การพัฒนาพุทธิสภาวะ : พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 25 พฤศจิกายน 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    การพัฒนาพุทธิสภาวะ
    พระครูเกษมธรรมทัต (พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี)
    สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา



    พุทธะ หรือ พุทธะ แปลว่า ความรู้ หรือ ปัญญา
    ภาวะ คือ ความมี ความเป็น ความปรากฏ ความเกิดขึ้น
    พัฒนา คือ ความเจริญ
    การพัฒนาพุทธิภาวะ คือ การพัฒนาความเจริญแห่งปัญญา

    ปัญญาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้น ให้เจริญขึ้น
    อีกคำหนึ่งที่แทนว่า ปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ
    ซึ่งแปลว่าเห็นชอบ เห็นถูก เห็นตรง
    ในหลักทางพระพุทธศาสนา ได้แสดงไว้เกี่ยวกับวิถีแห่งปัญญา
    และการพัฒนาสู่ปัญญาที่ถูกตรง

    ลักษณะของปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ

    แบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ

    ระดับแรก : เป็นสาสวะ จัดอยู่ในฝ่ายบุญ อำนวยวิบากขันธ์ให้เกิดขึ้น

    ระดับที่สอง : เป็นระดับโลกุตตระ เป็นระดับจิตของผู้เข้าถึงความเป็นอริยะ
    หรือกำลังดำเนินเพื่อเจริญองค์อริยะมรรคอยู่

    ระดับสาสวะ

    เป็นระดับของบุญที่จะอำนวยวิบากขันธ์ เช่น
    เราเข้าใจว่า ทาน การให้ทานมีผล การบูชาก็มีผล
    การกระทำกรรมดี-ชั่ว ย่อมมีผล
    โลกนี้มี ปรโลกหรือโลกเบื้องหน้ามี มารดาบิดามี คุณของมารดาบิดามี
    สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ (สัตว์ที่ผุดขึ้นทีเดียว)
    ที่ตามนุษย์มองไม่เห็นก็มีอยู่ หรือสมณพราหมณ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยังมีอยู่

    ปัญญาอย่างนี้เรียกว่าโลกียปัญญา
    หรือโลกียสัมมาทิฏฐิ
    ทั้งความรู้ความเข้าใจในเรื่องกรรมก็เป็นปัญญา
    เรียกว่า กัมมสกตาปัญญา
    เข้าใจว่านี้คือกรรมดี นี้คือกรรมชั่ว

    เช่น การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
    เป็นบาปกรรมทางกาย
    การพูดเท็จ การพูดหยาบ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ
    เป็นการทำบาปกรรมทางวาจา
    การคิดเบียดเบียน การอาฆาตพยาบาทปองร้าย
    เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
    เป็นกรรมไม่ดีและเป็นบาปกรรมทางใจ

    ถ้าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามก็เข้าใจว่าเป็นบุญเป็นกุศล
    เช่น การมีเมตตา การไม่ฆ่าสัตว์ มีสัมมาอาชีวะ
    มี สารทารสันโดษ คือพอใจในคู่ครองของตนเอง
    มีสัจจะ คือพูดจริง ทำจริง พูดสมานสามัคคี
    พูดไพเราะ พูดคำในสิ่งที่เป็นประโยชน์
    คิดช่วยเหลือ คิดให้อภัย มีความรู้ความเข้าใจในธรรม
    ก็เข้าใจว่านี้คือกรรมดีคือกุศล

    การเข้าใจอย่างนี้ ถือเป็นปัญญาขั้นโลกียะ
    ซึ่งเราต้องมีพื้นฐานปัญญาเหล่านี้
    ประกอบด้วยความเชื่อ เช่น เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม


    เมื่อกรรมเหล่านี้ส่งผลก็อำนวยผลเหล่านี้ออกมา
    ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายทางใจ
    เช่น การเห็นแต่ละครั้งเป็นวิบากกรรม หรือเป็นผลของกรรม
    เห็นสิ่งดีเป็นผลของบุญ
    เช่น ขณะนี้เรามาเห็นภาพที่ดี สถานที่ดี คนดีๆ
    ถือเป็นวิบากของบุญ

    บางคราวเห็นภาพไม่ดี ถือว่าเป็นผลของบาป
    เสียงหนวกหูรบกวน เสียงด่าเสียงว่า
    เราก็เข้าใจวานี่เป็นผลของบาป
    แสดงว่าในอดีตเราทำไม่ดีไว้เหมือนกัน
    วิบากของกรรมไม่ดีทางหู จึงส่งสะท้อนเสียงไม่ดีมา
    เราเคยไปรบกวนเขาด่าเรา
    จึงต้องมารับผลขอกงกรามไม่ดีเหล่านั้น

    [​IMG]

    นี่คือปัญญา ที่จะเข้าใจเรื่องกรรม
    เวลาเห็นภาพไม่ดี ได้ยินเสียงไม่น่าฟังก็รู้ด้วยปัญญาว่านี่คือบาปส่งผล
    เช่น ได้กลิ่นเหม็นคือบาปส่งมาทางจมูก
    ได้กลิ่นหอมคือบุญส่งมาทางจมูก
    ได้ลิ้มรสอร่อย คือบุญส่งผลทางลิ้น
    เช่นวันนี้คงได้ลิ้มรสกันไปแล้ว

