จิตมุ่งสู่ความหลุดพ้น ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย blackangel, 25 กันยายน 2012.

  1. blackangel

    blackangel เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    1,750
    ค่าพลัง:
    +1,919
    เนื่อหาทั้งหมดมาจาก หนังสือจิต...มุ่งสู่ความหลุดพ้น

    โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
    วัดป่าบ้านตาด อำเภอบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี



    กัณฑ์ที่ ๑ พระธรรมเทศนา วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗


    พระธรรมเทศนา วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗
    ณ วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี

    การตั้งข้อสังเกตจิตในเวลาฟังเทศน์หรือเวลานั่งภาวนา เราไม่ต้องกดขี่บังคับจิตจนเกินไป เป็นเพียงทำความรู้ไว้เฉพาะหน้าเท่านั้น ท่านผู้กำลังเริ่มฝึกหัดโปรดจดจำวิธีไว้ แล้วนำไปปฏิบัติ ส่วนจะปรากฏผลอย่างไรนั้น โปรดอย่าคาดคะเนและถือเป็นอารมณ์ในผลของสมาธิที่เคยปรากฏในคราวล่วงแล้ว


    ขอให้ตั้งหลักปัจจุบัน คือระหว่างจิตกับอารมณ์มีลมหายใจเป็นต้น ที่กำลังพิจารณาอยู่ให้มั่นคง จะเป็นเครื่องหนุนให้เกิดความสงบเยือกเย็นขึ้นมาในเวลานั้น เมื่อปรากฏผลชนิดใดขึ้นมา จะเป็นความสงบนิ่งและเย็นสบายใจก็ดี จะเป็นนิมิตเรื่องต่าง ๆ ก็ดี ในขณะนั่งฟังเทศน์ หรือขณะนั่งภาวนาก็ตาม เวลาจะทำสมาธิภาวนาในคราวต่อไป โปรดอย่าถืออารมณ์ที่ล่วงแล้วเหล่านี้เข้ามาเป็นอารมณ์ของใจในขณะนั้น จิตจะไปทำความรู้สึกกับอารมณ์อดีต โดยลืมหลักปัจจุบันซึ่งเป็นที่รับรองผล แล้วจะไม่ปรากฏผลอะไรขึ้นมา โปรดทำความเข้าใจว่าเราทำครั้งแรกซึ่งยังไม่เคยมีความสงบมาก่อนเลย ทำไมจึงปรากฏขึ้นมาได้ ทั้งนี้เพราะการตั้งหลักปัจจุบันจิตไว้โดยถูกต้อง

    สิ่งที่จะถือเอาเป็นแบบฉบับจากอดีตที่เคยได้รับผลมาแล้วนั้น คือหลักเหตุได้แก่วิธีตั้งจิตกับอารมณ์แห่งธรรมตามแต่จริตชอบ ตั้งจิตไว้กับอารมณ์แห่งธรรมบทใดและปฏิบัติต่อกันอย่างไรในเวลานั้น จึงปรากฏผลเป็นความสงบสุขขึ้นมา โปรดยึดเอาหลักการนี้มาปฏิบัติในคราวต่อไป แต่อย่าไปยึดผลที่ปรากฏขึ้นและล่วงไปแล้วจะไม่มีผลอะไรในเวลานั้น นอกจากจะทำให้จิตเขวไปเท่านั้น

    โดยมากที่จิตได้รับความสงบในวันนี้ แต่วันต่อไปไม่สงบ ทั้งนี้เพราะจิตไปยึดเอาสัญญาอดีตที่ผ่านไปแล้วมาเป็นอารมณ์ในเวลาทำสมาธินั้น ถ้าเรายึดเอาเพียงวิธีการมาปฏิบัติ ผลจะปรากฏขึ้นเช่นที่เคยเป็นมาแล้วหนึ่ง จะแปลกประหลาดยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาแล้วเป็นลำดับหนึ่ง

    ส่วนมากผู้บำเพ็ญทางด้านจิตใจที่เคยได้รับความสงบเย็นใจมาแล้ว แต่ขาดการรักษาระดับที่เคยเป็นมาแล้ว ทั้งความเพียรด้อยลง เพราะได้รับความเย็นใจแล้วประมาทนอนใจ จิตก็มีความเสื่อมลงได้ เมื่อจิตเสื่อมลงไปแล้วพยายามหาทางปรับปรุงจิตให้ขึ้นสู่ระดับเดิม แต่ไม่สามารถจะยกขึ้นสู่ระดับเดิมได้ ทั้งนี้เพราะจิตไปยึดเอาสัญญาอดีตที่เคยเจริญและผ่านมาแล้วมาเป็นอารมณ์ จึงเป็นการกีดขวางหลักปัจจุบันให้ตั้งลงเต็มที่ไม่ได้ขณะที่นั่งทำความเพียร ฉะนั้น ผู้จะพยายามทำใจให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ จึงควรระวังสัญญาอดีต อย่าให้เข้ามารบกวนใจในเวลาเช่นนั้น ให้มีแต่หลักปัจจุบันดังที่กล่าวมาแล้วล้วน ๆ แม้ผู้จิตเสื่อมลงจากสมาธิชั้นใดก็ตาม ถ้านำวิธีนี้ไปใช้จะสามารถรื้อฟื้นสมาธิที่เสื่อมไปแล้วคืนมาได้โดยไม่ต้องสงสัย

    อารมณ์เช่นที่ว่านี้ต้องปล่อยวางทั้งสิ้นในขณะบำเพ็ญภาวนา โดยถือหลักปัจจุบันเป็นหลักใจ เราชอบธรรมบทใดน้อมมากำกับใจ ทำความรู้ไว้กับธรรมบทนั้นให้มั่นคง ไม่ต้องไปคาดผลว่าจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

    ความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิภาวนาจะมีลักษณะเช่นไรบ้าง เหตุการณ์ต่าง ๆ จะเกิดขึ้นจากการภาวนาจะเป็นเหตุการณ์อะไรบ้างและเกี่ยวกับเรื่องความได้เสียอะไรบ้าง เหล่านี้เราไม่ต้องไปสนใจและคาดคะเน โปรดทำความมั่นใจในหลักปัจจุบันเป็นสำคัญ ไม่ว่าจิตของนักบวชไม่ว่าจิตของฆราวาส และไม่ว่าจิตของผู้หญิง ผู้ชาย เพราะเป็นธรรมชาติที่มุ่งต่อความรู้สึกในสิ่งต่าง ๆ อยู่ด้วยกัน เมื่อได้รับการอบรมถูกทาง ต้องหายพยศและหยั่งลงสู่ความสงบสุขได้เช่นเดียวกัน ทั้งหญิง ชาย นักบวช ฆราวาส ทั้งจะเป็นจิตที่มีหลักฐานมั่นคงไปโดยลำดับเช่นเดียวกัน

    นับแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงสมัยปัจจุบัน เวลาพระอุปัชฌาย์จะบวชพระบวชเณร ท่านต้องให้กรรมฐานห้า คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เรียกว่า ตจปัญจกรรมฐาน แปลว่า กรรมฐานมีหนังเป็นที่ห้า เพื่อเป็นหลักใจของนักบวชนั้น ๆ ในเวลาบำเพ็ญเพียร ทุกประโยคจิตจะได้อาศัยอยู่กับอาการทั้งห้านี้อาการใดอาการหนึ่งที่ถูกกับจริตนิสัยของตน โดยพิจารณาเข้าข้างในและพิจารณาออกข้างนอกให้ความรู้ได้อยู่กับอาการเหล่านี้เป็นประจำ

    ความรู้อาจจะซึมซาบไปสู่อาการอื่น ๆ ทั่วร่างกายและทราบได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีลักษณะเช่นไรบ้าง หลักความจริงที่มีประจำร่างกายนี้ แม้ท่านจะระบุไว้เพียงห้าอย่างเท่านั้นก็ตาม สิ่งที่ไม่ระบุไว้นอกนั้นจิตจะซาบซึ้งไปโดยตลอด ไม่มีส่วนใดลี้ลับ เมื่อจิตไปอาศัยและมีสติอยู่กับอาการใดย่อมจะรู้และทำความเข้าใจตนเองกับอาการเหล่านั้นได้โดยถูกต้องและซึมซาบไปตามอาการต่างๆ

    บางครั้งก็ปรากฏเห็นอาการของกายเช่นเดียวกับเห็นด้วยตาเนื้อและจิตก็มีความสนใจใคร่จะรู้ความจริงของร่างกายมากขึ้น นี้เรียกว่าจิตอยู่ในปัจจุบันกายและปัจจุบันจิตที่เนื่องมาจากการเห็นกาย และมีความสนใจจดจ่อกับอาการที่เห็นนั้น ความรู้สึกซึมซาบไปทุกแห่งทุกหน เบื้องบน เบื้องล่าง ในส่วนร่างกายจนเกิดความสลดสังเวชต่อร่างกายของตนว่า มีสิ่งบาง ๆ สิ่งเดียวเท่านั้น ไม่หนาเท่าใบลานเลย ปกปิดหุ้มห่อไว้จนทำความลุ่มหลงแก่ตนเอง นอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยสิ่งไม่พึงปรารถนา แต่เพราะสติปัญญามองข้ามไปเสีย จึงเห็นสภาพเหล่านี้กลายเป็นตน เป็นตัว เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา เป็นหญิง เป็นชายขึ้นมา แล้วกลายเป็นจุดที่ยึดหมายของอุปาทานในขันธ์ขึ้นมาอย่างเต็มที่

    ตามธรรมดาของจิตถ้าได้ปักปันมั่นหมายลงในที่ใดย่อมฝังลึกจนตัวเองก็ไม่ยอมถอนและถอนไม่ขึ้น ขอยกรูปเปรียบเทียบ เช่น มีผู้ไปปักปันเขตแดนลงในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยถือว่าเป็นของตนขึ้นมา แม้ที่นั้นจะยังไม่มีสมบัติ สิ่งเพาะปลูกชนิดต่าง ๆ มีเพียงที่ดินว่าง ๆ อยู่เท่านั้นก็ตาม เกิดมีผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามาล่วงล้ำเขตแดนนั้นเข้า อย่างน้อยก็ต่อว่าต่อขานกัน มากกว่านั้นก็เป็นถ้อยเป็นความ หรือฆ่าฟันรันแทงกันจนเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นโรงขึ้นศาล เกิดความเสียหายป่นปี้ ไม่มีชิ้นดีเลย

    เพราะที่ว่าง ๆ มีราคานิดเดียว ยังยอมเอาตัวซึ่งเป็นของมีคุณค่ามากไปพนันขันตายแทนได้ ลักษณะของอุปาทานในขันธ์ก็มีนัยเช่นเดียวกัน เขตแดนประเภทนี้ต้องอาศัยการไตร่ตรองพิจารณาโดยทางปัญญาซ้ำ ๆ ซาก ๆ และถือเป็นงานประจำของผู้จะรื้อจะถอนเชื้อวัฏฏะออกจากใจ เหมือนเขานวดดินเหนียวทำภาชนะต่าง ๆ ต้องถือเป็นงานใหญ่ และจำเป็นจริง ๆ ไม่เช่นนั้นสิ่งที่สำเร็จรูปออกมาจะไม่มีคุณภาพ ความสวยงาม และความแน่นหนามั่นคงพอ เราจะไปที่ใด อยู่ที่ใด ในอิริยาบถความเคลื่อนไหวให้เป็นเรื่องของสติปัญญาทำงานในขันธ์ ของจริงกับของจริงต้องเจอกันวันหนึ่งแน่นอนคือ ขันธ์ก็ทรงความจริงไว้ตามธรรมชาติของตน สติปัญญา ความพากเพียรก็เพียรเพื่อรู้เห็นของจริงที่มีอยู่ภายในขันธ์ในจิต ธรรมของจริงอันเป็นส่วนผลเป็นขั้น ๆ ก็มีอยู่ในขันธ์และในจิต

    ของจริงทั้งสาม คือ ขันธ์ ความเพียร ธรรมอันเป็นผลต้องเจอกันและรวมลงในธรรมแห่งเดียวได้ในวันหนึ่งข้างหน้า ขออย่างเดียวคือ อย่าเห็นความเพียรเป็นข้าศึกแก่ตนเองจะหาทางเล็ดลอดไปไม่ได้ ถ้าเห็นความเพียรเป็นคู่มิตรผู้ร่วมคิดช่วยปราบศัตรูแล้ว อย่างไรต้องมีหวังผ่านพ้นจากอุปสรรคนานาชนิดไปได้โดยแน่นอน

    ขันธ์เป็นหลักธงชัยอันสำหรับผู้ต้องการผ่านพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น กรรมฐานห้าที่พระอุปัชฌาย์มอบให้จึงเป็นหลักใหญ่อันสำคัญในส่วนแห่งกาย ถ้าจะพูดถึงอริยสัจ ก็มีอยู่ที่กายนี้คือทุกข์ เกิดขึ้นที่กาย สมุทัยก็หมายถึงความถือกาย มรรค แม้จะมีอยู่ในที่แห่งเดียวกันก็หาทางเดินไม่ได้ เพราะร่างกายท่อนนี้เกลื่อนไปด้วยเรื่องสมุทัยเที่ยวปักปันเขตเอาไว้

    ดังนั้น อุบายทั้งห้า คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อันเป็นส่วนใหญ่ที่ท่านมอบให้แก่นักบวช จึงเป็นเหมือนให้อาวุธเข้าถากถางเพื่อถอดถอนอุปาทานที่ฝังเกลื่อนอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้หมดสิ้นไปเป็นลำดับ เริ่มแต่การพิจารณาชั้นต้นจนถึงขั้นความชำนาญและสามารถรู้เท่าทันส่วนร่างกาย ทั้งภายนอกภายใน ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างโดยทั่วถึง ถ้าจะแยกกายนี้ออกเป็นประเภทของทุกข์ ทุกอาการของกายจะวิ่งลงสู่สายทุกข์ตามกันหมด ไม่มีชิ้นใดฝืนตัวอยู่ได้

    เพื่อความประจักษ์ใจและแน่นอนกับทุกข์ในกายลองเอาปลายเข็มจรดลงด้านใดด้านหนึ่งของกายสักนิดหนึ่ง จะทราบทันทีว่าทุกข์มีอยู่ทุกขุมขนทั่วร่างกายของบุคคลและสัตว์ผู้หนึ่ง ๆ ดังนั้น ผู้ใช้สติปัญญาตรวจตรองอยู่กับขันธ์ย่อมมีทางทราบเรื่องของตัวและทุกข์ที่อยู่ในขันธ์นี้ทั้งขันธ์โดยลำดับ เพราะทุกข์ทั้งมวลไม่นอกไปจากขันธ์นี้เลย แม้คำว่าอริยสัจซึ่งถือว่าเป็นธรรมลึกซึ้ง

    จึงไม่เลยความรู้สึกของผู้รับสัมผัสไปได้ ต้องอยู่ในวงความรู้สึกของเราด้วยกัน จะสูงก็ไม่เลยกายกับใจนี้ไปได้ สมุทัยก็ไม่ลึกเลยความรู้อันนี้เพราะความรู้สึกเป็นฐานที่เกิดของสมุทัย สมุทัยไม่มีที่อื่นเป็นแดนเกิดนอกจากใจดวงนี้เท่านั้น การพิจารณาทางปัญญาไปตามส่วนต่าง ๆ ของขันธ์จึงเป็นอุบายจะรื้อถอนอุปาทานคือตัวสมุทัยนั้นขึ้นมาเพื่อให้ธรรมชาติเหล่านั้นได้อยู่เป็นปกติ ไม่ถูกกดบังคับจับจองจากใจ เพื่อใจได้อยู่เป็นสุข ไม่ต้องกังวลกับสิ่งใด เป็นเราเป็นของเรา คือต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างอยู่ ที่เรียกว่า ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ


    รู้เห็นตามเป็นจริงด้วยปัญญาจริง ๆ ไม่เพียงจำได้และพูดออกมาด้วยสัญญา ยังสามารถถอดถอนหนามจากอุปาทานของขันธ์ที่ทิ่มแทงใจได้อีก สมุทัยที่ทำงานเกี่ยวกับกายก็ถอนตัวออกไป ส่วนสมุทัยที่เกี่ยวกับใจโดยเฉพาะก็เป็นวิสัยของสติ ปัญญาจะตามสอดรู้และทำลายเช่นเดียวกันเพราะทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทั้งหยาบและละเอียดเกิดขึ้นจากใจอันเดียวกัน ฉะนั้น ทุกข์ สมุทัยจึงไม่มีเกาะใดจะเป็นที่ออกตัวว่าได้ผ่านพ้นสายตาของสติปัญญาไปได้และไม่สูงต่ำไปที่ไหนนอกจากใจดวงนี้

    ที่ไม่อาจมองเห็นความจริงอันตั้งปรากฏชัดอยู่ยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก เนื่องจากการมองข้ามกายข้ามใจดวงนี้ไปเสียเท่านั้น จึงไม่ทราบว่าอริยสัจอันแท้จริงอยู่ที่ไหนและเป็นอย่างไร เราเคยทราบมาจนชินหูว่าพระพุทธเจ้าและสาวกตรัสรู้มรรคผลนิพพาน ท่านตรัสรู้อะไร นอกจากจะรู้แจ้งทุกข์ สมุทัย ที่ได้ยินแต่เสียงและรู้อยู่ด้วยใจทุกเวลาที่เขาแสดงตัวอยู่ในห้องมืดอย่างเปิดเผย ไม่เกรงขามต่อผู้ใด

    โดยการเปิดม่านออกดูด้วยมรรค คือสติ กับ ปัญญา นิโรธก็แสดงตัวออกมาในขณะม่านเครื่องกั้นห้องของสมุทัยได้ถูกเปิดขึ้น เป็นความดับสนิทแห่งทุกข์ขึ้นมาเท่านั้น ธรรมของจริงซึ่งควรจะรู้ภายในใจจะเป็นอื่นมา แต่ที่ไหนก็ต้องเป็นของจริงอยู่กับใจ และรู้ขึ้นที่ใจ พ้นทุกข์ที่ใจ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและสาวกเท่านั้นแล ถ้าทำถูกตามแบบท่าน ฉะนั้น คำว่า มัชฌิมา ในครั้งนั้นกับครั้งนี้จึงเป็นอริยสัจอันเดียวกัน และตั้งอยู่ท่ามกลางแห่งขันธ์ของท่านกับของเราเช่นเดียวกัน ไม่เคยย้ายตำแหน่งหน้าที่ไปทำงานที่ไหน คงเป็นธรรมของจริงอยู่ประจำขันธ์และประจำจิตตลอดมา จึงควรจะกล่าวได้ว่าอริยสัจให้ความเสมอภาคทั่วหน้ากัน นอกจากเรายังไม่ได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเท่าที่ควรแก่เพศและฐานะเท่านั้น อริยสัจจึงไม่มีช่องทางจะอำนวยประโยชน์ให้สมกับว่าเป็นธรรมอันประเสริฐ

    อนึ่ง ความไม่สงบก็คือ เรา ผู้พยายามทำเพื่อความสงบโดยวิธีดัดแปลงต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องของเราเอง แต่เหตุใดจึงจะเป็นไปเพื่อความสงบไม่ได้ อย่างไรใจจะหนีจากความพยายามไม่ได้แน่นอน ต้องหยั่งลงสู่ความสงบได้ ก็ความสงบของใจมีหลายขั้น สงบลงไปชั่วขณะแล้วถอนขึ้นมา นี่ก็เรียกว่า ความสงบ

    ความสงบที่รวมจุดลงแล้วถอยออกมาเล็กน้อยแล้วออกรู้สิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องภายนอกบ้าง ภายในของตัวออกแสดงบ้าง แต่ตัวเองไม่รู้ เพราะขั้นเริ่มแรกสติไม่ทัน นี้ก็เรียกความสงบประเภทหนึ่ง แต่ความสงบอย่างสนิทท่านเรียกว่า อัปปนาสมาธิ แม้จะถอนออกจากสมาธิมาทรงตัวเป็นจิตธรรมดาก็มีความสงบประจำ ไม่ฟุ้งเฟ้อไปกับอารมณ์ต่าง ๆ ตั้งอยู่ด้วยความสงบสุข มีความเยือกเย็น สบายเป็นประจำ จะคิดอ่านการงานอะไรได้ตามความต้องการ แต่ความสงบของสมาธิที่เป็นภาคพื้นอยู่แล้วย่อมทรงตัวอยู่เป็นปกติ ขณะที่รวมสงบเข้าไปก็ปล่อยวางกิริยาความคิดปรุงต่าง ๆ เสีย อยู่เป็นเอกจิตหรือเอกัคตา เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และรวมได้เป็นเวลานาน ๆ ตามต้องการ

    ปัญญาก็มีเป็นขั้น ๆ เหมือนกับสมาธิที่เป็นขณิกะ อุปจาระ และอัปปนาสมาธิ ปัญญามีขั้นหยาบ ขั้นกลาง และขั้นละเอียด ซึ่งควรจะใช้ไปตามขั้นของสมาธิขั้นนั้น ๆ ปัญญาที่เริ่มฝึกหัดเบื้องต้นก็เป็นขั้นหยาบอาศัยการฝึกหัดเสมอก็ค่อยมีกำลังขึ้นเป็นลำดับ อาศัยการฝึกหัดมากเท่าไรก็ย่อมมีความชำนาญคล่องแคล่วและรวดเร็วขึ้น เช่นเดียวกับสมาธิที่ฝึกอบรมพอตัวแล้วต้องการ จะให้จิตสงบลงสู่สมาธิเมื่อไรก็ได้ตามต้องการ

