บรรยายธรรมในงานปฏิบัติธรรมประจำปี นิสิตประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์ ณ ศาลาปฏิบัติธรรมวัดปรังกาสี

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 23 มกราคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366


    บรรยายธรรมในงานปฏิบัติธรรมประจำปี นิสิตประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์
    มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์
    โดยพระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน

    ณ ศาลาปฏิบัติธรรมวัดปรังกาสี หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
    วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๓๐ น.
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    กราบขอโอกาสพระเถรานุเถระ พระวิปัสสนาจารย์ ตลอดจนกระทั่งพระนิสิตผู้เข้าปฏิบัติธรรมทุกรูป มีพระเดชพระคุณพระครูวรกาญจนโชติ เจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ พระครูกาญจนปัญญาวุฒิ รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ (๑) เป็นต้น เป็นประธานครับ

    วันนี้เป็นการปฏิบัติธรรมของพระนิสิตประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์วันที่สอง อย่างที่กระผม/อาตมภาพได้กล่าวไปเมื่อตอนเพลแล้วว่า พิธีกรรมทำให้พวกเราเป็นพระภิกษุสามเณรได้แค่รูปภายนอก ก็คือ
    เมื่อสงฆ์สวดประกาศรับเข้าสู่หมู่ เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกาในการดำเนินชีวิตแล้ว เราได้แค่เปลือกมาเท่านั้น ซึ่งถ้าหากว่าภาษาทั่ว ๆ ไปเขาเรียกว่าสมมติสงฆ์

    คราวนี้การที่พวกเรามาปฏิบัติธรรม ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นี่คือการที่เราทำอย่างไร จะให้ภายในของเราเป็นพระภิกษุสามเณรที่แท้จริง เช่นเดียวกับเปลือกไปด้วย เราถึงต้องมาปฏิบัติธรรมตามหลักสูตรกันอยู่ที่นี่

    แต่คราวนี้ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น ท่านทั้งหลายจะได้รับคำแนะนำจากพระวิปัสสนาจารย์อยู่แล้ว
    กระผม/อาตมภาพก็เลยจะมาบอกกล่าวเรื่องราวต่าง ๆ ตามแต่จะนึกขึ้นมาได้ ให้พวกท่านทั้งหลายได้รับรู้รับฟัง เผื่อว่าบางอย่างก็เป็นข้อคิด บางอย่างก็เป็นแนวทางในการปฏิบัติ และบางอย่างอาจจะชี้แจงให้กับญาติโยมที่เขาสงสัยข้องใจได้รู้บ้าง

    เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณสองอาทิตย์ที่ผ่านมาก็คือ
    มีคณะสงฆ์อำเภอหนึ่งทางปักษ์ใต้ ออกประกาศเป็นมติคณะสงฆ์อำเภอนั้นของจังหวัดนั้น ห้ามไม่ให้พระภิกษุสามเณรให้พรแก่ญาติโยมหลังจากรับบิณฑบาตแล้ว โดยกล่าวว่าเป็นการผิดพระวินัย ในเมื่อทำผิดพระวินัย เพื่อเอาใจญาติโยมที่ใส่บาตรให้ตนเองขบฉันอยู่ แปลว่าเราฝืนคำของพระพุทธเจ้า คือหาเลี้ยงชีพโดยมิชอบ..!

    เรื่องนี้ถ้าท่านทั้งหลายไม่ได้ศึกษาละเอียด ก็อาจจะเห็นตามไปด้วย แต่กระผม/อาตมภาพนั้นศึกษาเรื่องนี้มาแล้ว จึงขออนุญาตบอกกล่าวให้พวกเราทั้งหลายได้เข้าใจ แล้วขณะเดียวกัน ก็จะได้ไปชี้แจงให้ญาติโยมที่สงสัยข้องใจได้เข้าใจไปด้วย

    คำว่าการยืนให้พรที่ญาติโยมเขาใส่บาตร ผิดพระวินัยนั้น ก็คือผิดในเสขิยวัตร ในธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ ข้อที่ว่า "เมื่อเรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลผู้ที่นั่งอยู่" เหตุเพราะว่าในสมัยพุทธกาลนั้น เขาถือว่าการยืนเป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพ ถ้าท่านทั้งหลายอ่านบรรดาพระสูตรต่าง ๆ จะเห็นว่า แม้กระทั่งพรหม เทวดา เมื่อมากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ "ยืนอยู่ในส่วนที่ควรข้างหนึ่ง" ก็คือยืนในที่เหมาะสม เพราะว่าสมัยนั้นถือว่าการยืนเป็นการแสดงความเคารพ

    คราวนี้เมื่อญาติโยมนั่งรับพร แล้วพระสงฆ์ยืนให้พร คณะสงฆ์อำเภอนั้นจึงถือว่าเป็นการผิดพระวินัย ข้อ "เมื่อเรายืนอยู่ จักไม่แสงธรรมแก่บุคคลผู้ที่นั่งอยู่"
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ตรงนี้เราต้องทำความเข้าใจกันหลายประเด็น ประเด็นแรกก็คือ สมัยพุทธกาลหรือว่าสมัยต่อ ๆ มาอีกระยะหนึ่ง เขาถือว่าการยืนเป็นการแสดงความเคารพ แต่ในสมัยปัจจุบันของเรานั้น การนั่ง โดยเฉพาะนั่งพับเพียบ ถือว่าเป็นการแสดงความเคารพ ดังนั้น..ถ้าภิกษุยืนอยู่ แสดงธรรมแก่บุคคลผู้นั่งอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ถือว่าญาติโยมไม่แสดงความเคารพ

    ข้อต่อไปก็คือ
    การแสดงธรรมกับการให้พรนั้นต่างกันมาก การแสดงธรรมก็คือบอกกล่าวถึงหลักการประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งที่ดี ๆ แก่บุคคลนั้น ๆ ส่วนการให้พร คือการตั้งเจตนาไว้ว่า ขอให้บังเกิดสิ่งที่ดี ๆ ขึ้นในชีวิตของบุคคลนั้น ต่างกันมากนะครับ แล้วคราวนี้คณะสงฆ์อำเภอนั้นพิจารณาจากตรงไหนว่าเป็นการแสดงธรรม ไม่ใช่การให้พร ? ก็คือตรงจุดที่บาลีกล่าวว่า

    อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง บุคคลผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ทรงศีล

    วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ ย่อมเป็นบุคคลผู้เจริญด้วยธรรม ๔ ประการ

    อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ก็คือ มีอายุยืน มีวรรณะสูง มีความสุข มีกำลัง

    อยากจะเรียนถามทุกท่านว่า "แปลออกกี่ท่านครับ ?" นี่ขนาดเราเป็นพระเป็นเณรนะครับ มีกี่ท่านที่แปลออก ? ถ้าหากว่าเรียนบาลี แค่ประโยค ๑ - ๒ ไม่ถึงประโยค ๓ นี่ บางทียังแปลไม่ออกเลยนะครับ
    ในเมื่อแปลไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ ถือว่าเป็นการแสดงธรรมได้ไหมครับ ? ไม่ถือว่าเป็นการแสดงธรรมนะครับ ญาติโยมที่ไม่เข้าใจก็ยกมือสาธุ รับเป็นพรขลัง ๆ ไป เพราะว่าเป็นภาษาบาลีเท่านั้น

