บันทึกธรรมภาษิต (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย siamblogza, 3 ตุลาคม 2012.

  1. siamblogza

    siamblogza เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    398
    ค่าพลัง:
    +2,590
    [​IMG]

    บันทึกธรรมภาษิต
    ของ พระราชนิโรธรังสีฯ


    (๑) ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ถ้ายังปฏิบัติไม่ถึงจิตถึงใจ ยังได้ชื่อว่าปฏิบัติไม่ถึงหลักธรรมของจริง เพราะธรรมทั้งหลายเกิดจากจิตจากใจอย่างเดียว

    (๒) ความคิดนึกปรุงแต่ง สัญญาอารมณ์ทั้งปวง หรือสรรพกิเลสทั้งปวงเกิดจาก จิต นี้ทั้งนั้น เมื่อไม่มีสติควบคุมจิต แต่ตรงกันข้าม เมื่อมีสติควบคุมแล้วย่อมให้เกิดปัญญา

    (๓) ผู้ไม่รู้เท่าเข้าใจที่ตั้งที่เกิดของ ขันธ์ห้า ขันธ์สี่ ขันธ์หนึ่ง ขันธ์ทั้งสามย่อมถูกกิเลสกลืนกินหรือครอบงำได้ นักปราชญ์ย่อมรู้เท่าเข้าใจที่ตั้งที่เกิดของขันธ์ห้า ขันธ์สี่ ขันธ์หนึ่ง แล้วท่านย่อมพ้นจากการครอบงำของมันได้

    ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
    ขันธ์สี่ ได้แก่ อรูปฌาน
    ขันธ์หนึ่ง ได้แก่ สัญญาเวทยิตนิโรธ

    (๔) กายคตาสติ ย่อมเป็นที่ตั้งของกัมมัฏฐานทั้งปวง กายอันนี้ถึงมันจะมีหรือไม่มี มันก็ถืออยู่ดีๆ นี้แหละ ยิ่งปฏิสนธิ ก็ยิ่งถือใหญ่ เจริญสมถะและวิปัสสนา ถ้าทิ้งกายเสียแล้ว จะไม่มีหลักเห็นชัดแจ้งในกัมมัฏฐานทั้งปวง

    (๕) ผู้ใดไม่เห็นทุกข์ ผู้นั้นคือผู้ไม่เห็นธรรม ผู้ได้รับทุกข์ จนเหลือที่จะอดกลั้นแล้ว เมื่อหวนกลับเข้ามาถึงตัวนั่นแลจึงจะรู้จักว่าทุกข์นั้นแลคือ ธรรม ผู้เกลียดทุกข์เป็นผู้แพ้ ผู้พิจารณาทุกข์ คือ ผู้เจริญในทางธรรม

    (๖) เมื่อสติตามกำหนดจิตแล้ว จิตจะไม่สับส่ายไปมา กิเลสทั้งหมดจะระงับได้ด้วย สติ ตัวเดียวเท่านี้

    (๗) เมื่อสติตามกำหนดจิต รู้อยู่ทุกอิริยาบถ จิตจะค่อยรวมเข้าเป็นหนึ่ง นั่นคือ ใจ ซึ่งไม่มีการส่งส่ายไปมา มีแต่ผู้รู้เฉยๆ หรือเรียกว่าธาตุรู้ ก็ได้

    (๘) ธาตุรู้เป็นผู้อยู่กลางๆ ไม่มีอาการใดๆ ทั้งหมด ฉะนั้นธาตุรู้จึงไม่มีความรู้สึกดีชั่วอะไร ธาตุรู้นี้ต้องมี สัญญา สังขาร อุปาทาน เข้าไปสัมปยุตจึงจะเกิดอาการต่างๆ ขึ้นมาได้ เช่น สังขารปรุงแต่งดีชั่วหยาบละเอียดต่างๆ จึงเกิดขึ้นมา เมื่อสังขารปรุงแต่งแล้ว ปัญญาเข้าไปตรึกตรองในสิ่งนั้นๆ จึงถอดเอาความดี ความชั่วออกมาตั้งไว้ให้ปรากฏเห็นชัดว่าอันนี้ดีอันนี้ชั่ว

