สัมมาทิฏฐิ..

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย จิตนิพพาน, 25 กรกฎาคม 2013.

  1. จิตนิพพาน

    จิตนิพพาน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 ธันวาคม 2009
    โพสต์:
    233
    ค่าพลัง:
    +414
    สัมมาทิฏฐิ..

    (หลวงพ่อทูล ขิปปฺปญฺโญ)

    บัดนี้จะได้อธิบายเรื่องสัมมาทิฏฐิ และมิจฉาทิฏฐิ ให้นักปฏิบัติได้เข้าใจว่า สัมมาทิฏฐิและมิจฉาทิฏฐิมีความแตกต่างกันอย่างไร ลักษณะอย่างไรเป็นสัมมาทิฏฐิ ลักษณะอย่างไรเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเรามีครูอาจารย์ผู้มีความชำนาญในการปฏิบัติ ท่านจะได้แยกแยะทิฏฐิทั้งสองอย่างนี้ได้ และอธิบายให้เรามีความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง เพราะทิฏฐิทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกัน มีลักษณะความเห็นที่ตรงกันข้ามทีเดียว ถึงจะเกิดจากใจอย่างเดียวกันก็ตาม แต่ความเห็นจะเป็นคนละอย่างกัน เหมือนกับสิ่งเดียวด้านหนึ่งจะเป็นสีขาว อีกด้านหนึ่งจะเป็นสีดำ ถ้าผู้มีตาดีจะรู้ได้ทันทีว่าอะไรคืออะไร

    คำว่าตาดีหมายถึง ตาใจ คือ ปัญญา นั่นเอง ถ้าปัญญามีความฉลาดรอบรู้ จะเข้าใจในทิฏฐิทั้งสองนี้ทันที ถ้าปัญญาไม่ดีไม่ฉลาดขาดเหตุผลก็ยากที่จะเข้าใจได้ เพราะสัมมาทิฏฐินี้นักปฏิบัติยังไม่ได้ศึกษาให้เกิดความเข้าใจ แต่ก่อนมามีความเคยชินอยู่กับมิจฉาทิฏฐิมาตลอด ความเข้าใจเก่าๆ ที่เคยหมักหมมกับใจมานานจนกลายเป็นนิสัยฝังใจไว้อย่างเหนียวแน่น จึงยากแก่การแก้ไข เพราะใจได้ยึดมั่นถือมั่นและเชื่อมั่นอย่างนั้นแล้ว ฉะนั้นความเห็นของใจจึงเป็นเรื่องใหญ่ในการปฏิบัติ แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้มีความตั้งใจจริง เพราะหลักปฏิบัติเป็นอุบายแก้ความเห็นของใจโดยตรง จึงเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงในความเห็นของใจเสียใหม่ เพราะตามปกติแล้วใจมีความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิมายาวนาน ถ้าไม่แก้ไขให้หมดไปจากใจก็จะเป็นภัยต่อการปฏิบัติเป็นอย่างมากทีเดียว

    คำว่า มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดนั้นมีหลายขั้นตอนด้วยกัน เช่นเห็นว่าบาปไม่มี บุญไม่มี ทำดีทำชั่วไม่มีผลที่จะได้รับ และเห็นว่าในภพหน้าชาติหน้าไม่มี ตายไปแล้วไม่ได้เกิดอีก นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี นิพพานไม่มี เกิดมาในชาติเดียวตายแล้วก็หมดกันไป ในชีวิตที่มีอยู่ต้องการอะไร มีความอยากในสิ่งใดเอาให้สมใจชอบก็แล้วกัน นี้ก็เป็น มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดอีกอย่างหนึ่ง ความเห็นผิดอย่างนี้จะมีในหมู่ ตะโมตะมะปรายโน คือกลุ่มที่มืดมาแล้วและจะมืดต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด หรือหมู่ ปทะปรมะ คือผู้หนา ผู้มืด ผู้บอด จะโปรดให้กลับใจไม่ได้เลย หรือเรียกว่า ผู้ตกอยู่ในโลกมืด ความมืดของเขาเป็นอย่างไร เขาก็มีความเข้าใจไปตามภาษาของคนมืดบอดนั้นเอง กลุ่มนี้หรือบุคคลนี้ก็ปล่อยเขาไปตามเส้นทางของเขาไปก่อน จะไปเดือดร้อนกับคนประเภทนี้ทำไม