    บางทีบุญบาปส่งมาทางกาย อำนวยผลส่งมาทางกาย
    เช่นในขณะนี้ เราได้ที่นั่งฟังธรรมดีบ้างไม่ได้บ้าง ก็แล้วแต่บุญ
    บุญใครมากบุญใครน้อย แม้อากาศภายนอกร้อน
    แต่ก็มีแอร์ในห้องนี้ปรับให้เย็น
    แสดงว่ามีบุญอยู่ บุญคอยมาอำนวยช่วยส่งผล

    บางทีมีบาปทางกาย ประสบอุบัติเหตุแขนขาหักบาดเจ็บ
    นี้คือผลของกรรมไม่ดีที่ส่งมาทางกาย

    ความรู้ความเข้าใจอย่างนี้เป็นปัญญา
    ที่ระลึกรู้เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม เรียกว่า กัมมสกตาปัญญา

    [​IMG]

    โลกุตตรปัญญา หรือโลกุตตระสัมมาทิฏฐิ

    เป็นปัญญาระดับสูง ระดับ วิปัสสนาปัญญา
    เป็นแนวทางที่อยู่ในมรรค
    เป็นปัญญาที่อยู่ในโสดาปัตติมรรค สกทาคามีมรรค
    อนาคามีมรรค และอรหัตถมรรค
    เป็นโลกุตตรปัญญา ได้เจริญสติปัฏฐาน
    เกิดวิปัสสนาปัญญาแล้วเจริญขี้นไป
    ปัญญาเหล่านี้เป็นปัญญาที่จะดับทุกข์พ้นทุกข์

    อีกอย่างคือความรู้ความเห็นในเรื่อง อริยสัจจ์สี่
    ว่าคือทุกข์ ต้องเข้าไปกำหนดรู้ทุกข์
    ความรู้ความเข้าใจว่านี้ คือเหตุเกิดทุกข์
    ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ต้องละให้ได้

    แต่บางคนไม่เข้าใจ คิดว่าจะดับทุกข์ต้องเพิ่มตัณหามากๆ
    ความอยากมากๆ หาสิ่งตอบสนองความอยากมากๆ
    เสพมากๆ แล้วจะได้มีความสุข จะหมดทุกข์
    ถือว่านั่นเราไม่มีปัญญาที่จะดับทุกข์

    ถ้าเราเข้าใจ จะมีปัญญารู้ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)
    ยิ่งมากเท่าไรยิ่งสร้างความทุกข์ให้เกิดกับเรามากเท่านั้น
    เมื่อเราเข้าใจเหตุเกิดทุกข์ก็ละได้
    นอกจากนั้นยังมีปัญญาเข้าใจถึงข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
    แล้วเจริญให้เต็มรอบขึ้นมา
    ตลอดจนความเข้าใจในเรื่องกุศล อกุศล
    เข้าใจว่านี้เป็นอกุศล อกุศลมูล
    เข้าใจว่านี่เป็นกุศล กุศลมูล


    เมื่อเกิดสภาพธรรมใดใดขึ้นภายจิตใจ
    เช่น เกิดความฟุ้งซ่านไม่ละอายบาป ไม่กลัวบาปนี่เป็นอกุศล
    เกิดถือตัวถือตน ความเห็นผิด อิจฉาริษยา
    ตะหนี่ หงุดหงิดรำคาญใจ เบื่อหน่ายท้อถอย
    ก็เข้าใจว่านี่เป็นอกุศลเกิดขึ้น
    ปล่อยไปมากๆ จะขยายไปทางกาย ทางวาจา
    ล่วงละเมิดเป็นกายทุจริต วจีทุจริต

    อะไรเป็นอกุศลมูลเราก็เข้าใจว่า
    โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะความหลง
    เหล่านี้เป็นอกุศลมูล
    ถ้ามีอกุศลมูลคือรากเหง้าเหล่านี้แล้ว
    ก็จะงอกกุศลทั้งหลายให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไป
    ยิ่งคนไม่รู้ไม่เข้าใจ ปล่อยให้หนาแน่นขึ้น
    จิตใจก็จะเต็มไปด้วยอกุศลธรรมต่างๆ

    ปัญญาเข้าใจว่าอะไรเป็นกุศล
    มีศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสเป็นกุศล
    มีเมตตาความรักความปรารถนาดี
    ความสงสาร ความปรารถนาช่วยเหลือล้วนเป็นกุศล
    ความละอาย ความเกรงกลัวต่อบาป
    สติความระลึกได้ ปัญญาความรู้ตัว
    เหล่านี้เป็นธรรมฝ่ายกุศล


    เข้าใจว่าอะไรเป็นกุศลมูล
    ได้แก่ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
    ล้วนเป็นรากเหง้าของฝ่ายกุศล

    ถ้าเรามีความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
    ก็จะเติบโตด้วยกุศลธรรมต่างๆ ขึ้นมา
    เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่เป็นบุญกุศล
    เช่น มีการให้ทาน มีการรักษาศีล มีการเจริญภาวนา
    อ่อนน้อมถ่อมตน ช่วยเหลือขวนขวายในกิจการงาน

