การฝึกหัดกัมมัฏฐาน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 6 ธันวาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    [​IMG]


    การฝึกหัดกัมมัฏฐาน

    โดย พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี)
    แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
    วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
    คัดจากหนังสือ ธรรมเทศนา ๒๕๒๕


    คัดลอกจากจาก เวบ ธรรมเทศนาแนวปฏิบัติ ของหลวงปู่เทสก์

    http://www.geocities.com/luangpu_thate/data/lesson05.HTM

    การฝึกหัดจิต คือ
    ๑. ให้รู้จักจิต จับจิตได้
    ๒. ฝึกสติ ตามรู้ รักษาจิตจนเห็นจิตของตน
    อยู่ทุกขณะ เมื่อเห็นจิตแล้ว
    ๓. ควบคุมรักษาจิตให้อยู่ในอำนาจของเรา


    การฝึกหัดกัมมัฏฐาน
    (มะม่วงเปรี้ยว)

    วันนี้จะเทศน์เรื่อง การฝึกหัดกัมมัฏฐาน เราพากันมาฝึกหัดกัมมัฏฐาน ณ ที่นี่ แต่บางคน ก็ยังทำไม่ค่อยจะถูกต้องยังไม่ค่อยจะเป็น มาฝึกหัดกัมมัฏฐานก็หัดไปอย่างนั้นแหละ ไม่ทราบว่า จะจับหลักเอาที่ตรงไหน ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ น่าเสียดายเวลาล่วงไปเปล่า ๆ ควรที่จะจับหลักให้ได้ การฝึกหัดปฏิบัติจึงจะเป็นไป ถ้าจับหลักยังไม่ได้ก็อยู่อย่างนั้นแหละ ยิ่งอยู่นานไปเท่าใดยิ่งเลอะเทอะ เหลวไหล คนเราแก่เข้า ความแก่ความชรามันทำให้ค่อยทรุดโทรมไป จับอะไรมันไม่ถูกสักที คนเรา แก่ไม่เหมือนกับลูกไม้ มะม่วงมันแก่ มันสุก มันอร่อยหวานดี๊ดี แต่คนเรายิ่งแก่ยิ่งเปรี้ยว ไม่น่ากิน คนเราทุกคนควรที่จะมองดูตัวของเราว่า มันเปรี้ยวอยู่ตรงไหน มันหวานอยู่ตรงไหน คนแก่ก็ปฏิบัติ ให้สมกับคนแก่ คนหนุ่มก็ช่างเถอะปล่อยไปตามเรื่องของเขาก่อน พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ถือเอาอายุ เป็นเกณฑ์ ไม่ใช่อายุมาก ๆ เรียกเป็นคนแก่ ท่านถือเอาคุณธรรมเป็นหลักเป็นเกณฑ์ คนแก่ที่มีคุณ ธรรมนั้นได้ชื่อว่าแก่ถูกต้องแก่ดีงาม สุกหวานอร่อย คนแก่ที่ไม่มีคุณธรรม แก่เปรี้ยว มันก็เปรี้ยวละซี เห็นอะไร ๆ ก็วุ่นวายไปหมด ไม่ถูกหูถูกตาด่ากราดไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เปรี้ยวละซี คือ ไม่รู้จัก ยับยั้งชั่งใจของตน ไม่รู้จักหลักปฏิบัติใจของตนว่าจะเอาอะไรเป็นหลักปฏิบัติ นั่นแหละมันเปรี้ยว ตรงนั้น เปรี้ยวใครก็ไม่ชอบ หวานใครก็ชอบทุกคน​
    เข้าไปในบ้านถามชื่อคนสามตาบ้านเธอมีหรือเปล่า (คือผู้เห็น พระไตรลักษณ์)
    คนสามขาบ้านเธอมีหรือเปล่า (คือ ยึดถือในพระรัตนตรัย)
    เข้าไปดงถามถึงไม้ในป่า (คือ ไม้หอมแก่นจันทร์แดง)


