จูฬทุกขักขันธสูตร

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย KK1234, 3 มิถุนายน 2009.

  1. KK1234

    KK1234 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    2,401
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,515
    จูฬทุกขักขันธสูตร

    พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๒


    กล่าว โดยสรุป ก็คือ กามทั้งหลายมีคุณ ก็คือให้ความสุขความยินดีหรือโสมนัส ซึ่งก็จริงตามนั้นอยู่ แต่ก็นับว่าความสุขโสมนัสนี้เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับโทษคือกองทุกข์กองใหญ่ ที่จักสืบเนื่องให้พึงบังเกิดขึ้นจากสุขโสมนัสนี้ขึ้นในภายหน้า อันย่อมต้องบังเกิดขึ้นและเป็นไปตามหลัก
    ปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเองคือในจากเหล่าโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส คือเหล่าอาสวะกิเลสนั่นเอง, โดยพระองค์ท่านแสดงธรรมใน โทษของกามคุณ ตั้งแต่เริ่มแรก กล่าวคือ ตั้งแต่กุลบุตรเริ่มทำมาหากินเพื่อกาม อันเป็นอาชีวทุกข์ อันแม้จำเป็นยิ่งในการดำเนินชีวิต แต่ก็ยังโทษ แม้เพียงเล็กน้อย ก็ด้วยความไม่รู้หรืออวิชชา จึงดำเนินไปตามปฏิจจสมุปบันธรรมจนเป็นกองทุกข์กองใหญ่ในที่สุด โดยถ้วนหน้าในผู้ที่ไม่ได้สดับ

    ทรงแสดงธรรมนี้แก่ เจ้าชายมหานามะ(มหานาม) เจ้าชายในศากยวงศ์ โอรสของพระเจ้าอมิโตทนศากยะ เป็นเชฏฐภาดา (พี่ชาย) ของพระอนุรุทธะ ได้เป็นราชาปกครองแคว้นศากยะในสมัยพุทธกาล (ภายหลังพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา) และเป็นอุบาสกผู้มีศรัทธาแรงกล้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ถวายของประณีต
    ด้วยเป็นธรรมที่ทรงแสดงต่ออุบาสก เพศฆราวาส ที่แจงเหตุแจงผลอยู่ในทีว่า ทำไม โลภะ โทสะ โมหะ จึงยังมีอยู่เป็นครั้งคราวไม่ขาดสูญไปในฆราวาสผู้ปฏิบัติ ก็เนื่องแต่ยังบริโภคกามอยู่ ไม่ว่าด้วยเหตุอันใดก็ตามที ที่เมื่อเป็นอุบาสกจึงยังอิงโลกอยู่ จึงย่อมมีหน้าที่หรือกิจอันควรของฆราวาส ดังเช่นอาชีวทุกข์ ที่ ต้องพึงกระทำ จึงไม่สามารถดับ โลภะ โทสะ โมหะได้อย่างเด็ดขาด ก็ด้วยยังมีเหตุดังกล่าวอยู่นั่นเอง หรือจะกล่าวได้ว่า เนื่องจากยังสวมหัวโขนอยู่ จึงจำต้องเล่นไปตามบทบาทของหัวโขนที่สวมใส่ไว้นั่นเอง กล่าวคือย่อมถูกสิงสู่โดยหัวโขนนั้นๆ จึงทำให้สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ)และสัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ)แม้ชอบถูก ต้องดีงามแล้วแต่ก็ไม่อาจบริบูรณ์ถึงที่สุด มรรคทั้ง ๘ จึงไม่สามารถสามัคคีกันได้สมบูรณ์ถึงขั้นที่สุด(มรรคสมังคี)
    ฝ่ายฆราวาส หรืออุบาสกอุบสิกาเมื่อพิจารณาในธรรม พึงระวังมิจฉาทิฏฐิว่า ถ้าไม่บวชแล้วไม่สามารถดับทุกข์ได้ จึงท้อแท้ หรือไม่ปฏิบัติ พึงระลึกด้วยว่า ธรรมของพระองค์ท่านนั้น ยังประโยชน์ต่อชนทุกระดับชั้นเป็นลำดับ ทั้งในระดับโลกุตระที่พ้นจากอำนาจของโลก และโลกิยะที่ ยังผลต่อขันธ์หรือชีวิตในปัจจุบัน ถึงแม้ดับกิเลสไม่ได้โดยเด็ดขาดในขั้น นี้ แต่การเจริญในธรรมของพระองค์ท่าน สามารถทำให้จางคลายจากทุกข์ได้ตามควรแห่งฐานะแห่งตนอีกด้วย และเมื่อฆราวาสหรืออุบาสกก้าวสู่อริยบุคคลได้สำเร็จกล่าวคือตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ก็คือการก้าวครั้งสำคัญเข้าสู่กระแสพระนิพพานเองในที่สุด ไม่มีทางหลีกพ้นเช่นกัน เพราะได้ทำเหตุมาถูกต้องดีแล้วนั่นเองอันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรม
