ผลของการศึกษาและปฏิบัติธรรม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 11 มกราคม 2012.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดอโศการาม สมุทรปราการ


    เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๘



    ผลของการศึกษาและปฏิบัติธรรม


    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ




    บัดนี้จะเริ่มแสดงธรรม ขอทุกท่านให้ตั้งความสนใจอยู่เฉพาะหน้า คือมีความรู้สึกอยู่กับตน ไม่จำเป็นต้องส่งจิตไปที่อื่น เช่น ส่งมาหาผู้เทศน์เป็น ต้น จิตที่ตั้งไว้ด้วยดีแล้วธรรมะจะเข้าไปสัมผัสในความรู้ของเราโดยลำดับๆ จิตเมื่อทำการรับรู้อยู่กับธรรมโดยสม่ำเสมอแล้ว จะได้รับความสงบเยือกเย็นในขณะที่ฟัง


    ครั้งพุทธกาลปรากฏว่า ขณะที่ฟังเทศน์ พุทธบริษัททั้งหลายได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ท่านก็คือหูคน ใจคน ผู้เทศน์ก็คือคนเหมือนเรา ต่างคนก็ต่างเป็นคนด้วกัน แต่ประหนึ่งว่าหูท่านไม่ใช่หูมนุษย์ ใจท่านไม่ใช่ใจมนุษย์ ผู้แสดงธรรมก็เหมือนไม่ใช่มนุษย์ทั้งๆ ที่ก็เป็นมนุษย์ด้วยกัน และหลักธรรมคำสั่งสอนก็เป็นความจริงที่นำออกแสดงเช่นเดียวกันตลอดมาจน กระทั่งปัจจุบันนี้ แต่ท่านทำไมจึงสำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นลำดับ จนได้จารึกไว้ในตำรับตำราให้เราทั้งหลายได้ศึกษาและปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้ ซึ่งเป็นธรรมของจริงเช่นเดียวกับธรรมที่ท่านประกาศท่ามกลางหมู่ชนในครั้ง พุทธกาล


    หูของท่านกับของพวกเราเป็นอย่างไร จึงผิดแผกแตกต่างกันนักเล่า ใจของท่านกับใจของพวกเราเป็นใจเช่นไรกัน ท่านฟังเทศน์จึงเข้าอกเข้าใจ เราฟังเทศน์กลับไม่เข้าใจ ท่านฟังเทศน์ได้รับผลจนปรากฏว่าสำเร็จมรรคผลขั้นนั้นๆ พวกเราทั้งหลายฟังเทศน์ได้สำเร็จอะไรกันบ้าง ส่วนมากมักสำเร็จแต่ความง่วงเหงาหาวนอน สำเร็จแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญ สำเร็จแต่ความเผอเรอภายในใจอยู่เรื่อยมาขณะฟังธรรม สิ่งที่ได้รับจึงมีแต่ความบ่นเพ้อให้ตนเองว่าจิตไม่สงบบ้าง ฟังเทศน์ไม่เข้าใจบ้าง ทั้งนี้เพราะตนไม่ได้ทำความเข้าใจกับตนอย่างจริงจังนั่นเอง


    การ ทำความเข้าใจกับตน ก็คือมีสติบังคับจิตให้อยู่กับตัวเราเองในขณะที่ฟังไม่ส่งไปที่อื่น และขึ้นอยู่กับความสนใจใคร่ต่อผลที่ตนปรารถนา และเวลานำไปประพฤติปฏิบัติก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติด้วยดี มีสติอยู่กับตน ผลจะพึงได้รับแน่นอนไม่สงสัย


    เรื่องในครั้งพุทธกาล เมื่อได้อ่านตามตำรับตำรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อัศจรรย์ทั้งเรื่องของพระพุทธเจ้า ทั้งเรื่องของพระสาวกอรหันต์และพุทธบริษัททั้งหลาย มาสมัยของเราทั้งหลายนี้ไม่ค่อยจะปรากอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ธรรมก็เป็นสวากขต ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้วเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน การที่เป็นเช่นนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจใคร่ต่อธรรม และการประพฤติปฏิบัติธรรมมีความย่อหย่อนต่างกันโดยไม่สงสัย


    เรา จะเห็นได้ในครั้งพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าเวลาเสด็จออกทรงผนวช ก็ปรากฏว่าออกอย่างเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ซึ่งไม่มีใครจะเหมือนพระองค์ท่านเลย บริษัทบริวารมีมากน้อยเพียงไร ไพร่ฟ้าประชาชีมีจำนวนทั้งแผ่นดิน ทรัพย์สมบัติทั้งประเทศอยู่ในความรับผิดชอบของพระองค์ทั้งสิ้น แต่ขณะที่เสด็จออกทรงผนวช แม้แต่พระชายาและพระราชโอรส ก็ไม่ทรงอำลา เสด็จไปลำพังพระองค์โดยมีฉันนะอำมาตย์เป็นผู้ตามเสด็จกับม้ากัณฐกะเท่านั้น ฟังดูซิเด็ดไหม ความเด็ดเดี่ยวอาจหาญได้ปรากฏตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกที่เสด็จออกทรงผนวช เวลาเสด็จเข้าไปสู่สถานที่บำเพ็ญเป็นนักบวชนักเสียสละ เข้าสู่สงครามแห่งความทุกข์ยากลำบากทั้งพระกายและพระทัย ตลอดถึงกิเลสที่รึงรัดอยู่ในพระทัยของพระองค์ ก็ย่อมกดถ่วงให้เป็นความทุกข์หนักอยู่ไม่น้อย


    การบำเพ็ญพระองค์ในการสละจากกษัตริย์ ลงสู่ภาวะแห่งความเป็นคนขอทานนี้ รู้สึกจะเป็นสิ่งที่บุคคลทำได้ยากอย่าง ยิ่ง แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงดำเนินมาแล้ว อดพระกระยาหารถึง ๔๙ วัน ใครบ้างจะสามารถทำได้และอดได้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า อดเพียงวันหนึ่งเท่านั้นก็มองเห็นใบไม้สดใบไม้แห้งกลายเป็นผักไปหมด เพราะเข้าใจว่าเป็นอาหารเนื่องจากความหิวโหยบังคับ


    สำหรับพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชในครั้งนั้น ศาสนาไม่ปรากฏว่ามี จึงไม่มีใครให้ทานด้วยศรัทธา นอกจากให้ตามประเพณีเท่านั้น เมื่อเป็น เช่นนั้นพระองค์จะได้ของดิบของดีจากที่ไหนมาเสวย แม้ลำบากทรมานเช่นนั้นก็ทรงอุตส่าห์บำเพ็ญพระองค์โดยไม่มีความลดละท้อถอย มีความทุกข์ความลำบากด้วยสิ่งอาศัยทั้งมวล ปัจจัยทั้งสี่คือผ้าเครื่องนุ่งห่มอาศัย บิณฑบาตคืออาหารการเสวย เสนาสนะคือที่พักผ่อนนอนหลับตลอดจนยาแก้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไม่มีสิ่งใดติดพระองค์ไปเลย ทั้งไปอยู่ในสถานที่แร้น แค้นกันดารอีกด้วย ทรงบำเพ็ญไปตามสภาพแห่งความกันดารนั้นๆ สมกับพระองค์เป็นนักรบชั้นเอกที่จะยกพระองค์เป็นศาสดาองค์เลิศ และนำสัตว์โลกออกจากวัฏสงสารให้ถึงพระนิพพานจริงๆ ทรงบำเพ็ญจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ในท่ามกลางแห่งความลำบากทรมานทั้งหลาย


    ความ อัศจรรย์แห่งความพากเพียร ไม่มีใครเสมอเหมือนพระพุทธเจ้า เวลาได้ตรัสรู้แล้ว ธรรมที่ทรงรู้ทรงเห็นอันเป็นธรรมอัศจรรย์นั้น ก็ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดในโลกทั้งสามนี้ได้บรรลุ หรือได้ตรัสรู้เหมือนพระพุทธเจ้าในเวลานั้น ศาสนธรรมเป็นสิ่งที่อัศจรรย์ได้ปรากฏในโลกพร้อมกับขณะที่ตรัสรู้ แต่เพราะความลำบากทรมานก่อนตรัสรู้ และความอัศจรรย์แห่งธรรมที่ทรงเห็นว่าสุดวิสัยที่ใครๆ จะรู้ตามเห็นตามได้ แม้ทรงทำความปรารถนามาเป็นเวลานานว่าจะเป็นศาสดาสอนโลก แต่เมื่อได้ตรัสรู้แล้วทำให้ทรงท้อพระทัยในการที่จะสั่งสอนสัตว์ เพราะธรรมที่ทรงรู้ทรงเห็นประจักษ์แจ้งในพระทัยนั้นเป็นธรรมอัศจรรย์เหนือ โลก เกินกว่าที่ใครๆ จะสามารถรู้ตามเห็นตามได้ ทรงเกิดความท้อพระทัย ทำให้มีความขวนขวายน้อย อยากจะเสด็จอยู่และไปลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น