    พระพุทธเจ้าก็แสดง “โย จ วสฺสสตฺตชีเว อปสฺสํ อุพฺพยพฺพยํ” คนมีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี ถ้าไม่เห็น ความเสื่อม ความสิ้นไปของสังขารร่างกายของตน “เอกาหํ ชีวิตฺตเสยฺโย ปสฺสโต อุพฺพยพฺพยํ” สู้เด็ก เกิดมาในวันเดียวแต่เขารู้ความเสื่อมความสิ้นไปของสังขารร่างกายไม่ได้ พระพุทธองค์ทรงแสดง อย่างนี้ เหตุนั้น จึงควรที่จะหาหลักธรรมไว้สำหรับจิตใจของตน ดังจะอธิบายต่อไปนี้


    การภาวนาหาหลักจิต หลักใจ คนเรามีจิตมีใจทุกคนแต่ว่าไม่เห็นจิตใจของตน เรียกว่า ไม่มีหลัก เห็นจิตใจของตนแล้ว ตั้งสติพิจารณาอยู่ที่ใจของตนตลอดเวลา คิดดี คิดชั่ว หยาบ ละเอียด ก็ให้รู้ตัว มันก็ไม่สามารถที่จะทำชั่วได้ ถ้าเห็นจิตของตนอย่างนั้น เหตุนั้นจึงให้ตั้ง สติ คือ ความ ระลึก ให้เอามาตั้งไว้ที่คำบริกรรมแทนตัวจิต คือ จิต ไม่มีตัวไม่มีตน จึงต้องให้เอาคำบริกรรมมาตั้งอยู่ จะ เป็นพุทโธก็ได้ สัมมาอรหังก็ได้ ยุบหนอพองหนอก็ได้ทั้งนั้น แต่ให้เอาอันเดียวไม่เอามากอย่าง เอา พุทโธดีกว่า บริกรรมพุทโธให้มันอยู่ที่จิต จิตเป็นคนนึก คนคิดพุทโธ จับตัวนั้นไว้ให้ได้ เมื่อเอาพุทโธ มาไว้แล้วมันจะรวมความคิดความอ่านทั้งหมด มารวมอยู่กับพุทโธในที่เดียว นึกเอาพุทโธตัวเดียว ให้เห็นตัวนั้นเสียก่อน ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถทั้งปวงหมดอยู่กับพุทโธอันเดียว จิตใจของคนเรามัน อันเดียวไม่ใช่หลายอย่าง ที่ว่าหลายอย่างก็เพราะมันเร็วที่สุด เราจับไม่ทัน เมื่อเอาจิตมาไว้พุทโธแล้ว เราจับพุทโธตัวเดียว เป็นอันว่าเราจับตัวจิตได้แล้ว มันคิดพุทโธ นึกพุทโธ นึกสิ่งใดก็จิตผู้เดียวนั่น แหละ เมื่อความคิดความนึกทั้งหมดมารวมอยู่ที่คำบริกรรมจุดเดียวแล้ว เป็นอันว่าเราจับจิตได้แล้ว ไม่ต้องไปหาจิตที่อื่นอีกแล้ว


    สติ ความระลึกได้ว่า สัมปชัญญะ เป็นผู้รู้ตัวอยู่เสมอว่า เวลานี้เราตามรักษาจิตอยู่ ทั้ง ๓ อย่าง รวมกันเป็นอันเดียวกัน คือ สติ ๑ สัมปชัญญะ ๑ จิต ๑ มันก็จะวางอารมณ์อื่นทั้งหมด จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็รู้ตัว และตามรักษาอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า คุ้มครองจิตอยู่ รักษาจิตอยู่ จิตเป็นของเราแล้ว ทำ อย่างนี้แหละจึงจะเห็นจิต ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะไม่เห็นจิตเลย ปฏิบัติไปเถอะ กี่ปี ๆ ก็ตามก็จะไม่เห็นจิต เด็ดขาด การปฏิบัตินั้นได้ชื่อว่า ไร้ผล ถ้าปฏิบัติตามแนวนี้จะเห็นจิตทุกคน

