(ทดลองอ่าน)พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ (๓. มหาทุกขักขันธสูตร)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก เสียงอ่าน' ตั้งกระทู้โดย Potter, 28 พฤศจิกายน 2009.

  1. Potter

    Potter เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มีนาคม 2006
    โพสต์:
    150
    ค่าพลัง:
    +238
    [MUSIC]http://audio.palungjit.org/attachment.php?attachmentid=41987&stc=1&d=1259392802[/MUSIC]


    <center>๓. มหาทุกขักขันธสูตร
    </center><center>ว่าด้วยกองทุกข์ใหญ่
    </center><center>เรื่องอัญญเดียรถีย์
    </center> [๑๙๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก-
    *เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน ในตอนเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตร
    และจีวรเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ภิกษุเหล่านั้นต่างมีความคิดร่วมกันว่า ยังเช้าอยู่นัก
    อย่าเพิ่งเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีเลย ทางที่ดี พวกเราควรเข้าไปยังอารามของพวกปริพาชก
    อัญญเดียรถีย์เถิด ดังนี้แล้ว ต่างก็มุ่งตรงไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ครั้นแล้ว
    ได้สนทนาปราศรัยกับพวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน
    ไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ได้กล่าวกะพวก
    ภิกษุผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งดังนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนด
    รู้กามได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนด
    รู้รูปได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้
    เวทนาได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้เวทนาได้ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ อะไร
    เล่า เป็นข้อแปลกกัน อะไรเป็นผลที่มุ่งหมาย หรือกระทำให้ต่างกันระหว่างพระสมณโคดมกับ
    พวกข้าพเจ้า เช่นการแสดงธรรมกับการแสดงธรรม หรืออนุสาสนีกับอนุสาสนี พวกภิกษุเหล่า
    นั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นกล่าวแล้ว ครั้นแล้วลุกจากที่นั่งหลีก
    ไป ด้วยคิดว่า เราจักทราบข้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค.
    [๑๙๕] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีกลับจากบิณฑบาต
    ในเวลาปัจฉาภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
    แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระ-
    *องค์ขอประทานพระวโรกาส เช้าวันนี้ พวกข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต
    ในพระนครสาวัตถี พวกข้าพระองค์ต่างมีความคิดร่วมกันว่า ยังเช้าอยู่นัก อย่าเพิ่งเข้าไปบิณฑบาต
    ในพระนครสาวัตถีเลย ทางที่ดี พวกเราควรเข้าไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เถิด
    พวกข้าพระองค์ต่างก็มุ่งตรงไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ครั้นแล้วได้สนทนาปราศรัย
    กับพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ
    ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์นั้นเหล่า ได้กล่าวกะพวกข้าพระองค์ ผู้นั่ง ณ
    ที่ควรส่วนข้างหนึ่งดังนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้
    แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปได้
    แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้เวทนาได้ แม้
    พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้เวทนาได้ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ อะไรเล่าเป็นข้อ
    แปลกกัน อะไรเป็นผลที่มุ่งหมาย หรือกระทำให้ต่างกัน ระหว่างพระสมณโคดมกับพวกข้าพเจ้า
    เช่นการแสดงธรรมกับการแสดงธรรม หรืออนุสาสนีกับอนุสาสนี พวกข้าพระองค์ไม่ยินดี
    ไม่คัดค้านคำที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นกล่าวแล้ว ครั้นแล้วลุกจากที่นั่งหลีกไปด้วยคิดว่า
    เราจักทราบข้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค.

