ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาอย่างไร

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย siratsapon, 5 สิงหาคม 2010.

  1. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    เรื่อง “ธรรมทั้งปวง” เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และอีกเรื่องหนึ่ง คือ “อนัตตา” เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เช่นเดียวกัน ทั้งสองเรื่องนี้ มีความสัมพันธ์กัน และมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ควรที่พุทธบริษัทจะต้องทำความเข้าใจให้ดี ให้กระจ่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่า “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาอย่างไร” เป็นประเด็นที่ควรทำความเข้าใจ เพราะหากเข้าใจเป็นอย่างดีถูกต้องแล้ว ย่อมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ปฏิบัติ เพื่อให้รู้เห็นตามเป็นจริงจนกระทั่งบรรลุมรรค-ผล-นิพพานในที่สุดได้ จากเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนจึงขออธิบายในประเด็นข้างต้น ดังต่อไปนี้

    คำว่า “ธรรม” มีความหมายหลายอย่าง ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้รวบรวมเอาไว้ว่า

    สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง, เหตุ, ต้นเหตุ, สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด, คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ, หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่, ความชอบ, ความยุติธรรม, พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น[1]

    ทั้งหมดนี้ เป็นความหมายของคำว่า “ธรรม” ที่แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก กินขอบเขตครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างประดามี ไม่ว่าจะอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ เราอาจสรุปแบบรวบรัดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั่นแหละ คือ “ธรรม” เมื่อได้รู้จักกับคำนี้แล้ว ย่อมสามารถเข้าใจกับคำว่า “ธรรมทั้งปวง” ได้ง่ายขึ้น

    คำว่า “ธรรมทั้งปวง” มีการใส่คำวิเศษณ์ ประเภท “ประมาณวิเศษณ์” คือ คำวิเศษที่บอกปริมาณแบบไม่จำกัดจำนวนลงไป ได้แก่คำว่า “ทั้งปวง” มาต่อท้ายขยายคำว่า “ธรรม” ที่อยู่ข้างหน้า เพื่อต้องการเน้นย้ำถึงความหมายว่าครอบคลุมทุกอย่าง ไม่จำกัดจำนวน ไม่ได้มีการยกเว้นอะไร ทั่วถึงทั้งหมด อะไรที่จัดว่าเป็นธรรม ย่อมอยู่ในความหมายของคำนี้ทั้งสิ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรเลยที่ไม่จัดว่าเป็นธรรม ดังนั้นไม่ว่าคำใดๆ เรื่องใดๆ เช่น จิต, นิพพาน, อาตมัน, พรหมมัน, พระผู้เป็นเจ้า, จักรวาล ฯลฯ ย่อมถือว่าอยู่ในธรรมทั้งปวง ด้วยสาเหตุที่มีจำนวนธรรมมากมาย จึงได้มีการจัดหมวดหมู่ของธรรมทั้งปวงเอาไว้เพื่อให้ง่ายแก่การศึกษาเรียนรู้ ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหลายแบบ

    โดยแบบหนึ่งที่ถือว่าสำคัญ มีการแจกแจงหมวดธรรมไว้อย่างละเอียดอยู่ใน “ญาณกถา” ที่พระสารีบุตรเถระได้ทำการอธิบายเอาไว้ว่า “ธรรมทั้งปวง คือ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม กามาวจรธรรม รูปาวจรธรรม อรูปาวจรธรรม โลกุตตรธรรม”[2]

    นอกเหนือไปจากนี้ ยังมีการจัดหมวดหมู่ของธรรม หรือธรรมทั้งปวงไว้อีกแบบหนึ่ง เป็นแบบที่นิยมกันในปัจจุบัน (พ.ศ.2553) และพบเห็นได้มากในพระไตรปิฎก แบบนี้ครอบคลุมแบบที่ผ่านมาด้วย โดยทำการแบ่งธรรมทั้งปวงออกเป็น 2 อย่างเท่านั้น ได้แก่ สังขตธรรม กับ อสังขตธรรม

