(ทดลองอ่าน)พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ (๒. มหาสีหนาทสูตร)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก เสียงอ่าน' ตั้งกระทู้โดย Potter, 16 พฤศจิกายน 2009.

  1. Potter

    Potter เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2006
    โพสต์:
    150
    ค่าพลัง:
    +238
    <center>[MUSIC]http://audio.palungjit.org/attachment.php?attachmentid=41156&stc=1&d=1258368277[/MUSIC]

    ๒. มหาสีหนาทสูตร
    </center><center>ว่าด้วยเหตุแห่งการบันลือสีหนาท
    </center><center>เรื่องสุนักขัตตลิจฉวีบุตร
    </center> [๑๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าด้านตะวันตกนอกพระนครเขตพระนคร
    เวสาลี. ก็โดยสมัยนั้นแล สุนักขัตตลิจฉวีบุตร เป็นผู้หลีกไปแล้วจากธรรมวินัยนี้ไม่นาน
    สุนักขัตตลิจฉวีบุตรนั้น ได้กล่าววาจาในบริษัท ณ เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์
    ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรง-
    *แสดงธรรมที่ประมวลด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง แต่ธรรมที่พระองค์
    ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด ธรรมนั้นย่อมดิ่งไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม.
    [๑๖๐] ครั้งนั้นแลเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตร นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปในเมือง
    เวสาลี เพื่อบิณฑบาต ท่านได้สดับข่าวว่า สุนักขัตตลิจฉวีบุตรได้กล่าววาจาในบริษัท ณ เมือง-
    *เวสาลีอย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ ของ
    พระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วย
    การค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง แต่ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด ธรรมนั้นย่อมดิ่งไป
    เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวไปในเมืองเวสาลี
    เพื่อบิณฑบาตแล้ว กลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
    ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
    ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุนักขัตตลิจฉวีบุตร เป็นผู้หลีกไปแล้วจากธรรมวินัยนี้ไม่นาน
    ได้กล่าววาจาในบริษัท ณ เมืองเวสาลีว่าธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่
    ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก
    ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง แต่ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด ธรรมนั้น
    ย่อมดิ่งไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม.
    [๑๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร สุนักขัตตลิจฉวีบุตรเป็นบุรุษเปล่า
    มักโกรธ และวาจาที่เธอกล่าวนั้น ก็เพราะโกรธ ดูกรสารีบุตร สุนักขัตตะนั้นเป็นบุรุษเปล่า คิดว่า
    จักพูดติเตียน แต่กล่าวสรรเสริญคุณของตถาคต แท้จริงข้อนี้เป็นคุณของพระตถาคต ที่บุคคลใด
    กล่าวอย่างนี้ว่า ธรรมอันพระตถาคต แสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใด ธรรมนั้นย่อมดิ่งไปเพื่อ
    ความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตามดังนี้.
    [๑๖๒] ดูกรสารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็น
    ความรู้โดยธรรม <sup>๑-</sup> ในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
    ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ
    ที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้
    จำแนกธรรมดังนี้.
    [๑๖๓] ดูกรสารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่า กล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็น
    ความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบรรลุอิทธิวิธีหลาย
    ประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หาย
    ไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้น ดำลง แม้ใน
    แผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ
    เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจ
    ทรงกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.
    [๑๖๔] ดูกรสารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็น
    ความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นย่อมทรงสดับเสียง ๒
    ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสต
    ของมนุษย์
    [๑๖๕] ดูกรสารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะ ผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็น
    ความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นย่อมทรงกำหนดรู้ใจของ
    สัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่า
    จิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่า จิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่า จิตปราศจากโทสะ
    จิตมีโมหะ ก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่า จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่า
    จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่า จิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่
    เป็นมหรคต ก็รู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่า จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มี
    <small>@๑. คือไม่เป็นความเข้าใจถูกต้อง</small>
    จิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ
    ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น.

