พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 2 ธันวาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    พระตำหนักเพ็ชร


    • ความสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหาร

    ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
    วัดบวรนิเวศวิหาร ถือเป็นวัดที่มีความเคลื่อนไหว
    ทางศาสนาที่สำคัญๆ หลายประการ ถือกำเนิดขึ้น อาทิ

    - ความพยายามในการปฏิรูปสงฆ์ไทย ซึ่งทำให้เกิด “นิกายธรรมยุต” ขึ้นมา

    - ความพยายามในการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรก ได้แก่
    มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
    สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

    - ความพยายามในการริเริ่มตรวจชำระคัมภีร์ภาษาบาลี
    โดยความริเริ่มของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    [​IMG]
    ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย


    - ความพยายามในการก่อตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกที่คนไทยเป็นเจ้าของ
    จนวิวัฒนาการมาเป็น โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ดังในปัจจุบัน

    - ความพยายามในการรื้อฟื้นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
    โดยมีวัดบวรนิเวศวิหารสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
    จนประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ไว้ผลิตศาสนทายาทที่เหมาะสมแก่สมัย

    - ความพยายามในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐแห่งแรกของประเทศ

    - วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ตั้งของ “พระตำหนักเพ็ชร”
    ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

    [​IMG]
    เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


    นอกจากนี้ วัดบวรนิเวศวิหารยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช
    องค์พระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย ถึง ๔ พระองค์ ด้วยกัน ได้แก่

    (๑) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
    และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    (๒) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
    และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    (๓) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
    ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
    และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    (๔) สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
    ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
    และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ พระองค์ปัจจุบันแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]
    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อครั้งทรงเป็น “พระอภิบาล”
    ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
    ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร



    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
    พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค
    แต่ในเวลาเดียวกัน พระองค์ก็ทรงเน้นหนักในด้านจิตตภาวนา
    โดยได้ทรงฝึกสมาธิจิตทั้งสมถและวิปัสสนากรรมฐาน
    ตามแนวทางปฏิบัติของพระป่ามาเป็นระยะเวลานาน

    ครั้นต่อมา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
    (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
    วัดบวรนิเวศวิหาร พระราชอุปัธยาจารย์
    ของ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
    ทรงเลือกพระองค์เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระโศภณคณาภรณ์
    ให้เป็น “พระอภิบาล” (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
    โดยเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา หนึ่งคืนตามพระราชประเพณี
    แล้วจึงเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักทรงพรต ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕

    ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
    ที่เสด็จออกทรงพระผนวชขณะทรงครองราชย์อยู่
    (พระองค์แรกคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕)
    และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
    ที่ได้เสด็จออกทรงพระผนวชต่อจากพระบูรพกษัตราธิราชเจ้ารัชกาลที่ ๔-๗

    [​IMG]
    “ปัญจมหาราชา” ๕ พระบูรพกษัตราธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
    คือรัชกาลที่ ๔-๗ และรัชกาลที่ ๙ ภายใต้ร่มเงาเศวตฉัตรแห่งพระบวรพุทธศาสนา



    ดังนั้น พระบูรพกษัตราธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
    ภายใต้ร่มเงาเศวตฉัตรแห่งพระบวรพุทธศาสนา ปัจจุบันมี ๕ พระองค์
    เรียกว่า “ปัญจมหาราชา” ประกอบด้วยรัชกาลที่ ๔-๗ และรัชกาลที่ ๙

    ในระหว่างทรงผนวช พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
    ได้ทรงดำรงสมณเพศ ประทับทรงปฏิบัติพระธรรมวินัย
    อยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอด ๑๕ ราตรี
    ระหว่างวันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ถึง วันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙

    ทรงลาผนวชเมื่อวันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙
    แม้เมื่อทรงลาผนวชแล้ว พระองค์ยังคงเสด็จมาประทับ
    นั่งสมาธิกรรมฐานเป็นครั้งคราว ณ พระตำหนักทรงพรต

    อนึ่ง วัดบวรนิเวศวิหารยังเป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
    ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นสถานศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์
    ต่อมา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
    ได้ทรงประกาศตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
    มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
    ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาสงฆ์ระดับมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย

    [​IMG]
    สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
    ทรงประทับหน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงฉายเมื่อพระชนมายุ ๗๔ พรรษา



    หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
    ก็ประกาศตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในวัดมหาธาตุฯ

    ในปัจจุบัน วัดบวรนิเวศวิหารยังเป็นที่พำนักของพระภิกษุนาคหลวง
    ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรูป
    และยังเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงผนวช
    รวมทั้ง เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิเช่น
    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ครั้งทรงผนวชอีกด้วย

    ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงผนวช
    และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
    ประติมากรของกรมศิลปากรปั้นหุ่นและสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
    โดยทรงเสด็จพระราชดำเนินหล่อพระพุทธรูป เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
    สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
    ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธนาราวันตบพิตร”

    [​IMG]
    พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
    ทรงประทับหน้าใบเสมาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
    เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ทรงฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ



    • การศึกษาปริยัติธรรมในวัดบวรนิเวศวิหาร

    วัดบวรนิเวศวิหารได้ส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลีมาตั้งแต่เริ่มมีวัดนี้
    โดยเฉพาะในยุคที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองวัด
    กล่าวกันว่าทรงเน้นให้ศึกษาอย่างเข้มงวด
    จนกระทั่งว่าศิษยานุศิษย์ของพระองค์สามารถสนทนาภาษาบาลีได้เพราะ
    ทรงจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาบาลีแก่พระภิกษุสามเณรภายในวัด
    อย่างแตกฉานเพื่อให้สามารถอ่านคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฯลฯ
    ได้จากต้นฉบับใบลาน หลังจากนั้น เป็นต้นมา
    วัดบวรนิเวศวิหารก็ได้เป็นสดมภ์หลักในการตรวจชำระคัมภีร์ใบลานภาษาบาลี
    แล้วจัดพิมพ์ออกมาในรูป พระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ฯลฯ
    ออกมาเผยแผ่ไปทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานของคณะศิษยานุศิษย์
    ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทั้งนั้น

    [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)


    มีการกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
    ระหว่างทรงผนวช ในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร เล่ม ๑ หน้า ๒๒ ว่า

    ทรงทำนุบำรุงการเรียนพระปริยัติธรรมให้รุ่งเรือง
    ทรงบอกพระปริยัติธรรมเอง มีภิกษุสามเณรเป็นศิษย์เข้าแปลในสนามหลวง
    ได้เป็นเปรียญประโยคสูงถึงประโยค ๙ ก็มีหลายรูป พระสำนักอื่นมาขอเรียนบ้างก็มี
    ทรงเป็นหลักอยู่ในการไล่หนังสือพระองค์หนึ่ง
    ครั้งนั้น พระเปรียญพูดมคธได้คล่อง
    มีพระลังกาเข้ามาจึงต้องทรงมีหน้าที่เป็นผู้รับรองในราชการ
    มีคณะไว้สำหรับพระลังกาที่วัด


    วัดบวรนิเวศวิหารเคยมีชื่อเสียงโด่งดังด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมมาก
    สามเณรสา ปุสฺสเทโว หรือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
    สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
    ในกาลต่อมา
    ผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ถึง ๒ ครั้ง ก็เคยอยู่วัดแห่งนี้
    ครั้งแรกเมื่อสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค ยังเป็นสามเณรสา ที่วัดราชาธิวาสวิหาร
    ครั้งที่ ๒ มาสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคอีกครั้ง ที่วัดบวรนิเวศวิหารนี้เอง

    [​IMG]
    ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร


    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ผู้ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาและภาษาบาลี
    ก็เคยทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
    ระหว่างทรงครองวัดในฐานะเจ้าอาวาส
    พระองค์ก็ทรงจัดพิมพ์ตำรับตำราภาษาบาลีมากมาย
    ระยะหลังมีประชาชนจำนวนมากมีศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาบวช
    อยู่ในวัดบวรนิเวศวิหารระยะสั้นตลอดทั้งปี

    เนื่องจากวัดบวรนิเวศวิหารรับภาระในการจัดอบรมหลักสูตรนวกะระยะสั้น
    เสียเป็นส่วนมาก ดังนั้นเสนาสนะจึงค่อนข้างจำกัด

    ในที่สุด วัดบวรนิเวศวิหารจึงหันมาเน้นให้การศึกษาอบรมแก่ผู้บวชระยะสั้น
    ทั้งในพรรษาและนอกพรรษา ปริมาณผู้สอบเปรียญบาลีสูงๆ ได้จึงลดลงมาก

    [​IMG]
    พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ประดิษฐาน ณ ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน วัดบวรนิเวศวิหาร



    แต่ในยุคสมัยที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบันทรงครองวัด พระองค์ได้ทรงแต่งตั้ง
    พระพรหมมุนี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ. ๙)
    เป็นผู้อำนวยการสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารเพื่อดูแลการศึกษาพระปริยัติธรรม
    และก็มีพระภิกษุสามเณรสอบเปรียญธรรมได้ทุกๆ ปีไม่เคยขาด
    โดยมีวัดธรรมยุตอีกประมาณ ๙ วัดขึ้นกับสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
    อาทิ วัดดวงแข, วัดเขมาภิรตาราม, วัดบวรมงคล, วัดตรีทศเทพ,
    วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม, วัดบุรณศิริมาตยาราม
    ฯลฯ

    นอกจากนั้น ในยุคสมัยของพระองค์ยังมีผู้สอบเปรียญ ๙ ประโยคได้
    ขณะยังเป็นสามเณรและได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็นนาคหลวง
    อุปสมบทในพระบรมราชานุเคราะห์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    ในพระบรมมหาราชวัง จำนวน ๒ รูป คือ
    สามเณรปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ และสามเณรฉัตรชัย มูลสาร
    โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์
    และจัดงานมุทิตาเนื่องในวันประสูติของพระองค์แก่สามเณรทั้งสองรูป

    [​IMG]
    [​IMG]
    พระแท่นที่บรรทมสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    ทัศนียภาพวัดบวรนิเวศวิหาร


    • วัดบวรนิเวศวิหารกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

    วัดบวรนิเวศวิหารได้เป็นที่มั่นที่สำคัญ
    ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งปริยัติและปฏิบัติ

    ในฝ่ายปฏิบัตินั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสร้างวัดอีกวัดหนึ่ง
    คู่กับวัดบวรนิเวศวิหาร คือ “วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร”
    ไว้เป็นสถานที่สำหรับฝึกวิปัสสนาจารย์โดยเฉพาะ
    ในกรณีที่ศิษยานุศิษย์ของพระองค์ประสงค์จะฝึก
    ต่อมา วัดบรมนิวาสแห่งนี้ยังกลายเป็นวัดที่พระวิปัสสนาจารย์รุ่นแรกๆ
    อาทิ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นต้น
    ได้มาพำนักอาศัยและศึกษาเพิ่มเติม
    จนกลายเป็นพระวิปัสสนาจารย์สายวัดป่าที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ

    [​IMG]

    ด้วยเหตุนี้พระป่าสายธรรมยุตจึงยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ว่า
    เป็นผู้วางรากฐานการปฏิบัติสายพระป่าไว้อย่างมั่นคง
    เพราะทรงเน้นศิษยานุศิษย์ของพระองค์ที่อยู่วัดบวรนิเวศวิหาร
    และอยู่ที่วัดบรมนิวาสให้มีศีลสิกขาอย่างเคร่งครัดก่อนจะลงมือปฏิบัติ
    หมายความว่ามีความรู้ปริยัติที่ถูกต้องก่อนลงมือปฏิบัตินั่นเอง

    ส่วนฝ่ายปริยัตินั้น วัดบวรนิเวศวิหารก็มีการอบรมทั้งพระนวกะ
    และผู้ประสงค์จะศึกษาภาษาบาลีระยะยาวอยู่ทุกๆ ปี

    ปัจจุบันนี้ วัดบวรนิเวศวิหารยังขยายการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศ
    โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
    ทรงกระตุ้นให้เกิดการแปลคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
    เป็นภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษา
    มีการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศด้วย

    [​IMG]

    ตำราที่พระองค์ทรงบุกเบิกให้แปลเป็นภาษาอังกฤษนั้นมีจำหน่ายที่
    มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

    นอกจากนั้น วัดบวรนิเวศวิหารยังเป็นที่ตั้งสำนักงานของ
    มูลนิธิแผ่นดินธรรม ซึ่งผลิตรายการธรรมะออกเผยแผ่พุทธธรรม
    ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๐๖.๓๐-๗.๐๐ น. และทุกวันพฤหัสบดี
    เวลา ๑๔.๐๐-๑๔.๓๐ น. ทางโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๕

    อีกทั้งยังเป็นสำนักงานที่ตั้งของ
    ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
    ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนาอีกด้วย

    [​IMG]
    น้ำพุด้านข้างพระตำหนักเพ็ชร
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
    พุทธศักราช ๒๔๓๖-๒๔๔๒


    วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
    แขวงสราญรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



    พระประวัติในเบื้องต้น

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
    มีพระนามเดิมว่า “สา” พระนามฉายาว่า “ปุสฺสเทโว”
    ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๗๕
    (พ.ศ. ๒๓๕๖) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    โยมบิดามีนามว่า “จันท์” โยมมารดามีนามว่า “สุข”
    เป็นชาวตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

    มีพี่น้องชายหญิงร่วมมารดาบิดาเดียวกันรวมทั้งหมด ๕ คน คือ
    ๑. หญิงชื่อ อวบ
    ๒. ชายชื่อ ช้าง ภายหลังได้รับพระทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระสุภรัตกาสายานุรักษ์
    ๓. ชายชื่อ สา คือเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
    ๔. ชายชื่อ สัง ได้อุปสมบทอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร และได้รับพระราชทาน
    สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระสมุทรมุนี ต่อมาภายหลังได้ลาสิกขา
    ๕. หญิงชื่อ อิ่ม

    กล่าวกันว่าโยมบิดาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
    เป็นชาวตำบลบางเชิงกราน จังหวัดราชบุรี ได้เคยบวชเรียน
    จนเป็นผู้ชำนาญในการเทศน์มิลินท์และมาลัย
    แม้เมื่อลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสแล้ว
    ก็ยังเรียกกันติดปากว่า “จันท์มิลินท์มาลัย”

    ส่วนโยมมารดาเป็นชาวตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี
    สำหรับโยมบิดานั้น นอกจากจะได้เคยบวชเรียนเป็นนักเทศน์มีชื่อแล้ว
    คงจักได้เล่าเรียนมีความรู้ในทางพระปริยัติธรรมมาเป็นอย่างดีด้วย
    ถึงได้เป็นอาจารย์บอกหนังสืออยู่ในพระราชวังบวรด้วยท่านหนึ่ง
    เนื่องจากโยมบิดาเป็นผู้มีความรู้ดีในด้านอักษรสมัยและในทางพระปริยัติธรรม
    ถึงขั้นเป็นอาจารย์บอกหนังสือ (คือสอนหนังสือ) ในพระราชวังบวร
    การศึกษาในเบื้องต้นของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงเข้าใจว่าคงศึกษากับโยมบิดานั่นเอง
    และเรื่องที่ศึกษาเล่าเรียนก็คงจะหนักไปทางด้านพระศาสนา
    อันเป็นวิชาที่โยมบิดาถนัดนี้ ก็อาจจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง
    ที่นำให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีอุปนิสัยน้อมไปในทางบรรพชา
    จนเป็นเหตุให้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรแต่ยังเยาว์ในเวลาต่อมา

    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้บรรพชาเป็นสามเณรแต่ยังเยาว์ ในรัชกาลที่ ๓
    เดิมอยู่ที่วัดใหม่บางขุนเทียน ต่อมาได้ย้ายมาอยู่วัดสังเวชวิศยาราม
    เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ส่วนการเรียนพระปริยัติธรรมนั้น
    เข้าไปเรียนในพระราชวังบวรกับ อาจารย์อ่อน (ฆราวาส)
    และกับโยมบิดาของพระองค์ท่านเอง
    ซึ่งเป็นอาจารย์บอกหนังสืออยู่ในพระราชวังบวรนั้นด้วยกัน

    ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ พระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา
    ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก แปลได้เพียง ๒ ประโยค
    จึงยังไม่ได้เป็นเปรียญ แต่เรียกกันว่า “เปรียญวังหน้า”
    ที่เรียกกันว่าเปรียญวังหน้านั้น ก็ด้วยเหตุที่ว่า
    ประเพณีการแปลพระปริยัติธรรมในสมัยนั้น
    ผู้เข้าแปลทีแรกต้องแปลพระธรรมบทให้ได้ครบ ๓ ประโยคในคราวเดียว
    จึงนับว่าเป็นเปรียญ ถ้าไม่ได้ครบทั้ง ๓ ประโยค
    เข้ามาแปลคราวหน้าก็ต้องแปลแต่ประโยค ๑ ไปใหม่

    ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ
    มีพระประสงค์จะทรงอุปการะแก่พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียน
    มิให้ท้อถอยจากความเพียรไปเสีย
    ถ้ารูปใดแปลได้ ๒ ประโยคก็ทรงรับอุปการะไป
    จนกว่าจะเข้าแปลใหม่ได้เป็นเปรียญ
    พระภิกษุสามเณรที่ได้รับพระราชทานอุปการะเหล่านั้น
    จึงพากันเรียกว่า “เปรียญวังหน้า”


    สามเณร ๙ ประโยครูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ต่อมา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ครั้งยังเป็นสามเณร
    ได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ขณะเมื่อทรงผนวชประทับอยู่ ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย)
    เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อ และได้ทรงศึกษาเล่าเรียนสืบมา
    ในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
    กระทั่งพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา จึงได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง
    และครั้งนี้ทรงแปลในคราวเดียวได้หมดทั้ง ๙ ประโยค
    ได้เป็นเปรียญเอกแต่ยังทรงเป็นสามเณร
    นับเป็นสามเณรเปรียญ ๙ ประโยครูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    เป็นที่น่าสังเกตว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ถวายตัวศึกษาพระปริยัติธรรม
    อยู่ในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดราชาธิวาส
    เพียง ๔ พรรษาเท่านั้น ก็มีความรู้แตกฉานในพระปริยัติธรรม
    จนสามารถแปลพระปริยัติธรรมได้ในคราวเดียวหมดทั้ง ๙ ประโยค
    อันแสดงให้เห็นว่า เพราะทรงได้พระอาจารย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง
    ในทางพระปริยัติธรรม คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ประกอบกับพระวิริยะอุตสาหะ
    และพระสติปัญญาอันเฉียบแหลมส่วนพระองค์ด้วยนั่นเอง
    จึงทรงมีความรู้แตกฉานในสิ่งที่ทรงศึกษาเล่าเรียน
    เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น ซึ่งน้อยคนนักที่จะทำได้


    ทรงอุปสมบทครั้งแรก

    ครั้นถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ มีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา
    ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดราชาธิวาส มีพระนามฉายาว่า “ปุสฺโส”
    แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์คือใคร
    แต่ตามทางสันนิษฐานว่า ในเวลาที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา)
    มีพระชนมายุครบอุปสมบทนั้น
    เป็นเวลาที่พระสงฆ์ธรรมยุตนิยมพระอุปัชฌาย์รามัญ
    ซึ่งมี พระสุเมธาจารย์ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์อยู่ด้วยรูปหนึ่ง
    และเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์อยู่

    ฉะนั้น จึงน่าเป็นไปได้ว่า พระอุปัชฌาย์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
    ในการอุปสมบทครั้งนั้น คือ พระสุเมธาจารย์ (เกิด)
    พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    ได้ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ขณะทรงผนวชอยู่ ให้เสด็จมาครอง วัดบวรนิเวศวิหาร
    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นพระเปรียญเอก พรรษา ๔
    ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารด้วย
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ


    กำเนิดวัดธรรมยุตแห่งแรกของไทย

    ครั้น พ.ศ. ๒๓๘๒ พรรษา ๖ ทรงได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น
    พระราชาคณะที่ พระอมรโมลี (ไม่พบประกาศทรงแต่งตั้ง)
    จะเห็นได้ว่าทรงได้รับยกย่องให้ดำรงอยู่ในฐานะพระเถระผู้ใหญ่
    ตั้งแต่ทรงมีอายุพรรษา ๖ (คือพระชนมายุ ๒๖ พรรษา) เท่านั้น
    ทั้งนี้ก็คงเนื่องด้วยทรงมีพระปรีชาแตกฉาน
    ในพระปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยเป็นมูลนั่นเอง

    การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    เสด็จจากวัดราชาธิวาส มาครองวัดบวรนิเวศวิหารนั้น
    นับเป็นครั้งแรกที่พระสงฆ์ธรรมยุตได้มีวัดเป็นสำนักของตนเองเป็นเอกเทศ
    เพราะก่อนแต่นั้นพระสงฆ์ธรรมยุตก็ยังคงอยู่รวมในวัดเดียวกันกับพระสงฆ์เดิม