    เช่น คณะที่จัดงานนี้ต้องช่วยกันเตรียมงานด้วยความเสียสละ
    เพราะเข้าใจว่านี้เป็นความดีเป็นกุศล
    เป็นประโยชน์ก็ยอมเสียสละ กำลังกาย กำลังใจ ถือเป็นกุศลเกิดขึ้น

    การอุทิศส่วนกุศล การอนุโมทนาในความดีของผู้อื่น
    การแสดงธรรม การฟังธรรม การทำความเห็นให้ตรง
    ล้วนเป็นกุศลซึ่งเป็นรากเหง้ามาจากกุศลมูล
    คือความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง

    ไม่ประมาทในการกระทำความดีต่างๆ เหล่านี้ เป็น ปัญญา

    [​IMG]

    ความรู้ความเห็น ความเข้าใจเรื่องของไตรลักษณ์

    เข้าไปรู้เห็นไตรลักษณ์ของรูปนามขันธ์ห้า
    คือ เห็นรูปนามเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเป็นปัญญา
    และความรู้ ความเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่พระองค์แสดงไว้
    อะไรเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวข้องกันไป ธรรมเหล่านี้คือ ปฏิจจสมุปบาท

    รวมความว่าเรื่องของปัญญา มีทั้งระดับ โลกียะ โลกุตตระ

    [​IMG]

    การพัฒนาปัญญาหรือการพัฒนาพุทธิสภาวะ

    ตามที่ประมวลมาจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์
    ยกมาแสดงไว้ ๕ ประการ คือ


    ๑. ปริโตโฆสะ

    หมายถึงการมีสภาพแวดล้อมที่ดี
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการกัลยาณมิตรสำคัญมาก
    ถ้าเราได้พบกัลยาณมิตรที่ดีจะส่งเสริมให้เรามีปัญญาขึ้น
    เช่น การที่เราคบค้าสมาคมกับผู้ที่มีศีล มีธรรม เรียกว่า สัปปุริสสวะ

    คือ การเสวนากับสัตบุรุษ
    ผู้ใดมาคบค้าสมาคมกับคนดี ย่อมมีปัญญามีคุณธรรมเกิดขึ้น


    ตัวอย่างเรื่องสมัยพุทธกาล
    ยกเป็นตัวอย่างของความสำคัญของสิ่งแวดล้อม
    แม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังคล้อยตาม อยู่ใกล้อะไรก็เป็นอย่างนั้น

    พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นอำมาตย์ในเมืองพาราณสี
    มีช้างมงคลเชือกหนึ่งชื่อ มหิลามุข
    เป็นช้างดีที่ฝึกมาดีมีระเบียบเรียบร้อย

    แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดผิดปกติ
    จับควาญช้างฟาดตาย คนอื่นๆ ก็ตายไปอีกหลายคน
    พระราชาแปลกพระทัย จึงให้อำมาตย์มาตรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้น
    ช้างจึงผิดปกติกลายเป็นช้างดุร้ายนิสัยไม่ดี

    อำมาตย์ไปตรวจดู และสอบถามคนข้างเคียงในบริเวณโรงช้าง
    ว่ามีอะไรแปลกๆ เข้ามาในบริเวณนี้บ้างไหม
    คนแถวนั้นตอบว่า มักมีพวกโจรมาปรึกษาวางแผนกันใกล้ๆ ช้าง
    ว่าจะไปปล้นไปโจรกรรมเป็นประจำ

    อำมาตย์ได้ฟังจึงทราบว่า
    เพราะสิ่งแวดล้อมของช้างไม่ดีนี่เอง
    ไปใกล้ชิดกับคนพาล ช้างจึงกลายเป็นช้างพาล
    จึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ
    เมื่อพระองค์ทราบแล้วจึงให้อำมาตย์ไปแก้ปัญหา

    อำมาตย์จึงนิมนต์พระสงฆ์ที่มีศีลมีคุณธรรม
    ไปสนทนาธรรมกันใกล้ๆ โรงช้าง
    พระสงฆ์ท่านก็ไปสนทนาเรื่อง คุณของศีลบ้าง คุณธรรมต่างๆ บ้าง
    เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน
    ปรากฏว่าช้างกลับใจเปลี่ยนนิสัย
    กลายเป็นช้างเรียบร้อยขึ้นมาจึงถือว่าสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลสำคัญ

    [​IMG]
    [ขอขอบคุณ www.pixpros.net ที่เอื้อเฟื้อภาพ “กัลยาณมิตร ณ วัดมเหยงคณ์”
    : สถานที่บริเวณประตูด้านหลังขวาพระอุโบสถเก่า วัดมเหยงคณ์ ]



    พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า

    “อเสวนา จ พาลานํ การไม่คบคนพาล
    ปณฺฑิตานญฺ จ เสวนา การคบบัณฑิต
    ปูชา จ ปูชนียานํ ปูชนียานํ บุชาบุคคลที่ควรบูชา
    เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เป็นมงคลอันสูงสุด”


    อีกพระชาติหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระโพธิสัตว์
    เกิดในตระกูลอำมาตย์เป็นปุโรหิตมีม้ามงคล
    อยู่ดีดีม้าเดินขาลาก
    พระราชาให้หมอไปตรวจดูสุขภาพของม้าว่าสุขภาพดีทุกอย่าง
    แต่เดินขาลาก หมอหาสาเหตุไม่พบ

