คนเรารู้จักแต่ผูกแต่ไม่รู้จักแก้ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 6 สิงหาคม 2008.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    คนเรารู้จักแต่ผูกแต่ไม่รู้จักแก้
    โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

    วัดหินหมากเป้ง
    ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย



    บุญกรรมธรรมชาติอันมี ตัณหา อวิชชา เป็นสมุฏฐาน นำให้คนเราได้เกิดมาเป็นมนุษย์มีขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ไว้เป็นเครื่องใช้ แล้วก็ของเหล่านั้นแหละเป็นเครื่องผูกมัดอยู่ในตัวอีกด้วย มีภพทั้งสามเป็นเรือนจำคุมขังตลอดชีวิตอีกด้วย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

    กมฺมํ เขตฺตํ กรรมเปรียบเหมือนพื้นที่สำหรับปลูกพืช
    วิญฺญาณํ พีชํ วิณญาณเปรียบเหมือนหน่อพืชของมนุษย์ที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์
    ตณฺหา สิเนโห ตัณหาเป็นน้ำหล่อเลี้ยงพืชนั้นไว้ที่จะไม่ให้พืชแห้ง


    มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ถ้ายังมีของทั้งสามอย่างนี้อยู่ในจิตใจแล้วตราบใด ก็จะต้องมีความเกิดอยู่ตราบนั้น พระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นว่า คนเราในโลกนี้รู้จักแต่ผูกมัดตัวเองแต่ไม่รู้จักแก้ จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารจักรไม่รู้จักจบจักสิ้นเป็นอเนกชาติ พระองค์ทรงเห็นแล้วเกิดความสลดสังเวชพระทัยเป็นอันมาก จึงได้ปรารถนาเป็น "พระพุทธเจ้า" เพื่อโปรดสัตว์เหล่านั้นให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง

    เมื่อพระพุทธองค์ได้บำเพ็ญบารมีมาครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วตรัสเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทอยู่ ๔๕ พรรษา จึงเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน คำสอนของพระองค์นั้นนับเป็นอเนกอนันต์เหลือที่จะคณานับ ล้วนแต่เป็นอุบายเครื่องแก้ของผูกมัดทั้งนั้น

    ดังพระองค์ทรงสอนให้ทำ " ทาน" เป็นการสละขี้ตระหนี่เหนียวแน่นออกจากหัวใจ แล้วใจจะได้ปลอดโปร่งจากความถือว่าของกูๆ เมื่อคนอื่นได้รับของของเราที่สละไปแล้วนั้นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนทั้งสิ้น เมื่อเขาได้บริโภคใช้สอยแล้ว เราก็เกิดความสุขอิ่มใจ

    "ศีล" พระพุทธเจ้าสอนให้เรางดเว้นจากการทำชั่วต่างๆ ต่อกันด้วยกายและวาจา มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น เมื่อเรางดเว้นจากการทำชั่วต่างๆ เราก็ต้องไม่ผูกมัดกังวลกับความชั่วนั้นอีกต่อไป ใจเราก็เบิกบานรื่นรมย์อยู่กับความดีอันนั้น

    เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอนให้ทำความดีทั้งทานและรักษาศีล อันเป็นเหตุให้ได้รับผล คือ ความดีเบิกบานใจทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ในโลกหน้านั้นมีความสุขทั้งกาย และจิตอันมีอิฏฐารมณ์เป็นที่น่าพอใจทุกประการ เป็นต้นว่า อาหารการบริโภคทุกอย่างเป็นของทิพย์ เกิดเองเป็นเองไม่ต้องไปแสวงหา มีนางฟ้ามาขับกล่อมให้ฟังตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน นึกอยากได้สิ่งใดย่อมเทมาไหลมาไม่อดไม่อยาก

    มนุษย์ผู้ชอบผูกมัดตัวเอง พอได้ฟังสุขในสวรรค์ แทนที่จะพอใจความสุขในมนุษยชาตินี้ซึ่งตนกำลังทำอยู่ กลับไปหลงความสุขในอนาคต เอามาผูกมัดในจิตใจของตน ดังโบราณท่านว่า "หวังน้ำบ่อหน้า" น่าเห็นใจมนุษย์คนเราที่เกิดมาในโลกนี้ ดูแทบทุกๆ คนล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้น ผู้มีความสุขแทบจะไม่มีสักกี่คน