    แต่ เมื่อได้ทรงพิจารณาย้อนเข้ามาถึงปฏิปทา คือข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินที่พาให้ทรงรู้ทรงเห็นนั้น ว่าพระองค์เองรู้ได้เห็นได้เพราะเหตุใด ก็เพราะปฏิปทาข้อปฏิบัติเครื่องดำเนิน เมื่อดำเนินให้ถูกตามแนวทางแห่งธรรมแล้ว ก็ย่อมรู้ได้ดังที่ประจักษ์อยู่ในพระทัยเวลานี้ เมื่อนำข้อปฏิบัติคือแนวทางอันถูกต้องนี้สั่งสอนสัตว์โลก ทำไมสัตว์โลกซึ่งมีความรู้สึกเช่นเดียวกันกับเรา จะไม่สามารถรู้ได้เห็นได้เล่า ต้องรู้เห็นได้เช่นเดียวกับเรานี้แน่นอน เมื่อทรงพิจารณาทบทวนโดยละเอียดทั่วถึงแล้ว จึงได้มีแก่พระทัยที่จะสั่งสอนสัตว์โลก เพราะอำนาจพระเมตตาที่มีเต็มพระทัยอยู่แล้ว เป็นเพียงพิจารณาหาช่องทางอันเหมาะสมอยู่เท่านั้น เมื่อเห็นสมควรแล้วก็ทรงปลงพระทัยในการสั่งสอนสัตว์โลกตามปณิธานที่ทรงปรารถนาไว้


    ทั้ง นี้เนื่องจากความอัศจรรย์แห่งธรรมให้เกิดความสงสารสัตว์โลก โดยที่ทรงเห็นว่าปฏิปทาเครื่องดำเนินมีอยู่ จุดหมายปลายทางที่จะพึงได้พึงถึงนั้นก็มีอยู่ จึงได้ปลงพระทัยที่จะสั่งสอนสัตว์โลกต่อไป ลำดับต่อมาก็ปรากฏว่ามีท้าวมหาพรหมมาอาราธนาว่า พฺรหฺมา จ โลกาฯอัน นี้เป็นส่วนปุคคลาธิษฐาน ส่วนธรรมาธิษฐานที่จะยังพระองค์ให้ประทานธรรมแก่สัตว์โลกนั้น ได้แก่พระเมตตาเป็นพื้นฐานสำคัญ ความเมตตานี้เป็นสิ่งที่นิ่มนวลอ่อนโยนสุดจะกล่าวอยู่ภายในพระทัย อำนาจแห่งความเมตตามีมากน้อยเพียงไร ย่อมสามารถทำผู้นั้นให้ปฏิบัติตัวต่อบุคคลและต่อบรรดาสัตว์ที่เป็นเพื่อน ทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันได้อย่างสนิทใจ ไม่มีคำว่าขี้เกียจและอิดหนาระอาใจ


    พระ พุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว พระทัยของพระองค์มีความสว่างไสวและมีความเมตตาเป็นกำลังมหาศาล จึงได้ประทานธรรมแก่สัตว์โลก แม้แต่กับสัตว์เดรัจฉานที่สั่งสอนเขาไม่ได้ เนื่องจากเขาไม่มี ความสามารถจะรับทราบกระแสแห่งธรรมได้ก็ตาม พระเมตตาก็ไม่ทรงลดละ ทรงมีต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับที่ทรงมีต่อมนุษย์ทั้งหลาย จึงเป็นว่าท่านผู้มีเมตตาจิตล้วนๆ แล้ว ย่อมสามารถเข้าได้สนิทกับสัตว์ทุกๆ ประเภท โดยไม่ถือชาติชั้นวรรณะว่าสูงหรือต่ำประการใดเลย


    คน เราเมื่อมีความเมตตาต่อกัน ก็ย่อมสามารถจะทำได้ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นประโยชน์แก่กันและกันได้ไม่มี ประมาณ จะเห็นได้จากผู้ที่เลี้ยงลูก ลูกทุก คนพ่อแม่มีความรักเช่นเดียวกับชีวิตของตัวเอง ลูกจะแสดงอากัปกิริยาเช่นไรก็ตามแทนที่จะผิดอกผิดใจ ให้ถอดถอนความรักความเอ็นดูตลอดการเลี้ยงดูนั้นไปเสีย หรือเกิดความโกรธแค้นทอดอาลัยในความรักและการเลี้ยงดูเด็กๆ นั้นเสียก็ไม่ทำ ทั้งนี้เพราะอำนาจแห่งความรักความเมตตาสงสารบังคับอยู่ภายในใจอย่างแนบสนิท แม้ลูกจะทำอะไรก็ตาม จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดลงบนมือบนตัก ตลอดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มใช้สอยก็ตาม พ่อแม่ก็ทนเอา นี่ก็เพราะรักความเมตตาเป็นสิ่งสำคัญ และมีอำนาจมากเกินกว่าจะมาสนใจเคียดโกรธให้ลูกของตน


    เพียง ความรักความเมตตาของคนมีกิเลสเช่นพ่อแม่มีต่อลูกๆ ก็เป็นความเด่นชัดในสายตาของโลกทั่วๆ ไปอยู่แล้ว เมื่อกล่าวถึงความเมตตาของผู้มีธรรมในใจ และผู้มีธรรมสมบูรณ์ภายในใจเต็มที่แล้ว เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ จะมีเมตตาแก่สัตว์โลกขนาดไหน ต้องมีมากต่อมากประมาณไม่ถูกเลย


    ความ สงสารความเมตตาคือความอ่อนโยน จิตใจของคนเราเมื่อมีธรรมเป็นเครื่องอบรมอยู่เสมอแล้ว ย่อมมีความอ่อนโยนต่อกัน และต่ออรรถต่อธรรม ต่อเหตุต่อผล ต่อความดีงาม และมีความเข้มแข็งต่อการประพฤติปฏิบัติตนเพื่อความเป็นคนดียิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ย่อท้ออ่อนแอ จิตใจที่มีธรรมเป็นเครื่องสะกิด มีธรรมเป็นเครื่องเตือนและสนับสนุน ย่อมดำเนินตนไปในทางดีและมีเมตตาต่อกัน ธรรมจึงเป็นสิ่งที่สัตว์โลกต้องการเสมอมาทุกยุคทุกสมัย นอกจากประเภทที่เลยสัตว์นรกจึงจะเบื่อธรรม เห็นธรรมเป็นข้าศึก สำหรับธรรมไม่เคยขัดข้องต่อการงาน ไม่เคยถ่วงความเจริญ ไม่เคยทำความกีดขวางถ่วงความเจริญของโลก ไม่เคยตัดอนวัฒนธรรม คือความเจริญของโลกที่ต้องการโดยถูกทางเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน


    เรา ท่านทั้งหลายอยากจะเห็นความอ่อนโยน ความนิ่มนวล ความอัศจรรย์ ความมีคุณค่าของจิตใจ จึงควรปฏิบัติต่อหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วยความซาบซึ้ง พูดง่ายๆ ก็ด้วยฉันทะคือความพอใจในการปฏิบัติ วิริยะคือความพากเพียรต่อการปฏิบัติของตนอยู่เสมอ จิตตะ มีความฝักใฝ่เอาใจจดจ่อต่อความประพฤติของตนหรือการบำเพ็ญของตน วิมังสา ใคร่ครวญในเหตุในผลดีชั่ต่างๆ ที่จะพึงประพฤติปฏิบัติหรือกระทำลงไปอย่าให้ผิดพลาด แล้วเราจะได้ทรงศาสนธรรมและได้ชมศาสนธรรมที่ท่านประกาศสอนไว้เป็นเวลานาน ตามคัมภีร์ใบลานหรือตามตำรับตำราอย่างถึงใจ ธรรมเหล่านั้นจะปรากฏขึ้นที่ใจของเราผู้มีความพากเพียรด้วยการปฏิบัติธรรมโดยไม่สงสัย