    ประการต่อไปก็คือ ผู้ที่ให้พรก็ไม่แน่ว่าจะให้พรบทนี้ทุกครั้ง อย่างกระผม/อาตมภาพเอง ถึงเวลาก็ "อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ" ก็คือ ขอความสำเร็จตามที่เธอปรารถนา จงบังเกิดขึ้นโดยพลัน นั่นใช่การแสดงธรรมไหมครับ ? นี่คือการให้พร หรือไม่ก็ตัดแค่ "อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง" ขอให้เป็นผู้เจริญด้วยอายุ เจริญด้วยวรรณะ มีความสุข มีกำลัง ไม่ใช่การแสดงธรรมนะครับ

    ประการต่อไปครับ พระของเราต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแน่นอน แล้วนอกจากนั้นเรายังมีกฎหมายบ้านเมืองที่ต้องปฏิบัติตาม นี่เป็นคำสั่งพระพุทธเจ้าเลยนะครับ ก็คือ "อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ อนุวตฺติตุํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราให้เธอทั้งหลายคล้อยตามต่อพระราชา" คำว่าพระราชาในโบราณก็คือกฎหมายนะครับ เพราะว่าท่านบอกให้เป็นก็เป็น บอกให้ตายก็ตาย การคล้อยตามพระราชา คือคล้อยตามพระราชประสงค์ คือคล้อยตามกฎหมายนั่นเอง

    ในปัจจุบันของเรานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้กฎหมายผ่านตุลาการ ก็คือพระราชอำนาจของพระองค์แบ่งออกเป็น ด้านการปกครองก็คือผ่านรัฐสภา ด้านกฎหมายบ้านเมืองก็ผ่านทางตุลาการ ในเมื่อ
    เรามีศีลที่ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มีกฎหมายบ้านเมืองที่ต้องประพฤติปฏิบัติตามแล้ว เรายังมีจารีตประเพณีที่ต้องทำตามอีกด้วยนะครับ เพราะว่าส่วนใหญ่เขาทำกันอย่างนั้น จนกลายเป็นข้อยึดถือคือจารีตไปแล้ว

    ในเรื่องของจารีตประเพณี เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างเช่นการแสดงออกซึ่งการเคารพพระ มีตั้งแต่ อัญชลี (พนมมือ) วันทา (น้อมไหว้) อภิวาท (กราบลง) ทำต่างจากนี้เมื่อไร เขาจะว่าเราไม่เคารพ..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เพราะฉะนั้น..ถ้าหากว่ายาติโยมส่วนใหญ่เขารอรับพรอยู่ ถึงเวลาบางคน กระผม/อาตมภาพเห็นนั่งยอง ๆ ถือแก้วน้ำกับขวด รอกรวดน้ำด้วย ถ้าเราไม่ให้ โยมจะคิดอย่างไรครับ ? นี่เป็นจารีตประเพณี คือแนวทางในการปฏิบัติไปแล้ว พระสงฆ์เราจึงต้องคล้อยตามจารีตประเพณีส่วนหนึ่ง ก็คือบิณฑบาตแล้วให้พรตามปกติ เพียงแต่ว่าอย่ายาวมากนัก

    กระผม/อาตมภาพเอง "เซ็งมาก" เลย เวลาเดินบิณฑบาตตามหลังภิกษุณีของโรงเจ เพราะว่าแกจะให้พรยาวมาก เพื่อที่จะเรียกศรัทธาญาติโยม แต่กูกับพระอีกเกือบ ๓๐ กว่ารูป ยืนรอไปเถอะ..! แล้วเขาให้แบบนั้นทุกบ้านครับ ไอ้ที่ทุเรศกว่านั้นก็คือตัวเองคนเดียว แต่ไม่รอพวกเราครับ
    กระผม/อาตมภาพเดินมาถึงปากทางเข้าถนนเทศบาลกลาง เขาเองก็ถึงฝั่งโน้น เขาอาศัยตัวคนเดียวครับ ปาดหน้าแวบ เข้าไปรับบาตรก่อนเราเลย ทำไมตัวคนเดียวดันไม่รอ เพราะตัวเองให้พรยาว ถ้าตามหลังก็ให้จนพอใจไปเลยสิครับ กระผม/อาตมภาพไม่ได้ว่าอะไร

    แล้วอีกข้อหนึ่งก็คือ เราต้องอาศัยการตีความตามพระธรรมวินัยครับ พระพุทธเจ้ามอบมหาปเทส ๔ ให้แก่พวกเรานะครับ จำได้ไหมครับ ? สิ่งใดไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าไม่สมควร สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร อย่างเช่นบางท่านไปอ้างว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามยาบ้า ยาไอซ์ แล้วยาบ้า ยาไอซ์เป็นสิ่งที่ไม่สมควรใช่ไหมครับ ? พิจารณาอย่างไรก็ไม่สมควร สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร ภิกษุสามเณรเสพไม่ได้ครับ

    สิ่งใดที่ไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร อย่างเช่นที่พระองค์อนุญาตให้ในพรรษา ภิกษุสามารถที่จะออกจากวัดได้ไม่เกิน ๗ วัน ก็คือถ้าพ่อป่วย แม่ป่วย ครูบาอาจารย์ป่วย ไปเพื่อรักษาพยาบาลได้ แต่ไปไม่เกิน ๗ วัน เพื่อนสหธรรมิกที่อยู่ต่างวัดกระสันจะสึก ไปเพื่อห้ามปรามได้ ไม่เกิน ๗ วันเหมือนกัน วัดพัง ต้องไปหาทัพพสัมภาระมาเพื่อซ่อมวัด สร้างวัด ได้เหมือนกัน แต่สมัยนี้ไม่ต้องแล้วนะครับ สมัยนี้โทรกริ๊งเดียว ร้านวัสดุก่อสร้างก็วิ่งมาส่งถึงวัดแล้ว ไม่ต้องตะเกียกตะกายไปตัดไม้ ตัดหวาย ชักลากออกจากป่ามา ข้อสุดท้าย ได้รับกิจนิมนต์ไปเพื่อเจริญศรัทธา ไปได้

    แล้วถ้าอยู่ ๆ พระในวัด ชักดิ้นชักงอ ป่วยหนักขึ้นมากลางพรรษา อยู่ในข้ออนุญาตนี้ไหมครับ ? ไม่อยู่นะครับ ในเมื่อไม่อยู่แปลว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่พิจารณาอย่างไรก็ไม่รอดแน่ หลวงพ่อรองอำเภอฯ วัดเขื่อนฯ ของเราอาการหนักเหลือเกิน ห่างออกซิเจนหน่อยเดียวแย่แล้ว ก็ต้องรีบให้ท่านขอสัตตาหะฯ เพื่อที่จะไปรักษาตัว สิ่งที่ไม่สมควร แต่พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร ชัดเจนนะครับ

