ปรากฎการณ์ในขณะทำสมาธิ (พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย momogo, 3 พฤษภาคม 2011.

  1. momogo

    momogo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    570
    ค่าพลัง:
    +1,158
    (ถอดเทป ตอนที่ 1(1)) ปรากฎการณ์ในขณะทำสมาธิ

    <!-- Main -->

    <CENTER>ปรากฎการณ์ในขณะทำสมาธิ
    พระราชสังวรญาณ(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
    วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา</CENTER>

    ท่านผู้เจริญด้วยคุณธรรมทั้งหลาย วันนี้ ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่อาตมภาพได้มีโอกาสมาได้พบกับบรรดาท่าน ผู้นักศึกษาธรรมทั้งหลาย ความจริง การฟังธรรม ท่านทั้งหลายก็ได้ฟังกันมามากต่อมากแล้ว และเข้าใจว่าทุก ๆ ท่านคงมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมะพอสมควร ในครั้งก่อนนั้น ได้อธิบายถึงเรื่องการทำสมาธิในขั้นบริกรรมภาวนาตามแบบฉบับของท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น ท่านเป็นพระเถระที่ทรงคุณในทางการปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานของภาคอีสาน
    บางท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นเป็นคนเมืองไหน อาตมาจะได้นำประวัติของท่านมาเล่าโดยย่อ ๆ ท่านอาจารย์เสาร์และท่านอาจารย์มั่นเป็นชาวเมืองอุบลฯโดยกำเนิด ท่านอาจารย์เสาร์เกิดที่อำเภอเมือง ท่านอาจารย์มั่นเกิดที่อำเภอโขงเจียม ทั้งสองท่านนี้ ในเมื่อได้มาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว ก็ได้ตั้งใจศึกษาธรรมวินัย เพียงแค่การให้รู้หลักธรรม อันเป็นหลักในทางการปฏิบัติทางด้านจิตโดยตรง เรียกว่าท่านเรียนทางกรรมฐานโดยตรง
    ในตอนแรก ๆ พระธุดงค์กรรมฐานในสายนี้ก็ไม่ค่อยจะมีใครสนใจเท่าใดนัก แต่เป็นเพราะเหตุใดนั้น ไม่ขอนำมากล่าว แต่จะกล่าวเฉพาะวิธีปฏิบัติของท่าน ซึ่งท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น ได้ปฏิบัติกรรมฐานเริ่มต้นด้วย บริกรรมภาวนา บริกรรมภาวนาอะไรก็ได้ ไม่เฉพาะแต่คำว่าพุทโธอย่างเดียว เพราะบริกรรมภาวนาแต่ละอย่างนั้น เป็นแต่เพียงอารมณ์เป็นคู่ของใจ ซึ่งผู้บริกรรมนั้นจะต้องนึกในคำใดคำหนึ่งซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนกระทั่งทำจิตให้ติดอยู่ในคำภาวนานั้น ทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่า โดยธรรมชาติจิตของคนเรานั้น ย่อมส่งกระแสไปรู้อารมณ์ต่าง ๆ สุดแท้แต่อารมณ์นั้น ๆ จะผ่านเข้ามา ในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่ออารมณ์นั้นผ่านเข้ามาแล้วก็สามารถที่จะจูงใจให้ไปเกิดความยินดี ความยินร้าย หรือความพอใจ ไม่พอใจ สุดแท้แต่อารมณ์จะจูงให้เป็นไปและการรับรู้อารมณ์ของจิตนั้น ย่อมมีอันเปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ เพียงแค่เวลาประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น เรามีความรู้สึกนึกคิดจนนับไม่ถ้วน ดังนั้นอุบายวิธีการบริกรรมภาวนา หรือนึกอยู่ในคำใดคำหนึ่งซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็เพื่อจะให้จิตติดอยู่กับคำที่นึกนั้น แล้วจิตของเราจะได้ลืมนึกถึงอารมณ์อื่น ๆ แต่จดจ้องอยู่ที่คำภาวนาอย่างเดียว แต่การที่จะทำให้จิตจดจ้องอยู่ที่คำภาวนาอย่างเดียวนั้น ก็ไม่ได้เป็นของง่ายนัก เพราะว่าโดยปกติจิตของคนเราย่อมส่งกระแสไปสู่อารมณ์ต่าง ๆ นับไม่ถ้วน การที่จะทำจิตให้อยู่กับคำบริกรรมภาวนาที่เราต้องการนั้น ถ้าจะพูดถึงการภาวนาจะให้ได้ผลกันจริงจัง แทบจะไม่มีคำอะไรที่จะต้องมาอธิบายสู่กันฟัง นอกจากจะตั้งใจนึกบริกรรมภาวนากันอย่างจริงจัง ในสภาวนามอย่างไหน อย่างไรก็ได้เท่านั้น ไม่เฉพะแต่คำว่าพุทโธอย่างเดียว เราจะใช้คำอื่น ๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นขอท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ได้โปรดอย่ามีความเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ ในวิธีการที่จะภาวนาให้เกิดผล มีแต่ว่าจะตั้งใจทำจิต ถือหลักว่าภาวนาให้มาก ๆ กระทำให้ชำนิชำนาญ เมื่อเรามีความพากเพียรพยายามที่จะกระทำให้มาก ๆ ทำให้ชำนิชำนาญ ทำไม่หยุด ถ้าใครสามารถที่จะตั้งใจว่าเราจะนั่งสมาธิภาวนาให้ได้วันละ 3 หรือ 4 ครั้ง แต่ละครั้งให้ได้ครั้งละ 1 ชั่วโมง ถ้าสามารถที่จะทำได้ รับรองว่าจิตสงบอย่างแน่นอน แต่นี่เรายังทำไม่ถึง พอทำไปนิดหน่อยเกิดทุกเวทนาขึ้นมาครอบงำแล้วเราก็หยุดเสีย ถ้าหากเราพากเพียรพยายามทำให้มาก ๆ ทำบ่อย ๆ แล้วก็ทำไม่หยุดหย่อน เราก็สามารถที่จะทำจิตให้สงบได้ อาตมาได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า ท่านทั้งหลายคงจะได้ศึกษาธรรมะ และมีความรู้ความเข้าใจกันมากมายพอสมควร ดังนั้น ณ โอกาสนี้จึงใคร่ที่จะขอเชิญท่านทั้งหลายให้ตั้งใจกำหนดจิตบริกรรมภาวนาตามที่ตนชำนิชำนาญมาแล้วอย่างใด ถ้าหากท่านจะบริกรรมภาวนา พุทโธ พุทโธ ก็ให้ตั้งจิตอธิษฐานภาวนาภายในใจของตัวเองว่า “บัดนี้ ฉันจะทำสมาธิภาวนาเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ เพื่อจะให้รู้แจ้งแทงตลอดในสภาวธรรมตามความเป็นจริง” แล้วก็นึกในใจของตนเองว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ , พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วก็น้อมใจเชื่อลงไปว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมก็อยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่ใจ” แล้วกำหนดลงที่ใจอย่างเดียวเท่านั้น นึกบริกรรมภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ อยู่อย่างนั้น จนกว่าจิตจะมีอาการสงบลงไป ให้พึงสังเกตจิตของตนเองให้ดี ถ้าจิตมีอาการเคลิ้ม ๆ ลงไป คล้าย ๆ กับจะง่วงนอน พึงรู้เถอะว่าจิตของเรากำลังเริ่มจะสงบแล้ว เพราะจิตที่จะสงบในเบื้องต้นนั้น ถ้าจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมาก็คืออาการนอนหลับ เพราะเมื่อจิตจะสงบก็มีอาการเคลิ้ม ๆ แล้วก็วูบลงไป พอวูบลงไป พอหยุดวูบแล้ว จิตจะนิ่ง ในเมื่อจิตนิ่งแล้ว ถ้าหากว่าจิตจะนอนหลับมันก็หลับมืดไปเลย ถ้าหากว่าจิตจะเป็นสมาธิ พอวูบลงไปนิ่งแล้ว จิตก็จะมีอาการสว่างขึ้นมา ซึ่งทั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นในลักษณะอย่างเดียวกันทั้งหมด บางท่านก็รู้สึกว่า มีกายเบาจิตก็เบา แล้วจึงค่อย ๆ ก้าวเข้าไปสู่ความสงบทีละน้อย ละน้อย ไม่มีอาการวูบวาบ จนกระทั่งจิตสงบแน่นิ่งลงไปถึงขั้นอัปนาสมาธิ แต่ส่วนมากในช่วงนี้ ถ้าเกี่ยวกับเรื่องการบริกรรมภาวนานั้น เมื่อจิตมีอาการเคลิ้ม ๆ สงบลงไปสว่างขึ้นแล้ว คำบริกรรมภาวนาที่นึกอยู่นั้นจะหายไป ในเมื่อคำบริกรรมภาวนาหายไปแล้ว เราก็ไม่ต้องไปนึกถึงคำบริกรรมภาวนาอีก ในตอนนี้ให้ผู้ปฏิบัติจงกำหนดรู้ลงที่จิตของตัวเอง ถ้าหากจิตมีอาการสงบนิ่ง สว่างอยู่เฉย ๆ ก็กำหนดรู้ ลงที่นั้นอย่างเดียว แต่ถ้าในช่วงนั้น ถ้าลมหายใจปรากฏขึ้นในความรู้สึก ก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจ ตามรู้ลมหายใจ เพียงแต่รู้เท่านั้น อย่าไปนึกคิดอะไรทั้งนั้น ลมหายใจสั้นก็ไม่ต้องว่า ลมหายใจยาวก็ไม่ต้องว่า ลมออกสั้นก็ไม่ว่า ลมออกยาวก็ไม่ว่า ลมเข้าสั้นก็ไม่ว่า ลมเข้ายาวก็ไม่ว่า เป็นแต่เพียงกำหนดรู้ลมหายใจอยู่โดยธรรมชาติ แล้วอย่าไปแต่งลมหายใจเป็นอันขาด ในช่วงนี้เพียงแต่กำหนดรู้อยู่เท่านั้น ถ้าหากว่าเรากำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจถ้าหาก ลมหายใจแสดงอาการเป็นไปต่าง ๆ เช่น ลมหายใจอาจจะแสดงอาการหายใจแรงขึ้น หรือหายใจแผ่วเบาลงไป หรือบางครั้งอาจจะมองเห็นลมหายใจสว่างเหมือนกับปุยนุ่น ก็ให้กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว รวมความว่า อะไรเกิดขึ้นภายในความรู้สึก ก็เพียงแต่กำหนดรู้เฉยอยู่ อย่าไปทำความเอะใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ๆ ถ้าเราไปทำความเอะใจหรือไปทักท้วงสิ่งที่เกิดขึ้น จิตจะถอนจากสมาธิทันที เพราะฉะนั้นให้กำหนดรู้อยู่เฉย ๆ ในเมื่อจิตมีสิ่งที่รู้คือลมหายใจปรากฎตลอดเวลา ตัวสติสัมปชัญญะจะค่อยมีกำลังกล้าขึ้น สามารถควบคุมจิตให้สภาพสงบได้โดยอัตโนมัติ นี่ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย พึงทำความเข้าใจอย่างนี้ และถ้าหากว่าจิตของผู้ภาวนานั้น ไม่นิ่งเข้าไปยึดลมหายใจ ก็ย่อมจะส่งกระแสออกไปข้างนอก ในเมื่อส่งกระแสความรู้สึกออกไปข้างนอก ในช่วงที่จิตมีความสงบสว่างอยู่นั้น แล้วภาพนิมิตต่าง ๆ จะปรากฏขึ้น จะเป็นภาพอะไรก็ตามเมื่อภาพต่าง ๆ ปรากฏขึ้นแล้ว ก็ให้กำหนดรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น อย่าไปทำความเอะใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายนอก ถ้าหากเราสามารถประคองจิตของเราให้อยู่ในความสงบ ในสภาพปกติ โดยไม่ไปเอะใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น จิตก็จะสงบนิ่งเป็นสมาธิอยู่ตลอดไป ถ้าหากเกิดเอะใจขึ้นมาเมื่อไรแล้ว สมาธิก็จะถอน ภาพนิมิตนั้นก็จะหายไป ในตอนนี้มีความสำคัญมากสำหรับนักปฏิบัติ ถ้าหากเรามีความรู้สึกว่าภาพนิมิตต่าง ๆ เป็นสิ่งอื่นมาแสดงให้เรารู้เราเห็น บางทีเราอาจจะเข้าใจผิด เช่น อย่างเห็นภาพผี เปรต หรือเทวดาเป็นต้น บางท่านอาจจะคิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เขามาขอส่วนบุญเรา แล้วเราก็ไปนึกแผ่ส่วนบุญกุศลให้เขา ในเมื่อนึกขึ้นมาอย่างนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิภาพนิมิตทั้งหลายนั้นก็หายไป