    จึงทรงให้ปุโรหิตไปดูว่าเป็นเพราะอะไร
    ปุโรหิตไปดูพบว่าคนเลี้ยงม้าขาพิการจูงมาไปเลี้ยง
    ม้านึกว่าคนเลี้ยงสอนให้เดินขาลากแบบนั้น มันจึงเอาอย่าง
    ปุโรหิตทราบสาเหตุจึงไปกราบทูลพระราชา
    พระราชาจึงให้เปลี่ยนคนเลี้ยงม้าใหม่เป็นคนขาดีๆ มาเลี้ยง
    ม้าจึงกลับเดินดี เดินตามปกติได้


    [​IMG]
    [พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ ๑ ใน ๓ ของพระเถรานุเถระ
    ที่วัดมเหยงคณ์อาราธนานิมนต์มาแสดงธรรมเทศนา ในคืนวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๐]



    ๒. สุตะ

    หมั่นฟัง เรียนรู้ รู้จักสดับฟัง
    เล่าเรียนเขียนอ่านพระสัทธรรม ให้มากให้บ่อย
    การฟังการเรียนในธรรมที่ถูกต้อง เรียกว่า “สัทธรรมเสวนา”
    เป็นเหตุเป็นปัจจัยอีกข้อหนึ่งในการพัฒนาปัญญาของเรา

    ๓. ธรรมสากัจฉา

    การสนทนาธรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
    ต้องหมั่นไต่ถามซักถามจะเกิดความเข้าใจได้เร็วขึ้น
    สังเกตได้จากประสบการณ์ที่อบรมญาติโยมเข้ากรรมฐาน
    อธิบายวิธีการอย่างครบถ้วนเรียบร้อย

    แต่โยมไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจต้องเรียกมาถามมาสอบอารมณ์รายบุคคล
    ต้องให้เขาถามบ้าง ต้องตอบไปบ้าง
    ตรงปัญหาเป็นคนๆ ที่รู้เรื่อง ฟังรวมๆ กันไม่ค่อยรู้
    อาจรู้บ้าง แต่ถ้าได้โอกาสโต้ตอบซักถามสนทนา
    ความเข้าใจจะพัฒนาได้เร็วขึ้น

    ๔. โยนิโสมนสิการ

    คือ การทำไว้โดยแยบคาย
    คือ การคิดอย่างถูกวิธี การพิจารณา
    การรู้จักพิจาณเป็นสิ่งสำคัญ
    บางทีเราฟังแล้วก็ผ่านไป เราต้องเอามาคิดพิจารณา

    พิจารณาอย่างไรให้ถูกวิธี ดีที่สุด คือ
    พิจารณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
    อย่าคิดเองเรื่อยเปื่อยไป
    ต้องเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาตั้งไว้เป็นหลัก
    แล้วคิดพิจารณาไปตามนั้น


    ตอนแรกเราอ่านเราฟังอาจไม่รู้เอง
    แต่ถ้ามีหลักการจากคำสอนของพระพุทธเจ้า
    เราก็คิดพิจารณาตามนั้น จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น
    ปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิจะเจริญขึ้นได้ก็ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ

    [​IMG]

    ตัวอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ

    มีตัวอย่างชาดกเรื่องหนึ่ง
    เป็นตัวอย่างให้คิดพิจารณาโดยแยบคาย จึงจะเกิดปัญญาขึ้นมา

    ในปัจจุบันมีอยู่เรื่องที่เราทำตามๆ กัน ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก
    เช่น การเปลี่ยนชื่อ การถือทิศทาง

    มีเรื่องของพระโพธิสัตว์ในสมัยอดีตชาติ
    ท่านเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์
    มีลูกศิษย์อยู่ ๕๐๐ ที่เมืองตักกศิลา
    มีลูกศิษย์คนหนึ่งอยากเปลี่ยนชื่อ
    ซึ่งชื่อเขาถูกล้อเลียนอยู่เรื่อยๆ
    เขาชื่อว่า “ปาปกะ” แปลว่า นายชั่ว
    จึงมาหาอาจารย์ให้เปลี่ยนชื่อให้

    อาจารย์หรือพระโพธิสัตว์ ก็บอกให้ไปลองเที่ยวในโลกกว้างดู
    พอใจชื่อไหนก็มาบอก จะได้เปลี่ยนให้ตามนั้น
    นายปาปกะ หรือนายชั่ว จึงออกจากสำนักอาจารย์ไปในสถานที่ต่างๆ
    เพื่อจะดูว่าชื่อไหนดี ชื่อไหนไม่ดี

    คราวหนึ่งไปเจอคนกำลังหามศพมา
    นายชั่วจึงถามว่า “คนตายชื่ออะไร”
    คิดว่าจะได้เอาชื่อนี้มาตั้ง
    คนหามศพตอบว่า “ชื่อนายอยู่”
    นายชั่วนึกขำในใจว่าชื่ออยู่ยังตายได้

    เดินต่อไปเจอหญิงคนหนึ่ง
    ถูกเขาจับเฆี่ยน เฆี่ยนแล้ว เฆี่ยนอีก
    นายชั่วเข้าไปถามนางว่าเกิดอะไรขึ้น
    นางตอบว่าเป็นหนี้เขา
    ไม่มีเงินใช้หนี้เพราะยากจนอยู่ เลยถูกเขาเฆี่ยนตี
    นายชั่วจึงถามว่า “เธอชื่ออะไร”
    นางตอบว่า “ชื่อนางรวย”
    นายชั่วก็คิดว่าชื่อนางรวยก็ยังเป็นหนี้เขาได้