    ดังจะเห็นได้ในเมื่อทำความดีทุกๆ ครั้ง จะต้องปรารถนาว่าขอให้ข้าพเจ้าได้รับความสุขทั้งในชาตินี้และชาติหน้าเถิด ยังไม่แน่ใจว่าชาตินี้จะได้รับผลหรือไม่ จึงปรารถนาไว้ในอนาคตอีกด้วย เหตุนั้น สุขในสวรรค์ในอนาคตจึงชอบนัก จนลืมสุขในชาตินี้อันตนกำลังทำอยู่

    ลองมาฟังพุทธพจน์อีกนัยหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละภพทั้งสามทั้งสิ้นแก้การผูกมัดโดยไม่เหลือหลอ ก่อนที่จะละภพทั้งสามได้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ฝึกหัด " สมาธิ" ให้เข้าถึง "จิตใจ" ของตนเองเสียก่อน เพราะจิตใจเป็นผู้ก่อภพก่อชาติ เมื่อยังไม่รู้เรื่องของจิตหมดทุกอย่างเสียก่อนจึงต้องเกิดอีก จิตกับใจต้องแยกออกจากกันเสียก่อนจึงจะเห็นจิตกับใจชัด

    "จิต" เป็นผู้ปรุง ผู้แต่งให้เกิดกิเลสทั้งหลายมีภพชาติ เป็นต้น เมื่อปัญญาเข้าไปรู้เรื่องของจิตทุกแง่ทุกมุมหมดแล้ว จิตก่อนถอนออกจากกองกิเลสเหล่านั้นทั้งหมด แล้วเข้ามาอยู่เป็นกลางๆ ไม่มีอาการคิดนึกปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้น เฉยๆ อยู่ รู้แต่ว่าเป็นกลางๆ เฉยๆ นั่นเรียกว่า "ใจ"

    จิต กับ ใจ ความจริงก็อันเดียวกันนั่นแหละ แต่จิตเป็นผู้คิดนึกปรุงแต่งให้เกิดกิเลสสารพัดทั้งปวง เมื่อปัญญาเข้าไปรู้เท่าเรื่องของจิตทั้งหมดแล้ว จิตก็หยุดนิ่งไม่มีอาการอีก จึงเรียกว่า ใจ อีกนัยหนึ่งเรียกให้เข้าภาษาชาวบ้านว่า ของกลางๆ ก็เรียกว่า ใจ

    จิตนี้ไม่มีที่อยู่ จะอยู่ในกายก็ได้หรือนอกกายก็ได้ สุดแท้แต่จะเอาไปไว้ที่ไหนเพราะเป็นของไม่มีตัวตน เป็นแต่นามธรรมอันหนึ่งเท่านั้น ถ้าเราเอาไปไว้ที่ต้นเสาหรือฝาผนังก็จะมีความรู้สึกว่ารู้อยู่ที่นั้น นั่นแล คือ จิต หากมีคนเอาค้อนไปตีที่ต้นเสานั้นดังโป๊กขึ้น จิตเราตกใจบางทีถึงกับสะดุ้งก็ได้ เพราะเอาจิตไปจดจองอยู่ในที่นั้น

    สิ่งทั้งปวงหมดถ้าพูดให้เป็นกลางแล้วก็ต้องชี้ลงในจุดเดียว สิ่งนอกนั้นเป็นอันหมดไปไม่ต้องพูดถึง ดังพูดถึงเรื่องใจของคน เช่น เจ็บใจ แค้นใจ เสียใจ ทุกข์ใจ เศร้าใจ น้อยใจ ดีใจ อิ่มใจ พอใจ ใจเบิกบาน ใจกว้างขวาง สว่างใจ ฯลฯ เป็นต้น จะต้องชี้เข้ามาที่ท่ามกลางหน้าอก หรือทำมือคล้ายกับคำพูดนั้นที่หน้าอกของตนอยู่วับๆ แวมๆ นั่นแสดงว่าหมายถึง ใจตัวกลางตัวเดียว เมื่อพูดถึงใจแล้วก็หมดเรื่องพูดถึงสิ่งอื่น เพราะใจแท้มีอันเดียว นอกนั้นไม่ใช่ใจ (คือธรรม)
     
