วิธีการแห่งการเข้าสู่นิกายฌาน

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย G@cKt, 30 มกราคม 2009.

  1. G@cKt

    G@cKt Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มกราคม 2006
    โพสต์:
    142
    ค่าพลัง:
    +94
    [​IMG]

    วิธีการแห่งการเข้าสู่นิกาย ฌาน

    นิกายนี้ ความจริงไม่มีวิธีการอะไรแน่นอนเพราะเหตุว่า ถ้ามีวิธีอะไรที่ตราแน่นอนแล้ว ก็เป็นวิธีตายตัว แต่ว่าถึงแม้จะไม่มีวิธีการอะไรแน่นอนนั้น ก็พอที่จะแสดงตราออก ซึ่งวิธีการได้โดยย่ออันแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

    1. อาศัยการสดับตรับฟังจากท่านทรงคุณวิชชา แม้คำ ๆ เดียว หรือ คาถา เพียงครึ่งคาถา สามารถที่จะเห็นแจ้งได้อย่างปรุโปร่ง คนชนิดนี้ เพราะเหตุที่ จิตมีความต้องการในการบรรลุอย่างรุนแรง หรือเป็นผู้ที่อาศัยประณิธานของตนเองกลับมาแต่ชาติปางก่อน ที่กล่าวว่า สดับครั้งเดียว ก็สามารถรู้ถึงพัน (นัยยะ) ได้บรรลุ
    เห็นแจ้งในสิ่งทั้งปวง

    2. อาศัยการขบปัญหาของคำพูดที่เป็นปัญหาในทางที่จะให้เกิดวิปัสสนาปัญญา แล้วทุกคืนวัน ก็นำไปขบคิดค้นคว้าความจริงในนั้น อย่างมิคิดแก่ชีวิต ทำไปจนกระทั่ง จนถึงที่สุดแห่งความคิด และหนทาง ความรู้สึก (ต่อโลกิยารมณ์) ได้ขาด และวิญญาณแห้งสนิท และในทันทีนั้น ก็เปรียบประดุจดั่งก้นของ ถัง ได้ถูกสลายออก ก็จะเห็นหน้าตาดั้งเดิมของตัวเอง และเวลานั้นการตรัสรู้ก็ปรากฏ การขบปัญหาแห่งคำพูด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กงอั้น ในการทำสมาธิทั่วๆ ไป นั้น อย่างเช่น คำว่า "ก่อน ที่ บิดา มารดา จะให้ กำเนิด เรา หน้าตา ดั้งเดิมของเรานั้นเป็นอย่างไร" หรือ "ใครที่เป็นผู้สวดระลึกถึงพระพุทธเจ้า" "ธรรมทั้งหลายต่างรวมไปที่หนึ่งและหนึ่งนั้นรวมกลับไป ณ ที่ ใด""ในเวลาที่ท่านนอนหลับไป ถ้าไม่มีฝัน ไม่มีความคิดนึกอะไร ๆ นั้น ผู้เป็นเจ้าของแห่งกายนั้นไปอยู่ ณ ที่ใด" และ "ไม่ใช่จิต ไม่ใช่พุทธะ ไม่ใช่วัตถุ ถ้าอย่างนั้น คืออะไร ?"

    คำพูดอันเป็นปริศนาธรรมเหล่านี้ เป็นของสำคัญอย่างยิ่งในการทำสมาธิ ผู้ที่ต้องการทำสมาธิจะเลือกวิธีหนึ่งก็พอ จุดสำคัญ ของการทำสมาธินั้นต้องเกิดมีความสงสัยขึ้น ถ้าไม่มีความสงสัย ก็ไม่มีความเห็นแจ้ง สงสัยน้อยก็เห็นแจ้งน้อย สงสัยมากก็เห็นแจ้งมาก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุใดเล่า ?
    ความจริงนั้น แต่เดิมอารมณ์ขณะแรกของจิต คือ พุทธะ : แต่เดิมก็สมบูรณ์ด้วยคุณปัญญาแห่งความเป็นพุทธะ แต่เนื่องด้วยถูกอวิชชามาทำให้หลง เกิดความเข้าใจผิดยึดถือขึ้น จึงไม่สามารถจะเห็นแจ้งได้ ถ้าหากพ้น จากความหลงผิดและอุปาทานแล้ว ปัญญาอันยิ่งใหญ่ และความรู้อันแจ้งชัดปรุโปร่งไม่มีที่ติดขัดนั้น ก็จักสำแดงออกมา (คำพูดตอนนี้มีปรากฏใน อวตํสกสูตร ถือกันว่า เป็น พุทธวจนะ) การทำสมาธิเมื่อทำไปจนถึงที่สุดแล้ว ความหลงผิดและอุปทาน ก็จะถูกทำลายย่อยยับ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เวลาใดที่อวิชชาได้ถูกทำลายไปหมดสิ้น เวลานั้นก็คือการเห็นหน้าตาดั้งเดิมของตนเอง ได้บรรลุเป็นอริยบุคคล ภาวะจิตเช่นนี้ ยากที่จะใช้คำพูดมาอธิบาย แต่มีบุคลบางเหล่า ที่ได้ทำสมาธิ นับเป็นเวลาสิบปี แต่ก็ยังไม่ตรัสรู้ นี่ก็เป็นเพราะขาดอาจารย์และสหายที่ดีแนะนำ หรือเป็นเพราะที่ความต้องการหลุดพ้นจากความเกิดตายของตนเอง ไม่แท้จริงหรือรุนแรง แต่ถ้าได้พบได้รับการแนะนำจากท่านผู้ทรงวิชชาคุณในทางนี้ หรือได้มีความต้องการหลุดพ้นอย่างแท้จริงแล้ว รับรองว่า เขาผู้นั้นจะต้องได้ตรัสรู้อย่างแน่นอน โดยไม่ยากเลย