    (๙) นักปฏิบัติจิตทั้งหลาย จะปฏิบัติจิตเก่งที่สุดได้เพียงภวังคุปัจเฉทะเท่านั้น หรืออัปปนาฌาน มิฉะนั้นก็อัปปนาสมาธิ ทั้งสามอย่างนี้เป็นอาการจิตรวมคล้ายๆ กัน แต่มีอารมณ์เป็นเครื่องอยู่ต่างกันและรวมก็ต่างกัน ท่านจึงเรียกต่างกัน

    ตัวอย่างเช่น ภวังคุปัจเฉทะ นั้น จิตจะรวมเป็นหนึ่งตัดอารมณ์ภายนอกทั้งปวงหมด แล้วก็ตั้งอยู่เป็นหนึ่งในที่เดียว จะไม่มีอารมณ์ใดๆ ทั้งหมดนอกจากอารมณ์ของภวังค์ อารมณ์ของของภวังค์นี้คล้ายๆ กับไปอยู่ในที่แจ้งแห่งหนึ่ง มีความรู้สึกแต่ในที่แจ้งนั้นจะเกิดนิมิตมีอาการต่างๆ เช่น เห็นรูปก็จะเพลินในรูปนั้น เห็นแสงสว่าง ก็จะเพลินในแสงสว่างนั้น เมื่อจิตถอนจากภวังคุปัจเฉทะแล้ว จะไม่รู้เรื่องอะไรทั้งหมด หรือรู้ก็เป็นลางๆ

    อัปปนาฌาน เพ่งจิตอย่างเดียวจนจิตรวมเข้าเป็นหนึ่งเหมือนกันแล้วไม่รู้อะไรทั้งหมด เรียกว่า อัปปนาฌาน

    อัปปนาสมาธินั้น เหมือนกับอัปปนาฌาน แต่รวมเข้าไปแล้วมีสติพิจารณาอารมณ์ของสมาธินั้นอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

    (๑๐) ผู้แสวงหาความสุข อยู่บนกองทุกข์แล้ว จะไม่เจอะความสุขเลยเด็ดขาด แต่ค้นหาความสุขในความทุกข์แล้ว ทุกข์นั้นจะหายไป

    (๑๑) ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้ว ต้องกลับเข้ามาหาตัวเอง ถ้าเป็นโลกแล้วจะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา

    (๑๒) ถ้าจะชนะโลกได้ ต้องเอาชนะตนเองเสียก่อน ความชนะโลกย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ไม่ชนะตนเอง

    (๑๓) สันติสุขเป็นความชนะของผู้ชนะโลกนี้ ผู้มีอำนาจดับโลกแต่หาสันติไม่ได้ ได้ชื่อว่า ผู้แพ้อยู่ร่ำไป

    (๑๔) หากความเข้าใจของหมู่ชนใด คณะใดก็ตาม หรือในโลกนี้ทั้งหมดเห็นว่า ผู้จะเอาชนะโลกนี้ได้ต้องชนะตนเองเสียก่อนด้วยสันติวิธี เขาหาว่า นั่นเป็นความโง่ที่สุดของโลกนิยม หรือผู้มีแสนยานุภาพอันเกรียงไกร อย่างนี้แล้วสัจธรรมก็ควรเก็บไว้ในตู้ล็อคกุญแจเสียดีกว่า
     
  2. siamblogza

    siamblogza เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    398
    ค่าพลัง:
    +2,590
    [​IMG]
    (๑๕) เกิดเป็นคน เหมือนกับเกิดมาอยู่ในทางสี่แพร่ง จะทำดีและทำชั่ว ไปสวรรค์หรือตกนรก ก็คนเรานี้ทำทั้งนั้น ไปเป็นมนุษย์ และเปรตก็คนเรานี้ทำเอาทั้งนั้น มนุษย์คนเรานี้จะดีก็แสนดีที่สุด จะชั่วก็แสนชั่วที่สุด ฉะนั้น จงเลือกเอาแต่สิ่งที่ดีที่สุด เพราะยากที่จะได้เกิดมาเป็นคนเช่นนี้