  2. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    มีคนเอาใจเป็นกลางนี้ไปวิพากษ์วิจารณ์ เขาบอกว่าถ้าพูดกันทางโลกแล้วความเป็นกลางไม่มี มีแต่อดีตกับอนาคต จริงอย่างเขาว่า แต่ที่ผู้เขียนพูดนี้ไม่ได้พูดกันทางโลก แต่พูดกันทางธรรม เขาอุปมาเหมือนรถไฟที่กำลังวิ่งอยู่ กิโลเมตรที่ยังไม่ถึงนั้นเรียกว่า อนาคต กิโลเมตรที่ห่างออกไปนั้นเรียกว่า อดีต ตัวปัจจุบันไม่มี

    ปัญหานี้ผู้เขียนเคยได้ยินมาจนชินหูเสียแล้ว โบราณท่านว่า โลกกับธรรมเถียงกันไม่รู้แพ้ชนะกันสักที เมื่อพูดถึงธรรมก็เอาโลกมาคัดค้าน เมื่อพูดถึงโลกก็เอาธรรมมาคัดค้าน เหตุนั้นโลกนี้จึงวุ่นวายไม่รู้จักจบเสียที พระพุทธเจ้าทรงยอมแพ้โลกจึงอยู่เป็นสุข สมภาษิตว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ดังนี้

    ในที่นี้จะพูดถึงเรื่องรถไฟวิ่งเพื่อให้เข้าใจถึงธรรมสักนิด รถไฟวิ่งนั้นกำลังวิ่งอยู่ คำว่า กำลังวิ่งอยู่ นั่นแหละคือ ตัวกลาง ถ้าตัวกลางไม่มีเสียแล้ว อดีตอนาคตจะเอาอะไรมากำหนดเป็นเครื่องหมาย ถ้ารถไฟมันหยุด-นิ่ง อดีตอนาคตก็ไม่มีจะพอเข้ากันได้ไม่ขัดธรรมบ้างหรือเปล่า ถ้าจิตหยุด-นิ่ง เป็นกลางที่เรียกว่าใจแล้ว ก็เป็นอันว่าคิดนึกปรุงแต่ง ตลอดถึงบาป บุญ คุณ โทษ หยาบ ละเอียด ดี ชั่ว สมมติบัญญัติทั้งหมดเป็นไม่มีในที่นั้น

    เขาผู้นี้ช่างพูดเก่งจริงๆ เขาได้รับประทานพรสวรรค์ให้มาเกิด ไปพูดธัมมะธัมโมหรือทางโลกก็ตาม เขาพูดมีเหตุมีผลน่าฟังจริงๆ ผู้เขียนขอชมเชยเขามาก

    มาพูดถึงเรื่องฝึกหัดสมาธิเพื่อให้เห็นตัวจิตกันต่อ วิธีฝึกหัดสมาธิมีหลายอย่างดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ในที่นี้จะเอา "อานาปานสติ" เป็นบริกรรม เพราะอานาปานสติสงเคราะห์เข้ากันกรรมฐานหลายอย่าง เช่น กายคตาสติ อสุภ จตุธาตุววัฏฐาน และมรณสติ เป็นต้น ถึงแม้พระพุทธเจ้าก็ใช้อานาปานสติพิจารณาจึงได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอานาปานสติเป็นยอดแห่งกรรมฐานทั้งหลาย เมื่อพิจารณาอานาปานสติกรรมฐานแล้วจิตยังไม่รวมเป็นสมาธิ ก็สุดที่จะสอนให้พิจารณาอะไรอีกแล้ว

    อานาปานสติกรรมฐานเป็นของดีเลิศ แล้วมิใช่จะบริกรรมเฉยๆ ให้มันดีไปเองก็หาไม่ ต้องบริกรรมไปพิจารณาไปด้วย พิจารณาให้เห็นความตายแตกดับสลายไปของร่างกายอันนี้ หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกแล้วไม่สูดเข้าก็ต้องตาย พิจารณาไปพร้อมๆ กับคำบริกรรมจึงจะได้ผล จะบริกรรมว่าอานาปานสติๆ ๆ เฉยๆ ไม่ได้ผลหรอก ถึงจะได้ผลก็กินเวลานานทีเดียว

