บุญไม่มีขาย-ปฏิบัติได้ทุกคน!..

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย โลกุตตระ, 26 กรกฎาคม 2010.

  1. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624

    โดยเปลว สีเงิน


    ...วันนี้-วันจันทร์ที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘/๘ ปีขาล เป็นวันจันทร์เพ็ญปุรณมี "วันอาสาฬหบูชา" ตามปฏิทิน "อาจารย์เทพ สาริกบุตร" บอกว่า ในระยะ ๓-๔ วันนี้ มักมีอุบัติเหตุ ภัยพิบัติทางอากาศ และภัยธรรมชาติ ทั้งมักเกิดอาชญากรรม หรือการก่อความไม่สงบร้ายแรง

    แล้วท่านตั้งใจไว้ในดวงจิตจะไปฟังเทศน์-ฟังธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาพรุ่งนี้กันหรือยังล่ะครับ ถ้ายัง ก็พอมีเวลาให้ตระเตรียม
    ตระเตรียมอะไร?

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง, กูสะลัสสูปะสัมปะทา การทำความดีให้ถึงพร้อม, สะจิตตะปริโยทะปะนัง การทำใจให้แจ่มใสอยู่เหนือกิเลส, เอตัง พุทธานะสาสะสัง นี้คือคำสอนของพระพุทธศาสนา

    ตระเตรียม ปฏิบัติกาย-ปฏิบัติวาจา-ปฏิบัติใจ ให้เป็นไปตามคำสอนพระพุทธองค์นี้แหละ ประเสริฐสุดแล้ว วัดเราอาจไม่ได้ไป แต่เราสามารถสร้างวัดไว้ที่ใจเราได้

    ในวันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง เราอาจเคร่งครัดกับตัวเองไม่ได้ตลอด ก็เอาลล่ะ ใน ๓๖๕ วัน มีซักวัน-สองวัน ประตูสวรรค์ก็แย้มรอแล้ว หรือไม่ได้ก็เอาซักชั่วโมง เทพเทวาก็สาธุการแล้ว แต่ถ้าชั่วโมงก็ยังไม่ได้ เอาซัก ๕ นาที นี่ก็เป็น "นาทีทอง" แท้จริง แต่ถ้า ๕ นาทียังไม่ได้

    "นาทีเดียว" ก็เลี้ยวพ้นนรกแล้ว...ท่านเอ๋ย!

    แต่ถ้าแม้นาทีเดียว สติที่ถึงพร้อมก็ยังไม่สามารถน้อมถึงได้ ไม่เป็นไร เอาแค่ "ช้างกระดิกหู-งูแลบลิ้น" ก็ยังดี หมายความว่า ในวันหนึ่งๆ ขอให้เรามีสติสำรวจตัว-สำรวจใจ...ซักแว้บ

    แว้บเดียวนั้น พลันยกเราพ้นภาวะ "สัตว์นรก" สู่ภาวะมนุษย์ "ผู้มีใจฝึกแล้วประเสริฐ" ทันที!

    ก็อยากจะย้ำ ทำบุญ-ทำงาน ควักเงินควักทองถวายวัด-ถวายพระนั้น ทำไปเถิด แต่ขอให้เข้าใจให้ตรงว่า นี่คือจาคะ การบริจาคทานมีแล้วจัดสรรส่วนแบ่งปันเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ไม่ควรเข้าใจว่า ที่เอาเงินถวายพระ-ถวายวัดนั้นหวังเอาบุญ เพื่อให้บุญบันดาลสิ่งต่างๆ ได้ตามปรารถนา

    บุญไม่มีขายหรอกครับ ถึงใครจะเอาเงินหมื่นล้าน-แสนล้านไปซื้อบุญ ก็ไม่ได้บุญ สู้ยาจกเข็ญใจ ไม่มีสตางค์ แต่มีสติอยู่กับตัวไม่ได้ แค่ไม่อิจฉาใคร ไม่ใส่ร้ายใคร ไม่เบียดเบียนใคร มีแต่ความปรารถนาดีให้กับทุกคน ประคองจิตให้แจ่มใสร่าเริงอยู่ในศีล-ในธรรม และแค่เด็ดดอกหญ้าริมทางซักดอกถวายพระด้วยศรัทธาที่ถึงพร้อม

    บุญก็ห้อมล้อมเป็นกำแพงแก้ว โดยไม่ต้องใช้ธนบัตรเติมบุญ!
    พูดถึงตรงนี้ จำได้ว่าเมื่อเดือนก่อน มีโอกาสได้สนทนากับ "คุณประเสริฐ กิติเรียงลาภ" สัตตบุรุษท่านหนึ่ง ที่สระบุรี ท่านก็ปรารภประเด็นนี้ คือท่านว่าพี่น้องคนไทยเรานั้นประเสริฐนัก มั่นคงในพระพุทธศาสนา การบุญ-การทานหนักแน่น-มั่นคง เงินร้อย เงินพัน หรือเงินหมื่นเพื่อบุญ "พร้อมควัก" ด้วยเต็มใจ
    แต่ถ้าบอกให้ " ปฏิบัติธรรม" ซึ่งเป็นทางได้บุญแท้แน่นอน มีแต่คนอิดเอื้อน ด้วยข้ออ้างร้อยแปด-พันเก้า!?

    มักอ้างว่าไม่มีเวลาบ้าง ทำไม่ได้บ้าง มีภาระทางชีวิตประจำวันบ้าง โอกาสยังไม่อำนวยบ้าง สรุปก็คือ ไทยพุทธวันนี้ ชอบวิธี "เอาเงินซื้อบุญ" มากกว่าวิธี "ปฏิบัติธรรม" เพื่อให้บุญประหนึ่งบัวเบิกอรุณขึ้นตรงกลางจิต!

    ตรงข้ามกับ "คนต่างชาติ" ที่เริ่มหันเข้าอาศัยคำสอนพระพุทธองค์เป็นกุญแจไขปัญหาชีวิตกันมากขึ้น ทั้งในตะวันตก และตะวันออก เขาไม่ต้องการบุญ
    แต่ในธุรกิจการงาน ในชีวิตประจำวัน ในชีวิตครอบครัว "ความรู้ท่วมหัว" แต่บางปัญหา "ไม่มีปัญญา" เป็นกุญแจไข จึงต้องมาแสวงหากุญแจ "ธรรมจากโอษฐ์พระพุทธองค์" และด้วยปัญญารู้ตำราของเขา

    พอมาสัมผัสแก่นแท้แห่งธรรมก็พลันเกิด "ปัญญารู้แจ้ง" ในสัจจะแห่งโลกและชีวิต นั่นคือ ต่างชาติที่เข้าหาพุทธ เขาเข้าหาแบบ
    "เจาะถึงไข่แดง" โดยตรง!