    <center>คุณและโทษของกาม
    </center> [๑๙๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะ
    อย่างนี้ พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็อะไรเล่าเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไร
    เป็นการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย คือ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนของรูป
    ทั้งหลาย อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย? ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ถูกพวกเธอถามอย่างนี้ จักไม่พอใจเลย และจักต้องคับแค้น
    อย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะข้อนั้นมิใช่วิสัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นผู้ที่จะพึง
    ยังจิตให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ ในโลกเป็นไปกับด้วยเทวโลก มารโลก พรหมโลก
    ในหมู่สัตว์ เป็นไปกับด้วยสมณะ และพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เว้นไว้แต่ตถาคต หรือสาวก
    ของตถาคต หรือมิฉะนั้นก็ฟังจากนี้.
    [๑๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นคุณของกามทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่า-
    *พอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต ... กลิ่นที่พึงรู้แจ้ง
    ด้วยฆานะ ... รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
    น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการ
    เหล่านี้แล ความสุข ความโสมนัสใดเล่า อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกาม
    ทั้งหลาย.
    [๑๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นโทษของกามทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีวิตด้วยความขยันประกอบศิลปใด คือ ด้วยการนับคะแนนก็ดี ด้วยการ
    คำนวณก็ดี ด้วยการนับจำนวนก็ดี ด้วยการไถก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโคก็ดี ด้วย
    การยิงธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรำต่อความหนาว
    ต้องตรากตรำต่อความร้อน งุ่นง่านอยู่ด้วยสัมผัสแต่เหลืบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน
    ต้องตายด้วยความหิวระหาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์
    ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกาม
    ทั้งหลายทั้งนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน สืบต่อ พยายามอยู่อย่างนี้ โภคะ
    เหล่านั้นก็ไม่สำเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่า
    ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็น
    โทษของกามทั้งหลาย ... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน สืบต่อ พยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้น
    ทำเร็จผล เขากลับเสวยทุกข์ โทมนัส ที่มีการคอยรักษาโภคะเหล่านั้นเป็นตัวบังคับว่า ทำอย่างไร
    พระราชาทั้งหลาย ไม่พึงริบโภคะเหล่านั้นไปได้ พวกโจรพึงปล้นไม่ได้ ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัด
    ทายาทอัปรีย์พึงนำไปไม่ได้ เมื่อกุลบุตรนั้นคอยรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลาย
    ริบโภคะเหล่านั้นไปเสียก็ดี พวกโจรปล้นเอาไปเสียก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปเสียก็ดี ทายาท
    อัปรีย์นำไปเสียก็ดี เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่า
    สิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกาม
    ทั้งหลาย ... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัว
    บังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล แม้พระราชาทั้งหลายก็วิวาทกันกับพวกพระราชา แม้
    พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกกษัตริย์ แม้พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์ แม้คฤหบดี
    ก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี แม้มารดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับมารดา แม้บิดาก็วิวาทกับ-
    *บุตร แม้บุตรก็วิวาทกับบิดา แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกันกับพี่ชายน้องชาย แม้พี่ชายก็วิวาทกับ
    น้องสาว แม้น้องสาวก็วิวาทกับพี่ชาย แม้สหายก็วิวาทกับสหาย ชนเหล่านั้นต่างถึงการทะเลาะ
    แก่งแย่ง วิวาทกันในที่นั้นๆ ทำร้ายซึ่งกันและกัน ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้
    บ้าง ด้วยศาตราบ้าง ถึงความตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้
    ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย ... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ
    เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างถือดาบและโล่ห์สอดแล่งธนู วิ่งเข้าสู่สงคราม ปะทะ
    กันทั้ง ๒ ข้าง เมื่อลูกศรทั้งหลายถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกทั้งหลายถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบทั้งหลาย
    ถูกกวัดแกว่งอยู่บ้าง ฝูงชนเหล่านั้นต่างก็ถูกลูกศรแทงเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง ถูกดาบตัด-
    *ศีรษะเสียบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้
    ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย ... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัว
    บังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนถือดาบและโล่ห์สอดแล่งธนู ตรูกันเข้าไปสู่
    เชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อลูกศรถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบถูกกวัด-
    *แกว่งบ้าง ชนเหล่านั้นต่างถูกลูกศรแทงบ้าง ถูกหอกแทงบ้าง ถูกรดด้วยโคมัยร้อนบ้าง ถูกสับ
    ด้วยคราดบ้าง ถูกตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตาย
    บ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย ... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ
    เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนตัดที่ต่อบ้าง ปล้นอย่างกวาดล้างบ้าง กระทำการปล้น
    เรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในหนทางบ้าง สมสู่ภรรยาคนอื่นบ้าง พระราชาทั้งหลาย จับคนนั้นๆ
    ได้แล้ว ให้กระทำกรรมกรณ์ต่างๆ เฆี่ยนด้วยแซ่บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้ค้อนบ้าง
    ตัดมือเสียบ้าง ตัดเท้าเสียบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าเสียบ้าง ตัดหูเสียบ้าง ตัดจมูกเสียบ้าง ตัดทั้งหู
    ทั้งจมูกเสียบ้าง กระทำกรรมกรณ์ ชื่อพิลังคถาลิก [หม้อเคี่ยวน้ำส้ม] บ้าง ชื่อสังขมุณฑกะ
    [ขอดสังข์] บ้าง ชื่อราหูมุข [ปากราหู] บ้าง ชื่อโชติมาลิก [พุ่มเพลิง] บ้าง ชื่อหัตถปัชโชติก
    [มือไฟ] บ้าง ชื่อเอรกวัตติก [นุ่งหนังช้าง] บ้าง ชื่อจีรกวาสิก [นุ่งสร่าย] บ้าง ชื่อเอเณยยกะ
    [ยืนกวาง] บ้าง ชื่อพลิสมังสิก [กระชากเนื้อด้วยเบ็ด]บ้าง ชื่อกหาปณกะ [ควักเนื้อทีละ-
    *กหาปณะ] บ้าง ชื่อขาราปฏิจฉก [แปรงแสบ] บ้าง ชื่อปลิฆปริวัตติก [วนลิ่ม] บ้าง ชื่อปลาลปีฐก
    [ตั่งฝาง] บ้าง รดด้วยน้ำมันที่ร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง เสียบที่หลาวทั้งเป็นบ้าง ใช้ดาบตัด
    ศีรษะเสียบ้าง คนเหล่านั้นถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้
    ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า
    มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ
    เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้น
    ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึง
    อบาย ทุคติ วินิบาตนรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์
    ในสัมปรายภพ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกาม
    ทั้งหลายทั้งนั้น.

