กายคัมภีร์ จิตคัมภีร์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 14 มกราคม 2012.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    เทศน์อบรมฆราวาส ณวัดป่าบ้านตาด

    เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙


    กายคัมภีร์จิตคัมภีร์


    เทศน์ ทางภาคปฏิบัติกับทางภาคปริยัติมันผิดกัน เทศน์ทางภาคปฏิบัติพูดไปธรรมดาๆ ไม่ค่อยได้ยกคาถาบาลีขึ้นแล้วแปล แล้วก็ไม่ค่อยได้อ่านคัมภีร์ ท่านอ่านคัมภีร์ในตัวนี้เลย ยกออกมาจากตัวนี้เป็นคัมภีร์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในคัมภีร์นี้ คัมภีร์นี้คือคัมภีร์อริยสัจ ทุกข์ก็มีอยู่ที่นี่ ไม่ว่าทุกข์ทางกายทุกข์ทางใจ สมุทัยคือกิเลสประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นข้าศึกของใจก็มีอยู่ที่นี่ นี่เรียกว่าทุกข์สมุทัย นิโรธคือความดับทุกข์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากมรรคก็มีอยู่ที่นี่ มรรคคืออุบายวิธีแก้กิเลสประเภทต่างๆ ด้วยความแยบคายของตนเป็นชั้นๆ ก็มีอยู่ที่นี่ พระพุทธเจ้าทรงศึกษาธรรมในหลักธรรมชาติ คืออยู่ในธาตุในขันธ์ในใจนี้ทั้งนั้น แต่พระองค์ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์สั่งสอน ทรงบำเพ็ญโดยลำพังพระองค์เอง ก็ย่อมมีผิดมีพลาดและเสียเวลาไปนาน ทั้งๆ ที่ทรงมีความพากเพียร เด็ดเดี่ยวแกล้วกล้าสามารถ ก็ถึง ๖ ปีจึงได้ตรัสรู้ธรรม


    ตรัสรู้ ก็คือความรู้แจ้ง ทั้งทุกข์ทั้งสมุทัย ทั้งมรรคทั้งนิโรธประจักษ์ใจ นั้นแลเรียกว่าตรัสรู้ เมื่อการตรัสรู้ปรากฏขึ้นการรู้แจ้งในสัจธรรมทั้งหลายก็เป็นมาพร้อมกัน เพราะฉะนั้นเวลาแนะนำสั่งสอนประชาชนพุทธบริษัท จึงต้องยกเอาคัมภีร์ที่ทรงเคยดำเนินเคยศึกษาเคยรู้เคยเห็นมาแล้ว ซึ่งมีอยู่ภายในกายในใจนี้ออกแสดงแก่สัตว์โลก โดยความถูกต้องแม่นยำ บรรดาสาวกทั้งหลายที่ได้รับพระโอวาทจากพระองค์ ก็ทรงปฏิบัติทรงศึกษาในคัมภีร์นี้เหมือนกัน คัมภีร์คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อยู่ภายในกายในจิตนี้


    แม้ จะไปบำเพ็ญอยู่ในสถานที่ต่างกันก็ตาม แต่จุดแห่งชัยสมรภูมิก็ถือเอากายกับจิตนี้เป็นสนามรบ ธรรมก็อยู่ที่นี่ กิเลสก็อยู่ที่นี่ โดยถืออาการของกายและอาการของจิตเป็นสนามรบ พิจารณาแยกแยะอยู่อย่างนั้น จนรู้แจ้งแทงตลอดเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า จะผิดกันก็คือความสามารถในแง่ธรรมต่างๆ มีความกว้างขวางลึกซึ้งผิดกันบรรดาสาวกกับพระพุทธเจ้า แต่ความบริสุทธิ์คือวิสุทธิธรรมภายในจิตนั้นมีความเสมอกันหมด นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาจนกระทั่งถึงสาวกองค์สุดท้าย ไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่าใคร นี้คือเป็นธรรมชาติที่เสมอภาคด้วยกัน


    ที่ กล่าวมาทั้งนี้ กล่าวตามที่ท่านเรียนท่านศึกษาท่านปฏิบัติ ในคัมภีร์หลักธรรมชาติ เมื่อท่านผู้มีความสามารถรู้คัมภีร์นี้โดยตลอดทั่วถึงค่อยร่วงโรยไป คือนิพพานไปๆ ท่านผู้ฉลาดหากมีอยู่นั้นแล จึงต้องให้คิดทบทวนดูถึงอนาคตในกาลต่อไป ท่านผู้มีความเชี่ยวชาญตามหลักความจริงนี้มีน้อย และต่อไปศาสนธรรมอาจจะเคลื่อนคลาดหรือกระจายหายสูญไปเสีย จึงต้องได้จารึกลงในคัมภีร์ใบลาน คัมภีร์ใบลานจึงกลายเป็นคัมภีร์หนึ่งขึ้นมา เป็นคัมภีร์นอก ไม่ใช่คัมภีร์แท้เหมือนพระพุทธเจ้าที่ทรงปฏิบัติมาและสาวกทั้งหลายบำเพ็ญมา ถ้าจะเอาคัมภีร์นี้ก็ยังไม่สามารถ ต้องอาศัยคัมภีร์นั้นก่อน กุลบุตรสุดท้ายภายหลังท่านจดจารึกไว้เรื่องการประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลส กำจัดอย่างไร วิธีเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ชื่อของกิเลสชื่อของอาการทั้งหลาย ๓๒ อะไรท่านบอกไว้ในนั้นเสร็จ คัมภีร์นั้นจึงเป็นคัมภีร์ชื่อ ตัวจริงอยู่กับคัมภีร์นี้