    การพิสูจน์สอบสวนในนิกาย ฌาน

    คนที่ได้รู้แจ้งกับคนที่ยังไม่รู้นั้น ผู้ที่ได้ผ่านการปฏิบัติในสมาธิ อย่างช่ำชองจะสามารถรู้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะปิดบังหรือซ่อนเร้นได้อุปมาดั่งผู้ที่เมาเหล้า แม้เขาจะไม่บอกเราว่าเขาจะกินเหล้าเข้าไป แต่ว่าเราได้เห็นก็จะรู้ได้ว่าเป็นคนเมา ฉันใดก็ฉันนั้นคนที่ได้ตรัสรู้ด้วยกันนั้น เหมือนกับผู้ที่รับประทานอาหารอันโอชะเข้าไปด้วยกัน เมื่อเขาได้รู้รสชาติอันโอชะของมันแล้ว เขาคงไม่ละทิ้งอาหารนั้น ๆ เสีย และเขาผู้นั้น ก็ไม่สามารถที่จะอธิบายถึงรสชาติของอาหารนั้นว่า เป็นอย่างไร แก่ผู้ที่ยังไม่เคยลองชิมให้รู้เรื่องได้ แต่ในระหว่างพวกที่ปฏิบัติธรรมด้วยกันแล้ว ถึงแม้ไม่ต้องพูดอธิบายอะไร ย่อมรู้กันดี ผู้ที่ยังมิได้ตรัสรู้เพราะเหตุยังมีความทะยานอยากใน โลกิยธรรมทั้งหลาย อุปมาดั่งแมลงวันที่ตกจมอยู่ในน้ำผึ้ง หรือวานรที่ถูกล่ามโซ่คุมขังอยู่ ส่วนผู้ที่ได้เห็นแจ้งแล้วนั้น อุปมา ดั่งมัจฉาที่ได้น้ำ หรือ ปักษิณ ที่หลุดพ้นจากกรงขัง และเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ที่ท่านเหล่านั้น ย่อมไม่มีความทะยานอยากในโลกิยธรรม ข้อนี้เปรียบเหมือนกับยาจก ที่บังเอิญได้ถูกรางวัลล๊อตเตอรี่ที่หนึ่ง ทีนี้เขาคงจะไม่ยอมกลับมาเป็นยาจกเที่ยวขอทานเขากินอีก ฉะนั้น วิธีจะพิสูจน์ว่าผู้นี้ปฏิบัติธรรมได้ผลหรือไม่นั้น ก็ไม่มีอื่นไปจากการเอาเบญจพิธกามคุณ และพิษทั้งสาม(โลภะ โทสะ โมหะ) มาเป็นแบบอย่างแห่งการวัดบุคคลเหล่านั้น ถ้าหากเขาผู้นั้นมีความรู้สึกที่ยังติดแน่นใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และยังมีความทะยานอยากในชื่อเสียง เกียรติยศ เหล่านี้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ยังไม่มีการลดน้อย ชีวิตประจำวันยังดูติดขัดไม่มีความอิสระแก่จิตใจ อะไร ต่างๆ เหล่านี้ แล้ว ก็เป็นเครื่องส่อให้รู้ว่า บุคคลเหล่านั้น ยัง หา ใช่ ผู้ รู้ แจ้ง ใน ธรรม ไม่

    พยานแห่งการปฏิบัติในนิกายฌาณ

    คนที่ได้บำเพ็ญสมาธิ ถ้าหากมีการเห็นแจ้งในธรรมะ อะไรบางอย่าง ควรที่จะต้องไปหาพระเถรที่คงแก่เรียน ในทางนี้ มาเป็นองค์พยานในผลแห่งการปฏิบัติของเขา มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเป็นที่น่ากลัวว่า ผู้ปฏิบัติอาจจะเดินทางผิด เช่นมีทิฎฐิอันไม่ถูกต้อง เป็นต้น แต่ถ้าหากว่าจะหาผู้คงแก่เรียนมาเป็นองค์พยานไม่ได้แล้ว ตัวของเราเองก็อาจจะอาศัย พระปริยัติธรรม มาเป็นเครื่องตัดสินก็ได้ ถ้าตรวจตราดูรู้ว่าผลของความรู้ในทางปฏิบัติของเราตรงตามพุทธพจน์แล้ว ทิฏฐิของเราถูกตรงเอง ถ้ามิดังนั้นแล้ว เราไม่ควรที่จะเชื่อตัวเราเอง(ว่าถูกต้อง) จะได้ไม่เป็นเหตุทำให้คนอื่นเขาหลงไปด้วย

