นาฏกรรมชาวสยาม..บุศย์มหินทร์(เจ้าหมื่นไววรนารถ)

ในห้อง 'เรื่องผี' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 27 เมษายน 2009.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    นั่งเซิร์ทหาข้อมูลเรื่อยๆ ไปเจอบทความนี้จาก เว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง
    ตรงหน้านี้พอดี เห็นรูปแล้วอดอ่านความเป็นมาไม่ได้..
    ในส่วนความรู้สึกที่อ่าน..(ของอิชั๊น)
    มีบางตอนรู้สึกขนลุกด้วยความรู้สึกยากจะบรรยาย
    รู้สึกภูมิใจความเป็นไทยจากถ้อยคำที่ผู้เขียนเค้าบรรยายความรู้สึก
    สิ่งที่หาดูได้ยากในต่อๆไปภายภาคหน้า..
    ส่วนใหญ่ก็เพียงภาพถ่ายเก่าๆกับจินตนาการตามภาพ
    รึไม่ก็ต้องนั่งเซิร์ทอ่านความเป็นมา..(เหมือนข้าพเจ้าตอนนี้~>_<~)
    ทำไม ต้องเลือกมาโพสต์หมวดนี้..!?!
    ไม่รู้สิ..บางครั้งความรู้สึกก้ำกึ่ง..ๆ
    บางเรื่องไม่ใช่เรื่อง ผี วิญญาณ แต่ดูขลัง ลึกลับที่ไม่ใช่วิทย์ๆ
    เลยขออภัยไว้ณ.ที่นี้ด้วยจ้า สำหรับคอเรื่องผีๆวิญญาณๆ [​IMG]
    ที่อาจจะคลิกเข้ามา กลายเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ การณ์ก่อนโน้น โน๊น..และโน๊นนนน...(เนิ่นนาน..)
    [​IMG]
    ยังไงซะ..!! ก็เป็นการเปิดโลกทรรศน์อีกด้านสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน
    ออกตัวยาวเลย..สุดท้ายต้องขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล..แล้วจะขอบคุณอีกครั้งที่ท้ายสุดของบทความค่ะ [​IMG]
    ------------------
    นักรบวัฒนธรรมผู้เดียวดาย : นาย 1900 บุศย์มหินทร
    [SIZE=-1]โดย : สุเมธ สอดจิตต์
    [/SIZE]
    [SIZE=-1]พิมพ์ครั้งแรก RESOUND MAGAZINE ประจำเดือน ธันวาคม 2546 - มกราคม 2547 ในนาม RESOUIND (No Name Man) [/SIZE]

    [​IMG]
    ภาพคณะละคร นายบุศย์มหินทร์
    จากหนังสือ Music! The Berlin Phonogramm – Archiv 1900-2000
    จัดทำโดย Museum Collection Berlin


    << 1 >>

    ผมจุดธูปหอมอินเดียเก้าดอก

    จรดมืออธิษฐานเหนือศีรษะ ขอพรจากองค์พระพิฆเณศให้คิดดี คิดงาม ผมนึกถึง สมเด็จพ่อ ร.5 ท่านดำริให้มีโรงเรียนในบ้านเกิด ผมและเพื่อนได้เรียน คิดถึงครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชา ครูทางศิลปะและดนตรี ผมนำรูปของท่านเท่าที่หาได้ ประดับไว้บนตู้เสื้อผ้า รำลึกและกราบคารวะ อยู่ในซอกมุมเมืองกับเพื่อนหนุ่ม เขาทำงานศิลปะ วาดรูปในหลวงให้เราได้กราบไหว้ เราจึงจำเป็นต้องมีหิ้งบูชา ดวงจิตอันบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์จะคอยกระตุ้นสำนึกใฝ่ดี มีท่านเป็นขวัญกำลังใจ เสริมส่งแรงใจในการทำงาน เราคือคนหมู่มาก ที่เป็นชนกลุ่มน้อย เรามีครูดีคอยยึดเหนี่ยวใจ