    (๑๖) เราทำภาวนารู้จักว่า จิตคืออะไร ใจคืออะไร เท่านี้ก็นับว่าดีที่สุดกว่าคนที่ไม่ได้ภาวนาเสียเลย หรือภาวนาแล้วแต่ไม่ได้เห็นจิตคืออะไร ใจคืออะไร ฉะนั้น จึงควรภูมิใจที่ตนภาวนาเห็นนั้น และควรรักษาภาวนานั้นให้มั่นคงต่อไป

    (๑๗) ภาวนาไม่ควรดิ้นรน ทะเยอทะยานอยากในสิ่งที่ตนยังไม่ได้ ไม่เห็นควรทำไปเรื่อยๆ เฉยๆ ถ้าอยากเห็นอยากเป็น ย่อมไม่เห็นไม่เป็นเสียอีกเวลาจะเห็นจะเป็น มันเห็นมันเป็นของมันเองต่างหาก พ้นจากอดีต อนาคตแล้ว จะเป็นจะเห็น

    (๑๘) ในกระบวนศีลทั้งหลาย มี ศีล ๕ ศีล ๘ เป็นต้น ผู้ไม่สามารถจะรักษา ศีลให้ครบถ้วนได้ จะรักษาเอาข้อเดียว ข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ แต่ต้องรักษาให้จริงๆ ทำความพอใจเลื่อมใสในศีลของตนอย่างยิ่ง ถึงแม้จะไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ก็ยังพอให้สำเร็จประโยชน์ได้ ดีกว่าส่วนมากผู้ไปสมาทานศีลในวัดทุกวันพระ แต่รักษาข้อเดียวก็ไม่ได้ เมื่อรักษาข้อหนึ่งได้แล้ว ข้ออื่นๆ ก็จงทำเช่นเดียวกัน ศีล ๕ จึงจะครบบริบูรณ์

    (๑๙) พระพุทธศาสนานี้ สอนถึงแก่นแท้ ถึงของจริงตามความเป็นจริง จึงเป็นคำสอนที่ถูกต้อง ตามหลักของเป็นจริง

    (๒๐) พระพุทธศาสนาสอน มีความมุ่งหมายตรงนี้ คือ อบรมใจให้เข้าถึงความสงบเป็นหนึ่ง เหตุนั้นพระพุทธศาสนาจึงเป็นเครื่องช่วยชีวิตหรือชุบชีวิตของคนเราให้มีคุณค่า ให้ได้รับความสุขสงบที่แท้จริง

    (๒๑) ผู้จะรักษาศีลให้ครบสมบูรณ์บริบูรณ์ได้ ต้องเป็นผู้มีปัญญาเสียก่อน ปัญญาที่ว่านี้คือ ปัญญาพื้นฐานนี้แหละ คือเชื่อว่าเรา ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ด้วยตนเองแล้ว จึงจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ เมื่อรักษาศีลให้บริบูรณ์สมบูรณ์ ไม่ขาดไม่วิ่นแล้ว จิตใจก็สงบเยือกเย็นเป็นเอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เรียกว่า สมาธิ เมื่ออบรมสมาธินี้ให้แก่กล้า แล้วจึงจะเกิดปัญญาวิปัสสนา พิจารณารูปนามเห็นเป็นพระไตรลักษณ์ แจ่มแจ้งได้ ผู้ไม่มีศีลเป็นพื้นฐานสมาธิจะไม่เกิดหรือตั้งอยู่ไม่ได้ สมาธิมีแล้ว ปัญญาวิปัสสนาจึงจะเกิด ผู้ไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐานจะปรารถนาวิปัสสนา ก็เหมือนกับ ดักไซบนอากาศ ฉะนั้น

    (๒๒) ปริยัติ เป็นหลักสำคัญเบื้องต้น จะได้จดจำเอาไปฝึกฝนอบรมให้ถูกทาง ปฏิบัติ คือ เรากระทำตาม ทำถูกต้องแล้วบรรจุผลเป็น ปฏิเวธ คือ ความปลอดโปร่งเบิกบาน รู้ขึ้นได้ด้วยตนเอง เรียกว่า พุทโธ

    (๒๓) บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่เบื่อในการทำทาน คนพาลเท่านั้นเห็นว่าทานไม่มีผล