    ภาวนาอานาปานสตินี้บางท่านบางอาจารย์ให้นับ.....หนึ่ง หายใจเข้าก็ให้รู้สึกว่าหายใจเข้า สอง หายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก หนึ่ง หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ว่าหายใจเข้ายาว สอง หายใจออกยาวก็ให้รู้ว่าหายใจออกยาว ให้หัดเหมือนกันไปเรื่อยๆ แล้วจิตจะค่อยรวมลงเป็นสมาธิ

    บางท่านบางอาจารย์ให้เอาลมไปไว้ที่ปลายจมูกหรือทรวงอก แล้วจับลมให้อยู่ ณ ที่นั้นๆ ดังนี้ เท่าที่ฝึกหัดมาไม่ค่อยได้ผล ถึงได้ผลก็เป็นไปในทางลบ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือเจ็บขมับ ปวดศีรษะ เป็นต้น แล้วก็ท้อแท้เสียไม่อยากทำอีกเลย เป็นที่น่าเสียดายมาก นับว่าเสียคนที่ตั้งใจปฏิบัติกันจริงๆ จังๆ ไปอีกคนหนึ่ง

    ถ้าผู้ภาวนาอานาปานสติเอาลมเป็นคำบริกรรมว่า อานาปานสติๆ ๆ กลั้นลมหายใจแล้วค่อยๆ ระบายลมนั้นออกมา แล้วกลั้นลมหายใจนั้นใหม่ แล้วค่อยผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ดังนี้ สักสองสามหน แล้วกำหนดเอาต้นลมที่มันจะหายใจออกนั้น ก็จะจับเอาจิตของตนได้เลย แล้วจะปล่อยวางอาการทุกอย่างของลม จับเอาแต่จิตตัวเดียว เป็นอันว่าฝึกหัดอานาปานสติกรรมฐานได้แล้ว

    การหัดทำสมาธิโดยใช้คำบริกรรมทุกๆ อย่าง ไม่ว่า พุทโธๆ ๆ อะระหังๆ ๆ สัมมาอะระหังๆ ยุบหนอพองหนอๆ ๆ อานาปานสติๆ ๆ หรือมรณังๆ ๆ ก็ตาม ความประสงค์ก็ต้องการให้จิตรวมลงเป็นสมาธิ จิตแน่วแน่รวมเป็นอันเดียวเหมือนกันทั้งนั้น บางคนใช้คำบริกรรมมากอย่าง เอาอย่างเดียวกลัวจะไม่ขลังและไม่ถูกกับจิตของตน เลยยิ่งไปกันใหญ่ ความลังเลสงสัยแต่เบื้องต้นย่อมเป็นอุปสรรคแก่การทำสมาธิเป็นอย่างยิ่ง

    บางคนใช้คำบริกรรมไปๆ พอจิตเกิด "อุคคหนิมิต" ซึ่งจิตไม่เคยเป็นเลย ก็ตื่นเต้นยึดมั่นถือมั่นในอุคคหนิมิตนั้น พอจิตเสื่อมก็เสียใจอยากจะได้อีก ความอยากก็เป็นอุปสรรคของการภาวนาสมาธิอีก เมื่อทำเท่าไรๆ ก็ไม่ได้ ก็เกิดความท้อแท้ไม่อยากทำอีกแล้ว บางคนผู้มีนิสัยติดอยู่ในอุคคหนิมิต ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดๆ ก็เห็นคำบริกรรมของตนอยู่เป็นนิจ แล้วก็ชอบใจพอใจนิมิตนั้น นับว่าดีอยู่ ผู้ติดอุคคหนิมิตดีกว่าผู้ติดกิเลสกาม ผู้ติดกิเลสพึ่งตนเองไม่ได้มีแต่จะพึ่งคนอื่นร่ำไป

    การฝึกหัดทำสมาธิภาวนาโดยเฉพาะแล้ว คือ การค้นคว้าหาจิตของตนเองนั้นเอง คนเรามีจิตทุกๆ คนจึงได้เกิดมา ถ้าไม่มีจิตก็ไม่ได้เกิดมาเป็นคน แต่ไม่รู้จักจิตของตนว่ามีกิเลสอะไรและเศร้าหมองด้วยประการใด จิตมันสะสมอารมณ์มาหลายภพหลายชาติ แล้วห่อหุ้มจิตไว้หนาแน่น จึงมองไม่เห็นจิตของตน ไม่เห็นอารมณ์หรือกิเลสที่มันแสดงออกมา

