วิธีปฎิบัติให้เข้าถึงธรรม

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 28 พฤศจิกายน 2009.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ

    บรรยายที่โรงพยาบาลจุฬาฯ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๓

    โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 008814 - โดยคุณ : วิลาศินี [ 13 พ.ค. 2546 ]

    ต่อจากนี้ไป ขอให้ญาติโยมตั้งใจฟังธรรม ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำธรรมะให้มันถึงใจเรา ด้วยถือเป็นหน้าที่ของเรา

    สิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะขาดการพักผ่อนไม่ได้ บางทีการเคลื่อนไหวและการกระทำการงานต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สมควร แต่บางครั้งบางคราวการอยู่นิ่งและการงดเว้นจากการกระทำก็เหมาะสมกว่า เช่น บางครั้งพวกเราทั้งหลายต้องหยุดการต่อสู้ทางโลกมาพักผ่อน ปลีกตัวออกจากความวุ่นวาย ความวิตกกังวลทั้งหลาย เพื่อมาทบทวน มาดูตัวเองบ้าง เพราะว่าการพัฒนาชีวิตของเราต้องดำเนินทั้งภายนอกด้วย ทั้งภายในด้วย ถ้าหากว่าเรามัวพัฒนาแต่เรื่องภายนอก โดยไม่คำนึงถึงหรือละเลยสิ่งภายใน การพัฒนานั้นจะขาดความสมดุลแล้วในที่สุดจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

    การฟังธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าศรัทธาและอุบายที่จะทำให้เรารู้จักสอนตัวเอง ก็จะเกิดขึ้นจากการฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ และแม้ว่าเราฟังไม่เข้าใจก็ยังอาจจะเป็นประโยชน์ก็ได้ สำหรับผู้ที่มีปัญญาเช่นอาจารย์สุเมโธ ท่านเป็นพระฝรั่งองค์แรกที่ไปอยู่กับหลวงพ่อชาที่วัดป่าพง ตอนที่ท่านไปอยู่ใหม่ ๆ นั้น ท่านพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แล้วภาษาอีสานก็พูดไม่ได้เลย สมัยนั้นหลวงพ่อชายังแข็งแรงอยู่ ในการประชุมสงฆ์ตอนเย็น พอทำวัตรเสร็จแล้ว หลวงพ่อมักจะเทศน์ เทศน์สองชั่วโมง สามชั่วโมง สี่ชั่วโมง แล้วเทศน์เป็นภาษาอีสานด้วย ท่านอาจารย์สุเมโธรู้สึกว่าเป็นการทรมานมาก เพราะว่าต้องนั่งพับเพียบ ซึ่งชาวต่างประเทศเราไม่เคยนั่งพับเพียบมาก่อน นั่งลำบาก เจ็บปวดทรมาน แล้วท่านก็หงุดหงิดด้วย ไม่พอใจด้วย เพราะว่าท่านรู้สึกในใจว่า เราได้อุตส่าห์เดินทางมาไม่รู้กี่พันกิโลเพื่อจะปฏิบัติ เพื่อจะได้พ้นจากความทุกข์ เดี๋ยวนี้มีศรัทธาแรงกล้า อยากนั่งสมาธิมาก ๆ เดินจงกรมมาก ๆ อยากจะทำความเพียรมาก ๆ ทำไมหลวงพ่อบังคับให้เรามานั่งที่นี่ ฟังเทศน์ฟังธรรมทั้งที่เราไม่เข้าใจความหมาย พระองค์อื่น ๆ ก็ซาบซึ้งแต่เราไม่ซาบซึ้ง บางทีพระองค์อื่น ๆ ก็หัวเราะ แต่เราไม่หัวเราะ เพราะเราไม่เข้าใจ

    ท่านนั่งคิดว่า ทำไมหลวงพ่อไม่อนุญาตให้เรากลับกุฏิ ถ้าเรากลับกุฏิจะได้นั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง ทำให้ปัญญาเกิด เมื่อท่านคิดอย่างนี้แล้ว ท่านก็ร้อนอยู่ในใจตลอด สองชั่วโมง สามชั่วโมง ทุกวันทุกวัน ท่านบอกว่าบางครั้งท่านนั่งด้วยความโกรธ ด้วยความไม่พอใจ ทั้งสองสามชั่วโมง แล้วโกรธหลวงพ่อ ทำไมหลวงพ่อไม่อนุญาตให้เราไปทำความเพียรข้างนอก ทำไมบังคับให้เรามานั่งอย่างนี้ วันหนึ่ง พอเทศน์จบแล้ว หลวงพ่อหันหน้าไปมองอาจารย์สุเมโธ ยิ้มด้วยความเมตตากรุณา ถามด้วยความเอ็นดูว่า

    “เป็นยังไง สุเมโธ ทนได้ไหม?”