    คนเรามีจิตอยู่ด้วยกันทุกคน จิตของตนมีอยู่แต่ไม่เห็น ถ้าฝึกหัด ปฏิบัติตามดังที่กล่าวแล้ว ข้างต้น จะเห็นจิตทุกคน ทำอย่างนั้นได้ชื่อว่า ฝึกหัดจิต ทำสมาธิภาวนาเป็น


    การฝึกหัดจิต คือ


    ๑. ให้รู้จักจิต จับจิตได้
    ๒. ฝึกสติ ตามรู้ รักษาจิตจนเห็นจิตของตนอยู่ทุกขณะ เมื่อเห็นจิตแล้ว
    ๓. ควบคุมรักษาให้จิตอยู่ในอำนาจของเรา จิตคิดอะไร นึกอะไร ส่งส่ายไปไหน มันปรุงมันแต่งอย่างไร เราอย่าคิดอย่านึกอย่าปรุงอย่าแต่งเสีย จิตมันก็จะนิ่งเฉยอยู่นั่น และฝึกหัดให้เข้าถึงใจได้แล้ว ให้คิดให้นึกก็ได้ ไม่ให้คิด ไม่ให้นึกก็ได้ เรียกว่า เราคุมจิตหรือใจอยู่แล้ว


    วิธีฝึกหัดจิตต้องเป็นอย่างนี้ ใครจะฝึกหัดอย่างไหนก็ตาม อาจารย์องค์ไหนก็ตาม พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็ตาม ต้องฝึกหัดอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่ฝึกหัดอย่างอื่นหรอก เมื่อฝึกหัดจิตอยู่ อย่างนี้แล้ว มันจะมีเวลารวม เวลารวมเราไม่ต้องไปรวม มันรวมเองของมันต่างหาก จิตรวมนั้นท่าน เรียกว่า ภวังคจิต แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ


    ๑. ภวังคุบาท จิตรวมลงในขณะเดียวแล้วก็ถอนออกมา ลักษณะคล้ายกันกับขณิกสมาธิ คือ ก่อนจิตจะรวมไม่ได้คิดว่าจิตจะรวมหรือไม่ เมื่อจิตรวมแล้วแลถอนออกมาแล้วจึงรู้ ถ้ารู้ว่าจิตรวมอยู่ เรียกว่า ขณิกสมาธิ


    ๒. ภวังคจารณะ จิตจะรวมลงไปแล้วมีอาการส่งส่ายอยู่ภายใน ไม่ได้ส่งออกไปภายนอก เหมือนกับคนที่เฝ้าบ้านเฝ้าเรือนแล้วปิดประตูหมด มีแสงไฟสว่างเห็นสิ่งของทั้งปวงภายในบ้านใน เรือน ของภายนอกจะไม่ เห็นได้ เรียกว่า ภวังคจารณะ


    ๓. ภวังคุปัจเฉทะ จิตรวมเด็ดเดี่ยวลงไป นิ่งแน่วสู่อารมณ์อันเดียว ตัดขาดหมดจากอารมณ์ ภายนอก บางทีไม่สามารถที่จะรู้ว่าตนมีหรือไม่ มีแต่ใจเป็นผู้รู้อยู่เท่านั้น


    ภวังคจิต นี้ เรียกตามที่ท่านบัญญัติสมมติตามอาการที่มันเป็น ในบางทีผู้ที่ฝึกหัดอย่างที่ว่า เบื้องต้น ตั้งสติควบคุมรักษาจิตอยู่อันเดียวเท่านั้น ไม่ไปไหนบางทีสามารถจะรวมวูบลงไปถึง ภวังคุปัจเฉทะเลยวางเฉยไม่ต้องรวมเป็นภวังค์ตามลำดับก็ได้ ที่ท่านอธิบายเป็นขั้นเป็นตอนนั้น อธิบายให้ฟังเพื่อความเข้าใจต่างหาก แท้จริงไม่ได้บังคับ ถ้าไปมัวถือตามตำราจะไม่เป็นภวังค์เด็ดขาด เหตุนั้นอย่าไปถือ อธิบายให้ฟังเพื่อความเข้าใจเฉย ๆ