อันนี้ก็ไม่ค่อยจะร้ายแรงเท่าไรนัก แต่ถ้าหากบางท่านอาจจะมีความรู้สึกหรือมีความเห็นนอกเหนือไปกว่านี้ โดยสำคัญว่าภาพนิมิตทั้งหลายเหล่านั้น เป็นสิ่งที่เข้ามาเพื่อที่จะดลบันดาลจิตใจของเราให้เกิดความสงบให้เกิดความรู้ แล้วบางทีเราอาจจะเผลอ ๆ ไปน้อมรับสิ่งเหล่านั้นเข้ามาสิงสู่อยู่ในตัวของเรา แล้วสภาพจิตของเราจะกลายเป็นในลักษณะที่เรียกว่าสภาพผีสิง นี่ถ้าหากเราไปสำคัญว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นตนเป็นตัวขึ้นมา หรือเป็นสิ่งอื่นขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากไปมองเห็นภาพนิมิตของผู้ที่เขา ที่เราเข้าใจว่าเป็นผู้วิเศษ มาปรากฏกายให้มองเห็นแล้ว เราอาจจะน้อมเอาภาพนิมิตนั้นให้เข้ามาสู่ตัวของเรา หรือสู่จิตใจของเรา เพราะความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่มองเห็นนั้นเป็นสิ่งที่มาจากที่อื่น ในเมื่อเราน้อมเข้ามาแล้ว จะมีอาการคล้ายๆ กับว่ามีสิ่งเข้ามาทรงอยู่ภายในจิต หลังจากนั้นเราก็จะกลายเป็นคนทรงไป อันนี่เป็นสิ่งที่เราควรจะระมัดระวังให้มาก ๆ การภาวนาหรือการทำจิตเนี่ย เราไม่ได้มุ่งที่จะให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาช่วยดลบันดาลให้เราเป็นผู้รู้ผู้เห็น เราต้องการจะทำให้จิตมีความสงบนิ่งเป็นสมาธิโดยความเป็นอิสระของจิตเอง ถ้าหากว่าจิตจะเกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมา ก็เป็นสมรรถภาพของจิตเอง ไม่ใช่สิ่งบันดาลเพราะฉะนั้นขอให้ท่านนักศึกษาธรรมะหรือนักปฏิบัติทั้งหลาย พึงทำความเข้าใจในเรื่องนิมิตต่าง ๆ ถ้าหากว่าท่านไม่ไปเอะใจหรือไม่ได้ไปสำคัญว่านิมิตต่าง ๆ ที่ปรากฎขึ้นนั้นเป็นสิ่งอื่นมาดลบันดาลให้เรารู้เราเห็น ทำความรู้สึกว่าภาพนิมิตนั้นเกิดขึ้นจากจิตของเรา จิตของเรานั่นแหละเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นมา เพราะเรามีความสำคัญว่าเราอยากรู้ อยากเห็น ในเมื่อเราอยากรู้อยากเห็น พอจิตสงบเคลิ้ม ๆ ลงไปอยู่ระดับในแห่งอุปจารสมาธิ ในตอนนี้จิตของเราจะฝันดีนัก ถ้าหากเรานึกถึงอะไรแล้วจะเกิดเป็นภาพนิมิตขึ้นมา ถ้าหากเราสามารถที่จะกำหนดจดจ้องรู้ลงที่จิตอย่างเดียว โดยไม่สำคัญมั่นหมายในนิมิตนั้น ๆ เราก็จะรู้สึกว่า อาจจะรู้สึกว่าภาพนิมิตเป็นอุปกรณ์แก่การปฏิบัติของท่านผู้มีสติปัญญา โดยกำหนดรู้อยู่ที่จิตและภาพนิมิตที่มองเห็นนั้นจะแสดงปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ หากจิตของท่านผู้ปฏิบัตินั้นมีสมาธิมั่นคงพอสมควรก็จะสามารถกำหนดเอานิมิตนั้นๆ เป็นเครื่องหมายแห่งความรู้เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติบางทีภาพนิมิตนั้น อาจแสดงเรื่องอสุภกรรมฐาน หรือภาพกรรมฐานให้เรารู้เห็นก็ได้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะสามารถทำให้สติสัมปชัญญะของเราดีขึ้น และเมื่อมีสติสัมปชัญญะของเราดีขึ้นแล้ว จิตก็จะสงบรวมลงไปสู่ความเป็นหนึ่ง เรียกว่า อัปนาสมาธิ ทีนี้ปัญหาเรื่องคำว่า อัปนาสมาธินั้น บางท่านอาจจะเข้าใจว่า อัปนาสมาธิ คือความเป็นหนึ่งของจิตหรือเอกัคตาจิตนั้น ไม่สามารถที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นได้ จริงอยู่ผู้ปฏิบัติในขั้นต้น จะเป็นการบริกรรมภาวนาก็ตาม หรือจะเป็นการพิจารณาอะไรก็ตาม เมื่อจิตสงบลงไปนิ่ง อยู่ในความเป็นหนึ่งที่เรียกว่าเอกัตคตา ในช่วงต้น ๆ นี้จิตอาจจะไม่สามารถบันดาลให้เกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากว่าท่านผู้นั้นเคยพิจารณากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง จนชำนิชำนาญ ด้วยการน้อมนึกคิดแล้ว เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปเป็นอัปนาสมาธิ จิตก็สามารถที่จะบันดาลให้เกิดความรู้ความเห็น ได้เห็นจิต เห็นธรรมขึ้นมาได้ ดังนั้นเราจึงสามารถแบ่งขั้นของอัปนาสมาธิได้ 2 ตอน
    ตอนแรก จิตสงบนิ่งลงไปเป็นหนึ่ง อยู่ในอัปนาสมาธิ ถ้าอยู่เป็นสมาธิในขั้นฌาน จะไม่สามารถเกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมา เพราะจิตอยู่ในฌานย่อมนิ่งอยู่ในจุด ๆ เดียว แต่ถ้าหากว่าจิตที่เคยพิจารณาวิปัสสนากรรมฐานมาแล้วก็ดี หรือเคยพิจารณาอสุภกรรมฐานมาแล้วก็ดี เคยพิจารณาธาตุกรรมฐานมาแล้วก็ดี เมื่อจิตสงบนิ่งลงไป เป็นหนึ่งลงไปแล้ว จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับจิตถอนตัวออกจากร่างแล้วก็ส่งกระแสมารู้เรื่องของร่างกาย จิตจะมองเห็นกายในลักษณะต่าง ๆ จะเป็นนั่งอยู่หรือนอนอยู่ก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตก็จะมีความสงบนิ่งเฉย สว่างหนึ่งอยู่ และกายที่มองเห็นในความรู้สึกของจิตนั้น ก็จะแสดงปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะต่าง ๆ ถ้าหากว่าท่านผู้นั้นพิจารณาอสุภกรรมฐานมา จนชำนิชำนาญด้วยการน้อมนึก จิตก็จะสามารถรู้เรื่องของอสุภกรรมฐานขึ้นมาโดยอัตโนมัติ โดยที่กายที่มองเห็นอยู่นั้น จะแสดงอาการขึ้นอืด แล้วก็มีน้ำเหลืองไหล เนื้อหนังหลุดออกไปเป็นชิ้น ๆ แล้วยังเหลือแต่โครงกระดูก ในที่สุดโครงกระดูกก็จะแหลกละเอียดลงไป เป็นจุณมิจุณไป แล้วก็หายไปในที่สุดยังเหลือแต่ความว่าง ในเมื่อจิตว่างแล้ว จิตก็จะสามารถที่จะก่อตัวรู้เรื่องของโครงกระดูก ซึ่งจะมาผสานกันเป็นโครงกระดูก แล้วก็จะเกิดมีเนื้อมีหนัง กลับคืนมาอยู่ในสภาพเป็นร่างโดยสมบูรณ์อย่างเก่า จะมีอาการเป็นไป ย้อนกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น จนกว่าจิตจะถอนออกมาจากสมาธิ และในขณะที่จิตรู้เห็นนั้น จะมีความรู้สึกว่ารู้เห็นด้วยทางจิตอย่างเดียว คือไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสาทส่วนกาย คือไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสาทส่วนตา เป็นความรู้ความเห็นของจิตล้วน ๆแต่ถ้าหากว่าท่านผู้ที่เคยพิจารณาธาตุกรรมฐาน ก็จะมองเห็นร่างกายเนี้ย แหลกละลายลงไป เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ อย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วก็จะหายไปกลายเป็นความว่าง
    ถ้าหากว่าท่านผู้ที่เคยพิจารณาวิปัสสนากรรมฐาน เช่น พิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว แล้วจิตก็จะมีนิมิตอะไรขึ้นมา ก็สุดแท้แต่จิตจะปรุงขึ้นมา แต่ความปรุงแต่งในขั้นนี้กับสิ่งที่รู้เห็นนั้น คล้าย ๆ กับว่าไม่มีความสัมพันธ์กันเลย ในตอนนี้จิตกับสิ่งที่รู้ แยกกันออกได้เป็นคนละส่วน สิ่งที่รู้นั้นก็แยกเป็นส่วนหนึ่ง ตัวผู้รู้คือจิตนั้นก็อยู่อีกส่วนหนึ่ง และส่วนความเปลี่ยนแปลงที่มันจะแสดงไปในลักษณะแห่งพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ก็จะมีอันแสดงไปเอง ถ้าหากท่านผู้ฟังอาจจะมีความสงสัยว่า การแสดงอย่างนั้นใครเป็นผู้แสดง ก็จิตนั่นแหละเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นมา เป็นตัวปัญญาความรู้ ในเมื่อจิตปรุงแต่งขึ้นมา โดยความรู้เท่าเอาทัน ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่รู้ จิตก็รู้สึกว่า คล้าย ๆ กับว่า สิ่งที่รู้อยู่อีกส่วนหนึ่ง แต่ตัวผู้รู้คือจิตนั้น แยกอยู่เอกเทศส่วนหนึ่ง ในตอนนี้เราจะเรียกว่าเอกัคตารมณ์สามารถแยกออกเป็นคนละส่วนก็ได้ อันนี้คือลักษณะปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายในจิตของผู้ที่จะปฏิบัติเริ่มต้นแต่บริกรรมภาวนาหรือในขั้นพิจารณาอสุภกรรมฐาน ธาตุกรรมฐาน หรือพิจารณาพระไตรลักษณ์ในขั้นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเรียกว่าขั้นวิปัสสนา ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย พึงทำความเข้าใจดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทีนี้ถ้าหากสมมติว่าเราจะไม่พิจารณาอะไรแล้ว เพียงแต่เพียงแค่ว่าบริกรรมภาวนาให้จิตสงบอย่างเดียวเท่านั้น แล้วจิตของเราสามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาได้หรือไม่ อันนี้ขอตอบว่าสามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาได้ โดยที่ผู้บริกรรมภาวนาทำจิตให้สงบนิ่งลงไป เริ่มต้นแต่อุปจารสมาธิจนกระทั่งถึงอัปนาสมาธิ อัปนาสมาธิในลักษณะที่จิตนิ่งอยู่ในจุดเดียว ไม่มีสิ่งที่รู้ปรากฏขึ้นในจิต มีการสงบนิ่ง มีลักษณะนิ่งและสว่างไสวอยู่ภายในความรู้สึกอย่างเดียว ความรู้อื่น ๆ ไม่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น วิปัสสนากรรมฐานจะเกิดขึ้นได้อย่างไร วิปัสสนากรรมฐานจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อจิตถอนออกจากความเป็นเช่นนั้นแล้ว มาเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา ผู้ปฏิบัติที่ฉลาด ก็ฉวยโอกาสนั้นกำหนดรู้ความคิดของตนซึ่งเกิดขึ้น จิตคิดอะไรขึ้นมาก็กำหนดรู้ คิดอะไรขึ้นมาก็กำหนดรู้ เพียงแต่รู้ว่าจิตมีความคิดอย่างเดียวเท่านั้น รู้แล้วก็ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ หรือไปช่วยจิตคิดอะไรเพิ่มเติม เป็นแต่เพียงว่า สิ่งใดเกิดขึ้นก็รู้ สิ่งใดเกิดขึ้นก็รู้ รู้ รู้ อยู่อย่างนั้น แล้วสิ่งใดดับไปก็รู้

    download file เสียงพระธรรมเทศนา ได้ที่
    http://palungjit.org/threads/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%8F%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4.3224/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 พฤษภาคม 2011
  2. momogo

    momogo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    570
    ค่าพลัง:
    +1,158
    (ถอดเทป ตอนที่ 1 (2)) ปรากฎการณ์ในขณะทำสมาธิ

