ธ คือครูอาจารย์ในธรรมอันวิสุทธิ์

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 15 เมษายน 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    ธ คือครูอาจารย์ในธรรมอันวิสุทธิ์
    ( มหาปุญโญวาท เล่ม 4 )
    โอวาทธรรมของ หลวงปู่จาม มหาปุญโญ
    วัดป่าวิเวกวัฒนาราม

    [​IMG]ถาม : ไตรลักษณญาณทั้ง ๓ อะไรจะเกิดได้ก่อน ?
    ตอบ
    : อนิจฺจํ
    ทุกฺขํ
    อนตฺตา
    ในทั้งสามอะไรเกิดขึ้นก่อน
    บุคคลที่เคยฝึกพิจารณากับ อนิจฺจํ มามากก็จะว่า อนิจฺจํ เกิดก่อน
    บุคคลที่เคยฝึกพิจารณากับ ทุกฺขํ มามากก็จะว่า ทุกฺขํ เกิดก่อน
    บุคคลที่เคยฝึกพิจารณากับ อนตฺตา มามากก็จะว่า อนตฺตา เกิดก่อน
    เพราะพระธรรมคุณ ประกาศว่า เป็นสันทิฏฐิกธรรม
    เป็นการประกอบเห็นเองนั้นๆ
    คือ เห็นในลักษณะแห่ง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา
    เห็นด้วยอาการเห็นจริง เห็นชัดด้วยจักษุปัญญา
    ที่ยังหมายรู้อยู่ว่าอะไรหนอ? จะเกิดก่อนอะไรอยู่นั้นก็ยังอยู่ในอาการแห่งโมหะ เรียกว่าหลงหัวหลงท้าย
    อยากได้อยากรู้เป็นโลภะ
    ไม่เป็นไปตามตนคิดไว้คาดหมาย กลายเป็นโทสะ
    โลภะ – โทสะ ก็มาแต่โมหะ
    กิเลสมูลทั้งสามนี้เองเป็นเค้าโลก
    เป็นเค้าเหง้างูนของสังขาร
    ๑๐ พฤศจิ’ ๔๘

     ถ้าอุปนิสสัยของมรรคผลมีอยู่ ย่อมทำให้ผู้นั้นบรรลุธรรมได้ แต่การบรรลุมิใช่ของง่ายยากยิ่งนัก
    ยากหรือง่ายก็รู้ได้เวลาเข้าที่นั่งภาวนาแล้วกำหนด จึงรู้ได้ว่าเป็นของยาก “ยากหรือง่าย” จึงรู้ได้ด้วยตนเอง
    ใส่ใจขวนขวายที่สุดจึงจะรู้จักได้ในธรรมะของพุทธะ
    ๑๐ พฤศจิ’ ๔๘

     ให้ตั้งใจละเว้นความชั่วใดๆ ทั้งหมด
    รักษาใจของตนให้ดี ให้พร้อมพากันคิดอ่านนึกถึงสมบัติความดีของตน
    กายกรรมให้ดี
    วจีกรรมให้ดี
    มโนกรรมให้ดี
    วัตถุชีวิตให้ดี
    เพราะกุสลากรรม - กรรมความดีพาให้ได้สุข ได้สวรรค์ และไปสู่มรรคผล นิพพาน
    อย่าไปทำชั่ว
    ให้เพิ่มเติมความดี
    ศีล ๕ ให้มีประจำใจ
    ตั้งใจแก้ไขตนของตน
    ๑๒ พฤศจิ’ ๔๘

     อย่างใดจึงจะได้รับผลคือ ความสุขความเย็นใจ
    ดีหรือชั่ว, บุญหรือบาป, ทุกข์หรือสุข จะเอาอันใด
    ให้คิดนึกในตนของตน
    ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วหนา
    จะให้อะไรเกิดขึ้น
    จะให้อะไรหมดไปดับไป
    พิจารณาให้ดีเน้อ
    ๑๗ พฤศจิ’ ๔๘