    ปัญญาก็จำต้องอาศัยการฝึกเช่นเดียวกัน มิใช่เพียงจิตเป็นสมาธิแล้วจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาเอง และจิตเป็นสมาธิขั้นไหน จะกลายเป็นปัญญาขั้นนั้น ๆ ขึ้นมาตาม ๆ กัน ต้องอาศัยการฝึกหัดเป็นสำคัญ ถ้าปัญญาจะปรากฏตัวแฝงขึ้นมาตามสมาธิ โดยไม่ต้องอาศัยการฝึกหัดแล้ว ผู้บำเพ็ญใจเป็นสมาธิแล้วจะไม่ติดอยู่ในสมาธิเลย เพราะปัญญาก็มีแฝงขึ้นมาและมีหน้าที่ทำงานแก้ไขปลดเปลื้องกิเลส ช่วยสมาธิไปเช่นเดียวกัน

    แต่การติดสมาธิรู้สึกจะมีดาษดื่น เพราะความเข้าใจว่าสมาธิก็เป็นตัวของตัวได้พออยู่แล้ว ทางที่ถูกและราบรื่นในการปฏิบัติควรจะเป็นทำนองว่า สมาธิก็ให้ถือว่าเป็นสมาธิเสีย ปัญญาก็ควรถือว่าเป็นปัญญาเสีย ในเวลาที่ควรจะเป็น คือขณะที่จะทำเพื่อความสงบก็ให้เป็นความสงบจริง ๆ เมื่อจิตถอนออกจากความสงบแล้ว ควรฝึกหัดคิดอ่านไตร่ตรองธาตุขันธ์ อายตนะ และสภาวธรรมต่าง ๆ แยกส่วนแบ่งส่วนของสิ่งเหล่านั้นออกดูให้ชัดเจนตามเป็นจริงของเขาด้วยปัญญา จนมีความชำนาญเช่นเดียวกับสมาธิ ปัญญาก็จะรู้หน้าที่งานของตนไปเอง ไม่ใช่จะต้องถูกบังคับขู่เข็ญอยู่ตลอดเวลา และจะก้าวขึ้นสู่ระดับอันละเอียดเป็นขั้น ๆ ไป จนกลายเป็นมหาสติมหาปัญญาไปพร้อม ๆ กัน และกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ โดยไม่ต้องสั่งเสียบังคับว่าให้พิจารณาสิ่งนั้น ให้ตรวจตราสิ่งนี้ ให้เห็นสิ่งนี้ ให้รู้สิ่งนี้ แต่สติกับปัญญาจะทำงานกลมเกลียวกันไปในหน้าที่ของตนเสมอกัน

    สิ่งใดมาสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สติกับปัญญาจะรู้และแก้ไขสิ่งที่มาสัมผัสนั้นได้ทันท่วงที แต่สติปัญญาขั้นนี้ทำงานเกี่ยวกับนามธรรมล้วน ๆ ซึ่งเป็นส่วนละเอียด ไม่เกี่ยวกับเรื่องของกายเลย เพราะกายนี้เพียงสติปัญญาขั้นกลางก็สามารถพิจารณารู้และปล่อยวางได้ ส่วนนามธรรมซึ่งเป็นส่วนละเอียดและเกิดดับพร้อมอยู่จำเพาะใจ เป็นหน้าที่ของสติปัญญาอันละเอียดจะทำการพิจารณา

    เพราะสติปัญญาขั้นนี้มีความกระเพื่อมและหมุนตัวเองอยู่เสมอ นอกจากเวลาเข้าอยู่ในสมาธิและเวลานอนหลับเท่านั้น ทั้งไม่มีการบังคับ นอกจากจะทำการยับยั้งไว้เพื่อพักสงบตามโอกาสอันควรเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อนตัวเองเลย เพราะความเพลิดเพลินในการคิดอ่านไตร่ตรอง เพื่อการถอดถอนตัวเอง ที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมขั้นสูงว่า อุทธัจจะความฟุ้งของใจนั้น ได้แก่ความเพลินในการพิจารณาธรรมทั้งหลายที่สัมผัสใจจนเกินไป ไม่ตั้งอยู่ในความพอดีนั่นเอง เมื่อจิตผ่านไปแล้วย้อนกลับมารู้ว่าการที่จิตเพลินในธรรมจนเกินไป แม้จะเป็นไปเพื่อถอดถอนก็จัดเป็นทางผิดได้ทางหนึ่งเหมือนกัน เพราะจิตไม่ได้พักผ่อนทางด้านความสงบ ซึ่งเป็นทางถูกและเป็นการเสริมกำลังปัญญา เพียงการทำงานตลอดเวลาไม่มีการพักผ่อนหลับนอนก็ยังรู้สึกเหนื่อยและทอนกำลัง แม้จะเป็นไปเพื่อผลรายได้จากงานที่ทำ

    ดังนั้น จิตแม้จะอยู่ในปัญญาขั้นไหนจำเป็นต้องพักสงบ ถอนจากความสงบออกมาแล้วก็ทำงานต่อไปตามแต่อะไรจะมาสัมผัส สติกับปัญญาต้องวิ่งออกรับช่วงและพิจารณาทันที ที่ทำงานของจิตก็คือธรรมทั้งสี่ ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีความเกี่ยวโยงกัน ทั้งเป็นงานติดกับตัวซึ่งควรจะพิจารณาได้ทุกขณะที่เคลื่อนไหว

    การเกิดและการดับของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอันเป็นส่วนภายใน เมื่อนำมาเทียบกับด้านวัตถุ คือกายแล้ว ก็คือการเกิด การตายของแต่ละสิ่งนั่นเอง ที่ต่างกันอยู่บ้างก็เพียงไม่เห็นซากของสิ่งเหล่านี้ยังเหลืออยู่เหมือนซากแห่งร่างกายเท่านั้น เวทนา ความสุข ความทุกข์ ความเฉย ๆ ที่ปรากฏอยู่กับใจ สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ปรากฏออกมาจากใจ จะหมดความหมายกับสิ่งภายนอก เพราะสิ่งภายนอกเหล่านั้นเป็นด้านวัตถุและเป็นส่วนหยาบ จะเป็นเพียงปรากฏขึ้นภายในจิตแล้วก็รับรู้กันและดับไป เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น พยายามสอบสวนทบทวนดูเรื่องความเกิดความดับของอาการทั้งสี่นี้ โดยทางปัญญาที่ทำหน้าที่ของตนอยู่ทุกเวลา จนสามารถรู้ชัดว่าอาการทั้งสี่นี้กับเรื่องรูปขันธ์มีลักษณะเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นด้านวัตถุกับด้านนามธรรมซึ่งไม่เหมือนกันก็ตาม แต่ก็รวมลงในไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน ฉะนั้น การสังเกตทบทวนดูเรื่องความเกิดดับของอาการทั้งสี่นี้โดยทางปัญญา จึงเป็นเหมือนไปเยี่ยมคนตายในสงครามหรือเมรุเผาศพนั่นเอง ไม่มีอะไรผิดแปลกกันทั้งขันธ์หยาบ (รูปขันธ์) ทั้งขันธ์ละเอียด (นามขันธ์) สงเคราะห์ลงในความพังพินาศเสมอกัน ไม่มีใครมีอำนาจราชศักดิ์ไปยึดเอาขันธ์เหล่านี้มาเป็นขันธ์เที่ยง คือนึกเอาตามใจหวังได้แม้แต่รายเดียว ผู้พิจารณาหยั่งลงถึงไตรลักษณะด้วยไตรลักญาณจริง ๆ แล้วก็มีอยู่ทางเดียว คือต้องรีบออกไปให้พ้นจากป่าช้าแห่งความเกิด-ตายทุกประเภทเท่านั้น ไม่ต้องมาเป็นกังวลซากศพของเขาของเรา ซึ่งเป็นสภาพที่น่าทุเรศเสมอกันทั้งสัตว์ทั้งคนอีกต่อไป

    นอกจากนี้ ยังจะสามารถพิจารณาได้อีกว่าอาการทั้งสี่นี้เกิดขึ้นมาจากไหน ฐานที่ตั้งของอาการทั้งสี่นี้มีอะไรเป็นที่ตั้ง นอกจากจิตนี้แล้วอาการทั้งสี่นี้จะไม่มีที่ตั้ง นี่ที่พระพุทธเจ้าท่านพิจารณาปัจจยาการ คือความเกิดความดับของสิ่งเหล่านี้จนสามารถรู้ที่เกิดที่ดับและรู้เท่าทันในจุดนั้นได้อีกด้วย เรียกว่าได้ปล่อยวางฐานที่เกิดแห่งภพแห่งชาติ ฐานที่เกิดแห่งกิเลสตัณหาอาสวะได้แก่จิตดวงนั้น ปล่อยวางส่วนแห่งร่างกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไปเป็นลำดับ ๆ แล้วก็ปล่อยวางธรรมชาติซึ่งเป็นรากฐานของกิเลสตัณหานั้นได้ด้วยปัญญาอีก แล้วกิเลสตัณหาจะมีที่ตั้งบ้านตั้งเรือน ตั้งภพตั้งชาติที่ไหน ไม่มีที่ตั้ง นี่ท่านเรียกว่า ทำลายอวิชชา อวิชชาได้สิ้นสุดลงในจุดนี้ เรื่องอุปาทานทั้งหมดก็ได้ยุติกันลง ความบริสุทธิ์นั้นจึงจะปรากฏภายในท่านผู้รู้นั้นอย่างเด่นชัดในขณะนั้นนั่นเอง

    ฉะนั้น นักค้นคว้าทางด้านจิตใจ จึงควรคำนึงถึงฐานที่เกิดและดับของขันธ์ทั้งสองประเภทนี้ด้วยปัญญาอันหลักแหลมว่า ขันธ์เหล่านี้เกิด-ดับ เกิด-ดับจากอะไร ฐานที่ตั้งของเขาคืออะไร นอกจากจิตดวงงมงายซึ่งกำลังเป็นเขียงเช็ดเท้าและเป็นผู้ให้กำเนิดของเขาแล้ว สมมติเครื่องกังวลน้อยใหญ่ไม่มีทางเกิดได้ ก็จิตดวงงมงายนี้มีอะไรแทรกซึมเขา เขาจึงกลายเป็นจิตที่มีโรคเบียดเบียนเป็นประจำ ไม่มีความแยบคายพอจะถอนตัวออกจากหล่มลึก คือความเกิด-ตายได้

    ลองใช้จอบและดาบเพชร คือ สติปัญญาขุดค้นฟาดฟันดูดวงใจนั้นด้วยความเพียร จะเห็นซากของอวิชชาทั้งเป็น เกาะกินอยู่ในจิตดวงนั้น เมื่ออวิชชาถูกจอบและดาบเพชรขุดค้นฟาดฟันอย่างหั่นแหลก ก็แตกกระเด็นออกจากใจ เสียงดังสะท้านหวั่นไหว ประหนึ่งแผ่นดินถล่มทั่วขอบเขตจักรวาล เสียงสะเทือนสะท้านทั่วไตรภพ เสียงทั้งนี้ คือเสียงอวิชชาพังทลายลงจากแท่นบัลลังก์ องค์พุทธะที่บริสุทธิ์ผุดขึ้นแทนแท่นบัลลังก์ของอวิชชาที่สิ้นซากลงไป เรื่องภพน้อยภพใหญ่ก็ทราบชัดในขณะนั้น ว่าเป็นไปจากธรรมชาติอันเดียวนี้พาให้เกิดให้ตาย


    ถ้าเป็นไม้ก็คือรากแก้วของต้นไม้ ถ้าเป็นภพชาติก็รากแก้วของภพชาติ คือ อวิชชาที่เชื่อมกันกับจิตอย่างสนิทมาเป็นเวลานาน จนไม่สามารถจะทราบว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นอวิชชา จำต้องหลงแล้วหลงเล่า จนกว่าสติปัญญามีความสามารถแกล้วกล้าถึงขั้นมหาสติ มหาปัญญาแล้วจึงจะทราบรากฐานที่เกิดภพ-ชาติได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งการทำลายด้วยมรรคญาณคือ ปัญญาขั้นละเอียด ภพ-ชาติจึงสิ้นสุดลงจากดวงใจ

    นั่นแล ที่ท่านว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ เป็นผู้เสร็จกิจในพระศาสนาโดยสมบูรณ์ ท่านจึงให้นามว่า วิมุตติ สมมตินั้นเราตั้งชื่อด้วย มีความติดใจในสิ่งนั้นด้วย เป็นอุปาทานในสมมตินั้นด้วย ส่วนวิมุตติตั้งขึ้นจากใจของท่านผู้บริสุทธิ์ จึงไม่มีความติดใจกับชื่อวิมุตติ เพียงตั้งไว้เป็นคู่เคียงของสมมติเท่านั้น เมื่อใจถึงขั้นนั้นแล้ว อริยสัจไปอยู่ที่ไหนเล่าก็ขณะจิตลุ่มหลงอยู่ อริยสัจไปอยู่ที่ใด เมื่อรู้แล้วอริยสัจก็จะอยู่ที่นั่นเอง จะถูกเปลี่ยนแปลงไปที่ไหนไม่ได้ เพราะสัจธรรมเป็นธรรมอันตายตัว ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นแต่กาลไหน ๆ มา

    อริยสัจสี่เป็นเส้นทางเดินถึงความสิ้นทุกข์ทั้งมวล ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะแบกหามไปด้วย ทุกข์ก็สิ้นไปจากใจ เพราะสมุทัยถูกถอนขึ้นด้วย มรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นิโรธก็แสดงเป็นความดับทุกข์ขึ้นในขณะเดียว แล้วก็สิ้นสุดลง ผู้ที่รู้ว่าทุกข์ดับไปผู้นั้นเป็นธรรมพิเศษจากอริยสัจสี่อันหนึ่งต่างหาก ควรเรียกว่า วิสุทธิธรรม เพราะหมดเรื่องเกี่ยวข้องโดยประการทั้งปวงแล้ว

    ท่านนักใจบุญทุกท่านที่ได้ยินได้ฟังแล้ว โปรดฝังใจลงในธรรม ปฏิบัติให้ถูกตามทางของพระพุทธเจ้า ผลเป็นที่พึงพอใจจะสนองตอบแทนความเหนื่อยยากจากการบำเพ็ญของเรา โดยไม่ว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นนักบวช และฆราวาส อย่าได้ประมาทวาสนาของตนที่สร้างมาแล้ว โปรดมีความภาคภูมิใจและพยายามบำเพ็ญต่อเติมวาสนาของเราให้มากพูนขึ้นไป ใจจะถึงแดนแห่งความสมหวังในวันหนึ่งแน่นอน

    ในอวสานแห่งการแสดงธรรม ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย จงอภิบาลรักษาให้ทุกท่านมีความสุขกายสบายใจ นึกสิ่งใดจงสมหวังดังปรารถนาทุกประการเทอญ
     
  2. blackangel

    blackangel เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    1,750
    ค่าพลัง:
    +1,919
    กัณฑ์ที่ ๒ พระธรรมเทศนา วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๐๕

    พระธรรมเทศนา วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๐๕

    ณ วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี

    ต่อไปนี้จะได้เริ่มแสดงคำสั่งสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอให้บรรดาท่านผู้ฟังพึงสังเกตความเคลื่อนไหวแห่งใจของตนในขณะฟัง ถ้าได้สังเกตความเคลื่อนไหวของใจโดยใกล้ชิดแล้ว เราจะได้เห็นอาการที่เคลื่อนไหว ซึ่งแสดงออกมาทั้งดีและชั่วจากใจดวงเดียวทุกระยะ ท่านกล่าวไว้ว่า โลกธาตุดูเหมือนว่ากว้างขวางมากมาย แต่นั้นเป็นสภาวะธรรมอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น เขาไม่มีความหมายและความรู้สึกในตัวของเขาเองแต่อย่างใด


    แต่ใจซึ่งเป็นตัวโลกธาตุนี้เป็นธรรมชาติที่รู้สกตัวเองอยู่เสมอ และธรรมชาตินี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก ถ้าชั่วก็ไม่มีอะไรจะเทียบ ดีก็ไม่มีอะไรจะทัดเทียมและเป็นธรรมชาติที่แปลกประหลาดยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ เหตุนั้นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา เป็นต้น สิ่งทั้งหลายมีใจเป็นสำคัญ จะดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับใจแต่สิ่งที่เป็นบริวารของใจกลับเป็นนายของใจนั้นมีจำนวนมาก ถ้าพูดอย่างสวยงามก็ว่า บริวารของใจ เครื่องใช้ของใจ แต่ถ้าพูดให้ถูกหลักธรรมจริง ๆ แล้วก็ควรว่า นายของใจ เครื่องกดถ่วงหรือเครื่องผูกมัดจิตใจนั้นเอง

    ใจที่ไม่ได้รับการอบรมย่อมมีภัยรอบตัว แต่ส่วนมากก็เกิดขึ้นจากเรื่องของตัวเอง ถ้ายังไม่ได้อบรมให้รู้เรื่องของตัวเองเสียบ้างแล้ว ย่อมจะคิดตำหนิติชมสิ่งภายนอกมากกว่าเรื่องของใจผู้ผลิตการติชมเสียเอง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า โอปนยิโก สิ่งที่เราเห็นด้วยตาก็ดี ได้ยินด้วยหูก็ดี พึงน้อมเข้ามาสู่ใจให้ทราบว่า สิ่งทั้งหลายนั้นมีใจเป็นผู้รับรู้ เป็นผู้ให้ความหมายในสิ่งทั้งปวง ถ้าใจไม่เป็นผู้ให้ความหมายแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะปรากฏความหมายขึ้นโดยลำพังตัวเองย่อมเป็นไปไม่ได้

    การอบรมใจก็เพื่อจะให้รู้เรื่องของตัวเองผู้ก่อเหตุ พระพุทธเจ้าทรงพยายามอบรมพระองค์เพื่อให้รู้สึกดีชั่วในพระองค์มาเป็นเวลานาน แต่นั้นเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า ซึ่งเช่นเดียวกับหนทางหลวงย่อมกว้างขวางหรือยืดยาว การก่อสร้างก็ต้องทุ่มเทกำลังมากมายจึงจะสมชื่อว่าเป็นทางหลวง ส่วนทางบุคคลที่จะไปสู่จุดต่าง ๆ ย่อมคับแคบ พอหลวมตัวเท่านั้นก็ไปได้อย่างสบาย แต่ภาระที่จะนำไปให้ประโยชน์สำหรับตนนั้นก็มีจำนวนน้อยพอเหมาะกับกำลังจะหอบหิ้วไปได้ ส่วนทางหลวงเมื่อสำเร็จแล้วนำสัมภาระไปได้มาก เช่น ทางรถไฟ เป็นต้น ไปมาแต่ละเที่ยวบรรทุกคนได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีสิ่งของติดมากับรถไฟก็มีจำนวนไม่น้อย วิสัยของพระพุทธเจ้าจะรื้อขนสัตว์โลกให้พ้นจากโอฆสงสารก็ย่อมจะทุ่มเทกำลังลงเป็นจำนวนมากและเป็นเวลานาน

    เมื่อบำเพ็ญให้สำเร็จตามภูมิของพุทธวิสัยแล้ว จึงเป็นผู้มีความสามารถและฉลาดแนะนำพร่ำสอนสัตว์ทั้งหลาย พร้อมทั้งทราบอุปนิสัยของสัตว์แต่ละราย ๆ ว่าควรจะแนะนำพร่ำสอนได้โดยวิธีซึ่งจะให้สำเร็จผลแก่ผู้มาศึกษาและปฏิบัติตามเป็นขั้น ๆ ไป พระองค์ทรงทราบได้ดี

    นอกจากทรงทราบอัธยาศัยของบรรดาสัตว์แล้ว ยังทราบธรรมะที่จะพึงนำมาแนะนำสั่งสอนให้ได้ประโยชน์แก่บรรดาสัตว์ทั้งหลายเป็นราย ๆ ไปด้วย แต่สาวกทั้งหลายไม่มีความสามารถทัดเทียมพระพุทธเจ้าได้ เพียงมีกำลังและความสามารถที่จะแนะนำสั่งสอนทำหน้าที่แทนพระพุทธองค์ได้ตามกำลังความสามารถของตนเท่านั้น แม้จะเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสอาสวะเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่กำลังความเชี่ยวชาญเฉลียวฉลาดสามารถที่จะแนะนำพุทธบริษัทให้เป็นไปได้เป็นจำนวนมากเหมือนอย่างพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่วิสัยของสาวกผู้ไม่มีความสามารถเท่าเทียมพระพุทธเจ้าได้

    เมื่อย้อนเข้ามาถึงเราทั้งหลายผู้บำเพ็ญให้ข้ามพ้นไปโดยเฉพาะแล้ว จึงไม่ควรคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธบารมีมาเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ท่านจึงสามารถพ้นทุกข์ไปได้ แต่เรามีกำลังเพียงเท่านี้ สติปัญญาเพียงเท่านี้ ไฉนจะสามารถบำเพ็ญตนให้พ้นได้เช่นพระพุทธเจ้า