    <center>กำลังของตถาคต ๑๐ ประการ
    </center> [๑๖๖] ดูกรสารีบุตร ตถาคตประกอบด้วยกำลังเหล่าใด ย่อมปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ
    ย่อมบันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป กำลังเหล่านั้นของตถาคต ๑๐ ประการ
    เหล่านี้แล ๑๐ ประการเป็นไฉน? ดูกรสารีบุตร ตถาคตย่อมรู้ฐานะในโลกนี้โดยเป็นฐานะ และ
    รู้เหตุมิใช่ฐานะโดยเป็นเหตุมิใช่ฐานะ ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ฐานะโดย
    เป็นฐานะ และรู้เหตุมิใช่ฐานะโดยเป็นเหตุมิใช่ฐานะ ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต
    ประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหม-
    *จักรให้เป็นไป.
    ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วิบากของกรรมสมาทานที่เป็นอดีต อนาคต
    และปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริง. ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้วิบากของ
    กรรมสมาทานที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันโดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลัง
    ของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท
    ยังพรหมจักรให้เป็นไป.
    ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ไปสู่ภูมิทั้งปวง
    ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ไปสู่ภูมิทั้งปวง
    ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่ง-
    *ผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป.
    ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งโลกมีธาตุมิใช่อย่างเดียว และมีธาตุ
    ต่างๆ ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งโลกมีธาตุมิใช่อย่างเดียว และมีธาตุ
    ต่างๆ ความเป็นความจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณ
    ฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป.
    ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์มีอธิมุตติต่างๆ กัน
    ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์มีอธิมุตติต่างๆ กัน ตามความ
    เป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ
    บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป.
    ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์และบุคคลทั้งหลายอื่นมี
    อินทรีย์หย่อนและยิ่ง ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคต รู้ชัดความที่สัตว์และบุคคล
    ทั้งหลายอื่นมีอินทรีย์หย่อนและยิ่ง ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่ง
    ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป.
    ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว
    และความออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร
    ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว และความออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ
    และสมาบัติทั้งหลาย ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว
    ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป.
    ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึก
    ได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง
    สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอด-
    *สังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า
    ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข
    เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น
    แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น
    เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพ
    นี้ ตถาคตย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้.
    ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติ
    บ้าง ฯลฯ ตถาคตย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการ
    ฉะนี้ นี้เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือ
    สีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป.
    ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว
    ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของ
    มนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต
    มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้า
    แต่ตายไป เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต
    วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจ
    สัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายไป เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคต
    เห็นหมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก
    ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์
    เหล่านี้ ฯลฯ นี้เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ
    บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป.
    ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะ
    มิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรสารีบุตร
    ข้อที่ตถาคตกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย
    สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ นี้เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคต
    อาศัยแล้วปฏิญาณฐานะของผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป.
    ดูกรสารีบุตร กำลังของตถาคต ๑๐ ประการเหล่านี้แล ที่ตถาคตประกอบแล้ว ปฏิญาณ
    ฐานะของผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป.
    ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแล พึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ ว่าธรรมอันยิ่งของมนุษย์
    ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรง-
    *แสดงธรรม ที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ดูกรสารีบุตร
    ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรก
    ดังถูกนำมาฝังไว้ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึง
    พร้อมด้วยปัญญา พึงกระหยิ่มอรหัตผล ในปัจจุบันทีเดียว ฉันใด ดูกรสารีบุตร เรากล่าวข้ออุปไมย
    นี้ก็ฉันนั้น ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้
    ที่จะตกนรก ดังถูกนำมาฝังไว้.

    <center>เวสารัชชธรรม ๔
    </center> [๑๖๗] ดูกรสารีบุตร ตถาคตประกอบด้วยเวสารัชชธรรม [ความแกล้วกล้า] เหล่าใด
    จึงปฏิญาณฐานะของผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป เวสารัชชธรรม
    ของตถาคตเหล่านี้มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ
    พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ที่จักทักท้วงเราโดยสหธรรมในข้อว่า
    ท่านปฏิญาณตนว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านยังไม่ได้ตรัสรู้แล้ว ดังนี้ ดูกรสารีบุตร
    เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าอยู่
    ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก
    ที่จักทักท้วงเราโดยสหธรรมในข้อว่า ท่านปฏิญาณตนว่าเป็นพระขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่าน
    ยังไม่สิ้นไปแล้ว ดังนี้ ดูกรสารีบุตร เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความ
    ไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าอยู่ ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ พราหมณ์
    เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ที่จักทักท้วงเราโดยสหธรรมในข้อว่า ท่านกล่าว
    ธรรมเหล่าใด ว่าทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง ดังนี้ ดูกร
    สารีบุตร เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้ว-
    *กล้าอยู่ ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ
    ในโลก ที่จักทักท้วงเราโดยสหธรรมในข้อว่า ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์
    อย่างนั้นไม่เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งคนผู้ทำตาม ดังนี้ ดูกรสารีบุตร เมื่อไม่เห็นเหตุนี้
    เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าอยู่ ดูกรสารีบุตร ตถาคต
    ประกอบด้วยเวสารัชชธรรมเหล่าใด จึงปฏิญาณฐานะของผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท
    ยังพรหมจักรให้เป็นไป เวสารัชชธรรมของตถาคต ๔ ประการเหล่านี้แล ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแล
    พึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษ
    พอแก่ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลด้วย
    ความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ดูกรสารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย
    ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้ ดูกรสารีบุตร
    เปรียบเหมือนภิกษุถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงกระหยิ่ม
    อรหัตผลในปัจจุบันทีเดียว ฉันใด ดูกรสารีบุตร เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น ผู้นั้นไม่ละวาจา
    นั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรก ดังถูกนำมาฝังไว้.
    <center>บริษัท ๘
    </center> [๑๖๘] ดูกรสารีบุตร บริษัท ๘ จำพวกเหล่านี้แล ๘ จำพวกเป็นไฉน? คือขัตติยบริษัท
    พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชิกบริษัท ดาวดึงสบริษัท มารบริษัท
    และพรหมบริษัท ดูกรสารีบุตร บริษัท ๘ จำพวกเหล่านี้แล ดูกรสารีบุตร ตถาคตประกอบด้วย
    เวสารัชชธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล ย่อมเข้าไปหา ย่อมหยั่งลงสู่บริษัท ๘ จำพวกเหล่านี้.
    ดูกรสารีบุตร เราย่อมเข้าใจเข้าไปหาขัตติยบริษัทหลายๆ ร้อย แม้ในขัตติยบริษัทนั้น เราเคย
    นั่งใกล้ เคยทักทายปราศรัย เคยสนทนากัน ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า ความกลัว
    หรือความสะทกสะท้าน จักกล้ำกลายเราในขัตติยบริษัทนั้นเลย เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้
    ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าอยู่ ดูกรสารีบุตร อนึ่ง เราย่อมเข้าใจ
    เข้าไปหาพราหมณบริษัทหลายๆ ร้อย คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชิกบริษัท ดาวดึงส
    บริษัท มารบริษัท พรหมบริษัทจำพวกละหลายๆ ร้อย แม้ในบริษัทนั้นๆ เราเคยนั่งใกล้
    เคยทักทายปราศรัย เคยสนทนากัน ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า ความกลัว หรือความ
    สะทกสะท้าน จักกล้ำกลายเราในบริษัทนั้นๆ เลย เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย
    ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าอยู่ ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแลพึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่อย่างนี้
    ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ
    ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรอง
    ด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ดูกรสารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย
    ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้. ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือน
    ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงกระหยิ่มอรหัตผลในปัจจุบัน
    ทีเดียว ฉันใด ดูกรสารีบุตร เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละ
    ความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้.