    เดินต่อไปพบชายชราเดินวกวนอยู่ในป่า
    จึงเข้าไปถามว่าเดินวกวนอยู่ทำไม
    ชายชราตอบว่า หลงป่าหาทางออกไม่ได้
    นายชั่วถามว่า “แล้วท่านชื่ออะไรล่ะ”
    “ชื่อนายฉลาด” (ปัณณกะ แปลว่าผู้ชำนาญทาง)
    นายชั่วฟังแล้วนึกแอบขำอยู่ในใจ

    ในที่สุดนายชั่วก็กลับมาบอกอาจารย์ว่า
    ไม่ต้องการเปลี่ยนชื่อแล้ว
    เอาชื่อ “ปาปกะ” หรือนายชั่วเหมือนเดิมนี่แหละ

    สรุปว่าชื่อนั้นสำคัญไฉน
    ปัจจุบันเห็นเปลี่ยนกันอยู่เรื่อยๆ
    บางคนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายหน
    หากเราใช้ปัญญาพิเคราะห์พิจารณาให้ดีว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร
    ในเมื่อมันเป็นเพียงชื่อ

    ความสุขทุกข์ ความเจริญความเสื่อมของคนเรา
    ขึ้นอยู่กับการกระทำ คือกรรมดีกรรมชั่วที่ตัวทำไว้เป็นสำคัญ
    ชื่อเป็นเพียงสมมติ ตั้งให้โก้เก๋
    แต่ไม่ได้อำนวยความสุขความเจริญ ให้เราได้
    ดังตัวอย่างในชาดกที่เล่ามา


    [​IMG]


    [​IMG]
    [สาธุชนมาปฏิบัติธรรม ณ บริเวณศาลากลางน้ำ และรอบสระมุจลินทร์
    ณ สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดมเหยงคณ์ ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ๒๕๕๑]



    ๕. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ

    คือ การปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรม ตั้งแต่
    การสำรวมในศีล ระวังรักษากาย วาจา ใจของเราให้เรียบร้อย
    การเคารพในอาจารย์ การปรารถความเพียร
    การเจริญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น

    สิ่งเหล่านี้เราต้องเสริมขึ้น
    เช่น ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล การเคารพอาจารย์นี้
    ท่านก็แสดงว่าไว้ว่าเป็นเหตุอันหนึ่ง
    ถ้าเราเรียนรู้กับใคร แต่ไม่มีความเคารพเชื่อถือท่านเลย
    ก็เป็นการยากที่เราจะเข้าใจในปัญญาความรู้ของอาจารย์

    เช่น สมัยนี้เด็กนักเรียนไม่ค่อยมีความเคารพครูบาอาจารย์เท่าไหร่
    จึงเรียนหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่อง
    สมัยก่อนมีความเคารพมาก
    บางครั้งอาจารย์ก็ทดสอบก่อน ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้
    ถ้าศิษย์มีความเคารพ ปฏิบัติตามจึงจะรับเข้ามาเป็นศิษย์

    ความสำคัญของการพัฒนาปัญญา
    ที่ว่า ธัมมานุธัมมาปฏิบัติ
    การปฏิบัติสมควรแก่ธรรมนั้น
    การเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐานให้เกิดความสงบเกิดปัญญา
    เป็นสิ่งสำคัญมาก

    ปัญญาระดับนี้เกี่ยวคล้องกันกับ สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา
    ส่วนวิปัสสนาเป็น ภาวนามยปัญญา
    แต่อยู่ดีๆ จะโดดมาปฏิบัติวิปัสสนาเลย
    ก็อาจหลงเข้าป่าอีกเหมือนกัน

    เราต้องฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาก่อน
    เราไม่ใช่ระดับพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้เอง
    เราต้องศึกษาฟังคำสั่งสอน
    จึงต้องเกี่ยวโยงกับ “สุตตะ” และ “จิตามยปัญญา”
    แล้วจึงจะเข้าถึง “ภาวนามยปัญญา”
    โดยลงมือปฏิบัติประพฤติเจริญสติปัญญาในที่สุด

    [​IMG]

    การเจริญวิปัสสนา คือ การเข้าไปรู้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง
    ซึ่งเราต้องอาศัยการอบรมเจริญสติอยู่เสมอ
    ตามดูรู้ทัน กาย เวทนา จิต ธรรม
    ฟังดูว่าอะไรเป็นสมมติ อะไรเป็นสภาวะ

    บางครั้งฟังอย่างเดียวยังไม่เข้าใจ
    ต้องเอามาคิดมาพิจารณาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการ
    เช่น ต้องรู้สภาวะปรมัตถธรรมที่เป็นรูปธรรม นามธรรม
    ระหว่าง ปรมัตถ์ กับ บัญญัติ

    ถ้าเรากำหนดไปที่รูปร่าง กาย เป็น แขน ขา หน้าตา นี้คือ เป็นบัญญัติ
    ถ้าเป็นปรมัตถ์ ก็คือ เป็นความรู้สึก