    (๒๔) ทาน มิใช่ของแลกเปลี่ยนซื้อขายตามธรรมดา ทานอาจให้ผลอานิสงส์มาก หรือน้อยกว่าที่เราให้ไปนั้นก็ได้ เพราะผลอานิสงส์ของทานย่อมเกิดจากเจตนา ถ้าเจตนาแรงกล้า อานิสงส์ก็มาก ถ้าเจตนามีน้อย อานิสงส์ก็น้อย

    (๒๕) ศีล คือ ความตั้งจิตเจตนางดเว้นจากความผิดในข้อนั้นๆ จะศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ก็ตาม เรียกว่า ศีล ศีลมิใช่เป็นของเอามารักษาไว้เป็นข้อๆ หรือเป็นตัวๆ เหมือนกับรักษาสุนัข หรือแมว ฉะนั้น ศีลขาดแล้วต่อได้ (สมาทาน) เหมือนกับผ้าที่ทะลุเล็กๆ น้อยๆ ก็ชุนเสีย หรือขาดมากๆ ก็เอามาปะใหม่เสีย เมื่อขาดมากหลายหน ปะไม่ไหวก็ทิ้งไปเป็นผ้าเช็ดเท้า

    (๒๖) ใครจะอบรมกัมมัฏฐาน ด้วยลัทธิพิธี หรืออาจารย์ใดๆ ก็ตาม ความประสงค์ก็เพื่อให้จิตรวมเข้าถึงความสงบเป็นหนึ่งเหมือนกันทั้งนั้น จึงจะถูกตามหลักพระพุทธศาสนา ถ้าไปนั่งตรึกนอนตรอง ตามอารมณ์ของจิตอยู่จนเพลิน เมื่อย้อนกลับมาหาตัวของตน จะไม่ได้อะไรเลย การปฏิบัติภาวนาก็ไร้ค่า

    (๒๗) สรรพวิชาในโลกนี้ทั้งหมด จะศึกษาเล่าเรียนไปเท่าไรๆ ก็ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ เพราะเรียนเพื่อ ก่อ ส่วนวิชาในพุทธศาสนานั้น ศึกษาเล่าเรียนและฝึกฝนจบได้ เมื่อศึกษาเล่าเรียนและฝึกฝนเพื่อ ความดับ เข้าถึง ใจ ถึงแม้จะศึกษาเล่าเรียนหรือฝึกฝนในศาสนานี้ก็ตาม แต่ศึกษาเพื่อความก่อแล้ว ก็ไม่ถูกต้องตามประสงค์ของพุทธศาสนา

    (๒๘) การพิจารณาเห็นกายนี้ให้เป็นอสุภะเป็นต้น ก็เป็นเพียงเพื่อละนิวรณ์ ๕ เท่านั้น พิจารณาเห็นความตายเป็นอารมณ์ ก็เพียงเพื่อละอารมณ์ที่ข้องอยู่ภายในใจบางอย่างเท่านั้น การพิจารณาเห็นกายเป็นสักแต่ว่าธาตุ ขันธ์ อายตนะ เป็นต้น ก็เพื่อปล่อยวางอารมณ์บางอย่างเหมือนกัน ตราบใดถ้ายังไม่เข้าไปรู้ตัวผู้พิจารณา พร้อมด้วยการมีจิตปล่อยวาง แลเหตุผลในเรื่องนั้นแล้ว จิตถอนออกจากอารมณ์นั้นแล้ว เข้ามาตั้งอยู่เป็นเอกัคคตารมณ์อันเดียว โดยมีพระไตรลักษณญาณเป็นเครื่องดำเนินแล้วความรู้แลความเป็นไปอันนั้น ได้ชื่อว่ายังไม่มั่นคงพอ
     
  3. siamblogza

    siamblogza เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    398
    ค่าพลัง:
    +2,590
    [​IMG]
    (๒๙) ผู้ปฏิบัติเบื้องต้นโดยตั้งสติกำหนดจิต พิจารณาอารมณ์อันใดอันหนึ่งเพื่อให้จิตเข้าถึงฌาน สมาธิ ชื่อว่า ปฏิบัติชอบด้วยเหตุผลแท้ แต่ถ้ามาทำเช่นนั้นด้วยคิดว่า จะให้จิตรวมสนิทจนไม่มีความรู้สึกอะไรเสียเลยเพราะกลัวต่ออารมณ์ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว ชักจะเลยขอบเขตไปสักหน่อย