    ผมยังจรดธูปเก้าดอกไว้เหนือศีรษะ อธิษฐานถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา องค์พระผู้ค้ำจุนดนตรีเก่าแก่ของแผ่นดินให้ดำรงอยู่ พระองค์ท่านทรงกระตุ้นเตือนจิตสำนึก ให้ลูกหลานของเราไม่ลืมจะเข้ ซอสามสาย ระนาดทุ้ม หรือระนาดเอก ผมรำลึก

    อธิษฐานสุดท้าย ผมแหงนมองภาพถ่ายขาว-ดำของคณะนาฏศิลป์ไทยที่สัญจรไกล ไปแสดงถึงแดนยุโรปในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง นึกถึงบุคคลหัวหน้าคณะผู้บังเอิญได้จารึกประวัติศาสตร์การบันทึกเสียงนอกสยามเป็นครั้งแรก แต่ผู้คนในแผ่นดินแม่กลับลืมประวัติศาสตร์สำคัญทิ้งไว้ถึงร้อยปี ศิลปินคนยาก นายบุศย์มหินทร์ นักรบทางวัฒนธรรมผู้เดียวดาย ชายหนุ่มแห่งปี ค.ศ.1900
    ผมจรดมือขอขมา รำลึกเป็นอักขระถึงท่านอย่างคารวะ
    ผมจุดธูปอินเดียเก้าดอกอีกครั้ง

    บูชานายบุศย์มหินทร์ เป็นการเฉพาะ นึกถึงวันแรกที่เสพข้อมูล ผมตื่นตะลึง
    วันพุธกลางปี 2002 คาบเรียนวิชาหนึ่ง สอนโดย ดร.สมศักดิ์ เกตุแก่นจันทร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
    อาจารย์บรรยาย..
    ผมจดบันทึก...


    “...ปี 1900 เพลงไทยได้ถูกบันทึกเสียงไว้เป็นครั้งแรกที่กรุงเบอร์ลิน ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านั้นก็เคยมีวงดนตรีไทยเดินทางไปแสดงที่ยุโรปแล้วเหมือนกัน แต่ไม่ได้บันทึกเสียง เป็นวงของพระยาประสาร์นดุริยศัพท์ แสดงในวังบักคิงแฮม สมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธ ประทับใจการเป่าขลุ่ยของพระยาประสาร์นมาก การเดินทางครั้งนั้น มีนักดนตรีตายประมาณ 2 คน...”
    ผมบันทึก...

    “...ปี 1900 วงนายบุศย์มหินทร์ นำดนตรีและคณะนาฏศิลป์ชุดหนึ่งไปแสดง ขณะเดียวกัน เยอรมันก็ได้ซื้อเครื่องบันทึกเสียงของเอดิสัน เป็นกระบอกเสียง ใช้ระบบมือหมุน บันทึกได้ครั้งละ 2 นาที ตอนนั้น มีคณะดนตรีหลายชาติรอการอัดเสียง ไม่ว่าจะเป็น แอฟริกา อาหรับ อินเดีย เกาหลี และญี่ปุ่น แต่ชาติไทยเป็นชาติแรกที่ได้บันทึกเสียงเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เสียงกรุงเบอร์ลิน (Berlin Phonogramm-Archiv) ถือเป็นการอัดเสียงนอกประเทศครั้งแรกของศิลปินชาวสยาม โดยมี คาร์ล สตุมฟ์ (Prof.Dr.Carl Stumpf) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยดุริยางควิทยา และผู้ช่วยคือนายบอสเตล (Bastal) อัดเสียงการแสดงของคณะละครนายบุศย์มหินทร์ที่สวนสัตว์กรุงเบอร์ลิน(Berlin Zoological Gardens) ในวันที่ 29 กันยายน ปี 1900 ประชาชนสมัยนั้นไม่เคยรู้จักกับระบบเสียงของดนตรีสยาม ฟังเป็นเสียงแปลกประหลาด เพราะต่างคุ้นชินรูปแบบดนตรีตะวันตก
    หลังจากนั้นจึงมีนักแสดงหลายๆ คณะในหลายประเทศ ได้อัดเสียงเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนั้น เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แอฟริกา..
    ในปี ค.ศ.2000 นับเป็นโอกาสครบรอบร้อยปี นาฏกรรมไทยคณะนายบุศย์ ซึ่งบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกของพิพิธภัณฑ์และได้เก็บรักษาไว้นั้น ประเทศเยอรมันจึงจัดงานฉลองยิ่งใหญ่ มีการเผยแพร่เสียงแห่งอดีตจำหน่ายในรูปแบบคอมแพ็คดิสก์ แต่คนไทยไม่ค่อยได้ยิน...”