    ใจนี้เป็นของประเสริฐ โดยหลักธรรมชาติก็รู้อยู่โดยสม่ำเสมอ แม้จะมีอันใดมาทับถมโจมตีขนาดหนัก มีความทุกข์ร้อน เพราะอำนาจของกิเลสตัณหาอาสวะครอบงำจนมิดชิดขนาดใดก็ตาม แต่ความรับรู้ของใจนั้นกิเลสจะไม่สามารถบังคับได้เลย ต้องมีความรับรู้เสมอ หลักธรรมชาติของใจมีความรับรู้มีอำนาจรู้ อันเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดจากสิ่งทั้งหลายอยู่แล้ว เมื่ออาศัยการบำเพ็ญให้จิตใจนั้นได้รับคุณงามความดีเป็นเครื่องสนับสนุน หรือเป็นอาหารเครื่องหล่อเลี้ยงอยู่เสมอแล้ว จะมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ


    ใจ ที่มีความขัดข้องยุ่งเหยิง ใจที่มีความขุ่นมัว ใจที่มีความเดือดร้อนอยู่เสมอนั้น ล้วนเป็นผลของกิเลสเป็นเครื่องยุแหย่ก่อกวนให้ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งสิ้น ไม่ใช่ธรรม ถ้าธรรมซึ่งเป็นเครื่องส่งเสริมในทางดีอยู่แล้วจะไม่ยังจิตให้เดือดร้อนเลย นอก จากเป็นความสงบสุขโดยถ่ายเดียว เราต้องการความเจริญภายในใจ เราต้องการความสุขความสบายทั้งปัจจุบันและอนาคต ตลอดวาระสุดท้าย คือสิ้นภพสิ้นชาติไปได้ ก็ต้องอาศัยธรรมเป็นเครื่องบำรุงจิตใจ


    ปกติ เราแต่ละท่านละคนมีความรับผิดชอบในตนโดยหลักธรรมชาติ อย่างแยกไม่ออกอยู่แล้ว จะเป็นคนทุกข์ คนมี คนโง่ คนฉลาด เกิดในชาติชั้นวรรณะใดก็ตาม ความรับผิดชอบตนทั้งในปัจจุบันและอนาคตไม่ขาดวรรคขาดตอน ย่อมมีเสมอกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงควรใคร่ให้ ดี ก่อนจะทำอะไรที่เป็นภัยและเป็นคุณแก่จิตใจของตน ถ้าเป็นสิ่งไม่ดีก็จะเป็นภัยต่อตนในปัจจุบัน และเป็นภัยต่อภพต่อชาติในอนาคตของตนอีกด้วย พึงระวังด้วยดี


    หลัก ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกบททุกบาท สอนให้คนดำเนินตนเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนทั้งปัจจุบันอนาคตทั้งนั้น ไม่มีธรรมบทใดที่แสดงให้เป็นข้าศึกต่อจิตใจของโลก ส่วนมากเราเสียเองเป็นข้าศึกต่อเรา การจะทำคุณงามความดีต่างๆ มักมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งกระซิบขึ้นมาให้เกิดความท้อถอยอ่อแอ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลส กลัวว่าเราจะผ่านพ้นอำนาจของมันไปเสีย มันก็ต้องพยายามเกลี้ยกล่อมโดยอุบายวิธีต่างๆ สุดท้ายก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของมันจนได้ การตกอยู่ในเงื้อมมือของกิเลสผลจะเป็นอย่างไร ก็ได้แก่ความเกิดแก่เจ็บตาย ความทุกข์ยากลำบากในภพนั้นๆ ซึ่งมีกิเลสร้อยรัดอยู่ทั้งภพทั้งชาติ ไม่ใช่เป็นของดีเลย จึงควรตื่นตัวตื่นใจเสียแต่บัดนี้ซึ่งยังไม่สายเกินไป เวลาเข้าโลงผีแล้ว แม้ไปนิมนต์พระทั่วประเทศไทยมาสวด กุสลา ธมฺมา ให้ฉาดและแก้ตัว ก็ฉลาดและแก้ตัวไม่ได้ถ้าไม่แก้แต่บัดนี้


    พระพุทธเจ้าท่านทรงพ้นทุกข์มาได้เพราะความพากเพียร ตามบาลีท่านกล่าวไว้ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คน จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้เพราะความพากเพียรเท่านั้น ธรรมนี่ควรจะฟังให้ถึงใจ ทำอะไรก็ตาม ถ้ามีความพากเพียรแล้ว สิ่งนั้นๆ ย่อมมีผลอยู่สำเร็จเป็นที่พึงพอใจ แต่ถ้าขาดความเพียรไปเสีย ผลก็ด้อยลงโดยลำดับ การทำความเพียรทางฝ่ายกุศลคือความดีสำหรับตนก็เช่นเดียวกัน ควรทำความรู้สึกระลึกไว้กับเราเสมออย่านอนใจทุกระยะไป


    ท่านว่าโลกไม่เที่ยง คืออะไรไม่เที่ยง ให้ย้อนเข้ามาดูร่างกายและกระแสของใจเรานี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด จะได้รู้ได้เห็นทั้งโทษทั้งคุณแห่งความไม่เที่ยงของตัวเอง คำว่าโลกไม่เที่ยงก็ได้แก่ร่างกายและอาการของใจเราทุกส่วนไม่เที่ยงนั่นแล ยุแหย่ก่อกวนอยู่ตลอดเวลา ต้องพายืน พาเดิน พานั่ง พานอน พาขับถ่าย รับประทานอะไรไม่รู้กี่ร้อยกี่พันอย่าง ตั้งแต่วันอุบัติขึ้นมาจนกระทั่งบัดนี้ และตั้งแต่บัดนี้จนถึงอวสานแห่งชีวิต จะมีแต่เรื่องของธาตุของขันธ์ เรื่องของสกลกายนี้เป็นเครื่องรบกวนให้ได้รับความทุกข์ร้อนอยู่เสมอ นี้แลคือสิ่งเป็นภัยต่อเรา มีอยู่ในกองอนิจฺจํอันนี้ กองทุกฺขํอันนี้ กองอนตฺตาอัน นี้ ให้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาทั้งร่างกายและอาการของจิตที่คิดวุ่นอยู่ตลอดเวลาหา ความสงบไม่ได้ ใจถ้าไม่มีความสงบก็คือตัวภัยใหญ่ยิ่งกว่าร่างกายเป็นไหนๆ


    การ ภาวนาเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะเห็นผลประจักษ์ใจ ขั้นเริ่มต้นก็มีการล้มลุกคลุกคลานเป็นธรรมดา เหมือนเราฝึกงานต่างๆ ตามงานทางโลกทางสงสารที่เคยทำกันมา ย่อมมีผิดบ้างถูกบ้างปะปนกันไป แต่เวลาทำไปนานๆ เข้าก็เกิดความชำนิชำนาญ แล้วทำไปได้โดยสะดวกสบาย ผลก็เป็นที่พึงพอใจ การภาวนาก็เช่นเดียวกัน ฝึกหัดเบื้องต้นก็ย่อมมีความยากความลำบาก แต่เราอย่าถือความยากความลำบากมาเป็นทางเดิน จะทำให้ท้อถอยอ่อนแอ เราต้องถือหลักธรรมเป็นเครื่องต่อสู้ฟาดฟันเสมอไป คำว่าหลักธรรมคืออะไร คือสิ่งที่จะยังผลให้เกิดขึ้นด้วยความถูกต้องดีงามและเป็นสุข นั้นแลคือหลักธรรม พึงทำความอุตส่าห์พยายามจนเป็นผลสำเร็จขึ้นมา นี้แลเป็นทางดำเนินของผู้จะปลดเปลื้องตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้ อย่างหายห่วง


    การนอนจมอยู่ในวัฏสงสารนี้ เราทั้งหลายก็เคยเป็นมาด้วยกัน ไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่ากัน และมีใครบ้างได้รับความสุขความเจริญพอที่จะนำมาพูดอวดกันได้ เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงไม่ได้เกิดขึ้นด้วยวิธีการของผู้มีกิเลสทั้งหลายเป็นกันอยู่ทำกัน อยู่นี้ แต่เกิดขึ้นจากท่านผู้รู้ผู้เห็นทั้งโทษทั้งคุณแห่งความเป็นอยู่ ภายในร่างกายจิตใจของตน เช่น ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา เป็นต้น นี่เป็นโทษอันหนึ่งๆ คือความเกิดความแก่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความยากความลำบากทรมานต่างๆ เพราะอำนาจแห่งกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดไว้ บุญนั้นสาเหตุได้แก่การพิจารณาให้เห็นโทษแห่งความผิดที่เป็นมาของเรา ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานต่างๆ แล้วคิดอ่านไตร่ตรองและบำเพ็ญทางกุศล แหวกว่ายตนด้วยความขยันหมั่นเพียรไม่ลดละ ผู้นั้นเป็นผู้จะหลุดพ้นจากบ่วงแห่งมารซึ่งมีอยู่กับใจไปโดยลำดับไม่สงสัย


