เรื่องเด่น ทิพยอำนาจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในห้อง 'ในหลวงกับพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 11 ธันวาคม 2013.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    b839de9e706591c5569f0e18297eedff.jpg

    ทิพยอำนาจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


    เนื่องในมหามงคลสมัย วันฉัตรมงคล ที่จะเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่งในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม ศกนี้ นับเป็นมหามงคลสมัยที่ปวงชนชาวไทยจะได้ถวายความจงรักภักดี และได้ถวายพระพรต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้เป็นทั้งพระมหากษัตริย์อันประเสริฐ และประดุจดังพระเทพบิดรของปวงชนชาวไทย

    ในวาระเช่นนี้ คอลัมน์นี้จะแสดงเนื้อความอันเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในบางมุมบางแง่ซึ่งอาจไม่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป แต่เป็นความจริงซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อพสกนิกรทั้งหลายจะได้รู้จะได้ทราบว่า พระประมุขของเรานั้นใช่ว่าจะเรืองพระบรมเดชานุภาพเฉพาะแต่ทางโลกก็หาไม่ แต่ในทางธรรมก็ทรงบรรลุภูมิธรรมอันสูงยิ่ง สมแล้วที่ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก เป็นหลักชัยที่ค้ำชูทำนุบำรุงพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าในพระราชอาณาจักรตลอดระยะเวลาอันช้านาน

    เมื่อแรกเริ่มครองราชย์ก็ทรงประกาศเป็นพระปฐมบรมราชโองการ อันยังก้องกังวานทั่วผืนฟ้าแผ่นดินสิ้นถึงทุกวันนี้ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

    นับเป็นพระปฐมบรมราชโองการที่ครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์ หมดจดงดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พระราชกรณียกิจมากหลายกว่าครึ่งศตวรรษล้วนเป็นบทพิสูจน์อันปราศจากความสงสัยใดๆ ว่าทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงเคารพธรรม ทรงถือธรรมเป็นใหญ่ ทรงประพฤติปฏิบัติธรรม และธรรมทั้งหลายเหล่านั้นล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

    ทรงละ ทรงวาง ความสุขสบายส่วนพระองค์เป็นระยะเวลาอันยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ เพื่อประโยชน์และความสุขของพสกนิกร สมัยหนึ่งเมื่อครั้งที่ พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังมีชีวิตอยู่ ได้กล่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้นทรงตรากตรำพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรของพระองค์อย่างหนักหนาสาหัส ถึงขนาดอาบพระเสโทต่างน้ำ เพราะเหตุที่ทรงประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นแบบอย่างเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามตลอดระยะเวลาอันยาวนานเช่นนี้ ได้เปิดหนทางอันกว้างใหญ่ให้ทรงค้นและพบพระเถรานุเถระที่ทรงภูมิธรรมขั้นสูง ได้ศึกษาและรับแนวทางปฏิบัติอันถูกต้องในการถึงซึ่งวิชชาในพระพุทธศาสนา กระแสพระราชดำรัสหลายครั้งหลายหนที่ทรงรับสั่งกับพระมหาเถระที่ทรงธรรม ทรงวินัย ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าภูมิธรรมในพระองค์นั้นได้บรรลุมรรคผลที่สูงมาก ทรงแจ่มแจ้งทั้งในทางปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ อย่างยากที่พุทธศาสนิกชนคนใดจะก้าวไปถึง

    มีผู้กล่าวว่า ภูมิธรรมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้น มิได้ย่อหย่อนไปกว่า พระเจ้าพิมพิสาร ในครั้งพุทธกาล และมิได้น้อยไปกว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ในยุคหลังพุทธกาล 300 ปี นั้นเลย แต่คอลัมน์นี้กล่าวได้ว่าพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์นั้นก็ไม่เคยแสดง ทิพยอำนาจในพระองค์ ให้ปรากฏเหมือนกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยเรานี้เลยแม้แต่สักครั้งเดียว

    เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเพื่อความรับรู้ในหมู่พสกนิกรซึ่งมีความจงรักภักดี เห็นสมควรนำกรณีอันมีผู้รู้เห็นยืนยันและแสดงถึงภูมิธรรมอันสูงยิ่งในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาแสดงดังนี้