    เพราะ คัมภีร์นี้เป็นหลักธรรมชาติ ตัวจริงอยู่ที่นี่ ผู้ศึกษาเล่าเรียนจะเรียนมากน้อยก็ตามถ้ายังไม่น้อมเข้ามาสู่คัมภีร์นี้เป็น ข้อปฏิบัติ หรือไม่มาทำงานในคัมภีร์กายกับจิตนี้แล้วตราบใด ก็ยังหาความสิ้นสุดวิมุตติพระนิพพานไม่ได้อยู่ตราบนั้น เพราะฉะนั้นคัมภีร์นี้จึงเป็นคัมภีร์จำเป็นมากที่เราผู้ต้องการความสุขความ เจริญภายในจิตใจจะพึงพิจารณา จะพึงค้นคว้าให้รู้ให้เข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นการภาวนาจึงเป็นงานที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการทำงานในคัมภีร์ คือกายคัมภีร์จิตคัมภีร์


    ความ ฟุ้งซ่านของจิตคิดไปในแง่ต่างๆ ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นเรื่องของสมุทัยคือกิเลสผลักดันออกมาให้คิด ความพอใจในสิ่งใดก็ผลักดันให้ชอบให้รักให้คิดให้กังวลวุ่นวายกับสิ่งนั้น ความไม่ชอบใจในสิ่งใด กิเลสประเภทไม่ชอบใจก็ผลักดันออกมาให้คิดให้กังวลวุ่นวายวกวนไปมาอยู่อย่าง นั้นไม่แล้วไม่เลิก อยู่ตลอดเวลากับสิ่งนั้น จนเกิดความทุกข์ขึ้นมาภายในจิตใจ เพราะคิดสิ่งเหล่านี้มากเท่าไรก็ยิ่งเป็นความทุกข์มาก แต่ไม่คิดไม่สนใจที่จะระงับดับความคิดที่เป็นภัยนั้นแก่ตนเอง จึงทำให้ทุกข์มีความรุนแรงขึ้นและความฟุ้งของจิตก็ยิ่งฟุ้งไปเรื่อยๆ หากไม่หักห้าม


    คน เราที่เป็นบ้าเป็นบอไปเพราะความคิดมากก็เพราะเหตุนี้เอง เมื่อระงับไม่ได้ ไม่มีทางระงับ ไม่รู้วิธีระงับมันเป็นบ้าไปได้ เช่น คนเสียใจมากๆ นี้ถึงกับเสียจริตมี ในครั้งพุทธกาลก็มี เช่น นางปฏาจาราเถรี ในกลางคืนนั้นก็คลอดบุตรอยู่ในป่า คลอดลูกอยู่ในป่าแล้วทีนี้สามีก็ไปหาใบไม้ตัดใบไม้มารอง ขึ้นไปบนจอมปลวก ก็พอดีงูเห่าตัวหนึ่งอยู่บนจอมปลวกเลยกัดสามีตายอยู่บนจอมปลวก ทีนี้ภรรยาก็ไม่ทราบจะทำไง ฝนก็ตกทั้งคืน ลูกที่ติดตามมาด้วยก็มีคนหนึ่ง แล้วลูกคนนี้ก็มาคลอดกลางทาง พอตื่นเช้ามาก็มาเห็นสามีตายแล้วตั้งแต่คืนนี้ นั่นอันหนึ่ง ร้องห่มร้องไห้ทำไงนะหมดปัญญาแล้วก็เลยพาลูกไป จะมาเยี่ยมพ่อแม่


    พอ มาถึงแม่น้ำ ก็เลยให้ลูกชายคนหัวปีนั้น เอาลูกของตนที่ออกใหม่ๆ คลอดใหม่ๆ วางแบไว้กับนั้นแหละ แล้วให้ลูกชายนี่เฝ้าน้องว่างั้นเถอะ แม่จะลงหยั่งน้ำนี้ดูเพราะฝนตกทั้งคืน ไม่ทราบว่าจะลึกตื้นขนาดไหนน้ำในคลองนี้ แม่ก็เลยทดลองลงไปดูเสียก่อน ให้ลูกอยู่ทางฝั่งโน้น พอไปถึงกลางแม่น้ำก็มีเหยี่ยวบินโฉบลงมามันจะเอาเด็ก เหยี่ยวนั้นก็คงเป็นเหยี่ยวนกอินทรีย์หรืออะไรก็ไม่รู้ มันถึงจะเอาเด็กทั้งคนลูกชายก็ยืนอยู่ที่นั่น พอมองเห็นเหยี่ยว แม่มองกลับไปทางลูก เห็นเหยี่ยวกำลังบินโฉบลงมา ก็เลยโบกไม้โบกมือบอกให้ไล่เหยี่ยว ทีนี้ลูกชายเข้าใจว่าแม่โบกมือให้ลงน้ำ ฟังว่าลูกเด็กคนนั้นเหยี่ยวเอาไปกินด้วยนะ โฉบลงมาเอาลูกไปกิน แล้วแม่ก็โบกไม้โบกมือ ลูกคนหัวปลีนั้นก็นึกว่าแม่เรียก ก็โดดลงมาในคลอง เลยจมน้ำตาย คว้าหาไม่เจอเลย นั่นตายสามคน เป็นบ้าไปเลย พอดีคนไปเจอเข้า เขาเลยพามาสำนักของพระพุทธเจ้า มันเป็นบ้าไปเลย ไม่ได้สติสตัง