    ผมหยุดคิด?
    ผมบันทึกการบรรยายของดอกเตอร์...


    “...มาสเตอร์เสียงวงนายบุศย์มหินทร์ บันทึกบนแผ่นคอมแพ็คดิสก์ อยู่นี่.. (ดร.สมศักดิ์ ให้ดูแผ่นซีดี และหนังสือสูจิบัตรที่บรรจุกล่องกระดาษอย่างดี) ทางพิพิธภัณฑ์เยอรมันส่งมาให้เพื่อวิเคราะห์เพลง

    เพลงที่ให้ฟัง ชื่อเพลง คำหอม...”
    ผมดิ่งด่ำรสเพลง เสียงระนาดเหงาเศร้าอยู่เบื้องหน้าเครื่องดนตรีชนิดอื่น มีระนาดทุ้มคลอต่ำ ขลุ่ยไทยแหลมสูง ยินเสียงเครื่องให้จังหวะปนเสียงลานจากเทคนิคการอัดเสียงลงกระบอกรุ่นแรก ชัดเจน ทำนองขรึมขลัง ความยาวเพลงไม่เกินสองนาที
    ...เพลงคำหอม...
    อาจารย์บอกว่า เป็นหลักฐานเก่าที่สุด นำมาเปิดให้ฟัง ทิ้งเป็นการบ้าน ฝากเป็นหน้าที่ของพวกเรา นิสิตใหม่ ให้นำไปคิดต่อ
    หลังจากวันนั้น เรื่องราวเพลงคำหอม และการเดินทางของคณะละครนายบุศย์ก็จมอยู่ในห้วงนึก กระแทกอารมณ์ให้หวนคิดหลายครั้งครา มีช่วงหนึ่งที่ผมเข้าปรึกษาดอกเตอร์เพื่อขอถ่ายสำเนาเสียงเพลงคำหอม เก็บไว้ในเครื่องบันทึกระบบ Mini disc และถ่ายสำเนาเอกสาร Music! The Berlin Phonogramm-Archiv 1900 - 2000 ซึ่งจัดทำโดย Museum Collection Berlin ในนั้นมีข้อมูลนายบุศย์มหิทร์ฝังอยู่ สักวันหนึ่งคงมีโอกาสศึกษา
    หนึ่งปีเต็ม ตั้งแต่กลางปี 2002 ถึงปี 2003 ผมค้นหาข้อมูลจากหลายแหล่งไปเรื่อย ได้เดินหลงเข้าศึกษาเกี่ยวกับดนตรีพื้นถิ่น ย้อนยุคไปในสมัยฝรั่งชาติเจริญไล่ล่าอาณานิคม เหล่านักแสดงจากประเทศโลกที่สามถูกมองเป็นคณะนาฏกรรมประหลาด ต่างจากศิลปะอันเจริญเหมือนประเทศเขา เป็นของแปลกจากโลกนอก คณะนายบุศย์มหินทร์ จึงเป็นกลุ่มนาฏศิลป์พลัดถิ่น วิธีการดนตรีเหน่อๆ สุ่มเสียงดัง ชุดการแสดงดูลวดลายตระการตา ลีลาการแสดงลี้ลับ สีสันการแต่งกายแวววับ ระยิบระยับคล้ายเหล่าเทวดา ไม่! พวกเขาไม่เคยสัมผัสเทวดา จินตนาการไม่ถึงขั้นเทวา เขาคุ้นชินอาการพิศวงจากคณะละครสัตว์ ละครสีทองสดบุศย์มหินทร์จึงมีโอกาสร่ายรำพัด (Fan Dance) ในสวนสัตว์แห่งมหานครเบอร์ลิน ผู้ดีวิถีตะวันตก ชอบ ชื่นชม เรียกการแสดงแปลกประหลาดนั้นว่า EXOTIC
    พวกเขาดูแล้วหัวเราะ
    พวกเขายิ้ม
    เขาประทับใจ “คนแปลกประหลาด” พวก EXOTIC MAN
    ผมจุดธูปอินเดียเก้าดอก
    กลิ่นหอม.. แปลกประหลาด...
    บัดนี้ผมคว้าได้ข้อมูลเพิ่มเติม
    ภาพถ่ายขาว - ดำของศิลปินแห่งอดีตวางอยู่เบื้องหน้า กลุ่มคนสามสิบกว่าชีวิต ชาย หญิง ผู้ใหญ่ เด็กน้อย ในชุดละครโบราณ พร้อมชุดนักดนตรีเบื้องหลังเครื่องปี่พาทย์ กลุ่มคนที่เดินทางไกลไปต่างแดน ผมเห็นชายหนุ่มนั่งเล่นระนาดเอก มองตรงหน้านิ่งเศร้าอยู่นั่น! เขาคือ นายบุศย์มหินทร์ หัวหน้าคณะละครไทย
    ผมศึกษาข้อมูลจากงานเขียนหลายเล่ม เดินทางสู่โลกไร้พรมแดน เปิดเว็บไซน์ บังเอิญผ่านไปดูใน www.waxylinder.com บัดนั้น ผมตะลึงกับถ้อยความพาดโปรย