    ศูรางคมสมาธิสูตร และวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (ซูลาง เอียนซันอุ้ยจิง และ จินกางจิง ) องค์สูตรนี้ เป็นหลักอันวิเศษแห่งการตัดสินผลของการปฏิบัติของผู้บำเพ็ญสมาธิ

    ท่านสังฆปรินายกที่ 5 มักสอนให้ประชุมชน สาธยายท่องบ่น วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร เพราะจะทำให้เขาได้ บรรลุเห็นแจ้งเองได้ ท่านมหาอาจารย์ อี้ สอนคนให้เอา ศูรางคมสมาธิสูตร เป็นแบบฉบับ(ในการปฏิบัติธรรม) ท่านโพธิธรรมเถระ ก็กล่าวว่า "ลังกาวตารสูตรทั้ง 4 ผูกนั้น สมควรเป็นตราของจิต" สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความหมายอันสำคัญ

    วิธีปฏิบัติในนิกายฌาณ

    หลักของนิกายฌาณที่ว่า "เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริงแล้วบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า" เหตุใดจึงต้องมีการปฏิบัติอีกเล่า ? ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า พวกเรานับแต่เบื้องต้นอันไม่ปรากฏนั้น ก็สั่งสมพอกพูนไปด้วยอาสวะกิเลส พิษทั้งสาม (โลภะ โทสะ โมหะ ) ยังไม่ขาดหาย อนุสัยกิเลสทั้งหลายเล่าก็ยัง (นอนเนื่องในสันดาน) อยู่ฉะนั้น ถึงแม้ว่าได้มีความแจ่มแจ้งในภาวะจิตของเรา ก็ยังต้องคอยประคับประคอง รักษาภาวะนั้น ในศูรางคมสูตร มีคำกล่าวว่า "เหตุผลแห่งธรรมเป็นสิ่งซึ่งอาจรู้ได้อย่างฉับพลัน แต่จงอาศัยความรู้นั้น ปล่อยวางความรู้นั้น ส่วนการปฏิบัตินั้น ควรค่อยเป็นค่อยไป และเพราะเหตุนี้ (กิเลสทั้งหลาย) จักค่อยหมดไปเอง"เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้รู้แจ้งภาวะ(ของธรรมะอันใด) แล้ว ก็จงรักษาภาวะอันนั้น การรักษานี้ ก็คือ วิธีปฏิบัติ ตัวอย่าง กงอั้น มาเป็นหลักฐานดังนี้

