ฝึกฝนอบรมกายจิตอยู่ทุกอิริยาบถ (ก.เขาสวนหลวง)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 19 ตุลาคม 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    ฝึกฝนอบรมกายจิตอยู่ทุกอิริยาบถ
    โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง


    การ สำรวมกาย วาจา ใจ ให้สงบ แล้วจะได้ตามอย่างของพระอรหันต์ได้ ทีนี้จะต้องรู้แล้วนะว่าการตามรอยของพระต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างอื่นไม่ได้ จิตใจฟุ้งซ่านไม่ดี ต้องมีสติอยู่ทุกอิริยาบถทีเดียว แล้วก็งดเว้นอะไรหมด สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ครบถ้วนหมด ทีนี้เป็นอุโบสถ สดชื่นไม่เหี่ยวไม่แห้งนะ

    แล้วก็พยายามทำไปอยางนี้ ตลอดเวลาที่ยังมีลมหายใจอยู่รักษาจิตให้สดใส อย่าให้มันเราร้อน อย่าให้มันเหี่ยวแห้ง อย่าให้มันเศร้าหมอง ควบคุมอยู่เรื่อย พิจารณาปล่อยวางอยู่เรื่อยก็ทำได้กันเป็นส่วนมาก สืบทราบได้ เราไม่ทำจริง แล้วก็เลยอ้างเหตุทำไม่ได้อย่างนั้นอย่างนี้ เที่ยวไปทำตามกิเลสเสียหมดแล้วก็มาปฏิเสธว่า ละกิเลสไม่ได้ ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้ แล้วนี่มันขาดทุนของตัวเองนะ จะไปแก้ตัวเอากับใครไม่รู้หรอกว่าการแก้ตัวแบบนี้ มันทำตามใจกิเลส เป็นความขาดทุนสูญเสียอะไรอยู่ในกายในใจของตัวเองทั้งนั้น

    เราต้องเพียร ถ้าเพียรก็ทำได้เดี๋ยวนี้ นี่มันเป็นผลกำไรอย่างสูงของชีวิตนะ เพราะว่าการเกิดมานี่ ต้องมารู้เรื่องนี้ไม่ใช่เกิดมาทำมาหากินเอาเงิน เอาทอง เอาข้าว เอาของ เอาชื่อ เอาเสียง เอาอะไร ไม่ใช่ นั่นมันเป็นเรื่องเลี้ยงกายจิตใจมันต้องมีธรรมะอย่างนี้ แล้วถึงจะรู้ว่าการมีชีวิตอยู่นี่เพื่อปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่า นั้น

    เคยทำตามกิเลสตัณหาอุปาทานมามากมายเดี๋ยวนี้กลับหมดแล้ว หยุดทำตามกิเลสตัณหาให้ได้ผลกำไรวันหนึ่งคืน หนึ่งนี่เป็นต้นทุนไปนะ แล้วทีนี้จะไปทำอะไรต่ออะไรมันระวังแล้ว มันกลัว กลัวขาดทุน ขาดทุนอยู่ในจิตในใจนั่นนะ ไม่ใช่เป็นเงิน เป็นทอง เป็นข้าว เป็นของอะไรหรอกไม่มี ไม่ได้เอาเรื่องนั้นเป็นใหญ่ เอาเรื่องจิตใจเป็นใหญ่ เอาเรื่องใจสงบเป็นใหญ่

    แล้วนี่ต่อไปจะต้องทำของตัวเองไปจนตลอดชีวิตทีเดียวไม่ใช่ของชั่วคราว หรอก ถ้าว่าทำไม่ได้แล้ว ก็ทุกข์อยู่ในตัวเอง อยู่ในใจของตัวเองนะ ไปปล่อยให้กิเลสเผา มันก็ทุกข์ทั้งนั้นแหละ ทีนี้ เพียรเผากิเลสเรื่อยไป ทีเดียว รับอุโบสถเรื่อยไป วันหนึ่ง คืนหนึ่ง วันหนึ่ง คืนหนึ่งเรื่อยไปก็แล้วกัน

    ถ้าว่าใครทำอย่างนี้ได้ ชีวิตจะหลุดรอดออกไปจากทุกข์จากโทษสารพัดอย่างเรื่อยไปทีเดียว เพราะว่ามีทางแล้ว ทางที่จะออกจากทุกข์จากโทษ ปฏิบัติอย่างนี้ต้องรู้แล้วมันดับทุกข์ได้เพราะอะไร ถ้าไม่หมั่นพิจารณาเอาไว้ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมากๆ เข้า ก็ทุกข์อยู่ด้วยกันทั้งหมดแล้ว ทีนี้มาหัดปล่อยหัดวาง หัดพิจารณาตัวเอง มันจะได้ดับทุกข์ของตัวเองถูกต้องไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะรู้ได้ด้วยตนเอง

