พระพรหมคุณาภรณ์ สนทนาธรรม ชี้"หัวใจ"จตุคามฯ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย sithiphong, 31 พฤษภาคม 2007.

  1. sithiphong

    sithiphong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    45,445
    ค่าพลัง:
    +141,949
    ที่มา http://www.matichon.co.th/khaosod/k...g=03spa04310550&day=2007/05/31&sectionid=0334

    [​IMG]


    วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6027​

    พระพรหมคุณาภรณ์ สนทนาธรรม ชี้"หัวใจ"จตุคามฯ




    [​IMG]หมายเหตุ บทสนทนาธรรมนี้ บันทึกจากการซักถามสนทนา ระหว่างคณะผู้มาเยี่ยมกับพระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ.ปยุตโต ) ที่วัดญาณเวศกวัน ในวันสงกรานต์ 13 เมษายน 2550 ข่าวสดได้ตัดทอนเนื้อหาบางตอนเพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อที่ ฉบับสมบูรณ์ ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้จัดพิมพ์ออกเผยแพร่ในวันวิสาขบูชา 31 พฤษภาคม 2550 คือวันเดียวกันนี้

    คติ : จตุคามรามเทพ

    ผู้มาเยี่ยม :เรื่องน่าห่วงในสังคมไทยอีกเรื่องหนึ่ง คือ กระแสนิยม"จตุคามรามเทพ" ซึ่งเท่ากับนับถือเทวดามากกว่าพระพุทธเจ้า ความนิยมนี้รุนแรงมาก กล่าวกันว่า มีเงินแพร่สะพัดถึงสองหมื่นสองพันล้านบาท ท่านเจ้าคุณฯ มีความคิดเห็นอย่างไร

    พระตอบ : ถ้าจะห่วงเรื่องนี้กันละก็ อย่ามาเพิ่งห่วงที่เรื่องจตุคามรามเทพนี่เลย ควรจะห่วงมานานแล้ว กระแสจตุคามรามเทพนี่เป็นเพียงอาการหนึ่งของโรคนี้ที่สังคมไทยเป็นมานานแล้ว

    เรื่องพระพรหม พระราหู พระพิฆเนศ คนไทยเอาทั้งนั้น เดี๋ยวก็ฮือๆ แต่ตอนนี้อาการมันแรงขึ้นๆ

    มองอีกแง่หนึ่ง เรื่องนี้ ถ้าคนเป็นชาวพุทธจริงละก็ ไม่ต้องไปห่วงเขาหรอก ถ้าเป็นชาวพุทธจริงนะ ถึงจะนับถือของพวกนี้ เขาจะมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดผลเสียหาย

    หลวงพ่อที่ดัง มีเทวดาใหญ่เฝ้าดู

    ผู้มาเยี่ยม: ท่านว่า ถ้าคนเป็นชาวพุทธจริง ก็ไม่ต้องห่วง ชาวพุทธจริง ถ้านับถือของพวกนี้ จะมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดผลเสียหายได้อย่างไร

    พระตอบ: คนในสังคมนี้ไม่ควรจะมัวมาเถียงกันแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย เป็นฝ่ายเอาจตุคามฯ กับฝ่ายไม่เอาจตุคามฯ

    พวกที่เป็นชาวพุทธจริงนั้น เขามีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเทวดากันมาอย่างเป็นระบบ ในที่นี้ควรทบทวนหลักเกี่ยวกับเรื่องเทวดาไว้ 2 อย่าง คือ

    1) หลักความสัมพันธ์ระหว่างเทพทั้งหลาย กับปูชนียวัตถุสถานในพระพุทธศาสนา

    2) หลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดา หรือระหว่างคนกับเทพ

    ถ้ารู้เข้าใจและทำตามหลักนี้แล้ว ก็จะไม่เสียหาย ชีวิตจะไม่เสื่อม สังคมก็จะไม่สลาย

    ในข้อ 1 ) อาตมาเคยเล่ามาแล้วในเรื่องพระพรหมพระภูมิ คือ คติของเราแต่โบราณเกี่ยวกับการนับถือพระศักดิ์สิทธิ์ อย่างพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร เป็นต้นนั้น คนก็ไม่ค่อยรู้เรื่องกัน คนจำนวนมากนึกไปเองว่า องค์หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้บันดาลโน่นบันดาลนี่ให้แก่ตน แต่ที่จริงไม่ใช่ องค์หลวงพ่อท่านไม่ต้องมาเหนื่อยอย่างนั้น

    หลักมีอยู่ว่า ที่พระพุทธรูปสำคัญและพระสถูปเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนั้น มีเทพผู้ใหญ่เฝ้าหรือพิทักษ์รักษา และเทพเหล่านี้แหละคอยดูแลเหมือนเป็นผู้รับสนองงาน

    หลักเรื่องนี้สืบมาจากคติเก่าแต่ไหนแต่ไรแล้ว เป็นคติโบราณจารึกไว้ในคัมภีร์ดั้งเดิม คือ เวลามีการสร้างสถานที่สำคัญอะไรต่างๆ แม้แต่บ้านของชาวบ้าน พวกเทวดาก็จะไปจับจองยึดครองสถานที่ ถ้าเป็นบ้านเศรษฐี ก็อาจจะไปอยู่ที่ซุ้มประตูบ้าน