    การปฏิบัติศาสนาอย่ามองข้ามตน อย่าคิดไปทางโน้นทางนี้ว่าจะดีกว่าศาสนธรรมเครื่องนำออกจากกองทุกข์ เพราะไม่มีผู้ใดจะพูดได้ ถูกต้องแม่นยำเหมือนคำพูดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ท่านจึงเรียกว่า สวากขาตธรรม คือตรัสไว้ชอบทุกสิ่งทุกอย่างทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผล คำพูดของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ถือเป็นประมาณ เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นที่ไว้วางใจได้ ตั้งแต่ธรรมขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด คำพูดนี้แลเป็นคำพูดที่รับรองยืนยันว่าเป็นคำพูดที่ ถูกต้องแม่นยำจริงๆ ไม่เหมือนคำพูดของคนมีกิเลสในโลก ซึ่งมักพูดไปตามอารมณ์ของกิเลส มากกว่าจะพูดความจริงตามธรรม ไม่ได้พูดไปตามหลักความจริงที่ตนรู้ตนเห็นมาจากเหตุการณ์ต่างๆ จึงมีความผิดแผกแตกต่างกันกับคำพูดของพระพุทธเจ้าอยู่มากราวฟ้ากับดิน หินกับเพชร


    นี่ ถ้าเราคำนวณแล้ว คำพูดของพระพุทธเจ้าตรัสไว้เพียงพอประมาณมี ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ธรรมบทใดบ้างที่พระองค์ตรัสไว้แล้วได้ผิดพลาดจากหลักความจริง เป็นเครื่องฉุดลากสัตว์ทั้งหลายให้ลงทางต่ำ หรือให้ล่าช้าต่อการดำเนินเพื่อมรรคผลนั้นๆ ไม่ปรากฏ ธรรมบทใดก็มีแต่ชี้ช่องบอกทาง เพื่อปลดเปลื้องสิ่งที่เป็นข้าศึกภายในตัวให้ได้ผ่านพ้นไปโดยลำดับทั้งนั้น


    ท่าน ที่ต้องการเห็นความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ของศาสนา อันเป็นธรรมชาติที่อัศจรรย์มาดั้งเดิม กรุณาทำการอบรมจิตใจของตนด้วยธรรมบทใดบทหนึ่งดังที่เคยได้อ่านได้ยินได้ฟัง มาแล้ว การภาวนานั้นท่านทำอย่างไร ภาวนาแปลว่าการอบรม อบรมจิตใจของตนที่มีความคิดปรุงต่างๆ อันหาประมาณไม่ได้ ให้เข้าสู่เหตุสู่ผลสู่อรรถสู่ธรรมคือความสงบร่มเย็น โดยลำพังของใจมีความรู้อยู่รอบตัว แต่จับตัวไม่ได้ว่าจุดไหนเป็นจุดผู้รู้ที่แท้จริง เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้นำธรรมบทใดบทหนึ่งมาเป็นเครื่องยึดของใจ เช่น พุทฺโธ เป็นต้น ให้กำหนดคำบริกรรมว่า พุทโธ นั้นเป็นอารมณ์ของใจ มีสติประคับประคองอยู่กับงานของตนที่ทำ คือคำบริกรรมนั้นๆ


    เมื่อจิตมีหลักยึดมีอารมณ์เป็นเครื่องยึด ย่อมจะรวมตัวเข้าสู่ความสงบ คือเข้าสู่จุดที่ต้องการเมื่อเข้าถึงจุดนั้นแล้ว แม้คำบริกรรมว่า พุทโธ นั้นก็ย่อมจะสลาย ตัวไป เหลือแต่หลักธรรมอันแท้จริง คือหลักธรรมชาติได้แก่ใจ คือผู้รู้ที่ปรากฏอยู่ภายใน สงบตัวเข้าไปเป็นอารมณ์อันเดียว คือมีความรู้อยู่เพียงเท่านั้น นี้ท่านเรียกว่า เอกัคคตาจิต จิตถึงความเป็นหนึ่งไม่มีสองกับอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการภาวนาในเบื้องต้นเป็นอย่างนี้


    ตาม ธรรมดาของจิตจะปล่อยให้มีความสงบร่มเย็น และเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นโดยลำพังนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยการฝึกฝนอบรมด้วยวิธีการต่างๆ ตามแต่จริตนิสัยที่ท่านแสดงไว้ในธรรม มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของใจเป็นเครื่องบำเพ็ญ ใจจะเริ่มมีความสงบเย็นขึ้นมา ในขณะที่ใจมีความสงบ นั่นแหละเป็นขณะที่ใจมีความสุข มีความสงบมากเพียงใดก็มีความสุขมากเพียงนั้น จะปรากฏเป็นความอัศจรรย์ขึ้นมาภายในใจ


    ถ้าใจไม่มีความสงบเลยนับตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตาย เราจะไม่ปรากฏว่ามีความแปลกประหลาดอันใดในตัวเรา จะเข้าใจไปว่าสิ่งที่แปลกประหลาดและอัศจรรย์นั้นอยู่แต่ภายนอก ภายในใจนี้ไม่มี เพราะฉะนั้น จิตจึงฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามวัตถุอารมณ์ต่างๆ โดยเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นของดีเป็นของวิเศษ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นไม่ดีไม่วิเศษ วิโสอะไรเลย แล้วก็ทำจิตใจให้ทะเยอทะยานอยากได้ อยากสัมผัส อยากไม่มีประมาณจนเกิดความเดือดร้อนแก่ตน โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงวัตถุหรือแร่ธาตุอันหนึ่งๆ พอแต่เครื่องอาศัยเป็นบริวารของใจ ถ้าใจฉลาดสิ่งนั้นก็เป็นสมบัติเครื่องส่งเสริมจิตใจให้ได้รับความสะดวกไปตามกาลเท่านั้น แต่ไม่ใช่จะสามารให้จิตมีความสุขความสบายตลอดกาลได้ ไม่เหมือนกับจิตสร้างตัวเองขึ้นมาด้วยการอบรม มีการภาวนาเป็นต้น


    การสร้างตนคือใจให้สมบูรณ์นับตั้งแต่ขั้นเริ่มฝึกหัดสมาธิเป็นต้นไป จะเห็นได้ชัดในรากฐานของจิต ในสารคุณสำคัญของจิตโดยลำดับ ตั้งแต่ขณะที่จิตมีความสงบจะสงบมากขึ้นตามการอบรม นั่นเป็นเครื่องหมายหรือเครื่องยืนยันให้เราเห็นได้ชัดว่าสิ่งอัศจรรย์นี้มี อยู่ภายในใจนี้เท่านั้น เมื่อได้เห็นผลปรากฏขึ้นจากหลัภาวนาแล้ว เรื่องความขยันหมั่นเพีย ความอุตส่าห์พยายามนั้นหากเป็นมาเอง เพราะจิตใจได้ หลักเกณฑ์ จิตใจมีความดูดดื่มกับธรรมที่ปรากฏขึ้นมา ได้แก่ความสงบเย็น แม้จะเพียงขณะเดียวก็จะทำให้เรามีความสุข และมีความอุตส่าห์พยายามมากขึ้นเป็นกองทีเดียว


    อันดับ ต่อไปก็พยายามฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้เป็นไปตามแนวทางที่เคยเป็นมาแล้วโดยลำดับไม่ลดละความเพียรพยายาม ใจเมื่อได้รับการอบรมอยู่โดยสม่ำเสมอ จะมีความสงบร่มเย็นอันเป็นผลขึ้นมาโดยสม่ำเสมอเช่นกัน จิตเมื่อมีรากฐานคือสร้างฐานของตนให้มีความมั่นคงขึ้นภายในตัวแล้ว จะประกอบหน้าที่การงานอันใด ย่อมจะทำด้วยความเป็นสุข ทำได้ด้วยความจดจ่อ ทำเป็นงานเป็นการจริงๆ ไม่พรวดพราด ไม่ผลุนผลัน ขณะที่ย้อนเข้ามาดูจิตใจก็ปรากฏเป็นความสงบร่มเย็นเป็นเครื่องต้อนรับอยู่แล้ว ใจก็สบาย


