ประวัติความเป็นมา ของ เมตตาพรหมวิหาระภาวนา (มหาเมตตาใหญ่) แบบพิสดาร

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 25 กรกฎาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    บทสวดมนต์ “เมตตาใหญ่” กับ “เมตตาใหญ่พิสดาร” มีความต่างกันอย่างไร จะขอเขียนอธิบาย และเล่าประวัติคร่าว ๆ ของแต่ละบท และที่มาของบทสวดมนต์นี้

    [​IMG]
    พระคาถาเมตตาหลวง
    หลวงปู่เมตตาหลวง วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม

    “พระคาถาเมตตาหลวง” พระคาถาบทนี้ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านมักจะใช้ภาวนาเจริญเมตตา ไปยังสรรพสัตว์ไม่มีประมาณ ให้หมู่มนุษย์ และเทวดาได้รับความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน

    [​IMG]
    หลวงปู่ขาว อนาลโย

    พระคาถาบทนี้ หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล ได้รับถ่ายทอดไว้ และได้มอบให้กับพระญาณสิทธาจารย์ หรือหลวงปู่เมตตาหลวง (สิงห์ สุนทโร) แห่งวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อใช้เป็นบทเจริญเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั่วทุกทิศานุทิศ

    พระคาถาเมตตาหลวงนี้เป็นการเจริญกรรมฐานที่มีอานิสงส์ ทำให้จิตตั้งมั่นได้ถึงระดับ อัปปนาสมาธิ คือ เมตตา กรุณา มุฑิตา จิตสามารถตั้งมั่นในระดับฌาณ ๓ ส่วน อุเบกขา จิตสามารถตั้งมั่นในฌาณ ๔ ในหมวดกรรมฐาน ๔๐ กอง บทนี้เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ หรือ อัปปมัญญา ๔

    [​IMG]

    หลวงปู่มั่น ภูริฑัตโต



    [​IMG]
    พระญาณสิทธาจารย์หรือ หลวงปู่เมตตาหลวง


    พระคาถานี้ศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริฑัตโต ใช้แสดงโปรดเทวดา และพระคาถานี้ไม่มีศิษย์รูปใดของหลวงปู่มั่น จดจำได้นอกจาก หลวงปู่ขาว อนาลโย เพียงรูปเดียวที่สามารถจดจำได้ และต่อมาได้ถ่ายทอดให้ พระญาณสิทธาจารย์หรือ หลวงปู่เมตตาหลวง

    พระคาถาเมตตาหลวง ประกอบด้วย บทเมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขา และแผ่เมตตาเป็น ๓ สถาน คือ แผ่แบบ อโนทิศ , โอทิศ และ ทิสาผรณะ คือ แผ่เมตตามิได้เฉพาะก็ดี เฉพาะก็ดี แผ่ทั่วทิศทั้ง ๑๐ ก็ดี มีเมตตาจิตให้เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งปวงเบื้องบนถึงภวัคคพรหมเป็นที่สุด เบื้องต่ำตลอดอเวจีนรก โดยปริมณฑลทั่วอนันตสัตว์อันอยู่ในอนันตจักรวาล

    อธิบายเพิ่มเติม
    การแผ่ให้แบบอโนทิศ หรือไม่เจาะจงด้วยอาการ ๕ ได้แก่
    ๑. สัตตา [สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง] : อันว่าสัตว์ทั้งหลายอันยังข้องอยู่ในรูปปาทิขันธ์ด้วยฉันทราคะ

    ๒. ปาณา [สัตว์มีลมปราณ(ลมหายใจ)ทั้งปวง] : อันว่าสัตว์อันมีชีวิตอยู่ด้วยอัสสาสะ ปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า – ออก) มีปัญจขันธ์ (ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) บริบูรณ์ทั้งปวงบทประกอบเหมือนกันเป็นอาการอัน ๑

    ๓. ภูตา [ภูติผีทั้งปวง] : อันว่าสัตว์ทั้งหลายอันเกิดใน จตุโวการภพมีขันธ์ ๕ ประการ คือ รูปพรหม แลสัตว์อันเกิดในเอกโวการภพมีขันธ์ ๑ คือ สัญญีสัตว์เป็นอาการอัน ๑

