พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 2 ธันวาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


    ประวัติและความสำคัญของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

    วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
    มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑๐,๕๖๖ ตารางวา ๑๔ ตารางศอก
    ตั้งอยู่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างถนนสายใหญ่คือ
    ถนนพระรามที่ ๕ ถนนศรีอยุธยา ถนนราชดำเนินนอก และถนนพิษณุโลก

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณ
    และวางแบบแปลนแผนผังแยกสัดส่วนเป็นเขตพุทธาวาส สังฆาวาส
    และที่ธรณีสงฆ์สำหรับผู้อุปัฏฐากภิกษุสามเณรอยู่อาศัย
    ในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส มีสนามหญ้าและปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น
    กุฏิที่อยู่ของภิกษุสามเณร เป็นระเบียบ ปลอดโปร่ง
    ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง

    ประวัติเดิม

    วัดเบญจมบพิตร เดิมเป็นวัดโบราณมีชื่อว่า “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง”
    ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด
    จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    จึงปรากฏชื่อขึ้นในประวัติศาสตร์ เมื่อเจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์
    ประเทศราชของไทย ได้ก่อการกบฎยกทัพมาตีไทย

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์
    (พระองค์เจ้าพนมวัน พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย
    กับเจ้าจอมศิลา ต้นราชสกุล พนมวัน) เป็นผู้บัญชาการกองทัพในส่วนการรักษาพระนคร
    โดยทรงตั้งกองบัญชาการอยู่ในบริเวณ “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” นี้

    เมื่อเสร็จสิ้นการปราบกบฏแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์
    พร้อมด้วยพระเชษฐภคินี พระขนิษฐภคินี และพระกนิษฐภาดา
    ร่วมเจ้าจอมมารดาอีก ๔ พระองค์ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น
    ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๐-๒๓๗๑
    แล้วทรงสร้างพระเจดีย์ ๕ องค์ รายด้านหน้าวัดเป็นอนุสรณ์

    ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า
    “วัดเบญจบพิตร” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นวัดของเจ้านาย ๕ พระองค์
    หรือวัดที่เจ้านาย ๕ พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น

    การเริ่มสถาปนา

    ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    รัชกาลที่ ๕
    มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างพระราชอุทยาน
    เป็นที่ประทับแรมสำราญพระราชอิริยาบถในวันสุดสัปดาห์
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่บริเวณด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง
    ระหว่างคลองสามเสนกับคลองผดุงกรุงเกษม
    ซึ่งเป็นที่สวนและทุ่งนา ตามราคาจากราษฎร
    ด้วยพระราชทรัพย์สำหรับใช้จ่ายการในพระองค์ พระราชทานนามว่า “สวนดุสิต”

    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มลงมือตัดไม้ ปรับพื้นที่เพื่อสร้างสวนดุสิต
    เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๑ และได้ทำการสืบมา
    จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ จึงได้เสด็จเถลิงพลับพลาเป็นครั้งแรก

    การสร้างสวนดุสิต ได้ใช้พื้นที่ของวัดดุสิต หรือวัดดุสิดาราม
    ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม มีภิกษุอยู่เพียง ๑ รูป เป็นที่สร้างพลับพลา
    และที่วัดร้างอีกวัดหนึ่งตัดเป็นถนนภายในสวนดุสิตด้วย
    ประกอบกับมี “วัดเบญจบพิตร”
    ที่ชำรุดทรุดโทรมอยู่ใกล้เขตพระราชฐานด้านทิศใต้ด้วย
    จึงมีพระราชดำริที่จะทรงทำ “ผาติกรรม”

    สถาปนาวัดขึ้นใหม่ โดยมีพระราชประสงค์สำคัญคือ

    ๑. เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก
    เมื่อทรงใช้ที่วัดสร้างพระราชอุทยาน ก็ทรงทำ “ผาติกรรม”
    สร้างวัดขึ้นทดแทนตามประเพณี โดยสร้างเพียงวัดเดียว
    แต่ทำให้เป็นพิเศษ วิจิตรงดงาม สมควรที่จะเป็นวัดอยู่ใกล้เขตพระราชฐาน

    ๒. เป็นที่แสดงแบบอย่างทางการช่างของสยามประเทศ
    โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
    ออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถพร้อมพระระเบียงอย่างวิจิตรงดงาม
    ด้วยแบบอย่างศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ

    ๓. เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมพระพุทธรูปโบราณสมัยและปางต่างๆ
    ที่สร้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้ประชาชนเห็นเป็นแบบอย่าง
    ภายในพระระเบียง ซุ้มมุขหลังพระอุโบสถ และซุ้มมุขด้านนอกพระระเบียง

    ๔. เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิชาชั้นสูงซึ่งทรงเรียกว่า
    “คอเลซ” (College) เป็นการเกื้อกูลแก่คณะสงฆ์มหานิกาย

    ๕. เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งพระองค์
    โดยเมื่อสถาปนาขึ้นแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเบญจมบพิตร”
    ซึ่งหมายถึงวัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ กับได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ว่า

    เมื่อพระองค์สวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว
    ให้นำพระสรีรางคารไปบรรจุไว้ใต้รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช
    ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคารตามพระราชประสงค์

    เมื่อเริ่มการสถาปนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างในวัดเดิมทั้งหมด
    ปรับพื้นที่ก่อสร้าง สังฆเสนาสน์สำหรับพระสงฆ์สามเณรอยู่อาศัยได้ ๓๓ รูป
    เท่ากับปีที่ทรงครองราชสมบัติ โดยทรงมอบหมายให้
    เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา เมื่อครั้งเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช)
    เป็นผู้รับผิดชอบ กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถชั่วคราว
    เป็นอาคารไม้หลังคามุงจาก เพื่อทำสังฆกรรมไปพลางก่อน

    วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒
    ซึ่งเป็นวันเสด็จเถลิงพลับพลาประทับแรมที่สวนดุสิตครั้งแรก
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเบญจมบพิตร
    ทรงประเคนประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่วิสุงคามสีมาแก่
    สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นประธานสงฆ์

    สมเด็จพระวันรัต อ่านประกาศพระบรมราชูทิศในที่ประชุมสงฆ์
    ซึ่งปรากฏข้อความในประกาศพระบรมราชูทิศตอนหนึ่งว่า

    “.....ทรงพระราชทานนามวัด วัดเบญจมบพิตร
    แสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์.....”


    จึงถือได้ว่า วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นวันที่
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ทรงประกาศสถาปนาวัดเบญจมบพิตรขึ้น แล้วได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นลำดับมา

    ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เมื่อการก่อสร้างสังฆเสนาสน์แล้วเสร็จตามพระราชประสงค์ในขั้นแรก
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แห่พระสงฆ์สามเณร ๓๓ รูป
    ซึ่งโปรดให้คัดเลือกได้แล้ว และให้รวมฝึกอบรมอยู่ที่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์
    ไปอยู่วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓

    และในคราวนี้เองได้พระราชทานที่วัดเพิ่มเติม
    และสร้อยนามต่อท้ายชื่อวัดว่า “ดุสิตวนาราม”
    เรียกรวมกันว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม”

    [​IMG]
    พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๕
    เมื่อครั้งทรงผนวช องค์สถาปนาวัด
    และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิดติวงศ์
    องค์สถาปนิกผู้ออกแบบพระอุโบสถ



    ในส่วนพระอุโบสถถาวร และพระระเบียง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
    (พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ต้นราชสกุล จิตรพงศ์) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
    เป็นสถาปนิกเขียนแบบแปลนแผนผัง และเริ่มการก่อสร้างต่อไป
    พร้อมๆ กับการก่อสร้างเสนาสนะอื่นๆ

    ส่วนการก่อสร้างนั้น พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล บุตรพระยาราชสงคราม ทัด)
    ช่างก่อสร้างฝีมือดีที่สุดในขณะนั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างมาตามลำดับ

    จนถึงวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต
    การก่อสร้างสังฆเสนาสน์อื่นๆ ยังไม่แล้วเสร็จครบถ้วน
    ตามแผนผังที่ทรงวางไว้ การประดับตกแต่งพระอุโบสถบางส่วน
    และสังฆเสนาสน์บางแห่ง ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามพระราชประสงค์

    ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
    จึงทรงดำเนินการต่อมา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้ยกช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ขึ้น
    และเมื่อหินอ่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อจากประเทศอิตาลีเข้ามาถึงแล้ว
    ก็โปรดเกล้าฯ ให้ประดับในส่วนที่ยังค้างอยู่จนเรียบร้อย
    กับให้ช่างกรมศิลปากรเขียนผนังภายในพระอุโบสถด้วยสีน้ำมัน
    เป็นลายไทยเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาว ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

    พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรและพระระเบียงที่ประดับตกแต่งแล้ว
    จึงวิจิตรงดงามสมบูรณ์แบบด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ
    อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ดังปรากฏสืบมาถึงปัจจุบัน

    ส่วนพระอุโบสถไม้ชั่วคราวหลังเดิม
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อไปสร้างเป็นพระอุโบสถวัดวิเวกวายุพัด
    ตำบลคลองจิก อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

    [​IMG]
    พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิดติวงศ์
    องค์สถาปนิกผู้ออกแบบพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    พระอุโบสถ อันถือเป็น “สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย” สร้างด้วย
    หินอ่อนจากประเทศอิตาลี เป็นทรงจัตุรมุข หลังคาซ้อน ๔ ชั้น มีพระระเบียงรอบด้านหลัง



    วิจิตรพุทธศิลป์แห่งศาสนสถานและศาสนวัตถุภายในวัด

    พระอุโบสถ

    ลักษณะทั่วไปของพระอุโบสถ เป็นแบบจตุรมุข มุขด้านตะวันออกขยายยาว
    ด้านเหนือและใต้มีมุขกระสันต่อกับพระระเบียง หลังคา ๔ ชั้น
    ด้านมุขกระสันทิศเหนือและทิศใต้ ๕ ชั้น มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลัง

    ด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา
    มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม
    คือเครื่องหมาย “สีมา” สำหรับด้านหน้า
    ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น

    ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา

    มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน ๔ ต้น
    ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน ๒ ตัว
    ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่
    เป็นผู้ปั้นแบบ ตามภาพที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียน

    ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อน ๔ เหลี่ยม
    สีขาวบริสุทธิ์ หนา ๓ เซนติเมตร

    มุขตะวันตกด้านนอก มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้า และที่ซุ้มจรนำ
    ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ เป็นพระยืนทรงเครื่องสมัยลพบุรี ปางห้ามญาติ
    ถวายพระนามว่า “พระธรรมจักร” เพราะที่ฝ่าพระหัตถ์สลักเป็นรูปพระธรรมจักร

    กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระอังคาร
    สมเด็จพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
    (พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม ซึ่งทรงอภิบาลเลี้ยงดู
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แต่พระเยาว์มา
    ประหนึ่งสมเด็จพระราชชนนี) ใต้ฐานพระด้วย

    ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ อ่อนช้อย
    รับกันทุกชิ้นมีคันทวยรับเชิงชายเป็นระยะๆ

    หลังคาพระอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู
    ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม
    ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร
    ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีน

    หน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯ ให้ผูกลายประกอบพระราชลัญจกรต่างๆ คือ

    ๑. หน้าบันมุขตะวันออก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ
    ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร “พระครุฑพาห์”
    ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูงประกอบซ้ายขวาด้วย

    ๒. มุขตะวันตก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นอุณาโลมในบุษบก
    ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร “มหาอุณาโลม” หรือ “มหาโองการ”

    ๓. มุขเหนือ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นช้างสามเศียร บนหลังมีบุษบก
    ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร “ไอยราพต”

    ๔. มุขใต้ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นรูปจักรรถ
    ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร “จักรรถ”
    แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ “พระธรรมจักร”
    จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “พระธรรมจักร”

    [​IMG]
    บานประตูพระอุโบสถ ด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพทวารบาล
    ด้านในเขียนภาพลายรดน้ำเหมือนด้านนอก



    อนึ่ง ในการผูกลายประกอบพระราชลัญจกร
    นอกจาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แล้ว
    ส่วนหนึ่ง พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากร
    (พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)
    ช่วยเขียนแบบ และอยูในกำกับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ด้วย

    บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพเทวดารักษาประตู (ทวารบาล)
    ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก
    บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมาร (ยักษ์) แบก
    ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก

    ภายในพระอุโบสถ มุขตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธชินราช
    ด้านหน้าพระพุทธชินราชเป็นรั้วหินอ่อนกลมสีเขียวหยก

    พระแท่นรัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช ผนังเสมอกรอบหน้าต่าง
    และพื้นพระอุโบสถ ประดับหินอ่อนหลากสี

    ณ พระแท่นรัตนบัลลังก์นั้น
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระสรีรางคาร
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงสถาปนาวัด

    ผนังเหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปซึ่งเป็นส่วนถือปูน
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้ช่างกรมศิลปากรเขียนลายไทยเทพนมทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
    สีเหลืองบนพื้นขาวอมเหลืองอ่อน ตลอดถึงเพดาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗

    [​IMG]
    กระจกรับแสง เขียนสีลายไทยเทพพนมอย่างงดงาม เหนือช่องหน้าต่าง


    เหนือหน้าต่าง ๑๐ ช่อง เป็นช่องกระจกรับแสง
    เขียนสีลายไทยเทพนม โดยช่างกรมศิลปากร
    ออกแบบสั่งทำจากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี
    ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงรับเป็นเจ้าภาพ

    ด้านบน ขื่อในและขื่อนอก ๓ ชั้น ลงรักปิดทองลายรดน้ำ
    เพดานในล่องชาด ประดับดาวกระจาย ๒๓๒ ดวง ดาวใหญ่ ๑๑ ดวง
    มีโคมไฟระย้าแก้วขาวอย่างดี ตราเลข ๕ ซึ่งเป็น ตราวัดเบญจมบพิตร
    ๖ โคม พร้อมสายบรอนซ์ ซึ่งสั่งทำจากประเทศเยอรมนี

    ช่องคูหาทั้ง ๘ เขียนภาพสถูปเจดีย์ที่สำคัญทุกภาค
    จัดเป็น “จอมเจดีย์” ในประเทศไทย
    โดยว่าจ้างให้กรมศิลปากรออกแบบและเขียน
    แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คือ

    พระมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี,
    พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม,
    พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช,
    พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดนครศรีอยุธยา,
    พระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย,
    พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม,
    พระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน,
    พระศรีรัตนธาตุ จังหวัดสุโขทัย

    อนึ่ง เฉพาะช่อง “พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช” นั้น
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับเป็นเจ้าภาพ
    ส่วน ช่อง “พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม”
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงรับเป็นเจ้าภาพ
    นอกจากนี้มีพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีจิตศรัทธารับเป็นเจ้าภาพ

    สำหรับหินอ่อนที่ประดับตกแต่งพระอุโบสถ พระระเบียง
    ตลอดจนสถานที่อื่นๆ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
    ทรงวัดขนาดทำแบบส่งไปเป็นตัวอย่าง
    โดยเรียกประกวดราคาโดยตรงจากบริษัทขายหินอ่อน ประเทศอิตาลี

    และในการออกแบบประดับหินอ่อน มีวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียน
    จากกรมโยธาธิการ ร่วมดำเนินการด้วยคือ วิศวกร อัลเลกริ (Carlo Allegri)
    ประสานงานสั่งซื้อหินอ่อน, สถาปนิก ตะมาโย (Mario Tamagno)
    เป็นผู้ช่วยเขียนแบบบางส่วน

    สำหรับหินอ่อนทั้งหมดนั้น ได้มีการสั่งซื้อและเรียกประกวดราคาไปหลายแห่ง
    ส่วนหนึ่งเป็นหินอ่อนจาก ห้างโนวี ยัวเสปเป้ (Novi Guiseppe) เมืองเยนัว
    กับหินอ่อนจาก เมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี
    ที่ถือว่าเป็นเมืองที่มีหินอ่อนมากและดีที่สุด

    มีเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อมากมายเป็นหลักฐาน
    มิใช่เป็นหินอ่อนที่เหลือจากสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม
    ดังที่นักเขียนหลายๆ คนเข้าใจและเขียนเผยแพร่อยู่ในหนังสือต่างๆ แต่อย่างใด
    โดยในช่วงแรกมี มิสเตอร์ มูโซ่ (Mr. L. Mosso) ซึ่งเป็นช่างจากบริษัทขายหินอ่อน
    เป็นนายช่างประดับหินอ่อน มีช่างคนไทยเป็นลูกมือ

    [​IMG]
    สิงห์สลักหินอ่อนนั่งเฝ้าพระอุโบสถอยู่ด้านหน้า
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    พระพุทธชินราชจำลอง ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระอุโบสถ
    ใต้ฐานบัลลังก์บรรจุพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕



    พระพุทธชินราชจำลอง

    พระพุทธชินราชจำลอง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
    เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งสมาธิราบ สมัยสุโขทัย
    จำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
    ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก วัสดุสัมฤทธิ์

    พระพุทธชินราชจำลอง มีขนาดหน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๕ นิ้ว มีเศษ
    น้ำหนักทองที่ใช้หล่อ ๓,๙๔๐ ชั่ง

    ตามตำนานเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    สถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๒
    โปรดให้ออกแบบพระอุโบสถตกแต่งไว้ด้วยหินอ่อนงดงามวิจิตร
    จำเป็นต้องแสวงหาพระประธานที่มีความทัดเทียมกัน

    ทรงระลึกได้ว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๙ ทรงบรรพชาเป็นสามเณร
    ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    ไปนมัสการพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่งดงามไม่มีที่เปรียบ
    แต่การจะอัญเชิญลงมา ย่อมไม่สมควร
    ด้วยเป็นสิริของชาวพิษณุโลก จึงมีดำริให้หล่อขึ้นใหม่

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระประสิทธิปฏิมา
    (ม.ร.ว.เหมาะ ดวงจักร เมื่อครั้งเป็นหลวงประสิทธิปฏิมา)
    จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดีที่สุด
    ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิมที่
    วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก แล้วเสด็จพระราชดำเนิน
    ทรงเททองหล่อเป็นส่วนๆ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔

    อัญเชิญล่องเรือมาคุมองค์และแต่งที่กรมทหารเรือ
    โดย พระยาชลยุทธโยธิน (Andre du Plessis de Richelieu)
    ชาวเดนมาร์ก เข้ามารับราชการเป็นทหารเรือ
    มียศเป็นพลเรือโท ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ
    เป็นผู้ควบคุมการแต่งองค์พระ เสร็จแล้วเชิญลงเรือมณฑป
    แห่ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
    เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔

    การทั้งปวงตั้งแต่ปั้นหุ่น หล่อ ตกแต่ง และอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน
    ในพระอุโบสถสำเร็จเรียบร้อยดี ทรงปีติโสมนัสอย่างยิ่ง

    “จึงทรงเปลื้องสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นพรัตน์ราชวราภรณ์
    ซึ่งกำลังทรงอยู่นั้น ถวายพระพุทธชินราชเป็นพุทธบูชา”


    เมื่อเชิญพระพุทธชินราชขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ
    เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับราชตระกูล
    ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้อย่างดี
    และอัญเชิญมาคล้องถวายที่พระหัตถ์พระพุทธชินราชจำลอง
    ในวันปิยมหาราช ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี

    ต่อมาถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้จ้าง มร.จุรุหระ (Mr. Tsuruhara)
    ครูช่างในโรงเรียนวิชาช่างกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
    เข้ามาทำการปิดทองจนแล้วเสร็จ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้จัดงานสมโภชในวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓

    พระพุทธชินราชจำลอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งสมาธิราบ
    สมัยสุโขทัย มีเรือนแก้ว ประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์หินอ่อน
    เรือนแก้วนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำถวาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ แต่ช่างทำไม่งาม
    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
    จึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขใหม่สวยงามตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

    [​IMG]
    พระระเบียงคด (พระวิหารคด) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


    พระระเบียงคด (พระวิหารคด)

    สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
    ทรงออกแบบพระระเบียงให้เชื่อมต่อมุขกระสันพระอุโบสถ
    ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ โอบอ้อมไปบรรจบด้านหลังพระอุโบสถ
    โดยเว้นเนื้อที่เป็นลานกว้าง มีประตูด้านทิศตะวันตก
    ตรงกับมุขตะวันตกของพระอุโบสถ ด้านใต้และด้านเหนือ มีด้านละ ๒ ประตู
    บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพเสี้ยวกาง
    ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก

    บริเวณหลังพระอุโบสถ เป็นลานกว้าง ปูด้วยหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา

    พื้นพระระเบียงปูหินอ่อนสีเหลืองอ่อนและสีขาวตลอด

    เสาพระระเบียงเป็นเสากลมหินอ่อนทั้งแท่ง ๖๔ ต้น
    เสาเหลี่ยมประกบแผ่นหินอ่อน ๒๘ ต้น ปลายเสาปั้นบัวประดับกระจกทั้งหมด

    ผนังด้านในถือปูน ด้านนอกประดับแผ่นหินอ่อนสีขาว และทำเป็นหน้าต่างทึบ
    มีหินอ่อนเป็นลูกกรง รอบพระระเบียง รวม ๔๘ ช่อง

    ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ

    หน้าบัน เป็นภาพจำหลักลายไทยประกอบตราประจำกระทรวงต่างๆ
    ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตามที่ได้ทรงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินเป็น ๑๐ กระทรวง

    พิจารณาดูจากด้านทิศใต้ (ริมคลอง)
    มุขตะวันออกวนไปทิศใต้และทิศตะวันตก ตามลำดับดังนี้

    ๑. ตราราชสีห์ ประจำกระทรวงมหาดไทย

    ๒. ตราพระยมทรงสิงห์ ประจำกระทรวงนครบาล

    ๓. ตราพระสุริยมณฑล (ใหญ่) มีนกยูงรำแพนอยู่ท้ายรถที่เทียมราชสีห์
    ประจำกระทรวงคลังมหาสมบัติ

    ๔. ตราพระเพลิงทรงระมาด ประจำกระทรวงธรรมการ

    ๕. ตราบัวแก้ว (อยู่หน้าบันซุ้มประตูหลังด้านนอก) ประจำกระทรวงต่างประเทศ

    ๖. ตราพระพิรุณทรงนาค (อยู่หน้าบันซุ้มประตูหลังด้านใน)
    ประจำกระทรวงเกษตราธิการ

    ๗. ตราพระรามทรงรถ ประจำกระทรวงโยธาธิการ (ต่อมาเป็นกระทรวงคมนาคม)

    ๘. ตราจันทรมณฑล (มีกระต่ายนั่งท้ายรถ) ประจำกระทรวงยุติธรรม

    ๙. ตราพระนารายณ์ยืน (บน) ท่าอสูร ตรานี้น่าจะประจำกระทรวงวัง
    ที่เหลืออยู่เพียงกระทรวงเดียว (เพราะกระทรวงที่ ๑๐ ต่อไปก็ทราบแน่ชัดแล้ว)
    แต่ตามเอกสารยืนยันว่า กระทรวงวังใช้ตราพระมหาเทพทรงนนทิกร (พระโคเผือก)
    จึงอาจเป็นไปได้ว่า เป็นตราประจำกระทรวงวังเดิม)

    ๑๐. ตราคชสีห์ ประจำกระทรวงกลาโหม

    [​IMG]
    พระพุทธรูปปางต่างๆ ในแต่ละสมัย
    ประดิษฐานรอบพระระเบียงคด (พระวิหารคด) ด้านหลังพระอุโบสถ



    ภายในพระระเบียง ขื่อลงรักปิดทองลายรดน้ำ เพดานล่องชาด
    ประดับดาวทอง ๖๑๐ ดวง ประดิษฐานพุทธรูปต่างๆ จำนวน ๕๒ องค์
    ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์มีทั้งพระพุทธรูปโบราณ
    และหล่อขยายหรือย่อส่วนจากพระพุทธรูปโบราณ
    โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
    (พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ต้นราชสกุลดิศกุล) ทรงเสาะหามาทั้งในกรุงเทพฯ
    และหัวเมือง ตลอดจนถึงต่างประเทศ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น พม่า และลังกา

    พระพุทธรูปทั้ง ๕๒ องค์นี้ บางองค์ที่ควรกล่าวถึงเป็นการเฉพาะ
    เนื่องจากมีผู้สนใจเป็นพิเศษ ดังนี้คือ

    องค์แรก

    เป็นพระพุทธรูปปาง “ทุกรกิริยา” (ลำดับที่ ๗)
    เป็นพุทธจริยาตอนที่พระพุทธองค์ ทรงบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยาจนพระวรกายซูบผอม
    แสดงถึงจินตนาการและสุนทรีย์ทางศิลปะอย่างเอกของช่าง
    พระพุทธรูปองค์นี้หล่อขยายจากพระพุทธรูปปูนพลาสเตอร์
    ที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เมืองละฮอร์ ประเทศอินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน)
    จำลองจากพระพุทธรูปศิลาโบราณ สมัยคันธาระ โดยช่างชาวโยนก
    ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ส่งเข้ามาถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

    [​IMG]
    พระพุทธรูปปางลีลา แสดงพุทธลีลาเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์
    เพื่อโปรดพุทธมารดาประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณรอบพระระเบียงคด (พระวิหารคด)



    องค์ที่สอง

    คือพระพุทธรูป “ปางลีลา” (ลำดับที่ ๒๖)
    แสดงถึงพุทธจริยาหรือพุทธลีลาตอนที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์
    หรือเสด็จโปรดเวไนยสัตว์ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะลีลางามเป็นเลิศ
    เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้ชม ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล
    ทรงเขียนไว้ในหนังสือศิลปะในประเทศไทยว่า

    “งดงามไม่แพ้ประติมากรรมชิ้นเอกอื่นๆ ในโลก”

    นอกจากพระพุทธรูปภายในพระระเบียงแล้ว ด้านนอกใต้หน้าบันด้านตะวันตก
    มุมทิศเหนือและทิศใต้ เป็นมุขซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาโบราณ
    ในพระอริยายถยืน ๔ องค์คือ พระศิลาสมัยทวาราวดี ประทับยืนบนฐานบัว
    มีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษามอญโบราณ
    ซึ่งแปลได้ความว่า

    “เจ้าปู่ (พร้อมกับ) ลูกหลานได้กระทำองค์พระพุทธรูปให้เปล่งปลั่ง”

    ได้มาจากวัดข่อย จังหวัดลพบุรี,
    พระศิลาสมัยทวาราวดี ได้มาจากจังหวัดลพบุรี,
    พระศิลาสมัยอมราวดี ได้มาจากเมืองลังกา (ศรีลังกา)
    และพระศิลาสมัยอยุธยา ได้มาจากจังหวัดลพบุรี

    [​IMG]
    พระที่นั่งทรงธรรม


    นอกจากนี้ ภายในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
    ยังมีศาสนสถานและศาสนวัตถุที่น่าใจอีกหลายประการ อาทิ

    พระที่นั่งทรงผนวช
    วิหารสมเด็จ สผ.
    พระที่นั่งทรงธรรม
    หอระฆังบวรวงศ์
    ศาลาสี่สมเด็จ
    ศาลาหน้าพระอุโบสถ
    คลองน้ำ
    ศาลาตรีมุข
    สะพาน
    สังฆเสนาสน์
    โรงเรียนเบญจมบพิตร
    ต้นพระศรีมหาโพธิ์
    ศาลาอุรุพงษ์
    กำแพงวัด
    หอสมุด ป. กิตติวัน
    พิพิธภัณฑ์พระอนุสรณ์ อปก.
    ศาลาร้อยปี
    ศาลาธรรมชินราช และ ฯลฯ

    [​IMG]
    พระที่นั่งทรงผนวช
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    พระรูปหล่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
    ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์พระอนุสรณ์ อปก. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม



    พระอารามหลวงอันเป็นศรีสง่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม นับจำเดิมแต่กาลสมัยที่
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้น
    จนถึงรัชกาลปัจจุบันได้รับพระมหากรุณาธิคุณอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์มาโดยตลอด

    นอกจากจะเป็นพระอารามหลวงสำคัญเป็นที่เชิดหน้าชูตาสง่างาม
    เป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
    ดังได้กล่าวมาแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในทางการคณะสงฆ์ไทย ดังนี้คือ

    การปกครองคณะสงฆ์

    เจ้าอาวาสและพระเถรานุเถระของวัดนี้ มีตำแหน่งเป็น
    พระสังฆาธิการปกครองคณะสงฆ์ต่างต่างวาระกัน
    ตั้งแต่ระดับสูงสุด คือ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
    ลงมาถึงระดับสังฆนายก เจ้าคณะใหญ่ กรรมการมหาเถรสมาคม
    เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ
    เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ศิษย์วัดเบญจมบพิตรเป็นอย่างยิ่ง

