ทิฏฐธรรม วิหารธรรม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 8 กุมภาพันธ์ 2012.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด


    เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๙


    ทิฏฐธรรม วิหารธรรม



    พระ พุทธเจ้าท่านก็ทรงเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา บรรดาพระสาวกซึ่งล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ในประเภทอริยบุคคลชั้นสูงสุด ไม่ปรากฏว่าองค์ไหนไม่ทำความพากเพียร นี่เป็นเหตุให้คิดขึ้นมา เอ๊ ท่านทำความเพียรไปเพื่ออะไร ถ้าความเพียรเพื่อจะถอดถอนกิเลสก็เห็นควร เพราะพระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลาย ท่านหลุดพ้นจากกิเลสได้เพราะความเพียร แต่ครั้นพ้นจากกิเลสไปแล้วท่านทำความเพียรเพื่ออะไรกันอีก ในธรรมก็มีบอกไว้ว่า เพื่อวิหารธรรมในทิฏฐธรรมขณะครองขันธ์อยู่ แต่ไม่ค่อยสนใจจุดนี้มากกว่าจุดที่สงสัย ธรรมท่านว่าทิฏฐธรรม วิหารธรรม เรายังไม่เข้าใจ เวลาอยู่ปกติท่านทำความเพียรเพื่อวิหารธรรมในทิฏฐธรรม คำว่าทิฏฐธรรม แปลว่าธรรมที่รู้เห็นอยู่ในวงขันธ์ที่ครองตัวอยู่คือปัจจุบันนี้ เป็นธรรมเครื่องอยู่ระหว่างขันธ์กับจิตในปัจจุบัน แต่เราไม่ทราบระหว่างขันธ์กับจิตหรืออะไรต่ออะไรในระยะนั้น


    ความ จริง พระธาตุพระอาการทุกส่วนของพระพุทธเจ้าก็ดี ธาตุขันธ์ทุกส่วนทุกอาการของพระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี เป็นสมมุติทั้งสิ้น ธาตุขันธ์ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้บริสุทธิ์ด้วยเลยกับพระจิตของพระพุทธเจ้าแลจิต ของพระอรหันต์ มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น มันเป็นเครื่องมือของใจ เป็นเครื่องมือทำงานของใจเช่นขันธ์ทั่วๆ ไปนั่นเอง


    คน จะดีจะชั่ว เครื่องมือก็ไม่ได้ดีได้ชั่วด้วย เพราะเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว เมื่อธาตุขันธ์ยังมีอยู่ ธาตุขันธ์นั้นก็เป็นเหมือนกงจักร หมุนตัวอยู่ตามหลักธรรมชาติของมัน เรื่อง อนิจฺจํ เป็นไปในส่วนร่างกายอย่างลึกลับก็มี เช่นความแปรสภาพไปในทางแก่นี้ก็แปรของมันไปตามอิริยาบถต่างๆ ความสุขความทุกข์ที่ปรากฏขึ้นมาเพราะความแปรสภาพของธาตุขันธ์ให้แสดงความสุข ความทุกข์ขึ้นมาต่างๆ มันก็มี ความจดความจำความคิดความปรุงต่างๆ มันเป็นสิ่งที่เกิดที่ดับประจำตัวเป็นของไม่แน่นอน จิตซึ่งเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เมื่ออาศัยอยู่กับสิ่งเหล่านี้ จะปฏิบัติต่อกันให้เหมาะสมอย่างไรบ้าง สมกับความรับผิดชอบกันระหว่างขันธ์กับจิตผู้เป็นเจ้าของ


    ที่ นี่ย่นเข้าไปเรื่องความคิดปรุง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอยู่มากที่จะทำให้อาการภายในไม่สะดวก เมื่อใช้ความคิดปรุงมาก ธาตุขันธ์ก็อ่อนเพลีย และอ่อนเพลียภายในอวัยวะส่วนละเอียดนั่นแล จะปฏิบัติยังไงถึงจะระงับความอ่อนเพลียเหล่านี้ให้อยู่ในความพอดีปกติทาง ส่วนร่างกาย พอแยกออกมาเท่านี้ก็เข้าใจเรื่องสมาธิภาวนา ที่พระอรหันต์ทั้งหลายท่านทำเป็นประจำจนตลอดอวสานแห่งชีวิต ว่ามีความจำเป็นต่อกันดังกล่าวมา