    สังขตธรรม แปลว่า “ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ตรงกับสังขารในคำว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง”[3] ได้แก่ “กุศลในภูมิ 4 อกุศล วิบากในภูมิ 4 กิริยาอัพยากฤตในภูมิ 3 และรูปทั้งหมด”[4]

    อสังขตธรรม แปลว่า “ธรรมอันมิได้ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ นิพพาน”[5]
     
  2. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    ธรรมทั้ง 2 อย่างข้างต้น เป็นการแบ่งตามลักษณะของธรรมที่สามารถถูกปัจจัยปรุงแต่งได้ กับถูกปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ธรรมอันใดที่มีลักษณะ 3 ประการคือ มีความเกิด, มีความเสื่อม, เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนย่อมปรากฏ ท่านจัดไว้เป็นสังขตธรรม ส่วนธรรมอันใดที่มีลักษณะ 3 ประการ คือ ไม่ปรากฏความเกิด, ไม่ปรากฏความเสื่อม, เมื่อตั้งอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวน ท่านจัดไว้เป็นอสังขตธรรม ด้วยเหตุแห่งลักษณะ 3 ประการของอสังขตธรรม จึงทำให้เห็นว่านอกจากนิพพานแล้ว โดยทั่วไปยังมีอีกอย่างหนึ่งที่สามารถเป็นอสังขตธรรมได้ คือ “บัญญัติ” แต่ในที่นี้ท่านประสงค์แสดงเฉพาะปรมัตถธรรเท่านั้นจึงมีแต่นิพพาน[6] ดังนั้นการแบ่งธรรมทั้งปวงในแบบนี้ สรุปเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจได้ว่า “อสังขตธรรม ได้แก่ นิพพาน (บางแห่งรวมบัญญัติ) สิ่งต่างๆ นอกเหนือจากนี้เป็น สังขตธรรม” เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าธรรมทั้งปวงคืออะไร มีอะไรบ้างแล้ว ต่อไปขออธิบายถึงสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ “อนัตตา” ต่อไป

    คำว่า “อนัตตา” แปลว่า “ไม่ใช่อัตตา, ไม่ใช่ตัวใช่ตน”[7] เป็นหลักธรรมสำคัญประการหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ทรงค้นพบ เป็นอย่างหนึ่งในสามอย่างของกฎธรรมชาติที่เรียกว่า “ธรรมนิยาม (ธมฺมนิยามตา)”[8] ที่แสดงให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมาหรือไม่ก็ตาม สิ่งทั้งหลายย่อมต้องตั้งอยู่ เป็นไปอยู่อย่างนั้นตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ต่อมากฎเหล่านี้ในยุคอรรถกถาได้เกิดคำเรียกเฉพาะขึ้นว่า ไตรลักษณ์ หมายถึง “ลักษณะสาม อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ”[9] ได้แก่

    อนิจจลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนิจจะ, ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ได้แก่ (1) เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี (2) เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ (3) เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ (4) แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว[10]

    ทุกขลักษณะ เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์ คือ (1) ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลายบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา (2) ทนได้ยากหรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (3) เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ (4) แย้งต่อสุขหรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข[11]

    อนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตา, ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน โดยอรรถต่างๆ (1) เป็นของสูญ คือ เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆ ทั้งหลาย ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ (2) เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง (3) ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆ (4) เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่หรือเป็นตามธรรมดาของมัน เช่น ธรรมที่เป็นสังขตะ คือสังขาร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว แต่เป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ (5) โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา[12]