    ต่างกับคนไทย เข้าถึงพระพุทธศาสนา ในลักษณะแกลบ-ขี้เถ้าที่พอกเปลือกไข่ภายนอก พุทธเกาะเปลือกเป็น "ไข่เค็ม" เท่านั้น คือเกาะติดอยู่กับพิธีกรรม เอาบุญมาซื้อ-ขาย เอาพุทธมนต์มาปลุกเสกเป็นสินค้า ไม่สนใจที่จะเข้าถึงไข่แดง คือธรรมที่นำสุขแท้จริงมาให้ แม้กระทั่งไข่ขาวก็ยังไม่สนใจเพราะเหตุนี้ ต่างชาติ-ต่างภาษาเขาจึงมองประเทศไทยผ่าน "ความขัดแย้งในตัวมันเอง" ด้วยความงุนงง-สงสัยว่า

    "พุทธศาสนา เป็นศาสนาของคนมีปัญญา แต่ทำไมเมืองไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธศาสนา จึงมีปัญหาขัดแย้ง-รุนแรง ขนาดคนบ้านป่า-เมืองเถื่อนที่ไร้ศาสนา เขายังไม่ขัดแย้งตะแคงชาติด้วยเรื่องโง่ๆ อย่างไทย"

    "คนไทย" ซึ่งเป็นคนพุทธ มีปัญญาแน่หรือ?! ……ฯลฯ


    *************************************************************************************
    ที่มา คัดลอกบางส่วนมาจาก หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์คนปลายซอย ประจำวันที่ 26 กรกฏาคม 2553
     
  2. น้ำดี1

    น้ำดี1 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    13,402
    ค่าพลัง:
    +43,432
    ศาสนาพุทธทำให้ฝรั่งมังค่าเข้ามาบวชมาแล้วหลายราย แต่ทำไมคนไทยแท้ ๆ นับถือพุทธศาสนาแท้ ๆ กลับไม่เห็นคุณค่ากันบ้างก็ไม่รู้ ทั้งที่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ดีที่สุดในโลกอยู่แล้ว กลับมีบางคนหลงกระแสไปกับอารยธรรมตะวันตกจนไม่ลืมหูลืมตา แปลกมาก ๆ
     
  3. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,610
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    ขอตอบคุณเปลวสีเงินนะครับว่า

    ที่เขียนมานั้น คุณเปลว มองแค่คนกลุ่มเล็กครับ ไม่ได้มองคนกลุ่มใหญ่

    ที่บอกว่า คนไทยชอบควักเงินทำบุญ แต่ไม่ชอบปฏิบัตินั้น

    เป็นเรื่องปกติครับ เพราะพุทธศาสนาสอนเรื่อง "ทาน ศีล และ ภาวนา"

    คนที่ทานบารมี ซึ่งเป็น 1 ในบารมี 10 ยังไม่เต็มในระดับต้น
    ก็มักจะยังไม่ให้ความสำคัญกับการถือศีล และการภาวนาครับ
    (แนะนำให้ศึกษาเรื่องบารมีต้น อุปบารมี และปรมัตถบารมี ประกอบ)

    ว่าแต่ว่า การสรุปโดยใช้อุปมานเกี่ยวกับคนไทย อาจสร้างกรรมโดยไม่รู้ตัวนะครับ เพราะในทางธรรมนั้น พระท่านสอนให้พิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง มากกว่า พิจารณาข้อบกพร่องของผู้อื่น

    โมทนา
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 กรกฎาคม 2010
  4. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624
    อ้างอิง komodo
    "คนที่ทานบารมี ซึ่งเป็น 1 ในบารมี 10 ยังไม่เต็มในระดับต้น
    ก็มักจะยังไม่ให้ความสำคัญกับการถือศีล และการภาวนาครับ"

    ต้องขออภัยด้วยนะ ผมไม่เห็นด้วยกับการสรุปอย่างนี้
    เพราะชาวพุทธต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน จะอ้างว่ายังทำทาน
    ไม่เต็มในระดับต้น แล้วไม่ให้ความสำคัญกับการถือศีล
    ไม่ใช่แน่ครับ ...
    ถ้าความหมายตามที่ท่านว่าแสดงว่าทำทานไปเรื่อยๆ
    ถ้ายังไม่เต็มในระดับต้น อาจจะผิดศีลก็ได้ เพราะไม่ให้
    ความสำคัญกับการถือศีล ..มันฟังดูแปลกๆนะท่าน

    อนุโมทนาครับ

    หมายเหตุ สำหรับการภาวนาผมเห็นด้วย เพราะต้อง
    มีทาน ศีล เป็นเบื้องต้นจึงจะปฏิบัติภาวนาได้ผล..
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 กรกฎาคม 2010
  5. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624
    ศีลบารมีปฏิบัติ

    ..ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปขอให้ท่านทั้งหลายรวบรวมกำลังใจของท่าน ตั้งใสดับการศึกษาใน บารมี 10 เพราะว่า บารมี 10 นี้ มีความสำคัญมาก

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเจริญพระกรรมฐานมาสักกี่แสนปีแล้วก็ตาม ถ้าหากว่า บารมี 10 ของท่านยังไม่ครบถ้วน คำว่า พระอริยเจ้า ย่อมไม่มีกับท่าน
    ในที่นี้ก็จะต้องเข้าใจคำว่า บารมี เสียก่อน
    คำว่า บารมี นี่ หมายถึง กำลังใจ หมายความว่าท่านทั้งหลาย ต้องมีกำลังใจทรงความดีทั้ง 10 ประการไว้ในใจครบถ้วนทุกอย่างไม่บกพร่อง
    คำว่า ทรงความดี นี่ไม่ได้หมายความว่าจำได้ ต้องทำได้ให้จิตทรงอารมณ์เป็นปกติ

    ขอทบทวนอีกนิดหนึ่ง บารมี 10 ประการก็คือ
    (1) ทานบารมี ได้แก่ การให้ทาน
    (2) ศีลบารมี คือ การทรงศีลให้บริสุทธิ์
    (3) เนกขัมมบารมี คือ การถือบวช
    (4) ปัญญาบารมี คือ ทรงปัญญารู้เท่าทันตามสภาวะตามความเป็นจริงคือ อริยสัจ 4
    (5) วิริยบารมี คือ มีความเพียรไม่ท้อถอย
    (6) ขันติบารมี คือ มีความอดทน
    (7) สัจจบารมี คือ มีความจริงใจ
    (8) อธิษฐานบารมี คือ มีความตั้งใจ
    (9) เมตตาบารมี คือ มีจิตใจเมตตาปรานี มีความรักในคนและและสัตว์เป็นปกติ
    (10) อุเบกขาบารมี ได้แก่ การวางเฉย
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดจบก็คือ อุเบกขาบารมี อุเบกขาบารมี ในที่นี้ได้แก่ สังขารุเปกขาญาณ

    สำหรับ ทานบารมี ได้พูดกับบรรดาท่านทั้งหลายมาแล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายคงเข้าใจพอ ได้โปรดทราบนะ คำพูดทุกอย่างที่ผม พูดไปทุกคำ ผมถือว่าพวกท่านเข้าใจดีพอ และก็ทำได้ด้วย เพราะว่าถ้าหากว่าเราทำไม่ได้ เราก็จะอยู่ในเขตของพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์อะไร