    มา ถึงสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว พอฟื้นสติขึ้น พระองค์ก็ประทานโอวาทพอได้สติขึ้นบ้าง ประทานหนักเข้าๆ เลยสำเร็จพระโสดาขึ้นในขณะนั้น แล้วขอบวชเป็นภิกษุณี แต่ตอนเปลือยตัวหมดนั้นอย่าพูดเลย นี่ในหนังสือท่านบอกไว้ ลืมนุ่งผ้าเลย ขนาดนั้นแหละ เปลือยหมด ลืมตัวจนขนาดนั้น นี่เพราะความทุกข์มากความคิดมาก มันเป็นไปได้ถึงขนาดนั้น นี่ละอำนาจของความคิด ที่พาให้จิตเป็นต่างๆ จนเสียจริตไปก็ได้อย่างนี้


    เพราะ ฉะนั้นอุบายวิธีการฝึกทางด้านจิตใจ จึงเป็นโอสถสำคัญที่จะระงับดับความคิดความฟุ้งซ่านอย่างนี้ได้ดี นอกจากนั้นยังรู้จักหักห้ามจิตในแง่ต่างๆ ซึ่งเห็นว่าเป็นของไม่ดีได้อีก ไม่ให้คิดซ้ำๆ ซากๆ ระมัดระวังรักษาความคิดของตนนั้น จิตก็พอยับยั้งตัวได้เมื่อมีสิ่งบังคับคือสติ หรือกำหนดธรรมบทใดบทหนึ่งเข้าแทนที่กับอารมณ์ที่เคยคิดอันไม่ดีนั้นเสีย มันจะคิดไปมากเพียงไร ก็ให้ตั้งสติกำกับบังคับไว้กับคำบริกรรมนั้นเพียงอันเดียว คำเดียว เช่น พุทโธๆ เป็นต้น ก็ระงับลงได้


    ถึง จะเป็นคำบริกรรมนึกพุทโธๆ ก็ตาม ความนึกประเภทนี้เป็นเรื่องความนึกของมรรค ทางระงับดับทุกข์ ไม่ใช่ความนึกความคิดของสมุทัยที่เป็นเครื่องเสริมทุกข์ ท่านจึงสอนให้บริกรรมพุทโธ หรือ ธรรมบทใดก็ตามที่เหมาะกับจริตจิตใจของตน ท่านไม่ได้ห้าม ในธรรมะ ในกรรมฐานนั้นมีถึง ๔๐ ห้อง ท่านว่า ๔๐ ห้อง ๔๐ อย่าง นี่ก็เพื่อให้เหมาะสมกับจริตจิตใจของผู้บำเพ็ญซึ่งมีนิสัยต่างๆ กัน จะได้นำไปประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมกับตนแล้วได้ผลเท่าที่ควรโดยลำดับ


    จิต เป็นสิ่งที่ผาดโผน เป็นสิ่งที่รวดเร็วมาก ไม่มีอะไรจะตามทันได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นเวลาฝึกฝนได้แล้วจึงมีคุณมาก มีอานิสงส์มาก ประเสริฐได้จริง ประเสริฐเพราะจิตนั่นแหละไม่ใช่ประเสริฐเพราะอะไร สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ตามความคาดคิดของสามัญชนเรา ย่อมคิดเสมอว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้ดี สิ่งนั้นมีความสำคัญ สิ่งนั้นมีคุณค่ามาก นี่ย่อมคิดเป็นธรรมดา แต่พอเราได้รับการอบรมทางด้านจิตใจ คือจิตตภาวนาเข้าไปโดยลำดับ จนปรากฏผลขึ้นมาภายในจิตใจ อย่างน้อยเป็นความสงบสุขให้เห็นประจักษ์ขณะภาวนา นั้นแลความประเสริฐเริ่มปรากฏตัวขึ้นมาแล้ว ความคิดในแง่ต่างๆ ที่ว่า สิ่งนั้นดี สิ่งนี้มีสาระสำคัญๆ นั้น จะค่อยลดตัวลงไปโดยลำดับๆ เพราะความสำคัญภายในจิตนี้ เป็นตัวสำคัญขึ้นแทนที่ เป็นความสำคัญขึ้นเหนือสิ่งเหล่านั้น