    <!-- Main -->
    เกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นอนัตตาอะไรทำนองนั้น ไม่ต้องไปนึกคิดในขณะนั้น ถ้าหากว่าเรานึกคิดแล้ว สมาธิมันจะถอนขึ้นมาอีก เราจะไม่สามารถควบคุมจิตของเราให้จดจ้องดูความคิดที่เกิดขึ้นนั้นได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้ให้นักปฏิบัติพึงระวังให้ดี เมื่อออกจากสมาธิในขั้นบริกรรมภาวนา ถ้าจิตสงบนิ่งเป็นอัปนาสมาธิแล้ว เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ อย่าด่วนออกจากที่นั่งสมาธิในทันทีทันใด ให้ตามกำหนดรู้ความคิดของตัวเองเรื่อยไป จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรแล้ว จึงค่อยเลิกหรือจึงค่อยออกจากที่นั่งสมาธิ ในเมื่อออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้ว คิดแค่ว่า เราจะหยุดกำหนดรู้จิต หรือรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตในทันทีทันใดก็หาไม่ เราจำเป็นจะต้องกำหนดรู้ความรู้สึกนึกคิดของเราอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เราก็ให้ตั้งสติกำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวไปมา ของกาย วาจา และใจของเราอยู่ตลอดเวลา คอยตามรู้ตามเห็น ความเคลื่อนไหวกายหรือการพูด การนึก การคิด ด้วยความมีสติสัมปชัญญะจดจ้องอยู่นั่นแหละ คือการปฏิบัติธรรม แบบที่เรียกว่าสามารถทำให้จิตเกิดความรู้ความฉลาดขึ้นมาได้ ในตอนต้น ๆ มีผู้มาเตือนว่าอยากจะให้แสดงธรรมะเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน แต่ก่อนที่จะพูดถึงธรรมะซึ่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวันนั้น จะขอทำความเข้าใจกับบรรดาท่านทั้งหลายก่อนว่า คำว่าธรรมะนั้น คืออะไรและธรรมะนั้นอยู่ที่ไหน คำว่าธรรมะ ก็คือ กายกับใจ แต่ว่าธรรมะคือกายกับใจนี้ เป็นธรรมะที่เป็นสภาวธรรม ไม่ใช่ธรรมะคำสั่งสอน สภาวธรรมเป็นธรรมะที่เป็นเครื่องรู้ของพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ โดยปกติของธรรมะอันเป็นสภาวธรรมนี้ ย่อมเป็นไปตามกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติของธรรมะ อันเป็นสภาวธรรมที่จะพึงเป็นไปนั้น ก็คือ อนิจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความทนอยู่ไม่ได้ อนัตตา ความไม่เป็นตัวเป็นตน คือมีการสลายตัวนั่นเอง เข้าในหลักที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ย่อมมีความปรากฏขึ้นในเบื้องต้น และมีความทรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ในที่สุดย่อมสลายตัว ทีนี้การปฏิบัติธรรมะเกี่ยวกับกายกับใจของเรานี่ เราจะเริ่มต้นปฏิบัติแต่เมื่อไร การปฏิบัติธรรมะเกี่ยวกับกายกับใจของเรานี่ เราจะเริ่มต้นตั้งแต่ที่เราเริ่มตื่นจากที่นอนมาแล้ว เมื่อเราตื่นจากที่นอนมาแล้ว เราจะต้องมาคิดว่าเราจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกาย จะต้องเข้าห้องน้ำ จะต้องแปรงฟัน จะต้องอาบน้ำชำระกาย จะต้องขับถ่ายซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากเราจะใช้การพิจารณากรรมฐานพร้อม ๆ กันไป เราก็จะได้ปัญหาเกิดขึ้นมาว่า ทำไมเราจึงต้องแปรงฟัน ที่เราต้องแปรงฟันก็เพราะว่าฟันมันเป็นของสกปรก ทำไมเราจึงต้องอาบน้ำ ที่เราอาบน้ำก็เพราะว่าร่างกายมันเป็นของสกปรก ถ้าเรามีปัญหาอย่างนี้ เราก็จะได้คำตอบอย่างนี้ ในเมื่อได้คำตอบอย่างนี้ขึ้นมา เราก็ได้กรรมฐาน ในข้ออสุภกรรมฐาน อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับส่วนตัวของเรา ถ้าหากผู้ที่มีสติปัญญาที่จะต้องคิดกว้างขวางไปหน่อย ว่าทำไมเราจึงต้องทำความสะอาดร่างกาย ก็ถ้าเราปล่อยให้ร่างกายมันสกปรก มันก็เป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัยไข้เจ็บ แน่ะ เราก็ได้ความรู้กว้างขวางออกไป อันนี้คือหลักการปฏิบัติธรรมะเกี่ยวกับชีวิตประจำวันในขั้นต้น และในขั้นต่อไป เราจะต้องพิจารณาว่าก่อนอื่นเนี่ย เราจะต้องทำอะไรเกี่ยวกับตัวเองหรือบุคคลภายในครอบครัวที่เรารับผิดชอบอยู่ เราจะต้องหุงหาอาหารรับทาน เราจะต้องดูแลความสุขทุกข์ของคนภายในครอบครัวที่เรารับผิดชอบ หน้าที่ของความเป็นบิดาคืออะไร หน้าที่ของความเป็นมารดาคืออะไร หน้าที่ของความเป็นลูกคืออะไร เราจะต้องพิจารณาดูให้รอบคอบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวปลาอาหารที่เราได้มารับทานนั้น เราได้มาจากไหน เราสามารถที่จะดลบันดาลเนรมิตเอาได้ทุกสิ่งอย่างหรือ หรือว่าเราจะต้องมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเอามาในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็รู้ว่า เราจะต้องไปแลกเปลี่ยนซื้อหาเอามา เราจึงจะได้มาทำรับทาน ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็มีความจำเป็นจะต้องก้าวออกไปสู่สังคม ในเมื่อเราก้าวออกไปสู่สังคม เราจะปฏิบัติต่อสังคมอย่างไร จนเราต้องการอาหาร เรามีกะตังค์เราก็ไปซื้อ ไปแลกเปลี่ยนเอามา ถ้าเราเป็นผู้ซื้อ เขาให้ของเรามา เราก็ให้เงินเขาไป มันก็เป็นการสมดุลกัน ในลักษณะที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นการปฏิบัติชอบด้วยศีลธรรม แต่ถ้าหากสมมติว่า เราอาจจะคิดว่า เราจะไม่ซื้อไม่หา คอยฉวยโอกาส เมื่อเจ้าของเผลอ ๆ แล้วก็หยิบฉวยเอามา แล้วมันจะผิดศีลข้อไหน มันก็ผิดศีลข้ออทินนาทาน แต่มันก็เกิดเป็นหลักศีลขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมเนี่ย อย่าพึงเข้าใจว่าเราจะต้องนั่งหลับตาบริกรรมภาวนาอย่างเดียว ถ้าหากเราต้องการจะปฏิบัติธรรม เราก็ต้องพยายามปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับภายในครอบครัวของเราเนี่ยให้มันเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย อย่าให้มีอะไรขาดตกบกพร่อง ผู้มีบิดามารดาก็เลี้ยงบิดามารดาให้สมบูรณ์ ผู้มีลูกมีเต้า ก็เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าให้สมบูรณ์ โดยยึดหลักว่า มาตาปิตุอุปัฎฐานัง สังกะโห การอุปัฎฐากเลี้ยงดูบิดามารดา เป็นมงคลอันสูงสุด ถ้าท่านยังเป็นนักปฏิบัติธรรม แต่ยังปล่อยให้ครอบครัวยังลำบากอยู่ การปฏิบัติธรรมอาจจะไม่เป็นไปโดยความสะดวกและเรียบร้อย ดังนั้นผู้ตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรม เพื่อไปสู่ความสงบและสันติสุขกันจริง ๆ ขอได้โปรดพิจารณาถึงชีวิตประจำวัน หน้าที่ความเป็นพ่อบ้านแม่เรือน หน้าที่ความเป็นบุตรเป็นธิดา ควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร และเราควรจะปฏิบัติต่อสังคมอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของนักปฏิบัติจะพึงพิจารณา เมื่อเราพิจารณารอบคอบแล้ว แล้วก็ทำถูกต้องตามระเบียบประเพณีของผู้ครองเรือน มันก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนจิตใจ เมื่อถึงโอกาสที่เราจะนั่งสมาธิภาวนาทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เรียบร้อยหายกังวล จะบริกรรมภาวนา จิตมันก็สงบได้ง่าย เมื่อจิตสงบแล้ว ก็สามารถรู้ความเป็นจริงของการครองเรือนได้อย่างเด่นชัด เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนั้น คือ ปฏิบัติเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งเราประสบเหตุการณ์จากสิ่งแวดล้อมอยู่ทุกลมหายใจนั่นแหละ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสภาวธรรม เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ใกล้เข้ามาก็คือกาย กับใจของเรานั่นเอง นี่คือหลักการปฏิบัติธรรมะเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของนักปฏิบัติอย่างทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสมาธิภาวนาเนี่ย ถ้าหากสมมติว่าใครก็ตามมาภาวนาจิตสงบแล้ว เกิดความขี้เกียจขี้คร้านเบื่อหน่าย ไม่เอาธุรกิจการงาน อันนั้นก็ไม่ถูกต้อง ถ้าอย่างสมมติว่าใครภาวนาเป็นแล้ว เดิมเป็นคนขี้เกียจในการที่จะจัดการบ้านการเรือนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ภาวนาเป็นแล้วมีความหมั่นความขยันขึ้น รู้จักหน้าที่ของตัวเองเป็นอันดี แล้วก็มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อคนในครอบครัว ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่การงานที่เรารับผิดชอบอยู่ อันนั้นจึงจะเรียกได้ว่าเป็นการภาวนาที่ถูกต้อง ถ้าการกล่าวธรรมะพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของบรรดาท่านทั้งหลายสำหรับวันนี้ก็เห็นว่าเป็นเวลาอันสมควร ความจริงนั่นการฟังธรรมนี่ ควรจะได้นั่งสมาธิไปด้วย ดังนั้น ณ โอกาสต่อไปนี้ขอเชิญบรรดาท่านทั้งหลายได้โปรดเชิญนั่งสมาธิ ตามแบบฉบับที่ตนเคยปฏิบัติมาแล้วอย่างไร ขอทุกท่านจงสำรวมจิตของตนเองให้รู้ลงที่จิต แล้วก็ยึดเหนี่ยวเอาบริกรรมภาวนาหรืออารมณ์เป็นเครื่องรู้ของจิตอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนเคยชำนาญมาแล้ว แล้วก็กำหนดจดจ้องรู้ลงที่จิตอย่างเดียว เพราะจิตเป็นพื้นฐานให้เกิดความรู้ จิตเป็นพื้นฐานให้เกิดธรรมะ ธรรมะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดที่จิต เพราะจิตเป็นตัวผู้รู้ ตัวผู้รู้ภายในจิตของเรานั่นแหละ คือ พุทธะ พุทโธ แปลว่า ผู้ตื่น พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ พุทโธ แปลว่า ผู้เบิกบาน ในเมื่อท่านกำหนดรู้ลงที่จิตด้วยบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นึกถึงพุทโธ เป็นต้น ในเมื่อนึกถึงแต่พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ สติสัมปชัญญะไม่ต้องไปกำหนดใหม่ เมื่อเรานึกถึงพุทโธแล้ว สติสัมปชัญญะมาเอง เพราะว่าจิตเป็นผู้ระลึกรู้คำว่า พุทโธ เมื่อเราตั้งใจจะนึกถึงคำว่า พุทโธเมื่อไร ความตั้งใจก็เกิดมีขึ้น ความตั้งใจอันนั้นแหละคือตัวสติ ให้กำหนดจิตคิดบริกรรมภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ อยู่อย่างนั้น ถ้าหากท่านผู้ใดจะภาวนา พุท พร้อมลมเข้า โธ พร้อมลมออกก็ได้ ถ้าภาวนาพุท พร้อมลมเข้า โธ พร้อมลมออก มันยังมีช่วงห่างอยู่ จิตสามารถส่งกระแสไปในที่อื่นได้ ก็ให้ปล่อยลมหายใจเสีย แล้วก็นึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ให้เร็ว ๆ เข้า หน้าที่ของท่านมีแต่เพียงนึกพุทโธ ๆ ๆ ๆ อยู่แต่เพียงอย่างเดียวแล้วก็อย่าไปนึกว่า เมื่อไรจิตจะสงบ เมื่อไรจิตจะรู้ เมื่อไรจิตจะเห็นอะไร เพราะการภาวนานี้ ไม่ใช่เพื่อเห็น ภาวนาเพื่อให้จิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ เพื่อให้รู้สภาพความเป็นจริงของจริงของจิตของตนเองว่า สภาพจิตเป็นอย่างไร แม้แต่เรากำหนดบริกรรมภาวนาลงไป เราก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าจิตของเราอยู่กับคำบริกรรมภาวนาหรือไม่ เมื่อเรารู้ว่าจิตของเราอยู่กับคำบริกรรมภาวนาก็กำหนดจดจ้องลงที่จิต แล้วนึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ อยู่อย่างนั้น เมื่อจิตละจากพุทโธไปนึกถึงสิ่งอื่น เราก็รู้ว่าจิตของเราไม่อยู่กับพุทโธ แล้วก็ไปอยู่กับสิ่งอื่น เราก็เอามาไว้กับคำว่าพุทโธ ๆ ๆ ตามเดิม เมื่อจิตอยู่กับพุทโธ ก็นึก พุทโธ ๆ ๆ อยู่อย่างนั้น เมื่อจิตปราศจากพุทโธ ไปนึกถึงสิ่งอื่น เรารู้ตัวแล้วก็รีบนำกลับคืนมาให้อยู่กับพุทโธ ก็มีแค่นี้ สำหรับการบริกรรมภาวนา ถ้าท่านผู้ใดจะพิจารณาอะไรตามที่ตนเคยถนัดมา ก็น้อมจิตพิจารณาไปตามแนวทางที่ตนเคยชำนิชำนาญ ท่านเคยภาวนาสัมมาอรหัง ก็ภาวนาสัมมาอรหังเรื่อยไป ภาวนายุบหนอพองหนอ ก็ยุบหนอพองหนอเรื่อยไป คำบริกรรมภาวนาทุกอย่าง เป็นบริกรรมภาวนา เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นเครื่องล่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ เมื่อเรามานึกถึงสิ่งเดียวบ่อย ๆ เข้า นึกให้มาก ๆ ทำให้มาก ๆ จนชำนิชำนาญ จนจิตของเราติดอยู่กับบริกรรมภาวนานั้น แล้วจิตของเราก็จะลืมนึกถึงสิ่งอื่น จะมานึกอยู่เฉพาะแต่คำบริกรรมภาวนา ในขั้นต้น ๆ นี้ จะรู้สึกว่า จิตนึกอยู่ที่คำภาวนาเป็นส่วนมาก ในบางครั้งก็จะนึกถึงสิ่งอื่น เมื่อนึกถึงสิ่งอื่นเมื่อไรแล้วละก็ เอามาไว้กับคำบริกรรมภาวนา เมื่อภาวนาจิตสงบลงไป หากจะมีอาการอะไรเกิดขึ้น เช่น มีอาการ ร่างกายมีอาการสั่นหรือโยกโคลง หรือมีความรู้สึกว่าตัวลอยอยู่บนอากาศ รู้สึกว่าตัวใหญ่โตพองขึ้น รู้สึกว่าตัวเล็กลง หรือเกิดความสว่างขึ้นมา อย่าไปสำคัญมั่นหมายในเหตุการณ์เหล่านั้น ให้กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น เราก็จะสามารถที่จะมีความสงบละเอียดยิ่งขึ้นไปได้เร็ว ถ้ายิ่งจิตมีความสงบละเอียดยิ่งเข้าไปเท่าไร อาการแห่งความปีติและความสุขก็ย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อจิตมีปีติและสุขเป็นเครื่องบำรุงเลี้ยง จิตก็จะมีความสบาย จะมีอาการเบาจิตเบากาย จิตก็สงบ กายก็สงบ คือ จิตสงบจากอารมณ์วุ่นวาย กายก็จะสงบจากทุกขเวทนาคือความเจ็บปวด เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็ไม่ทุรนทุราย ไม่ดิ้นรน มุ่งหน้าต่อความสงบเรื่อยไป จนกระทั่งผ่านอุปจารสมาธิ แล้วก็เข้าไปสู่อัปนาสมาธิ เมื่อจิตเข้าไปสู่อัปนาสมาธิ จิตจะมีลักษณะนิ่ง สว่าง เด่น รู้ อยู่เฉพาะจิตอย่างเดียว อันนี้เป็นสมาธิในขั้นต้น ซึ่งเรียกว่า ปฐมสมาธิ ปฐมจิต ปฐมวิญญาณ มโนธาตุ เมื่อท่านสามารถทำได้ถึงขนาดนี้ ท่านก็จะสามารถรู้สภาพความเป็นจริงของจิตดั้งเดิมของท่าน และเมื่อจิตถอนจากสมาธิแล้ว ท่านก็จะได้เครื่องรู้เครื่องวัดทันทีว่า จิตอยู่ในความสงบนิ่งเป็นอย่างไร เมื่อจิตออกมารับรู้ความจริงแล้วเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราต้องการรู้ ต้องการเห็น ซึ่งเกี่ยวกับการภาวนา ส่วนการเห็นภาพนิมิตต่างๆ นั้น เป็นแต่เพียงผลพลอยได้ ซึ่งเกิดจากความสงบของจิตเท่านั้น แต่ถ้าภาพนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว เราเอาจิตไปติดอยู่กับนิมิตนั้น เราจะไปรู้แต่สิ่งภายนอก แล้วจะไม่รู้สภาพความเป็นจริงของจิตภายในว่าเป็นอย่างไร ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จับจุดแห่งสมาธิไม่ถูก บางทีอาจจะไปสำคัญว่า ภาพนิมิตต่างๆ ที่มองเห็นนั้นเป็นภูมิวิปัสสนาไป แต่แท้ที่จริงนั้นมันเป็นแต่เพียงความฝันในขั้นนี้ เพราะจิตเมื่อสงบเคลิ้ม ๆ ลงไปแล้ว จิตจะมีลักษณะคล้าย ๆกับไม่มีสติ จิตจะมีอาการเลื่อนลอยเคว้งคว้างไม่มีที่เกาะ ไม่มีที่ยึด เมื่อจิตนึกถึงสิ่งใดขึ้นมา จิตก็จะเกิดภาพนิมิตสิ่งนั้น แล้วจิตก็จะไปรู้อยู่ในนิมิตภายนอก ไม่รู้เข้ามาภายใน พื้นฐานที่ตั้งของจิตว่าอยู่ที่ตรงไหน เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติเมื่อทำจิตได้ขึ้นมาถึงขั้นนี้ ให้พยายามน้อมจิตเข้ามารู้ภายใน อย่างน้อยก็รู้ลมหายใจ ถ้าไม่รู้ลมหายใจ ท่านควรจะกำหนดดูส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น กะโหลกศีรษะ กระดูกหน้าอก กระดูกแขน กระดูกขาที่ใดที่หนึ่ง โดยน้อมนึกภายในจิตว่า เราจะดูกระดูกตรงหน้าอก แล้วก็กำหนดลอกหนังออก กำหนดเฉือนเนื้อ <!-- End main-->
     