    [​IMG]
    <center>
    ๔.จูฬทุกขักขันธสูตร
    </center>
    ว่าด้วยกองทุกข์
    [๒๐๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์แคว้นสักกะ
    ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะทรงพระนามว่า มหานาม เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
    ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
    ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เข้าใจข้อธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงมานานแล้วอย่างนี้ว่า
    โลภะ โทสะ โมหะ ต่างเป็นอุปกิเลสแห่งจิต
    ก็แหละเมื่อเป็นเช่นนั้น โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้ เป็นครั้งคราว
    ข้าพระองค์เกิดความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ธรรมชื่ออะไรเล่า ที่ข้าพระองค์ยังละไม่ได้เด็ดขาดในภายใน
    อันเป็นเหตุให้ โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้ เป็นครั้งคราว.
    [๒๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหานาม ธรรมนั้นนั่นแล ท่านยังละไม่ได้เด็ดขาดในภายใน
    อันเป็นเหตุให้ โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงำจิตของท่าน ไว้ได้เป็นครั้งคราว
    ดูกรมหานาม ก็ธรรมนั้นจักเป็นอันท่านละได้เด็ดขาดในภายในแล้ว ท่านก็ไม่พึงอยู่ครองเรือน ไม่พึงบริโภคกาม
    แต่เพราะท่านละธรรมเช่นนั้นยังไม่ได้เด็ดขาดในภายใน ฉะนั้น ท่านจึงยังอยู่ครองเรือน ยังบริโภคกาม.
    (ด้วยเหตุที่นักปฏิบัติที่เป็นฆราวาส ผู้ครองเรือน ย่อมยังบริโภคกามอยู่ กล่าวคือยังเนื่องอยู่ คือมีหน้าที่ต่างๆอยู่ที่ผูกพันพึงกระทำอยู่เป็นเครื่องผูก เครื่อง ดูแล เครื่องรักษา จึงย่อมยังให้เกิดเหล่าโลภะ โทสะ โมหะ เป็นครั้งคราวอยู่บ้างเป็นธรรมดา แต่ก็สามารถปฏิบัติให้จางคลายจากทุกข์หรือกิเลสตามโลกุตรภูมิแห่ง ตน ฆราวาสจึงต้องมีความเพียรยิ่งเช่นกัน ดังที่ท่านได้อุปมาไว้ว่า ฆราวาสที่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นนั้น ยากดุจดั่งขัดหอยสังข์ให้เรียบ ก็ด้วยที่ยังมีเหตุให้เนื่องหรือมีเหตุก่อให้กระทบอยู่เสมอๆโดยธรรม[ธรรมชาติ]ของฆราวาส)
    [๒๑๑] ดูกร มหานาม ถ้าแม้ว่า อริยสาวกเล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามเป็นจริงว่า
    กามให้ความยินดีน้อยมีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง ดังนี้
    แต่อริยสาวกนั้น เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม (แต่)ยังไม่บรรลุปีติและสุขหรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น
    เธอจะยังเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม ไม่ได้ก่อน
    (กล่าวคือ ยังไม่มีเครื่องอยู่ของจิต แทนกามทั้ง ๕ ในช่วงแรก ที่สติปัญญาย่อมยังไม่แก่กล้าพอ)
    แต่เมื่อใด อริยสาวกได้เล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
    กามให้ความยินดีน้อยมีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง ดังนี้
    และเธอก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุขหรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น เธอย่อมเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามเป็นแท้.