    ที่ถูกเราไม่ควรคิดเช่นนั้น เพราะวิสัยของพระพุทธเจ้ากับวิสัยของเรามีความแตกต่างกันมาก ถ้าจะเทียบกับรถ รถของพระพุทธเจ้าเป็นรถขนาดใหญ่ เช่น รถไฟหรือรถบรรทุก รถของพวกเราเป็นรถเล็กและรถนั่งเฉพาะไม่สามารถจะบรรทุกสัมภาระและคนโดยสารไปได้ แม้จะบรรทุกไปบ้างก็เพียงหนึ่งคนหรือสองคนเท่านั้นก็พอดีกับกำลังของตน ไม่เหมือนรถใหญ่ซึ่งบรรทุกได้คราวละมาก ๆ ก็บัดนี้เราจะพยายามบรรทุกเฉพาะตัวของเราให้ข้ามพ้นไปด้วยความสะดวกและราบรื่น โดยไม่เกี่ยวกับภาระซึ่งจะเป็นทางให้เนิ่นช้า จึงไม่ควรเทียบพระพุทธเจ้ากับเราในส่วนบำเพ็ญบารมี

    อนึ่ง การอบรมใจที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ นับว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องรัดกุมอยู่แล้ว พอจะพยุงเราให้ก้าวพ้นไปจากวัฏสงสารได้ทันกับเวลา ส่วนวิธีอื่นก็เป็นประโยชน์และเป็นอุปกรณ์ซึ่งกันและกันอยู่แล้ว แต่วิธีนี้เป็นวิธีรัดกุม พอเป็นทำนบที่ไหลรวมแห่งบารมีทั้งหลายให้มารวมอยู่จุดเดียว คือใจที่เต็มไปด้วยความสงบและเยือกเย็น

    เพราะฉะนั้น บรรดาพระภิกษุสามเณรที่บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว หลักพระธรรมวินัยจึงไม่นิยมให้ประกอบการงานส่วนอื่น ซึ่งนอกไปจากข้อวัตรข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหน้าที่เฉพาะของนักบวช เฉพาะผู้บวชจึงสอนทางลัดทางตรงเสมอว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น และสอนที่อยู่ที่อาศัย เพื่อบำเพ็ญด้วยความสะดวกตามเพศของนักบวชว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถโว ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย บรรพชาอุปสมบทในพระศาสนาแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามอุตส่าห์อยู่ตามรุกขมูล คือ ร่มไม้ชายเขาอันเป็นที่สงัดวิเวกและสะดวกแก่การบำเพ็ญสมณะธรรม ไม่ให้มีภาระผูกพัน พึงประพฤติตนเช่นเดียวกับนกซึ่งมีปีกกับหางเท่านั้น แม้จะเที่ยวหากินผลไม้หรืออาหาร ณ ที่ใดเพียงพอแก่จะอยู่ปากของตนแล้วก็บินไปตามสบาย ที่หลับนอนของนกไม่มีกำหนดว่าจะอยู่ที่ไหน ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่นไม่มีความเกาะเกี่ยวกังวลใด ๆ แม้บินไปจับต้นไม้แล้ว เมื่อบินจากต้นนี้ไปสู่ต้นหน้าก็ไม่ได้ทำความผูกพันหรืออาลัยในต้นไม้ต้นนี้เป็นของตน บินผ่านไปเป็นลำดับ

    นกไม่มีกังวลใด ๆ ทั้งอาหารที่ยังเหลืออยู่ทั้งต้นไม้ที่ตนอาศัย บินจากไปแล้วก็ไม่เป็นอาลัย บรรดานักบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งมุ่งหน้าเพื่อความเป็นลูกศิษย์ตถาคตแล้ว จำต้องดำเนินตนให้เป็นอย่างฝูงนกเสมอไปตลอดชีวิต พยายามอบรมตนให้เป็นที่ร่มเย็นและเป็นเนื้อนาบุญของตนได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยอุบายวิธีที่ประทานไว้ อะไรเล่าที่เป็นเนื้อนาบุญของตน คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ข้อวัตร ซึ่งเป็นอุปกรณ์แห่งการบำเพ็ญสมณะธรรมเหล่านี้ จัดเป็นเนื้อนาบุญแต่ละอย่าง ๆ เป็นผู้มีภารกิจน้อย บำเพ็ญอยู่ในศีล สมาธิปัญญา ขัดเกลาจิตใจของตนอยู่เสมอ ไม่ทำความผูกพันอาลัยในที่อยู่และสถานที่อาศัยตลอดถึงตระกูลที่อุปการะเป็นประจำ ซึ่งตนได้เคยอาศัยทุกวัน

    บิณฑบาตมาวันหนึ่งจะได้อะไรมากน้อยเป็นที่พอใจ ไม่มีความสำคัญมั่นหมายในอาหารการบริโภคว่าจะมีรสประณีตบรรจงหรือไม่ก็ตาม เมื่อเห็นว่าไม่ขัดข้องในหลักพระธรรมวินัยแล้ว ยินดีบริโภคขบฉันไปเพียงยังอัตภาพให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและการประกอบความเพียรเท่านั้น นี่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตนให้เป็นเนื้อนาบุญของตนตามที่ได้อธิบายแล้ว

    ศีลก็เป็นเนื้อนาบุญอันหนึ่ง สมาธิก็เป็นเนื้อนาบุญอันหนึ่ง ปัญญาก็เป็นเนื้อนาบุญอันหนึ่ง ทานก็เป็นเนื้อนาบุญอันหนึ่ง ทั้งนักบวชและฆราวาสผู้บำเพ็ญตามนี้จัดว่าเป็นผู้บำเพ็ญตนให้เป็นเนื้อนาบุญของตน วันนี้บำเพ็ญ วันหน้าก็บำเพ็ญ ไม่ลดละในเนื้อนาบุญของตนจนสามารถทำศีล ทำสมาธิ ทำปัญญาให้สมบูรณ์ขึ้น แล้วก็กลายเป็นความร่มเย็นแก่ตนอย่างเต็มที่ เมื่อมีความเพียรบำเพ็ญตนให้เป็นเนื้อนาบุญของตนได้แล้วก็สามารถเป็นเนื้อนาบุญ คือให้ความร่มเย็นแก่ประชาชนได้เช่นเดียวกัน แนวทางขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าและสาวกอรหันต์ ท่านได้ดำเนินมาอย่างนี้ทั้งนั้น แม้ก่อนพระองค์จะเป็นศาสดาของโลกก็ปรากฏว่าเป็นศาสดาของพระองค์เองมาก่อน จนมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าในวิชชาวิมุตติหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ

    เมื่อเป็นศาสดาในพระองค์อย่างสมบูรณ์แล้ว ต่อมาก็เป็นครูสอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งเราทั้งหลายก็กล่าวอยู่เสมอว่า ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถาเทวมนุสฺสานํ ดังนี้ ซึ่งหมายความว่าพระองค์เป็นบุรุษผู้หนึ่งซึ่งควรฝึกทรมานให้เป็นผู้ควรแก่มนุษยธรรมและมรรคผลนิพพาน

    เมื่อฝึกทรมานได้เต็มภูมิแล้วเป็นผู้สมควรจะสั่งสอนโลกในวาระต่อไป โดยไม่เลือกชาติ ชั้นวรรณะและความมีความจน เพราะนั่นมันเป็นกฎของกรรมประจำสัตว์และบุคคล ไม่มีใครจะหลีกเลี่ยงได้ ต้องยอมจำนนและรับเสวยผลกรรมที่มีประจำตน เฉพาะนักบวชเป็นไปเพื่อไม่ก่อความกังวลวุ่นวายแต่เป็นไปเพื่อประหัตประหารกิเลส ซึ่งเป็นข้าศึกภายในใจให้ค่อยหมดไป และเป็นไปเพื่อการไม่สั่งสมกิเลสซึ่งยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ก็อยู่ในสถานที่นั้น ไปในสถานที่นั้น บำเพ็ญอยู่ในสถานที่นั้น

    ศีลก็เริ่มบริสุทธิ์บริบูรณ์ขึ้นมา เพราะสถานที่ก็เหมาะเจาะ การบำเพ็ญก็สะดวก สิ่งที่จะมาก่อกวนให้ศีลด่างพร้อยก็ไม่มี จะทำให้ศีลขาดทะลุก็ไม่มี แต่ละวันเจริญขึ้นด้วยการรักษาและมีสติสืบต่ออยู่เสมอ จิตก็ไม่ปล่อยไปตามอำเภอใจ พยายามระมัดระวังรักษาความกระเทือนของจิตใจซึ่งจะเป็นไปในทางที่ผิดอันเกิดขึ้นจากความพลั้งเผลอ

    ใจเมื่อได้รับการอบรมรักษาโดยความเอาใจใส่ก็จะเป็นไปเพื่อความสงบเยือกเย็นเห็นผลในปัจจุบันจิต ปรากฏว่าเป็นความสุขความสบายเบาทั้งกายเบาทั้งจิต คิดค้นคว้าหาเหตุผลในหลักธรรมซึ่งจะเป็นไปเพื่อความชัดเจนแจ่มแจ้งเป็นลำดับ จนสามารถถอดถอนกิเลสอาสวะไปได้เป็นขั้น ๆ

    ผลที่สุดก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในจิตใจ กลายเป็นเนื้อบาบุญขึ้นมาอย่างมหัศจรรย์ อันดับต่อไปก็สมควรจะประกาศพระศาสนาสั่งสอนประชาชนทั้งหลายได้เห็นอรรถเห็นธรรม ให้รู้ทางผิดทางถูกแล้วบำเพ็ญตนให้เป็นลำดับ ไม่เสียชาติที่เขาเกิดมายังไม่ได้รับประโยชน์จากผู้เป็นปุญญเขตทรงคุณอันสูงในโลก ได้กราบไว้บูชาถึงสวรรค์ ถึงนิพพานได้


    เพราะเหตุแห่งพระรัตนตรัยนี้มีจำนวนมาก เพราะทรงคุณไว้อย่างสมบูรณ์ ใครมากราบไหว้ก็ได้รับประโยชน์ เราทุก ๆ คนพึงน้อมธรรมเหล่านั้นเข้ามาสู่จิตใจ พุทธ คือ ความรู้มีอยู่ที่ใจของเราธรรม ที่จะอบรมฝึกฝนผู้รู้นี้ให้มีความเด่นและมีความเฉลียวฉลาด จะต้องเกิดขึ้นจากผู้รู้เป็นผู้แสวงหามาเอง เพื่อแนะนำพร่ำสอนตนโดยทางที่จะให้เป็นไปเพื่อความเฉลียวฉลาด สังฆ ผู้จะปฏิบัติตามพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พยายามแก้ไขตนเองก็คือเรื่องของเราผู้เดียวจนสามารถปรากฏเป็นพระรัตนตรัย คือพุทธที่บริสุทธิ์ แจ่มแจ้ง ธรรมคือความอัศจรรย์ ซึ่งเกิดขึ้นจากความบริสุทธิ์ สังฆเป็นเจ้าของแห่งพุทธ และธรรมทั้งสามนั้นก็คือเรื่องของเราคนเดียว

    การอธิบายทั้งนี้เพื่อน้อมพระรัตนตรัยเข้ามาสู่เราคนเดียว เพื่อเป็นสมบัติของเราที่แท้จริง พุทโธ ธัมโม สังโฆ ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสมบัติส่วนหนึ่ง ซึ่งเราได้หยิบยืมมาค้า คือการบำเพ็ญเพื่อหากำไรใส่ตัวเองจนปรากฏเป็นพุทธ ธรรม สังฆ ในธรรมชาติขึ้นภายในจิตใจของผู้บำเพ็ญ ผู้เช่นนี้จะไปอยู่ในที่ใด ๆ พระรัตนตรัยก็ติดแนบอยู่กับใจ

    ฉะนั้น พุทโธ ธัมโม สังโฆ เมื่อกล่าวโดยชื่อแล้วก็มีแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เมื่อกล่าวตามหลักธรรมชาติแล้ว พุทธอันใด ธรรมก็อันนั้น สังฆก็อันนั้น เพราะพุทธ ธรรม สังฆ เป็นธรรมกลมเกลียวกันอย่างสนิท ไม่ได้นอกเหนือไปจากใจดวงเดียวนี้

    พุทธดวงนั้นเวลานี้ก็มีอยู่กับพวกเรา โปรดพยายามอบรมแก้ไขให้ได้ พุทธดวงนี้ไม่นอกเหนือไปจากอำนาจของสติและปัญญา ไม่มีใครจะเป็นผู้มีอำนาจและวาสนายิ่งกว่าตัวเราที่จะอบรมฝึกฝนทรมานใจของเราไปได้

    พระพุทธเจ้าแม้พระองค์มีอำนาจวาสนาเป็นศาสดา คือ ครูของสัตว์โลกก็ตาม แต่ก็เป็นครูในอุบายวิธีการสั่งสอนต่างหาก ไม่ใช่เป็นผู้จะถอดถอนกิเลสอาสวะให้แก่บรรดาสัตว์ทั้งหลายได้ การถอดถอนกิเลสอาสวะตั้งแต่ขั้นหยาบจนถึงขั้นละเอียดเป็นหน้าที่ของเรา ซึ่งได้รับอุบายวิธีจากพระพุทธเจ้าแล้วมาพร่ำสอนตัวเองและแก้ไขตนเองโดยตรง ได้ย่นธรรมเข้ามาสู่เราให้เห็นว่า ปุญฺญเขตตํ โลกสฺส ไม่ใช่ผู้อื่นผู้ใดนอกจากตัวเราทุกท่านจะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์เฉพาะตนเท่านั้น ไม่มีใครจะมาทำให้เราได้

    วันนี้เราบ่นว่ายุ่งยาก เราบ่นว่าลำบาก บ่นว่าไม่มีโอกาส วันหน้าเราก็จำต้องบ่นอีกต่อไป ผู้จะมาปลดเปลื้องความยุ่งเหยิงขัดข้องหรือโอกาสเวล่ำเวลาให้เรานั้น ไม่มีใครจะสามารถมาเปลื้องให้ได้ เพราะใครก็ต้องเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงขัดข้องด้วยกันทั่วทั้งโลกอันนี้ เราอยู่ในบ้านคนเดียวมีกายอันเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับใครก็บ่นอยู่ภายในบ้านคนเดียว วุ่นวายอยู่คนเดียว คนอื่นบ้านอื่นเข้าใจว่าไม่ยุ่งยากเหมือนกับเรา เราก็จะเห็นว่าในโลกนี้หรือในแผ่นดินอันนี้มีแต่เราคนเดียวเป็นผู้รับเคราะห์กรรม ความยุ่งยากความทุกข์ก็จะมีแต่เราคนเดียว ความยุ่งเหยิงใด ๆ ก็จะมีแต่เรารับเสียคนเดียว

    โปรดได้เปิดประตูบ้านออกไปมองดูคนภายนอกจะเห็นคนอื่นที่เป็นทุกข์เช่นเราหรือยิ่งกว่าเราอีกเป็นคนที่สอง เดินออกนอกบ้านไปก็ยิ่งจะเห็นคนที่สาม ที่สี่เป็นลำดับ ยิ่งเดินออกไปไกลก็ยิ่งจะเห็นคนเป็นจำนวนมากซึ่งเต็มไปด้วยความยุ่งยากเช่นเดียวกับเรา เราเป็นอย่างไร เขาก็เป็นเช่นนั้น ความทุกข์ความยุ่งเหยิงทั้งมวล เราลองไปถามเขาดูว่ามีความทุกข์ความยุ่งเหยิงเช่นเดียวกับเราหรือไม่ โอกาสเวลาเขาจะมีหรือไม่ หรือไม่มีเฉพาะเรา ก็จะทราบได้ทันทีว่าคนในโลกนี้ สัตว์ในโลกนี้ไม่มีใครจะอยู่เหนือความทุกข์ความยุ่งเหยิงไปได้ แม้โอกาสและความสะดวกขัดข้องก็อยู่กับคนเราซึ่งจะให้โอกาสและความขัดข้องแก่ตนโดยทางใดทางหนึ่งเท่านั้น นอกจากตัวเราเองจะฝ่าฝืนตัวเราเพื่อทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และสมบัติภายในใจแล้ว ไม่มีทางอื่นจะทำได้

    แม้พระพุทธเจ้า ถ้าจะรอโอกาส รอวาสนา รอเวล่ำเวลา รอการงานให้เบาบางลงไปเสียก่อนจึงจะออกบำเพ็ญสมณะธรรมแล้ว ป่านนี้พระองค์จะไม่ปรากฏเป็นศาสดาของโลกให้เราทั้งหลายได้กราบไหว้เคารพนับถือเลย แต่พระองค์เป็นศาสดาได้ก็เนื่องจากพระองค์เห็นว่าความไม่มีโอกาสก็ดี ความยุ่งยากก็ดี ก็คือพระองค์ผู้เดียว ความหิวกระหายทั้งหลายมีอยู่ในธาตุในขันธ์ของพระองค์ พระองค์จะต้องรับประทานอาหาร ผู้ใดจะมารับประทานแทนพระพุทธเจ้าไม่ได้ แม้กิเลสอาสวะที่มีอยู่ภายในใจของท่านก็เป็นภาระจะทรงทำหน้าที่ถอดถอนออกจนไม่มีอะไรเหลือ ผลที่ทรงได้รับจากความเพียรไม่ท้อถอย จึงปรากฏเป็นมหัศจรรย์ไปทั่วโลกธาตุประหนึ่งโลกธาตุหวั่นไหว

    ฉะนั้น จึงควรจะกล่าวได้ว่า ทางพระพุทธเจ้าเดิน เดินดินฝ่าฝืนอุปสรรค ไม่ใช่เดินเข้าไปยอมอุปสรรค ไม่ใช่จะยอมตนต่อเหตุการณ์ที่มาเผชิญเอาอย่างง่าย ๆ เราที่หาเรื่องใส่เราทั้งวันทั้งคืนนี้มันเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าเรื่องใด ๆ ตุลาการที่ไหนจะมาตัดสินก็ไม่มี แต่ถูกฟ้องร้องทั้งวัน คดีรายไหนก็เกิดจากใจก็ยอมแพ้เสียทั้งนั้น เพราะไม่ใช้ปัญญามาตัดสิน แล้วใครจะมาตัดสินให้ว่าโอกาสอยู่ที่นั่น ความว่างอยู่ที่ไหน ให้ท่านไปเสาะแสวงหา แล้วเราจะตัดสินให้ท่านเป็นผู้ชนะความดังนี้

    ทั้งนี้ก็เพราะโอกาสมันก็อยู่กับเรา เวล่ำเวลามันก็อยู่กับเรา วาสนามันก็อยู่กับเราที่ทำไว้ ขออย่างเดียวแต่อย่านำความขี้เกียจขี้คร้านมาเป็นหัวหน้างาน เมื่อเราทำลงไปโอกาสวาสนาจะต้องมี ไม่ต้องไปหามาจากที่ไหน เพราะสิ่งทั้งนี้ไม่มีอยู่กับดินฟ้าอากาศ เราซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าผู้ถือพระนามในทางความเพียร จึงควรคำนึงถึงวิธีการของพระองค์ น้อมเข้ามาฝึกฝนตนให้เป็นไปตาม

    อนึ่ง เราผู้มุ่งต่อของดีมีค่ามาก โปรดอย่านำสิ่งที่ชั่วและบุคคลเลวทรามมาเป็นแบบฉบับ จะทำให้เราให้เสียไปด้วยโดยไม่ต้องสงสัย ปราชญ์ท่านดำเนินอย่างใด เราต้องพยายามนำธรรมที่ท่านได้รับผลไปแล้วนั้นมาเป็นเครื่องพร่ำสอนใจเรา

    ถ้าปล่อยให้แต่โอกาส ปล่อยให้ความยุ่งยากมาตัดสินให้เรา มาชี้ช่องให้เรา เขาจะต้องชี้ช่องเข้าทางยุ่งทางวุ่นวายตลอดเวลา และชี้เข้าช่องไม่มีโอกาสชี้ว่าไม่มีวาสนา ไม่มีบุญญาธิสมภารตลอดวันตาย วันหนึ่งที่เขาจะชี้ว่าท่านมีอำนาจวาสนาพอแล้ว วันนี้ท่านว่างแล้ว โอกาสวาสนาพร้อมมูลแล้ว ท่านควรจะทำคุณงามความดีได้แล้ว ไม่มีเลย

    แม้ที่สุดจนกระทั่งวันตายก็ไม่มีเวลาจะผ่อนผันให้เราได้รับความสะดวกจากเขา แต่มันก็ตายได้ เพราะเวลามันอยู่กับความตายนั่นเอง มันถึงตายได้ทั้ง ๆ ไม่อยากตายและไม่เคยปล่อยโอกาสให้ความตายเลย โปรดคิดตรองดูด้วยปัญญาด้วยดี เราคงมีทางสร้างความดีโดยอุบายที่กล่าวนี้ เพราะคนและสัตว์ในโลกไม่มีใครจะอยู่เฉย เพราะโลกนี้เป็นโลกที่จะก่อร่างสร้างอยู่สร้างกิน มีที่อยู่อาศัยเป็นอยู่หลับนอนมีความจำเป็นอยู่รอบด้านต้องจัดต้องทำ ไม่ทำไม่ได้