    เมื่อมีสำนักเป็นเอกเทศขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ก็ได้ทรงปรับปรุงระเบียบปฏิบัติด้านต่างๆ ของพระสงฆ์ในปกครองของพระองค์
    ได้อย่างเต็มที่ เช่น ทรงตั้งธรรมเนียมนมัสการพระเช้าค่ำ
    ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ” เป็นประจำวันขึ้น
    พร้อมทั้งทรงพระราชนิพนธ์คำนมัสการพระรัตนตรัย
    เป็นภาษามคธ (ภาษาบาลี) ขึ้นใหม่ ที่เรียกกันว่า บททำวัตรเช้าค่ำ
    ดังที่ใช้สวดกันทั่วไปในบัดนี้ ในวันธรรมสวนะ (วันพระ)
    มีการแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธศาสนิกชนเป็นต้น

    ในด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ก็ทรงส่งเสริมการเรียนพระปริยัติธรรมให้รุ่งเรือง
    โดยพระองค์ทรงบอกพระปริยัติธรรม (คือสอน) ด้วยพระองค์เอง
    มีพระภิกษุสามเณรเป็นศิษย์เข้าแปล (คือสอบในสนามหลวง)
    ได้เป็นเปรียญประโยคสูงถึงประโยค ๙ หลายรูป

    การเรียนพระปริยัติธรรมของสำนักวัดบวรนิเวศวิหารในยุคนั้นรุ่งเรืองมาก
    พระเปรียญพูดภาษามคธได้คล่อง
    และคงเนื่องด้วยเหตุนี้เอง วัดบวรนิเวศวิหารในครั้งนั้น
    จึงต้องทำหน้าที่รับรองพระสงฆ์ลังกาที่เข้ามาเจริญศาสนไมตรีกับไทย
    ถึงกับต้องมีเสนาสนะหมู่หนึ่งไว้รับรองที่วัดบวรนิเวศวิหาร
    เรียกว่า “คณะลังกา” (ปัจจุบันรื้อไปแล้ว)

    [​IMG]
    พระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด)


    ในส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
    พระองค์ก็ทรงศึกษาภาษาละตินและภาษาอังกฤษกับชาวต่างประเทศ
    จนทรงสามารถตรัส เขียน อ่าน ได้อย่างคล่องแคล่ว
    แม้พระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษย์ในพระองค์ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
    ก็เข้าใจว่าคงได้รับการส่งเสริมให้เรียนภาษาต่างประเทศ
    ที่นอกเหนือไปจากภาษามคธด้วยเช่นกัน
    ดังปรากฏในประวัติของ พระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด)
    ซึ่งเป็นศิษย์หลวงเดิมท่านหนึ่ง และได้เป็นสมณทูตไปลังกาถึง ๒ ครั้ง ว่า
    สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว
    จนชาวลังกายกย่องเป็นอันมากเป็นตัวอย่าง


    พระเถระต้นวงศ์แห่งธรรมยุต

    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชก็คงจะเช่นเดียวกัน
    นอกจากจะทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
    จนมีความแตกฉานคล่องแคล่วในภาษามคธแล้ว
    ก็คงจักได้ศึกษาภาษาต่างประเทศอื่นๆ ด้วย
    ตามความนิยมของสำนักวัดบวรนิเวศวิหารในครั้งนั้น
    ดังปรากฏในคำประกาศทรงสถาปนาเป็น
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ตอนหนึ่งว่า

    “มีสุตาคมปัญญารอบรู้ในอักษรแลภาษาซึ่งเปนสกะไสมยปะระไสมย
    คือ ขอม ไทย แลสิงหฬ รามัญ สังสกฤตพากย์ เป็นต้นโดยพิศดาร”


    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงอยู่ในฐานะพระเถระผู้ใหญ่
    ผู้เป็นต้นวงศ์แห่งคณะธรรมยุตรูปหนึ่งในจำนวน ๑๐ รูป
    ดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์สมณศาส์นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    เมื่อยังทรงผนวชอยู่ พระราชทานไปยังพระสงฆ์ในประเทศลังกา ว่า

    ทส คณิสฺสรา เถรา ธมฺมยุตฺติกวํสิกา
    ตนฺนิกายิกสงฺเฆน สพฺพกิจฺเจสุ สมฺมตา
    อเนกภิกฺขุสตานํ ปิตโร ปริณายกา
    ตสฺเสว ภูปตินฺทสฺส ปิโย กนิฏฺภาตุโก
    เถโร วชิรญาโณ จ ปาโมกฺโข คณเชฏฺโก
    เถโร พฺรหฺมสโร เจว เถโร ธมฺมสิริวฺหโย
    เถโร พุทฺธสิริ เจว เถโร ปญฺญาคฺคนามโก
    เถโร ธมฺมรกฺขิโต จ เถโร จ โสภิตวฺหโย
    เถโร พุทฺธิสณฺหนาโม เถโร ปุสฺสาภิธานโก
    เถโร สุวฑฺฒโน จาปิ สพฺเพ สมานฉนฺทกา ฯลฯ


    พระเถระเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุตติกวงศ์ อันพระสงฆ์นิกายนั้นสมมติ
    (แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหาร) ในกิจทั้งปวง เป็นบิดา เป็นปริณายกแห่งภิกษุหลายร้อยรูป
    พระเถระทรงพระนามว่า วชิรญาณะ
    ผู้เป็นพระกนิฐภาดาที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น
    เป็นผู้ใหญ่ในคณะ เป็นประธาน ๑ พระเถระนามว่า พรหมสระ ๑
    พระเถระนามว่า ธัมมสิริ ๑ พระเถระนามว่า พุทธสิริ ๑
    พระเถระนามว่า ปัญญาอัคคะ ๑ พระเถระนามว่า ธัมมรักขิตะ ๑
    พระเถระนามว่า โสภิตะ ๑ พระเถระนามว่า พุทธิสัณหะ ๑
    พระเถระนามว่า ปุสสะ ๑ พระเถระนามว่า สุวัฑฒนะ ๑
    ทุกรูปเป็นผู้มีฉันทะเสมอกัน ฯลฯ

    พระเถระที่ปรากฏพระนามและนามในพระราชนิพนธ์ข้างต้นนี้
    พระวชิรญาณะ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ผู้ทรงประดิษฐานคณะธรรมยุต

    พระพรหมสระ คือ พระญาณรักขิต (สุข) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสรูปแรก
    ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่พระธรรมการบดี

    พระธัมมสิริ คือ พระเทพโมลี (เอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์ รูปที่ ๒
    พระพุทธสิริ คือ สมเด็จพระวันรัต (ทับ) เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร รูปที่ ๑
    พระปัญญาอัคคะ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ผู้ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    และทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เป็นพระองค์แรก
    พระธัมมรักขิตะ คือ พระครูปลัดทัด วัดบวรนิเวศวิหาร
    ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่พระศรีภูริปรีชา
    พระโสภิตะ คือ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก) วัดบวรนิเวศวิหาร
    ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่พระยาศรีสุนทรโวหาร
    พระพุทธิสัณหะ คือ พระอมรโมลี (นบ) เจ้าอาวาสวัดบุปผาราม
    พระปุสสะ คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา)
    เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม รูปที่ ๑

    พระสุวัฑฒนะ คือ พระปลัดเรือง วัดบวรนิเวศวิหาร

    พระเถระ ๑๐ รูปนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงยกย่องในฐานะพระเถระผู้ใหญ่และเป็นที่ทรงปรึกษากิจแห่งคณะ
    ขณะเมื่อยังทรงผนวชอยู่

    เมื่อสำนักวัดบวรนิเวศวิหารเจริญขึ้นแล้ว
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งพระศิษย์หลวงเดิม
    ออกไปตั้งสำนักสาขาขึ้นที่วัดอื่นอีกหลายวัด กล่าวคือ

    โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)
    แต่ครั้งยังเป็นพระราชาคณะที่พระอริยมุนี เป็นเจ้าสำนักวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย)

    โปรดเกล้าฯ ให้ พระญาณรักขิต (สุข)
    เป็นเจ้าสำนักวัดบรมนิวาส (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวัดนอก)

    โปรดเกล้าฯ ให้ พระเทพโมลี (เอี่ยม ธมฺมสิริ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระรัตนมุนี
    เป็นเจ้าสำนักวัดเครือวัลย์

    โปรดเกล้าฯ ให้ พระเมธาธรรมรส (ถิน) แต่ครั้งยังเป็นพระครูใบฎีกา
    เป็นเจ้าสำนักวัดพิชยญาติการาม

    โปรดเกล้าฯ ให้ พระอมรโมลี (นบ) แต่ครั้งยังเป็นพระครูวินัยธร
    เป็นเจ้าสำนักวัดบุปผาราม

    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต)



    ส่วนที่วัดบวรนิเวศวิหารจึงยังคงเหลือพระศิษย์หลวงเดิม
    ที่เป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต)
    แต่ครั้งยังมิได้ทรงกรม
    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) แต่ครั้งยังเป็น พระอมรโมลี
    พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก โสภิโต) พระปลัดเรือง และพระปลัดทัด

    จะเห็นได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงเป็นพระเถระที่เป็นกำลังสำคัญในคณะธรรมยุต
    มาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มสถาปนาคณะและตลอดมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ

    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ หลังจากที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้ง
    เป็นพระราชาคณะที่พระอมรโมลี แล้ว
    ได้ลาสิกขาออกไปครองชีวิตฆราวาสอยู่ระยะหนึ่ง
    แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าทรงลาสิกขาในปีใด
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)


    ทรงอุปสมบทครั้งที่ ๒

    ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทใหม่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
    เมื่อเดือน ๑๐ ปีกุน พุทธศักราช ๒๓๙๔
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
    พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก โสภิโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    (ภายหลังลาสิกขา และได้เป็นที่พระยาศรีสุนทรโวหาร)

    ในการอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้ ทรงมีพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา
    และมีพระนามฉายาว่า “ปุสฺสเทโว”
    นัยว่าเมื่อทรงอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้ก็ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง
    และก็ทรงแปลได้หมดทั้ง ๙ ประโยคอีก
    ด้วยเหตุนี้เองจึงมักมีผู้กล่าวขวัญถึงพระองค์ด้วยสมญานาม
    อันแสดงถึงพระคุณลักษณะพิเศษนี้ว่า “สังฆราช ๑๘ ประโยค” ในเวลาต่อมา


    พระสาสนโสภณรูปแรก

    ในคราวอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ครั้งที่ ๒ นี้
    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นพระอันดับอยู่ ๗ พรรษา
    ครั้นถึงปีมะแม ปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ในรัชกาลที่ ๔
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้ง
    เป็นพระราชาคณะที่ “พระสาสนโสภณ” ดังมีสำเนาประกาศทรงตั้งดังนี้

    “ให้พระอาจารย์สา วัดบวรนิเวศ เป็นพระสาสนโสภณ
    ที่พระราชาคณะในวัดบวรนิเวศ มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๒ บาท
    ขอพระคุณจงเอาธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอนแลอนุเคราะห์
    พระภิกษุสงฆ์ สามเณรในพระอารามโดยสมควร
    จงมีศุขสวัสดิ์เจริญในพระพุทธศาสนาเทอญฯ
    ตั้งแต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก
    พุทธศักราช ๒๔๐๑ เป็นวันที่ ๒๘๖๕ ในรัชกาลปัจจุบันนี้”


    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนิตยภัตรเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ
    แต่ถือตาลปัตรแฉกเสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ
    สำหรับราชทินนามที่ พระสาสนโสภณ นั้น
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นโดยเฉพาะ
    เพื่อให้ได้กับนามเดิมของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คือ “สา”

    สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรัสเล่าไว้ ความว่า

    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นที่พระสาสนโสภณนั้น
    คนทั่วไปเรียกกันว่า อาจารย์สา เมื่อถึงคราวที่จะทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประดิษฐ์ราชทินนาม
    โดยเอานามเดิมของพระองค์ท่านขึ้นต้น แล้วต่อสร้อยว่า พระสาสนดิลก นาม ๑
    พระสาสนโสภณ นาม ๑ แล้วโปรดฯ เกล้าให้พระสารสาสตร์พลขันธ์ (สมบุญ)
    ไปทูลถามพระองค์ท่านว่าจะชอบนามไหน

    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า นาม สาสนดิลก นั้นสูงนัก
    ขอรับพระราชทานเพียงนาม สาสนโสภณ
    จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นที่พระสาสนโสภณดังกล่าวมา
    แล้วคนทั้งหลายก็เรียกกันโดยย่อว่า “เจ้าคุณสา” สืบมา


    ดูทีว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะทรงโปรดราชทินนามนี้มาก
    ภายหลังแม้จะได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นถึงชั้นธรรม ชั้นเจ้าคณะรอง
    ก็ยังคงรับพระราชทานในราชทินนามว่า พระสาสนโสภณ ตลอดมา

    การกลับเข้ามาอุปสมบทใหม่ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ครั้งนี้
    นับว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อคณะธรรมยุตและคณะสงฆ์เป็นส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง
    โดยเฉพาะวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งเป็นสำนักหลักในคณะธรรมยุต

    ดังที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ได้ทรงอธิบายไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า

    “พระเถระที่เป็นกำลังในการวัด
    ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองวัด
    ร่วงโรยไป พระปลัดเรืองถึงมรณภาพเสียแต่ในครั้งยังเสด็จอยู่
    พระศรีวิสุทธิวงศ์ (โสภิโต ฟัก) แลพระปลัดทัด ลาสิกขาเสียในครั้งนี้
    (หมายถึงครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงครองวัด)
    คงมีแต่ พระสาสนโสภณ คือพระอมรโมลี (สา ปุสฺสเทโว)
    ผู้กลับเข้ามาอุปสมบทอีก ได้เป็นกำลังใหญ่ในการพระศาสนา
    พระผู้สามารถในการเทศนาโดยฝีปากมีน้อยลง
    ท่านจึงแต่งหนังสือเทศน์ขึ้นไว้สำหรับใช้อ่านในวันธัมมัสสวนะปกติและในวันบูชา
    ได้แต่งเรื่องปฐมสมโพธิย่อ ๓ กัณฑ์จบ
    สำหรับถวายเทศนาในวันวิสาขบูชา ๓ วันๆ ละกัณฑ์
    และเรื่องจาตุรงคสันนิบาตกับโอวาทปาติโมกข์
    สำหรับถวายในวันมาฆบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    เป็นอันได้รับพระบรมราชานุมัติ ยังได้รจนาเรื่องปฐมสมโพธิพิสดาร
    สำหรับใช้เทศนาในวัด ๒ คืนจบอีก”


    พระนิพนธ์ต่างๆ ที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงรจนาขึ้น
    แต่ครั้งยังเป็นที่ พระสาสนโสภณ ดังกล่าวมาข้างต้นนี้
    ได้เป็นหนังสือสำคัญในการเทศนาและศึกษาเล่าเรียน
    ของพระภิกษุสามเณรสืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

    [​IMG]

    เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯ รูปแรก

    ครั้น พ.ศ. ๒๔๐๘ เมื่อการสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯ เสร็จแล้ว
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้อาราธนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ครั้งยังเป็นที่ พระสาสนโสภณ
    จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาครองวัดราชประดิษฐ์ฯ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
    พร้อมด้วยพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหารอีก ๒๐ รูป

    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แห่จากวัดบวรนิเวศวิหารมาวัดราชประดิษฐ์ฯ
    เมื่อเดือน ๘ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗
    ตรงกับเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๐๘
    และได้รับพระราชทานเปลี่ยนตาลปัตรเป็นตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรม


    พระคุณลักษณะพิเศษ

    เล่ากันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นที่ทรงเคารพและสนิทคุ้นเคย
    ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก
    เป็นที่ทรงสนทนาปรึกษา ทั้งเรื่องที่เป็นกิจการบ้านเมือง
    และเรื่องที่เป็นกิจการพระศาสนา และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสนทนาปรึกษา
    กับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ณ ที่วัดราชประดิษฐ์ฯ
    ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพระบรมมหาราชวังเนืองๆ

    คำเล่าอ้างดังนี้น่าจะสมจริง
    เพราะสมกับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ได้ตรัสเล่าไว้ในพระประวัติตรัสเล่าว่า

    “เมื่อเรายังเยาว์ แต่จำความได้แล้ว ได้ตามเสด็จทูลกระหม่อม
    (หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไปวัดราชประดิษฐ์ฯ เนืองๆ
    คราวหนึ่งได้ยินตรัสถาม สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
    ครั้งนั้นยังเป็นพระสาสนโสภณว่า คนชื่อคนมีหรือไม่
    สมเด็จพระสังฆราชนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถวายพระพรทูลว่า ไม่มี
    ทรงชี้เอาเราผู้นั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า นี่แหละคนชื่อคน
    แต่นั้นเราสังเกตว่า ทรงพระสรวล และสมเด็จพระสังฆราชก็เหมือนกัน”


    นอกจากนี้ ก็ยังกล่าวกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) นั้น
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดว่าเป็นผู้แต่งเทศน์ดี
    แต่ครั้งยังเสด็จดำรงอยู่ในผนวช ภายหลังเมื่อได้เป็นที่พระสาสนโสภณแล้ว
    ถ้าพระราชาคณะหรือพระเปรียญจะถวายเทศน์
    ต้องมาให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตรวจเสียก่อน
    ถ้าใครไม่ชำนาญในการแต่งเทศน์ก็จะทรงแต่งให้

    นับแต่ทรงสถาปนาวัดราชประดิษฐ์ฯ ขึ้นแล้ว
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ก็เสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่มพรรษา (พุ่มเทียน)
    แก่พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ ทั่วทั้งวัดเป็นประจำทุกปีจนสิ้นรัชกาล
    โดยเสด็จพระราชดำเนินในวันแรม ๑ ค่ำอันเป็นวันที่พระสงฆ์เข้าพรรษา
    ดูเป็นทำนองอย่างทรงเป็นเจ้าของวัด
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔


    เหตุการณ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ สวรรคต

    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้อยู่ครองวัดราชประดิษฐ์ฯ
    สนองพระเดชพระคุณเฉลิมพระราชศรัทธา
    ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ๔ ปี ก็สิ้นรัชกาล

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๐
    ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง
    อันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาของพระสงฆ์

    ครั้นเวลาเย็นวันมหาปวารณาที่เสด็จสวรรคตนั้น พระอาการทรุดหนักลง
    พระองค์ทรงประกอบไปด้วยพระสติสัมปชัญญะ
    ทรงกำหนดอวสานกาลแห่งพระชนมายุของพระองค์เป็นแน่แล้ว
    จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องนมัสการพร้อมแล้ว
    จึงมีพระราชโองการดำรัสให้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก)
    เข้าไปในที่พระบรรทม มีพระราชดำรัสพระราชนิพนธ์โดยมคธภาษา
    ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร รับพระบรมราชโองการจดเป็นอักษร

    ครั้นทรงพระบรมราชนิพนธ์เสร็จแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
    พระยาศรีสุนทรโวหารเชิญไปกับทั้งเครื่องนมัสการ
    สู่พระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
    พระสงฆ์มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน
    ประชุมพร้อมกันเพื่อจะทำสังฆปวารณา
    พระยาศรีสุนทรโวหารจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วกราบถวายบังคมมาตามทิศ
    อ่านพระบรมราชนิพนธ์นั้น ณ ที่สังฆสันนิบาต
    สงฆ์รับอัจจยเทศนาแล้วตั้งญัตติปวารณา แล้วปวารณาตามลำดับพรรษา

    ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งพระยาศรีสุนทรโวหารเสร็จแล้ว
    ก็ทรงนมัสการจิตตวิโสธโนบาย ภาวนามัยกุศลเครื่องชำระจิตให้บริสุทธิ์
    พอสมัยยามกับบาทหนึ่ง เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภานุมาศจำรูญฝ่ายอุดรทิศ
    พร้อมด้วยอัศจรรย์ หมอกกลุ้มทั่วนครมณฑลโดยบุญญวันตวิสัย
    เมื่อเสด็จสวรรคต พระชนมายุนับเรียงปีได้ ๖๕ พรรษา
    นับอายุโหราโดยจันทรคติได้ ๖๕ ปีถ้วน
    คิดเป็นวันได้ ๒๓,๓๕๘ วัน กับ ๑๖ ชั่วโมงครึ่ง
    คิดตามสุริยคติกาลอย่างยุโรปได้ ๖๔ ปี หย่อน ๑๖ วันกับ ๒ ชั่วโมง
    เสด็จอยู่ในราชสมบัตินับเรียงปีได้ ๑๘ ปี
    นับอายุโหราตามจันทรคติได้ ๑๗ ปี ๕ เดือนถ้วน คิดเป็นวัน ๖,๓๔๘ วัน


    การเลื่อนสมณศักดิ์

    พ.ศ. ๒๔๑๕ ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
    พระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระธรรมวโรดม
    แต์ให้คงใช้ราชทินนามเดิมว่า “พระสาสนโสภณ ที่ พระธรรมวโรดม”


    นามจารึกในหิรัญบัตร

    “พระธรรมวโรดม บรมญาณอาลย์ สุนทรนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูสิต
    ทักษิณทิศคณฤศร บวรสีงฆารามคามวาสี
    สถิตย์ณวัดราชประดิษฐ สถิตมหาสิมาราม พระอารามหลวง
    จงเจริญทฤฆชนมายุ พรรณศุขพลปฏิภาณ ในพระพุทธสาสนาเทอญฯ”


    [​IMG]
    พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๕
    ครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖



    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช

    พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    แต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์
    เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
    ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์
    มีคณปูรกะ (ภิกษุผู้เข้าร่วมทำสังฆกรรมที่ทำให้ครบคณะพอดี) ดังนี้คือ

