"ความอยากถึงพระนิพพาน หาเป็นวิภวตัณหาไม่"

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Norlnorrakuln, 2 มีนาคม 2012.

  1. Norlnorrakuln

    Norlnorrakuln เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    3,813
    ค่าพลัง:
    +15,095
    ตัณหา
    หมายถึงความทะยานอยาก ความดิ้นรน ความปรารถนา จำแนกได้ ๓ ประเภท

    ๑. กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม อยากได้ในอารมณ์อันน่ารักใคร่ ในวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ทั้งที่ได้มาแล้ว และยังมิได้มา หมกมุ่นติดอยู่ในวัตถุกามนั้น อาการเหล่านี้เรียกว่า เป็นกามตัณหา

    ๒. ภวตัณหา ได้แก่ความทะยานอยากในภพ อยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นอยากไปเกิดในภพชาติที่ประณีต ที่ตนเห็นว่าเป็นความสุข ความเพลิดเพลิน ด้วยเข้าใจว่าสภาพเหล่านั้นเป็นของเที่ยงแท้ และตนเองก็ปรารถนาสภาวะเหล่านั้น ภพเหล่านั้น ชาติเหล่านั้น จนต้องดิ้นรนทะเยอทะยานอยากได้ นี้เรียกว่า ภวตัณหา

    ๓. วิภาวตัณหา ได้แก่ความทะยานอยากในวิภพ อยากไม่เป็นอย่างนั้น อยากไม่เป็นอย่างนี้ อยากพรากพ้นดับสูญไปเสีย เป็นอาการที่จิตยินดีพอใจในสถานะความไม่เป็นต่างๆ หรือความพอใจในความไม่เกิดในภพ โดยมองเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นของที่ขาดสูญ ไม่มีการสืบต่อ ตนเองก็ต้องขาดสูญ ต้องการจะหมดสิ้นไป อาการของความคิดในลักษณะนี้ ชื่อว่า วิภวตัณหา

    แนวคำถาม-คำตอบ
    ๑. จงแสดงที่เกิด ที่ดับ แห่งตัณหามาดู?
    อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ สัมผัส เวทนา สัญญา สัญเจตนา ตัญหา วิตก วิจาร เหล่านี้เป็นที่เกิดที่ดับแห่งตัณหา เกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น

    ๒. ตัณหา โลภะ ราคะ ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร?
    ต่างกันโดยพยัญชนะ แต่โดยความหมายเหมือนกัน คือ...
    ตัณหา ความดิ้นรนอยากได้อารมณ์
    โลภะ ความอยากได้อารมณ์
    ราคะ ความกำหนัดในอารมณ์
    ดังนั้นโดยความหมาย คือความรัก ติดอยู่ในอารมณ์เหมือนกัน

    ๓. มีหนึ่งแล้วไม่ชอบ อยากให้ประลัยเสีย ต้องการสองใหม่ ดังนี้ จะเป็นตัณหาอะไรบ้าง?
    มีหนึ่งแล้วไม่ชอบใจ อยากให้ประลัยเสีย เป็นวิภวตัณหา
    ต้องการสองใหม่ เป็นกามตัณหา

    ๔. ตัณหา ๓ จะย่นลงในทิฎฐิ ๒ ได้หรือไม่ ถ้าได้จงยกมาดู?
    สามารถย่นได้ดังนี้
    กามตัณหา ภวตัณหา ย่นลงในสัสสตทิฎฐิ(ความเห็นว่าเที่ยง)
    วิภวตัณหา ย่นลงในอุจเฉททิฎฐิ(ความเห็นว่าขาดสูญ)

    ๕. ความอยากไม่อยู่ในภพที่เกิด คือ ความอยากตายเสีย ด้วยอำนาจความเบื่อหน่าย และความอยากดับสูญไม่เกิดในภพนั้นๆอีกจัดเป็น วิภวตัณหา ถ้าเช่นนั้นความอยากถึงพระนิพพาน มิเป็นวิภวตัณหาด้วยหรือ ขอทราบอธิบาย?
    ความอยากถึงพระนิพาน หาเป็นวิภวตัณหาไม่ คือเป็นความอยากที่ถูกทาง กล่าวคือ อยากถึงหรืออยากบรรลุพระนิพพานแล้ว ประกอบความเพียรในทางที่ชอบด้วยสัมมาประโยค พยายามดำเนินตามอริยมรรคซึ่งย่นลงเป็นไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างนี้ไม่เป็น วิภาวตัณหา
    ถ้าเข้าใจว่าพระนิพพานเป็นเมืองแก้ว เป็นภพที่น่าสุขสำราญ ประกอบไปด้วยความสุข ความเจริญ ความอยากเช่นนี้จัดว่าเป็น ตัณหา.

    ธรรมวิภาค ปริจเฉทที่ ๒ น.ธ.โท ๖๒-๖๔
     

แชร์หน้านี้

Loading...