เรื่องเด่น ควรแต่งกายให้เหมาะสมไปวัด

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 11 ธันวาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,391
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,368
    52D643A3-D7AC-43DE-91A2-6ED497F75AE6.jpeg

    การที่เราเป็นนักปฏิบัติธรรม ยิ่งปฏิบัติ สภาพจิตต้องยิ่งละเอียด ต้องระมัดระวังจริยาเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเรา ว่าจะเป็นทุกข์เป็นโทษแก่คนอื่น ดังที่อาตมาเองสมัยเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว ได้เขียนเอาไว้หน้าสมุดบันทึกของตัวเองว่า “ขออย่าให้กาย วาจา และใจของเรา เป็นทุกข์เป็นโทษต่อผู้หนึ่งผู้ใดเลย” เพราะว่าสิ่งที่เราทำนั้น อาจจะก่อให้เกิดกรรมโดยไม่รู้ตัว

    จริยาเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพวกเราที่ทำแล้ว ทำให้รู้ว่าเราเองนั้นกำลังใจยังหยาบอยู่ อย่างเช่นว่า ไปวัด ไปปฏิบัติธรรม ไปหาพระหาเจ้า เราก็แต่งตัวตามสบาย นุ่งขาสั้นบ้าง ใส่เสื้อแขนกุดบ้าง ใส่สายเดี่ยวบ้าง เปิดหลังเปิดหน้าบ้าง ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สิ่งที่เราทำนั้น ถ้าหากว่าพระภิกษุสามเณรท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากว่าการปฏิบัติของท่านยังไม่เข้มแข็งหนักแน่นพอ เราก็จะก่อทุกข์ก่อโทษให้เกิดกับท่านได้

    ขณะเดียวกันก็ก่อทุกข์ให้กับหญิงชายที่ไปแสวงหาความดี ไปวัดไปวาด้วย เพราะว่าเขาทั้งหลายเหล่านั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลส การกระทำของเรานั้นเป็นโทษ ถ้าผู้หญิงก็เป็นโทษต่อผู้ชาย ผู้ชายก็เป็นโทษต่อผู้หญิง เพราะว่าเขาเห็นแล้วก็จะเกิดอารมณ์ ๒ อย่าง อย่างแรกก็คือชอบใจก็เป็นราคะ อย่างที่สองถ้าไม่ชอบใจก็เป็นโทสะ เราทำให้ความชั่วเกิดขึ้นในใจของบุคคลอื่น ในเมื่อตัวเราเป็นต้นตอของความชั่ว ก็แปลว่าความชั่วนั้นเกิดขึ้นกับเราด้วย

    บางท่านมาวัดก็แต่งตัวตามสบาย ผู้ชายก็นุ่งกางเกงขาสั้น บางคนก็ใส่เสื้อกล้ามมาเลย ซึ่งลักษณะอย่างนั้นควรจะอยู่ในห้องในหับ อยู่ในบ้านในช่องของตัวเอง ไม่ใช่ไปวัด ผู้หญิงบางท่านก็แต่งตัวเปิดเผยเสียเต็มที่ กลัวคนจะไม่รู้ว่าเราเป็นผู้หญิง บางท่านอุตส่าห์ไปยัดไปเสริมอะไรต่อมิอะไรมา ก็อยากจะอวดคนอื่นให้รู้ให้เห็น

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้มีแต่สร้างทุกข์สร้างโทษแก่ตัวเราและคนอื่น อาตมาเองสมัยก่อน ทำตามสบายของตัวเอง ก็คือนั่งฟังธรรมก็ขัดสมาธิ หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านเกือบจะขว้างด้วยกระโถน..! ซึ่งอาตมาก็สงสัย ภายหลังเมื่อฝึกมโนมยิทธิได้แล้วถึงได้รู้ว่า หลายครั้งที่พระท่านเสด็จ แต่เราก็นั่งขัดสมาธิแบบสบายใจเฉิบ ในเมื่อสามารถรู้เห็นได้ ก็ต้องรีบเปลี่ยนเป็นนั่งพับเพียบเรียบร้อย เพื่อกราบพระท่าน จนกระทั่งกลายเป็นจริตนิสัยเฉพาะตัว

    ทุกวันนี้นั่งกรรมฐานไม่สามารถที่จะนั่งขัดสมาธิได้ เพราะว่าพระท่านเสด็จบ่อย เมื่อเห็นท่านก็ต้องเปลี่ยนท่ามานั่งพับเพียบแล้วกราบ ท้ายสุดก็เลยกลายเป็นเคยชินกับท่านั่งพับเพียบไปเลย เป็นต้น