    การ คิดไปคิดมา นั่นเป็นการทำงานทางขันธ์ ฝืนคิดมากเข้ามันก็ไม่ได้เรื่อง จะฝืนคิดก็ไม่ได้ นี่ก็รู้ชัดอยู่ภายในใจ มันเหมือนกับเราดึงสายยาง ดึงออกไปยาวๆ เพื่อจะใช้ พอวางมันก็ดีดพับเข้ามา ดึงออกไปวางก็ดีดพับเข้ามา ฝืนดึงต่อไปคือฝืนคิดต่อไปเลยไม่ออกไม่ปรุงไม่หมาย ทั้งสังขาร ทั้งสัญญา หดตัวเข้าก็อยู่เฉยๆ อย่างนั้นแลไม่ทำงานให้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องหยุดพัก ที่จิตคิดเรื่องนั้น วาดภาพเรื่องนี้ ก็เพื่อใช้การใช้งานนั่นเอง ยิ่งเป็นการกะการตวงการคำนวณด้วยแล้ว ยิ่งจะใช้สัญญากับสังขารเกี่ยวข้องกันอย่างมากมาย ทีนี้เวลาใช้นานๆ เข้ามันก็ทำให้อ่อนเพลียได้ ต่อไปก็ไม่ทำงานให้ ย่อมเหนื่อยภายในธาตุขันธ์ เฉพาะอวัยวะส่วนละเอียดก็ปรากฏเหนื่อยอ่อนเพลียขึ้นมา ก็จำต้องระงับเสียด้วยวิธีสมาธิภาวนา ดังพระพุทธเจ้าทรงเข้าสมาธิสมาบัติ พระสาวกก็เข้าที่ภาวนา เพราะเป็นเครื่องบังคับกันอยู่ในตัว


    พอ กำหนดเข้าที่จิตก็ปล่อยงานทันทีทันใด เพราะอยากจะปล่อยอยู่แล้ว เนื่องจากงานนั้นไม่ใช่งานยึดงานถือ ไม่ใช่งานถอดถอนกิเลสแต่อย่างใด เป็นงานที่ทำไปธรรมดาๆ ถ้าเป็นงานยึดงานถือที่เรียกว่าอุปทานแล้วก็ปล่อยได้ยาก เพราะจิตไม่ยอมปล่อยมันเสียดาย แต่งานของพระขีณาสพท่านไม่ได้มีอะไรเสียดาย ทำไปตามความจำเป็นเกี่ยวกับสมมุติเท่านั้น คิดปรุงด้วยเรื่องราวที่มีความจำเป็น พอคิดจะปล่อยเท่านั้น ท่านก็ปล่อยของท่านได้อย่างรวดเร็ว อาการแห่งขันธ์ทั้งหลายก็สงบตัว จะสงบนานเท่าไรนั้น แล้วแต่ความพอของธาตุขันธ์ หรือจิตถอยตัวออกมารับสมมุติ รับรู้สิ่งต่างๆ


    เมื่อออกจากที่นั้นแล้วธาตุขันธ์ก็สบาย กระปรี้กระเปร่าภายในธาตุขันธ์ ทราบได้อย่าง ชัดเจน เช่นเดียวกับคนที่ทำงานเมื่อยหิวอ่อนเพลียเต็มที่ มารับประทานแล้วนอนพักผ่อนร่างกายให้สบาย พอตื่นขึ้นมาก็มีความสุข ธาตุขันธ์ก็แข็งแรง


    ระหว่าง จิตกับขันธ์ที่พักกันโดยความถูกต้องเหมาะสม ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน อายุขัยที่จะเป็นไปได้ตามกาลตามเวลา ก็เพราะการปฏิบัติระหว่างขันธ์กับจิตให้ถูกต้องเหมาะสมแก่กันนั่นแล ความเกี่ยวข้องกับกิจการงานมากๆ ฝืนอยู่เรื่อยๆ จิตอยากจะพักก็ฝืนกัน ฝืนกันไปฝืนกันมา ความแพ้ก็มาแพ้ที่ขันธ์นี้แหละ ให้แพ้ที่จิตจริงๆ ที่บริสุทธิ์แล้วนั้นไม่มีทางแพ้ เพราะนั้นหมดเรื่องความแพ้ความชนะไปแล้ว ตั้งแต่ขณะที่ได้บรรลุธรรม ความแพ้ความชนะเป็นอันว่าหมดปัญหาไปในทันทีทันใด แต่การที่จะทรงธาตุขันธ์ให้เป็นไปตามอายุขัยนั้น ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติระหว่างจิตกับขันธ์ให้เหมาะสมกัน ไม่ให้มากเกินไป ซึ่งเป็นการตัดทอนอายุขัยลงโดยลำดับที่ฝืนความพอดี


    การ เกี่ยวข้องกับสมมุตินิยม ผู้คน การเทศนาว่าการ เหล่านี้เป็นเรื่องสมมุติเป็นเรื่องงานทั้งนั้น ต้องมีการพักผ่อนให้พอเหมาะพอควร อายุก็เป็นไปได้ตามกาลอันควร ถ้าหากฝืนมากไปอายุก็สั้นเข้ามาๆ เช่นเดียวกับเรามีเงินอยู่ร้อยบาทในครอบครัวของเรา ใช้หมดไปเท่าไรในวันหนึ่งๆ ครอบครัวน้อยๆ ใช้วันหนึ่งหมดไป ๒๐ บาท อย่างนี้ก็ใช้เงินร้อยบาทนั้นได้ถึงห้าวัน ถ้าเรามาใช้เสียอย่างฟุ่มเฟือย วันละ ๔๐-๕๐ บาท ก็ใช้ได้เพียงสองวันเงินก็หมด ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นที่ควรหมดก็หมดได้ เพราะความฟุ่มเฟือยบั่นทอน