    เฉพาะอย่างยิ่ง นักภาวนาที่ไม่ต้องทำหน้าที่การงานอันใด คือนักบวช เป็นผู้ควรอย่างยิ่งแก่สมาธิปัญญาภาวนา นี้แลคือหนทางของสมณะ หนทางของนักบวชและกิจการงานอันสำคัญของนักบวช ผู้มุ่งเข้ามาเพื่อสละทุกสิ่งทุกอย่าง และเข้ามาสั่งสมคุณงามความดีมีศีลสมาธิ เป็นต้น ขึ้นภายในใจให้เจริญรุ่งเรือง ความเจริญรุ่งเรืองภายในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากและเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่เป็นความเจริญรุ่งเรืองอันแน่นอนและพึงใจ


    นี่ ได้อธิบายถึงเรื่องสมาธิคือความสงบภายในใจ และพยายามสร้างฐานแห่งความสงบให้มั่นคงขึ้นไปด้วยหลักภาวนาดังที่เราเคย ปฏิบัติมา ฐานของจิตจะมีความมั่นคงขึ้นเป็นลำดับ จนกลายเป็นความสงบร่มเย็นทั้งวันทั้งคื แม้จะคิดอ่านไตร่ตรองหน้าที่การงานหรือกิจการใดๆ ในขณะนั้น จิตก็ไม่ว้าวุ่นขุ่นมั่ว มีความสงบเย็นเป็นรากฐานประจำใจ เรียกว่าใจมีที่พึ่ง ใจมีที่ยึดที่อาศัย ใจมีหลักฐาน ทีนี้ถ้าจะสร้างปัญญาขึ้นที่ใจก็สมควร เพราะจิตใจที่มีความอิ่มพอในอารมณ์ หรืออิ่มพอในตัว มีความสงบร่มเย็นเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เราจะคิดอ่านไตร่ตรองทางปัญญาก็ย่อมเป็นปัญญาไปได้โดยสะดวกสบายกว่าความไม่ มีสมาธิบ้างเลย เพราะจิตปราศจากความหิวกระหายในอารมณ์ต่างๆ มีแต่ความสงบสุข การคิดอ่านทางด้านปัญญาก็มองเห็นเหตุเห็นผลชัดเจน


    การคิดอ่านทางด้านปัญญา จะคิดอ่านกับเรื่องอะไร ก็คือเรื่องของธาตุของขันธ์ เรื่องความเกิด ความตาย ความสลาย ความพลัดพรากจากกันทั้งสัตว์และสังขาร ทั้งภายนอกและภายในนี้แล นำเข้ามาเทียบเคียงกันได้สัดได้ส่วน ว่าอนิจฺจํ คือ ความไม่เที่ยง เราอยู่กับความไม่เที่ยง จะหาความเที่ยงมาแต่ที่ไหน นั่งอยู่ก็ไม่เที่ยง ยืนอยู่ก็ไม่เที่ยง เดินอยู่ก็แปร นอนอยู่ก็แปร รับประทานอาหารอยู่ก็แปร แม้ที่สุดกำลังหลับอยู่ก็แปร มีแต่ความแปรปรวนเต็มธาตุเต็มขันธ์เต็มอายตนะของเรา เราจะเป็นที่ไว้ใจที่ตรงไหน นี่การพิจารณาทางด้านปัญญา เอ๊า เรื่องความทุกข์ตรงไหนที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่มี มีแต่ ทุกฺขํ ทั้งนั้นแหละเต็มกายเต็มจิตใจเรา เราแยกพิจารณาให้เห็นชัดในสิ่งเหล่านี้ซึ่งมีอยู่กับตัวเราเอง


    พิจารณา แยกธาตุหรือแยกรูปก็พิจารณาให้ดี ตั้งแต่ภายนอกเข้าไปสู่ภายใน แยกส่วนแบ่งส่วนให้เห็นทั้งความเป็นอยู่ ความตั้งอยู่ และความสลายไป หรือเริ่มแต่การเริ่มแรกแห่งความผสมของธาตุขันธ์เข้ามาเป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิงเป็นชาย นำมาจากธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีใจเป็นผู้รับผิดชอบเข้าไปพึ่งพิงอาศัยในธาตุในขันธ์อยู่ จึงมีความรู้แปลกๆ ต่างๆ ผิดกันกับต้นไม้ ผิดกันกับดินฟ้าอากาศทั้งหลาย เพราะอันนี้มีความรู้ครองตัวอยู่ อัน นี้แลพาให้สัตว์โลกทั้งหลายได้ให้ชื่อให้นามว่า เป็นสัตว์เป็นบุคคลก็เพราะใจดวงนี้ แต่เมื่อสภาพอันนี้สลายตัวลงไปแล้วก็หมดความหมาย ดินที่มารวมกันเข้าเป็นร่างกายเรานี้ ก็ต้องสลายตัวลงไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ไปตามสภาพเดิมของเขาไม่สูญหายไปไหน จิตใจซึ่งเป็นธรรมชาติของตัวเองโดยธรรมชาติก็ต้องเป็นจิตอยู่เช่นนั้น ไม่แปรปรวนไปตามธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ


    แต่ ถ้าจิตนี้ได้สร้างคุณงามความดีไว้มากน้อยเพียงไร ก็จะอาศัยคุณงามความดีนั้นแลไปก่อกำเนิดเป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิงเป็นชาย หรือเป็นเทวบุตรเทวดาขึ้นในภพชาติต่อไป ไม่ใช่สิ่งอื่นสิ่งใดที่จะมีอำนาจเหนือกรรมนี้และเหนือผลแห่งกรรมนี้ มาสร้างบุคคลให้เป็นไปได้ต่างๆ นอกจากกรรมที่ตนทำไว้แล้ว และแสดงผลขึ้นมาในลักษณะต่างๆ กันเท่านั้น


    เมื่อร่างกายก็เป็นเครื่องแปรสภาพ เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนถาวรอยู่เต็มตัวของเราอยู่แล้ว ก็เท่ากับเป็นฟืนเป็นไฟเผาจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา เราจะพิจารณาอย่างไรจึงจะถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิด ว่านี้เป็นเรา นี้เป็นของเรา นั้นเป็นของเขาเสียได้


    การถอดถอนอุปาทานต้องถอดถอนด้วยปัญญา พิจาราให้เห็นชัดตามความเป็นจริงโดยทางไตรลักษณ์ ทั้งอนิจฺจํ ทั้งทุกฺขํ ทั้งอนตฺตา หรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเห็นชัดแล้วก็สามารถกระจายทั่วถึงกันไปในไตรลักษณ์ทั้งสามนี้ เพราะธรรมเหล่านี้เป็นความเกี่ยวเนื่องกัน อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของเรานี้ก็จะค่อยหมดไปเอง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างๆ ท่านเรียกว่า นามขันธ์ ก็สามารถจะทราบได้ตามความเป็นจริงของเขาด้วยปัญญา เพราะขันธ์ทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นสภาพแต่ละอย่างๆ หรือเป็นอย่างหนึ่งต่างหากจากใจ ใจแท้มีแต่รู้เท่านั้น รู้โดยหลักธรรมชาติ แต่ไม่สามารถจะรู้ดีรู้ชั่วได้ถ้าปราศจากสติกับปัญญาเสีย


    เพราะ ฉะนั้น สติกับปัญญา แม้จะเกิดขึ้นจากใจก็ตาม แต่ก็เป็นเครื่องกลั่นกรองจิตใจ หรือเป็นเครื่องรักษาจิตใจให้มีความแคล้วคลาดปลอดภัยจากสิ่งที่เป็นข้าศึก ทั้งหลายได้ไม่สงสัย ท่านจึงสอนให้อบรมสติปัญญาให้มีกำลังกล้า เพื่อกำจัดปัดเป่าสิ่งที่เป็นภัยต่อจิตใจได้แก่กิเลสอาสวะทั้งหลาย


    เวทนา จะเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตาม มันก็เป็นเวทนา เป็นความจริงอันหนึ่งๆ ตั้งขึ้นแล้วไม่ว่าสุข ทุกข์ เฉยๆ ไม่ว่าเกิดขึ้นในร่างกายและจิตใจ มีความแปรสภาพได้เช่นเดียวกันกับกองรูป


    สัญญา คือความจำได้หมายรู้ จะจำได้มากน้อยเพียงไรก็หลงไปลืมไปเพียงนั้น เมื่อต้องการก็คิดขึ้นมาจำกันใหม่


    สังขาร คือความปรุงความคิดต่างๆ ก็มีการเกิดขึ้นแล้วดับไปหาสาระแก่นสารที่ไหนไม่ได้


    วิญญาณ ความรับรู้ในอายตนะทั้งหกภายในและภายนอกมาสัมผัสกัน ก็เกิดความรู้ตามขณะที่สิ่นั้นๆ เข้ามาสัมผัส แล้วก็ดับไปๆ หาสาระแก่นสารที่ไหนไม่ได้