    เรื่องที่หนึ่ง พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ อดีตนายทหารประสานงานของราชสำนัก ซึ่งได้ถึงแก่กรรมแล้ว เคยเล่าว่า สมัยหนึ่งเมื่อครั้งยังปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ ได้รับพระราชกระแสให้ไปนิมนต์พระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีองค์สำคัญของภาคอีสาน เพื่อมาร่วมงานราชพิธีส่วนพระองค์ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

    พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ ได้ติดต่อไปทางจังหวัดประสานงานไปทางอำเภอ ตำบล และต้องให้คนขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่วัด แต่ปรากฏว่าพระมหาเถระรูปนั้นได้ออกธุดงค์ไปแล้ว ไม่สามารถติดต่อได้ จึงนำความมากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ

    ทรงรับสั่งว่าให้ไปเรียนพระศาสนโสภณให้ช่วยนิมนต์ให้ พระศาสนโสภณที่ว่านี้ก็คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบัน ดังนั้น พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ จึงนำความไปเรียนให้พระศาสนโสภณทราบ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายโมงเศษ พระศาสนโสภณได้แจ้งว่าให้มาฟังผลในเวลา 16 นาฬิกา แล้วเดินขึ้นไปบนกุฏิชั้นบน พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ ได้รอคอยจนถึงเวลา 16 นาฬิกา ก็ได้รับคำบอกกล่าวจากพระศาสนโสภณ ว่าได้นิมนต์ตามพระราชประสงค์แล้ว ให้เอารถไปรับที่จุดนัดพบในเวลาที่นัดหมาย

    พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ เดิมสำคัญว่าพระศาสนโสภณมีข่ายงานติดต่อพิเศษของคณะสงฆ์ แต่ก็รู้สึกแปลกใจ จึงสอบถามพระเลขานุการว่าการติดต่อได้ใช้วิธีใด ก็ได้รับคำบอกว่าเป็นการติดต่อทางโทรจิต

    ผู้ที่รู้ว่าผู้อื่นมีภูมิธรรมในระดับที่สามารถใช้ทิพยอำนาจได้เช่นนี้ ก็ย่อมมีภูมิธรรมที่ห่างกันไม่มากนัก เพราะคนธรรมดาไหนเลยจะล่วงรู้ได้

    เรื่องที่สอง ช่วง 3-4 ปี ก่อนที่ท่านเจ้าคุณพุทธทาสจะมรณภาพ หนังสือพิมพ์ต่างประเทศได้ลงข่าวว่าท่านเจ้าคุณป่วยหนัก รัฐบาลไทยไม่เหลียวแลเอาใจใส่ หนังสือพิมพ์ไทยได้นำความมาลงตีพิมพ์ เป็นเหตุให้คนไทยได้รับรู้ และความทราบถึงเบื้องพระยุคลบาท

    ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณพุทธทาสป่วยหนักด้วยโรคน้ำท่วมปอด เส้นเลือดหัวใจตีบ มีอาการหัวใจวาย และความดันโลหิตสูงร่วม 300 หากเป็นคนทั่วไปก็เห็นได้ว่าเข้าขั้นโคม่า มีความตายเป็นเบื้องหน้าเป็นแน่แท้

    ในครั้งนั้นหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับลงข่าวตรงกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงคณะหนึ่งเดินทางไปรักษาท่านเจ้าคุณพุทธทาส ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และให้นำความไปถวายท่านเจ้าคุณด้วยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออาราธนาว่าท่านเจ้าคุณอย่าเพิ่งดับขันธ์ ขอให้อยู่ช่วยจรรโลงพระศาสนาต่อไป”

    แล้วหนังสือพิมพ์ก็เสนอข่าวต่อไปว่า เมื่อคณะแพทย์ไปถึงและท่านเจ้าคุณได้รับทราบว่ามีกระแสรับสั่งมาถวาย ก็ได้พยายามลุกนั่งสมาธิบนเตียงพยาบาล เมื่อได้ทราบคำอาราธนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ท่านเจ้าคุณนิ่งอึ้งอยู่พักใหญ่ แล้วกล่าวว่า “อาตมารับอาราธนา แต่จะอยู่ไปเท่าที่สังขารจะทนไหวเท่านั้น”