    [​IMG]
    ขวา : พระรูปหล่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
    ซ้าย : รูปหล่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาส
    ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์พระอนุสรณ์ อปก. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม



    การศึกษาของคณะสงฆ์

    นอกจากการจัดตั้งและดำเนินการสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
    อันเป็นส่วนการศึกษาพระปริยัติธรรม
    ซึ่งมีผู้สอบได้นักธรรมตรี-โท-เอก และเปรียญ ๓-๙ ประโยคเป็นจำนวนมากแล้ว

    ยังได้ส่งเสริมการศึกษาของภิกษุสามเณรในฝ่ายคดีโลกอีกด้วย
    มีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี-โท-เอก
    ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย

    ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับเยาวชน
    ได้มีการจัดการศึกษาสงเคราะห์แก่ชาวเขา
    ให้การสนับสนุนการจัดโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาภายในวัด
    อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งยังได้ให้ทุนการศึกษา
    ทั้งระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา อีกจำนวนมากทุกปี

    การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

    นอกจากการแสดงพระธรรมเทศนา บรรยายธรรม การฝึกอบรมสมาธิ
    ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำแล้ว ยังเป็นวัดแรกที่จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
    ร่วมกับกรมประชาสงเคราะห์ดำเนินการโครงการพระธรรมจาริกแก่ชาวเขา
    ร่วมกับทางคณะสงฆ์ดำเนินการโครงการพระธรรมทูต
    ส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ

    ดำเนินการสร้างวัดไทยเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
    ตลอดจนดูการพระศาสนาและเผยแผ่ในทวีปเอเชียแทบทุกประเทศ

    [​IMG]
    พระพุทธรูปปางต่างๆ ในแต่ละสมัย
    ประดิษฐานรอบพระระเบียงคด (พระวิหารคด) ด้านหลังพระอุโบสถ



    การสาธารณูปการ

    นอกจากการบูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุภายในพระอารามแล้ว
    ยังมีการจัดตั้งห้องสมุดของวัดขึ้น
    เพื่อเป็นที่ศึกษาค้นคว้าของพระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป
    ที่สำคัญคือ วัดเบญจมบพิตรได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ทางพุทธศิลป์อีกแห่งหนึ่ง

    นอกจากสถาปัตยกรรมอันสวยงามวิจิตรประณีต
    ของสิ่งก่อสร้างต่างๆ อันมีพระอุโบสถเป็นต้นแล้ว

    ยังเป็นที่เก็บรวบรวมพระพุทธรูปปางต่างๆ ขนาดและสมัยต่างๆ มากมาย
    เป็นแหล่งศึกษาศิลปะโบราณคดีด้านพุทธศิลป์เป็นอย่างดี

    การวางผังและจัดภูมิทัศน์ของพระอารามแห่งนี้สวยงาม
    เป็นที่น่าทัศนาและเจริญใจของผู้เข้ามาเยี่ยมชม และบำเพ็ญกุศลเป็นอย่างยิ่ง

    อนึ่ง เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
    คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ
    ได้มอบหมายให้กรมการปกครองจัดพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ขึ้น
    ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
    เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นน้ำสรงอภิเษกแด่
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลปัจจุบัน
    เนื่องในการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
    ครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒


    [​IMG]
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    <HR> [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
    พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๔


    วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
    แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



    พระประวัติในเบื้องต้น

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
    มีพระนามเดิมเมื่อแรกประสูติว่า “ลำจวน ศิริสม”
    ภายหลังจึงทรงเปลี่ยนเป็น “จวน” พระนามฉายาว่า “อุฏฐายี”
    ประสูติเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๐ ตรงกับวันอาทิตย์
    แรม ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา นพศก จุลศักราช ๑๒๕๙ (ร.ศ. ๑๑๖)
    ที่บ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

    โยมบิดามีนามว่า “หงส์ ศิริสม” เป็นชาวโพธาราม
    ท่านปู่สืบเชื้อสายมาจากจีนแซ่ตัน ท่านย่าสืบเชื้อสายมาจากชาวเวียงจันทน์

    ส่วนโยมมารดามีนามว่า “จีน” นามสกุลเดิมว่า “ประเสริฐศิลป์”
    ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

    ซึ่งในบั้นปลายของชีวิตได้ปลงผม นุ่งขาวห่มขาวเป็นอุบาสิกา
    รักษาศีลแปดตลอดมาเป็นเวลาประมาณ ๓๐ ปี
    และถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๘๘ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๕)

    ส่วนท่านบิดา ภายหลังได้อุปสมบทเป็นภิกษุมาอยู่ที่
    วัดมกุฏกษัตริยาราม จนถึงมรณภาพ เมื่ออายุ ๘๔ ปี

    ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นบุตรหัวปีในจำนวนบุตรธิดาทั้งหมด ๗ คน

    [​IMG]
    ท่านหงส์ ศิริสม โยมบิดา


    ประถมวัยและประถมศึกษา

    พ.ศ. ๒๔๔๙ : พระชนมายุ ๙ พรรษา

    ได้เข้าศึกษาหนังสือไทยที่โรงเรียนวัดคฤบดี ตำบลบ้านปูน
    อำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี จนจบชั้นปีที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑
    แล้วลาออกจากโรงเรียน กลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิมถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๑

    พ.ศ. ๒๔๕๒ : พระชนมายุ ๑๓ พรรษา

    เมื่อเรียนจบประถมศึกษาแล้วได้สมัครเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนนายร้อยทหารบก
    (โรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร.) แต่ป่วยเป็นโรคเหน็บชาเสีย
    จึงต้องกลับออกไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาเดิม และไม่ได้กลับเข้ามาเรียนต่ออีก

    พ.ศ. ๒๔๕๓ : พระชนมายุ ๑๔ พรรษา

    ท่านบิดามารดา ต้องการให้เรียนทางพระศาสนา
    จึงนำไปฝากให้อยู่กับ พระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทตฺต)
    เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม (วัดเขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี ผู้เป็นพี่ของตา

    พระวัดเขาวังเล่ากันต่อมาว่า ท่านเจ้าคุณมหาสมณวงศ์
    เคยออกปากทำนายท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไว้ว่า

    “ลักษณะอย่างนี้ ต่อไปจะได้ดี”

    นัยว่าท่านหมายถึงพระเศียรที่มีลักษณะคล้ายกระพองช้าง

    พ.ศ. ๒๔๕๔ : พระชนมายุ ๑๕ พรรษา

    พระสาสนโสภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗) เมื่อครั้งครั้งยังเป็น พระอริยมุนี
    ได้ออกเดินธุดงค์ไปพักที่ถ้ำเขาย้อยอยู่พอสมควรแล้ว
    เดินทางต่อไปเยี่ยมพระมหาสมณวงศ์ ที่วัดมหาสมณาราม
    ในฐานะที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในคณะ และเกี่ยวข้องกันทางญาติสัมพันธ์
    พระมหาสมณวงศ์จึงขอฝากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ กับ พระอริยมุนี
    ให้มาอยู่ศึกษาปริยัติธรรมที่วัดมกุฏกษัตริยาราม

    พ.ศ. ๒๔๕๕ พระชนมายุ ๑๖ พรรษา

    ในราวเดือนเมษายน พระองค์ได้เดินทางเข้ามาอยู่กับ พระสาสนโสภณ (แจ่ม)
    เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอริยมุนี ที่คณะนอก วัดมกุฏกษัตริยาราม
    โดยมีนายเขียน ประเสริฐศิลป์ ผู้เป็นน้านำมาส่ง
    และ ทรงเริ่มศึกษาบาลีไวยากรณ์กับท่านเจ้าคุณอาจารย์บ้าง
    กับ พระมหาจิณ จิณฺณาจาโร ป.ธ. ๔ บ้าง
    และศึกษาต่อกับ พระมหาสุข สุขทายี ป.ธ. ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๕๖

    [​IMG]
    เมื่อพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    ทรงบรรพชาและการศึกษา

    ทรงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๕๗
    ณ พระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยาราม
    โดย มี พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.ธ. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์
    และ พระอริยมุนี (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗) เป็นพระสรณคมนาจารย์

    แล้วทรงศึกษาธรรมวินัยในสำนัก พระอริยมุนี (แจ่ม)
    ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ทรงสอบไล่องค์นักธรรมชั้นตรีภูมิของสามเณรได้

    พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงเข้าศึกษาธรรมบทกับ พระพินิตพินัย (ชั้น กมาธิโก)
    เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาชั้นเปรียญ ๕ ประโยคในโรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์

    [​IMG]
    ทรงฉายเมื่อครั้งบรรพชา พ.ศ. ๒๔๕๘ พระองค์ที่ ๓ (จากซ้าย-แถวยืน)


    อนึ่ง ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๕๙ นั้น
    ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม มีสามเณรเรียนธรรมและบาลีอยู่มาก

    เช่น สามเณรจิตต์ (นิวาศะบุตร) สามเณรลำจวน (ศิริสม)
    สามเณรเพ็ญ (สุนทรพะลิน) สามเณรสุข (จีนังกูร)
    สามเณรกูล (นิวาศบุตร) สามเณรอู๋ (ตาดอุดร) สามเณรทองสืบ (ศุภมาร์ค)
    สามเณรสิงโต (ศรีเกษ) สามเณรโด๋ (แจ่ม จรรยา) ฯลฯ


    ได้ชักชวนกันออกวารสารรายปักษ์ขึ้นฉบับหนึ่ง ให้ชื่อว่า “สยามวัด”
    เพื่อเป็นสนามสำหรับฝึกหัดแต่งโคลง กาพย์ กลอน กลบท และฉันท์
    และจัดให้มีการประกวดแต่งโคลง ฉันท์ เป็นต้น

    ในจำนวนสามเณรเหล่านี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีลายมือสวย
    จึงได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณาธิการรวบรวมและเขียนลงในสมุด
    ครั้งละ ๑-๒ เล่ม สำหรับนำออกอ่านในที่ประชุม ณ วันโกนแห่งปักษ์ทุกกึ่งเดือน

    วารสารนี้ดำเนินมาได้เกือบ ๒ ปีจึงหยุดไป
    เพราะทุกรูปมีภาระที่จะต้องเรียนมากขึ้น

    การหัดแต่งกวีนิพนธ์ในครั้งนั้น ทำให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ
    เป็นผู้สามารถการประพันธ์โคลง ฉันท์ เป็นต้น ส่วนหนึ่ง

    [​IMG]
    ทรงฉายเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ก่อนที่จะทรงอุปสมบท


    ในระยะเดียวกันนี้ ได้ทรงเรียนภาษาอังกฤษจากตำราด้วยพระองค์เอง
    ครั้นสอบประโยค ๔ ได้แล้วในปี พ.ศ. ๒๔๖๓
    จึงเรียนจาก ครูโปร่ง (สำเร็จการศึกษาจากปีนัง) ซึ่งมาสอนที่กุฏิ

    ต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๖๗ จึงเรียนกับ ลิงกัวโฟน บ้าง
    กับ หลวงไพจิตรฯ (สำเร็จการศึกษาจากเยอรมัน) บ้าง
    จนสามารถแต่ง-แปลบทเรียนได้โดยตลอด แล้วจึงหยุดเรียน

    ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงรู้ภาษาอังกฤษพอจะอ่านเขียนแปลได้
    และรับสั่งได้บ้าง แต่ไม่ชำนาญ

    ฉะนั้น เวลาติดต่อกับชาวต่างประเทศ
    จึงใช้ล่ามเว้นแต่คราวจำเป็น จึงรับสั่งโดยประโยคสั้นๆ
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    เมื่อทรงอุปสมบทแล้ว พระชนมายุ ๒๑ พรรษา


    ทรงอุปสมบทและการศึกษา

    พ.ศ. ๒๔๖๐

    เมื่อทรงมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ได้ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุ
    มี พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.ธ. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์
    และ พระสาสนโสภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗)
    แต่ครั้งดำรงสมณศักด์ที่พระราชกวี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    ณ พระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยาราม ณ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐

    ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน *
    ทรงเข้าสอบพระธรรมวินัยได้เป็นนักธรรมชั้นตรีครบองค์ของนวกภูมิ
    และทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี และเปรียญธรรม ๓ ประโยค
    (แปล ประโยค อโยเคในปิยวรรค)

    พ.ศ. ๒๔๖๑

    พรรษาที่ ๒ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท ได้คะแนนบริบูรณ์
    ได้คำชมเชยจากกรรมการสอบธรรมสนามหลวงในส่วนเรียงความ

    พ.ศ. ๒๔๖๒

    พรรษาที่ ๖ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค

    แต่โบราณนานมา ไทยใช้หนังสือ ๒ อย่าง คือ ไทยกลาง และไทยใต้
    ใช้ตัวไทยสำหรับเขียนเรื่องชาวบ้าน
    ใช้ตัวขอมสำหรับเขียนบาลีสันสกฤต หรือเรื่องศาสนา

    ในทำนองเดียวกัน ไทยเหนือก็ใช้ตัวฝักขามกับตัวเมือง
    และไทยอีสานตลอดถึงลาวใช้ตัวไทยน้อยกับตัวธรรม

    คัมภีร์พระไตรปิฏก อรรถกถา ฎีกา สัททวิเสส ฉบับเดิมเป็นอักษรขอม
    แม้ศิลาจารึกและเรื่องที่เขียนไว้ด้วยอักษรขอมก็มี

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    จึงประกาศให้วิชาเขียนอ่านอักษรขอม เป็นบุพภาคแห่งบาลีประโยค ๔
    และเขียนข้อสอบบาลีประโยค ๖, ๗, ๘, ๙ ที่เป็นภาษาบาลีตัวอักษรขอม


    ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงศึกษาอักษรขอมมาก่อนแล้ว
    จึงสามารถสอบบุพภาคแห่งประโยค ๔ ไปได้ด้วยดี ตลอดถึงประโยค ๙

    พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔

    ทรงเป็นครูสอนพระธัมมปทัฏฐกถา และ

    ธันวาคม ในศกเดียวกัน

    ทรงสอบไล่ได้เปรียญ ๕ ประโยค

    [​IMG]
    ทรงฉายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔


    พ.ศ. ๒๔๖๕

    พรรษาที่ ๖ ทรงสอบได้เปรียญโท ๖ ประโยค

    พ.ศ. ๒๔๖๖

    พรรษาที่ ๗ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นเอก

    พ.ศ. ๒๔๖๗

    พรรษาที่ ๘ ทรงเป็นครูสอนมังคัลถทีปนี โรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์ฯ
    และเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค

    พ.ศ. ๒๔๖๘

    พระสาสนโสภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗)
    ครั้งยังเป็นพระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม
    ได้รับมอบจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ให้ตรวจชำระพระไตรปิฎกบางปกรณ์

    คือ อปทาน เถรคาถา เถรีคาถา พุทธวังสะ จริยาปิฎก และคัมภีร์มิลินทปัญหาในเบื้องต้น

    ได้แบ่งการตรวจชำระออกเป็น ๒ กอง คือ

    - กองที่ ๑ ให้พระมหาจวน อุฏฐายี ป.ธ. ๗
    เป็นหัวหน้าตรวจชำระอปทาน เถรคาถา เถรีคาถา
    - กองที่ ๒ ให้พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ ป.ธ. ๗
    เป็นหัวหน้าตรวจชำระพุทธวังสะ จริยาปิฏก และมิลินทปัญหา

    เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม
    เทียบกับฉบับอักษรพม่าและอักษรโรมัน โดยตลอดเป็นเวลานาน
    จึงทำให้ทรงชำนาญในอักษรทั้ง ๒ นี้ด้วย

    ฉะนั้น เมื่อเสด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
    ไปร่วมประชุมสังคายนาที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕
    จึงทรงอ่านพระไตรปิฎกอักษรพม่าได้โดยสะดวก

    อนึ่ง โดยที่อักษรรามัญมีรูปร่างคล้ายกับอักษรพม่าโดยมาก
    จึงทรงสามารถอ่านคัมภีร์อักษรรามัญได้ด้วยเช่นกัน

    พ.ศ. ๒๔๗๐

    พรรษาที่ ๑๑ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค
    และทรงเป็นกรรมการช่วยตรวจข้อสอบบาลีไวยากรณ์ในสนามหลวง

    พ.ศ. ๒๔๗๑

    ได้รับพระราชทานพัดรัตนภรณ์ชั้น ๕
    ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๗

    และเดือนมกราคมทรงเป็นกรรมการสนามหลวง
    ตรวจนักธรรมชั้นเอก และบาลีประโยค ๔, ๕, ๖

    พ.ศ. ๒๔๗๒

    พรรษาที่ ๑๓ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค

    พ.ศ. ๒๔๗๕

    ทรงเป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนบาลี สำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม
    ได้ทรงปฏิรูประเบียบแบบแผนการศึกษาบาลีให้ดีขึ้น
    และเป็นกรรมการวัดพร้อมด้วยคณะอีก ๔ รูป

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

    ทรงเป็นอนุกรรมการกองตรวจหนังสือของมหามกุฏราชวิทยาลัย

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

    ทรงเป็นกรรมการ มหามกุฏราชวิทยาลัย

    และทรงเป็นกรรมการพิจารณาวางระเบียบบำรุงการศึกษาอบรมปริยัติธรรม
    และงบประมาณของมหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยกรรมการอีก ๕ รูป

    [​IMG]
    [​IMG]

    และทรงเป็นกรรมการออก “หนังสือธรรมจักษุ”
    ซึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
    หลังจากหยุดไปเป็นเวลา ๒๐ ปี และได้ออกต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

    * หมายเหตุ : ครั้งนั้นยังขึ้นศกใหม่เดือนเมษายน
    เดือนกุมภาพันธ์จึงเป็นปลายปี เริ่มขึ้นศกใหม่เดือนมกราคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓


    [​IMG]
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


    พระเกียรติคุณด้านการบริหารปกครองและสมณศักดิ์

    วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖

    ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระกิตติสารมุนี
    ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระราชพิธีเฉลิพระชนมพรรษา รัชกาลที่ ๗

    และในศกเดียวกันนี้เอง

    สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
    ทรงตั้งให้เป็นกรรมการกองอำนวยการออกหนังสือ “ธรรมจักษุ”

    และทรงเป็นประธานกรรมการกองตรวจเลือกพระสูตร
    ทรงเป็นกรรมการสอบจรรยาประโยคมัธยมบริบูรณ์ถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ (เลิก ม.๘)
    ทรงเป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคมจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๑

    พ.ศ. ๒๔๗๖

    ขณะยังทรงเป็นพระเปรียญ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ทรงดำริร่วมกับมิตรสหาย
    ตั้งสมาคมพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “พุทธมามกสมาคม”

    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา
    ส่งเสริมการศึกษา และบำรุงสัมมาปฏิบัติ

    โดย ผู้ก่อตั้งครั้งแรกฝ่ายบรรพชิตนั้นประกอบไปด้วย

    พระมหาจวน อุฏฐายี พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ วัดมกุฏกษัตริยาราม
    พระมหาผิน สุจโว วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น


    ฝ่ายคฤหัสถ์มี พระยาสุรเกษตรโสภณ หลวงสมัครนันทพล
    หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายไต๋ ปาณิกบถุตร เป็นต้น


    เมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
    สมาคมก็เริ่มดำเนินการรับสมาชิก
    และประกวดเรียงความทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น ตามวัตถุประสงค์

    แต่ต่อมาไม่ช้าก็ถูกรัฐบาลในเวลานั้น
    ขอให้มหาเถรสมาคมห้ามไม่ให้ภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับสมาคมนี้
    สมาคมจึงต้องหยุดกิจการและเลิกล้มไปในที่สุด

    แม้ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะไม่ได้ดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
    โดยเอกเทศตามวัตถุปีระสงค์ของพุทธมามกสมาคม

    แต่ในปลายปีนั้นเอง
    ก็ได้ทรงเป็นหัวหน้ากองเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหามกุฏราชวิทยาลัย
    และได้ทรงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่
    ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๕

    พ.ศ. ๒๔๗๗

    ทรงเป็นกรรมการตรวจและสะสางศาสนสมบัติ
    และทรงเป็นกรรมการคณะธรรมยุต
    ทรงเป็นกรรมการตรวจบาลีประโยค ๗, ๘, ๙
    และทรงเป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา

    พ.ศ. ๒๔๗๘

    ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที
    ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ ๘
    และทรงเป็นกรรมการพิจารณาเทียบ
    วิทยฐานะเปรียญ ๖ ประโยคกับมัธยมบริบูรณ์

    กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘

    ทรงเป็นประธานคณะกรรมการทำการในหน้าที่เจ้าคณะมณฑลราชบุรี
    ร่วมกับ พระญาณเวที วัดบุรณสิริ, พระวิสุทธิสมโพธิ์ วัดพระเชตุพน
    และพระอริยกวี วัดจักรวรรดิ
    จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๖

    กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

    ทรงเป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฏก
    โดยอนุมัติของประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙

    ทรงเป็นกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบของมหาเถรสมาคม
    ว่าด้วยพระภิกษุสามเณรในอาณาเขตชายแดนไปมาติดต่อกับต่างประเทศ

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙

    ทรงเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๗๙
    ร่วมกับ พระธรรมโกศาจารย์, พระธรรมไตรโลกาจารย์,
    พระราชสุธี และพระศรีวิสุทธิวงศ์


    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒

    ได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ
    ในการแต่งคาถาอวยพรประเทศไทยสำหรับใช้แทน
    รตนตตฺยปปฺภาวาภิยาจนคาถา
    จาก สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)

    คือ ไตรแพร ๑ ไตร ย่ามตาด ๑ นาฬิกาซุ้ม ๑ โคมตั้งไฟฟ้า ๑
    หมอนกับอาสนะ ๑ กาชงโอวัลติลโครเมี่ยมมีถาดรองถ้วยเซลูลอยด์ ๑
    ธูปเทียน ขวดปักดอกไม้ฝรั่ง ๑ คู่

    [​IMG]
    สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) พร้อมเครื่องประกอบสมณศักดิ์


    พ.ศ. ๒๔๘๒

    ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
    ในพระราชพิธีรัชมงคล เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ในรัชกาลที่ ๘

    พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕

    ทรงเป็นสมาชิกสังฆสภา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

    พ.ศ. ๒๔๘๔

    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
    แทนพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑

    อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติใหม่นั้น

    คณะสงฆ์มีการปกครองแบบสังฆสภา มีคณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร
    แบ่งการปกครองส่วนกลางออกเป็น ๔ องค์การ

    คือ องค์การปกครอง องค์การเผยแผ่
    องค์การศึกษา และองค์การสาธารณูปการ


    มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕

    ทรงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่
    ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

    เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖

    พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี
    โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
    ให้มีเจ้าคณะตรวจการภาคแทนเจ้าคณะมณฑล

    เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งสังฆนายกแทน
    สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส

    ครั้งที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๘๔๖
    จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๖ รวม ๕ เดือน ๑๓ วัน

    ครั้งที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
    จนถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ รวม ๒ ปี ๗ เดือน ๑ วัน

    [​IMG]
    รูปหล่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


    พ.ศ. ๒๔๘๘

    โดยคำสั่งของเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๘
    ทรงเป็นผู้รักษาการในตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม
    และเป็นเจ้าอาวาสในปีเดียวกัน

    ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘

    รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์

    พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

    ทรงเป็นผู้สั่งการแทน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) สังฆนายก

    มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐

    ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาสมณฐานันดรเป็นเจ้าคณะรองคณะธรรมยุต
    รองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ

    วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓

    สั่งการแทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) สังฆนายก สมัยที่ ๒

    วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔

    ทรงเป็นสังฆนายกสืบต่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
    ซึ่งถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔
    และคงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่อีกตำแหน่งหนึ่ง

    [​IMG]
    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)


    วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔

    ลาออกจากตำแหน่งสังฆนายก

    วันที่ ๒๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๔

    เป็น สังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ในคณะสังฆมนตรี
    ซึ่งมี สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)
    วัดเบญจมบพิตร
    เป็นสังฆนายก

    วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

    ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชคณะที่
    สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

    พ.ศ. ๒๕๐๑

    ทรงเป็น นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

    วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑

    ทรงเป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

    วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

    ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น สังฆนายก

    พ.ศ. ๒๕๐๕

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)
    สมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร
    สิ้นพระชนม์

    [​IMG]
    สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)


    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือแจ้งมอบหน้าที่อำนาจ
    ให้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช
    ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

    วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖

    ทรงพ้นจากตำแหน่งสังฆนายก
    เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ ขึ้น

    โดยคณะสงฆ์มีการปกครองแบบมหาเถรสมาคม
    เป็นองค์กรสูงสุดทางการปกครอง

    เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
    โดยตำแหน่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

    ทรงเป็น อนุกรรมการมหาเถรสมาคม
    ยกร่างกฏข้อบังคับระเบียบมหาเถรสมาคมตลอดปี พ.ศ. ๒๕๐๖
    และทรงได้รับเลือกให้เป็น ประธานอนุกรรมการ

    วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘

    ทรงเป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
    ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖)
    ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ข้อ ๖
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ นี้
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้สถาปนาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) ขึ้นเป็น
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
    นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สืบต่อจาก สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)

    ในการสถาปนาเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งนี้
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไข
    พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชใหม่ เพื่อให้เป็นแบบอย่างต่อไป
    ดังคำปรารภของสำนักพระราชวัง ดังนี้

    “ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์
    พระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่
    ภายหลังถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนแล้ว

    การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
    โดยปกติจะกระทำร่วมกับการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
    หรือพระราชพิธีฉัตรมงคล
    สุดแต่ระยะเวลาการสถาปนาจะใกล้กับพิธีใด
    ซึ่งเหมือนกับการสถาปนาสมเด็จพระเถระองค์อื่นๆ

    ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า

    สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงสมณศักดิ์สูงสุด
    ทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีสงฆ์
    และทรงเป็นที่เคารพสักการะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    พระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล และพุทธมามกะโดยทั่วไป

    ทรงเป็นจุดรวมของศรัทธาปสาทะแห่งพุทธบริษัททั้งในและนอกราชอาณาจักร
    ประกอบด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูล
    ของรัฐบาลกับสังฆทัสนะในมหาเถรสมาคมโดยเอกฉันทมติ
    และทรงพิจารณาโดยรอบคอบด้วยพระองค์เองแล้ว

    จึงทรงอาศัยพระราชอำนาจ ทรงสถาปนาสมเด็จพระเถระขึ้น
    ทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช
    ซึ่งเป็นการเพียบพร้อมและสมบูรณ์ทุกประการ

    ด้วยความสำคัญในสมณศักดิ์ประการหนึ่ง
    และด้วยความเพียบพร้อมในพระราชดำริพิจารณาอีกประการหนึ่ง

    จึงสมควรที่จะถวายพระเกียรติยศ
    โดยการตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
    ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    เป็นพระราชพิธีต่างหากโดยเฉพาะ
    ไม่รวมอยู่ในการพระราชพิธีอื่นใด


    และให้มีลักษณะการพระราชพิธีแตกต่างกว่าก่อน
    เดิมมีเพียงเจ้าพนักงานอาลักษณ์
    อ่านกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
    และถวายพระสุพรรณบัฏ พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์

    การพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชคราวนี้
    มีพระราชดำริให้ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ
    และถวายพระสุพรรณบัฏ พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์
    ท่ามกลางมหาสมาคมทั้งฝ่ายพุทธจักร และราชอาณาจักร

    ทางฝ่ายพุทธจักรประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ
    พระกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร

    และทางราชอาณาจักรก็ครบทุกสถาบัน
    นับแต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์
    ประธานฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนข้าราชการทั้งมวล

    เพื่อมหาสมาคมดังกล่าวแล้ว
    จะได้พร้อมกันอนุโมทนาสาธูการ
    สมกับที่จะทรงเป็นสกลมหาสังฆปริญณายก ทรงปกครองคณะสงฆ์
    เป็นที่เชิดชูพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพรสืบไป


    เลขาธิการพระราชวังจึงรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ
    ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สนองพระราชกระแสพระราชดำริ

    โดยกำหนดจารึกพระสุพรรณบัฏ
    ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ เวลา ๑๕.๓๓ น.
    และวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ เวลา ๑๖.๐๐ น.
    เป็นการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
    รายละเอียดแห่งการพระราชพิธีมีปรากฏในหมายกำหนดการของสำนักพระราชวังแล้ว”


