เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 10 กรกฎาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,405
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,534
    ค่าพลัง:
    +26,371
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,405
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,534
    ค่าพลัง:
    +26,371
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพรีบเดินทางไปวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารแต่เช้า เนื่องเพราะว่าระยะนี้ฝนมักจะตกหนักในช่วงเช้า ตลอดจนกระทั่งบริเวณนั้นรถติดมาก ถ้าออกสาย ก็คงจะไปไม่ทันพิธีปฐมนิเทศโครงการอบรมพระนักเทศน์ทุนเล่าเรียนหลวง รุ่นที่ ๓ ซึ่งดำเนินการโดยกองทุนเล่าเรียนหลวงคณะสงฆ์ไทย ร่วมกับศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

    เมื่อไปถึงก็ได้พบครูบาอาจารย์ ก็คือพระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙, Ph.D.) ซึ่งท่านเคยสอนกระผม/อาตมภาพมาตั้งแต่พระนักเทศน์ ในขณะที่ท่านเป็นเจ้าคุณพระเทพโสภณ และเมื่อมาเรียนในระดับประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็ยังได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณท่าน ช่วยบรรยายถวายความรู้ให้ตลอดมา

    และท่านเจ้าคุณอาจารย์บุญมา - พระเทพปฏิภาณกวี (บุญมา อาคมปุญโญ ป.ธ.๘) เจ้าคณะเขตภาษีเจริญ ซึ่งท่านก็เคยเป็นอาจารย์สอนเทศน์มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ชัยวัฒน์ - พระราชธรรมวาที (ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน) ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนเป็นพระเทพวชิรวาที แต่ว่าต้องรอรับสัญญาบัตรพัดยศเสียก่อน จึงได้สนทนาธรรมรำลึกความหลังกัน

    จนกระทั่งท่านพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีมาถึง จึงได้เริ่มเข้าสู่พิธีกรรม ก็คือการเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติ ต่อด้วยการถวายไทยธรรมพระราชทาน ซึ่งทางพิธีกรนั้นใช้คำว่า "ถวายอัฏฐบริขาร" จะว่าไปแล้วก็ผิดไปไกลหลายโยชน์ แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไปก่อน

    อัฏฐบริขารของพระนั้น ประกอบไปด้วยสบง ๑ จีวร ๑ สังฆาฎิ ๑ บาตร ๑ มีดโกน ๑ เข็มและด้าย ๑ ประคดเอว ๑ หม้อกรองน้ำ ๑ รวมเป็น ๘ อย่างด้วยกัน แต่ที่ถวายมานั้นประกอบไปด้วยผ้าไตรคือสบง จีวร สังฆาฏิ และย่ามอีก ๑ ใบ จึงไม่ควรที่จะใช้คำว่าอัฏฐบริขาร ซึ่งเป็นการทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดได้
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,405
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,534
    ค่าพลัง:
    +26,371
    เมื่อสิ้นพิธีหลวงและท่านองคมนตรีกลับแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ได้ถวายปัจจัยสนับสนุนงานอบรมครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท แล้วขอตัวเดินทางไปยังวัดหนองโพ หมู่ที่ ๙ ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งท่านอาจารย์พระมหาสมคิด อตฺถสิทฺโธ เจ้าอาวาสวัดหนองโพ รองเจ้าคณะอำเภอโพธาราม ได้แจ้งขอความช่วยเหลือมา

    เนื่องจากว่าแทงค์น้ำประปาของโรงเรียนหนองโพวิทยาได้ล้มลง จะบอกว่าหมดอายุก็ว่าได้ จึงขอให้กระผม/อาตมภาพเป็นเจ้าภาพในการสร้างแทงค์น้ำ เพื่อที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของทั้งทางวัดและทางโรงเรียน เนื่องเพราะว่าเมื่อเวลาแทงค์ประปาล้มลงไป ทางโรงเรียนก็ต้องต่อน้ำในวัดมาใช้แทน จึงทำให้ทางวัดต้องสิ้นเปลืองมาก กระผม/อาตมภาพจึงรับเป็นเจ้าภาพไปในราคาสองแสนบาท แล้วเดินทางกลับมายังวัดท่าขนุน

    เมื่อมาถึง เห็นต้นพุดศุภโชคหน้ากุฏิก็เกิดอาการ "น้ำตาจิไหล" เพราะว่าอาทิตย์ที่แล้วได้จับหนอนไปปล่อยแล้ว ๑๓ ตัวด้วยกัน ตอนนี้ปรากฏว่ามีหนอนตัวอ้วน ๆ โผล่อีกมา ๔ - ๕ ตัว ซึ่งหนอนทั้งหลายเหล่านี้เป็นหนอนของผีเสื้อราตรีลายพราง ซึ่งจะกินใบพุดศุภโชคเป็นอาหารอย่างเดียว ใบไม้อื่นก็กินไม่ได้ แล้วก็อาจจะมีการกำหนดจดจำไว้ในดีเอ็นเอรุ่นต่อรุ่นว่าตรงนี้มีอาหาร แต่ว่าไม่ได้พิจารณาดูว่า เพียงพอให้ลูกของตัวหรือเปล่า ? ระยะนี้จึงมาวางไข่ถึง ๔ ชุดติด ๆ กัน