    “...ถ้าดวงวิญญาณของนายบุศย์มหินทร์ ยังอยู่บนสรวงสวรรค์
    ขอให้ดวงวิญญาณท่านรับรู้ด้วยว่า...

    ...ในห้วงเวลาเดียวกันแต่ต่างมิติ
    ท่านคือผู้สร้างประวัติศาสตร์การอัดเสียงนอกสยาม
    เป็น “คนแรก” และเป็น “ครั้งแรก” ของประเทศไทย...

    ...ขอร่วมไว้อาลัย “นายบุศย์มหินทร์”
    ผู้สร้างตำนานการอัดเสียงแห่งสยาม...”


    ผมคัดย่อไว้เพียงบางส่วน เว้นพื้นที่ว่างให้ใจจินตนาการ ผู้เขียนคำอุทิศ คือ พฤฒิพล ประชุมผล – ผมบันทึกข้อมูล

    กลิ่นธูปอินเดีย หอมแปลกประหลาด
    โชยแผ่วสัมผัสอารมณ์ลึก
    นึกถึงข้อมูลล่าสุดที่เพิ่งได้จากโลกไร้แดน

    วันที่ 16 ธันวาคม 2003 คือวันครบรอบเวลา 102 ปี วาระจากไปของนายบุศย์มหินทร์ ผู้สร้างตำนานการอัดเสียงแห่งปี 1900 เธอสิ้นล้มอย่างเดียวดายในปี 1901 ประวัติศาสตร์เสียงของศิลปินเศร้าหายไปหนึ่งศตวรรษ พร้อมประวัติชีวิตวัยหนุ่ม

    ผมปิดสมุดบันทึก
    กลิ่นธูปอินเดีย
    หอม.. แปลกประหลาด...
    จางหายไป.


    <<2>>

    วัน อาทิตย์ ที่ 14 ธันวาคม
    ปี 2003 ตามปฏิทินตะวันตก เวลา 18.00 น.
    ผมจุดธูปหอมหนึ่งดอก ขณะเสียงเพลงชาติไทยแผ่วมาพร้อมสายลมหนาว ความเศร้าและคิดถึงบางอย่างเดินทางมาอย่างแท้จริงอีกแล้ว นั่งที่ระเบียงคนเดียว สังเกตดูควันธูปลอยหม่น ม้วนตัวอยู่ในกระแสลม แสดงรูปร่างต่างๆ ผมจินตนาการเห็นเป็นตัวเลขจากเถ้าธูปที่ม้วนงอ พลันหล่นสู่พื้นกระจาย เอนกายผ่อนกิริยาบนเก้าอี้หวาย หลับตาย้อนไปที่ตัวเลข102 ปี วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1901 ณ วันนี้ในปีนั้น แดนสวรรค์เมืองบางกอกคงหนาวเหน็บคล้ายๆ กัน หรือว่าหนาวลึกล้ำกว่า ผมคิดและคิดถึง