    ท่านธรรมาจารย์ฉางซิ่ง ได้เข้าไปไต่ถามข้อธรรมกับท่านสมาธจารย์ ไปจ้าง ว่า "ข้าพเจ้าต้องการเรียนรู้จักพระพุทธแจ้งว่า คือ อะไร ?"ท่านตอบว่า "เหมือนกับการขี่โคไปค้นหาโค"ท่านฉางซิ่งว่า "เมื่อรู้จักโคแล้วจะทำอย่างไร ?"ท่านตอบว่า "เหมือนกับขี่โคกลับบ้าน"
    ถามว่า "ไม่ทราบว่าจะรักษาตลอดต้นให้ตลอดปลาย ได้อย่างไร ?"ท่านตอบว่า "เหมือนกับเจ้าของโค ถือไม้คอยระวังอยู่ ไม่ให้มันไปเที่ยวเหยียบย่ำต้นข้าวเขา ?"
    กงอั้นนี้ ก็คือ วิธีรักษา(ผลแห่งการปฏิบัติ) อันดีเยี่ยมวิธีหนึ่ง (ความตอนนี้หมายความว่า เมื่อปฏิบัติไปจนได้ผลอะไรเข้า ก็จะต้องทะนุทะนอมรักษาไม่ให้เสื่อม และจะต้องไม่เบื่อหน่ายท้อถอย จะต้องพยายามบำเพ็ญไปอีก เพื่อเลื่อนระดับจิตให้สูงขึ้นจนเห็นภาวะดั้งเดิม)
    กเรื่องหนึ่ง คือท่านเนี่ยวเคอสมาธยาจารย์ ท่านนี้อาศัยอยู่บนต้นไม้ และใช้เป็นที่จำศีลภาวนา วันหนึ่ง ขุนนางตำแหน่ง ไถ้โส่ว ชื่อ ไป๋จิวอี้ ได้มาสักการะคำนับท่าน และถามปัญหาธรรมกับท่านว่า "อะไรคือหลัก ใหญ่ๆ ของ พระพุทธศาสนา "
    ท่านตอบว่า "ไม่ทำบาป ทำความดี ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว" ไป๋จิวอี้ได้ฟังแล้วพูดว่า "เด็กอายุ 3 ขวบ ก็สามารถรู้ได้"ท่านตอบว่า "เด็กอายุ 3 ขวบ ถึงแม้จะรู้ได้ แต่ว่าคนแก่อายุ 80 ยังไม่สามารถจะปฏิบัติได้ "ไป๋จิวอี้ได้ฟังเท่านั้น ก็ลุกขึ้นแสดงความเคารพ แล้วก็ลากลับไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายมาก
    ข้อสำคัญของนิกาย ฌาณอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเป็นใหญ่ ส่วนการทำสมาธิหรือไม่นั้น หาสำคัญนักไม่ ดั่งท่านภิกษุวุ่ยซันกล่าวว่า "การปฏิบัติอันเคร่งครัดของท่านนั้นยังไม่สำคัญนักหรอก แต่สำคัญที่ท่านจักต้องมีสัมมาจักษุ (หมายถึงความเห็นถูก)" และท่านต้าฮุ้ย ก็กล่าวว่า "ในสำนักอื่นเขาสอนให้มีสมาธิก่อน แล้วจึงมีปัญญา แต่สำนักของฉันสอนให้มีปัญญาก่อน แล้วจึงมีสมาธิ" นี่คือหลักพยานที่แสดงให้เห็นว่า นิกายฌาณ สำคัญที่ปัญญา ไม่ใช่สำคัญที่สมาธิ แม้ท่านสังฆปรินายกที่ 6 ก็ไม่เห็นว่า การฝึกสมาธิเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ เพราะเหตุผลอันใด ?เพราะเหตุว่า ผู้ที่จะตรัสรู้นั้น ถ้ามีความเห็นถูกต้อง เขาผู้นั้นไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน จิตของผู้นั้นก็สัมปยุตต์ด้วยสมาธิ ไม่จำเป็นต้องลงไปนั่งขัดสมาธิ และก็ไม่จำเป็นต้องมีการเข้าการออกสมาธิ อันเป็นการแบ่งแยก ถึงแม้การถือศีล ก็เช่นเดียวกัน จงดูตัวอย่างในเรื่อง นั่งสมาธิของท่านภิกษุ หม่าจู่เต้าอิ๊ก"ท่านภิกษุหม่าจู่เต้าอิ๊ก ได้บำเพ็ญสมาธิ ณ ภูเขาชงหวี้ซัน ท่านสมาธยาจารย์ ฮว้ายย่าง รู้ว่าท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยแห่งการตรัสรู้ จึงได้เดินทางมาหาและถามท่านว่า "พระคุณเจ้านั่งสมาธิเพื่อหวังอะไร ?" ตอบว่า "เพื่อหวังเป็นพุทธะ"
    ท่านสมาธยาจารย์ได้ฟังแล้ว ก็กำอิฐก้อนหนึ่ง มานั่งฝนบนก้อนหินที่หน้าอารามท่านภิกษุหม่าจู่ เห็นดังนั้น ก็แปลกใจ
    ถามว่า "พระคุณเจ้าฝนอิฐนี้เพื่อทำอะไรหรือ ?"
    ตอบว่า "เพื่อทำกระจกเงา "
    ถามว่า "เอาอิฐมาฝนนี้จะสำเร็จเป็นกระจกได้หรือ ?"
    ตอบว่า "ฝนอิฐไม่สำเร็จเป็นกระจกได้ การนั่งทำสมาธิจักสำเร็จเป็นพุทธะได้อย่างไร "
    ถามว่า "ถ้าอย่างนั้นแล้วจะทำอย่างไรเล่า ?"
    ตอบว่า "เหมือนกับลากเกวียน เมื่อเกวียนไม่เดินนั้น เราจะตีเกวียนหรือตีโคเล่า ?"
    เมื่อได้ฟังดังนั้น ท่านหม่าจู่ ก็ได้บรรลุ