    [๑๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย? ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลาย การกำจัดฉันทราคะในกามทั้งหลาย การละฉันทราคะในกามทั้งหลายใด นี้เป็นการถ่าย-
    *ถอนของกามทั้งหลาย.
    [๒๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดคุณของกาม
    ทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของกามทั้งหลาย โดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย
    โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นน่ะหรือ จักรอบรู้กามทั้ง-
    *หลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้กามทั้งหลาย
    ได้ ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
    รู้ชัดคุณของกามทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของกามทั้งหลาย โดยความเป็นโทษและการถ่ายถอน
    กามทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นแหละหนอ
    จักรอบรู้กามทั้งหลายด้วยตนเองได้ หรือจักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้
    กามทั้งหลายได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.

    [๒๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นคุณของรูปทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เหมือนอย่างว่า นางสาวเผ่ากษัตริย์ เผ่าพราหมณ์ หรือเผ่าคฤหบดีมีอายุระบุได้ว่า ๑๕ ปี หรือ
    ๑๖ ปี ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ดำเกินไป ไม่ขาวเกินไป
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้นนางคนนั้น งดงามเปล่งปลั่งเป็นอย่างยิ่ง ใช่หรือไม่เล่า? พวกภิกษุ
    พากันกราบทูลว่าเป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสุข
    ความโสมนัสอันใดแล ที่บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความงามเปล่งปลั่ง นี้เป็นคุณของรูปทั้งหลาย.