    ในชั่วคืนวันนั้นเหตุการณ์มหัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น เพราะอาการหัวใจวายและเส้นเลือดหัวใจตีบได้ทุเลาลง น้ำท่วมปอดได้ลดลง ความดันได้ลดลงเกือบปกติ พระซึ่งใกล้ชิดท่านเจ้าคุณได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากรับอาราธนาแล้วท่านเจ้าคุณได้ปฏิบัติสมาธิและอยู่ในอาณาปานสติวิหารตลอดทั้งคืน

    ความนี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์ เพราะมีข่าวต่อมาว่าหนังสือพิมพ์ต่างประเทศฉบับหนึ่งได้ลงข่าวในเชิงตั้งข้อสงสัยนี้ว่า พระสงฆ์ไทยนี้แปลก ที่สามารถผัดผ่อนความตายได้

    แต่คนไทยจำนวนหนึ่งมิได้สงสัย เพราะมีความในมหาปรินิพพานสูตรแสดงไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ใดได้เจริญอิทธิบาทสี่ให้มากแล้ว ทำให้เป็นประหนึ่งยานแล้ว ทำให้เหมือนกับเป็นพื้นแผ่นแล้ว มีใจตั้งมั่นบริสุทธิ์ หากปรารถนาจะมีอายุชั่วกัลป์หนึ่งหรือกว่านั้นก็ได้

    ท่านเจ้าคุณพุทธทาส คนทั่วไปรู้แต่เพียงว่าท่านทรงปริยัติเสมอด้วยพระพุฒโฆษาจารย์ของลังกาในอดีต แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้ดีว่าท่านบรรลุภูมิธรรมถึงวิชชาแปดประการในพระพุทธศาสนา มีทิพยอำนาจอยู่ในตัว และเจริญอิทธิบาทอยู่เนืองๆ อาการป่วยขั้นวิกฤตที่ทุเลาเบาบางลงก็ด้วยทิพยอำนาจนั้น ดังที่ปรากฏความในมหาปรินิพพานสูตรนั่นเอง

    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า ท่านเจ้าคุณมีภูมิธรรมเช่นนี้ อยู่ในวิหารธรรมเช่นนี้ มิใช่สิ่งที่คนธรรมดาจะรู้ได้ หากต้องมีภูมิธรรมและอยู่ในวิหารธรรมที่ใกล้เคียงกัน ท่านเจ้าคุณพุทธทาสบรรลุภูมิธรรมขั้นไหน ก็เห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีภูมิธรรมที่ใกล้เคียงกันนั้นเอง ดังนั้นจะกราบพระบรมฉายาลักษณ์ครั้งใด ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือกำลังกราบพระอริยบุคคลนั่นเอง

    เรื่องที่สาม เป็นเรื่องราวของพลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนลงไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐด้วยตัวท่านเองว่า สมัยหนึ่งจะเดินทางไปผ่าตัดหัวใจที่ต่างประเทศ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ท้ายที่สุดได้ทรงรับสั่งว่าไปผ่าตัดครั้งนี้จะไม่ตาย ให้รีบกลับ

    พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนไว้ว่ามีความเชื่อมั่นในขณะนั้นบังเกิดเป็นปิติอันเปี่ยมล้นว่าครั้งนี้เห็นจะไม่ตายแน่ มีอาการขนลุกซู่ซ่า คำรับสั่งที่เสมอด้วยสามารถตกลงกับพญามัจจุราชได้ดังนี้ ใช่ว่าผู้ที่มีภูมิธรรมธรรมดาจะกระทำได้ นี่เป็นวิชชาหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่มีแต่ผู้มีภูมิธรรมอันสูงส่งเท่านั้นที่จะกระทำได้

    เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องของครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือสุนทราภรณ์ ผู้มีสมญาว่านักร้องชั้นบรมครูผู้อมตะ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษคนหนึ่งในวงการศิลปินไทย โปรดให้เข้าร่วมวง อส. ซึ่งเป็นวงดนตรีส่วนพระองค์ ครั้งที่ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงพระราชนิพนธ์ ก็ทรงพระราชทานให้กับวงสุนทราภรณ์นำไปแสดง ครั้งที่เสด็จนิวัติกลับพระนครหลังจากเสร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ครูเอื้อ สุนทรสนาน และครูแก้ว อัจฉริยะกุล ก็ได้ร่วมกันรังสรรค์บทเพลงเพื่อถวายการต้อนรับคือเพลงราชาเป็นสง่าแห่งแคว้นอันเป็นอมตะ

