เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 31 พฤษภาคม 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔


     
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วันนี้เป็นวันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ สิ้นเดือนอีกแล้ว ซึ่งถ้าหากว่ากันตามที่พวกเราได้พิจารณาก็คือ วันคืนล่วงไป ๆ เราทั้งหลายทำอะไรกันอยู่ ?

    ตรงจุดนี้ทุกท่านต้องไม่ลืมเป้าหมายของเรา ก็คือการบวชเข้ามาเพื่อปฏิบัติตนให้ถึงความพ้นทุกข์ ส่วนญาติโยมทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เพราะว่าเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมก็คือเพื่อความพ้นทุกข์ แต่เรามักจะโดนสิ่งล่อ หลอก ลวง จนหลงลืมเป้าหมาย หรือเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายของเรา เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าขาดหลักธรรมในข้อวิมังสา

    อิทธิบาท คือหลักธรรมที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ประกอบไปด้วย


    ฉันทะ ยินดีและพอใจในสิ่งนั้น ๆ


    วิริยะ พากเพียรทำไปเพื่อที่จะเข้าถึงให้ได้


    จิตตะ กำลังใจจดจ่อปักมั่นไม่กับเป้าหมายเปลี่ยนแปลง


    วิมังสา ไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอว่าเราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ตอนนี้ทำไปถึงไหน ? ยังห่างจากเป้าหมายใกล้ไกลเท่าไร ? จะต้องใช้วิธีใดในการเข้าให้ถึงเป้าหมายนั้น ?


    ปัจจุบันนี้บรรดานักทฤษฎีโดยเฉพาะฝรั่ง สรุปลงมาเป็นวิธีการประเมินผล ซึ่งความจริงก็คือหลักวิมังสาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว แต่คราวนี้หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงตรัสไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วก็มีพวกที่ฉลาดเกิน พยายามที่จะศึกษาให้ครบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ บุคคลที่จะศึกษาและรู้ได้ครบถ้วนมีแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

    หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้บทใดบทหนึ่ง ถ้าตั้งใจนำมาพินิจพิจารณา นำมาปฏิบัติตามจริง ๆ สามารถเข้าถึงมรรคผลได้ทั้งนั้น ก็แปลว่าสิ่งที่พวกเราทั้งหลาย ตลอดจนทั้งญาติโยมที่ฟังอยู่นี้ได้ทำนั้น เกินความต้องการไปมาก โดยเฉพาะบุคคลที่จับจด ไม่ปักมั่นต่อเป้าหมายของตนเอง ถึงเวลาทำไปแล้วยังไม่ทันเกิดผล ก็เปลี่ยนกองกรรมฐานใหม่ ทำอย่างนี้ไปได้ระยะหนึ่ง พอเขาบอกว่าอย่างโน้นดี เราก็เปลี่ยนตามไป

    อาตมาเคยเปรียบเอาไว้ว่า เหมือนอย่างกับคนขุดบ่อหวังจะเอาน้ำ เมื่อขุดลงไปได้ ๓ เมตร ๕ เมตร เขาบอกว่าตรงโน้นน่าจะมีน้ำ ก็ย้ายที่ไปขุดใหม่ ขุดลงไปได้อีก ๓ เมตร ๕ เมตร มีผู้มาชี้บอกว่าตรงโน้นน่าจะมีน้ำดีกว่า ก็ย้ายที่ขุดใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็ไม่มีความหวังที่จะได้น้ำอย่างที่ต้องการเลย

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายได้ศึกษาคำสอนของหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จะเห็นในสิ่งที่ท่านกล่าวถึงอยู่เสมอว่า ทำกรรมฐานอะไร ให้ได้ไปเลยกองหนึ่ง เมื่อได้แล้วกองอื่นจะเป็นของง่าย เพราะใช้กำลังใจในการปฏิบัติเท่ากัน แต่ถ้าหากว่าเราปฏิบัติแล้วยังไม่ได้ ไม่ว่ากรรมฐานกองไหนก็ยากพอกัน
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    คราวนี้โดยหลักเลยก็คือ พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้มาก แล้วเราจะเลือกปฏิบัติอย่างไร ? อย่าลืมว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปคำสอนไว้เป็นไตรสิกขา คือสิ่งที่เราต้องศึกษา ๓ อย่าง ได้แก่

