ธรรม " ชิตมโน "

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 18 ธันวาคม 2009.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ความหมายของธรรม



    ธรรมมีความหมายกว้างขวาง ครอบคลุมไปหมดทั้งที่เป็นรูปและเป็นนาม และไร้รูปไร้นาม ธรรมชาติและสรรพสิ่งในสากลจักรวาล ไม่ว่าจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น จะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตน จะเป็นโลกียะหรือโลกุตระ ไม่ยกเว้นอะไรเลยล้วนแต่เป็นธรรมทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี ผู้รู้บางท่านได้จำแนกความหมายของธรรมออกเป็น ๔ ลักษณะ คือ



    ๑. ปรากฎการณ์ของธรรม หมายถึงสภาวะธรรม หรือปรากฎการณ์ทั่วๆไป ไม่ยกเว้นอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนาม มองเห็นหรือมองไม่เห็น เป็นโลกียะ
    หรือโลกุตระ ปรากฎการณ์ของธรรมจะรวมถึงธรรมชาติและสภาวะธรรมทุกประเภท ไม่ว่าจะดีหรือขั่ว หรือเป็นกลาง ตามความหมายในลักษณะกว้างเช่นนี้ สิ่งที่เราเรียกว่าอธรรม หรือธรรมดำ หรือบาปกรรม แล้วแต่เป็นธรรมทั้งสิ้น



    ๒. กฎแห่งธรรม หมายถึงกฎเกณฑ์อันเป็นธรรมดาหรือกฎธรรมชาติ กฎแห่งธรรมจึงรวมถึง หลักธรรมดาหรือหลักวิชาต่างๆทั้งในคดีโลกและคดีธรรม เช่น ในคดีโลกก็ได้แก่หลักวิชาทางวิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์เป็นต้น ส่วนในคดีธรรมนั้นก็ได้แก่คำสั่งสอนของนานาศาสนา เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจในการดำเนินชีวิต ในอันที่จะจรรโลงศีลธรรมและจริยธรรม ตลอดจนหลักการและวิธีการเพื่อบรรลุโลกุตระธรม


    ๓. การปฏิบัติตามกฎแห่งธรรม หมายถึงการประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือหลักวิชาต่างๆได้แก่ การค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และการปฏิบัติธรรม เช่น การเจริญทาน ศีล และภาวนาเป็นต้น


    ๔. ผลของการปฏิบัติตามกฎแห่งธรรม หมายถึงผลที่ได้หรือที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือหลักวิชา ต่างๆ ผลแห่งการประพฤติปฏิบัติดังกล่าวมีปรากฎอยู่ทั่วไป เช่น ผลจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และหลักวิทยาศาสตร์ อันเป็นข้างฝ่ายโลก มนุษย์เรามีความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุอย่างมหาศาล เรียกกันว่าอารยธรรม มีเครื่องผ่อนแรงนานาชนิด มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความฟุ่มเฟือยในชีวิตมากมาย ตลอดจนสามารถทำให้มนุษย์เดินทางไปในอากาศและอวกาศ สู่โลกอื่นพิภพอื่นได้ การปฏิบัติตามหลักวิชาแพทย์ทำให้มนุษย์ปลอดภัยจากโรคบางอย่าง ส่วนในคดีธรรมนั้นเล่า ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสนาต่างๆก็สำเร็จผลตามควรแก่เหตุ เข่น ความสงบสุข ความสงบเรียบร้อยในสังคม ตลอดจนฌาน วิโมกข์ สมาบัติ มรรค ผล นิพพานเป็นต้น


    พุทธธรรม



    สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ ณ ป่าไม้ประดู่ลาย ใกล้กรุงโกสัมพี ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยิบใบไม้ประดู่ลายขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน? คือใบประดู่ลายเล็กน้อยที่เราถือไว้ กับใบที่อยู่บนต้นประดู่ลาย อย่างไหนจะมากกว่ากัน? "


    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลตอบว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลายเล็กน้อยที่พระองค์ถือไว้ มีประมาณน้อย ที่แท้ใบประดู่ลายที่อยู่บนต้นประดู่ลายมีมากกว่า "