    ๔. ปุคคะลา [บุคคลทั้งปวง] : อันว่าสัตว์อันจะไปสู่นรกทั้งปวงเป็นอาการ ๑

    ๕. อัตตะภาวะปะริยาปันนา [สัตว์ในร่างกายเรา] : อันว่าสัตว์อันนับเข้าในอาตมาภาพ เหตุอาศัยขันธ์ทั้ง ๕


    อธิบายเพิ่มเติม
    การแผ่ให้แบบโอทิศ หรือเฉพาะเจาะจงเป็นส่วนว่าหญิงชายมีอาการ ๗ ได้แก่
    ๖. อิตถิโย [สตรีเพศ]
    ๗. ปุริสา [บุรุษเพศ]
    ๘. อะริยา [พระอริยะเจ้า]
    ๙. อะนะริยา [ไม่ใช่อริยะเจ้า คือ ปุถุชน]
    ๑๐. เทวา [เทวดา]
    ๑๑. มนุสสา [สัตว์ผู้มีใจสูง / มนุษย์]
    ๑๒. วินิปาติกา
    [สัตว์นรก อสุรกาย]
    และแผ่ไป ทิสาผรณะ หรือ แผ่ไปสิบทิศน้อยใหญ่ มีอาการ ๑๐ ได้แก่

    ๑. ทิศบูรพา (ตะวันออก)
    ๒. ทิศปัจฉิม (ตะวันตก)
    ๓. ทิศอุดร (เหนือ)
    ๔. ทักษิณ (ใต้)
    ๕. ทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้)
    ๖. ทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ)
    ๗. ทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
    ๘. ทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้)
    ๙. ทิศเบื้องล่าง
    ๑๐. ทิศเบื้องบน

    คำลงท้ายแบบย่อของแต่ละบทจะมีความแตกต่างกัน ขอยกตัวอย่างให้เห็นคร่าว ๆ ซึ่งท่านสามารถเข้าไปอ่านเรื่องเต็มได้ที่ พระคาถาเมตตาหลวง ค่ะ (คำลงท้ายอาจเปลี่ยนแปลงไวยกรณ์ไปตามแต่กาล)

    คำลงท้ายของแต่ละบทแยกไว้ตามหัวข้อ (ยกมาสั้น ๆ )
    ๑. บทเมตตา : ใช้คำลงท้าย “อะเวรา อัพพะยาปัชฌา อะนีฆา สุขีอัตตานัง ปะริหะรันตุ”
    แปลว่า : อย่าจองเวรกัน อย่าผูกพยาบาทอาฆาตกัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่าข่มเหงรังแกกัน อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจ จงรักษาตนให้เป็นสุข
    ๒. บทกรุณา : ใช้คำลงท้าย “สัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ”
    แปลว่า :จงพ้นจากความเสื่อมลาภ เสื่อมยศนินทา และความทุกข์ ทั้งปวง
    ๓. บทมุทิตา : ใช้คำลงท้าย “ลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ”
    แปลว่า :อย่าวิบัติ กลาดเกลื่อนจากสมบัติ จากยศ จากความสรรเสริญ และจากความสุขที่ได้แล้ว
    ๔. บทอุเบกขา : ใช้คำลงท้าย “กัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะพันธู กัมมะปะฏิสะระณา ยัง กัมมัง กะริสสันติ กัลยานัง วาปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ”
    แปลว่า :มีกรรมเป็นของๆคน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย



    <HR>
    พระคาถาเมตตาใหญ่
    พระธรรมสิงหบุราจาย์ วัดอัมพวัน

    จะขอเล่าต่อ ในส่วนของ “พระคาถาเมตตาใหญ่” หรือ "พระคาถาอภิมงคลคาถา" ที่ หลวงพ่อจรัล วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ได้เมตตานำมาเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ข้าพเจ้าได้ย่อความ จาก หนังสือกฎแห่งกรรม เล่ม ๑ :: ภาคธรรมปฏิบัติ :: เรื่อง พิกุลเทพสถิต โดย พระครูภาวนาวิสุทธิ์ (ตำแหน่งท่านในขณะนั้น) (สามารถอ่านได้ที่ พิกุลเทพสถิต) เพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงประวัติเมตตาใหญ่ที่เทวดานำมาสอน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า บทนี้เทวดาท่านชอบสวดจริง ๆ