    (พึงโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย จะเห็นหลักการปฏิบัติอยู่ภายใน กล่าวคือ เมื่อมี ปีติสุข อันเกิดแต่การปฏิบัติฌานสมาธินั้น เพื่อเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัยของจิต อันประณีตกว่ากามทั้ง ๕ ในช่วงแรกของการปฏิบัติ ซึ่งเมื่ออยู่ในธรรมอันประณีตย่อมเกิดกำลังของจิต จิตย่อมไม่ซัดส่ายสอดแส่ เพราะปีติสุขเหล่านั้น อันเกิดแต่การระงับไปของนิวรณ์ ๕ แต่ยังต้องนำไปเป็นเครื่องหนุนในการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาอีกครั้งจึงเกิดผลที่ถูกต้องขึ้น จึงเป็นปัจจัยให้เกิด "กุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น" ขึ้นนั่นเอง ถ้าไม่กระทำดังนี้แล้วก็จะเกิดการติดเพลินหรือนันทิในปีติสุขเหล่านั้นจนถอนตัวไม่ขึ้น, หรืออาจพึงยังให้เกิด "กุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น" อันเป็นแก่น ด้วยปัญญาอันเกิดแต่ธรรมสามัคคีหรือมรรคสามัคคีแต่โดยตรง)
    ดูกร มหานาม แม้เราเมื่อเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้ทีเดียว ก็เล็งเห็นด้วย ปัญญาโดยชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
    กาม(แม้)ให้ความยินดี(สุข)น้อย (แต่)มีทุกข์(แอบแฝงอยู่)มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง ดังนี้
    และเราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ไม่บรรลุปีติและสุขหรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เราจึงปฏิญาณว่า เป็นผู้ไม่เวียนมาในกามมิได้ก่อน
    แต่เมื่อใด เราเล็งเห็น ด้วยปัญญาโดยชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
    กามให้ความยินดีน้อยมีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง ดังนี้
    และเราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุขหรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม.
    [๒๑๒] ดูกรมหานาม ก็อะไรเล่าเป็นคุณของกามทั้งหลาย?
    ดูกร มหานาม กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ
    รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
    เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
    กลิ่นที่พึงรู้แจ้ง ด้วยฆานะ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
    รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
    โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
    ดูกร มหานาม กามคุณ ๕ ประการ เหล่านี้แล ความสุข ความโสมนัสใด อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้ เป็นคุณของกามทั้งหลาย
    (กล่าวโดยย่อ ความสุขอันใดที่เกิดแต่กามทั้ง ๕ คือจาก รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ นับว่าเป็น คุณ ของกามทั้ง ๕ มีเท่านั้นเอง)
    <center> ว่าด้วยโทษแห่งกาม
    </center> [๒๑๓] ดูกร มหานาม ก็อะไรเล่าเป็นโทษของกามทั้งหลาย?