    อย่างในครั้งพุทธกาล ที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็มีเทวดามาอยู่ประจำที่ซุ้มประตู (หรือในตอนที่พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธสร้างเมืองปาฏลีบุตร (ต่อมาเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช, ปัจจุบันเรียกว่าเมือง Patna) เทวดาทั้งหลายก็มาครองสถานที่ต่างๆ ตามเหมาะสมลดหลั่นกันไปตามศักดิ์ของตนๆ

    ต่อมา เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลาย เทวดาจำนวนมากก็มานับถือพระพุทธศาสนา หรือเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาแล้วไปเกิดเป็นเทวดา เวลาเขาสร้างปูชนียสถานและพระพุทธรูปสำคัญ เทวดาผู้ใหญ่ที่เป็นชาวพุทธก็จะไปอยู่

    โดยเฉพาะในสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญๆ เทวดาจะชอบเป็นธรรมดา เพราะจะได้ใกล้ชิดเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ แล้วก็ทำหน้าที่ดูแลรักษาไปด้วย เช่น เทวดาที่รักษาพระแก้ว ก็อาจจะอยู่ที่ฉัตร หรืออยู่ที่ฐานพระก็ได้ นี่เป็นคติที่ว่ามีเทวดาคุ้มครองรักษาพระพุทธรูปสำคัญๆ

    ทีนี้ ที่ว่าพระพุทธรูปองค์นั้นศักดิ์สิทธิ์ บันดาลโน่น บันดาลนี่ ก็คือเทวดาที่พิทักษ์องค์พระนั่นเองเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ พระพุทธเจ้าไม่ทรงมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องกิเลสของชาวบ้าน ไม่มาเที่ยวบันดาลลาภ บันดาลยศให้ใครหรอก และพระองค์ก็ปรินิพพานไปแล้ว มันเป็นเรื่องของเทวดาที่รักษา

    แล้วก็เป็นธรรมดาว่า เทวดาที่มาอยู่กับหลวงพ่อองค์ใหญ่ ก็ย่อมเป็นเทวดาที่ยิ่งใหญ่ มีฤทธิ์เดชศักดานุภาพมาก พร้อมกับที่จะต้องเป็นเทพที่ดีมีธรรมด้วย คือมีเมตตากรุณาสูงมาก อยากจะช่วยคนทุกข์ยาก และไม่กลั่นแกล้งข่มเหงรังแกคน ไม่เป็นอย่างเทวดาร้ายหลายองค์ที่ยิ่งใหญ่โต ก็ยิ่งเกรี้ยวกราดพิโรธเอาง่ายๆ คนก็เลยชอบไปหาหลวงพ่อ ไปบอกทุกข์ร้อนแก่หลวงพ่อ แล้วเทวดาที่นั่นก็จะดูแลรับสนองงานต่อไป เป็นคติมาอย่างนี้

    มาดูเรื่องนี้ ตำนานบางแหล่งก็ว่า "จตุคามรามเทพ" เป็นเทพที่พิทักษ์พระบรมธาตุเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

    เรื่องก็มาลงตรงที่ว่า พระบรมธาตุ ที่เมืองนครศรีธรรมราชมีประวัติซึ่งเข้าคตินี้ คือเป็นเจดีย์ใหญ่ที่สร้างอุทิศถวายพระพุทธเจ้า ก็มีเทวดามาเฝ้า ซึ่งบอกกันว่าชื่อ จตุคามรามเทพ

    องค์จตุคามรามเทพนี้มีประวัติความเป็นมาหลายอย่าง บ้างก็ว่า เป็นกษัตริย์ศรีวิชัยมาก่อน บ้างก็ว่าเป็นกษัตริย์พี่น้อง 2 พระองค์ เมื่อสวรรคตแล้วก็มาเป็นเทพพิทักษ์พระบรมธาตุ โดยหวังทำความดี จะได้บำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อการตรัสรู้ธรรมในภายภาคหน้า นี่ก็เป็นเรื่องตามคติพระพุทธศาสนาชัดๆ

    ในรายละเอียดของบางตำนานที่ว่าเป็นกษัตริย์พี่น้อง 2 พระองค์นั้น ก็ว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของเมืองและได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ และเมื่อสวรรคตแล้ว ประชาชนได้ยกย่องเทิดทูนให้เป็นพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง แล้วยังมีรูปขนาดใหญ่ของทั้งสองพระองค์ประทับนั่งอยู่ข้างบันไดทางขึ้นพระบรมธาตุเจดีย์ในวิหารพระทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารด้วย

    เมื่อดูตามนี้ การที่องค์จตุคามและรามเทพจะทรงพิทักษ์พระบรมธาตุแล้วจะเป็นเทวดารักษาเมืองด้วย ก็ไม่แปลกอะไร เพราะตอนที่เป็นกษัตริย์ยังไม่สวรรคต ก็ทรงบูชาพระธาตุและรักษาเมืองอยู่แล้ว หลังสวรรคต ก็พิทักษ์พระบรมธาตุซึ่งเป็นหัวใจของเมือง พร้อมทั้งเป็นพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง ซึ่งเหมือนรักษาร่างกายของเมืองด้วย เป็นอันว่ารักษาบ้านเมืองให้อยู่ดีพร้อมหมด ทั้งด้านร่างกาย และด้านจิตใจ <TABLE style="BORDER-RIGHT: #ffffff 1px dotted; BORDER-TOP: #ffffff 1px dotted; BORDER-LEFT: #ffffff 1px dotted; BORDER-BOTTOM: #ffffff 1px dotted" cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=right border=1><TBODY><TR bgColor=#ffe9ff><TD>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>