    เพราะในเขตของพระพุทธศาสนานั้นต้องการคนดี ไม่ต้องการคนเลว คำว่าดีในพระพุทธศาสนาคือ ต้องทรง บารมี 10 ครบถ้วน สำหรับวันนี้จะพูดถึง ศีลบารมี คำว่า ศีล แปลว่า ปกติ ถ้าเราเป็นฆราวาส ถ้าหากว่าเป็นฆราวาสปกติของปุถุชนก็ดี หมายถึงเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ผู้เข้าถึงไตรสรณาคมน์
    กัลยาณชน หมายถึง ผู้ทรงฌาน

    อริยชน 2 ขั้น หมายถึง พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี อย่างนี้ต้องมีศีล 5 เป็นปกติ
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีต้องทรงศีล 5 เป็นปกติ จึงจะชื่อว่าพระโสดาบันกับสกิทาคามี

    สำหรับอารมณ์อารมณ์จิตถ้าเข้าถึงพระอนาคามี ตอนที่เข้าถึงพระอนาคามีนี่จะมีศีล 8 เป็นปกติ เพราะว่าพระอนาคามีเป็นผู้ตัด กามฉันทะ กับ ปฏิฆะ อารมณ์แห่งกามารมณ์ย่อมไม่มีในพระอริยเจ้าระยะนี้ คือ ว่าพระอนาคามี
    สำหรับพระอรหันต์ก็ไม่ต้องพูดกัน

    สำหรับพระภิกษุสามเณรก็เหมือนกัน ภิกษุสามเณรมีศีลคงที่ แต่มีจิตดีขึ้นเพราะทรงศีลบริสุทธิ์

    เป็นอันว่า ศีล แปลว่า ปกติ หมายความว่าคนทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ถ้าไม่ต้องการขาดทุน หมายถึงว่าเราเกิดมาเป็นคนแล้ว ถ้าตายจากคนกลับไปเกิดเป็นสัตว์นรกหรือว่าไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเกิดเป็นคนแต่มีสภาวะเท่าเดิม อย่างนี้ถือว่าเราขาดทุน

    ฉะนั้น ปกติของคนจะต้องปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าจะมาเกิดเป็นคนอีกก็ต้องเกิดเป็นคนดีกว่านี้ คำว่าดีกว่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องมีโภคะมากไปกว่านี้
    แต่เนื้อแท้จริง ๆ ถ้าปฏิบัติในศีลบริสุทธิ์จะต้องมีโภคสมบัติดีกว่านี้ มีรูปร่างหน้าตาสวยกว่านี้ และต้องมีทุกสิ่งทุกอย่างดีกว่าทั้งหมดคือ

    (1) มีอายุยืนยาวตลอดอายุขัย ไม่ป่วยไข้ไม่สบาย และก็ไม่ตายก่อนอายุขัย
    (2) มีทรัพย์สินสมบูรณ์บริบูรณ์ ทรัพย์สินทุกอย่างจะไม่มีอันตรายจากไฟไหม้ จากน้ำท่วม จากลมพัด จากโจรผู้ร้าย
    (3) คนในปกครองจะอยู่อยู่ด้วยดี ไม่มีใครดื้อด้าน อยู่ในโอวาททุกอย่าง
    (4) วาจาศักดิ์สิทธิ์ วาจาหอมหวนเป็นที่ปรารถนาในการรับฟังของคนดีทั่วไป อย่าลืมนะผมพูดว่าสำหรับคนดีทั่วไป สำหรับคนเลวไม่ต้องไปคำนึงถึง คนเลวเราจะพูดดีขนาดไหนมันก็เลวขนาดนั้น อย่าไปสนใจ
    (5) แล้วก็จะต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีกว่านี้
    นี่หมายถึงว่าถ้าเรามีศีลบริสุทธิ์

    ทีนี้มาว่ากันถึง ศีลบารมี ความจริงมี ศีลบารมี ข้อเดียวก็จะไปนิพพานได้ ถ้าเราฉลาดเหมือนกับที่ผมพูดมาแล้วใน ทานบารมี ถ้าเรามี ทานบารมี เคร่งครัดเราก็จะไปนิพพานได้ ทีนี้ขึ้นชื่อว่าบารมีอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราจะสร้างให้ครบถ้วนจริง ๆ ต้องอาศัยบารมีอีก 9 อย่างเข้ารวมตัวกัน

    แต่ว่าเรื่องนี้ผมพูดไว้แล้วใน บารมี 10 แต่นี่เรามาพูดกันถึงด้านปฏิบัติ ด้านปฏิบัติจำต้องพูดกันละเอียดสักหน่อย เพราะถือว่าการสอนพระกรรมฐานชุดนี้ เป็นกรรมฐานชุดสุดท้าย

    ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าการสอน บารมี 10 ก็หมายถึงว่าการสอนให้ท่านเป็น พระอริยเจ้า กันนั้นเอง

    และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมรู้ตัวผมดีว่า ผมคงไม่มีเวลามานั่งพูดให้ท่านฟังอีกนานนัก เพราะเวลานี้ร่างกายมันกรอบเต็มทนแล้ว ภารกิจก็มาก ขันธ์ 5 ก็เสื่อมโทรมนัก อายุขัยมันก็ใกล้จะหมด

    ฉะนั้น การสอน บารมี 10 ขอท่านทั้งหลายได้ทราบว่า ผมสอนเทกระเป๋า
    ทั้งนี้หมายความว่า ผมจะตายหรือไม่ตายก็ตาม ถือว่าเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้ายในการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย

    ในการปฏิบัติ บารมี 10 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อศีล เราจะต้องเทียบกันเป็น 2 ระยะเหมือนกันว่า บารมีต้น หรือ ปรมัตถบารมี

    ก่อนที่เราจะนึกถึงศีลว่า ทำไมเราจะต้องปฏิบัติในศีลนั้นด้วย
    การเจริญบารมีเขาคิดกันอย่างนี้นะว่า ทำไมเราจึงต้องมีศีล คนอื่นที่เขาบกพร่องในศีล เขาร่ำรวยเยอะถมไป

    บางคนที่บกพร่องในศีล เขาเป็นคนมีอำนาจวาสนาบารมี มียศศักดิ์ใหญ่โตก็เยอะถมไป คนที่บกพร่องในศีลอาจจะมีอำนาจวาสนามาก ปกครองคนทั้งประเทศก็ถมไป

    แต่ว่าเราเป็นคนดีศีลกลับมีอะไรไม่ดีเท่าเขา ถ้าคิดอย่างนี้ละก็ขอประทานอภัย โปรดตั้งใจเตรียมตัวไว้ว่าท่านต้องการนรกขุมไหน เตรียมตัวว่าตายคราวนี้เราไปนรกแน่ ๆ