    ความเห็นที่เป็นมิจฉาอีกอย่างหนึ่ง คือหาที่พึ่งนอกพุทธศาสนา เช่นหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ตามต้นไม้ชายเขา เอาหมู่ผีเป็นสรณะที่พึ่ง มีการสะเดาะเคราะห์ ถือฤกษ์งามยามดี โชคราศี มีอะไรหลายอย่าง นี้ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิอีกรูปแบบหนึ่ง แทนที่จะเชื่อกรรมคือการกระทำของตัวเอง ใครทำกรรมอย่างไรไว้ต้องได้รับผลของกรรมนั้นต่อไป ถ้าไม่ยอมรับความจริงจากผลของกรรมที่ตัวเองกระทำมาแล้ว จะถือว่ามีความเห็นผิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้าแน่นอน ดังคำว่าเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมหรือมีความเห็นผิดจากความเป็นจริง ดังที่ได้อธิบายมานี้เป็นลักษณะความเห็นผิดอย่างหยาบๆ เท่านั้น ในความเห็นเป็นไปลักษณะนี้มีอยู่ประจำโลก และมีมาก่อนพระพุทธเจ้าด้วย เมื่อมาถึงพระพุทธเจ้าของพวกเราทั้งหลาย ความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็มีอยู่อย่างนี้ และจะมีต่อไปในมวลหมู่มนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิที่มีผู้คนเห็นผิดประจำโลกก็ว่าได้ เมื่อใดมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาในโลก ก็ได้มาแก้ไขให้เป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบได้บ้างแต่ไม่มากนัก ยังมีคนผู้เห็นผิดตกค้างอยู่ในโลกนี้มากมาย แต่ก็มีหลายคนที่มีนิสัยเบาบางพอจะเปลี่ยนแปลงจากมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด ได้กลับตัวมาเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นที่ถูกต้องได้ ฉะนั้นจงมาเป็นผู้มีความตั้งใจเสียใหม่ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป

    ส่วนมิจฉาทิฏฐิที่มีความเห็นผิดอีกจุดหนึ่งนักปฏิบัติอาจจะไม่รู้ตัว เพราะความเห็นผิดประเภทนี้มีความลึกลับมาก จะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาจึงไม่สนใจ ทั้งที่เป็นภัยในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก และเป็นความเห็นผิดปิดมรรคผลนิพพานอย่างสนิททีเดียว ถ้าไม่ชำระให้หมดไปจากใจก็จะเป็นภัยขัดขวางสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบทันที ถึงจะมีครูอาจารย์อธิบายให้ฟังก็ยังไม่ยอมรับ ทั้งที่ความจริงมีอยู่เป็นอยู่อย่างนี้ ทั้งที่ตำราก็ได้อธิบายไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่ความเห็นในส่วนลึกของใจก็ยังมีความต่อต้านอยู่ไม่ยอมรับความจริง ความรู้ที่ได้ศึกษามาก็เป็นเพียงความเข้าใจเท่านั้น แต่เป็นเพียงความเข้าใจจากคนอื่นเล่าให้ฟัง ความเห็นผิดก็ยังฝังลึกอยู่ในใจตามเดิม นั้นคือ อัตตา เมื่ออัตตาตัวตนมีอยู่ที่ไหน เราก็มีอยู่ในที่นั้น ถ้าเรามี ตนก็ต้องมี จึงเรียกว่า ตัวเรา นั้นเอง นี้คือมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดอย่างละเอียด ธาตุสี่คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ตลอดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เห็นว่าเป็นตัวเราทั้งหมด ตลอดทรัพย์สินเงินทองกองสมบัติทั้งปวงก็ได้มารวมกันอยู่ในตัวเรานี้ทั้งหมดทั้งสิ้น เมื่อความเห็นผิด ความเข้าใจผิดฝังลึกอยู่ที่ใจอย่างนี้ เราก็ต้องแก้ไขในความคิดเห็นนี้ให้หมดไปจากใจให้ได้ เพื่อจะไม่ให้เกิดความเห็นผิดความเข้าใจผิดอีกต่อไป