    ฉะนั้น จึงต้องฝึกจิตให้มีอารมณ์อันเดียว ยังเหลือแต่จิตผู้รู้คิดนึกปรุงแต่งเท่าอารมณ์นั้น (คือใจ) คราวนี้จิตมันจะคิดนึกปรุงแต่งก็จะเห็นตัวจิตชัดขึ้นทีเดียว เมื่อเห็นจิตชัดแจ่มแจ้งแล้ว จะสอนให้มันคิดนึกปรุงแต่งอะไรก็ได้ จะไม่ให้มันคิดนึกปรุงแต่งก็ได้ เรียกว่า จิตเป็นของตัวบังคับมันได้ ไม่ใช่ให้จิตมันบังคับเรา กิเลสทั้งหลายมีกามวิตก เป็นต้น เข้ามาเราก็รู้ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ สรรพกิเลสทั้งหลายมันจะเข้ามาและจะเกิดขึ้นด้วยวิธีใดๆ เราก็รู้ทันมันหมด

    กิเลสมันไม่ได้อยู่ที่จิต แต่จิตมันปรุงแต่งแล้วรับเอาเข้ามาหุ้มห่อใจไว้ต่างหาก ถ้าจิตเป็นกิเลสแล้ว ที่ไหนเลยพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายจะทำจิตให้บริสุทธิ์ใสสะอาดได้ ผู้มีปัญญาชำระจิตกับกิเลสออกจากกันได้นี้เอง จิตของท่านจึงบริสุทธิ์ใสสะอาดได้ เปรียบเหมือนเพชรที่ฝังอยู่ในดิน ไม่ทราบว่ากี่หมื่นกี่ล้านปีก็ยังใสแจ๋วอยู่อย่างนั้น เมื่อคนขุดขึ้นมาล้างน้ำแล้วก็ยังใสสะอาดตามเดิม

     
  3. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    จิต เป็นของเร็วและไวที่สุดยิ่งกว่าเข็มทิศที่เป็นวัตถุธาตุ มีอะไรทำให้กระเทือนนิดเดียวก็ไหวติงแล้ว จิตที่เป็นนามธรรมยิ่งเร็วกว่านั้นตั้งร้อยเท่าพันเท่า ถ้าจะเปรียบเหมือนการสร้างบ้านแล้ว เรียกว่า ยกหลังคาคาดกลอนแล้วจึงจะรู้ตัว

    บางคนผู้มีนิสัยทำสมาธิมาแต่ชาติก่อนแล้ว พอฝึกหัดอานาปานสติ จิตรวมเป็นอุคคหนิมิตนิดๆ หน่อยๆ โน่น วิ่งออกไปยึดปรุงแต่งให้ตนเห็นดวงเห็นดาวเห็นแสงสว่างจ้า เข้าใจว่ารุ่งสว่างแล้วรีบออกจากสมาธิ เลยมืดตึ๊ดตื๋อไม่เห็นอะไร บางคนภาวนาไปพอจิตรวมเป็นอุคคหนิมิต มองเห็นตัวของตนนอนตายเน่าเฟะ ตกใจเสียดายร้องไห้สะอึกสะอื้นก็มี บางคนเกิดเห็นหลายอย่าง เช่น เห็นตัวใจของตนใสสว่าง หรือเป็นพระพุทธรูปองค์เล็กบางองค์โตบ้าง แล้วแต่จิตของตนจะปรุงแต่งเอา

    ทั้งหมดนี้ล้วนแต่จิตไปปรุงแต่งเอา แล้วจิตก็ชอบใจยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นจริงเป็นจัง เป็นเครื่องผูกมัดจิตของเราให้ติดอยู่ในนั้นเป็นนานแสนนาน กว่าจะหลุดพ้นจากนิมิตได้มิใช่ง่าย ต้องพยายามแยกจิตของตนกับนิมิตให้ออกจากกันให้ได้ แล้วจึงจะรู้ว่าเราติดนิมิต หรือมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญชำนาญมาอธิบายแก้ไขให้จึงจะหลุดพ้นได้