    กุลบุตร ในโลกนี้ เลี้ยงชีวิตด้วยความขยัน ประกอบศิลปะใด คือ ด้วยการนับคะแนนก็ดี ด้วยการคำนวณก็ดี ด้วยการนับจำนวนก็ดี ด้วยการไถก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโคก็ดี ด้วยการยิงธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรำต่อความหนาว ต้องตรากตรำต่อความร้อน งุ่นง่าน อยู่ด้วยสัมผัสแต่เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ต้องตายด้วยความหิวกระหาย
    ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกาม เป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น
    (เกิดกระทำทั้งหมดก็เพราะกามคุณเป็นเหตุ กล่าวคือ เพื่อหวังความสุข อันเกิดจากกามทั้ง ๕ นั่นเอง แม้จำเป็นในการดำเนินชีวิตก็จริงอยู่ แต่ด้วยอวิชชาจึงดำเนินต่อไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมจนเป็นทุกข์กองใหญ่ในที่สุด จึงดำเนินเกิดขึ้นและเป็นไปดังเช่นนี้)
    ดูกร มหานาม ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้น ขยัน สืบต่อพยายามอยู่อย่างนี้ (เมื่อ)โภคะเหล่านั้นก็ไม่สำเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพันตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่า ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ
    ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็น กองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น
    ดูกร มหานาม ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน สืบต่อพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้นสำเร็จผล เขากลับเสวยทุกข์ โทมนัส ที่มีการคอยรักษาโภคะเหล่านั้น เป็นตัวบังคับว่า ทำอย่างไรพระราชาทั้งหลาย ไม่พึงริบโภคะเหล่านั้นไปได้ พวกโจรพึงปล้นไม่ได้ ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัด ทายาทอัปรีย์พึงนำไปไม่ได้
    เมื่อกุลบุตรนั้น คอยรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ (แต่)พระราชาทั้งหลายริบโภคะเหล่านั้นไปเสียก็ดี โจรปล้นเอาไปเสียก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปเสียก็ดี ทายาทอัปรีย์นำไปเสียก็ดี เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่า สิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา
    ดูกร มหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็น กองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    [๒๑๔] ดูกร มหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล แม้พระราชาทั้งหลายก็วิวาทกันกับพวกพระราชา แม้พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกกษัตริย์ แม้พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์ แม้คฤหบดี ก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี แม้มารดาก็วิวาทกันกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกันกับมารดา แม้บิดาก็วิวาทกันกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกันกับบิดา แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกันกับพี่ชายน้องชาย แม้พี่ชายก็ วิวาทกันกับน้องสาว แม้น้องสาวก็วิวาทกันกับพี่ชาย แม้สหายก็วิวาทกันกับสหาย ชนเหล่านั้นต่างถึงการทะเลาะแก่งแย่งวิวาทกันในที่นั้นๆ ทำร้ายซึ่งกันและกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศาตราบ้าง ถึงความตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรมหานามแม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็น กองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    [๒๑๕] ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็น ตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างถือดาบและโล่ห์ สอดแล่งธนู วิ่งเข้าสู่ สงคราม ปะทะกันทั้ง ๒ ข้าง เมื่อลูกศรทั้งหลายถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกทั้งหลายถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบทั้งหลายถูกกวัดแกว่งอยู่บ้าง ฝูงชนเหล่านั้นต่างก็ถูกลูกศรแทงเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะเสียบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็น กองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    [๒๑๖] ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัว บังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนถือดาบและโล่ห์สอดแล่งธนู ตรูกันเข้าไปสู่เชิง กำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อลูกศรถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบถูกกวัดกว่งบ้าง ชนเหล่านั้นต่างถูกลูกศรแทงบ้าง ถูกหอกแทงบ้าง ถูกรดด้วยโคมัยร้อนบ้าง ถูกสับ ด้วยคราดบ้าง ถูกตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็น กองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    [๒๑๗] ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็น ตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนตัดที่ต่อบ้าง ปล้นอย่างกวาดล้างบ้าง กระทำการปล้นในเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในหนทางบ้าง สมสู่ภรรยาคนอื่นบ้าง พระราชาทั้งหลาย จับคนนั้นๆ ได้แล้ว ให้กระทำกรรมกรณ์ต่างๆ คือเฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้ค้อนบ้าง กระทำกรรมกรณ์ชื่อโชติมาสิกะบ้าง ชื่อหัตถปัชโชติกะบ้าง ชื่อเอรกวัตติกะบ้าง ชื่อจีรกวาสิกบ้าง ชื่อเอเณยกะบ้าง ชื่อพลิสมังสิกะบ้าง ชื่อกหาปณกะบ้าง ชื่อขาราปฏิจฉกะบ้าง ชื่อปลิฆปริวัตติกะบ้าง ชื่อปลาลปีฐกะบ้าง รดด้วยน้ำมันที่ร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง เสียบที่ หลาวทั้งเป็นบ้าง ใช้ดาบตัดศีรษะเสียบ้าง คนเหล่านั้นถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรมหานามแม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็น กองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    [๒๑๘] ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัว บังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้น ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกรมหานาม แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ในสัมปรายภพ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    <center> ทรงปรารภพวกนิครนถ์ที่ถือการยืนเป็นวัตร
    </center> [๒๑๙] ดูกร มหานาม สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น ณ ตำบลกาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ
    พวกนิครนถ์จำนวนมาก เป็นผู้ถือการยืนเป็นวัตร ห้ามการนั่ง เสวยทุกขเวทนา แรงกล้า เผ็ดร้อน อันเกิดแต่ความพยายาม
    ครั้งนั้นแล เราออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาพวกนิครนถ์ ถึงประเทศกาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ
    ได้กล่าว ความข้อนี้กะพวกนิครนถ์เหล่านั้นว่า
    ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุทั้งหลาย ไฉนเล่า พวกท่านจึงถือการยืนเป็นวัตร ห้ามการนั่ง เสวยทุกขเวทนา แรงกล้า เผ็ดร้อน?