    ๑. หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดา วัดบวรนิเวศวิหาร
    ๒. พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร แต่ครั้งยังทรงเป็นหม่อมเจ้า วัดราชบพิธ
    ๓. สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระพิมลธรรม วัดโสมนัสวิหาร
    ๔. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระพรหมมุนี วัดปทุมคงคา
    ๕. พระพรหมเทพาจารย์ วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา
    ๖. พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
    ๗. พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) แต่ครั้งยังเป็นที่พระอริยมุนี วัดบรมนิวาส
    ๘. พระเทพกวี (นิ่ม สุจิณฺโณ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระสุคุณคณาภรณ์ วัดเครือวัลย์

    [​IMG]
    พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ

    [​IMG]
    สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร


    เมื่อทรงผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    เสด็จประทับ ณ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน
    โดยได้เชิญเสด็จสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    พระราชอุปัธยาจารย์ และนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่ต่างวัด
    เข้าไปอยู่ด้วยพอครบคณะสงฆ์
    ทรงผนวชอยู่เป็นเวลา ๑๕ วัน ครั้นทรงลาผนวชแล้ว
    ทรงรับพระบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง

    พระเถระผู้ร่วมเป็นคณะสงฆ์ในการพระราชพิธีทรงผนวช
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้น
    ล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหีกรรม (คืออุปสมบทซ้ำ) มาแล้วทั้งนั้น
    ยังแต่ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) พระองค์เดียวเท่านั้น
    ที่ขณะนั้นยังไม่ได้ทำทัฬหีกรรม ทั้งจะต้องทรงเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญในการนี้
    คือเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ด้วย

    [​IMG]
    พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาส


    ในครั้งนี้เองที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงทำทัฬหีกรรม
    ซึ่งขณะนั้นทรงมีอายุพรรษา ๒๒ แล้ว (นับแต่ทรงอุปสมบทครั้งหลัง)

    ในการทรงทำทัฬหีกรรมของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น
    ไม่พบหลักฐานว่า ทำที่ไหน ใครเป็นพระอุปัชฌาย์
    พบแต่เพียงว่า พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
    เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (๒๖) แต่สันนิษฐานว่าคงจักได้ทำที่แพโบสถ์
    ตรงฝั่งวัดราชาธิวาส และวิธีการต่างๆ นั้น ก็คงจะทำนองเดียวกันกับที่
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ตรัสเล่าไว้เมื่อครั้งพระองค์เองทรงทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ) ดังนี้

    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส


    “ตั้งแต่ครั้งทูลกระหม่อม (หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
    ยังทรงผนวช พวกพระธรรมยุตนับถือสีมาน้ำว่าบริสุทธิ์เป็นที่สิ้นสงสัย
    ไม่วางใจในวิสุงคามสีมาอันไม่ได้มาในบาลี เป็นแต่พระอรรถกถาจารย์แนะไว้
    ในอรรถกถาอนุโลมตามสีมา ครั้งยังไม่มีวัดอยู่ตามลำพัง
    จึงใช้สีมาน้ำเป็นที่อุปสมบท
    ต่อมาพระรูปใดจะอยู่เป็นหลักฐานในพระศาสนา
    พระผู้ใหญ่จึงพาพระรูปนั้นไปอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ เรียกว่า “ทำทัฬหีกรรม”

    สำนักวัดบวรนิเวศวิหารหยุดมานาน พระเถระในสำนักนี้ ก็ได้ทำทัฬหีกรรมโดยมาก
    สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อุปสมบทครั้งหลังกว่า ๒๐ พรรษาแล้ว
    จึงได้ทำทัฬหีกรรม ครั้งจะสวดกรรมวาจาอุปสมบทเมื่อล้นเกล้าฯ
    (หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงผนวช
    พระเสด็จพระอุปัชฌายะ หมายถึง
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ตรัสเล่าว่า

    พระเถระทั้งหลายผู้เข้าในการทรงผนวชล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหีกรรมแล้ว
    ยังแต่ท่าน หมายถึงเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) องค์เดียว
    ทั้งจักเป็นผู้สำคัญในการนั้น จึงต้องทำ...

    ครั้งเราบวช ความนับถือพระบวชในสีมาน้ำยังไม่วาย
    เราเห็นว่าเราเป็นผู้จักยั่งยืนในพระศาสนาต่อไป...เราควรเป็นผู้เข้าได้ทุกฝ่าย
    อันจะให้เข้าได้ ต้องไม่เป็นที่รังเกียจในการอุปสมบทเป็นมูล
    ทั้งเราก็อุปสมบทเร็วไปกว่าปกติ เมื่อทำทัฬหีกรรมอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ
    จักสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ดี เราจึงเรียนความปรารภนี้แก่เจ้าคุณอาจารย์
    (หมายถึง พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) ขอท่านเป็นธุระจัดให้
    จึงตกลงกันว่า เราจักถือเจ้าคุณอาจารย์เป็นอุปัชฌายะใหม่ ในเวลาทำทัฬหีกรรม
    เจ้าคุณพรหมมุนีฟันหักสวดจะเป็นเหตุรังเกียจ เจ้าคุณอาจารย์ท่านเลือกเอา
    เจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช ฐานจาโร) วัดเทพศิรินทราวาส
    ครั้งยังเป็นบาเรียนอยู่วัดโสมนัสวิหารเป็นผู้สวดกรรมวาจา
    ท่านรับจัดการให้เสร็จ พาตัวไปทำทัฬหีกรรมที่แพโบสถ์
    อันจอดอยู่ที่แม่น้ำ ตรงฝั่งวัดราชาธิวาสออกไป...
    แรกขอนิสสัยถืออุปัชฌายะใหม่ แล้วทำวิธีอุปสมบททุกประการ
    สวดทั้งกรรมวาจามคธและกรรมวาจารามัญ”


    [​IMG]
    พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)


    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณรูปที่ ๒

    พ.ศ. ๒๔๒๒ ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    สถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่
    “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ
    ตำแหน่งที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”

    นับเป็นพระมหาเถระรูปที่ ๒ ที่ได้รับพระราชทานสถาปนา
    ในราชทินนามที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
    อันเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
    ตั้งแต่ขณะที่ยังไม่เป็นสมเด็จพระสังฆราช


    การสังคายนาและพิมพ์พระไตรปิฎกในรัชกาลที่ ๕

    พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    โปรดเกล้าฯ ให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก โดยทรงมีพระราชดำริว่า

    คัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งแต่เดิมมาได้คัดลอกต่อๆ กันมา
    ด้วยการจารลงในใบลานด้วยอักษรขอมนั้น กว่าจะได้แต่ละคัมภีร์ก็ช้านาน
    เป็นเหตุให้คัมภีร์ของพระพุทธศาสนาไม่ค่อยแพร่หลาย
    และไม่พอใช้ในการศึกษาเล่าเรียน ทั้งไม่สะดวกในการเก็บรักษาและใช้ดูให้อ่าน
    อักษรขอมที่ใช้จารึกนั้นเล่าก็มีผู้อ่านกันได้น้อยลงทุกที

    ฉะนั้น หากได้มีการตรวจชำระพระไตรปิฎกให้ครบถ้วนบริบูรณ์
    แล้วพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือด้วยอักษรไทย
    ก็จะเป็นการทำให้พระคัมภีร์แพร่หลาย
    และเป็นการสะดวกในการใช้ศึกษาเล่าเรียนมากยิ่งขึ้น

    ฉะนั้นจึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น
    โดยโปรดให้อาราธนาพระเถรานุเถระ
    ประชุมร่วมกันกับราชบัณฑิตทั้งหลายตรวจชำระพระไตรปิฎก
    แล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือขึ้น
    ให้สำเร็จเรียบร้อยทันกำหนดการบำเพ็ญพระราชกุศล
    สมโภชสิริราชสมบัติในกาลเมื่อบรรจบครบ ๒๕ ปี

    ครั้นวันที่ ๗ เดือน ๓ แรม ๑ ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๔๓๑)
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    จึงทรงเชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชได้ดำรงสมณศักดิ์
    มี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ขณะทรงดำรงพระยศกรมพระ เป็นประธาน
    และทรงอาราธนาพระราชาคณะผู้ใหญ่
    มี เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา)
    ขณะทรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นประธาน
    พร้อมทั้งพระสงฆ์เปรียญ ทั้งในกรุงและหัวเมือง
    ประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับในพระอุโบสถ
    พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ
    อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการ
    อาราธนาพระสงฆ์ให้ตรวจชำระพระไตรปิฎก เป็นการเริ่มการทำสังคายนา

    [​IMG]

    ในการทำสังคายนาครั้งนี้
    พระเถรานุเถระได้แบ่งกันทำหน้าที่เป็นกองๆ ดังนี้


    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงดำรงพระยศ
    กรมพระ ทรงเป็นอธิบดีในการตรวจแบบฉบับพระไตรปิฎก

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศ
    กรมหมื่น และสมเด็จพระสังฆราช (สา) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นรองอธิบดีจัดการทั้งปวง

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    เป็นแม่กองตรวจพระวินัยปิฎก

    พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ
    เป็นแม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎก

    พระพรหมมุนี (เหมือน) วัดบรมนิวาส,
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง)
    ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลก วัดราชบุรณะ,
    พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย) วัดเสนาสนาราม และ
    สมเด็จพระวันรัต (ฑิต) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี วัดมหาธาตุ
    เป็นแม่กองตรวจพระสุตตันตปิฎก

    พระพิมลธรรม (อ้น) วัดพระเชตุพนฯ และ
    สมเด็จพระวันรัต (แดง) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม วัดสุทัศน์
    เป็นแม่กองตรวจพระอภิธรรมปิฎก


    [​IMG]

    พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้มีจำนวน ๑,๐๐๐ จบๆ ละ ๓๙ เล่ม
    พระราชทานพระราชทรัพย์ในการจัดพิมพ์ประมาณ ๒,๐๐๐ ชั่ง (๒๗)
    นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือ
    และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจดจารึกพระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยด้วย
    เพราะก่อนแต่นี้ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการจดจารึกพระธรรมเป็นภาษาบาลีหรือภาษาไทย
    ล้วนนิยมจดจารึกด้วยอักษรขอมทั้งนั้น

    การจัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ทันฉลองในการทรงบำเพ็ญ
    พระราชกุศลสมโภชสิริราชสมบัติบรรจบครบ ๒๕ ปี ตามพระราชประสงค์

    พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    พระราชทานไปไว้ตามพระอารามหลวงวัดละจบ
    นอกนั้นก็พระราชทานแก่พระสงฆ์และคฤหัสถ์ที่มีหน้าที่ในการตรวจชำระและจัดพิมพ์
    ส่วนที่เหลือก็พระราชทานพระบรมราชานุญาต
    ให้จำหน่ายแก่ผู้ที่ประสงค์จะสร้างถวายวัด หรือสถานศึกษา ในราคาพอสมควร
    ปรากฏว่าพระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนี้
    หมดฉบับสำหรับจำหน่ายภายในเวลาเพียง ๒ ปี

    เมื่อข่าวการพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้แพร่หลายไป
    ปรากฏว่ารัฐบาลและสถานศึกษานานาประเทศ พากันตื่นเต้นสนใจ
    และขอพระราชทานมาเป็นจำนวนมาก ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    พระราชทานให้ตามประสงค์ เป็นเหตุให้พระไตรปิฎกชุดนี้แพร่หลาย
    เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตลอดมาจนบัดนี้

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕


    โปรดเกล้าฯ สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ

    ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเพิ่มอิสริยยศเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
    ให้พิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อนๆ มา

    คือทรงสถาปนาเลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
    มีนิตยภัตรเดือนละ ๑๑ ตำลึง มีถานานุกรมได้ ๑๒ รูป
    มากกว่าสมเด็จพระราชาคณะตำแหน่งอื่นๆ
    (ซึ่งมีนิตยภัตร ๖ ตำลึงบ้าง ๗ ตำลึงบ้าง ๑๐ ตำลึงบ้าง
    และมีถานานุกรมได้ ๘ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้าง)
    เพื่อเป็นการเฉลิมพระราชศรัทธาปสาทะที่ได้ทรงมีในเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ
    ที่ทรงยกย่องเป็น “อรรคมหาคารวสถาน”
    โดยฐานที่ได้ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในคราวทรงผนวช
    และเรียบเรียงหนังสือธรรมวินัยให้ได้ทรงศึกษาเป็นอันมาก

    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นับเป็นพระมหาเถระรูปที่ ๒
    ได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
    อันเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
    ตั้งแต่ขณะที่ยังไม่เป็นสมเด็จพระสังฆราช
    นับได้ว่าเป็นการพระราชทานเกียรติยศอย่างสูงเป็นกรณีพิเศษ

    ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๕ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    องค์สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชรา
    พระชนมายุ ๘๓ พรรษา แต่เป็นคราวที่ไม่สะดวกในทางราชการ
    พระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้น
    ต้องประดิษฐานไว้ ณ พระตำหนักเดิมอันเป็นที่ประทับนานถึง ๘ ปี กับ ๓ เดือน
    จึงได้ถวายพระเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    พระรูปหล่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
    ซึ่งหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อน ในท่านั่งแสดงพระธรรมเทศนา
    ประดิษฐานด้านหน้าปาสาณเจดีย์ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม



    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ (พุทธศักราช ๒๔๓๖) นี้
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขึ้นเป็น
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
    นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    อันเป็นปีที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษาพอดี

    การสถาปนาครั้งนี้เรียกว่า “สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ พระราชทานมุทธาภิเศก
    เลื่อนตำแหน่งสมณถานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
    มีนามตามจารึกในสุพรรณบัตรตามเดิม”
    คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ฯลฯ มีสำเนาประกาศทรงสถาปนาดังนี้


    คำประกาศ

    “ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๖ พรรษา
    ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม อุรคสังวัจฉร กรรติกมาศ กาฬปักษ์ ฉัฏฐมีดิถี พุฒวาร
    สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ พฤศจิกายนมาศ เอกุณติงสติม
    มาสาหคุณประเภท ปริเฉทกาลกำหนด

    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงพระราชดำริห์ว่า พระสงฆ์ซึ่งดำรงสมณคุณ
    สมควรจะเลื่อนอิศริยยศในสมณศักดิ์มีอยู่หลายองค์
    กาลบัดนี้ก็เป็นเวลาใกล้การมหามงคลราชพิธีรัชฎาภิเศก
    ควรจะสถาปนาอิศริยยศพระสงฆ์ที่ควรจะสถาปนาขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ตามตำแหน่ง
    เมื่อพระสงฆ์ซึ่งทรงสมณคุณได้รับอิศริยศักดิโดยสมควรแก่คุณานุรูปเช่นนั้นแล้ว
    แลมาสู่สงฆสมาคม ณ พระราชพิธีสถาน ก็จะเป็นการมงคลอันอุดมยิ่ง
    ทั้งจะเป็นการเพิ่มภูลพระเกียรติยศพระเกียรติคุณให้ไพโรจน์ชัชวาลย์ด้วย
    จึงทรงพระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ
    ประกอบด้วยคุณธรรมอนันตโกศล วิมลปฏิภาณ ญาณปรีชา
    รอบรู้พระปริยัติธรรม เป็นเอกอรรคบุรุษ แลดำเนินในสัมมาปฏิบัติดำรงคุณธรรม
    อันได้แจ้งอยู่ในประกาศเลื่อนตำแหน่งแต่ก่อนโดยพิศดาร
    จึงได้ทรงสถาปนาให้มีอิศริยศักดิพิเศษยิ่งกว่าสมเด็จพระราชาคณะ
    ซึ่งเป็นเจ้าคณะใหญ่โดยสามัญแล้ว
    บัดนี้พระมหาเถระซึ่งมีคุณแลไวยแลอิศริยศักดิเปนชั้นเดียวกันก็ล่วงลับไปสิ้นแล้ว
    ยังเหลืออยู่แต่พระองค์เดียวเป็นที่เจริญพระราชศรัทธา
    แลเปนอรรคมหาคารวะสถานยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
    ทั้งเจริญด้วยชนมายุกาลรัตตัญญูภาวคุณเป็นพระมหาเถระในสงฆ์
    สมควรที่จะดำรงสมณถานันดรศักดิ์ ที่สมเด็จพระสังฆราช
    ให้ปรากฏเกียรติยศเกียรติคุณสืบไปสิ้นกาลนาน
    แลจะได้เป็นที่สักการบูชาแห่งพุทธสาสนิกบริสัช
    ทั้งคฤหัสถ์แลบรรพชิตทั้งปวงทั่วไป

    จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาท
    ดำรัสสั่งให้สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
    พระราชทานมุทธาภิเศก เลื่อนตำแหน่งสมณถานันดรศักดิ์ขึ้นเปน
    สมเด็จพระสังฆราช มีนามตามจารึกในสุพรรณบัตรตามเดิมว่า

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง มหาสังฆปรินายก
    ตรีปิฎกกลากุสโลภาศ ปรมินทรมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์
    ปุสสเทวาภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตมสาสนโสภณ วิมลศีลสมาจารวัตร
    พุทธสาสนบริสัชคารวะสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลยคัมภีรญาณสุนทร
    มหาอุดรคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี
    สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร
    พระอารามหลวง เป็นประธานในสมณะมณฑลทั่วพระราชอาณาเขตร
    แลดำรงที่เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือด้วย


    พระราชทานนิตยภัตรเพิ่มขึ้นเปนราคาเดือนละ ๑๒ ตำลึง
    มีอิศริยยศถานานุศักดิ์ ควรตั้งถานานุกรมได้ ๑๖ รูป คือ

    พระครูปลัดสัมพิพัฒนศีลาจารย์ ญาณวิมล สกลคณิศร อุดรสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต
    สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร พระอารามหลวง

    พระครูปลัดกลาง มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑

    พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์ สังฆอิศริยาลังการ วิจารณกิจโกศล
    วิมลสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร
    พระอารามหลวง พระครูปลัดขวา มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑

    พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์ วิจารโณภาศภาคยคุณ สุนทรสังฆานุคุติ
    วิสุทธิสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต สถิตย์ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมารามวรวิหาร
    พระอารามหลวง

    พระครูปลัดซ้าย มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑
    พระครูธรรมกถาสุนทร มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๒ ตำลึง ๑
    พระครูวินัยกรณ์โสภณ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๒ ตำลึง ๑
    พระครูพรหมวิหาร มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑
    พระครูญาณวิสุทธิ มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑
    พระครูวินัยธร ๑
    พระครูวินัยธรรม ๑
    พระครูเมธังกร ๑
    พระครูวรวงศา ๑
    พระครูธรรมราต ๑
    พระครูธรรมรูจี ๑
    พระครูสังฆวิจารณ์ ๑
    พระครูสมุห์ ๑
    พระครูใบฎีกา ๑

    รวม ๑๖ รูป เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาภิยโยภาพปรากฏสิ้นกาลนาน
    ขออาราธนาให้รับธุระพระพุทธสาสนา
    เปนภาระสั่งสอนแลระงับอธิกรณ์พระสงฆ์สามเณรในคณะแลคณานุคณะ
    ในสยามรัฏฐิกสงฆมณฑลทั่วไป ให้ทวียิ่งขึ้นตามสมควรแก่กำลังแลอิศริยยศ
    ซึ่งพระราชทานนี้”
    *

    ในการทรงสถาปนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งนี้
    ไม่ได้พระราชทานพระสุพรรณบัตรใหม่
    เป็นแต่โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระสุพรรณบัตรครั้งเป็น
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
    มาตั้งสมโภชที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    พระราชทานแต่ใบกำกับพระสุพรรณบัตรใหม่เท่านั้น

    ในคราวเดียวกันนี้ ได้พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่น เป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
    และพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร
    เป็นเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุตติกนิกายด้วย


    งานพระนิพนธ์

    งานพระนิพนธ์ของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย
    ส่วนใหญ่เป็นงานแปลพระสูตร หนังสือเทศนา และเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
    พระนิพนธ์ต่างๆ ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น ถือกันว่าเป็นงานชั้นครู
    ทั้งในด้านเนื้อหา สำนวน และแบบแผนในทางภาษา โดยเฉพาะพระนิพนธ์เทศนา
    มีอยู่เป็นอันมากที่ใช้เป็นแบบอย่างกันมาตั้งแต่ครั้งกระโน้นจนถึงปัจจุบัน

    สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า

    “แท้จริง บรรดาเทศนาทั้งหลายของสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์นั้น
    พวกบัณฑิตย่อมนับถือกันว่า เป็นหนังสือแต่งดีอย่างเอกมาแต่ในรัชกาลที่ ๔
    ถือกันว่าควรเป็นแบบอย่างทั้งในทางถ้อยคำและในทางปฏิภาณโวหาร
    เป็นของที่ชอบอยู่ทั่วกัน”


    พระนิพนธ์ต่างๆ เหล่านี้ หากได้มีการรวบรวมไว้ให้ครบถ้วน
    ก็จักเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในทางพระศาสนาและสารคดีธรรมเป็นอย่างยิ่ง
    เท่าที่รวบรวมรายชื่อได้ในคราวนี้ มีดังนี้