    แต่คนอื่นแก้ไขให้นั้นยาก มักจะไม่เชื่อ สู้ตนเองแก้ไขตนเองไม่ได้ ตนเองแก้ไขตนเองได้ทั้งปัญญาและประสบการณ์ด้วย ของพรรค์นี้เกิดขึ้นเพราะเราฝึกหัดสมาธิ ถ้าเราไม่ฝึกหัดสมาธิมันก็ไม่เกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ผูกมัดตนเองให้ติดแน่นอยู่นั้น เราถือภาษิตเสียว่า มีการผูกก็ต้องมีการแก้

    มนุษย์ชาวโลกเขามีแต่การทำตนให้ติดกับโลก มนุษย์ในโลกนี้มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเป็นผู้แก้เครื่องผูกมัดในโลก เราเป็นศิษย์มีครู (คือพระพุทธเจ้า) เราจะดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ เราเกิดมาเป็นคนคนหนึ่งเป็นพุทธบริษัทเป็นศิษย์มีครู (คือพระพุทธเจ้า) พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราสละปล่อยวางหมด แม้แต่ตัวของเราก็สอนให้เราปล่อยทิ้ง เพราะทุกๆ คนเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ถึงเราไม่ปล่อย ตัวของเรามันก็ต้องปล่อยดีๆ นี่แหละ

    ทุกสิ่งทุกอย่างแม้ สัญญา อารมณ์ ความคิดนึกปรุงแต่ง นั่นนี่ต่างๆ ที่เราไปปรุงแต่งนึกคิดเอาเอง แล้วเอาเข้ามาเป็นของตนเองต่างหาก เมื่อสละปล่อยทิ้งเมื่อไร มันก็จะไม่มีธรรมชาติบุญธรรมกรรมตกแต่งให้เกิดมาเป็นมนุษย์มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ เครื่องใช้ครบครันบริบูรณ์ เราใช้มัน มันใช้เรา สับเปลี่ยนกันอย่างนี้ อยู่ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิต

    เมื่อเราฝึกหัดอบรมจิตเห็นจิตว่าจิตมันมีอาการอย่างไร มันให้คุณและให้โทษ มีประโยชน์และหาประโยชน์มิได้ เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ก็จงเลือกใช้มันให้เหมาะสมแก่กาลเวลา อย่าไปใช้มันให้เลอะเทอะเหลวไหลไร้สาระเลย ของเรามีมาแล้วต้องใช้มันให้เป็นประโยชน์ เมื่อเราใช้ไม่ได้ก็ต้องทิ้งมันไป ใครจะมาว่าเราได้ ของทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งอยู่ในโลกต้องใช้ให้มันเป็นจึงจะเป็นประโยชน์ ถ้าใช้ไม่เป็นมันก็ให้เกิดโทษ

    ครั้งสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พุทธบริษัททุกคนสละเครื่องผูกมัดร้อยรัดอยู่ในโลกนี้ เราเกิดมาในโลกนี้ทุกคนต้องได้รูปธรรมนามธรรมมาด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีได้เปรียบเสียเปรียบกันเลย แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ของเหล่านั้นได้หมดด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางดีและทางชั่ว บาปและบุญ คุณและโทษ เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ตลอดความคิดนึกสัญญาอารมณ์ต่างๆ ได้ทั้งสิ้น

    เรื่องเหล่านี้เราใช้มันมาตั้งแต่หลายภพหลายชาติแล้ว แม้แต่ภพชาติปัจจุบันเราก็ใช้มันตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งบัดนี้ ความคิดความอยากและความหิวโหยก็ของเก่า ใช้ขันธ์ อายตนะ ผัสสะ ก็ของเก่า ความทุกข์ระทมใจ ความดีใจ หัวเราะ เพลิดเพลินเจริญใจก็ใช้กายและจิตของเก่านี้ทั้งนั้น ความจดจำว่าคนนั้นคนนี้เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นผัวเป็นเมีย เป็นลูกเป็นเต้า ว่าของกูๆ ก็ใช้ของเก่านี้ทั้งนั้น วนไปเวียนมาไม่รู้จักจบจักสิ้น