    เรื่อง ของธาตุขันธ์ก็มีกฎมีเกณฑ์ของมันอยู่ เช่นประมาณอายุเท่านั้น ขันธ์นี้ธาตุนี้จะหมดสภาพการรวมตัวใช้การงานอะไรได้ จะหมดความหมายในประมาณเท่านั้นปี เช่น ๘๐ ปี ธาตุขันธ์นี้จะหมดสมรรถภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างสลายตัวลงไป ถ้าหากว่าใช้แบบหักโหมก็ไม่ถึงนั้น ถ้าใช้เขียมๆ ใช้ให้พอเหมาะพอสม ดังที่เขาใช้เงินร้อยบาทให้พอเหมาะกับครอบครัวของตนนั้น ก็ย่อมได้ตามกำหนด


    นี่ คือความจริงที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี พระสาวกก็ดี ท่านทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งถึงวันปรินิพพาน เพื่อความรับผิดชอบในธาตุขันธ์นี้เท่านั้นเป็นสำคัญ กิเลสอาสวะไม่ต้องพูดว่าท่านจะแก้อะไรอีก ท่านไม่มีความมุ่งหมายอะไรในการแก้กิเลส เพราะไม่มีกิเลสที่จะให้แก้ให้ถอดถอนอันเกี่ยวกับเรื่องความเพียร ที่เรียกว่ากิเลสหมดนั้นหมดอย่างนี้ ไม่ใช่หมดแล้วจะเกิดขึ้นมาอีก เอ๊ ทำไมกิเลสนี้ก็ว่าสิ้นไปแล้ว วันนี้ทำไมมันโผล่ขึ้นมา นี่ก็แสดงว่ากิเลสยังไม่สิ้นยังไม่หมด เพราะไม่สามารถที่จะค้นพบส่านละเอียดของมันที่ฝังอยู่อย่างจมมิด มันถึงต้องโผล่ขึ้นมาในเมื่อมีโอกาสที่จะโผล่ขึ้นมาได้ แต่ถ้าหมดไปจริงๆ แล้วจะเอาอะไรมาโผล่ มันไม่มีตั้งแต่ขณะบรรลุธรรมถึงขั้นบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว จากนั้นไปกระทั่งวันนิพพาน จะไม่ปรากฏเรื่องอะไรที่แสดงขึ้นมาว่าเป็นกิเลสภายในจิตใจดวงนั้นเลย ความจริงเป็นอย่างนี้


    แต่ การประกอบความเพียรของพระอรหันต์ท่านผิดกับพวกเราอยู่มาก ประกอบเพื่อเป็นวิหารธรรมระหว่างขันธ์กับจิตที่ครองกันอยู่ให้เป็นความสะดวก เหมาะสม ได้รับความผาสุกสบายไปตามกาลอันควรจนกว่าจะถึงอายุขัยแล้วก็ผ่านไป นี่เป็นประเพณีหรือเป็นความจำเป็นของพระอรหันต์ท่านนับแต่พระพุทธเจ้าลงมา เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านจึงประกอบความพากเพียรของท่านอยู่เสมอมิได้ขาด


    เพียง เราซึ่งเหมือนกับหนูตัวหนึ่งนี้ก็พอเข้าใจได้ ถ้าลงจิตยุ่งมากๆ เกี่ยวกับหน้าที่การงานแล้วมันต้องทราบทันที ต้องหาที่หลบที่ซ่อนปลดปล่อยวางภาระนั้นด้วยความสงบใจ ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายเสีย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ก็ผาสุก เรียกว่า วิหารธรรม เวลาจิตพักสงบอารมณ์แห่งขันธ์ดังที่พูดตอนต้นนั้นก็ไม่มีอะไรรบกวนใจ ถึงอะไรจะมีอยู่ก็เหมือนไม่มี ต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศ ธาตุขันธ์ของเราเองซึ่งนั่งอยู่นี้ มันก็ไม่มีในความรู้สึก ในเวลาจิตพักสงบตัวไม่ใช้ขันธ์ มีสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เป็นสำคัญ


    ถ้า จะพูดว่ามี ก็มีแต่ความรู้อันเดียวเท่านั้น แต่คำว่ามีนี่มันก็ฝืนๆ ไม่สนิทใจ เพราะคำว่าเหลือว่ามีนี้เป็นสมมุติ แต่ธรรมชาตินั้นไม่ใช่สมมุติ จะว่าเหลือหรือมีก็มีแต่ความรู้เท่านั้น พูดอย่างเต็มปากก็พูดไม่ได้ เดี๋ยวธรรมชาตินั้นจะหัวเราะเอา ถ้าให้เหมาะสมกับธรรมชาตินั้นก็ไม่พูดเสียเท่านั้น ทั้งๆ ที่พูดนั้นก็ทราบว่ามันไม่มีอะไร แต่ก็ทราบอยู่งั้นแหละ ผู้ทราบนั่นซิผู้ที่พูดไม่ถูก เพราะไม่ใช่ฐานะจะพูด