    คนมาไหว้มาบูชาพระบรมธาตุ พิจารณาได้แล้วขั้นหนึ่งว่าเป็นคนดี ถ้าต้องการความช่วยเหลืออะไร ก็น่าจะควรแก่เมตตาการุณย์ขององค์จตุคามและรามเทพ ที่ดูแลพระบรมธาตุอยู่และกำลังบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์

    เลยพูดในข้อที่ 1) คือคติเรื่องเทพเฝ้าพระพุทธรูปสำคัญและเทวดาพิทักษ์พระสถูปเจดียสถานมาเสียยืดยาว

    ที่ใหญ่แท้คือธรรม พึ่งกรรมดีกว่ารอเทวดา

    ข้อ 2) คือหลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดา หรือระหว่างคนกับเทพ

    หลักข้อนี้ก็ง่ายๆ ถ้าเป็นชาวพุทธจริงก็ต้องรู้แก่ใจชัดอยู่แล้วว่า อ๋อ...ไม่ว่าเทพว่าคน ต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ถือว่าธรรมสูงสุด และสรรพสัตว์มีกรรมเป็นของตน ไม่ว่าคนหรือเทวดาก็ต้องว่าไปตามกรรม โดยเอาธรรมเป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์ตัดสิน

    นี้ก็หมายความด้วยว่า คนกับเทพนั้นนับถือกันตามธรรมและตามปกติ ผู้ที่จะเกิดเป็นเทพได้ ก็เพราะมีคุณธรรมกรรมดีบางอย่าง เมื่อว่าโดยเฉลี่ยเทวดาจึงมีธรรมสูงกว่ามนุษย์ ก็เลยถือกันว่าให้มนุษย์โน้มไปทางเคารพเทวดา

    แต่จะอย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายควรมีเมตตาคือตั้งไมตรีจิตต่อกัน อย่างพวกเราเวลาแผ่เมตตา ก็แผ่ให้เทวดาด้วย ทำบุญ ก็อุทิศให้เทวดาด้วย แม้แต่จะสวดมนต์ฟังธรรมกัน ก็เชิญเทวดามาฟังด้วย และเทวดาที่ดี ก็ใฝ่หาความสุขให้แก่มนุษย์ เหมือนผู้ใหญ่ที่มีเมตตาอยากดูแลรักษาช่วยเหลือเด็ก โดยเฉพาะคุ้มครองเด็กที่ประพฤติดี ให้อยู่เย็นเป็นสุข ก็เหมือนเทวดาที่รักษาพระบรมธาตุนั่นแหละ ที่ท่านอยากดูแลคนให้อยู่กันดี ให้คนดีพ้นภัยอันตราย

    อย่างในบทสวดมนต์ ที่เรียกว่าพระปริตรต่างๆ นั้น ก็มีบทที่สื่อสารกับพวกเทวดาเยอะแยะ

    เพราะฉะนั้น ชาวพุทธที่ปฏิบัติกิจวัตรทางพระศาสนาและทำกิจกรรมในทางบุญกุศลต่างๆ จึงอยู่ในบรรยากาศที่คุ้นเคยสนิทสนมกับเทวดาทั้งหลายแทบจะตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว เรียกว่ามีเทวดาคอยและพร้อมที่จะช่วยอยู่ใกล้ๆ ไม่ต้องไปเที่ยวหาชนิดเสี่ยงให้เขาหลอกกันวุ่นวาย

    แต่ทั้งนี้ ก็อย่างที่ว่าแล้ว ทั้งเทพทั้งคน ต่างก็มีกรรมเป็นของตน และทุกตนมีภาระของตัวที่จะต้องทำชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น อย่างที่ว่า องค์จตุคาม-รามเทพเองก็กำลังบำเพ็ญบารมีอยู่นั่นแหละ ต้องฝึกหัดทำอะไรต่างๆ ให้เป็น ต้องพัฒนาความสามารถต่างๆ ต้องสร้างความเข้มแข็งในตัวเอง ต้องแสวงหาความรู้ ต้องรู้จักคิด ต้องสร้างปัญญา

    ถ้ามัวรับความช่วยเหลือ ก็อ่อนแอป้อแป้ปวกเปียกลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ไม่มีใครช่วยไหว
     
  2. sithiphong

    sithiphong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    45,445
    ค่าพลัง:
    +141,949
    พระพรหมคุณาภรณ์ สนทนาธรรม ชี้"หัวใจ"จตุคามฯ
    <HR style="COLOR: #ffffff" SIZE=1><!-- / icon and title --><!-- message -->ที่มา http://www.matichon.co.th/khaosod/kh...sectionid=0334

    [​IMG]

