สติปัฏฐาน ๔

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ผ่อนกรรม, 12 มิถุนายน 2013.

  1. ผ่อนกรรม

    ผ่อนกรรม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 กุมภาพันธ์ 2011
    โพสต์:
    63
    ค่าพลัง:
    +400
    สติปัฏฐาน ๔ ” หมายถึง ที่ตั้งของสติ เป็นการใช้สติกำหนดพิจารณาดู กาย เวทนา จิต ธรรม

    การเจริญสมาธิจนได้สมาธิระดับสูง ผ่านรูปฌาน ผ่านอรูปฌาน ตลอดจนเข้าสมาบัติ ได้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ จะมีคุณวิเศษอย่างไร ถ้า

    ปัญญายังไม่เกิด ตัดกิเลสตัณหาออกจากจิตไม่ได้ แม้จะได้ฤทธิ์เดชอย่างไรนั่นมันยังเป็นโลกีย์อภิญญา ยังไม่ได้มรรคผลอย่างไรเลย เมื่อ

    ตายไปยังมีโอกาสตกนรก ผู้คนส่วนมากมีความเข้าใจที่ผิด คิดว่าผู้ปฏิบัติสมาธิจนได้ฤทธิ์ แสดงว่าท่านผู้นั้นได้สำเร็จเป็นอรหันต์แล้ว เป็น

    ความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง และผู้คนส่วนใหญ่ก็ชอบ เพราะคิดว่าขลังดี

    การแสดงฤทธิ์ให้ปรากฏก็มีกันเยอะแยะ ไม่ว่าผู้มีผมขาว ผมดำ โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย พวกพราหมณ์ โยคี ต่างก็มีฤทธิ์ทั้งนั้น แต่

    สำหรับท่านที่เจริญสมาธิขั้นสูง ได้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น และท่านก็ได้พิจารณาธรรม จนรู้แจ้งแทงตลอด ขจัดอวิชชาและสำรอกกิเลส

    ตัณหาได้หมดสิ้น เข้าสู่พระอรหัตผลจัดเป็นอภิญญาประเภท โลกุตรอภิญญา คือท่านได้ทั้ง เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ ครบทั้ง ๒ อย่าง

    พร้อมกัน

    การเจริญปัญญาให้เกิดขึ้นในสติปัฏฐาน ๔ ครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน ส่วนมากท่านจะสอนในแนวนี้ เพราะเป็นการเจริญสมถะภาวนาและ

    วิปัสสนาไปพร้อมๆกัน ดังพุทธพจน์ในสติปัฏฐานสูตรว่า

    “ ภิกษุทั้งหลายทางนี้เป็นมรรคาเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้น โศกะและปริเทวะ

    เพื่อความอัสดงแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุ โลกุตรมรรค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนี้ คือ

    “ สติปัฏฐาน ๔” และในพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย พระสุดตันตปิฎก เล่มที่ ๒

    พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า

    “ ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์เพื่อล่วงโศกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญาย

    ธรรม (คือข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง) เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ เราอาศัยทางเดียวนี้แล้ว จึงกล่าวคำดังพรรณนา มา

    ฉะนี้”

    สติปัฏฐาน ๔ เป็นการเจริญวิปัสสนา คือการทำอุบายให้เรืองปัญญา ด้วยการใช้สติกำหนดพิจารณา

    กาย เวทนา จิต ธรรม ให้รู้ตามความเป็นจริง เพื่อให้บังเกิดผลในที่สุด ดังนี้


    ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    กาย ที่ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นการพิจารณาดูกายตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตาย

    ดูความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงของกาย ทารกแรกเกิดจากครรภ์มารดา เสียงแรกที่เปล่งออกมา อุแว้ๆ ๆ

    มือทั้งสองกำแน่น กรีดเสียงร้องด้วยความเจ็บปวด แสบคันตามผิวหนังเกิดจากความละคายเคือง เมื่อกายได้สัมผัสกับอากาศภายนอก นี่

    พอเกิดมาก็เห็นทุกข์แล้ว เมื่อเวลาเนิ่นนานไปร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไปอันนี้มองเห็นด้วยตาเนื้อ กลับมาพิจารณากายอีกครั้ง แต่ดูได้ด้วย

    ตาใจ กายภายในมีอาการ ๓๒ อย่าง ประกอบด้วย อวัยวะน้อยใหญ่ เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เสมหะสีเขียว สีขาว ไขมัน

    เหลว ไขมันข้น ตับ ไต ม้าม ปอด กระเพาะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ อาหารเก่า อาหารใหม่ อุจจาระอัดแน่นอยู่ในลำไส้เหมือน