    เมื่อ เราอบรมฝึกฝนเข้ามากมายเพียงไร อันนี้ยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงตัวเองขึ้นสู่ความละเอียด ขึ้นสู่ความมีคุณค่าขึ้นเป็นลำดับๆ สิ่งภายนอกเหล่านั้นก็ค่อยจืดไปจางไป หายไป คลายไปโดยลำดับๆ เพราะสิ่งนี้เหนือกว่า นี่ละที่ว่าพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกท่านปล่อยวางโลกวางสงสารได้ก็เพราะว่า เบื้องต้นยังไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นๆ เป็นอย่างไรและจิตเป็นอย่างไร จึงเป็นความสำคัญมั่นหมายว่าสิ่งนั้นจะดี สิ่งนี้จะมีสาระสำคัญ สิ่งนั้นจะประเสริฐเลิศเลออะไร มันก็คิดไปตามนิสัยของใจที่ยังคว้าของจริงไม่พบ แต่พอได้มาพบของจริงซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจตัวเองแล้ว ความปล่อยวางเหล่านั้น มันก็ค่อยปล่อยวางโดยลำดับๆ จนผลสุดท้ายแม้แต่ร่างกายซึ่งเป็นที่รักสงวนอย่างยิ่งของตัวเอง มันยังปล่อยวางได้เป็นแต่เพียงว่าอยู่ในความรับผิดชอบเท่านั้นเอง


    เพราะ ฉะนั้นบรรดาท่านผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จึงต้องรับผิดชอบร่างกายนี้อยู่ตลอดไปจนกระทั่งถึงวันนิพพาน ความรับผิดชอบในร่างกายส่วนต่างๆ หรือความรับผิดชอบในชีวิตมีอยู่ จึงเรียกว่าไม่สมบูรณ์ แม้จิตจะบริสุทธิ์แล้วก็ยังมีสิ่งที่กวน ได้แก่ขันธ์นี่แหละกวน เพราะจิตไม่มีเรื่องอะไรแล้ว เรื่องโลภก็ไม่มีเรื่องโกรธก็ไม่มีเรื่องหลงก็ไม่มี สิ่งที่จะทำจิตใจให้กระเพื่อมเกิดกิเลสขึ้นมาเพิ่ม กิเลสไปโดยลำดับอย่างนั้นก็ไม่มี แต่ต้องรับทราบต้องรับผิดชอบเรื่องของขันธ์ที่แสดงออกมา เช่น เจ็บท้อง ปวดศีรษะ หิวกระหาย ง่วงเหงาหาวนอนเป็นต้น เหล่านี้เป็นเรื่องของขันธ์แสดงตัว จิตที่บริสุทธิ์แล้วก็ต้องรับผิดชอบรับทราบกับอาการเหล่านี้ที่ปรากฏขึ้นมา


    เพราะ จิตเป็นเจ้าตัวการผู้รับทราบสิ่งทั้งหลาย ท่านจึงต้องรับทราบและรับผิดชอบ ในแง่หนึ่งบรรดาพระพุทธเจ้าและสาวกหรือพระอรหันต์พูดง่ายๆ ที่ไม่ผิดอะไรจากคนสามัญทั่วๆ ไปเลยก็คือจริตนิสัยกิริยามารยาทของท่านผู้ใดที่เคยเป็นอย่างไร แม้จะสำเร็จถึงขั้นภูมิอรหัตผลแล้วก็ตามกิริยามารยาทหรือจริตนิสัยอันนั้นจะคงเส้นคงวาอยู่ตามเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยนี่ข้อหนึ่ง อีกข้อหนึ่ง เช่นเดินไปตามทางไปเหยียบสถานที่ผิดพลาดไป เช่นจะลื่นจะหกล้มท่านต้องช่วยตัวเองเช่นเดียวกับสามัญเรา ไม่ควรจะล้มไม่ยอมให้ล้ม นี่เรียกว่าสัญชาตญาณที่รับผิดชอบตัวเอง


    หรือก้าวไปกำลังจะเหยียบย่างลงอยู่แล้วพอดีไปมองเห็นจะเป็นรากไม้หรือเป็นงูจริงๆ ก็ตามต้อง โดดทันที โดดข้ามอันนั้นไม่เหยียบลงไปตรงนั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจอะไรเลยก็ตาม แต่สัญชาตญาณความรับผิดชอบตัวเองเป็นสิ่งที่สะดุดขึ้นมาเอง ให้โดดข้าม หรือรักษาตัวด้วยวิธีนั้นๆ ไปโดยหลักธรรมชาติของสัญชาตญาณ อันนี้ระหว่างพระอรหันต์กับสามัญชนเรานั้นไม่ผิดกัน เช่นจะ ไปเหยียบรากไม้แต่เข้าใจว่างูต้องโดดทันที หรือลื่นจะหกล้มนี่ต้องช่วยตัวเองเต็มที่ ไม่พอหกล้มไม่ยอมหกล้ม นี่เรียกว่าเป็นสัญชาตญาณ