    การขจัดความสงสัยในเรื่อง "รู้ฉับพลันเป็นพุทธะ" ของนิกาย ฌาน

    หากจะมีผู้สงสัยถามว่า นิกายฌาณกล่าวว่าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ก็จักบรรลุเป็นพุทธะอย่างฉับพลันนั้นในโลกนี้จะมีเรื่องง่ายดายเช่นนี้หรือ ?
    ทั้งนี้ถ้าอาศัยข้อความในคัมภีร์กล่าวว่า ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าจักต้องบำเพ็ญบารมี ตั้ง 4 อสงไขย แสนกัลป์จึงบรรลุได้ ข้อความที่กล่าวในนิกาย ฌาน จะมิเป็นการขัดกับพระปริยัติธรรมหรือ ?
    ขอตอบว่า ที่กล่าวในพระคัมภีร์นั้น พระพุทธเจ้าอย่างชนิดที่ค่อยๆ ปฏิบัติไป แล้วค่อย ๆ รู้ไป กับที่กล่าวในนิกายฌาน ที่ว่า ตรัสรู้ฉับพลันเป็นพระพุทธะนั้น หาเหมือนกันไม่ ข้อนี้อุปมาดั่งห้องที่มืดนั้น พลันสว่างขึ้น หรือ เหมือนกับกองฟืนที่สะสมมาตั้งปีๆ แต่อาศัยไฟเพียงนิดเดียว ก็ไหม้ได้หมด
    ถ้ามีปัญหาถามมาอีกว่า ถ้าได้บรรลุเป็นพุทธะแล้วเหตุไรจึงไม่มีคุณปัญญาและอิทธิปาฏิหาริย์ เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ?
    ตอบว่า "พระพุทธเจ้าในพระคัมภีร์นั้น เป็นพระพุทธเจ้าที่เห็นแจ้งสูงสุดอย่างแท้จริง ฉะนั้น จึงบริบูรณ์ ด้วยคุณลักษณะพิเศษต่าง ๆ มีมหาปุริสลักษณะอันงดงามและอิทธิปาฎิหาริย์ ส่วนพุทธะของนิกาย ฌานนั้น อุปมาดัง ทารกแรกคลอด จำต้องอาศัยการเลี้ยงดูซึ่งต้องกินเวลานาน จึงจักเป็นผู้ใหญ่ เพราะเหตุนั้น จึงไม่มีคุณปัญญาและอิทธิปาฏิหาริย์ อุปมาดั่งพระพุทธรูปที่ยังไม่ได้ลงรักปิดทอง ไม่มีมหาปุริสลักษณะอันงดงาม แต่เราจะไปดูถูกไม่ได้ เพราะเหตุว่า ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิ เมื่อได้เห็นแจ้งว่าตนเอง คือพุทธะ และไม่มีวิจิกิจฉาใด ๆ เวลาใดแล้ว เวลานั้นเรียกว่า เขาได้ บรรลุถึงปัญญาอันดั้งเดิม หรือเรียกว่า เข้าสู่ ศรัทธาภูมิ ถ้าได้มีการทะนุถนอมรักษาภาวะนั้น ภาวะแห่งจิตก็นับวันยิ่งจะก้าวหน้ายิ่งขึ้น คุณชาติแห่งปัญญาและอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ก็จะมีมาเอง เหมือนกับน้ำเมื่อไหลไปที่ไหนที่นั่นก็เป็นแม่น้ำ ลำคลองไป ท่านสังฆปรินายกที่ 6 จึงได้พูดว่า "ถ้าตลอดชาตินี้ไม่ท้อถอยแล้ว ก็ (เป็นการแน่ที่จะต้อง) เข้าสู่อริยภูมิ" และในศูรางคมสมาธิสูตร ท่านพระอานนท์ก็ได้กล่าวว่า "ไม่จำเป็นที่จะต้องผ่านอสงไขยกัลป หรอก ในการที่จะบรรลุถึงธรรมกาย (พุทธภาวะ)" ก็ต้องการให้มีความหมายเช่นนี้.

    สรุปรวบยอดแห่งข้อปฏิบัติ

    ผู้ที่ได้ทำสมาธิเมื่อได้เห็นแจ้งแล้ว ก็ควรจะต้องมีมหาปณิธาน 4 ทั้งนี้เพื่อการบรรลุสัมโพธิอันสมบูรณ์ ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็กลายเป็นผู้เอาแต่ตัวรอด อะไรคือมหาจตุรปณิธานเล่า คือ
    1. สรรพสัตว์อันไม่มีขอบเขตนั้น เราจะต้องทำการโปรด ให้หมด
    2. กิเลสทั้งหลายอันมากมายนั้น เราจะทำลายให้หมดสิ้น
    3. พระธรรมอันไม่มีประมาณนั้น เราจะร่ำเรียนให้รอบรู้
    4. พุทธภูมิอันสูงสุดนั้น เราจะต้องบรรลุให้ได้

    หลักธรรมะในนิกาย ฌาน ทางพุทธศาสนา ฝ่ายมหายานถือสำคัญมาก ในจำนวนนิกายทั้งหมดของมหายาน นิกายนี้นับว่าเป็นนิกายหนึ่งที่ทรงอิทธิพลมาก เป็นนิกายฝ่ายวิปัสสนาโดยเฉพาะในส่วนธรรมะนั้นก็ดูเหมือนว่า ไม่มีความแตกต่างอะไรมากนัก กับพุทธศาสนาฝ่ายของเรา เช่นในข้อที่ว่า พุทธภาวะมีอยู่ในสรรพสัตว์ เมื่อรู้ก็เป็นพุทธะ เมื่อยังโง่ก็เป็นสัตว์ ฝ่ายเราก็มีกล่าวว่า เมื่อทำลายอวิชชาเสียได้ ก็เป็นตรัสรู้เท่ากันหมด และที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก็เพราะอวิชชาความหลงผิด