    นี่ จิตเป็นยั้งงั้น ถึงขั้นพูดไม่ได้มันพูดไม่ได้ เลยละเอียด ละเอียดยังพูดได้ เลยละเอียดไปแล้วก็พ้นสมมุติไปแล้ว ทั้งๆ ที่อยู่ในท่ามกลางแห่งสมมุติมีขันธ์เป็นต้นนั่นแหละ การพูดให้ถูกต้องตามหลักธรรมชาตินั้นซิมันพูดไม่ถูก นี่จิตแท้นอกสมมุติแล้ว เป็นอย่างนี้


    สภาพ รู้ๆ นี้มีอยู่กับทุกคน เป็นแต่เพียงว่าสิ่งที่ไม่มีราค่ำราคาทั้งหลายมันปกปิดกำบังไว้ อันนี้ก็เลยมาเด่นแทนจิตแท้เสีย และตั้งราค่ำราคาให้ตัวเองทั้งๆ ที่ไม่มีราคาตามความเป็นจริง มายกตัวขึ้นให้เป็นของมีค่ามีราคา มันเลยทับสิ่งที่มีคุณค่ามีราคานั้นเสีย เมื่อแก้สิ่งนี้ออกโดยลำดับ สิ่งที่มีคุณค่าโดยหลักธรรมชาติก็ค่อยปรากฏขึ้นมาๆ เราก็ค่อยๆ เห็นโทษสิ่งที่ตนเคยเสกสรรว่ามีราค่ำราคานี้ได้ชัดขึ้นตามลำดับแห่งการชำระ ได้ เมื่อเห็นโทษก็มีช่องทางแก้ไขและมีทางปลดเปลื้อง มีทางต่อสู้กันเพื่อชัยชนะ เอาตัวรอดเพื่อเห็นยอดธรรม คือวิมุตติหลุดพ้น


    เพราะ แต่ก่อนไม่รู้ว่าอันนี้เป็นภัย เมื่อรู้แล้วใครจะไปนอนใจอยู่ได้ ต้องพยายามเต็มสติกำลังความสามารถ จนกระทั่งเอาชีวิตเข้าแลกกันเลย เมื่อเห็นโทษเห็นภัยเต็มที่ก็ฟัดกันเต็มกำลัง และสลัดปัดทิ้งอย่างไม่มีอาลัยเสียดาย คุณค่าของจิตก็แสดงตัวเต็มที่ไม่มีอะไรปิดบังหุ้มห่อได้ดังที่เคยเป็นมา จะเรียก อิสรจิต อิสรธรรม ได้ทั้งนั้น ไม่มีอะไรมาขัดขวาง ลงกิเลสได้สิ้นซากจากใจแล้ว ในแดนสมมุติก็มีกิเลสเท่านั้นเป็นตัวกีดกันขัดขวางจิต ขัดขวางธรรม


    การ พยายามชำระสะสางนี้ จงระวังเสมออย่าให้กิเลสเข้ามาแทรก พอจะเริ่มภาวนามันหากมีเรื่องอันใดอันหนึ่งเข้ามากีดมาขวางจนได้นั่นแหละ มันแสดงเป็นกลอุบายต่างๆ ออกมาพร่ำสอนเรา เพราะมนุษย์เรานี้มันสอนง่าย ถ้ากิเลสสอนสอนง่ายนิดเดียวสอนมนุษย์น่ะ ส่วนธรรมะสอนละสอนยาก กิเลสกระซิบเพียงหนเดียวเท่านั้นแหละยอมหมอบราบเลย ทั้งเชื่อทั้งหมอบราบ ไม่มีท่าทางต่อสู้เลย ความจริงเป็นอย่างนั้นจะให้ว่าไง


    ธรรมะ สอนไม่ค่อยลงไม่ค่อยเชื่อ ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น เพราะกิเลสมันเป็นแนวหน้าอยู่ตลอดเวลานี่ ไม่ให้ธรรมะเข้าไปแทรกได้เลย กิเลสเป็นแนวหน้า เป็นอาจารย์ อาจารย์ใหญ่ อาจารย์รอง รองลำดับลำดาลงมา ขั้นศาสตราจารย์ก็มี รองศาสตราจารย์ก็มี รองลงมาเป็นอาจารย์ธรรมดา รองลงมาเป็นครู เป็นครูรองลงไปเรื่อยๆ มันมีหลายอาจารย์อยู่ในภายในจิตใจ แต่ละอาจารย์ประจำอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ มีแต่อาจารย์เหล่านี้ทั้งนั้นเป็นเจ้ากี้เจ้าการ แล้วธรรมะจะแทรกเข้าไปได้อย่างไร


    เมื่อ เราทราบตามหลักความจริงที่เป็นอย่างนี้ด้วยหลักธรรมแล้ว เราก็มีทางแก้ไขด้วยอุบายแห่งธรรม ถึงจะยากลำบากเพราะกลอุบายของกิเลสมันจะแทรกจะแซงกระซิบขึ้นมาโดยอาการต่างๆ ซึ่งเราเคยเชื่อมัน เราก็พอจะจับมาพิจารณาเทียบเคียงถึงเหตุถึงผล ความได้ความเสียของมันและของธรรมได้ และพอฟัดพอเหวี่ยงกันไป ไม่ยอมหมอบราบเสียทีเดียวดังที่เคยเป็นมา