    ผิด กันอยู่ที่ตรงจิต ถ้าเราไปเจอเช่นนั้นเข้าด้วยความบังเอิญนี้เราจะตกใจมาก เช่นเข้าใจว่างูนี้ตกใจมาก แต่ท่านไม่ตกใจ เป็นแต่ความรู้สึก สัญชาตญาณนั้นจะแย็บออกมาให้รู้ว่าเป็นงู คือความสำคัญของขันธ์เข้าใจว่าเป็นงูและโดดข้ามปั๊บ จิตใจไม่กระเพื่อม ไม่ตื่น ไม่ตกใจ ไม่ร้อนใจ ผิดกันตรงนี้ เช่น ความจะหกล้มด้วยการลื่นหรือพลาดอะไรก็ตามท่านจะช่วยตัวเองเต็มความสามารถ จนกระทั่งสุดวิสัยถึงจะยอมล้มหรือจะยอมตก เช่นจะตกบันไดหรือตกอะไรก็แล้วแต่เถอะต้อง ช่วยตัวเองโดยหลักธรรมชาติของสัญชาตญาณ อันนี้ระหว่างปุถุชนกับพระอรหันต์ไม่ผิดกัน สิ่งที่ผิดกันก็คือใจ ใจท่านไม่มีกระเพื่อมท่านไม่มีหวั่นไหว ท่านไม่มีความตกใจ ตรงนี้ผิดกัน จะเป็นธรรมชาติเรียบๆ อยู่ตลอดเวลา แต่อาการของขันธ์จะแสดงเช่นเดียวกัน นี่เป็นความต่างกัน เพราะจิตเป็นผู้บริสุทธิ์ ขันธ์ทุกส่วนมันก็เป็นตามธรรมชาติของมัน


    ที นี้คำว่าขันธ์ก็ได้แก่กองรูปหรือร่างกายของเรานี้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาขันธ์ของท่านมีแต่เวทนาจิตของท่านไม่มี ที่ท่านจะได้เสวยทุกขเวทนาภายในจิตอันนี้ท่านไม่มี ส่วนการรับทราบกันถึงความกระทบกระเทือนระหว่างขันธ์กับจิตนั้น ท่านรับทราบ เจ็บปวดแสบร้อนที่ตรงไหนท่านทราบท่านเข้าใจ ทุกข์มากทุกข์น้อยท่านก็ทราบ แต่ความหวั่นของจิตหรือจิตจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาเพราะร่างกายเป็นทุกข์นั้น ไม่มี จะว่าท่านเสวยทุกขเวทนาในส่วนร่างกายอย่างนั้นไม่ถูก


    เช่น อย่างมีบางท่านพูดว่า พระพุทธเจ้าท่านก็เสวยทุกขเวทนาเช่นเดียวกับเรา ยกตัวอย่างเช่น เวลาพระองค์ประชวรเสด็จมาตามทางที่จะไปปรินิพพานกรุงกุสินารา ไปถึงที่แห่งหนึ่งทรงกระหายน้ำ แล้วรับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำมา บอกว่าเรากระหายน้ำประการหนึ่ง แล้วเราอ่อนเพลียเราอยากพักผ่อน ให้พระอานนท์ปูลาดสังฆาฏิให้เรา นี่ก็เรียกว่าท่านเสวยทุกข์เหมือนกันท่านเพลีย ความจริงกับคำที่ว่าท่านเสวยทุกข์นั้นมันเป็นคนละโลก


    เพลีย ท่านก็ทราบว่าเพลียเป็นเรื่องร่างกายมันไปไม่ไหว ท่านก็ทราบมันไปไม่ไหว มันเพลียในตัวของมันท่านก็ทราบ แต่จิตท่านไม่ได้เพลีย จิตท่านไม่ได้หวั่นไหว ร่างกายหิวท่านก็ทราบร่างกายหิว ร่างกายต้องการอะไรบกพร่องอะไรท่านก็ทราบ แต่ธรรมชาตินั้นมีความคงเส้นคงวาอยู่เป็นปกติ คือจิตไม่มีการกระเพื่อมไปตามสิ่งเหล่านั้นที่แสดงอาการสุขทุกข์ประการใดเลย ด้วยเหตุนี้คำว่าทุกขเวทนาเราจะไปหยิบยื่นหรือทุ่มเข้าไปใส่ในใจพระอรหันต์ นั้นจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะหลักธรรมชาติไม่อำนวย หลักธรรมชาติแท้ก็เป็นอย่างที่ว่านี้


    ทุกข์ เรื่องเจ็บเรื่องปวดท่านทราบ อากัปกิริยาที่แสดงตามเรื่องของธาตุของขันธ์มันก็มีเหมือนกันกับโลกเพราะ เหล่านี้เป็นสมมุติทั้งนั้น แม้แต่ของไม่มีวิญญาณ เช่น ใบไม้สด เราโยนเข้าไปใส่กองไฟลองดูซิ หรือหนังแห้งๆ ขนาดเท่านิ้วมือนี่ ยาวขนาดนิ้วมือแล้วโยนเข้าไปใส่ไฟลองดูซิ เมื่อถูกไฟร้อนเผาเข้าไป ใบไม้สดนั้นจะแสดงอาการอย่างไร เรามองดูเราก็รู้จะเป็นปกติไม่ได้ต้องแสดงอาการงอหงิกเป็นต่างๆ ไปเหมือนกับว่าใบไม้นั้นมีวิญญาณ แสดงอาการกระวนกระวาย หนังแห้งๆ ก็เหมือนกัน เราโยนเข้าไปในไฟ พอถูกไฟแล้วมันจะแสดงอาการออกมาเหมือนกับมันมีวิญญาณ ความจริงมันไม่มีเพราะความร้อนมันบังคับกับธรรมชาตินั้นมันแสดงตามเรื่องของ มัน