    คราวนี้ก็มาในเรื่องให้พร สมัยโน้นการยืนแสดงธรรมกับผู้ที่นั่งอยู่ ถือว่าไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้ เพราะว่าเขาไม่ให้ความเคารพ เรามาพูดในประเด็นที่ว่าสมัยนี้การนั่งก็คือการเคารพ ก็น่าจะผ่านไปได้แล้ว แต่ถ้าคนยังสงสัยอีก ก็อ้างมหาปเทส ๔ ได้ครับ สิ่งใดที่ไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร ไม่ต้องไปพูดอีก ๒ หลักนะครับ มหาปเทสมีถึง ๔ หลักด้วยกัน

    ประเด็นนี้ชัดเจนหรือยังครับ ? ถ้าไม่ชัดเจน
    กระผม/อาตมภาพอธิบายเพิ่มให้อีก มีท่านใดสงสัยไหมครับ ? หรือ "พระอาจารย์เล็กพูดชัดเจนมาก แต่ผมจะจำได้หมดหรือเปล่าก็ไม่รู้ ?" ลำบากนะครับ เป็นพระเป็นเณร เราต้องศึกษาให้ชัดเจนที่สุดครับ เพราะถ้าไม่ชัดเจน มีข้อให้เขาถกเถียงได้นี่ลำบากเลยครับ

    ดังนั้น..ที่ท่านทั้งหลายมาเรียน ไม่ว่าจะเป็นประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์ก็ดี ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกก็ตาม เป็นเรื่องที่
    กระผม/อาตมภาพชื่นชมมากครับ เพราะว่าท่านทั้งหลายจะได้ศึกษาในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้ชัดเจน ถึงเวลาญาติโยมเขาสงสัย เราจะได้ชี้แจง บอกกล่าวเขาให้เข้าใจได้ถูกต้อง
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เรื่องต่อไปอยากจะให้พวกท่านทั้งหลายมาคิดถึง หลายท่านน่าจะสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตรได้ เราเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก มีกล่าวถึงเป็นประจำครับ "พระพุทธเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมคือพระโสดาบัน แล้วหลังจากนั้นเมื่อแสดงอนัตตลักขณสูตร พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิได้ดวงตาเห็นธรรม ครั้นเทศน์ปกิณกธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็บรรลุอรหัตผลทั้งหมด" ข้อความนี้ถูกต้องใช่ไหมครับ ? ตามที่พวกเราเรียนมา

    กระผม/อาตมภาพอยากจะให้ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูครับ เมื่อพระพุทธเจ้าเทศน์เสร็จ เกิดอะไรขึ้นครับ ? "ภุมมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ฯลฯ" พระภูมิเจ้าที่ท่านสาธุการขึ้นก่อน พรหมและเทวดาทั้งหลายเมื่อได้ยินแล้ว ทำอย่างไร ? ก็สาธุการด้วยสิครับ จากภุมมเทวดาก็ไล่ขึ้นไปทีละชั้นเลย จาตุมหาราชิกา ตาวติงสา ยามา ตุสิตา นิมมานรตี ปรนิมมิตวสวัตตี ไล่ขึ้นไปถึงปาริสัชชาพรหม ข้ามไปที่เดียวก็คืออสัญญีสัตตาพรหม เพราะว่าท่านไม่รับรู้อะไรภายนอก

    แล้วไปไหนต่อครับ ? อวิหาพรหม อตัปปาพรหม สุทัสสาพรหม สุทัสสีพรหม อกนิฏฐพรหม ๕ ชั้นนี้เป็น "ว่าที่พระอรหันต์" นะครับ ทั้งหมดสาธุการพร้อมเพรียงกัน ถึงขนาดหมื่นโลกธาตุหวั่นไหวไปหมด พูดง่าย ๆ ก็คือโลกนี้ก็แผ่นดินไหว โลกอื่นอีกหมื่นโลกก็แผ่นดินไหว สาธุการกันดังขนาดนั้น..!

    พรหม ๕ ชั้นนี้ อวิหาพรหม อตัปปาพรหม สุทัสสาพรหม สุทัสสีพรหม อกนิฏฐพรหม นั้น ท่านเป็นพระอนาคามีนะครับ ถ้าหาก
    กระผม/อาตมภาพเปรียบเทียบว่าพระโสดาบันกับพระสกทาคามีก็คือผู้ที่จบปริญญาตรี พระอนาคามีคือผู้จบปริญญาโท พระอรหันต์คือผู้จบปริญญาเอก

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายจบปริญญาโทแล้ว เห็นคนจบปริญญาตรีจะตื่นเต้นไหมครับ ? กูเฉยมากเลย..! แล้วทำไมว่าที่พระอรหันต์ทั้ง ๕ ชั้น ถึงได้แตกตื่นถึงขนาดนั้นละครับ ? พระอนาคามีนี่ปกติตายด้านนะครับ ไม่รู้สึกรู้สาอะไร รัก โลภ โกรธ ไม่มีแล้ว แล้วทำไมถึงสาธุการกันจนกระทั่งแผ่นดินไหวขนาดนั้น..!?

    ทะสะสะหัสสี โลกะธาตุ หมื่นโลกธาตุครับ สังกัมปิ สัมปะกัมปิ สัมปะเวธิ สะท้านหวั่นไหว แกว่งไกวไปมาเลย ถ้าท่านจบปริญญาโทแล้ว เห็นคนจบปริญญาตรี จะตื่นเต้นขนาดนั้นไหมครับ ?
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    กระผม/อาตมภาพก็เลยอยากจะนำเสนอว่า "เป็นไปได้ไหมครับ ที่พระอัญญาโกณฑัญญะท่านบรรลุพระอรหันต์เลย ?" เพราะว่าการแปลบาลีนี่ ยุคเราแปลครับ เรามาแยกว่าธัมมจักขุ ดวงตาเห็นธรรม ก็คือพระโสดาบัน ธัมมาภิสมัย คือพระอรหันต์ ผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมนี่เขาเห็นทีละระดับนะครับ ตนเองเข้าถึงระดับไหนก็เรียกว่าเห็นในระดับนั้น เห็นในระดับปุถุชน เห็นในระดับกัลยาณชน เห็นในระดับอริยชนเบื้องต้น เห็นในระดับอริยชนเบื้องกลาง และเห็นในระดับสูงสุดคือพระอรหันต์ เรียกว่าธัมมจักขุ ดวงตาเห็นธรรมได้ทั้งนั้น ฝากไว้ให้ทุกท่านฟุ้งซ่านหน่อยนะครับ

    เพราะ
    กระผม/อาตมภาพอยากจะเชื่อว่า ในการแปลพระไตรปิฎกของเรามีข้อความที่เฝือ ก็คือผิดเพี้ยนไปจากข้อความเดิม ๆ ของพระไตรปิฎก เพราะว่าอันดับแรกเลย บาลีไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ของเราครับ ในเมื่อไม่ใช่ เราจะแปลให้ตรงเป๊ะตามเจตนาเจ้าของภาษาย่อมเป็นไปไม่ได้

    ยกตัวอย่าง คำว่านั่งบนอาสนะครับ ก่อนหน้านี้คำนี้ไม่มีนะครับ นั่งบนอาสนะ อันเกิดจากพระมหาเปรียญท่านหนึ่งเข้าสอบปากเปล่าครับ กรรมการตอนนั้นก็เป็นเจ้าคุณชั้นธรรมท่านหนึ่ง อีกท่านหนึ่งก็คือพระวชิรญาณภิกขุ ก็คือในหลวงรัชกาลที่ ๔ ที่บวชอยู่ สมัยก่อนเขาแปลบาลีปากเปล่าครับ คุณแปลได้ถึงไหนก็ได้ประโยคนั้น บางคนนี่แปลวันเดียวได้ ๙ ประโยคเลย ไม่ต้องมาสอบปีละชั้นแบบนี้