    ข้อปฏิบัติที่ได้รวบรัดเอามาประพฤติปฏิบัติในวันนี้ก็เป็นการรักษา อุโบสถให้สดชื่นได้ แล้วก็จะรู้ว่าการเข้าอยู่กับความสงบภายในจิตนี่เอง ที่มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ แล้วก็จะต้องรุ่งเรืองด้วยสติปัญญายิ่งขึ้น แล้วก็ต้องทำอย่างนี้นะ ถ้าว่าใครรู้วิธีการปฏิบัติที่จะดับทุกข์ดับกิเลส ภายในจิต ในชีวิตประจำวันแล้ว อยู่ที่ไหนก็ได้ ก็ปฏิบัติอย่างนี้ มันจะได้บ้างเสียบ้าง แพ้บ้าง ชนะบ้าง ก็ต้องแบบนี้ เพราะว่าจะไปรอให้มันออกมาอยู่วัด อยู่วา มันยังออกไม่ได้ก็หัดอยู่นั่นแหละแพ้บ้าง ชนะบ้าง ก็ต้องทำแบบนี้ ต้องพิจารณาเอาไว้ ปล่อยวางเอาไว้

    เพราะว่าสิ่งแวดล้อมภายนอกมันอยู่ในกองทุกข์ กองไฟกันทั้งนั้น ทั้งข้างในมันก็เกิดไฟ ร้อนนอก ร้อนใจ เราต้องรู้ว่ามีทางๆ เดียวคือ การมีชีวิตอยู่ตามอย่างของพระเท่านั้นที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ได้ ถ้าว่าไม่ได้เดินทางนี้แล้วละก็ รกชัฏไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ทุกข์แล้ว ทุกข์อีกกันทั้งนั้น

    นี่เป็นโอกาสดีมากเท่าไหร่ ที่ได้มาประพฤติ ที่ได้มาปฏิบัติ ที่ได้มาพิจารณาตัวเองให้รู้เรื่องของความทุกข์ ความไม่เที่ยงอะไรเหล่านี้ แล้วนี่สติปัญญามันก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ถึงจะเผลอเพลินไปกับอะไรมันก็ยังกลับมารู้ตัวได้ง่าย ถ้าไม่ทำอย่างนี้เกิดมาตายไปเท่าไหร่ๆ ไม่ได้รู้เรื่องเลย แล้วมันก็ทุกข์อยู่ในสังสารวัฏทั้งหมด เวียนเกิดเวียนตายอะไรนี่ ทำบุญมันทำน้อยบาปมันทำมาก

    แล้วการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้มันทำให้จิตใจสงบสะอาดขึ้นชำระปัญหาของ ชีวิตเรื่อย ต้องรู้ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าว่ามันจะแตกดับไปในขณะไหนก็ตาม ถ้าทำในใจอยู่ในเรื่องไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวเราของเราแล้ว จะประจันหน้าอยู่กับนิพพานทุกขณะไป แต่ว่าถ้าไปทำผิดไปยึดถือขึ้นมาเป็นตัวเป็นตน เป็นของเที่ยงเป็นสุขแล้ว จะอยู่ในกองทุกข์กองไฟทั้งนั้น

    มันจะตายไปเดี๋ยวนี้ก็ขอให้พยายามอย่างนี้รู้ไว้อย่างนี้ เอาหลักนี้เป็นใหญ่ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของของเรา ไม่ต้องเอาเรื่องมากอะไร ให้จิตนี่มันปล่อยวางให้ได้ แล้วผลยิ่งใหญ่มันอยู่ภายในจิตทั้งนั้น ถ้าทำได้จริงๆ มันเป็นปัจจัตตังนิพพานเลยก็ได้ ไม่มีใครรู้

    เรื่องภายในจิตในใจนี่มันเป็นของสำคัญ ทุกคนขอให้พยายามให้ยิ่งทีเดียว อย่าไปเที่ยวยึดถืออะไร อย่าไปเผลอไปเพลินเอาอะไรข้างนอกเลย เวลานี้ต้องเพียรทีเดียว ต้องเพียรพยายามปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท เพราะว่าไฟมันลุกอยู่ทั้งข้างในข้างนอกทั้งนั้น ตกอยู่ในกลางห้วงของทะเลไฟทั้งนั้นแล้วได้พบแสงสว่างคือธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่ประกาศออกมาให้แหวกว่ายทวนกระแสไปสู่ที่สุดของความทุกข์คือนิพพาน ก็ต้องดับทุกข์ดับกิเลสเรื่อยไป

    ชีวิตที่ได้มาประพฤติปฏิบัติกันนี่ มันเป็นของประเสริฐจิรงๆ ถ้าไม่ได้เดินทางนี้แล้วทุกข์กันใหญ่ มีแต่ความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็เที่ยวหลอกให้กลัวต่างๆ กลัวตายมันก็ไม่พ้นตายกลัวเจ็บมันก็ไม่พ้นเจ็บ กลัวแก่มันก็ไม่พ้นแก่ แล้วจะไปกลัวมันทำไมจะไปยึดถือเป็นตัวเราของเราทำไม ต้องหมั่นปลงสังขารนะ