    วิธีปฏิบัติซึ่งทางนิกายฌาน กล่าวว่าเป็นแนวพิเศษที่สามารถจะทำให้ได้ตรัสรู้อย่างฉับพลันเป็นพุทธะในปัจจุบันทันด่วนไม่ต้องรีรอนั้น ข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ธรรมปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ใช่มีแต่ในนิกายฌานเท่านั้น แท้จริงเป็นหลักทั่วไปของพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่า ธรรมปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลได้บรรลุเป็นพุทธะในปัจจุบันนี้นั้น เป็นสิ่งที่ถูกสอนจากสมเด็จพระบรมครูผู้ให้กำเนิดแก่พระพุทธศาสนา จึงนับได้ว่าเป็นหลักของพระพุทธศาสนาทั่วไป ไม่ใช่เป็นหลักนิกายใดนิกายหนึ่ง
    หลักของพระศาสดาก็มีสำคัญในการที่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถหลุดพ้นทุกข์ได้ในปัจจุบันชาติ โดยไม่ต้องไปรอความหลุดพ้น ต่อเมื่อชาติหน้าหรือ ชาติไหนๆ เพราะว่าชาตินี้เป็นโอกาสเหมาะอย่างยิ่ง ที่เราจะทำความหลุดพ้น ให้แก่ตัวเอง
    ฉะนั้น จึงมีคำสรรเสริญว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของประเสริฐที่สุด เพราะเป็นเหตุให้ได้มีโอกาสทำความพ้นทุกข์ได้ในชาตินั้นๆ แม้บรรดาพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ก็มิใช่ว่าท่านจะต้องปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป แล้วจึงจะได้บรรลุก็หามิได้ เพราะถ้าเช่นนั้นแล้ว เราอาจจะไม่เห็นพระอรหันต์กันก็ได้ เพราะท่านต้องไปรอเอาตรัสรู้กันในชาติต่อ ๆ ไปและที่ว่านิกาย ฌาน เป็นนิกายย่นทางตรัสรู้ให้เร็ว คือไม่ต้องรักษาศีลก่อนแล้วจึงค่อยหัดทำสมาธิ แล้วจึงไปขึ้นปัญญานั้น ถ้าจะดูตามหลักฐานต่างๆ ในปกรณ์ฝ่ายของเรา ก็จะพบว่าได้มีพระอรหันต์เป็นจำนวนมากที่ไม่ได้ผ่านการรักษาศีลหรือการทำสมาธิอย่างชนิดสูงๆ แต่ว่าได้ตรัสรู้กันในขณะฟังธรรมบรรยายของพระศาสดา เช่นพระยศ และเหล่ามิตรสหาย เป็นต้น ท่านเหล่านี้มิใช่พวกตรัสรู้อย่างฉับพลันหรือว่าไร? อันพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เล่า ทางพระพุทธศาสนา(ไม่เป็นของนิกายใดนิกายหนึ่ง) ก็ได้วางแนวไว้สองทาง
    ทางหนึ่งได้แก่พวกที่ได้ตรัสรู้ด้วยการบำเพ็ญเพียรทางศีล แล้วเลื่อนขึ้นมาบำเพ็ญเพียรทางสมาธิ หนักในทางจิต จนสามารถบรรลุฌานต่างๆ ทั้งรูปฌาน อรูปฌาน เมื่อจิตถูกอบรมฝึกฝนจนมีอำนาจแข็งแกร่งแล้ว ใช้อำนาจแห่งจิตนั้น ทำลายอวิชชาเสียได้ เรียกกันว่า พวก "เ จ โ ต วิ มุ ติ " แปลว่า หลุดพ้นด้วยอำนาจจิต พระอริยเจ้าเหล่านี้ เพราะเหตุที่บรรลุฌานมาก่อน จึงสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
    อีกทางหนึ่ง ได้แก่ ท่านที่ใช้อำนาจปัญญา พิจารณาสภาวะธรรมทั้งหลายตามเป็นจริง จนสามารถหลุดพ้นทุกข์ได้ พวกนี้ไม่จำเป็นต้องได้ ฌานสมาบัติ เพียงแต่มีสมาธิขั้นต่ำๆ แล้วยกจิตขึ้นสู่ปัญญาเท่านั้น เรียกว่าพวก "ปัญญาวิมุติ" แปลว่า หลุดพ้นด้วยอำนาจปัญญา แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อะไรไม่ได้
    พระอริยเจ้าทั้งสองพวกนี้ ถ้าเราจะพิจารณาดูกันแล้ว หลักธรรมในนิกายฌาน ก็คือการปฏิบัติเอาทางปัญญาโดยเฉพาะ อันได้แก่พวกหลังนี้เอง คำสอนทางฝ่ายของเรา ก็มีกล่าวเป็นไปอย่างทำนองนี้หลายแห่ง เช่นพุทธภาษิตใน ติลักขณาทิคาถา ว่า"เมื่อใดมาเห็นสังขารทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ อันนี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจด"
    ในพุทธภาษิตนี้ไม่ได้บอกว่า ต้องรักษาศีลแล้วทำสมาธิ จึงจะเกิดมีปัญญาหลุดพ้นทุกข์ได้ แต่ว่าเมื่อมีปัญญาเห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์แล้ว ก็เป็นเหตุให้หลุดพ้นได้ นี่เป็นการแสดงถึงความสำคัญ ของปัญญาไปในตัว เพราะเหตุว่าขณะใดมีปัญญา ขณะนั้นก็มีสมาธิ และ ศีล ไปในตัวขณะใด มีสมาธิ ขณะนั้นก็มีศีล พระเถระผู้ทรงคุณธรรมฝ่ายเรา ก็เคยเทศนาย้ำ กล่าวถึงเสมอเช่น ท่านเจ้าคุณ อุบาลี (สิริจนโท) วัดบรมนิวาส กล่าวว่า "ศีลอันใด สมาธิก็อันนั้น สมาธิอันใดปัญญาอันนั้น" และที่กล่าวว่า เมื่อได้บรรลุเป็นพุทธะแล้ว เหตุที่ไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ หรือ ไม่มีคุณลักษณะอย่างพระศาสดานั้น ก็เป็นอันเฉลยด้วย คือว่าพวกปัญญาวิมุตินั้น แสดงฤทธิ์ไม่ได้ และเพราะเหตุที่ไม่ใช่เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ แต่เป็นเพียงสุตพุทธะ หรือ อนุพุทธะเท่านั้น จึงไม่มีมหาปุริสลักษณะอย่างพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้า
    เมื่อเรารู้ว่า นิกาย ฌาน ก็คือ นิกายแห่งปัญญาวิมุติ เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมเป็นธรรดาที่ข้อปฏิบัติต้องหนักไปทางปัญญา เพราะฉะนั้น จึงเกิดมีปริศนาธรรม หรือกงอั้นไว้สำหรับให้ขบคิด
    วิธีการปฏิบัติและกงอั้น(โกอาน) นอกจากจะดำเนินตามคำสอนของพระศาสดาแล้ว ยังมีวิธีการปฏิบัติ และกงอั้นที่ถูกตั้งขึ้น โดยท่านสมาธยาจารย์แห่งนิกายกาย ฌานอีกด้วย เรียกว่า "จู่ซือสัน"คือ แบบสมาธิของท่านบูรพาจารย์ ซึ่งมีอยู่มากมาย แต่อย่างไรก็ตามวิธีการปฏิบัติของกงอันเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะที่ลึกซึ้งชวนขบคิดทั้งสิ้น กงอั้น บางอันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นความลึกซึ้งของนิกายฌาน เช่นกงอั้นที่สมเด็จ พระภควาตรัสแก่พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และท่านมัญชุศรีได้ทูลตอบไปว่า "ข้าพระองค์ไม่เห็นธรรม แม้หนึ่ง อยู่ภายนอกประตู เหตุไรจึงทรงสอนให้ข้าพระองค์เข้าประตูเล่า?"ตอนนี้แสดงให้รู้ถึง ธรรมชาติหนึ่ง อันเรียกว่า "พระนิพพาน" พระนิพพานมีอยู่ทั่วๆ ไป ไม่จำกัดที่ทาง ไม่มีการเข้าการออก เพราะนิพพานภาวะเป็นของคงที่ และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าจะต้องออก เพราะนิพพานภาวะมีอยู่ทั่วไปทุกซอกทุกมุม หรือ อีกนัยหนึ่งคือว่า พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ได้บรรลุความเห็นแจ้งแล้ว ไม่มีการที่จะต้องกลับกาย เช่น เข้า-ออก ต่อธรรมอีก เพราะธรรมทั้งหลาย ท่านละวางได้ขาดแล้ว มีปัญญาอันไพบูลย์ เห็นสรรพสิ่งมีภาวะว่างเปล่านั่นเอง และที่พระพุทธองค์ทรงนิ่งไม่ตอบพาหิรชน ก็เพราะพระองค์ ต้องการแสดงนิพพานภาวะอันลึกซึ้งให้เห็น พาหิรชนผู้นั้นเป็นผู้มีปัญญาได้รู้แจ้งจึงเลื่อมใส และที่ว่าพระสังฆปรินายกองค์ที่ 2 หาจิตไม่พบนั้น เพราะเหตุที่จิตนี้เกิดดับอยู่เป็นนิตย์ ไม่มีตัวตนอันใด ข้อที่ธรรมาจารย์ ผู้หนึ่งว่า ขี่โคไปหาโคนั้น อธิบายว่า ตัวเรานั้นก็เป็นพุทธะอยู่แล้ว ยังจะไปหาพุทธะที่ไหน คือ หมายความว่า พุทธะก็อยู่ที่เรา ๆ จะไปค้นหาพุทธะข้างนอกนั้นไม่พบหรอก เพราะเหตุที่พุทธะนั้น ก็คือ ภาวะในตัวเรานี้เอง