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องที่เราตรัสรู้แล้ว แต่มิได้บอกแก่ท่านทั้งหลาย ก็มีมากกว่าฉันนั้นเหมือนกัน เหตุใดเล่าจึงมิได้บอก? ก็เพราะว่าเรื่องเหล่านั้น ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับทุกข์ ความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เราจึงไม่บอกเพราะเหตุนั้น "

    ธรรมเป็นสิ่งกว้างขวางครอบคลุมทั่วสรรพสิ่งในจักรวาล ทั้งที่เป็นรูปและนาม มองเห็นและมองไม่เห็น และสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นก็มากมายมหาศาล แม้จะตรัสสอนไว้แต่เพียงส่วนน้อยนิด เฉพาะที่จำเป็นแก่การปล่อยวาง การพ้นทุกข์ ความสงบระงับและนิพพาน แม้กระนั้นก็มากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ประกอบด้วยธรรม ๓ หมวดเรียกว่า พระไตรปิฎก ได้แก่ พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรมหรือพระปรมัตถ์

    พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าประกอบด้วยลักษณะที่เป็นปริยัติ อันสามารถน้อมนำปฏิบัติ เพื่อให้บังเกิดผล หรือปฏิเวธได้โดยไม่เลือกกาลสมัย ปริยัติธรรมได้แก่พระสูตร พระวินัย และพระปรมัตถ์ หรือรวมเรียกว่าพระไตรปิฎกนั่นเอง เป็นภาคพื้นแห่งการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมนั้นได้แก่ ข้อปฏิบัติที่พระปริยัติชี้บอก เช่น ทาน ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นต้น และปฏิเวธ นั้นเล่า ก็คือผลทางปฏิบัติธรรม เช่น ทาน ยังผลให้ความตระหนี่ถี่เหนียวน้อยลงหรือหมดไป ศีลยังผลให้การแสดงความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือกิเลสอย่างหยาบทางกาย และวาจาบรรเทาลงหรือหมดไป สมาธิยังผลให้โทษของโลภ โกรธ หลง หรือกิเลสอย่างกลาง ได้แก่นิวรณ์ถูกทำลายไป และปัญญายังผลในการกำจัดโทษอันเกิดแต่โลภะ โทสะ โมหะ อย่างละเอียด ที่เป็นอนุสัย ฝังแน่นอยู่ในสันดานให้หมดไป เหล่านี้เป็นต้น

    คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นไปเพื่อการไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ย่อมเป็นไปเพื่อการปล่อยวาง และความหลุดพ้นจากทุกข์ ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ

    ๑. เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด
    ๒. เป็นไปเพื่อความปราศจากทุกข์
    ๓. เป็นไปเพื่อความไม่สะสมกองกิเลส
    ๔. เป็นไปเพื่อความอยากที่ลดลง
    ๕. เป็นไปเพื่อความสันโดษยินดีด้วยของมีอยู่
    ๖. เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่
    ๗. เป็นไปเพื่อความเพียร
    ๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย
    นอกจากนั้นยังมีหลักการวินิจฉัยอยู่ ๕ ข้อ สำหรับกล่าวชี้ว่าธรรมอันใดถูกตรงหรือผิดจากหลักพุทธธรรม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วย่อมประกอบด้วยองค์คุณ ๕ ประการดังนี้
    ๑. ผู้ปฏิบัติจะได้เห็นได้ด้วยตนเอง
    ๒. ผู้ปฏิบัติไม่ต้องอ้างกาลเวลา
    ๓. ผู้ปฏิบัติอวดหรือแสดงให้ผู้อื่นเห็นได้ ว่าปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในตนแล้ว
    ๔. ผู้ปฏิบัติอาจน้อมเข้ามาสู่ตนได้
    ๕. ผู้ปฏิบัติรู้เห็นจำเพาะที่ตน
    ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมี ๓ ประเภท คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม

    กุศลธรรม คือ ธรรมที่เป็นกุศล สภาวะที่ฉลาด ดีงามเอื้อต่อสุขภาพจิต เกื้อกูลต่อชีวิตจิตใจ ได้แก่กุศลมูล คือ ความไม่โลภ ไม่โกรธ และไม่หลง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณที่สัมปยุตด้วย กุศลมูล กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีกุศลมูลเป็นสมุฎฐาน กล่าวสั้นๆก็คือ กุศลในภูมิทั้งสี่ ตัวอย่างก็ได้แก่คุณธรรมอันมีปัญญาหรือวิชาความรู้เป็นประธาน เช่น ทาน ศีล ภาวนา หิริโอตตัปปะ พรหมวิหาร โพธิปักขิยธรรม และวิราคธรรมเป็นต้น