    แล้วมันหลอกลวงอะไรอยู่ในตัวนั่นแหละกิเลสมันคอยหลอกให้กลัวตาย กลัวเจ็บอะไรทุกอย่าง มันคอยหลอกให้จิตวุ่นทีนี้ถ้าเราปลงว่า มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวเราของเรา จิตนี่มันจะได้เป็นอิสระ มันจะได้ปล่อยวางไป พอว่าปล่อยวางขณะไหนแล้วมันดับทุกข์ได้จริงๆ ดับกิเลสได้จริงๆ แล้วไปยึดถืออะไรขึ้นมาแล้วมันทุกข์จริงๆ นี่สืบได้ สืบได้ภายในจิตใจของเราเอง

    เพราะฉะนั้นให้พยายามปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท ด้วยการฝึกให้มีสติรู้จิตของตัวเองทุกอิริยาบถให้ได้ ฝึกไปมันจะได้บ้างเสียบ้างไปก่อนก็ต้องฝึก เพราะว่าจิตนี้มันไม่ใช่ของที่จะรู้ได้ง่ายๆ หรอกนะ เพราะว่ามันท่องเที่ยวมามากแล้ว มันไม่อยู่กับเนื้อกับตัวหรอก มันเที่ยวหาเรื่องยึดมั่นถือมั่น ทุกข์ทั้งนั้นแหละ ทีนี้ต้องเอาเชือก คือสตินี่เองคอยเหนี่ยวมันกลับมา กลับมารู้อยู่ รู้จิตอยู่เดี๋ยวนี้เทียว เอาให้มันอยู่

    ที่ต้องฝึกกัมมัฏฐานเพราะอะไร ก็เพราะจะให้ฝึกจิตมันอยู่อย่าให้ไปเที่ยวหาเรื่องยึดถือเลย กัมมัฏฐานไม่ว่าบทไหนก็เพื่อจะให้จิตสงบเสียขั้นหนึ่งก่อน พอว่ามันสงบมารู้จิตนี่แล้วมันจะพิจารณาจิตในจิตเข้าไปให้ลึกซึ้งได้

    การนั่งทำกัมมัฏฐาน มันได้ประโยชน์มาก เพราะอะไร เพราะว่าจิตต้องมีหลักของสติติดต่ออยู่ทุกขณะไปทีเดียว ถ้าไปทำในอิริยาบถอื่นมันก็รู้ได้เหมือนกัน วิปัสสนาคือการเห็นแจ้งมันก็รู้ได้ทุกอิริยาบถเหมือนกัน แต่ว่าการนั่งมันได้รวบรวมเอาสติเข้ามารู้ลมรู้จิตแล้วก็เพ่งพิจารณาติดต่อ ได้

    การนั่งต้องอดทนต่อสู้กับเวทนาหลายๆ อย่างเหมือนกัน เพราะว่าเรื่องเวทนานี่มันเป็นของที่ต้องอดทนต้องต่อสู้ ความเจ็บปวดอะไรที่เกิดขึ้นในร่างกายก็ตาม (หรือว่าจิตใจมันฟุ้งซ่านเป็นทุกข์หรือว่าเดือดร้อนอะไรขึ้นมาก็ตาม ต้องพยายามหยุดดูหยุดรู้คือว่ารู้ลมกำหนดให้ติดต่อมันก็ระงับลงไปได้) แล้วเมื่อจิตนี้สงบแล้วต้องพิจารณาดูเข้าไปข้างใน ดูจิตในจิตเข้าไปแล้วมันถึงจะรู้ความจริง หรือว่าจะดูกายในกายก็ได้

    ดูกายในกายนี้ถ้าว่าเป็นการดูอยู่คือ พิจารณาตัวธาตุทีเดียว ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่มันแสดงปรากฏการณ์ให้รู้ให้เห็น นี่การพิจารณากายในกาย ต้องเห็นข้างในว่าเป็นธาตุ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็พิจารณาเวทนาในเวทนา หลักท่านก็มีเอาไว้อย่างนี้ แต่ว่าเราไม่ได้ทำให้มันถูกเท่านั้นเอง ทีนี้มาทำให้มันถูก พิจารณาให้รู้ แล้วจิตนี่จะได้ไม่วุ่น มันจะได้สงบ มันจะได้ปล่อย ได้วางอะไรอยู่ในจิตทั้งหมดเลย

    เราต้องฝึกอะไรอยู่เรื่อยนะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะทุกอิริยาบถได้แล้วการนั่งจะง่ายจะสงบง่าย ถ้าไม่ได้ฝึกสังวร ตา หู จมูก ลิ้น กายใจเป็นปรกติไว้แล้ว จะมานั่งนี่มันไม่ยอมหยุด คือว่ามันจะฟุ้งซ่านไป เพาะว่าไม่ได้สังวร ไม่ได้ระวัง ไม่ได้สำรวมไว้ก่อน นี่ต้องสำรวมทุกอย่าง สำรวมครบถ้วนหมดแล้วก็มารู้อยู่ทุกอิริยาบถและทุกขณะให้ได้