    อนึ่งข้อที่ให้คอยระวังโคนั้น ความตรงนี้ดูจะมีความหมายกระไรชอบกลอยู่ คือ ถ้าหากว่าเราสามารถค้นพบ และเห็นแจ้งพุทธะภาวะในตัวเราแล้ว ก็หมายความว่าเราได้ตรัสรู้พระนิพพานแล้ว เหตุไรจึงยังต้องคอยระวังรักษาอีกเล่า ? เพราะฉะนั้น ความตอนนี้ส่อให้เห็นว่า ที่กล่าวมาแต่เบื้องแรกว่า ผู้ได้ตรัสรู้ (อันข้าพเจ้าแปลตรงกับความหมายทางภาษาจีน) แล้วยังต้องคอยทะนุถนอมภาวะอันนั้นอยู่นั้น หมายความว่าการได้ผลจากการเห็นแจ้งในธรรมะที่ยังเป็นขั้นต่ำๆ ชนิดยังเป็นสังขตะอยู่ เช่น การได้สมาธิจิต เป็นต้น ถ้าเราปล่อยปละละเลยไม่นำพาสมาธิจิตก็อาจจะเสื่อมได้ แม้พวกฌานชั้นสูงๆ เช่น อรูปฌาน ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงสรุปความได้ว่า ความหมาย ณ ที่นี้ ไม่ได้หมายเอาว่าได้ พระนิพพาน แต่หมายความว่า เริ่มที่จะได้สูดกลิ่นไอน้อยๆ ของพระนิพพาน เช่น การที่จิตใจสงบจากกิเลสชั่วคราวอะไรเหล่านี้