    ทรงมีพระเมตตาต่อครูเอื้อ สุนทรสนาน มาก ถึงกับพระราชนิพนธ์เพลงไตเติ้ลให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ ชื่อว่าเพลงพระมหามงคล และพระราชทานธง ภปร. สำหรับวงด้วย

    ในเดือนธันวาคมปีก่อนที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน จะถึงแก่กรรม ได้โปรดเกล้าฯ ให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน ขึ้นไปร้องเพลงถวายที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ในบทเพลงพรานทะเล ซึ่งขณะนั้นครูเอื้อ สุนทรสนาน ป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง ได้เดินทางออกจากโรงพยาบาลไปร้องเพลงถวาย แต่ร้องได้เพียงครึ่งเพลงก็ต้องทรุดลง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพฯ เข้าไปประคองครูเอื้อ สุนทรสนาน เข้ามานั่งใกล้พระเก้าอี้ แล้วรับสั่งถามอาการ ครู่หนึ่งเหมือนกับจะทรงรู้ว่าครูเอื้อ สุนทรสนาน ป่วยคราวนี้คงตายแน่ จึงมิได้ตรัสประการใดเหมือนกับที่เคยตรัสกับพลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

    เป็นแต่ทรงถอดสร้อยซึ่งห้อยพระสมเด็จจิตรลดาออกจากพระศอ คล้องคอครูเอื้อ สุนทรสนาน พร้อมกับตบศีรษะด้วยพระเมตตา แล้วทรงตรัสว่า ให้เร่งรักษานะ

    ครูเอื้อ สุนทรสนาน กลับจากงานครั้งนั้นก็รู้ตัวว่าถึงเวลาใกล้จะตายแล้ว จึงได้ทำเพลงสุดท้ายสั่งลาแฟนเพลง ชื่อว่า เพลงพระเจ้าทั้งห้า ซึ่งสรรเสริญและรำลึกพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ พร้อมกับฝากบทเพลงสุนทราภรณ์ไว้อยู่คู่ฟ้าเมืองไทย

    นี่ก็เป็นวิชชาอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะแสดงให้เห็นถึง “อนาคตังสญาณ” ที่มีอยู่ในพระองค์ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการที่เสด็จไปแห่งหนตำบลใด ถ้าหากฝนแล้งก็จะบังเกิดฝนตก หรือถ้าฝนตกหนักก็บังเกิดฝนหยุด อันเป็นพระบารมีที่มีแต่ภูมิธรรมอันสูง และถือเป็น “ทิพยอำนาจในพระองค์” ที่คนไทยทั้งประเทศได้รู้ได้เห็นกันตลอดมาแล้ว

    และด้วยภูมิธรรมระดับนี้ ย่อมเชื่อและหวังได้ว่าองค์พระประมุขของเรานั้น ทรงสามารถเจริญอิทธิบาทสี่ บรรลุถึงมรรคและผลแห่งวิหารธรรมข้อนี้ในระดับที่สูง ก่อเป็นทิพยอำนาจในพระองค์ สมแก่ฐานะขององค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ซึ่งพสกนิกรทั้งประเทศสามารถกราบไหว้และได้อานิสงส์อย่างเดียวกันกับการกราบไหว้พระอริยบุคคลนั้นแล

    ขออำนาจสัตยาธิษฐาน ความมีอยู่จริง ความมีผลจริง ในวิชชาและวิมุติในพระพุทธศาสนา และคุณพระศรีรัตนตรัย ตลอดจนอำนาจแห่งพระปริตรได้คุ้มครองกำจัดและป้องกันสรรพภัย สรรพทุกข์ สรรพโรค อย่าได้กล้ำกรายพระองค์ ขอทรงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณในกาลทุกเมื่อเทอญ



    โดย สิริอัญญา

     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 656565.PNG
      656565.PNG
      ขนาดไฟล์:
      822.1 KB
      เปิดดู:
      1,067
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 18 ตุลาคม 2016

แชร์หน้านี้

Loading...