    ในแถวภวังค์ เรียกว่า ภวังคุบาท ภวังคจารณะ และ ภวังคุปัจเฉทะ คราวนี้แถวสมาธิก็มี ขณิกสมาธิ คล้าย ๆ ภวังคุบาท อุปจารสมาธิคล้าย ๆ กับภวังคจารณะ อัปปนาสมาธิคล้าย ๆ กับ ภวังคุปัจเฉทะ ภวังค์เป็นเรื่องของฌาน สมาธิเป็นเรื่องของสมาธิ มันแยกกันตรงนั้น


    ขณิกสมาธิ พิจารณาพุทโธ นึกพุทโธอันเดียว บางครั้งมันก็อยู่ บางครั้งมันก็ไม่อยู่ จิตยังไม่แน่ว แน่ วูบวาบไปมาเรียกว่า ขณิกสมาธิ


    อุปจารสมาธิ จิตแน่วแน่ลงอันเดียว แต่มันมีอาการไป ๆ มา ๆ รู้ตัวอยู่ภายใน แต่ไม่ได้ส่งออก นอก ที่เรียก ว่า “ส่งนอก” คือ อาการของจิตที่คิดนึกส่งส่าย ปรุงแต่งสารพัดทุกสิ่งทุกประการรอบด้าน รอบทิศโดยไม่รู้ตัว ไม่มีสติ “ส่งใน” แต่อุปจารสมาธินี้ไม่เป็นอย่างนั้น มีสติรู้อยู่ แต่ว่ามันยังไม่อยู่นิ่ง ยังคิดพิจารณา เช่น กายคตาสติ อยู่ภายใน เป็นการพิจารณาอยู่ภายใน


    อัปปนาสมาธิ จิตรวมเด็ดเดี่ยวแน่วนิ่งลงไป ไม่ได้คิดนึกส่งนอก จิตละเอียดเต็มที่เลย จิตละเอียดแค่ไหน ๆ ก็รู้สึกอยู่ รู้จักเฉย ๆ ไม่คิด ไม่พิจารณา เรียกว่า อัปปนาสมาธิ เรื่องภวังค์และ สมาธิ เอาเพียงนี้เสียก่อน พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงว่า ผู้ใดไม่มีสมาธิ ผู้นั้นไม่มีฌาน ผู้ใดไม่มีฌาน ผู้นั้นไม่มีสมาธิ เมื่อเป็นอันเดียวกันทำไมพระองค์จึงทรงแสดงไว้เป็นสอง ผู้เขียนจึงแยกให้รู้ว่า ลักษณะอาการมันต่างกันอย่างไร

    เมื่อจิตรวมลงเป็นอัปปนาสมาธิเต็มที่แล้ว มันจะอยู่สักพักหนึ่งแล้วถอนขึ้นมาอยู่ในอุปจาร- สมาธิ คิดนึก ส่งส่าย แต่ว่าอยู่ภายในขอบเขตของสติ สติควบคุมอยู่ ฝึกหัดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ในพระพุทธศาสนานี้ เบื้องต้นของการฝึกหัดจิต คือ การฝึกสติให้รู้ตัว คุมรักษาจิต จิตเมื่อได้รับการ ฝึกหัดดีแล้วจะรวมเข้าถึงอัปปนาสมาธิ ที่สุดของการฝึกหัดจิตมีเพียงแค่นั้น ไม่นอกเหนือไปจากนั้น ผู้ฝึกหัดจะต้องทำอยู่เสมอ ๆ เพราะอายตนะ ธาตุ ขันธ์ ของเรามีอยู่ มันจำเป็นที่จะต้องกระทบ กระเทือน จะต้องหวั่นไหว จะต้องฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา จิตเมื่อถอนออกจากอัปปนาสมาธิแล้วออกมา เป็นอุปจารสมาธิ อาจจะถอนออกไปถึงขณิกสมาธิ หรือออกไปนอกขณิกสมาธิก็ได้ ผู้ฝึกหัดปฏิบัติที่ ยังไม่ทันชำนิชำนาญที่จะหลงทางได้ อัปปนาสมาธิยังไม่ใช่ มรรค ผล นิพพาน อันนั้นเป็นแต่เพียง ฝึกหัดจิตให้ชำนิชำนาญเฉย ๆ พอจะหยั่งถึงความบริสุทธิ์ พอจะหยั่งเข้าถึงกระแสแห่งความสงบ เยือกเย็นที่เป็นอัปปนาสมาธิเท่านั้น ได้ชื่อว่าจิตใจหยั่งเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่มั่นคงแล้ว หยั่งถึง กระแสความจริงแท้ทีเดียว หรือจะเรียกว่าอริยบุคคลก็ไม่ผิด