    ต้องฝึกและทำจริง พระพุทธเจ้าได้เปรียบเทียบกับการฝึกม้า เข้าต้องฝึกซ้ำซากกว่าจะสวมบังเหียนได้ สวมบังเหียนแล้วก็ยังต้องฝึกซ้ำซากอีก จนกว่าจะบังคับให้ม้ามันทำอะไรไปตามที่เขาฝึกกัน กายกับใจก็เหมือนม้าเหมือนกันต้องฝึก เพราะมันมีพยศหลายอย่าง แล้วก็ต้องพยายามอดทนต่อความทุกข์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะประสบเข้ากับความร้อน ความหนาว ความเจ็บปวด หรือว่าสัตว์เลื้อยคลาน หรือว่าเลือดยุงอะไรก็ตามให้อดทนก่อน อดทนดูก่อน แล้วตัณหามันจะมาสอพลออย่างไรมันจะอยากแก้เอาความสุขอย่างไร พิจารณาทีเดียว ให้เห็นเวทนาโดยความเป็นของไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของของเรา ให้เห็นอย่างนี้ (ถ้าว่าตัวตนมันเกิดขึ้นมายึดมั่นถือมั่นก็ต้องแยกธาตุพิจารณาแยกธาตุ กายทั้งหมดนี่มันมีแต่ธาตุทั้งสี่ แล้วก็พิจารณาดู ให้ถูก ให้รู้ ให้เห็นจริงให้ได้)

    มันยังหลงรักกายอยู่มาก แล้วก็ปรนปรือมากด้วย ทุกอย่างมันมารวมอยู่ที่นี่ ตลอดจนอาหารการบริโภคอะไรทั้งหมด มันมารวมปรนปรืออยู่กับรูปนาม ขณะไหนก็ตาม ถ้ามันประสบเข้ากับทุกข์ มันจะยิ่งยึดมั่นเป็นตัวเรา เป็นของของเราหนักเข้าไปอีก ต้องแยกธาตุดูให้มันรู้เรื่องเสียบ้าง ถ้าไม่รู้แล้วทุกข์โทษของกิเลสตัณหาอุปาทานมันเข้ามารวบรัดให้ทุกข์อยู่ทั้ง นั้น เผาลนทนทุกข์อยู่ทั้งนั้น แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าบอกให้พิจารณาขันธ์ห้าโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา เราไม่ได้พิจารณาแล้วมันจะไปรู้เรื่องอะไร ก็ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่อย่างเดิม จะฟังธรรมะไปสักเท่าไหร่ๆ แล้วไม่ได้ทำในใจ มันจะไปรู้อะไร จะไปละได้อย่างไร ได้แต่รู้ไปๆ แล้วก็อยากฟังไป ความรู้ที่มันอ่านตัวเองออกนะมันถึงจะละได้ มันถึงจะปล่อยได้วางได้

    ขอให้พยายามเข้าใจว่าที่มันรู้ไม่จริง เห็นไม่แจ้ง มันก็ละไม่ได้ ปล่อยไม่ได้ วางไม่ได้ ทีนี้ให้มันรู้ พิจารณาให้รู้ต่อไปนี้ก็ตั้งหลัก คือ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น กำหนดรู้ลม รู้จิตควบคู่เพื่อให้จิตมันหยุด มันสงบรู้ แล้วก็พิจารณาให้ซึ้งเข้าไปให้ซึ้งเข้าไปภายใน อะไรเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปก็รู้ หรือว่าจะคุมเอาจิตไว้ก่อนก็ได้ เป็นกลางวางเฉยไว้ก่อนก็ได้แล้วก็พิจารณาประกอบเอาไว้

    ถ้ารู้ลักษณะของความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปละก็เป็นอันว่าจิตไม่ไปไหน แล้ว มันรู้อยู่แล้ว แล้วก็ให้ประคับประคองไว้ประคับประคองจิตเอาไว้ด้วยการมีสติ รอบรู้อยู่เป็นประจำวางเฉยให้ได้ ปรกติให้ได้ตลอดเวลาชั่วโมงหนึ่ง ถ้ามีทุกขเวทนาก็ต้องอดทนไปก่อน อย่าไปเอาความสุข ดูทุกข์ไปก่อนพิจารณาปล่อยวางทุกข์ให้ได้ ต้องฝึกเรื่องนี้ให้มากๆ เพราะฉะนั้นก็ขอให้พยายามที่จะรวบรวมสติเข้ามารู้ลมรู้จิตอยู่เป็นปรกติให้ ได้ตลอดชั่วโมงนี้ (ภายหลังเล่าหน้า)