    พอถึงเวลา พระมหารูปนั้นท่านก็แปลครับ "อาสเน นิสินฺโน อันว่านั่งในอาสนะ" เจ้าคุณธรรมฯ ท่านก็พยักหน้าผ่าน แต่พระวชิรญาณภิกขุไม่ให้ผ่านครับ บอกว่า "ถ้านั่งในอาสนะ คุณต้องฉีกผ้าแล้วมุดเข้าไปนั่งข้างใน..!" เดือดร้อนคนแปลสิครับ ต้องแปลใหม่

    "อาสเน นิสินฺโน อันว่านั่งเหนืออาสนะ" พระวชิรญาณภิกขุพยักหน้าให้ผ่าน เจ้าคุณธรรมกิตติบอกว่า "ไม่ได้..นั่งเหนืออาสนะ ตูดต้องลอยพ้นพื้น..!"
     
  7. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    พระรูปนั้นสอบตกเพราะว่ากรรมการทะเลาะกันครับ ท้ายสุดเขาถึงได้มีคำว่านั่งบนอาสนะขึ้นมา ถ้าหากว่าท่านใดเรียนบาลี จะรู้นะครับ วิภัตินี้แปลว่า ใน ใกล้ ที่ ครั้นเมื่อ ในเพราะ เหนือ บน ณ แปลได้ ๘ ความหมายครับ ความหมายใดใกล้เคียงที่สุดก็เอาอันนั้น เห็นหรือยังครับ แค่คำเดียว อาสเน นิสินฺโน ยังเพี้ยนขนาดนี้ แล้วคิดว่าศัพท์อื่น ๆ จะเพี้ยนไหมครับ ? บางทีกระผม/อาตมภาพก็ว่าท่านทั้งหลายก็น่าจะประเภทฟุ้งซ่านน้อยไปหน่อย อ่านแล้วไม่ค่อยคิดเหมือนกระผม/อาตมภาพ

    พระไตรปิฎกบอกว่าพระพุทธเจ้าเดินทางได้วันละ ๑๒๐ โยชน์ โยชน์หนึ่ง ๑๖ กิโลเมตร วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเดินทางได้เกือบ ๒,๐๐๐ กิโลเมตร..! เป็นไปได้ครับ คนที่กำลังสูง ๆ เดินได้ครับ สมัยนี้ ๒,๐๐๐ กิโลเมตรในหนึ่งวันนี่
    กระผม/อาตมภาพว่ามาเซราตีวิ่งไม่ถึงครับ ลงไปนอนข้างทางก่อน..! รถหรูขนาดไหนก็ไปไม่รอดครับ ถนนยังรองรับไม่ได้ แต่กระผม/อาตมภาพดูจากตัวเองแล้วกล้ายืนยัน ตอนไปธุดงค์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จากด้านทุ่งเสือโทน คือ คลิตี้บน ผ่านทินวย ทิคอง ซ่งไท้ ไล่ขึ้นไป ทุ่งพระฤๅษี ห้วยเซซาโหว่ แม่กะสะ ทะลุไปโน่น จะแก ระยะทาง ๙๓ กิโลเมตร กระผม/อาตมภาพเดินวันเดียวถึง..!

    พระน้องชายของ
    กระผม/อาตมภาพ พระครูธรรมธรแสงชัย กนฺตสีโล ตอนนี้ไปธุดงค์อยู่ป่าไหนก็ไม่รู้ ? ท่านถามว่า "หลวงพี่เดินอย่างไรครับ ๙๓ กิโลเมตร เดินวันเดียวถึง ?""มา..มึงมาเดินกับกูเลย..!" ไม่ต้องเสียเวลาไปอธิบาย

    กระผม/อาตมภาพลากท่านตั้งแต่ตี ๓ จากด้านใน บ่ายสามโมงออกมาอยู่ที่ทุ่งเสือโทน อยู่ที่คลิตี้บน เดินไปถึงท่านก็หัวไถพื้นเลยครับ..! กระผม/อาตมภาพต้องเอายาแก้ไข้ ๒ เม็ดใส่ปากให้ ไม่เอาอะไรเลยครับ กูนอนอย่างเดียวเลย ตะคริวจะกิน บางคนถ้ากำลังดีเดินได้ครับ แล้วในบาลีเขาบอกว่า "กำลังของพระพุทธเจ้าเท่ากับช้างแสนเชือก" เพราะฉะนั้น..ไอ้ ๑๒๐ โยชน์นี่กระผม/อาตมภาพมั่นใจว่าพระองค์ท่านเดินได้..!

    แต่..แต่ท่านทั้งหลายครับ พระพุทธเจ้าบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ เสวยวิมุตติสุขอยู่ ๔๙ วัน แล้วไปแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘

    ขึ้น ๑๕ เดือน ๖ กับขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ห่างกันสองเดือน เสวยวิมุตติสุขไปแล้ว ๔๙ วัน เหลือกี่วันครับ ? ๑๑ วัน
    กระผม/อาตมภาพกำลังจะนำเสนออะไรให้ท่านทั้งหลายได้ฟุ้งซ่านอีกแล้ว..!
     
  8. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    พระพุทธเจ้าใช้เวลา ๑๑ วัน เดินทางออกจาสถานที่ตรัสรู้ คือพุทธคยา ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันนี้ใครไปอินเดีย นั่งรถไปครับ ๕ ชั่วโมงก็ถึงแล้ว ระยะทางแค่ ๒๓๐ กิโลเมตร พระพุทธเจ้าท่านเดินไม่ถึงครึ่งวันก็ถึงแน่นอนครับ เพราะว่า ๑๒๐ โยชน์นี่เกือบ ๒,๐๐๐ กิโลเมตร แล้วทำไมระยะทาง ๒๓๐ กิโลเมตรถึงต้องเดินตั้ง ๑๑ วัน ? ท่านทั้งหลายสงสัยบ้างไหมครับ ?

    กระผม/อาตมภาพถามประเด็นแรกก่อน เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ พราหมณ์ ๑๐๘ ท่านที่เป็นสุดยอดฝีมือในยุคนั้น เข้าไปทำนายลักษณะ พราหมณ์ ๑๐๗ ท่านทำนายว่า "เจ้าชายสิทธัตถะนี้ ถ้าหากว่าครองบ้านครองเมืองจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองโลก ถ้าออกบวช จะได้เป็นศาสดาเอกของโลก"

    มีท่านเดียวคือพราหมณ์ที่หนุ่มที่สุด คือ โกณฑัญญพราหมณ์ อายุ ๑๖ ปี จบไตรเพทแล้ว ถ้าเป็นสมัยนี้ก็จบด็อกเตอร์ตั้งแต่อายุ ๑๖ ครับ ฟันธงฉับเลย "สิทธัตถราชกุมารนี้ จักเสด็จออกบรรพชา และบรรลุเป็นศาสดาเอกของโลก..!"