     ความผิดในความคิดของตนมีอยู่ว่า ร่างกายเป็นตน เป็นของตน เราเป็นรูป รูปเป็นเรา นามทั้งหลายเป็นเรา
    แท้ที่จริงแล้ว เกิดกับตาย (ดับ)
    กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา
    ไม่ใช่ของเรา
    แล้วจะถามสูเจ้าพระหนุ่มแน่นว่า เป็นอย่างใดกันแน่
    ๑๘ พฤศจิ’ ๔๘

     เจตนาเป็นเครื่องตกแต่งจิต แต่งให้เป็นบุญ
    แต่งให้เป็นบาป
    แต่จิตเป็นผู้รับรู้อารมณ์ รู้อย่างเมา เมาอารมณ์ เมาตัวเอง
    คำว่า “เมา” คือ เมาแล้วหลอกตัวเองว่า เป็นตน ของตน
    เมาอย่างนี้มาแต่ความคิด ความดำริ
    จิตของปุถุชนเป็นอยู่เช่นนี้ ทุกข์โทมนัสอยู่เต็มใจ
    เดี๋ยวนี้ ๑. ได้เกิดเป็นคนมิใช่เดรัจฉาน
    ๒. ได้พบปะคำสอนของพุทธะ
    ๓. ได้ความยินดีพอใจ
    ๔. ได้มาสนใจใส่ใจในพระสงฆ์องค์เณรวัดวาศาสนาจึงว่าให้ตั้งใจให้ดี
    คิดอ่านว่า ตนของตน จะตกแต่งเอาอะไร
    เอาบุญ ทำบุญทำความดี
    เอาบาป ทำบาปทำความชั่ว
    เอาเถอะ ! จะเอาอันใด ก็ทำไป หมุนไป
    ๑๙ พฤศจิ’ ๔๘

     บุญกุศลเป็นเครื่องอาศัยของสัตว์ทั้งหลายในโลก
    – ให้มีศีล ๕
    – ให้เก็บสะสมบุญกุศล
    เพราะการจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้มิใช่ของง่ายๆ
    ชีวิตที่จะได้มาเป็นคนนี้มันยากเป็นของยาก เพราะเกี่ยวแก่กับบุญและบาปอันตรายก็มีมาก
    พ่อหมันแม่หมันก็เกิดไม่ได้
    อย่าลืมว่าเกิดมาเพื่อสร้างสมบุญบารมีให้แก่จิตของตน
    ให้ถามตัวเองทุกวันว่า ดีหรือชั่ว
    ดีหรือชั่ว
    จะเอาอันใด
    ๒๐ พฤศจิ’ ๔๘

     กายนี้ รูปนี้
    มีแต่ของไม่งาม
    เต็มไปด้วยขี้ ถุงหนังห่อขี้ สกปรก
    ยิ่งผู้ข้าฯ คนเฒ่า ขี้มูกน้ำลาย ขี้เสลดขี้หูขี้ตา น่ารังเกียจ
    กลิ่นกาย เหงื่อไคล ขี้เน่าขี้เหม็น ขี้กะเท้อ
    ไม่น่าดูสักอันสักอย่าง ฟันก็หลุดหล่น หนังก็หย่อนยาน
    ไปมาก็โซะเซะ
    อะไรๆ ก็ลำบากติดขัดไปหมด รูปไอ้เฒ่านี้
    ๒๑ พฤศจิ’ ๔๘

     ที่อ้างว่าทำจริงนั้น
    จริงแค่ไหน
    หรือว่าจริงแต่เฉพาะคำพูด
    ๒๓ พฤศจิ’ ๔๘