    ต่อครับ

    กรรมสำคัญที่จะทำให้เราสูงขึ้นตามธรรม และพิสูจน์ความสามารถที่แท้ของมนุษย์ ก็คือ การสร้างสรรค์ผลสำเร็จที่ดีงามหรือสร้างประโยชน์สุขที่ไม่ต้องมีการเบียดเบียนใดๆ โดยใช้เรี่ยวแรงความเพียรพยายาม ทำการด้วยปัญญาที่เข้าถึงเหตุปัจจัยจริงๆ

    นี่ไง ในที่สุด ก็มาเข้าหลักใหญ่ที่ให้พึ่งตน อย่าเพาะนิสัยเสียที่เอาแต่หวังลาภลอย-คอยผลดลบันดาล

    คิดดูให้ดีนะ พึ่งกรรมดีด้วยความเพียรและสติปัญญาของตัวเรา ดีกว่าเที่ยวขอรอผลดลบันดาลจากเทวดาเป็นไหนๆ

    เทพดี คนดี บรรจบกันที่ธรรม

    ผู้แทรกถาม: เมื่อกี้นี้ท่านว่า โดยเฉลี่ยเทวดามีคุณธรรมสูงกว่าคน ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า เทวดาที่แย่กว่าคนก็มีใช่ไหม? แล้วถ้าเจอเทวดาที่ไม่ดี เราจะทำอย่างไร?

    พระตอบ: ก็แน่ละซิ เทวดาร้ายมีเยอะแยะไป ถ้าเทวดานั้นเป็นชาวพุทธ เป็นผู้รู้จักธรรม ก็ประพฤติปฏิบัติตามธรรม เรื่องร้ายก็ไม่มี

    ฉะนั้น ถ้าคนกับเทวดามีเรื่องขัดแย้งกัน ชาวพุทธมีทางออก ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่อย่างหวาดกลัวต่อเทวดา ถ้าการกระทำของเราชอบธรรม เรายืนอยู่ในหลัก เทวดาต้องยอม

    ขอยกตัวอย่าง ที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์เสด็จบ่อย เพราะท่านมีศรัทธามาก เทวดาที่อยู่บนซุ้มประตูบ้านท่านเศรษฐี ยังไม่ได้นับถือพระและชอบอยู่สบายๆ เวลามีพระไปที่บ้านผ่านซุ้มประตู เทวดาต้องลงมาบ่อยๆ ก็เกิดความไม่พอใจ

    ขัดเคืองขึ้นมา คิดว่า ทำอย่างไรจะให้พระไม่มาบ้านนี้อีก พอดีตอนนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีทำบุญมาก ยากจนลง เทวดาได้โอกาส ไปปรากฏตัวแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี พรรณนาว่า เวลานี้ท่านจนลง เนื่องจากท่านใช้ทรัพย์ไปบำรุงพระสงฆ์และทำบุญต่างๆ จนจวนจะหมด นี่ถ้าท่านตั้งตัวให้ดี ก็จะร่ำรวยยิ่งขึ้นไป ข้าพเจ้าก็อยากจะช่วย แต่ทำอย่างไรท่านจะไม่ใช่จ่ายทรัพย์ให้สิ้นเปลืองแบบนี้อีก ถ้าท่านเลิกใช้จ่ายแบบนี้ ข้าพเจ้ามีวิธีช่วยท่าน ข้าพเจ้ารู้ขุมทรัพย์ จะบอกขุมทรัพย์ให้

    ฝ่ายเศรษฐีเป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย ได้อุปถัมภ์พระศาสนา แจกทานสงเคราะห์คนยากไร้ พอได้ยินเทวดาว่าอย่างนี้ ก็คิดว่า เทวดานี่ชวนเราผิดทางเสียแล้ว ก็จึงบอกว่า นี่ท่านพูดชวนออกนอกลู่นอกทาง ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าในฐานะเจ้าบ้าน ไม่อยากให้ท่านอยู่ที่นี่อีกต่อไป

    อันนี้เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของเจ้าบ้าน คติโบราณอันนี้คนไทยไม่ค่อยรู้ เจ้าบ้านมีสิทธิ์ ถ้าเขาไม่ให้อยู่ เทวดาก็ไม่สามารถอยู่ได้

    ฝ่ายเทวดาถูกเศรษฐีไล่ไม่ให้อยู่ เดือดร้อน ก็เลยไปหาพระอินทร์ ขอให้ช่วย พระอินทร์บอกว่า -ข้าพเจ้าก็ช่วยไม่ได้ แต่จะแนะอุบายให้อย่างหนึ่ง เอาอย่างนี้สิ ท่านไปพูดกับเขา บอกว่าท่านเศรษฐีทำบุญทำกุศล ช่วยเหลือผู้คน ทำสังคมสงเคราะห์มากมายนี่ดี มีประโยชน์มาก ข้าพเจ้าสนับสนุน เมื่อท่านจนลง ข้าพเจ้าจะบอกขุมทรัพย์ให้ ท่านจะได้มีเงินมาทำบุญทำกุศลมากๆ