    พอหลวงพ่อพูดอย่างนี้ ความโกรธที่อยู่ในหัวใจของท่านอาจารย์สุเมโธใหญ่เท่าภูเขา พังหมดเลยทันที ท่านก็เลยสังเกตว่า แต่ก่อนเวลาเรากำลังโกรธอยู่ ความโกรธนั้นเหมือนกับเป็นของจริงของจัง แต่พอหลวงพ่อหันหน้ามาพูดกับเราแค่ประโยคเดียว รู้สึกว่ามันหายทันที ก็น่าอัศจรรย์เหมือนกัน

    ท่านได้ข้อคิดว่า เราเป็นคนใจร้อน สมัยเป็นคฤหัสถ์เราเคยเป็นคนใจร้อน มาอยู่ในวัดเราก็ยังเป็นคนใจร้อน แต่ก่อนเราใจร้อนในการที่จะได้นั่นได้นี่ทางโลก เดี๋ยวนี้เราก็ใจร้อนที่จะได้นั่นได้นี่ทางธรรม นิสัยใจร้อนนี้เป็นนิสัยที่ไม่ดี ไม่เป็นความพอดี แล้วก็ไม่ใข่ธรรมะ ทีนี้แม้เราไม่สามารถที่จะเจริญสมถกรรมฐานอย่างละเอียด ในขณะที่เราฟังเทศน์อย่างนี้ อย่างน้อยเราก็สามารถสู้กับความใจร้อนของเราได้ เป็นโอกาสที่จะฝึกให้มีความอดทน ต่อจากนี้ไปเราจะฟังเทศน์ ไม่ขัดเคือง ไม่ปล่อยจิตให้เกิดความโกรธ ไม่ลุอำนาจต่อโทสะแล้วเราจะอดทน หลังจากนั้นท่านพยายามใช้เวลาฟังเทศน์เป็นเวลาสร้างความอดทน แล้วท่านรู้สึกว่าความทุกข์ก็จางไปโดยลำดับ

    หลวงพ่อชาย้ำอยู่เสมอว่า ในชีวิตของนักปฏิบัติ ข้อที่หนึ่งคือความอดทน ข้อที่สองคือการพิจารณา อดทน อดทน และอดทน แล้วก็หัดพิจารณา การปฏิบัติมันอยู่ตรงนี้ ถ้าหากว่าเราไม่มีความอดทนต่ออารมณ์ทั้งหลาย จิตใจของเราจะยินดีบ้าง จะยินร้ายบ้าง พอเกิดอาการของความยินดีขึ้นมาแล้ว เกิดอาการของความยินร้ายขึ้นมาแล้ว โอกาสที่เราจะมองทะลุเข้าไปเห็นความจริงของอารมณ์นั้นหายไปทันทีเลย เพราะฉะนั้นเราต้องมีความอดทน

    ความจริงแล้วสิ่งที่ดีที่สุดคือการปล่อยวาง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเสีย แต่ถ้าเรายังปล่อยไม่ได้จะทำยังไง? ก็ต้องอดทนไว้ก่อน มุ่งที่จะปล่อยวาง แต่เรายังปล่อยวางไม่ได้ ก็อดทนไว้ก่อน แค่ความอดทนนี้มันมีอานิสงส์หลายอย่าง พอจะเกิดอารมณ์ขึ้นมา มีสติพอเห็นว่ามันเป็นอารมณ์ที่เป็นอกุศล แทนที่เราจะลุอำนาจต่ออารมณ์นั้น ปล่อยจิตให้วิ่งตามมัน เราอดทน ไม่ทำ ไม่พูด อดทน อดทน ไม่นานนักอารมณ์นั้นก็ค่อยสลายหายไป แล้วเราจะเห็นอย่างชัดเจนว่า อารมณ์นี้เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์ ไม่ใช่ว่ามันสุข แล้วมันไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเรา เราเริ่มเห็นความจริงคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่แล้วด้วยความอดทน แต่การที่จะปล่อยวางได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนก่อน ต้องเห็นอารมณ์ตามความเป็นจริง ซึ่งต้องอาศัยการดูด้วยความอดทน และต้องอาศัยจิตที่นิ่ง สงบ เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามสร้างความสงบให้มีอยู่ในใจของเรา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก

    พระพุทธองค์สอนว่า เราต้องพิจารณากิเลสว่าเป็นเครื่องเศร้าหมอง ของสิ่งที่เศร้าหมองใจแล้ว เราจะเบื่อหน่ายในสิ่งเหล่านั้น เราจะปล่อยวางสิ่งเหล่านั้น แต่แม้ว่าเราเรียกมันเป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองก็ตาม ถ้าหากว่า เรายังไม่บรรลุถึงจิตที่อยู่นอกเหนือความเศร้าหมอง จิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตที่มั่นคงแน่วแน่ เป็นเอกัคคตาคือมีอารมณ์เดียว จิตที่มีความผ่องใสเบิกบาน เราจะไม่สำนึกในความร้ายกาจของกิเลส

    เพราะฉะนั้น เราควรพยายามฝึกจิตให้มีความสงบ เพื่อจะได้มีเครื่องวัดหรือหลักเทียบเคียงอารมณ์ทั้งหลาย ซึ่งคอยสอดแทรกเข้ามาในจิตใจของเรา ทำให้มันขุ่นมัวอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องฝึกสมาธิ แต่ สมาธิจะเกิดในผู้ที่ปราศจากความผิด คือผู้ที่มีศีล ผู้ที่มีศีลย่อมมีความเรียบร้อยทั้งกายและวาจา งดเว้นจากสิ่งที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น อันนี้เราก็ต้องพยายาม

    นักปฏิบัติเป็นนักพยายาม มุ่งมั่นต่อการปล่อยวางการไม่ยึดมั่นถือมั่น เรายังปล่อยไม่ได้ให้พยายาม อย่าไปเข้าใจว่าการพยายามเป็นเหตุ การปล่อยวางเป็นผล คือการพยายามในสิ่งที่เป็นกุศลเป็นผลอยู่ในตัว เป็นบารมี และทำให้เรามีความอบอุ่น และความภูมิใจว่าเรากำลังดำเนินในทางที่ถูกต้อง เหมือนกับว่าคนเดินในความมืด มีแต่เข็มทิศ บางครั้งบางคราวแสงสว่างเกิดขึ้น เช่น ฟ้าแลบ เป็นต้น ก็ยิ่งมั่นใจ สบายใจ แต่สิ่งสำคัญคือเรามีความไว้วางใจในเข็มทิศคือมีศรัทธา

    ศรัทธานั้น ถ้าเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับจรวดของยานอวกาศ ยานอวกาศเองมักจะเป็นลำเล็ก ๆ แต่เวลาจะขึ้นจากโลกต้องอาศัยจรวดใหญ่ พอพ้นจากการดึงดูดของโลกแล้วมันก็ปล่อยจรวดให้ตกลงมา แล้ววิ่งไปเอง ศรัทธาก็เหมือนกัน เราต้องอาศัยศรัทธาเพื่อพ้นจากความดึงดูดของโลก แต่เมื่อมันทำหน้าที่เรียบร้อยแล้ว ผู้รู้ก็พุ่งไปเอง

    ผู้มีศรัทธาย่อมมีวิริยะ ความพากเพียรที่จะพิสูจน์สิ่งที่ตนเชื่อ ความเพียรย่อมเกิดสติ สติเกิดแล้ว จิตใจของนักปฏิบัติ ก็พร้อมที่จะรวมเป็นสมาธิ แล้วจิตที่เป็นสมาธินี้สุกงอมพร้อมที่จะเกิดปัญญา เครื่องเจาะแทงกิเลส เห็นความเกิดและความดับของสิ่งที่มีความเกิดและความดับเป็นธรรมดารู้แจ้งว่า การเกาะเกี่ยว สิ่งที่เกิดและดับอยู่ตลอดเวลา จะให้ความสุขที่แท้จริงแก่เราไม่ได้

    การเทศน์ก็เหมือนกัน ถ้าจะให้เทศน์แต่ความจริงล้วน ๆ พระจะต้องขึ้นธรรมาสน์พูดแต่คำว่า “เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ” คงไม่มีใครอยากฟัง ฟังไม่กี่ครั้งก็เบื่อ ผู้แสดงธรรมจึงต้องชูรสบ้าง หาอะไรมาประกอบการอธิบายเพื่อให้มันน่าฟัง แต่แท้ที่จริงแล้ว ความรู้เกี่ยวกับโลกที่ลึกซึ้งที่สุด ก็สักแต่ว่าความเข้าใจเรื่องการเกิดและการดับ นักปฏิบัติผู้สามารถรู้แจ้งในการเกิดและดับของสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายในการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย และย่อมน้อมจิตไปเพื่อสิ่งที่อยู่นอกเหนือการแตกสลาย