    การปฏิบัติ บารมี 10 เราไม่ได้ปรารภโลกธรรม คือ - ไม่ได้ต้องการยศ - ไม่ต้องการความร่ำรวย - ไม่ต้องการมีอำนาจวาสนาในทางโลกีย์วิสัย - เราปฏิบัติในศีลต้องการความบริสุทธิ์ของใจ นี่คำว่า ศีล ท่านย่อมรู้กันแล้วก็มานั่งดูทีว่า ทำไมคนเราจึงต้องมีศีล ศีลเป็นคุณหรือเป็นโทษ ต้องใช้ปัญญาพิจารณากันหน่อยหรือว่าต้องใช้ปัญญานำหน้าสัญญา

    คำว่า สัญญา คือ ความจำ ปัญญา คือ ความคิด ต้องใช้ปัญญานำหน้าสัญญา ปัญญานั้นความจริงมันนำอยู่แล้ว แสดงว่าสัญญาจะทรงความดีไว้ได้จะต้องมีปัญญาเป็นตัวนำ เราก็มานั่งใคร่ครวญเรื่องศีล โดยเฉพาะศีล 5 หรือ ศีล 8 สำหรับศีล 10 หรือ ศีล 227 จะไม่พูดถึง เพราะพระก็ดี เณรก็ดี ถ้าเณรทรงศีล 10 ไม่ครบ พระทรงศีล 227 ไม่ครบ เขาไม่เรียกพระ เขาไม่เรียกเณร เขาเรียก เถน ในที่นี้สะกด เถน แปลว่า หัวขโมย คือ ขโมยเอาเพศของพระมาใช้ ขโมยเอาเพศของเณรมาใช้

    เป็นอันว่าทุกท่านที่มีศีลไม่บริสุทธิ์ ท่านผู้นี้เรียกว่า มนุสสเปโต หรือ มนุสสติรัจฉาโน หมายความว่าร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเปรต ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน ตายจากความเป็นมนุษย์ ก็เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน

    สำหรับพระเณรต้องทรงศีลบริสุทธิ์อยู่แล้วผมจะไม่ปรารภถึง จะวัดศีลสำหรับฆราวาส และพระเณรก็ต้องดูด้วยนะว่าท่านทั้งหลายที่บวชอยู่นี้ มีศีล 5 บริสุทธิ์หรือเปล่า

    ที่ผมพบมา 90 เปอร์เซ็นต์ ในบรรดาพระเณรที่พบ ประกาศตนว่าเป็นคนมีศีล 227 แต่ว่าเนื้อแท้จริง ๆ ศีล 5 ไม่ครบ ถ้าศีล 5 ไม่ครบจะมีศีล 227 ได้อย่างไร ก็ถ้าใครไปไหว้คนประเภทนี้ก็ถือว่าไหว้สัตว์นรก ไหว้เปรต ไหว้อสุรกาย ไหว้สัตว์เดรัจฉานนั่นเอง เพราะท่านผู้นั้นตายจากความเป็นคน ไม่มีโอกาสจะได้เกิดเป็นคน ไปตั้งต้นมาจากนรกใหม่

    ตอนนี้ก็มาพูดกัน ปรึกษาหารือกัน ว่าศีลมีความสำคัญอย่างไร มาพูดกันถึงศีล 5 และศีล 8 เสียก่อน ต้องใช้ปัญญาพิจารณาด้วยไม่ใช่ว่าจะไปนั่งภาวนาว่า สีลัง สีลัง สีลัง อย่างนี้มันเป็นนกแก้วนกขุนทอง เพราะพูดตามที่เขาพูด แต่ไม่ใช่ภาษาเขา เขาไม่รู้เรื่องบอกให้เขาเรียก พ่อจ๋า แม่จ๋า นกแก้วนกขุนทองก็เรียก พ่อจ๋า แม่จ๋า ขอข้าวกินหน่อย แกก็พูดขอข้าวกินทั้งวัน ทั้ง ๆ ที่แกไม่หิว เพราะว่าเขาสอนอย่างนั้น

    นักปฏิบัติและนักบวชในพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ถ้าไปนั่งจำแต่ชื่อของศีลหรือนั่งภาวนาแต่ชื่อของศีล มันอาจจะมีผลเป็นฌานสมาบัติได้เหมือนกัน
    แต่ทว่าถ้าศีลบกพร่อง ฌานสมาบัติมันก็ไม่มี สมาธิเล็กน้อยมันก็ไม่เกิด

    วิปฏิสาร
    นี่ก่อนที่เราจะมาทรงศีลกัน เราจะต้องรู้จักศีลเสียก่อน
    สำหรับภิกษุสามเณร ถ้าหากเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ท่านบอกว่า ทุกคนจะปราศจาก วิปฏิสาร คือ ความเดือดร้อน พระเณรที่มีความยุ่ง ๆ ขาดการเคารพนับถือของบรรดาประชาชนทั้งหลาย ก็เพราะว่าเป็นพระเป็นเณรที่ขาดศีลนั่นเอง เป็นชั้นเลวที่สุด พระเณรที่ไม่มีศีลบริสุทธิ์ เขาถือว่าเป็นพระเป็นเณรที่เลวที่สุด ไม่ใช่เป็นพระเป็นเณรที่ดีที่สุด

    ท่านที่มีศีลบริสุทธิ์จงคิดว่าเรายังเลวมากเกินไป เพราะความดีของเราทรงไว้ได้แค่กามาวจรสวรรค์เท่านั้น ศีล 10 ก็ดี ศีล 227 ก็ดี ศีล 5 ก็ดี ศีล 8 ก็ดี มันก็เหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าถ้าดีไปกว่านั้น จิตทรงศีลบริสุทธิ์ไม่ใช่ไปนั่งภาวนาว่า สีลัง ศีลทุกสิกขาบท ทรงอารมณ์จิตบริสุทธิ์ จิตรักษาไว้ได้บริสุทธิ์โดยไม่ละเมิดศีลด้วยเจตนา ในจิตเราคำนึงนึกอยู่เสมอว่า เราจะทรงศีลให้บริสุทธิ์ยิ่งกว่าชีวิต จิตคิดถึงศีลเป็นปกติอย่างนี้ จัดเป็นฌานใน สีลานุสสติกรรมฐาน อย่างนี้เป็นพรหมได้

    แต่สำหรับ ศีลบารมี ในที่นี้ ไม่ต้องการได้กามาวจรสวรรค์แล้วก็ไม่ได้หมายให้ต้องการพรหมโลก ที่ศึกษา ศีลบารมี เพื่อต้องการเป็น พระอริยเจ้า คือ พระอรหันต์ ฉะนั้น ก่อนที่เราจะนั่งปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ ก็ต้องดูผลของศีลว่า ถ้าเราปฏิบัติศีลไม่บริสุทธิ์มันมีความสุขหรือมีความทุกข์ เขาเอาดีกันตรงนี้ ไม่ใช่ไปนั่งเอาดีอวดศีลกัน