    คัดย่อพิกุลเทพสถิต
    จากหนังสือหลวงพ่อจรัญเล่าให้ฟังว่า มีแม่ชีท่านหนึ่งชื่อ แม่ชีก้อนทอง ปานเณร อายุ ๗๐ ปี มาขอปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน และหลวงพ่อเมตตารับไว้โดยให้อยู่ที่ศาลาพัก หลวงพ่อได้เมตตาสอนกรรมฐาน โดยกำหนดให้เดินจงกรม เมื่อเดินจงกรมแล้วก็นั่ง พองหนอยุบหนอ ตั้งสติไว้

    ในช่วงเวลา ๑ เดือน แม่ชีก็มาสอบอารมณ์กับหลวงพ่อทุกวัน แล้วมาเช้าวันหนึ่งแม่ชีก็เล่าให้หลวงพ่อฟังว่า มีเทวดามาชวนสวดมนต์ทุกวัน หลวงพ่อก็แจ้งว่าให้กำหนด “เห็นหนอ ๆ ” …..

    พอผ่านมาอีกคืนหนึ่งแม่ชีก็เล่าว่า กำหนดเห็นหนอ ๆ แล้ว แต่เทวดาไม่ไป หลวงพ่อจึงให้สอบถามว่าเทวดาอยู่ที่ไหน แม่ชีก็บอกว่าเทวดาอยู่ที่ต้นพิกุล หลวงพ่อสงสัยว่ามาได้อย่างไร แม่ชีก็เล่าอย่างที่เทวดาบอกว่า โดนสาปมาจากสวรรค์เพราะผิดประเวณีนางฟ้า ให้มาอยู่ที่ต้นพิกุลนี้ ๑๐๐ ปี ตรงกับวันที่เท่านั้นเวลา ๙.๔๕ น. ครบ ๑๐๐ ปี หลวงพ่อก็จดไว้

    และหลวงพ่อถามแม่ชีต่อว่าเทวดามาชวนสวดมนต์กี่โมง แม่ชีก็ตอบว่า ๑๒.๐๑ นาที เทวดามาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเวลานี้<SUP>[1]</SUP> หลวงพ่อได้สอบถามข้อสงสัยโดยให้แม่ชีถามเทวดา สรุปความย่อ ๆ มาดังนี้ ถ้าบ้านไหนสวดมนต์ไหว้พระ เอาใจใส่สวดมนต์ จะดีทั้งครอบครัว บ้านนั้นจะมีเทวดาเข้าไปสวดมนต์ เทวดาแนะนำให้สวด “มหาเมตตาใหญ่” บทใหญ่เลยยิ่งดี

    เทวดามาชวนแม่ชีสวดมนต์อยู่ ๑ ปี หลวงพ่อลองให้แม่ชีสวด มหาเมตตาใหญ่ ให้ฟัง หลวงพ่อก็พยายามไปหาหนังสือสวดมนต์บทนี้ ก็ไม่มี แต่มีคนแนะนำให้ไปหาพระครูปลัดท่านหนึ่งที่วัดสุทัศน์ กรุงเทพมหานคร เพื่อไปพิสูจน์บทสวดมนต์ที่แม่ชีสวด ซึ่งตรงกับหนังสือทุกตัว แม่ชีอ่านหนังสือไม่ออกนะคะ แต่ท่องได้ครบ

    แล้วเวลากาลต่อมา แม่ชีก้อนทองยังมีเกร็ดพิเศษอีกหลายอย่าง เทวดาบอกไว้ว่าอยากคุยกับเทวดาให้สวดบทเมตตาใหญ่นี้ค่ะ ขอจบลงแบบคร่าว ๆ ดังนี้ค่ะ
    ในปัจจุบันหลวงพ่อจรัญ จัดพิมพ์หนังสือ พระคาถาเมตตาใหญ่ นี้ โดยใช้ชื่อว่า “พระคาถาอภิมหามงคลคาถา” เมื่อสวดแล้วจะแคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ ให้สวดกันให้มาก

    [1] พุทธกิจ ๕ ประการ : (งานของพระพุทธเจ้าประจำวัน) ๑. เช้าโปรดสัตว์ บิณฑบาต ๒. เย็นทรงแสดงธรรมโปรดมหาชน ๓. ค่ำโอวาทสั่งสอนพระภิกษุสงฆ์ ๔. เที่ยงคืน แก้ปัญหาเทวดา ๕. ใกล้รุ่ง ตรวจดูอุปนิสัยเวไนยสัตว์ที่จะเสด็จไปโปรดในวันใหม่