    อกุศลธรรม คือธรรมที่เป็นอกุศล สภาวะที่ตรงกันข้ามกับกุศล ได้แก่อกุศลมูล คือ โลภ โกรธ หลง และกิเลส อันมีฐานเดียวกับอกุศลมูล เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณที่สัมปยุตด้วยอกุศลมูล กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่มีอกุศลมูลเป็นสมุฎฐาน กล่าวสั้นๆก็คือ อกุศลจิตตบาท ๑๒

    ตัวอย่างก็ได้แก่กิเลสอันมีอวิชชาหรือความไม่รู้เป็นแดนเกิด เช่น ตัณหา อุปาทาน นิวรณ์ สังโยชน์ ตลอดจนอุปกิเลศและ อนุสัย เป็นต้น

    อัพยากฤตธรรม คือ ธรรมที่เป็นอัพยากฤต สภาวะที่เป็นกลางๆ ไม่เป็นกุศล หรืออกุศล ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่เป็นวิบากแห่งกุศลและอกุศล ทั้งที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และโลกุตรธรรมทั้งหลายที่เป็นกิริยา มิใช่กุศลและอกุศล รูปทั้งปวง อสังขตธาตุหรือนิพพาน กล่าวสั้นๆก็คือ วิบากในภูมิทั้งสี่ กิริยาอัพยากฤตในภูมิทั้งสาม

    ตัวอย่างก็ได้แก่ นามรูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะ และนิพพานเป็นต้น

    ในพระโอวาทปาฏิโมกข์ คราวจาตุรงคสันนิบาตในวันมาฆฤกษ์ พระพุทธเจ้าทรงย่นย่อคำสั่งสอน ของพระองค์ลงเหลือเพียง ๓ ประโยค คือ ละบาป บำเพ็ญบุญ และชำระจิตให้ผ่องใส การละบาปก็คือการละอกุศลธรรมนั่นเอง กล่าวคือเพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้นในสันดาน และเพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ส่วนการบำเพ็ญบุญนั้นก็คือการประกอบหรือ ประพฤติปฏิบัติกุศลธรรม น้อมนำกุศลธรรมเข้ามาสู่ตนนั่นเอง กล่าวคือ เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน และเพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม คอยประคับประคองให้กุศลเหล่านั้นเจริญเติบโต สมบูรณ์เต็มภาคภูมิ และการชำระจิตให้ผ่องใสก็คือการชำระจิตให้ปราศจากนิวรณ์ เครื่องทำ จิตให้เศร้าหมอง ๕ ประการ คือความใคร่ในกาม ความโกรธเคืองอาฆาต ความหดหู่เคลิบเคลิ้ม ความฟุ้งซ่านตื่นเต้นรำคาญใจ และความสงสัยลังเลใจ เมื่อจิตผ่องใสปราศจากนิวรณ์แล้ว ย่อมเข้มแข็งมีพลังให้รู้ชัดถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตน บังคับไม่ได้ของรูปและนาม และเพ่งตรงต่อสันติ หรือความสงบ เพื่อความสิ้นสุดแห่งรูปนาม เพื่อยุติการเวียนว่ายตายเกิด เพื่อความหลุดพ้น เพื่อนิพพาน การที่จะละบาปบำเพ็ญบุญและชำระจิตให้ผ่องใสได้ผลสมบูรณ์เต็มที่ ต้องอาศัยความเพียร สมดังพุทธภาษิตว่า ผู้ที่จะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะความเพียรดังนี้

    คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ ๓ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์อนาคต และประโยชน์สูงสุดหรือปรมัตถประโยชน์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวโร เจริญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เคยกล่าวไว้ว่า ประมาณร้อยละแปดสิบของคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้า เป็นไปเพื่อปรมัตถประโยชน์ ดังนั้น จึงขอกล่าวถึงเรื่องปรมัตถธรรมต่อไป