    ถ้าบวชมาแล้วก็คุยบอกว่าฉันมีศีล 227 ดีไม่ดีแค่ศีล 5 ก็ยังไม่ครบ ในเมื่อศีล 5 ไม่ครบจะเอาอะไรมาเป็นศีล 227

    ปาณาติปาตาเวรมณี
    ตอนนี้เรามานั่งมองศีล สำหรับพระทุกสิกขาบทอย่าเคลื่อน เรามาดูศีล 5 กันก่อน ศีล 5 ท่านว่า
    ปาณาติปาตาเวรมณี เราจะงดเว้นฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และเบียดเบียนสัตว์ให้ได้รับความลำบาก
    มานั่งนึกดูว่าพระพุทธเจ้าทำไมบอกอย่างนี้ ที่การไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกันมันเป็นผลของความสุข มันก็ไม่ยาก คนที่มีศีลข้อนี้ต้องมีเมตตานำหน้า

    เมตตา คือ ความรัก

    กรุณา ความสงสาร

    มุทิตา มีจิตใจอ่อนโยน

    อุเบกขา มีอารมณ์วางเฉย

    นั่น หมายความว่า เราเห็นสัตว์ที่ควรจะฆ่าได้เราก็ไม่ฆ่าเพราะความรัก
    เราจะประทุษร้ายก็ไม่ประทุษร้ายเพราะความสงสาร
    ไอ้เราจะไม่ฆ่าเขา เราจะไม่ทำร้ายเขา ด้วยอารมณ์ของเราไม่มีความอิจฉาริษยาใคร เห็นเขาได้ดีเราก็ไม่อิจฉาเขา เรายินดีกับความดี
    ถ้าเขาทำเป็นที่ไม่ถูกใจเราก็เฉย คิดว่าเขาจะชั่วก็ให้ชั่วแต่ตัวของเขา
    เราไม่ชั่วด้วย

    อันนี้เป็นอารมณ์ของปัญญา อารมณ์ของปัญญาต้องไปล้วงเอาเมตตาความรัก กรุณาความสงสารเข้ามาควบศีลจึงจะปรากฏ คือ ในศีลข้อที่ 1 คือ ทุกข้อนั่นแหละ ศีลทุกข้อจะต้องมี พรหมวิหาร 4 ครบถ้วน จึงจะมีศีลบริสุทธิ์ นี่เราว่าใน ศีลบารมี เพื่อความเป็นพระอรหันต์

    ทีนี้ก็มาถึงศีลข้อที่ 1 ถ้าเราละเมิดล่ะจะเป็นอย่างไร
    ถ้าเราปราศจากความเมตตาปราณี เป็นคนใจร้ายประทุษร้ายเขา อยากจะฆ่าเขา ถ้าเราทำกับสัตว์ตัวเล็ก ๆ มันก็จะต้องหมายถึงเรารอผลชาติหน้า หรือว่าฆ่าสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ มันก็ต้องรอผลชาติหน้า

    แต่ผลของชาตินี้ที่เรามองไม่เห็นก็คือ ความเลวของจิต มีอารมณ์อำมหิต มีความโหดร้าย เรามองกันไม่ค่อยเห็น เราจะมองเห็นกันได้แต่เฉพาะที่ต้องทำกับสัตว์ที่สนองเราได้ นั่นหมายความว่า เราจะต้องพบกับคู่ต่อสู้ของเรา
    ทีนี้เราก็ลองมาทำกับคนบ้าง ทีแรกเราก็มีความเมตตา เรามีความรัก เจอะหน้าใครเราก็ยิ้มแย้มแจ่มใสยกมือไหว้ มันของไม่ยากความดี เราอยากจะให้คนไหว้เราไม่ยาก เรายกมือไหว้เขา เขาก็ยกมือไหว้เรา ยิ้มให้เขา เขาก็ยิ้มให้เรา
    พูดวาจาไพเราะให้เขา เขาก็พูดวาจาไพเราะให้เรา

    เป็นอันว่าถ้าหากว่าเราทำตามนั้น ลองนึกดู สำหรับตัวเรา ถ้าเขามาทำกับเราอย่างนั้น จิตใจของเราจะมีความรู้สึกยังไง เจอหน้าคน คนไหว้ เจอหน้าคน เขายิ้มให้ เจอหน้าคน เขาพูดจาอ่อนหวาน จิตใจของเรามีความสุขหรือจิตใจของเราจะมีความทุกข์ ตอนนี้ต้องใช้ปัญญาพิจารณาดูให้ดี

    มาดูอีกตอนหนึ่ง มาดูลักษณะตรงข้าม ถ้าเราเจอหน้าใคร ใครเขาด่าเรา พบหน้าเขา เขาก็ชกหน้าเรา เป็นอันว่าเราจะมีความรู้สึกอย่างไร ถ้าเขาด่าเรา ถ้าเรากำลังใจไม่ดีพอ ถ้าไม่ถึงอนาคามีเราก็ไม่ชอบใจ

    แต่ถ้าเขามาตีเรา มาชกหน้าเรา มาทำร้ายเรา เราก็ไม่ชอบใจเหมือนกัน อารมณ์ประเภทนั้นมันเป็นอารมณ์ของความสุข หรืออารมณ์ของความทุกข์
    เราก็จะมองเห็นว่าแม้แต่ศีลข้อที่ 1 ถ้าเราละเมิดมันก็จะพบความทุกข์อย่างมหันต์

    แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไรต่อไป เราควรจะเป็นคนมีศีลหรือคนไม่มีศีล
    เจอะหน้ากันยิ้มเข้าหากันดี หรือบึ้งเข้าหากัน เจอหน้ากันพูดดีเข้าหากัน หรือว่าด่ากันดี เจอหน้ากันต่างคนต่างอ่อนน้อมแสดงความเคารพซึ่งกันและกันดี หรือว่าชกหน้ากันดี

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ท่านก็จะต้องตอบว่าพบหน้ากันยิ้มเข้าหากันนั่นแหละดี หรือว่ามีการอ่อนน้อมซึ่งกันและกันนั่นแหละดี พูดจาอ่อนหวานซึ่งกันและกันนั่นแหละดี นี่เราก็มองเห็นชัด ๆ ถ้าเรามีศีลแล้วอารมณ์ใจก็จะเป็นความสุข

    ศีลจะมาจากไหนได้ต้องไปหาเหตุ การสร้างความดีในพุทธศาสนาต้องมีเหตุและมีผล ไม่ใช่ว่ามานั่ง ๆ อยู่จะรู้สึกว่ามีศีล ฉะนั้น ตอนเย็นจะให้เปิดพระวินัยให้ฟังกันอยู่เสมอ สำหรับพระจะได้เข้าใจในเรื่องการปฏิบัติ

    ฉะนั้น ขอท่านผู้ใช้ขยายเสียงตามสาย ตอนเย็นทุกเย็นจะต้องใช้ระเบียบและวินัยทุกวัน อย่าเว้น ที่จะให้ฟังอย่างเดิม ไม่ได้หมายต้องการให้เบื่อ เปิดให้ฟังอยู่เสมอก็ไม่แน่ว่าท่านจะปฏิบัติได้ครบถ้วน