    ลักษณะไตรลักษณ์ทั้ง 3 ลักษณะเรียกย่อๆ ได้ว่า อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา (ไม่เที่ยง-เป็นทุกข์-ไม่ใช่ตัวตน) ซึ่งมีอยู่ในธรรมทั้งปวงไม่มีธรรมประการใดเลยที่ล่วงพ้นลักษณะเหล่านี้ไปได้ แต่ไม่ใช่ว่าธรรมทุกอย่างทุกประการจะต้องมีลักษณะครบทั้ง 3 เสมอไป หมายถึง ธรรมบางอย่างอาจมีลักษณะไตรลักษณ์เพียงประการเดียวก็ได้ คือ อสังขตธรรม ที่มีแต่อนัตตลักษณะเท่านั้น ส่วนธรรมที่เป็นสังขตธรรมอื่นๆ ต้องมีลักษณะครบทั้ง 3 ไม่มีข้อยกเว้น จึงกล่าวได้ว่า อสังขตธรรม พ้นจากความไม่เที่ยง คือ เป็นสิ่งที่เที่ยง พ้นจากความเป็นทุกข์ คือ เป็นสิ่งที่สุข แต่ไม่พ้นจากความเป็นอนัตตา คือ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นไม่ว่าสังขตธรรม หรืออสังขตธรรมก็ตาม ย่อมไม่ล่วงพ้นความเป็นอนัตตาไปได้ทั้งสิ้น ลักษณะอนัตตาเป็นลักษณะร่วมเพียงประการเดียวของธรรมทั้งสองอย่าง ดังนั้น ถ้าหากสามารถเข้าใจหลักอนัตตา และสามารถปฏิบัติจนเข้าถึง จนรู้ชัดตามเป็นจริงในธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นอนัตตาได้อย่างไรแล้ว ย่อมสามารถเข้าใจหลักอนัตตา และสามารถปฏิบัติจนเข้าถึง จนรู้ชัดตามเป็นจริงในธรรมที่เหลืออย่างอื่นว่าเป็นอนัตตาได้อย่างไรด้วยวิธีการแบบเดียวกัน เช่น หากสามารถเข้าใจในรูปว่าเป็นอนัตตาอย่างไรได้แล้ว ย่อมสามารถเข้าใจในธรรมที่เหลืออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ จนกระทั่งถึงนิพพาน ครอบคลุมสังขตธรรม-อสังขตธรรมว่าเป็นอนัตตาอย่างไรได้ด้วยวิธีการแบบเดียวกัน ดังมีหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่งว่า พระพุทธเจ้าทรงอธิบายถึงข้อธรรมต่างๆ หรือทรงสอนวิธีการพิจารณาให้รู้เห็นข้อธรรมต่างๆ ว่าเป็นอนัตตาได้อย่างไรด้วยวิธีการแบบเดียวกัน หากจะมีต่างกันบ้างก็ในรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น เช่น อนัตตลักขณสูตร, มูลปริยายสูตร เป็นต้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวไป จึงขออธิบายธรรมทั้งปวงว่าเป็นอนัตตาอย่างไรเพียงบางอย่างเท่านั้น ไม่ขออธิบายจนครบทุกอย่าง เพราะอาศัยหลักการทำความเข้าใจแบบเดียวกัน ดังต่อไปนี้
     
  3. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    ธรรมทั้งปวงส่วนสังขตธรรม ได้แก่ สังขารในไตรลักษณ์ทั้งหมด มีขันธ์ห้า เป็นต้น เหตุผลที่เป็นอนัตตาเนื่องจาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ เมื่อเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นอนัตตา หมายความว่า สังขารอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมมีลักษณะที่เป็นอนิจจะ มีลักษณะเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ คือ เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป มีเกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี เป็นของแปรปรวน เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว เช่น มนุษย์ย่อมมีเกิด-แก่-เจ็บ-ตายไป ไม่สามารถอยู่ไปได้ตลอดกาล มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นอวัยวะภายใน หรือภายนอกร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพความรู้สึก ความจำ ความคิด หรือจิตใจ เป็นต้น

    เมื่อเป็นสิ่งไม่เที่ยงด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ คือ ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลายบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ให้คงทนได้ยากหรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ แย้งต่อสุขหรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข เช่น มนุษย์ไม่สามารถอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งได้ตลอดไป ย่อมถูกความเกิดและความดับ เช่น ความเกิดขึ้นดับไปของความปวดเมื่อย เข้าบีบคั้นให้ทนอยู่ในอิริยาบถเดิมไม่ได้ เมื่อความปวดเมื่อยเกิดขึ้น ความไม่ปวดเมื่อยดับไป นั่นเป็นทุกขเวทนาทางกายเข้ามาบีบคั้น จนต้องเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ เมื่อไปอยู่ในอิริบาบถใหม่แล้ว ไม่นานย่อมถูกบีบคั้นอีก จนทำให้ต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ อีก มนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ถือว่าแล้วเต็มไปด้วยทุกข์ มีสภาพปฏิเสธความสุขอยู่ในตัว เป็นต้น