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้บางทีเป็นแค่จริยาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราคิดไม่ถึง แต่ว่าก่อให้เกิดทุกข์เกิดโทษ โดยที่เราเองไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เรากระทำนั้น เป็นการปรามาสพระรัตนตรัย ไม่ให้ความเคารพอย่างแท้จริง ถ้าหากว่าผู้หญิงนั่งพับเพียบก็ถือว่าเป็นท่าปกติ แต่ถ้ารู้สึกว่าลำบาก ก็เปลี่ยนเป็นนั่งท่าเทพธิดาก็ได้ ถ้าสงสัยว่านั่งท่าเทพธิดาเป็นอย่างไร ? ก็นั่งทับส้นแบบที่คนญี่ปุ่นเขานั่งกัน

    เรื่องพวกนี้แม้ว่าจะเป็นจริยาเล็กน้อย แต่ส่อให้เห็นว่าสภาพจิตของเราหยาบมาก ก็เลยไม่เห็นทุกข์เห็นโทษ บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าเราเข้าไม่ถึงสมาธิเบื้องต้นคือปฐมฌานละเอียด เพราะว่าบุคคลที่เข้าถึงปฐมฌานละเอียดและทรงได้อย่างแท้จริงนั้น สติ สมาธิ ปัญญา จะแหลมคมและว่องไว สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะก่อทุกข์ก่อโทษให้แก่ตัวเองและผู้อื่นจะรู้เท่าทัน และไม่กระทำในสิ่งนั้น รู้จักขัดเกลา กาย วาจา ใจ ของตนเองให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามสภาพ เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงสมกับบุคคลที่ได้รับการกล่าวชมจากผู้อื่นว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม

    ไม่ใช่ว่ากี่เดือนกี่ปีก็ยังคงความหยาบอยู่เหมือนเดิม ไม่มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าลักษณะอย่างนั้น เราไม่สามารถที่จะกล่าวกับผู้อื่นอย่างเต็มปากเต็มคำว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา เพราะว่า กาย วาจา ใจ ของเราหยาบมาก ยังทำให้ผู้รู้เขาตำหนิได้ ถ้าหากว่าเราจะใช้คำว่า “ช่างหัวมัน” ปล่อยวางแล้ว ลักษณะอย่างนั้นก็คือ การวางใส่กบาลคนอื่น ก่อให้เกิดทุกข์เกิดโทษแก่คนอื่นเขา และขณะเดียวกัน ตัวเราที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ เราไม่รู้ตัวของเรา ก็ส่อถึงสภาพจิตที่หยาบกระด้าง ปราศจากการขัดเกลาอย่างแท้จริง

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้แม้ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม แต่แสดงออกซึ่ง กาย วาจา ใจ ของเรา ว่าทรงความดีได้น้อย ดังนั้น...ในวันนี้เรื่องนี้ไม่ได้คิดที่จะพูด แต่ได้รับการตักเตือนว่าควรที่จะพูด ควรที่จะบอก ควรที่จะกล่าว เพื่อให้บุคคลที่จิตหยาบ ไม่รู้ว่าแม้กระทั่งตนเองในขณะนี้ก็ยังทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรอยู่ จะได้มีโอกาสขัดเกลาตนเองให้ดีขึ้น

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ต้องกล่าวว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะว่าครูบาอาจารย์ท่านเห็นว่า ตัวเรานั้นยังพอที่จะขัดเกลาฝึกฝนได้ จึงให้บอกให้กล่าวอย่างนี้ ถ้าหากว่าขัดเกลาไม่ได้ ฝึกฝนไม่ได้ ท่านปล่อยวาง ก็แปลว่าเราเองยังต้องลำบากต่อไปอีกหลายชาติ

    ดังนั้น...เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะว่าเขื่อนมีรูรั่วแม้เท่าปลายเข็ม ถ้าหากว่าโดนน้ำดันผ่านไปมาก ๆ รูรั่วนั้นก็จะกว้างขึ้น และท้ายที่สุดก็จะเป็นเหตุให้เขื่อนใหญ่ ๆ พังทลายลงไปได้ เมื่อรู้แล้วก็จงพยายามขัดเกลา แก้ไข อย่าให้ กาย วาจา ใจ ของเราต้องเป็นทุกข์เป็นโทษกับคนอื่นต่อไป
    ...................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...