  3. momogo

    momogo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    570
    ค่าพลัง:
    +1,158
    (ถอดเทป ตอนที่ 2 (1)) ปรากฎการณ์ในขณะทำสมาธิ

    <!-- Main -->
    เมื่อกายปรากฎอยู่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ย่อมปรากฏ แต่ถ้าจิตดูรูปคือกายนี้ละเอียดลงไปแล้ว จนกระทั่งสามารถรู้ส่วนละเอียดของร่างกายด้วยความเปลี่ยนแปลงในลักษณะต่าง ๆ แล้วจิตสงบนิ่งลงไปสู่ความเป็นอัปนาสมาธิ จนกระทั่งรูปคือวัตถุที่มองเห็นนั้นหายไปหมด ในตอนนี้สุขเวทนาก็หายไป ทุกขเวทนาก็หายไป ยังเหลือแต่อุเบกขาเวทนา เพราะสุข ทุกข์เกิดอยู่ที่กาย ถ้าจิตยังรู้สึกว่ากายยังปรากฏอยู่ ก็มีเวทนาคือสุข และ ทุกข์ หรือ อุเบกขาปะปนกันไป ถ้าหากจิตพิจารณากายจนกายหายไปหมดแล้ว มองไม่เห็นกาย ก็ยังเหลือแต่นามธรรมคือตัวรู้ จิตตัวผู้รู้เนี่ย สามารถที่จะปรุงความรู้ให้เกิดขึ้นในขั้นนามธรรม มีสิ่งที่รู้ปรากฎอยู่ ในลักษณะเกิดขึ้น-ดับไป เกิดขึ้น-ดับไป อยู่ภายในจิต แต่จิตไม่ได้สำคัญมั่นหมายในความเกิดและความดับนั้นว่าเป็นอะไร เป็นแต่เพียงรู้อยู่ว่า มีสิ่งที่รู้แล้วก็แสดงอาการเกิด-ดับ ในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้น-ดับไป เกิดขึ้น-ดับไป มีอันเป็นไปอยู่อย่างนั้น จิตก็นิ่งเด่นเฉยอยู่ ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งที่ให้รู้ก็มีอยู่ จิตตัวผู้รู้ก็เด่นอยู่ อยู่ในลักษณะเพียงแค่รู้ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เห็นแล้วก็ไม่เรียกว่าอะไร แม้แต่ตัวจิตผู้รู้ ก็ไม่เรียกว่าจิต แม้แต่สิ่งที่รู้จิตก็ไม่เรียกว่าอะไร เป็นแต่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้น-ดับไป เกิดขึ้น-ดับไป อยู่เพียงแค่นั้น อันนี้พอจะหาหลักเทียบในพระสูตรได้แล้วหรือยัง สิ่งที่จะเรียกในพระสูตรก็คือว่า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง,สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา อันนี้เป็นความรู้ของท่านอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรม ทำไมจึงเรียกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็เพราะไม่สามารถที่จะเรียกชื่อได้ เพราะไม่มีสมมติบัญญัติ สัจธรรมที่เกิดขึ้นภายในจิตของผู้ปฏิบัตินั้น ย่อมไม่มีชื่อเสียงเรียงนามว่าจะสมมติบัญญัติเรียกว่าอะไร มีแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น-ดับไป เกิดขึ้น-ดับไปอยู่อย่างนั้น เพราะอาศัยที่ท่านอัญญาโกณฑัญญะรู้อย่างนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงรับรองว่าท่านเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันได้ใจความว่า ความรู้ของจิตที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่ 3 ขั้นตอน
    ตอนต้น เป็นความรู้ที่เกิดจากสัญญาความทรงจำที่เราอาศัยเป็นหลักหรือเป็นแนวน้อมนึกพิจารณา เพียงแต่พิจารณาพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็มีรูปกับนามเป็นเครื่องหมายเป็นเครื่องรู้ โดยน้อมนึกเอาว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เป็นวิปัสสนาในขั้นปฏิบัติ เมื่อผู้มาพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อจิตยอมรับและเชื่อมั่นในความเป็นที่ตัวเองค้นคิดพิจารณาแล้วจิตจะเข้าไปสู่ความสงบ ในเมื่อสงบลงไปอยู่ในระดับอุปจารสมาธิจิตก็สามารถที่จะปฏิวัติตนไปสู่ภูมิรู้ตามแนวทางที่เราได้น้อมนึกพิจารณามาแล้วนั้น ความรู้ในขั้นนี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จิตรู้อะไรขึ้นมา จิตกับสิ่งที่รู้นั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความรู้ในขั้นนี้ มีสมมติบัญญัติตามภาษานิยมของโลก เมื่อจิตรู้ ตามรู้ ตามเห็นสิ่งที่รู้ไป จิตก็ค่อยสงบลงไปเรื่อย ๆ เพราะสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เมื่อจิตมีเครื่องรู้ สติมีเครื่องระลึก ก็เป็นอุบายทำจิตให้สงบละเอียดลงไป จนกระทั่งจิตรู้สึกว่ากายไม่มี มีแต่จิตดวงเดียวล้วน ๆ แล้วจิตก็จะสามารถรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดาดับไปเป็นธรรมดา แต่คำว่าเกิดขึ้นเป็นธรรมดาและดับไปเป็นธรรมดา ในความรู้สึกในขณะที่จิตรู้เห็นอยู่จะไม่มี จิตจะมองเห็นแต่สิ่งที่รู้ที่เห็น ปรากฏการณ์อยู่เท่านั้น แต่ไม่มีสมมติบัญญัติใด ๆ ที่จะเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร อันนี้จิตเดินในขั้นวิปัสสนากรรมฐานอย่างละเอียด เมื่อจิตกำหนดรู้แต่เพียงเกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับอยู่เแค่นั้น โดยไม่ได้นึกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขณะนั้นก็ตาม เมื่อจิตเพ่งจ้องมองดูความเกิดดับอยู่ภายในจิต จิตก็ย่อมจะปฏิวัติตนไปสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาเอง และความรู้สึกว่าจิตขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนานั้น เราจะกำหนดรู้เอาตอนไหน เพราะถ้าเมื่อจิตนิ่งลงไปแล้ว มีแต่สิ่งที่รู้เกิด-ดับ เกิด-ดับ อยู่อย่างนั้น แล้วไม่มีภาษาที่จะสมมติบัญญัติ เราจะกำหนดที่ตรงไหนว่าเป็นเครื่องหมายของวิปัสสนากรรมฐาน อันนี้จิตไม่ได้กำหนด เมื่อจิตถอนออกมาจากความสงบ และความรู้เช่นนั้น พอมาเกิดรับรู้สัญญาในทางฝ่ายนอก มีความรู้สึกว่ามีกาย มีประสาท 5 ครบบริบูรณ์ แล้วจิตจึงจะเกิดความรู้ขึ้นมาว่าสิ่งที่เรารู้เห็นอยู่ภายใน เมื่อตะกี้เนี้ย นั่นแหละคือลักษณะแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาวธรรม อันนี้ภาษาสมมติบัญญัติจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจิตออกจากสมาธิมาแล้ว แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในจุดที่พระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็ย่อมไม่มีสมมติบัญญัติ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสัจธรรมเป็นของจริง ในเมื่อสัจธรรมของจริงปรากฏขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติ ย่อมอยู่เหนือสมมติบัญญัติ เพราะฉะนั้นในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจึงได้แต่เพียงว่า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง,สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อผู้ปฏิบัติมาทำจิตให้มีความละเอียดถึงขั้นนี้ หน้าที่ที่จะค้นคิดพิจารณาอะไรต่อไป ในขณะที่จิตเป็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่สามารถที่จะน้อมจิตไปสู่ความเป็นอื่นได้ นอกจากจิตจะถอนจากความเป็นเช่นนั้นแล้ว จิตจะปฏิวัติตัวไปเอง เพราะภูมิรู้อันนี้เป็นภูมิรู้ที่อยู่เหนือสัญญาเจตนาที่จะน้อมนึก เป็นความรู้ในขั้นที่เรียกว่าอัตโนมัติ ความรู้ ความเห็น ความเป็นในขั้นนี้ เกิดจากอะไร เกิดจากศีล สมาธิ ปัญญาที่เราอบรมดีแล้ว สีละปะริภาวิโต สมาธิ มะหัปผะโล โหติ มะหานิสังโส สะมาธิปะริภาวิตา ปัญญา มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา ปัญญาปะริภาวิตัง จิตตัง สัมมะเทวะ อาสะเวหิ วิมุจจะติ" ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต ปัญญาที่มาอบรมจิตนั้นคืออะไร ก็คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดภายในจิตตลอดเวลานั่นเอง นั่นแหละคือตัวปัญญาที่ย้อนกลับมาอบรมจิต เมื่อจิตไม่มีอาการตื่นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น จิตก็อยู่ในสภาพแห่งความเป็นปกติอย่างเต็มที่ ถ้าหากว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นภายในจิต