    บรรดาพราหมณ์ทั้งหลายนี่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวเมืองเดียวกันนะครับ มาจากทั้งชมพูทวีปเลย ข่าวนี้จึงกระจายไปทั่ว ชมพูทวีปตอนนั้นประกอบด้วยแคว้นเล็ก ๆ ใหญ่ ๆ มากมากนับไม่ถ้วนนะครับ แต่ว่ามี "มหาชนบท" หรือถ้าเรียกในสมัยนี้ว่าประเทศอยู่ ๑๖ แคว้น มีใครท่องได้ไหมครับ ? รุ่นผมโดนบังคับท่องเลย อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจตี ฯลฯ ไล่ไปเรื่อย รุ่นของท่านไม่โดนบังคับให้ "ท่องแบบ" อย่างนี้เลยจำไม่ได้ ถามหลวงพ่อสมจิตร (พระครูสุจิณบุญกาญจน์) ดู ท่านก็โดนบังคับให้ "ท่องแบบ" มาแล้ว

    เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช ต้องออกจากแคว้นกบิลพัสดุ์ กบิลพัสดุ์เป็นเมืองขึ้นของแคว้นโกสล ของพระเจ้าปเสนทิโกสล แคว้นนี้แคว้นใหญ่ที่สุด ผู้ปกครองแคว้นอื่น ๆ เขาเรียกว่ากษัตริย์บ้าง เรียกว่าราชาบ้าง แต่พระเจ้าปเสนทิโกสล เขาเรียกว่ามหาราชา คือมหาราชอยู่องค์เดียวเลยครับ ถ้าเปรียบสมัยนี้ก็ประมาณประเทศอเมริกาครับ

    แคว้นใหญ่อีกแคว้นหนึ่งก็คือแคว้นมคธของพระเจ้าพิมพิสาร ถ้าเปรียบสมัยนี้
    กระผม/อาตมภาพตีเสียว่าเป็นประเทศรัสเซียก็แล้วกัน เพราะว่ารุ่นของกระผม/อาตมภาพ เขาบังคับดูแผนที่ประเทศอินเดียโบราณ ต้องวาดให้ได้ว่ามหาชนบท ๑๖ แคว้นอยู่ที่ไหนกันบ้าง แคว้นกาสีเผลอเมื่อไรก็จะโดนแคว้นโกสลกลืนไปด้วย แล้วแคว้นอังคะเผลอเมื่อไรก็จะโดนแคว้นมคธผนวกเป็นประเทศเดียวกันไปด้วย..!
     
  9. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อยู่ในแคว้นกาสี แคว้นที่ทอผ้าได้ดีที่สุดในโลกยุคนั้น ปัจจุบันนี้ใครไปอินเดีย เขาก็ยังเอามาขายให้อยู่ทุกวันครับ ไอ้ที่ถึงเวลาเราก็เอามาห่มคลุมกัน จำได้ไหมครับ ? ผ้านุ่ม ๆ หน่อย อุ่นดีด้วย ผืนไม่ใหญ่หรอก ตอนที่อยู่ข้างล่างไปต่อราคากันก็ "เอ้า ๑,๐๐๐ รูปี..๘๐๐ รูปี" "เจ้านายผ้านี้แพงมาก..ทำยากมาก" ในเมื่อไม่ลดเราก็ไม่ซื้อ เดินกลับขึ้นรถไป พอรถจะออก เขาวิ่งมาบอกว่า "๒๐๐ รูปีนะนาย..!" ซื้อของอินเดีย ต้องซื้อตอนรถจะออกนะครับ จะได้ราคาถูกมากเลย อย่าไปซื้อตอนที่ไปเดินดู..แบบนั้นราคาแพงฉิบหาย..!

    ในเมื่อตนเองเป็นเมืองขึ้นของแคว้นโกสล ยังไม่น่าจะถึงประเด็นนี้ เอาเป็นว่าพราหมณ์ ๑๐๘ กระจายข่าวไปทั่วชมพูทวีปว่า สิทธัตถราชกุมาร ถ้าครองราชย์เมื่อไร ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองโลก แปลว่าทุกแคว้นต้องเป็นเมืองขึ้นหมด ถ้าหากว่าเราเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ คิดว่าจะปล่อยให้รอดไปไหมครับ..!? โดยเฉพาะมาจากกบิลพัสดุ์ แคว้นนิดเดียว โดนยึดได้ทุกวัน แคว้นไหนมาก็ใหญ่กว่าทั้งหมด มหาชนบท ๑๖ แคว้น กบิลพัสดุ์กับเทวทหะนี่เมืองเล็กนิดเดียวครับ ประมาณหมู่บ้านเดียว ของแคว้นอื่นอย่างน้อยก็ใหญ่ประมาณ ๓ จังหวัด ๕ จังหวัด..!

    ถ้าคิดว่าอยู่ ๆ เมื่อพระพุทธเจ้าเดินไป มหาปุริสลักษณะถึง ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะอีก ๘๐ ประการ แถมด้วยฉัพพรรณรังสีอีก คนจะรู้ไหมครับว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้า ? รู้สิครับ ในเมื่อรู้ บรรดาจารบุรุษหรือสมัยนี้ก็พวกสายลับ ก็ต้องแจ้งกันไป แล้วคิดว่าทางแคว้นโกสลจะลงมือไหมครับ ?

    ต่อให้ไม่มีใครฆ่าพระพุทธเจ้าได้ อย่างเก่งก็ทำร้ายได้แค่ห้อพระโลหิต แต่คนที่ทำสิครับ กรรมหนักขนาดไหน..!? อย่าลืมนะครับ เทวทัตทำร้ายพระพุทธเจ้าแค่ห้อพระโลหิต ตกอเวจีมหานรกเลยนะครับ..! พระพุทธเจ้าไม่อยากสร้างกรรมกับใครครับ แล้วทำอย่างไรพระองค์ท่านถึงจะไปถึงที่นั่นได้ ?

    พระองค์ท่านทราบอยู่แล้วว่า ถ้าเขาเลื่อมใสด้วยฤทธิ์ ด้วยอำนาจ ไม่ได้เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแท้จริง ย่อมเข้าถึงมรรคผลไม่ได้ ก็ต้องไปแบบมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ๆ สิครับ เดินไปครับ กลางวันเดินไม่ได้ คนเห็นปุ๊บจำได้เลย มหาปุริสลักษณะแบบนี้มีคนเดียวเท่านั้น..!

    หัวค่ำเดินไม่ได้ครับ คนยังเดินทางกลับบ้านกลับช่องกันอยู่ เช้ามืดก็ไม่ได้ครับ เขาเริ่มออกทำมาหากิน เริ่มค้าขาย เริ่มทำไร่ไถนากันแล้ว มีเวลาช่วงดึกอยู่พักเดียว เดินเร็วก็ไม่ได้ คนเขาจะรู้ว่าใช่แน่ แทบจะต้องย่องไปครับ..! เพราะฉะนั้น..ไม่แปลกนะครับว่า ทำไมระยะทางแค่ ๒๓๐ กิโลเมตร พระพุทธเจ้าต้องใช้เวลาถึง ๑๑ วัน ? ยังดีนะครับ พระองค์ท่านเป็นผู้ที่ซื่อตรงมาก ถ้าเป็นกระผม/อาตมภาพนี่ รับประกันว่ากูโกงแน่นอน..! ใช้อภิญญาแวบไปอยู่ใกล้ ๆ แล้วค่อยย่องเดินเข้าไป..!
     
