เหตุให้ขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย aprin, 22 พฤศจิกายน 2009.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    เหตุให้ขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์


    ปัญหา ทำไมขันธ์ ๕ จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ?

    พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้ปัจจัยที่ให้รูป (เป็นต้นนั้น) เกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รูป (เป็นต้น) ที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาเล่า ?”


    อนิจจเหตุสูตรฯ ขันธ. สํ. (๔๕-๔๗)
    ตบ. ๑๗ : ๒๐-๓๐ ตท. ๑๗ : ๒๕-๒๖
    ตอ. K.S. ๓ : ๒๒-๒๓



    ขันธ์ ๕ ควรเรียนรู้

    ปัญหา ตามหลักพระพุทธศาสนา อะไรคือสิ่งที่ควรเรียนรู้ และ ปริญญา ที่แท้จริงนั้นคืออะไร ?

    พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรเรียนรู้นั้นคืออะไร ? รูปเป็นธรรมที่ควรเรียนรู้ เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เป็นธรรมที่ควรเรียนรู้
    “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริญญาคือใคร ? คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ นี้เรียกว่า ปริญญา "

    ปริญญาสูตร ขันธ. สํ. (๕๔)
    ตบ. ๑๗ : ๓๓ ตท. ๑๗ : ๒๙
    ตอ. K.S. ๓ : ๒๖



    วิธีดับขันธ์ ๕

    ปัญหา บุคคลจะดับขันธ์ ๕ ได้อย่างไร ?

    พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความใคร่ ความพอใจ ในรูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เสีย เมื่อเป็นเช่นนี้รูป (เป็นต้นนั้น) ก็จะเป็นอันถูกละ ถูกตัดราก เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ถูกทำให้เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ ไม่มีการเกิดขึ้นอีกเป็นธรรมดา....”

    ฉันทราคสูตร ขันธ. สํ. (๕๘)
    ตบ. ๑๗ : ๓๓-๓๔ ตท. ๑๗ : ๓๐
    ตอ. K.S. ๓ : ๒๖-๒๗



    แง่ดีและเสียของขันธ์ ๕

    ปัญหา ขันธ์ ๕ มีแต่แง่ทุกข์อย่างเดียว หรือว่ามีแง่สุขอยู่บ้าง ?

    พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ เราเคยรำพึงว่า อะไรหนอเป็นคุณของรูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการสละคืน ? เรารำพึงต่อไปว่า ความสุข ความเบิกบานใจเกิดขึ้นเพราะอาศัยรูป (เป็นต้น) มีอยู่ นี้เป็นคุณของรูป (เป็นต้น) รูป (เป็นต้นนั้น) ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษ.... การกำจัดเสีย การประหารเสียซึ่งความใคร่ ความพอใจในรูป (เป็นต้นนั้น) นี้เป็นการสละคืนขันธ์ ๕
    “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เรายังไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริง ซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งการสละคืนว่าเป็นการสละคืนแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตราบนั้น เราก็ไม่ปฏิญาณว่าตนได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก...
    “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดเรารู้แจ้งตามความเป็นจริง.... เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณ... ญาณคือความเห็นแจ้งได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ความพ้นทุกข์ของเราไม่มีผันแปร ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ไม่มีภพใหม่อีก....”

    อัสสาทสูตรที่ ๑ ขันธ. สํ. (๕๙-๖๐)
    ตบ. ๑๗ : ๓๕-๓๖ ตท. ๑๗ : ๓๐-๓๑
    ตอ. K.S. ๓ : ๒๘-๒๙

    “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเคยท่องเที่ยวแสวงหาคุณแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ รูป (เป็นต้นนั้น) มีคุณอย่างใด เราก็ได้พบคุณอย่างนั้น .... มีคุณเท่าใด เราก็ได้เห็นแจ้งด้วยปัญญาเท่านั้น .... เราเคยท่องเที่ยว แสวงหาโทษของ รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เราก็ได้พบโทษ.... ได้เห็นโทษด้วยปัญญา..... เราเคยท่องเที่ยวแสวงหาการสลัดออกซึ่งขันธ์ ๕ เราก็ได้พบการสลัดออก...”

    อัสสาทสูตรที่ ๒ ขันธ. สํ. (๖๑)
    ตบ. ๑๗ : ๓๖-๓๗ ตท. ๑๗ : ๓๐-๓๒
    ตอ. K.S. ๓ : ๒๘-๒๙

    “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่ยินดีเพลิดเพลินในรูป (เป็นต้นนั้น) แต่เพราะคุณแห่งรูป(เป็นต้นนั้น) มีอยู่ สัตว์ทั้งหลายจึงยินดีเพลินเพลิด....
    “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าโทษแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่เบื่อหน่ายในรูป (เป็นต้นนั้น) แต่เพราะโทษแห่งรูป (เป็นต้นนั้น) มีอยู่ สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่าย...
    “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าการสลัดออกซึ่ง รูป (เป็นต้นนั้น) จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่แล่นออกไปจากรูป (เป็นต้นนั้น) แต่เพราะการสลัดออกมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายจึงออกไป.....ได้

    อัสสาทสูตรที่ ๓ ขันธ. สํ. (๖๓)
    ตบ. ๑๗ : ๓๘ ตท. ๑๗ : ๓๒
    ตอ. K.S. ๓ : ๒๙-๓๐


    เพลิดเพลินขันธ์ ๕ เพลิดเพลินทุกข์

    ปัญหา คนเช่นใด มีโอกาสที่จะพ้นทุกข์มากกว่าคนอื่น ?

    พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเพลิดเพลิน รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์เรายืนยันว่าผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์
    “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลไม่เพลิดเพลินรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ผู้นั้นไม่เพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์เรายืนยันว่าผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์

    อภินันทนสูตร ขันธ. สํ. (๖๔-๖๕)
    ตบ. ๑๗ : ๓๙ ตท. ๑๗ : ๓๓-๓๔
    ตอ. K.S. ๓ : ๓๐


    มีขันธ์ ๕ ก็มีทุกข์

    ปัญหา ขันธ์ ๕ กับทุกข์เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

    พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรคทั้งหลาย เป็นความปรากฏแห่งชรา มรณะ
    “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความดับ ความสงบระงับความตั้งอยู่ไม่ได้ แห่ง
    รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นสงบระงับแห่งโรคทั้งหลาย เป็นความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งชรา มรณะ

    อุปปาทสูตร ขันธ. สํ. (๖๖-๖๗)
    ตบ. ๑๗ : ๓๙-๔๐ ตท. ๑๗ : ๓๔
    ตอ. K.S. ๓ : ๓๐


    ขันธ์ ๕ เหมือนใบไม้นอกตัวเรา

    ปัญหา การถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นของตน เป็นการถูกต้องหรือไม่ ?

    พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย เพื่อละได้แล้วจักเป็นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุข.... ก็อะไรเล่าไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ? รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย
    “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนชนพึงเก็บเอาไป หรือเผาไฟ หรือกระทำตามที่เห็นเหมาะสมซึ่งหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในพระเชตวันนั้น ท่านควรคิดว่า ฝูงชนเอาไปหรือเผา หรือกระทำตามที่เห็นเหมาะสม ซึ่งเราทั้งหลายกระนั้นหรือ ?
    “ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า หามิได้พระเจ้าข้า
    “พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร
    “ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่เราหรือ นับเนื่องด้วยเรา
    “อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่ใช่ของท่าน จงละเสีย เมื่อละได้แล้วจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข”

    นตุมหากสูตร ที่ ๑ ขันธ. สํ. (๗๑-๗๒)
    ตบ. ๑๗ : ๔๒ ตท. ๑๗ : ๓๖
    ตอ. K.S. ๓ : ๓๑-๓๒



    คำว่า ขันธ์ แปลว่า กอง, พวก, หมวด, หมู่
    ดังนั้น ขันธ์ ๕ จึงหมายถึงสภาวธรรม ๕ อย่าง ซึ่งประกอบด้วย
    ๑. รูปขันธ์ คือ อวัยวะน้อยใหญ่ หรือกลุ่มรูป ที่มีอยู่ในร่างกายทั้งหมด
    ๒. เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึก เป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ
    ๓. สัญญาขันธ์ คือ ธรรมชาติที่มีหน้าที่ในการจำ หรือเป็นหน่วยความจำของจิตนั่นเอง
    ๔. สังขารขันธ์ คือ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตให้มีลักษณะต่าง ๆ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เปรียบดังสีต่าง ๆ ที่หยดลงไปในแก้วน้ำ เป็นเหตุให้น้ำในแก้ว เปลี่ยนไปตามสีที่หยด
    ๕. วิญญาณขันธ์ หรือ จิต คือ ธรรมชาติที่รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มาปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อีกทั้งเป็นธรรมชาต ิที่ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ



    การเกิดขึ้นของจิต (วิญญาณขันธ์) จะเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิก (เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์) นั้นไม่ได้ ลำพังจิตอย่างเดียว ไม่สามารถรับรู้หรือนึกคิดอะไรได้เลย จิตเปรียบเสมือนนาฬิกา เจตสิกเปรียบเสมือน ชิ้นส่วนและเฟืองจักรต่าง ๆ ที่ทำให้นาฬิกาทำงานได้ จิตและเจตสิก จะแยกจากกันไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกันอิงอาศัยกัน จิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกประกอบปรุงแต่งด้วยเสมอ

    สรุปแล้ว ขันธ์ ๕ (เบญจขันธ์) ก็คือ รูป จิตและเจตสิก หรือ รูปกับนาม นั่นเอง
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 พฤศจิกายน 2009

แชร์หน้านี้

Loading...