    <center>กำเนิด ๔
    </center> [๑๖๙] ดูกรสารีบุตร กำเนิด ๔ ประการเหล่านี้แล ๔ ประการเป็นไฉน? คือ อัณฑชะ-
    *กำเนิด ชลาพุชะกำเนิด สังเสทชะกำเนิด โอปปาติกะกำเนิด ดูกรสารีบุตร ก็อัณฑชะกำเนิด
    เป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ชำแรกเปลือกแห่งฟองเกิด นี้เราเรียกว่า อัณฑชะกำเนิด
    ดูกรสารีบุตร ชลาพุชะกำเนิดเป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นใด ชำแรกไส้ [มดลูก] เกิด
    นี้เราเรียกว่า ชลาพุชะกำเนิด ดูกรสารีบุตร สังเสทชะกำเนิดเป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นใด
    ย่อมเกิดในปลาเน่า ในซากศพเน่า ในขนมบูด หรือในน้ำครำ ในเถ้าไคล [ของสกปรก]
    นี้เราเรียกว่า สังเสทชะกำเนิด ดูกรสารีบุตร โอปปาติกะกำเนิดเป็นไฉน? เทวดา สัตว์นรก
    มนุษย์บางจำพวก และเปรตบางจำพวก นี้เราเรียกว่า โอปปาติกะกำเนิด ดูกรสารีบุตร
    กำเนิด ๔ ประการเหล่านี้แล ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแล พึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่า
    ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี
    พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้ง
    ได้เอง ดูกรสารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย
    ก็เที่ยงแท้ ที่จะตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
    ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงกระหยิ่มอรหัตผล ในปัจจุบันทีเดียว ฉันใด
    ดูกรสารีบุตร เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย
    ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้.
    <center>คติ ๕
    </center> [๑๗๐] ดูกรสารีบุตร คติ ๕ ประการเหล่านี้แล ๕ ประการเป็นไฉน? คือ นรก กำเนิด
    ดิรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ เทวดา ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งนรก ทางยังสัตว์ให้ถึงนรก
    และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงนรก อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
    ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย ดูกรสารีบุตร เราย่อม
    รู้ชัดซึ่งกำเนิดดิรัจฉาน ทางยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน
    อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉาน เราย่อม
    รู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเปรตวิสัย ทางไปสู่เปรตวิสัย และปฏิปทา
    อันจะยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
    ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเหล่ามนุษย์
    ทางอันยังสัตว์ให้ถึงมนุษย์โลก และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงมนุษยโลก อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติ
    ประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมบังเกิดในหมู่มนุษย์ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้น
    ด้วย ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเทวดาทั้งหลาย ทางอันยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก และปฏิปทา
    อันจะยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
    ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งพระ-
    *นิพพาน ทางอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน อนึ่ง
    สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ
    อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.

    <center>อุปมาการเห็นคติของบุคคล
    </center> [๑๗๑] ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคน ในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า
    บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
    จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตาย
    เพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน
    โดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือน
    หลุมถ่านเพลิง ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ปราศจากเปลว ปราศจากควัน ลำดับนั้น
    บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย มุ่งมาสู่
    หลุมถ่านเพลิงนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
    บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น ขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงหลุมถ่านเพลิงนี้
    ทีเดียว โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้น เสวยทุกขเวทนา
    อันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคน
    ในโลกนี้ ด้วยใจ ฉันนั้น เหมือนกันแลว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้น
    สู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก โดยสมัย
    ต่อมา เราได้เห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่ง อบายทุคติ วินิบาต
    นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ
    ของมนุษย์.
    [๑๗๒] ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ ด้วยใจว่า บุคคลนี้
    ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึง
    กำเนิดดิรัจฉาน โดยสมัยต่อมา เราเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้ว
    ซึ่งกำเนิดดิรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ
    ของมนุษย์ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนหลุมคูถ ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยคูถ ลำดับนั้น
    บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวระหาย มุ่งมาสู่
    หลุมคูถนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้
    ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงหลุมคูถนี้ทีเดียว โดยสมัยต่อมา
    บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมคูถนั้น เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน แม้ฉันใด
    ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้น เหมือนกันแลว่า บุคคลนี้
    ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้า
    ถึงกำเนิดดิรัจฉาน โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
    เข้าถึงแล้วซึ่งกำเนิดดิรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์
    ล่วงจักษุของมนุษย์.