    ถ้าคิดว่าเราทำเช่นนั้นได้แล้ว จนได้ความรู้ และเกิดวิชชา (อภิญญา) ในสรรพสิ่งทั้งปวงแล้ว อย่าไปว่าแต่ความรู้สึกเช่นนั้นจะเกิดเลย แม้แต่ฌานสมาธิที่กำลังทำอยู่นั้น ก็จะไม่ปรากฏเสียซ้ำไป แลได้ชื่อว่าปฏิบัติเอาสังขารออกนอกหน้า และเป็นการออกนอกกรอบเสียแล้ว

    (๓๐) ขันธ์ อายตนะ ต้องใช้มากเป็นพิเศษ ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออก หากสติไม่กล้า ปัญญาไม่พอ ไม่เห็นโทษในอุปาทานเบื่อหน่ายในสังขาร ปัญญาไม่รู้เท่าต่อเหตุการณ์เสมอแล้ว ก็จะมีแต่ทำให้จิตมืดมิดมึนเมา เหมือนนักดื่มสุรา ดื่มหนักเข้าจนทำรสเผ็ดร้อนกลายเป็นรสอร่อย หวานไปเลย ยิ่งดื่มก็ยิ่งแต่จะหวาน (มีดมีแต่จะใช้หาเวลาลับแลขัดไม่ได้ มีดนั้นก็มีแต่ทื่อเข้าทุกที ผลที่สุดก็ใช้ไม่ได้ต้องเป็นของทิ้ง) ฉะนั้น หากขันธ์อายตนะ ยังมีอยู่ตราบใด สติและปัญญาจำต้องใช้อยู่ตราบนั้น และใช้มากขึ้นโดยลำดับ

    (๓๑) ถ้าจิตยังไม่เข้าถึงสมาธิ ฌาน แลละนิวรณ์ไม่ได้แล้ว ถึงแม้จะพิจารณาธรรมใดๆ ในภูมินั้นๆ ก็จะทำให้ผู้นั้นรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมนั้นๆ ไม่ได้ การพิจารณาธรรมในภูมินั้นๆ อยู่เรียกว่า เป็นผู้เห็นธรรม แต่ยังละกิเลสนั้นๆ ไม่ได้อยู่ก็มี ละได้แล้วแต่ยังไม่รู้วิธีที่ตนละไปแล้วนั้นก็มี ได้ชื่อว่า ยังไม่มีหลักเพียงพอ อาจเสื่อมได้ภายหลัง การพิจารณาค้นคว้า ในธรรมนั้นๆ ให้ชำนาญจึงมีประโยชน์แก่การปฏิบัติ

    (๓๒) ปริยัติธรรม ย่อมแสดงถึงสัจธรรมโดยแท้ แต่แสดงโดยภาษาสำนวนโวหาร ส่วน ปฏิเวธธรรม นั้น แสดงโดยภาษาของใจ (ปจฺจตฺตํ) รู้กันได้ในจำพวกที่ได้ปฏิเวธธรรมด้วยกันเท่านั้น ปฏิบัติธรรม ได้แก่ การรักษากาย วาจา ใจ มีการรักษาศีล และระวังสังวรณ์อินทรีย์ เป็นต้น จนการพิจารณาธรรม ก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรม

    (๓๓) การอบรมกาย ได้แก่ สมถะ ละราคะ
    การอบรมใจ ได้แก่ วิปัสสนา ละอวิชชา

    (๓๔) คนจน (คือนักปฏิบัติ) ผู้มีอาหารพร่องอยู่เป็นนิตย์ เมื่อมาพิจารณาถึงความตายแล้ว จิตใจกล้าหาญยอมสละเพื่อคุณวิเศษ ส่วนผู้อุดมด้วยทรัพย์สฤงคาร เมื่อมาพิจารณาถึงความตายแล้ว จิตใจเศร้าหมอง ทุกข์ครองใจ ไม่มีกำลังใจและกาย ฉะนั้น คติของคนทั้งสองนี้จึงไม่เหมือนกัน ในเมื่อตายแล้ว