    ดัง นั้น วิญญาณในขันธ์ห้ากับปฏิสนธิวิญญาณจึงต่างกัน คำว่าปฏิสนธิวิญญาณนั้นหมายถึงจิตโดยตรง วิญญาณในขันธ์ห้านี้ต้องอาศัยสิ่งที่มาสัมผัสจึงปรากฏเป็นความรับทราบขึ้นมา แล้วก็ดับไปตามสิ่งนั้นได้ผ่านไป


    จง พิจารณาแยกแยะออกให้เห็นตามความจริงด้วยสติปัญญา มีศรัทธา ความเพียรเป็นเครื่องหนุน จิตใจก็จะค่อยเล็ดลอดออกจากสิ่งทั้งหลายที่เคยกดถ่วงใจออกไปได้โดยลำดับ เพราะอำนาจของปัญญา การพิจารณาเหล่านี้เพื่อการถอดถอน การฟาดฟันสิ่งที่หุ้มห่อจิตใจซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งสกปรกโสมม อันพาให้สัตว์โลกทั้งหลายจมอยู่ในวัฏฏะ คือความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงนี้ให้ขาดไปเป็นลำดับ


    พระ พุทธเจ้าก็ดี สาวกทั้งหลายก็ดี ท่านปฏิบัติดำเนินอย่างนี้ ท่านจึงสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ นี้แลคือทางบรรลุมรรคผลนิพาน และนี้แลคือวิธีการทำลายกิเลสทั้งหลายที่มีอยู่ภายในจิตใจโดยตรง ไม่ว่าครั้งพุทธกาลหรือสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าเราได้ดำเนินตามหลักธรรมอันเป็นมัชฌิมาธรรม ที่พระพุทธเจ้าประทานไว้นี้โดยถูกต้องแล้ว ผลเราจะเป็นผู้ได้รับ มีสิทธิ์ได้รับเช่นเดียวกันกับสมัยพุทธกาลไม่มีทางสงสัย


    การ พิจารณาทางด้านปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะได้เห็นกิเลสตกออกจากจิตใจเป็นขั้นเป็นตอน ในขณะที่พิจารณารู้แจ้งเห็นจริงในกิเลสประเภทนั้นๆ และถอดถอนออกไปได้โดยลำดับ สติตามธรรมดาก็ล้มลุกคลุกคลาน ระลึกได้บ้าง เผลอไปบ้าง แต่พยายามตั้งกันอยู่เสมออบรมกันอยู่เสมอ สติก็ย่อมมีความสืบเนื่องกันไปได้ไม่ค่อยเผลอ หรือไม่เผลอดังแต่ก่อน ปัญญาก็มีความสืบต่อแขนงออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่วงแคบจนถึงวงกว้าง ตั้งแต่ส่วนหยาบจนถึงส่วนละเอียด เมื่อสติปัญญามีความแหลมคม กิเลสตัณหาอาสวะซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจจะละเอียดมากน้อยเพียงไรก็ตาม ก็พ้นวิสัยของสติปัญญานี้ไปไม่ได้ เพราะสติปัญญานี้เป็นอาวุธที่ทันสมัยตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบัน


    คำ ว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ที่ท่านแสดงไว้ในมรรคแปดนั้นจะหมายถึงอะไร ถ้าไม่หมายถึงสติปัญญา สัมมาสติ ก็มีอยู่ในมรรคแปด สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ก็หมายถึงปัญญาเป็นเครื่องบุกเบิกทางเดินของตน เพื่อความพ้นจากภัยทั้งหลาย ได้แก่กิเลสตัณหาอาสวะอันเป็นบ่อแห่งความเกิดแก่เจ็บตายทั้งหลายนั้น


    เมื่อ เรามีความสามารถ มีความอุตส่าห์พยายามบำรุงสติปัญญาให้เกิดอยู่โดยสม่ำเสมอ พิจารณาธาตุขันธ์ที่เกิดขึ้นดับไป และก่อกวนตลอดเวลาภายในใจนี้ไม่ลดละ สิ่งเหล่านี้ก็จะค่อยหมดไป ใจเราที่หุ้มห่ออยู่ด้วยของสกปรกโสมมทั้งหลาย ก็จะกลายเป็นจิตที่สะอาดผ่องใสขึ้นมา เมื่อสติปัญญาเต็มขั้นเต็มภูมิที่ท่านเรียกว่ามหาสติมหาปัญญาแล้ว กิเลสตัณหาอาสวะมีมากน้อยภายในใจนั้น ย่อมแตกกระจายหายสูญไปได้ กลายเป็นใจที่บริสุทธิ์ขึ้นมา


    ความ สลัดกิเลสอาสวะซึ่งหุ้มห่ออยู่ภายในใจออกได้โดยสิ้นเชิงนั่นแล เป็นขณะที่ท่านบรรลุธรรม ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็เรียกว่าตรัสรู้ธรรม ถ้าเป็นสาวกก็เรียกว่าบรรลุธรรมถึงที่สุด ความจริงก็คือรู้ถึงเหตุถึงผลของกิเลสตัณหา กับรู้ถึงเหตุถึงผลของอรรถธรรมอันเป็นเครื่องแก้กัน ตลอดถึงผลสุดยอดได้แก่ความบริสุทธิ์นั้นแล


    สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร เป็นสิ่งที่ควรแก่มนุษย์เรายิ่งกว่าสัตว์ประเภทใดๆ เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงประทานไว้เพื่อมนุษย์เรา ซึ่งเป็นภา ชนะที่เหมาะสมที่สุดเรียกว่าพุทธบริษัท ได้แก่อุบาสก อุบาสิกา พระภิกษุ สามเณรเรานี้ ผู้ที่จะทำให้ศาสนาเจริญก็คือพวกเรานี้ ผู้ที่จะทำศาสนาให้เสื่อมสูญหายลงไปจนกระทั่งไม่มีเหลือ ก็คือพุทธบริษัทนี้เป็นต้นเหตุก่อนอื่น แล้วย้อนเข้ามา ผู้ที่จะทำตนให้มีความเจริญรุ่งเรืองภายในใจ ก็คือเราผู้ปฏิบัติธรรมอยู่เวลานี้ ผู้ที่จะทำศาสนาซึ่งมีอยู่ภายในใจให้เสื่อมโทรมลงไปจนกระทั่งหมดคุณค่าสาระ ทั้งสิ้น ก็คือเราจะเป็นผู้สังหารเอง เราจึงควรคำนึงตัวเองมากกว่าภายนอก ว่าจะมาทำให้เสื่อมให้เจริญและให้ฉิบหาย


    คำว่าความเสื่อมเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ จิตใจเสื่อมย่อมแสดงผลออกมาในทางทุกข์เสมอ เสื่อมาก ก็ทุกข์มาก เจริญมากก็มีความสุขมาก ความเจริญไม่ว่าโลกเจริญธรรมเจริญ เป็นสิ่งที่เราต้องการ จึงควรอุตส่าห์พยายามเห็นแก่ตัวเราด้วยความอุตส่าห์ปฏิบัติธรรมเป็นสิ่ง สำคัญ การเกิดแก่เจ็บตายนี้ควรจะเหนื่อยหน่ายอิ่มพอกันได้แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ประจักษ์มาทุกภพทุกชาติทุกเวล่ำเวลา ตั้งแต่วันเกิดมาของภพชาติต่างๆ จนกระทั่งวันนี้ เราแบกทุกข์มาตลอดไม่มีเวลาปลงวางได้เลย นอกจากแบกธาตุแบกขันธ์อันเป็นความทุกข์ทรมาน เพราะความบกพร่องของเขาแสดงตัวอยู่เสมอ ด้วยความหิวกระหายเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ แล้วยังต้องแบกความทุกข์ทรมานภายในใจเพราะอำนาจแห่งกิเลสทับถม อำนาจแห่งกิเลสบีบคั้นทำลาย ควรจะเห็นโทษทั้งเรื่องของกิเลส ทั้งเรื่องขันธ์อันเป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากกิเลส แล้วชำระตนให้ถึงความปลอดภัยไร้ทุกข์ ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ที่เราทั้งหลายได้อ้างว่า พุทฺธํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ มาจนกระทั่งบัดนี้