  10. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ตรงทั้งต่อหน้าและลับหลังครับ ยถาวาที ตถาการี พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ยถาการี ตถาวาที ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น..พระองค์ท่านไม่เห็นประโยชน์ในเรื่องของอภิญญา เพราะว่าคนที่เลื่อมใสผิดจุด จะเข้าไม่ถึงมรรคถึงผล พระองค์ท่านจึงต้องยอมทน เหมือนกับหลบ ๆ ซ่อน ๆ เดินทางไป เพราะกลัวคนอื่นจะไปสร้างเวรสร้างกรรมกับพระองค์ท่านด้วย รวมแล้วพระองค์ท่านใช้เวลา ๑๑ วันค่อยไปถึงครับ

    ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มฤคทายวัน ก็คือ สวนกวาง อุทยานกวาง อิสิ คือ พระฤๅษี ปตน คือ ในความตก อิสิปตนมฤคทายวัน = สวนกวางที่ฤๅษีตกลงไป เพราะสถานที่นั้นเป็นที่รื่นรมย์มากครับ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม บรรดาฤๅษีชีไพรสมัยนั้น ใครก็ตามถ้าสามารถเหาะได้ ถึงเวลาก็คงไม่มีใครจะมาเดินเท้าหรอกครับ เขาเหาะไปกัน เห็นที่เหมาะ ๆ ก็ลง คนมาจากมุมไหนก็ตาม เห็นแต่ฤๅษีตกวูบลงไป ๆ หายหมดอยู่ตรงนั้น เขาก็เลยเรียกอิสิปตนครับ ฤๅษีตก คราวนี้มีกวางมากด้วย ก็เลยเป็นมฤค ก็คือกวาง อุทยานหรือว่าป่า ป่าแห่งกวางที่มีฤๅษีตก

    เมื่อพระองค์ท่านไปถึงแล้ว ปัญจวัคคีย์ยังไม่เชื่อนะครับ ก่อนไปมีคนบอกว่าไม่เชื่อเหมือนกันครับ บุคคลแรกที่พบพระพุทธเจ้าจริง ๆ นอกจากตปุสสะกับภัลลิกะมาณพสองพี่น้อง ที่ถวายข้าวสัตตุก้อน-สัตตุผง ยังมีอีกท่านหนึ่งคืออุปกาชีวก ชีวกนี่เป็นนักบวชประเภทหนึ่ง สมัยนั้นเขามีชฎิล มีนิครนถ์ มีชีวก มีโยคี มีฤๅษี สารพัด

    ตอนสมัยที่กระผม/อาตมภาพยังเด็ก ๆ ไอ้ลิเกเวลาร้องอะไรไม่ออกก็อู้ครับ "จะกล่าวฝ่ายพระมุนี ฤๅษี ดาบส อันองค์นักพรต พระสิทธา" มารดามันเถอะ..! คำเดียวกันหมดเลย พระมุนีก็ฤๅษี ดาบสก็ฤๅษี นักพรตก็ฤๅษี พระสิทธาก็ฤๅษี เขาตั้งใจอู้ครับ นึกอะไรไม่ออก ร้องไม่ได้ก็ถ่วงเวลาเอาไว้ก่อน พวกนี้ปฏิภาณดีนะครับ เห็นแล้วยังชอบใจ

    กระผม/อาตมภาพก็เพิ่งจะรู้ว่าท้าวสามลมีลูกสาว ๗ คน เรารู้จักแต่นางรจนาคนเดียว..ใช่ไหมครับ ? สมัยก่อนนี่เขาแกล้งกัน ฆ่ากันถึงตายเลยนะครับ..! เอาตายกันหน้าเวที ประเภทเรียกว่าตายจากสังคม ตัวโกงก็อยากเล่นเป็นพระเอกบ้างครับ พระเอกเป็นนายโรง ตัวโกงก็ไม่ได้เป็นพระเอกสักที เลยตั้งใจจะหักหน้านายโรงครับ ไปกระซิบบอกเสนา เสนาถึงเวลาก็เข้าไปทูลถวายท้าวสามล

    ท้าวสามลเรียก "เฮ้ย..เสนา ไปตามพระธิดาทั้ง ๗ องค์มาหน่อยสิ" เสนาก็ "ถวายบังคมพระเจ้าข้า ขอพระบรมราชานุญาตทูลถาม กระหม่อมรู้จักแต่พระธิดาองค์เล็กชื่อนางรจนา อีก ๖ พระองค์ชื่ออะไรบ้างพระเจ้าข้า ?" ตายห่..เลยมึง ตำราไม่มี เขาหักหน้ากันขนาดนี้เลยนะครับ

    ปรากฏว่านายโรงเขาเก่งครับ เขาถึงได้เป็นนายโรง เขาบอกว่า "ถ้าเอ็งไม่รู้จัก จงฟังเอาไว้ ลูกสาวทั้ง ๗ ของข้ามีนามว่ามะลิวัลย์ จันทนา สารภี ยี่สุ่นเทศ เกศเมือง เรืองยศ รจนา ถ้ามึงจำไม่หมด กูจะประหารซะ..!"
    กระผม/อาตมภาพก็เพิ่งจะรู้ว่าลูกสาวท้าวสามลมีชื่อแบบนี้ ถ้านายลิเกไม่บอก กระผม/อาตมภาพก็ไม่รู้จริง ๆ..!
     
  11. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เพราะฉะนั้น..เรื่องทั้งหลายเหล่านี้พอตกมาถึงยุคสมัยที่ข่าวคราวที่ไปเร็วมาก ในเรื่องที่ว่าพระพุทธเจ้าท่าน ถ้าหากว่าออกมหาภิเนษกรมณ์จะเป็นศาสดาเอกของโลก ถ้าหากว่าครองราชย์ จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองโลก คนเราไม่ได้หมดกิเลสนี่ครับ ก็ต้องคิดว่า เออ..ถ้ากูเป็นศาสดาเอกของโลก กูอาจจะอยากจะปกครองโลกก็ได้ เพราะฉะนั้น..เป็นไปได้ก็คือ มีโอกาสต้องเก็บซะ..!