    การมีสติรอบรู้อยู่เป็นประจำ มีคุณประโยชน์มากมายเหลือประมาณ เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่ต้องรับอารมณ์ เมื่อมีสติรอบรู้อยู่ การรับผัสสะ เช่นเสียงเป็นต้น จิตก็ดำรงอยู่ในความเป็นปรกติ ไม่ออกไปพอใจไม่พอใจ ก็สักแต่ว่าได้ยินเท่านั้น แล้วที่รู้อยู่ภายในมันทำให้ไม่ออกไปยึดถือ หรือว่าขณะไหนที่มีความอยาก มันก็รู้จักพิจารณา รู้จักดับ รู้จักปล่อยวางได้

    การอบรมจิตภาวนามีคุณมาก ขอให้พยายามที่จะฝึกให้มีสติสัมปชัญญะทุกอิริยาบถให้ติดต่อ การนั่งมันจะได้ยืดหลักสติได้ มีความรอบรู้ได้ แล้วจะมั่นคง คือว่าตลอดชั่วโมงมันจะไม่มีเผลอ ไม่มีเพลิน แล้วคอยสังเกตดูให้ดีๆ ว่าหลักของสติกับความรู้ต้องควบคู่รอบรู้จิตอยู่ ไม่ให้เผลอได้ ไม่ให้เพลินได้ แล้วนิวรณ์ก็เข้าไม่ได้ เหมือนอย่างกับจุดตะเกียงขึ้นความมืดมันก็เข้ามาไม่ได้ สติกับความรู้ รู้อยู่ รู้อยู่เรื่อย อะไรเกิดดับไปอย่างไรก็ปล่อยวางได้ รู้เพียงเท่านี้ก็ยังดี ถ้าจะมีการเผลอเพลินไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ มันก็หลับมารู้ใหม่ได้

    มีทุกข์ก็อดทนพิจารณาปล่อยวางมันได้ การอบรมนี่ต้องพยายามนะ เพราะว่า การนั่งสำรวมนี่มันได้ดูรายละเอียดข้างใน จิตจะมีการไหวตัวรับอะไร รู้ออกนอกมันก็รู้ ทีนี้มันก็ต้องหดกลับ มันก็กลับมารู้จิตในจิต หรือพิจารณาประกอบต้องฝึกกับมันให้เหมาะสมไปทั้งนั้น แล้วทีนี้กิเลสจะได้เข้ามาปรุงไม่ได้ ตัณหาที่จะเข้ามายั่งให้อยากอะไรต่ออะไรนี่มันจะดับสลายไปได้นะ

    ถ้าว่ายืนหลักสติกับความรู้เอาไว้ควบคู่จิตให้ดี ตัณหามันจะเข้ามาปรุงจิตไม่ได้ แต่อาจมีเวลาเผลอเพลิน เราก็คอยควบคุมให้ติดต่อเอาไว้ เพราะจะมีทุกขเวทนาทำให้จิตไม่สงบถ้าว่าสุขเทวนาแล้วมันชอบ มันเพลิน เราสังเกตดูนะว่า จิตนี่ถ้ามันไม่หลงรสอร่อยของเวทนาแล้วจะดำรงเป็นอุเบกขา คือว่าวางเฉยได้ แล้วก็พยายามประคับประคองเอาไว้ เพราะว่าหลักของสติหรือความรู้ที่ควบคุมจิตอยู่นี่เอง มันทำให้วางเฉยต่ออารมณ์ได้

    การฝึกอย่างนี้ ต้องสังเกตขณะที่ผัสสะกระทบเป็นเครื่องรู้ เป็นเครื่องละมันอยู่ในนี้เสร็จขอให้สังเกตเอาไว้ให้ดีนะ พอรู้แล้วมันละหรือว่ามันปล่อยได้ มันไม่เข้าไปพัวพันในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสผิวกาย มันสักแต่ว่ารู้ รู้แล้วก็ปล่อยไป และจิตนี่ก็สงบได้ ว่างได้ตามสมควร

    แล้วเราก็ต้องรู้ไปอีก ต้องประคับประคองไปอีก เพราะตัณหามันคอยแทรก พยายามระมัดระวัง ขณะที่จิตดิ้นรนก็อดทนไว้ หยุดไว้ พอมันดิ้นรนจะเอาความสุข จะแก้ไขอะไรละก็หยุด หยุดดูมันไป ดูซิความดิ้นรนของตัณหาจะแค่ไหนมันจะไปอย่างไร ต้องอดทนต่อสู้ เวลาที่มันดิ้นรนขึ้นมา มันหวั่นไหวขึ้นมาต้องอดทนให้มากเป็นพิเศษ พอละตัณหาได้ความดิ้นรนของจิตจะระงับได้