    ไส้กรอก หรือทางภาคเหนือเรียก ไส้อั่ว ที่บูดเน่า นอกจากนี้ยังมีน้ำลาย น้ำมูก ขี้ หู ขี้ตา ส่งกลิ่นคาวเหม็น ทั้งหมดนี้เปรียบเสมือน

    เป็นที่รวมขยะกองใหญ่ ที่มีผิวหนังห่อหุ้ม ปิดบังไม่ให้เห็นเศษขยะเน่าเหม็นที่อยู่ภายใน เวลาจะนั่งก็นั่งทับกองอุจจาระ เวลานอนก็นอน

    ทับกองอุจจาระเวลาจะไปไหน ขึ้นรถลงเรือก็เหมือนถุงขยะเคลื่อนที่หอบอุ้มกันไปมันอึดอัดมาก ก็ระบายแก๊สออกมาทางทวารหนัก เสียง

    ดังเป็นระยะๆ ส่งกลิ่นเหม็นอบอวน แม้แต่ตนเอง ซึ่งกำลังหอบหิ้วถุงขยะใบนั้น ยังทนกลิ่นไม่ได้ยกมือปิดจมูกเหม็น ทนไม่ไหว เมื่อ

    พิจารณาอย่างท่องแท้แล้ว กายนี้มันเต็มไปด้วยของสกปรกเป็นรังของเชื้อโรค

    คนที่ไม่มีปัญญาหรือคนที่มืดบอด เขามองไม่เห็นความสกปรกโสโครกภายในกาย ยังมีความยึดมั่นหลงภายในกาย มองดูกายไม่เห็นมัน

    สกปรกตรงไหน ผิวหนังก็เต่งตึงดูน่ารักน่าใคร่ นี่เพราะเขาใช้ตาเนื้อดู เขาไม่ใช้ตาใจดูมันจึงมองไม่เห็น เอาละถ้าคิดว่าร่างกายของตน

    สะอาดสวยสด ก็ไม่ว่ากัน ทีนี้เอาใหม่ ให้กลับไปชำระร่างกายให้สะอาด ทาแป้งฉีดน้ำหอมเพื่อจะได้มีกลิ่นหอมสดชื่น จะได้เห็นของจริง

    เสียที ต่อไปให้คุณบ้วนน้ำลายและเสมหะลงไปในถ้วย นี่เป็นน้ำลายและเสมหะของตนเอง พึ่งบ้วนออกมาใหม่ๆ ยังอุ่นอยู่

    เอ้า.... นี่ไงของสะอาด ลองกลืนกินเข้าไปใหม่อีกครั้ง เอาซิของสะอาด เอาเลยดื่มให้หมดถ้วยเลย สุดท้ายก็เบหน้าหนี ไม่เอาแล้ว ของ

    มันสกปรกอย่างนี้ จะให้ดื่มกินเข้าไปได้อย่างไร ไหนบอกว่าเป็นของสะอาด ใครที่คิดว่าแน่ก็มาลองดู

    มาพิจารณากายภายนอกดูบ้าง ไอนี่เป็นของจริง ใช้ตาเนื้อดูกันเห็นชัดๆ ไม่ต้องใช้ตาใจ ดูว่ากายนี้เป็นสิ่งสกปรกและไม่เที่ยง มีการเปลี่ยน

    แปลง และเสื่อมสลายไปในที่สุด เอาจิตมาพิจารณาดูกายของตัวเรา เอากระจกบานใหญ่ๆ มาตั้งดูภาพร่างกายที่ปรากฏอยู่ในกระจก

    พิจารณาดูตั้งแต่ศรีษะ เรื่อยลงมาจนจรดปลายเท้า คนที่ยึดมั่นถือมั่นในกาย ก็จะภูมิใจว่าร่างกายเรานี้มีความสวยงาม ดูที่เส้นผมก็ดกดำ

    เป็นเงางาม ดูที่ดวงตาก็สวยแวววาวเป็นประกาย คิ้วก็ดกดำเรียวโค้ง ส่องกระจกยิ้มให้ตัวเองก็เห็นลักยิ้มที่แก้ม แอบชื่นชมตัวเองว่าเรานี่

    ช่างโชคดีที่เกิดมามีรูปร่างสูงเด่นเป็นสง่า นัยน์ตาฝัน เอียงซ้ายเอียงขวาดูสัดส่วนของร่างกาย ทั้งแขนและขามีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ อยากให้