     สัตว์ทั้งหลายในโลก มีหลายประเภท มีหลายขนาด มีหลายชนิด มีหลายจำพวก
    พวกที่โง่ไม่สนใจศึกษา (เนวเสกขานาเสกขา)
    พวกที่กำลังศึกษาอยู่ (เสกขา)
    พวกที่หมดกิจในการศึกษา (อเสกขา)
    มนุษย์ว่าสัตว์อายุสั้น
    เทวดาว่า มนุษย์อายุสั้น
    พรหมว่าเทวดาอายุสั้น
    มนุษย์กับเทวดา อยู่กับกามราคะ
    พรหมอยู่กับรูปราคะ อรูปราคะ
    มีอุปาทานยึดถืออยู่อย่างนี้ เรียกว่ามีความยินดี อยู่อย่างนี้
    เหตุนี้จึงว่าสัตว์โลกตกทุกข์ได้ยาก
    เพราะขาดปัญญาในการแก้ไขตนเอง
    ๒๔ พฤศจิ’ ๔๘

     – พอทนอยู่ได้อยู่หรือ
    – พอได้อาศัยอยู่หรือ
    – ธาตุขันธ์ยังสามัคคีกันดีอยู่หรือ
    เมื่อครั้งพุทธกาลพระภิกษุภิกษุณี สามเณรทั้งหลายยกถามกันอย่างนี้
    แต่สมัยนี้ สบายดีอยู่หรือ
    เป็นอย่างไรสบายดีไหม
    ผู้ตอบก็บอกว่า “ สบายดี
    หรือว่า ไม่เท่าไหร่”
    แต่สมัยก่อนเพิ่นตอบว่า “ พอทนได้อยู่
    พอเป็นไป”
    ๒๗ พฤศจิ’ ๔๘

     ไม่มีอะไรเที่ยงสักอัน
    ทุกอย่างเป็นเช่นนั้นของมัน
    หูมีปัญหากับเสียง
    ตามีปัญหากับรูปแสงสี
    จมูกมีปัญหากับลมหายใจ
    ปากลิ้น มีปัญหากับรสชาติ
    ร่างกายมีปัญหากับเรี่ยวแรง
    ใจอยู่ของใจ มีปัญหาน้อยที่สุด
    เฒ่าแก่แล้วนี้หูก็หนวก ตาก็ฟาง ฮูดังก็หายใจไม่อิ่ม กินก็ไม่มีรสชาติ ร่างกายไปมาก็หมดแรง มันหมดไป
    ทุกอย่าง ดับไปทีละน้อย
    ๒๙ พฤศจิ’ ๔๘

     อันตรายของผู้กำลังศึกษา
    ๑. ความโง่เขลาไม่ฟังคำของปราชญ์บัณฑิต
    ๒. ไม่รู้แล้วอวดดี อวดตน อวดรู้ อวดฉลาด
    ๓. เห็นแก่สุข ปฏิบัติห่วงตาย
    ๔. อยากได้ชื่อเสียง ลาภสักการะ
    ๕. ขี้ตืดขี้งก เห็นแก่ปากท้อง ความโอ่อ่า
    ๖. กิจของตนใดๆ ไม่เป็นไปในธรรมะวินัย
    ๓๐ พฤศจิ’ ๔๘

     หาเงิน เก็บเงิน
    เก็บเงินได้แล้วก็ไปเที่ยวเล่น เสาะหาทำบุญให้ทาน
    ทุกข์กับการหา ทุกข์กับการใช้จ่าย ทุกข์เพราะเงินมีน้อยไม่พอใช้จ่าย
    สันตุฏฐี พอใจของตน
    อดออมเอาไว้บ้าง
    อย่าจ่ายมาก อย่ากินมาก อย่าเที่ยวมาก
    มานี่มาหาหลวงตาบ้านห้วยทราย มาทำบุญให้ทาน บุญได้อยู่แต่ไม่สู้กับสูเจ้าขึ้นไปไหว้พระธาตุบนพระเจดีย์ ให้ขึ้นไปไหว้พระธาตุ
    ๓ ธันวา’ ๔๘