    เทวดาเลยใช้วิธีใหม่ มาปรากฏตัวกับเศรษฐี แล้วพูดอีกแบบหนึ่ง เศรษฐีเลยยอมให้อยู่

    นี้เป็นตัวอย่างให้เห็นหลัก ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเทวดา ตามคติแต่โบราณที่สืบมาในพระพุทธศาสนา คตินี้ก็คือ เทวดาอาจจะเหนือกว่ามนุษย์ แต่ไม่เหนือกว่าธรรม ธรรมเป็นสิ่งสูงสุด ถ้ามนุษย์ถูกตามธรรมแล้ว ธรรมก็เป็นตัวตัดสินเทวดาจะต้องยอม
    <TABLE style="BORDER-RIGHT: #ffffff 1px dotted; BORDER-TOP: #ffffff 1px dotted; BORDER-LEFT: #ffffff 1px dotted; BORDER-BOTTOM: #ffffff 1px dotted" cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=2><TBODY><TR bgColor=#ffffe8><TD>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>

    พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา ได้เปลี่ยนความยึดถือที่ว่าเทพสูงสุด มาเป็นถือธรรมสูงสุด มีเรื่องในคัมภีร์หลายเรื่องเกี่ยวกับเทวดาและมนุษย์ขัดกัน ท่านสอนคติไว้เพื่อให้ตัวอย่างที่ว่าต้องเอาธรรมตัดสิน ถ้ามนุษย์ถูก เทวดาก็อยู่ไม่ได้ ต้องแพ้ไปทุกที

    ทั้งที่เรื่องทำนองนี้ปรากฏในคัมภีร์หลายที่ มนุษย์จะมีเรื่องขัดแย้งกับเทวดาอย่างไร ก็ต้องยุติด้วยธรรม ถ้าเทวดาผิดธรรม เทวดาต้องไป ท่านพยายามสอนให้มนุษย์หันออกจากทิศทางของลัทธิหวังพึ่งเทวดา ที่มัวอ้อนวอนขอให้เทวดาดลบันดาล ให้หันมายึดถือธรรมเป็นใหญ่ แต่ชาวพุทธก็ไม่สนใจศึกษาคติพระพุทธศาสนาในเรื่องให้ถือธรรมเป็นใหญ่นี้

    ถาม: เอาละ พวกเทวดาไม่ดี ก็ว่าไปตามธรรม แต่น่าจะโทษเทวดาดีอย่างจตุคามรามเทพที่รักษาพระธาตุด้วยซิ เพราะท่านมีเมตตากรุณาคอยจะช่วยเหลือคน ก็เลยทำให้คนคอยหวังพึ่ง ชอบรอให้ท่านมาช่วย

    แล้วจะทำอย่างไรให้คนไทยเข้มแข็ง รู้จักคิดทำอะไรด้วยตัวเองให้จริงจัง ชนิดที่ว่าให้มันมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวกันไปเลย?

    พระตอบ: ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่า พระกับญาติโยม ต้องเข้าใจและจับให้ถูกจุด ถ้าญาติโยมไม่จับจุด พระก็ต้องชี้จุดให้จับ คือต้องมาเน้นกันในแง่ที่ว่า เทพองค์นั้นท่านเป็นชาวพุทธที่ดี ท่านมีศรัทธามาทำหน้าที่ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา ท่านมาบำเพ็ญความดีของท่าน นับเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าชาวพุทธควรจะปฏิบัติตัวอย่างนี้ๆ เราก็ควรบำเพ็ญความดีอย่างเทพองค์นี้ ควรเอาท่านเป็นตัวอย่าง ในการที่จะพยายามทำความดีอย่างท่าน ไม่ใช่ว่าท่านทำความดี แต่เราจะคอยฉวยโอกาสเอาผลประโยชน์จากการทำความดีของท่าน

    ควรเอาเทพที่ดีมาช่วยประกันใจตัวให้มั่นคงไม่หวาดหวั่นพรั่นกลัว และปลุกใจตัวให้มีกำลังใจเข้มแข็งที่จะทำการดีงามให้สำเร็จ ร่วมขบวนกับเทพนั้นในการบำเพ็ญความดีตลอดจนบารมีต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ ไม่ใช่ว่าเห็นท่านศักดิ์สิทธิ์แบบใจดี ก็ได้แต่หวังผลที่ตัวจะฉกฉวยเอาจากการขอให้ท่านมาบันดาลอะไรๆ ให้

    รวมแล้วก็คือ มีความรู้เข้าใจ และจัดปรับการปฏิบัติให้เข้ามาในทิศทางที่ถูกเป็น 2 ขั้น

    1. รู้เข้าใจและโยงเข้าหาหลักการได้ คือรู้จักสิ่งที่ตนนับถือนั้นว่าเป็นใคร คืออะไร และเข้าใจคติแต่เดิมมา ซึ่งตรงกับที่ตำนานบอกว่าจตุคามรามเทพเป็นเทวดาพิทักษ์รักษาพระบรมธาตุให้ท่านเป็นพลังปกปักและปลุกให้เราเข้มแข็งมั่นใจในการทำการที่ดี

    2. ปฏิบัติตัวตามวิธีที่จะให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากเรื่องนี้คือทำความดีอย่างท่าน จตุคามรามเทพบำเพ็ญบารมีตามหลักพุทธศาสน์อย่างไร ก็เอามาเผยแพร่บอกกัน เพื่อให้เป็นการนับถืออย่างมีสาระ

    ไม่ใช่ว่า นับถือบูชานักหนา แต่ไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังบูชาใคร ท่านมาจากไหน

    ผู้มีปัญญา เชิญเทพพรหมมาช่วยพัฒนาบ้านเมือง

    ถาม : ฟังตอนนี้ ทำให้นึกถึงเรื่องท่านท้าวมหาพรหมที่เอราวัณคราวนั้นท่านก็พูดอย่างนี้..