    ดูกร มหานาม เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ แล้ว พวกนิครนถ์เหล่านั้นได้กล่าวกะเราดังนี้ว่า
    ดูกรผู้มีอายุ นิครนถ์นาฏบุตร(ผู้)รู้ธรรมทั้งปวง (เป็นผู้)เห็นธรรมทั้งปวง ยืนยันญาณทัสสนะหมดทุกส่วนว่า
    เมื่อเราเดินไปก็ดี ยืนก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสสนะปรากฏอยู่ ติดต่อเสมอไป
    นิครนถ์นาฏบุตร(ผู้)นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า
    ดูกรนิครนถ์ทั้งหลายผู้เจริญ บาปกรรมที่พวกท่านทำแล้วในกาลก่อนมีอยู่ พวกท่านจงสลัดบาปกรรมนั้นเสีย ด้วยปฏิปทาอัน ประกอบด้วยการกระทำที่ทำได้ยาก อันลำบากนี้ ข้อที่ท่านทั้งหลายสำรวมกาย วาจา ใจ ในบัดนี้นั้น เป็นการไม่กระทำบาปกรรมต่อไป ทั้งนี้ เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ เพราะไม่ทำกรรมใหม่ ความไม่ถูกบังคับต่อไปจึงมี เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ความสิ้นกรรมจึงมี เพราะสิ้นกรรม ความสิ้นทุกข์จึงมี เพราะสิ้นทุกข์ ความสิ้นเวทนาจึงมี เพราะสิ้นเวทนา จักเป็นอันพวกท่านสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด คำที่นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวแล้วนั้น ชอบใจและควรแก่พวกข้าพเจ้า และเพราะเหตุนั้น พวกข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีใจยินดี ดังนี้.
    (นี้เป็นทิฏฐิความเห็นความเชื่อของฝ่ายนิครนถ์)
    <center> ทรงปรารภถึงผู้อยู่สบายดีกว่า
    </center> [๒๒๐] ดูกร มหานาม เมื่อพวกนิครนถ์กล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะนิครนถ์ เหล่านั้นดังนี้ว่า ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้มีแล้วในกาลก่อน มิใช่ไม่ได้มีแล้ว?
    (" มิใช่ไม่ได้มีแล้ว? " เป็นคำถามที่ทวนคำถามเดิมนั่นเองว่า " เราทั้งหลาย ได้มีแล้วในกาลก่อน ? " แต่เป็นการเน้นย้ำในรูปประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ แจกแจงเพียงเพื่อป้องกันการสับสนในเรื่องภาษาในการพิจารณาเท่านั้น)
    นินิครนถ์. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.(หมายถึง ไม่รู้)
    พระพุทธเจ้า. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมไว้ใน กาลก่อน มิใช่ไม่ได้ทำไว้?
    นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.
    พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมอย่างนี้บ้างๆ?
    นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.
    พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่า ทุกข์เท่านี้เราต้องสลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว จักเป็นอันสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด?
    นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.
    พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรม ในปัจจุบันละหรือ?
    นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.
    พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ ตามที่ได้ฟัง พวกท่านไม่รู้ว่า ในปางก่อนเราได้มีมาแล้วหรือไม่ ไม่รู้ว่าในปางก่อนเราได้ทำบาปกรรมไว้หรือไม่ทั้งไม่รู้ว่าเราได้ทำบาปกรรมไว้อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่รู้ว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้วทุกข์เท่านี้จำต้องสลัดเมื่อสลัดทุกข์เท่านี้ได้แล้ว ทุกข์ทั้งปวง จักเป็นอันสลัดไปด้วยไม่รู้จักการละอกุศลธรรม และการยังกุศลธรรมให้เกิดในปัจจุบัน ดูกร นิครนถ์ผู้มีอายุ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนทั้งหลายจักบวชในสำนักของท่าน ก็เฉพาะแต่คนที่มี มรรยาทเลวทราม มือเปื้อนโลหิต ทำกรรมชั่วช้า เป็นผู้เกิดสุดท้ายภายหลังในหมู่มนุษย์.
    นิ. ดูกรท่านพระโคดมผู้มีอายุ บุคคลมิใช่จะประสพความสุขได้ด้วยความสุขแต่จะประสพสุขได้ด้วยความทุกข์แท้(เป็นความเชื่อหรือมิจฉาทิฏฐิของฝ่ายนิครนถ์) ก็ถ้าหากบุคคลจักประสพความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ ก็คงประสพความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพ เจ้าแผ่นดินมคธ อยู่เป็นสุขกว่าท่านพระโคดม.
    พ. เป็นการแน่นอน ที่พวกท่านนิครนถ์ทั้งหลายหุนหัน ไม่ทันพิจารณาจึงพูดว่า ดูกรท่านพระโคดมผู้มีอายุ บุคคลมิใช่จะประสพความสุขด้วยความสุข แต่จะประสพความสุขได้ ด้วยความทุกข์แท้ ก็ถ้าหากบุคคลจักประสพความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพ เจ้าแผ่นดินมคธ ก็คงประสพความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ อยู่เป็น สุขยิ่งกว่าท่านโคดม
    เออก็เราเท่านั้น ที่พวกท่านควรซักไซร้ไล่เลียงในเรื่องสุข เรื่องทุกข์นั้นสิ ว่าใครเล่าหนอจะอยู่สบายดีกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ หรือท่านพระโคดมเอง.
    (กล่าวคือ แทนที่จะทูลถามพระองค์ กลับไปคิดนึกปรุงแต่งเสียด้วยอวิชชาความไม่รู้จริง แล้วคิดนึกปรุงแต่งแทนพระองค์ท่าน)
    นิ. ดูกรท่านพระโคดมผู้มีอายุ เป็นการแน่นอนที่พวกข้าพเจ้าหุนหันไม่ทันพิจารณา จึงพูดว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคลมิใช่จะประสพความสุขด้วยความสุข แต่จะประสพความสุขได้ด้วยความทุกข์แท้ ก็ถ้าหากบุคคลจักประสพความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพ เจ้าแผ่นดินมคธ ก็คงประสพความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ อยู่เป็น สุขยิ่งกว่าท่านพระโคดม เอาละ หยุดไว้เพียงเท่านี้
    บัดนี้ พวกข้าพเจ้าจะต้องถามท่านพระโคดม ดูบ้างว่า ใครเล่าหนอ จะอยู่สบายดีกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ หรือท่าน พระโคดมเอง?
    พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ ถ้าอย่างนั้น เราจะต้องถามพวกท่าน ในเรื่องสุขเรื่องทุกข์นั้น ดูบ้าง ท่านเข้าใจอย่างใด ก็พึงแถลงอย่างนั้น ดูกรท่านนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจงเข้าใจความ ข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ เจ้าแผ่นดินมคธ จะทรงสามารถ ไม่ทรงไหว พระกาย ไม่ทรงพระดำรัส ทรงเสวยพระบรมสุขส่วนเดียวอยู่ ๗ คืน ๗ วัน ได้หรือ?