    เมื่อถอนออกจากอัปปนาสมาธิมาเป็นอุปจารสมาธิแล้ว จะต้องพิจารณาอะไรให้เป็นเครื่องอยู่ ของจิต พิจารณา ธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะสิบสอง ที่มีอยู่ในตัวของเรา ไม่ต้องหนีจากตัวของเรา พระพุทธศาสนานี้ทั้งหมดนอกจาก ธาตุสี่ ขันธ์ห้า และอายตนะแล้วไม่มีที่จะพิจารณา การพิจารณา ส่วนปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ ออกไปมากมายนั้น เมื่อสรุปใจความรวมแล้วก็จะอยู่ใน ธาตุสี่ ขันธ์ห้า และอายตนะนี้ทั้งนั้น พิจารณาของเหล่านี้ให้มันเห็นตามความเป็นจริงของมัน ธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะสิบสอง ตัวของเราก็มีทุก ๆ คน มีพร้อมหมดแล้วทุกอย่าง เครื่องไม้เครื่องมือของเราที่จะทำ การงานให้ได้มาซึ่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีแล้วทุกอย่าง พิจารณาลงไปซี


    ธาตุสี่ พิจารณาให้เห็นเป็นธาตุสี่ละซี มันเห็นเป็นคนไปไม่เห็นของจริงตามความเป็นจริงของ มัน คนที่ไหน เกิดมาจากธาตุสี่แท้ ๆ เราเรียกเอาต่างหากนี่ว่า คน ๆ เราพิจารณาดูซี่อะไรเป็นคน แขน ขา หู ตา จมูก นั้นเป็นคน เขาไม่ได้ว่าคนสักหน่อย เป็นแต่อาการของธาตุสี่ทั้งนั้น ยิ่งพิจารณาลงไปก็ จะเห็นสภาพว่า อันหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ๆ เท่านั้น ไม่มีมนุษย์สัตว์บุคคลใครดับ เป็นแต่สภาพ สิ่งอันหนึ่งเกิดมาแล้วก็ดับไปเท่านั้น