    ประเภทพระสูตรแปล

    ๑. กาลามสูตร
    ๒. จักกวัตติสูตร
    ๓. จูฬตัณหาสังขยสูตร
    ๔. ทาฬิททิยสูตร
    ๕. ทีฆชาณุโกฬิยปุตตสูตร
    ๖. ธนัญชานีสูตร
    ๗. ธัมมเจติยสูตร
    ๘. ปราภวสูตร
    ๙. ปาสาทิกสูตร
    ๑๐. มหาธัมมสมาทานสูตร
    ๑๑. โลกธัมมสูตร
    ๑๒. สฬายตนวิภังคสูตร
    ๑๓. สัมมทานิยสูตร
    ๑๔. สุภสูตร
    ๑๕. เสขปฏิปทาสูตร
    ๑๖. อนาถปิณฑโกวาทสูตร
    ๑๗. อภิณหปัจจเวกขณปาฐะ
    ๑๘. อภิปปฏิสาสสูตร
    ๑๙. อากังเขยยสูตร
    ๒๐. อายาจนสูตร
    ๒๑. มหาสติปัฏฐานสูตร

    ประเภทเทศนา

    ๑. ปฐมสมโพธิย่อ (๓ กัณฑ์จบ)
    ๒. เรื่องจาตุรงคสันนิบาตและโอวาทปาติโมกข์
    ๓. ปฐมสมโพธิ (แบบพิสดาร ๑๐ กัณฑ์จบ)
    เรื่องนี้ใช้เป็นหนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี-เอก อยู่ในปัจจุบัน
    ๔. อนุปุพพิกถา (๕ กัณฑ์จบ)
    ๕. สาราทานปริยาย
    ๖. ธัมมฐิตัญญาณกถา
    ๗. ฉฟังคุเปกขากถา
    ๘. กัสสปสังยุตตกถา
    ๙. กฐินกถา
    ๑๐. วัสสูปนายิกกถา
    ๑๑. เทศนาจตุราริยสัจจกถา (๔ กัณฑ์จบ)
    ๑๒. ธุตังคกถา
    ๑๓. สัปปุริสธรรม ๗ ประการ
    ๑๔. อัฎฐักขณกถา
    ๑๕. อัฏฐมลกถา
    ๑๖. อัปปมัญญาวิภังคกถา
    ๑๗. จตุรารักขกรรมฐานกถา
    ๑๘. ธัมมุเทศกถา
    ๑๙. นมัสสนกถา
    ๒๐. ปวรคาถามารโอวาท
    ๒๑. ภัทเทกรัตตคาถา
    ๒๒. รัตตนัตตยปริตร (๓ กัณฑ์จบ)
    ๒๓. สังคหวัตถุและเทวตาพลี
    ๒๔. สรณคมนูปกถา
    ๒๕. สัตตาริยธนกถา
    ๒๖. สัพพสามัญญานุสาสนี
    ๒๗. อุกกัฎฐปฎิปทานุสาสนี
    ๒๘. โสกสัลลหรณปริยาย
    ๒๙. โสฬสปัญหา (๑๘ กัณฑ์จบ)

    ต่างเรื่อง

    ๑. พระภิกขุปาติโมกข์แปลตรงคงตามบทพยัญชนะ
    โดยพระบรมราชานุมัติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ๒. พระภิกขุปาติโมกข์สิกขาบท
    ๓. วิธีบรรพชาอุปสมบทอย่างธรรมยุตติกนิกาย
    ๔. สวดมนต์ฉบับหลวง
    ๕. แปลธัมมปทัฎฐกถา ภาค ๑ (บางเรื่อง)


    รวมพระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่เป็นงานแปลพระสูตร ๒๐ สูตร
    เทศนา ๗๐ กัณฑ์ และพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ดต่างเรื่อง ๕ เรื่อง
    เท่าที่รวบรวมได้ในขณะนี้ เข้าใจว่าคงยังไม่ครบบริบูรณ์
    แต่ก็เป็นจำนวนเกือบ ๑๐๐ เรื่องซึ่งนับว่ามิใช่จำนวนน้อย


    พระกรณียกิจพิเศษ

    สมเด็จพระสังฆราช (สา) ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ถวายพระมงคลวิเสสกถา
    ซึ่งเป็นเทศนาพิเศษอย่างหนึ่ง เริ่มมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๔
    ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ
    และได้ถวายต่อมาในรัชกาลที่ ๕ จนตลอดพระชนมชีพของพระองค์ท่าน

    เทศนาพระมงคลวิเสสกถา (วิเศษกถา) เป็นเทศนาพิเศษอย่างหนึ่ง
    ซึ่งพรรณนาพระราชจรรยาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเพื่อประโยชน์
    จะได้ทรงพระปัจจเวขณ์ (คือพิจารณา) ถึงแล้ว เกิดพระปีติปราโมทย์แล้ว
    ทรงบำเพ็ญราชธรรมนั้นยิ่งๆ เป็นการอุปถัมภ์พระราชจรรยาให้ถาวรไพบูลย์

    พระเถระที่จะรับหน้าที่ถวายพระมงคลวิเสสกถาในครั้งนั้น
    สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เช่นในรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงอาราธนา
    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เป็นผู้ถวาย
    และได้ถวายต่อมาจนถึงในรัชกาลที่ ๕

    เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ได้ทรงอาราธนา
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    แต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศ กรมหมื่น เป็นผู้ถวาย
    และได้ถวายต่อมาจนถึงในรัชกาลที่ ๖

    [​IMG]
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)


    เมื่อสมเด็จพระสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ได้เป็นผู้ถวายต่อมา เป็นต้น

    ในปัจจุบัน การถวายพระมงคลวิเสสกถา เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช
    หรือพระเถระรูปใดรูปหนึ่งที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมอบหมาย

    นอกจากนี้ ยังทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์
    ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    เมื่อคราวเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖

    และทรงเป็นพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์ในการทรงผนวช
    ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้า
    ในพระบรมราชวงศ์จักรีหลายพระองค์


    พระอัธยาศัย

    เกี่ยวกับพระอัธยาศัยส่วนพระองค์นั้นเล่ากันว่า
    ทรงปกครองบริษัทด้วยพระกรุณาอนุเคราะห์
    และยกย่องสหธรรมิกด้วยธรรมและอามิสตามควรแก่คุณานุรูป
    มีพระอัธยาศัยค่อนไปข้างทรงถือพระวินัยละเอียดลออมาก
    หากเกิดความสงสัยในอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
    แม้จะไม่เป็นอาบัติแท้ ก็จะทรงแสดงเสียเพื่อความบริสุทธิ์

    กล่าวได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงเป็นพระมหาเถระ
    ที่เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก และทรงธรรมทางวินัยอย่างแท้จริงพระองค์หนึ่ง
    จึงทรงเป็นที่เคารพสักการะแห่งพุทธบริษัททุกหมู่เหล่าเป็นอย่างยิ่ง
    นับแต่องค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้นตลอดจนคณะสงฆ์และพุทธบริษัททั่วไป

    หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    พระอวสานกาล

    ในตอนปลายแห่งพระชนม์ชีพ
    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ประชวรด้วยพระโรคบิดประกอบกับพระโรคชรา
    สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๒
    ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๒ ปีกุน
    ในรัชกาลที่ ๕ นับพระชนมายุได้ ๘๗ พรรษา โดยปี

    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๕ ปี ๑ เดือน ๑๓ วัน
    ทรงครอง วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสาราม ๓๔ ปี

    หลังจากที่ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) สิ้นพระชนม์แล้ว
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยจนตลอดรัชกาล
    จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่ถึง ๑๑ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๒-๒๔๕๓)

    เช่นเดียวกับในครั้งรัชกาลที่ ๔
    หลังจากที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    ซึ่งทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือ สิ้นพระชนม์แล้ว
    ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชจนตลอดรัชกาลเช่นเดียวกัน
    จึงว่างเว้นสมเด็จพระสังฆราชอยู่เป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี

    นำให้เข้าใจว่า แต่โบราณมานั้น พระเถระที่จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น
    เฉพาะที่เป็นที่ทรงเคารพนับถือเป็นพิเศษ โดยฐานเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
    หรือพระราชกรรมวาจาจารย์ หรือพระอาจารย์เท่านั้น

    ดังนั้น ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    ซึ่งทรงเคารพนับถือมากโดยฐานทางเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ สิ้นพระชนม์แล้ว
    จึงมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีก

    และในรัชกาลที่ ๕
    เมื่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    พระราชอุปัธยาจารย์
    และ สมเด็จพระสังฆราช (สา) พระราชกรรมวาจาจารย์
    สิ้นพระชนม์แล้ว ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใด
    เป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเช่นกันจนตลอดรัชกาล

    [​IMG]
    พระโกศพระศพสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
    ประดิษฐาน ณ พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม



    การพระศพ

    การพระศพ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) นั้น
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ได้พระราชทานพระเกียรติยศเป็นพิเศษ
    มาจนตั้งแต่ต้นสิ้นพระชนม์จนถึงการขึ้นพระเมรุ
    โดยฐานที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นที่ทรงเคารพอย่างยิ่ง
    การพระศพตั้งแต่ต้นจนถึงการพระเมรุพระราชทานเพลิงศพนั้น
    ได้มีแจ้งในการแถลงการณ์พระสงฆ์ ดังนี้

    นับตั้งแต่ได้เลื่อนเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วมาได้ ๖ ปีเศษ
    ประชวรเป็นโรคบิดมาตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒)

    ครั้นต่อมาเป็นพระโรคชรา แพทย์หลวงและแพทย์เชลยศักดิ์
    ได้ประกอบพระโอสถถวาย พระอาการหาคลายไม่
    ถึงวันที่ ๑๑ มกราคม ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) เวลา ๘ ทุ่ม ๒๐ นาที
    สมเด็จพระสังฆราช ก็สิ้นพระชนม์ พระชนม์ได้ ๘๗ พรรษา
    หากคำนวณตามสุริยคติ พระชนม์ได้ ๘๖ กับ ๔ เดือน ๒๑ วัน

    เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๘ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากพระราชวังบางปะอิน ทรงเครื่องขาว
    และโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ที่เป็นอันเตสวาสิก และสัทธิวิหาริก
    ทรงขาวทั่วกัน แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยรถพระที่นั่งมาประทับวัดราชประดิษฐ์
    เสด็จขึ้นบนตำหนักสูง ทรงจุดเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระศพแล้ว
    พระราชทานน้ำสรงแลพระศพ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์กลองชนะแล้ว
    พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการก็ได้สรงน้ำพระศพต่อไปแล้ว
    เจ้าพนักงานแต่งพระศพ เชิญพระศพลงในพระรองใน

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสวมชฎาพระราชทานแล้วยกรองในพระศพ
    ลงมาที่ตำหนักใหญ่ เชิญขึ้นประดิษฐานเหนือแว่นฟ้า ๒ ชั้น
    ประกอบพระโกศกุดั่นน้อย ห้อยเศวตฉัตร ๓ ชั้น เบื้องบนแวดล้อมด้วยเครื่องสูง
    แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงมาประทับตำหนักนั้น
    ทรงจุดเทียนนมัสการเครื่องทองน้อยแล้ว ทรงทอดผ้าไตร ๓๐ ผ้าขาว ๖๐ พับ
    พระสงฆ์สดับปรณ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ

    พระราชทานเครื่องประโคมพระศพ สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง
    กลองชนะแดง ๑๐ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑
    แลพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมตามพระเกียรติยศ

    เมื่อสิ้นพระชนม์ล่วงมาครบ ๗ วัน ได้มีการพระราชทานกุศลเป็นส่วนของหลวง
    มีพระสงฆ์สวดมนต์ฉันเช้า แลเทศนาตามธรรมเนียม
    และต่อมาทุกวัน ครบ ๗ วัน พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นศิษย์ได้ผลัดเปลี่ยน
    มีการบำเพ็ญพระกุศลทุกคราวเป็นลำดับมาจนครบถึง ๑๐๐ วัน

    ครั้นถึงวันที่ ๒๑ เมษายน ร.ศ. ๑๑๙ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปที่ตำหนักไว้พระศพ
    ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลศราทธพรต มีพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
    พระสงฆ์ ๒๐ รูป สวดสรภัญคาถา เสร็จแล้วเสด็จกลับ

    เมื่อพระราชทานเพลิงศพ และพระศพใหญ่เสร็จแล้ว
    ทรงพระราชดำริเห็นสมควร ที่จะพระราชทานพระเกียรติยศ
    สมเด็จพระสังฆราชให้เป็นพิเศษส่วนหนึ่ง
    จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดคฤห์ เป็นที่ประทับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้น
    ที่ยกพื้นระหว่างพระเมรุมณฑปและพระเมรุพิมานแต่ก่อนนั้น
    และจัดการปลี่ยนแปลงภายในพระเมรุมณฑปดาดเพดานด้วยผ้าขาว
    ม่านผ้าขาวลายดอกไม้เป็นต้น แล้วจัดชั้นตั้งแว่นฟ้า ๓ ชั้น
    มีฐานคูหาและฐานเบี่ยง สำหรับประดิษฐานในพระเมรุมณฑป

    แลโปรดเกล้าฯ ให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์
    ซึ่งทรงผนวชและพระราชาคณะผู้ใหญ่
    ตั้งเครื่องบูชากระเบื้องฝรั่ง (คือเครื่องกระหลาป๋า)
    ที่ม้าหมู่ ๔ ทิศ แลที่ช่องคฤห์ ๕ ช่อง
    แลถอนฉัตรทองเป็นต้นออก คงมีแต่ฉัตรเบญจรงค์

    วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) เวลา ๑๐ ทุ่ม ๒๐ นาที
    เจ้าพนักงานจัดตั้งกระบวนแห่พระศพสมเด็จพระสังฆราช
    แต่หน้าวัดราชประดิษฐ์ เดินกระบวนแห่ไปหยุดหน้าวัดพระเชตุพน
    เชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนราชรถ ประกอบพระโกศกุดั่นใหญ่
    มีพุ่มข้าวบิณฑ์ห้อยเฟื่องเศวตฉัตรคันดาล ๓ ชั้น กั้นพระศพเป็นพระเกียรติยศ

    รุ่งขึ้นวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ เวลาย่ำรุ่งเศษ
    เจ้าพนักงานจัดตั้งกระบวนแห่พระศพต่อไป
    กระบวนเคลื่อนแห่อยู่หน้าแล้วถุงเสลี่ยงกง
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ดูพระอภิธรรมและโยงพระศพราชรถ
    กระบวนหลังมีศิษย์เชิญเครื่องยศตาม และ พระครูฐานานุกรม ในพระศพ
    แลพวกข้าราชการราษฎรที่เป็นศิษยานุศิษย์นุ่งขาว
    แล้วถึงพระสงฆ์ดำรงสมณศักด์มี หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต
    นั่งเสลี่ยงป่ากั้นกลด ถัดมา พระพิมลธรรม
    พระธรรมวโรดม นั่งแคร่กั้นสัปทนโหมด
    แลพระราชาคณะนั่งแคร่กั้นสัปทนแดง
    รวม ๓๐ คู่ และพระครูบานานุกรมเปรียญพระศพด้วย
    เสร็จแล้ว รอเสด็จพระราชดำเนินอยู่

    เวลาเช้า ๒ โมง ๒๐ นาที
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเต็มยศทหารมหาดเล็ก
    เสด็จทรงรถพระที่นั่ง แต่พระบรมมหาราชวัง
    ไปประทับพลับพลายกริมถนนสามไชย ตรงป้อมเผด็จดัสกร
    ทอดพระเนตรกระบวนแห่ เจ้าพนักงานเดินขบวนไปตามถนนสนามไชย
    ผ่านหน้าพระที่นั่งไป เมื่อสุดกระบวนพระสงฆ์แล้ว
    เสด็จทรงรถพระที่นั่งไปประทับบนพระเมรุ
    เจ้าพนักงานเชิญโกศพระศพขึ้นพระประดิษฐาน
    แล้วเสด็จประทับที่คฤห์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสดับปกรณ์
    เสร็จแล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง

    เวลาเช้า ๕ โมงเศษ เมื่อเสด็จกลับแล้วโปรดเกล้าฯ
    ให้พวกศิษย์ทอดผ้าสดัปปกรณ์ และมีเทศน์ต่อไป
    เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเช่นวานนี้
    เสด็จทรงรถพระที่นั่งแต่พระบรมมหาราชวัง ไปประทับที่พระเมรุ
    ทรงทอดผ้าสดับปกรณ์ พระสงฆ์สดับปกรณ์แล้ว
    ทรงจุดเพลิงพระราชทานเพลิงพระศพ แล้วเสด็จกลับประทับในพระเมรุพิมาน
    พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการฝ่ายในฝ่ายหน้า
    แลพระสงฆ์กับราษฎรที่เป็นศิษย์ถวายพระเพลิงต่อไป
    แล้วเสด็จมาประทับพลับพลาทอดพระเนตรการเล่นต่างๆ เวลา ๒ ยามเศษเสด็จกลับ

    วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๒ โมง ๑๕ นาที
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงรถพระที่นั่งแต่พระบรมมหาราชวัง
    ไปประทับที่คต โปรดเกล้าฯ ให้พวกญาติและศิษย์เดินสามหาบครบ ๓ รอบ
    แล้วโปรยเงิน แล้วเสด็จขึ้นไปประทับที่พระเมรุ
    ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ แล้วทรงโปรยเงิน
    และทรงเก็บอัฐิบรรจุลงในพระเจดีย์ศิลาแล้ว
    พระราชทานพระทนต์สมเด็จพระสังฆราชให้พระบรมวงศานุวงศ์
    แลข้าราชผู้ใหญ่ที่เป็นศิษย์ ส่วนพระอัฐิที่เหลือจากนั้น
    โปรดเกล้าฯให้พระสงฆ์และคฤหัสถ์ ที่เป็นศิษย์และญาติวงศ์ไปเก็บไว้สักการบูชา
    ส่วนพระอังคารนั้น เจ้าพนักงานเชิญลงไปในพระลุ้ง
    เสร็จแล้วเสด็จไปประทับคฤห์ ทรงประเคนอาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์
    ครั้นรับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานเชิญพระอัฐิเจดีย์มาตั้งบนม้าหมู่
    จึงทอดผ้าสดับปกรณ์พระอัฐิ
    เสร็จการสดับปกรณ์เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง

    เวลา ๓ โมง ๔๕ นาที เจ้าพนักงานจัดตั้งกระบวนแห่พระอัฐิแลพระอังคาร
    มีพระสงฆ์สมณศักดิ์แลพระอันดับในวัดราชประดิษฐ์แลวัดอื่นบ้าง
    พวกคฤหัสถ์ที่เป็นศิษย์บ้าง ตามไปส่งที่วัดราชประดิษฐ์
    เป็นการเสร็จการพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราชแต่เท่านี้

    การพระราชกุศล นับเนื่องในสัตตมวาร
    แลการบรรจุพระอังคารสมเด็จพระสังฆราช
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้เจ้าพนักงานจัดการพระราชกุศล ได้เชิญอัฐิเจดีย์ศิลาทอง
    แลลุ้งพระอังคาร บนม้าหมู่เหนือแท่นภายใต้เศวตฉัตร ๓ ชั้น ในพระวิหาร
    แล้วจัดตั้งอาสนะสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์พร้อมเสร็จ

    วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) เวลาเช้า
    พระสงฆ์ ๑๐ รูปรับประราชทานแล้วมีสดับปกรณ์รายร้อยอีก
    เวลาบ่ายพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว
    โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา
    เสด็จไปทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๑๐ รูป สดับปกรณ์แลถวายอนุโมทนาแล้ว
    เจ้าพนักงานเชิญพระอังคารไปสู่พระปรางค์เขมร ซึ่งตั้งอยู่หลังเจดีย์ด้านใต้
    สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช
    แต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จกรมพระ
    เสด็จไปทรงบรรจุพระอังคาร บรรจุพระอังคารแล้วมีเทศนา ๑ กัณฑ์
    เป็นเสร็จการพระราชกุศลแต่เท่านี้
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    ด้านหน้าประตูทางเข้าพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์ฯ


    ประวัติและความสำคัญของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

    วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
    เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
    และ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์

    ตามโบราณพระราชประเพณี และทรงรับเข้าอยู่ใน
    พระบรมราชูปถัมภ์ของพระกษัตริย์ทุกพระองค์สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

    (ตามธรรมเนียมโบราณพระราชประเพณีนั้นมีว่า
    ในราชธานีหรือเมืองหลวงจะต้องมีวัดสำคัญประจำ ๓ วัดด้วยกัน
    คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบุรณะ และวัดราชประดิษฐ์
    เช่นที่สุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก และพระนครศรีอยุธยา

    แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
    กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ
    ให้สถาปนาวัดสลักเป็นวัดนิพพานาราม และเปลี่ยนเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์

    แต่ต่อมามีพระราชดำริว่า ในกรุงเทพฯ ยังไม่มีวัดมหาธาตุ
    จึงเปลี่ยนชื่อวัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นวัดมหาธาตุ

    และพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์
    พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
    พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงบูรณะวัดเลียบ ต่อมาได้นามว่า วัดราชบุรณะ

    ขณะนั้นกรุงรัตนโกสินทร์ยังขาดอยู่เพียงวัดเดียวคือวัดราชประดิษฐ์
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
    นับได้ว่า วัดราชประดิษฐเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญยิ่ง
    พระอารามหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์)