    คราวนี้เมื่อมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พอเข้าไป ปัญจวัคคีย์ไม่ได้เลื่อมใสนะครับ มองเห็นแต่ไกล "โน่น..เจ้าชายสิทธัตถะมาแล้ว น่าจะทนลำบากไม่ไหว บุคคลผู้มักมากขนาดนี้ เมื่อเลิกทรมานกาย หันมาเสวยกระยาหารเหมือนเดิม ทนลำบากในการหาอาหารก็ไม่ได้ ไม่มีคนคอยปรนนิบัติรับใช้ จึงเดินทางมาเพื่อให้พวกเราปรนนิบัติรับใช้กัน""

    ดังนั้น..ปัญจวัคคีย์ก็เลยทำอาณัติสัญญาณว่า อันดับแรก อย่าลุกรับ ลุกรับคืออะไรครับ ? ยืนครับ ให้ความเคารพ ตรงกับที่เมื่อครู่บอกไหมครับว่าเขาเคารพด้วยการยืน อย่าปูอาสนะให้ อย่าตั้งน้ำใช้น้ำฉันให้ เท่านั้นยังไม่พอครับ ยังใช้คำพูดลักษณะว่า "อาวุโส"

    คำว่า อาวุโส สมัยนี้ความหมายเพี้ยนไปครับ กลายเป็นคนแก่ แต่สมัยนั้นไม่ใช่นะครับ สมัยนั้นเขาแปลว่าผู้มีอายุ สำหรับผู้ใหญ่เรียกเด็ก สมัยนี้ก็ประมาณว่า "เฮ้ย..ไอ้หนุ่ม" ส่วนเด็กเรียกผู้ใหญ่ ภันเต ท่านผู้เจริญ มีใครไปอินโดนีเซียมาบ้างครับ ? คนอินโดนีเซียเจอพระก็ "บันเต บันเต" ก็ "ภันเต" นั่นแหละครับ

    พระพุทธเจ้าท่านเมื่อเห็นในลักษณะนั้นก็บอกว่า "อย่าได้กล่าวเช่นนั้น" ก็คือย่าเรียกท่านในลักษณะอย่างนั้น "เราบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว" ปัญจวัคคีย์ยังไม่เชื่อนะครับ เจ้าชายสิทธัตถะต้องตรัสซ้ำ

    คราวนี้คนทั้งหลายเหล่านี้ได้สติว่า ก่อนหน้านี้เจ้าชายสิทธัตถะไม่เคยพูดอย่างนี้มาก่อนเลยว่าเราบรรลุแล้ว เพราะฉะนั้น..ก็เลยตั้งใจฟังธรรม จึงเกิดปฐมเทศนาครับ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

    กระผม/อาตมภาพมีคำถามสำหรับท่านทั้งหลายต่อไปว่า โกณฑัญญพราหมณ์บวชตอนอายุเท่าไรครับ ? ในบรรดาพราหมณ์ ๑๐๘ ที่เข้าไปทำนายลักษณะเจ้าชายสิทธัตถะ เหลืออยู่รูปเดียวคือโกณฑัญญพราหมณ์ เพราะว่าตอนนั้นอายุ ๑๖ ปี ที่เหลือนี่แก่หนวดจะลากดินทั้งนั้นครับ..!

    แต่ว่าหหลายท่านในจำนวนเหล่านั้น ก็เลื่อมใสโกณฑัญญพราหมณ์หนุ่ม เพราะว่าเก่งโคตร..! อายุ ๑๖ มึงจบไตรเพทเท่ากับกูแล้ว กูเรียนมาเกือบ ๑๐๐ ปี ก็เลยสั่งลูกสั่งหลานไว้ว่า "ถ้าหากว่าโกณฑัญญพราหมณ์ออกบวช ให้ตามไปบวชด้วย" เพราะฉะนั้น..ท่านวัปปะ ท่านภัททิยะ ท่านมหานามะ ท่านอัสสชิ ๔ ท่านนี้เป็นลูกหลานของบรรดาพราหมณ์ ๑๐๘ ครับ ในพราหมณ์ ๑๐๘ มีตัวจริงเสียงจริง
    ที่เหลืออยู่รูปเดียว ก็คือโกณฑัญญพราหมณ์
     
  12. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ตอนที่โกณฑัญญพราหมณ์ทำนายลักษณะ ตอนนั้นท่านอายุ ๑๖ ปี เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชตอนอายุเท่าไรครับ ? ๒๙ ปี แล้วพระองค์ท่านออกแสวงหาโมกขธรรมอยู่อีก ๖ ปี รวมแล้ว ๓๕ ปี จึงได้ไปเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ต้องเอา ๑๖ + ๓๕ เราจะได้อายุของท่านโกณฑัญญะโดยประมาณ ว่าตอนที่ท่านบวชก็อายุประมาณ ๕๑ ปีแล้ว มีแต่มากกว่า ไม่มีน้อยกว่าแน่นอน เพราะเราไม่รู้ว่าท่านจบไตรเพทตอนอายุ ๑๖ กี่เดือน กี่ปี ชื่อเสียงถึงจะกึกก้องขนาดพระเจ้าแผ่นดินต้องนิมนต์เข้าวัง เราก็ตีเสียว่าท่านอายุ ๑๖ ก็แล้วกัน

    เรื่องประเด็นพวกนี้ บางทีเราเองเก็บเอาไว้คุยกับญาติโยมสนุก ๆ ก็ได้ กาเลน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมํคลมุตฺตมํ ในมงคลสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า การสนทนาธรรมในเวลาอันควร เป็นอุดมมงคลอย่างยิ่ง เป็นมงคลตรงไหนครับ ? เอาเป็นว่า ๕๐ กว่านาทีที่ผ่านมาตรงนี้ กระผม/อาตมภาพนั่งคุยแล้วท่านทั้งหลายนั่งฟัง มีใครฟุ้งซ่านไป รัก โลภ โกรธ หลง ไหมครับ ? ไม่มีนะครับ แล้วถ้าให้นั่งภาวนา ๕๐ กว่านาทีนี่ อื้อหือ..ด่าชาวบ้านไปหลายยกแล้วครับ
    กระผม/อาตมภาพเองนี่ประจำเลยครับ "จะนั่งไปถึงไหนวะ ไอ้ห่..เมื่อยฉิบหายเลย..!"

    นี่แหละครับคือประโยชน์ของการสนทนาธรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ในวิมุตตายตนสูตรว่า บุคคลจะบรรลุธรรมได้ในขณะที่ฟังธรรม ในขณะที่สนทนาธรรม ในขณะที่สาธยายธรรม ในขณะที่แสดงธรรม ในขณะที่พิจารณาวิปัสสนาญาณ การฟังธรรมบรรลุได้นะครับ เพราะว่าสภาพจิตปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง ถ้ากำลังใจเราตัดสินใจโชะลงตรงนั้น ก็ได้เลยครับ

    ดังนั้น..ท่านทั้งหลายไอ้ที่เรามา "นั่งหนอ" "ยืนหนอ" เป็นแค่รูปแบบที่ให้คนอื่นเขาเห็น ส่วนที่จะได้หรือไม่ได้จริง ๆ อยู่ในใจของเรา ถ้าท่านทั้งหลายถึงเวลา "ซ้ายย่างหนอ" ยังไม่ทันจะหนอเลย กูลงไปตั้งนานแล้ว "ขวาย่างหนอ" เขาเพิ่งจะย่าง กูลงไปแล้ว ถ้าอย่างนี้ แสดงว่าสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัวนะครับ ก็มีอยู่อย่างเดียวก็คือจะทำให้ลำบากเดือดร้อนทีหลัง เพราะว่าทำแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ จนเราอาจจะไปพูดตำหนิก็ได้ ว่าการปฏิบัติธรรมไม่เห็นได้อะไรเลย โอ้โห..โทษหนักมากนะครับ..! ไอ้ที่ไม่ได้อะไรเลย ไม่ใช่การปฏิบัติธรรมไม่ดีนะครับ แต่เราปฏิบัติผิดวิธี ในเมื่อเราปฏิบัติผิดวิธี เราไม่ได้ดี จะไปโทษคนอื่นไม่ได้ครับ ต้องโทษตัวเองเท่านั้น