    เราต้องมีการพิจารณาประกอบ แล้วก็คอยรอบรู้อยู่ภายในทั้งนั้น การพิจารณาจะต้องเพ่ง เพ่งดูเข้าไป เพ่งรู้อยู่ การเพ่งดู เพ่งรู้อยู่ภายในจิตนี่เอง มันทำลายนิวรณ์ แม้มันจะไปพอใจกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรก็ตาม หรือว่ามันจะมีความฟุ้งซ่าน หรือความง่วงเหงาอะไรก็สุดแท้ หลักสติหลักความรู้ที่รอบรู้อยู่นี่มันจะเป็นเครื่องดับ เครื่องทำลาย ถ้าไม่เผลอไม่เพลิน รู้จิตอยู่เป็นประจำ เป็นปรกติอยู่เป็นประจำ สงบรู้อยู่ไม่ออกไปพอใจ ไม่พอใจ แล้วสตินี้มันจะควบคุมเอาไว้หมด ผัสสะทั้งภายนอกภายใน ที่ไปจำไปคิดเป็นสังขาร ทีนี้มันจะหยุด มันจะระงับ ถ้าว่ายืนหลักสติได้ละก็มันระงับหลายๆ อย่าง เวทนาก็ระงับ หรือว่าสัญญาที่ไปเที่ยวจำอะไรต่ออะไรมาระงับหมด

    ขอให้ยึดหลักสติกับความรู้นี้เอาไว้ให้ แนบแน่น ให้คงที่อยู่แล้วอะไรมันเกิดขึ้นมันก็ดับ เกิดขึ้นมันก็ดับ แล้วจิตนี่ก็ไม่ไปยึดถือ จะสังเกตได้ว่าการไม่ยึดถือนี่เอง จิตจะไม่มีทุกข์มีโทษเกิดขึ้น

    แต่ถ้าว่าขณะไหนที่เผลอไผลไปยึดถือเข้าละก็เอาเรื่องแล้วตัวปรุงนี่ก็ร้าย มันจะมาปรุงจิตให้หวั่นไหว ให้เร่าร้อนอะไรก็สังเกตดู ถ้าว่ายืนหลักสติกับความรุ้แล้วแก้ปัญหานี้ได้หมดจิตจะไม่หวั่นไหว จะไม่เร่าร้อน จะไม่เศร้าหมอง แต่ต้องพยายามนะ พยายามอยู่ทุกอิริยาบถให้ได้ เอาให้เห็นประจักษ์ชัดว่า การรู้อย่างนี้มันดับทุกข์ดับโทษได้ไหม

    แล้วถ้าว่าเป็นสักแต่ว่าดูไป ไม่ได้กำหนด ไม่ได้พิจารณา มันดับทุกข์ดับโทษไม่ได้นะ เราจะต้องฝึกสติจะต้องมีการกำหนดพินิจพิจารณาให้ลึกซึ้ง ถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วมีรู้ๆ อยู่ประเดี๋ยวมันก็เผลอไป เพลินไป ไปปรุง ไปคิด ไปจำหมายอะไรต่ออะไร จิตนี่ก็ไม่สงบหรอก เพราะนิวรณ์มันเข้าปรุง ให้ฟุ้งซ่านไป ทีนี้ไม่ฟุ้งซ่านมันง่วงเสียแล้ว

    นิวรณ์นี่มันเรื่องสำคัญ แต่ ถ้าเรายืนหลักสติได้แล้วละก็เอาชนะได้หมด เอาชนะกามฉันทนิวรณ์ก็ได้ เอาชนะพยาบาทนิวรณ์ก็ได้ เอาชนะถีนมิทธนิวรณ์ก็ได้ เอาชนะอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ก็ได้ แล้วก็เอาชนะวิจิกิจฉานิวรณ์ก็ได้ถ้าว่าทำให้ถูก ยืนหลักความรู้ให้ดีมันดับทุกข์ดับโทษได้ แล้วพิจารณาปล่อยวางอยู่เรื่อย นี่เป็นเรื่องสำคัญ

    เราต้องสนใจการนั่งภาวนา เพราะการนั่งมันได้รวบรวมเอาความรู้เข้ามารู้สึกตัวทั่วพร้อม พิจารณาเข้าข้างใน ต้องฝึกเสมอ แม้แต่ท่านที่สิ้นอาสวะแล้วก็ยังต้องนั่ง แต่ไม่ใช่เป็นการฝึก เป็นการนั่งพิจารณาดูธรรมชาติตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทรงบอกให้นั่งหลังอาหารแล้ว อาจจะนั่งไปตั้งหลายๆ ชั่วโมงก็ได้ หรือว่าอาจจะมีการเปลี่ยนเดินจงกรมก็ได้