    ทุกข์ ก็ทน ลำบากก็ทน ยากง่ายก็ทน พอได้เมื่อไรเอา พอสู้เมื่อไรสู้ เอ้าเวลาแพ้ๆ ไปก่อน แพ้ให้ทราบว่าเราแพ้ แต่แพ้เพื่อที่จะต่อสู้ เมื่อมีกำลังจะต่อสู้ไม่ถอยเพื่อชัยชนะตามความมุ่งหมาย สู้หลายครั้งหลายหน สู้ไม่หยุดไม่ถอยมันก็มีทางชนะได้ ไม่ชนะอย่างละเอียดก็ชนะอย่างหยาบ มันต้องเคาะกันเข้าไปตั้งแต่เปลือกกระพี้นี้ก่อนแหละ แกะเปลือกออกแล้วฟันเข้าไปกระพี้ ฟันเข้าไปถึงแก่นจนได้เมื่อฟันไม่หยุดไม่ถอย ฉะนั้น จงยึดเอาคติตัวอย่างของพระพุทธเจ้าแลสาวกมาใช้ฟันกิเลส อย่าปล่อยแนวทางท่านและอย่าท้อถอย อย่างไรจะชนะขอจงฟาดฟันกันลงท่าเดียว จะเป็นศิษย์พระตถาคตอย่างสมบูรณ์แบบหาที่ต้องติตัวเองไม่ได้ จะภาคภูมิใจโดยถ่ายเดียวตลอดอนันตกาล


    ปกติ เราเชื่อมันง่าย เชื่อกิเลสน่ะ เพราะเคยสนิทติดจมอยู่ด้วยกัน จนกระทั่งเรากับกิเลสไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร มันเป็นเรา เราเป็นมันเสียทั้งหมด กิเลสทุกประเภทกลายมาเป็นเรา เรากลายเป็นมันเสียสิ้น จะแตะต้องกิเลสมันก็จะเป็นการแตะต้องเราไป เลยไม่อยากแตะต้อง เพราะเรากับกิเลสมันแยกกันไม่ออก นี่ละที่ทำให้คนนอนใจ หาทางแยกไม่ได้เพราะไม่หา เพราะไม่เห็นเรื่องกิเลสกับตน เนื่องจากมันเป็นอันเดียวกันเสียหมดแล้ว


    แม้ จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม เราเป็นผู้มีความเชื่อความเลื่อมใสต่อหลักธรรมของพระพุทธเจ้า การเอื้อมมือวิงวอนพระองค์ให้ช่วย ก็คือการยึดถือศาสนธรรมนั่นแหละ น้อมนำศาสนธรรมเข้ามาแก้ตัวเองช่วยตัวเอง ยากลำบากก็สู้อดสู้ทน ต่อไปก็ค่อยเปิดทางเข้าไปๆ และเห็นแง่แห่งความผิดของตน ความโง่ของตน อันเป็นเรื่องของกิเลสไปเรื่อยๆ ด้วยอุบายแห่งธรรม ทีนี้ความเชื่อในธรรมก็ค่อยเด่นขึ้นๆ ความเชื่อกิเลสน้อยลงไปๆ เพราะเห็นโทษของมันเรื่อยๆ เห็นความโกหก มายาของมัน การพูดกับการทำไม่ตรงกันของมัน


    เอ้า พูดง่ายๆ ก็ว่ากิเลสตัวเล่ห์กลมันหลอกไปอย่างหนึ่ง แต่เวลาทำมันทำไปอีกอย่างหนึ่ง ผลเป็นอย่างหนึ่งขึ้นมา ไม่สมความมุ่งหมายที่เราเชื่อมันอย่างตายใจ แล้วถูกมันต้มเสียเปื่อยๆ ไม่มีคำว่าต้มให้สุก แล้วรับประทานอร่อยเป็นสุขกายสุขใจ ถ้าเราจะฝืนเชื่อมันไปเรื่อยๆ ก็ต้องจม จมอย่างไม่มีหวังตั้งตัวได้เลยตลอดไป เอ๊า ฟิตกลับตัวกลับใจหันหน้าเข้าสู่ธรรม หันก้นให้กิเลสตัวลวงโลก


    ส่วน ธรรมนั้นเป็นยังไงเป็นยังงั้น จริงตลอดสายตั้งแต่ขั้นต้นจนกระทั่งขั้นสูงสุด เป็นความจริงล้วนๆ ไม่มีหลอกหลอนซ่อนกลอะไรเลย เวลาทำตามธรรม แม้จะได้รับความลำบากลำบน แต่ผลปรากฏขึ้นมาเป็นความสุขโดยลำดับเป็นที่พอใจ ยากกับง่ายก็ไม่สนใจนำมาเป็นอุปสรรค ไม่ถือเป็นภาระว่าหนักมากยิ่งกว่าที่จะทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ทีนี้อาจารย์ทั้งหลายฝ่ายหลอกลวงก็ค่อยถูกขับไล่ไปเรื่อยๆ ถูกขับไล่ด้วยอรรถด้วยธรรม ด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรทุกอย่าง กำจัดปัดเป่าไปเรื่อยๆ ตามเข้าไปๆ จนกระทั่งถึงที่สุดไม่มีอะไรเหลือ