    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพัดยศและเครื่องสมณศักดิ์แด่สมเด็จฯ
    ในงานพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสงฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



    พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง
    สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส
    ภูมิพลมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ อุฏฐายีภิธานสังฆวิสุต
    ปาวจนุตตมสาสนโสภณ วิมลศีลขันธสมาจารวัตร
    พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภานพัฒนคุณ
    อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร

    สมเด็จพระสังฆราช สถิต ณ
    วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง
    จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาน คุณสารสิริสวัสดิ์
    วิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ


    [​IMG]
    พระตำหนักที่ประทับภายในวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


    พระเกียรติคุณด้านการศึกษา

    เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระเถรานุเถระ คณะธรรมยุต
    ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษา
    สำหรับพระภิกษุสามเณรขึ้น ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
    อันเป็นการดำเนินการตามพระดำริของ
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    เรียกว่า “สภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย
    มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย”


    โดย สมเด็จพระสังฆเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
    เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
    และองค์นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
    ทรงออกคำสั่งตั้งเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
    นับเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา
    หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของประเทศไทย

    ในการจัดตั้งสภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัยครั้งนี้
    เจ้าประคุณสมเด็จฯ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระธรรมปาโมกข์”
    ได้ทรงเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการให้การสนับสนุน
    จนกระทั่งการจัดตั้งสภาการศึกษาฯ ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ
    และได้ทรงให้ความสนับสนุนสถาบันการศึกษาแห่งนี้
    ด้วยดีเสมอมาตลอดพระชนมชีพของพระองค์

    ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ทางการคณะสงฆ์
    ได้ประกาศรับรองฐานะของมหาวิยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งคือ
    สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

    จึงได้มีพระดำริที่จะปรับปรุง
    และขยายการศึกษาของสภาการศึกษาฯ ให้มีคุณภาพและปริมาณดียิ่งขึ้น

    ซึ่งแต่เดิมทางสภาการศึกษาฯ
    รับสมัครพระภิกษุสามเณรผู้เรียนสำเร็จเปรียญธรรม ๔ ประโยค
    และนักธรรมชั้นเอกเข้าศึกษา

    ในยุคต้นๆ มีพระภิกษุสามเณรผู้มีวุฒิ ป.ธ. ๔, น.ธ. เอก
    สมัครเข้าศึกษากันมากพอสมควร แต่ต่อมาๆ มีผู้เข้ามาสมัครกันน้อยลง

    เนื่องจากในปีหนึ่งๆ มีผู้สอบเปรียญธรรมได้น้อย
    จึงมีผู้มาสมัครเรียนน้อยไม่พอกับความต้องการ
    อีกประการหนึ่งพื้นวิชาความรู้สายสามัญของผู้ที่มาสมัครศึกษาไม่เท่ากัน

    บางรูปเรียนจบแค่ประถมปีที่ ๔
    แต่บางรูปเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ บ้าง มัธยมปีที่ ๖ บ้าง ไม่สม่ำเสมอกัน
    เป็นที่ยุ่งยากแก่การจัดห้องเรียน

    จึงทรงเห็นว่าสมควรที่จะได้ปรับพื้นความรู้วิชาสายสามัญ
    ของนักศึกษา ให้เท่าเทียมในชั้นอุดมศึกษา


    โดยเปิดโรงเรียนขึ้นอีกประเภทหนึ่ง
    ทำการสอนวิชาสายสามัญตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๕
    ควบคู่ไปกับนักธรรมชั้นเตรียม และบาลีไวยากรณ์
    จนจบชั้น ม.ศ. ๕, น.ธ. เอก และ ป.ธ. ๔ แล้ว
    จึงให้เขาเป็นนักศึกษาเรียนในชั้นอุดมศึกษาฯ ต่อไป

    ทั้งนี้ก็ด้วยวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ

    ๑. เพื่อปรับพื้นฐานวิชาการศึกษาสายสามัญให้ได้มาตรฐานเป็นอันเดียวกัน
    ๒. เพื่อเพิ่มปริมาณนักศึกษาให้มากขึ้น


    ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ นั้นเอง จึงได้มีพระบัญชามอบให้
    พระปริยัติเมธี (สุวรรณ กญจโน ป.ธ. ๘)
    พระครูวินัยกรณ์โสภณ (อำนวย วุฑฺฒิโย)
    และ พระมหาบรรจง กลฺลิโต วัดมกุฏกษัตริยาราม

    ดำเนินการติดต่อขอความอุปถัมภ์จากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล
    ทำการก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นหลังหนึ่ง
    เป็นอาคารตึก ๓ ชั้น ขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๓๘.๕๐ เมตร
    สามารถที่จะรับนักเรียนได้ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ รูป
    เพื่อเป็นสถานที่เรียนตามโครงการที่ได้ทำการดำริไว้

    อาคารหลังนี้ได้ทำการก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๑๓
    และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๔

    [​IMG]
    ซ้าย : พระกิตติสารมุนี (ประจวบ กนฺตาจาโร) สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์
    ขวา : พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙) สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระญาณวโรดม



    ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้มีพระบัญชาให้
    พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙) วัดเทพศิรินทราวาส
    เลขาธิการสภาการศึกษาฯ มหามกุฏราชวิทยาลัย
    และ พระกิตติสารมุนี (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม
    รองเลขาธิการสภาการศึกษาฯ มหามกุฏราชวิทยาลัย
    ร่วมกันดำเนินการปรับปรุงการศึกษาในสามัญศึกษา
    ตามพระนโยบายที่ได้ทรงกำหนดไว้

    พระเทพกวี วัดเทพศิรินทราวาส และ พระกิตติสารมุนี วัดมกุฏกษัตริยาราม
    จึงได้ประสานงานกันเปิดโรงเรียนขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยอาศัย
    พระอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสถานที่เรียนส่วนหนึ่งไปพลางก่อน
    จนกว่าอาคารเรียนที่วัดมกุฏกษัตริยารามจะสร้างแล้วเสร็จ

    ในปีแรกนี้ได้เปิดสอนเฉพาะชั้นประถมปีที่ ๕
    ในวิชาสายสามัญศึกษาอย่างเดียว เพราะผู้ที่สมัครเข้าเรียนในรุ่นนี้
    ล้วนแต่เรียนจบนักธรรม และบาลีไวยากรณ์มาแล้ว
    ได้อาศัยครูอาจารย์ของสภาการศึกษาฯ ส่วนหนึ่งมาช่วยทำการสอน

    โดยมอบให้ พระมหาสรเชฏฐ คมฺภีโร ป.ธ. ๙
    วัดนรนารถสุนทริการาม
    เป็นผู้ควบคุมดูแลดำเนินการ
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    ภาพทรงฉาย ในงานมหาสมณานุสรณ์ ครบ ๕๐ ปี สิ้นพระชนม์
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พ.ศ. ๒๕๑๔ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร



    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
    การก่อสร้างตึกอาคารเรียนที่วัดมกุฏกษัตริยารามได้สำเร็จลง
    จึงได้ย้ายสถานที่เรียนจาก พระอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร
    ไปเปิดทำการสอนที่อาคารหลังใหม่นี้

    ได้ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
    โดยถือเอาวันคล้ายวันสวรรคตของ
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นหลัก

    ได้แต่งตั้งให้ พระปริยัติธรรมเมธี (สุวรรณ กญจโน ป.ธ. ๘)
    วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นครูใหญ่
    พระมหาสรเชฎฐ คมฺภีโร ป.ธ. ๙
    วัดนรนารถสุนทริการาม
    เป็นผู้ช่วยครูใหญ่

    ต่อมาลาสิกขา จึงได้แต่งตั้ง พระกวีวรญาณ (คณิสร์ เขมวํโส ป.ธ. ๙)
    วัดบูรณศิริมาตยาราม เป็นผู้ช่วยครูใหญ่และเป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองด้วย

    โรงเรียนแห่งใหม่นี้เป็นสาขาสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
    ผลิตนักเรียนระดับตั้งแต่ชั้นประถมถึงชั้นเตรียมอุดม
    เพื่อส่งให้เข้าศึกษาในสภาการศึกษาฯ

    สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายีมหาเถร)
    ได้ประทานนามโรงเรียนนี้ว่า “วชิรมกุฏ”
    เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    โดยนำเอาพระฉายาในขณะที่ทรงผนวชว่า “วชิรญาโณ”
    กับพระบรมนามภิไธย “เจ้าฟ้ามงกุฏ” มารวมกันเป็น “วชิรมกุฏ”

    ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง
    ประกอบด้วบรรพชิต และคฤหัสถ์

    ฝ่ายบรรพชิตมี
    พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙) วัดเทพศิรินทราวาส
    เลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
    พระเทพคุณาภรณ์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ. ๙) วัดสระเกศ
    เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
    พระกิตติสารมุนี (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม
    รองเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
    พระศรีวิสุทธิโมลี (ประยุทธ ปยุตฺโต ป.ธ. ๙) วัดพระพิเรนทร์
    รองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เป็นกรรมการ

    ฝ่ายคฤหัสถ์ มีผู้แทนกรมการศาสนา ผู้แทนกรมสามัญศึกษา กรมวิสามัญศึกษา
    (ผู้แทนหน่วยศึกษานิเทศก์ และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ อีกหลายท่าน เป็นกรรมการ)
    โดยมี นายจรูญ วงศ์สายัณห์ อธิบดีกรมวิชาการ
    เป็นประธานยกร่างหลักสูตร สำหรับพระภิกษุสามเณร

    โดยบรรจุวิชาต่างๆ ทั้งสายนักธรรม-บาลี และสายสามัญให้ได้เรียนควบคู่กันไป

    เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๕ นักธรรมชั้นตรีบาลี-ไวยากรณ์
    ไปจนถึงนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม ๔ ประโยค
    และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ คือ จบชั้นเตรียมอุดมศึกษา
    เรียกหลักสูตรนี้ว่า “หลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา”

    เมื่อพระภิกษุสามเณรเรียนจบหลักสูตรนี้แล้ว
    ก็สามารถเข้าเรียนต่อในขั้นอุดมศึกษา ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้

    อนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการ โดย นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น
    ได้ประกาศเป็นคำสั่งให้ใช้หลักสูตรนี้ ลงวันที่ ๒๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๒๔

    เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตร
    โรงเรียนพระปริยติธรรม แผนกสามัญศึกษา
    สำหรับพระภิกษุและสามเณรชั้นประโยคประถมตอนปลาย
    ประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
    แล้วจึงได้นำความกราบบังคมทูล
    สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
    เพื่อนำเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้ทราบ

    โรงเรียนวชิรมกุฏ ได้ผลิตนักเรียนสำเร็จชั้น ม.ศ. ๕ ไปแล้วหลายรุ่น
    ผู้ที่ยังคงมีศรัทธามั่นคงในพระศาสนาได้เข้าศึกษาต่อในสภาการศึกษาฯ
    ผู้ที่ไม่มีศรัทธาจะอยู่ในพระศาสนา
    ก็ได้ลาสิกขาออกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทางโลกบ้าง
    ประกอบงานอาชีพที่เป็นประโยชน์แก่ตน ประเทศชาติ และพระศาสนาบ้าง
    นับว่าเป็นคุณประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ทรงแสดงพระธรรมเทศนา


    พระเกียรติคุณด้านการเผยแผ่และสังคมสงเคราะห์

    เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงสนพระทัยงานด้านการเผยแผ่
    และสังคมสงเคราะห์เป็นพิเศษ

    ดังจะเห็นได้ว่า ทรงมีพระดำริเกี่ยวกับงานด้านนี้มาแต่ครั้งยังทรงเป็นสามเณร
    เช่น การออกหนังสือพิมพ์ “สยามวัด” “การตั้งพุทธมามกสมาคม”
    เป็นดังที่กล่าวแล้วในตอนต้น

    ฉะนั้น พระองค์จึงทรงได้รับมอบหมายหน้าที่ในด้านนี้มาเป็นลำดับ
    ทั้งในส่วนราชการและในส่วนคณะสงฆ์ ดังนี้

    พ.ศ. ๒๔๙๓

    ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของคณะกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรม
    แก่ข้าราชการและประชาชน (ก.อ.ช.)