    <HR>
    พระคาถาเมตตาใหญ่พิสดาร
    อ.เสริมศิลป์ ขอนวงค์ กลุ่มแสงธรรมประทีป เจโตวิมุตติ

    จากบทเดิมที่หลายท่านทราบว่ามาจาก เทวดาพา "แม่ชีก้อนทอง ปานเณร" สวดทุกคืน และ "หลวงพ่อจรัญ" ท่านไปเสาะหาต้นฉบับที่วัดมหาธาตุ แต่ไม่พบ จึงไปสอบถามเจ้าคุณท่านหนึ่งที่วัดสุทัศน์ มีแต่เฉพาะบทเมตตาเท่านั้น ในส่วนฉบับจริงและเต็ม ๆ นั้นมี ทั้ง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ยาวมากๆ สวดครั้งละ ๓ - ๔ ชั่วโมง (รวมบทแปลด้วย) จาก วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม "หลวงพ่อเมตตาหลวง"

    ได้สอบถามที่มาของ พระคาถาเมตตาใหญ่พิสดาร อาจารย์เล่าให้ฟังว่า อาจารย์รู้จักบทนี้มาหลายปีค่ะ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๙ ในงานศพหลวงปู่แหวน เนื่องการรถไฟรับเป็นเจ้าภาพอาหารในงานศพ ขณะที่ช่วยงานนั้น หลวงปู่เมตตาหลวง ก็เรียกอาจารย์เข้าไปหา แล้วก็มอบหนังสือสวดมนต์เล่มเล็ก ๆ ให้
    “เอ้า! ไอ้หนุ่มเอานี่ไปสวด”

    เป็นหนังสือพระคาถาเมตตาหลวงเล่มเล็ก ๆ แต่เมื่ออาจารย์เห็น ก็ไม่อยากสวดเพราะยาวมาก อาจารย์ขณะนั้นสวดมนต์ไม่เก่งอย่างนี้ค่ะ จึงไม่ได้สวด จนกระทั่งมาปี พ.ศ.2545 ก้มีคนนำบทสวดมนต์นี้มาให้ดูแต่เป็น บทเมตตาอย่างเดียว เป็นหนังสือทีจัดพิมพ์เพื่อแจกที่วัดอัมพวัน

    อาจารย์ก็เริ่มสนใจที่จะสวดมนต์บทนี้ ก็หัดสวด แรก ๆ นั้นอาจารย์สวดแบบอ่าน ไม่ได้ใส่ทำนอง และไม่สวดเร็วเป็นจังหวะหนักแน่นอย่างปัจจุบัน จนกระทั่งมีสิ่งมาดลใจให้สวดมนต์เป็นทำนอง จังหวะ และเร็วขึ้น อย่างที่สวดในปัจจุบัน อาจารย์จะเน้นให้สวดอย่างมีสติ มีสมาธิ และสวดอย่างนอบน้อมศรัทธาต่อพระพุทธองค์

    และเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๘ อาจารย์ได้ไปเจอบทสวดมนต์แผ่เมตตาแบบละเอียดในชั้นภพต่าง ๆ ที่วัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง เป็นบทแผ่เมตตาของครูเจ้าท่านหนึ่ง อาจารย์เห็นว่าละเอียด จึงนำมารวมกับบทเมตตาใหญ่ เพิ่มในส่วน ของโอทิศ คือ บทเฉพาะเจาะจงเป็นส่วนว่าหญิงชายเพิ่มเข้าไปอีก ขออธิบายอย่างคร่าว ๆ ดังนี้

    บทสวดเมตตาใหญ่ แบบพิสดาร จำนวนบุคคลที่แผ่เมตตาให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
    เดิมที่มีอยู่
    (๑) อิตถิโย = ผู้หญิง (๒) ปุริสา =ผู้ชาย (๓) อะริยา =พระอริยะ (๔) อะนะริยา = ปุถุชน
    (๕) เทวา = เทวดา (๕) มนุสสา = มนุษย์ (๖) วินิปาติกา = ผู้มีอัตตภาพ