    นิ. ไม่ไหวละท่าน.
    พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพ เจ้าแผ่นดินมคธ จะทรงสามารถ ไม่ทรงไหวพระกาย ไม่ทรงพระดำรัส ทรงเสวย พระบรมสุขส่วนเดียวอยู่ ๖ คืน ๖ วัน ... ๕ คืน ๕ วัน ... ๔ คืน ๔ วัน ... ๓ คืน ๓ วัน ... ๒ คืน ๒ วัน ... เพียงคืนหนึ่งวันหนึ่ง ได้หรือ?
    นิ. ไม่ไหวละท่าน.
    พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ เราแหละสามารถไม่ไหวกาย ไม่พูด เสวยความสุขส่วนเดียวอยู่ เพียงคืนหนึ่งวันหนึ่ง สามารถไม่ไหวกาย ไม่พูด เสวยความสุขส่วนเดียวอยู่ ๒ คืน ๒ วัน ... ๓ คืน ๓ วัน ... ๔ คืน ๔ วัน ... ๕ คืน ๕ วัน ... ๖ คืน ๖ วัน ... ๗ คืน ๗ วัน ดูกรนิครนถ์ ผู้มีอายุ พวกท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน? เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะอยู่สบายกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ หรือเราเอง?
    (กล่าวคือ พระองค์ท่านไม่มีทุกข์มารุมเร้า สุขของพระองค์ท่านมิได้เกิดแต่การสังขารหรือสร้างขึ้นดังทางโลก แต่เป็นสุขสงบภายใน อันเกิดขึ้นแต่การปล่อยวางกิเลสตัณหา อันเป็น สุข สะอาด สงบ บริสุทธิ์ยิ่ง ตลอดกาลนาน)
    นิ. เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมสิ อยู่สบายกว่าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ เจ้าแผ่นดินมคธ.
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว เจ้าศากยมหานามทรงมีพระทัยชื่นชมยินดีพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้วแล.
    <center> จบ จูฬทุกขักขันธสูตร ที่ ๔
    </center>
    [​IMG]
    กล่าว โดยสรุป ก็คือ กามทั้งหลายมีคุณ ก็คือให้ความสุขความสบาย ซึ่งก็จริงตามนั้นอยู่ แต่ก็ถือว่าเป็นความสุขสบายนี้เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับโทษหรือกองทุกข์ที่จักพึงบังเกิดขึ้นในภายหน้า อันย่อมเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง
    และ แสดงถึงปีติ,สุข อันเป็นผลจากการปฏิบัติฌานสมาธิ เพื่อเป็นเครื่องอยู่ เพื่อการละวางในกามคุณ ๕ จนกว่าจักเกิด"กุศลธรรมอื่นยิ่งกว่า" ที่หมายถึง เกิดปัญญาในการดับทุกข์อย่างแท้จริงขึ้น ด้วยเหตุดังนี้ ฌานสมาธิ จึงเป็นเครื่องอยู่ หรือเครื่องเกื้อหนุนในการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญานั่นเอง โดยเกิดขึ้นและเป็นไปใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ เป็นเครื่องอยู่แทนกาม ที่ให้ความสุขอันละเอียดประณีตกว่าความสุขจากกามในช่วงแรก๑ และใจที่ไม่ซัดส่ายเนื่องจากความสงบจึงเป็นสุข เป็นกำลังเครื่องหนุนในการวิปัสสนาหรือพิจารณาธรรมให้เกิดปัญญาอันยังให้ เกิด"กุศลธรรมอื่นที่สงบกว่า"นั่นเอง๑
    แต่ ต้องพึงระลึกด้วยว่า ทั้งฌานและสมาธินั้น นักปฏิบัติก็ต้องไม่ติดเพลิน(นันทิ)จนเสียการ กล่าวคือ เมื่อดำเนินไปในฌานสมาธิแล้วต้องดำเนินการเจริญวิปัสสนาในธรรมด้วยเสมอๆ เพื่อยังให้เกิด "กุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น" จึงเป็นที่สุดของการดับทุกข์
     

แชร์หน้านี้

Loading...