    เรื่อง ทุกขเวทนากับขันธ์ของท่านแสดงอาการก็เช่นเดียวกัน ต้องมีอาการแสดงต่างๆ เช่นเดียวกัน ไม่ใช่จิตพามาแสดงอย่างนั้น จิตของท่านจะแสดงได้อย่างไร มันไม่ใช่ฐานะมันเรียกว่าอฐานะ มันเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะมาแสดงอย่างโลกๆ ทั่วไป สำหรับจิตที่พอตัวแล้วเป็นอย่างนั้น ต่างที่ตรงนี้ ถ้าเราอยากทราบเราต้องปฏิบัติ ให้รู้ความจริงความปลอมของใจซิ ความปลอมของใจก็คือความสำคัญต่างๆ ที่มันทำให้กระเพื่อมขุ่นมัว ตื่นเต้น ตกอกตกใจ นี้แล้วแต่ความจอมปลอมของจิตที่ออกมาจากกิเลสซึ่งเป็นตัวจอมปลอมทั้งนั้น เมื่อได้ชำระสิ่งเหล่านี้ออกหมดจากจิตใจให้เหลือแต่ธรรมชาติ คือความรู้ล้วนๆ แล้วจะไม่มีอะไรเลย ปกติ จะเรียกว่าอกาลิกจิต อกาลิกธรรมได้ทั้งนั้น เป็นธรรมชาติที่พอตัว เสมอ


    คำ ว่าเสมอนี่เราก็จะคาดว่าเสมออย่างไร ก็ยังต้องผิด หากไม่นำคำนี้มาพูดก็ไม่ทราบจะเอาอะไรมาเทียบเคียงถึงจะพอเข้าใจกัน อย่างว่านิพพานสูญอย่างนี้ก็เหมือนกัน มันผิดกันมากกับความสูญของโลกที่สมมุติที่เข้าใจกัน มันเป็นคนละโลกเลย ทีนี้เราเคยแต่ความสูญของโลกจนฝังใจ พอกล่าวถึงเรื่องนิพพานสูญเท่านั้น เราจะเข้าใจว่านิพพานเป็นสิ่งที่ฉิบหายล่มจมไปเช่นเดียวกับสิ่งที่สูญไป เหล่านั้นอันเป็นส่วนสมมุติ นี้มันก็ผิดกันอีกคนละโลก


    สิ่งที่รับรองความสูญของพระนิพพานว่าสูญอย่างไรนั้นก็คือ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เมื่อสูญเสียจริงๆ อย่างแบบฉิบหายป่นปี้ดังที่โลกสมมุติหรือเข้าใจกันแล้ว นิพพานจะหาความสุขอันยิ่งมาจากไหน เพราะมันสูญไปหมดแล้วจะเอาอะไรมาเป็นความสุขอย่างยิ่ง นี่ก็คือว่าสูญแบบพระนิพพานนั่นเอง ไม่ใช่สูญแบบโลกแบบสมมุติทั้งหลายที่เข้าใจกัน มันผิดกันอยู่มากราวฟ้ากับดิน ถ้าฟ้ามีก็ราวฟ้ากับดินนั่นเอง


    ผู้ ที่จะมาวินิจฉัยสิ่งเหล่านี้ให้ได้ความ ธรรมชาติเหล่านี้ให้ได้ความ วินิจฉัยเท่าไรก็ไม่ได้ความ เพราะจิตผู้วินิจฉัยไม่ใช่นิพพาน เป็นกองกิเลสทั้งนั้น เมื่อกิเลสยังไม่สิ้นแล้วตราบใดจะวินิจฉัยพระนิพพาน ตีความหมายพระนิพพานไม่ได้ทั้งนั้น พอ จิตสิ้นจากกิเลสแล้วตีไม่ตีก็ไม่สงสัย ก็คือธรรมชาตินั้นแลคือนิพพาน สูญก็คือสูญอย่างนั้นแหละ สูญอย่างแบบรู้ๆ อยู่นั้น นั่นฟังซิ สูญทั้งรู้ๆ อยู่นั้น รู้ๆ อยู่นั้นแหละที่ว่านิพพานสูญ สูญกับรู้ๆ นั่นแหละเป็นผู้ทรงความสุขไว้อย่างยิ่ง แน่ะ ฟังซิ มันผิดกันขนาดไหน


    ผู้รู้เวลานี้ก็อยู่กับทุกคน เช่นอย่างเทศน์เวลานี้ก็ได้ยินเข้าใจกันทั้งนั้น ผู้นี้แลผู้ที่จะเป็นธรรมชาติที่ว่าสูญหรือชื่อว่า ปรมํ สุขํ ก็คือผู้นี้ เมื่อได้อาศัยการอบรมซักฟอกไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว จะเคยสงสัยเรื่องนิพพานสูญมาเพียงไร นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่งมาเพียงไร มันก็หมดสงสัยทันที เพราะเป็นสิ่งตายตัว ไม่มีแง่ที่จะให้เกิดความสงสัย ไม่เหมือนโลกสมมุติทั่วๆ ไป อันนี้เป็นธรรมชาติตายตัว ที่ผู้เข้าใจหรือผู้เข้าถึงจะทราบได้โดยลำพังตนเองไม่ต้องถามใคร แม้พระพุทธเจ้าจะประทับอยู่ตรงหน้าก็ตาม จะไม่ทูลถามให้เสียเวล่ำเวลาเลย เพราะเป็นเหมือนกับว่าเป็นของอันเดียวกันทั้งๆ ที่เป็นคนละดวงก็เป็นเหมือนกัน นั่นเป็นอย่างนั้น