    ความไม่รู้จักพอคิดหาแต่รายการที่จะเป็นรายได้
    คือ คิดโลภแต่จะเอา ไม่ดูหน้าดูหลัง ข้าฯ ได้ก็เป็นพอ
    ดีชั่ว ถูกผิด ไม่เข้าใจ นี้คนขี้โลภ
    คนขี้โขด (โกรธ) เอะอะอะไรก็ไม่พอใจ
    เกิดขึ้นในใจไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ท่านจึงเปรียบความโกรธเหมือนเป็นไฟ เพราะมันเผา ทุกอย่าง นับตั้งแต่ตนเอง คนขี้หวงก็เมาหลงไปตามเรื่อง ไม่รู้จักตัวเอง ดีเลวอย่างใด ถูกหรือผิด ดีและชั่วอย่าไปถามหาอะไรกับเขา มันปกปิดใจไม่ให้รู้สึกตัวขึ้นมาได้ จึงว่า โมหะอวิชชา โง่เขลาไม่รู้จักตนเอง
    เหล่านี้เองเป็นเหตุให้จิตเป็นไปไม่เหมือนกัน
    คนพาลก็เป็นพาลของตนไป เป็นอกุศล เป็นบาป
    คนดีก็ไปทางดี
    นี่สูเจ้าทุกคนนี้จะไปทางใดกัน คิดอ่านให้ดีเน้อ
    ๔ ธันวา’ ๔๘

     พ่อแม่ต้องเป็นทุกข์เป็นสุขอยู่กับลูก
    เลี้ยงดูให้อยู่ ให้กิน ให้หลับ ให้นอน ล้างขี้ล้างเย้ว ห้ามไม่ให้ทำกรรมความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี ไม่ให้ทำผิด
    ให้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านหนังสือ
    ชี้แนะการงาน ทำอยู่กินเลี้ยงชีวิต เสาะหาผัวหาเมียจัดการทรัพย์สินข้าวของมรดกตกทอด ดีฮ้ายไปตามกรรมของสัตว์
    อันนี้ทุกข์ของผู้เป็นพ่อเป็นแม่
    แต่ความสุขก็เกิดได้จากลูกหลาน คือ ลูกหลานเป็นคนดี ใส่ใจการงานการศึกษาเล่าเรียน บำรุงตอบแทนบิดามารดา ทำการทำงานรักษาชื่อเสียงวงศ์ญาติชาติตระกูล กตัญญูกตเวที
    วันนี้วันพ่อของสูเจ้าทุกๆคน ให้คิดนึกถึงพ่อแม่ผู้เลี้ยงมาพาใหญ่ ให้รู้จักดีรู้จักละเว้นจากความชั่วประการใดๆ
    นี่มาทำบุญอุทิศให้พ่อแม่ญาติชาติตระกูล ก็ให้ตั้งใจต่อไปจะให้พร.......
    ๕ ธันวา’ ๔๘