    กระผม/อาตมภาพต้องรีบนำไปปล่อยที่สวนสาธารณะหัวสะพานแขวนหลวงปู่สาย ที่ตรงนั้นมีต้นพุดศุภโชคที่ทางเทศบาลตำบลทองผาภูมินำมาลงไว้เป็นร้อย ๆ ต้น แต่อาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงข้ามแม่น้ำแควน้อยนั้น อาจจะลมแรง ทำให้ผีเสื้อราตรีลายพรางไม่นิยมบินข้ามไปอย่างหนึ่ง หรืออาจจะเป็นเพราะว่ากำหนดจดจำได้ว่าสถานที่ตรงนี้มีอาหาร แล้วก็มีการฝังความจำกันรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้แม่ผีเสื้อที่เกิดมาจากตรงนี้ ก็มาวางไข่ให้มีลูกมีหลานตรงนี้กันต่อไป

    อีกอย่างหนึ่งก็คือนกกางเขนดง หรือว่านกบินหลาดง ซึ่งมาทำรังวางไข่เลี้ยงลูกภายในโรงรถ ปีที่แล้ววางไข่ ๕ ฟอง มีลูก ๕ ตัว เนื่องจากว่าทั้งพระทั้งนกช่วยกันเลี้ยง พ่อนกแม่นกรู้สึกว่าจะไว้ใจมาก ถึงเวลาพระมาก็มาเกาะอยู่ใกล้ ๆ บางทีก็บินข้ามหัวไปข้ามหัวมา บางทีเดินอยู่บนพื้น ก็แทบจะเดินเหยียบกันเลย ปรากฏว่าเมื่อกลับมาครั้งนี้ นกครอกนี้ซึ่งปีนี้มี ๔ ตัวก็บินได้กันหมดแล้ว
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,405
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,534
    ค่าพลัง:
    +26,371
    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้นั้นจะว่าไปแล้ว โบราณถือว่าเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องมงคล ก็คือถ้าหากว่า "มีแมวมาหา หมามาสู่" แปลว่าสถานที่นั้นร่มเย็น เป็นที่ไว้วางใจ สัตว์ทั้งหลายจึงมาอยู่อาศัยด้วย แต่ถ้าหากว่าพิจารณาจากจำนวนหมาในวัด ที่เกือบ ๆ จะสองสามร้อยตัวแล้ว กระผม/อาตมภาพก็เห็นว่า วัดท่าขนุนน่าจะร่มเย็นจนเกินไป ทุกวันนี้เฉพาะค่ารักษาหมาอย่างเดียว เดือนหนึ่งก็เป็นหมื่น ๆ บาท..! ไม่ต้องไปคิดถึงค่าหมอค่ายาอื่น ๆ เลย

    แต่ว่าในเมื่อวัดท่าขนุนของเราเป็นวัดเปิด เนื่องเพราะว่าอดีตเจ้าอาวาสคือ พระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต อนุญาตให้ทางเทศบาลตำบลทองผาภูมิ ทำทางสาธารณะผ่านเข้ามาในวัด โดยที่ไม่ได้ศึกษาให้ดีว่า ทางสาธารณะนั้นเป็นการใช้ร่วมกันทั้งหมู่บ้าน จึงทำให้ไม่สามารถที่จะสร้างประตูปิดทางเข้าออกได้ กลายเป็นวัดเปิด ก็คือไม่ว่าจะซ้ายขวาหน้าหลัง สามารถเข้ามาได้ทุกทิศทุกทาง


    ญาติโยมทั้งหลายจึงเห็นเป็นสถานที่ปล่อยลูกหมา แต่ละปีนำมาปล่อยถึงห้าหกสิบตัว ตัวไหนพระเลี้ยงแล้วสวย ก็อุ้มกลับไป ตัวไหนถ้าหากว่าค่อนข้างจะขี้เหร่ ก็เป็นภาระของพระที่จะเลี้ยง เป็นภาระของพระที่จะต้องนำไปทำหมัน อยู่รอดบ้าง ตายบ้าง ก็ยังเหลือหมาทั้งวัดนับร้อย ๆ ตัว..!

