เรื่องเด่น อิทธิบาทธรรม คือ ธรรมเป็นเครื่องทำให้ประสบความสำเร็จ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 มิถุนายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    52EC9309-8E5A-47F2-82E4-928A677439F1.jpeg

    สำหรับเราท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ พวกเราทั้งหมดยังมั่นคงต่อเป้าหมาย หรือความตั้งใจเดิมแต่แรกหรือไม่ ? ซึ่งในเรื่องนี้ เราสามารถทบทวนให้มั่นคงอยู่กับเป้าหมาย หรือว่าความสำเร็จของเรา ก็ด้วยอิทธิบาทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    อิทธิบาทธรรม คือ ธรรมเป็นเครื่องทำให้ประสบความสำเร็จ ประกอบไปด้วย ฉันทะ คือ ยินดีและพอใจที่จะกระทำในเรื่องนั้น ๆ เราทั้งหลายลองทบทวนดูว่า ตั้งแต่ครั้งแรกที่เราเข้ามาปฏิบัติธรรมด้วยความเต็มอกเต็มใจ ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติ

    เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ เรายังมีความยินดี มีความพอใจเท่าเดิม หรือว่าลดน้อยถอยลงไป ? ถ้าหากว่าความยินดีความพอใจในการปฏิบัติธรรมลดน้อยถอยลงไป ก็ให้ทุกท่านทราบว่า เราเองพลอยถอยห่างจากมรรคผลไปด้วย

    อิทธิบาทธรรมข้อที่สอง คือวิริยะ มีความพากเพียรบากบั่น ไม่ท้อถอยในการที่จะกระทำกิจกรรมนั้น ๆ ที่เราชอบที่เราพอใจ

    ส่วนใหญ่แล้วนักปฏิบัติธรรมของเราในปัจจุบันนี้ จะขาดอิทธิบาทธรรมในข้อวิริยะ คือความเพียรนี้เป็นส่วนมาก เพราะว่ากำลังใจไม่เพียงพอที่จะต่อต้านกระแสกิเลส ถึงเวลากิเลสชวนให้เบื่อ ชวนให้พัก เราก็เชื่อ ละเว้นจากการปฏิบัติ โดยที่ลืมดูหรือว่าลืมเรื่องที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนไว้ว่า การปฏิบัติธรรมนั้นจำต้องแลกกันด้วยชีวิต ถึงแม้ตายลงไปก็ตาม ขอให้ได้เข้าถึงธรรม

    ถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้นแล้ว ความลำบากในการปฏิบัติธรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นการ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ดี หรือว่าความลำบากในการที่ต้องทนต่อคำพูดของคนที่กล่าวร้ายต่อผู้ปฏิบัติธรรมในลักษณะต่าง ๆ ก็ตาม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่จะมาบั่นทอนกำลังใจของเรา ถ้าเราขาดความพากเพียร ความอดทนอดกลั้นแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะก้าวผ่านไปสู่ความสำเร็จ ก็คือมรรคผลได้

    อิทธิบาทธรรมข้อที่สาม คือ จิตตะ ความคิดปักมั่นแน่วแน่ต่อเป้าหมาย ไม่เคลื่อนคลายไปไหน ให้ทุกท่านพินิจพิจารณาดูว่า เป้าหมายครั้งแรกของการปฏิบัติธรรมของเราคืออะไร ? เรายังมั่นคงต่อเป้าหมายเหมือนเดิมหรือไม่ ? จากการที่เราปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพาน ในปัจจุบันนี้เราปฏิบัติเพื่ออะไร ? เพื่อลาภยศสรรเสริญสุขอย่างนั้นหรือ ? เมื่อถึงเวลาปฏิบัติธรรมไประยะหนึ่ง ชื่อเสียง เกียรติยศ ลาภผล เงินทอง ไหลเข้ามา ทำให้เราแปรเปลี่ยนไปจากจุดหมายดั้งเดิมหรือไม่ ? ปัจจุบันนี้ยังปักมั่นแน่วแน่ต่อจุดหมายนั้นหรือไม่ ?

    ถ้าหากว่ารู้ตัวว่าเป้าหมายของเราเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็รีบยักย้ายถ่ายเทกลับไปยังเป้าหมายเดิมแต่แรกของเราโดยด่วน ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็มีแต่จะตกเป็นทาสของกิเลส โอกาสที่เข้าถึงมรรคผลไม่มีก็ยังพอทำเนา เกรงแต่ว่าพลาดพลั้งลงสู่อบายภูมิไป จะทำให้เสียเวลาไปอีกเป็นกัป กว่าที่จะได้เกิดขึ้นมาทำความดีอีกครั้ง

    อิทธิบาทธรรมข้อสุดท้าย ก็คือ วิมังสา ซึ่งปัจจุบันนี้ บรรดาทฤษฎีฝรั่งนำไปใช้เป็นการสรุปและประเมินผล ไม่ว่าจะเป็นการบริหารองค์กรใหญ่ ๆ เล็ก ๆ ขนาดไหนก็ตาม ถ้าไม่มีการสรุปและประเมินผล เราก็จะไม่รู้ว่าผลของการบริหารนั้นทำให้องค์กรดีขึ้นหรือแย่ลง

    การปฏิบัติธรรมของเราก็เช่นกัน ถ้าหากว่าขาด อัตตนา โจทยัตตานัง คือการกล่าวโทษโจทก์ตนเอง มัวแต่มองว่าผู้อื่นผิด ก็เท่ากับว่าเราประเมินผลตนเองไม่เป็น สรุปผลการจัดการไม่เป็น ก็ในเมื่อสรุปผิดพลาด ประเมินผิดพลาด การบริหารก็ย่อมผิดพลาดไปด้วย โอกาสที่องค์กรของเราจะล้มละลายก็มีสูงมาก โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าล้มละลาย คือล้มละลายจากความดี ซึ่งทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดมาทุกข์ทนอีกนับชาติไม่ถ้วน

    เราต้องทบทวนอยู่บ่อย ๆ เสมอ ๆ ได้ทุกวันยิ่งดี ว่าเราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ยังตรงต่อเป้าหมายเดิมอยู่หรือไม่ ? จากแรกเริ่มมาถึงขนาดนี้ เราไปได้ไกลเท่าไร ? ยังมีอะไรหลงเหลือให้เราต้องไขว่คว้าปฏิบัติ เพื่อที่จะกล่าวล่วงพ้นไปสู่การหลุดพ้นจากกองทุกข์

    สิ่งที่มาขัดขวางเรา ไม่ว่าจะในส่วนของความดี คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ในส่วนของความไม่ดี คือ การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ทำให้เราหวั่นไหว ทำให้เรามุ่งผิดไปจากเป้าหมายหรือไม่ ?

    ถ้าหากท่านทั้งหลายประกอบไปด้วยอิทธิบาทธรรม คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ดังที่ได้กล่าวมา โดยเฉพาะทบทวนประเมินตนเองอยู่บ่อย ๆ ก็ย่อมจะเห็นความก้าวหน้าในการปฏิบัติ หรือถ้าไม่ก้าวหน้า ก็ย่อมรู้ว่าอุปสรรคที่ขัดขวางนั้นคืออะไร ? จะได้แก้ไขฝ่าฟันไปได้

    ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันศุกร์ที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...