    “ประเทศไทยเป็นประเทศพุทธศาสนา
    มีพระเจ้าอยู่หัว, พระราชินี, พระราชวงศ์ เจ้านายข้าราชการบ้านเมืองช่วยปกปักรักษา ให้พ้นอันตรายมาได้
    มาชีวิตนี้ สูเจ้าได้รูปกายให้ทำดีได้ ใช้ละความชั่วได้ จึงให้คิดอ่านพิจารณาให้ดี ให้นึกรู้สึกว่า ได้ทำความดีเพราะได้พบปะพระศาสนาของพุทธะ ได้รูปกายจากพ่อแม่ อยู่ในประเทศที่ปลอดภัยอยู่เย็นเป็นไปได้เพราะอาศัยพระมหากษัตริย์คุ้มครองดูแลไพร่ฟ้าข้าประเทศ พระปิยะมหาราชทุกข์กับการรักษาประเทศชาติบ้านเมือง ประชาราษฎรจนร้องไห้ พระเจ้าอยู่หัวพระราชินี ก็เป็นทุกข์กับคนกิน คนโกง ทุกข์กับการกำกับดูแลแนะนำการทำอยู่ทำกิน การปลูกฝัง การเกษตร การชลประทาน การเทคโนโลยี การศึกษาสมัยใหม่
    จึงว่าสูเจ้าพออยู่กินได้ไปมาก็ตามสบายใจ จะทำอะไรก็ทำได้ว่าถึงการกิจก็เสาะหามากินตลอด ๒๔ ชั่วโมง การเที่ยวการเล่นมัวเมาเพลิดเพลินไม่ต้องว่า เสรี ตามใจชอบ
    ราษฎรไม่รู้จักความทุกข์ของเจ้า (แผ่นดิน)
    แต่เจ้าก็เป็นทุกข์อย่างเดียวกันกับราษฎร มีเกิด แก่ เจ็บไข้ ตาย หนักเบา หนาวร้อน หิวกระหายเหมือนกันนี้ภายนอกแต่ส่วนที่เป็นภายในนั้นมากน้อยก็สุดแท้แต่การรักษาตนของตน
    จึงว่า การทำความดีของสูเจ้านี้หละเป็นการดูแลรักษาประเทศชาติบ้านเมือง
    ๕ ธันวา’ ๔๘

     คนพาลอยู่ที่ไหน ก็เป็นความทุกข์ยากลำบากในที่นั้น ก่อความรำคาญให้แก่ผู้คนสัตว์ทั้งหลาย เกะกะ รุงรัง
    ไม่ถือธรรมวินัยไม่มีความตั้งใจฝักใฝ่ในสิกขาบทวินัย
    พระเณรยุคใหม่เป็นพาลกันมาก
    ครูบาอาจารย์หมู่เพื่อนตักเตือน ชี้บอกให้ไม่ใส่ใจ จะกินก็กินไป จะไปจะมาก็ไปมาตามใจตน
    โกรธไม่พอใจในคำของผู้อื่น ใส่โทษเพ่งโทษ แม้เขาไปอยู่ที่ไหนก็ทำลายที่นั่น
    (ปรารภพระภิกษุรูปหนึ่งที่จะเข้ามาพักในวัด แต่กิริยาจรรยาของเธอ กักขฬะเอาการ)
    ๑๒ ธันวา’ ๔๘

     ภาวนายังไม่ทันเป็น ก็ให้ภาวนา
    จิตยังไม่สงบ ก็ให้พอใจทำ
    อดทน ตั้งใจ พากเพียร อย่าอยาก
    อย่าใจร้อน อย่าท้อแท้ให้ร้อนใจไปเสียเปล่า
    ทุกอย่างมันตั้งรู้จักได้ด้วยตนเอง
    พอใจทำไป อาศัยผลในระยะยาวของตน
    ต่อไปหลายนานก็จะ ได้ผลแน่นอน
    ทำให้สม่ำเสมอ
    ทำให้ได้ทุกวัน
    อย่าให้ขาดตั้งใจไปเถ๊อะ
    ๑๔ ธันวา’ ๔๘

     ชี้กกตาย
    ชี้ปลายเป็น
    กรรมฐาน ๕ เป็นกก เป็นของตาย
    วิมุตติเป็นปลาย เป็นของธรรม
    แปลว่า เป็นไปเพื่อธรรม คือ พระนิพพาน
    พอถึงพระนิพพานแล้ว กก – ปลาย ตายเป็น
    หมดภาษาไม่ต้องว่าต่อไป
    ว่าได้แต่พอว่า รูปเป็นรูปพระธรรม
    นามเป็นนามพระธรรม
    เป็นองค์พระธรรมอันบริสุทธิ์
    บริสุทธิ์แล้วจากโลก
    ๑๕ ธันวา’ ๔๘
    (องค์ท่านปรารภภายหลังปลงผมแล้วเสร็จ : ขณะสวมถุงเท้าถวาย)

     เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม’ ๔๙
    ได้เปลี่ยนยาบำรุงในช่วงเย็นจาก Pharmaton
    เป็น Royal Jelly นมผึ้ง ๑ เม็ด
    และ Fish body oils ๑ เม็ด
    ถวายได้ ๖ วัน องค์หลวงปู่มีอาการคันตามผิวหนังมากกว่าปกติ (แม้ปกติก็มีอาการคันอยู่แล้ว) จึงได้งด Fish body oils แล้วจัด Pharmaton ถวายอย่างเดิม ๑ เม็ด อาการคันตามผิวหนังนี้เนื่องด้วย ๑. สรงน้ำอุ่นจัด
    ๒. ใช้สบู่ก้อนฟอกตัว
    ๓. ผิวหนังแห้ง (ไม่ยอมให้ชโลม oil)
    ๔. เป็นไปตามปกติของรูปกาย
    ๑๖ ธันวา’ ๔๘

    “ช่วงหลายวันที่ผ่านมา
    อาการท้องผูกก็ยังคงมีอยู่ ขับถ่ายลำบาก
    ได้จัดถวายทั้ง น้ำลูกพรุน และยาระบาย เช่น Sidolax มะขามแขก
    แต่ก็ยากในการที่จะฉันยา
    จึงได้สวนทวารช่วยในบางวัน
    องค์หลวงปู่ว่า “บุพพกรรมมันไม่ให้ควายขี้ พอควายมันจะขี้ก็ไล่ให้มันเดินไปข้างหน้า กำลังไถนาอยู่
    มันจะขี้ไม่ให้มันขี้ เพราะไม่ต้องการที่จะดมขี้หรือเหยียบขี้สดๆ ของมัน”
    ๑๖ ธันวา’ ๔๘

     วันนี้ได้ขออนุญาตองค์หลวงปู่
    จัดพิมพ์จัดสร้างหนังสือธรรมะ “คือ ๙๖ ปี ศรีสงฆ์ธำรงศาสน์”
    เพื่อจะส่งไปที่โรงพิมพ์ องค์ท่านว่า “จะมีคนอ่านอยู่หรือหากเขาอ่านให้มันก็ดีได้ประโยชน์ หากไม่มีคนอ่านก็เอาไปชั่งกิโลขาย ผู้ข้าฯ มิใช่พระดีพระดังอะไร คนไม่มาใส่ใจหรอก
    ยุคสมัยนี้ เขาให้ความเคารพนับถือพระผู้บรรลุได้ธรรมะประกาศตนประกาศตัวไปอย่างนั้นอย่างนี้
    ศรัทธาจากชาวบ้าน ข้าฯก็ไม่ต้องการ
    วัตถุลาภสักการะ ข้าฯก็ไม่ต้องการ
    ชื่อเสียง กิตติศัพท์ กิตติคุณ ข้าฯก็ไม่อยากได้
    อยู่ไปนี่ก็รอท่าวันตายเท่านั้น
    โต๋ (เธอ) อยากจะพิมพ์ก็ให้เขาพิมพ์ไปเถ๊อะ เรื่องของผู้ข้าฯ เทศนาว่าไปก็จบแล้วกันไปเท่านั้น ปัญหาว่าอย่าไปขายก็เป็นพอ แจกจ่ายไปให้ผู้คนได้อ่านได้ศึกษาไปตามเรื่องของโลก”
    ๑๖ ธันวา’ ๔๘

    ...................................................................................................................................
    ขอขอบคุณที่มาบทความ : ธ คือครูอาจารย์ในธรรมอันวิสุทธิ์ โอวาทธรรมของหลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
     
  2. datchanee

    datchanee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มกราคม 2009
    โพสต์:
    2,947
    ค่าพลัง:
    +1,276

แชร์หน้านี้

Loading...