    ถ้ายังอยู่วัดนี้ปฏิบัติวินัยไม่ครบ ก็วงเล็บไว้ได้ว่าตายลงอเวจี
    วันนี้ว่ากันถึงศีลข้อที่ 1 มันก็ไม่จบ เรามาดูเหตุดูผลว่าการปฏิบัติศีลนี่ดี
    ดีกว่าละเมิดศีล

    แล้วทำไมจึงต้องปฏิบัติในศีล มันก็ต้องมานั่งคิดดูว่าชีวิตเราที่เกิดมานี้ ว่ามันจะทรงตัวอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยไหม นั่งมองหาความจริงว่าคนที่เขาเกิดมาก่อนเราจะตายไปบ้างมีหรือเปล่า คนเกิดทีหลังเราตายไปมีบ้างหรือเปล่า ก็ต้องทราบว่ามี ...

    **************************************************************<O:p></O:p>
    ที่มา รวมคำสอนของ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
    http://www.palungjit.org/smati/books/index.php?cat=113
     
  6. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624
    ทานบารมี

    ….สำหรับ ทานบารมี นี่ เป็นการตัด โลภะ ความโลภ การให้ทานจริง ๆ ที่จะอุดมสมบูรณ์ในทานบารมี ก็ต้องมีอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง คือ จาคานุสสติ-
    กรรมฐาน จาคะ หรือ จาคา คือ การสละ หรือต้องการจะให้ จาคะตัวนี้เป็น ตัวตัดอารมณ์ที่อยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นมาเป็นของเรา มีอารมณ์คิด
    อย่างเดียวว่าบุคคลก็ดี สัตว์ก็ดี ถ้ามีความทุกข์ ถ้าไม่เกินวิสัย เราจะให้เขามีความสุขตามกำลัง คือ การให้จริง ๆ ก็มีหลายอย่าง ถ้ามีทรัพย์สิน เขาขาด
    ทรัพย์สิน เราก็ให้ทรัพย์สิน แต่ทรัพย์สินที่จะพึงให้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องทุ่มเท เกินไป ให้ตามกำลัง

    การถวายทานกับพระอรหันต์ มีบุญน้อยกว่าสังฆทานมาก แต่อานิสงส์ถวายทานกับพระอรหันต์ พระอรหันต์มาจากไหน มาจากพระพุทธเจ้า รับฟัง
    คำสอนจากพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตาม ฉะนั้นการสงเคราะห์พระอรหันต์จึง ชื่อว่าเป็นการสงเคราะห์ครบไตรสรณคมน์ ทั้งพระพุทธเจ้า ทั้งพระธรรม ทั้งพระสงฆ์ เพราะ หนึ่ง พระอรหันต์มาจากพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าก็หมดกิเลสไม่ได้

    ประการที่สอง พระอรหันต์ต้องทรงธรรม ถ้าไม่ทรงธรรมก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้

    ประการที่สาม ตัวท่านเองเป็นพระสงฆ์ ฉะนั้นการถวายสังฆทานหรือถวายทานกับพระอรหันต์ก็ชื่อว่าถวายทานทั้ง ๓ อย่าง ทั้งพระพุทธเจ้าด้วย พระธรรม
    ด้วย พระสงฆ์ด้วย

    ก่อนที่เราจะยกกิเลสทั้ง ๓ ประการ คือ รากเหง้าของกิเลสทั้ง ๓ ประการ นี้พ้นไปได้ ขั้นแรก เราต้องมี ทานบารมี ก่อน หมายความว่า มีการให้ทาน เป็นปกติ จะมากจะน้อยก็ขอให้เป็นไปตามกำลังทรัพย์ หรือศรัทธาที่จะพึงหาได้ แต่ว่าการให้ทานครั้งใดก็อย่าหวังได้ผลตอบแทน ให้มีอารมณ์จิตคิดไว้
    อย่างเดียวว่า เราให้ทานคือตัดความชั่ว คือ กิเลสภายใน ที่เรียกกันว่าโลภะ ที่มีความโลภเต็มอัตรา ไม่สามารถจะให้ทานได้ ถ้าเราให้ทานบ่อย ๆแสดงว่าความโลภของเรามีกำลังต่ำลงแล้ว ในที่สุดความโลภไม่ปรากฏมันสิ้นไปเมื่อไร เราจะรู้สึกว่าเป็นคนพอ ถ้าเรารู้ตัวว่าพอเมื่อไร ความตะเกียกตะกายมีน้อย หมายความว่า เราหามาได้ด้วย สัมมาอาชีวะความขยันขันแข็งเพียงใดก็ดี ยินดีในทรัพย์ที่เราหามาได้โดยสุจริต อย่างนี้ ก็เรียกว่าความโลภของท่านสลายตัวลงไปมากแล้ว

    จงอย่าลืมว่า ทานตัวเดียวหรือ จาคะ ตัวเดียวนี่ ไปนิพพานได้ คือว่า จาคะ ต้องมาจาก พรหมวิหาร ๔ คือ
    ๑. เมตตา ความรัก
    ๒. กรุณา ความสงสาร
    ๓. มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร ใครได้ดีก็พลอยยินดีด้วย
    ๔.อุเบกขา วางเฉย ไม่เสียดายทรัพย์สินที่เราให้ไปแล้ว ในเมื่อทุกคนมี พรหมวิหาร ๔ อย่างนี้ ทานบารมี ก็เกิด การให้ทาน เป็นการตัดโลภะ ความโลภของจิต การทรง พรหมวิหาร ๔ เป็นเหตุให้ ศีล ทรงตัว ในเมื่อศีลทรงตัวเป็นเหตุให้ ตัดโทสะ ความโกรธของใจ ในเมื่อโลภะ ความโลภไม่มี โทสะ ความโกรธไม่มี ความหลงก็สลายตัวไปเอง เหมือนกับโต๊ะ ๓ ขา ถ้าหักเสีย ๒ ขา เหลือขาเดียว ก็กำลังรับไม่ไหวใช่ไหม เหลือแค่ อนุสัย ต่อไปเมื่อ ปัญญาเกิดขึ้น ก็เบื่อหน่ายในร่างกาย เห็นว่าการเกิดในโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ เราจะเกิดกี่ขาติมีความเกิด มีความแก่ มีความป่วย มีความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจมีความตายอย่างนี้ทุกชาติ เราก็เบื่อการเกิดในเมื่อเบื่อความเกิดขึ้นมาเมื่อไร เวลานั้นก็ไปนิพพาน เป็นอรหันต์ เป็นของไม่ยากนะ