    ทีนี้การนั่งตั้งกายตรงดำรงสติมั่น ถ้าเราสังเกตดูให้ดี เมื่อเรานั่งตั้งกายตรงแล้วลมหายใจมันโปร่ง ถ้าไปงอหลังลมหายใจมันไม่ได้แล่นตลอด มันไม่ปลอดโปร่ง การดูลมหายใจมันเป็นการทำให้จิตสงบง่าย แต่ต้องหายใจให้พอดีพอดี การทำอานาปานสติ ควรจะดูตามหลัก แล้วก็เอามาค่อยฝึกดู เพราะว่าที่ฝึกให้รู้ลมหายใจ ก็เพื่อจะให้จิตมั่นคง ไม่ให้มันเที่ยวแส่ส่ายไป แต่ว่าเรามักจะเอากันง่ายๆ ไม่ได้ประกอบเหตุให้เหมาะสม พอนั่งปุ๊บก็จะให้มันสงบอย่างนั้นแหละ มีความอยากขึ้นมาก่อน อยากสงบ แล้วอย่างนี้มันก็เลยไม่สงบ มันก็ยังไม่รู้อะไร ยิ่งการนั่งจะเอาความสุข ก็ยิ่งไม่รู้เรื่องอะไร เพราะว่านั่งนี่ไม่ได้เอาความสุข นั่งจะดูทุกข์ กำหนดทุกข์พิจารณาทุกข์ต่างหาก

    ขอให้เข้าใจเรื่องการอบรมจิตภาวนา ไม่ใช่เอาตาไปเพ่งไปมอง หรือการไปติดพวกนิมิตอีกอย่าง นี่มันเป็นอันตรายถ้ามองออกข้างนอกแล้วนิมิตนั่นแหละเป็นเครื่องหลอก บางทีก็สอนกันไปในการเพ่งออกข้างนอก พวกเพ่งกสิณ ถ้าทำผิดแบบอาจทำให้ประสาทไม่ดี มันต้องมองข้างใน หลักของสติต้องรู้อยู่ที่จิต ควบคุมอยู่ที่จิต ข้างนอกไม่เอา

    เรื่องนิมิตข้างนอกถ้าเห็นก็พิจารณาปล่อยวาง ไม่เที่ยง ดีก็ไม่เที่ยง ชั่วก็ไม่เที่ยง เพราะว่าเพ่งออกข้างนอกนี่บางทีไปเห็นของน่ากลัว ก็จะกลัว ไปเห็นของที่น่ารัก ก็จะไปรัก ทีนี้ก็ไปเล่นกับนิมิต นิมิตติดตา นิมิตติดใจ เอาตาไปเพ่งมันก็ติดตา เอาใจไปเพ่งมันก็ไปติดใจ

    ทีนี้เรื่องวิธีการที่จะรอบรู้เข้าข้างในนี่ เกี่ยวกับการฝึกเริ่มต้น ถ้าว่าไปกำหนดข้านนอกแล้ว ทีนี้มันก็ไปแต่ข้างนอกหรือจะไปว่าไปท่องพุทโธหรืออื่นๆ ซึ่งมันจะชอบท่อง ทีนี้ท่องไปท่องมาท่องแต่ปาก แล้วมัวมาท่องอยู่อย่างนี้ มันก็เหมือนกับเขาท่องสูตรคูณ การท่องก็เพื่อจะระงับความฟุ้งซ่านขั้นหนึ่งเหมือนกัน แต่ไปนั่งท่องอยู่อย่างนั้นไม่ได้พิจารณาอะไร แล้วปัญญามันจะเกิดได้อย่างไร

    นี่การรอบรู้ในวิธีการที่จะควบคุมจิตใจ ต้องใช้สติปัญญาพิจารณารอบรู้ด้วย ไม่ใช่มานั่งเฉยๆ เป็นโมหะ หรือจะไปเอาสมาธิสงบสบายนั่นมันก็โมหะทั้งนั้น สมาธินี่ต้องให้รู้ว่าจะต้องมีการเพ่งพิจารณาให้เห็นแจ้ง ไม่ใช้มาเอาสงบสบายหรือว่าแบบแข็งทื่อ ไม่ใช่แบบนั้น ถ้าว่าเป็นแบบที่จะให้เกิดวิปัสสนาก็ต่างกันมากทีเดียว ที่จะไปทำสมาธิแบบตัวแข็ง แล้วจะไปรู้อะไร นี่มันต้องพิจารณา รูปนาม ขันธ์ห้า เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ต้องมาพิจารณาอยู่อย่างนี้

    เพราะว่าจิตที่สงบมันก็พิจารณาได้ลึกซึ้งเข้าไปอีก ไม่ใช่ไปสงบเพลินๆ ตามแบบที่ว่าจะเอาความสุข นี่มันไม่ใช่แบบนั้น ต้องเป็นแบบที่สงบ พอจิตเป็นสมาธิตั้งมั่นก็พิจารณาให้เห็นเกิดดับ รูปนามเกิดดับ เปลี่ยนแปลง มันถึงจะไปกำจัดอาสวะได้ ถ้าไปสงบนิ่งๆ เฉยๆ แล้วมันจะไปรู้อะไร