    จากข้อมูลกระจัดกระจายอยู่รอบกาย พร้อมทั้งสายลมหนาวในจินตนาการ ผมยังนึกเห็นดวงหน้าชายหนุ่มนัยน์ตาเศร้า เขานั่งหลังระนาดเอก บุศย์ เพ็ญกุล, บุศรา มหินทร์, บุษย์มหินทร์, นายบุศย์มหินทร์ หรือ เจ้าหมื่นไววรนารถ (บุศร) ตามชื่อที่ตีความและเขียนได้หลากหลาย เป็นข้าราชการวิญญาณศิลปิน มีความสามารถด้านดนตรีไทยหนึ่งในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง คือคนหนุ่มการศึกษาดี ดีกรีการร่ำเรียนผ่าน มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ บุตรชาย เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ท่านเป็นเจ้าของคณะนาฏศิลป์ใหญ่สุดในสยาม มีชาวคณะรวม 800 – 1,000 ชีวิต เมื่อสิ้นชีพบิดา นายบุศราจึงรับช่วงต่อมรดกนาฏกรรมของบรรพชน
    นางรำในภาพขาว-ดำ ที่ดูอยู่ขณะนี้ คือหนึ่งในลูกทีมของบุศย์มหินทร์ซึ่งร่วมรอนแรมสู่ต่างแดน เบื้องหลังภาพ มีสัดส่วนชีวิตที่เป็นตำนาน แวดล้อมด้วยความเศร้าเข้าเจือปนมากมาย
    ผมเพ่งสมาธิพิศอย่างเหนื่อยล้า ไม่กล้าก้าวล่วงกาลเวลาไปอย่างรีบเร่ง ชีวิตไม่ควรรีบร้อนกับเรื่องละเอียดอ่อนทางจิตวิญญาณ
    ลมหนาวกระหน่ำรุนแรง ปล่อยจิตลอยสบาย แล้วล้มกายลงนอน
    ...หลับสนิท...
    วัน จันทร์ ที่ 15 ธันวาคม
    เมื่อคืน เดือนแรมเพียงครึ่งดวง เคลื่อนผ่านไปในปลายปี 2003
    ผมนอนซม ใจอยากรีบตื่นเพื่อจุดธูปหอมสักดอก เวลาเย็นมากแล้วแต่คนยังคร้านอยู่
    ยินเสียงขลุ่ยผิวอินเดียดังมาจากระเบียงห้อง เพื่อนศิลปินหนุ่มผมยาวยืนเป่าเพลงกล่อมวิญญาณเมืองรับลมหนาว คล้ายโน้ตพระราชนิพนธ์ปนทำนองแปลก ผมฮัมเนื้อความในใจ
    “...นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย...” จิตสำนึกถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง
    บัดนี้ไม่ใช่เวลานอนแล้ว ผมรีบตื่นขึ้นมาจุดธูปหอมหนึ่งดอก
    หยิบโทรศัพท์มือถือดูตัวเลขเวลา
    18.00 นาฬิกา
    น่าประหลาด หน้าหนาวก่อนค่ำนี้ ผมไม่ได้ยินเสียงเพลงชาติไทย