    แค่ฟังแค่นี้ก็ไม่เข้าใจหรอก
    ต้องมาพิจารณาตรวจสอบ
    เรียกว่า มี “โยนิโสมนสิการ” ทำไว้ในใจให้แยบคาย
    จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากประสบการณ์ของการปฏิบัติ

    การเจริญสติ ให้เข้าถึงวิปัสสนา ต้องเข้าถึง “สภาวะ”
    บางคนเข้าใจดีถึงสภาวะของกาย
    แต่สภาวะทางใจกำหนดไม่ได้

    ลองให้ทุกท่านทำความเข้าใจสั้นๆ ในเวลานี้ว่า
    จะสามารถเข้าใจได้หรือไม่ ระหว่าง บัญญัติ และปรมัตถ์
    บัญญัติ คือ ส่วนที่เป็น สมมติ เป็นของปลอม
    ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วไม่เป็นความจริง
    ส่วน ปรมัตถ์ คือสภาวธรรมชาตินั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่จริงๆ


    [​IMG]

    ลองปฏิบัติเองทันที

    ทุกท่านในที่นี้ลองกำมือข้างหนึ่งไว้แน่นๆ
    แล้วเอาใจส่งไปสังเกตความรู้สึกที่มือว่ารู้สึกอย่างไร
    มีความร้อนไหม มีความตึงไหม มีความแข็งไหม
    นี่คือ สภาวะปรมัตถะธรรม

    ถ้าเราลองคิดถึงรูปร่างมือดูสิ
    หลับตานึกถึงรูปร่างมือ นึกออกไหม
    รูปร่างนั่นคือ บัญญัติ
    จิตสแกนรูปขึ้นมาโดยอาศัยสัญญาความจำเป็นมโนภาพในใจ
    เรียกว่า อรรถบัญญัติ เป็นบัญญัติโดยรูปร่างสัณฐาน
    วิปัสสนาต้องเข้าใจรู้ถึงสภาวะที่เป็นจริง เข้าถึงความรู้สึก

    ต่อมาลองสังเกตใจ
    บางคนให้หาจิตผู้รู้หาไม่เจอ ดูไม่ออก
    ท่านลองเอามือยึดไกลๆ แล้วสังเกตไปที่มือที่ตึงๆ
    แล้วถามตัวเองว่า มีแต่มือที่ตึงๆ นี้หรือ
    มีอะไรอีกที่ไปรู้มือ มือรู้มือได้ไหม
    มีตัวรู้มีสภาพรู้ไป
    เจอไหม (ไม่เจอก็ช่วยไม่ได้แล้ว)

    ลองดูว่าระหว่างมือที่ตึงๆและใจที่รู้มีอยู่ไหม
    ถ้ารู้นั่นคือสภาพของจิตที่เป้นผู้รู้ผู้ดู
    ที่ไปรู้ที่มือแสดงว่าจิตมีสติอยู่
    สติที่รู้ความรู้สึกที่มือ ก็สามารถกลับมารู้จิตได้
    จิตรู้จิตได้เรียกว่า สติรู้จิต หรือ ผู้รู้ดูผู้รู้

    ขบวนการของจิตจึงสามารถแยกได้เป็น ๓ อย่าง

    ๑. ความคิด
    ๒. ความรู้สึก
    ๓. สภาพที่เป็นผู้รู้


    [​IMG]
    [อุบาสกขาประจำของวัด ผู้เป็นกัลยาณมิตรและช่างภาพกิตติมศักดิ์ของผู้โพสต์]


    ๑. ความคิด

    กำหนดง่ายไหม ระลึกได้ไหม คิดเรื่องนั้น คิดเรื่องโน้น คิดไปเรื่องต่างๆ
    ระหว่างความคิดกับเรื่องราวต่างๆ อันเดียวกันไหม

    อะไรไปหาอะไร เรื่องมาหาใจหรือใจไปหาเรื่อง
    ใจเราไปหาเรื่องอยู่เรื่อยใช่ไหม
    เรื่องอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ใจไปหาเรื่องเอง


    ระหว่างระลึกให้ระลึกที่ไหน
    ระหว่างเรื่องกับใจ ให้ดูที่ใจ ให้รู้ที่ใจ
    เรื่องราวต่างๆ เป็น สมมติ
    ระหว่างคนสัตว์ สิ่งของ การงาน อดีต อนาคต

    แต่จิตที่เข้าไปรู้เรื่อง เป็นสภาวะ เป็นธาตุรุ้ เรียกว่านึกคิด

    การรู้ความนึกคิด เรารู้ให้มันหยุดคิด หรือรู้ไปเฉยๆ นะ
    แต่เวลาเราปฏิบัติเราชอบบังคับให้มันหยุดคิดอยู่ร่ำไป
    แล้วเป็นยังไง วุ่นวายใจไหม เครียดไหม
    ก็สมควรแล้วล่ะนะ

    พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้ปล่อยวาง ไม่ให้ยินดียินร้าย
    ธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
    ต้องจำไว้เป็นหลักการสำคัญ

    [​IMG]
    [เรือนกรรมฐานสำหรับรองรับผู้มาอบรมเจริญวิปัสสนากรรมฐานปิดวาจา ๙ วัน
    ได้รับการปลูกสร้างเพิ่งแล้วเสร็จเมื่อปลายปี ๒๕๕๐]