จิตมีอาการไหวถ้าเกิดความยินดีขึ้นมา ก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค ถ้าเกิดไม่พอใจขึ้นมาก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ถ้าจะดูในแง่ตัณหา ถ้ายินดีก็กามตัณหา ถ้าติดก็ภวตัณหา ถ้าไม่ยินดี ก็วิภวตัณหา ถ้าหากจิตอยู่ในความเป็นปกติ หากนิ่งเด่นอยู่ แม้อะไรจะผ่านเข้ามาก็นิ่งเด่นอยู่อย่างนั้น ไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย ไม่มีความติด ไม่ยึดไม่ถืออะไร วิโรธะ คือความดับก็ปรากฏขึ้น คำว่าวิโรธ ความดับนี่ ไม่ใช่ว่าดับจิต โดยไม่มีความรู้สึก มันดับแต่เพียงอาการแห่งกิเลสเท่านั้น แต่อาการแห่งความรู้ เช่นว่า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมังนั้น ยังปรากฏอยู่ ทีนี้เพียงแค่ว่ามีสิ่งเกิด-ดับ เกิด-ดับปรากฏอยู่ภายในจิตเท่านั้น ยังมีหลักฐานที่จะพึงยืนยันอีกว่า ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่ตาผู้เอนเอียงเช่นอยู่ ในกาลนั้นความสงสัยของการณ์นั้นย่อมสิ้นไป อันนี้เป็นจุดสูงสุดของการปฏิบัติจิต ทีนี้ใครจะปฏิบัติแบบไหนอย่างไรก็ตาม อย่าได้ไปทำความเคลือบแคลงสงสัยในวิธีการนั้น ๆ การปฏิบัติแบบไหน ถูกหมด ไม่มีอะไรผิด แต่ถ้าเข้าใจผิด ในเมื่อความรู้เกิดขึ้นมันก็มีความผิดถ้ารู้ผิด มันก็เป็นมิจฉาทิฐิ ถ้ารู้ถูกก็เป็นสัมมาทิฐิ ถ้ารู้ว่าจิตมันดับหมด ไม่มีอะไรเหลือ มีแต่ความว่าง จิตก็ไม่มี อะไรก็ไม่มีทั้งนั้น มันก็ค่อนข้างที่จะเรียกว่าเป็นความรู้ที่ผิด ในเมื่อจิตมันปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างลงไปแล้ว ใจมีความสงบนิ่งเด่นอยู่ แม้ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ตัวจิตผู้รู้มันก็ยังมีปรากฏอยู่ จิตตัวผู้รู้เนี่ย ไม่มีการดับ พุทธะคือผู้รู้ พุทธะคือผู้ตื่น พุทธะคือผู้เบิกบาน จะปรากฏเด่นชัด ต่อเมื่อจิตตัดกระแสแห่งอารมณ์ ตัดกระแสแห่งกิเลสให้ขาดสิ้นลงไป โดยไม่เกี่ยวข้องกับอะไรแล้ว ไปสงบนิ่งเด่นสว่างไสวอยู่ อันนั้นคือธาตุแท้แห่งความเป็นพุทธะปรากฏขึ้นภายในจิตของผู้ปฏิบัติ ในเมื่อธาตุแท้แห่งความเป็นพุทธะปรากฏขึ้นแล้ว ธาตุแท้แห่งความเป็นธรรมะก็ย่อมปรากฏขึ้นอยู่ในจุดเดียวกัน เมื่อมีทั้งสองอย่างพร้อม สังฆะคืออริยสงฆ์ก็ปรากฏพร้อมในจิตเดียวกัน เพราะฉะนั้น พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นวิสุทธิธรรม สามารถที่จะรวมเป็นเอกมรรค เอกธรรม เป็นธรรมดวงเดียวที่สามารถปฏิวัติตนไปสู่ภูมิจิตภูมิธรรมตามขั้นตอนแห่งความสามารถของผู้ปฏิบัติ นี่คือภูมิจิตขั้นสุดยอดของนักปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติอยู่ในสายแห่งโลกียธรรมก็อาศัยเรื่องของนามรูปนี่แหละเป็นเครื่องรู้ ผู้ปฏิบัติอยู่ในสายโลกุตตรธรรม คือ โสดามรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค ก็อาศัยรูปกับนามนี่แหละ เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ผู้ที่สำเร็จพระอริยบุคคลทั้งสี่จำพวกนั้น ภูมิจิตจะหยาบหรือละเอียดกว่ากันนั้น สุดแท้แต่ภูมิปัญญาของท่าน แต่ความหมดกิเลสสม่ำเสมอกันหมด แต่ภูมิแห่งความรู้คือสติปัญญานั้น ย่อมน้อยมากกว่ากัน บางท่านก็เพียงแต่รู้ว่าตนได้ตนเก่ง แม้จะนำมาอธิบายให้ใครฟัง ก็แทบจะหาคำพูดไม่มี บางท่านทำจิตให้สงบลงเพียงนิดหน่อย มีปฏิภาณความรู้กว้างขวาง มีโวหาร สามารถที่จะโต้ตอบหรืออธิบายธรรมะได้อย่างละเอียดลออ แม้ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ก็ทรงยกย่องท่านกัจจายนะ ว่าเป็นผู้มีสติปัญญาฉลาดสามารถอธิบายหัวข้อแห่งธรรมที่ย่อที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้กว้างขวางพิสดารได้ เพราะฉะนั้นภูมิปัญญาของพระสาวก ย่อมมีแคบมีกว้างมีละเอียดมีหยาบกว่ากัน แต่ภูมิจิตที่สำเร็จความเป็นอริยบุคคลนั้นมีความเสมอกัน ภูมิจิตที่สามารถทำอาสวะเป็นกิเลสให้หมดสิ้นไปนั้นมีเสมอกัน แต่ภูมิปัญญาต่างกัน เพราะฉะนั้นบางท่านอาจจะเข้าใจผิดในพระเถระบางท่าน ซึ่งบางทีเราอาจจะไปถามปัญหาท่านข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งท่านอาจจะตอบไม่ตรงกับความรู้ของเรา บางทีเราก็จะไปเข้าใจผิดหรือไปยกโทษท่านว่าท่านผู้นี้ไม่มีภูมิ ภูมิรู้ที่จะพูดเป็นภาษากับภูมิธรรมภายในจิตนั้นต่างกัน บางท่านรู้ มีลักษณะรู้และหมดกิเลสด้วย แต่ว่าไม่สามารถที่จะนำมาอธิบายให้ถูกต้องตามภาษาสมมติบัญญัติได้โดยถูกต้อง หรือตรงกับจุดประสงค์ของผู้ฟัง เมื่อผู้ฟังไปแก่แต่ตำรับตำราอย่างเดียว จึงเผลอไปยกโทษบางท่านที่ให้คำตอบไม่ถูกต้องตรงกับความรู้ความเห็นของตัวเอง ว่าเป็นผู้ไม่มีภูมิ อันนี้เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายจะพึงสังวรระวังไว้ และอีกอย่างหนึ่งถ้าท่านจะเป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริง ท่านอย่าไปถือพวก ถือพรรค ถือคณะ ว่าหมู่เขาหมู่เรา อาจารย์เขาอาจารย์เรา ขอให้ยึดถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่ง ถือพระศาสดาเตชะพุทธเจ้าองค์เดียวเป็นกลุ่ม เพราะสาวกที่เผยแพร่ศาสนาอยู่ในปัจจุบันนี้ ถอดแบบจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น ถ้าเช่นนั้นการที่ถือพรรค ถือพวก ถือลัทธิแห่การปฏิบัตินั้น ย่อมยังส่อแสดงว่าเป็นผู้ยังมีกิเลส ยังมีอุปาทานในการยึดมั่นถือมั่น ถ้าตราบใดที่เรายังยึดถือมั่นในพรรคในพวก ในเราในเขา ของเราของเขาอยู่ เราก็ยังไม่หมดอุปาทาน บางทีคณะนี้โจมตีคณะโน้น คณะโน้นโจมตีคณะนี้ อะไรทำนองนี้ ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์กันจริง ๆ นั้น ขอได้โปรดทำจิตให้เป็นกลาง ให้ปล่อยวางลงไปว่าผู้ประพฤติผิดเข้าใจผิดเป็นบุคคลผู้ที่น่าสงสาร ผู้ปฏิบัติถูกทำถูกต้องได้ผลดีเป็นบุคคลผู้ที่น่าอนุโมทนา ผู้ที่ทำผิดไม่ใช่ผู้ที่นักปฏิบัติธรรมจะต้องไปกล่าวจ้วงจาบด้วยคำพูดหยาบคายแม้ว่าเขาจะทำผิดก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราไปกล่าวจ้วงจาบด้วยวาจาที่หยาบคายเป็นการสร้างบาปกรรมขึ้นใส่ตัวเอง อย่าไปสำคัญว่าคนทำผิดด่าไม่เป็นไรไม่บาป คนทำผิดเราด่าก็บาป คนทำผิดเราตำหนิก็บาป แต่ถ้าเราติเพื่อก่อนั้นได้บุญ แต่ตำหนิเพื่อจะให้เสียหาย เสียชื่อเสียเสียงนั้นบาป มันบาปอยู่ที่ตรงไหน เพราะเรากล่าวคำหยาบ ผรุสวาจายะ เวระมณี มันเป็นอกุศลกรรมบถ เป็นวจีทุจริต ในเมื่อวจีของเรายังหยาบ ยังทุจริตอยู่ มันก็ผิดศีลข้อมุสาวาท เพราะคำหยาบเป็นฉายาแห่งมุสาวาท เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติพึงสังวรระวังเรื่องนี้ให้ดี พยายามทำความรู้แจ้งเห็นจริงให้มันปรากฏขึ้นภายในจิตของตัวเอง ถ้าเรายังสำคัญว่าเราเนี่ย ดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น นั่นแสดงว่าเรายังโง่กว่าเขา ถ้าเรายังมีความสำคัญว่าเราเนี่ย โง่กว่าเขา ไม่เก่งเท่าเขา เราก็ยังโง่อยู่อีกนั่นแหละ แต่ถ้าเราสำคัญว่าเรามีความรู้สึกเป็นกลาง ๆ มีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง นั่น เราเริ่มฉลาดขึ้นมาบ้าง เพราะฉะนั้น ขอให้สังวรระวัง ในเรื่องการกล่าวตำหนิติเตียนซึ่งกันและกัน หรือการถือพรรค ถือพวก ถือหมู่ ถือคณะ พระพุทธเจ้าสอนว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตน แต่เรายังจะมาถืออหังการ มะมังการมีตัวมีตนมีเรามีเขามีพรรคมีพวก มันก็ผิดต่อหลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นบัดนี้เรานั่งสมาธิมาพอสมควรแล้ว ขอให้ทุกท่านจงกำหนดจิตออกจากสมาธิแล้วพักผ่อน