    ขันธ์ห้า ก็เช่นเดียวกัน ตัวของคนนี้เขาสมมติเรียกว่า คน แต่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติเรียกว่า ขันธ์ ถ้าไม่บัญญัติก็เรียกไม่ถูก ขันธ์คือตัวของคนเรานี้ แบ่งออกเป็นอาการ ๕ อย่าง ตามอาการของ มันเป็นอยู่ รูป เป็นรูป เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์แลเฉย ๆ สัญญา ความที่จิตจดจำนั่นนี่ ต่าง ๆ นานา สังขาร ความที่จิตไปปรุงแต่งนั่นนี่ต่าง ๆ นานา วิญญาณ ความรู้สึกครั้งแรกของอายตนะภายนอก ภายในกระทบกัน ทั้ง ๕ นี้ทำ หน้าที่อยู่ที่กายแห่งเดียวกัน รวมเรียกว่า กายกับจิต กาย เป็นอาการส่วน หยาบแสดงอาการให้เห็นได้ง่าย จิต เป็นของละเอียดต้องให้บังคับกายให้แสดงออกจึงจะรู้ว่าจิต ต้องการอะไรจึงจะรู้ ในที่นี้ขอเรียกนามธรรมทั้งสี่ นั้นว่า จิต ให้เป็นกายกับจิต เพื่อให้มันสั้นเข้า กายกับจิตนี้พอปฏิสนธิเกิดมาก็ทำงานร่วมกันเรื่อยมา จะจำแนกแจกออกไปเป็นอะไร ๆ ก็แยกออก ไปจากกายกับจิตนี้ทั้งนั้น เรียกว่าสนิทสนมกันมากทีเดียว เวลาจะแตกดับต่างคนก็ไม่ได้อำลาจากกัน ไปเหมือนกับไม่เคยได้อยู่ด้วยกันมาแต่ก่อนเลยนั่นแหละ มิตรชนิดนี้ไม่ควรคบค้าสมาคมเลย


    อายตนะสิบสอง คือ ภายในมีหกได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แยกออกมาจากขันธ์ห้านั่นแหละ ก็ไม่หนีจากกายกับใจเหมือนกัน


    เมื่อภายในมี ๖ แล้ว ก็ต้องมี ภายนอก ๖ เป็นคู่กัน คือ มีรูปไว้คู่กับตา มีเสียงไว้คู่กับหู มีกลิ่นไว้ คู่กับจมูก มีรสไว้คู่กับลิ้น มีกายไว้คู่กับสัมผัส มีธรรมารมณ์ไว้คู่กับใจ มารวมลงที่กายกับใจนี้แหละ แต่ พูดออกไปอีกอย่าง คนเราพอตั้งลงที่กายกับใจสองอย่างนี้แล้ว จะใช้ให้เป็นไปอย่างไรก็ได้หมด เรียกว่า หมุนไปตามโลกจนกว่าจะแตกดับสลายจากกัน แต่ถ้าในทางธรรมแล้วจะหยุดนิ่งอยู่กับที่เลย แล้วแต่ใครจะนำไปใช้ในทางไหน จึงต้องหัดพิจารณาให้บ่อย ๆ หัดพิจารณากายนี้ให้ชำนิชำนาญ ให้เห็นเป็นธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะ ไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัว มันก็สบาย เจ็บป่วยก็ธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะเจ็บ ต่างหาก ไม่สบายก็ธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะไม่สบาย แตกตายก็ธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะต่างหาก

    อธิบายถึงหลักการปฏิบัติ จับหลักให้ได้ จำไว้ให้แม่นเสียก่อนจึงค่อยปฏิบัติฝึกหัดไปตาม อย่างที่ได้อธิบายมา จึงจะได้หลัก ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ได้หลักสักที ชีวิตของเรามันไม่แน่นอน แก่ถึง ขนาดนี้แล้วทุกคน ไม่ทราบว่าใครจะไปก่อนไปหลังกันแน่ ใครจะแตกจะดับเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ มันไม่บอกเวลา ให้รีบทำเสียเมื่อยังมีเวลาอยู่นี่ เห็นหน้ากันอยู่หลัด ๆ ได้ยินได้ฟังกันอยู่ก็ให้รีบฟัง เสีย รีบทำเสีย ให้มันทันต่อกาลเวลา
    นั่งสมาธิ


    ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน


    นั่งสมาธิ ให้เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หากว่าไม่ถนัดจะนั่งพับเพียบลงไปก็ได้ ตามใจ อิริยาบถใด ๆ ก็ได้ตามชอบใจ