    ร่างกายนี้เป็นเช่นนี้อยู่ไปนานๆ ไม่อยากให้แก่ ไม่อยากให้ตาย ลองสั่งกายซิ บอกกายว่าอย่าเจ็บ อย่าแก่นะ อย่าเสื่อมนะ สั่งกายได้ไหม

    ถ้ากายเป็นของเราจริงมันก็ไม่แก่ ไม่เจ็บและไม่ตาย

    พออายุสูงขึ้น ๕๐,๖๐,๗๐, กลับมาดูกายอีกครั้ง ใช้กระจกแผ่นเดิมนั่นแหละภาพที่ปรากฏในกระจกเป็นอย่างไรไล่มาตั้งแต่ศรีษะ ผมที่เคย

    ดกดำเป็นเงางามมันเปลี่ยนไปกลายเป็นผมสีเทา สีขาว มิหนำซ้ำยัง

    หลุดล่วงโรยจนศรีษะล้าน ผิวหนังที่ใบหน้าลำตัวแขนขา ที่เคยเต่งตึงผุดผ่อง ขณะนี้ผิวหนังตกกระแห้งเหี่ยวย่นไม่มีน้ำมีนวล นัยน์ตาที่

    เปล่งประกายแวววาวหายไป เหลือแต่ดวงตาที่พร่ามัว เหี่ยวย่น แก้มลักยิ้มที่ภูมิใจว่ามีเสน่ห์หายไปหมด เหลือแต่แก้มที่เหี่ยวๆ และย้อยลง

    มา แขนขาที่เคยมีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ เดี๋ยวนี้มันผอมแห้งซีดเซียวคิ้วที่เคยดกดำเรียวโค้งเหมือนวงพระจันทร์ บัดนี้มันเป็นเส้นแข็งเหมือน

    ฝอยขัดหม้อ ทั้งสีขาวสีดำปะปนกันชี้ไปคนละทิศคนละทางยุ่งเหยิงไปหมด

    ขอให้เราจงน้อมจิต มาพิจารณากายนี้ด้วยปัญญาให้ถ่องแท้จะรู้ความจริงว่า.. กายเรานี้มันไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลง และเสื่อมสลายผุพัง

    ไปเป็นธรรมดา เพราะมันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จงปล่อยวาง ทำจิตให้ว่าง ไม่ว่าคนหรือสัตว์เดรัจฉาน มันก็เป็นของมันอย่างนี้ อย่า

    ไปยึดมั่นถือมั่นสำคัญหมายในกายเลย เมื่อถึงเวลาอันควร กายนี้มันก็มีความเสื่อมทรุดโทรมและชรา สุดท้ายก็ตายเหลือแต่ซากธาตุทั้ง

    หลายกลับกลายเป็นดิน เป็นน้ำ ธาตุลมกลับไปเป็นลม ธาตุไฟก็กลับไปสู่ไฟ พัดไปในอากาศ มันสละคืนไปเป็นธรรมชาติดังเดิม


    ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    เวทนา การพิจารณาเวทนา คือการเอาสติกำหนดรู้ในเวทนา

    (เวทนาคือความรู้สึก) เสวยอารมณ์

    ( จากทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ )

    การเสวยอารมณ์มี ๓ ลักษณะคือ

    ๒.๑ เมื่ออารมณ์มากระทบ รู้สึกไม่สบายใจ ไม่ปลอดโปร่งใจ

    อย่างนี้เราเรียกว่า ทุกขเวทนา

    ๒.๒ เมื่ออารมณ์กระทบ รู้สึกสบายใจปลอดโปร่งใจ สุขใจ

    อย่างนี้เราเรียกว่า สุขเวทนา

    ๒.๓ เมื่ออารมณ์มากระทบ มีความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์

    อย่างนี้เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุเบกขาเวทนา

    เวทนาไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะอายตนะภายในคือ ตา หู

    จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ไปกระทบกับอายตนะภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

    ความรู้สึกเหล่านี้มันเกิดจาก กายและใจ ไปเสวยอารมณ์ภายนอก

    อาการที่เกิดบางครั้งก็ชอบใจ ดีใจและมีความสุข

    แต่บางครั้งมันก็ไม่ชอบใจ ไม่สบอารมณ์เบื่อหน่าย ไม่อยากได้

    บางครั้งก็เกิดความรู้สึกเฉยๆ ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ยกตัวอย่าง เช่น