    ปี ค.ศ.1901 ในเวลาสิบแปดนาฬิกา ณ เมืองบางกอก ฤดูหนาวก่อนค่ำนั้น ยังไม่มีเสียงเพลงชาติไทยให้ยินเช่นกัน แต่ที่กาลบัดนั้น โลกได้บันทึกเสียงเพลงคนไทยนอกแดนสยามไว้แล้ว แม้ไม่มีใครได้ฟังในห้วงปีเริ่มต้นศตวรรษ สักวันหนึ่งเมื่อเริ่มสหัสวรรษใหม่ เพลงจะทำหน้าที่ของมัน แม้ลมหายใจวางวาย คนที่ร่วมรำลึกก็จักได้สดับภาพดวงหน้า ภาษาดนตรี ถ้อยความดอกไม้จากดวงใจ ในทำนองนาม คำหอม ของชายหนุ่มผู้เดียวดาย นายบุศย์มหินทร์
    ห้วงเวลาที่แสนแปลกประหลาด ทำให้ท่านบุศราเริงร่าสุขใจ แม้เมื่อลมหนาวเข้ามาตอกย้ำความทรงจำแห่งคืนเศร้า ท่านคงยิ่งคิดถึงเหล่าคณะนางรำ เพื่อนผู้ร่วมตรากตรำในดินแดนที่แม้นแต่ทัพทหารเรือนแสนของ จอมจักรพรรดินโปเลียน ยังแตกพ่าย สยบยอมพายุหิมะ
    ลมหนาวเดินทางล่วงล้ำวิหารทองของจิตใจ ตอกย้ำกระหน่ำลึกลงสู่ความรู้สึกคิดถึงใครบางคนตามภาพที่ผมค้นเจอ
    หยิบหนังสือ นาฏกรรมชาวสยาม เขียนโดย เอนก นาวิกมูล มาเปิดซ้ำหลายเที่ยว
    ผมเห็นภาพประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นตะลึง ซึ่งบุศย์มหินทร์บันทึกไว้โดยที่ท่านแทบไม่รู้ตัว
    กรุงเซ็นต์ปิเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย
    ลมหนาวปลายปี 1900 ซัดกระหน่ำชะตากรรมคณะละครอย่างรุนแรง
    จากหนังสือนาฏกรรมชาวสยาม หน้า 46-48 ตามสายตาของผู้เล่าเหตุการณ์วัย 12 ขวบ หม่อมศรีพรหมา กฤษดากร บุตรบุญธรรมของ พระพรหมสุรินทร์ (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์) ข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ซึ่งเดินทางไปประจำอยู่ในสำนักเอกอัครราชทูตไทยแดนรัสเซีย เธอได้บันทึกเหตุการณ์ในวัยเยาว์ ณ ขณะนั้นว่า
    “...โรงละครหลวงหรูมาก ละครนั้นนายบุษมหินทร์พาไปเล่น แต่ขาดทุน เพราะไปผิดฤดูกาล หนาวกันเกือบตาย นายบุษมหินทร์เป็นบุตรเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง นำเอาแบบเจ้าคุณพ่อ ซึ่งมีชื่อเสียงดังในเมืองเรามาแล้วไปเล่น ละครเจ้าพระยามหินทร์มีชื่อเสียงโด่งดังสมัยโน้น ใครๆ ก็รู้จัก ไม่ได้เล่นเป็นเรื่องเป็นราว แต่เป็นฉากๆ สวยงามมาก เครื่องแต่งกายก็สวยแวววับ พราวแพรวไปหมด ถ้าไปเหมาะๆ คงจะได้เงินบ้าง ทางทูตจัดส่งกลับเพราะไม่มีเงิน
    ฉากละครที่จำได้แม่น คือ ชุดรำโคม ชุดรำพัด ชุดรำอะไรต่ออะไรไม่ได้จำ ชุดพระชุดนาง คงจะมีรำฉุยฉายด้วย เหลือกว่าเด็กจะจำได้...”
    ผมพลิกหนังสือไปดูตามสายตาฝรั่งซึ่งบันทึกข้อมูลที่เขาสัมผัส ณ ห้วงเวลาเดียวกัน ซึ่งอยู่ในส่วนภาคผนวกของหนังสือเล่มเดิม ได้เห็นภาพคณะละครพลัดถิ่นทำหน้าที่ทูตวัฒนธรรมอยู่ท่ามกลางความหนาวเหน็บเดียวดาย
    “...คณะนาฏศิลป์มีสมาชิก 35 คน เป็นหญิง 23 ชาย 12 ผู้หญิงเป็นทั้งตัวละคร นางรำ ส่วนผู้ชายเล่นดนตรี วงดนตรีประกอบด้วยเครื่องดนตรีไทยโบราณ เช่น ฆ้องวง ซึ่งประกอบด้วย ฆ้องโลหะระดับเสียงต่างๆ จำนวนมากรายรอบติดกับตัวไม้เป็นครึ่งวงกลม ระนาด ปี่ ขลุ่ย ฉิ่ง ฉาบ...”
    ผมเห็นภาพพวกเธอร่ายรำ ตามคำบรรยายของฝรั่งคนนั้น

