จิต เจตสิก รูป นิพพาน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 19 มีนาคม 2009.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ปรมัตถธรรม จะมีอยู่ 4 อย่างคือ
    1) จิตปรมัตถ์
    2) เจตสิกปรมัตถ์
    3) รูปปรมัตถ์
    4) นิพพานปรมัตถ์
    จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    จิต คือ ธรรมชาติที่มีลักษณะรู้อารมณ์ คือมีการไปรับรู้อารมณ์อยู่เสมอส่วน

    เจตสิก เป็นธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด คือ ประกอบกับจิต
    จิตกับเจตสิกจะเกิดร่วมกัน อุปมาจิตเหมือนน้ำใส ๆ เจตสิกเหมือนสีต่าง ๆ เมื่อเราเอาสีเขียวไปใส่ในแก้วน้ำ แล้วก็คนๆ แล้วน้ำก็กลายเป็นน้ำเขียว หรือเอาสีเหลืองไปใส่ น้ำก็เป็นสีเหลือง มันจะรวมตัวกันอยู่อย่างนั้น แต่มันก็คนละอย่าง น้ำกับสีมันคนละอย่างกัน หรือจะเปรียบเจตสิกเหมือน เครื่องแกง คนที่ทำครัวก็เอาน้ำใส่หม้อลงไป แล้วเอาเครื่องแกง ที่ผสมไว้ด้วยพริก หอม กระเทียม กะปิ อะไรต่างๆ ที่ตำไว้ เอาไปคนลงในน้ำแกง น้ำนั้นก็กลายเป็นน้ำแกงปนกันไป เครื่องปรุงในจิตเจตสิกอุปมาได้อย่างนั้น แต่นี่มันเป็นนามธรรม จิตกับเจตสิกเป็นนามธรรมเกิดร่วมกันอยู่ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน มีที่อาศัยอย่างเดียวกัน จิตจะเป็นไปต่างๆ ขึ้นกับอำนาจของเจตสิก เจตสิกมันเป็นเครื่องปรุง เหมือนอย่างน้ำ จะให้เป็นน้ำแกง แกงอะไร มันก็ต้องใส่เครื่องปรุงแต่ละอย่างลงไป จิตก็เหมือนกัน ถ้าเจตสิกชนิดไหนลงไปรวมกับจิต จิตก็จะมีสภาพ ไปตามเจตสิกอย่างนั้น เจตสิกมันมีจำนวนมาก ไปปรุงแต่งในจิตจำนวนมากด้วยกัน จิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ ก็จะมีเจตสิกหลาย ๆ ชนิดเข้าไปรวมตัวอยู่ด้วย คงจะไม่ได้พูดรายละเอียดลงไปว่า จิตนั้นมีกี่ประเภท อะไรบ้าง ในจำนวนจิต 89 หรือ 121 ดวง คือเราไม่มีเวลาไปศึกษาพออย่างนั้น แต่เราจะพูดเอาเฉพาะที่มาทำความเข้าใจที่จะนำมาปฏิบัติ เจตสิกมี 52 ชนิด เราก็จะไม่พูดรายละเอียดลงไป จะพูดเฉพาะเรื่องที่จะมาปฏิบัติ

    รูป คือ ธรรมชาติที่มีลักษณะเสื่อมสิ้นสลายไป เสื่อมสิ้นสลายไป คือมันเกิดขึ้นแล้วมันก็แตกสลายไป ก็คือเป็นการปฏิเสธของการรับรู้อารมณ์ คือรูปมันไม่สามารถจะรับรู้ได้ ไม่เหมือนจิตเจตสิก จิตเจตสิกนี้นี่มันรู้อารมณ์ได้ มันไปจับไปรับรู้อารมณ์ได้ แต่รูปมันรับรู้อารมณ์ไม่ได้ มันก็มีหน้าที่ เกิดมาแล้วก็สลายตัวเท่านั้น แต่ไม่ใช่ว่าจิตเจตสิก จะไม่สลายตัว มันก็เกิดขึ้น ดับไปเหมือนกัน แต่ว่ามันรับรู้ อารมณ์ได้ แต่รูปมันรับรู้อารมณ์ไม่ได้ ก็เลยใช้เฉพาะคำว่าเสื่อมสิ้นสลายไป ซึ่งมี 28 รูปด้วยกัน ในคนหนึ่งก็จะมี 27 รูป แต่ว่ามันต่างกันอยู่ระหว่างผู้หญิง ผู้ชาย คือ ภาวรูป ในระหว่างอิตถีภาวรูป รูปของความเป็นผู้หญิง กับปุริสภาวรูป รูปของความเป็นชาย ซึ่งมีอยู่ในเซลทั่วร่างกาย ผู้ชายก็มีเฉพาะปุริสภาวรูป ผู้หญิงก็มีเฉพาะอิตถีภาวรูป แต่รวมผู้หญิงผู้ชายแล้วก็เป็น 28 รูป อันนี้ก็พอ เราก็จะไม่ศึกษาให้ละเอียด