    ปรมัตถธรรม

    ปรมัตถธรรม คือ สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์ สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด ได้แก่

    ๑. จิต กล่าวคือ สภาพที่คิด สภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์
    ๒. เจตสิก กล่าวคือ สภาวะที่ประกอบกับจิต คุณสมบัติ และอาการของจิต
    ๓. รูป กล่าวคือ สภาวะที่เป็นร่าง พร้อมทั้งคุณและอาการ
    ๔. นิพพาน กล่าวคือ สภาวะที่สิ้นกิเลสและทุกข์ทั้งปวง สภาวะที่ปราศจากตัณหา



    จิต

    คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ สภาพที่นึกคิด ความคิด ใจหรือวิญญาณ เป็นนามธาตุไม่มีตัวตน เป็นของกายสิทธิ์ ไม่มีผู้ใดจะสามารถอธิบายการเกิดดับ และการเจริญพัฒนาของจิตได้โดย ไม่อาศัยรูป เวทนา สัญญา และสังขาร

    ธรรมทั้งหลายมีจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน โลกทั้งโลก จักรวาลทั้งจักรวาลอยู่ที่จิต ถ้าจิตไม่มี ก็ไม่มีการรู้ว่ามีโลกมีจักรวาล ถ้าปราศจากจิต โลกและจักรวาลมีอยู่ก็เหมือนไม่มี เพราะไม่มีการรู้ว่ามี จิตรู้ได้ด้วยสัมผัส ๖ คือสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เรียกว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ แต่กว่าจะเกิดการรู้หรือวิญญาณได้ ก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งองค์ประกอบและกรรมวิธีพอสมควร ดังที่พระสารีบุตร อัครสาวกสาธยายได้อย่างแยบยลดังนี้ " แม้ว่าดวงตาของบุคคลจะดีอยู่ ถ้าไม่มีรูปภายนอกมาตกอยู่ในสายตา และไม่มีการประมวลสมส่วนเกิดขึ้น วิญญาณความรู้อารมณ์ ในกรณีนั้นย่อมไม่เกิดขึ้น หรือแม้ดวงตาของบุคคลจะดีอยู่ และมีรูปกายภายนอกมาตกอยู่ในสายตา หากไม่มีการประมวลสมส่วนเกิดขึ้น วิญญาณความรู้อารมณ์ในกรณีนั้นย่อมไม่เกิดขึ้นเช่นกัน แต่ถ้าดวงตาของบุคคลดีอยู มีรูปภายนอกมาตกอยู่ในสายตา และมีการประมวลสมส่วนเกิดขึ้น วิญญาณความรู้อารมณ์ในกรณีนั้นย่อมเกิดขึ้น ดังนั้น การเกิดขึ้นของวิญญาณอาศัยปัจจัยเป็นเหตุ หากไม่มีปัจจัยวิญญาณย่อมไม่เกิด และเราเรียกลักษณะของวิญญาณตามปัจจัยนั้นๆ กล่าวคือ จักขุวิญญาณอาศัยตาและรูปเป็นปัจจัย โสตวิญญาณอาศัยเสียงและหูเป็นปัจจัย ฆานวิญญาณ อาศัยจมูกและกลิ่นเป็นปัจจัย ชิวหาวิญญาณอาศัยลิ้นและรสเป็นปัจจัย กายวิญญาณอาศัยกายและ โผฏฐัพพะเป็นปัจจัย และมโนวิญญาณอาศัยใจและธรรมเป็นปัจจัย "

    จิตเป็นที่รับอารมณ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล หรือเป็นกลาง และไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ในกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจรหรือโลกุตรภูมิ มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ว่า " จิตเป็นสิ่งประภัสสร กิเลสทั้งหลายเป็นของจรมาใหม่ " พระนิโรธรังสีคัมภีร์ปัญญาจารย์ (เทศก์ เทสรังสี) แห่งวัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้อธิบายไว้ว่า " คำว่า จิตประภัสสร หมายถึง สภาพเดิมของใจ กล่าวคือใจเป็นกลางรับกิเลสหรือคุณธรรม ที่จรมาได้ทุกโอกาส ไม่ใช่ใจหรือจิตบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ต้องชำระด้วยปัญญา ด้วยความรู้ความฉลาด คือเห็นเหตุเห็นผล "