    เมื่อเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นอนัตตา เป็นของมิใช่ตัวตนโดยสภาวะของมันเอง เพราะหากพิเคราะห์แล้วสังขารเหล่านี้ ที่เป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา ที่มีชื่อเรียกกันไปต่างๆ เช่น นาย ก นาย ข หมา แมว รถยนต์ รถมอเตอร์ไซท์ บ้าน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ แท้จริงเป็นสิ่งสมมุติ หาได้มี หาได้เป็นตัวตนอยู่อย่างแท้จริง ล้วนประกอบขึ้นมาจากองค์ประกอบย่อยต่างๆ อีกทีหนึ่ง และองค์ประกอบย่อยๆ เองยังประกอบขึ้นมาจากองค์ประกอบย่อยอีกที เช่นนี้เรื่อยไป เช่น มนุษย์ที่คิดเห็นรู้สึกกันว่ามี ว่าเป็นตัวตนอยู่ ในความเป็นจริงแล้วหาได้มีอยู่อย่างแท้จริงไม่ หาใช่เป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ เป็นเพียงสิ่งที่มีอยู่อย่างสมมุติ ตั้งชื่อเรียกขานกัน เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นมาจากองค์ประกอบย่อย คือ รูปธรรม กับ นามธรรม เข้ามารวมตัวกันเท่านั้น และองค์ประกอบย่อย คือ รูปธรรมกับนามธรรมเองก็หาได้มีอยู่อย่างแท้จริง หาใช่เป็นสิ่งนั้นจริงๆ เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่อย่างสมมุติอีกเช่นเดียวกัน คือ รูปธรรม ยังประกอบไปด้วยองค์ประกอบย่อยๆ ลงไปเรื่อยๆ ส่วนนามธรรมแต่ละอย่างยังประกอบขึ้นมาจากองค์ประกอบย่อยๆ ลงไป เป็นต้น เพราะเหตุนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นอนัตตา มิใช่อัตตา ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกว่าเป็นของสูญนั่นเอง

    เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นของสูญ ประกอบขึ้นมาจากองค์ประกอบย่อยต่างๆ ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขาแล้ว สิ่งเหล่านี้ จึงไม่อาจจะมีใครเป็นเจ้าของได้ ไม่ได้เป็นของใครจริง มีแต่สมมุติกันขึ้นว่าเป็นสิ่งที่มีเจ้าของครอบครองอยู่เท่านั้น เช่น ร่างกายที่คิดเห็นรู้สึกว่าเป็นของเรา แท้จริงหาได้เป็นของเรา หรือมีเราอยู่เป็นเจ้าของไม่ เพราะเนื่องจากร่างกายประกอบขึ้นมาจากอวัยวะต่างๆ แยกส่วนแล้วหาได้มี ได้เป็นร่างกาย ย่อมว่างเปล่าจากความเป็นร่างกาย แล้วจะเอาร่างกายที่ไหนมาเป็นของเรา มีแต่สมมุติกันขึ้นว่านี่เป็นร่างกายของเราเท่านั้น เป็นต้น
     