    ได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการ
    ร่างโครงการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่ข้าราชการ
    และประชาชนทั่วราชอาณาจักรๆ

    ได้ทำเสร็จและคณะกรรมการได้รับไว้เป็นหลักในการอบรม
    และได้ทรงเรียบเรียงคำบรรยายข้อธรรมสำหรับอบรมข้าราชการและประชาชน
    ซึ่งกำหนดไว้ในโครงการอบรมนั้นเป็นภาคผนวกของโครงการอบรม
    แล้วพิมพ์ขึ้นพร้อมกันเป็นเล่มเดียว

    และใช้เป็นแนวทางสำหรับอบรมของหน่วยอบรม
    ของคณะกรรมการและพระธรรมกถึกทั่วไป

    และทรงได้รับหน้าที่ให้เป็นประธานอนุกรรมการศีลธรรมและวัฒนธรรม
    ตามโครงการอบรมนั้น


    ได้จัดหน่วยอบรมเคลื่อนที่จาริกไปอบรมข้าราชการและประชาชน
    ในส่วนภูมิภาคร่วมกับหน่วยราชการต่างๆ มี กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

    โดยในหน่วยอบรมเคลื่อนที่นั้น ประกอบด้วย
    พระธรรมกถึก อนุศาสนาจารย์ และสาธารณสุข เป็นต้น

    ทรงได้รับเลือกจากคณะกรรมการอบรมฯ
    ให้เป็นกรรมการปรีบปรุงเด็กและเยาวชน
    ซึ่งมี พลอากาศหลวงเชิด วุฒากาศ เป็นประธาน

    ได้ร่วมประชุมสร้างโครงการปรับปรุงเด็กจนสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาล
    ซึ่งกรรมการอบรมได้มอบให้จัดการปรับปรุงเด็กและเยาวชน
    ให้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติโดยสมบูรณ์ตามระบอบประชาธิปไตย
    และตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

    ทรงได้รับเลือกจากคณะกรรมการอบรมฯ ให้เป็นอนุกรรมการการวางระเบียบควบคุม
    การดื่มสุราของข้าราชการและประชาชน และการเล่นการพนันเพื่อให้ลดน้อยลง
    เพื่อให้เป็นการรักษาและส่งเสริมศีลธรรมอันดีของประชาชน

    อนึ่ง กรรมการคณะนี้มี
    พระยารามยมราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน

    ได้ประชุมกันจัดทำระเบียบควบคุมเสร็จแล้ว บังเกิดผล
    คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้เป็นหลักปฏิบัติตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

    ทรงได้รับเลือกเป็นประธานคณะอนุกรรมการ
    ประกวดเรียงความเรื่องส่งเสริมศีลธรรม
    และวัฒนธรรมตามโครงการอบรมฯ นั้น


    ได้จัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ของคณะกรรมการอบรมฯ
    ทุกประการ แล้วก็หมดหน้าที่

    กิจการของคณะอนุกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมนั้น
    ได้ปฏิบัติเป็นการประจำปีติดต่อกันมา
    ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๙๕ จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ จึงเลิกคณะกรรมการอบรมฯ

    [​IMG]
    ทรงเป็นประธานเปิดสำนักอบรมพระธรรมฑูตไปต่างประเทศ
    ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร



    พ.ศ. ๒๔๙๘

    ทรงเป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุต
    และเป็นอุปนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ


    พ.ศ. ๒๔๙๙

    จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
    มีกุศลเจตนาจะส่งเสริมพระพุทธศาสนาและศีลธรรม
    และวัฒนธรรมของข้าราชการและประชาชน

    ด้วยการโน้มน้อมชักนำให้เข้าหาพระศาสนา
    อันเป็นบ่อเกิดแห่งศีลธรรมจริยาและวัฒนธรรม

    ได้สั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์มอบหมายให้ทางสังฆมนตรี
    จัดรายการเกี่ยวกับศาสนาตลอดวันในวันพระ


    คณะสังฆมนตรีจึงมอบให้ไปกำหนดวิธีการ
    ให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
    จึงได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการจัดรายการกระจายเสียงขึ้น
    ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี

    จึงได้ทรงรับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการฯ

    ดำเนินการตลอดมา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๗
    อำนวยประโยชน์ทางด้านพระศาสนาเป็นที่ชื่นชมยินดีของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

    พ.ศ. ๒๔๙๘

    ทรงเป็นประธาน
    คณะกรรมการส่งเสริมสภาการศึกษามหามกุกฏราชวิทยาลัย (ก.ส.ม.)


    ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ

    ๑. เพื่อหวังให้พระสงฆ์ (ทั้งสองนิกาย)
    ได้ศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
    และทำให้พระสงฆ์ไทยได้รับการศึกษาเช่นนี้
    เป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

    ๒. เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางและให้ได้ผลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

    ๓. เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางของการค้นคว้า
    และการศึกษาพระศาสนาสำหรับพระสงฆ์ไทย


    รวมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศผู้สนใจ
    ที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งกว้างขวางยิ่งขึ้น

    อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ก.ส.ม. นี้ได้เลิกล้มไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐

    และได้ก่อตั้งขึ้นใหม่ในรูปของมูลนิธิตามใบอนุญาตจัดตั้ง
    ลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑ ในชื่อว่า

    “มูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนาและมนุษยธรรม
    ในพระอุปถัมภ์ของพระราชชนนีศรีสังวาลย์”


    ใช้อักษรย่อว่า มูลนิธิ ก.ศ.ม. เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า

    FOUNDATION FOR THE PROMOTION OF RELIGIOUS
    AND HUMANITARIAN ACTIVITIES


    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

    ก. ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
    ข. ส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์
    ค. ส่งเสริมการปฏิบัติธรรม
    ง. ส่งเสริมการศึกษาของเยาวชน
    (สร้างหอพัก “ธรรมนิวาส” ให้นิสิตนักศึกษายากจน
    แต่เรียนดี ประพฤติดี ได้อยู่อาศัยโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ)
    จ. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในทางสังคมสงเคราะห์


    ซึ่งมูลนิธิแห่งนี้ได้ดำเนินงาน
    ในด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา และอบรมศีลธรรม
    ด้วยการบรรยายบทความทางสถานีวิทยุกระจายเสียง
    จัดแสดงปาฐกถา และอภิปรายปัญหาธรรมตามสถานที่ที่เห็นสมควร

    ร่วมมือกับศูนย์อบรมจริยธรรมนักเรียนของกรมศาสนา
    อบรมจริยธรรมนักเรียน


    และออกนิตยสารรายเดือน “ศุภมิตร”
    เพื่อให้ความรู้และเป็นเพื่อนใจของกัลยาณุปุถุชน จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
    โดยที่มูลนิธิ ก.ศ.ม. ได้รับทุนดำเนินงานจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเสมอมา
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


    พ.ศ. ๒๕๐๕

    เป็นประธานกรรมการ มูลนิธิสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน
    (Leprosy Relief Fund)


    ซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือ

    ก. ช่วยรัฐบาล สมาคมหรือเอกชน ในการค้นคว้าเกี่ยวกับโรคเรื้อน
    ข. ช่วยเหลือในการจดซื้อยาและจ่ายแจก ซึ่งยารักษาโรค
    ยาฉีดที่ต้องใช้ในการรักษา ป้องกัน บำบัด และบรรเทาโรคเรื้อน
    ค. ช่วยเหลือในการเพิ่มพูนปริมาณของผู้เชี่ยวชาญหรือพนักงาน
    ช่วยเหลือไม่ว่าในหน้าที่ใดๆ ในงานด้านโรคเรื้อน
    ง. ช่วยเหลือในการให้ได้มาซึ่งการป้องกัน และการรักษาอันทันสมัย
    ตลอดจนถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนให้มีสมรรถภาพ
    จ. ช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนและครอบครัว โดยกำลังทรัพย์
    หรือด้วยวิธีการช่วยเหลืออื่นๆ
    ฉ. จัดให้มีโครงการการศึกษา และการป้องกันเกี่ยวกับโรคเรื้อน
    แก่ประชาชนทั่วไปในราชอาณาจักรไทย
    ช. ส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโรคเรื้อนระหว่างชาติต่างๆ
    และกระทำการทุกอย่างเท่าที่จะอำนวยให้วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
    ดังกล่าวมาข้างต้นได้ผลเต็มตามความมุ่งหมาย

    และรับโอนกิจการทรัพย์สินของหน่วยสงเคราะห์
    คนเป็นโรคเรื้อนมาจัดทำและดำเนินการต่อไป


    เกี่ยวกับการสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อนนี้ เคยมีพระดำรัสไว้
    เมื่อคืนวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕
    ในรายการวันสงเคราะห์ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อน ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ว่า

    “ที่อาตมาภาพมาเกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อนนี้
    ก็เพราะอาตมาภาพได้เคยไปแสดงธรรมเทศนาและเยี่ยมผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนนี้
    ที่สถานพยาบาลพระประแดง เมื่อพบเห็นแล้วรู้สึกสงสารยิ่งนัก
    สำหรับผู้ป่วยนั้นเล่า ก็ได้รับทุกข์ทรมานอยู่ไม่น้อย
    ต่อมามีผู้ใจบุญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
    มาขอร้องให้อาตมารับเป็นประธานกรรมการหน่วยสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน
    อาตมาเห็นว่าเป็นงานกุศล สมควรที่พระสงฆ์จะได้มีส่วนร่มด้วย
    แม้องค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงสนพระราชหฤทัย
    และทรงอุปถัมภ์งานกุศลนี้อยู่เป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อาตมาจึงรับเป็น
    ประธานกรรมการหน่วยสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อนด้วยความยินดี”


    ผลงานของมูลนิธินี้ได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนอยู่มากมาย
    และได้เกิดถาวรวัตถุขึ้นเป็นตึก ๓ ชั้น ชื่อว่า “กรุณานิมมิต”

    สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงินประมาณ ๕ แสนบาท อยู่ในบริเวณวัดมกุฏกษัตริยาราม

    มอบให้กรมอนามัยใช้เป็นสำนักงานกลางในการควบคุมโรคเรื้อน
    เพื่อเป็นศูนย์กลางที่จะส่งเจ้าหน้าที่ออกทำการบำบัดในพระนครและธนบุรี
    และจังหวัดใกล้เคียงในภาคกลางตามแผนงาน

    [​IMG]
    คุณพระบำราศนราดูร
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขณะนั้น



    นอกจากนั้น ยังใช้เป็นสถานที่สำหรับตรวจโรคผิวหนัง
    และให้ความสะดวก แนะนำประชาชนในการที่จะบำบัดโรคเรื้อนทั่วๆ ไป
    ซึ่ง คุณพระบำราศนราดูร ได้กล่าวว่า

    “ในอาคารนี้จะมีเครื่องใช้ในการชันสูตรโรค ห้องสมุดสำหรับวิชาการ
    และใช้เป็นศูนย์ชุมนุมคณะกรรมการการแพทย์ทางวิชาการโรคเรื้อน
    ร่วมกับมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระราชูปถัมภ์
    เพื่อนำความรู้มาเป็นประโยชน์แก่การควบคุมโรคเรื้อนต่อไป
    จึงนับว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญ
    แก่กิจการการควบคุมโรคเรื้อนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างมาก”


    และผลจากการนี้ ทางคณะสงฆ์ได้ให้ความร่วมมือสนับสนุน
    โดยกำหนดเอาวันสงกรานต์เป็นวันสงเคราะห์ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อน
    ให้วัดทั่วราชอาณาจักรจัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนา
    รวบรวมจตุปัจจัยบูชาธรรม ส่งไปสงเคราะห์ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนทั่วประเทศ
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    ทรงฉายร่วมกับนาย เจ คาลอบ บอจส์ วุฒิสมาชิกแห่งสหรัฐอเมริกา
    ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร



    พระเกียรติคุณด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ

    พ.ศ. ๒๔๙๘

    ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ
    ได้เสด็จไปนมัสการ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ประเทศอินเดีย
    และดูการพระศาสนาในประเทศลังกา ขากลับแวะสิงคโปร์ ปีนัง มาลายา
    ระหว่างวันที่ ๒๔ มีนาคม จนถึง พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

    วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒

    ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เสด็จไปร่วม
    ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศญี่ปุ่น
    ในฐานะผู้แทนคณะสงฆ์ไทย โดยมี
    สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) สังฆนายกเป็นหัวหน้าคณะ
    และไปเยี่ยมทหารไทยในประเทศเกาหลี รวมเวลา ๓๐ วัน

    วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒

    เสด็จไปส่งคณะพระสงฆ์ไทยที่ไปประจำ
    วัดไทยในพุทธคยา ประเทศอินเดีย
    โดยมี สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)
    สังฆนายกเป็นหัวหน้าคณะ เป็นเวลา ๑๐ วัน

    พ.ศ. ๒๕๐๔

    ทรงเป็นผู้แทน สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)
    วัดเบญจมบพิตร
    ไปร่วมประชุม
    ฎีกาสังคายนาสมัยสุดท้ายฯ นครย่างกุ้ง สหภาพพม่า
    ซึ่งจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔

    พ.ศ. ๒๕๐๗

    ทรงเป็น หัวหน้าคณะพุทธศาสนไมตรีไปเยือนชาวพุทธฮ่องกง
    ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น และขากลับเสด็จแวะประเทศเวียดนาม
    มอบพระไตรปิฎกแก่คณะสงฆ์ญวนตามคำอาราธนาของพระสงฆ์
    และพุทธบริษัทในประเทศเหล่านั้น
    ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗

    พ.ศ. ๒๕๑๐

    เสด็จเยือนลังกาเป็นทางการ
    ตามคำกราบทูลอาราธนาของคณะสงฆ์และรัฐบาลลังกา
    (ปัจุบันเรียกว่า ศรีลังกา)
    และทรงเยือนคณะสงฆ์ ณ ประเทศสิงคโปร์ ด้วย
    ระหว่างวันที่ ๑๐-๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๐

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
    ทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)



    พระกรณียกิจพิเศษ

    พ.ศ. ๒๔๙๙

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกผนวชพระภิกษุ
    พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
    ทรงเป็น พระราชอุปัธยาจารย์

    เจ้าประคุณสมเด็จฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ
    ทรงเป็น พระราชกรรมวาจาจารย์ ในพระราชพิธีทรงผนวชครั้งนี้

    พ.ศ. ๒๕๐๙

    ทรงเป็น ประธานสงฆ์ในพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ของ
    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามกุฏราชกุมาร
    ในวโรกาสที่จะเสด็จไปทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ
    เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙


    พระอวสานกาล

    โดยปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระพลานมัยดีตลอดมา
    ไม่ประชวรถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ แต่มีพยาธิเบียดเบียนเป็นครั้งคราว
    ต้องเสด็จไปรับการผ่าตัดในโรงพยาบาล ๒-๓ ครั้ง คือ
    ผ่าตัดไส้เลื่อน ๑ ครั้ง ผ่าตัดโพรงจมูกครั้ง ๑
    ผ่าตัดกระเพาะ เพื่อตรวจดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่อีกครั้ง ๑

    ภายหลังการผ่าตัดครั้งสุดท้าย ก็ปรากฏว่าพระสุขภาพเป็นปกติ
    แต่ทรงรับสั่งว่า รู้สึกว่าความจำเลือนไปบ้าง และทรงปรารภว่า

    “ไม่รู้ว่าทำกรรมอะไรไว้ จึงถูกผ่าตัดอย่างนี้”

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร)
    สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ
    เพราะถูกรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กส่วนบุคคล
    ขับสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถยนต์พระประเทียบ
    ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เวลา ๑๐.๐๕ น.