    ใครจะไม่ยุ่งในโลกนี้ไม่มีเลย เราเดินออกไปกว้างและไกลเท่าไร จะเห็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากมาก ไม่มีจบสิ้น แม้จะให้นามความยุ่งเหยิงในมวลสัตว์ คือ โรคเรื้อรังก็คงไม่ผิด เพราะโรคแก้ไม่หาย จะถามใครเขาก็จำเป็นต้องตอบเป็นเสียงเดียวกัน เพราะมันเป็นโลกยุ่งเหยิงอันเดียวกัน ไม่มีใครจะได้รับเป็นเอกราชจากกิจการและโอกาสใด ๆ ทั้งนั้น เพราะขันธ์แต่ละขันธ์เป็นกองแห่งความยุ่งยากจะต้องบำบัดรักษา และกังวลอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่จะนำมาเยียวยารักษาก็ต้องพยายามหามา ความกังวลในเรื่องทั้งนี้จนถึงรับประทานไม่ได้ นอนไม่หลับก็มีในบางเวลา เพราะคิดหาทางแก้ไขเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา และเพื่อครองตัวไปได้อย่างโลกเขา บางรายปล่อยใจให้เลยเถิดจนลืมตัวอย่างมืดมิดจนปิดกั้นทางเดินเพื่อมรรคผลที่ตนจะพึงได้รับเพราะความกังวล มีกำลังกล้าจนสามารถปกปิดกำลัง แม้อุปนิสัยแห่งมรรคผลอันควรจะได้อยู่แล้วให้แคล้วคลาดไป เช่นเดียวกับอาหารที่แปดเปื้อนด้วยของสกปรกเลยกลายเป็นของน่าเกลียดไป ฉะนั้น นอกจากจะชำระให้สะอาดแล้วจึงจะเป็นของที่น่ารับประทาน

    การชำระใจจากสิ่งมัวหมองจึงเป็นกิจที่ควรทำสำหรับผู้มุ่งต่อความสุขอันสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น คำว่า การทำปรินิพพานให้แจ้งนั้น จึงหมายถึงการกำจัดสิ่งมัวหมองของใจให้ค่อยหมดไปเป็นลำดับ เช่น เรานั่งสมาธิ ณ บัดนี้ก็เรียกว่าเราทำพระนิพพานให้แจ้งได้เหมือนกัน แต่วิธีที่จะทำให้แจ้งได้มากน้อยเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับกำลังการกระทำ


    เราทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ทั้งหมดเป็นวิธีการจะทำพระนิพพานให้แจ้งนั้น เหมือนเราก้าวลงจากบ้านไปสู่ที่ต่าง ๆ ตามความประสงค์ ก้าวแรกนั้นก็คือก้าวจะไปอยู่แล้ว ก้าวที่สองก็เป็นก้าวที่จะไป ก้าวนี้ต่อก้าวนั้น ๆ ต่อก้าวนั้น ก็ถึงจุดหมายปลายทางที่เราประสงค์ได้

    ดังนั้น การกระทำคุณงามความดีทั้งหมดจัดเป็นความดีแต่ละก้าวที่จะกระทำพระนิพพานให้แจ้งได้อย่างเต็มที่ ขอบรรดาทุกท่านจงพยายามทำจิตใจให้เป็นไปเพื่อความสงบได้บ้าง แม้ยังไม่ถึงความสงบอย่างเต็มที่ก็พอจะเป็นช่องทางให้เห็นดวงใจ ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ภายในร่างกาย เป็นแต่ถูกสิ่งต่าง ๆ มาปกปิดกำบังไว้ แล้วเห็นสิ่งทั้งหลายว่าเป็นของมีคุณค่ายิ่งกว่าใจของตนไปเสีย จึงเป็นเหตุให้ใจฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมต่อสิ่งเหล่านั้นโดยไม่รู้สกตัว จิตจึงกลายเป็นเขียงเช็ดเท้าและถอดตนลงเป็นทาสแห่งสิ่งทั้งหลายไปเสีย โดยเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นของมีคุณค่ากว่าใจซึ่งเป็นสาระสำคัญแล้วขาดการยับยั้งใจ ผลจึงเป็นความเดือดร้อนทั้งวันทั้งคืน นี่เป็นเพราะเหตุแห่งความลืมตน

    เมื่อพยายามทำใจให้ได้รับความสงบบ้างด้วยวิธีอบรม ใจก็จะเริ่มเห็นความสุขและเริ่มเชื่อพระศาสนาดิ่งลงไปเป็นลำดับ ความเชื่อซึ่งเคยมีอยู่แล้วนั้นเป็นความเชื่อซึ่งไม่มีหลักฐานและเหตุผลเพียงพอ แต่ความเชื่อที่ปรากฏขึ้นในเวลาจิตมีความสงบจะเป็นความเชื่อที่เป็นปัจจักขสิทธิ คือเป็นความเชื่อเกิดขึ้นโดยเฉพาะ รู้ขึ้นเฉพาะหน้านั่นเป็นสำคัญ

    ข้อนี้เป็นธรรมดาเหลือเกินที่สิ่งใดถ้าไม่เห็นผลเสียก่อนความเชื่อก็ยังไม่สมบูรณ์ เช่นใจของเราทังวันทั้งคืนมีแต่ความรุ่มร้อนไม่มีความสงบ ตั้งตัวอยู่ไม่ได้แม้แต่ขณะเดียว เราจะหาความสุขที่ใจก็หาไม่ได้ แม้แต่ศาสนาท่านว่าเป็นของประเสริฐ ความรู้ในแง่หนึ่งก็ไม่เห็นไปตาม บางทีอาจเป็นไปว่าศาสนาเป็นโมฆะ ไม่จริง แต่เมื่อได้พยายามฝึกหัดจิตใจให้หยั่งเข้าสู่ความสงบแล้ว ย่อมจะเริ่มเห็นความสุขและเริ่มเห็นความอัศจรรย์ของพระศาสนา

    คำว่า “ใจสงบ” นี้โปรดทราบไว้ว่านิสัยไม่เหมือนกัน ลักษณะแห่งความสงบนั้นมีต่างกันอยู่บ้าง แต่เมื่อเข้าถึงที่แล้วก็เป็นธรรมชาติปล่อยวางภาระทั้งหลายเช่นเดียวกัน บางรายจะค่อย ๆ สงบลงไปด้วยวิธีบริกรรมภาวนาจะเป็นธรรมบทใดก็ตามหรือจะค่อย ๆ สงบลงไปด้วยลมหายใจเรียกว่า อานาปานสติ ความสงบลงไปโดยลำดับจนกระทั่งจิตหยุดทำงาน มีความรู้อยู่จำเพาะหน้านั้นเรียกว่า จิตสงบ

    นานหรือไม่นานก็ตาม เพียงแต่เห็นความสงบขณะที่จิตหยุดทำงานเท่านั้น เราก็พอจะเห็นความสุขภายในใจได้แล้ว ถ้าเราพยายามทำไปเรื่อย ๆ จิตก็จะสงบได้เร็วและจะละเอียดลงไปเป็นลำดับ จนกระทั่งจิตเราถอนขึ้นมาแล้วจะคิดอ่านการงานอะไร แทนที่จิตจะวุ่นวายไปตามสิ่งต่าง ๆ เหมือนที่เคยเป็นมากลับเป็นจิตละเอียดอ่อน และเป็นความสะดวกสบายภายในใจไม่วุ่นวาย นี่ก็เป็นผลให้เราประจักษ์อยู่แล้ว

    ยิ่งใจมีความสงบลงไปได้นาน ๆ ปล่อยภาระได้ทั้งหมดเรียกว่า จิตหยุดทำงาน จะปรุงแต่งเรื่องใด ๆ ก็มีความรู้อยู่จำเพาะหน้า ขณะนั้นเราจะเห็นของอัศจรรย์ขึ้นที่นั่นเอง เมื่อถอนขึ้นมาแล้วเราควรพิจารณาไตรลักษณ์โดยทางปัญญา

    คำว่า “อนิจจัง” คือความแปรปรวนนั้นมีอยู่รอบตัวทั่วสรรพางค์ร่างกาย ไตร่ตรองไปตามสภาวะซึ่งมีอยู่ในตัว อย่างสมบูรณ์ให้เห็นชัด แม้ทุกข์ ความบีบคั้นก็มีอยู่ทั้งวันทั้งคืน ไม่เพียงแต่ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจที่เกิดขึ้นเพราะอารมณ์ต่าง ๆ ก็มีอยู่เช่นเดียวกัน จงกำหนดให้เห็นชัด คำว่า “อนัตตา” ก็ปฏิเสธในความเป็นสัตว์ เป็นสังขาร เป็นเรา เป็นเขาอยู่ทุกขณะ เมื่อพิจารณาจนมีความชำนาญ กายก็จะรู้สึกว่าเบา ใจก็มีความอัศจรรย์และสว่างกระจ่างแจ้งไปโดยลำดับ ปัญญาก็ยิ่งจะไหวตัวทั้งกลางวันกลางคืน โทษมีอยู่ที่ไหนก็จะเห็นชัด แม้คุณก็จะปรากฏขึ้นในขณะที่เราเห็นโทษเป็นลำดับไป ใจค่อย ๆ ยกฐานะขึ้นจากสิ่งกดขี่บังคับทั้งหลาย ค่อยพยุงตัวสูงขึ้นเป็นลำดับนี่ท่านเรียกว่า จิตใจได้รับความเบาบางพ้นจากภาระไปเป็นขั้น ๆ

    ภาระก็คือเรื่องของใจหรืออารมณ์ ไม่ใช่เรื่องอื่นใด กิจการทั้งหลายเขาไม่ใช่ภาระ รูป เสียง กลิ่น รส ทั้งหลายไม่ใช่ภาระ แต่เป็นภาระอยู่กับเรื่องของใจที่ปรุงไปเกี่ยวข้องเรื่องทั้งหลายแล้วถือมาเป็นอารมณ์กดถ่วงใจ เสียดแทงจิตใจตนเอง จึงจัดว่าเป็นภาระของใจ เมื่อใจปล่อยวางสิ่งทั้งหลาย ใจก็หมดภาระไปเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งจิตได้หลุดพ้นหรือปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นได้อย่างจริงจังแล้ว ภาระทั้งหลายก็หมดไป ไม่มีอันใดเหลือ แม้แต่ความคิดความปรุงของจิตก็รู้เท่าทัน ไม่ได้ถือเป็นภาระต่อไปอีก ความรู้ความเห็นซึ่งเป็นขึ้นภายในใจทุกด้านทุกมุมก็รู้เท่าเอาทัน ไม่มีอันใดจะเหลืออยู่ให้เป็นความลุ่มหลงอีกต่อไป ใจย่อมจะหมดภาระที่เป็นข้าศึกอันจะพึงชำระสะสาง

    คำว่า “ข้าศึก” นั้น เบื้องต้นเราต้องถือว่าสิ่งภายนอกเป็นข้าศึกก่อน ต่อเมื่อเราพิจารณาปัญญาอย่างชัดเจนแล้ว ย่อมปฏิเสธสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นว่า ไม่ใช่ข้าศึกเข้ามาเป็นลำดับ นอกจากกระแสของใจที่เคลื่อนออกจากใจแล้วกลายเป็นอารมณ์เท่านั้น เป็นข้าศึกต่อตัวเราเอง กระแสจิตที่คิดไปมากในเรื่องอดีต อนาคต ดีชั่ว เมื่อเห็นว่าเป็นข้าศึกชัดแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะปรุงแต่งไปมากมายเหมือนที่เคยเป็นมาไม่ได้ จะค่อยสงบตัวลงไปเป็นลำดับและสงบลงไปจนถึงบ่อแห่งความคิดความปรุง

    เหมือนโจรไปเที่ยวปล้นบ้าน ปล้นเรือนทุก ๆ วัน ทำให้ประชาชนทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ เขาอาศัยซุ่มซ่อนอยู่ที่ไหน เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นดูให้ละเอียดถี่ถ้วนจนเห็นจุดที่อยู่ของโจร แล้วก็ทำลายโจรไม่ให้มีเหลืออยู่ในที่นั้น บ้านเมืองก็ร่มเย็น หายกรรมหายเวรจากโจรทั้งหลาย
    เรื่องของกระแสจิตที่คิดไปคิดมาอยู่ตลอดเวลาเป็นเงาซึ่งเกิดขึ้นจากใจเอง แต่ใจก็ตื่นเงาของตัวเอง คิดไปทางดีทางชั่ว อดีต อนาคต ล้วนแล้วแต่คิดไปจากจิตทั้งนั้น แต่จิตก็หารู้ไม่ว่าอาการทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นจากตัวเอง แล้วกลับมาหลอกตัวเองให้ลุ่มหลง ไม่มีโอกาสจะทราบได้ ต่อเมื่อปัญญามีความสามารถจำต้องเห็นกระแสของจิตทั้งหมด

    นี้เป็นตัวข้าศึกที่เกิดขึ้นจากตัวเอง และทำศึกกับตัวเอง เพราะตัวเองเป็นผู้หลงอาการของตนจึงกลายเป็นผู้มีเรื่องเสมอ ทุกข์ร้อนเป็นเรื่องตัว ก่อไฟเผาตัวเองไม่ใช่คนอื่นใดทั้งนั้นจะมาก่อไฟเผา ปัญญาจะต้องย้อนเข้ามาดูที่ต้นเหตุ เมื่อมีความสามารถพอตัวแล้ว จะย้อนมาเห็นโทษภายใน คือเห็นโทษตัวผู้รู้ ซึ่งเป็นที่ซุ่มซ่อนแห่งโจรทั้งหลายแล้วถูกทำลายไปเสียจนสิ้นซากไม่มีอันใดเหลืออยู่ นั่นแหละเราจะอยู่สบายสุตโต ไปไหนก็เป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่เป็นกิเลสอาสวะทั้งภายนอกภายใน ทั้งใจตนเอง จึงหมดเรื่องหมดราว หมดภาระหมดห่วงใยทั้งสิ้น นี่แลชื่อว่า ปุญฺญเขต เป็นเนื้อนาบุญของตนได้เอง ท่านทั้งที่เป็นนักบวชและเป็นฆราวาส จงมุ่งเพื่อเป็นเนื้อนาบุญของตนให้ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อสมบัติตนมีมากเหลือใช้จ่ายแล้ว อาจจะเฉลี่ยเผื่อแผ่แก่คนอื่นให้เป็นประโยชน์ได้ เราบำเพ็ญประโยชน์เต็มกำลังในตัวเราแล้วก็สามารถจะเฉลี่ยเผื่อแผ่ความสุขให้แก่บุคคลอื่นได้

    ในการแสดงพระธรรมเทศนาวันนี้ แสดงเรื่อง ปุญฺญเขต โปรดพยายามทำตัวเราให้เป็นเนื้อนาบุญของเรา แล้วก็จะเป็นเนื้อนาบุญของคนอื่นได้ในขณะเดียวกัน ขอให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายจงพยายามฝึกฝนจิตใจให้เป็นคุณแก่ตัวเรา อย่าพยายามส่งเสริมจิตใจให้เป็นข้าศึกแก่ตนเอง


    ตัวเองเป็นข้าศึกต่อตัวนั้นไม่มีเวลาจะยับยั้งผ่อนผันไม่มีสถานที่อยู่ ไม่มีเวลาจะยุติลงได้ ไม่เหมือนคดีภายนอกที่เป็นถ้อยเป็นความกัน เมื่อตุลาการตัดสินถึงขั้นสูงสุดแล้วก็เป็นอันยุติ ใครแพ้ก็แพ้ไป ใครชนะก็ชนะไป เป็นอันเลิกแล้วกันไปได้ แต่คดีภายในใจเรานี้ ผู้ที่ฟ้องก็เราเอง ผู้ที่รับฟ้องก็เราเอง ผู้ที่ได้รับความทุกข์เสียหายก็เราเอง แล้วเราจะหาตุลาการที่ไหนมาตัดสิน เราเองเป็นผู้ก่อคดีแก่ตัวเราเอง เป็นผู้ก่อความเสียหายให้แก่ตัวเราเองนี่ ไม่มีใครจะมาเป็นตัวการตัดสินใจให้ นอกจากเราจะนำปัญญามาเป็นตุลาการตัดสินว่าทางไหนถูกทางไหนผิด ให้พยายามงดเว้นในทางที่ผิด พยายามบำเพ็ญในทางที่ถูก แล้วส่งเสริมทางที่ถูกให้มากเป็นลำดับไป พยายามตัดทอนทางผิดให้ลดน้อยถอยลงไปจนไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้ว ผู้นั้นแลเป็นผู้ตัดสินตนได้อย่างเด็ดขาดและถูกต้องที่สุด เหมือนพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายเป็นตุลาการตัดสินพระองค์และสาวกได้ชัยชนะแล้ว พ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสารถึงนิพพานในวันนั้น นอกจากนั้นยังเป็น ปุญฺญเขต ของเราทั้งหลายได้

    ในการแสดงพระธรรมเทศนานี้ ขอบรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายจงโอปนยิโก น้อมเข้ามาในตนให้เป็นผลเป็นประโยชน์สำหรับเรา เมื่อพยายามบำเพ็ญตัวเราอยู่เช่นนี้ ความแปลกประหลาดหรือความมหัศจรรย์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ก็ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา คำที่ว่า พุทฺโธ ก็ดี ธมฺโม ก็ดี สงฺโฆ ก็ดี จะเห็นปรากฏขึ้นที่ดวงใจดวงเดียวนี้เท่านั้น โดยไม่ต้องไปหาหยิบยืมพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มาอีกต่อไปแล้ว ไปที่ไหน พุทฺโธ ก็คือ ใจที่บริสุทธิ์ดวงนี้ ธมฺโม ก็คือธรรมชาติอันนี้ สงฺโฆ ก็คือธรรมอันเกิดจากจิตดวงเดียวกัน ทั้งสามรัตนะเลยรวมอยู่ในตัวของเราคนเดียวเป็นผู้ไม่ขาดแคลนพระรัตนตรัย ไปที่ไหนติดกับใจของเราไปที่นั่น

    ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขอบุญญานุภาพองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จงดลบันดาลให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายมีความสุขกายสบายใจ และมีความมุ่งมาดปรารถนาสิ่งใด ขอสิ่งนั้น ๆ จงสำเร็จตามความมุ่งมาดปรารถนาแห่งท่านทั้งหลายทุกท่านเทอญฯ
     
  3. blackangel

    blackangel เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    1,750
    ค่าพลัง:
    +1,919
    กัณฑ์ที่ ๓ พระธรรมเทศนา วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘

    พระธรรมเทศนา วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘

    ณ วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี

    ความคิดที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น สำหรับนักบวชผู้มุ่งต่อการปฏิบัติ ความคิดเพื่อแสวงหาครูอาจารย์นี้เป็นความคิดที่ถูกต้อง โปรดรักษาความคิดเช่นนี้ไว้ ความคิดเช่นนี้แลจะสามารถลบล้างความคิดที่ไม่ดี และไม่เป็นที่ไว้วางใจต่อการปฏิบัติพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง จึงเป็นเหตุให้คิดเพื่อเสาะแสวงหาครูอาจารย์ ผู้ชี้แนวทางอันถูกต้อง แล้วจะได้ดำเนินไปด้วยความสะดวกและราบรื่น


    แม้พระสาวกองค์ที่ปรากฏได้ถึงแดนแห่งความเกษมก็ต้องมีความคิดเช่นนี้เหมือนกัน เช่น คิดอยากจะเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อพระองค์จะได้ประทานพระโอวาทสั่งสอนทั้งทางถูกและทางผิด เพื่อผู้ใคร่ต่อการศึกษาและปฏิบัติจะได้รับแก้ไขและดำเนินโดยถูกต้อง ดังนั้น การแสวงหาครูอาจารย์ ซึ่งเป็นที่แน่ใจเราว่าจะเป็นผู้สามารถแนะนำสั่งสอนเราได้ จึงเป็นความคิดที่ดีและควรส่งเสริมความคิดประเภทนี้ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วคอยพยายามดัดแปลงกาย วาจา ใจของตนให้เป็นไปตามโอวาทของท่าน แต่ระวังความคิดที่จะคอยแทรกสิงและลบล้างความคิดที่ดีนี้ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในฉากเดียวกัน เมื่อได้โอกาสอาจจะเกิดขึ้นได้ เราเองก็อาจจะหลงเชื่อไปตามถึงกับกาย วาจา ใจไหวไปด้วย นี้คือสาเหตุที่จะให้เราได้รับความเสียหายไปวันละเล็กละน้อย และด้อยในทางปฏิบัติ ซึ่งยังผลให้ปรากฏเป็นลำดับ

    เพราะกิเลสกับธรรมตามธรรมดาท่านถือว่าเป็นข้าศึกต่อกัน ถ้ากิเลสมีกำลังมากกว่า ก็สามารถจะลบล้างธรรมซึ่งเป็นของดีเยี่ยมให้ลดน้อยลงไป จนถึงกับไปไม่มีธรรมภายในใจ แต่ถ้าธรรมมีกำลังมากกว่าก็สามารถลบล้างกิเลสให้ลดน้อยลงจนหมดสิ้นไปไม่มีอะไรเหลือ เช่นพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นตัวอย่าง ดังนั้น เราผู้เป็นนักปฏิบัติโปรดสำนึกไว้เสมอว่ามีข้าศึกประจำตัวตลอดเวลา