    [๒๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นโทษของรูปทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละในโลกนี้ โดยสมัยอื่น มีอายุ ๘๐-๙๐ หรือ ๑๐๐ ปี โดยกำเนิด
    เป็นยายแก่ มีซี่โครงคดดังกลอนเรือนร่างขดงอ ถือไม้เท้ากระงกกระเงิ่น เดินสั่นระทวย
    กระสับกระส่าย ผ่านวัยเยาว์ไปแล้วมีฟันหลุด ผมหงอก ผมโกร๋น ศีรษะล้าน เนื้อเหี่ยว มีตัว
    ตกกระ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มี
    ในครั้งก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?
    ภิ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.
    พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละมีอาพาธ มีทุกข์
    เจ็บหนัก นอนจมมูตรคูถของตน ต้องให้คนอื่นพยุงลุก ต้องให้คนอื่นคอยประคอง ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลาย เธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว
    โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?
    ภิ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.
    พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละเป็นซากศพ
    ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ตายได้ ๑ วันก็ดี ตายได้ ๒ วันก็ดี ตายได้ ๓ วันก็ดี เป็นซากศพขึ้นพอง
    ก็ดี มีสีเขียวก็ดี เกิดหนอนชอนไชก็ดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร
    ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?
    ภิ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.
    พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละเป็นซากศพถูกทิ้ง
    ไว้ในป่าช้า ฝูงการุมกันจิกกินบ้าง ฝูงแร้งรุมกันจิกกินบ้าง ฝูงนกเค้ารุมกันจิกกินบ้าง ฝูงสุนัขรุม
    กันกัดกินบ้าง ฝูงสุนัขจิ้งจอกรุมกันกัดกินบ้าง ฝูงปาณกชาติต่างๆ รุมกันกัดกินบ้าง ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว
    โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?
    ภิ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.
    พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละเป็นซากศพถูกทิ้งไว้
    ในป่าช้า มีแต่โครงกระดูก มีเนื้อและเลือดติดอยู่ มีเอ็นยึดอยู่ ฯลฯ มีแต่โครงกระดูก ปราศจาก
    เนื้อเปื้อนเลือด มีเอ็นยึดอยู่ ฯลฯ มีแต่โครงกระดูกปราศจากเนื้อและเลือด มีเอ็นยึดอยู่ ฯลฯ
    เป็นแต่กระดูก ปราศจากเอ็นยึด กระจัดกระจายไปในทิศน้อยทิศใหญ่ คือ กระดูกมือทางหนึ่ง
    กระดูกเท้าทางหนึ่ง กระดูกแข้งทางหนึ่ง กระดูกขาทางหนึ่ง กระดูกสะเอวทางหนึ่ง กระดูกสันหลัง
    ทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกทางหนึ่ง กระดูกแขนทางหนึ่ง กระดูกไหล่ทาง
    หนึ่ง กระดูกคอทางหนึ่ง กระดูกคางทางหนึ่ง กระดูกฟันทางหนึ่ง หัวกระโหลกทางหนึ่ง
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่งที่มีในก่อนนั้น
    หายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?
    ภิ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.
    พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวนั้นแหละ เป็นซากศพถูก
    ทิ้งไว้ในป่าช้า เหลือแต่กระดูกสีขาว เปรียบเทียบได้กับสีสังข์ ฯลฯ เหลือแต่กระดูกตกค้างแรมปี
    เรียงรายเป็นหย่อมๆ ฯลฯ เหลือแต่กระดูกผุแหลกยุ่ย ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญ
    ข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ?
    ภิ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.
    พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.
    [๒๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นการถ่ายถอนของรูปทั้งหลาย? ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลาย การกำจัดฉันทราคะในรูปทั้งหลาย การละฉันทราคะในรูปทั้งหลาย นั้นใด นี้เป็นการ
    ถ่ายถอนของรูปทั้งหลาย.