    (๓๕) ตามพุทธดำรัสตรัสว่า สติปัฏฐานภาวนา ถ้าผู้มาตั้งใจภาวนาให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว ทรงรับรองว่า อย่างช้าเจ็ดปีต้องได้บรรลุอรหันต์ ถ้าไม่ถึงอรหันต์ก็เป็นพระอนาคามี อย่างเร็วก็เจ็ดวัน แต่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย แม้แต่เพียงเจ็ดวันก็ไม่มีใครกล้าบำเพ็ญตนนั้น ฉะนั้น พุทธวจนะคำสอนของพระองค์ จึงยังมีธรรมเป็นโมฆะ แก่ผู้ไม่มีศรัทธายอมทำตามอยู่โดยมาก

    (๓๖) โลกธรรมเปรียบเหมือนคลื่นบนอากาศ ผู้เข้าไปยึดเปรียบเหมือน เปิดเครื่องวิทยุ ชนผู้เห็นโทษ เบื่อหน่ายในโลกธรรมว่า เป็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว ไม่เปิดเครื่องรับ (คือไม่เข้าไปยึด) โลกธรรมก็จะไม่ทำอันตราย แก่ผู้นั้นได้เลย

    เมื่อเอาสติไปตั้งไว้ใน ขันธ์ ๕ แต่ละขันธ์อย่างมั่นคงแล้ว ก็จะปล่อยวางอุปาทานขันธ์ได้โดยเด็ดขาด แล้วจะรู้ซึ่งสัจจะของจริงในขันธ์นั้นๆ ทั่วจักรวาลโลก

    (๓๗) คำว่า ละกิเลสตาย" ทำลายกิเลสดับนั้น หมายความว่า ผู้มาพิจารณาเห็นโทษของกิเลสทั้งปวง พร้อมทั้งความเกิดขึ้นของกิเลสแลวิธีป้องกันกิเลส มิให้เกิดขึ้นภายในใจของตนแล้ว อยู่ด้วยความมีสติมั่นคง ไม่เข้าไปยึดเอาเรื่องทั้งหมดมาเป็นอารมณ์จึงเรียกว่า ไม่สะดุ้ง หวาดกลัว เหมือนกับผู้มาเห็นกองไฟพร้อมทั้งความเกิดขึ้นของไฟนั้นๆ แล้วรู้จักวิธีรักษาตัวมิให้ไฟถูกต้องอีก (ซึ่งไฟเคยไหม้เผารนมาแล้ว) มิใช่ไปดับไฟทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในโลกให้ดับหมด แล้วจึงจะเรียกว่า ไฟดับ ความร้อนไม่มี

    (๓๘) สันทิฏฐิธรรมมิได้เกี่ยวข้องด้วยโอกาสโลก โอกาสธาตุ แลกาลเวลา นาที เดือน ปี ต่างก็เป็นไปตามหน้าที่ของตนๆ หากใครหลงไปยึดเอาสิ่งเหล่านั้นมาประสมกันเข้าแล้ว โลกกับธรรม ก็จะกลายเป็นของยุ่งกันไปหมดธรรมที่เป็นของจริง ของแท้ก็จะอับเฉาไปหมด
     
  4. siamblogza

    siamblogza เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    398
    ค่าพลัง:
    +2,590
    [​IMG]
    (๓๙) ปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน เหมือนลูกโซ่วงกลม เมื่อผู้มีปัญญามาพิจารณารู้เท่า เห็นโทษในธรรมส่วนใดส่วนหนึ่ง มาตัดส่วนต่อของธรรมนั้นๆ ย่อมมีการกระเพื่อมส่วนเบื้องต้น เบื้องปลายบ้างแล้ว ก็เป็นอันตัดไปได้หมดทั้งสาย เช่น อาศัยตัณหาแล้วละตัณหา ตัณหาต้องเกี่ยวมาจากผัสสะเวทนาเบื้องต้น เนื่องไปถึงอุปาทานภพเบื้องปลาย แต่เมื่อละตัณหาตัวเดียวแล้ว ก็เป็นอันละทั้งหมด อุปาทานในที่อื่นๆ เช่น กามุปาทาน เป็นต้น ก็ต้องมีสายเช่นเดียวกันกับตัณหา อุปาทาน ในที่นี้เหมือนกัน