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร)
    ทรงดำรงอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ๑๗ ปี
    ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ๓ พรรษา
    ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ๕๕ พรรษา
    ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ๒๗ พรรษา
    และดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
    เป็นเวลา ๗ พรรษา (๖ ปี กับ ๒๒ วัน)
    คำนวณพระชนมายุเต็มได้ ๗๔ พรรษา ๑๑ เดือน ๒ วัน


    [​IMG]
    สังฆราชานุสรณ์ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
    ประดิษฐาน ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    พระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร


    ประวัติและความสำคัญของวัดมกุฏกษัตริยาราม

    วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
    เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวิหาร
    ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
    นับเป็นวัดที่ ๒ ที่ตั้งอยู่บนริมคลองนี้บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

    เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ หลังจากทรงลาผนวชในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ แล้ว

    ทรงพระราชดำริว่า คลองบางลำพู ซึ่งขุดในคูเมืองนั้นคับแคบ
    กับทั้งกระชั้นชิดกับกำแพงเมืองและพระบรมมหาราชวังเดิม
    ควรจะขุดคลองขยายคูเมืองด้านทิศเหนือให้กว้างออกไปอีก

    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้น
    เป็นคูเมืองชั้นนอก คือปากคลองทิศใต้ออกริมวัดแก้วฟ้า
    ปากคลองทิศเหนือออกปากคลองริมวัดสมอแครง
    คือ บริเวณวัดเทวราชกุญชรในปัจจุบันนี้

    เริ่มขุดคลองดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕
    โดยมีความกว้าง ๑๐ วา สูง ๖ ศอก
    ใช้เวลาขุด ๑๐ เดือน ยาว ๕.๔๘ กิโลเมตร
    พระราชทานนามคลองที่จุดใหม่ว่า “คลองผดุงกรุงเกษม”

    [​IMG]
    พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    พระผู้ทรงสถาปนาวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร



    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างวัดมกุฏกษัตริยารามขึ้นเป็นส่วนพระองค์
    เพื่อเป็นวัดคู่เคียงกับวัดโสมนัสวิหาร
    ซึ่งพระองค์เคยมีพระราชกระแสรับสั่งไว้กับ
    สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ว่า

    “จะทรงสร้างวัดถวายสักวัดหนึ่ง”

    แต่ยังไม่ทันได้สร้าง
    สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ก็ประชวรและสิ้นพระชนม์เสียก่อน

    เมื่อขุดคลองผดุงกรุงเกษมเสร็จแล้ว
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ
    เพื่อซื้อที่ดินริมคลองผดุงกรุงเกษมที่นางเลิ้งสำหรับสร้างวัด

    ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ. ๑๓๙๗
    และพระราชทานชื่อวัดตามพระนามของพระนางเจ้าฯ ว่า
    “วัดโสมนัสวิหาร” ทรงเปิดวัดในปี พ.ศ. ๒๓๙๔

    เมื่อทรงสร้างวัดโสมนัสวิหารและทรงเปิดวัดแล้ว จึงมีพระราชดำริว่า
    ที่กรุงศรีอยุธยามักจะมัดเรียงอยู่ตามริมคลองมากวัดด้วยกัน
    จึงมีพระราชประสงค์จะทรงสร้างวัดส่วนพระองค์ขึ้น
    เป็นการคู่เคียงกับวัดโสมนัสวิหารของสมเด็จพระนางเจ้าฯ
    ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมบ้าง

    จึงทรงเลือกที่ดินที่ติดต่อกับวัดโสมนัสวิหาร
    ซึ่งยาวไปตามริมคลองผดุงกรุงเกษมเช่นกัน
    ใกล้กับป้อมหักกำลังดัสกร ซึ่งป้อมนี้ถูกรื้อถอนไปนานแล้ว

    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อสวนของราษฎรหลายเจ้าของ
    รวมเป็นพิเศษผืนใหญ่เพียงพอที่จะสร้างวัดได้
    และมีที่ดินสำหรับธรณีสงฆ์ด้วย

    [​IMG]
    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)


    เมื่อซื้อที่ดินได้ตามพระราชประสงค์แล้ว
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
    เป็นแม่กองงานสร้างวัด
    ได้วางผังวัดให้คล้ายกับวัดโสมนัสวิหาร

    คือ มีคูล้อมรอบที่วัดซึ่งมีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า
    โดยกำหนดสร้างกำแพงรอบวัด
    ภายในคูมีซุ้มประตูข้างละ ๓ ประตู
    และแบ่งเป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส

    เขตพุทธาวาส

    สร้างมหาวิหารใหญ่ หลังพระวิหาร มีพระเจดีย์วิหารคด
    ถัดไปจึงมีพระอุโบสถอยู่ในแนวเดียวกัน
    พระวิหารหันหน้าสู่คลองผดุงกรุงเกษม

    ส่วนพระอุโบสถวางขวางพระวิหาร
    โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
    ผิดกับวัดโสมนัสวิหารซึ่งหันหน้าขึ้นทางเหนือทั้งพระวิหาร และพระอุโบสถ

    ด้านหน้าพระวิหารมีลานกว้างสำหรับเป็นสมาคมและลานจอดรถ

    [​IMG]
    เขตสังฆาวาสในวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร


    สังฆาวาส

    แบ่งคณะเป็น ๓ คณะ คือ
    คณะหน้า คณะกลาง และคณะท้าย
    ในเบื้องต้นได้สร้างกุฏิเพียงพอสำหรับพระสงฆ์ ๒๐ รูป
    และกุฏิที่สร้างมาแต่เดิมที่ทรงสร้างวัดก็ยังเหลืออยู่อีกหลายหลัง

    โดยเหตุที่พื้นที่เดิมของวัดเป็นสวนผลไม้ส้มจุก
    จึงต้องปรับปรุงสถานที่โดยตัดต้นไม้ออกแล้วขุดคูดังกล่าว

    เมื่อปรับที่ดินเรียบร้อยแล้ว
    จึงเริ่มก่อสร้างพระวิหาร ฐานวิหารคด พระเจดีย์ใหญ่ และพระอุโบสถ
    แต่การก่อสร้างดำเนินมาค่อนข้างช้า

    ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๑๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    จึงเสด็จมาทรงวางพระฤกษ์
    ทรงเร่งรัดการก่อสร้างบริเวณเสนาสนะให้เสร็จทันก่อนเปิดวัดก่อนวันเข้าพรรษา
    พ.ศ. ๒๔๑๑ เสนาสนะทั้ง ๓ คณะ จึงเสร็จตามพระราชประสงค์
    เพียงพอสำหรับพระภิกษุ ๒๐ รูป มาอยู่จำพรรษาได้

    ส่วนพระวิหาร วิหารคด และพระอุโบสถยังคงดำเนินการก่อสร้างต่อมา

    [​IMG]
    พระวิหารหลวงวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร


    ครั้นถึงเดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๑๑
    ได้ทรงเลือก พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดบวรนิเวศวิหาร
    มาเป็น เจ้าอาวาสองค์ปฐม และทรงกำหนดให้มีพระสงฆ์จำนวน ๒๐ รูป
    ทรงจัดขบวนแห่พระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหารทางเรือ
    โดยลงเรือที่คลองบางลำพูออกแม่น้ำเจ้าพระยาไปเข้าคลองผดุงกรุงเกษม
    เทียบขบวนเรือที่ท่าน้ำวัด

    ในวันเปิดวัดคือวันที่พระสงฆ์ไปอยู่นั้น
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชบริพาร
    ได้เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเสนาสนะ
    แล้วทรงประเคนเครื่องบริขารสำหรับขึ้นกุฏิใหม่เจ้าอาวาสด้วยพระองค์เอง
    และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้ข้าราชบริพารถวายเครื่องสักการะและไทยทานแก่พระสงฆ์โดยทั่วกัน
    เมื่อทอดพระเนตรบริเสวณวัดแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

    [​IMG]
    พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี)


    เมื่อแรกสร้างวัดนั้น ได้พระราชทานนามวัดว่า “วัดมกุฏกษัตริยาราม”
    ตามพระปรมาภิไธยในพระองค์
    ต่อมาภายหลังปรากฏว่า เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร
    จะกราบทูลชื่อวัดอันเป็นพระปรมาภิไธยก็ขัดกระดากใจ

    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “วัดพระนามบัญญัติ” ไปก่อน
    และคำว่าพระนามบัญญัติยังคงปรากฏว่าเป็นชื่อซอย
    ในที่ธรณีสงฆ์ของวัดจนกระทั่งทุกวันนี้
    มิได้เปลี่ยนแปลงไปตามชื่อวัดอันจะกล่าวต่อไป

    เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคตแล้ว
    ยังคงเรียกชื่อวัดพระนามบัญญัติมาเป็นเวลาถึง ๒ ปี

    ครั้นถึงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    จึงทรงประกาศให้เรียกวัดพระนามบัญญัติว่า
    “วัดมกุฏกษัตริยาราม” ตามพระราชประสงค์เดิม

    [​IMG]
    บานประตูพระวิหารด้านในลงรักปิดทองลายรดน้ำ
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    พระประธานภายในพระวิหารหลวง


    เมื่อมีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาอยู่แล้ว
    จึงทรงพระราชดำริว่า วัดมกุฏกษัตริยาราม นี้ยังปะปนอยู่กับชาวบ้าน
    ไม่เป็นเอกเทศ และไม่เป็นส่วนหนึ่งตามพระวินัย

    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนครบาลไปลงหลักปักเขต
    ที่จะพระราชทานวิสุงคามสีมา
    กรมพระอาลักษณ์เขียนคำประกาศวิสุงคามสีมาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
    เพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยใจความว่า

    “เขตวัดมกุฏกษัตริยาราม เรียกอย่างหนึ่งว่า วัดพระนามบัญญัติ
    โดยปักหมุดไว้ทั้ง ๔ ทิศ ภายในที่กำหนดเท่านี้
    ทรงพระราชทานอุทิศให้เป็นวิสุงคามสีมา
    ยกเป็นแผนกหนึ่งต่างหากจากพระราชอาณาเขต
    เป็นที่วิเศษสำหรับพระสงฆ์มาแต่จตุรทิศ
    อาศัยใช้สังฆกรรม มีอุโบสถสังฆกรรม เป็นต้น
    พระราชทานแต่พุทธศักราช ๒๔๑๑”


    ครั้นพระราชทานวิสุงคามสีมาและลงพระปรมาภิไธย
    ทรงสงสัยว่าเขตที่ปักนั้นกว้างใหญ่เกินไป
    จึงทรงขอให้กรมพระนครบาลไปถอนหลักเก่าแล้วปักใหม่
    โดยร่นเข้ามาตามแนวกำแพงวัดโดยรอบทั้งวัด
    จึงให้เขียนปิดประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมาเสียใหม่
    ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันนั้นเอง เขตนอกกำแพงให้เป็นธรณีสงฆ์
    ในประกาศครั้งนั้นมีความว่า

    “เราพระเจ้ากรุงสยาม มีความนับถือเลื่อมใสในพระสงฆ์เป็นอันมาก
    ถ้าหากพระอารามนี้มีพระสงฆ์ปกครองเป็นเจ้าของสืบๆไปสิ้นกาลนาน
    ได้ประพฤติการศาสนพรหมจรรย์โดยซื่อสัตย์
    ให้สมควรแก่ลัทธิอันชอบในพระธรรมวินัยอันเป็นเครื่องแสดงความบริสุทธิ์
    เราพระเจ้ากรุงสยามจะมีความยินดีเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น

    ส่วนกุศลที่สำเร็จด้วยสถาปนาการพระอารามใหม่ครั้งนี้
    เราพระเจ้ากรุงสยาม ขออุทิศให้แก่เทพยดามนุษย์บุรุษและสตรี
    คฤหัสถ์ บรรพชิตทั้งปวง ใครๆ เห็นชอบด้วยก็จงได้ชื่นชมยินดีอนุโมทนา
    แล้วจงเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ
    สิริสวัสดิพิพัฒนมงคล สรรพศุภผล ความประสงค์
    ซึ่งไม่มีโทษเป็นบาป จงสำเร็จทุกประการเทอญ

    ประกาศ ณ วัน ๒ฯ๘ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๑๑ เป็นที่ปีที่ ๑ ในรัชกาลปัจจุบัน”


    ต่อมาสร้างเขื่อนริม คลองผดุงกรุงเกษม
    สร้างศาลาท่าน้ำ ๓ หลัง ๓ หลัง สร้างพื้นชานวัด ขุดคูวัด ๓ ด้าน
    ด้านข้าง ๒ ข้าง และด้านหลังพื้นที่ด้านหน้าวัด
    คือ ลานวัดกว้างกว่าวัดโสมนัสวิหารมาก
    มีเนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่ เศษ ปลูกต้นประดู่เรียงรายเต็มหมด
    โดนสร้างความร่มรื่นให้แก่วัด

    สร้างกำแพงวัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างตามลำคูด้านละ ๓ เส้นเศษ
    ด้านยาวด้านละ ๔ เส้น มีซุ้มมหาสีมาอยู่บนมุมกำแพงมุมละ ๑ ซุ้ม

    กำแพงแบ่งระหว่างพุทธาวาสกับสังฆาวาส ๒ ข้าง
    พระวิหารยาวตั้งแต่กำแพงด้านหน้าถึงด้านหลังยาว ๓ เส้น ๑๑ วา
    สูงใหญ่เท่ากับกำแพงรอบนอก
    มีซุ้มประตูอยู่ตรงพระวิหารและหลังวิหารคด มีถนนเชื่อมถึงกันปูหินหยาบ

    ปูชนียวัตถุและปูชนียสถาน

    พระวิหาร

    อยู่ที่หน้าวัด หันหน้าออกสู่ คลองผดุงกรุงเกษมและถนนกรุงเกษม
    เป็นวิหารใหญ่ ๗ ห้อง หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ มีเฉลียงรอบ
    สร้างขึ้นบนฐาน ๒ ชั้น มีเสากลมใหญ่ตั้งอยู่บนฐาน
    ชั้นล่างรับหลังคามุขลด มีเฉลียงรอบสร้างขึ้นบนฐาน ๒ ชั้น

    คือ ฐานพระระเบียงชั้นล่างสูงราว ๓ ศอก ฐานบนสูงราว ๑ ศอกคืบ
    มีเสากลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานชั้นล่าง
    รับหลังคามุขลดมีเสา ๑ รอบ รวม ๒๘ ต้น

    [​IMG]
    ซุ้มประตูด้านหน้าพระวิหาร


    พระวิหารใหญ่มี ๕ ประตู คือด้านหน้า ๓ ประตู ด้านหลัง ๒ ประตู
    หน้าต่างข้างละ ๗ ช่อง
    กรอบหน้าต่างประตูรอบนอกเป็นเป็นลายดอกไม้ด้วยปูนเพชร
    ส่วนข้างบนทำเป็นพานแว่นฟ้าซ้อนกัน

    ตั้งอยู่บนช้าง ๒ เศียร รองรับเลข ๔ มีพระมหามงกุฎครอบ
    มีฉัตร ๙ ชั้นปักอยู่ ๒ ข้าง
    ปิดทองประดับกระจกทั้งประตูและหน้าต่าง

    ส่วนบานประตูล่างทำด้วยไม้สักหน้าใหญ่ ลงรักปิดทองลายรดน้ำ
    หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ
    ที่หน้าบันทำเป็นลายกระหนกล้อมมหามงกุฏ
    ส่วนข้างบนใช้ปูนปั้นหัวนาคและตัวนาคแทนช่อฟ้าใบระกา

