ความสำคัญของจิต

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย หนุ่มชาวนา, 17 กุมภาพันธ์ 2009.

  1. หนุ่มชาวนา

    หนุ่มชาวนา Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 มกราคม 2009
    โพสต์:
    18
    ค่าพลัง:
    +33
    ความสำคัญของจิต


    เชื่อว่าทุกท่านคงจะได้ตระหนักกันอยู่บ้างแล้วว่า ชีวิตนี้จะเป็นเช่นไรก็อยู่ที่จิตนี่เอง ถ้าเผื่อว่าจิตนั้นได้รับการฝึกฝนอบรม รู้ว่าอะไรคืออะไรแล้ว ก็จะทำให้ชีวิตนี้สงบ เย็น สบาย แต่ถ้าหากว่าจิตนั้นยังไม่ได้รับการฝึกฝนอบรม ชีวิตก็จะมีแต่ความวุ่นวาย สับสน ระส่ำระสาย เรียกว่าจับต้นชนปลายไม่ถูกกันเลยทีเดียว


    จิตเป็นสิ่งที่นำชีวิต นำทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจหรือทางจิตนั้นเอง นำทางกาย ทางวาจา เป็นอย่างไร ทุกท่านก็พอจะเข้าใจ แต่ที่บอกว่าจิตนำจิตเองนั้น นำอย่างไร คงจะต้องใครครวญเพื่อขยายความกันต่อไป


    โปรดนึกดูถึงใจของเราเอง บางทีเห็นเพื่อนที่ไม่ค่อยถูกใจเดินมา ก็ตั้งใจว่าเอาละ...วันนี้จะต้องยิ้มและพูดดีกับเขา จะเป็นมิตรกันเสียที แต่พอเขาเข้ามาใกล้ พยายามจะยิ้มอย่างไรก็ยิ้มไม่ออก ใจอยากจะพูดด้วย แต่ทำไมพูดไม่ออก ซ้ำยังสะบัดหน้าหนีหันหลังให้ไปเลยเสียอีก นี่แหละที่บอกว่าจิตนำจิตนี่เอง ก็หมายถึงว่า จิตส่วนที่ดีนี้ ตามสามัญสำนึกก็อยากจะทำดี อยากจะทำอะไรให้ถูกต้อง แต่แล้วจิตอีกฝ่ายหนึ่งที่ยังดำ หรือเรียกว่ายังป่าเถื่อน ยังไม่ได้รับการฝึกฝนอบรม ขัดเกลา ก็ไม่ยอมทำตาม นี่คือลักษณะของอาการที่เรียกว่าจิตนำจิต


    ที่นี้อะไรเล่าที่จะช่วยให้จิตนี้คิดถูกต้อง พูดถูกต้อง และทำถูกต้อง สิ่งนั้นคือ สติปัญญาที่ได้รับการฝึกฝนอบรมขัดเกลาแล้ว ซึ่งในทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ถ้าจะบริหารชีวิตหรือพัฒนาชีวิต จะต้องพัฒนาให้พร้อมทั้ง 3 อย่าง อย่างหนึ่งคือพัฒนากาย หมายความว่า รักษากายให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลร่างกายให้มีสุขภาพดี ส่วนการพัฒนาทางด้านจิต ก็ดุแลจิตให้คิดพูดทำ ในสิ่งที่ถูกต้อง


    จิตจะคิด พูด ทำ ในสิ่งที่ถูกต้องได้ ต้องอาศัยการพัฒนาทาง วิญญาณ วิญญาณในที่นี้มิได้หมายถึง เรื่องผีส่างนางไม้ แต่ทางพุทธศาสนาหมายถึง "สติปัญญา" และจะต้องเป็นสติปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกต้องตามสัจจธรรม ไม่ใช่เห็นถูกต้องตามที่ใจคิดนึก รู้สึก ต้องการ เพื่อให้ได้ดังใจ จิตที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ จะสามารถเห็นอะไรๆได้ตามความเป็นจริง


    ความเป็นจริงของชีวิต นั้นคือ ไม่มีอะไรที่จะเป็นอย่างที่ใจต้องการเลยสักอย่างเดียว นอกจากเป็นไปตามเหตุปัจจัย


    ชีวิตเป็นอย่างนี้ เป็นไปตามกฏของธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นไปตามใจอยากของมนุษย์


    ธรรมชาติบอกอยู่เสมอว่า ในชีวิตนี้....ไม่สามารถที่จะให้อะไรเป็นได้ดั่งใจ เพราะว่าทุกสิ่งที่จะเป็นไปอย่างไรนั้น มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร ผลจะเป็นอย่างนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าเหตุปัจจัยประกอบด้วยความยึดมั่นถือมั่น จิตเต็มไปด้วยอุปาทาน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความทุกข์ ความร้อน ต้องกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ต้องดิ้นรน จนเผาไหม้ใจ เป็นชีวิตที่ร้อนรนอยู่เสมอ


    ถ้าหากเป็นสำนวนของเจ้าประคุณท่านอาจาย์สวนโมกข์ ท่านจะใช้ว่า "ถูกกัดตลอดเวลา" ถูกกัดตลอดเวลา ชอกช้ำ ยับเยิน แต่เผอิญมันอยู่ข้างใน มองไม่เห็น มนุษย์เราจึงไม่สำนึก แล้วก็บอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง มันเป็นของธรรมดา


    แต่ธรรมดาอย่างนี้ ไม่ใช่ธรรมดาของพระพุทธเจ้า แต่เป็นธรรมดาที่เกิดจากความรู้สึก ของความเคยชินที่ได้กระทำตามอำนาจกิเลสมาเนิ่นนาน โดยไม่รู้ตัว เลยหลงไปว่า เป็นธรรมดา ทั้งๆที่ตลอดเวลา จิตมีแต่ความหนัก เหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า อึดอัด เครียด มิได้มีความโปร่งเบาสบายเลย


    จิตที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้ เป็นจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่ถูกครอบงำด้วยสติปัญญาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงมองทุกสิ่งรอบตัวตามที่ใจ "อยาก" ของตนต้องการให้เป็น แล้วจิตนั้นก็อมอยู่ด้วยความทุกข์ เพราะ "ไม่ได้อย่างใจ" นี้เพราะไม่เห็นทุกสิ่งตามที่เป้นจริง ตามกฏของธรรมชาติอันเป็นสัจรรมนั้นเอง


    จากหนังสือ....การบริหารจิตเพื่อพิชิตปัญหา โดยอุบาสิกาคุณรัญจวน อิรทรกำแหง
     

แชร์หน้านี้

Loading...