    (๔๐) สัญญา สังขาร เกิดในสามภูมิ คือ กามาพจร ๑ รูปาพจร ๑ อรูปาพจร ๑ ผู้มีจิตตกอยู่ในภูมินั้นๆ ก็จะต้องใช้สัญญา สังขาร ให้เป็นไปในภูมินั้นๆ ของตน เมื่อพ้นจากภูมิสามนั้นแล้ว สัญญา สังขาร ก็จะเป็นสักแต่ว่าเป็นเครื่องแสดงความฉลาดของปัญญา เท่านั้น

    (๔๑) ในเมื่ออาวุธ (คำสอนของพระพุทธเจ้า) ก็มีอยู่ ปัญญาที่จะจับอาวุธก็มีอยู่ ภัย คือ กองทุกข์ ก็เผชิญเฉพาะหน้าอยู่แล้ว กำลัง คือ ความพยายามก็มีอยู่ ไฉนหนอ สัตว์ผู้อันภัยคุกคามแล้ว จึงไม่ลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อเอาชนะกันนา เรื่องนี้นั้นผู้อันภัยคุกคามแล้ว วิเวกอยู่บนเขาบันเทิงผู้เดียว (เมื่อสัตว์ทั้งหลาย เห็นกงจักรเป็นดอกบัวแล้ว จึงควรถอนสมอได้แล้ว)

    เมื่อมาระลึกถึงปฏิปทา ที่เรากระทำอยู่ว่า พระอริยสาวกแต่ก่อนๆ ที่ท่านได้สำเร็จมรรคผลนิพพานไปแล้วมากต่อมาก ก็ทำเช่นเราทำอยู่นี้ คือ มี ศีล สมาธิ ปัญญา แลข้อปฏิบัติเช่นเดียวกันแล้วก็เพลินดีเหมือนกัน

    (๔๒) จิตที่ยังไม่เข้าถึงภูมิควรจะรับธรรม จะพิจารณาธรรมก็ไม่เห็นสัจธรรมที่แท้จริงได้

    จิตที่จะเข้าถึงภูมิควรจะรับธรรมนั้น เข้าได้ ๒ อาการ คือ

    ๑. เมื่อยกอุบายหรือบทธรรมกรรมฐานใดขึ้นมาพิจารณาอยู่ จิตนั้นค่อยอ่อนละเอียดจนเข้าเป็นสมาธิ แล้วละภูมิเดิมที่เป็นโลกๆ เสียแล้วจนเข้าสนิทติดอยู่กับอุบาย หรือบทธรรมกรรมฐานนั้นๆ แล้วเกิดปีติ ปัสสัทธิสุข ต่อนั้นไปแม้จะพิจารณาอะไรๆ ก็ชัดและเกิดธรรมสังเวชใจในสิ่งนั้นๆ แบบนี้การพิจารณามักแฝงไปในภูมิเดิม (โลก) (ถ้าสติปัญญาไม่ดี มักจะหลงส่งออกนอกโดยไม่รู้ตัว) เรียกว่า เดินมรรคมีสมาธิเป็นหลัก

    ๒. เมื่อยกอุบายหรือบทธรรมกรรมฐานใดขึ้นมาพิจารณาอยู่ จิตตอนนั้นจะมีความกล้าหาญยอมสละเสียทุกๆ อย่าง แล้วเข้าไปหาความสงบสุขโดยส่วนเดียว (ฌาน) จนจิตละภูมิเดิม (โลก) อย่างพลิกโลกเลย แล้วจะเกิดปีติ ปัสสัทธิ สุข เอกัคคตา จนถึงอุเบกขาเป็นที่สุด โดยสรุปแล้วโดยมากจิตจะไปหยุดชมฌานของตนอยู่เพียงแค่นั้น วิธีนี้พิจารณาอะไรไม่ค่อยได้ นอกจากจะชมฌานของตนเท่านั้น ถ้าผู้มีปัญญาแยบคาย ถอยจิตออกมาพิจารณาพระไตรลักษณ์ก็เดินมรรคได้