    ใช้ของเก่าแล้วลืมของเก่า เอามาใช้อีกลืมอีก กินก็กินของเก่า (ขอโทษ ไม่ได้หมายถึงมูตรคูถ) กินแล้วถ่ายออกไปเทออกไปทั้งหมด แล้วกลับเกิดมาเป็นต้นไม้ผลไม้ แล้วหลงของเก่าว่าเป็นของใหม่ แล้วก็บริโภคเข้าอีก สิ่งสารพัดวัตถุ ต้นไม้ ภูเขา มนุษย์ และสัตว์ ตลอดถึงความคิดความนึกและอารมณ์ของมนุษย์ทั้งปวง ล้วนแต่เอาของเก่ามาใช้สอยบริโภคทั้งสิ้น ถ้าไม่เอาของเหล่านี้มาบริโภคใช้สอยอีก โลกนี้ก็ขาดวิ่นหมดสิ้นไปเป็นตอนๆ ผลที่สุดโลกทั้งโลกก็หมดสิ้นไปพร้อมทั้งมนุษย์เราอีกด้วย

    สรุปได้ว่า มนุษย์เกิดมาในกามโลก ได้สมบัติเป็นกามโลก มีธาตุ ขันธ์ อายตนะ ผัสสะ เป็นเครื่องใช้ให้นึกคิดปรุงแต่งไปในกามคุณทั้งห้า มี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หลงติดผูกมัดอยู่กับอารมณ์ทั้งห้านี้ทั้งนั้น ไปไม่พ้น จมดิ่งอยู่ในภพทั้งสามนี้ไม่มีที่สิ้นสุดได้ กามภพนั้นไม่ว่าจะกระทำการงานใดๆ ทั้งสิ้น นึกคิดปรุงแต่งใดๆ ทั้งหมดต้องมีตัวกามเป็นต้นเหตุ มีความใคร่ความพอใจในสิ่งนั้นๆ เมื่อสำเร็จมาแล้วก็มีความใคร่ความพอใจติดสุขในผลสำเร็จนั้น เมื่อไม่สำเร็จก็เดือดร้อนระทมทุกข์อย่างยิ่ง เป็นวิสัยของ กามภูมิ ต้องเป็นอย่างนั้น

    สรุปได้ว่า คนโลกนี้ทั้งสิ้น ผู้ดีมีหน้า ขี้ข้าทุกข์จนล้วนแล้วแต่ติดอยู่ในกามสุข ซึ่งมีขันธ์ ๕ อายตนะ ในตัวเรานี้เป็นเครื่องใช้ ได้ผัสสะแล้วเสวยอารมณ์นั้นๆ

    รูปภูมิ ต้องฝึกหัดทำสมาธิให้ได้ฌานเสียก่อน จึงจะพูดกันรู้เรื่อง เอาเถอะถึงจะรู้หรือไม่รู้ เมื่อพูดถึงภูมิสามแล้วก็จำเป็นจะต้องพูดถึงรูปภูมิต่อไป รูปภูมินั้นผู้ฝึกหัดทำสมาธิได้อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตแล้ว เมื่อภาวนาไปๆ มันต้องละทิ้งรูปกายภายนอกที่เราเห็นกันนี้เสียก่อน แล้วจึงเห็นรูปภายในใจด้วยตนของตนเอง แล้วจึงพิจารณารูปภายในนั้น แล้วก็เกิดรูปนั้นเป็นไปต่างๆ

    เป็นต้นว่าเห็นกายนี้เป็นของเปื่อยเน่า ยังเหลือแต่กระดูก หรือขาดวิ่นเป็นชิ้นเป็นอันไป หรือพองใหญ่ หรือแฟบลง หรือเห็นเป็นรูปเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมไป สุดแท้แต่จะจินตนาการไป บางคนตกอกตกใจถึงร้องไห้ร้องห่มเข้าใจว่าเป็นสิ่งนั้นจริงๆ ก็มี แล้วจิตก็ไปจดจ้องอยู่แต่ภาพนิมิตนั้น จิตก็ปล่อยวางกามารมณ์เป็นบางครั้งบางคราวไป นับว่าดีไปอย่างที่สละปล่อยวางอารมณ์หยาบๆ ได้ แต่ติดอารมณ์อันละเอียดเข้าอีก (คือรูปภายใน)

    อรูปภูมิ ต่อจากรูปภูมิ คือฝึกหัดจิตให้ยิ่งๆ ขึ้นไปจนปล่อยวางรูปภายใน (อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต) ยังเหลือแต่จิตว่างอันเดียว จิตนั้นจึงถือเอาแต่อารมณ์อันเดียว ไม่ว่าพิจารณาไปด้านไหนก็มีแต่ความว่างไปหมด (ความจริงแล้วรูปจิตมีอยู่ ผู้ที่ถือเอาอารมณ์นั้นแลเป็นรูปของจิต แต่ท่านไม่เรียกว่ารูป) นี้คือ เครื่องผูกมัดอย่างละเอียด ของท่านผู้ดี ติดอยู่นานนับเป็นหลายร้อยล้านปี กว่าจะหลุดพ้นไปได้