    ที่จริงนักปฏิบัติเคยได้ฟังจากครูอาจารย์มาหรือได้อ่านจากตำรามามากก็ตาม ความรู้ทั้งหมดนั้นถึงเราจะพูดถูกตามหลักความจริงอยู่ก็ตาม เราจะเข้าใจว่าตัวเราเป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ชอบธรรมยังไม่ได้ เพราะความเห็นนั้นเป็นเพียงเอาความเห็นจากตำรามาพูดเท่านั้นเอง ความเห็นที่ถูกต้องตามตำราได้ศึกษามาดีแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงความรู้ในภาคทฤษฎีหรือเป็นความรู้ในทางปริยัติเท่านั้น ไม่ได้จัดว่าเป็นสัมมาทิฏฐิที่สมบูรณ์ ส่วนความเห็นผิดก็ยังฝังสนิทอยู่ที่ใจตามเดิม ฉะนั้นการแก้มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจึงมาแก้กันที่ใจโดยตรง มิใช่ว่าเรียนตามตำรารู้แล้วจะเป็นสัมมาทิฏฐิไปเอง ถ้าเป็นสัมมาก็เป็นสัมมาในทางปริยัติเท่านั้น

    พระพุทธเจ้าตรัสรู้เอง ไม่มีครูอาจารย์อื่นใดมาสอน เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์แล้ว พระองค์ก็ได้ตั้งใจประกาศพุทธศาสนา เพื่อให้พุทธบริษัทได้ละมิจฉาทิฏฐิที่มีความเห็นผิดมาแล้วให้หมดไปจากใจ ธรรมที่จะนำมาเปลี่ยนแปลงมิจฉาทิฏฐิในคนยุคนั้น พระองค์ก็ได้เลือกคัดจัดสรรแล้วเป็นอย่างดี นั้นคือ สัจธรรม คือหลักแห่งความจริง สัจธรรมนี้มีอยู่ทั่วไป แต่พระพุทธเจ้าจะเน้นหนักในหมู่มนุษย์เป็นหลักสำคัญ คำว่า มิจฉาทิฏฐิ ก็คือมนุษย์เราหลงผิดในตัวเอง เมื่อเขาได้มารู้ความจริงในตัวเองเมื่อไร ก็จะเป็น สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบเมื่อนั้น ฉะนั้นการประกาศศาสนาของพระองค์ ก็คือประกาศความจริงให้หมู่มนุษย์ทั้งหลายได้รู้จริงนั้นเอง เมื่อมีความรู้จริงเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้แล้วก็จะเกิดเป็น สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นจริงอย่างชอบธรรม จะลบล้างความเห็นผิดออกไปจากใจได้ทันที นี่คือจุดเริ่มต้นในการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้าในสมัยครั้งพุทธกาล

    แม้พระสาวกของพระองค์ออกไปประกาศศาสนาในที่ต่างๆ ก็ประกาศสัจธรรมความจริงนี้แก่ประชาชน พระพุทธเจ้าประกาศศาสนาอย่างไร พระสาวกก็ประกาศศาสนาอย่างนั้น หรือพระสาวกเป็นจำนวนมากออกไปประกาศศาสนาในที่แห่งหนตำบลใด จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน หรือพุทธบริษัทได้ฟังธรรมจากพระสาวกองค์ไหนมา ก็มีความหมายเหมือนกันและเป็นเรื่องสัจธรรมอย่างเดียวกัน ฉะนั้นความขัดแย้งกันในความคิดความเห็นจึงไม่เกิดขึ้นว่าพระสาวกองค์นั้นสอนอย่างนั้น พระสาวกองค์นี้สอนอย่างนี้ ไม่มีในสมัยนั้น เพราะทุกองค์มุ่งเน้นในการสอนด้วยหลักเดียวกัน คือความจริง ในครั้งพุทธกาลยังไม่มีตำราให้ศึกษากันเหมือนยุคปัจจุบันนี้ จึงไม่มีความคิดเห็นขัดแย้งกัน มีแต่ความเชื่อมั่นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าและคำสอนของพระสาวกทั้งหลายล้วนแต่เป็นหลักความจริงทั้งหมด เมื่อทุกคนมุ่งปฏิบัติตามหลักความจริงอยู่อย่างนี้ ก็ย่อมเกิดความรู้จริงเกิดความเห็นจริงในสัจธรรมอย่างชัดเจน ฉะนั้นการประกาศพระศาสนาของพระพุทธเจ้า ก็คือประกาศหลักสัจธรรมตามความเป็นจริงนั้นเอง นี่คือจุดเริ่มต้นในการประกาศศาสนา

    หลักสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบนี้จึงเป็นหลักใหญ่ จะว่าเป็นประธานให้แก่หมวดธรรมทั้งหลายก็ไม่ผิด ดังพระองค์ได้เทียบเอาไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดารอยเท้าสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ย่อมมารวมอยู่ในรอยเท้าช้างแห่งเดียว นี้ภิกษุทั้งหลาย บรรดามรรคทั้งหลายย่อมมารวมอยู่ในสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบทั้งหมด คำว่ารอยเท้าช้าง ก็หมายความว่าใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิ ก็หมายว่าเป็นใหญ่ เป็นประธานให้แก่มรรคทั้งหลาย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงมองเห็นความสำคัญ จึงได้ยกไว้เป็นข้อแรก คือ สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาความเห็นชอบในเบื้องต้น เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรมเมื่อไร ความเห็นผิด ความเข้าใจผิดก็สลายจากใจไป การดำริพิจารณาในสิ่งใดก็เป็นการดำริพิจารณาถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งหมด นี่ก็เพราะหลักสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบตั้งมั่นไว้แล้วนั่นเอง

    เมื่อความเห็นชอบเกิดขึ้นที่ใจเมื่อไร ความเห็นผิดของใจก็หมดไป เหมือนกับพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างขึ้นมาเมื่อไร ความมืดก็หายไปทันที เมื่อความเห็นชอบได้เกิดขึ้นที่ใจเมื่อไร การรักษาศีลภาวนาปฏิบัติก็จะง่ายขึ้น เช่นการรักษาศีล จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็รักษาได้ง่าย นี่ก็เพราะมีปัญญาในการรักษานั่นเอง คำว่าปัญญาในที่นี้ คือ สุตมยปัญญา และ จินตมยปัญญา ปัญญาระดับนี้มีอยู่กับทุกคน แต่จะเอาไปทำงานประกอบการศึกษา หรือประกอบความคิดพิจารณาในทางไหนก็ได้ ถ้าจะเอาไปประกอบในทางโลกก็เป็นปัญญาในทางโลกไป ถ้าจะเอามาคิดพินิจพิจารณาในทางธรรมก็เป็นปัญญาในทางธรรมไป แต่เมื่อได้ทำสมาธิให้จิตมีความสงบอยู่บ่อยๆ ก็จะเป็นอุบายเสริมปัญญาให้มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในที่สุดก็จะเกิดปัญญาระดับสูงขึ้น คือ ภาวนามยปัญญานั้นเอง แต่ในขั้นเริ่มต้นนี้ให้ใช้ปัญญาในระดับสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญานี้ไปก่อน เพื่อให้เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบอย่างเต็มตัว ..

    (สัมมาทิฏฐิ :: i-dhamma)
     
  2. apiraks

    apiraks เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2012
    โพสต์:
    115
    ค่าพลัง:
    +508
    อนุโมทนาในจิตเป็นกุศลของท่านเจ้าของกระทู้ด้วยนะครับ
    ที่สละเวลานำบทความดีๆมาให้พุทธศาสนิกชนได้อ่านกัน

    ส่วนตัวไม่เคยอ่านบทความที่หลวงพ่อท่านเทศน์มาก่อน
    แต่หลังจากได้อ่านแล้ว ยอมรับเลยว่าท่านสามารถแสดง
    สิ่งที่เข้าใจได้ยากให้ปุถุชนเข้าใจได้โดยง่ายอย่างแท้จริง

    ขอเจริญในธรรมทุกท่านนะครับ
     
  3. mahamettayai

    mahamettayai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2012
    โพสต์:
    1,199
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +10,673
    กราบหลวงพ่อทูล และขออนุโมทนากับจขกท. ละเอียด ชัดเจน ดีจังค่ะ
    สังคมคงลดความวุ่นวายไปเยอะ ถ้าคนในสังคมมีสัมมาทิฏฐิ เพราะสัมมาอื่นๆ ก็จะตามมา
     

แชร์หน้านี้

Loading...