    นิพพาน คือ ธรรมชาติที่มีลักษณะ สงบจากรูป นาม ขันธ์ 5 พ้นจากกิเลส คือ นิพพานมันเป็นธรรมชาติที่พ้นจากการปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยทั้ง 4 คือ เหตุปัจจัยที่จะไปปรุงแต่ง ปัจจัยมี 4 คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร ที่จะไปปรุงแต่งให้มันเกิดขึ้นให้มันดับไปไม่มี เพราะฉะนั้น นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีความเกิดดับ ไม่เหมือน จิต เจตสิก รูป ซึ่งมันถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย 4 เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุปัจจัยมันดับ จิต เจตสิก รูป เหล่านั้นก็ดับ เมื่อเหตุปัจจัยส่งผล มันก็เกิดขึ้น แต่นิพพานนี้เป็น อสังขตธรรม คือ เป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยทั้ง 4 จึงไม่มีความเกิดดับ นิพพานก็เป็นธรรมชาติที่ไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก แต่ว่านิพพานก็มีอยู่ โดยความเป็นธรรมารมณ์ คือเป็นอารมณ์ที่มาปรากฎทางใจ ในร่างกายในชีวิตของเราก็มีจิต เจตสิก รูป ขาดนิพพานไป นอกจากเราปฏิบัติวิปัสสนา ให้ถึงจุดหนึ่งก็จะถึง จะไปรับสัมผัสนิพพานได้ ในปรมัตถธรรม 3 ประการ คือ จิต เจตสิก รูป (นิพพานก็ยกไว้ก่อน) ในจิต เจตสิก รูป นี้ เมื่อย่อลงแล้วก็คือรูปและนาม หรือถ้าย่อกว้างนิดก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เราได้ฟังศึกษาอบรมมา ขันธ์ 5 ถ้าย่อลงมานั้น ก็คือรูปกับนาม รูปให้คำจำกัดความไว้ว่า คือธรรมชาติที่เสื่อมสลาย ไม่สามารถจะรับรู้อารมณ์ได้ ส่วนนามให้คำจำกัดความไว้ว่า สามารถรับรู้อารมณ์ได้

    ธรรมชาติใดที่มันสามารถรับรู้อารมณ์ได้เราจัดว่าเป็นนาม ส่วนธรรมชาติใดที่มันเกิดขึ้นมารับอารมณ์ไม่ได้ มีแต่สลายตัว เราจัดเป็นรูป การเจริญวิปัสสนา ต้องกำหนด ดูรูปนาม ต้องทิ้ง ต้องปล่อยจากบัญญัติ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ ระหว่าง บัญญัติกับปรมัตถ์ ถ้าเราไม่รู้จักบัญญัติ ไม่รู้จักปรมัตถ์ เราก็เลือกการกำหนดไม่ถูก จิตของเราก็จะไปอยู่กับบัญญัติ ตามความเคยชิน ความเคยชินของจิต ก็จะไปอยู่กับสมมุติบัญญัติอยู่อย่างนั้น มันก็ไม่มีทางที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้ คือไม่เกิดวิปัสสนาขึ้น วิปัสสนานั้นเป็นชื่อของปัญญา ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง ขอใช้คำจำกัดความ ของคำว่า วิปัสสนาไว้ว่า รู้ของจริงตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนา

    รู้ของจริงตามความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร ของจริงก็คือ ปรมัตถ์ ซึ่งแบ่งออกมาเป็น รูปกับนาม ตามความเป็นจริงคืออะไร ก็คือ รูปนามมันมีลักษณะอย่างไร ความเป็นจริงของมันมีลักษณะอย่างไร ลักษณะความเป็นจริงของมันก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจัง ก็คือความเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ในที่นี้ ไม่ใช่หมายถึง ความเจ็บป่วยร่างกายไม่สบายกายเท่านั้น ทุกขังในที่นี้หมายถึง สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สิ่งใดที่ปรากฏมาแล้ว ทนอยู่ในคุณสมบัติเดิมไม่ได้ อย่างนั้นเราเรียกว่าเป็นทุกข์ อาการของความเป็นทุกข์ คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ส่วนอนัตตา ก็คือ ลักษณะที่บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ สิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ คือไม่มีตัวตน คำว่าไม่มีตัวตน ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอะไร ที่เราฟังกันว่าชีวิตนี้ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่ว่ามันว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่ มันมีอยู่ แต่มีอยู่ในลักษณ์ที่บังคับไม่ได้ มีอยู่ในลักษณะที่มันเกิดตามเหตุตามปัจจัย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย เราจะไปบังคับอะไรมันไม่ได้ แต่มันมีอยู่จริง สิ่งที่เราจะต้องเข้าไปรู้เป็นปรมัตถธรรม ฉะนั้น เมื่อเราปฏิบัติไปเห็นรูป เห็นนาม ก็เท่ากับเห็นของจริง และถ้าเราเห็นลักษณะของรูปของนาม ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เรียกว่ารู้ตามความเป็นจริง นั่นคือ เรียกว่า วิปัสสนาญาณ เกิดขึ้น

    เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมันก็จะเป็นไปตามลำดับขั้น ตั้งแต่ญาณที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เรื่อยไป จนกว่าจะขึ้นโคตรภูญาณ ซึ่งเป็นญาณที่ 13 มัคคญาณ ญาณที่ 14 ผลญาณ ญาณที่ 15 ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่ 16 คือ เป็นโลกิยญาณ 13 ญาณ แล้วก็เป็นโลกุตตระ 2 ญาณ คือ มรรคญาณ แล้วก็กลับ ไปเป็นโลกิยญาณที่ 16 ถ้าคนผ่านญาณที่ 16 นี้ได้ก็เปลี่ยนโคตรจากปุถุชนเป็นอริยบุคคลชั้นที่ 1 ก็คือ โสดาบันบุคคล ถ้าผ่านญาณ 16 รอบที่ 2 ก็เป็นสกทาคามีบุคคล ผ่านญาณ 16 รอบที่ 3 ก็เป็นอนาคามีบุคคล ผ่านญาณ 16 รอบที่ 4 ก็เป็นอรหันตบุคคล หมดกิเลส โดยสิ้นเชิง เรื่องญาณที่เป็นไปในบั้นปลายเราไม่ต้องคำนึงถึง มันจะสอดคล้องกันไปเอง แต่ว่าเราปฏิบัติเริ่มต้นให้ถูกต้องด้วยการว่า ทำอย่างไร ให้ไปเห็นรูปนาม ตามความเป็นจริง ตัวที่จะเข้าไปรู้เห็นก็คือตัวปัญญา ที่เรียกว่าตัววิปัสสนา ปัญญาที่จะเกิดขึ้นมามันก็ต้อง มีสติ สติเป็นตัวระลึกรู้ การระลึกรู้ ถ้าหากระลึกรู้บัญญัติก็ได้ ระลึกชื่อ รู้เรื่องราวต่างๆ ภาษา ความหมาย ก็ระลึกได้ แต่มันจะไม่สามารถรู้ตามความจริง เพราะไปรู้ของปลอม บัญญัตินี้เป็นของปลอม บัญญัติเป็นของจริงเหมือนกันแต่เป็น ของจริงโดยสมมุติ ที่ชาวโลกกำหนดกันไว้ โดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่ของจริง ไปรู้ของปลอม มันก็รู้ตามความของปลอม กลายไปรู้เป็นคน เป็นสัตว์ เพราะฉะนั้นสติจะต้องระลึกรู้ ที่ของจริง จึงจะรู้ตามความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ

    ฉะนั้นการปฏิบัตินั้น จะต้องพยายามเจริญสติระลึกรู้ให้ตรงปรมัตถ์ คือตรงรูปตรงนาม ละคลายสมมุติบัญญัติ ออกไป คือกำหนดให้ตรงปรมัตถ์ และการจะรู้แจ้งตามความเป็นจริงนั้น เราไม่ต้องไปบังคับ หรือไม่ต้องไปหาเหตุผล เอาอดีต อนาคต อุปมากับแจกันนี่ ตัวแจกันอุปมา เป็นรูปนาม แต่ลวดลายของมันเหมือนกับเป็นไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเราอยากจะเห็นรู้ว่าแจกันนี้ลวดลายมันเป็นอย่างไร เราก็ต้องดูที่แจกัน ถ้าเราไปดูที่อย่างอื่น มันก็ไม่เห็นลวดลายบนแจกัน เมื่อเราเพ่งดู เราก็เห็นลวดลายของมัน อันนี้ลวดลายของมันก็คือลักษณะ ดังนั้นเมื่อเรากำหนด ให้ตรงรูปนามแล้ว ไม่ต้องกลัวว่ามันจะไม่รู้ ไม่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจะเห็นเอง เมื่อเพ่งดูที่แจกัน มันต้องเห็นลักษณะ เห็นลวดลายของมัน ฉะนั้นในการปฏิบัติวิปัสสนา ปัญญาวิปัสสนาไม่ใช่ปัญญาแบบที่เราเรียนทางโลก เราเรียนทางโลกเราจะต้องคิดมาก เอาเหตุผลในอดีต ในอนาคต อะไรต่างๆ เอามารวม มาประมวล มาคิด เราก็จะเกิดความเข้าใจ

    แต่ในการปฏิบัติวิปัสสนากลับตรงกันข้าม มันกลายเป็นว่าเราจะต้องปล่อยวางอดีต เรื่องทั้งหมดที่ผ่านมาแล้ว เราต้องวางมันได้ เรื่องอนาคตทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นเราจะต้องปล่อยมันได้ คือไม่คำนึงถึง จะต้องรู้อยู่ที่ปัจจุบัน ดังนั้น เราได้หลักการแล้วว่า วิปัสสนานั้นจะต้องกำหนด ให้ได้ปัจจุบัน กำหนดให้ตรงปรมัตถ์ คือรูปนาม และ กำหนดรูปนามให้เป็นปัจจุบัน อดีตไม่เอา อนาคตไม่เอาเอาแต่ปัจจุบัน ปัจจุบันนี้เอาแค่ไหน รูปนามมีความเกิดดับ รวดเร็วมาก มีความเกิดดับถี่มาก มันมีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ดับทันที เพียงแวบเดียวเท่านั้น ไวมาก ไวกว่าวินาที ต้องเอาวินาทีมาซอยมากๆ มันมีความเกิดดับไว แต่อาศัยที่มันดับแล้ว ก็เกิดอันใหม่ขึ้นมา มันดับแล้ว อันใหม่เกิดขึ้นมา มันมีความเกิด ต่อๆ กัน แต่อันใหม่ อันที่เกิดมาอันที่สอง ก็ไม่ใช่อันที่ 1 อันที่ 3 ก็ไม่ใช่อันที่ 2 อันที่ 4 ก็ไม่ใช่อันที่ 3 เกิดแล้วมันดับไปเลย อันที่ 1 ก็ดับไป อันที่ 2 ก็ดับไป อันที่ 3 ก็ดับ ไป อันนี้สมมุติพูดให้ฟังเป็น 1,2,3 แต่มันไหลไปอย่างนี้ มัน เกิดดับตลอด

    ชีวิตที่เราเวียนว่ายตายเกิด มันไปอย่างนี้ มันเกิดขึ้นมาแล้วดับไป ดับไป แต่ว่ามันมีพลังมีอานุภาพที่ส่งต่อ อันที่ 1 ดับไปมันก็มีกำลัง ส่งต่อให้อันที่ 2 มีพลัง ขึ้นมา แต่มันก็ คนละดวงกัน คนละประเภท คนละชนิดกัน ฉะนั้นเราได้ข้อมูลว่า รูปนามมันเกิดดับไว เกิดดับ เกิดดับ ถี่มาก เรียกว่า สันตติ คือ ความสืบต่ออัน รวดเร็ว ทำให้สัตว์ทั้ง หลาย มีความเห็นผิดขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นของเที่ยง ไม่เห็นมันขาดตอน เมื่อเราไม่เห็นขาดตอน ก็เห็นเป็นพืดไปหมด เหมือนเรามองรถไฟที่วิ่งไวไว เรามองเป็นขบวนเดียวรวด แต่อันที่จริง แล้วถ้ามันจอดเราจะเห็นเป็นตู้ๆ ๆ อันนี้ก็เหมือนกัน รูปนามมันมีความเกิดดับไว ความไวของมันทำให้เห็นเป็นของเที่ยง เป็นอัน เดียวกัน ไม่เห็นเกิดดับ