    สีลสิกขา การศึกษาและปฏิบัติในศีลของตน


    จิตตสิกขา การพยายามรักษากำลังใจให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปใน รัก โลภ โกรธ หลง


    ปัญญาสิกขา การใช้ปัญญามองให้เห็นความเป็นจริงในโลกนี้ว่า มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง และสลายไปในที่สุด


    ฉะนั้น..ในส่วนของสีลสิกขาก็คือ เราพยายามรักษาศีลตามเพศภาวะของตน บุคคลทั่วไปรักษาศีล ๕ อุบาสกอุบาสิการักษาศีล ๘ สามเณรรักษาศีล ๑๐ พระภิกษุสงฆ์รักษาศีล ๒๒๗ พยายามไม่ทำให้ศีลขาดด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นทำศีลขาด และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นทำศีลขาด

    ข้อต่อไปก็คือเจริญสมาธิภาวนา โดยมีลมหายใจเข้าออกเป็นบาทฐาน การปฏิบัติธรรมถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออกเป็นหลัก ไม่ว่าจะหมวดใดข้อใดก็ไม่สามารถเข้าถึงอย่างแท้จริงได้ พยายามภาวนาทรงฌานให้ได้อย่างน้อยเป็นปฐมฌานละเอียด เพื่อที่จะได้มีกำลังเพียงพอในการตัดกิเลสเบื้องต้น

    ถ้าสามารถทรงฌานได้แล้ว ก็ยังต้องซักซ้อมให้เกิดความคล่องตัว ก็คือต้องการจะเข้าฌานเมื่อไร ต้องการจะออกฌานเมื่อไร ต้องทำได้ทันที ต้องหัดเข้าฌานสลับฌาน ต้องหัดเข้าฌานตั้งเวลา ถ้าสามารถทำได้คล่องตัวแบบนี้ กิเลสก็จะกินเราได้น้อย เพราะว่าทันทีที่รู้ตัว เราก็วิ่งเข้าไปหาฌานสมาบัติ รัก โลภ โกรธ หลง ก็เกิดขึ้นไม่ได้
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เมื่อกำลังของสมาธิทรงตัว สภาพจิตนิ่งสงบ เราก็เอากำลังสมาธินั้นมาพินิจพิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี ร่างกายของสัตว์อื่นก็ดี มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง และสลายไปในที่สุด ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ มีความทุกข์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้ เราไม่พึงปรารถนาอีกแล้ว เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน

    แล้วเอากำลังใจสุดท้ายเกาะภาพพระ หรือว่าเกาะพระนิพพานเอาไว้ ซักซ้อมไว้อย่างนี้ทุกวันก็คือ ทบทวนศีลให้บริสุทธิ์ ซักซ้อมการเข้าออกของฌานสมาบัติให้คล่องตัว และใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของร่างกายนี้และโลกนี้
    ที่สำคัญที่สุดก็คือช่วงท้าย เราต้องมีวิมังสา ไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอว่า เราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ทำไปถึงไหน ? ห่างจากเป้าหมายใกล้ไกลเท่าใด ? ปัจจุบันนี้ยังตรงต่อเป้าหมายหรือไม่ ?

    ถ้าท่านทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติแบบนี้ ก็จะมีความก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งท้ายสุด ก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน

    ดังนั้น...ในส่วนที่มาบอกกล่าวในวันนี้ ก็คือญาติโยมมักจะขาดสติ ลืมไปว่าเราตั้งใจทำความดีเพื่ออะไร ? มีเป้าหมายอย่างไร ? จึงต้องมาทบทวนให้ทุกคนได้ทราบ และขณะเดียวกัน ก็กล่าวถึงวิธีการที่เราจะไปถึงเป้าหมายเหล่านั้น เป็นการตอกย้ำให้ท่านทั้งหลายที่ทำถูก ได้มั่นใจในหนทางของตน ส่วนท่านที่ทำผิด ก็จะได้ปรับแก้ให้เข้ามาสู่หนทางที่ถูกต่อไป

    ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณร และเจริญพรแก่ญาติโยมทุกท่านไว้แต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...