    [​IMG]
    พระวิหารหลวง


    พระราชประสงค์อีกประการหนึ่งในการสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯ นั้นขึ้น
    ก็เพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ
    เนื่องจากครั้งยังทรงผนวชอยู่ ทรงเป็นหัวหน้านำพระสงฆ์ชำระข้อปฏิบัติ
    ก่อตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้น
    รวมทั้งทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างวัดธรรมยุติกนิกายขึ้น
    ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระองค์และข้าราชบริพาร
    ที่ต้องการทำบุญกับวัดธรรมยุติกนิกาย ไม่ต้องเดินทางไปไกลนัก

    แต่ก่อนหากต้องการจะไปทำบุญกับพระสงฆ์ธรรมยุตต้องไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร
    ซึ่งเมื่อก่อนนั้นการเดินทางจากพระบรมมหาราชวังไปวัดบวรนิเวศวิหาร
    จะต้องลงเรือที่ท่าราชวรดิษฐ์เข้าไปทางคลองรอบกรุง นับว่าไปลำบาก

    พระอารามนี้จึงนับเป็นพระอารามแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต
    เพราะวัดธรรมยุตก่อนๆ นั้น ได้ดัดแปลงมาจากวัดมหานิกายเดิมทั้งนั้น
    วัดราชประดิษฐ์ฯ จึงเป็นเสมือนวัดต้นแบบของคณะธรรมยุติกนิกาย
    ที่มีอยู่ในพุทธอาณาจักรบนแผ่นดินไทยนับแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา


    วัดราชประดิษฐ์ฯ สร้างขึ้นในที่ดินที่เคยเป็นสวนกาแฟอยู่ริมวังของหลวง
    โดยก่อสร้างใน พ.ศ. ๒๔๐๗ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินจากกรมพระนครบาล
    เมื่อทรงได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์แล้ว จึงได้ทรงประกาศสร้างวัดธรรมยุตขึ้น
    เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ และทรงพระราชทานนามวัดไว้ตั้งแต่กำลังทำการก่อสร้างว่า
    “วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม”

    มีพระราชประสงค์จะถมพื้นที่ให้สูงขึ้น จึงทรงใช้ไหกระเทียมที่นำมาจากเมืองจีน
    หรือเศษเครื่องกระเบื้องถ้วย ชาม ที่แตกหักมาถมที่แทนดินและทราย
    ที่อาจจะทำให้พื้นทรุดตัวในภายหลังได้
    (วัสดุดังกล่าวมีเนื้อแกร่ง ไม่ผุ ไม่หดตัว และมีน้ำหนักเบาจึงเท่ากับการใช้เสาเข็ม
    ที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ในปัจจุบันนั่นเอง)

    [​IMG]
    พระพุทธสิหังคปฏิมากร พระประธานในพระวิหารหลวง


    วิธีการหาไหกระเทียม และเครื่องถ้วยกระเบื้องทั้งหลายเป็นจำนวนมากๆ นั้น
    พระองค์ทรงใช้วิธีออกประกาศบอกบุญเรี่ยไร
    ให้ประชาชนนำไหกระเทียมมาร่วมพระราชกุศล
    โดยเก็บค่าผ่านประตูเป็นไหกระเทียม ไหขนาดเล็ก ขวด ถ้ำชา
    และเครื่องกระเบื้องอื่นๆ และทรงอนุญาตให้ประชาชนไปดูการนำไหลงฝัง
    เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าพระองค์จะทรงใช้ไหกระเทียมเหล่านั้น
    บรรจุเงินทองฝังไว้ในวัด

    เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้เปลี่ยนเป็น “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม”
    เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลา
    ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลี และภาษาไทย ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์รวม ๑๐ หลัก
    ปรากฏในประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เรื่องประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ให้ถูก

    อนึ่ง ในอดีตได้มีผู้เรียกวัดราชประดิษฐ์ว่า วัดราชบัณฑิต บ้าง
    หรือ วัดทรงประดิษฐ์ บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องกับที่พระราชทานนามไว้
    จึงทรงกำชับว่า ให้เรียกชื่อวัดว่า “วัดราชประดิษฐ์”
    หรือ “วัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสีมาราม”

    ถึงกับทรงออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า
    ต่อไปถ้ามีผู้อุตริเรียกชื่อวัดผิดหรือเขียนชื่อวัดไม่ตรงกับที่ทรงตั้งชื่อไว้คือ
    “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม”
    แล้วให้ปรับผู้นั้นเป็นเงิน ๒ ตำลึง เพื่อเอาเงินมาซื้อทรายโปรย
    ในประกาศฉบับนี้มีข้อความน่าอ่านมาและเป็นฐานในแง่ของประวัติศาสตร์โบราณคดี
    จึงขอคัดลอกนำมาลงให้อ่านทั้งฉบับ ดังนี้

    [​IMG]
    ปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์หินอ่อนทรงลังกาองค์ใหญ่


    • ประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ฯ ให้ถูก

    ณ วันจันทร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก
    มีพระบรมราชโองการบารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท
    ให้ประกาศแก่ข้าทูลฉลองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน
    ผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกหมู่ทุกกรมทุกพนักงาน และพระสงฆ์สามเณร
    ทวยราษฎร์ทั้งปวงในกรุงเทพฯ แลหัวเมืองให้ทราบทั่วกัน
    พระอารามซึ่งทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้จัดซื้อที่
    แล้วทรงสถาปนาสร้างขึ้นในทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง
    พระราชทานนามไว้ว่า วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
    ตามธรรมเนียมโบราณซึ่งเคยมีมาในเมืองใหญ่ๆ ที่ตั้งเป็นกรุงมหานคร
    อย่างเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิษณุโลก และกรุงเก่า
    คือ มีวัดมหาธาตุ วัดราชประดิษฐ์ และวัดราชบุรณะ
    เป็นของสำหรับเมืองทุกเมือง

    และนามชื่อวัดราชประดิษฐ์ในครั้งนี้แต่เดิมเริ่มแรกสร้างก็ได้โปรด
    ให้เขียนในแผ่นกระดาษปักไว้เป็นสำคัญ
    ภายหลังโปรดให้จาฤกชื่อนั้นลงในเสาศิลาติดตามกำแพงนั้นก็มี
    แต่บัดนี้มีผู้เรียกและเขียนลงในหนังสือตามดำริห์ของตนเองว่าวัดราชบัณฑิตบ้าง
    วัดทรงประดิษฐ์บ้าง เปลี่ยนแปลงไปไม่ถูกต้องตามชื่อที่พระราชทานไว้แต่เดิม
    ทำให้เป็นสองอย่างสามอย่างเหมือนขนานชื่อขึ้นใหม่

    เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้สืบต่อไป ห้ามอย่าให้ใคร
    เรียกร้องและกราบบังคมทูลพระกรุณา
    และเขียนลงในหนังสือบัตรหมายในราชการต่างๆ ให้ผิดๆ ไป
    จากชื่อที่พระราชทานไว้นั้นเป็นอันขาด
    ให้ใช้ว่าวัดราชประดิษฐ์ ฤาว่าให้สิ้นชื่อว่า
    วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ให้ยั่งยืนคงอยู่ดังนี้

    ถ้าผู้ใดได้อ่านและฟังคำประกาศนี้แล้วขัดขืนใช้ผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลงไป
    จะให้ปรับไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตรา ๒ ตำลึง
    มาซื้อทรายโปรยในพระอาราม วัดราชประดิษฐ์นั้นแล

    ประกาศมา ณ วันจันทร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก


    [​IMG]
    พระปรางค์ขอม ที่บรรจุพระอังคารของอดีตเจ้าอาวาส


    • ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณมาเป็นเจ้าอาวาส

    หลังจากทรงสร้างเสร็จแล้ว ได้ทรงอาราธนา พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว)
    หรือสามเณรสา ผู้สอบเปรียญ ๙ ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร
    เป็นสามเณรนาคหลวง สายเปรียญธรรมรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์
    จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ปีฉลู
    ทรงกระทำการสมโภชทั้งเจ้าอาวาสและวัดใหม่เป็นเวลา ๓ วัน

    กล่าวกันว่า ที่ทรงเจาะจงอาราธนา พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว)
    มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกปกครองวัดราชประดิษฐ์ ก็เพราะพระสาสนโสภณ
    เป็นศิษย์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดมาก

    เมื่อมีเจ้าอาวาสปกครองวัดเรียบร้อยแล้ว
    หน้าที่ในการทะนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์และบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม
    ก็เป็นอันพันไปจากพระราชภาระ แต่ก็มิได้ทรงทอดทิ้ง
    ยังใฝ่พระทัยในวัดราชประดิษฐ์อยู่เสมอ โดยทรงรับเข้าอยู่ใน
    พระบรมราชูปถัมภ์เป็นพิเศษยิ่งกว่าวัดหลวงอื่นๆ ตลอดรัชสมัยของพระองค์

    ดังความตอนหนึ่งที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
    ทรงเล่าถึงพระราชประเพณีถวายพุ่มพระในวัดต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไว้ว่า

    “วัดราชประดิษฐ์นั้น ในพระบรมราชาธิบายว่าตั้งแต่สร้างวัด
    ทูลกระหม่อมก็เสด็จไปถวายพุ่มพระทั้งวัดทุกปี ดูทำนองอย่างเป็นเจ้าของวัด
    ที่เสด็จไปถวายพุ่มพระวัดราชบพิธทั้งวัดในรัชกาลที่ ๕
    ก็ทำตามอย่างวัดราชประดิษฐ์ นั่นเอง...”


    เมื่อการสร้าง วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม สำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์
    ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทุกประการ
    คือทรงซื้อที่สร้างวัดด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
    เริ่มสร้างวัดราชประดิษฐ์ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๗
    เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้ประกอบพระราชพิธีผูกพัทธสีมา
    ในวันที่ ๗-๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๐๘

    และทรงอาราธนาศิษย์เอกผู้ทรงคุณวุฒิ คือ พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว)
    พร้อมทั้งพระอนุจรอีก ๒๐ รูป มาเป็นเจ้าอาวาสและพระลูกวัด

    [​IMG]
    ตุ๊กตาอับเฉาจีนด้านข้างพระวิหารหลวง


    ต่อจากนั้น ก็ทรงทะนุบำรุงรับวัดราชประดิษฐ์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
    เป็นพิเศษยิ่งกว่าวัดหลวงอื่นๆ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์
    วัดราชประดิษฐ์ก็เจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ

    วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร นั้น
    เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นโรงเรือนที่อยู่อาศัยของข้าราชการ
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    ทรงขอซื้อที่เพื่อสร้างวัดธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗
    เพื่อสำหรับเจ้านาย ข้าราชการ ฝ่ายหน้า-ใน ได้บำเพ็ญกุศลสะดวกขึ้น
    เนื่องเพราะตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    “หอไตร” ปราสาทยอดปรางค์แบบขอม


    • การปฏิสังขรณ์พระอารามในสมัยรัชกาลที่ ๕

    เมื่อสิ้นสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว
    ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั่วทั้งพระอาราม
    เสร็จแล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ ๔
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ
    บรรจุลงในกล่องศิลาแล้วนำมาประดิษฐานไว้ภายใน พระพุทธอาสน์
    ณ พระวิหารหลวง
    ตามพระกระแสรับสั่งของพระองค์

    การอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนๆ
    ไปประดิษฐานในที่อันสมควรนั้น
    ก็เพื่อป้องกันมิให้พระบรมอัฐิเหล่านั้นต้องกระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ
    เพราะว่าในขณะที่พระราชโอรส และพระราชธิดา
    ผู้ที่ทรงรับแบ่งพระบรมอัฐินั้นไปรักษาไว้ ขณะยังทรงพระชนม์อยู่ก็ไม่เป็นไร

    แต่ถ้าสิ้นพระชนม์ไปแล้วจะขาดผู้รักษาต่อ
    ด้วยผู้ที่จะมารับมรดกจะนิยมศรัทธาในพระบรมอัฐินั้นๆ หรือไม่ ก็ไม่ทราบได้

    อนึ่ง การประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวไว้เป็นที่เป็นทางนั้น
    ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการบูชา
    หรือบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายตามอัธยาศัยได้สะดวกอีกด้วย

    ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว
    จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมพระบรมอัฐิ
    ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนๆ จำนวน ๓ รัชกาล
    บรรจุลงในกล่องศิลาแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ภายใน พระพุทธอาสน์
    ของพระประธานในพระอุโบสถวัดสำคัญประจำรัชกาล
    ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์นั้นทรงสร้างหรือบูรณะไว้
    คือ

    พระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑
    ประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

    พระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    ประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณราชวราราม

    พระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    ประดิษฐานไว้ที่วัดราชโอรสาราม

    ส่วนพระบรมอัฐิในพระองค์นั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะให้บรรจุไว้
    ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระวิหารหลวง
    ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ที่พระองค์ได้ทรงสร้างขึ้นดังกล่าวแล้ว


    [​IMG]
    “หอพระจอม” ปราสาทยอดปรางค์แบบขอม


    • การสร้างปราสาทยอดปรางค์แบบขอม

    ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทยอดปรางค์แบบขอมขึ้น ๒ หลัง
    ตั้งอยู่บนลานไพที ด้านตะวันออกและด้านตะวันตกของพระวิหาร
    ปราสาททั้งสองหลังนี้ มีรูปร่างส่วนสัดคล้ายกันมากและมีขนาดเท่าๆ กัน

    เดิมที ที่ตรงที่สร้างปราสาททั้งสองหลังนี้ เป็นเรือนไม้
    สร้างในคราวเดียวกับการสร้างวัด
    ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ เรือนไม้ทั้งสองก็ชำรุดทรุดโทรมลง
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ
    ให้ช่างกรมศิลปากรรื้อสร้างใหม่เป็นปราสาทยอดปราค์แบบขอม
    สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยลวดลายสวยงามมาก
    ผู้ออกแบบปราสาทยอดปรางค์แบบขอม
    กล่าวกันว่าเป็นฝีมือของ พระยาจินดารังสรรค์
    ผู้เคยออกแบบและสร้างอนุสาวรีย์รูปปรางค์ ๓ ยอด แบบขอม
    ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มาก่อน
    ในส่วนรายละเอียดของปราสาททั้งสองหลังนั้น มีดังนี้

    หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออก หน้าบันของซุ้มประดับด้วยรูปปั้นปูนนูน
    เป็นภาพพระพุทธประวัติ ปางประวัติ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน
    ภายในปราสาทหลังนี้ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก และคัมภีร์ต่างๆ
    จึงเรียกกันว่า “หอไตร”

    ส่วนหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกนั้น ยอดปรางค์ประดับด้วยพรหมสี่หน้า
    หันไปทางทิศทั้งสี่ หน้าบันของซุ่มประดับภาพปูนปั้นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์
    ตามวรรณคดีพระนารายณ์จะต้องบรรทมอยู่บนหลังพญานาค
    แต่ที่หน้าบันของปราสาทหลังนี้กลับเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหลังมังกร
    เบื้องหลังมีพระลักษมี และเศียรนาคแผ่พังพาน
    ภายในปราสาทใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔
    พระบรมรูปยืนเต็มพระองค์ และขนาดเท่าพระองค์จริง
    จึงเรียกกันว่า “หอพระจอม”

    [​IMG]
    “ประตูเซี่ยวกาง” ตามคตินิยมของจีน


    • ปูชนียวัตถุ-ปูชนียสถานของวัดราชประดิษฐฯ

    วัดราชประดิษฐ์ฯ ถึงแม้จะเป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดเล็ก
    ซึ่งมีเนื้อที่ตั้งวัดอยู่เพียง ๒ ไร่ ๒ งาน กับ ๙๘ ตารางวาเท่านั้น
    แต่ภายในบริเวณวัดได้บรรจุเอาความสวยงามวิจิตรตระการตาเป็นสง่าภาคภูมิ
    ไม่น้อยไปกว่าพระอารามหลวงอื่นๆ ที่มีบริเวณพระอารามใหญ่กว่าเลย

    ดังจะเห็นว่า เมื่อก้าวพ้นประตูวัดทางด้านทิศเหนือซึ่งมีบานประตูเป็นไม้สักสลัก
    เป็นรูป “เซี่ยวกาง” มีลักษณะเป็นนักรบจีนหนวดยาวหน้าตาขึงขัง
    นายทวารบาลตามคตินิยมของจีน กำลังรำง้าวอยู่บนหลังสิงห์โต
    ก็จะเห็น “พระวิหารหลวง” ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นไพที
    ทรวดทรงทั่วไปสวยงามมาก มีมุขหน้าและหลัง
    ทั้งหลังประดับด้วยหินอ่อนตลอด หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีส้มอ่อนๆ

    มีช่อฟ้า ใบระกา ประดับเสริมด้วยพระวิหารหลวง
    ทำให้เด่นประดุจตั้งตระหง่านอยู่บนฟากฟ้านภาลัย
    หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
    เป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๔
    คือเป็นรูปมหาพิชัยมงกุฎบนพระแสงขรรค์
    ซึ่งมีพานแว่นฟ้ารองรับมหาพิชัยมงกุฎและพระขรรค์นั้น

    พานแว่นฟ้าประดิษฐานอยู่บนหลังช้าง ๖ เชือก
    ทั้งสองข้างประดับด้วยฉัตร ๕ ชั้น
    พื้นของหน้าบันเป็นลายกนกลงรักปิดทองทั้งหมด

    ตัวหน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นลวดลายดังกล่าวนั้น
    นับว่าเป็นหน้าบันที่งดงามวิจิตรพิสดาร
    เป็นยอดของสถาปัตยกรรมอันดับหนึ่งของประเทศไทย

    [​IMG]
    ซุ้มหน้าต่างพระวิหารหลวง ทรงมงกุฎ


    ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างทุกบานประดับรูปลายปูนปั้น
    ลงรักปิดทองติดกระจกสีเป็นรูปทรงมงกุฎ
    ตัวบานประตูหน้าต่างสลักด้วยไม้สักเป็นลายก้านแย่ง
    ซ้อนกันสองชั้นลงรักปิดทองติดกระจกสี ทำให้ดูงดงามยิ่งขึ้น

    พระประธานในพระวิหารหลวง มีพระนามว่า พระพุทธสิหังคปฏิมากร
    เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีหน้าตักราว ๑ ศอก ๖ นิ้ว
    ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายใต้ษุษบก
    ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    โปรดเกล้าฯ ให้หล่อจำลองจากพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ประดิษฐาน
    ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
    เนื่องจากทรงโปรดปรานในพุทธลักษณะและทรงมีพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ
    จึงอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์ฯ แห่งนี้
    และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธสิหังคปฏิมากร”

    อนึ่ง ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    มาบรรจุภายในพระพุทธอาสน์ของ “พระพุทธสิหังคปฏิมากร”


    ทั้งนี้ แม้วัดราชประดิษฐ์ฯ จะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔
    แต่ “ประตูเซี่ยวกาง” ก็เป็นศิลปะที่ยังคงได้รับอิทธิพลจากจีนอยู่
    คำว่าเซี่ยวกาง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เซ่ากัง” ที่แปลว่า ยืนยาม นั่นเอง

    วัดราชประดิษฐ์ฯ เป็นพระอารามหลวงที่ไม่มีพระอุโบสถ
    มีเฉพาะพระวิหารหลวงใช้ประกอบพิธีสังฆกรรม
    ดังนั้น พระวิหารหลวงจึงถือว่าเป็นพระอุโบสถของวัดด้วย


    ในพระวิหารหลวงมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของขรัวอินโข่ง
    ที่วาดเป็นรูปเกี่ยวกับพระราชพิธี ๑๒ เดือน นับเป็นภาพวาดที่มีค่ายิ่ง
    โดยรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วาดไว้
    เพราะทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเรื่องราวในอดีต
    อย่างเช่นพระราชพิธีเดือนอ้าย หรือเดือนธันวาคม
    จะมีพิธีตรุษเลี้ยงขนมเบื้อง ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว

    [​IMG]
    ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระราชพิธี ๑๒ เดือน


    นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังจำลองเหตุการณ์
    เป็นพระรูปรัชกาลที่ ๔ ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา
    ตามความจริงนั้นพระองค์เสด็จไปที่ตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์
    เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ซึ่งพระองค์ทรงคำนวนได้อย่างถูกต้อง
    แต่ในภาพนี้ได้วาดฉากให้เป็นการทอดพระเนตรที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

    ด้านหลังพระวิหารหลวงมีพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่
    คือ ปาสาณเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม
    ก่ออิฐถือปูน ภายนอกประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อนทั้งองค์
    เป็นที่มาของคำว่า ปาสาณเจดีย์ ซึ่งหมายถึงเจดีย์หิน
    และด้านหน้าปาสาณเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐาน
    พระรูปหล่อของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
    ซึ่งหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อน
    ในท่านั่งแสดงพระธรรมเทศนา ฝีมือช่างชาวสวิส ชื่อ เวนิง
    ซึ่งการสร้างพระวิหารและมีพระเจดีย์อยู่ด้านหลังนี้
    ถือเป็นแบบแผนการสร้างวัดของรัชกาลที่ ๔
    เพราะถือว่าเมื่อไหว้พระประธานในพระวิหารแล้ว
    ก็จะได้ไหว้พระเจดีย์ไปด้วยพร้อมกันในคราวเดียว

    นอกจากนี้แล้วยังมีสถาปัตยกรรมอื่นๆ ภายในวัดที่สำคัญอันน่าชมยิ่ง
    เช่น พระปรางค์ขอม ตั้งอยู่บนพื้นไพทีด้านหลังพระวิหารหลวง
    เป็นปราสาทก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยม มียอดปรางค์แบบขอม
    ภายในบรรจุ พระอังคารของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
    สรีรังคารของพระสาสนโสภณ (อ่อน อหิงฺสโก)
    และ สรีรังคารของพระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส)
    อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ทั้ง ๓ รูป

    ด้านข้างถัดจาก “หอพระจอม” ออกไป คือ ศาลาการเปรียญ
    ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระวิหารหลวง เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว
    ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ขนาดเล็กของกรีกโบราณ
    เพดานประดับด้วยดวงตราประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    บริเวณนี้เป็น เขตหวงห้ามสำหรับสตรี หรือเขตสังฆาวาส
    อันเป็นบริเวณที่ห้ามสตรีผ่านเข้าออกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงปัจจุบัน
    เนื่องจากเป็นบริเวณที่ตั้งกุฏิสงฆ์ มีป้ายปิดที่ประตูว่า ห้ามสตรีเพศผ่าน
    ด้วยเพราะธรรมยุติกนิกายนั้นเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก

    [​IMG]
    ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระรูปรัชกาลที่ ๔
    ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ เท่าพระองค์จริง ณ หอพระจอม


    • ศิลาจารึกวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

    ด้านหลังพระวิหารหลวงมีซุ้มซึ่งแกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งแผ่น
    ภายในซุ้มเป็นที่ประดิษฐาน ศิลาจารึก
    ประกาศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ ฉบับ

    ฉบับแรกเป็นประกาศการสร้างวัดถวายพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
    จารึกในปีพุทธศักราช ๒๔๐๗
    ฉบับหลังเป็นประกาศเรื่องงานพระราชพิธีผูกพัทธสีมาวัด
    จารึกในปีพุทธศักราช ๒๔๐๘
    ประกาศทั้ง ๒ ฉบับลงพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


    ข้อความในศิลาจารึกทั้ง ๒ ฉบับนั้นนับว่ามีความสำคัญ
    ซึ่งเป็นมหามรดกล้ำค่าที่เป็นมหาสมบัติของคณะธรรมยุติกนิกาย
    ที่ได้รับพระราชทานตกทอดมาจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔

    ศิลาจารึกตอนบน

    อิมํ ภนฺเต วิหารารมภูมี สมนฺตโต ปาการมูเลสุ หิฎฺฐกา จยปริจฺฉินฺนํ
    วิสํคามเขตตฺตํ กตวา ปริจฺฉิชฺชมานํ อาคตานาคตสฺส จาตุทฺทิสฺส
    ธมฺมยุตฺติกนกายิกสํฆสฺส อนญฺญนิกายิกสส โอโนเชม สาธุ ฯลฯ สุขาย.