    พระตอบ : ตอนที่ท้าวมหาพรหมถูกทุบ ก็เป็นเหตุการณ์ร้ายครั้งใหญ่ เป็นโอกาสที่จะมีช่องให้การศึกษาเข้าไป อย่างน้อยจะได้พัฒนาคนในด้านความรู้เข้าใจ ที่จะส่งผลต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาคนนั้นต่อไป

    โอกาสที่จะเป็นช่องให้การศึกษาเข้าไปอย่างไร? อ๋อ..ก็ตั้งแต่สร้างศาลเมื่อ 51 ปีก่อนโน้นแล้ว ผู้วางกำหนดในการสร้างศาลเขาก็เขียนบอกกำกับไว้แล้วว่า พระพรหมองค์นี้ คือ ท้าวมหาพรหม จะมาประทับที่ศาลพระพรหมเอราวัณทุกวัน เว้นวันพระ เพราะในวันพระนั้น พระพรหมจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

    นี่ทางเชื่อมโยงสู่การก้าวไปในการพัฒนาคนนั้น เขาว่าไว้ให้เสร็จแล้ว ตามกระบวนการของการศึกษาเลยทีเดียว

    เราต้องยอมรับความจริงว่า ในการพัฒนามนุษย์ส่วนใหญ่ในระบบที่ไม่ใช้การบังคับนั้น เราจำเป็นต้องเริ่มด้วยยอมรับคนตามที่เขาเป็น แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยเรื่อยเปื่อยไป

    เอ้า..พวกคุณจะไปขอพระพรหม ก็ขอไป ฉันไม่ขัดขวางละ (ถึงคิดจะขวาง ก็ขวางไม่ไหว) แต่ทำอย่างไรจะพัฒนาเขาขึ้นมาได้บ้าง ก็เอากิจวัตรของพระพรหมที่บอกไว้แล้วนั่นแหละมาเตือนเขา

    ก็เผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนไปเลยว่า ท้าวมหาพรหมองค์นี้ท่านคือใคร มาอย่างไร ไปอย่างไร เรื่องเกี่ยวกับพระพรหมมีอะไรที่ควรรู้บ้าง ก็ว่าไป

    เสร็จแล้ว ปิดท้ายก็บอกชาวบ้าน เขียนติดไว้ก็ได้ว่า เออ..วันที่เท่านั้นๆ เป็นวันพระนะ พระพรหมท่านจะไม่มา เพราะท่านไปวัด ท่านจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

    แล้วก็แนะนำต่อไปเลยว่า พวกเรานี่ก็มาทำตามพระพรหมกันเถอะนะ ถึงวันพระเราก็ไปวัด ไปฟังธรรมกัน ก็สอนไปสิ ให้ได้ประโยชน์เป็นจุดเชื่อมที่จะพัฒนาคน

    ในเมื่อเราไม่สามารถหักด้ามพร้าด้วยเข่า เขานับถือลุ่มหลงอยู่ เราก็เอาเป็นจุดบรรจบประสานให้เป็นแนวทางที่เขาจะเดินก้าวหน้าในการพัฒนาตัวต่อไป

    แต่คนไทย ท่านผู้ปกครอง ไม่เอาเรื่องเลย ไม่มองช่องทางที่จะพัฒนามนุษย์อันนี้ ก็เลยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรทั้งนั้น

    ตรงข้าม ตอนที่ศาลพระพรหมถูกทุบนั้น ท่านผู้บริหารบ้านเมืองมัวแต่กลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายอะไรขึ้นแก่ตัวเอง นึกไม่แต่ว่าจะเป็นลางร้าย ต้องไปแก้เคล็ด แทนที่จะมองไปถึงบ้านเมือง และประโยชน์ของประชาชน ก็ตันอยู่แค่ตัวเอง เลยไม่ได้อะไร

    เห็นชัดๆ ว่า พระพรหมองค์นี้ไม่ใช่พรหมในศาสนาพราหมณ์แต่เป็นพรหมในพระพุทธศาสนาเป็นพรหมในชั้นมหาพรหม

    มหาพรหมเป็นหนึ่งในรูปพรหม 16 ชั้น ซึ่งแบ่งตามฌาน 4 ระดับ เริ่มด้วยระดับปฐมฌานภูมิ คือ ฌานที่ 1 มีพรหมอยู่ 3 ชั้นได้แก่ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา และมหาพรหม

    ชั้นต่อไป คือ ทุติยฌานภูมิ ประกอบด้วย ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา จากนั้น เป็น ตติยฌานภูมิ ประกอบด้วย ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา แล้วจึงถึงชั้นสูงสุด คือ จตุตถฌานภูมิ ประกอบด้วย เวหัปผลา อสัญญี อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิษฐา รวมเป็น 16 ชั้น

    มหาพรหมมา คือ พรหมชั้นที่ 3 ในระดับปฐมฌานภูมิ ของพรหม 16 ชั้น ท่านกำลังบำเพ็ญธรรมให้สูงขึ้นไป จึงต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าก็คือไปฟังธรรม