    ตอนแรกทางวัดก็ทำหมันเฉพาะหมาตัวผู้ ปรากฏว่าไม่สามารถที่จะป้องกันการเกิดของลูกหมาได้ เนื่องจากว่าตัวผู้จากที่อื่นได้เข้ามาทำหน้าที่แทน ทุกวันนี้จึงต้องทำหมันทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ก็มีพระในวัดแอบ ๆ เอาไปซุกไว้ตัวสองตัว บอกว่าเดี๋ยวจะไม่มีลูกหมารุ่นใหม่ จะว่าไปแล้ว บางทีก็กลายเป็นเรื่องของเมตตาเกินประมาณอยู่เหมือนกัน แต่ในเมื่อเขามาอยู่กับเราแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องเลี้ยงดูกันไป

    แม้กระทั่งคนที่มาอยู่วัด ไม่ว่าอย่างนางแดงหรือว่านายหม่องมิตร ซึ่งทั้งสองรายนั้น รายแรกเป็นบุคคลที่นามสกุลใหญ่โตมาก บอกไปแล้วต้องรู้จักกันแน่นอน เพราะว่านามสกุลนี้เคยเป็นถึงประธานสภา แต่ว่าลูกหลานไม่เอา หรือว่าไม่เอาลูกหลานก็ไม่รู้ ? จึงได้มาอาศัยอยู่วัด
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,405
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,534
    ค่าพลัง:
    +26,371
    ส่วนนายหม่องมิตรนั้นเป็นต่างด้าว มาอยู่มาอาศัย นอนกินอยู่ในวัดอย่างเดียว การงานอื่นก็ไม่คิดที่จะทำอะไร จนกว่าอยากจะได้สตางค์ไปกินกาแฟเมื่อไร ก็จะมาทำงานโครมครามให้พระเณรเห็นเล็กน้อย แล้วก็ขอเงิน ๒๐ บาท เพื่อที่จะไปซื้อกาแฟหรือว่าซื้อบุหรี่ กระผม/อาตมภาพก็ยังคิดว่า "เออหนอ..เอ็งไม่มีสตางค์แล้วยังอุตส่าห์มาติดของพวกนี้อีก แทนที่จะฉวยโอกาสเลิกไปเลยก็ไม่ยอมเลิก..!"

    ถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย มาลาเรียรับประทาน เข้าโรงพยาบาล ด้วยความที่เป็นต่างด้าวไม่มีบัตรประชาชน ก็ไม่สามารถที่จะใช้สิทธิ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคได้ กระผม/อาตมภาพก็ต้องเป็นผู้จ่ายสตางค์ให้ ทั้งค่าห้องค่ายาทีหนึ่งก็หลาย ๆ พันบาท บางคนก็ถามว่า "แล้วให้มันอยู่ทำไม ?" กระผมก็ตอบไปว่า "ขนาดหมาเรายังเลี้ยงไว้เต็มวัด นี่คนทั้งคนก็เลี้ยงเอาไว้เถอะ อานิสงส์มากกว่าเลี้ยงหมาตั้งเยอะ..!"

    เรื่องเหล่านี้ที่มาบ่นให้ท่านทั้งหลายฟัง ก็เพราะว่าบางเรื่องนั้น ในสายตาของคนทั่วไปก็เห็นว่าเป็นเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง แค่หนอนมาวางไข่ที่ต้นไม้หน้ากุฏิ ถึงขนาดต้องรีบนำไปปล่อยในที่อุดมสมบูรณ์ ก็เพราะว่าถ้าไม่นำไปปล่อย ก็คงจะไม่เหลือรอดอย่างแน่นอน..!

    มีนกมาวางไข่ เลี้ยงลูกก็ช่วยหาอาหารไปเลี้ยงลูกนก มีหมามาปล่อย ก็ต้องดูแลรักษา ไม่ว่าจะต้องหยอดยา ฉีดยาป้องกันเห็บหมัด ฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ป้องกันโรคหัดหมา ป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ ต้องนำไปผ่าตัดเมื่อเป็นมะเร็งบ้าง หรือว่าโดนรถทับได้รับบาดเจ็บบ้าง แต่ละปีหมดไปไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร

    แต่ก็อยู่ในลักษณะที่ว่า สัตว์ทุกตัวล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เขาอยู่กับเรา เขาก็ช่วยเฝ้าวัด เราเองสามารถอนุเคราะห์สงเคราะห์อะไร ให้เขาพ้นจากความลำบากในภพภูมิของเดรัจฉานได้ ก็ช่วยอนุเคราะห์กันไปตามหน้าที่ ส่วนคนนั้นไม่ต้องห่วง ก็คงต้องเลี้ยงกันจนตายไปข้างหนึ่ง แม้ว่าบางทีจะทำตัวน่าเตะบ้างก็ไม่มีปัญหาอะไร เตะระบายอารมณ์เล่นสักทีสองที เขาก็ไม่กล้ามาเข้าใกล้อีก จนกระทั่งทุกวันนี้ คิดจะหาตัวมาเตะ ก็หาไม่ได้เสียแล้ว..!

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ จะว่าไปแล้วก็คือ ถ้าเรามองทุกคนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เราก็จะเห็นว่าเขาทั้งหลายเหล่านั้นกำลังดำรงชีวิตอยู่ในกองทุกข์ อะไรก็ตามที่สามารถดับร้อนผ่อนทุกข์ให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นได้ เราก็ควรที่จะรีบทำ เพราะไม่แน่ใจเหมือนกันว่าวันใดวันหนึ่ง เราเองเมื่อเราตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้น บุญกุศลนี้อาจจะมาช่วยเหลือเราทันก็เป็นได้

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...