    การแสวงหาครูอาจารย์จึงเป็นอุบายวิธีจะแก้ความคิดฝ่ายต่ำให้มีกำลังลดน้อยลง และเพื่อจะส่งเสริมความคิดฝ่ายสูงให้มีกำลังมากขึ้น พอเป็นทางเกิดขึ้นแห่งธรรมวันละเล็กละน้อยจนกลายเป็นคนมีธรรมภายในใจ เริ่มต้นแต่ความสงบเย็นใจเป็นขั้น ๆ ไป ส่วนสถานที่และกาลเวลานั้นให้คาดเพียงชั่วระยะกาล เพื่อจะแสวงหาชัยสมรภูมิที่เหมาะสำหรับนักรบอันได้นามว่าศิษย์ตถาคต

    แต่หลักสำคัญที่ไม่ห่างไกลจากกันนั้นคือ การบำเพ็ญตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าอิริยาบถใดให้อยู่ด้วยความเพียร เพื่อรื้อถอนสิ่งแทรกซึมและก่อกวนภายในใจด้วยอำนาจของสติและปัญญาอยู่เสมอ นี่เป็นหลักและจุดสำคัญสำหรับผู้บำเพ็ญเพื่อความหลุดพ้น สิ่งที่ปรากฏภายในใจ ซึ่งเชื่อแน่ว่าถูกตามหลักธรรม แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ให้ถือว่านั้นคือผลที่เกิดขึ้นจากการบำเพ็ญของตน

    เรื่องความลำบากในการบำเพ็ญโปรดอย่าถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าถือเป็นสิ่งสำคัญแล้ว สิ่งนั้นจะมีกำลังสั่งสมตัวเองมากระทำการกีดขวางทางดำเนินเพื่อความก้าวหน้าของเรา มีข้อข้องใจอยู่ตรงไหน ซึ่งเห็นว่าไม่แน่ใจตามหลักธรรมโปรดทำความรู้สึกกับจุดนั้นทันที และถือว่าจุดนั้นเป็นเป้าหมายสำหรับพิจารณาอย่าลดละ

    และอย่าคาดคะเน อย่าเอาความรู้เข้าไปคาด มรรค ผล นิพพาน อันจะเกิดจากการปฏิบัติ อย่าคาดสถานที่ว่าควรจะรู้ในสถานที่เช่นนั้น ๆ ขณะที่ข้อข้องใจเกิดขึ้น จงทำความรับรู้อยู่กับความขัดข้องนั้น ตามวาระที่ความขัดข้องแสดงตัวออกมา สถานที่นั้นแลคือชัยสมรภูมิ ได้แก่สนามรบเพื่อชัยชนะตลอดไป คำว่ากิเลสไม่ว่าประเภทใด จะต้องแสดงขึ้นที่ใจของเราทุก ๆ ท่าน ไม่มีที่อื่นเป็นที่แสดงขึ้นแห่งกิเลสทั้งหลาย เพราะสิ่งทั้งนี้ไม่ได้อยู่ในสถานที่อื่นใด นอกจากจะอยู่กับความรู้คือใจนี้เท่านั้น

    ผู้ปฏิบัติเพื่อแก้ไขกิเลสอาสวะให้เบาบางลงเป็นลำดับจนถึงขั้นกิเลสหมดไปโดยสิ้นเชิง จงอย่ามองข้ามสิ่งที่ปรากฏมีความขัดข้องภายในใจเป็นต้น จะมีทางแก้ไขและถอดถอนกิเลสได้ตลอดไป และควรทราบว่า ความขัดข้อง ความไม่สะดวกสบายภายในใจมันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น เป็นผู้ผลิตออกมา ไม่ใช่สิ่งอื่น ๆ จะสามารถทำได้ โปรดดูเรื่องของตัวให้ละเอียดถี่ถ้วน

    ถ้าดูใจจะรู้เรื่องของกิเลส เพราะกิเลสกับใจนั้นอยู่ด้วยกัน ขณะนี้เป็นเวลาที่เรามีกิเลสฝังอยู่ภายในใจ โปรดทราบไว้ เขามิได้อยู่ในสถานที่และกาลใด ๆ นอกจากจะอยู่และแสดงขึ้นที่ใจทุก ๆ ขณะที่มีความพลั้งเผลอเท่านั้น การแก้ไขและถอดถอนกิเลส ถ้าไม่ขุดค้นลงที่จุดนี้ ไม่มีทางผ่านพ้นไปได้ ทั้งไม่สามารถจะรู้เรื่องของตัวว่าเป็นกิเลส หรือเรื่องของกิเลสเป็นเรื่องของตัวเพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเราถือว่าเป็นเรื่องของเราไปเสียหมด โดยที่เราไม่ทราบว่ากิเลสกับเรานั้นเป็นอย่างไรบ้าง ผิดต่างหรือเหมือนกัน เป็นคนละอย่างหรือเป็นอย่างเดียวกัน

    ถ้ามีสติปัญญาก็จะทราบได้ว่ากิเลสกับใจไม่ใช่อันเดียวกัน แต่ถ้าหาไม่แล้ว กิเลสจะกลายเป็นเรา เราจะกลายเป็นกิเลสกันวันยังค่ำ จะแก้กิเลสก็หาที่แก้ไม่ได้ เพราะจะกระเทือนตัวเรา จะแก้เราก็แก้ไม่ได้ เพราะจะไปกระเทือนกิเลส เพราะถือว่าเป็นเรื่องของเราเช่นกัน จะประกอบความเพียรก็กลัวจะกระเทือนตัวเราให้ได้รับความลำบาก ทั้งกลัวจะกระเทือนกิเลสซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับเรา

    เมื่อกิเลสมากกลายเป็นเราเสียทุกส่วนแล้ว เราก็ไม่มีทางแก้กิเลสได้เพราะกลัวจะมีการกระทบกระเทือนกันระหว่างกิเลสกับเราซึ่งกลายเป็นอันเดียวกัน เรื่องทั้งนี้ผู้มีสติปัญญาจะทราบได้ตามวาระแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ สิ่งใดที่ก่อความรำคาญและผลิตทุกข์ขึ้นมาให้แก่ตน แม้จะเป็นสิ่งที่ชอบอกชอบใจก็ตาม สิ่งนั้นท่านบอกว่าเป็นกิเลส เป็นสิ่งที่จะก่อกรรมทำเข็ญให้เราตลอดไป ไม่มีสมัยใดที่กิเลสจะผลิตความดีความชอบความสุขความเจริญให้คน นอกจากจะทำแต่ความทุกข์ร้อนให้ตลอดไปเท่านั้น

    แล้วควรละหรือที่จะไปเชื่อดวงใจที่เต็มไปด้วยกิเลสกระซิบอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นของดี ควรจะยอมจำนนตามเขาที่ชี้เข็มทิศให้ไปตามแล้วหรือ ทำไมเราจะเป็นผู้เอนเอียงและล้มละลายไปตามเขาเช่นนั้น จะหาตัวเราที่แท้จริงไม่เจอตลอดกาล และจะหาความเป็นตัวของตัวจากความเพียรไม่ได้เหมือนกัน ทุก ๆ ท่านโปรดทราบไว้ว่า เวลานี้กิเลสกับเรากำลังคละเคล้าเป็นอันเดียวกันจนหาทางแยกไม่ได้ จะประกอบกิจการที่ชอบใด ๆ มีแต่กลัวจะกระเทือนกิเลสกับเรา ซึ่งแยกจากกันไม่ออก

    สุดท้ายก็อยากอยู่เฉย ๆ คอยให้กิเลสหลุดลอยไปเอง โดยไม่ทราบว่าการอยู่เฉย ๆ ก็เป็นเรื่องเกียจคร้านและเป็นทางสั่งสมกิเลสเพิ่มขึ้นภายในใจ คนที่อยู่เฉย ๆ ไม่ทำงานโลกเขาเรียกว่าคนเกียจคร้าน คนเกียจคร้านไม่มีทรัพย์สมบัติเครื่องครองชีพ ไม่มีอาหารรับประทาน ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม ไม่มีบ้านจะอยู่เครื่องอุปโภคบริโภคขาดแคลนไปตาม ๆ กัน นั่นคือคนทุกข์ เพราะสาเหตุมาจากความเกียจคร้านเป็นเจ้าเรือน ความทุกข์เดือดร้อนเลยกลายเป็นโรคระบาดเรี่ยราดไปหมดทั้งครอบครัว ไม่มีใครจะได้รับความสมบูรณ์พูนผลในครอบครัวนั้น นี่คือโทษแห่งความเกียจคร้านหรือความอยู่เฉย ๆ

    จิตที่ชอบอยู่เฉย ๆ ไม่พินิจพิจารณาหาทางแก้ไขตนก็ต้องเป็นผู้ขาดแคลนความสุขภายในใจ ศีลสมบัติ ก็ไม่สมบูรณ์ นับวันจะด่างพร้อยและขาดทะลุไป สมาธิสมบัติ คือความสงบเยือกเย็นภายในใจก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ เพราะไม่มีทางจะเกิด เนื่องจากความเกียจคร้านเป็นเพชฌฆาตสังหาร แม้ ปัญญาสมบัติ ก็หาทางกำจัดกิเลสไม่ได้ เพราะความเกียจคร้านปิดกั้นทางเดิน

    เมื่อสรุปความแล้ว ศีลสมบัติ สมาธิสมบัติ และปัญญาสมบัติ จะหาทางเกิดขึ้นมาเองเฉย ๆ โดยไม่ทำอะไรนั้นไม่ได้เลย นอกจากจะเกิดขึ้นเพราะการบำเพ็ญที่เรียกว่าทำงานเท่านั้น การระมัดระวังและการบังคับจิตใจเพื่อรู้วิถีทางเดินของใจว่าเดินไปในทางถูกหรือผิด เหล่านี้จัดว่ามีงานไม่อยู่เฉย ๆ ผู้มีงานนี้แลจะเป็นผู้สามารถยังสมบัติทั้งสามนั้นให้เกิดขึ้นได้ ศีลสมบัติ ก็จะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์และเย็นใจแก่เจ้าของ สมาธิสมบัติ คือความสุขใจเพราะความสงบเป็นบาทฐานก็จะเกิดขึ้น เพราะความเพียรเป็นรากฐาน ปัญญาสมบัติ คือความฉลาดรอบคอบก็จะมีทางเกิดได้จากความพยายามและยังจะสามารถถอดถอนสิ่งลามกโสมม ซึ่งแทรกสิงอยู่ภายในให้หมดสิ้นไปเป็นลำดับ ทั้งสามารถแยกกิเลสกับเราออกจากกันได้เป็นระยะ ๆ ด้วย

    เพราะเรื่องกิเลสกับเราเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ารู้เท่าไม่ถึงเหตุการณ์แล้ว กิเลสกับเราและเรากับกิเลสจะต้องคละเคล้ากันไปตลอดสายดังที่กล่าวผ่านมา จะทำการรื้อฟื้นและถอดถอนกิเลสภายในใจก็กลัวว่าจะไปทำลายใจให้ฉิบหายไปด้วยจึงไม่กล้าทำลงไป เพราะกลัวจะไปทำความกระทบกระเทือนมิตรสหาย ซึ่งอาศัยและอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลานาน หาทราบไม่ว่า ความกลัวนั้นคือเรื่องของกิเลสหึงหวงตัวเอง ไม่อยากให้อะไรเข้าไปแตะต้อง เพราะกลัวจะเสื่อมคุณภาพและอำนาจวาสนาที่เคยครองไตรภพบนหัวใจของคนมานาน

    ข้อนี้ผู้ปฏิบัติควรคำนึงเสมอ ถ้าปล่อยตามอำเภอใจแล้วปรากฏเป็นความสุขความเจริญขึ้นมา ทั้งทางโลกและทางธรรมจะไม่มีอะไรเป็นขอบเขต ไม่มีกฎหมายบ้านเมืองเป็นเครื่องบังคับ ไม่มีหลักธรรมวินัยเป็นเครื่องดำเนิน แม้ที่สุดสัตว์เดียรัจฉานที่ไม่รู้ภาษีภาษาอะไรเลยก็จะพลอยได้รับความสุขความเจริญไปตาม ๆ กันหมด เพราะการทำตามอำเภอใจเป็นไปได้ทั้งสัตว์ทั้งคนโดยไม่มีขอบเขต แต่มันไม่เป็นดังที่ว่านั้น

    ท่านจึงสอนไว้ว่า กุสลาธมฺมา อกุสลาธมฺมา ได้ฟังทั้งคนเป็น ทั้งคนตาย แต่จะทราบความหมายหรือไม่นั้น ไม่รับรองทั้งคนเป็นและคนตาย แม้ผู้แสดงเองก็ยังไม่รับรองตัวเองว่าจะเป็นไปดังที่ท่านสอนหรือไม่ แต่ธรรมซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของโลกสอนไว้อย่างไรก็ว่าไปตาม แบบนกขุนทองเพื่อหาที่กำบังไปตามธรรมเนียมของคนมีกิเลส

    ความหมายในธรรมทั้งสองบทนี้ว่ากุสลาธัมมาหนึ่ง อกุสลาธัมมาหนึ่ง เป็นธรรมกลาง ๆ ถ้าเป็นคุณสมบัติของผู้ทำก็แปลว่าผู้มีกุศลธรรมหนึ่ง ผู้มีอกุศลธรรมหนึ่ง หรือจะแปลว่าผู้มีบุญและบาปก็ได้สุดแต่จะแปล เพราะคำว่าบุญหรือบาปนั้นขึ้นอยู่กับผู้ทำ ถ้าโง่ก็ทำความชั่วลามกใส่ตัวเอง ผลก็กลายเป็นทุกข์เดือดร้อนขึ้นมาในบุคคลผู้นั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ดีกับชั่ว สุขกับทุกข์ เป็นของคู่กัน และเป็นสมบัติของผู้ทำซึ่งเป็นต้นเหตุ มิได้เกิดขึ้นมาเองโดยปราศจากเหตุคือการกระทำ ฉะนั้น ผู้นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่มีหลักเหตุผลบนหัวใจด้วยแล้ว จึงควรพิจารณาโดยรอบคอบในกิจการทุกอย่าง ไม่ควรทำไปแบบสุ่มเดาโดยถือว่าไม่จำเป็นและไม่สำคัญเพราะผลดีชั่ว สุข ทุกข์ จะเป็นสมบัติของผู้ทำ แม้ตนจะถือว่าไม่จำเป็นและไม่สำคัญก็ตาม ผู้มีธรรมวินัยประจำใจ ย่อมมีการใคร่ครวญด้วยดีก่อนทำกิจทุกอย่าง ผลจึงเป็นที่พึงพอใจไม่กระทบกระเทือนตัวเองและผู้อื่น และไม่ถือคำว่ายากหรือง่ายมาเป็นหลักสำคัญกว่าความเห็นว่าควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะเล็งเห็นผลที่จะพึงได้รับไม่ด้อยกว่าเหตุผลที่จะทำลงไป เมื่อเหตุกับผลลงกันแล้วยากก็ต้องทำง่ายก็ต้องทำ ไม่คำนึงถึงความยากลำบาก


    การบำเพ็ญเพียรมาเป็นลำดับ นับเป็นเวลาหลายวันหลายเดือนและหลายปี แต่ผลไม่ปรากฏขึ้นมาประจักษ์ใจ นี่เป็นเพราะเหตุใด เข้าใจว่าเป็นเพราะสักแต่ว่ากิริยาแห่งการทำเท่านั้น แต่หลักใหญ่ซึ่งเป็นองค์แห่งเหตุจริง ๆ คือการบำเพ็ญอันเป็นไปด้วยความจงใจมีสติและปัญญาเป็นเครื่องควบคุม ได้บกพร่องหรือขาดไปในระยะนั้น ๆ ยังเหลือแต่กิริยาของการบำเพ็ญเท่านั้นปรากฏตัวอยู่เฉย ๆ ผลจึงไม่ปรากฏตามที่คาดไว้

    หากมีความเพียรสมบูรณ์ตามองค์ภาวนาจริง ๆ ผลจะขัดขืนและแย้งเหตุไปไม่ได้ ต้องแสดงออกมาประจักษ์ใจโดยแน่นอน ความยากลำบากในการบำเพ็ญเพื่อรื้อถอนตนให้พ้นจากทุกข์นี้รู้สึกจะเป็นอุปสรรคแก่ผู้บำเพ็ญอยู่ไม่น้อย แต่ควรนำไปเทียบกับความทุกข์ลำบากที่เกี่ยวแก่การเกิดการตายในภพที่เป็นมาเป็นอยู่และจะเป็นในอนาคต ลองดูทางไหนจะมีทุกข์มากกว่ากันและมีความยืดเยื้อกว่ากัน เพียงเท่านี้ก็พอจะตัดปัญหาความลำบากในการบำเพ็ญที่เคยถือว่าเป็นอุปสรรคออกไปได้ ความเพียรพยายามทุกประโยคก็จะเป็นไปด้วยความมานะอดทนและสนใจต่อหน้าที่ของตนมากขึ้น ทุกสิ่งที่เคยขัดข้องก็จะเป็นไปเพื่อความสะดวกและราบรื่น คงไม่เป็นทำนองก้างคอยจะขวางคอในเวลาจะบำเพ็ญความดีทุกประเภทที่เคยเป็นมาทั้งท่านและเรา เพราะต่างก็มีสิ่งที่คอยกระซิบให้แยกทางจากความเพียรอยู่เช่นเดียวกัน

    การกำหนดภาวนาขอให้หยั่งลงสู่กายคตา คือส่วนร่างกายทั้งหมดหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่ต้องไปคำนึงว่าจะถูกหรือผิดในเวลานั้น เพราะกายนี้เป็นหลักสัจธรรมด้วย เป็นหลักสติปัฏฐานสี่ด้วย ถ้าใจดำเนินไปในกายอันเป็นหลักของธรรมทั้งสองประเภทนั้นสถิตอยู่แล้ว ต้องมีมรรคปฏิปทาเพื่อความพ้นทุกข์เป็นลำดับไป

    ข้อสำคัญขอให้มีความจงใจตั้งหน้าทำจริง ๆ วันนี้จิตดูดดื่มในอาการนี้ วันหลังจิตดูดดื่มในอาการนั้นและพิจารณาอย่างนั้น รู้เห็นในอาการนั้นอย่างนั้น มีอาการแปลกต่างกันในอาการของกาย และการพิจารณาก็ตาม ถ้าอยู่ในหลักของกายแล้ว ชื่อว่าไม่ผิดหลักสติปัฏฐานและอริยสัจ ซึ่งเป็นธรรมรับรองเพื่อความถูกต้องอยู่แล้ว การพิจารณาจะหนักไปในอาการใดของร่างกายอาการนั้นจะไม่ทำให้ผิดจากองค์ของการภาวนา

    แม้ความรู้สึกที่เกิดจากการพิจารณากายคตาจะผิดแปลกกันไปตามวาระของการบำเพ็ญก็ปล่อยให้เป็นไปตามนั้น อย่านำความสงสัยเข้าไปทำลายความรู้และการพิจารณาในขณะนั้น จิต จะหยุดชะงักไม่ก้าวต่อไปอีก การเห็นกายด้วยสัญญาจัดเป็นบาทฐานเบื้องต้น เพราะเบื้องต้นต้องอาศัยสัญญาคาดหมายไปก่อนปล่อยจิตให้คล้อยตาม ปัญญาก็ทำหน้าที่ไตร่ตรองไปตามเส้นทางที่สัญญาคาดไว้

    การใช้ขันธ์ให้เป็นไปในทางแก้กิเลสอาสวะ ไม่ว่าขันธ์ใดที่ควรแก่การงานในเวลานั้น จงนำไปใช้ได้ตามที่เห็นสมควร เพราะการแก้หรือการผูกทั้งสองนี้ต้องอาศัยขันธ์เป็นเครื่องมือทำงานคือฝ่ายกิเลสและฝ่ายธรรมจำต้องอาศัยขันธ์เป็นเครื่องมือของตน ไม่เช่นนั้นจะสำเร็จเป็นกิเลสและธรรมขึ้นมาอย่างออกหน้าออกตาไม่ได้ การบำเพ็ญโดยถูกต้องตามองค์ภาวนาจะต้องปรากฏผลประจักษ์อย่างแน่นอน

    ความสงบเยือกเย็นเป็นสมาธิ เราได้ยินแต่ครูอาจารย์พูดให้ฟังและได้ยินแต่ท่านกล่าวไว้ในตำรา แม้กิเลสบาปธรรมก็ได้ยินแต่ท่านกล่าวไว้ในตำรา แต่เรื่องของธรรมคือความสงบเย็นใจเป็นขั้น ๆ จนถึงขั้นสูงสุดและเรื่องของกิเลสบาปธรรมที่แท้จริงนั้น เราไม่รู้เป็นใครและอยู่ที่ไหนเวลานี้ ทั้งธรรมทั้งกิเลสเคยแสดงตัวให้ปรากฏกับเราบ้างไหม ทางที่กิเลสขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากทางใดบ้าง ทางเข้าและทางออกของกิเลส เขาอาศัยทางสายใดบ้าง เป็นที่เข้าที่ออกและที่เกิดขึ้น พ่อแม่ของกิเลสคืออะไร เราเคยเห็นแต่พ่อแม่ของสัตว์ พ่อแม่ของคน แต่ไม่เคยเห็นพ่อแม่ของกิเลสอย่างแท้จริง และเราเคยเห็นแต่ชื่อของกิเลสตัณหาที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ นั้นเป็นชื่อของกิเลสตัณหา นั้นเป็นพ่อแม่ของคนของสัตว์ต่างหาก ไม่ใช่เป็นกิเลสตัณหาและไม่ใช่พ่อแม่ของกิเลสตัณหาอันแท้จริง เพราะเหล่านั้นมิได้มาทำความกระทบกระเทือนเราให้ได้ความทุกข์ร้อน และไม่ใช่เรื่องของธรรมที่จะยังความสุขความเจริญให้เกิดขึ้นภายในตน นอกจากขันธ์คือกายกับใจนี้ที่ไหวตัวไปทางผิดหรือทางถูกซึ่งเป็นทางเกิดขึ้นแห่งกิเลสและธรรมเท่านั้น นี่คือเรื่องของกิเลสอาสวะและเรื่องธรรมอันแท้จริง อวิชชาที่อาศัยใจเกิดขึ้นทำให้คนและสัตว์กลายเป็นผู้มีกิเลสตัณหาไปตาม นี่แหละคือพ่อแม่ของกิเลสตัณหาอันแท้จริง