    เรื่องอย่างนี้ มันเป็นทางที่จะประสานคนเข้ามาสู่ระบบการพัฒนามนุษย์ไม่ใช่ว่า หนึ่ง พระก็ถือโอกาสหาลาภ เห็นว่าคนนิยมกันนัก ก็เลยปลุกเสกเอามาให้เช่ากันใหญ่

    สอง เลยกลายเป็นการทำให้คนลุ่มหลงหนักขึ้น ผิดหลักผิดทาง แถมเอามาปลุกเสกในวัด ถ้าทำไม่ระวังให้ดี จะกลายเป็นเอามาชูเหนือพระรัตนตรัย

    ไปๆ มาๆ เพลินอยู่กับเรื่องนี้ คนเลยเข้าใจผิด เฉออกจากพระศาสนาไป แทนที่จะเชื่อมโยงเข้ามาหาหลักว่า ที่จริงมันเป็นอย่างนี้นะ มันสัมพันธ์กันอย่างนี้ ต้องก้าวต่อขึ้นมาให้ถึงพระพุทธเจ้าอย่างนี้ๆ

    เป็นอันว่า "จตุคามรามเทพ" ไม่ใช่ใคร ก็โยงกับเรื่องศรีวิชัยหรือเป็นกษัตริย์ศรีวิชัย แล้วตำนานโน้นตำนานนี้ ก็ไม่หนีเมืองนครศรีธรรมราช เวียนอยู่ที่พระบรมธาตุ

    ทีนี้ พอโยงมาถึงศรีวิชัย ก็โยงต่อไปอีกว่า ศรีวิชัยอยู่สุมาตราหรือถ้าตกลงว่าศรีวิชัยอยู่นครศรีธรรมราช ก็ไปถึงสุมาตรานั่นแหละ แล้วสุมาตรานั้นก็มลายูนี่เอง ชาวมลายูก็เป็นลูกหลานกษัตริย์ศรีวิชัยองค์นี้ เพราะฉะนั้น ชาวใต้ 3-4 จังหวัด ที่ว่าเป็นมลายู ก็เป็นลูกหลานของกษัตริย์ศรีวิชัยนี้ด้วย

    อย่างที่เคยเล่าแล้วว่า เจ้าชายปรเมศวรออกจากสุมาตรามาขึ้นที่สิงคโปร์ แล้วหนีจากสิงคโปร์มาขึ้นที่มะละกา ตั้งอาณาจักรมะละกาขึ้นมา ศูนย์กลางความเป็นมลายูอยู่ที่มะละกา ก็โยงไปที่ศรีวิชัย

    เราก็เอาความรู้อย่างนี้เผยแพร่กันไป จะแยกตัวกันไปทำไมว่า ฉันเป็นมลายู ไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่ชาวพุทธ อย่างน้อยสืบอดีตกัน มลายูก็เป็นชาวพุทธมาแล้ว เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในบ้านเมืองนี้ วิทยุก็มี ทีวีก็มี ก็ให้ความรู้แก่ประชาชนกันไป

    ถ้ารู้เรื่อง "จตุคามรามเทพ" ก็นำมาทำประโยชน์ได้ ทั้งในทางสามัคคีและในทางพัฒนาคน ยิ่งนิยมกันมาก ก็ยิ่งต้องเผยแพร่ความรู้ให้มาก

    ยุคธุรกิจฟู่ฟ่า เงินต้องมาเป็นทาสรับใช้ธรรม

    สังคมสมัยพุทธกาล ก็คล้ายอย่างนี้ คือกำลังเฟื่องในด้านธุรกิจการค้า ในสมัยพุทธกาลนั้น การพาณิชย์กำลังเจริญรุ่งเรือง มีกองเกวียนเดินทางค้าขายระหว่างเมือง เศรษฐีขึ้นมาเป็นชนชั้นนำ

    ในชมพูทวีปมีวรรณะ 4 คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร พราหมณ์ถือตัวว่าสูงที่สุด

    ในยุคพุทธกาลจะเห็นว่า ชนพวกหนึ่งกำลังเฟื่องขึ้นมา คือพวกเศรษฐีคหบดี พวกนี้เป็นพ่อค้าวาณิช ทั้งๆ ที่เดิมน่าจะอยู่ในชนชั้นสาม ( แพศย์ / ไวศยะ) แต่กลายเป็นผู้มีอิทธิพลมาก เศรษฐีนี่ถึงกับเป็นตำแหน่ง ที่พระราชทานแต่งตั้งประจำเมืองเลย มีหน้าที่ไปเฝ้าพระราชาวันละสองครั้ง

    รัฐไหนไม่มีเศรษฐี ก็เหมือนจะน้อยหน้า เป็นรัฐที่ไม่รุ่งเรืองเหมือนกับต้องแข่งกันว่า รัฐนี้ๆ มีเศรษฐีกี่คน บางรัฐก็รู้สึกจะด้อยก็จึงต้องหาทางมีเศรษฐี ถึงกับมีการขอเศรษฐีจากอีกรัฐหนึ่ง นางวิสาขาก็ไปจากบ้านเมืองเดิมเพราะเหตุนี้