    การ ภาวนาเบื้องต้นก็ล้มลุกคลุกคลาน เพราะเป็นงานที่เราไม่เคยทำ เรายังไม่ชำนาญ เช่นเขียนหนังสือ เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนก็ไม่เป็นตนเป็นตัว เวลาเขียนไปเขียนมาก็ค่อยชำนิชำนาญ หลับตาอยู่มันก็เขียนไปได้ ลากไปได้เลย แต่เวลาจะอ่านต้องลืมตา ไม่ลืมตามันไม่เห็น ส่วนเขียนนั้นหลับตาเขียนยังไงก็ได้ด้วยความชำนาญของตัว มันนึกอยู่ภายในตัวนั้น ตัวไหนกับตัวไหนสะกดการันต์มันรู้ นี่หมายถึงความชำนาญ จิตใจก็ไม่ใช่จะล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอดเวลา มันมีความชำนิชำนาญคล่องแคล่วในตัวเองขึ้น เพราะการทำหลายครั้งหลายหน ทำซ้ำๆ ซากๆ นั้นแหละ อย่างเขาฝึกซ้อมมวย ฝึกซ้อมกันเสียจน...แล้วมันก็คล่องแคล่วเอง


    นี่การฝึกซ้อม การทำอยู่โดยสม่ำเสมอ ดังธรรมท่านว่า ภาวิโตพหุลีกโต ทำ ให้มากเจริญให้มากท่านว่า มากจนถึงความพอแล้วมันก็เป็นไปเอง ความคล่องแคล่วว่องไวเป็นไปเอง นี่ละจะว่าเราสร้างบารมีมันก็ถูก ที่เราทำความดีทั้งหลายนี่ ไม่ไปไหนความดีที่เราสร้างนี้ จะสร้างด้วยการให้ทานก็ตาม ให้ทานของชนิดใดก็ตาม รักษาศีล ภาวนา อะไรก็ตาม เป็นการสร้างบารมี ทำกิริยาของเราให้ถึงฝั่งฟากโน้นคือพระนิพพานได้ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เราก็ได้อาศัยคุณงามความดีที่เราสร้างนี้แหละ เป็นผู้พึ่งเป็นพึ่งตายในวาระสุดท้าย


    คือ เวลามีชีวิตอยู่ใครก็พอช่วยเราได้ ขาดตกบกพร่อง จำเป็นอะไรๆ เพื่อนฝูง ลูกเมียหรือผัว ช่วยได้ทั้งนั้น แต่เวลาจำเป็นจริงๆ นี้ หมอก็ช่วยได้ในทางเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ถึงคราวจำเป็นจริงๆ นั่นละไม่มีใครช่วยได้ ยิ่งเวลาขาดใจลงไปแล้ว ใครจะตามช่วยได้ล่ะ ท่านจึงต้องสอนให้ อตฺตาหิอตฺตโนนาโถ ให้เป็นที่พึ่งของตน พยายามสร้างที่พึ่งไว้เสียตั้งแต่บัดนี้ ที่เป็นวิสัยทำได้อยู่ อย่าได้ประมาทนอนใจ ถึงคราวจำเป็นมาจะไม่มีใครช่วยเราเลย นอกจากคุณงามความดีเท่านั้น จะเป็นผู้ช่วยเรา


    เพราะ ภายนอกมันหมดวิสัยที่จะช่วยกันได้แล้ว ก็มีภายในคือบุญกุศลที่เราสร้างไว้นี้แหละ จะเป็นธรรมชาติที่สนิทติดแนบอยู่กับใจ พาไปสู่สถานที่ดีคติที่งาม แล้วเสวยความสุขก็เสวยจากกุศลที่เราสร้างไว้นี้แหละ จนกระทั่งถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง ก็ปล่อยวางกันได้ เช่นเดียวกับเราขึ้นบันได ขึ้นบนบ้าน เวลายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง บันไดก็มีความจำเป็นต่อเราเสมอไป แต่พอถึงจุดหมายปลายทางแล้วบันไดกับเราก็หมดความหมายกันไป ใครจะไปกอดบันไดอยู่เล่า มันไม่ใช่วิสัยของผู้ถึงที่แล้วจะมามัวกอดบันไดอยู่ อันนี้ก็เหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ว่า ปุญญปาปปหินบุคคลผู้ ถึงที่สุดจุดหมายปลายทางแล้ว เรียกว่าผู้มีบุญและบาปอันละเสียได้แล้ว คำว่าละนี่หมายความว่าละภายในจิตใจ ไม่ยึดถือทั้งบุญทั้งบาป แต่เรื่องวิบากต้องยอมรับกันเสมอ