    [๑๗๓] ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า บุคคลนี้
    ปฏิบัติอย่างนี้ ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึง
    เปรตวิสัย โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้ว
    ซึ่งเปรตวิสัย เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์
    ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันไม่เสมอ มีใบอ่อนและใบแก่อันเบาบาง มีเงา
    อันโปร่ง ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน
    หิวระหาย มุ่งมาสู่ต้นไม้นั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าว
    อย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงต้นไม้นี้
    ทีเดียว โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขานั่งหรือนอนในเงาต้นไม้นั้น เสวยทุกขเวทนา
    เป็นอันมาก แม้ฉันใด ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้น
    เหมือนกันแลว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้า
    แต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงเปรตวิสัย โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้า
    แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งเปรตวิสัย เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุ
    อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.
    [๑๗๔] ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ ด้วยใจอย่างนี้ว่า บุคคลนี้
    ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักบังเกิด
    ในหมู่มนุษย์ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก บังเกิดแล้ว
    ในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์
    ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันเสมอ มีใบอ่อนและใบแก่อันหนา มีเงา
    หนาทึบ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน
    หิวระหาย มุ่งมาสู่ต้นไม้นั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าว
    อย่างนี้ว่า บุรุษนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนี้ จักมาถึงต้นไม้นี้ทีเดียว
    โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขานั่ง หรือนอนในเงาต้นไม้นั้น เสวยสุขเวทนาเป็น
    อันมาก แม้ฉันใด ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้น
    เหมือนกันแล อย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้า
    แต่ตายเพราะกายแตก จักบังเกิดในหมู่มนุษย์ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้า
    แต่ตายเพราะกายแตก บังเกิดแล้วในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุ
    อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

    [๑๗๕] ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ อย่างนี้ว่า
    บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
    จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
    เข้าถึงแล้วซึ่งสุคติโลกสวรรค์ เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ
    ของมนุษย์ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนปราสาท ในปราสาทนั้นมีเรือนยอด ซึ่งฉาบทาแล้ว
    ทั้งภายในและภายนอก หาช่องลมมิได้ มีวงกรอบอันสนิท มีบานประตูและหน้าต่างอันปิดสนิทดี
    ในเรือนยอดนั้น มีบัลลังก์อันลาดด้วยผ้าโกเชาว์ขนยาว ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว
    ลาดด้วยขนเจียมเป็นแผ่นทึบ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเพดานกั้นในเบื้องบน
    มีหมอนแดงวาง ณ ข้างทั้งสอง ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย
    สะทกสะท้าน หิวระหาย มุ่งมาสู่ปราสาทนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเข้า
    แล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น
    จักมาถึงปราสาทนี้ทีเดียว โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขานั่ง หรือนอนบนบัลลังก์
    ในเรือนยอด ณ ปราสาทนั้น เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด ดูกรสารีบุตร เราย่อม
    กำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้นเหมือนกันแล อย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น
    ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
    โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งสุคติ
    โลกสวรรค์ เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.
    [๑๗๖] ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า บุคคลนี้
    ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จะกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
    อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึง
    อยู่ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้นกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหา
    อาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เสวยสุข
    เวทนาโดยส่วนเดียว ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนสระโบกขรณี มีน้ำอันใส สะอาดเย็น
    ใสตลอด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ และในที่ไม่ไกลสระโบกขรณีนั้น มีแนวป่าอันทึบ ลำดับนั้น
    บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวระหาย มุ่งมาสู่
    สระโบกขรณีนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
    บุรุษผู้เจริญนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงสระโบกขรณีนี้
    ทีเดียว โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาลงสู่สระโบกขรณีนั้น อาบและดื่ม ระงับ
    ความกระวนกระวายความเหน็ดเหนื่อยและความร้อนหมดแล้ว ขึ้นไปนั่งหรือนอนในแนวป่านั้น
    เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้
    ด้วยใจ ฉันนั้นเหมือนกันแล อย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่
    หนทางนั้น จักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย
    สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุรุษนั้น กระทำ
    ให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญา
    อันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว ดูกรสารีบุตร คติ ๕ ประการ
    เหล่านี้แล ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแลพึงว่าซึ่งเราผู้รู้อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์
    ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรง
    แสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ดูกรสารีบุตร
    ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงที่จะตกนรก
    ดังนำมาฝังไว้ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ
    ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงกระหยิ่มอรหัตผลในปัจจุบันทีเดียว แม้ฉันใด เรากล่าวข้ออุปไมยนี้
    ก็ฉันนั้น ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงที่จะ
    ตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้.