  4. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    เมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ จึงไม่มีผู้ใดสามารถไปบังคับบัญชาให้เป็นไปต่างๆ ตามใจปรารถนาได้ เช่น มนุษย์ไม่สามารถบังคับให้ร่างกายอย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตายเลย มนุษย์ย่อมต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไม่สามารถล่วงพ้นไปได้, รถยนต์ไม่สามารถบังคับว่าอย่าน้ำมันหมด อย่าได้เสีย อย่าได้ผุพังเลย รถยนต์ต้องมีน้ำมันหมด ต้องมีเสีย ต้องมีผุพังไม่สามารถล้วงพ้นไปได้ เป็นต้น แต่มีบางครั้งกับบางอย่างที่ทำให้คิดเห็นรู้สึกไปว่าสามารถบังคับได้ เช่น เมื่อขับรถอยู่ มนุษย์สามารถบังคับให้รถยนต์เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา เร่งเร็วขึ้น หยุดรถยนต์ได้ เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการเหล่านี้ หาใช่การบังคับไม่ เป็นเพียงการทำไปตามเหตุปัจจัยที่เหมาะสมกับผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นมาเท่านั้น อาจเรียกว่า การจัดสรรเหตุปัจจัยให้พร้อม แล้วผลจะเกิดขึ้นมาเอง เพราะสังขารทั้งปวงมีลักษณะเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว แต่เป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่น เมื่อเหตุปัจจัยเหมาะสม ผลจึงเกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยไม่เหมาะสม ผลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ในทางกลับกัน เมื่อเหตุปัจจัยเหมาะสมผลจึงดับไป เมื่อเหตุปัจจัยไม่เหมาะสม ผลย่อมดับไปไม่ได้ เช่น การบังคับรถให้เลี้ยวไปมา ในความเป็นจริงเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ต้องมีคนขับ มีพวงมาลัย มีล้อรถ มีการหมุนพวงมาลัย มาทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ รถจึงเลี้ยวได้ แต่ถ้าหากเหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่ครบแล้ว ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไป รถย่อมเลี้ยวไม่ได้ เช่น หากไม่มีการหมุนพวงมาลัย หรือขาดล้อรถ เราจะบังคับบัญชาเท่าไร รถย่อมเลี้ยวไม่ได้ ในทางกลับกันหากมีเหตุปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นครบถ้วนแล้ว เราจะบังคับว่าขอรถจงอย่าเลี้ยวๆ ซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย รถย่อมต้องเลี้ยวอยู่ดีเพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมมูลแล้วนั่นเอง ไม่ได้ขึ้นต่อใคร ไม่มีใครบังคับ เหตุปัจจัยพร้อมผลจึงเกิดขึ้น เท่าที่กล่าวมานี้ สังเกตเห็นว่าสังขารทุกอย่างไม่ได้มีใครมาบังคับบัญชาตามใจปรารถนาได้ แม้แต่ตัวเราที่คิดว่าเป็นผู้บังคับบัญชา วิเคราะห์จริงๆ แล้ว ตัวเราเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในเหตุปัจจัยทั้งหมด ตัวเราเป็นเพียงสมมุติ ไม่ได้มี ไม่ได้เป็นตัวตนอยู่อย่างแท้จริงเลย ประกอบขึ้นมาจากเหตุปัจจัยต่างๆ มาทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบเหมือนกัน ด้วยเหตุและผลที่กล่าวมาเหล่านี้ ธรรมทั้งปวงส่วนสังขตธรรมจึงเป็นอนัตตา

    ต่อไป ธรรมทั้งปวงส่วนอสังขตธรรม ได้แก่ นิพพาน เหตุผลที่เป็นอนัตตาเนื่องจาก มีลักษณะที่ขัดแย้งกับลักษณะของอัตตาอยู่ภายใน ลักษณะของอัตตาที่สำคัญ คือ เป็นสิ่งที่เที่ยง, เป็นสิ่งที่เป็นสุข, สามารถบังคับบัญชาตามใจชอบได้ เนื่องจากเป็นเจ้าของที่แท้จริงโดยสมบูรณ์ ซึ่งหากศึกษาจากพระไตรปิฎกแล้ว จะพบว่าอสังขตธรรม มีลักษณะบางอย่างเหมือนกับลักษณะของอัตตา ได้แก่ มีความเที่ยง เนื่องจากอสังขตธรรมไม่มีความเกิด ไม่มีความดับ มีแต่ความตั้งอยู่เท่านั้น และเมื่อตั้งอยู่แล้วย่อมไม่ปรากฏถึงความแปรปรวนด้วย ตรงนี้เองที่แสดงให้เห็นว่าอสังขตธรรมเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร

    นอกเหนือไปจากนี้ ยังมีลักษณะที่เหมือนกับอัตตาอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ มีความเป็นสุข หมายถึง อสังขตธรรม เมื่อเป็นสิ่งที่เที่ยง ไม่มีการผันแปรดับไป มันจึงเป็นสุขโดยอัตโนมัติ พระสารีบุตรได้ยืนยันนิพพานว่าเป็นสุขเอาไว้ สรุปความ คือ แม้นิพพานจะไม่มีเวทนาก็ตาม นิพพานย่อมเป็นสุข ความไม่มีเวทนาเลยนั่นแหละเป็นสุขยิ่ง[13]

    เท่าที่กล่าวมาจะเห็นว่า อสังขตธรรม คือ นิพพาน มีลักษณะเหมือนกับอัตตาอยู่บางประการ จึงทำให้เกิดการเข้าใจผิดคิดไปว่านิพพานจะต้องเป็นอัตตาด้วย ไม่ใช่อนัตตา คือ เข้าใจไปด้วยตรรกะว่า “เมื่อสิ่งใดเที่ยง สิ่งนั้นย่อมเป็นสุข เมื่อสิ่งใดเป็นสุข สิ่งนั้นย่อมเป็นอัตตา” แต่ในความเป็นจริงตรรกะแบบนี้หานำมาใช้ไม่ได้เลย เพราะเมื่อทำการวิเคราะห์เจาะลึกสำรวจตรวจสอบไปแล้ว จะพบว่า นิพพาน หาใช่เป็นอัตตา แต่เป็นอนัตตาต่างหาก เนื่องจากนิพพานมีลักษณะของอนัตตาปรากฏชัดอยู่ภายใน การตัดสินว่าข้อธรรมใดๆ เป็นอนัตตาหรือไม่? อยู่ที่ว่าข้อธรรมนั้นมีคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างของอนัตตาอยู่บ้างหรือเปล่า หากมีอยู่ ถือว่าข้อธรรมดังกล่าวเป็นอนัตตาเสมอไม่ใช่อัตตา นิพพานเองมีลักษณะสำคัญหลายอย่างของอนัตตาอยู่ภายใน เท่าที่สังเกตเห็นชัด ได้แก่ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เนื่องด้วยชื่อของอสังขตธรรมเอง ทำการบอกเอาไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง หมายถึง ไม่มีปัจจัยใดๆ ไปปรุงแต่งได้ ไม่ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ กับอีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่านิพพานมีลักษณะเป็นอนัตตา คือ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้ และไม่ควรจะเอามาเป็นของเราด้วย ดังคำสอนของพระพุทธเจ้า ต่อไปนี้
     
  5. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุใดเป็นเสขบุคคล ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล เมื่อปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าอยู่ แม้ภิกษุนั้นรู้ธาตุดินโดยความเป็นธาตุดิน ครั้นรู้ธาตุดินโดยความเป็นธาตุดินแล้ว อย่าสำคัญธาตุดิน อย่าสำคัญในธาตุดินอย่าสำคัญโดยความเป็นธาตุดิน อย่าสำคัญธาตุดินว่า ของเรา อย่ายินดีธาตุดิน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เรากล่าวว่า เพราะเขาควรกำหนดรู้...

    ย่อมรู้พระนิพพานโดยความเป็นพระนิพพาน ครั้นรู้พระนิพพานโดยความเป็นพระนิพพานแล้ว อย่าสำคัญพระนิพพาน อย่าสำคัญในพระนิพพาน อย่าสำคัญโดยความเป็นพระนิพพานอย่าสำคัญพระนิพพานว่า ของเรา อย่ายินดีพระนิพพาน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เรากล่าวว่าเพราะเขาควรกำหนดรู้.[14]