    ๒. ความรู้สึก

    เช่น รู้สึกพอใจ ไม่พอใจ ฟุ้งซ่าน ท้อถอย เบื่อหน่าย เร่าร้อน
    เป็นอกุศลธรรม แต่ก้มีประโยชน์เพราะช่วยให้เกิดสติปัญญา
    เมื่อสติระลึกรู้ ถ้าเกิดฟุ้งซ่านแล้วสติระลึกรู้ความฟุ้งซ่านควาสบายใจนั้น
    ก็ถือว่าเรากำลังพัฒนาปัญญา ที่จะก้าวไปสู่ โลกุตตระ
    เวลาฟุ้งซ่าน กำหนดรู้ความฟุ้งซ่าน
    ถามว่ากำหนดรู้สักแต่ว่ารู้ หรือกำหนดให้มันหายฟุ้ง
    ต้องกำหนดรู้สักแต่ว่ารู้ หรือปล่อยวางเฉยไม่ว่าอะไร

    แล้วที่ทำน่ะไปบังคับมันอยู่รึเปล่า
    บังคับจะให้หายฟุ้งไม่ชอบฟุ้ง
    ถือว่ามี “อภิชฌา” และ “โทมนัส” เข้าไป
    ต้องแก้ไขต้องกำหนดไปเฉยๆ
    ให้เห็นว่ามันก็เปลี่ยนแปลงเหมือนกันนะ
    ฟุ้งก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง บังคับไม่ได้
    ถ้ารู้มันไปเฉยๆ มันจะเปลี่ยนแปลงให้เห็น ให้เกิดปัญญา

    เหมือนเราไปดูเขากำลังเล่นกัน ตีกันวุ่นวายกัน
    เราอย่าเข้าไปดูในกลุ่มที่เขากำลังวุ่นวาย
    เราก็แยกตัวออกมาข้างนอก
    แล้วดูเขาดูเรา รักษาใจเราไว้ด้วย
    การดูใจที่ฟุ้ง เหมือนเราแยกตัวมาดูต่างหาก
    ว่าฟุ้งก็อย่างหนึ่งนะ ส่วนผู้รู้ก็อย่างหนึ่ง วางเฉยอยู่

    [​IMG]

    ๓. ผู้รู้ผู้ดู

    กำหนดได้ยากกว่าอย่างอื่น
    แต่ถ้าเราไม่ฝึกให้เป็น จะมีปัญหา
    คือนักปฏิบัติที่ฝึกจิตไปถึงระดับหนึ่ง
    คือมีสมาธิสงบนิ่งว่าง แล้วไปต่อไม่ได้
    จะไปอย่างไรก็เห็นมีแต่ความว่างความนิ่ง
    อยู่อย่างไรอย่างนั้น อยู่ในสมถะ
    คือความว่างเปล่าซึ่งถือเป็นสมมติอย่างหนึ่ง
    คือความไม่มีอะไร

    ถามว่าขณะที่ว่างเปล่ามีสิ่งที่เป็นความจริงอยู่ไหม
    มีผู้รู้อยู่ใช่ไหม
    ถ้าไม่มีผู้รู้ว่าง แล้วใครจะมาตอบว่า
    นั่งแล้วฉันว่างใจว่าง

    แสดงว่ามีผู้รู้อยู่ขณะนั้น
    ความว่างเป็นสมมติ
    ส่วนสภาพรู้ว่างเป็นตัวสภาวะ

    ดังนั้นต้องมีโยนิโสมนสิการ
    ระลึกสังเกตให้ตรงกับสภาวะของสภาพผู้รู้ในขณะนั้น
    แต่อย่าไปเพ่งมากเค้นมากจะเครียด ต้องรับรู้ดูเบาๆ


    บางคนเวลาจะกำหนดจิตทีไร
    ต้องมาที่ลิ้นปี่ มาตรงทรวงอก
    หนักเข้าจะปวดหัวใจ ไม่ได้เจอจิต
    แต่ไปเจอบริเวณ บ้านของจิต (หทัยวัตถุ)
    เจอหัวใจที่เต้นๆ นั่นไม่ใช่ใจนะ
    ใจเป็นนามธรรมเป็นธาตุรู้

    เมื่อเรามีสติระลึกรู้ถึงจิตใจ
    ไม่ต้องไปนึกถึงสถานที่ก็ได้ จะได้ไม่ไปเกาะที่สรีระ


    เมื่อใดที่ความระลึกรู้มีสภาวะใดใดปรากฏขึ้นมา
    ก็ระลึกรู้ไปที่สภาพธรรมนั้นๆ
    มันจะอยู่ตรงไหนก็เรื่องของมัน
    ไม่ต้องไปนึกถึงสถานที่


    ความคิดเกิดขึ้นมาก็รู้ที่คิด
    ความพอใจไม่พอใจเกิดขึ้นมาก็รู้
    สภาพรู้เกิดมาก็รู้สภาพรู้
    เรียกว่า เป็นการดูถึงสภาพจิตใจซึ่งเป็นนามธรรม

    เมื่อเราฝึกไปก็ให้มีสติสัมผัสสัมพันธ์กันไป
    ในสภาพธรรมทางกายทางใจให้เป็นไปด้วยกัน ด้วยความปล่อยวาง