    จิตโดยธรรมชาติเป็นสิ่งประภัสสร แต่ไม่ได้หมายความว่าจิตดั้งเดิมนั้นบริสุทธิ์ จิตต้องฟอกด้วยปัญญา และมีสติกำกับจึงจะบริสุทธิ์ได้ ทำนองเดียวกันกับที่กล่าวว่า ทองคำโดยธรรมชาติเป็นของสุกปลั่ง นั่นมิได้หมายความว่า ทองคำโดยธรรมชาติเป็นของบริสุทธิ์ ต้องเอาเข้าเตาหลอมไล่สิ่งไม่บริสุทธิ์ ออกเสียก่อน ทองคำจึงจะบริสุทธิ์ได้ จิตบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา และมีสติคอยกำกับมิให้กิเลสจรมา สัมปยุต เมื่อกิเลสไม่สามารถจะสัมปยุตเข้ากับจิตได้แล้ว จิตย่อมไม่ก่อภพ ก่อชาติอีก ดุจเปลวไฟ สิ้นเชื้อ


    เจตสิก

    คือธรรมที่ประกอบกับจิต สภาวธรรมที่เกิดดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์ และวัตถุที่อาศัยเดียวกันกับจิต อาการและคุณสมบัติต่างๆของจิต บางทีก็เรียกว่า อารมณ์ของจิต เป็นได้ทั้งกุศลอกุศล และเป็นกลาง กล่าวคือ ประกอบเข้าได้กับจิตทุกฝ่ายทั้งกุศลและอกุศล เมื่อกุศลหรือโสภณเจตสิก สัมปยุตเข้ากับจิต จิตนั้นก็เป็นกุศลจิต หากอกุศลเจตสิกสัมปยุตเข้ากับจิต จิตนั้นก็พลอยเป็น อกุศลจิตไปด้วย

    จิตเป็นตัวธรรม เจตสิกเป็นสักษณะอาการ หรือคุณสมบัติของธรรม ซึ่งอาจเป็นคุณธรรมก็ได้ หรือกิเลสก็ได้ เมื่อสัมปยุตกันแล้วย่อมเกิดดับพร้อมกัน ดุจโรคกับอาการของโรคหรือดวงประทีปกับแสงสว่างย่อมเกิดดับพร้อมกัน

    เป็นการยากที่จะแยกเจตสิกออกจากจิตได้ ต้องใช้ปัญญาชำระล้างจึงจะได้ เจตสิกชั้นหยาบก็ใช้ ปัญญาชั้นหยาบ เจตสิกชั้นกลางก็ใช้ปัญญาชั้นกลาง เจตสิกชั้นละเอียดก็ต้องใช้ปัญญาชั้นละเอียด และสูงจึงจะชำระล้างสำเร็จ เมื่อจิตถูกปัญญาชำระล้างจนบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสหรืออกุศลเจตสิกแล้ว จิตนั้นย่อมมีปัญญาเมตตาธรรมและคุณธรรมอันมีปัญญาเป็นประธาน เป็นอารมณ์ เพราะปัญญาและเมตตาธรรมไม่ถือว่าเป็นกิเลส นอกจากนั้นจะมีสติคอยกำกับอยู่ตลอดเวลา ไม่มีโอกาสที่อกุศลเจตสิกหรือกิเลสจะจรมากระทบได้ จิตดังกล่าวย่อมปลอดจากอารมณ์ หรือเจตสิกประเภทที่ก่อภพก่อชาติ จิตที่บริสุทธิ์จึงไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปนาม พระอรหันต์ผู้มีจิต บริสุทธิ์สะอาดเช่นว่า เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ย่อมไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก


    รูป

    คือ ธาตุทั้งสี่ และการประชุมอยู่ของธาตุทั้งสี่ ได้แก่ดินหรือของแข็งหนึ่ง น้ำหรือของเหลวหนึ่ง ไฟหรือความร้อนหนึ่ง และลมหรืออากาศอีกหนึ่ง ถ้าจะพิจารณาดูภายในกายของมนุษย์และสัตว์ ทั้งหลาย ดินหรือของแข็งก็ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเป็นต้น น้ำหรือของเหลว ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ น้ำตาเป็นต้น ไฟหรือความร้อนก็ได้แก่ ไฟธาตุที่ยังกายให้อุ่น ยังกายให้ทรุดโทรม ยังกายให้กระวนกระวาย เผาอาหารให้ย่อยเป็นต้น ลมหรืออากาศก็ได้แก่ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมซ่านไปทั้งตัว ลมหายใจเข้าออกเป็นต้น ถ้าจะพิจารณาจากแง่วิทยาศาสตร์ รูปก็คือสสาร และสสารนี้ได้รับการพิสูจน์จนเห็นชัด เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าคือพลังงานนั่นเอง


    นิพพาน

    คือสภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว ภาวะที่บรรลุเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกย้อม ไม่ขัดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ

    นิพพานเป็นอสังขตธรรม คือไม่ปรากฎความเกิด ไม่ปรากฎความสลาย และเมื่อตั้งอยู่ก็ไม่ปรากฎความแปรเปลี่ยน อีกนัยหนึ่งก็คือเป็นธรรมที่ไม่มีการถือกำเนิด ไม่มีต้นกำเนิด ไม่มีการปรุงแต่ง

    คำว่า นิพพานนี้ ภาษาสันสกฤตเขียนว่า นิรวาน แปลว่า หยุดพัด ดับสูญ อาจพิจารณาได้เป็น ๒ นัย คือ
    ๑. การดับสูญของกิเลส ซึ่งในกรณีพระอรหันต์ย่อมเกิดขึ้นในระหว่างที่มีชีวิตอยู่
    ๒. การดับสูญแห่งกรรมวิธีของเบญจขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพระอรหันต์สิ้นชีวิต
    นิพพานจึงไม่ใช่ของแข็งหรือของเหลว มิใช่โลกนี้หรือโลกอื่นใด ไม่ใช่พระอาทิตย์หรือพระจันทร์ นิพพานคือการสิ้นสุดแห่งทุกข์ ไม่ใช่การตาย ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีการเจริญงอกงาม ไม่มีรากฐาน นิพพานเป็นโลกุตระและอมตธรรม
    หากจะปรับปรมัตถธรรมเข้ากับเบญจขันธ์ ก็จะได้ดังนี้
    จิต คือ วิญญาณขันธ์
    เจตสิก คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์
    รูป คือ รูปขันธ์
    และนิพพาน คือ ภาวะพ้นจากขันธ์ พ้นจากนามรูป
    ปรมัตถธรรมจึงประกอบด้วยทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม จิต เจตสิก รูป เป็นนามขันธ์และรูปขันธ์ เป็นสังขารหรือสังขตธรรม เกิดแต่ปัจจัยปรุงแต่ง ประกอบด้วยไตรลักษณ์ กล่าวคือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตน บังคับไม่ได้ ส่วนนิพพานนั้น เป็นอสังขตธาตุไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นโลกุตระ พ้นจากโลก เป็นอมตะ และเพราะเหตุที่มีอสังขตหรือวิสังขารธรรมนี้เอง การหนีพ้นหรือหลุดพ้น จากสังขารธรรมจึงเป็นไปได้

    สังขตและอสังขตธรรม

    รูป จิต เจตสิก และนิพพาน เป็นของมีอยู่โดยธรรมชาติเสมอมา สมดังพุทธภาษิตที่ว่า " ธรรมแลได้ปรากฎอยู่ก่อนแล้ว " รูป จิต เจตสิก เป็นสังขตธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนนิพพานนั้นเป็นอสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง รูปได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ปรุงแต่งกันขึ้น อวิชชาเป็นเจตสิกอันหนึ่ง เมื่อกระทบกับมโนธาตุหรือจิตเข้า ก็เกิดปรุงแต่ง (สังขาร)เป็นวิญญาณขึ้นมา เมื่อวิญญาณปฏิสนธิในรูปก็เกิดนามรูปขึ้น นามรูปนี้เองที่เรียกกันว่า เบญจขันธ์ หรือขันธ์๕ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