    ต้นกุหลาบสีแดงปลูกไว้ กำลังออกดอกสีแดงบานสะพรั่ง

    เมื่อตาเห็นรูป คือตาเห็นดอกกุหลาบสีแดงก็ชอบใจ พึงพอใจใน

    ดอกกุหลาบสีแดงว่าดอกกุหลาบนี้สวย เมื่อปัญญาตามมาทัน

    เวทนาปัญญาก็เกิดขึ้น “ ไม่แน่ ” เพราะถ้าปล่อยกุหลาบสีแดงนี้

    ทิ้งไว้อีก ๑๐ วัน กลับมาดูดอกกุหลาบสีแดงอีกครั้ง เราจะเห็นว่า

    ดอกกุหลาบสีแดงนั้น... มันไม่มีความสวยงามหลงเหลืออยู่เลย

    เพราะกลีบกุหลาบมันแห้ง กลีบสีแดงกลายเป็นสีดำ เราจะต้อง

    มองความไม่สวยของความสวยในดอกกุหลาบสีแดงนั้น ก็ทำให้

    ไม่ยินดี – ยินร้าย กับความสวย และความไม่สวยของดอกกุหลาบ

    สีแดงนั้น เราจึงวางเฉยเป็นอุเบกขา คือมีใจเป็นกลางไม่โอนเอียง

    ไปทางสวยหรือไม่สวย ดังนั้น การที่อารมณ์ไปเสวยสุข เสวยทุกข์

    หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ มันก็เปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง อนัตตา


    ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    จิต คือความนึกคิด จิตไม่มีรูปร่างสัณฐาน บ่งบอกลักษณะ

    จิตตานุปัสสนาก็คือการเพ่งจิต เพื่อดูว่ามีอะไรอยู่ในจิต ด้วยการ

    เอาสติตามรู้ทันจิต กำหนดรู้ภาวะของจิตในขณะนั้นว่ายังมีกิเลส

    เช่น ราคะ โทสะ โมหะ อยู่ในจิตเราหรือไม่ ถ้ายังมีกิเลสอยู่

    เราได้กำจัดกิเลสให้หมดไปสิ้นไปจากจิต ด้วยการยกปัญญามาพิจารณา

    เมื่อจิตปราศจากกิเลส เราก็สิ้นภพชาติ ดังพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้

    ว่า “ ถ้าไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่ในจิต จิตเราก็เป็นอนาลโย ไม่มีอะไรเลย

    คือ ว่าง เป็นการสิ้นภพหมดชาติเป็นสมุเฉทปหาน


    ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ธัมมานุปัสสนา เป็นการพิจารณา “ นิวรณ์ธรรม “ คือ ธรรม

    ที่คอยขัดขวางกั้นจิตมิให้บรรลุธรรมคือ นิวรณ์ ๕ นอกจากนี้เราต้อง

    กำหนดรู้ธรรมต่างๆ เช่น

    ๔.๑ ขันธ์ ๕ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ ปัญจขันธ์ ” หรือ “เบญจขันธ์”

    หมายถึง กองแห่งรูปและนาม รวมกันเป็น “ชีวิต”

    โดยมี “กายกับใจ” แยกเป็นรูป ๑ นาม ๔

    รูป คือ กาย สามารถมองเห็นด้วยตา

    นาม ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    ไม่สามรถมองเห็นด้วยตาเปล่า

    ๔.๒ ธาตุ ๖ เป็นอมตะธาตุประกอบด้วย

    ปฐวีธาตุ คือธาตุดิน

    อาโปธาตุ คือธาตุน้ำ

    เตโชธาตุ คือธาตุไฟ

    วาโยธาตุ คือธาตุลม

    อากาศธาตุ คือธาตุว่าง

    วิญญาณธาตุ คือธาตุรู้

    ๔.๓ อินทรีย์ ๕ คือธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตน ประกอบด้วย

    สัทธา คือความเชื่อ

    วิริยะ คือความเพียร

    สติ คือความระลึกได้

    สมาธิ คือความตั้งจิตมั่น

    ปัญญา คือความรู้ทั่วชัด ด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง

    ๔.๔ โพชฌงค์ ๗ คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ประกอบด้วย

    สติสัมโพชฌงค์ คือความระลึกได้

    ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ คือความสอดส่องสืบค้นธรรม

    วิริยะสัมโพชฌงค์ คือความเพียร

    ปิติสัมโพชฌงค์ คือความอิ่มใจ

    ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือความสงบกาย สงบใจ

    สมาธิสัมโพชฌงค์ คือความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่

    อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นความจริง



    คัดจากหนังสือ ทางพ้นทุกข์ โดย... ปิยพงศ์ ปิยพงศ์วิวัฒน์
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 มิถุนายน 2013

แชร์หน้านี้

Loading...