    ท่านเป็นคนประเภทใด เราจึงได้ออกวาจาหรือระลึกน้อมทางจิตใจถึงท่านเป็นสรณะ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ท่าน ไม่ใช่ผู้เกียจคร้านอ่อนแอ ไม่ใช่เป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญา ไม่ใช่เป็นผู้พูดพล่ามทำเพลงเฉยๆ แต่เป็นผู้เอาจริงเอาจังทุกอย่างไม่เหลาะแหละศาสนาเป็นศาสนาของท่านผู้ฉลาด พระพุทธเจ้าแต่ก่อนท่านก็โง่ เพราะกิเลสสิ่งทำคนให้โง่มันมีอยู่ภายในพระทัย เมื่อกิเลสมีอยู่ภายในใจมากน้อยคนเราก็ต้องโง่ สัตว์ก็ต้องโง่ เมื่อกิเลสหมดไปมากน้อยเพราะอำนาจของสติปัญญา ก็เป็นผู้ฉลาดขึ้นมา กิเลสหมดไปสิ้นไปโดยสิ้นเชิงก็ฉลาดรอบตัว
     
  2. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    พระพุทธเจ้าฉลาดเหนือกิเลสด้วยการประพฤติธรรม และพ้นทุกข์ไปด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม ศาสนาจึงออกจากท่านผู้มีความเฉลียวฉลาด เมื่อนำมาประพฤติปฏิบัติสำหรับพวกเราแล้วทำไมจึงโง่ลงทุกวันๆ สู้กิเลสตัณหาอาสวะก็ไม่ได้ ยิ่งไม่สู้มีแต่จะถอยหลังอยู่เรื่อยไป ถอยหลังเข้าคลองลงคลอง พระตกคลองมันน่าดูน่าชมเชยละเหรอ เราตกอะไรเวลานี้ ตกอยู่ในห้วงแห่งความมักง่ายโดยไม่ใช้สายตา คือปัญญาพินิจพิจารณาความเป็นอยู่และความเป็นไปภายในใจของตน จึงทำให้อ่อนแอในการประพฤติปฏิบัติอันเป็นสารคุณแก่ตน


    ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ หมายถึงธรรมอันประเสริฐ เฉพาะอย่างยิ่งคือใจที่บริสุทธิ์พุทโธทั้งดวงนั้นแล ท่านเรียกว่าธรรมทั้งแท่ง ธรรมทั้งดวงของแต่ละรายอันเป็นตัวของตัวโดยสมบูรณ์แล้ว


    สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ก็ได้แก่ท่านผู้ถึงความบริสุทธิ์วิมุตติพระนิพพาน นี่แลที่ชาวพุทธเราระลึกและกล่าวถึงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันวันนี้


    ทั้งสามรัตนะนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด เราจึงกล่าวอ้างว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํคจฺฉามิ อาศัยพึ่งพิงท่านไปจนกว่าจะทรงตัวได้โดยสมบูรณ์ เมื่อได้พยายามบำเพ็ญอยู่โดยสม่ำเสมอไม่ลดละความพากเพียรแล้ว คำว่า พุทฺธํ ก็ดี ธมฺมํ ก็ดี สงฺฆํ ก็ดี สรณํคจฺฉามิ นั้น จะย้อนเข้ามาได้แก่เราคนนี้เป็นเจ้าของ ไม่ได้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด จะได้แก่ผู้ปฏิบัตินั้นแล


    พุทธะ ก็คือผู้รู้ผู้บริสุทธิ์ อันเป็นธรรมทั้งแท่งนั้นแล คำว่าธรรมะ ก็คือ ธมฺโมปทีโป ที่สว่างไสวอยู่ภายในใจของท่านผู้ชำระใจให้บริสุทธิ์แล้ว สงฺโฆ ก็คือผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์นี้ รวมแล้วรัตนะทั้งสามนั้นรวมอยู่กับใจเราคนเดียวเราเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสมบัติอันล้นค่า ไปไหนก็ไปเถิดเมื่อถึงขั้นที่บริสุทธิ์วิมุตติพระนิพพานแล้ว อยู่ไหนไม่เสียท่าเสียที ไม่มีกาลไม่มีสถานที่ ไม่มีความวิตกวิจารณ์ในความเป็นอยู่ความตายไป หรือจะไปเกิดในภพใดโลกไหนอีก ไม่มีวิตกวิจารณ์ เพราะพร้อมแล้วทุกสิ่งทุกอย่างภายในใจ นี้แลท่านเรียกว่า เมืองพอ นอกนั้นมีแต่ความหิวความกระหาย ความอยาก ความทะเยอทะยาน จะมีเงินเป็นจำนวนล้านๆ ก็ไม่พ้นจากความหิวความกระหายเข้าเหยียบย่ำทำลาย


    เพราะความหิวได้แก่เรื่องของกิเลส เมื่อสิ้นกิเลสแล้วความหิวโหยก็หมดไป มีมากมีน้อยย่อมไม่เป็นทุกข์ ไม่กระวนกระวาย เพราะวัตถุทั้งหลายนั้นเป็นเครื่องอาศัยพึ่งพิงไปชั่วคราวเท่านั้น ส่วนหลักใหญ่ที่เราจะพึ่งเป็นพึ่งตายจริงๆ เราได้ครองแล้วภายในใจ คือ ธมฺโม ปทีโป ปรากฏอยู่กับใจ เป็นความสว่างกระจ่างแจ้งทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนทุกอิริยาบถ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ท่านผู้นี้แลเป็นอิสระเป็นท่านผู้ที่หายกังวลทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตธาตุขันธ์ยังเป็นไปอยู่ก็ดูแลกันไปตามสภาพของมันจนถึงกาล เมื่อถึงกาลอันเป็นไปไม่ได้แล้วก็ปล่อยลงตามสภาพ สมชื่อสมนามว่าพิจารณารอบคอบแล้ว ทั้งความเป็นอยู่ทั้งความสลายไปแห่งธาตุขันธ์


    นี่แล ผลแห่งการศึกษาและการประพฤติปฏิบัติธรรมภายในใจ ย่อมทราบเรื่องของตนได้ดี ตลอดถึงภพชาติที่จะไปเกิดในสถานที่และภพใดบ้าง หรือไม่เกิดก็ทราบได้ชัด เนื่องจากจิตนี้เป็นผู้แสดงตัวอยู่เสมอทั้งทางความดีและความชั่ว ความเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก กิเลสหนาบางมีอยู่ที่ใจ ทราบอยู่ที่ใจของผู้ปฏิบัติเรื่อยมา เพราะสติปัญญาศรัทธา ความเพียร ได้ประกอบเข้าเป็นธรรมแท่งเดียว ย่อมถึงจุดหมายปลายทางทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้น บรรดาท่านผู้ที่หลุดพ้นไปแล้วในทางจิตใจ แม้จะมีชีวิตอยู่ก็ตาม ท่านก็ไม่หวังอะไรในโลกนี้ ท่านปล่อยวางได้จริง ไม่ใช่สักแต่พูดแต่ความสั่งสมเต็มหัวใจ


    เรียนความปล่อยวางนั้นเรียนได้เต็มปากเต็มใจ จำได้คล่องแคล่วไม่ติดไม่อั้นแต่ถ้าความจริงไม่มีอยู่ภายในใจแล้วก็ต้องเดือดร้อนอยู่นั่นแล เพราะกิเลสไม่กลัวเรื่องความจำ จะจำได้มากน้อยเพียงใดแบกตู้พระไตรปิฎกเต็มบ่าก็ตาม หนักทั้งบ่าด้วยหนักทั้งใจที่กิเลสเหยียบย่ำทำลายด้วย ไม่มีผลอันใดถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ อันเป็นธรรมเกี่ยวโยงกันทั้งเหตุทั้งผลไปตลอดถึงยอดธรรม ยอดใจ


    แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนไว้แล้ว กิเลสภายในใจก็หลุดลอยออกไป หาสิ่งกดถ่วงให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไม่ได้ อยู่ไหนก็เป็นสุข นั่งอยู่ก็เป็นสุข นอนอยู่ก็เป็นสุข ไปไหนๆ ก็เป็นสุข จะตายก็ตายอย่างเป็นสุขหมดเยื่อใยเมื่อถึงกาลแล้ว เพราะได้พิจารณารอบหมดแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ก็อยู่ไปจะเป็นอะไร ความเป็นอยู่ จิตก็ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากธาตุขันธ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะจิตเพียงพอแล้ว จึงเรียกว่าเมืองพอ ได้แก่ความหิวความกระหายอันเป็นกิเลสนั้น สลายตัวหายไปหมดแล้วจากใจ ใจจึงปราศจากความหิวความกระหาย