    นามรูปนี้มีอายตนะ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อายตนะภายใน เป็นประตูสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ซึ่งเราเรียกว่า อายตนะภายนอก เมื่ออายตนะภายนอก กับอายตนะภายในสัมผัสกัน หรือที่เรียกว่า ผัสสะ หากมีจิตรับรู้การสัมผัสหรือผัสสะนั้น เราเรียกว่า วิญญาณตามลักษณะของการรับรู้นั้น เช่น การรับรู้การสัมผัสทางตา เราเรียก จักขุวิญญาณ การรับรู้สัมผัสทางหูว่า โสตวิญญาณ การรับรู้สัมผัสทางจมูกว่า ฆานวิญญาณ การรับรู้ทางลิ้นว่า ชิวหาวิญญาณ การรับรู้ทางกายว่า กายวิญญาณ และากรรับรู้ทางใจว่า มโนวิญญาณ เมื่อมีผัสสะพร้อมทั้งการรับรู้แล้ว เวทนาหรือความรู้สึกก็เกิดขึ้น โดยที่เบญจขันธ์ หรือนามรูป หรือมนุษย์และสัตว์นี้ มีสัญญาและกิเลสอันเกิดแต่อวิชชาอยู่ด้วย ตัวสัญญานี้เลย เป็นตัวปรุงแต่ง เปรียบเทียบให้เกิดความรู้สึกยินดียินร้าย เมื่อความรู้สึกยินดียินร้ายเกิดขึ้น ตัณหาความอยากและอุปทานความยึดมั่นถือมั่นก็เกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดภพเกิดชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปยาส ต่อไป

    วงจรอันมีอวิชชาเป็นมูลเหตุปรุงแต่งจนเกิดวิญญาณ และนามรูปตลอดไปจนเกิดภพเกิดชาติ และความทุกข์ยากทั้งปวงเช่นนี้ มีอยู่ประจำโลก เป็นวัฏจักรหมุนเวียนอยู่ตลอดกาล ไม่มีที่ ตั้งต้นและที่สิ้นสุด เรียกว่า วัฏจักร๓ กล่าวคือ กิเลสทำให้เกิดกรรม กรรมทำให้เกิดวิบาก แล้ววิบากก็มีกิเลสก่อกรรมเกิดวิบาก มหุนเวียนกันเช่นนี้ไม่รู้จักจบสิ้น

    มนุษย์และสัตว์ผู้มีอวิชชาครอบงำตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ต่างก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร โดยไม่มีวันที่จะหลุดพ้นไปได้ ตราบเท่าที่ยังถูกครอบงำด้วยอวิชชา ตกเป็นเหยื่อของกิเลสอยู่ วัฏสงสารที่ว่านี้ มีถึง ๓ ภพ ๓๑ ภูมิ ตั้งแต่อบายภูมิ๔ มีนรก เปรต อสูรกาย และเดรัจฉาน ไปจนถึงอรูปภูมิ๔ มี อากาสานัญจายนภูมิ วิญญาณัญจายนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ เนื่องจากอวิชชาคือต้นตอของวัฏจักร และมูลเหตุของการเวียนว่ายตาย เกิดของสัตว์ในวัฏสงสาร วิธีเดียวที่จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้ได้ คือทำลายอวิชชาให้สิ้นไป เพื่อเป็นไทจากกิเลส และอวิชชานี้จะทำลายได้ก็ด้วยปัญญาอันยิ่ง กล่าวคือ การรู้แจ้งเห็นจริงใน อริยสัจ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย(เหตุแห่งทุกข์) นิโรธ(ความดับทุกข์) และมรรค(ทางดับทุกข์) แล้วทำอย่างไรเราจึงจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ๔ เพื่อความหลุดพ้นอันนี้ได้

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนว่า สติปัฏฐาน๔ กล่าวคือ การพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เป็นหนทางเดียวที่นำไปสู่วิชชาความรู้แจ้งแทงตลอด วิราคะ ความจางคลายจากกิเลส และความยึดติด วิมุติ ความหลุดพ้น วิสุทธิ ความบริสุทธิ์ สันติ ความสงบ และนิพพาน ความพ้นทุกข์