    ทั้งหมดที่อธิบายมานี้ล้วนแต่เป็นเครื่องผูกมัดของสัตว์โลก คือ กามโลก รูปโลก และอรูปโลก ธรรมชาติ คือ บุญกรรมนำให้มาเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อสร้างความดี จิตใจก็ค่อยเจริญขึ้นไปโดยลำดับจนเข้าขั้นรูปภูมิ อรูปภูมิ พอเสื่อมจากนั้นก็ตกลงมาเป็นกามภูมิอีก วนเวียนอยู่ในภูมิทั้งสามหรือภพทั้งสามตลอดกาลนาน เรียกว่า เกิดมาแล้วสร้างภพสร้างชาติผูกมัดตัวเองเหมือนกับตัวไหมทำรังหุ้มห่อไว้ไม่ให้ไปไหน

    พระพุทธเจ้าผู้เลิศด้วยพระปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งชัดด้วยความจริงว่า โลกทั้งโลกเป็นเครื่องห่อหุ้มด้วยอวิชชา โมหะ มีภูมิทั้งสามเป็นเสมือนเรือนจำเป็นเครื่องอยู่ มีตัณหา อุปทานเป็นเครื่องสัญจรไปมา มีกามารมณ์ รูปารมณ์และอรูปารมณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง พระองค์ทรงรู้อย่างนี้แล้ว จึงทรงเบื่อหน่ายคลายความใคร่ความยินดีในภูมิทั้งสามนั้นด้วยวิปัสนาญาณ

    เห็นภูมิทั้งสามนั้นเป็นเรื่องส่งนอกด้วยจิตของพระองค์เอง (ส่งนอกในที่นี้หมายถึงส่งนอกด้วยกามารมณ์ รูปารมณ์ และอรูปารมณ์) มีแต่ไหลไปในอนาคตไม่เข้าถึงปัจจุบันสักที พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งชัดอย่างนี้แล้ว จึงทรงสละปล่อยวางจิตที่เป็นอดีตและอนาคตที่ปรุงแต่งภพทั้งสามเข้ามาอยู่เป็นกลางๆ คือ ตัวใจ และรู้อยู่ว่าเป็นกลางๆ ภพชาติก็หมดไป

    การประพฤติกิจในพระพุทธศาสนานี้ทั้งหมด มีการรักษาศีล ฝึกหัดทำสมาธิและวิปัสสนา เป็นต้น ก็คือ ต้องการค้นคว้าหาเหตุและผล สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ดีและชั่ว สิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมในสิ่งนั้นๆ ให้เห็นรู้เห็นตามเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ เท่านั้น แต่สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดมันก็ไม่เป็นจริงสักที เพราะเราพิจารณาส่งออกไปข้างนอก เห็นของไม่จริงจังแปรปรวนอยู่ร่ำไป การค้นคว้าส่งออกไปภายนอกพิจารณาของไม่เที่ยงแปรปรวนนี้แล จึงต้องเป็นทุกข์ไม่รู้จักจบจักสิ้นสักที

    การพิจารณาของภายนอกนอกจากตัวของเรา จึงไม่ใช่ตัวของเราและไม่เห็นตัวของเรา จึงรักษาตัวของเราให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ ปราชญ์ผู้ฉลาดจึงปล่อยวางทิ้งสิ่งที่มิใช่ของตัวไม่มีแก่นสาร วางสิ่งที่เป็นอดีตและอนาคตเสีย แล้วเข้าอยู่ตรงกลาง วางเฉย แล้วรู้ตัวอยู่ว่าเราวางเฉย เมื่อใจเข้ามาอยู่ตรงกลาง วางเฉยและรู้ตัวว่าวางเฉยแล้ว มันจะมีอะไรเหลือหลอ ภารกิจในพระพุทธศาสนาที่กระทำมาแต่ต้นก็เห็นจะสิ้นสุดลงเท่านี้


    ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=719
     

แชร์หน้านี้

Loading...