    แต่เมื่อเราเจริญสติ ฝึก สติจนมีความช่ำชอง มีความคมกล้า สตินี้มันก็จะสามารถไปจับความไวของรูปนามนั้นได้ พอไปจับได้ มันก็จะเห็นขาดตอน พอเห็นขาดตอน คือเห็นความเกิดดับ มันก็จะเกิดความรู้สึกไม่เที่ยงขึ้นมาใช่มั้ย มันเป็นหลักธรรมชาติ ถ้าเห็นความเกิดดับเมื่อไหร่ มันก็จะเกิดความรู้สึกไม่เที่ยง ต้องเห็นความดับไป เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไปไวที่สุด ก็จะมีการกระชากความรู้สึกในใจ เป็นปัญญาที่ว่า ภาวนาปัญญา เกิดขึ้นในใจว่า อ๋อไม่เที่ยง ซึ่งปัญญาชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากความคิด เอาอดีตมาคิด เอาอนาคตมาคิด แต่มันเกิดความแจ้งขึ้นมา มันรู้แจ้ง ไม่ต้องคิดอะไรเลย

    เป็นหลักการอย่างหนึ่งว่า การปฏิบัติอย่าหลงไปคิด ที่เราเรียนศึกษาวิชาการต่างๆ แม้แต่ปริยัติที่เราเรียนมา เวลานำมาปฏิบัติจริงๆ มันก็เป็นแต่เอามาสรุป แล้วก็ทำเฉพาะเรื่องที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น จะมัวไปคิดหลักการ เช่น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอะไรบ้าง เวทนามีอะไรบ้าง มันไม่ใช่นึกอย่างนั้น สิ่งที่เป็นปัจจุบันกำลังเกิดขึ้นจะไม่รู้เลย ฉะนั้นเราเรียนเพื่อประกอบความเข้าใจ เวลามาปฏิบัติ ก็เจริญสติ กำหนดรูปนาม ที่กำลังปรากฏจริงๆ เราก็ได้ความแล้วว่า ต้องเจริญสติ สติคือระลึกได้ ระลึกที่ไหน ระลึกที่รูปนาม รูปนามที่ไหน รูปนามที่เป็นปัจจุบัน บัญญัติไม่เอา เอาแต่ปรมัตถ์ คือ รูปนาม


    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/pk_kasem/pk-kasem_08_02_02.htm
     
  2. ขันธ์

    ขันธ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    7,917
    ค่าพลัง:
    +9,182
    นั่นแหละ เมื่อไม่มีกิเลส ก็มีปรมัตถ์ธรรม 4 อย่างนั้น

    มันก็สุญญดตโลกัง อะไรๆ ก็มาจากความว่าง จิตมีก็ไม่มี
    เจตสิก ก็ไม่มี รูปก็ไม่มี ได้ ที่มีมันก็มีของมัน มันสร้างได้ มันดับได้ เป็นเรื่องปกติ

    เอากิเลส ให้มันร่อนออกไป ที่หลงว่า ตรงนั้นยึดได้ ตรงนี้ยึดได้ ตรงนั้นจริง มันจะค่อยๆ หายไป
    แล้วมันจะปลอกเปลือกออกไป เหลือแต่ สุญโตโลกัง ใครได้สุขวิปัสสโก ก็จะเห็นแต่ เห็นด้วยตาธรรมว่ามันจะไม่มีอะไร
    แต่ใครได้ อภิญญา ก็จะเห็นทั้งตาธรรม ตาเนื้อ มองว่างไปหมด

    ส่วนตัวผม ยังไม่แทงตลอด มันเห็นแค่แว็บเดียว แป๊บเดียว มันยังไม่แจ้ง ก็คงเป็นเพราะ ศีล สมาธิ ยังไม่เพียงพอ ยังมีกำลังไม่พอที่จะแทงออกจาก อกุศล แต่ก็ ค่อยๆ ลอกอกุศลออกทีละน้อย สิ่งที่เห็นแว็บเดียวก็จะค่อยๆ แจ่มขึ้น
     
  3. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
  4. matakalee

    matakalee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กุมภาพันธ์ 2006
    โพสต์:
    160
    ค่าพลัง:
    +367
    โมทนาสาธุคะ ขอให้เจ้าของกระทู้และผู้ที่เข้ามาอ่านเจริญในธรรมทุกผู้ทุกคนคะ ขอให้ปฏิบัติตามทางสายเอกได้บรรลุมีดวงตาเห็นธรรมกันทุก ๆ คน
     
  5. albertalos

    albertalos เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 เมษายน 2006
    โพสต์:
    2,462
    ค่าพลัง:
    +1,137
    อนุดมทนา
     

แชร์หน้านี้

Loading...