    สำหรับปัญญา ใช้ปัญญาพิจารณาหาความจริงในเรื่องขันธ์ ๕ ที่มันเป็น ทุกข์ ควานหาเหตุให้เกิดเหตุแห่งความทุกข์ ควานหาปฏิปทาที่ให้ถึงความดับทุกข์ นี่เรามีอยู่พร้อมแล้วหรือยัง ในอาการดับทุกข์ตัวนั้น มันเข้ามาถึงเรา แล้วหรือยัง ความเพียร คืออารมณ์ในการต่อสู้ไม่ท้อถอยต่ออำนาจของกิเลสที่เข้ามายุ่งกับจิต ความอดทน กับอารมณ์ที่เข้ามาต่อต้านกับความดีของเรา สัจจะ จะทรงความจริงใจไว้เสมอว่า เราจะปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน เราจะใช้วิธีการต่อต้านกิเลสทุกอย่างไม่ว่าอะไรทั้งหมด จะไม่ยอมให้มันมาเป็น เจ้าหัวใจของเรา อธิษฐาน ตั้งใจไว้มั่นว่า ถ้าเราทำไม่ได้ก็เชิญให้มันตายไป ชีวิตไม่มีความหมาย ถ้าชีวิตของเราอารมณ์จิตมันจะทรงความเลวอยู่นี่มันไม่มีความหมาย ให้มันตายไปเสีย เมตตา อารมณ์แห่งการสงเคราะห์จะมีอยู่กับเราเสมอ เมตตา ตัวนี้นะระวังให้ดี พระที่บอกว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้นะ ผมจะจัดให้อยู่ด้วยกัน ถ้าองค์ไหนถือว่ามีอารมณ์ไม่เสมอกัน ผมจะให้อยู่ด้วยกันในวันหน้า ถ้าอยู่ด้วยกันไม่ได้จริง ๆ ก็จะเชิญออกจากวัดนี่ไปเลย

    เพราะอะไร เพราะพระยังมีอารมณ์เลวอย่างนี้ จะเป็นพระเป็นเจ้าอะไรกัน อุเบกขา เราต้องวางเฉยต่อเรื่องของขันธ์ ๕ ทั้งหมด หรือวางเฉยต่อโลกธรรมทั้งหมด อย่าเอาจิตไปสนใจกับโลกธรรม นี่อารมณ์ที่เราจะต้องทรงเป็นประจำอยู่ทุกวัน ทุกวันและทุกขณะจิตให้มันทรงอารมณ์อยู่อย่างนี้ตลอด…

    ***********************************************************************************
    ที่มา http://www.palungjit.org/smati/books/search.php
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 กรกฎาคม 2010
  7. lionking2512

    lionking2512 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,525
    ค่าพลัง:
    +7,632
    ทาน ศีล ภาวนา สำเร็จได้ด้วยใจ ใจปฏิบัติเพราะเห็นชอบแล้วว่าว่าเป็นสิ่งดี มีค่ามากกว่าใจที่ปฏิบัติเพราะหวังสิ่งตอบแทน
     
  8. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,610
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    โมทนาครับสำหรับข้อท้วงติง

    ผมขออนุญาตขยายความเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจตรงกันนะครับ

    ผมใช้คำว่า "ก็มักจะ" แสดงว่า ส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้นครับ (หมายถึงว่า คนที่ยังไม่เต็มแล้วถือศีลก็มีครับ)
    เรื่องศีล 5 เป็นศีลปกติที่มนุษย์พึงมีครับ ดังนั้นในบทความน่าจะเขียนถึงถือศีล (เข้าใจว่า ศีล 8)

    ส่วน "ยังไม่เต็มในระดับต้น" ก็คือ "บารมีต้นในขั้นเต็ม"
    ผมขออนุญาตยกคำสอนของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำมาอธิบายเพิ่มเติมครับ

    การเทียบบารมี

    จาก หนังสือ บารมี ๑๐


    การเทียบบารมี บารมีเขาจัดเป็น 3 ชั้น บารมีต้น ท่านเรียก บารมีเฉย ๆ บารมีตอนกลางท่านเรียก อุปบารมี บารมีสูงสุดท่านเรียก ปรมัตถบารมี

    ถ้าคนที่มีบารมีต้นในขั้นเต็ม ท่านผู้นี้จะเก่งเฉพาะ ทาน กับ ศีล เขาจะทำสะดวกเฉพาะ การให้ทาน กับ การรักษาศีล แต่การรักษาศีลของบารมีขั้นต้นจะไม่ถึงศีล 8 อย่างเก่งก็มีกันแค่ศีล 5 ท่านผู้นี้จะไม่พร้อมในการเจริญพระกรรมฐาน กำลังใจไม่พอ หรือจะพูดให้ดีอีกนิดท่านบอกว่าไม่ว่างพอ เวลาไม่มี นี่สำหรับคนที่มีบุญบารมีขั้นต้นจะอยู่กันแค่นี้

    ถ้ามีบารมีเป็น อุปบารมี เขาเรียกว่า บารมีขั้นกลาง อุปบารมีนี่พร้อมที่จะทรงฌานโลกีย์ บารมีนี้พร้อมเรื่องฌานโลกีย์นี่ทรงได้แน่ ท่านพวกนี้จะพอใจในการเจริญกรรมฐานแล้วก็พอใจในการทรงฌาน แต่ว่าถ้าจะชวนในขั้นบุกบั่นในวิปัสสนาญาณ ท่านจะบอกว่าไม่ไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิวิปัสสนาญาณอาจจะมีบ้างแต่ก็ไม่เข้มแข็งนัก เพราะว่าสมถะกับวิปัสสนานี่แยกกันไม่ได้ ต้องอยู่คู่กัน แต่กำลังด้านวิปัสสนาญาณจะต่ำ จะเข้มแข็งเฉพาะสมถภาวนา แล้วท่านพวกนี้ถึงแม้ว่าจะพอใจในการเจริญกรรมฐาน ถ้าเราบอกว่าหวังนิพพานกันเถอะ ท่านพวกนี้ก็บอกว่าไม่ไหว กำลังใจไม่พอ จะชวนไปนิพพานขนาดไหนก็ตาม เขาจะไม่พร้อมจะไป และก็ไม่พร้อมจะยินดีเรื่องพระนิพพาน พร้อมอยู่แค่ฌานสมาบัติ อันนี้เป็นอุปบารมี นะ

    ถ้าเป็น ปรมัตถบารมี เราจะเห็นว่าอันดับแรกอาจจะยังไม่มีความเข้าใจเรื่องนิพพาน พอสัมผัสวิปัสสนาญาณขั้นเล็กน้อยพอสมควร อาศัยบารมีเก่าเพิ่มพูนหนุนขึ้นมาก็มีความต้องการเรื่องพระนิพพาน พวกที่จิตหวังนิพพานนี่จะไปชาตินี้ได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ เพราะการหวังนิพพานกันจริง ๆ ต้องหวังกันหลายชาติจนกว่าบารมีที่เป็นปรมัตถบารมีจะสมบูรณ์แบบ คือต้องหวังหลาย ๆ ชาติ ถ้าจิตหวังพระนิพพานจริง ๆ พวกนี้ก็มีหวัง ที่เรียกว่ามีบารมีเป็น ปรมัตถบารมี