    <center>พรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์ ๔
    </center> [๑๗๗] ดูกรสารีบุตร อนึ่ง เราย่อมเข้าใจประพฤติพรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
    เราเป็นผู้บำเพ็ญตบะและเป็นเยี่ยมกว่าผู้บำเพ็ญตบะทั้งหลาย เราประพฤติเศร้าหมองและเป็น
    เยี่ยมกว่าผู้ประพฤติเศร้าหมองทั้งหลาย เราเป็นผู้เกลียดบาปและเป็นเยี่ยมกว่าผู้เกลียดบาปทั้งหลาย
    เราเป็นผู้สงัดและเป็นเยี่ยมกว่าผู้สงัดทั้งหลาย.
    [๑๗๘] ดูกรสารีบุตร บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น วัตรต่อไปนี้ เป็นพรหมจรรย์
    ของเรา โดยความที่เราเป็นผู้บำเพ็ญตบะ คือ เราเคยเป็นอเจลกคนเปลือย ไร้มรรยาท เลียมือ
    เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ยินดีภิกษา
    ที่เขาทำเฉพาะ ไม่ยินดีภิกษาที่เขานิมนต์ เรานั้นไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากหม้อข้าว
    ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมธรณีประตูให้ ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมท่อนไม้ให้ ไม่รับภิกษา
    ที่บุคคลยืนคร่อมสากให้ ไม่รับภิกษาของคนสองคนผู้กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิง
    มีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลังให้ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษา
    ที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาในที่ซึ่งสุนัขได้รับเลี้ยงดู ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอม
    เป็นกลุ่มๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง เรานั้นรับภิกษาที่
    เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือนสองหลัง เยียวยาอัตภาพ
    ด้วยข้าว ๒ คำบ้าง ฯลฯ รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เรานั้น
    เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ฯลฯ ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้
    วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ฯลฯ ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยความขวนขวายในการบริโภคภัตตาหาร
    ที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือนเช่นนี้บ้าง เรานั้นเป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง
    มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียางเป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง
    มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัย
    เป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นเยียวยาอัตภาพ เรานั้นทรงผ้า
    ป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือ
    ทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกไม้กรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมมนุษย์บ้าง
    ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือ ประกอบ
    ความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ถือยืน คือ ห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้กระโหย่ง
    คือ ประกอบความเพียรในการกระโหย่ง [เดินกระโหย่งเหยียบพื้นไม่เต็มเท้า] บ้าง เป็นผู้นอน
    บนหนาม คือ สำเร็จการนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการลงน้ำวันละ-
    *สามครั้งบ้าง เป็นผู้ประกอบการขวนขวายในการย่างและบ่มกาย มีประการมิใช่น้อยเห็นปานนี้
    ด้วยประการฉะนี้อยู่ ดูกรสารีบุตร นี้แหละเป็นพรหมจรรย์ของเรา โดยความที่เราเป็นผู้บำเพ็ญตบะ.
    [๑๗๙] ดูกรสารีบุตร บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์นี้เป็นวัตรในความ
    ประพฤติเศร้าหมองของเรา มลทิน คือละอองธุลีสั่งสมในกายของเรานับด้วยปีมิใช่น้อย จนเป็น
    สะเก็ด เปรียบเหมือนตอตะโก มีละอองธุลี สั่งสมนับด้วยปีมิใช่น้อย จนเกิดเป็นสะเก็ด
    ฉันใด มลทิน คือละอองธุลีสั่งสมในกายของเรานับด้วยปีมิใช่น้อย จนเกิดเป็นสะเก็ด ฉันนั้น
    เหมือนกัน ดูกรสารีบุตรเรา ไม่ได้คิดที่จะลูบคลำปัดละอองธุลีนี้ด้วยฝ่ามือ หรือไม่ได้คิดว่า คน
    เหล่าอื่นจะพึงลูบคลำปัดละอองธุลีนี้ด้วยฝ่ามือ ดูกรสารีบุตร ความคิดแม้อย่างนี้ ไม่ได้มีแก่เรา
    เลย ดูกรสารีบุตร นี้แหละ เป็นวัตรในความประพฤติเศร้าหมองของเรา.
    [๑๘๐] ดูกรสารีบุตร บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ เหล่านั้น พรหมจรรย์นี้ เป็นวัตรใน
    ความประพฤติเกลียดบาปของเขา เรานั้นมีสติก้าวไปข้างหน้า มีสติถอยกลับ ความเอ็นดูของเรา
    ปรากฏเฉพาะ จนกระทั่งในหยดน้ำว่า เราอย่าได้ล้างผลาญสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ในที่อันไม่สม่ำเสมอ
    เลย ดูกรสารีบุตร นี้แหละเป็นวัตรในความประพฤติเกลียดบาปของเรา.
    [๑๘๑] ดูกรสารีบุตร บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ เหล่านั้น พรหมจรรย์นี้ เป็นวัตรใน
    ความสงัดของเรา เรานั้นเข้าอาศัยชายป่าแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ ในกาลใดเราได้พบคนเลี้ยงโค หรือ
    คนเลี้ยงปศุสัตว์ หรือคนหาบหญ้า หรือคนหาฟืน หรือคนเที่ยวหาผลไม้เป็นต้นในป่า ในกาล
    นั้น เราก็เดินหนีจากป่าไปสู่ป่า จากชัฏไปสู่ชัฏ จากที่ลุ่มไปสู่ที่ลุ่ม จากที่ดอนไปสู่ที่ดอน ข้อ
    นั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะเราคิดว่า คนเหล่านั้น อย่าได้เห็นเราเลย และเราก็อย่าได้เห็นคน
    เหล่านั้นเลย ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือน เนื้อที่เกิดในป่า เห็นมนุษย์ทั้งหลายแล้วก็วิ่งหนีจาก
    ป่าไปสู่ป่า จากชัฏไปสู่ชัฏ จากที่ลุ่มไปสู่ที่ลุ่ม จากที่ดอนไปสู่ที่ดอน แม้ฉันใด ดูกรสารีบุตร
    เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในกาลใด เราได้พบคนเลี้ยงโค หรือคนเลี้ยงปศุสัตว์ หรือคนหาบหญ้า
    หรือคนหาฟืน หรือคนเที่ยวหาผลไม้เป็นต้นในป่าในกาลนั้น เราก็เดินหนีจากป่าไปสู่ป่า จากชัฏ-
    *ไปสู่ชัฏ จากที่ลุ่มไปสู่ที่ลุ่ม จากที่ดอนไปสู่ที่ดอน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะเราคิดว่า
    คนเหล่านั้นอย่าได้เห็นเราเลย และเราก็อย่าได้เห็นคนเหล่านั้นเลย ดูกรสารีบุตร นี้แหละเป็นวัตร
    ในความประพฤติสงัดของเรา.