    เมื่อ วัฏวนที่เป็นเหตุให้หมุนเวียน เป็นสิ่งหลอกลวงจิตใจหมดสิ้นไปจากใจแล้ว ก็เหลือแต่ธรรมทั้งแท่งหรือธรรมทั้งดวง ได้แก่จิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เด่นอยู่ภายในตัวเอง นั่นแลที่นี่จิตเป็นเอกแล้ว มีอันเดียวเท่านั้นในโลกนี้ไม่มีอะไรเสมอเหมือนพอ รู้อันนี้อย่างเต็มภูมิแล้วย่อมปล่อยอะไรเต็มภูมิเต็มที่ ไม่มีเหลือเลยในขณะเดียวกัน ไม่มีอะไรเป็นคู่แข่ง ในโลกนี้ไม่มี เมื่อถึงธรรมอันนี้แล้วไม่มีอะไรเป็นคู่แข่ง และหมดปัญหา นี่คือผลของการฝืนจิตใจต่อสู้กับกิเลสเพื่อธรรมดวงเลิศ ย่อมประจักษ์ดังที่กล่าวมานี้


    ปกติ ใจกิเลสต้องชอบจะก่อกรรมก่อเวรใส่เจ้าของอยู่เรื่อยนั่นแหละ ก่อเรื่องก่อราวก็เหมือนก่อกรรมก่อเวรนั่นแหละ การทำการคิดไม่ดีขึ้นมาก็เป็นผลสนองตอบเข้าสู่ตัวเราเอง เหมือนกับก่อกรรมก่อเวรใส่ตัวเองอยู่ตลอดไป ยิ่งกว่าคนอื่นมาทำให้เป็นไหนๆ สิ่งไม่ดีที่ตนทำขึ้นเพราะกิเลสชักจูง จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวน่าระวัง ยิ่งกว่าสิ่งไม่ดีที่ผู้อื่นมาทำให้หลายพันหลายหมื่นเท่า เรื่องกระซิบกระซาบด้วยการชักจูงนั้น มันเป็นอยู่ภายในจิตใจของปุถุชน มันพาให้ชนดะ ไม่มีคำว่าผิดหรือถูก ควรไม่ควร


    ทุก คนนั่นแหละ ไม่ว่าเฉพาะท่านๆ เราๆ เพียงเท่านี้ มันทั่วโลก ขึ้นชื่อว่าธรรมชาตินี้มีอยู่ภายในจิตใจ ย่อมยุแหย่ก่อกวนอยู่ภายในใจตลอดเวลา ไม่เลือกกาลสถานที่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพวกนี้พวกหารายได้ พวกล่าโลกล่าสงสารมาเป็นบริษัทบริวาร ไม่หวังขาดทุนสูญดอก ได้น้อยก็เอา มากก็เอา มีแต่เอาท่าเดียว คำว่าขาดทุนเป็นสิ่งสะเทือนมันอย่างมาก มันจึงพยายามกีดกันต้านทานไว้ไม่ให้มีขึ้นได้เลย ใครจะไปทางดีมันต้องทรมานอย่างหนัก ตัดแข้งตัดขา ตีตามเนื้อตามตัวอวัยวะน้อยใหญ่ให้เจ็บปวดรวดร้าวไปหมด ไม่ให้ไปวัดฟังธรรมจำศีลได้เลย เพราะมันกลัวจะขาดบริษัทบริวารในวงวัฏจักรที่อยู่ใต้อำนาจของมัน


    ความ ไม่ยอมเสียสละก็คือกิเลส ไม่ยอมเสียสละให้ใครทั้งนั้น ใครจะดีเท่าฟ้าก็สู้เราไม่ได้ ยกตัวอย่างเหมือนกับคนเมาเหล้า ธรรมดาก็เมาเพราะฤทธิ์กิเลสอยู่แล้ว ยังไปเอาเหล้ามากินเข้าไปอีกก็ยิ่งเมาใหญ่ เพิ่มกิเลสตัวเมานี้ให้เด่นขึ้นไปอีก ขณะเป็นบ้า พูดพล่ามได้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มียางอายก็คือขณะเมาสุรา ขณะโง่ที่สุดก็คือขณะเมาสุรานั่นแหละ แต่สำคัญว่าตนฉลาดที่สุดก็ขณะนั้นเอง มีใครมาพูดผ่านหูไม่ได้ เขาอยู่ฟากเมฆโน้นก็ตาม เอ้า หามกูเข้าไปตีกับมันหน่อย ไอ้นั่นน่ะมันเก่งนัก ฟังดูซิ ทั้งๆ ที่ไปไม่ได้ก็ให้คนหามไปตีกับเขา นั่นคือความสำคัญที่มีอยู่ภายในจิต ฉะนั้นจึงต้องแก้ตรงนี้ที่เป็นคลังแห่งความลุ่มหลงมัวเมา ด้วยความพยายามของนักธรรมะ