    พระสูตรมหายานที่ว่าด้วยเรื่องของปัญญา

    1.ลังกาวตารสูตร หรือ จีน เรียกว่า "ลางเจียจิง" เป็นสูตรชนิดหัวใจของนิกายฌาน พระภควาแสดงสูตรนี้ ณ ภูเขาบนเกาะลังกาแก่ท่านมหามติโพธิสัตว์ ภายในกล่าวถึงข้อธรรมอันลึกซึ้ง อันเป็นอภิปรัชญาของพุทธธรรม มีข้อธรรมที่ชวนให้ขบคิดมาก

    2. พระศูรางคมสมาธิสูตร เป็นสูตรที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่พระอานนท์ กล่าวถึงอายตนะภายใน ภายนอก และการปฏิบัติธรรม มีการทำสมาธิไว้อย่างพิศดาร พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานนับถือสูตรนี้มาก กล่าวกันว่า ถ้าผู้ใดได้รู้แจ้ง หรือ ได้อ่านพระสูตรนี้แล้ว เวลาทำสมาธิจักไม่เกิดนิมิตอันจะชวนให้ใจเขว หรือ หวั่นไหวเลย เพราะในสูตรนั้นสอนให้รู้เท่าถึงนิมิตต่างๆ และสูตรนี้ปรากฏตามตำนานว่า เป็นสูตรสำคัญของพุทธศาสนานิกาย มันตรยาน และเป็นกุญแจสำคัญของนิกายฌานด้วย

    3. วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นสูตรสำคัญในการปฏิบัติธรรมอีกสูตรหนึ่ง ปรกติจัดเป็นสูตรสำหรับสวดเหมือนทำวัตรของเรา พุทธศาสนิกชนฝ่ายเหนือรู้จักสูตรนี้ดีมากและสวดกันอย่างแพร่หลาย ในนั้นกล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะที่เป็นปรมัตถ์ล้วนๆ แก่ท่านสุภูติมหาเถระ ปฏิเสธ ขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวตน และ ปฏิเสธความเป็นอยู่แห่งอาตมัน ผู้ที่ได้อ่านย่อมได้ปัญญาความรู้แจ้ง

    มีเรื่องเล่าว่า ในประเทศจีนสมัยราชวงศ์หมิง มีศิษย์ผู้หนึ่ง ของท่านธรรมาจารย์เหลียนฉือได้บำเพ็ญสมาธิปรากฏเห็นนิมิตต่างๆ จึงได้มีจดหมายมาถามท่านธรรมาจารย์ ธรรมาจารย์องค์ นั้นมีจดหมายตอบไป โดยยกเอาข้อความในวัชรปรัชญาปารมิตาสูตรมาอ้างว่า "วัชรปรัชญาปารมิตาสูตรกล่าวว่า สิ่งที่มีลักษณะทั้งหลายล้วนแต่เป็นของว่างเปล่า และมายา" ศิษย์ผู้นั้น ได้รับจดหมายนั้นแล้ว ก็เห็นแจ้ง

    เรียบเรียงจากหนังสือ ศาสนาต่างนิกาย สำนักพิมพ์ ธรรมบูชา ปาฐกฐาภาคจีนโดย น.พ.ตันม่อเซี้ยง แปลไทยโดย อ.เสถียร โพธินันทะ


    ขอขอบคุณ http://community.buddhayan.com/index.php?topic=303.0;prev_next=prev
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 30 มกราคม 2009
  2. CHOTIYA

    CHOTIYA เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,006
    ค่าพลัง:
    +359
    จิตตานุปัสสนาสติปัติฐาน ตามรู้จิต(กระแสความคิด)จนสู่ไตรลักษณ์ นามรูปเป็นสุญญตา
     

แชร์หน้านี้

Loading...