    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ขอประกาศว่า
    ที่ภายในพระนครติดต่อไปข้างใต้ จังหวัดตึกดินเก่า ซึ่งบัดนี้เป็นสนามทหาร
    แลติดต่อข้างด้านตะวันออกหลังวังหม่อมเจ้าดิศช่างหล่อ
    แลติดต่อข้างเหนือวังกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์
    แลติดต่อข้างด้านตะวันตกถนนริมคลองโรงสีคิดที่ยาวไปข้างตะวันออก ๓๕ วา
    กว้างไปข้างเหนือต่อใต้ ๓๑ วา ๓ ศอก เดิมเป็นที่หลวงอยู่ข้างตึกดิน
    สำหรับพระราชทานข้าราชการที่ต้องพระราชประสงค์ใช้ใกล้ๆ อาศัยอยู่
    แลแต่ก่อนมีผู้สร้างโรงธรรมลงในด้านตะวันออกของที่นี้
    โรงนั้นได้เป็นที่มีธรรมเทศนา แลทำบุญให้ทานของชาวบ้านอยู่ใกล้เคียงที่นี้ช้านาน
    แลเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระบดเขียน
    เหมือนกับเป็นพระอารามวิหารโดยสังเขป

    ครั้นมาเมื่อแผ่นดินพระบาทพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ต้องพระราชประสงค์ที่นี้เป็นสวนกาแฟ จึงให้ไล่บ้านเรือนที่อยู่ในที่นี้เสียสิ้น
    เจ้าของโรงธรรมการเปรียญต้องรื้อโรงธรรมไปปลูกที่อื่นเสียด้วย
    ที่นี้ก็เป็นที่สวนกาแฟมาหลายปีจนแผ่นดินปัจจุบันนี้

    แลบัดนี้ไม่ได้ทำสวนกาแฟก็รกร้างว่างเปล่าอยู่
    ก็บัดนี้เจ้านายแลข้าราชการข้างหน้าบ้างข้างในบ้าง
    ซึ่งเคยเป็นศิษย์ศึกษาประพฤติการทำบุญให้ทาน
    ตามคติลัทธิอย่างธรรมยุตติกา พากันบ่นว่าวัดพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกาอยู่ไกล
    จะทำบุญให้ทานก็ยากไปต้องไปไกลลำบาก

    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ข้างล่าง เดิมเป็นครูอาจารย์ต้นลัทธิชำระข้อปฏิบัติต่างๆ
    ให้เป็นเยี่ยงอย่างในคณะพระสงฆ์ธรรมยุตติกนิกาย
    คิดถึงการพระพุทธศาสนาซึ่งตนได้ชำระไว้
    มีความปรารถนาจะใคร่ได้พระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายนั้นมามีอยู่ในที่ใกล้ที่ตัวอยู่
    แลจะให้สมประสงค์ ท่านทั้งหลายชายหญิงทั้งปวงถือชอบใจดังว่าแล้วนั้นด้วย

    อนึ่งคิดว่าศาลาโรงธรรมการเปรียญก็สมมติว่าเป็นที่ดังหอพระพุทธรูป
    หรือหอพระไตรปิฎก หรืออาสนศาลาที่ประชุมสงฆ์
    เป็นที่นมัสการทำบุญให้ทานของทายกสัปบุรุสผู้มีศรัทธาคล้ายกับอารามวิหาร
    เป็นที่เจดีย์สถานแลที่อยู่พระสงฆ์โดยสังเขปก็โรงธรรมศาสลาการเปรียญเก่า
    ซึ่งมีในที่นั้นเจ้าของรื้อไปเสียแล้ว ควรจะปลูกสร้างขึ้นใหม่ด้วย

    เพราะเหตุดังกล่าวแล้วนั้น

    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ท้ายหนังสือนี้
    จึงได้คิดจะทำเจดีย์ แลธรรมสภาแลวิหารที่อยู่พระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกาย
    ตามประสงค์ของตน แลท่านทั้งหลายชายหญิงอื่นเป็นอันมากนั้น
    ในที่นี้ใกล้พระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่อยู่
    จึงคิดว่าที่นี้เป็นที่สวนกาแฟของหลวงของแผ่นดินเป็นของกลางอยู่
    ไม่ควรจะยกเอามาถวายเฉพาะเป็นของพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายเป็นที่พิเศษได้
    เห็นว่าจะเป็นทำให้เสียประโยชน์แผ่นดินไป
    จึงได้สั่งให้กรมพระนครบาลวัดที่นี้กะลงเป็นตารางละวาแล้วตีราคาตารางละบาท
    ที่นี้ยาวไปข้างตะวันตกมาตะวันออก ๓๕ วา กว้างไปข้างเหนือต่อใต้ ๓๑ วา ๓ ศอก
    เป็นตารางวาได้ ๑,๐๙๘ วา

    ฯข้าฯ มีชื่อจดไว้ให้ท้ายหนังสือนี้จึงได้สละทรัพย์เป็นของนอกจำนวน
    มิใช่ของขึ้นท้องพระคลัง ๑,๐๙๘ บาท คิดเป็นเงิน ๑๘ ชั่งตำลึงกึ่ง
    ได้มอบเงินให้กรมพระนครบาลรับไปจัดซื้อที่อื่นที่ต้องการในราชการแผ่นดิน
    คือที่เป็นที่ตั้งกองรักษาถนนหนทางบางบ้านเมือง
    ที่ซึ่งจัดซื้อด้วยทรัพย์จำนวนนั้น
    เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์สมันตพงษ์พิสุทธมหาบุรุษย์รัตโนดม สมุห์พระกลาโหม
    ได้รู้เห็นตรวจตราให้จ่ายเงินจัดซื้อที่อื่นเป็นอันเปลี่ยนที่นี้เสร็จสมควรแล้ว
    ก็บัดนี้ที่อันนี้ตกเป็นของ ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ผู้เดียว

    จึง ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้
    ยอมยกที่นี้ให้เป็นส่วนเพื่อกุศลแก่บุตรภรรยาญาติพี่น้อง และบริษัทฝ่ายหน้าฝ่ายใน
    บันดาที่มีน้ำใจเลื่อมใสศรัทธานับถือปรนนิบัติพระพุทธศาสนา
    อย่างคติลัทธิพระสงฆ์ธรรมยุตติกนิกายทั้งปวงแล้ว
    จึงพร้อมใจกันด้วยปรึกษากันบ้าง คาดใจกันบ้างขอยอมยกที่นี้ซึ่งได้ก่อคันขึ้นด้วยอิฐ
    มีหลุมที่ปักเสาสีมานิมิตในทิศทั้งแปดนี้
    ให้เป็นส่วนตัดขาดจากพระราชอาณาเขต เป็นแขวงวิเศษเรียกว่า
    วิสุงคามสีมา มอบถวายแก่พระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกาย
    อันมีในทิศทั้ง ๔ อันมาแล้วก็ดี ยังไม่มาแล้วก็ดี
    เพื่อว่าในที่กำหนดไว้จะสร้างพระเจดีย์แลที่ตั้งพระปฏิมากร
    เนื้อที่เท่าใดพระเจดีย์แลชุกชีรอบได้ตั้งลง
    ที่เท่าใดชุกชีแท่นพระพุทธรูปจะได้ตั้งลง ที่เท่านั้นยกถวายเป็นพระพุทธบูชา
    แก่สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค ซึ่งเป็นพระบรมศาสดา
    อันเสด็จปรินิพพานแล้วที่นอกนั้นรอบคอบจังหวัดที่กำหนดแล้ว
    ขอยกให้เป็นที่อยู่ที่อาศัยประพฤติพรหมจรรย์
    แลประพฤติการพระพุทธศาสนาสั่งสอนศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย
    แลทำสังฆกรรมน้อยใหญ่ตามวินัยกิจโดยสะดวกทุกประการ

    แต่ที่นี้คงขาดเป็นของพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกาย
    ผู้เป็นศิษย์ศานุศิษย์ศึกษาตามลัทธิซึ่ง

    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ได้เริ่มได้ริได้ชำระตกแต่งตำราขึ้น
    แลท่านผู้มีปัญญาละเอียดได้ชำระตกแต่งต่อไปนั้น
    พวกเดียวก็ผู้จะได้อยู่ได้บริโภคที่นี้ต่อไปนั้น

    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ท้ายหนังสือนี้
    ยอมให้อยู่แต่ท่านผู้ที่คนทั้งปวงรู้พร้อมกันว่าเป็นศิษย์ศึกษาต่อๆ ไปจาก
    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ๆ ไม่ยอมให้พระสงฆ์สามเณรพวกอื่น
    ที่มีใช่ศิษย์ศานุศิษย์ศึกษาสืบไป

    ฯข้าฯ นั้นเข้าอยู่เป็นเจ้าของเลยเป็นแต่ไปสู่มาหาหรืออาศัย
    ในกำหนดวันเวลาตามน้ำใจยอมโดยชอบใจของพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายนั้นได้
    ก็ถ้าพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายที่อยู่ในที่นี้ก็ดี ที่อื่นก็ดี
    กลับจิตกลับใจกลับรีดลัทธิถืออย่างพระสงฆ์นิกายอื่นก็ดี
    เข้ารีตฝรั่งแลศาสนาอื่นก็ดีแล้ว ก็เป็นอันขาดหลุดจากเป็นเจ้าของที่นี้
    จะอยู่ในที่นี้ไม่ได้ ก็ถ้าด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
    พระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายสาบสูญสิ้นไม่มีในแผ่นดิน
    เมื่อนั้นที่อันนี้จงตกเป็นของพระผู้มีพระภาคพระบรมศาสดาอรหังสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ที่ปรินิพพานแล้วนั้นเถิด

    ใครมีศรัทธาจะปรนนิบัตินมัสการพระเจดีย์ ก็จงปรนนิบัตรนมัสการเถิด
    ใครจะใคร่จำศีลภาวนา ก็จงมาจำศีลภาวนาตามควรแก่ความเลื่อมใสเทอญ

    เมื่อที่นี้เป็นของพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายดังนี้แล้ว
    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้
    ถ้ายังยืนยงคงชีพอยู่ ก็จะอุสาหะสร้างทำพระเจดีย์
    แลเรือนพระพุทธปฏิมากรแลโรงธรรมสภา แลกุฏิวิหารที่อยู่พระภิกษุสงฆ์
    แลที่ต่างๆ เป็นเครื่องประดับพระอารามทั้งปวงไปตามกำลัง
    จนบริบูรณ์สถิตธรรมยุตติการาม
    แต่ที่นี้ใกล้พระราชวัง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินในอนาคตไม่โปรด
    จะต้องประสงค์ที่นี้ใช้ในราชการแผ่นดินก็ขอให้ซื้อที่อื่นเท่าที่นี้ หรือใหญ่กว่านี้
    ด้วยราคาเท่าที่นี้ ในที่ใกล้บ้านคนถือพระพุทธศาสนา
    ไม่รังเกียจ เกลียดชัง พระสงฆ์ธรรมยุตติกนิกายพอเป็นที่ภิกขาจารได้
    แลไม่ใกล้เคียงชิดติดกับวัดอื่น เปลี่ยนก่อนจึงได้ของอะไร

    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้
    ได้สร้างสถาปนาการลงไว้ในที่นี้ ก็ต้องสร้างใช้ให้ดีให้งามเหมือนกัน
    จึงควรจะเอาที่นี้เป็นหลวงใช้ในราชการได้
    ถ้าจะโปรดให้เป็นวัดที่อยู่พระสงฆ์พวกอื่นเหล่าอื่นก็เหมือนกัน
    ขอรับประทานให้ซื้อที่ใช้สร้างวัดใช้ก่อน
    จึงจะเปลี่ยนให้พระสงฆ์พวกอื่นหมู่อื่นอยู่ได้
    ถ้าไม่ได้ซื้อที่อื่นสร้างวัดใช้ ไล่พระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายของ ฯข้าฯ
    ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้เสียเปล่า
    พระสงฆ์พวกอื่นเข้ามาอยู่เป็นเจ้าของ
    เอาอำนาจเจ้านายมาไล่เจ้าของเสียชิงเอา ก็จะเป็นปสัยหาวหารอทินนาทานไป

    ขอท่านผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินในอนาคต จงโปรดประพฤติตาม
    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้
    ซึ่งเป็นเจ้าของที่ทำวัดราชประดิษฐ์นี้สั่งไว้จงทุกประการ
    จึงจะมีความเจริญสุข

    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้
    ได้แผ่ส่วนกุศลถวายแด่เทพยดารักษาพระนครทั้งปวง
    แลได้ฝากวัดราชประดิษฐ์นี้ไว้แด่เทพยดาให้รักษาอยู่แล้ว

    ประกาศไว้วัน ๖ ฯ ๑๒ ๑๒ ค่ำ ปีชวด ฉศก
    พระพุทธศาสนกาล ๒๔๐๗ พรรษา ศักราช ๑๒๒๖
    เป็นปีที่ ๑๔ เป็นวันที่ ๔๙๔๕ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

    อิทํ มยา ปรเมนฺทมหามกุฎสฺมา
    สฺยามวิชิเต รชฺชํ การยตา.

    บันทึกทั้งปวงในกระดาษนี้เป็นสำคัญ
    แต่สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม


    [​IMG]
    ศิลาจารึกวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม


    ศิลาจารึกตอนล่าง

    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้
    ขอประกาศเผดียงว่าในที่ภายในพระนคร ฯลฯ
    ตามควรแก่ความเลื่อมใสเทอญฯ
    จะว่าวัดสำหรับพระสงฆ์ทั้งแผ่นดินไม่ได้
    แต่พัทธสีมานั้นตามพระวินัยจริงๆ จะผูกในบ้านก็ได้ ที่ของใครๆ ก็ได้

    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อในท้ายหนังสือนี้ ไม่มีสงสัยเลย
    ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงผูกพัทธสีมาในที่นี้
    ด้วยปาสาณนิมิตรคือเสาใหญ่ซึ่งปักไว้ในทิศทั้ง ๘ นี้เถิด เสาทั้ง ๘ นั้น

    ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้
    ขอถวายเสาศิลาในทิศซึ่งปักไว้ในทิศทั้ง ๘
    เพื่อจะให้เป็นนิมิตรมหาพัทธสีมา แลอีกเสาสองต้นประกับกัน
    เพื่อจะให้เป็นที่สังเกตที่สวดสมมติให้ท่ามกลางรวม ๑๐ ต้นนี้
    เป็นของพระสงฆ์ในคณะธรรมยุตติกนิกาย
    ประดับพระอารามนี้ด้วย มอบถวายอีกพร้อมกันทั้งเสาศิลา ๑๐ ต้นปักอยู่ในกลางสอง
    อยู่ในทิศทั้งแปดอีกแปด เพื่อจะให้เป็นนิมิตรในทิศทั้งแปด
    แลเป็นสำคัญที่พระสงฆ์ยืนสวดผูกสีมาในท่ามกลางด้วย
    เพื่อจะได้สมมติสีมา

    ณ วัน ๖ ฯ ๑๗ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก พระพุทธศาสนกาล ๒๔๐๘ พรรษา
    จุลศักราช ๑๒๒๗ เป็นปีที่ ๑๕ หรือเป็นวันที่ ๕๑๔๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

    อิทํ มยา รญฺญา ปรเมนฺทมหามกุฎสฺมา
    สฺยามวิชิเต รชฺชํ การยตา.