    <center>ปฏิปทามิใช่ทางตรัสรู้
    </center> [๑๘๒] ดูกรสารีบุตร เรานั้นแลเคยคลานเข้าไปในคอกที่เหล่าโคออกไปแล้ว และ
    ปราศจากคนเลี้ยงโค กินโคมัยของลูกโคอ่อนที่ยังไม่ทิ้งแม่ มูตรและกรีสของเรายังไม่หมดสิ้นไป
    เพียงไร เราก็กินบุตรและกรีสของตนเองเป็นอาหาร ดูกรสารีบุตร นี้แหละเป็นวัตรในโภชนะ
    มหาวิกัฏของเรา.
    [๑๘๓] ดูกรสารีบุตร เรานั้นแล เข้าอาศัยแนวป่าอันน่ากลัวแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ นี้
    เป็นความน่ากลัวแห่งแนวป่านั้น บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งยังไม่ปราศจากราคะ เข้าไปสู่ป่านั้น โดยมาก
    ขนพอง ดูกรสารีบุตร เรานั้นแล ในราตรีที่หนาว ฤดูเหมันต์ ตั้งอยู่ระหว่างเดือน ๓ ต่อเดือน
    ๔ เป็นสมัยมีหิมะตก ในราตรีเห็นปานนั้น [เรา] อยู่ในที่แจ้งตลอดคืน กลางวันเราอยู่ในแนว
    ป่า ในเดือนท้ายฤดูร้อน กลางวันเราอยู่ในที่แจ้ง กลางคืนเราอยู่ในแนวป่า ดูกรสารีบุตร
    เป็นความจริง คาถาอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนักนี้ ที่เราไม่ได้ยินมาก่อน ปรากฏแก่เราว่า
    นักปราชญ์ผู้เสาะแสวงหาความหมดจด
    อาบแดด อาบน้ำค้าง เป็นคนเปลือย ทั้งมิได้
    ผิงไฟ อยู่คนเดียวในป่าอันน่ากลัว ดังนี้
    [๑๘๔] ดูกรสารีบุตร เราย่อมสำเร็จการนอนแอบอิงกระดูกศพในป่าช้า พวกเด็กเลี้ยง
    โคเข้ามาใกล้เราแล้ว ถ่มน้ำลายรดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรดแล้ว โปรยฝุ่นรดบ้าง เอาไม้ยอนที่ช่อง
    หูบ้าง เราไม่รู้สึกว่า ยังจิตอันลามกให้เกิดขึ้นในพวกเด็กเหล่านั้นเลย ดูกรสารีบุตร นี้แหละเป็น
    วัตรในการอยู่ด้วยอุเบกขาของเรา.
    [๑๘๕] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความ
    หมดจดย่อมมีด้วยอาหาร พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วยอาหารขนาดเท่า
    ผลพุทรา พวกเขาย่อมเคี้ยวกิน [อาหารเท่า] ผลพุทราบ้าง ผลพุทราป่นบ้าง ดื่มบ้าง [เท่าผล]
    พุทราบ้าง บริโภค [อาหารเท่า] ผลพุทราที่ทำเป็นชนิดต่างๆ บ้าง ดูกรสารีบุตร เรารู้สึกว่า
    กิน [อาหารเท่า] ผลพุทราผลเดียวเท่านั้น ดูกรสารีบุตร เธอจะพึงมีความสำคัญว่า พุทราใน
    สมัยนั้น ชะรอยจะผลใหญ่เป็นแน่ ข้อนี้ เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้นผลพุทราที่เป็น
    ขนาดใหญ่นั่นเทียวก็เหมือนในบัดนี้ ดูกรสารีบุตร เมื่อเรากิน [อาหารเท่า] ผลพุทราผลเดียว
    เท่านั้น ร่างกายก็ถึงความซูบผอมยิ่งนัก อวัยวะน้อยใหญ่ของเราเปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมาก
    และข้อดำ เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง ตะโพกของเราเปรียบเหมือนรอยเท้าอูฐ เพราะ
    ความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง กระดูกสันหลังของเรานูนขึ้นเป็นปุ่มๆ เหมือนเถาสะบ้า เพราะความ
    ที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง กระดูกซี่โครงของเราเหลื่อมขึ้น เหลื่อมลงเห็นปรากฏ เหมือนกลอน
    แห่งศาลาเก่าเหลื่อมกันฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง ดวงตาของเราลึกเข้าไปใน
    เบ้าตา เหมือนเงาดวงดาวปรากฏในบ่อน้ำอันลึกฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง
    หนังศีรษะของเรา อันลมถูกต้องแล้วก็เหี่ยวแห้งเปรียบเหมือนน้ำเต้าขมที่ถูกตัดขั้ว แต่ยังอ่อน
    อันลมแดดสัมผัสแล้ว ย่อมเป็นของเหี่ยวแห้งไป ฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง
    ดูกรสารีบุตร เรานั้นแลคิดว่า จะลูบคลำผิวหนังท้อง ก็คลำถูกกระดูกสันหลังทีเดียว คิดว่า
    จะลูบคลำกระดูกสันหลัง ก็คลำถูกผิวหนังท้องทีเดียว ดูกรสารีบุตร ผิวหนังท้องของเราติดกระดูก
    สันหลัง เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง เรานั้นคิดว่า จะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็ซวน
    ล้ม ณ ที่นั้นเอง เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง เรานั้นเมื่อจะยังร่างกายให้คล่องแคล่ว
    ก็ลูบตัวด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือขนทั้งหลายมีรากอันเน่าก็หลุดจากกาย เพราะความที่เรา
    มีอาหารน้อยนั่นเอง.