    “...นางรำแต่งเครื่องทรงอลงกรณ์ สวมชฎา มงกุฎ เพียบพร้อมด้วยเครื่องประดับประดา ต่างทั้งร้องทั้งรำ ทรงตัว โดยย้ายเคลื่อนไหว ตัดแข้งตัดขา เป็นท่าต่างๆ ไปตามจังหวะดนตรี บางครามือโบกรำไปข้างหลังเกือบจรดหลัง พวกเราซึ่งคุ้นเคยแต่ระบำรำเต้นแบบยุโรปมาแต่เล็กแต่น้อยก็ต้องทำใจลืมทัศนคติที่มีต่อนาฏศิลป์ของเราเองไว้ชั่วขณะ เพราะนาฏศิลป์ไทยนี้แม้จะดูแปลกตา แต่ทว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะลีลาท่ารำของนางรำ ดูแล้วเป็นธรรมชาติ และมีเสน่ห์กว่านาฏศิลป์ของเราเสียอีก...”
    ผมปิดนาฏกรรมชาวสยาม หยุดเสพข้อมูลจากหนังสือไว้พลางก่อน
    เปิดใจรับข่าวสารซึ่งเรียบเรียงโดย พฤฒิพล ประชุมผล ที่ส่งผ่านโลกไร้แดน
    “...คณะละครนายบุศย์มหินทร ถูกส่งกลับเนื่องจากการแสดงขาดทุนอย่างยับเยิน ไม่มีแม้ค่าเดินทางกลับ บ้างก็ว่าหญิงละครบางคนต้องนำชุดละครออกขายฝรั่งเพื่อเป็นค่าเดินทางกลับสยาม บ้างก็ว่าได้รับความช่วยเหลือจากราชทูตในยุโรป ทั้งนายบุศย์เองเมื่อกลับมาถึงยังโดนหญิงละครภายในคณะฟ้องร้องเรื่องค่าแรงตามสัญญาอีกด้วย...
    ...ข่าวในบางกอกไตมส์วันที่ 22 ตุลาคม ลงว่า เด็ก 8 ขวบ ชื่อหนอม เป็นนักแสดงที่อายุน้อยสุดที่ไปกับคณะละครนายบุศย์มหินทร ฟ้องเรียกค่าจ้างตามสัญญาที่เคยบอกไว้ว่าจะให้วันละ 8 บาท ขณะนี้ยังไม่ได้ ศาลตัดสินให้บริษัทนายบุศย์จ่ายค่าแรงดังกล่าววันละ 3 บาท แต่ฝ่ายจำเลยก็ยังขออุทธรณ์อยู่...”
    วันอังคารที่ 16 ธันวาคม
    ณ วันนี้ผมนั่งอยู่ที่เวลาบ่ายของปลายปี 2003 ตามคริสตศักราช หรือปีพุทธศักราช 2546 ระบบคิดทางตัวเลขของเวลา บ่งบอกว่าใกล้สิ้นปี
    ผมจำเป็นต้องจุดธูปหอมอีกหนึ่งดอก แต่.. ยังไม่ถึงเวลา...