    จริงอยู่ในพระสูตรมีกล่าวแต่เพียงว่า สติปัฏฐาน๔ คือทางเอกไปสู่ความรู้แจ้งแทงตลอด วิราคะ วิมุติ สันติ และนิพพานดังกล่าว หาใช่ทางเดียวไม่ แต่ถ้าเราวิเคราะห์ดูให้ดี จะเห็นว่าทางพ้นทุกข์นั้น ไม่ว่าจะเป็นทางวิปัสสนา มรรค๘ หรือวิสุทธิมรรค ล้วนมาลงที่ สติปัฏฐาน๔ ทั้งสิ้น จึงถือได้ว่า สติปัฏฐาน๔ เป็นเอกยาน หรือทางพ้นทุกข์ทางเดียวเท่านั้น สมดังที่ครูบาอาจารย์ท่านว่า นรก สวรรค์ นิพพานนั้น ไม่ต้องไปหาที่ไหน หาได้ที่ขันธ์๕ หรือร่างกายอันกว้างศอก ยาววา หนาคืบนี้เอง ศีล สมาธิ ปัญญา จะอยู่ที่ไหน ถ้าไม่อยู่ที่ เบญจขันธ์นี้

    สติปัฏฐาน๔ หรือการพิจารณารูป เวทนา จิต และธรรมนี้ แท้จริงก็คือการพิจารณารูปนาม หรือเบญจขันธ์ของเรานี่เอง คือการเจริญทาน ศีล ภาวนา หรือไตรสิกขา กล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือการเจริญมรรคมีองค์ ๘ โดยเดินตามทางสายนี้ เราจะเกิดปัญญารู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง จะเห็นว่าสรรพสิ่งล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ กล่าวคือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ และอนัตตา ไม่มีตัวตน บังคับไม่ได้ โดยนัยนี้ ถ้าพิจารณาให้เห็นถ่องแท้แน่ชัดแก่ใจยิ่งขึ้นๆ ก็จะตระหนักในมายา ความไม่มีแก่นสารของสังขาร หรือสังขตธรรมยิ่งขึ้น เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัย ในการยึดติดอยู่ในสังขารธรรมยิ่งขึ้น กล่าวคือ เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยในวัฏสงสารยิ่งขึ้น เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในสังขารธรรม ดิ้นรนหาทางหลุดพ้นจากวัฏสงสาร

    วิราคธรรม ความจางคลายจากการยึดติด จากความหลงใหลในสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น มองเห็นรูปนาม หรือเบญจขันธ์ ในลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตน บังคับไม่ได้ เกิดความเบื่อหน่าย เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยของเบญจขันธ์ คิดปล่อยวางเบญจขันธ์ โดยการเจริญมรรคมีองค์๘ หรือไตรสิกขาไปเรื่อยๆ ในลักษณะนี้ ด้วยความวิริยะอุตสาหะไม่ย่อท้อ อันนำไปสู่มรรคผลนิพพานในที่สุด

    สังขตธรรมและอสังขตธรรม จึงเป็นธรรมที่ซ้อนกั่นอยู่ ทับกันอยู่ คู่กันอยู่ รวมกันอยู่ หรืออยู่ด้วยกัน แล้วแต่จะพูด ตราบใดที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งมีอยู่ สังขตธรรมย่อมมีอยู่ ขณะใดที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งหมดไป สังขตธรรมก็ไม่มี เมื่อไม่มีสังขตธรรม หรือเราปล่อยวาง สังขตธรรมแล้ว อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เรียกว่าความว่าง หรือสุญญตา หรือนิพพานก็ปรากฎโดยอัตโนมัติ ในทำนองเดียวกันกับที่ความมืดและความสว่างนั้น ซ้อนกันอยู่ หรืออยู่ด้วยกัน แล้วแต่จะพูด ถ้าเหตุและปัจจัยของความมืดมีอยู่ เช่น ไม่ได้เปิดหลอดไฟ หรือจุดเทียนไข ความืดก็มีอยู่ แต่ถ้าเปิดหลอดไฟ หรือจุดเทียนไข ความสว่างก็มีอยู่ด้วยเหตุจาก การเปิดหลอดไฟหรือจุดเทียนไขนั้น ความมืดและความสว่างก็อยู่ในสถานที่เดียวกันนั่นเอง แต่จะปรากฎก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้ปรากฎ จะหายไปก็เมื่อเหตุและปัจจัยที่ทำให้ปรากฎขึ้นนั้นหมด หรือหายไป





    คัดลอกจาก www.wfb-hq.org/specth1.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...