    <center>วาทะและทิฏฐิ
    </center> [๑๘๖] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความ
    หมดจดย่อมมีได้ด้วยอาหาร พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด]
    ถั่วเขียว ฯลฯ พวกเราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด] งา ฯลฯ พวกเราย่อมเยียวยา
    อัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสาร ดังนี้ พวกเขาเคี้ยวกิน [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารบ้าง
    ข้าวสารป่นบ้าง ดื่มน้ำ [ประมาณเท่าเมล็ด] ข้าวสาร ย่อมบริโภค [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสาร
    ที่จัดทำให้แปลกมีประการมิใช่น้อยบ้าง ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้สึกว่า กิน [อาหารเท่าเมล็ด]
    ข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้น ดูกรสารีบุตร เธอจะพึงมีความสำคัญว่า ข้าวสารในสมัยนั้น ชะรอยจะ
    เมล็ดใหญ่เป็นแน่ ข้อนี้ เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น ข้าวสารที่เป็นขนาดใหญ่นั้นเทียว
    ก็มีเมล็ดเท่าข้าวสารในบัดนี้ ดูกรสารีบุตร เมื่อเรากิน [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารเมล็ดเดียว
    เท่านั้น ร่างกายก็ถึงความซูบผอมยิ่งนัก อวัยวะน้อยใหญ่ของเรา เปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่ข้อมาก
    และข้อดำ เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง ตะโพกของเราเปรียบเหมือนรอยเท้าอูฐ เพราะ
    ความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง กระดูกสันหลังของเรานูนขึ้นเป็นปุ่มๆ เหมือนเถาสะบ้า เพราะ
    ความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง กระดูกซี่โครงของเราเหลื่อมขึ้นเหลื่อมลงเห็นปรากฏ เหมือนกลอน
    แห่งศาลาเก่าเหลื่อมกันฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง ดวงตาของเราลึกเข้าไปใน
    เบ้าตา เหมือนเงาดวงดาวปรากฏในบ่อน้ำอันลึกฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง
    หนังศีรษะของเราอันลมถูกต้องแล้ว ก็เหี่ยวแห้ง เปรียบเหมือนน้ำเต้าขมที่ถูกตัดขั้วแต่ยังอ่อน
    อันลมแดดสัมผัสแล้ว ย่อมเป็นของเหี่ยวแห้งไป ฉะนั้น เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง
    ดูกรสารีบุตร เรานั้นแล คิดว่า จะลูบคลำผิวหนังท้องก็คลำถูกกระดูกสันหลังทีเดียว คิดว่า จะ
    ลูบคลำกระดูกสันหลัง ก็คลำถูกผิวหนังท้องทีเดียว ดูกรสารีบุตร ผิวหนังท้องของเราติดกระดูก
    สันหลัง เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง เรานั้นคิดว่า จะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะก็ซวนล้ม
    ณ ที่นั้นเอง เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง เรานั้นเมื่อจะยังร่างกายให้คล่องแคล่วก็ลูบตัว
    ด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนตั้งหลายมีรากอันเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะความที่เรามี
    อาหารน้อยนั่นเอง.
    ดูกรสารีบุตร ด้วยการปฏิบัติอย่างไม่มีใครสู้แม้นั้น ด้วยปฏิปทาแม้นั้น ด้วยความเพียรที่
    กระทำได้แสนยากนั้น เราก็ไม่ได้บรรลุธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอ
    แก่ความเป็นอริยะ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะมิใช่ปฏิปทาที่เป็นเหตุบรรลุปัญญาอันประเสริฐ
    ปัญญานี้แล ที่ซึ่งเราได้บรรลุแล้ว เป็นของประเสริฐ นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ เป็นทางสิ้นทุกข์
    โดยชอบแห่งบุคคลผู้กระทำอยู่ตามนั้น.