    ในส่วนพิสดารได้เพิ่มบท โอทิศ หรือ บทเฉพาะเจาะจงเป็นส่วนว่าหญิงชาย คือ เพิ่มชนิดและแยกชั้นของเทวดา ชั้นของภพเบื้องล่างให้ละเอียดมากขึ้น ไปอีก ๓๑ ประเภท (สีน้ำเงินคือส่วนที่เพิ่มขึ้นมา)( สีแดงคือของเดิม )
    (๑) อิตถิโย = ผู้หญิง (๒) ปุริสา =ผู้ชาย (๓) อะริยา =พระอริยะ (๔) อะนะริยา = ปุถุชน

    (๕) จาตุมมหาราชิกาเทวา = เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา
    (๖) ตาวะติงสาเทวา = เทวดาชั้นดาวดึงส์
    (๗) ยามาเทวา = เทวดาชั้นยามา
    (๘) ตุสิตาเทวา = เทวดาชั้นดุสิต
    (๙) นิมมานะระตีเทวา = เทวดาชั้นนิมมานะระดี
    (๑๐) ปะระนิมมิตะวะสะวัตตีเทวา = เทวดาชั้นปะระนิมมิตะวะสะวัตตี
    (๑๑) อินทา
    (๑๒) พรหมา
    (๑๓) จตุโลกะปาลา (๑๔) ยมมะราชา (๑๕) ยะมะปาลา (๑๖) สิริคุตตะระอะมัจจา =สิริคุตตะระอำมาตย์

    (๑๗) ยักษา (๑๘) ยักษี (๑๙) กุมภัณฑา
    (๒๐) ครุทธา (๒๑) กินนรา (๒๒) กินนะรี (๒๓) นาคา (๒๔) นาคี
    (๒๕) มนุสสา = มนุษย์(๒๖) อะมะนุสสา (๒๗) วิริยะปาติกา (๒๘) มิตตา (๒๙) อมิตตา (๓๐) มัชฌะตา = ผู้เป็นกลาง ๆ

    (๓๑) ติรัจฉา (๓๒) เปติกา (๓๓) เปตา (๓๔) อสุระกายา (๓๕) เปตาวัตถุโย (๓๖) เปตวิเสยยา (๓๗) วินิปาติกา = ผู้มีอัตตภาพ


    อาจารย์เสริมศิลป์ได้นำบทพิสดารมาให้ คุณพัทธยา รวบรวมเรียบเรียง และ มีพระครูศรีธรรมวิภัช สุนฺทรธมฺโม (พระมหาบุญมั่น : เปรียญ ๗ ประโยค) เจ้าอาวาสวัดห้วยหม้าย อ.สอง จ.แพร่ ตรวจสอบไวยกรณ์อีกครั้ง จนมาเป็นบทสวด "พระคาถาเมตตาใหญ่พิสดาร" ในปัจจุบัน

    อานิสงส์ : ถ้าท่านสวด ณ ที่ใด จะสามารถป้องกันภัยธรรมชาติ ณ บ้านนั้น ตำบลนั้น อำเภอนั้น (ถ้าสวดกันทั้งหมู่บ้านจักป้องกันภัยธรรมชาติได้)
    ถ้าผู้สวดเป็นผู้มีกำลังสมาธิปานกลางก็สามารถส่งกำลังเมตตา ได้มากถึง ๑ โยชน์ (๑๖ กิโล) ไปทุกทิศ

    ถ้าผู้สวดเป็นผู้มีกำลังสมาธิมากก็สามารถส่งกำลังเมตตา ได้ถึงชั้นเทวดา และชั้นภพเบื้องล่าง ได้

    เมตตาเจโตวิมุตติ


    <HR>เวบอ้างอิง
    www.jarun.org
    http://www.relicsofbuddha.com/marahun/page8-2-24.htm
    http://www.larnbuddhism.com/visut/2.16.html
    http://www.watdd-ks.com
    http://mettajetovimuti.bloggang.com


    คัดลอกมาจาก

    www.mettajetovimuti.org


    [MUSIC]http://palungjit.org/attachments/a.1058090/[/MUSIC]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • Metta.wma
      ขนาดไฟล์:
      8.7 MB
      เปิดดู:
      1,137

แชร์หน้านี้

Loading...