    [​IMG]
    [“เนกขัมมสุข” เรือนพักรวมหลังใหม่ล่าสุดสำหรับอุบาสิกาที่มาถือถือศีลเจริญภาวนา
    : ล่าสุดผู้โพสต์ได้มาพักที่นี่เช่นกัน]


    [​IMG]
    [สมเด็จพระสัพพัญญูบรมปฐมเทศนา องค์พระประธานที่ได้รับการประดิษฐาน ณ ถ้ำอมตธรรม
    ซึ่งผ่านพิธีฉลองสมโภชและเบิกพระเนตรไป เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๐]



    ปล่อยวางคืออะไร

    ทิ้งไปใช่ไหม นั่นเรียกว่าวางทิ้ง ทิ้งขว้าง
    ลักษณะของวิปัสสนาไม่ใช่วางทิ้ง
    ไม่สนใจ ไม่เอา ไปเอาเรื่องอื่น

    แต่วิปัสสนาเป็นเรื่องของการเรียนรู้
    ถ้าเราไม่รู้ไม่ดู จะเกิดปัญญาได้อย่างไร


    รู้อย่างไร ความรู้ที่ถูกต้องคือ
    เป็นความรู้ที่ปล่อยวาง
    ความรู้ที่รอดจากความยินดียินร้าย
    ความรู้ที่ไม่มีความยินดียินร้าย
    ไม่มีความทะยานอยาก


    ปกติเมื่อเรารู้อะไร เราจะมีตัณหาเป็นแรงยุใช่ไหม
    รู้แบบยึดมั่น อยากมากก็ยึดมั่นมาก
    ก็หนักอกหนักใจ ไม่สงบบไม่เบา
    เพราะมีตัณหาเข้าไปด้วย

    เราปฏิบัติมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่นิพพาน
    อันเป็นโลกกุตรธรรม
    ซึ่งมีสภาพที่หลุดพ้น
    สิ้นอาลัยในตัณหา สำรอกกิเลส
    แต่เราก็มักเจริญตัณหา
    จะเอาให้ได้ จะทำให้ได้ มันจึงสวนทาง

    ดังนั้นเพียงแต่เราฝึกสติอย่างปล่อยวางให้เป็น
    จะพบใจที่เบิกบานใสเย็นขึ้น
    การระลึกอย่างปล่อยวางไม่ว่าอะไร


    [​IMG]

    สิ่งนั้นยังจะเป็นไปอย่างไรก็จะยังไม่ว่าอะไร
    ยังจะต่อๆ ไปก็ไม่ว่าอะไร
    โดยดูอยู่เฉยเช่น
    ยังจะฟุ้งอยู่ก็ไม่ว่าอะไร
    ก็ดูไปเฉยๆ จะเป็นไปอย่างไรก็เป็นไป
    ผู้รู้ไม่ว่าอะไร

    นั่นเป็นข้อสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติเข้าสู่ความเป็นกลาง
    เกิดความพอดี
    เป็นเหตุเป็นปัจจัย
    ให้เกิดความเป็นกลางเป็นปัญญาขึ้น

    ปัญญาที่จะก้าวสู่โลกุตรสัมมาทิฏฐิ จะเห็นความจริง
    คือเห็นสภาวะของความเปลี่ยนแปลง เกิดดับ
    จะเห็นสภาวะของร่างกายจิตใจ ว่าเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ
    ความรู้สึกเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึงก็มีความเปลี่ยนแปลง


    ส่วนสภาวะทางจิตใจ เช่นความคิด ความรู้สึก ความปรุงแต่งใดใดก็ตาม
    มีความเปลี่ยนแปลงเกิดดับหมดไป สิ้นไป
    ตลอดจน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
    คือ การเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การรู้รส
    มีการเปลี่ยนแปลง หมดไปสิ้นไป บังคับบัญชาอะไรไม่ได้


    นี่เป็นปัญญาที่เกิดจากการพัฒนา
    จากการที่เราพนยามยามฝึกจิตใจ ให้มีสติอยู่เสมอ และเจริญสติ
    ด้วยความที่เรามีสุตะ ฟังให้เข้าใจมีโยนิโสมนสิการ
    มีจินตามยปัญญาปัญญาคิดพิจารณาถูกต้อง

    จะเป็นเหตุให้เราพัฒนาปัญญา
    ทั้งปัญญาในระดับโลกียปัญญา
    ตือที่รู้เรื่องกฏแห่งกรรม รู้เห็นสภาวะรูปนาม เป็นไตรลักษณ์


    จนกระทั่ง ปัญญาที่เจริญขึ้น
    เข้าถึงขั้นโลกุตตระก็จะละกิเลสได้
    ถ้าเราได้สะสมเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง


    [​IMG]



    (ที่มา : “การพัฒนาพุทธิสภาวะ” ใน รวมรสบทธรรม : จากการแสดงธรรมยาย
    เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณ
    ,จัดพิมพ์โดย ชมรมกัลยาณธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑,๒๕๔๙)


    ที่มา::
     
  2. น้ำดี1

    น้ำดี1 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    13,402
    ค่าพลัง:
    +43,432
    ขอบคุณค่ะ............
     

แชร์หน้านี้

Loading...