    [๑๘๗] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
    ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏ ดูกรสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไป โดยกาล
    ยืดยาวช้านานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเรา
    พึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก.
    [๑๘๘] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความ
    บริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยอุบัติ ดูกรสารีบุตร ความอุบัติที่เราไม่เคยเข้าถึงแล้ว โดยกาลยืดยาวช้านาน
    นี้ เว้นจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นของหาไม่ได้ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงอุบัติในเทวโลก
    ชั้นสุทธาวาส เราก็ไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก.
    [๑๘๙] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
    ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยอาวาส ดูกรสารีบุตร ก็อาวาสที่เราไม่เคยอยู่อาศัยแล้ว โดยกาลยืด
    ยาวช้านานนี้ เว้นจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นของหาไม่ได้ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงอยู่
    อาศัยในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็ไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก.
    [๑๙๐] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความ
    หมดจดย่อมมีได้ด้วยการบูชายัญ ดูกรสารีบุตร ก็ยัญที่เราไม่เคยบูชาแล้ว โดยกาลยืดยาวช้านาน
    นี้ เป็นของหาไม่ได้ง่ายนัก แต่ยัญนั้นอันเราเป็นพระราชาผู้เป็นกษัตริย์ได้มูรธาภิเษก หรือเป็น
    พราหมณ์ผู้มหาศาลจึงบูชา.
    [๑๙๑] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
    ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยการบำเรอไฟ ดูกรสารีบุตร ก็ไฟที่เราไม่เคยบำเรอแล้ว โดยกาลยืดยาว
    ช้านานนี้ เป็นของหาไม่ได้ง่ายนัก แต่ไฟนั้น อันเราเป็นพระราชาผู้เป็นกษัตริย์ได้มูรธาภิเษก
    หรือเป็นพราหมณ์ผู้มหาศาลจึงบำเรอ.
    [๑๙๒] ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุรุษ
    รุ่นหนุ่มผู้เจริญนี้ มีเกศาดำสนิท ประกอบด้วยวัยหนุ่มอันเจริญประกอบด้วยปัญญาเฉลียวฉลาด
    อย่างยิ่งสมกับวัยต้น ต่อมา บุรุษผู้เจริญนี้ เป็นคนแก่ เป็นคนเฒ่า ถือเอาซึ่งความเป็นผู้ใหญ่
    ล่วงกาลผ่านวัยโดยลำดับ คือ มีอายุถึง ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง โดยชาติ ย่อมเสื่อม
    จากปัญญาความเฉลียวฉลาดนั้น ในภายหลัง ดูกรสารีบุตร ข้อนี้ เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็บัดนี้
    เราเป็นคนแก่ เป็นคนเฒ่า ถือเอาซึ่งความเป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยโดยลำดับ อายุของเราแปดสิบ
    ปีเข้านี่แล้ว สาวกบริษัททั้ง ๔ ของเราในธรรมวินัยนี้ มีอายุถึงร้อยปี เป็นอยู่ได้ตั้งร้อยปี ประกอบ
    ด้วย สติ คติ ธิติ อันยอดเยี่ยม และปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือน
    นักธนูมั่นคง ได้รับการฝึกหัดแล้ว ช่ำชอง ชำนิชำนาญ เคยแสดงฝีมือมาแล้ว พึงยิงงวงตาล
    โดยขวางให้ตกลง ด้วยลูกศรขนาดเบาโดยง่ายดาย แม้ฉันใด สาวกบริษัท ๔ ของเราเป็นผู้มีสติ
    อันยิ่ง มีคติอันยิ่ง มีปัญญาทรงจำอันยิ่ง ประกอบด้วยปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ฉันนั้น พวกเธอ
    พึงถามปัญหาอิงสติปัฏฐาน ๔ กะเรา เราถูกถามปัญหาแล้วๆ พึงพยากรณ์แก่พวกเธอ พวกเธอ
    พึงทรงจำคำที่เราพยากรณ์แล้ว โดยเป็นคำพยากรณ์ มิได้สอบถามเราให้ยิ่งกว่า ๒ ครั้ง เว้นจาก
    การกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับและบรรเทา
    ความเมื่อยล้า ดูกรสารีบุตร ธรรมเทศนาของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น บทและพยัญชนะแห่งธรรม
    ของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น ความแจ่มแจ้งแห่งปัญหาของตถาคตนั้น ไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อเป็น
    ดังนั้น สาวกบริษัท ๔ ของเราเหล่านั้น จึงมีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี พึงกระทำกาละ
    โดยล่วงไปแห่ง ๑๐๐ ปี ดูกรสารีบุตร ถ้าแม้พวกเธอจะพึงหามเราไปด้วยเตียงน้อย ความเป็น
    อย่างอื่นแห่งปัญญาเฉลียวฉลาดของตถาคต ย่อมไม่มีเลย ดูกรสารีบุตร บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ
    พึงกล่าวคำใดว่า สัตว์ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อ-
    *กูลแก่ชนเป็นมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล
    เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวคำนั้นกะเราเท่านั้น
    ว่าสัตว์ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดาบังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก
    เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา
    และมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้.

    <center>คำนิคม
    </center> [๑๙๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระนาคสมาละ ถวายงานพัดอยู่ ณ เบื้องปฤษฎางค์
    ลำดับนั้น ท่านพระนาคสมาละ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
    น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมี อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้ามีโลมาอันพองเพราะฟังธรรมปริยายนี้ ข้าแต่
    พระองค์ผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนาคสมาละ เพราะเหตุนี้
    แหละ เธอจงทรงจำธรรมปริยายนี้ไว้ว่าชื่อว่า โลมหังสนปริยาย.
    พระผู้มีภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระนาคสมาละ มีใจชื่นชม ยินดีพระภาษิต
    ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.

    <center>จบ มหาสีหนาทสูตร ที่ ๒
    </center><center class="l">-----------------------------------------------------
    </center></pre>
     
  2. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    อนุโมทนาจ่ะ เสียงดังฟังชัดเจน ออกแนวเข้มแข็งกระฉับกระเฉง

    เอ แต่รู้สึกว่าเร็วไปนิดหนึ่งหรือเปล่า.... นะ
     
  3. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    เห็นน้องได้อ่านแต่หัวข้อยาวๆทั้งนั้นเลย อ่านแล้วฟังเพลินเชียวจ้ะ

    ขออนุโมทนาค่ะน้องพอตเตอร์
     

แชร์หน้านี้

Loading...