    แคว้นมคธมีเศรษฐีใหม่ร่ำรวยมากถึง 5 คน ทางแคว้นโกศลซึ่งขาดแคลนเศรษฐีใหญ่ ต้องการมีเศรษฐีใหญ่บ้าง จึงขอให้แคว้นมคธส่งเศรษฐีใหญ่แบ่งไปให้คนหนึ่ง แต่แคว้นมคธไม่ได้ให้ตัวเศรษฐีใหญ่ เพียงส่งลูกเศรษฐีใหญ่คนหนึ่งไปให้ชื่อว่าธนัญชัย ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นเศรษฐีประจำเมืองสาเกต

    ธนัญชัยเศรษฐีนี้ก็คือพ่อของนางวิสาขา เมื่อธนัญชัยเศรษฐีย้ายไปอยู่โกศลรัฐ นางวิสาขาเป็นลูก ก็ไปด้วย แต่ต่อมานางวิสาขาแต่งงานไปอยู่เมืองสาวัตถี

    เศรษฐีมีอิทธิพลมากเพราะการค้าขาย เรียกว่าสังคมกำลังเฟื่องในทางเศรษฐกิจ จากการค้าขาย ก็มีสิ่งอุปโภคบริโภคกินใช้กันมากมาย มีการอวดกัน เช่นว่า ใช้ผ้าไหมจากรัฐนั้น ที่ถือกันว่าเป็นของชั้นดี

    ในท่ามกลางสภาพสังคมอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้ความนิยมหรือกระแสที่เกิดขึ้น เป็นจุดปรารภที่จะสอนให้คนที่มีบทบาทสำคัญในสังคมนั้น หันมาใฝ่ธรรม และนำธรรมไปปฏิบัติ ดังเช่นเศรษฐีก็ควรจะเอาทรัพย์มาทำประโยชน์ ส่งเสริมธรรมเกื้อกูลสังคม รวมทั้งพัฒนาชีวิตของตนเอง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในการเสพบริโภคหรือใช้อิทธิพลจากทรัพย์และอำนาจไปข่มเหงคนอื่น

    อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี นับถือพระพุทธเจ้าแล้ว ก็หันมาทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ที่จริงชื่อตัวว่า สุทัตตะ แต่เพราะทำประโยชน์ช่วยเหลือคนยากจนให้มีกินมีใช้ ตั้งโรงทานช่วยคนขาดแคลน จนได้สมญาเป็นชื่อว่า "อนาถบิณฑิก" แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา แล้วก็บำรุงพระศาสนา อุปถัมภ์พระสงฆ์ให้มีกำลังไปสอนประชาชนให้อยู่ดีทำดีช่วยเหลือกัน สูญเสียทรัพย์ไปในการทำบุญเหล่านั้นเท่าไร ก็ไม่คำนึง นี่เป็นตัวอย่าง

    ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างนี้ ถ้าเราดูลึกลงไป พระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเพียงตัวหัวข้อธรรม แต่เป็นคำสอนที่โยงกันหรือเนื่องกับสภาพความเป็นไปของสังคม มีปัจจัยยักย้ายแผกกันไป เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนคนพวกนี้ พวกนั้นว่า ทำอย่างไรชีวิตเขาจะดี และเขาจะอยู่กันดี พระดำรัสเทศนาก็จึงแตกต่างกัน

    มาถึงสมัยนี้ก็เหมือนกัน ปัจจุบันสังคมเป็นอย่างนี้ ก็ต้องรู้เข้าใจว่าทำอย่างไรจะให้ธรรมเกิดประโยชน์แก่คนเหล่านี้เหล่านั้นที่ต่างๆ กันได้

    ผู้มาเยี่ยม : เรื่อง จตุคามรามเทพ นี้ ยังมีเรื่องอิทธิฤทธิ์ อภินิหารด้วย เช่น คนสวมจตุคามไว้ในเสื้อ พอไปถ่ายรูปเห็นเป็นแสงสว่างออกมา อะไรทำนองนี้ ท่านเจ้าคุณฯ เห็นอย่างไร

    พระตอบ : ก็เป็นไปได้ที่ว่า หนึ่ง เขาอาจจะสร้างหรือแต่งภาพขึ้นมา สอง ความเชื่อของมนุษย์เป็นแรงทำให้เกิดผลได้ พอเชื่อหรือมีศรัทธาแรงมากเข้า ใจคึกฮึกเหิม ก็เกิดความรู้สึกเป็นจริงเป็นจริงอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เห็นจะต้องไปเอาใจใส่เรื่องพวกนี้เลย

    เอาสาระกันตรงที่ว่า พอมีกระแสพวกนี้ เราจับแกนของเรื่องให้ได้ และเจาะความรู้ที่โยงมาถึงธรรม แล้วก็มองเข้าทางที่จะให้ธรรมก้าวต่อไป

    อย่างเช่น คนนับถือจตุคามรามเทพ ในเมื่อจตุคามรามเทพเป็นเทพพิทักษ์พระธาตุ หัวใจของจตุคามรามเทพก็อยู่ที่พระธาตุอย่างน้อยคุณก็ควรจะไปให้ถึงพระธาตุ และให้ถึงไม่เฉพาะกาย แต่ให้ถึงจริงทั้งด้วยใจและด้วยปัญญา
     

แชร์หน้านี้

Loading...