    เวลาธาตุขันธ์ทนไม่ได้ตายไป ใจก็ไม่ได้มีความเสียหายไปกับธาตุขันธ์ เพราะนั้นเป็นเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เป็นเรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ ใจเป็นเรื่องของใจ ความบริสุทธิ์อยู่ที่ใจใจจึงไม่มีวิตกวิจารณ์ นี่แลที่ท่านเรียกว่า อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีสมัย ก็คือ อกาลิกจิตอกาลิกธรรม ท่านผู้เข้าถึงจิตอันบริสุทธิ์แล้วเรียกว่าเป็น อกาลิกจิต เป็นจิตที่ทรงตัวอยู่ด้วยความสม่ำเสมอ ถ้าจะเรียกว่า นิพพาน ก็นี้แลคือนิพพาน จะไปหานิพพานที่ไหนเมื่อได้เจอธรรมคือเมืองพอนี้แล้ว ไม่หิวโหยพอจะไปถาม หรืออยากไปสวรรค์ อยากไปนิพพาน ความอยากนั้นเป็นความหิวโหย ยังไม่อิ่มพอ เมื่อความหิวโหยนั้นได้สิ้นไปจากใจแล้ว ย่อมปราศจากความอยาก ไม่มีสิ่งใดมารบกวนใจก็เป็นสุขเท่านั้นเอง


    การแสดงธรรมให้ท่านทั้งหลายฟัง ก็เพื่อจะได้เป็นคติเครื่องเตือนใจว่า ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น พร้อมอยู่เสมอที่จะทรงคุณค่าแก่บุคคลผู้หวังคุณค่าในธรรมและในตัวเอง แล้วประพฤติปฏิบัติตนด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความเชื่ออรรถเชื่อธรรมเชื่อบุญเชื่อกรรม ซึ่งมีอยู่กับเราผู้ทำกรรมเสมอมา


    ไม่มีใครในโลกที่จะปฏิเสธกรรมได้ว่าไม่ทำ แม้แต่สัตว์เขาก็ทำกรรมเช่นเดียวกัน แต่สัตว์เขาไม่ทราบความหมายว่าเขาทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว จะไปนรกหรือจะไปสวรรค์ ส่วนมนุษย์เรานี้ทราบด้วยกันทุกคน นอกจากคนบ้าหาสติปัญญารับผิดชอบตัวเองไม่ได้เท่านั้น ทำดีก็ทราบ ทำชั่วก็ทราบ สุขเกิดขึ้นก็ทราบ ทุกข์เกิดขึ้นก็ทราบ เราเป็นผู้ฉลาดยิ่งกว่าสัตว์จึงรู้เรื่องของการทำกรรมดีชั่วได้ดีกรรมที่มนุษย์ทำกันอยู่นี้ มีอยู่กับตัวมนุษย์และสัตว์ทั่วๆ ไป เดินไปก็เรียกว่ากรรม คือการกระทำ คิดออกแต่ละขณะๆของจิต จะคิดทางดีทางชั่วก็เรียกว่าทำกรรม


    การทำกรรมอยู่เสมอ ผลจะไม่มีได้อย่างไร ต้องเป็นความดี ความชั่ว ความสุขความทุกข์ ปรากฏอยู่กับการกระทำนั้นอย่างแยกไม่ออก ท่านเรียก วิบาก คือผลของกรรมดีกรรมชั่ว นี่ใครจะมาลบล้างไม่ได้ ถ้าไม่ลบล้างการกระทำเสียอย่างเดียว หากลบล้างการกระทำนี้ได้โดยสิ้นเชิง แม้จิตก็เป็นผู้พ้นแล้วจากอำนาจแห่งกรรม กิริยาของจิตที่คิดปรุงออกไปก็เป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อจิตใจเลย ท่านผู้นี้แลเป็นผู้หมดกรรม เป็นผู้ไม่สร้างกรรม ไม่สร้างกรรมแล้วก็ไม่ต้องสร้างความเกิด ความเกิดก็ไม่มีความแก่จะมาจากไหน ความตายจะมาจากไหน เพราะความทุกข์ ความลำบาก รำคาญต่างๆ ก็มาจากเรื่องของกิเลสทั้งนั้น


    ถ้ายังไม่เห็นว่ากิเลสเป็นภัยอยู่แล้ว เราก็ต้องจมไปกับกิเลสเรื่อยๆ และคือการจมกับความทุกข์เรื่อยๆ นั่นแล จุดหมายปลายทางก็ไม่มี เร่ๆร่อนๆ ไม่ทราบว่าจะไปภพไหนชาติใด แม้ปฏิเสธว่าภพไม่มี ชาติไม่มี ตายแล้วไม่ได้เกิดก็ตาม ผู้ที่ปฏิเสธนั้นแลคือผู้เกิดผู้ตาย ผู้จะแบกกองทุกข์ทั้งมวล ไม่ใช่คำพูดนั้นเป็นผู้ไปเกิดไปตาย แต่เป็นเรื่องของใจ เมื่อกรรมและเชื้อแห่งกรรมมีอยู่ภายในใจ ต้องเกิดวันยังค่ำตายอยู่ตลอดไป ในโลกนี้ไม่ปราศจากป่าช้า เพราะป่าเกิดมี ป่าช้าคือความตายก็ต้องมี นี่เป็นหลักธรรมชาติซึ่งใครจะลบล้างไม่ได้ พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ๆ ที่มาตรัสรู้และสอนธรรมก็สอนตามหลักธรรมชาติ ไม่ใช่มาลบล้างสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นของมีอยู่ให้สูญสลายไปจากโลกนี้เลย


    ฉะนั้น เราเป็นผู้เชื่อในพระพุทธศาสนา ก็ต้องเชื่อบุญเชื่อกรรม เชื่อการกระทำของเรา ว่าสิ่งใดที่ควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ก็ให้พยายามระงับ พยายามละ พยายามส่งเสริมสิ่งที่เป็นประโยชน์ และลดละสิ่งที่เป็นโทษ เราก็เป็นสิริมงคลแก่ตัวของเรา เราจะไปหาฤกษ์หายามที่ไหน วันนั้นดี วันนั้นจม วันนั้นฟู วันนั้นเป็นฤกษ์นั้น วันนี้เป็นฤกษ์นี้ ฤกษ์อยู่ที่ไหน ฤกษ์อยู่ที่การกระทำของคน ถ้าเราดีก็ดีอยู่แล้ว อะไรจะมาทำให้เราชั่วเสียหายไปไม่ได้ นอกเหนือจากกรรมของเราผู้ทำนี้เท่านั้น ฉะนั้น ในอวสานแห่งธรรมนี้จึงขอฝากธรรมะนี้ไว้กับท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ได้นำไปพินิจพิจารณาและประพฤติปฏิบัติตน


    ในฐานะของเราที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์ผู้หนึ่งซึ่งเกิดได้ยาก สำหรับผู้ไม่มีวาสนาไม่ได้เกิดเลย เราเห็นไหมเห่าหอนอยู่เต็มวัดเต็มวานี้ นั้นคือหมา ไม่ใช่มนุษย์ เขาเป็นอย่างไรบ้าง เรามองดูแล้วน่าสลดสังเวช แต่เขาเป็นสัตว์ก็ต้องสงสารเขา ถ้าเราเป็นมนุษย์ความรู้สึกและการกระทำของเราเป็นไปแบบนั้นแล้ว ดูไม่ได้เลย ยิ่งกว่าเขาอย่างที่ว่า เขาไปป่า ปะเขาฆ่าหมูดูไม่ได้ นี่ยิ่งร้ายกว่านั้นอีก จึงไม่ควรทำสิ่งที่ดูไม่ได้ ให้พยายามทำแต่สิ่งที่ดีงาม เชื่อพระพุทธเจ้านั้นแหละดีกว่าเชื่อสิ่งทั้งหลายและเชื่อใครอะไรทั้งสิ้น ตลอดถึงเชื่อเรา ตามธรรมดาคนเรามักเห็นแก่ตัวและชอบเชื่อตัวเองมากกว่าเชื่อคนอื่น ดีไม่ดีก็ตาม ถ้าเราชอบสิ่งไหน สิ่งนั้นต้องถือว่าดีทั้งๆ ที่เป็นโทษแก่ตนเอง และเป็นการกระทบกระเทือนแก่ผู้อื่น ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าแล้วย่อมดำเนินด้วยความเป็นธรรมสม่ำเสมอ วางตนได้ด้วยดี


    ในอวสานแห่งการแสดงธรรมนี้ จึงขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงค์ จงมาคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขกายสบายใจ และบำเพ็ญตนไปด้วยความสะดวกสบาย


    จึงขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้


    คัดลอกจาก http://www.luangta.com/upload/ThammaTalk/pdf/apr2618.doc.pdf
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 มกราคม 2012

แชร์หน้านี้

Loading...