    การอบรมจิต มันต้องค้นคว้าต้องพิจารณาประกอบมีนิวรณ์เกิดขึ้นอย่างไร เผลอสติไป เพลินไป ในลักษณะอย่างไรต้องรู้ แล้วการนั่ง ถ้าว่าเป็นการนั่งที่กำหนดติดต่อเหมือนอย่างกับชั่วโมงหนึ่งที่กำหนดจิตได้ ติดต่อ แล้วเปลี่ยนอิริยาบถสติต้องมาประคองอยู่ ไม่ใช่ว่าเลิกแล้วก็เลิกไป เพลินไปกับอะไรต่ออะไร ปล่อยสติไปอย่างนี้ไม่ดี เลิกแล้วแม้จะเล่าหน้าสติก็ยังอยู่ประคับประคองอยู่ ต้องควบคุมอยู่ทั้งนั้น ต้องกำหนดพิจารณาประกอบ แล้วต้องเข้าข้างใน อย่าออกข้างนอกผัสสะข้างนอก มันก็ได้ยิน ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่นอะไรอย่างนี้ มันสักแต่ว่าผัสสะ จิตมันต้องวางเฉย มันต้องปรกติเอาไว้

    การสำรวมด้วยการมีสติอย่างหนึ่ง สังวรด้วยความรู้ล้วนๆ อย่างหนึ่ง แล้วขั้นที่เป็นญาณทัศนะที่อาจจะมีขึ้นในบางครั้งก็ต้องประคับประคองเหมือน กัน ท่านถึงได้เปรียบเหมือนบาตรที่ใส่น้ำมันเต็มเปี่ยม แล้วเราจะเดินประคองบาตรที่ใส่น้ำมันเต็มเปี่ยม จะไม่ให้น้ำมันหก จะเดินอย่างไร จะเดินแบบไหน การประคองหลักความรู้หรือสติก็ต้องทดลองดูการเปลี่ยนอิริยาบถ จะต้องเปลี่ยนในลักษณะที่เชื่องช้า ไม่ใช่เลิกก็เลิกเร็วๆ ยืนเดินอะไรเหล่านี้อิริยาบถต้องช้า

    เพราะฉะนั้นถ้าฝึกให้ดีแล้ว ฝึกด้วยการอยู่คนเดียวละก็ดี มันจึงจะได้ความละเอียด เวลาเดินต้องกำหนดสติรู้อยู่ที่จิต แล้วเท้ามันก็ก้าวไปเอง กำหนดรู้ข้างในไม่ใช่กำหนดดูแต่ข้างนอกส่วนมากมักจะฝึกกันในการกำหนดข้างนอก ถ้ากำหนดข้างในแล้ว มันมีแนวพิจารณาประกอบ จิตรู้จิตติดต่อพิจารณาประกอบยืนหลักนี้เอาไว้ มันกันความเผลอ ความเพลิน ความแทรกแซง ของความจำความคิดด้วย แล้วควรจะพยายามทดลองดูนะ ที่ไหนที่ฝึกในการกำหนดข้างนอก ทีนี้มากำหนดข้างในเสีย รู้จิตรู้กายในกาย ต้องเข้าข้างในทั้งหมด หลักของท่านก็มีอยู่แล้วตามเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิตเห็นธรรมในธรรม

    หลักของท่านมีอยู่ในสติปัฏฐานสี่ เรื่องขันธ์ห้าก็เหมือนกัน ถ้าทำให้ถูกดีแล้วมันได้รู้จริง เห็นแจ้งขึ้นมา มันปล่อยมันวาง มันว่างไปทั้งนั้น การอบรมต้องให้เกิดปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง อย่าไปเอาความสุข ต้องพิจารณาสุขนั่นแหละ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของของเรา ไม่มีแก่นสาร ยืนหลักนี้ไว้เรื่อย ตามในพระพุทธภาษิตไม่ว่าบทไหน ตั้งแต่นิยามสูตร วิปลาส อนิจจลักขณะ ทุกขลักขณะอนัตตลักขณะ ตลอดแถวมาเป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย เรื่องทรงแสดงสมมติที่ว่า ใครๆ เพลินยิ่งรักใคร่กองรูป ผู้นั้นเพลินยิ่งรักใครกองทุกข์ ใครๆ เพลินยิ่งดีรักใคร่รูปกองทุกข์ ตถาคตกล่าวว่า ผู้นั้นไม่หลุดพ้นไปจากรูปกองทุกข์ได้ ตลอดจนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไม่หลุดพ้นออกไปได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ความจริงแล้ว แสดงธรรมล้วนแต่มีอรรถรสุขุมลุ่มลึก เราไม่ได้นำมาประกอบการศึกษาภายในตัวเอง ไม่ได้กำหนดไม่ได้พิจารณาให้ถ่องแท้ จึงไม่อาจรู้จริงเห็นแจ้งได้



    ที่มา ::
     
  2. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ตรงทางตรงธรรมดีแท้ ธรรมที่ท่าน ก. แสดง อนุโมทนา และขอคัดลอกไปเผยแพร่ต่อไป ^-^
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 ตุลาคม 2010
  3. kikinlala

    kikinlala เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    4,939
    ค่าพลัง:
    +8,843
    ขอเซฟไว้อ่านนะคะ ขอบคุณค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...