    ภายในเสาพระวิหารมีเสาขนาดใหญ่ข้างละ ๖ ต้น
    ข้างล่างประดับด้วยหินอ่อนสูงขึ้นราว ๒ ศอก
    ข้างบนถือปูนเขียนลายหลากสี เป็นปริศนาธรรม ฉฬภิญญาชาติ
    เช่นเดียวกับเสา พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

    คือ นับตั้งแต่ข้างหน้าคู่แรกสีคราม
    คู่ที่ ๒-สีเขียว คู่ที่ ๓-สีแดง คู่ที่ ๔-สีเหลือง คู่ที่ ๕-สีนวล คู่ที่ ๖-สีขาว
    มีความหมายเหมือนพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

    ทุกเสาเขียนภาพแสดงพฤติกรรมของคน
    เช่นเดียวกับในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
    คือเสาด้านที่ติดกับประตูซึ่งห่างพระประธาน
    มีภาพการทำบาปกรรมต่างๆ เช่นยิงนก ตกปลา
    ใกล้เข้ามาก็มีการเข้าวัดทำบุญบ้าง ใกล้เข้ามาอีกก็บวช

    จนกระทั่งถึงต้นเสาที่อยู่หน้าพระประธานเป็นเสาสีขาว
    แสดงถึงความประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์จนกระทั่งจิตวิมุตติหลุดพ้น

    [​IMG]
    ภาพเขียนสีปริศนาธรรมฉฬภิญญาชาติ บนเสาต้นหนึ่งในพระวิหาร


    ส่วนฝาผนังภายในพระวิหาร
    มีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามควรที่จะศึกษา
    เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ยังคงรักษาสกุลช่าง ขรัวอินโข่ง

    ตลอดถึงวางภาพสีและสีไทยๆ แต่บางภาพเขียนเป็นตึกแบบตะวันตก
    ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ อิทธิพลตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยมาก
    ดังจะเห็นได้จากจิตรกรรมฝาผนัง ในพระวิหารนี้
    และอาคารสถานที่ต่างๆ ซึ่งยังคงมีให้อนุชนรุ่นนี้ได้ศึกษา

    ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีจำนวน ๒๐ ภาพ ที่ไม่รวมที่เสาดังกล่าว
    ซึ่งแต่ละภาพนั้นจะเป็นการเล่าเรื่องราวต่างๆ

    เช่น ภาพที่ ๑ เรื่องกษัตริย์ ๕ พระองค์
    ภาพที่ ๒ เรื่องพระนางจุนทีราชกุมาร
    ภาพที่ ๓ พระนางสุมนาราชกุมารี
    และภาพต่อในเรื่องทวารภาชพราหมณ์ พระเจ้าอชาตศัตรูราชกุมาร
    และภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระพุทธบิดา
    ประทับ ณ ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่มเป็นต้น

    ซึ่งแต่ละภาพช่างได้เขียนขึ้นด้วยความวิจิตรบรรจง พิถีพิถันงดงาม
    และบ่งบอกถึงสุนทรียภาพที่ทำให้ผู้ชมมีอารมณ์คล้อยตาม
    ไปตามความงามของแต่ละภาพอีกด้วย

    [​IMG]
    พระมหาเจดีย์ใหญ่สีขาวบริสุทธิ์หลังพระวิหาร


    พระมหาเจดีย์ใหญ่

    ตั้งอยู่หลังพระวิหาร ท่ามกลางวิหารคด สูง ๒๐ วา
    รอบองค์พระเจดีย์ ๒๕ วา ฐานพระเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
    ปัจจุบันได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหญ่
    นับเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่สีขาวบริสุทธิ์
    อันเป็นสง่าราศีแก่กรุงรัตนโกสินทร์อีกวัดหนึ่ง

    พระอุโบสถ

    ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสหลังวิหารคดและกำแพงกั้นเขตหันหน้าสู่ทิศตะวันออก
    ตั้งอยู่บนฐาน ๒ ชั้น ฝาผนังพระอุโบสถหนาเกือบ ๒ ศอก ยาว ๗ วา กว้าง ๓ วา
    มีหน้าต่างข้างละ ๕ ช่อง ประตูข้างละ ๒ ช่อง
    หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ใช้ปูนปั้นเป็นนาคแทนช่อฟ้าใบระกา

    หน้าบันพระอุโบสถทั้ง ๒ ข้าง ปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฏ
    พระประดิษฐาน ณ ท่ามกลางลวดลายกระหนก
    ซุ้มประตูหน้าต่างภายนอกเป็นปูนปั้น ปิดทองล่องกระจกประกอบด้วยลายกระหนก

    บนซุ้มประตูหน้าต่างปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฏ
    ปิดทองล่องกระจกคล้ายกับที่พระวิหาร
    มี เลข ๔ ภายใต้พระมหามงกุฏ ประกอบด้วยลายกระหนกดอกพุดตาน
    นับว่าออกแบบได้งดงามยิ่ง

    ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังงดงามมาก
    เขียนเป็นตอนๆ ตั้งแต่กรอบหน้าต่าง ถึงเพดาน
    เป็นการเขียนเล่าเรื่องพระอัครสาวก ๑๐ ภาพ
    และประวัติของอัครสาวิกา คือนางภิกษุณี ๙ ภาพ

    โดยภาพจิตรกรรมดังกล่าวได้รับการเขียนอย่างให้อารมณ์คล้อยตาม
    ด้วยสีสันอันงดงามเหมาะเจาะ
    อาคารบางหลังเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลทางตะวันตก
    ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในสภาพที่ยังดีอยู่น่าค้นคว้าศึกษา

    [​IMG]
    หน้าบันพระอุโบสถวัดมกุฏกษัตริยาราม


    เมื่อกล่าวโดยภาพรวม วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
    เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง และท่านเจ้าอาวาสแต่ละองค์ก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์
    ให้ศาสนสถานทุกชิ้นอยู่ในสภาพเดิม

    แต่ในระยะหลังในก่อสร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติมมาก
    และเมื่อ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร)
    ทรงมีพระชนมายุครบ ๑๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐
    วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร ก็ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย
    และสร้างศาลาเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นทรงไทย ๓ ชั้น
    ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๖ ล้านบาทเศษ เพื่อเก็บพัสดุสิ่งของต่างๆ
    ของวัดไว้เป็นเอกเทศเพื่อให้อนุชนได้ศึกษาหาความรู้ตลอดไป
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    <HR> [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
    พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๖


    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
    แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



    พระประวัติในเบื้องต้น

    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
    มีพระนามเดิมว่า “ปุ่น สุขเจริญ” พระนามฉายาว่า “ปุณฺณสิริ”
    ทรงเป็นชาวสุพรรณบุรี ประสูติเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๓๙
    ตรงกับวันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก เวลา ๒๔ นาฬิกาเศษ
    ณ ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

    โยมบิดามีนามว่า “เน้า สุขเจริญ” โยมมารดามีนามว่า “วัน สุขเจริญ”
    ทรงเป็นบุตรคนที่ ๖ ในจำนวนพี่น้องร่วมตระกูลทั้งหมด ๘ คน

    [​IMG]
    โยมมารดา “วัน สุขเจริญ”


    ในเบื้องต้นทรงเล่าเรียนภาษาไทยกับโยมบิดา
    จนสามารถอ่านหนังสือแบบเรียนเร็ว เล่ม ๑-๒ ได้จบ

    ต่อมาโยมบิดาจึงพาไปฝากเป็นศิษย์ พระอาจารย์หอม แห่งวัดสองพี่น้อง
    ซึ่งเป็นญาติกัน จากนั้นจึงทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลีอักษรขอม
    และ คัมภีร์มูลกัจจายน์ ที่เรียกกันว่า หนังสือใหญ่
    กับ พระอาจารย์หอม และ พระอาจารย์จ่าง ปุณฺณโชติ
    ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระครูอุภัยภาดารักษ์
    และเมื่อตกเย็นก็ทรงต่อสวดมนต์กับพระอาจารย์ ที่เรียกว่า ต่อหนังสือค่ำ

    [​IMG]
    พระรูปเมื่อครั้งยังทรงเป็นสามเณร พ.ศ. ๒๔๕๔


    พ.ศ. ๒๔๕๔

    เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐ พรรษา
    พระอาจารย์หอมได้พามาฝากเป็นศิษย์อยู่วัดมหาธาตุ
    กับ พระอาจารย์ป่วน ผู้เป็นญาติฝ่ายโยมมารดา
    (ภายหลังย้ายไปอยู่วัดพระเชตุพน ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น
    พระครูบริหารบรมธาตุ เจ้าอาวาสวัดนางชี ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ)



    ทรงบรรพชาและอุปสมบท

    พ.ศ. ๒๔๕๕

    พระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ย้ายมาอยู่กับ พระอาจารย์สด จนฺทสโร
    (ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่
    พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ)

    ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ณ วัดพระเชตุพน

    [​IMG]
    พระอาจารย์สด จนฺทสโร


    และในปีนั้น ได้ทรงกลับไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสองพี่น้อง
    ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นภูมิลำเนาเดิม
    โดยมี พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต)
    เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้อง เป็นพระอุปัชฌาย์

    พ.ศ. ๒๔๕๖

    ต้องทรงลาสิกขาออกไปช่วยครอบครัวทำนาอยู่ระยะหนึ่ง
    เพราะท่านบิดาป่วย ครั้นพระชนมายุ ๑๘ พรรษา
    ก็กลับบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่ง
    แล้วทรงกลับมาอยู่ วัดพระเชตุพน เพื่อทรงศึกษาเล่าเรียนต่อ

    [​IMG]
    พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินทฺโชโต) วัดสองพี่น้อง พระอุปัชฌาย์


    พ.ศ. ๒๔๖๐

    พระชนมายุ ๒๒ พรรษา ทรงกลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสองพี่น้อง
    อันเป็นภูมิลำเนาเดิม โดยมี พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต)
    เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้อง และเจ้าคณะอำเภอสองพี่น้อง เป็นพระอุปัชฌาย์
    พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสวณฺโณ วัดสองพี่น้อง
    (ต่อมาย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ตำบลดอนมะดัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    พระศากยปุตติยวงศ์ (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) วัดพระเชตุพน
    (สุดท้ายได้รับสถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระวันรัตน) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
    เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง

    [​IMG]
    พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสวณฺโณ วัดสองพี่น้อง พระกรรมวาจาจารย์
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    การศึกษาพระปริยัติธรรม

    เมื่อเข้ามาอยู่ วัดพระเชตุพน แล้ว
    จึงทรงเริ่มศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจังในสำนักของ
    สมเด็จพระวันรัตน (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) แต่ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่
    พระศากยปุตติยวงศ์ และกับ พระมหาปี วสุตฺตโม
    ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นต้นมา สอบไล่ได้นักธรรม
    และเปรียญชั้นต่างๆ มาเป็นลำดับ ดังนี้

    [​IMG]
    สมเด็จพระวันรัตน (เผื่อน ติสฺสทตฺโต ป.ธ. ๙) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่
    พระศากยปุตติยวงศ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระอนุสาวนาจารย์



    พ.ศ. ๒๔๕๖

    สอบได้นักธรรมชั้นตรี

    พ.ศ. ๒๔๕๘

    สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ขณะทรงเป็นสามเณร

    พ.ศ. ๒๔๖๒

    สอบได้นักธรรมชั้นโท

    พ.ศ. ๒๔๖๓

    สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค

    พ.ศ. ๒๔๖๖

    สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค

    พ.ศ. ๒๔๗๐

    สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค

    นอกจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแล้ว
    ยังทรงใฝ่พระทัยในการศึกษาภาษาต่างประเทศด้วย
    เท่าที่จะทรงมีโอกาสศึกษาได้ กล่าวคือ
    ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับ หลวงประสานบรรณวิทย์
    และทรงศึกษาภาษาจีนกับ นายกมล มลิทอง

    [​IMG]
    พระรูปเมื่อครั้งยังทรงเป็นพระเปรียญ ๖ ประโยค
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    <HR> [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)


    สมณศักดิ์และภาระหน้าที่

    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงรับภาระหน้าที่ทางการคณะสงฆ์
    มาแต่ทรงเป็นพระเปรียญ
    เริ่มแต่หน้าที่ภายในพระอาราม
    ไปจนถึงหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ ดังนี้

    พ.ศ. ๒๔๖๓

    เมื่อทรงเป็นเปรียญ ๔ ประโยค
    ทรงเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ชั้นไวยากรณ์

    พ.ศ. ๒๔๖๗

    เมื่อทรงเป็นเปรียญ ๕ ประโยคแล้ว
    ทรงเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมชั้นประโยค ๓
    ทรงทำหน้าที่เป็นครูในสำนักเรียนวัดพระเชตุพนอยู่นานถึง ๒๕ ปี

    พ.ศ. ๒๔๘๓

    เมื่อยังทรงเป็นพระเปรียญเป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎก
    เป็นภาษาไทย แผนกพระวินัย

    พ.ศ. ๒๔๘๔

    เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน
    เป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา
    และในวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
    ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์
    เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรเวที

    [​IMG]
    ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระอมรเวที


    พ.ศ. ๒๔๘๖

    เป็นเจ้าคณะตรวจการภาคบูรพา
    (สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด)

    เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๒
    (พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี
    อุทัยธานี นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร สุพรรณบุรี)


    เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย

    พ.ศ. ๒๔๘๗

    เป็นพระอุปัชฌาย์

    พ.ศ. ๒๔๘๘

    เป็นสมาชิกสังฆสภา

    พ.ศ. ๒๔๘๙

    ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุธี

    พ.ศ. ๒๔๙๐

    สมเด็จพระวันรัตน (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ถึงมรณภาพ
    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชสุธี
    จึงได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน

    เป็นกรรมการสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

    และในคราวเดียวกันได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์
    เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที

    พ.ศ. ๒๔๙๑

    เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ ๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน)
    เป็นกรรมการและเลขาธิการ ก.ส.พ. (กรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ)
    ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมดิลก

    [​IMG]
    ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมดิลก


    พ.ศ. ๒๔๙๒

    เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๒
    (สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร
    ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด)


    เป็นสภานายกสภาพระธรรมกถึก
     

แชร์หน้านี้

Loading...