    ผู้เห็นโทษก็คือผู้รู้โทษแล้ว ผู้เห็นคุณก็คือผู้รู้คุณอย่างเต็มใจแล้ว ได้แก่พระพุทธเจ้าของเรานั่นแลถ้า ไม่เชื่อคนอย่างพระพุทธเจ้าจะเชื่อใคร ที่จะพูดได้เด็ดดวงและถูกต้องแม่นยำยิ่งกว่าพระพุทธเจ้านี้มีใครที่ไหน มันไม่มีในโลกอันนี้ สาวกที่เป็นพระอรหันต์ก็เพราะเชื่อตามคำของพระพุทธเจ้า แล้วนำธรรมมาปฏิบัติตน จึงได้เป็นอย่างนั้นขึ้นมาให้เราได้กราบไหว้บูชาอยู่ทุกวันนี้


    เรา ที่ยังไม่ได้เป็นอรหัตอรหันต์ก็ต้องการจะเป็น จะพ้นจากทุกข์ด้วยการประกอบความพากเพียรด้วยวิธีต่างๆ อยู่แล้วเวลานี้ ถ้าพูดถึงวาสนา เราก็มีของเราเต็มตัวอยู่แล้ว เราไม่ไปยืมวาสนาของใครมาบำเพ็ญคุณงามความดี มันเป็นขึ้นมาด้วยจริตนิสัยศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสของเราเอง เราทำของเราเอง เราไม่บกพร่องที่ตรงไหนพอจะไปหยิบยืมของคนอื่นมาช่วยสนับสนุน จงภาคภูมิใจในวาสนาของเราและประกอบความดีสำหรับเราให้ยิ่งขึ้น อันบุญวาสนานั้นเราก็มีอยู่ในตัวของเราแล้ว เราไม่บกพร่องที่ตรงไหน ต้นวาสนาก็คือร่างกาย ใจของเราเอง เวลานี้ก็สมบูรณ์อยู่แล้ว ใจเราก็พอใจและเชื่อเลื่อมใสในธรรมอยู่แล้ว และบำเพ็ญความดีเรื่อยมามิได้ขาด


    ถ้า เราทราบว่าเราบกพร่องที่ตรงไหน เราก็พยายามส่งเสริมแก้ไขจุดที่บกพร่องนั้นด้วยตัวของเราเอง เราไม่ได้ไปยืมความดีของใครมาแก้ไขสิ่งที่บกพร่องในตัวเรา สติปัญญาก็มีอยู่กับเรา ความเพียรก็มีอยู่กับเรา ที่จะส่งเสริมที่จะแก้ไข ธรรมเหล่านี้มีอยู่กับเราอยู่แล้ว มีแต่การบำรุงส่งเสริมให้มากมูนขึ้นไปโดยลำดับถ่ายเดียว เราไม่ได้หยิบยืมของใครมาช่วยตัวเรา จะว่าเราไม่มีวาสนาได้ยังไง วาสนามีอยู่กับทุกคน ส่วนการมีมากน้อยท่านไม่ให้นำมาแข่งกัน เพราะผิดวิสัย เนื่องจากต่างคนต่างเป็นผู้รับผิดชอบตัวเอง มีมากมีน้อยก็รู้อยู่กับตัวเอง แก้ไขดัดแปลงอยู่ที่ตัวของแต่ละราย บำเพ็ญอยู่ที่ตัว เวลาพอแล้วก็ตัวเองเป็นผู้หลุดพ้น ความหลุดพ้นก็ไม่นำมาแข่งใคร ใครบำเพ็ญเต็มภูมิแล้วก็ผ่านพ้นไป ใครยังไม่เต็มภูมิก็บำเพ็ญไป และหลุดพ้นตามกันไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับผู้รับประทานอิ่มตามกันไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ไม่ใช่ฐานะจะนำมาแข่งกัน


    ที่ เราเคยได้ยินแต่ข่าวท่าน พระพุทธเจ้าและพระสาวกท่านเป็นพระอรหันต์เข้าสู่ปรินิพพาน เมื่อถึงข่าวของเราผู้บำเพ็ญเต็มที่อย่างนั้นแล้ว เราก็เป็นไปได้เช่นเดียวกับท่าน เพราะเดินทางสายเดียวกันจะมีทางปลีกแวะไปเป็นอื่นที่ไหน ต้องเป็นอย่างท่านนั่นแล จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ผิดจากหลัก สวากขาตธรรม เพราะท่านตรัสไว้ชอบแล้วทั้งนั้น ผู้ดำเนินตามนั้นแล้วต้องเป็นนิยยานิกธรรม นำผู้บำเพ็ญให้พ้นทุกข์ไปโดยลำดับ จนกระทั่งพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและสาวกท่าน