    ถ้าไม่สามารถคลี่คลายเรื่องของตัวออกให้รู้ชัดว่าส่วนไหนดี ส่วนไหนชั่วตัวเราเองก็จะเป็นกิเลสวันยังค่ำและตกนรกหลุมอารมณ์ตลอดกาล ไม่มีฝั่งมีฝา มีเขตมีแดน เสวยอารมณ์ที่กิเลสปรุงให้อย่างเผ็ดร้อนไม่มีวันสิ้นสุดลงได้ ไม่เคยเห็นแบบแผนตำราไปตกนรกขึ้นสวรรค์ชั้นพรหมสำเร็จมรรคผลนิพพาน และไปทำโจรกรรมทำร้ายติดคุกตะรางที่ไหน เป็นแต่บอกชื่อกิเลสของธรรม ของ ผู้ทำดีทำชั่ว ผู้บริสุทธิ์เศร้าหมองไว้เท่านั้น

    การทำความดีความชั่ว เป็นเรื่องของคนของสัตว์ เพราะฉะนั้น กิเลสบาปธรรมจึงอยู่กับคนและสัตว์ เราเป็นผู้หนึ่งในมวลมนุษย์ จึงควรทำความรู้สึกว่าเป็นตัวกิเลสหรือเป็นธรรมกันแน่ คลี่คลายดูให้ดี จะได้รู้เห็นทั้งเรื่องของกิเลสและเรื่องของธรรมภายในใจเราเอง โดยไม่ต้องไปหาค้นดูที่ไหนให้เสียเวลาและเหน็ดเหนื่อยเปล่า ๆ ถ้าผู้บำเพ็ญมีความสามารถอาจหาญปฏิบัติตนตามหลักธรรมที่ชี้บอกไว้ จะคว้าเอาชัยชนะมาได้เป็นระยะ ๆ จนถึงความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงจากกายกับใจนี้แน่นอน

    การมองหากิเลสตัณหาอันแท้จริง จะไปมองที่ไหนกัน ถ้าไม่มองดูกายกับใจอันเป็นสถานที่อยู่ของกิเลสและธรรมแล้ว จะไม่พบของจริงตลอดกาล เพราะตำรากับตัวยาไม่เหมือนกัน และไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่อยู่คนละแห่ง เราต้องไปดูชื่อของยาที่ตำราแล้วไปรับเอายาที่ตู้ยา เราจะพบความจริงทั้งสองอย่าง คือตำราก็จะรู้ ตัวยาก็จะได้มาสมประสงค์ นี่เราต้องไปดูชื่อของกิเลสตัณหา และธรรมเครื่องแก้ที่คัมภีร์แล้วมาแก้ไขหรือถอดถอนกิเลสตัณหาด้วยธรรมที่ตัวของเรา เราจะพบความจริงทั้งสองประเภท คือเรื่องของกิเลสก็จะรู้ การถอดถอนกิเลสด้วยธรรมก็จะประจักษ์ใจ ภายในกาย ในใจนี้แล

    ขอยกอริยสัจมาเป็นตัวอย่างพอได้ความ ทุกขํ อะไรเป็นทุกข์แน่ มนเป็นเรื่องของเราของท่านทั้งนั้น โปรดไปดูที่โรงพยาบาลจะเห็นคนและสัตว์เต็มไปหมด จนไม่มีห้องให้อยู่ ไม่มีเตียงให้นอน แต่จะไม่พบในตำราไปแทรกอยู่ที่นั้น เพื่อรักษาตัวแม้คัมภีร์เดียว สมุทัย ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม

    เกิดจากกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหาเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องของเราของท่าน มรรค คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือศีล สมาธิ ปัญญา นี่ก็เป็นเรื่องของเราของท่าน จะบำเพ็ญให้เกิดมีขึ้นตามความหวัง นิโรธ ความดับทุกข์ก็เป็นเรื่องของเราของท่านจะดับทุกข์ของตัวเองแต่ละรายตามธรรมในตำรา ท่านชี้เข้ามาหาเรา มิได้ชี้ไปที่อื่น

    เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเห็นอะไรเป็นตัวบาปตัวบุญ โปรดทวนดูอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ คือความรุ่มร้อนอยู่ที่ไหน บาปก็อยู่ที่นั่น ความสุขสบายอยู่ที่ไหน บุญก็อยู่ที่นั่น ความเศร้าหมองอยู่ที่ไหน กิเลสก็อยู่ที่นั่น ความผ่องใสและบริสุทธิ์อยู่ที่ไหน ธรรมก็อยู่ที่นั่น

    รวมลงแล้วมันอยู่ที่เราทั้งนั้นไม่ได้อยู่ในที่อื่นใดจึงไม่น่าสงสัยอะไรอีก มีอยู่เพียงว่าเราจะทำความสนใจต่อการบำเพ็ญแค่ไหน เพื่อทราบเรื่องของตัวกับเรื่องของกิเลส ถ้าทราบแล้วก็เท่ากับทราบเรื่องสุขเรื่องทุกข์

    ภายในภายนอกโดยตลอด เพราะเป็นเรื่องอริยสัจอย่างสมบูรณ์ แม้หลุดพ้นก็จำต้องหลุดพ้นไปในระหว่างอริยสัจทั้งสี่นี้ ไม่มีที่อื่นเป็นทางหลุดพ้น

    ฉะนั้น จงใช้สติปัญญาพิจารณาลงในทุกข์อย่างรอบคอบ เพื่อทราบว่าทุกข์เกิดขึ้นมาจากอะไร และอะไรเป็นสาเหตุให้ทุกข์เกิด ก็จะทราบเรื่องทุกข์ สมุทัย ซึ่งมีอยู่ในจุดเดียวกันอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นเป็นศาสดาของโลกและตรัสเป็นสวากขาตธรรมโดยชอบให้พวกเราศึกษาและปฏิบัติตามไม่ได้เลย พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ จะไม่ปรากฏขึ้นในโลก

    โปรดทำความมั่นใจและห้าวหาญต่อความเพียรเพื่อแดนพ้นทุกข์ อย่าถอยทัพให้ข้าศึกคือกิเลสหัวเราะเยาะและเหยียบย่ำล้ำแดนแห่งความเพียรเข้ามา เราจะตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึกหาทางออกไม่ได้ การบำเพ็ญมรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยความเพียร จงทำให้สมบูรณ์ถึงขั้นรู้ทุกข์ก็จะรู้อย่างสมบูรณ์ รู้และถอนสมุทัยก็จะรู้และถอนอย่างหมดเชื้อ นิโรธความดับทุกข์ด้วยมรรคก็จะดับอย่างสมบูรณ์ เพราะธรรมทั้งสี่ประเภทนี้เกี่ยวโยงกันจะแยกกันไม่ได้


    เมื่อรู้รอบสัจจะทั้งสี่นี้แล้ว ความบริสุทธิ์ก็ปรากฏขึ้นมาเอง แม้จะไม่เคยทราบมาก่อนก็ไม่มีทางสงสัย เพราะไม่มีสองมีสามกับอะไรอีก พอจะให้ผู้บรรลุถึงความบริสุทธิ์แล้วเลือกหาเอา แต่ธรรมนั้นเป็น เอกธมฺโม คือ เป็นธรรมแท่งเดียวนอกสมมติ สุดที่จะสง่างามและอัศจรรย์เหนือโลกใด ๆ จึงหมดปัญหาจะเป็นอย่างอื่นอีก

    การแสดงธรรมเพื่อมุ่งต่อแดนพ้นทุกข์ ซึ่งเตรียมพร้อมแล้วจะแสดงไปที่อื่น ๆ จึงขอเรียนให้ทราบอย่างเป็นกันเอง รู้สึกว่าไม่ค่อยถนัดใจ คล้ายกับตะครุบเงา แต่ถ้าได้แสดงลงที่กาย ที่ใจซึ่งเป็นเรือนรังของอริยสัจแล้ว รู้สึกว่าสนิทใจ เพราะเท่าที่ได้ปฏิบัติมาก็ปฏิบัติอย่างนี้ หากจะรู้มากน้อยตามกำลังก็ไม่ได้รู้จากที่ไหน แต่รู้ขึ้นมาที่นี่ แม้ธรรมที่กำลังแสดงอยู่ขณะนี้ก็ไม่ได้ไปหามาจากที่ไหน นอกจากจะนำมาจากท่านจากเราซึ่งเป็นเรือนร่างของสัจธรรมด้วยกันเท่านั้น ไม่มีอำนาจวาสนามากมายพอจะไปแสวงหาธรรม นอกจากอริยสัจซึ่งมีอยู่กับกายกับใจมาแสดงให้หมู่เพื่อนฟังได้

    ดังนั้น จึงขออภัยจากท่านผู้ฟังมาก ๆ ด้วยที่ไม่ได้ธรรมแปลกประหลาดมาปฏิสันถารต้อนรับท่านที่มาจากที่ต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลอย่างสมใจ ทั้งนี้เพราะความจนใจดังที่เรียนให้ทราบแล้ว ได้ทราบแต่พระพุทธเจ้าสอนพวกเราที่เป็นพุทธบริษัท ท่านยกเอาเรื่องของท่านและของเรามาสั่งสอนพวกเรา โดยบอกว่าเป็นอริยกิจเสมอกันทั่วไตรภพ การปฏิบัติก็ให้ถือเอาอริยสัจเป็นทางเดิน ยกเอามรรค เป็นเส้นทาง เราเป็นผู้ก้าวเดินตามเส้นทาง ทุกข์ กับสมุทัยเป็นหิน กรวด ทราย ที่โรยบนเส้นทางผสมด้วยยาง รวมทุกข์ สมุทัย มรรค เข้าด้วยกันกลายเป็นถนนลาดยาง ผู้เดินทางก็ก้าวไปโดยสะดวก ไม่ขลุกขลักจนถึงที่หมาย นิโรธ คือหยุดจากการเดินทาง ผลที่เกิดจากการหยุดเดินเป็นความสุขสบาย เพราะหายกังวลจากการเดินและการหยุดโดยประการทั้งปวงแล้วนั่นคือ ธรรม

    นอกจากสัจจะทั้งสี่ธรรมนี้ ผู้เดินทางถึงที่แล้วเป็นสันทิฏฐิโก รู้เอง ไม่ต้องถามใคร เพราะสันทิฏฐิโก เป็นมัชฌิมา ไม่รอคอยอยู่กาลหน้ากาลหลัง เนื่องจากธรรมนี้ไม่ใช่รถยนต์ รถไฟ พอจะเข้าคิวรอเวลา ผู้จะควรรับผลจากสันทิฏฐิโกก็ไม่ใช่คนโดยสารรถยนต์ รถไฟ พอที่จะไปรอที่คิวและรอเวลาจะออกจะเข้า

    ในอวสานแห่งธรรมที่แสดงมาก็เห็นสมควรแก่กาล ขอความสะดวกกายสบายใจต่อการบำเพ็ญธรรม จงเป็นไปในท่านทั้งหลาย นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงจุดที่หมาย อย่าได้มีอุปสรรคมากีดขวางในวงการ จงมีแต่ความสุขความสำราญ ประจำอิริยาบถความเคลื่อนไหว ทุกทิวาราตรีกาล โดยนัยที่ได้แสดงมาด้วยประการฉะนี้
     
  4. blackangel

    blackangel เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    1,750
    ค่าพลัง:
    +1,919
    กัณฑ์ที่ ๔ พระธรรมเทศนา วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๐๕

    พระธรรมเทศนา วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๐๕
    ณ วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี

    การปฏิบัติพระศาสนาพึงเล็งดูเข็มทิศ คือหลักแห่งสวากขาตธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ชอบแล้ว นำเข้ามาเทียบเคียงกับความเคลื่อนไหวแห่งกาย วาจา ใจของตน อย่าให้เคลื่อนคลาดไปจากหลักสวากขาตธรรม จงสังเกตทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ ถ้าเคลื่อนจากธรรมนี้แล้ว พึงทราบว่าเป็นไปเพื่อทางผิด อย่างน้อยก็เนิ่นช้า อย่างมากก็เป็นมลทินแก่ตนเอง


    อนึ่ง เราทุกท่านซึ่งมารวมกันอยู่ในสถานที่นี้ไม่ได้อยู่บ้านเดียวเมืองเดียวกันและในตระกูลเดียวกัน ต่างก็ระเหเร่ร่อนมาด้วยเจตนาหวังดีของตน ถ้าพูดตามโลกแล้ว เราทั้งหลายไม่ได้เป็นญาติกันเพราะต่างบิดามารดาผู้ให้กำเนิด เมื่อพูดตามหลักธรรมที่เราทั้งหลายทรงอยู่ ณ บัดนี้แล้ว เรียกว่าเราทั้งหลายเป็นญาติกันอย่างสนิทที่จะแยกจากกันไม่ได้ เพราะญาติทางความเกิด มีลักษณะเช่นเดียวกัน ญาติทางความสุข ความทุกข์ ความเสื่อม ความเจริญในสมบัติภายนอกภายใน และความมั่งมีศรีสุขและความอับจน ต่างก็ได้ผ่านมาในทางสายเดียวกัน และญาติทางนักบวชซึ่งเป็นผู้โกนผมโกนคิ้ว เพื่อเสียสละสิ่งมีค่าและสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ตนเองเป็นเจตนาอันเดียวกัน

    แม้ปฏิปทาเครื่องดำเนินก็เช่นเดียวกันด้วย มีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องปกครองและดำเนินอย่างเดียว ซึ่งเป็นพยานชี้ให้เห็นว่า เราทั้งหลายเป็นญาติกันอย่างสนิท แม้แต่ลูกพ่อเดียวแม่เดียวกันยังมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน คู่สามีภรรยาซึ่งเป็นที่รักใคร่กันเท่าไรก็ยังมีการขัดข้องและทะเลาะไม่ลงรอยกันได้ในบางกรณีและบางกาล สำหรับเราทั้งหลายที่ได้มาอยู่ร่วมกัน ณ บัดนี้นับแต่ล่วงมาแล้ว สำหรับผมผู้เป็นหัวหน้าปกครองบรรดาท่านทั้งหลาย รู้สึกว่าเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง การที่พวกเราได้รับความร่มเย็น ไม่มีการระแคะระคายซึ่งกันและกัน ทั้งข้อปฏิบัติ ทั้งด้านความเห็นภายใน อันจะเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน และเป็นบ่อเกิดแห่งความกระทบกระเทือนนับแต่ส่วนเล็กส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่ยังไม่ปรากฏ ทั้งนี้เนื่องจากต่างท่านต่างก็มีหลักธรรม คือเหตุผล เป็นเครื่องสอบสวนทบทวนอยู่ในตัวเอง และหมู่เพื่อนด้วยกัน จึงอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นสุข ถ้าหากหลักธรรมของพวกเราได้ด้อยไปบ้างในการทบทวน ความเคลื่อนไหวในระหว่างตนกับหมู่คณะนั่นแล คือบ่อเกิดแห่งความระแคะระคายได้เริ่มไหวตัวขึ้นแล้ว ถ้าเป็นอย่างหม้อน้ำก็แสดงว่ากำลังร้าว จากร้าวก็จะแตกกระจาย โปรดคิดดูหม้อน้ำเพียงแต่ร้าวเท่านั้นคุณภาพก็ไม่สมบูรณ์ที่จะใช้หุงต้มแกงหรือขังน้ำก็ไม่ได้ผลเต็มที่ ยิ่งหม้อน้ำได้แตกไปเสียก็ยิ่งขาดประโยชน์ที่พึงจะได้รับอย่างไม่มีปัญหา

    เรื่องความไม่ลงรอยกันด้วยทิฐิมานะหรือปฏิปทาที่ปราศจากหลักธรรม คือเหตุผลก็ย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกัน บรรดาเราทุกท่านที่อยู่ร่วมกัน ถ้าจะเทียบก็เหมือนหม้อน้ำกำลังสมบูรณ์ ไม่มีรอยร้าวหรือบิ่นแม้แต่น้อย เพราะอยู่ร่วมกันด้วยความพร้อมเพรียงและเป็นสุข ทั้งนี้ เนื่องจากต่างท่านต่างมีธรรม คือหลักเหตุผลประจำใจของตน ๆ เพราะไม่เห็นแก่ความเป็นผู้ใหญ่และไม่เห็นแก่ความเป็นผู้น้อย แต่เห็นแก่ธรรมคือเจตนาดี มุ่งดำเนินตามสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มสติปัญญา และกำลังความสามารถของแต่ละท่าน เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าเป็นการปฏิบัติถูกหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

    เมื่อการดำเนินของพวกเราแต่ขั้นหยาบเป็นการถูกหลักธรรม จึงพร้อมกันอยู่ด้วยความเป็นสุขเช่นนี้ แม้ส่วนละเอียดอันเป็นส่วนภายใน ก็พึงทราบว่าจะต้องเป็นไปจากส่วนหยาบนี้ ส่วนละเอียดหมายถึงเรื่องภายในใจโดยเฉพาะ ซึ่งเราจะพยายามปรับปรุงแก้ไขส่วนบกพร่องที่เกิดขึ้นจากกาย วาจา ใจของตนให้เป็นไปเพื่อความสงบเยือกเย็น ที่กล่าวมาแล้วหมายถึงความสงบ ที่เป็นไปในระหว่างหมู่เพื่อนนับว่าเป็นที่ยินดี ทั้งการปกครองก็รู้สึกว่าเบาใจ ไม่ได้เป็นกังวลสำหรับผู้เป็นหัวหน้าที่เกี่ยวกับบรรดาลูกศิษย์ จะเป็นรายใดก็ตาม

    ทั้งนี้เราพอจะเห็นผลประโยชน์เกิดขึ้นจากการระมัดระวังอยู่แล้ว เพราะการถือหลักธรรมเป็นเข็มทิศเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าถือเรื่องของเราแต่ละราย ๆ พยายามปรับปรุงตนเอง แต่ละท่านให้เข้ากับหลักธรรมแล้ว ผลที่ปรากฏขึ้นให้เราได้รับ คือความร่มเย็นเป็นสุข อันดับต่อไปพึงถือหลักธรรมส่วนหยาบที่เกี่ยวกับหมู่เพื่อนเข้าไปปรับปรุงจิตใจ โดยเฉพาะจิตใจที่ได้รับความกระทบกระเทือนระหว่างสิ่งที่มาสัมผัสเกิดความไม่สงบขึ้นภายในใจ

    พึงทราบว่าจะต้องมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราพิจารณายังไม่รอบคอบในระหว่างสิ่งที่มาสัมผัสกับการรับรู้ด้วยสติปัญญา ซึ่งไม่สมบูรณ์พอ จิตจึงทรงความสงบของตนไว้ไม่ได้ หรือผู้ได้แล้วในขั้นนี้ ขั้นละเอียดเข้าไปกว่านี้ซึ่งเรายังไม่สามารถระงับได้ กลายเป็นเรื่องเกิดขึ้นกับใจอยู่ตลอดเวลาก็ยังมี จงสอบสวนทบทวนดูเช่นเดียวกับเราปฏิบัติต่อหมู่เพื่อน ถ้าใจได้มีการทดสอบตนเองตามอาการเคลื่อนไหวต่ออารมณ์อยู่แล้ว เราจะได้รับผลเป็นการตอบแทนขึ้นกับใจ คือใจจะเริ่มมีความสงบตามลำดับ

    อนึ่ง ความสงบมีหลายขั้น เมื่อผ่านความสงบขั้นหยาบนี้ไปได้ ความสงบขั้นกลางก็ยังมี และเรื่องก่อกวนตามขนาดของอารมณ์กับความสงบขั้นนั้น ๆ ยังมีแฝงอยู่เช่นเดียวกัน จนกว่าจะได้นำสติปัญญาเข้าสอบสวนใคร่ครวญดูสิ่งที่มารบกวนต่อความสงบขั้นกลางจนพอตัวแล้ว ความสงบขั้นกลางก็กลายเป็นความสงบที่สมบูรณ์ขึ้นมาโดยลำพังตนเอง อันดับต่อไปต้องพยายามแก้ไขอารมณ์ที่เป็นข้าศึกต่อความสงบส่วนละเอียด ซึ่งจะมีการสัมผัสฟัดเหวี่ยงกับใจอยู่ตลอดเวลาด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยประกอบกับองค์แห่งความเพียรอยู่เสมอ ความสงบส่วนละเอียดก็จะปรากฏตัวขึ้นมาอย่างเต็มดวง เช่นเดียวกับความสงบส่วนหยาบและส่วนกลาง เรื่องของสติกับปัญญาพึงทราบว่าเดินตามรอยกับความสงบทุก ๆ ขั้นเหมือนเงาเทียมตัว