    ถามใหม่อีกสิ
    (ถาม) (ไม่ชัด)…………………

    นึกได้ต่อเมื่อ เรากำหนดพิจารณาดูตั้งแต่เริ่มต้นที่จะนั่งสมาธิ ว่าเราได้ธรรมอะไรบ้าง เริ่มต้นแต่จุดธูปเทียน ไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตา กำหนดอารมณ์ เครื่องบริกรรมภาวนา หรืออารมณ์เป็นเครื่องรู้ เครื่องพิจารณาของจิต แล้วจิตของเรามีความเป็นไปอย่างไร สงบหรือไม่สงบ รู้หรือไม่รู้ ได้ผ่านสมาธิขั้นไหนอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นมั่ง มีปีติไหม มีความสุขไหม มีนิมิตไหม มีความรู้อะไรเกิดขึ้นไหม จนกระทั่งถึงจุดสุดท้ายที่เราจะออกจากสมาธิ ว่าจิตของเราสงบไหม หรือไม่สงบ แล้วทีนี้เมื่อเราพิจารณาดูอย่างนั้นแล้ว เราก็เราก็กำหนดรู้จิตของเราอีกทีหนึ่ง ว่าอะไรมันเกิดขึ้น ความคิดอะไรเกิดขึ้นเราก็กำหนดรู้ความคิดอันนั้น ความคิดนี้มันดับไป เราก็ปล่อยมันไป ความคิดใหม่เกิดขึ้นเรากำหนดรู้ เรียกว่าตามรู้ให้มันทันความคิดของเราเอง สำหรับผู้ที่บริกรรมภาวนาแล้วจิตไม่สงบ บริกรรมอย่างไรมันก็ไม่สงบ ก็ควรจะเปลี่ยนเป็นวิธีนี้ คือวิธีที่จะนั่งหลับตาก็ตาม ลืมตาก็ตาม ให้คอยจ้องดูความคิดของเราเองว่า มันจะคิดอะไรขึ้น พอจะคิดอะไรขึ้นมา พอคิดอะไรขึ้นมาปั๊บกำหนดรู้ คิดอะไรขึ้นมาปั๊บกำหนดรู้ เมื่อเราทำอย่างนี้จะได้ประโยชน์อะไร เพราะเราดูทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งใจ ด้วยความมีสติ จะทำให้สติของเราเด่นขึ้น มีกำลังขึ้น แล้วเราจะสามารถรู้ทันความคิดของเราเอง เมื่อเรารู้ทันความคิดของเราเอง ต่อไปเราจะคิดอะไร คิดด้วยความรู้เท่าทัน สิ่งที่เราคิดนั้นมันจะไม่สามารถดึงเอาจิตใจของเราให้ไปเสพทุกข์ทรมาน ความจริงคำว่าความรู้ตามความหมายของคำว่ารู้ในสมาธิ หรือสมาธิปัญญานั้น ก็หมายถึงจิตสามารถรู้ทันอารมณ์ต่าง ๆ ที่เราเคยนึกคิดว่ามันวุ่นวายมาแต่ก่อน โดยปกติที่เรายังไม่มีสมาธิ ไม่มีสติปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ เราดูอะไร เราได้ยินได้ฟังอะไร ได้สัมผัสอะไร ในทางตา หู จมูก ลิ้นกายใจ สิ่งที่จะพึงเกิดขึ้นมันก็มีอยู่สองอย่างคือ พอใจ ไม่พอใจ นอกจากจะเกิดความพอใจ ไม่พอใจแล้ว มันยังจะต้องปรุงแต่งไปอีก แล้วก็หาเรื่องไปเรื่อย ๆ จนตัวเองต้องเกิดทุกข์ เกิดวุ่นวายขึ้นมา แต่ถ้าเรามีสมาธิ มีสติปัญญารู้เท่าทัน เรามองดูอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู รู้อะไรทางจมูก รู้รสทางลิ้น สัมผัสทางกาย แม้แต่นึกคิดในใจ เรามีสติคอยจ้องดูอยู่ไม่เผลอ ความรู้ทั้งหลายเหล่านั้น มันจะกลายเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เพราะอาศัยความรู้เท่าทันอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นมันไม่สามารถที่จะดึงใจของเราไปทรมานให้เกิดทุกข์ได้ นี่คือผลที่จะพึงเกิดขึ้น
    <!-- End main-->
     
  4. momogo

    momogo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    570
    ค่าพลัง:
    +1,158
    ถอดเทป ตอนที่ 2 (2)) ปรากฎการณ์ในขณะทำสมาธิ

    <!-- Main -->
    ก็...อันนี้มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทางกาย ถ้ามีอาการอย่างนั้น ไปแก้ไขโดยวิธีใดวิธีหนึ่งให้มันหายไป ถ้ามันจะสำลัก ก็หาวิธีแก้ไขอาการสำลักให้มันหายไป แล้วกำหนดจิตภาวนาไปใหม่ ไม่ต้องไปรู้หนอหรอก มันเกิดขึ้นแล้ว เราก็รู้เอง เพียงแต่รู้เท่านั้นแหละ ไม่ต้องไปหนอมัน อย่าไปกลั้น ปล่อย

    (ศิษย์ถาม (ไม่ชัด).....................)

    เออ อะไรก็ได้

    (ศิษย์ถาม (ไม่ชัด).....................)

    เออ มันเกิดสำลักขึ้นมา ก็แก้ไขด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับทางกาย หรือเอ่อ..ไอ้น้ำลายที่มันจะสำลัก ถ้ามันจะสำลัก ถ้าไม่กลืนก็บ้วนทิ้งเสีย ทีนี้ก็ภาวนากันต่อไป ถ้ามันจะไอ ก็ไอให้มันหาย ถ้ามันจะหาว ก็หาวให้มันหาย อันนี้เป็นเรื่อง... มันเป็นตัวทุกข์ที่เกิดขึ้นทางกายเราแก้ไม่ได้ ถ้าอย่างเรานั่งนาน มันปวดแข้งปวดขา เราจะไปนึกว่า ปวดหนอ ๆๆๆ อยู่นั่น ถ้าจิตไม่สงบแล้ว มันก็ไม่หายปวด ในเมื่อมันทนไม่ไหว ก็พลิกซะ เปลี่ยนอิริยาบถซะ มันก็หายไป เป็นแต่เพียงว่าเรากำหนดรู้ ถ้าหากสามารถที่จะ..... ถ้ามันเกิดเวทนาขึ้นมา เจ็บปวด ถ้าเราสามารถที่จะกำหนดจิตให้วิ่งเข้าสมาธิได้อย่างฉับพลัน ก็ทำ แล้วมันจะหายปวด เพราะจิตเข้าสมาธิอย่างแท้จริงแล้ว มันจะไม่มีตัวปรากฏในความรู้สึก ในเมื่อตัวไม่มีแล้ว ความเจ็บปวดมันก็ไม่มี เพราะเวทนามันเกิดจากกายเท่านั้น เวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์เนี่ยเกิดจากกาย ส่วนอุเบกขาเวทนานั้นมันเกิดจากใจโดยเฉพาะ ไอ้เรื่องของความทุกข์ที่เกิด ทางฝืนไม่ได้หรอก อย่างบางท่าน ปฏิบัติแล้วต้องอดอาหาร ต้องทรมานอย่างนั้นอย่างนี้ อย่า อย่าไปทำ อาตมาเนี่ยเคยอดข้าวเป็นอาทิตย์ ๆ แล้วมันก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้น พระพุทธเจ้าสอนว่าคนที่ยังมีกิเลสเป็นเชื้ออยู่ แม้การทรมานตนด้วยการย่างตนบนถ่านเพลิง ด้วยการทรมานตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะทำเขาให้หมดกิเลสไปได้ แต่กิเลสมันจะหมดไปด้วยเหตุผล เราจะรู้เหตุผลก็ต้องค้นคิดพิจารณา เมื่อเราค้นคิดพิจารณา จิตมันรู้เหตุรู้ผลว่าทุกข์เกิดจากไหน สุขเกิดจากอะไร ทำอย่างนี้มันเป็นทุกข์ไหม ทำอย่างนั้นมันสุขไหม อะไรทำนองนี้ มันรู้เหตุรู้ผลกันแล้ว มันก็ปล่อยวางไปเอง ถ้าหากเรายัง..ยังไม่รู้จริงเห็นจริงแล้ว เราจะไปละอย่างไร มันก็ละไม่ได้หรอกกิเลส อาตมาขอยืนยันว่า กิเลสไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปละเอาได้ กิเลสที่ละได้ คือ ละการไม่ทำ ละการไม่พูด เอ่อความรู้สึกทางใจเนี่ย ตั้งใจละเอาไม่ได้ อ้าว ถ้าใครไม่เชื่อก็ลอง ๆ ๆ พิจารณาดูจิตของตัวเองก็แล้วกัน การละกิเลสทางกายก็คือศีล 5 ข้อ อ้าวปฏิบัติตามศีล ในข้อที่จะละเมิดด้วยกาย เช่น การฆ่า การลัก การประพฤติผิดในกาม การดื่มกินสุราเมรัย งดเว้นจากการทำ 4 ข้อนี่ เป็นอันละกิเลสทางกาย ทีนี้เว้นจากพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ถ้าเรางดเว้น เป็นการละกิเลสทางวาจา ละได้แต่กายกับวาจา แต่ส่วนใจนี่ต้องอาศัยอบรมศีล สมาธิ ปัญญา ให้มีกำลังกล้า ถึงขนาดประชุมพร้อมลงเป็นองค์อริยมรรค การประชุมพร้อมขององค์อริยมรรคซึ่งเกิดจากศีล สมาธิ ปัญญานี่ ตัวที่เด่นชัดที่สุดก็คือสติ เราภาวนาจุดมุ่งเพื่อให้เรามีสติอย่างเดียว แม้ว่าเราจะรู้อะไรมากมายสักเพียงใดก็ตาม แต่สติยังหย่อน สติยังบกพร่องอยู่ มันก็ยังไกลต่อความสำเร็จ ถ้ามีสติสัมปชัญญะพร้อม จนกลายเป็นมหาสติ ซึ่งเรียกว่า มหาสติปัฏฐาน นั่นแหละจึงจะเกิดมีการประชุมพร้อมแห่งอริมรรคภายในจิตของเรา ในเมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะ มีอริยมรรคประชุมพร้อม ศีล สมาธิ ปัญญามันก็เป็นเจตสิกฝังแน่นอยู่ในจิต จิตเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญารวมลงเป็นหนึ่ง เป็นตัวจิตเอง ทีนี้เมื่อจิตเป็นศีล สมาธิ ปัญญา โดยธรรมชาติของศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว มันเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์สะอาดไม่มีกิเลส แล้วจิตของเราก็จะปฏิวัติตัวคือกลับสภาพเป็นความไม่มีกิเลส