    ฉะนั้น จงพยายามดูจิตของตัวให้มากกว่าดูเรื่องอะไร ดูเรื่องใครก็ตาม มันไม่เห็นโทษเห็นคุณชัดเจน ยิ่งกว่าดูเรื่องของตัวเอง ดูเรื่องคนอื่นดีไม่ดีเป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นมา พอกพูนขึ้นโดยเจ้าตัวไม่รู้และพอกพูนมากขึ้นโดยลำดับ ดีไม่ดีกินไม่ได้นอนไม่หลับ วุ่นทั้งกลางวันกลางคืน เพราะความสนใจดูแต่เรื่องภายนอก ไม่สนใจดูเรื่องของตัว


    การ ดูตัวเองคือใจ ซึ่งเป็นผู้ไปปรุงไปแต่ง ไปหาเรื่องหาราวด้วยสติ ก็ย่อมทราบความผิดถูกดีชั่วของตัวได้ ใจก็สงบตัวลง พอมีทางได้รับความสงบสุข และเห็นโทษในความคิดความปรุงของเจ้าของที่ตะครุบเงาหลอกตัวเองไม่มีสิ้นสุด ยุติ


    ใจนี้เป็นมหาเหตุ เหตุปจฺจโย จะหมายถึงอะไรมีเหตุเป็นปัจจัย ปัจจัยเครื่องหนุนจะเกิดที่ไหน ถ้าไม่เกิดขึ้นจากใจซึ่งเป็นต้นเหตุอันสำคัญ อารมฺมณปจฺจโยมัน เป็นอารมณ์มาจากไหนถ้าไม่เป็นไปจากใจ ปรุงขึ้นมาให้เกิดให้เป็นอารมณ์ อารมณ์เป็นขึ้นจากใจซึ่งเป็นตัวมหาเหตุนี่แล จงสำรวมระวัง อย่าปล่อยใจออกเพ่นพ่านสู่อารมณ์ ถ้าไม่อยากเจอไฟคือความทุกข์ร้อนนอนครางเผาผลาญใจ


    อภิธรรมท่านสอนจิตล้วนๆ จึงเข้าใจยาก กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา นี่เหมือนกันเหตุปจฺจโย อารมฺมณปจฺจโย อธิปติปจฺจโย สมนนฺตรปจฺจโย เหมือน กัน ธรรมที่กล่าวเหล่านั้นมีอยู่ที่ใจ พระอภิธรรมท่านสอนใจ ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องอภิธรรม เราก็อย่าด่วนไปสนใจให้เสียเวล่ำเวลาเลย ให้ดูใจซึ่งเป็นรากฐานของอภิธรรม เป็นที่แสดงออกแห่งกิริยาของอภิธรรม เช่น เหตุปจฺจโย เป็น ต้น เป็นอาการหนึ่งๆ ที่ท่านแสดงออกไปจากใจ เมื่อทราบนี้แล้วทราบไปหมดปิดไม่อยู่ เพราะอภิธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์นั้น เกิดขึ้นที่พระจิตของพระพุทธเจ้า ท่านสอนจิตทั้งสิ้น


    ขอ ให้สร้างใจให้ฉลาด คำว่าฉลาดนี้ฉลาดรอบตัวเองนะ อย่าไปสำคัญว่าความฉลาดกว่าผู้ใดแล้ว เป็นความเลิศความประเสริฐยิ่งกว่าความฉลาดรอบตัวเอง นี่คือความฉลาดอันเลิศประเสริฐอยู่ที่ตรงนี้


    ความ เป็นใหญ่ในตัวนี้ดี เป็นใหญ่ในผู้อื่นไม่คอยดียิ่งกว่าความเป็นใหญ่ในตัว ความรู้รอบตัว แก้ไขตัวได้ดี อาการใดที่แสดงออกมาผิดถูกดีชั่ว นั่นจะแสดงมาจากตัวและรู้เรื่องรู้ราวของตัว จึงชื่อว่าผู้ปฏิบัติ จงมองดูจุดนี้อย่าไปดูจุดอื่น ชื่อว่าผู้ปฏิบัติโดยถูกทาง เรื่องราวอะไรๆ ก็สงบลงไปๆ สุดท้ายก็จะมาเห็นโทษทั้งหมดที่มันร่ายออกไปตะครุบเงาไปโน้นไปนี้ที่จิตแห่ง เดียว เพราะที่เกิดอภิธรรมและยอดอภิธรรมก็คือจิตดวงบริสุทธิ์ล้วนนี่แล จะเป็นอะไรที่ไหนไปเล่า จงปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างของพระพุทธเจ้าแลสาวกท่าน ถ้าอยากเห็นคลังแห่งอภิธรรมคืออะไร อยู่ที่ไหน ผู้ปฏิบัตินั่นแลจะทราบในตัวเองด้วย สนฺทิฏฺฐิโก โดยไม่มีกาลสถานที่ใดๆ มายืนยันรับรอง จะพอตัวอยู่กับสนฺทิฏฺฐิโกภายในใจตัวเอง


    เอาละ วันนี้แสดงเพียงเท่านี้


    คัดลอกจาก http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1983&CatID=2

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 8 กุมภาพันธ์ 2012

แชร์หน้านี้

Loading...