    ฉะนั้นคนที่จะมีบารมีเข้าถึงปรมัตถบารมีก็ดี อุปบารมีก็ดี ท่านพวกนี้จะต้องผ่านความเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหมกันมามาก เพราะว่าบารมีขั้นต้นก็สามารถเป็นเทวดาเป็นนางฟ้าได้ แต่เป็นพรหมไม่ได้ เพราะบารมีขั้นต้นนี่จะไม่มีฌานโลกีย์ พรหมนี่จะทำบุญแบบไหนก็ตาม ถ้าไม่มีฌานโลกีย์จะไม่สามารถเป็นพรหมได้ สำหรับอุปบารมีนี่เขาพร้อมในการทรงฌาน แต่ว่าเวลาตายไม่ได้เข้าฌานตาย ก็ไปเป็นพรหมไม่ได้เหมือนกัน ถ้าเวลาจะตายเข้าฌานก็ไปเป็นพรหมได้ เขาพร้อมแล้ว

    บกพร่อง สมาธิก็ไม่ทรงตัว ปัญญาก็ไม่แน่นอนนัก ไอ้อย่างนี้มันก็ไม่แน่นอน เพราะคนที่จะไปนิพพานจริงๆ มันอยู่แค่หัวเลี้ยวหัวต่อ อาศัยความเคยชิน อาศัยการฝึกไปบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง ทำผิดบ้าง ทำถูกบ้าง แต่ว่าอารมณ์ชินของอารมณ์ดีอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ไม่ต้องการเกิด มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่าการเกิดขึ้นมามันเต็มไปด้วยความทุกข์ ความเกิดอย่างนี้จะไม่มีกับเราอีกเราจะมีความเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย วันหนึ่งถ้าคิดอย่างนี้สัก 2 นาที คิดทุกวัน อารมณ์นี้มันจะชิน คำว่าชินก็คือฌาน ก็คือชิน

    ในเมื่ออารมณ์คิดจนชินเกิดขึ้น แต่มันก็ไม่มากนัก เห็นทุกข์วันละ 2-3 นาที นอกจากนั้นก็เผลอเห็นสุข หรือเมื่อมีการงานเข้ามาคั่น เขาไม่ได้นึกถึงตัวทุกข์ก็จะหาว่าเขาเลวไม่ได้ ต่อเมื่อเวลาที่ใกล้จะตายขึ้นมาจริง ๆ มันป่วยนไข้ไม่สบาย การป่วยไข้ไม่สบายมันบังคับจิตให้เห็นว่าร่างกายมันเป็นทุกข์ว่า คนป่วยไม่มีส่วนไหนของร่างกายเป็นสุข แม้แต่ลมก็มีการขัดข้องอยู่เสมอ ก็เห็นว่าการเกิดมันไม่ดีแบบนี้ ร่างกายก็ป่วยอารมณ์ก็ขัดข้อง อาศัยที่จิตคิดจนชินว่า ร่างกายเกิดเป็นของไม่ดี เป็นทุกข์อย่างนี้เราไม่ต้องการมัน อารมณ์นี้ก็จะเกิด ถ้าอารมณ์นี้เกิดขึ้นมาจริงๆก่อนหน้าจะตาย ถ้าเป็นฆราวาสอารมณ์นี้จะหนักแน่นในวันนั้นแล้วก็ตายวันนั้น มันอาจจะเกิดมาตอนก่อน ๆ มันอาจจะอ่อนไปหน่อย
    ถ้าจิตคิดจริง ๆ ว่าการเกิดเป็นของไม่ดี มันเป็นทุกข์อย่างนี้เราไม่ต้องการมัน อีกจิตหนึ่งวางเฉย เข้าขั้น สังขารุเปกขาญาณ เป็นวิปัสสนาญาณตัวสุดท้าย สังขารุเปกขาญาณนี่ญาติโยมฟังแล้วเข้าใจด้วยนะ สังขารุเปกขาญาณหมายความว่าวางเฉยในร่างกาย ร่างกายคนอื่นไม่สำคัญ สำคัญร่างกายเรา เรามีความรู้สึกว่าร่างกายของเรานี่มันไม่ดีจริง ๆ เวลานี้เราปวดที่โน่นบ้างเสียดที่นี่บ้าง ขัดที่โน่นบ้าง ยอกที่นี่บ้าง มันมีความหิวโหยบ้าง หมดแรงบ้าง จิตใจเพลียไปบ้าง สรุปแล้วร่างกายทั้งร่างกายไม่มีอะไรดี ถ้าความรู้สึกว่าร่างกายไม่ดีเกิดขึ้นในวันนั้น แล้วความจริงใจก็เกิดขึ้นว่าเราไม่ต้องการร่างกายอย่างนี้อีก จิตก็เข้าถึงการวางเฉย ไม่ต้องการอีก มันจะตายก็เชิญตาย เราจะเชิญมันตายหรือไม่เชิญมันตายมันก็ตาย ใช่ไหม ในเมื่อมันจะตาย แต่เราไม่หนักใจในความตาย เราถือว่าถ้ามันตายเมื่อไรเราไปนิพพานเมื่อนั้น แต่ว่าเวลานั้นจะนึกถึงหรือไม่นึกถึงนิพพานก็ไม่สำคัญ ถ้านึกว่าเราไม่ต้องการร่างกายอย่างนี้อีก อารมณ์พระอรหันต์มีแค่นี้นะ วันนั้นท่านจะเป็น พระอรหันต์ จิตใจจะวางเฉยในร่างกาย เห็นร่างกายของเราเราก็เฉย ไม่ต้องการมันอีก เห็นร่างกายคนอื่นเราก็เฉย อย่างนี้เขาเรียก สังขารุเปกขาญาณ ถ้าตายเมื่อไรก็ไปนิพพานทันที นี่ว่าถึงพวกปรมัตถบารมีนะ

    ถ้าใช้ศัพท์เป็นวิปัสสนาญาณถามว่าตัวไหนเป็นตัวสูงสุด ก็ต้องตอบว่าสังขารุเปกขาญาณสูงสุด ในวิปัสสนาญาณ 9 เขาไปจบที่ สังขารุเปกขาญาณ แล้วก็สังขารุเปกขาญาณนี่ทำยากหรือง่าย แต่ความจริงถ้าบอกว่ายากก็ยากสำหรับคนมีบารมีไม่ถึง ถ้ามีบารมีเข้มข้นจริง ๆ ก็เป็นของทำไม่ยาก เพราะใช้ปัญญาเข้าใจตามความเป็นจริงเท่านั้น

    (คัดย่อจากคำสอนที่สายลม 10 ธ.ค. 31 ลงธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ 95)

    ที่มา : www.luangporruesi.com/334.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 กรกฎาคม 2010
  9. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624

    อนุโมทนา ครับ.......
     

แชร์หน้านี้

Loading...