    วิบาก คืออะไร ผลแห่งบุญที่เราเคยทำไว้นี้ แม้ในปัจจุบันที่เราได้บรรลุธรรมถึงขั้นสุดแล้ว วิบากอันนี้ก็จะปฏิเสธไม่ได้ ที่เราเคยทำมา จะต้องตามสนองโดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงวันนิพพาน ยกตัวอย่างเช่น พระสีวลี ในศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ ไม่มีใครที่จะเลิศยิ่งกว่า พระสีวลี ในการที่มีอติเรกลาภมากที่สุด รองพระพุทธเจ้าลงมาก็คือพระสีวลี จึงได้ยกเป็นเอตทัคคะ พระพุทธเจ้าประทานเอตทัคคะให้ ในความเลิศทางมีลาภสักการบูชา ไม่มีใครเสมอเหมือน นี่คือวิบาก ผลแห่งบุญของท่านที่เคยสร้างไว้แล้วตั้งแต่กาลก่อน


    แม้ จะเป็นพระอรหันต์จิตท่านจะปล่อยวางแล้วตาม วิบากเหล่านั้นก็ยังต้องตามมา ด้วยอำนาจแห่งผลบุญท่านเคยสร้างไว้แล้ว ไปไหนมีแต่คนสักการบูชา เทวบุตรเทวดาตามตำราท่านบอกไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าแต่มนุษย์แม้แต่เทวดาก็ยังมาสักการบูชา ด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ นั่นเป็นอย่างนั้น บางองค์แม้จะเป็นพระอรหันต์ด้วยกันก็ตาม เดินทางไปด้วยกัน อันนี้จะไม่ค่อยมีใครสนใจอะไรมากนักเรื่อง จะทำบุญให้ทาน เรื่องเกี่ยวกับเรื่องอติเรกลาภ ทำไมท่านก็เป็นพระอรหันต์ ก็ทราบอยู่ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่ไม่ทราบ แต่เรื่องความแตกต่างกันก็เห็นอย่างชัดเจน ตามอัธยาศัยหรือนิสัยของผู้ที่เคยสร้างมาอย่างไรบ้าง นั่น จำเป็นต้องอาศัยกันไปอย่างนี้


    ไม่ สูญหายไปไหน แม้จะสิ้นกิเลสอาสวะความยึดความถือโดยประการทั้งปวงทั้งบุญและบาปแล้ว บุญก็ยังต้องตามสนอง หากตามสนองได้ภายในขันธ์ ไม่สามารถที่จะซึมซาบเข้าถึงจิตใจให้ยินดียินร้ายเกิดโทษเกิดภัยขึ้นมาภายใน ใจได้ ผิดกันตรงนี้ที่เรียกว่า ขึ้นถึงที่สุดจุดหมายปลายทางแล้วหรือขึ้นถึงที่ต้องการแล้ว บันไดกับเราก็หมดปัญหากันไปเอง บุญและบาปที่เกี่ยวข้องกับใจก็หมดปัญหากันไปเอง เป็นว่าขาดวรรคขาดตอนกัน ส่วนวิบากที่จะตามธาตุตามขันธ์ไปนั้นมี จนกระทั่งวันนิพพาน ก็เป็นอันว่าหมดปัญหากันโดยประการทั้งปวง แม้แต่ขันธ์ก็หมดปัญหากันไป


    การ สร้างความดี รวมเข้าไปสู่ที่ใจทั้งหมด จะจำได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ ลบไม่สูญก็คือการทำบุญ ทำบาป มีความติดแนบอยู่ภายในจิตใจ ไม่สำคัญอยู่ที่ความจำ ให้พากันเข้าใจ และพยายามสร้างจิตของเราให้มีสารคุณขึ้นภายในตัว ความสงบเย็นใจ ความผาสุกสบาย จะเกิดขึ้นมีขึ้นโดยลำดับ ด้วยอำนาจแห่งกุศลผลทานของเรา เวลาจนตรอกจนมุม แทนที่จะไม่มีอะไรเป็นเครื่องตอบสนองแก้ขัดแก้จน มันก็เกิดขึ้นมาจนได้ เพราะอำนาจแห่งกุศลนี้แหละไม่ใช่อำนาจอะไร กุศลที่เราสร้างไว้นี้เอง ไม่ใช่จะเทวฤทธิ์บันดลบันดาลมาจากที่ไหน ก็เทวฤทธิ์ของใจของเราที่เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง ที่สามารถให้ทานรักษาศีลภาวนาได้นี้แหละเป็นเครื่องบันดาลให้เราได้เห็น ประจักษ์กับตัวของเราผู้สร้างเสียเอง การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร จึงขอยุติเพียงเท่านี้


    คัดลอกจาก http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=2979&CatID=2

     
  2. k_pe

    k_pe สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    81
    ค่าพลัง:
    +18
    "ด้วยอำนาจแห่งกุศลผลทานของเรา เวลาจนตรอกจนมุม แทนที่จะไม่มีอะไรเป็นเครื่องตอบสนองแก้ขัดแก้จน มันก็เกิดขึ้นมาจนได้ เพราะอำนาจแห่งกุศลนี้แหละไม่ใช่อำนาจอะไร กุศลที่เราสร้างไว้นี้เอง ไม่ใช่จะเทวฤทธิ์บันดลบันดาลมาจากที่ไหน"

    ขอบพระคุณมากๆครับ...กราบอนุโมทนา สาูธุ สาธุ สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...