    ผมต้องอ่านข้อความจากโลกไร้แดนนั่นต่อไป ก่อนจุดธูปหอม

    “...หนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ฉบับวันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2444 ลงข่าว (ครั้งสุดท้าย) เกี่ยวกับนายบุศย์มหินทร์ไว้ดังนี้
    ข่าวถึงแก่กรรม
    ทุกๆ ท่านบรรดาที่เปนญาติแลมิตรแก่เจ้าหมื่นไววรนารถ(บุศร)แล้วเปนที่เสียใจเศร้าโศกน่าสังเวดที่ทราบว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคมเวลาบ่าย เจ้าหมื่นไววรนารถอาบน้ำเพื่อจะไปธุระ ในทันใดนั้นเปนลมล้มลงในห้องน้ำขาดใจตายทันที พวกพ้องและภรรยาได้แก้ไขก็หาฟื้นไม่ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมได้มีการรดน้ำอาบศพเข้าหีบตามราชการ เมื่อมีเหตุอันร้ายแรง เกิดขึ้นสำคัญแก่เจ้าหมื่นไวยวรนารถถึงแก่ชีวิตโดยเร็วเช่นนั้นก็เปนที่เศร้าโศกแห่งญาติ แลมิศหายบุตรภรรยาเหลือเกิน ด้วยท่านผู้ตายหรือก็มีความผาศุขอ้วนพี มิได้เปนโรคอย่างใดอย่างหนึ่งเลย เมื่อเปนเช่นนั้นแล้ว ก็กระทำให้เสียใจแก่ทุกๆ ท่านๆ ผู้นี้ก็ได้ราชการมาในกรมมหาดเล็กก็ช้านาน ทั้งเปนผู้ขับรถพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจ้าวอยู่หัวด้วย เมื่อกำลังทำราชการอยู่นั้นก็มิได้มีความผิดอันใดในน่าที่ราชการเลย...”
    นั่นคือถ้อยความตามรูปสะกดเก่า จากภาษาหนังสือพิมพ์โบราณ เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

    ผมเห็นรหัสตัวเลขของกาลเวลา
    นายบุศย์มหินทร์วางวายตอนบ่ายวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2444 หรือปี ค.ศ.1901 เหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นในไม่กี่อึดใจนี้ เมื่อ 102 ปีที่ผ่านมา
    ข่าวบุศย์มหินทร์จะได้รับการตีพิมพ์ครั้งสุดท้าย ตามวงเล็บของข้อความนั้น ในอีกสองวันข้างหน้าที่ หนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ กระบอกเสียงแห่งอดีต
    ประวัติศาสตร์นักรบวัฒนธรรมต้นศตวรรษที่ 20 ของสยามประเทศปิดฉากลงที่ห้วงเวลานั้น ไม่มีใครยินดียินร้ายในนามเขาอีกต่อไป ผู้คนร่วมยุคสมัย หามีใครมองเห็นดวงวิญญาณคนหนุ่มผู้เดียวดายไม่
    วางเหตุการณ์ให้ผ่านไป ผ่านไป
    เผื่อในสักวันหนึ่ง อาจมีคนเดินทะลุมิติแห่งกาลเวลา เข้ามาเจอ




    ผมจุดธูปหอมหนึ่งดอก ตั้งจิตอธิษฐาน
    ผมเดินเข้าห้องน้ำ
    ยินเสียงเหมือนใครคนหนึ่ง
    ล้มลง.

    -----------
    ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล:Exotic Musicians Club
    http://www.exoticmusician.com/sapan/story/mmusiciansfile.htm#buth
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • buth.jpg
      buth.jpg
      ขนาดไฟล์:
      41.3 KB
      เปิดดู:
      1,237
  2. Artter

    Artter Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มกราคม 2008
    โพสต์:
    106
    ค่าพลัง:
    +97
    มีต่อหรือเปล่าครับ

    รอติดตามอยู่นะครับ
     
  3. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    ไม่มีแล้วจ๊ะ..^_^
    จบลงแบบนี้มีเสน่ห์ดี..[​IMG]
     
  4. FCM

    FCM Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 เมษายน 2008
    โพสต์:
    189
    ค่าพลัง:
    +34
    ขอบคุณค่ะ
     
  5. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,492
    [​IMG]

    ขอบคุณเช่นกันค่ะที่สนใจแวะเข้ามาอ่าน ^_^
     
  6. BlueBlur

    BlueBlur เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    1,664
    ค่าพลัง:
    +1,570
    สนุกดีครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...