    ตั้งสติกำหนดจิต เอาพุทโธไว้ที่จิต หรือเอาจิตไปไว้ที่พุทโธ ให้เห็นพุทโธอยู่กับจิต เห็นจิตอยู่ กับพุทโธ อันเดียวกันนั่นแหละ อย่าส่งไปข้างนอก ข้างใน ข้างหน้า ข้างหลัง ตั้งอยู่เฉพาะหน้าอย่างเดียว คือ พุทโธ
    การตั้งจิตถูก ตั้งจิตตรง คือ ไม่นึกคิดถึงเรื่องอดีต อนาคต ทั้งภายนอก ภายใน ตั้งจิตไว้ที่พุทโธ เฉย ๆ ตรงกลางนั่นแหละ


    เราไม่ได้คิดว่าจะทำให้ช้าหรือเร็ว มันหากเป็นเอง คือเมื่อจิตตั้งแน่วอยู่เฉพาะพุทโธอันเดียว แล้ว มันเป็นของมันต่างหาก เราไม่ต้องแต่งให้มันเป็น มันจะรวมเข้าไปเป็นใจ คือ ผู้รู้ ไม่คิด ไม่นึก เป็นกลางเฉย ๆ อยู่ บางทีมันอาจจะรวมวูบลงไปแล้วดังเหมือนเสียงฟ้าผ่าก็มี ทำให้เราตื่นตกใจเสีย บางคนตัวหายว่าง เหมือนกับไม่มีตัวของตน ไม่มีอะไรหมด เลยกลัวตายผวาตกใจเสียก็มี บางทีก็วูบ ลงไปคล้ายตกเหว ตกผา กลัวตายสะดุ้งตื่นเสียก็มี มีอาการได้หลายอย่าง แต่อย่าไปกลัวว่าจะเป็น อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีอะไรหรอก มันเป็นเรื่องของสมาธิต่างหาก สติเราไม่พอ เราเผลอสติจึงต้องตกใจ กลัวตาย ให้ยึดเอาพุทโธไว้ให้มั่น มันก็จะหายไปเอง


    ถ้าหากว่าผู้ทำมีสติควบคุมจิตอยู่ จะไม่ตกใจ ให้ย้อนหาตัวผู้รู้ คำว่า “ว่าง” ใครเป็นคนว่าง คำว่า “ดังเหมือนฟ้าผ่าก็ดี” หรือ “ตกเหว ตกผาก็ดี” ใครเป็นคนว่า แล้วจะเห็นจิตของตนในที่นั้น แท้ที่จริงมันแสดงถึงเรื่องจิตนั่นแหละ ว่าง ก็จิตนั่นแหละ ว่างหรือสว่างอะไรทั้งหมดก็จิตนั่นแหละ เป็นผู้เห็น เราเลยไปมองแต่สิ่งที่มันเป็นอยู่ ไม่มองจิตของเรา ถ้าสติควบคุมจิตอยู่ จิตจะไม่ถอน จะไม่ตกใจกลัว จิตยิ่งจะละเอียดลงไป ถ้าจิตถอนก็แสดงว่า ยังภาวนาไม่มีหลักหนักแน่น ต้องตั้ง สติให้หนักแน่น ทำสติให้มั่นคงยิ่งขึ้นไปกว่าเก่า

    เอ้าภาวนาต่อไป.
     
  2. Jeerachai_BK

    Jeerachai_BK เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    318
    ค่าพลัง:
    +821
    สาธุ

    “โย จ วสฺสสตฺตชีเว อปสฺสํ อุพฺพยพฺพยํ”
    คนมีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี ถ้าไม่เห็นความเสื่อม/ความสิ้นไปของสังขารร่างกายของตน

    “เอกาหํ ชีวิตฺตเสยฺโย ปสฺสโต อุพฺพยพฺพยํ”
    สู้เด็กที่เกิดมาในวันเดียวแต่เขารู้ความเสื่อม/ความสิ้นไปของสังขารร่างกายไม่ได้ พระพุทธองค์ทรงแสดงอย่างนี้ เหตุนั้นจึงควรที่จะหาหลักธรรมไว้สำหรับจิตใจของตน


    :cool:
     

แชร์หน้านี้

Loading...