    <center>กำหนดรู้รูป
    </center> [๒๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดคุณของรูป
    ทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของรูปทั้งหลาย โดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของรูปทั้งหลาย
    โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นน่ะหรือ จักรอบรู้รูปทั้งหลาย
    ด้วยตนเอง หรือว่าจักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้ ข้อนี้
    ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าหนึ่ง รู้ชัดคุณของรูป
    ทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของรูปทั้งหลาย โดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของรูปทั้งหลาย
    โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นแหละหนอ จักรอบรู้รูป
    ทั้งหลายด้วยตนเองได้ หรือจักชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้
    ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.
    [๒๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นคุณของเวทนาทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติ
    และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ในสมัยใด ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน
    มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายตน ย่อมไม่
    คิดเพื่อจะทำลายผู้อื่น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายทั้งสองฝ่าย ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนา อันไม่มี
    ความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวคุณของเวทนาทั้งหลายว่า มีความ
    ไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน
    เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
    ในสมัยใด ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก
    ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายตน ฯลฯ ในสมัยนั้น
    ย่อมเสวยเวทนา อันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคุณของเวทนา
    ทั้งหลายว่า มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุข
    ด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ฯลฯ ในสมัยใด ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
    และเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลาย
    ตน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เรากล่าวคุณแห่งเวทนาทั้งหลายว่า มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง.
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะ
    ละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ในสมัยใด
    ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทำลายตน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมเสวย
    เวทนาอันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคุณแห่งเวทนาทั้งหลายว่า
    มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง
    [๒๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นโทษของเวทนาทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    ข้อที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดานี้เป็น โทษของเวทนาทั้งหลาย.
    [๒๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นการถ่ายถอนของเวทนา? ทั้งหลาย ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลาย การกำจัด การละฉันทราคะ ของเวทนาทั้งหลายเสียได้ นี้เป็นการถ่ายถอนของเวทนา
    ทั้งหลาย.

    <center>กำหนดรู้เวทนา
    </center> [๒๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดคุณของเวทนา
    ทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของเวทนาทั้งหลาย โดยความเป็นโทษและการถ่ายถอนของเวทนา
    ทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวมานี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นน่ะหรือจัก
    รอบรู้เวทนาทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักจูงผู้อื่นเพื่อเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้ว จักรอบรู้เวทนา
    ทั้งหลายได้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่า-
    *หนึ่ง รู้ชัดคุณของเวทนาทั้งหลาย โดยความเป็นคุณ โทษของเวทนาทั้งหลาย โดยความเป็นโทษ
    และการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวมานี้ ตามความเป็น
    จริง พวกนั้นแหละหนอ จักรอบรู้เวทนาทั้งหลาย ด้วยตนเองได้หรือจักชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็น
    อย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้ว จักรอบรู้เวทนาทั้งหลายก็ได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีพระภาษิตของ
    พระผู้มีพระภาคแล้วแล.
    <center>จบ มหาทุกขักขันธสูตร ที่ ๓
    </center><center class="l">-----------------------------------------------------
    </center></pre>
     
  2. Kob

    Kob เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2005
    โพสต์:
    6,161
    ค่าพลัง:
    +19,894
    แล้วพี่กบจะไปโหลดที่กระทู้ต้นฉบับ
    เนื้อหาน่าสนใจ เสียงอ่านดังชัดเจน ขออนุโมทนาค่ะ
     
  3. บุญญสิกขา

    บุญญสิกขา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,863
    ค่าพลัง:
    +14,471
    มหาทุกขักขันธสูตร

    <CENTER>ว่าด้วยกองทุกข์ใหญ่
    </CENTER><CENTER>เรื่องอัญญเดียรถีย์</CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER></CENTER><CENTER></CENTER><CENTER>[​IMG]</CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER></CENTER><CENTER></CENTER>
    กราบอนุโมทนา สาธูการค่ะ


    <CENTER></CENTER><CENTER></CENTER>
     

แชร์หน้านี้

Loading...