    (คำถามศิษย์) หลวงพ่อคะ สติเป็นจิตหรือเปล่าคะ จิตเป็นสติหรือเปล่าคะ

    จิต ลักษณะของจิต เป็นแต่เพียงรู้สึก รู้นึก รู้คิด รู้ร้อน รู้เย็นเท่านั้น แต่...แต่ไม่รู้ว่า อะไรผิดอะไรถูก อาตมาขอถามดูสิว่า ไอ้คนวิกลจริตเราเรียกว่าคนไม่มีสติใช่ไหม

    (คำตอบศิษย์) ใช่ค่ะ

    แล้วเขามีจิตหรือเปล่า

    (คำตอบศิษย์) แต่เขาก็มีเวทนาอยู่เหมือนกัน ....(ไม่ชัด)

    อ้าวเวทนานั่นมันก็มี อาตมาอยากทราบว่าเขามีจิตหรือเปล่า

    (คำตอบศิษย์) มีเจ้าค่ะ

    เขาก็ยังมีจิต พอจิตเขาไม่มีสติ เขาจึงกลายเป็นคนวิกลจริต สติ ถ้าจะว่าโดยส่วนรวมกันแล้ว ถ้าจิตไม่มี อะไรก็ไม่มี ธรรมก็ไม่มี สติก็ไม่มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาก็ไม่มี ถ้าไม่มีจิต โดยธรรมชาติของคนเราเนี่ย จะต้องมีส่วนประกอบ 2 อย่าง คือ กายกับจิต ทีนี้เมื่อจิตมีแต่ตัวจิตอันเดียว ไม่มีกายเป็นส่วนประกอบ ทำอะไรไม่สำเร็จ แต่เมื่อมาก่อร่างขึ้น เป็นตัวเป็นตนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจิตอันนี้ก็อาศัยประสาทธาตุ คือ ประสาทตา ประสาทหู ประสาทลิ้น ประสาทกายแล้วก็ประสาทหัวใจซึ่งเราเรียกว่ามันสมอง เป็นสื่อสัมพันธ์ให้เกิดความรู้สึกนึกคิด ซึ่งแสดงอาการออกมาด้วยการคิดดีและคิดชั่ว เพราะฉะนั้นสภาพความเป็นจริงของจิตนั้นเป็นแต่เพียงสภาพที่รู้สึก รู้นึก รู้คิด แต่หาระเบียบไม่ได้ คิดเรื่อยเปื่อยไป แต่เมื่อมีสติเป็นเครื่องประกอบซึ่งเรียกว่า เจตสิก สตินี้เป็นเจตสิกที่ประกอบอยู่ในจิต ถ้าคนมีสติอ่อน ๆ ก็กลายเป็นคนปัญญาอ่อน ถ้าคนมีสติเข้มแข็ง ก็กลายเป็นคนมีปัญญาโดยธรรมชาติ ถ้าสติที่ได้ฝึกฝนอบรมด้วยการเพ่งพินิจในเครื่องรู้ อันเป็นอุบายให้เกิดกำลังกล้าขึ้นมา สติมีกำลังเราเรียกว่าพลังจิต เช่น อย่างนักใช้อำนาจจิตทั้งหลาย โดยปกติแล้วเพียงแต่นึกอย่างเดียว เพียงแต่ใช้การนึกอย่างเดียว แล้วจิตมันจะไม่มีพลัง จะต้องอาศัยการฝึกหัดเพ่ง เพ่งเทียน เพ่งกสิณ เพ่งอะไรก็แล้วแต่ ในเมื่อจิตมีเครื่องรู้ จิตก็มีสติสัมปชัญญะดีขึ้น แล้วเมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะดีขึ้น จิตก็มีพลัง ถ้าหากอาศัยการเพ่งกสิณ ก็สามารถใช้พลังจิต ใช้ประโยชน์ในทางโลกได้ เช่นอย่างอาจจะใช้พลังจิตช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บอะไรต่างๆ เช่นอย่างพวกหมอมนต์วิชาไสยศาสตร์ทั้งหลาย เช่น มนต์ต่อดูกเป็นต้น ถ้าลำพังแต่นึกในจิตว่า ให้กระดูกเนี่ยมันต่อกันๆ ๆ มันก็ไม่เกิด...ไม่...ไม่เกิดผล เพราะฉะนั้นเขาจึงมีคาถาอาคมท่องบ่น ท่องคาถาแล้วเป่าลงไป กระดูกสามารถต่อกันได้ คาถานั่นแหละคือเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นส่วนประกอบให้จิตกับสตินี่เกิดพลังขึ้นมา เพราะฉะนั้นจิตกับสติเนี่ย เราจึงมี...พึงทำความเข้าใจว่า จิตนี่สักแต่ว่านึกว่าคิด แต่หาความเป็นระเบียบไม่ได้ แต่เมื่อมีสติเข้าประกอบเป็นเจตสิกแล้ว ความคิดของจิตนั่นจะเป็นระเบียบยิ่งขึ้น อย่างที่เรามาหัดภาวนานี่ หัดเพื่อให้จิตของเราเกิดสติ มีสติเข้มแข็งขึ้น เพื่อจะได้จัดระบบความคิดของจิตนี่ให้มันมีระเบียบดีขึ้น ปราศจากกันไม่ได้

    (ศิษย์)…………….(ไม่ชัด)

    ถ้าเราตั้งใจจดจ้องจะฟังคำพูดของผู้พูด เมื่อจิตของเราไม่อยู่กับคำพูดก็เรียกว่าเราขาดสติ อันนี้ว่ากันโดยธรรมดา ๆ ทีนี้อีกอันหนึ่งไม่ใช่ลักษณะขาดสติ อันนี้เกิดขึ้นสำหรับผู้ที่เคยภาวนาเป็นมาแล้ว ถ้าหากการฟังถ้าจิตมันไม่ยอมรับ มันก็เข้าไปสู่ความสงบ ในเมื่อสงบแล้ว มันก็ไปค้นคว้าตามหน้าที่ของมันเอง อันนี้ลักษณะหนึ่ง ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ใช่เรื่องขาดสติ อย่างการฟังเทศน์ ฟังไป ๆ ๆ ถ้าหากว่าไอ้ภูมิของผู้เทศน์กับภูมิของเรามันไม่ตรงกัน จิตมันจะไม่เอาไหน มันจะเข้าไปสู่ความสงบ และไปค้นคว้าของมันเองต่างหาก โดยไม่สนใจกับคำพูดของผู้พูด อันนี้ไม่ใช่ลักษณะขาดสติ แต่ถ้าเราตั้งใจว่าจะให้จิตมันอยู่กับคำพูดของผู้พูด พอเสร็จแล้วมันไม่ใช่ลักษณะของความสงบแต่มันลอยเลื่อนไปทางอื่น คือมันลืม ๆ ไป อันนี้เป็นลักษณะของการขาดสติ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มันเป็นสิ่งที่มีคุณ มีประโยชน์ และมีความจริงตามขั้นภูมิของเขา หลักวิชาไสยศาสตร์ เขาก็มีความจริงตามขั้นภูมิของเขา เช่นอย่างมนต์ต่อกระดูกตามที่ว่านั้น ความจริงมันก็ปรากฏเป็นส่วนมาก คือว่า ผู้ที่เขาเรียนแล้ว เขาก็สามารถที่จะต่อกระดูกได้ แม้ในระดับชนชั้นปัญญาชน เช่น คุณหลวงศุภชลาศัย ก็เก่งในวิชาต่อกระดูก ทีนี้ในเมื่อเอาคาถาวิชาไสยศาสตร์มาบริกรรมหรือท่องบ่นนั้น มันเป็นการผิด อันนี้ผิดหรือไม่ผิด อันนี้อยู่ที่ความรู้จริง หรือความรู้เท่าเอาทันของผู้ใช้ พระพุทธเจ้าก็ใช้วิชาไสยศาสตร์ในคราวจำเป็น เคยได้ยินไหมพระพุทธเจ้าใช้วิชาไสยศาสตร์ อะไรที่เราน้อมไปเพื่อผลตอบแทน ในการท่องบ่นคาถาอาคมหรืออฐิษฐานจิต อันนั้นคือไสยศาสตร์ เข้าใจหรือเปล่า อะไรที่เราท่องบ่นซึ่งเป็นคาถาอาคมแล้วต้องการผลตอบแทนในความสำเร็จตามความปรารถนา สิ่งนั้นเรียกว่า ไสยศาสตร์ เช่น ท่องบ่นคาถาอาคม เช่น ท่องบ่น อุณุยัง ๆ แล้วก็ให้หนังมันเหนียวเนี่ย อธิษฐานให้หนังเหนียว อันนี้เรียกว่าไสยศาสตร์ ถ้าเราไปไหว้พระเนี่ย สาธุ ๆ ข้าพเจ้าไหว้พระแล้วพรุ่งนี้ขอให้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 อันนี้ไสยศาสตร์ แต่ถ้าเราท่องบ่นหรือกราบไหว้โดยมุ่งที่จะทำให้จิตบริสุทธิ์สะอาดเนี่ย เป็นการฝึกฝนอบรมจิตเป็นพุทธศาสตร์ล้วน ๆ อาจจะเป็นคาถาในศาสนาพราหมณ์ที่เขาท่องบ่นก็ตาม แต่ถ้าเราเอามาท่องบ่น เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ เพื่อที่จะให้รู้จริงเห็นจริง โดยไม่ต้องอธิษฐานขออะไร อันนี้เป็นพุทธศาสตร์ เราท่องพุทโธ ๆ ๆ ๆ แล้วเราขอว่า เออ ภาวนาพุทโธแล้ว เลิกภาวนาแล้ว ขอให้... ทำนองนี้ อันนี้เป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ไหว้พระพุทธรูปองค์เดียวเนี่ย เป็นได้ทั้งไสยศาสตร์ เป็นได้ทั้งพุทธศาสตร์

    (ศิษย์)....................แล้วหากจิตของผู้นั้น....................(ไม่ชัด)

    แล้วแต่ผู้นั้นไปกำหนดไปในด้านไหน อย่างสมาธินี่ก็ไสยศาสตร์เหมือนกัน ถ้าอย่างสมมติว่าทำสมาธิแล้ว ให้สามารถเกิดเป็นหมอดูได้ แล้วก็มองหาทรัพย์สมบัติ หรือว่าให้เกิดพลังจิตเพื่อที่จะใช้ในการที่จะบังคับกดขี่ข่มเหงน้ำจิตน้ำใจของผู้อื่นให้มาตกอยู่ในอำนาจของเราเนี่ย นอกจากจะเป็นไสยศาสตร์แล้วยังเป็นมิจฉาสมาธิอีก แต่ถ้าทำไปเพื่อไม่ได้หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น มุ่งแต่ความบริสุทธิ์สะอาดจิตอย่างเดียว อันนั้นเป็นพุทธศาสตร์ล้วน ๆ

    (ศิษย์).................................