    หลักแห่งการปฏิบัติธรรมอย่าพึงเข้าใจว่าปัญญาจะไปอยู่ข้างหน้า สมาธิอยู่ข้างหลัง ที่ถูกตามหลักความจริงแล้วสติกับปัญญาจะต้องเคียงคู่กันไปกับความสงบขั้นนั้น ๆ และมีตามฐานะของความสงบ เช่น เริ่มมีความสงบก็ควรเริ่มปัญญาพิจารณาเป็นพี่เลี้ยงเสมอไป จนปรากฏเป็นความสงบอย่างกลางและอย่างละเอียด ปัญญาก็ต้องเป็นพี่เลี้ยงตาม ๆ กันไปไม่ยอมปล่อยให้เป็นแต่ความสงบโดยถ่ายเดียว นี่คือหลักธรรมชาติที่ได้ปฏิบัติมาตามกำลัง ได้เปิดเผยให้ท่านผู้ฟังทราบโดยตลอดมิได้ปิดบังไว้แม้แต่น้อย

    โปรดทราบไว้ว่าเรื่องของสติกับปัญญานี้จะปราศจากกันกับความสงบไปไม่ได้ ทั้งเป็นธรรมจำเป็น ซึ่งจะต้องใช้อยู่ตลอดเวลา จนมีกำลังสามารถรื้อถอนตนขึ้นจากหล่มลึกคืออวิชชาได้ ก็เพราะสติปัญญาเป็นหลักประกัน และโปรดทราบว่า ความสงบของจิตไม่ใช่เป็นนิสัยอันเดียวกัน และลักษณะแห่งความสงบก็ต่างกันตามนิสัยของผู้ปฏิบัติแต่ละราย แต่ผลรายได้นั้นเป็นอันเดียวกัน

    ลักษณะของจิตบางประเภทเมื่อบริกรรมบทใดบทหนึ่ง บรรดาธรรมที่ถูกจริต พอเริ่มบริกรรมเข้าเท่านั้น จิตก็ลงได้ทันทีและลงได้อย่างรวดเร็ว นี่คือนิสัยของสมาธิอบรมปัญญา แต่บางรายค่อย ๆ สงบเข้าไปและรวมลงอย่างเชื่องช้า สุดท้ายก็ลงถึงที่และปล่อยวางคำบริกรรม ทรงไว้ซึ่งความรู้อันเดียว มีสติรอบรู้อยู่ และบางครั้งต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องฝึกทรมานอย่างเต็มที่แล้วรวมลงสงบได้ในลักษณะเดียวกัน นี่คือ นิสัยปัญญาอบรมสมาธิ

    และบางครั้งลักษณะจิตของคนเดียวนั้นเองไม่ใช่จะลงชนิดที่เคยลงเสมอไป เช่นรายที่เคยลงได้อย่างรวดเร็วกลับลงอย่างเชื่องช้าก็ยงมี เพราะเหตุนี้จึงไม่ค่อยยึดถือเป็นที่ข้อข้องใจ สิ่งที่จะถือเป็นสำคัญ คือผลที่ปรากฏขึ้นจากความสงบนั้นเป็นอย่างไร ต้องเป็นความสงบสุขหนึ่ง มีความรู้อยู่เพียงอันเดียวหนึ่ง จิตไม่กระเพื่อมหนึ่ง ไม่เป็นสื่ออารมณ์ในขณะที่จิตพักรวมอยู่หนึ่ง และมีจิตรู้ว่าจิตของตนหยุดหนึ่ง จิตจะรวมลงช้าหรือเร็วให้ถือเอาผลตามที่อธิบายมานี้

    เมื่อถอนขึ้นมาแล้วจงเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ในกายวิภาคของตน กายทุกส่วนเป็นสภาพแห่งไตรลักษณ์ในหลักธรรมชาติทุก ๆ อาการ ใครจะรู้หรือไม่ก็ตาม กายทุกส่วนต้องเป็นอย่างนั้น คำว่า ไตรลักษณ์ คือมีลักษณะสาม แปลว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนตามคำเสกสรรและกล่าวอ้างของใคร ในไตรลักษณ์ทั้งสามนี้ อย่าเข้าใจว่ามีนอกไปจากอาการแห่งกายหนึ่ง ๆ อาการเดียวนั่นเอง เพราะด้วยไตรลักษณ์อยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ เช่น อาการแห่งกายของเรามีถึง ๓๒ อาการ ทุก ๆ อาการล้วนเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติอยู่ในตัว จะแยกจากกันไม่ได้



    ดังนั้น บรรดานักปฏิบัติแม้จะพิจารณาเฉพาะไตรลักษณ์ใด เช่น อนิจจัง ตามความถนัดเท่านั้น เรื่องทุกข์ กับเรื่องอนัตตาก็จะปรากฏเป็นตัวภัยขึ้นมาให้จิตเห็นโทษได้เช่นเดียวกัน เพราะไตรลักษณ์หนึ่ง ๆ ต่างก็เป็นตัวภัยและเป็นที่น่าลุ่มหลงอยู่ในวัตถุหรืออาการอันเดียวกันซึ่งเป็นตัวเหตุให้จิตหลงได้เท่าเทียมกัน

    เมื่อจิตพิจารณารู้ชัดในไตรลักษณ์ใดแล้ว แม้ไตรลักษณ์อื่น ๆ ก็ไม่พ้นวิสัยของปัญญาองค์ธรรมจักรหมุนรอบตัวไปได้ เพราะไตรลักษณ์ทั้งสามแม้จะต่างชื่อกันแต่ก็มีอยู่ในวัตถุหรืออาการอันเดียวกัน เป็นแต่ท่านแยกอาการออกเป็น อนิจฺจํ บ้าง ทุกฺขํ บ้าง อนตฺตา บ้าง

    เหมือนกับอาการแห่งกายของเรา แม้จะรวมเป็นก้อนแห่งธาตุของบุคคลผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อแยกจากกันแล้วมีอยู่สี่ธาตุ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แม้แต่ธาตุดินยังแยกออกเป็น ๓๒ อาการ และแต่ละอาการพึงทราบว่าเป็นธาตุดินนั่นเอง ธาตุน้ำจะมีกี่ประเภทก็คือน้ำ คือไฟ คือลม นั่นเอง อาการแห่ง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็คือไตรลักษณ์นั่นเอง

    โปรดทราบโดยวิธีเทียบเคียงกันอย่างนี้และไตร่ตรองดูเรื่องไตรลักษณ์ที่มีอยู่ทั่วสรรพางค์กายของเรา เราจะถนัดหรือแยบคายในทาง อนิจฺจํ หรือ ทุกฺขํ หรือ อนตฺตา ก็ให้พิจารณาส่วนที่จริตชอบนั้นมาก ๆ อย่างไรไตรลักษณ์ทั้งสามนี้จะซึมซาบเกี่ยวโยงถึงกันหมด และจะแยกจากกันไปไม่ได้

    นี่อธิบายตามหลักธรรมชาติที่ได้ปฏิบัติและปรากฏมา ขอให้เป็นที่ลงใจ ไม่ต้องสงสัยในหลักธรรมว่าไตรลักษณ์ทั้งสามนี้จะแยกจากกันไปอยู่ในต่างแดน พึงทราบว่าเป็นหลักธรรมชาติอันเดียวกัน กำหนดเพียงอันหนึ่งก็ซึมซาบทั่วถึงกันหมด จงพิจารณาให้รู้ชัดด้วยปัญญา จะรู้ชัดในไตรลักษณ์ใดก็ได้ จะเป็นความรู้ที่ถอดถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น สำคัญว่าเป็นเรา เป็นของเราออกจากใจได้โดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับเราพิจารณาพร้อม ๆ กันทั้งสามไตรลักษณ์ เรื่องของปัญญาจะวิ่งทั่วถึงกันหมด เพราะสิ่งที่ถูกพิจารณาแต่ละอาการสมบูรณ์ด้วยไตรลักษณ์อยู่แล้ว

    เมื่อปัญญาได้ใคร่ครวญเห็นเรื่อง อนิจฺจํ ก็แสดงว่าเห็นภัยอยู่แล้ว เห็นเรื่อง ทุกฺขํ ก็เป็นเรื่องเห็นกองทุกข์กองภัยเช่นเดียวกัน และเห็นเรื่อง อนตฺตา ก็เป็นกายบอกชัดว่านั้นคือตัวภัย ไม่ควรยึดถือว่าเป็นของเที่ยงแท้ถาวรเป็นคลังแห่งความสุข และว่าเราเป็นของเราให้ยุ่งไป เพื่อก่อเหตุแห่งวัฏฏะพัดผันตนเอง

    เรื่องของสติแล้วอย่าถือว่าเป็นภาระของใคร และเรื่องของปัญญาแล้วไม่สิ้นสุดอยู่กับใคร แต่ขึ้นอยู่กับผู้ชอบตั้งสติขอบคิดค้นด้วยปัญญา วันหนึ่ง ๆ อุบายแห่งความแยบคายจะเกิดขึ้นมากี่ครั้งกี่หนไม่สิ้นสุดเราอย่าเข้าใจว่าเราโง่ เราไม่ได้โง่อยู่ตลอดเวลา ถ้าได้หยั่งสติปัญญาลงในอวัยวะคือท่อนแห่งกายนี้แล้ว ความรู้ที่แปลกประหลาดจะปรากฏขึ้นมาจากกายนี้โดยไม่ต้องสงสัย พึงทราบว่าความเฉลียวฉลาดไม่มีใครสร้างไว้เป็นสินค้าเพื่อผู้ใด แม้สติก็ไม่มีอยู่ในที่ไหนนอกจากสถานที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ คือสติปัฏฐานสี่ ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรมเท่านั้น นี่คือบ่อเกิดแห่งสติปัญญาให้มีความเฉลียวฉลาดรอบตัว

    เมื่อเรายังโง่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นข้าศึกต่อเรา คือกายก็กลายเป็นข้าศึก เวทนาก็กลายเป็นข้าศึก จิตก็กลายเป็นข้าศึก ธรรมก็กลายเป็นข้าศึกไปหมด แต่เมื่อเราได้หยั่งสติกับปัญญาลงสู่จุดนี้ กายก็กลายเป็นธรรมขึ้นมา เวทนาก็กลายเป็นธรรมขึ้นมา จิตก็กลายเป็นธรรมขึ้นมา และธรรมก็กลายเป็นธรรมขึ้นมาในหลักธรรมชาติ เพราะเหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า สติปัฏฐาน คือหินลับสติปัญญานั้นเอง แต่ผู้ไม่ฉลาดเอามีดไปฟันหินเข้า มีดก็ต้องเสีย ถ้าผู้ไม่ฉลาดถือหินลับ คือกาย เวทนา จิต ธรรม นี้ว่าเป็นตน กาย เวทนา จิต ธรรม ก็กลายเป็นข้าศึกแก่คนโง่ผู้นั้น

    ที่พระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาสติปัฏฐานสี่ไม่ได้สอนให้เอามีดไปฟันหิน แต่ทรงสอนว่าให้พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยสติปัญญาอย่างนี้ต่างหาก ดังนั้นสติกับปัญญาจึงตั้งได้ที่กาย เวทนา จิต ธรรม และฉลาดรอบคอบตนเองได้ด้วยหลักธรรมทั้งสี่ประเภทนี้ โปรดทราบว่าบ่อแห่งความเฉลียวฉลาดรู้รอบอยู่ในวงสติปัฏฐานสี่นี้ จงตั้งสติปัญญาลงสู่จุดนี้ การเรียนมากเรียนน้อย ถ้าเราไม่มีโอกาสไปร่ำเรียนให้ได้มากเหมือนอย่างบรรดาท่านที่มีโอกาสทั้งหลายก็ตาม ก็อย่าเสียใจ จงเรียนธรรมในหลักธรรมชาติที่มีอยู่ใน กาย เวทนา จิต ธรรม ในตัวของเรานี้ พระพุทธเจ้าแลสาวกทั้งหลายท่านเรียนและสอนในหลักธรรมชาติ และผู้ปฏิบัติตามได้รับผลเกินความคาดหมายมาเป็นจำนวนมากแล้ว แม้กิเลสอาสวะก็เป็นหลักธรรมชาติอันหนึ่ง ใคร ๆ ไม่เคยมีป้ายกระดานเรียนวิชากิเลส แม้สัตว์เดียรัจฉานและเด็ก ๆ เขาเคยรู้กิเลสเมื่อไร ทำไมเขาจึงมีกิเลส เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่เคยมีโรงร่ำโรงเรียนวิชากิเลส เรียนธรรมทั้งนั้น ทำไมกิเลสจึงมีเต็มหัวใจเล่า ทั้งนี้เพราะกิเลสเป็นหลักธรรมชาตินั่นเอง ไม่ขึ้นอยู่กับใคร และไม่เข้าใครออกใครทั้งนั้น เป็นธรรมชาติที่เที่ยงธรรม คือตั้งอยู่ในหลักเหตุผลเช่นเดียวกัน ถ้าคิดผิดก็เป็นกิเลสขึ้นมา แต่ถ้าคิดถูกก็เป็นธรรมขึ้นมา

    เมื่อสรุปลงแล้วก็กิเลสกับธรรมไม่ใช่ผู้อื่นใดจะก่อสร้างขึ้นให้เป็นข้าศึกและเป็นคุณต่อตนเอง นอกจากใจของเราผู้โง่และฉลาดเท่านั้นที่จะทำกิเลสให้ผูกมัดตนเองขึ้นมาด้วยความโง่ของตนเอง และจะสามารถแก้ไขกิเลสออกได้ด้วยความฉลาดของตนเท่านั้น และขณะกิเลสเกิดขึ้นจะไม่เกิดขึ้นจากที่ไหน นอกจากจะเกิดขึ้นจากความโง่เท่านั้น โง่อะไรเล่า เมื่อจะแยกออกตามประเภทแห่งความโง่แล้วได้แก่ เห็นก็โง่ ได้ยินก็โง่ ได้สูดกลิ่น ลิ้มรสก็โง่ ก็สิ่งใดมาสัมผัสก็หลงตามไปหมด มันโง่ทั้งรู้ ๆ อย่างนี้เอง เพราะรากฐานของจิตมันโง่

    ฉะนั้น ต้องพยายามให้รู้ว่าความโง่อยู่ที่จุดไหน จงตั้งสติปัญญาลงที่จุดนั้น เฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ไม่มีอะไรเป็นข้าศึกอันร้ายแรงต่อเรา นอกไปจากกาย เวทนา จิต ธรรม เพราะความหลงก็หลงในกายนี้ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา รักก็รักกายนี้ ชังก็ชังกายนี้ ทุกข์ทั้งมวลก็เกิดขึ้นในกายนี้ จิตได้รับความทุกข์เดือดร้อนก็เพราะเรื่องแห่งกายนี้ และคำว่าธรรมจะหมายถึงอะไร คือกาย เวทนา จิต ซึ่งเป็นเรือนแห่งทุกข์นี่เอง รวมแล้วเรียกว่า ธรรม

    จงตั้งสติกับปัญญาลงในสติปัฏฐานสี่ ไตร่ตรองอยู่ทั้งวันทั้งคืน มีสติปัฏฐานสี่นี้เท่านั้น เป็นงาน เป็นทางเดิน เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ทำงาน พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า กี่รอบกี่เที่ยวไม่คำนวณ ทำเหมือนเขาขุดดินหรือขุดนา ไถนา คราดนา ขุดแล้วขุดเล่า ไถแล้วไถเล่า ทั้งไถดะไถแปร และคราดกลับไปกลับมา จนมูลไถมูลคราดแหลกละเอียด การเดินเร็วหรือช้าของสัตว์ไม่สำคัญ สำคัญที่มูลคราดมูลไถแหลกละเอียดแล้วเป็นพอ

    การพิจารณาในหลักสติปัฏฐานสี่ด้วยปัญญาจะเร็วหรือช้าไม่สำคัญ สำคัญที่พิจารณาจนเข้าใจและแจ่มแจ้งแล้วเมื่อไร นั่นแลเป็นผลสะท้อนย้อนกลับมาให้เราได้รับความเฉลียวฉลาดจนสามารถปล่อยวางสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ใจและปราศจากความถือว่า กาย เวทนา จิต ธรรมเป็นของเที่ยงเป็นสุข เป็นอัตตา ตัวตน เสียได้ด้วยอำนาจของปัญญา ฉะนั้น การพิจารณาเราอย่าเห็นว่ามากไปหรือน้อยไป จงถือเช่นเดียวกับงานของโลกซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นทั่วหน้ากัน ที่ใครจะนั่งนอนอยู่เฉย ๆ ไม่ได้

    การทำงานของสติปัฏฐานสี่ เราอย่าตั้งเมืองพอขึ้นด้วยความเกียจคร้าน จงให้เมืองพอปรากฏขึ้นเองด้วยสติกับปัญญาที่พิจารณาพอแล้ว และปล่อยวางจะเป็นทางเพียงพอและถึงทางพ้นทุกข์ตามแบบของพระพุทธเจ้าโดยถูกทาง เมื่อเหนื่อย จิตอยากจะพักก็ให้เขาพักในเรือนคือสมาธิ การพักอยู่ของจิตจะนานหรือไม่นานขึ้นอยู่กับความเพียงพอของใจ เช่นเดียวกับคนนอนหลับ จะหลับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเพียงพอของธาตุขันธ์ แล้วตื่นมาก็ทำงานได้ฉะนั้น

    จิตจะพักอยู่กี่ชั่วโมงไม่ควรบังคับให้ถอนขึ้นมาเองเฉย ๆ จงปล่อยให้พักอยู่จนเพียงพอแก่ความต้องการ แล้วถอนขึ้นมาเอง เมื่อจิตถอนขึ้นมาแล้วเป็นหน้าที่ของปัญญาที่จะต้องทำการพิจารณาในสติปัฏฐานสี่เป็นลำดับไป ตามแต่ถนัดในสติปัฏฐานใด การพิจารณากายคือขยายให้โตบ้าง ทำให้เล็กลงบ้าง แยกส่วนออกเป็นแผนก ๆ ทำเป็นกองเนื้อ กองหนัง และแบ่งส่วนตามอาการนั้น ๆ แล้วกำหนดให้กระจายหายสูญไปจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคล และจากความเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นต้น จนกลายลงเป็นธาตุเดิม คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วปรุงขึ้นมาใหม่ พิจารณาอยู่เช่นนี้ วันหนึ่งจะได้สักกี่เที่ยว หรือกี่รอบไม่เป็นประมาณ ผลที่ปรากฏขึ้นกับใจ คือความชำนาญและฉลาดรอบคอบ และความสิ้นสงสัยในส่วนแห่งกาย

    เมื่อปัญญาเพียงพอต่อส่วนแห่งกายทุกส่วนแล้วก็รู้เท่าทันและปล่อยวางไว้อย่างสนิท หมดนิมิตในกายว่างามหรือไม่งาม สักแต่ว่ากายโดยความรู้สึกเท่านั้น ไม่มีความสำคัญว่ากายนี้เป็นอะไรต่อไป นี่คือหลักแห่งการพิจารณากายด้วยปัญญาของนักปฏิบัติ

    เวทนา ซึ่งเกิดขึ้นจากกายและจากใจ เพราะเวทนามีสองประเภท คือ เวทนาของกายอย่างหนึ่ง เวทนาของจิตอย่างหนึ่ง ความสุข ทุกข์ และเฉย ๆ ปรากฏขึ้นในกายโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับใจ เรียกว่า กายเวทนา เวทนาทั้งสามอันใดอันหนึ่ง ปรากฏขึ้นในจิตที่สืบเนื่องมาจาก การได้รับอารมณ์ จะเป็นอารมณ์ทางมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญาก็ตาม อารมณ์ทางสมุทัย เป็นแดนเกิดขึ้นแห่งทุกข์ คือกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหาก็ตาม เรียกว่า จิตเวทนา

    การพิจารณาขันธ์ทั้งนี่ เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ มีลักษณะสองประการคือ เกี่ยวกับความสัมผัสจากสิ่งภายนอก ๑ ไม่เกี่ยวกับสิ่งภายนอก แต่พิจารณาโดยลังตนเอง ๑ ที่เกี่ยวกับสิ่งภายนอกนั้น คืออาศัยสัมผัสภายนอกมากระทบแล้วพิจารณาไปตามสิ่งที่มากระทบนั้น ๆ ปรากฏอุบายขึ้นมาในขณะนั้นมากน้อยตามแต่กำลังของปัญญา จะหาความแยบคายใส่ตน ที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งภายนอกมาสัมผัสเลยนั้น เป็นเรื่องของปัญญา ทำหน้าที่ของตนไปตามลำพัง โดยอาศัยสภาวะที่มีอยู่เป็นเป้าหมาย


    แม้สภาวะนั้น ๆ ไม่แสดงออกก็พิจารณาได้โดยสะดวก แต่การพิจารณาทั้งสองประเภทนี้พึงทราบว่ารวมสู่ไตรลักษณ์ เป็นเหมือนภาชนะที่รวมแห่งสภาวธรรมทุกประเภท จะปลีกจากนี้ไปไม่ได้ เช่นเดียวกับแม่น้ำทุก ๆ สาย ย่อมไหลรวมลงสู่มหาสมุทรฉะนั้น แต่พึงทราบว่า เรื่องของปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อไม่มีสิ่งกระเพื่อมภายในใจให้รู้ก่อน พอจะถือเอาเป็นอารมณ์ได้

