทุกอย่าง หุงข้าวหุงปลา ผ่าฟืน ดายหญ้า จิตสบายใจไม่มีอารมณ์เป็นอกุศล อย่างที่เรียกว่า "จิตทรงฌาน"

    การที่จะรู้ว่าจิตทรงฌาน

    เราจะรู้กันจริงๆ มันยากและวิธีวัดนี่ง่าย การที่จะรู้ว่าฌานเราทรงตัวไม่ทรงตัวอาศัย 1 ในวิชาสาม หรือว่า 2 ในวิชาสาม นั่นคือ..ทิพจักขุญาณ หรือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ

    ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ...ระลึกชาติได้

    ทิพจักขุญาณ...อย่างเข้ม สามารถรู้เห็น พรหมเทวดาได้อย่างนี้จุดหนึ่ง

    กำลังมโนมยิทธิที่เราฝึกได้ เราทำได้ เวลาดายหญ้า เวลาขุดดิน เวลาผ่าฟืน เวลาตักน้ำ หุงข้าว ใช้มันเวลานั้นแหละ ลองใช้เวลานั้น เวลาที่กำลังนั่งหุงข้าวอยู่ในครัว เวลาทำอยู่เราก็ใช้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

    นึกปั๊บ...ไอ้งานประเภทที่เราทำอย่างนี้เราทำมาแล้วกี่ชาติ ชาติก่อนๆ เราเคยทำไหม...ก็ดูภาพ

    ภาพมันจะปรากฏทันที อันนี้เรียกว่าเราชนะนิวรณ์ ต้องทำอย่างนี้

    (หนังสือธัมมวิโมกข์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 36 หน้า 138 - 140)
     
  19. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    BWRScP6d1Mtxv0OCPFVOzu8Hx8IAxdHfBZLpykLgb9QMASE8kyzqRdfePTfdujAXuUaA6Tmd&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  20. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,388
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,121
    ค่าพลัง:
    +70,469
    pTi_8hBttlWpATI0TD7vln6QpjSocN5HtSWEVIGfzH6MB5z2evncifbjnOcm8E8gwOvnb5QR&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
    คิดใคร่ครวญอย่างไรจึงจะไปนิพพาน

    คนที่ปฏิบัติเพื่อพระนิพพานจะใคร่ครวญอย่างไรจึงจะง่ายและสั้นที่สุด ท่านตรัสว่า เจ้าจงใคร่ครวญอย่างนี้

    จงคิดว่าเราเป็นผู้ไม่มีอะไรเลย ทรัพย์สินก็ไม่มี ญาติ เพื่อน ลูก หลาน เหลนก็ไม่มี แม้ร่างกายก็ไม่มี เพราะทุกอย่างที่กล่าวมามีสภาพพังหมด เราจะทำกิจที่ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อสิ้นภาระ คือ ร่างกายพังแล้ว เราจะไปพระนิพพาน

    เมื่อความป่วยไข้ปรากฏจงดีใจว่า ภาระที่เราจะมีโอกาสเข้าสู่พระนิพพานมาถึงแล้ว เราสิ้นทุกข์แล้ว คิดไว้อย่างนี้ทุกวัน จิตจะชินจะเห็นเหตุเห็นผล เมื่อจะตายอารมณ์จะสบายแล้วก็จะเข้านิพพานได้ทัน

    ทีนี้คนไหนต้องการจะไปพระนิพพานก็เป็นของไม่ยาก สัมพเกษี ให้เขาคิดเห็นว่า

    โลกทั้งโลก ไม่มีอะไรที่เราชอบ ไม่มีอะไรที่เรารัก เราไม่รักอะไร เราไม่ชอบอะไรในโลกนี้ แม้แต่ร่างกายของตัวเราเองเราก็ไม่ชอบไม่รัก เพราะมันเต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยความทรมาน แล้วให้ใคร่ครวญหาความจริงในโลก จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม มันมีสภาพคงตัวได้ตลอดกาลหรือเปล่า ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลง มีการสลายตัว ก็ถือว่านี่โลกทั้งโลกหาความดีไม่ได้ แล้วก็หันเข้ามาคิดถึงกายของตัวว่า กายของเราเองนี่มันยังจะตายยังจะพัง เรายังจะปรารถนาอะไรภายนอกอีก เราไม่ต้องการ เราจะไปพระนิพพาน

    เขาคิดเท่านั้นเพียงคืนละ ๑๐ นาทีนะสัมพเกษีนะ ลูกหลานของเธอทุกคนพ้นนรกหมด พ้นอบายภูมิ อย่างน้อยก็ไปกามาวจรสวรรค์ อย่างกลางก็ไปพรหมโลก อย่างดีก็ไปพระนิพพาน นี่ท่านว่าไว้อย่างนี้นะ ท่านสั่งสอนแบบนี้ เป็นการสั่งสอนแบบง่าย ๆ นี่เป็นความดีของพระ ของเทวดา ของพรหมท่านนะ ลูกหลานจงจำไว้

    ที่มา หนังสือประวัติหลวงพ่อปาน โดย หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...