    เรา ๆ ทำความรู้สึกของเรา ไสยศาสตร์บางอย่างที่เขาเรียนแล้ว มัน....มันเกิดความยุติธรรม หรือ เกิดความอยุติธรรมขึ้นมา เช่นอย่างสมมติว่า ใครก็ตามที่เรียนพวกเสน่ห์มหานิยม อ้าว เรียนเสน่ห์มหานิยม พระพุทธเจ้าว่า เป็นติรัจฉานะวิชา เรียนเครื่องรางของขลังก็เป็นติรัจฉานะวิชา ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ท่านไปกำหนดเอาตรงที่ว่า เมื่อเก่งแล้วขาดศีลธรรม ไม่มีศีล 5 ทำอย่างไม่มีศีล 5 ว่าอย่างนั้นเถอะ อย่าง... เรียนมนต์ แล้วอยากได้ลูกสาวใคร ก็เอาสีผึ้งไปติดเขาให้เขาวิ่งตาม อันนี้มันไม่ยุติธรรม เป็นการกดขี่ข่มเหง เช่นอย่างคนที่เขาไม่เลื่อมใสเรา เขาไม่นับถือเรา แล้วเอาวิชาอาคมไปข่มจิตข่มใจให้เขามานับถือเรา อันนี้มันไม่ยุติธรรม เป็นการทำเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าใครรู้ไว้แต่ไม่ทำอย่างนั้น พระองค์ก็ไม่ตำหนิ

    (ศิษย์).................................

    หือ...ก็....เมื่อเราทำสมาธิดีแล้ว...นะ ทำสมาธิดีแล้ว ภายหลังมาเราจะท่องคาถาบทไหนมันขลังหมด เช่น อย่าง อะไร ที่มีคาถาต่อกระดูกบทหนึ่ง จัตตาโร ยถาปัตโต เอโก ปัตโต อธิษฐามิ เกิดขึ้นเมื่อท้าวมหาราชทั้ง 4 เอาบาตร 4 ใบไปถวายพระพุทธเจ้า ทีนี้พระพุทธเจ้าจะอธิษฐานใช้ของใครคนใดคนหนึ่ง ก็กลัวจะเสียพระทัย จึงเอาบาตรทั้ง 4 นี่มารวมกันเข้า แล้วพระองค์ก็อธิษฐานจิตว่า จัตตาโร ยถาปัตโต เอโก ปัตโต อธิษฐามิ บาตรนี้มี 4 ใบ เราอธิษฐานจิตเพื่อให้บาตรนี้รวมเป็นใบเดียวกัน นี่คือ พระพุทธเจ้าใช้ไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์นี้มีประโยชน์ อย่าว่าไม่มีประโยชน์ และเขาก็มีความจริงของเขาตามขั้นภูมิของเขา ที่มีประโยชน์นั้นคือ มีประโยชน์สำหรับบุคคลผู้ใช้ให้ถูกศีลธรรม แต่ถ้าไปใช้ผิดศีลธรรม แล้วไปใช้ให้มัน...ทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อนแล้ว อันนั้นเรียกว่า ติรัจฉานะวิชาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นวิชาอาคม หรืออาวุธ เช่นอย่างอาวุธ เช่นอย่างปืนอย่างเนี้ย คนที่ไม่มีศีลธรรมก็เอาใช้ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง

    (ศิษย์)..................................

    กิเลส คำว่ากิเลสเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ แต่ว่ากิเลสก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอยาก อยากจะเห็นได้ชัด ๆ ในวันนี้น่ะ ที่ท่านทั้งหลายตั้งใจมาฟังเทศน์เนี่ย นอกจากอยากจะรู้ธรรมะแล้วก็อยากจะได้บุญ อยากจะไปสวรรค์ อยากจะไปนิพพาน สิ่งเหล่านี้เป็นอาการของกิเลสทั้งนั้น แต่ว่าที่เรามีกิเลสเนี่ย มันเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนความรู้สึกของเราให้เกิดความกระตือรือร้น เช่น ผู้ที่จะสร้างโลก คือสร้างหลักฐานให้มั่นคง ก็อาศัยอำนาจกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวตัณหาเนี่ย ความทะเยอทะยาน มันเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนจิตใจคนเรา ให้อยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็น ซึ่งมันเป็นวิสัยของฆราวาสผู้ครองเรือน ถ้าฆราวาสหมดจากโลก เอ่อ ถ้าฆราวาส... แล้ว โลกมันจะเสื่อม ต้องรักษาความอยากเอาไว้ แต่เมื่อเราจะใช้กิเลสให้มันเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ที่เรียกว่า เกิดประโยชน์แก่ตัวเองด้วย เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย หมายถึงว่า ไม่ทำตัวเองให้เดือดร้อน ไม่ทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน เราก็ควรจะมีศีลเป็นขอบเขตของการใช้กิเลส ถ้าหากว่าใครจะใช้กิเลสไปในทางไหนก็ตาม ให้นึกถึงศีล 5 ข้อ อยากรวย...อย่าริเป็นขโมย อยากรวย...อย่าริเป็นโจรปล้น อยากรวย....อย่าฉ้อโกง โดยเอาศีลข้ออทินนาทานมาเป็นขอบเขต นี่ยกตัวอย่างมาให้ฟังเพียงข้อเดียว นอกนั้นคิดเอาเอง และอีกอันหนึ่งที่ชาวพุทธเรายังเข้าใจผิด และตำหนิพระพุทธเจ้า ซึ่งหลายปีมาแล้วได้ยินท่านผู้รู้ท่านหนึ่ง เขียนบทความไปอ่านในที่ประชุมของเจ้าคณะจังหวัด 71 จังหวัด สมัยนั้นมีเพียง 71 จังหวัด มีข้อความตอนหนึ่งว่า คำสอนในทางพระพุทธศาสนาบางอย่างพระสงฆ์ไม่ควรนำมาสอนประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนขี้เกียจงอมืองอเท้า เช่น คำว่าสันโดษเป็นต้น นี่เข้าใจผิดคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างชัด ๆ คำว่าสันโดษ มันแปลว่า ความพอ ไม่ได้หมายความว่า พอเฉพาะเท่าที่มีอยู่ พอเท่าที่มีอยู่ พอตามสติกำลังความสามารถของตน นี่มาไขความอยู่ตอนนี้ ใครจะมีความสามารถใช้สติปัญญาของตนเอง เพื่อผลประโยชน์แก่ตนเองหรือส่วนรวมขนาดไหนอย่างไรก็ตามใช้ไปเถอะ ก็รวมลงแล้วก็คือว่า อย่าให้เกินขอบเขตของศีล 5 ก็แล้วกัน มันอยู่ในหลักอันเดียวกัน ทีนี้อีกอย่างหนึ่งศีล 5 ข้อเนี่ย นอกจากจะเป็นขอบเขตของการใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นอุบายตัดผลเพิ่มของบาปกรรม วันนี้เรามีศีล 5 บริบูรณ์ ถ้าเรายึดศีล 5 เป็นหลักปฏิบัติตลอดไป บาปกรรมที่จะเพิ่มผลอันเป็นวิบากที่เราจะต้องไปรับในกาลข้างหน้านั้น มีเท่าไรก็ยุติอยู่เพียงแค่นี้ ถ้าหากเราไม่เคร่งในศีล 5 ข้อ เราไปละเมิดข้อใดข้อหนึ่งก็เรียกว่าบาปเก่า แทนที่มันจะมีน้ำหนักเพียงกิโลเดียว ถ้าไปทำเพิ่ม มันก็หนักขึ้นขีดหนึ่ง เพิ่มเป็นกิโลเศษขึ้นไป ทำทีไรมันก็เพิ่มขึ้นทุกที ๆ ถ้าเรางดเว้นไม่ทำแล้ว มันก็ยุติกันเพียงแค่นี้ ส่วนที่มีแล้วก็มีแล้วไป กาลข้างหน้าเราไม่ได้ทำ เราทำแต่ความดี ผลเพิ่มของบาปมันก็ไม่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นหลักความดีเนี่ย ก็คือหมายความว่า เราต้องทำดี ๆ ๆ ทำดีอย่างเดียวเท่านั้น ในเมื่อตั้งใจแต่จะทำดีอย่างเดียว มันก็ดีเรื่อย ๆ ไป เพราะเราไม่ได้ทำความชั่วมาเป็นเครื่องถ่วงความดี มันก็บ่งชัดอยู่แล้วว่าไม่เป็นอันเดียวกัน

    (ศิษย์) ..................ไม่ชัด......................................

    ตามภาษาพูด แต่ความจริงถ้าเราจะชั่งน้ำหนัก ถ้าสมมติว่า มันเป็นสิ่งซึ่งเป็นวัตถุ บุญกับบาปถ้าชั่งน้ำหนักแล้วมันก็มีน้ำหนักเท่ากัน เป็นของเบาบาง เป็นของหนัก อันนี้เป็นโวหารในทางเทศน์ เป็นข้อเปรียบเทียบเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ การเรียนไสยศาตร์ราศีดำ ไม่ใช่ราศีเขาดำเพราะการเรียนไสยศาสตร์ มันดำเพราะเขาใช้ไสยศาสตร์ไปทำความชั่ว เรียกว่า ไปทำในสิ่งซึ่งมันไม่ยุติธรรม ในเมื่อทำสิ่งที่ไม่ยุติธรรม มันก็เป็นความบาป บาปมันก็ทำให้ผู้ทำนั้นมันหมดสง่าราศี ไสยศาสตร์นั้นมันเป็นของกลาง ๆ พูดเฉพาะหลักวิชา เป็นของกลางๆ ไม่ได้ทำให้คนหน้าดำหน้าแดงหรืออะไรได้ทั้งนั้น แต่ที่ทำให้คนต้องหน้าดำ เพราะใช้ไสยศาสตร์ไม่ถูกทาง มันก็เหมือนๆ กันกับคนที่เขาทำความชั่วบ่อย ๆ เนี่ย ผิวหน้าเขาจะไม่ผ่องใส หน้าตามันดำอะไรทำนองเนี้ย ...เหมือนกัน... อ้าวจะถามอะไร
    บังเอิญมีอาจารย์ที่มีมนต์ขลังอยู่นั่นองค์หนึ่ง ทีนี้พอท่านภาวนาทำจิตสงบแล้ว อธิษฐานจิต มันก็เกิด...พระพุทธรูปก็เกิดเคลื่อนที่ขึ้นมา อย่างอาจารย์บางองค์ที่ท่านปลุกเสกของ ของที่วางอยู่ในพานเนี่ย พอปลุกเสกได้ที่แล้ว ของนั้นมันจะกระโดด บางทีก็กระโดดตีกันโผงผาง ๆ ขึ้นมาก็มี เอ่อ ในสายลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นเนี่ยมีอยู่องค์หนึ่ง แต่องค์นั้นไม่ได้ตั้งใจจะปลุกเสก เอ่อ ไม่ได้เรียนไสยศาสตร์อะไรหรอก ถ้าท่านภาวนาจิตสงบลงไปแล้ว ถ้วยโถโอไตที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวท่านเนี่ย ห่างประมาณสักเมตรหนึ่งเนี่ย กระโดดตีกันโผงผาง ๆ ขึ้นมา เอ่อ เป็นแบบนี้ก็มีได้ อำนาจของจิตเนี่ยมันเป็นสิ่งที่มีพลังมาก พระพุทธเจ้าจึงกำหนดขอบเขตเอาไว้ว่า มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ การเริ่มต้นด้วยการภาวนาเนี่ย ที่ให้มีศีล แล้วก็เจริญเมตตาเนี่ย เพื่อฝึกหัดจิตของผู้ภาวนาให้มีความรู้สึกละอายต่อบาปอกุศล ศีลเนี่ย มันเป็นเครื่องตัดสินความถูกความผิดนะ แม้เราคิดอยู่ในจิตในใจของเราเนี่ย ในตอนแรก ๆ เรามีศีล เราก็เว้นเฉพาะกายกับวาจา แต่เมื่อมันละเอียดเข้าไปแล้ว แม้แต่จิตก็ไม่คิดที่จะละเมิดศีลข้อนั้นๆ ....
     
  5. momogo

    momogo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    570
    ค่าพลัง:
    +1,158
    สมาธิในฌาน (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) (ต่อ...)
     
  6. กรวุฒิ

    กรวุฒิ สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 เมษายน 2011
    โพสต์:
    143
    ค่าพลัง:
    +17
    อ่านเพลินเลยครับ ขอบคุณในธรรมทานนะครับ
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051

แชร์หน้านี้

Loading...