    สรุปแล้ว ถ้าจิตยังไม่เข้าถึงภูมิควรจะรับธรรม คือ เป็น สมาธิ ฌาน ข้ามจากอารมณ์ที่มีรสชาติเป็นโลกๆ อยู่ก่อนแล้ว จะนำเอาธรรมกรรมฐานอันใดมาพิจารณา ก็เป็นเรื่องของโลกๆ อยู่เช่นเคย จะข้ามโลกไม่ได้เลยเด็ดขาด

    ปีติ ปัสสัทธิ สุข อันเกิดจากฌาน มีรสชาติเหมือนกับคนชมหนังที่ดีๆ
    ปีติ ปัสสัทธิ สุข อันเกิดจากฌาน มีรสชาติเหมือนกับคนนอนฝันได้ไปชมเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ ฉะนั้น หากไม่ใช้ปัญญาพิจารณาองค์พระไตรลักษณญาณเข้าประกอบแล้วไปไม่รอดแน่

    (๔๓) ความรู้ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจสติ สมาธิ เฉพาะ ณ ที่แห่งเดียว โดยปราศจากสังขาร สัญญาใดๆ ทั้งหมด เป็นความรู้ที่ชำแหละกิเลสได้อย่างแท้จริง แต่เมื่อความรู้เช่นนั้นยังไม่บังเกิดขึ้น ก็ให้ดำรงอยู่ในสติ สมาธิให้เป็นเอกัคคตาจนมั่นคงแล้วอย่าได้ไปคำนึงความรู้เช่นนั้นว่า จะบังเกิดขึ้นหรือไม่ "ต้นไม้ที่แก่แล้ว ย่อมผลิดอกออกผลเอง โดยกาลอันควร" ฉันใดก็ฉันนั้นแล

    (๔๔) ผู้มีนิสัยสองนี้เป็นคู่กันปัญญาย่อมเจริญ คือ ราคะจริตบวกกับโทสะจริต ราคะจริต เปรียบเหมือนนายพลพาเที่ยวตระเวนไปในภพของตน จนจบหมดทุกซอกทุกมุม โทสะจริต เปรียบเหมือนมิตรที่ดีช่วยป้องกันเพื่อน ในเมื่อเพื่อนประมาทแล้ว แลสามารถดึงเอาเพื่อนให้มาอยู่ในอำนาจของตนได้ในบางกรณี แต่โทสะมักจะเกิดมานะ แลความเห็นเข้าด้วยก็อาจผิดได้ ถ้าไม่อาศัยปัญญาช่วยขัดเกลา ให้มานะอ่อนเบานิ่มนวล จนทำให้ทิฏฐิความเห็นที่เข้าด้วยเป็นสัมมาทิฏฐิไป จึงจะสำเร็จประโยชน์ตามต้องการ

    ฉะนั้น จริตทั้งสองนี้ เมื่อรวมกันทำกิจของตนตามหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้มีการพิจารณาโดยแยบคาย มิใช่เป็นไปเพื่อความเลวแต่อย่างเดียวก็หาไม่

    (๔๕) นามที่เรียกว่า สัตว์ แปลว่า ผู้ยังข้องอยู่ มนุษย์ก็นับเนื่องอยู่ในจำพวกเดียวกัน คำว่า ข้อง หมายถึงข้องอยู่ในเครื่องลวงใหญ่ๆ คือ กิเลส ๓ กองนี้ ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ

    (๔๖) ภารกิจในโลกนี้ ใครจะเกิดมากี่ชาติๆ แล้ว ทำให้จบให้สิ้นเป็นไม่มี ทำไปยังไม่ทันเสร็จ ล้วนแล้วแต่ตายก่อนทั้งนั้น จึงเป็นของน่าเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง ผู้เห็นโทษดั่งนั้นแล้ว มาดำเนินอัฏฐังคิกมรรคกิจเป็นไปภายใน ใจ เท่านั้น จึงจะจบสิ้นทุกข์ได้
     

แชร์หน้านี้

Loading...