    หนังสือนี้ แต่ข้าพระพุทธเจ้า
    สมเด็จพระปรเมนทรามหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม


    [​IMG]
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
    พุทธศักราช ๒๔๕๓-๒๔๖๔


    วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
    แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


    หัวข้อ

    • พระประวัติในเบื้องต้น
    • ทรงบรรพชาและอุปสมบท
    • ทรงทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ)
    • ทรงกรมและเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง
    • ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
    • การศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาไทย
    • ทรงจัดตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย
    o หลักสูตรของเดิม
    o หลักสูตรมหามกุฏราชวิทยาลัย
    • ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย
    • ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ
    • ทรงอำนวยการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร
    • ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์
    • มหาสมณุตมาภิเษก
    • ประกาศมหาสมณุตมาภิเศก
    • ทรงปรับสถานภาพของคณะสงฆ์
    • เสด็จตรวจการคณะสงฆ์
    • ทรงปรับปรุงการพระศาสนาและการคณะสงฆ์ในด้านต่างๆ
    o ในด้านการพระศาสนา
    o ในด้านการคณะสงฆ์
    o ในด้านการศึกษา
    • การสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
    • ผลงานพระนิพนธ์
    • ทรงเป็นนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ของไทย
    • พระกรณียกิจพิเศษ
    • พระอวสานกาล
    • ประวัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
    • ข้อมูลพื้นฐานปัจจุบันของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)



    พระประวัติในเบื้องต้น

    หลังจาก สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์ สิ้นพระชนม์
    เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ไม่ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช อีกจนตลอดรัชกาล
    ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่เป็นเวลา ๑๑ ปี ถึงรัชกาลที่ ๖
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่
    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระวชิรญาณวโรรส เป็น
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    กล่าวอย่างสามัญทั่วไปก็คือ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง

    [​IMG]
    พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา


    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๔๗
    ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    และ เจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ
    ปีวอก จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๐๓
    ณ ตำหนักหลัง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมุขหลัง ในพระบรมมหาราชวัง
    เมื่อวันประสูตินั้นฝนตกใหญ่ พระบรมชนกนาถจึงทรงถือเป็นมงคลนิมิต
    พระราชทานนามว่า “พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ”
    หลังจากประสูติได้เพียงปีเดียว เจ้าจอมมารดาของพระองค์ก็ถึงแก่กรรม
    พระองค์จึงทรงอยู่ในความเลี้ยงดูของกรมหลวงวรเสรฐสุดา อาทิอักษรวรรคศรี
    (พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓)
    ซึ่งเป็นพระญาติ ทรงเรียกว่าเสด็จป้า มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
    ต่อมา ทรงย้ายมาอยู่กับท้าวทรงกันดาร (ศรี) ผู้เป็นยาย

    เมื่อพระชนมายุ ๘ พรรษา ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี
    ทรงศึกษาอยู่จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนที่จะทรงผนวชเป็นสามเณร
    และทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษกับครูฝรั่งเมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา
    นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาโหราศาสตร์กับครู
    ที่เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์มาแต่พระชนม์ยังน้อย

    [​IMG]
    เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา


    ทรงบรรพชาและอุปสมบท

    เมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี
    ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับเจ้านายอื่นอีก ๒ พระองค์
    โดยมี สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
    และ หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา (มีพระนามเดิมว่า ศิขเรศ)
    เป็นผู้ประทานสรณะและศีล เมื่อทรงผนวชแล้วมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
    ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๒ เดือนเศษ จึงทรงลาผนวช

    ครั้นพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
    ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๒
    โดยมี สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
    และ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี)
    วัดมกุฎกษัตริยาราม
    เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    ทรงได้รับพระนามฉายาว่า “มนุสฺสนาโค”
    ทรงผนวชแล้วเสด็จมาอยู่จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

    [​IMG]
    เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา


    ถึงหน้าเข้าพรรษาของปีพุทธศักราช ๒๔๒๒ นั้นเอง
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน
    มาทรงถวายพุ่มพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามพระราชประเพณี
    และในคราวนั้นได้เสด็จฯ ไปถวายพุ่มพรรษาแด่
    พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ
    ซึ่งเพิ่งทรงผนวชใหม่ถึงกุฏิที่ประทับ พร้อมทั้งทรงกราบด้วยพระอาการเคารพ
    อันเป็นพระอาการที่ไม่เคยทรงปฏิบัติต่อพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์อื่นที่ทรงผนวช
    เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
    ทรงตัดสินพระทัยไม่ทรงลาผนวชแต่วันนั้น
    ดังที่พระองค์ได้ทรงบันทึกไว้ในพระประวัติตรัสเล่าว่า

    [​IMG]
    เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา


    “เสด็จกุฎีเราทรงประเคนพุ่ม เราเห็นท่านทรงกราบด้วยเคารพอย่างเป็นพระแปลก
    จากพระอาการที่ทรงแสดงแก่พระองค์อื่นเพียงทรงประคอง อัญชลี
    เรานึกสลดใจว่า โดยฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็เป็นเจ้าของเรา
    โดยฐานเนื่องในพระราชวงศ์เดียวกัน ท่านก็เป็นพระเชฏฐะของเรา
    โดยฐานเป็นผู้แนะราชการพระราชทาน ท่านก็เป็นครูของเรา
    เห็นท่านทรงกราบแม้จะนึกว่าท่านทรงแสดงความเคารพแก่ธงชัยพระอรหันต์ต่างหาก
    ก็ยังวางใจไม่ลง ไม่ปรารถนาจะให้เสียความวางพระราชหฤทัยของท่าน
    ไม่ปรารถนาจะให้ท่านทอดพระเนตรเรา
    ผู้ที่ท่านทรงกราบแล้ว ถือเพศเป็นคฤหัสถ์อีก
    ตรงคำที่เขาพูดกันว่า กลัวจัญไรกิน เราตกลงใจว่าจะไม่สึกในเวลานั้น”


    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงบรรพชาและอุปสมบท
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) พระอุปัชฌาย์
    เมื่อทรงทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ) เป็นธรรมยุตอีกครั้งหนึ่ง



    ทรงทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ)

    หลังจากทรงจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ พรรษาแล้ว
    ได้เสด็จไปจำพรรษาที่ ๒ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม
    ในสำนักของพระจันทโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) ผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    ในระหว่างที่ประทับ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม นั้นเอง
    ได้ทรงทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ) เป็นธรรมยุตอีกครั้งหนึ่ง
    ตามธรรมเนียมนิยมของพระสงฆ์ธรรมยุตในครั้งนั้น
    โดยมี พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) เป็นพระอุปัชฌาย์
    พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช ฐานจาโร) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
    แต่ครั้งยังเป็นพระเปรียญอยู่วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    ณ โบสถ์แพ หน้าวัดราชาธิวาส เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๒

    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงฉายร่วมกับ
    พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) เมื่อครั้งยังมิได้ทรงกรม



    ทรงกรมและเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง

    เมื่อทรงผนวชได้ ๓ พรรษา ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง
    ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ห้องเขียว
    ท่ามกลางประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ ๑๐ รูป
    มี สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นประธาน
    ทรงแปลได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค และทรงหยุดอยู่เพียงนั้น

    หลังจากทรงแปลพระปริยัติธรรม ได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยคแล้ว
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น
    กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะรองในธรรมยุติกนิกาย
    เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ พระองค์ทรงเป็นเจ้าคณะรองในคณะธรรมยุตเป็นพระองค์แรก
    และทรงเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง
    ที่ทรงมีพรรษายุกาลน้อยที่สุด คือ ๓ พรรษาเท่านั้น

    [​IMG]
    พัดยศสมณศักดิ์กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
    มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะธรรมยุต



    ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร

    ครั้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๔
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ขณะเมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
    สืบต่อจาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    นับเป็นเจ้าอาวาสพระองค์ที่ ๓ ของวัดบวรนิเวศวิหาร

    ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนพระสมณศักดิ์เป็น
    สมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
    นับเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตพระองค์ที่ ๒
    ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตเมื่อทรงมีพรรษายุกาล ๑๕ พรรษา

    เมื่อทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารแล้ว
    ก็ได้ทรงเริ่มพัฒนากิจการพระศาสนา
    โดยทรงเริ่มทำขึ้นภายในวัดบวรนิเวศวิหารก่อน
    เป็นการทดลองเพื่อดูผลได้ผลเสีย และทรงปรับปรุงแก้ไขจนทรงเห็นว่า
    มีผลดีเป็นคุณประโยชน์แก่พระศาสนาเป็นส่วนรวม
    จึงทรงขยายออกในวงกว้าง กล่าวเฉพาะที่สำคัญคือ

    [​IMG]
    เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
    พระชนมายุได้ราว ๒๐-๒๑ พรรษา



    การศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาไทย

    ทรงริเริ่มให้ภิกษุสามเณรที่บวชใหม่เล่าเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทย
    เพื่อให้รู้จักพระพุทธศาสนาทั้งส่วนที่เป็นธรรมและวินัยในขั้นพื้นฐาน
    ในชั่วระยะเวลาอันสั้น โดยพระองค์ได้ทรงสอนด้วยพระองค์เอง
    มีการสอบความรู้ของภิกษุสามเณรที่เรียนด้วยวิธีสอบแบบใหม่คือวิธีเขียน
    ต่อมาได้มีภิกษุสามเณร ไม่เฉพาะแต่พระใหม่เท่านั้น
    ที่นิยมเล่าเรียนพระธรรมวินัยแบบใหม่ที่พระองค์ทรงจัดขึ้นนี้
    และนิยมแพร่หลายออกไปถึงวัดอื่นๆ ด้วย

    เมื่อทรงเห็นว่าเป็นการเล่าเรียนที่มีประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรทั่วไป
    จึงได้ทรงกำหนดให้เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับคณะสงฆ์ในเวลาต่อมา
    ที่เรียกว่า “นักธรรม” ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    ของคณะสงฆ์สืบมาจนปัจจุบัน เป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาไทย
    คู่กับการศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาบาลีที่มีมาแต่โบราณ

    [​IMG]
    เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๒๓ พรรษา
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
    ทรงฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม พระชนมายุได้ ๒๗ พรรษา



    ทรงจัดตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย

    สำหรับเป็นสถานศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตร
    เป็นการทรงริเริ่มจัดการศึกษาของภิกษุสามเณรแบบใหม่
    คือ เล่าเรียนพระปริยัติธรรมประกอบกับวิชาการอื่นๆ
    ที่เอื้อต่อการสั่งสอนพระพุทธศาสนา
    และสอบด้วยวิธีเขียนซึ่งทรงริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก
    ภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตรนี้ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ตั้งเป็นเปรียญเช่นเดียวกับผู้สอบไล่ได้ในสนามหลวงตามแบบเดิมเหมือนกัน
    เรียกว่า “เปรียญมหามกุฎ”
    แต่น่าเสียดายที่หลักสูตรพระปริยัติธรรมแบบมหามกุฎดังกล่าวนี้
    ได้ดำเนินการอยู่เพียง ๘ ปีก็เลิกไป เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
    ไม่ทรงมีเวลาจะดูแลจัดการเนื่องจากทรงมีพระภารกิจอื่นในคณะสงฆ์มาก

    หลักสูตรของเดิม

    การศึกษาด้านพระปริยัติ แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย
    ฝ่ายไทย ๙ ชั้น
    ฝ่ายรามัญ ๔ ชั้น

    ฝ่ายไทย
    ชั้นที่ ๑ เรียน อรรถกถาธรรมบท
    ชั้นที่ ๒ เรียน อรรถกถาธรรมบถ
    ชั้นที่ ๓ เรียน อรรกถาธรรมบท (ตั้งแต่ชั้นนี้ไป นับเป็นเปรียญ)
    ชั้นที่ ๔ เรียน มังคลัตถทีปนี บั้นต้น
    ชั้นที่ ๕ เรียน สารัตถะสังคะหะ
    ชั้นที่ ๖ เรียน มังคลถทีปนี บั้นปลาย
    ชั้นที่ ๗ เรียน เรียน ปฐมสมันตปาสาทิกา
    ชั้นที่ ๘ เรียน วิสุทธิมรรค
    ชั้นที่ ๙ เรียน สารัตถะทีปนี ฎีกาพระวินัย

    ฝ่ายรามัญ
    ชั้นที่ ๑ เรียน บาลีพระวินัยมหาวิภังค์ (ปาจิตตีย์)
    ชั้นที่ ๒ เรียน บาลีพระวินัยมหาวัคค์ และจุลวัคค์
    ชั้นที่ ๓ เรียน บาลี มุคคกวินัยวินิจฉัย
    ชั้นที่ ๔ เรียน ปมสมันตปาสาทิกา

    การสอบ ๓ ปี สอบครั้งหนึ่ง หากทางราชการมีเหตุขัดข้อง
    ก็เลื่อนไปเป็น ๖ ปี สอบครั้งหนึ่ง

    หลักสูตรมหามกุฏราชวิทยาลัย

    ชั้นนักเรียนที่ ๓ เรียน บาลีไวยากรณ์
    ชั้นนักเรียนที่ ๒ เรียน อรรถกถาธรรมบท บั้นต้น ท้องนิทาน
    ชั้นนักเรียนที่ ๑ เรียน แก้คาถาอรรถกถาธรรมบท บั้นปลาย
    ชั้นเปรียญที่ ๓ เรียน แก้คาถาอรรถกถาธรรมบท บั้นต้น
    (เปรียญตรี)
    ชั้นเปรียญที่ ๒ เรียน บาลีพระวินัยมหาวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์ และพระสูตรบางสูตร
    (เปรียญโท)
    ชั้นเปรียญที่ ๑ เรียน บาลีพระวินัยมหาวัคค์ และจุลวัคค์ และอภิธรรม
    (เปรียญเอก)

    การสอบ สอบทุกปี แลผลของการสอบครั้งแรกใน ปี ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)
    นั้นก็ปรากฏว่าได้ผลดี คือมีนักเรียนสอบได้เกินกว่าครึ่ง
    ดังที่ปรากฏตามกรายงานการสอบครั้งแรกดังนี้

    ชั้นนักเรียนที่ ๓ สอบ ๒๙ สอบได้ ๑๕ ตก ๑๔
    ชั้นนักเรียนที่ ๒ สอบ ๑๐ สอบได้ ๖ ตก ๔
    ชั้นนักเรียนที่ ๑ สอบ ๔ ได้ ๑ ตก ๓


    [​IMG]
    เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ราว ๓๕ พรรษา


    ในส่วนการศึกษาของกุลบุตรนั้น พระองค์ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนภาษาไทย
    ของมหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นตามวัดธรรมยุต เพื่อให้เป็นที่เล่าเรียนของกุลบุตร
    โดยใช้หลักสูตรที่ พระองค์ทรงจัดขึ้นใหม่เรียกว่า “หลักสูตรมหามกุฎ”
    เช่น โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนวัดมกุฎ เป็นต้น
    การจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวนี้ขึ้นก็ด้วยทรงมีพระดำริว่าเพื่อเป็นการช่วยรัฐบาล
    พระองค์ทรงพยายามพัฒนาโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฎให้เป็นโรงเรียน
    “เชลยศักดิ์” คือโรงเรียนราษฎร์ แบบอยู่ประจำ เพื่อเป็นต้นแบบให้รัฐบาล
    หรือเอกชนอื่นๆ ทำตาม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะขาดเงินทุนที่จะดำเนินการ
    ให้เป็นไปตามพระดำริ ในที่สุดก็ต้องทรงมอบโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฎฯ
    ให้กระทรวงธรรมการ คือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน
    เป็นผู้ดำเนินการต่อไป ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

    [​IMG]
    เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ราว ๓๘ พรรษา พ.ศ. ๒๔๔๐


    ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย

    เนื่องจากทรงจัดการศึกษาในมหามกุฎราชวิทยาลัยดังกล่าวมาแล้ว
    จำเป็นต้องใช้หนังสือและตำราเรียนเป็นจำนวนมาก
    จึงได้ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเพื่อจัดพิมพ์หนังสือและตำรับตำราต่างๆ
    ให้เพียงพอแก่การใช้ศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตร
    เรียกว่า “โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย”
    โดยทรงใช้ แท่นพิมพ์ที่ใช้พิมพ์พระไตรปิฎก
    เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ และโรงพิมพ์ก็ตั้งที่โรงพิมพ์หลังเดิม
    ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น
    เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
    (คือตรงที่สร้างพระตำหนักเพ็ชรในบัดนี้)
    แต่โรงพิมพ์ที่พระองค์ทรงจัดตั้งขึ้นดังกล่าวนี้ดำเนินกิจการอยู่เพียง ๘ ปี
    ก็ต้องเลิกไปเพราะค่าโสหุ้ยสูงจนไม่อาจดำเนินการต่อไปได้
    ต้องทรงกลับไปใช้วิธีจ้างโรงพิมพ์อื่นซึ่งเสียค่าโสหุ้ยน้อยกว่า

    [​IMG]
    [​IMG]

    ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ

    หลังจากทรงจัดตั้งสถานศึกษาคือมหามกุฎราชวิทยาลัยได้ ๑ ปี
    ก็ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ เป็นนิตยสารรายเดือน
    สำหรับตีพิมพ์เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา
    ทั้งที่เป็นคำสั่งสอนและข่าวสารต่างๆ ออกเผยแพร่แก่ประชาชน
    รวมทั้งข่าวเกี่ยวกับกิจการมหามกุฎราชวิทยาลัยด้วย
    ที่สำคัญคือเพื่อเป็นสนามให้ภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียนของมหามกุฎราชวิทยาลัย
    ได้ฝึกแปล แต่ง เขียน เรื่องราวทางพระพุทธศาสนาแล้วตีพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชน
    ธรรมจักษุจึงเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาฉบับแรกของไทย
    และมีอายุเก่าแก่ที่สุดนับจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันก็กว่า ๑๐๐ ปีแล้ว

    [​IMG]
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
    พระชนมายุได้ราว ๔๐ พรรษา



    ทรงอำนวยการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร

    พ.ศ. ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ทรงมีพระราชดำริจะขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    ไปยังประชาชนทั่วพระราชอาณาจักร
    เพราะทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญ
    ในการพัฒนาชาติบ้านเมือง จึงทรงอาราธนาสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น
    ให้ทรงอำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร

    ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าวัดเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่คนไทยมาแต่โบราณกาล
    การใช้วัดเป็นฐานในการขยายการศึกษาเป็นทางเดียวที่จะขยายได้เร็วและทั่วถึง
    เพราะวัดมีอยู่ทั่วทุกหนแห่งในพระราชอาณาจักร
    ทั้งไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินในการสร้างโรงเรียนด้วย
    เพราะอาศัยศาลาวัดที่มีอยู่แล้วนั่นเองเป็นโรงเรียน

    [​IMG]
    ทรงฉายร่วมกับพระเถรานุเถระ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ราว ๔๐ พรรษา


    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงเลือกพระเถระผู้มีความสามารถ
    ทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกายรวม ๑๓ รูป เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลต่างๆ
    แล้วส่งออกไปดำเนินการจัดการศึกษาในหัวเมืองต่างๆ ในมณฑลนั้นๆ
    ทั่วพระราชอาณาจักร โดยมีฝ่ายบ้านเมือง คือ กระทรวงมหาดไทย
    เป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการ

    พระองค์ทรงรับหน้าที่อำนวยการในการจัดการศึกษาหัวเมืองอยู่ ๕ ปี
    ก็ทรงสามารถขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    คือ การศึกษาขั้นประถมศึกษา ออกไปได้ทั่วประเทศ
    เมื่อทรงวางรากฐานการศึกษาในหัวเมืองเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว
    และมีความมั่งคงพอสมควรแล้ว
    ก็ทรงมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงธรรมการดำเนินการต่อไป

    จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาระดับประถมศึกษาในประเทศไทย
    โดยมีวัดเป็นโรงเรียน มีพระเป็นครูสอน มีมหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นต้นแบบ
    ในด้านหลักสูตรและการฝึกหัดครูสำหรับออกไปสอนในโรงเรียนนั้นๆ

    [​IMG]
    ทรงฉายร่วมกับพระเถรานุเถระ หน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
    เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ราว ๔๐ พรรษา



    ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์

    ในการจัดการศึกษาในหัวเมืองดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงพบความไม่เรียบร้อยในการปกครองคณะสงฆ์
    และทรงมีพระดำริว่า การที่จะจัดการศึกษาให้ได้ผลดีนั้น
    จะต้องจัดการปกครองคณะสงฆ์ให้เรียบร้อยไปพร้อมกันด้วย

    ฉะนั้นพระองค์จึงได้ทรง พระดำริจัดรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นใหม่
    เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
    และเอื้อต่อการที่จะพัฒนาตัวเองและบ้านเมืองให้เจริญ ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
    พระดำริดังนี้เองที่เป็นเหตุให้เกิด
    พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ขึ้น
    ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกของไทย

    ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ นั้น
    จัดคณะสงฆ์เป็น ๔ คณะคือ

    คณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุตติกา และคณะกลาง
    มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะ และมีพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะละรูป
    พระเถระทั้ง ๘ รูปนี้ยกขึ้นเป็นมหาเถรสมาคม
    ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในทางคณะสงฆ์
    และเป็นที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนา
    และการคณะสงฆ์ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน

    มีเจ้าคณะปกครองลดหลั่นกันไปตามลำดับคือ
    เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง (อำเภอ) เจ้าอาวาส
    นับเป็นครั้งแรกที่คณะสงฆ์ไทย
    มีการจัดปกครองอย่างเป็นระบบ มีแบบแผนที่ชัดเจน

    โดยมีกฎหมายทางบ้านเมืองเข้ามารองรับ
    การดำเนินกิจการพระศาสนาและการคณะสงฆ์
    เมื่อมีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ขึ้นแล้ว
    ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งอำนวยการศึกษามณฑลต่างๆ เป็นเจ้าคณะมณฑล
    มีหน้าที่ทำนุบำรุงพระศาสนาและบำรุงการศึกษาตามวัดในมณฑลนั้นๆ
    ให้เจริญรุ่งเรืองตามพระราชประสงค์

    [​IMG]
    เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ราว ๕๐ พรรษาเศษ


    ในเวลาตั้งพระราชบัญญัตินี้ ว่างสมเด็จพระสังฆราช
    เพราะนับแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์
    เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ แล้ว มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใด
    ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชอีก จนตลอดรัชกาลที่ ๕
    มีแต่เจ้าคณะใหญ่ ๔ รูป ซึ่งมิได้ขึ้นแก่กัน

    เมื่อมีภารกิจอันจะพึงทำร่วมกันเจ้าคณะใหญ่รูปใดมีสมณศักดิ์สูง
    เสนาบดีกระทรวงธรรมการก็รับพระบรมราชโองการสั่งไปทางเจ้าคณะรูปนั้น
    ขณะนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ซึ่งทรงพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่น
    ทรงสมณศักดิ์สูงกว่าเจ้าคณะทั้งปวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้เป็นการก (คือประธาน) ในที่ประชุมมหาเถรสมาคม
    ซึ่งเท่ากับทรงปฏิบัติ หน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕

    ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ นี้แสดงให้เห็นว่า
    องค์พระมหากษัตริย์ทรงปกครองคณะสงฆ์ด้วยพระองค์เอง
    โดยมีเสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นผู้รับพระบรมราชโองการสั่ง
    คือ บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์พระมหากษัตริย์นั่นเอง

    มหาเถรสมาคมซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดทางคณะสงฆ์เป็นเพียง “ที่ทรงปรึกษา”
    คือทำหน้าที่ถวายคำแนะนำในเรื่องการพระศาสนาและคณะสงฆ์แด่องค์พระมหากษัตริย์
    โดยผ่านไปทางเสนาบดี กระทรวงธรรมการเท่านั้น
    จึงกล่าวได้ว่า ตั้งแต่โบราณมาจนถึงเวลาที่ตั้ง
    พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) นี้ขึ้น
    คฤหัสถ์ทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์มาโดยตลอด