    ข้อนี้ ควรทราบถึงความกระเพื่อมก่อนว่า มีความหมายไปทางใดบ้างเพราะทางดีชั่วเกิดจากความกระเพื่อมเป็นสำคัญ ความกระเพื่อมของใจเป็นไปได้สองทาง คือกระเพื่อมเพื่อยังทุกข์ให้เกิดขึ้น แล้วผูกมัดตนเองให้ติดอยู่ ท่านเรียกว่า สมุทัย กระเพื่อมเพื่อรู้ทางเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ ท่านเรียกว่า มรรค เกิดขึ้นจากความปรุงของปัญญาเอง และเกิดจากคำว่า สังขารอันเดียวกัน ผิดกันเพียงว่าปรุงไปในทางผิดหรือทางถูกเท่านั้น

    แต่เรื่องสมุทัย และเรื่องมรรค ไม่ใช่จะเกิดจากสังขารเพียงอย่างเดียว แม้เวทนา สัญญาและวิญญาณก็เป็นเหตุให้เกิดสมุทัยและมรรคได้ ตามความโง่ความฉลาดของผู้รับผิดชอบในขันธ์ของตน ทั้งนี้ เรายังโง่ขันธ์ทังห้าก็เป็นข้าศึก แต่ถ้าเราฉลาดรอบคอบแล้ว ขันธ์ทั้งห้าก็เป็นคุณเสมอไป เช่น พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ท่านใช้ขันธ์ทำประโยชน์แก่โลกตลอดวันนิพพาน ฉะนั้น ขันธ์ทั้งห้าจึงเป็นเหมือนเครื่องใช้ เครื่องใช้ในบ้านย่อมจะมีคุณและโทษที่เกิดจากความโง่เขลา ความฉลาดของคนผู้เป็นเจ้าของ

    เมื่อสรุปแล้วทั้งสมุทัย และ มรรค เกิดจากสังขารภายในอันเดียวกัน ผิดกันตรงที่ปรุงด้วยความหลงผูกมัดตนเอง กับปรุงด้วยความฉลาดเพื่อแก้ไขตนเองเท่านั้น เพราะฉะนั้น สังขารฝ่ายมรรคจึงสามารถปรุงและพลิกแพลงในสภาวธรรมให้เกิดความฉลาดแก่ตนเองได้จนมีความสามารถเพียงพอใน เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

    ปัญญานี้ยังสามารถวิ่งเข้าสู่จุดเดียว คือ ใจ ซึ่งเป็นที่รวมแห่งขันธ์ทั้งหมด เพราะขันธ์ทั้งห้ามาจากใจ เนื่องจากใจเป็นรากฐาน คือแดนเกิดของสิ่งเหล่านี้ จึงปรากฏเป็นรูปกาย ธาตุขันธ์ อายตนะหญิงชายขึ้นมาได้ แม้ขันธ์ใดจะกระเพื่อมขึ้นเวลาใดก็ทราบ และทราบทั้งความเกิดขึ้นดับไปแห่งขันธ์นั้น ๆ ตลอดจนสมุฏฐานที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น การตำหนิติชมในสภาวธรรมภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ทั่วทั้งจักรวาลก็หมดปัญหาลง เพราะปัญญาเป็นเครื่องตัดให้ขาดเข้ามาเป็นลำดับ

    สิ่งที่ยังเหลืออยู่ในลำดับต่อมา คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เท่านั้น ซึ่งยังคงเป็นคู่ตำหนิติชมกันอยู่ ในขณะที่กำลังสติปัญญายังไม่เพียงพอ เมื่อเพียงพอแล้วปัญหาติชมก็หมดไป เพราะปัญญาเห็นชัดว่า สภาวธรรมมีขันธ์เป็นต้น ไม่ใช่กิเลสบาปกรรมแต่อย่างใด เป็นแต่อาการของขันธ์และสภาวะอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น แม้พระพุทธเจ้าและสาวกก็ยังมี ข้อนี้เราต้องย้อนเข้าไปหาตัวเหตุ ซึ่งเป็นเครื่องกดดันขันธ์ให้ไหวตัวไปตามอำนาจของความกดดันของตน นั่นคือ ความรู้ภายใต้อำนาจของอวิชชา เรียกว่า ความรู้วัฏจักร นอกจากตนเป็นวัฏจักรแล้ว ยังบังคับขันธ์ซึ่งเป็นบริวารให้กลายเป็นกงจักรไปด้วย ฉะนั้น ผู้อยู่ใต้กงจักรอันนี้ จึงไม่มีอิสรเสรีในตนเอง ต้องยอมจำนนต่อเขาอยู่ทุกขณะที่จักรตัวใหญ่นี้จะหมุนหรือชี้เข็มทิศทางใด

    เมื่อรู้ต้นเหตุ ซึ่งเป็นที่เกิดขึ้นแห่งกิเลสทุกประเภทว่าเกิดจากความรู้วัฏฏจิตนี้แล้ว เราต้องทราบว่า วัฏฏจิตนี้คือกิเลสอันแท้จริง เราจะนิ่งนอนใจในความรู้อันเป็นตัวกงจักรนี้ได้อย่างไร นอกจากจะหยั่งปัญญาลงสู่จุดนี้ เพื่อความรู้เหตุผลโดยไม่นิ่งนอนใจเท่านั้น ปัญญาที่จะไปปฏิบัติต่อความรู้วัฏฏจักรอันนี้ ต้องเป็นปัญญาที่ทันสมัยและอยู่ในลักษณะอัตโนมัติ หมุนรอบตัวอยู่กับความรู้อวิชชาดวงนั้น ไม่มีเวลาหยุดยั้งโดยไม่ต้องมีการบังคับงานโดยลำพังตนเอง กำหนดรู้ทั้งความเกิดขึ้นดับไปของทุกอาการที่เกิดจากใจทั้งความเปลี่ยนแปลงอันละเอียดของจิตที่เป็นอยู่ทุกขณะจะเปลี่ยนเป็นเศร้าหมองหรือผ่องใสก็รู้ จะเปลี่ยนเป็นความโง่ความฉลาดก็รู้ จะเปลี่ยนเป็นความองอาจกล้าหาญหรือความอ่อนแอก็รู้ จะเปลี่ยนเป็นความสว่างไสวหรืออับเฉาก็รู้

    อาการทั้งนี้เป็นไตรลักษณ์ประจำวัฏฏจิต ต้องกำหนดรู้ทุกระยะที่เปลี่ยนแปลง และเคลื่อนไหว จนกว่าจะขุดค้นเข้าถึงรากแก้ว คือตัวประธาน และทำลายได้ด้วยปัญญาในกาลใด แล้วอาการเหล่านี้ก็หมดการเปลี่ยนแปลงตัวเองทันที เพราะตัวประธานได้ถูกทำลายสิ้นแล้ว เป็นอันว่าหมดทางเกิดขึ้นแห่งอาการอันเป็นเครื่องพรางตาทุก ๆ อาการ สภาวะทั่ว ๆ ไป จะปรากฏเปิดเผยทั่วทั้งโลกธาตุ ประกาศเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นสภาพปกติอยู่ตามธรรมดาของตน ไม่เคยเป็นข้าศึกศัตรูต่อผู้ใด นอกจากความรู้ขวางโลก และขวางธรรมดวงเดียวเท่านี้ เกิดคดีในตัวเองแล้วลุกลามไปหาสิ่งภายนอกให้กลายเป็นคู่ความตาม ๆ กันไปเท่านั้น เมื่อจิตพ้นจากคดีฟ้องร้องตัวเองและขณะธรรมชาติอันลี้ลับได้ตกสูญหายไปแล้ว ธรรมที่บริสุทธิ์เต็มที่ก็ได้เปิดเผยขึ้นมาพร้อม ๆ กัน แม้สภาพธรรมทั้งหลายที่เคยถูกกดขี่บังคับหรือตำหนิติชมจากอวิชชาผู้ครองวัฏฏะ ก็ได้กลายเป็นสิ่งเปิดเผยขึ้นมาตามธรรมชาติของตน

    ธรรมอัศจรรย์ซึ่งเกิดพร้อมวิชชาวิมุตติได้ประกาศความสงบศึก และความเสมอภาคต่อสภาวธรรมทั่ว ๆ ไป ราวกะจะเป็นมิตรต่อกันตลอดอนันตกาล ต่างฝ่ายต่างไม่เป็นศัตรูต่อกัน ขันธ์ห้าอายตนะภายใน คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกับอายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสและธรรมารมณ์ต่างก็ทำหน้าที่ของตนตามลำพังโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะอายตนะสัมผัสกัน และต่างก็เป็นอิสรเสรีในตัวเองโดยไม่ถูกกดขี่บังคับจากฝ่ายใด

    ทั้งนี้ เนื่องจากความรู้ในหลักธรรมชาติ ได้กลายเป็นความรู้ยุติธรรมต่อตนเอง สภาวะทั่ว ๆ ไปจึงกลายเป็นยุติธรรมไปตาม ๆ กัน นี่เรียกว่า ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ ความรู้เห็นตามเป็นจริง ในหลักธรรมชาติทั้งภายใน ทั้งภายนอกอย่างแจ้งชัดด้วยปัญญา ไม่มีอันใดลี้ลับและยังกลับเป็นสิ่งเปิดเผยเสียสิ้น ผลอันเป็นที่พึงพอใจ ซึ่งได้รับความรู้ความเห็นที่ปรากฏขึ้นกับใจของผู้ปฏิบัติ จะสะเทือนขึ้นภายในเป็นเชิงอุทานว่า “สิ้นเรื่องเพียงเท่านี้” เรื่องกิเลสตัณหาเรื่องรัก ๆ เรื่องชัง ๆ เรื่องติ เรื่องชม เรื่องหลง เรื่องรู้อะไรต่อไปอีก และเรื่องภพชาติให้เกิด ๆ ตาย ๆ ที่จะมาเกี่ยวโยงกันตามที่เคยเป็นมา เป็นอันยุติกันได้โดยสิ้นเชิง จะไม่มีอันใดสืบต่อธรรมชาตินี้ไปได้อีก เพราะอดีตก็รู้เท่าอนาคตก็รู้ทัน ปัจจุบันก็ไม่ยึด ปรากฏเป็นความบริสุทธิ์ล้วน ๆ อยู่กับความรู้ในธรรมชาตินั้นโดยประจักษ์แล้ว

    ตา หู จมูก ลิ้น กายก็ไม่เป็นภัย เพราะใจไม่เป็นภัย รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสก็ไม่เป็นภัย เพราะใจหมดเชื้อให้เกิดภัยแล้ว เรียกว่า สุตโต แปลว่าไปดี คือไม่ข้องแวะกับอันใด ทั้งที่เป็นด้านวัตถุและนามธรรม แม้สภาวะทุกสิ่งก็เป็นปกติหรือหมดภัย เพราะข้างในไม่เป็นมหาโจรเที่ยวยื้อแย่ง นี่ผลแห่งการปฏิบัติด้วยการทบทวนสอบสวนดูความเคลื่อนไหวการดำเนินของตนตั้งแต่ส่วนหยาบ ส่วนกลางและส่วนละเอียดได้แก่ผลที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นสมบัติของเราทุกท่าน เพราะพระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาดไว้เพื่อพระองค์ผู้เดียว ทรงประทานไว้เพื่อบรรดาสัตว์ผู้มีความแกล้วกล้าสามารถด้วยความพากเพียร ไม่เห็นแก่ความท้อแท้อ่อนแอ

    คุณธรรมที่ได้อธิบายมาแต่ต้นจนสุดขีดความสามารถ ขอย้ำให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายได้ทราบว่าไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความเกียจคร้านนอนตื่นสาย ความท้อแท้อ่อนแอ ความสะเพร่ามักง่าย ความเห็นแก่ปากแก่ท้องความคลุกคลี ความเบื่อต่อความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมาก และความเห็นแก่โลกามิส ไม่มองดูธรรมและศาสดาผู้พาดำเนินทุกพระอาการที่เคลื่อนไหว

    แต่ธรรมเกิดแก่ผู้มีความขยันหมั่นเพียร ผู้อดทนต่อกิจการที่ชอบหนักก็เอาเบาก็สู้ เป็นผู้มักน้อยและสันโดษในปัจจัยเครื่องอาศัย ถือการไม่คลุกคลีกับใคร ๆ และความเพียรเพื่อรื้อถอนตนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง มีตนกับความเพียรในอิริยาบถทั้งหลาย มีความเพียรด้วยสติปัญญาทุก ๆ อาการที่เคลื่อนไหว ไม่หมายมรรคผลนิพพาน นอกไปจากความเพียร และนอกไปจากปัจจุบัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งมีอยู่ภายในจิตตลอดเวลา และเป็นหลักแห่งสวากขาตธรรมที่พระองค์ได้รับผลเป็นที่พอพระทัย และประทานไว้ชอบแล้ว ผู้ปฏิบัติดำเนินตาม ผลจะพึงได้รับก็เป็น สันทิฏฐิโก เห็นเองในธรรมทุกขั้น โดยปราศจากสิ่งใดกีดขวาง อกาลิโก ทั้งธรรมส่วนเหตุ ทั้งธรรมส่วนผล ทุก ๆ ขั้นมีอยู่อย่างสมบูรณ์ตลอดกาล เมื่อบำเพ็ญถึงที่แล้วบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลาไม่มีหลับและตื่น ไม่มีวันและคืน ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์เสมอไปตลอดกาล เอหิปัสสิโก เป็นธรรมเปิดเผยและทนต่อการพิสูจน์ตลอดกาลไม่ขาดวรรคขาดตอน ผู้ตามพิสูจน์จนได้พบความจริงจากหลักธรรมจนเต็มที่แล้ว สามารถแสดงหลักความจริงที่ตนได้รู้เห็นทั้งที่เป็นส่วนเหตุที่ได้พิจารณาด้วยข้อปฏิบัติทั้งที่เป็นส่วนผลเป็นขั้น ๆ ตลอดความบริสุทธิ์ภายในใจ แก่บรรดาท่านผู้ฟังและสนใจให้เห็นชัดตามความจริงและเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นได้ โอปนยิโก ธรรมมีอยู่ทั่วไปเหมือนสมบัติในแผ่นดิน ผู้สนใจใคร่ต่อธรรมสามารถจะน้อมธรรมที่ได้เห็น ได้ยิน จากบุคคลและสถานที่ต่าง ๆ มาเป็นคติแก่ตนเองได้ทุกเวลา ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ จะปรากฏคุณคือ ความรู้พิเศษขึ้นกับใจของตนโดยเฉพาะตามกำลังสติปัญญาที่ตนสามารถโดยไม่ต้องสงสัย

    เพราะฉะนั้น ขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทุก ๆ ท่านจงมีความอาจหาญร่าเริงต่อความเพียรในหลักแห่งสวากขาตธรรม อย่าเห็นว่าเป็นความทุกข์ลำบาก ความหิว ความลำบากในร่างกายทุกส่วน จะต้องมีด้วยกันทุกรายทั้งคนและสัตว์ไม่เลือกชั้นวรรณะ เป็นความเสมอภาคทั่วหน้ากัน ไม่มีใครได้เปรียบและเสียเปรียบแก่ใคร พอจะตำหนิว่าทุกข์ลำเอียงต่อขันธ์


    ส่วนความทุกข์ทางใจซึ่งเกิดจากอำนาจกิเลสตามประเภทของเขา ให้พึงทราบว่านั้นคือหนามยอกอกหัวใจ จงพยายามถอดถอนออกให้จงได้ การตะเกียกตะกายเพื่อถอดหนามและการตะเกียกตะกายเพื่อขึ้นจากหลุมมูตรคูถ อย่าถือเป็นความลำบากกว่าที่จะยอมนอนจมอยู่ในหลุมมูตรหลุมคูถ หรือกว่าที่จะยอมให้หนามจมอยู่ในหัวใจของเรา ทุกข์เพื่อก้าวออกจากทุกข์ด้วยข้อปฏิบัติเป็นทุกข์ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ทั้งเป็นทางที่พระองค์ทรงดำเนินผ่านทุกข์มาแสนสาหัส และได้รับผลถึงความเป็นศาสดาของโลก เพราะทรงดำเนินฝืนทุกข์เหมือนเราทั้งหลายกำลังดำเนินอยู่ ณ บัดนี้

    และคำว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ อย่าลืมว่าลักษณะทั้งสามนี้เป็นที่ฝากชีวิตจิตใจของพวกเราและพาเราให้พ้นทุกข์โดยปลอดภัย ความเกียจคร้านความไม่อดทน ต่อเหตุผลคือหลักธรรมเป็นต้น ไม่เคยนำผู้ใดข้ามพ้นจากอุปสรรคไปได้แม้แต่รายเดียว โลกทุกหย่อมหญ้าพึงทราบว่าตั้งอยู่ได้เพราะการงาน ไม่มีงานชีวิตต้องแตกสลาย สัตว์ทุกประเภทต่างก็แสวงหาอาหารใส่ปากใส่ท้อง พึงทราบว่าเขาทำ ไม่ใช่ง่านจะมีแต่มนุษย์จำพวกเดียวเท่านั้น งานที่จำเป็นทุกถ้วนหน้า คือ งานอาชีพ แม้สัตว์เดียรัจฉานก็ต้องทำ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นเหนือชีวิตใด ๆ ทั้งนั้น เราเป็นนักบวชมีความมุ่งหวังอย่างแรงกล้ามุ่งหน้าต่อมรรค ผล นิพพาน จงเห็นงานประจำเพศและความประสงค์ของตน คืองานเพื่อนิพพาน ว่าเป็นงานจำเป็นเหนือชีวิต เพราะงานนี้เป็นงานเพื่อไปแล้วไม่กลับมา ผลที่เกิดจากงานนี้คือวิมุตติหลุดพ้นไปแล้วหมดความวกเวียน โปรดพากันพากเพียรจนสุดกำลังของตน จะต้องเห็นผลประจักษ์กับใจในวันนี้วันหน้าไม่ต้องสงสัย

    วันนี้ได้แสดงธรรม โดยเริ่มต้นความสะดวกสบายในระหว่างเรากับหมู่เพื่อน แล้วย้อนเข้าอธิบายเรื่องความสบายในระหว่างใจกับอารมณ์อันเป็นความสงบตามขั้น จนถึง เตสํวูปสโม สุโข ความระงับดับเสียซึ่งสังขารอันก่อกวน ยังเหลือเฉพาะสังขารประจำขันธ์ห้า ซึ่งไม่พิษสงอะไร พระพุทธเจ้าและสาวกท่านก็มีจนกว่าจะนิพพานไปเสีย ขันธ์ทั้งห้าก็ดับสลายลงไปสู่สภาพเดิมของเขา

    ดังนั้น ขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายผู้มีแก่ใจ ซึ่งอุตส่าห์สละจากบ้านจากเรือนทั้งใกล้ทั้งไกล จงฟังให้ถึงจิตคิดให้ถึงใจ ปฏิบัติให้ถึงขีดแดนตายที่ไหนแล้วเราไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับร่างอันนี้ ป่าช้าของเรามีอยู่ทุกแห่งทุกหน ใต้ต้นไม้ ภูเขา หรือป่ารกชัฏที่ไหนก็ได้ ล้มลงแล้วใครจะเอาไปที่ไหนก็แล้วแต่เขา จงตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าและสาวกให้ทันทั้งข้อวัตรปฏิบัติ ทั้งความรู้ภายใน ทั้งความเป็น ความตาย อย่าให้ผิดเยี่ยงอย่างที่ท่านพาดำเนิน สมกับพระนามว่าเป็นศาสดาของโลก เพราะพระองค์ท่านและสาวกไม่เคยจับจองป่าช้าให้เหมาะสมไว้เพื่อความตาย ขันธ์หมดกำลังลงที่ไหนเป็นป่าช้าที่นั่น เราจงเป็นศิษย์พระตถาคตด้วยความไม่เห็นแก่เรือนร่าง ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ต่ำช้าจำพวกไม่มีอาชีพทางอื่นนอกจากร่างกายของคนและสัตว์ สิ่งที่เราไม่ยอมแพ้และปล่อยวาง คือความเพียรเพื่อไปไม่ต้องกลับมาโดยถ่ายเดียว

    ขอให้ท่านทั้งหลายยึดธรรมที่กล่าวมานี้ไว้เป็นหลักใจ ใคร่ต่อความเพียรไม่ท้อถอย จะเป็นผู้ถึงแดนแห่งความไม่วกเวียนในวันข้างหน้า ข้อสำคัญอย่าถือความขี้เกียจท้อแท้ว่าเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน วันหนึ่งแน่ ๆ ท่านทั้งหลายจะเป็นเจ้าของสมบัติอันล้ำค่าภายในใจ และทรงไว้ซึ่งประวัติแห่งบุคคลผู้มีชัยชนะต่อข้าศึกคือตนเอง ไม่กลับมาแพ้ตลอดกาล

    คำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ อันเป็นบ่อแห่งความสงสัย ซึ่งเคยเป็นมาในขณะที่ยังไม่รู้จะกลายเป็นธรรมตัดปัญหาลงในขณะเดียวกันโดยสิ้นเชิง

    ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขอบรรดาท่านผู้ฟังทุกท่านจงประสบความสำเร็จตามใจหวังดังคำอวยพรทุกประการเถิด เอวํ ขอยุติการแสดงพระธรรมเทศนาลงเพียงนี้
     
  5. blackangel

    blackangel เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    1,750
    ค่าพลัง:
    +1,919

แชร์หน้านี้

Loading...