    ดังนั้น..ถ้าหากว่าเราฟังธรรมอยู่ สภาพจิตสงบระงับ ครูบาอาจารย์ หรือว่าพระท่านเทศน์ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เราเห็นว่าทำได้ เราตัดสินใจเดี๋ยวนั้นเลยว่าเราจะทำตามนี้ โอกาสได้มรรคผลมาทันทีเลยครับ ปัจจุบันนี้ที่ไม่ค่อยได้มรรคไม่ค่อยได้ผล เพราะเราขาดการตัดสินใจตรงนี้ครับ
     
  13. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เหลืออีกประมาณ ๑๐ นาที มาประเด็นต่อไปในสังคม ท่านทั้งหลายเห็นข่าวไหมครับ ? ที่พระญี่ปุ่นไปกราบ AI แล้วเขาก็มานั่งเถียงกันว่า "เป็นคนแท้ ๆ ไปกราบหุ่นยนต์ทำไม ?" ท่านทั้งหลายมีความเห็นว่าอย่างไรบ้างครับ ? สมมติว่ากระผม/อาตมภาพกำลังบันทึกเสียงอยู่ ถึงเวลาเขาไม่ได้เห็นตัว คนฟังก็ฟังแต่เสียง แล้วพอถึงเวลาเขายกมือสาธุ กระผม/อาตมภาพว่าแบบนี้แย่กว่า AI อีกนะครับ เพราะว่าอย่างน้อย ๆ นั่นยังเป็นหุ่น เป็นตัว ๆ ให้เห็นอยู่ตรงหน้า

    เพราะว่าอันดับแรกเลย ท่านทั้งหลายต้องนึกถึงพระอุปคุตเถระ ที่ไปช่วยพระเจ้าอโศกมหาราชฉลองพระมหาเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ทั่วชมพูทวีป ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ไปจับพญามารมัดเอาไว้ จนพญามารละทิฏฐิ พระอุปคุตเถระถึงไปปล่อย แล้วบอกกับพญามารว่า ท่านเองไม่เคยเห็นกายเนื้อของพระพุทธเจ้าเลย ก็คือเห็นแต่ธรรมกาย หรือว่าเห็นแต่กายทิพย์ กายนิพพาน พญามารทันพระพุทธเจ้า ช่วยแสดงกายเนื้อพระพุทธเจ้าให้เห็นหน่อยได้ไหม ?

    พญามารบอกว่าได้ แต่ขออย่างหนึ่งว่า "พระคุณเจ้าอย่ากราบกระผมนะครับ" เพราะว่าท่านเป็นพญามาร พระอุปคุตเป็นพระอรหันต์ ระดับชั้นสูงกว่ากันเยอะมาก พระอุปคุตก็รับปาก พญามารเดินลับไปหลังภูเขา แล้วออกมาใหม่ พร้อมด้วยกายที่เป็นพระพุทธเจ้าที่ถึงพร้อมด้วยฉัพพรรณรังสี มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ เดินพุทธลีลาออกมา พร้อมกับอัครสาวกซ้ายขวา และหมู่มหาสาวกตามมาเป็นพรวนเลย พญามารคนเดียวนะครับ แปลงได้เยอะขนาดนั้น..!

    พระอุปคุตเห็น กราบลงกับพื้นเลยครับ พญามารตกใจ รีบคืนร่างด่วนจี๋ บอกว่า "พระคุณเจ้ากราบแบบนี้ กระผมบาปกรรมแย่เลย" พระอุปคุตบอกว่า ไม่มีบาปกับพญามารหรอก เพราะว่าท่านไม่ได้กราบพญามาร แต่กราบพระพุทธเจ้า ดังนั้น..การพระที่ท่านกราบ AI
    กระผม/อาตมภาพว่าท่านเข้าถึงพระพุทธเจ้ามากกว่าไอ้คนที่วิจารณ์เยอะมาก เพราะว่าท่านกราบพระพุทธ ซึ่งกำลังแสดงธรรมอยู่ ไม่ได้กราบแค่หุ่นยนต์
     
  14. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,379
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,528
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ก็ลักษณะเดียวกันครับ ถ้าหากว่าต่อไปกาลข้างหน้า กระผม/อาตมภาพเสียชีวิตไปแล้ว ญาติโยมเขาเอาเสียงที่คุยกับพวกท่านทั้งหลายอยู่ ไปทำหุ่นขี้ผึ้งขึ้นมา แล้วเปิดเสียงที่บันทึกเอาไว้ แล้วโยมก็กราบหุ่นขี้ผึ้งนั้น ท่านว่าได้บุญไหมครับ ? ได้เหมือนกับครับ เพราะว่าเป็นอนุสติ คือการระลึกถึง ก็คือ สังฆานุสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ เสียงอย่างเดียวเป็นธัมมานุสติ ระลึกถึงพระธรรม ถ้าไปนึกว่าธรรมะนี้ ท่านรับมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นพุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย

    ถ้าให้พวกเราทั้งหลายค่อย ๆ มานั่งภาวนา "พุทโธ ธัมโม สังโฆ" "พุทโธ ธัมโม สังโฆ" กว่าที่จิตจะสงบ ยากมากครับ แต่ท่านทั้งหลายมาฟังอยู่ตรงนี้ สายตาเห็นภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระประธาน ตัวของท่านเองก็ดี พระวิปัสสนาจารย์ก็ดี กระผม/อาตมภาพเองก็ตาม ก็คือพระสงฆ์ สิ่งที่กำลังกล่าวอยู่คือส่วนหนึ่งเป็นพระธรรม

    เท่ากับว่าเราปฏิบัติในกรรมฐาน ๓ กองใหญ่มาเป็นชั่วโมงแล้ว ไม่ฟุ้งซ่านด้วย ถ้าหากว่าท่านคิดตาม นึกถึงพระพุทธเจ้าก็เป็นพุทธานุสติ นึกถึงพระอุปคุตเถระ เป็นสังฆานุสติ กำลังใจเราเกาะแต่สิ่งที่ดี ๆ ทั้งนั้น ในเมื่อเป็นเช่นนั้น คำว่า กาเลน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมํคลมุตฺตมํ การฟังธรรมในกาลอันสมควร จึงเป็นอุดมมงคลด้วยประการฉะนี้ หมดเวลาแล้วครับ

    ท้ายสุดนี้ กระผม/อาตมภาพขออ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธัมมะรัตนะ และสังฆะรัตนะ เป็นประธาน ตลอดจนกระทั่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านทั้งหลายเคารพนับถือ และคุณงามความดีที่ท่านทั้งหลายได้กระทำในการปฏิบัติธรรมประจำปีครั้งนี้ จงมารวมกันเป็นตบะเดชะ พลวปัจจัย ดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายประสบแต่ความสุขความเจริญ ทั้งทางโลกและทางธรรม แม้ว่าประสงค์จำนงหมายสิ่งหนึ่งประการใด ที่เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรมวินัยแล้ว ขอให้ความปรารถนาของท่านทั้งหลาย จงสำเร็จ สัมฤทธิ์ผล สมดังมโนรถปรารถนาจงทุกประการด้วยเทอญ

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    บรรยายธรรมในงานปฏิบัติธรรมประจำปี
    นิสิตประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์
    ณ ศาลาปฏิบัติธรรมวัดปรังกาสี
    วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...