    [​IMG]
    พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส



    มหาสมณุตมาภิเษก

    พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนพระอิสริยยศเป็น กรมหลวง
    ถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
    สืบพระบรมราชสันตติวงศ์เป็นรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    พอเสด็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
    และเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชินี พระพันปีหลวง แล้ว

    ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๑ ขึ้น ๔ ค่ำ นี้
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
    สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส
    เป็น สมเด็จกรมพระยา และทรงสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า สกลมหาสังฆปรินายก
    ทรงสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระมหาสมณะ (คือสมเด็จพระสังฆราช)
    นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    พระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ประดิษฐาน ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
    พระรูปนี้เป็นภาพถ่ายต้นแบบที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในหนังสือต่างๆ



    ประกาศมหาสมณุตมาภิเศก

    ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาค ๒๔๕๓ พรรษา
    กาลปัตยุบันจันทรโคจร โสณสัมพัตสร มฤคศิรมาส สุกกปักษ์ จตุรถีดิถี ศศิวาร
    สุริยคติกาล รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ ธันวาคมมาส ปัญจมสุรทิน
    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

    ทรงพระราชดำริห์ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส
    เป็นพระบรมวงศ์พระองค์หนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้ทรงยกย่องว่าเป็นผู้ต้องพระราชอัธยาไศรยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
    ได้ทรงปฏิบัติราชกิจใกล้ชิดพระองค์ จนกระทั่งพระชนมายุถึงกำหนดอันควร
    ที่จะทรงพระผนวชในพระบวรพุทธศาสนา ตั้งแต่เมื่อก่อนจะทรงพระผนวชนั้น
    ก็ได้ทรงมีพระกระมลสันดานเลื่อมใสในพระรัตนไตรยมั่นคง
    และได้เริ่มทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ก่อน


    [​IMG]
    รัชกาลที่ ๕ ทรงสนทนากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๘


    ครั้นเมื่อทรงพระผนวชแล้ว
    ก็ได้ทรงพระอุสาหศึกษาพระปริยัติธรรมด้วยพระปรีชาญาณ
    ทรงรอบรู้ในอรรถธรรมทั้งปวงมากขึ้นเป็นลำดับ
    จนหาผู้ที่จะรู้เท่าเทียมได้โดยยากนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้ทรงสถาปนาพระอิศริยยศให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม และให้ทรงสมณศักดิ์อันสูง
    ก็เพราะทรงทราบชัดอยู่ว่า พระราชภาดาของพระองค์
    จะสามารถเป็นผู้ดำรงพระบวรพุทธศาสนา ให้ประดิษฐานถาวรวัฒนา
    ในสยามราชอาณาจักรสืบไป ก็นับว่าเป็นไปได้จริงตามความทรงมุ่งหมาย
    ธรรมดาพระศาสนาจะมั่นคงยั่งยืนอยู่ได้
    ก็เพราะอาศัยความรอบรู้แห่งพุทธศาสนิกบริสัษย์ ในพระธรรมอันถ่องแท้

    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส
    ได้ทรงเป็นประธานในการที่พระภิกษุสามเณรสอบไล่พระปริยัติธรรม
    ทรงกำกับให้การสอบไล่อันนั้นเป็นไปโดยทางที่ถูกต้องทุกประการ
    นับว่าได้ทรงช่วยสมเด็จพระราชาธิบดี
    ในการที่ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาให้มั่นคงอยู่ มิได้เสื่อมคลายไปเลย
    ทั้งได้ทรงพระอุสาหปกครองคณะสงฆ์ให้มั่นคงในกิจปฏิบัติ
    สมควรแก่ผู้ที่ดำรงสมณเพศพิเศษยิ่งกว่าสามัญชน
    นับว่าได้ทรงทำคุณประโยชน์อันใหญ่ยิ่งให้บังเกิดมีแก่กรุงสยาม


    [​IMG]
    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร
    เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นสามเณร พ.ศ. ๒๔๓๔



    อนึ่งได้ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในสรรพอรรถธรรมทั้งปวงแล้ว
    ก็ได้ทรงเปิดเผยแผ่พระธรรมนั้นๆ ให้ปรากฏแก่มหาชนทั่วไป
    โดยโวหารอันไพเราะจับใจซึมทราบ ทำให้ผู้ฟังแล้วและเห็นเข้าใจข้อความแจ่มแจ้ง
    สิ้นความเคลือบแคลงได้ ทำให้เกิดความเลื่อมใสในพระรัตนไตรยทวีขึ้นเป็นอันมาก
    ความอันใดที่เข้าใจยากก็ได้ทรงขยายให้และเห็นง่ายดายกระจ่าง

    ประหนึ่งทรงนำทางให้เดินไปสู่ที่ชอบ
    ทรงชำนิชำนาญทั้งในทางแสดงพระสัทธรรมเทศนา และในทางนิพนธ์รจนาหนังสือ
    อันเป็นเครื่องชูใจให้ผู้ฟังผู้อ่านได้รับผลอันดี
    ปีติปราโมทย์เป็นที่นิยมนับถือของมหาชนทั่วไป
    ไม่เฉพาะแต่ในสยามราชอาณาเขตร ถึงแม้ชนในไพรัชประเทศ
    ก็สรรเสริญยกย่องพระองค์ว่าเป็นมหาบัณฑิตย์อันประเสริฐ
    ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทั่วไป
    ได้นิยมยอมยกพระองค์เป็นมหาศาสนนายก

    แต่ถึงแม้ผู้ที่มีใจนับถือลัทธิศาสนาอื่นๆ
    ก็มีความนับถือพระองค์เป็นปราชญ์อันหาที่เปรียบได้โดยยาก
    ผู้มีชื่อเสียงสำคัญอันเป็นชาวต่างประเทศ
    แม้มาเยี่ยมกรุงสยามก็คงตั้งใจพยายามไปน้อมคำนับด้วยความนิยมนับถือ
    ด้วยได้ยินพระเกียรติคุณบรรฦๅไปจนถึงประเทศนั้นๆ
    จึงชวนกันมาเฝ้าเพื่อสำแดงความเคารพมหาบัณฑิตย์ฉนั้น


    [​IMG]
    ทรงฉายเมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางคเดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
    ทรงผนวชเป็นสามเณร และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๔๔๖



    อีกประการหนึ่ง พระองค์ได้ทรงเป็นครูปัธยาจารย์ แห่งพระบรมวงศานุวงศ์
    ข้าราชการ และชนทุกชั้น ได้ทรงมีพระหฤทัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในหมู่ศิษย์ทั้งหลายทั่วกัน
    ไม่เลือกหน้าว่าเป็นบุคคลชั้นใด
    ในขณะที่ยังเป็นภิกษุสามเณรอยู่ในสำนักของพระองค์
    ก็ทรงอนุสาสน์ให้รอบรู้เข้าใจในอรรถธรรมตามสมควรแก่สติปัญญาของตนๆ
    ครั้นเมื่อละเพศพรหมจรรย์แล้ว ก็ยังทรงเป็นพระธุระติดตามประทานโอวาท
    ตามแต่จะทรงหาโอกาสได้ คอยทรงตักเตือนสติและเหนี่ยวใจไว้ให้ฝักใฝ่ในทางธรรม
    อันควรแก่คิหิปฏิบัติ เป็นพระคุณอันแน่ชัดประจักษ์อยู่ในใจแห่งศิษย์ทั้งหลายทั่วกัน

    ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
    พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวชิรญาณวโรรสได้ทรงคุ้นเคย
    และเป็นที่ถูกพระอัธยาไศรยกันมาแต่ยังทรงพระเยาว์
    ได้ทรงสั่งสอนชักจูงพระราชหฤทัยให้น้อมไปในทางศรัทธา
    ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นลำดับมา

    ครั้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ก่อนที่จะเสด็จออกไปศึกษาวิชาการ ณ ประเทศยุโรป
    พระเจ้าบรมวงศ์เธอก็ได้เป็นผู้ทรงรับคำปฏิญญาแสดงพระองค์เป็นอุบาสก


    [​IMG]
    ทรงฉายเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
    ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร
    และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงผนวชเป็นสามเณร
    ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗



    จนถึงเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ ได้ทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์
    เมื่อทรงรับอุปสมบทได้ทรงอนุสาสน์สั่งสอนให้ทรงทราบอรรถธรรม
    และความปฏิบัติอันดีอันงาม ทั้งต่อมาก็ยังได้ทรงตามอนุสาสน์ตักเตือน
    ทรงแนะนำทางที่จะทรงพระราชดำริในทางธรรม
    อันจะควรใช้ประกอบในทางโลก นับว่าทรงมีพระคุณอันใหญ่ยิ่ง
    หาผู้ใดจะเสมอเหมือนได้โดยยากนักในสมัยนี้

    ตามข้อความที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงแลเห็นปรากฏอยู่ว่า

    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส
    ทรงเป็นบุรุษรัตนอันล้ำเลิศประเสริฐสุดยิ่งกว่าบรรดาพระเถรานุเถรทั้งปวง
    ทั้งในคามวาสีอรัญวาสีปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ
    สมควรที่จะให้ดำรงพระเกียรติยศอันใหญ่ยิ่ง
    เช่น อย่างพระบรมวงศ์ที่ได้เคยทรงเป็นใหญ่ในคณะสงฆ์มาแต่ก่อน
    โดยรับมหาสมณุตมาภิเศกและเลื่อนพระอิศริยยศต่างกรม
    ให้สมแก่ความยินดีเลื่อมใส จะได้เป็นที่เคารพสักการบูชา
    เป็นที่นิยมนับถือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์
    ข้าราชการ ตลอดจนถึงมหาชนนิกรที่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาทั่วหน้า

    จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
    ให้ตั้งการมหาสมณุตมาภิเศก และเลื่อนพระอิศริยยศพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
    กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ขึ้นเป็นสมเด็จกรมพระยา
    มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า


    [​IMG]
    พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
    เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น
    สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา



    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ศรีสุคตขัตติยพรหมจารี สรรเพชญรังศีกัลยาณวากย มนุษยนาคอเนญชาริยวงศ์
    บรมพงศาธิบดี จักรีบรมนารถประนับดา มหามกุฎกษัตรราชวรางกูร
    จุฬาลงกรณ์ปรมินทร์สูรครุฐานิยภาดา วชิราวุธมหาราชหิโตปัธยาจารย์
    ศุภศีลสารมหาวิมล มงคลธรรมเจดีย์ สุตพุทธมหากวี ตรีปิฎกาทิโกศล
    เบญจปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเศกาภิษิต
    วิชิตมารสราพกธรรมเสนาบดี อมรโกษินทรโมลีมหาสงฆปรินายก
    พุทธศาสนดิลก โลกุตมมหาบัณฑิตย์ สิทธรรถนานานิรุกติประติภาน
    มโหฬารเมตตาภิธยาศรัย พุทธาทิรัตนตรัยคุณารักษ์ เอกอัครมหาอนาคาริยรัตน์
    สยามาธิปัตยพุทธบริษัทเนตร สมณคณินทราธิเบศสกลพุทธจักรกฤตโยปการ
    มหาปาโมกขประธานสถาวีรวโรดม บรมนารถบพิตร


    เสด็จสถิตย์ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวง มุสิกนาม
    ให้ทรงศักดินา ๓๕๐๐๐ เป็นพิเศษในตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่
    ดำรงพระยศฝ่ายสมณศักดิ เป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ทั้งกรุงเทพมหานคร
    และหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต
    พระราชทานนิตยภัตรบูชาเดือนละ ๘๐ บาท
    ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอน
    ช่วยระงับอธิกรณ์พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วไป
    โดยสมควรแก่อิสริยยศสมณศักดิ จงทรงเจริญพระชนมายุพรรณศุขะพล
    ปฏิภาณคุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิพิพัฒมงคล
    วิบูลยศุภผลจิระถิติกาลในพระพุทธศาสนาเทอญฯ


    [​IMG]
    พระตำหนักจันทร์ (พระตำหนักเดิม) ที่ประทับในวัดบวรนิเวศวิหาร
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)



    ทรงปรับสถานภาพของคณะสงฆ์

    ในปีรุ่งขึ้น หลังจากทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษก คือ พ.ศ. ๒๔๕๔
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ครั้งสำคัญ
    คือ ทรงชี้แจงแก่เสนาบดี กระทรวงธรรมการ
    ถึงผลเสียที่เกิดจากการที่คฤหัสถ์ปกครองคณะสงฆ์
    ดังที่เป็นมาในอดีตและเป็นอยู่ในขณะนั้น
    และทรงแนะนำว่าควรจะถวายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์
    แก่พระองค์ให้เป็นเด็ดขาด ฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช
    เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เรียบร้อย
    เพราะพระด้วยกันย่อมเข้าใจเรื่องของพระด้วยกัน ดีกว่าคฤหัสถ์ซึ่งมิใช่พระ
    ดังความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์ว่า

    “แต่ก่อน คณะแยกกันครอง หรือบางสมัยมีสังฆราช ก็เจริญอายุพรรษา
    มีอยู่ก็เป็นแต่เพียงกิตติมศักดิ์ กระทรวงธรรมการจำต้องทำหน้าที่สังฆราชฯ
    ผลเป็นอย่างไรบ้างฯ ไม่อาจว่าพระให้เรียบร้อยได้ เพราะมิได้เป็นพระด้วยกัน
    ไม่มีความรู้ในฝ่ายพระทั่วถึง ไม่รู้อัธยาศัยของพระแจ้งชัดฯ
    เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่สามารถเพื่อจะระงับความเสียหายอันเกิดขึ้นแล้ว
    และเพื่อจะบำรุงให้ดีขึ้น ได้แต่ทำๆ ไปเช่นนั้น อย่างเดียวกับไล่หนังสือพวกรามัญ
    ผลที่มีก็คือความเสื่อมทรามของพระอันค่อยเป็นไปโดยลำดับฯ
    ในเวลานี้ ได้ฉันเป็นสังฆราชขึ้น หน้าที่กระทรวงธรรมการจะปลดเปลื้องการพระสงฆ์
    ที่ตนไม่ถนัด ถวายฉันเสียให้เป็นเด็ดขาด จะเบาแรงเข้าและการจะดีขึ้นฯ”


    หลังจากที่ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ชี้แจงดังกล่าวแล้ว
    อีก ๖ เดือนต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

    “ได้ทรงมอบการทั้งปวงซึ่งเป็นกิจธุระพระศาสนาถวาย แด่ส
    มเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้เป็นมหาสังฆปริณายก
    เพื่อทรงเป็นพระธุระปกครอง”


    ตั้งแต่เดือนกันยายน ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) เป็นต้นมา
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทย
    ที่ทรงปกครองคณะสงฆ์โดยตรงด้วยพระองค์เอง
    เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสังฆมณฑลของไทย
    กล่าวคือ เป็นการทำให้คณะสงฆ์หลุดพ้นจากการปกครองโดยคฤหัสถ์
    มาสู่การปกครองโดยพระด้วยกันเองเป็นครั้งแรก
    เป็นเหตุให้สมเด็จพระสังฆราชมีพระอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์โดยตรง
    แต่บัดนั้นเป็นต้นมาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
    นับเป็นการปรับสถานภาพของคณะสงฆ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย

    [​IMG]
    ทรงฉายที่วัดสมุหประดิษฐ์ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ในคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลกรุงเก่า
    วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๕๕ พรรษา



    เสด็จตรวจการคณะสงฆ์

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก
    ที่เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่างๆ
    เกือบทั่วพระราชอาณาจักรเท่าที่สามารถจะเสด็จไปได้
    นับแต่ปีที่ ๒ แห่งการทรงดำรงตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ตามหัวเมืองต่างๆ
    เป็นประจำทุกปีมิได้ขาด กระทั่งถึงปีท้ายๆ แห่งพระชนม์ชีพ
    ซึ่งทรงพระประชวรไม่สามารถเสด็จตรากตรำไปตามหัวเมืองต่างๆ ที่ห่างไกลได้
    จึงได้ทรงหยุดการเสด็จตรวจการคณะสงฆ์

    [​IMG]
    ทรงฉายที่วัดสมุหประดิษฐ์ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี
    ร่วมกับพระสงฆ์ในถิ่นนั้น ในคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลกรุงเก่า
    วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๕๕ พรรษา



    ทรงปรับปรุงการพระศาสนาและการคณะสงฆ์ในด้านต่างๆ

    เนื่องจากพระองค์เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ตามหัวเมืองต่างๆ
    ด้วยพระองค์เองอย่างถี่ถ้วนเกือบทั่วพระราชอาณาจักร
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงทราบถึงความเป็นไปของคณะสงฆ์
    ตลอดถึงสภาพของประชาชน
    และความเป็นไปของบ้านเมืองในภูมิภาคต่างๆ เป็นอย่างดี
    ทำให้พระองค์ทรงทราบถึงปัญหาและกำหนดวิธีการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงปรับปรุงแก้ไขการพระศาสนา
    และการคณะสงฆ์ในทุกๆ ด้านเพื่อให้พระพุทธศาสนา
    และคณะสงฆ์มีความเจริญมั่นคงและสามารถทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง
    ได้อย่างเหมาะสมแก่กาละเทศะ กล่าวคือ

    [​IMG]
    ทรงฉายที่วัดสมุหประดิษฐ์ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ในคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลกรุงเก่า
    วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๕๕ พรรษา



    ในด้านการพระศาสนา

    พระองค์ได้ทรงพยายามพัฒนาภิกษุสามเณร
    ให้มีความรู้ความสามารถในพระธรรมวินัย
    เพื่อจักได้แนะนำสั่งสอนประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมแก่สมัย

    โดยทรงพยายามจัดให้ภิกษุสามเณรได้รับการศึกษาพระธรรมวินัย
    ตามสมควรแก่สถานภาพของตน ทรงแนะนำสั่งประชาชนให้รู้จักศึกษาพระพุทธศาสนา
    และรู้จักนำธรรมไปปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมแก่สถานภาพของตน
    ทรงพยายามผลิตตำรา และหนังสือทางพระพุทธศาสนา
    ที่คนทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย ออกเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ
    ทรงแนะนำภิกษุสามเณร ให้รู้จักเทศนาสั่งสอนประชาชน
    ให้เหมาะสมแก่กาลเทศะ และเหมาะแก่ประชาชน

    [​IMG]
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
    ทรงฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระชนมายุได้ ๕๗ พรรษา



    ในด้านการคณะสงฆ์

    พระองค์ได้ทรงออกพระมหาสมณาณัติ
    ประทานพระมหาสมณวินิจฉัยและทรงวางระเบียบแบบแผน
    เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของภิกษุสามเณรในด้านต่างๆ
    ให้ถูกต้องเรียบร้อยยิ่งขึ้น เช่น ระเบียบเกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์
    การบรรพชาอุปสมบท การปกครองภิกษุสามเณรและศิษย์วัด
    การวินิจฉัยอธิกรณ์ ระเบียบเกี่ยวกับสมณศักดิ์พัดยศ นิตยภัต
    ดวงตราประจำตำแหน่ง เป็นต้น
    โดยทรงชี้ให้เห็นว่า ภิกษุสามเณรนั้นนอกจากจะต้องประพฤติปฏิบัติ
    ตามพระธรรมวินัยแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองและจารีตประเพณีด้วย
    การคณะสงฆ์จึงจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย

    ในด้านการศึกษา

    ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ภิกษุสามเณร
    ประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเรียบร้อย
    ตลอดถึงสามารถทำประโยชน์แก่สังคมและชาติบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง
    ฉะนั้น พระองค์จึงได้ทรงพยายามปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันสมัย
    กล่าวคือ การศึกษาพระปริยัติธรรม อันได้แก่การศึกษาภาษาบาลี
    เพื่อให้สามารถอ่านพระคัมภีร์ได้ อันเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ที่มีมาแต่โบราณนั้น
    พระองค์ก็ทรงปรับปรุงให้เหมาะสมและอำนวยประโยชน์แก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
    ได้ทรงจัดการศึกษาพระปริยัติแบบใหม่ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า “นักธรรม”
    ซึ่งเป็นการเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทย
    เพื่อให้ภิกษุสามเณรทั่วไปสามารถเรียนรู้พระธรรมวินัยได้ง่ายขึ้น
    และไม่ต้องใช้เวลาในการเรียนนาน

    [​IMG]
    พระตำหนักซ้าย ที่ประทับทรงงานในวัดบวรนิเวศวิหาร


    นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงพยายามที่จะจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
    โดยการจัดตั้งโรงเรียนของมหามกุฎราชวิทยาลัย
    เพื่อศึกษาวิชาการสมัยใหม่ในลักษณะที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “มหาวิทยาลัย” ขึ้น
    โดยทรงพระดำริว่าจะใช้พื้นที่ตลาดยอด
    (คือบริเวณด้านตะวันตกของวัดบวรนิเวศวิหารบัดนี้)
    ทั้งเกาะ เป็นที่ตั้งโรงเรียนของมหามกุฎราชวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว
    แต่ยังมิทันได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระดำริ
    เพราะไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ

    แต่อีก ๓๕ ปีต่อมา พระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ดังกล่าวแล้ว
    ก็ได้รับการสานต่อจนเกิดเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา
    หรือที่เรียกกันว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของไทยขึ้น
    นั่นคือ สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย
    มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘

    [​IMG]
    พระตำหนักล่าง พระตำหนักที่ประทับแห่งแรกในวัดบวรนิเวศวิหาร
     

แชร์หน้านี้

Loading...