    จากพระสูตรข้างต้น แสดงให้เห็นแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำ ทรงสอนให้เสขบุคคล คือ พระอริยบุคคลที่ยังไม่สำเร็จอรหันต์ ได้แก่ พระโสดาบัน, พระสกทาคามี, พระอนาคามี หมั่นกำหนดรู้นิพพานอย่างเป็นอนัตตาไว้แบบกระจ่างชัดเจน โดยทรงสอนว่าอย่าไปสำคัญพระนิพพานว่าเป็นของเรา เนื่องจากนิพพานมีลักษณะเป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง ตรงนี้สอดคล้องกับลักษณะของอนัตตาที่เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง สมมุติว่าถ้าหากนิพพานเป็นของที่มีเจ้าของได้ เป็นของใครได้จริง ตามคุณลักษณะของอัตตา เช่น เป็นของพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง เป็นต้น ผู้นั้นย่อมจะมีอำนาจโดยสมบูรณ์ ย่อมสามารถบังคับบัญชานิพพานให้เป็นไปต่างๆ ได้ จะทำให้นิพพานเกิดขึ้น หรือทำให้นิพพานดับไป จะแบ่งปันนิพพานให้แก่ใคร หรือยกให้ใครเมื่อไร เพื่อให้มีนิพพานบ้างก็ได้ ตามใจปรารถนา ไม่ต้องมาเพียรฝึกฝนปฏิบัติธรรมกัน ใช้การยกให้แบบเป็นมรดกแทน ซึ่งจากที่ชี้แจงเปรียบเทียบไปจะเห็นแล้วว่าเป็นอย่างนั้นไปไม่ได้ นิพพานไม่สามารถถูกบังคับบัญชาให้เป็นไปต่างๆ ทำให้เกิด ทำให้ดับ แบ่งปันให้แก่ใคร ยกให้ใคร ไม่ว่าเมื่อไรก็ตาม เพราะฉะนั้น นิพพานจึงเป็นสาธารณะแก่ทุกคน เป็นสิ่งที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นสิ่งครอบครองเป็นของเราไม่ได้ นิพพานเป็น “อนัตตา” และเป็น “อสังขตธรรม” ล้วงพ้นจากการปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยใดๆ

    เท่าที่กล่าวบรรยายมาทั้งหมด ได้อธิบายในประเด็น “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาอย่างไร” โดยแสดงให้เห็นถึงเหตุผลประการต่างๆ เริ่มจากให้รู้จักกับความหมายของคำว่า ธรรมทั้งปวง และคำว่าอนัตตาก่อน หลังจากนั้นจึงได้แจกแจงอย่างละเอียดตามประเภทของธรรมทั้งปวง คือ สังขตธรรม กับ อสังขตธรรม ว่าธรรมทั้งสองประเภทเป็นอนัตตาได้อย่างไร เพื่อจะได้เกิดความชัดเจนไม่สับสน พร้อมกับยกตัวอย่างต่างๆ ประกอบ ผู้เขียนหวังว่าเมื่ออ่านมาตลอดตั้งแต่ตอนต้นจนถึงตรงนี้คงช่วยให้ผู้อ่านเกิดความรู้ ความเข้าใจว่านิพพานเป็นอนัตตาได้อย่างไร ทำให้เห็นภาพตามได้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติต่อได้ไม่มากก็น้อย
     
  6. siratsapon

    siratsapon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    368
    ค่าพลัง:
    +641
    --------------------------------------------------------------------------------
    [1] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ 10, (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 85.
    [2] ขุ.ป. 31/227/103.
    [3] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ 10, (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 259.
    [4] อภิ.สงฺ 34/907/314.
    [5] อภิ.สงฺ 34/907/314.
    [6] ดูรายละเอียดใน พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ, ปรมัตถโชติกะ ปริจเฉทที่ 1 - 2 - 6 จิต เจตสิก รูป นิพพาน หลักสูตรชั้นจูฬอาภิธรรมิกะตรี, พิมพ์ครั้งที่ 1, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สุวรรณภูมิ, 2547), หน้า 15.
    [7] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ 10, (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 310.
    [8] เรื่องเดียวกัน. หน้า 88.
    [9] เรื่องเดียวกัน. หน้า 69.
    [10] เรื่องเดียวกัน. หน้า 312.
    [11] เรื่องเดียวกัน. หน้า 80.
    [12] เรื่องเดียวกัน. หน้า 309.
    [13] องฺ.สตฺตก. 23/238/383-386.
    [14] ม.มู. 4/3/1-10.
     

แชร์หน้านี้

Loading...