เรื่องเด่น การปฏิบัติต้องหวังผล แล้วทุ่มเทอย่างสุดกำลัง

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 21 สิงหาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    60E50781-1A5F-4928-A77F-587E2053467E.jpeg

    การปฏิบัติของเรานั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหวังผล การปฏิบัติจะหวังผล ต้องเลียนแบบราชสีห์จับเหยื่อ พระพุทธเจ้าตรัสว่าราชสีห์เมื่อจับเหยื่อไม่ว่าจะตัวเล็กตัวใหญ่แค่ไหนก็ตาม จะทุ่มเทอย่างสุดกำลังเสมอ โอกาสที่พลาดก็จะมีน้อยมาก

    คราวนี้เราจะเลือกอะไรเป็นเหยื่อในการปฏิบัติของเรา ? ถ้านับจากการที่อาตมาปฏิบัติมาด้วยตนเอง ก็ใช้กรรมฐานหลายกองปนกันทีเดียว ถามว่าทำกรรมฐานหลายกองปนกันทีเดียวได้หรือ ? ขอตอบว่าได้..ถ้ามีความเข้าใจพอ

    อาตมาใช้อานาปานสติหรือลมหายใจเข้าออกเป็นหลัก กำหนดภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณ พระพุทธรูปนั้นเป็นพระพุทธรูปแก้วคืออาโลกกสิณ การกำหนดภาพพระพุทธเจ้าของเรานั้น ถ้าหากว่าเรามีพระพุทธรูปองค์ที่เรารักเราชอบอยู่ หรือว่ามีพระเครื่องที่เป็นรูปพระพุทธรูปที่เรารักเราชอบอยู่ ก็ให้ใช้รูปนั้นเป็นหลัก ก็คือนำพระพุทธรูปหรือพระเครื่องนั้นมาไว้ในสถานที่ซึ่งเรามองเห็นได้ง่าย สะดวก ไม่ต้องก้มมากเกินไป เงยมากเกินไป ลืมตามองภาพพระ พร้อมกับหลับตาลงนึกถึง และใช้คำภาวนาว่าพุทโธ

    การกำหนดภาพพระนี้เราจะเห็นได้แค่ชั่วครู่เดียว ภาพพระก็จะเลือนไป เราก็ต้องลืมตาขึ้นมองภาพพระนั้นใหม่ แล้วหลับตานึกถึงอีก อาตมาขอยืนยันว่า วิธีการทำกสิณหรือเพ่งกสิณก็ทำแบบนี้ ลืมตามอง นึกถึงภาพพระ หลับตาลงแล้วนึกถึง ภาพพระจะติดตาเราอยู่ชั่วคราว จนกว่าสมาธิเราจะทรงตัว ภาพพระถึงจะติดตาเราได้นานขึ้น ใหม่ ๆ อย่าไปเอารายละเอียด เอาแค่ให้กำหนดนึกถึงภาพพระได้ก็พอ

    เมื่อกำหนดภาพพระควบกับลมหายใจเข้าออก ก็คือเป็นอานาปานสติในพุทธานุสติและเป็นกสิณด้วย ก็ให้ประคับประคองภาพเหล่านี้เอาไว้ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด พอเลือนไปก็ลืมตามองใหม่ ถ้าเราดูในคำสอนของหลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านใช้คำว่า หลับตาลงนึกถึง เมื่อภาพเลือนไปก็ลืมตามองใหม่ แล้วหลับตาลงนึกถึง ทำอย่างนี้เป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง

    อาตมาก็ไม่ทราบว่าตัวเองทำไปกี่หมื่นกี่แสนครั้ง เพราะว่าใช้เวลาอยู่ ๓ ปี แต่ที่ต้องใช้เวลาอยู่ ๓ ปีเพราะว่าทำแล้วอยากได้ ตัวอยากก็เลยไปกีดกันเสียจนแทบจะเข้าไม่ถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ว่าต่อให้นานกี่ปีก็ตาม ถ้าทำได้ก็จะเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก

    ถามว่าคุ้มค่าตรงไหน ? เมื่อภาพพระนั้นติดตาติดใจเรา ไม่ต้องมองก็นึกออก ก็ให้กำหนดภาพพระพร้อมกับลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาไปตามปกติ ภาพพระนั้นจะใสขึ้น สว่างขึ้น ไปตามลำดับ ยิ่งสมาธิทรงตัวมากเท่าไร ก็ยิ่งใสสว่างมากเท่านั้น จนกระทั่งภาพพระนั้น สว่างไสวเหมือนกับพระอาทิตย์ยามเที่ยง เราก็กำหนดนึก ขอให้ภาพพระนั้นใหญ่ขึ้นหรือว่าเล็กลง ให้ปรากฏขึ้นหรือว่าหายไปได้อย่างใจของเรา ถ้าทำอย่างนั้นได้ เราก็สามารถใช้อำนาจกสิณในพุทธานุสติได้

    ถามว่าจะใช้กสิณในพุทธานุสติตรงนี้อย่างไร ? อาโลกกสิณนั้นมีอานิสงส์พิเศษคือ สร้างทิพจักขุญาณให้เกิด เราเห็นภาพพระได้ชัดเจนแจ่มใสเท่าไร เราก็สามารถเห็นผีเห็นเทวดาได้ชัดเจนแจ่มใสเท่านั้น เมื่อเห็นชัดเจนแจ่มใส จัดเป็นทิพจักขุญาณแล้ว ญาณอื่น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับการใช้

    เราใช้ทิพจักขุญานไปดูอดีต เรียกว่า อตีตังสญาณ ดูอนาคตเรียกว่า อนาคตังสญาณ ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นในปัจจุบันนี้ เรียกว่า ปัจจุปปันนังสญาณ ใช้ในการระลึกชาติเรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสติญาณ กำหนดรู้ว่าคนและสัตว์ก่อนเกิดมาจากไหน และตายแล้วไปไหน เรียกว่า จุตูปปาตญาณ รู้ว่าคนและสัตว์ทำกรรมอะไรไว้ ถึงวาระ ถึงเวลาต้องได้รับกรรมดีกรรมชั่วอย่างไร เรียกว่า ยถากัมมุตาญาณ และท้ายที่สุดถ้าสามารถชำระจิตให้ปราศจากกิเลสได้ เรียกว่า อาสวักขยญาณ

    สรุปว่าสิ่งที่เราอดทนทำมา จะเนิ่นนานเท่าไรก็ตาม ถ้าทำได้จะคุ้มค่าอย่างยิ่ง สิ่งที่ต้องการรู้เราจะได้รู้ สิ่งที่ต้องการเห็นเราจะได้เห็น และเมื่อได้พื้นฐานกสิณกองหนึ่งแล้ว อีก ๙ กองที่เหลือก็เป็นเรื่องง่าย แค่เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการกำหนดเท่านั้นเอง ดังนั้น ถ้าหากว่าใครยังไม่มั่นใจว่าจะจับกรรมฐานกองไหน อาศัยที่พวกเราทำกันมานานแล้ว มีพื้นฐานเพียงพอแล้ว ก็ขอแนะนำให้เราใช้อานาปานสติ ควบกับพุทธานุสติ ให้เป็นกสิณในอาโลกกสิณ

    เมื่อถึงวาระท่านทั้งหลายก็กำหนดจิตสุดท้ายของเราไว้ที่พระนิพพานให้เป็นปกติ กำหนดว่าภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้คือพระพุทธนิมิตแทนองค์ท่าน พระองค์ท่านไม่อยู่ที่ใดนอกจากอยู่บนพระนิพพาน

    เราเห็นพระองค์ท่านคือเราอยู่ใกล้กับพระองค์ท่าน เราอยู่ใกล้กับพระองค์ท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน ให้ทุกคนวางอารมณ์สุดท้ายในการปฏิบัติอย่างนี้ไว้เสมอ ถ้าสามารถทำให้ทรงตัวได้ ๓ นาที ๕ นาทีต่อกันทั้งเช้าและเย็น อาตมาขอยืนยันว่า ถ้าท่านตายลงไปจะสามารถเข้าสู่พระนิพพานได้
    ...................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...