    เราเป็นชาวพุทธ เราต้องทำหน้าที่ของเราอย่างสมชื่อคือ ต้องสร้างพุทธภาวะขึ้นมาในใจของตน พุทธภาวะ คือ ความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่อะไรก็ตามเถิด ขอให้เราทำหน้าที่นั้นด้วยความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน เราเป็นแม่เขา ให้เป็นด้วยความรู้ในการเป็นแม่ที่ดี ขอให้มีความตื่นตัวต่อการเป็นแม่เขา ขอให้มีความเบิกบานในการเป็นแม่เขา เราเป็นภรรยา เราเป็นสามี เราเป็นเจ้านาย เราเป็นลูกน้อง เราเป็นอะไรก็ตามเถิด ขอให้ทำหน้าที่ด้วยความรู้ ด้วยความตื่น ด้วยความเบิกบาน มุ่งมั่นอย่างนี้ ถ้าหากว่าเรามุ่งไว้อย่างนี้ จิตใจของเราก็จะน้อมไปทางนี้ น้อมไปทางนี้แล้ว การที่จะทำได้สำเร็จก็จะง่ายขึ้น เหมือนกับต้นไม้ที่เอนไปทางไหนแล้วเมื่อมีใครไปตัดมัน มันก็จะต้องล้มในทางที่มันเอน ทีนี้ถ้าจิตใจของเราเอนไปสู่กุศล เวลาจิตใจของเราดับแล้วจากชีวิตนี้ มันก็จะต้องล้มไปในทางนั้น เพราะฉะนั้น แม้ว่าเรายังไม่เก่งก็ไม่เป็นไร เพราะว่าจิตใจของเรานั้นมีความสามารถที่จะปรับตัวมันได้ เรามีสิทธิ์ที่จะทำให้มันดีกว่านี้ได้ จิตใจของเราไม่สบาย เราก็มีทางที่จะทำให้มันสบายได้ ถ้ามันดี ก็ทำให้มันดีขึ้น ถ้ามันดีขึ้นแล้วก็ทำให้มันดียิ่ง ทำให้มันดียิ่งแล้วก็ทำให้มันดีที่สุด คือทำให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างนี้ แต่สำคัญที่ว่าเราไม่ปล่อยจิตให้มัวเมาในความสุข

    ขอให้เราลองถามตัวเองว่าความสุขทั้งหลายที่เราเคยเสวยเดี๋ยวนี้มันอยู่ตรง ไหน? มันอยู่ที่ไหน? ถ้าเกิดมีปัญหาขึ้นมาในชีวิตเดี๋ยวนี้ เราเดือดร้อนวุ่นวาย ความสุขทั้งหลายที่เราเคยเสวยมาในอดีตจะมาช่วยเราได้ไหม? มันเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้น เราต้องเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง เราพึ่งพระรัตนตรัยตลอดชีวิตได้โดยไม่ต้องสงสัย แต่ที่พึ่งนอกจากนั้นเป็นที่พึ่งที่ทรยศ จะช่วยเราจริง ๆ ไม่ได้ แม้ว่าเราจะพึ่งมันได้เป็นบางครั้งบางคราว แต่ว่าถึงที่สุดแล้ว มันก็จะหนีจากเรา มันจะพลัดพรากจากเราไป เพราะมันเป็นสังขารหมด เราจึงควรพยายามปฏิบัติ เพื่อบรรลุสิ่งที่เรียกว่า “วิสังขาร” สิ่งที่อยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

    เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ วันหนึ่งตอนท่านเทศน์อบรมลูกศิษย์ ท่านสอนว่าการปฏิบัตินี้เหมือนเทน้ำใส่กระชอนให้มันเต็ม ท่านพูดแค่นั้นแล้วจบการแสดงธรรม โดยไม่ให้คำอธิบายใด ๆ เลย ผู้ฟังก็งงทั้งนั้นว่าจะเทน้ำใส่กระชอนให้มันเต็มได้อย่างไร น้ำที่เทเข้าไปต้องรั่วไหลออกมาตามรู คฤหัสถ์บางคนเลยคิดว่าอาจารย์คงล้อเลียนโยมกระมัง หาว่าฆราวาสเราปฏิบัติอย่างไรไม่ค่อยได้ผล พอเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมานิดหน่อยก็ปล่อยให้มันไหลออกไปด้วยความไม่ ประมาท บรรลุธรรมชั้นสูงไม่ได้ บางคนก็ท้อใจ

    แต่คนหนึ่งเขาคิดว่า พระพุทธองค์เคยตรัสสอนว่า ถ้าเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอริยบุคคลเพราะฉะนั้น เราก็ต้องพยายามปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คำพูดของอาจารย์คงจะไม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรอก เพียงแต่ว่าเรายังไม่เข้าใจความหมายของท่านต่างหาก เดี๋ยวนี้เราไม่มีเวลาที่จะไม่ปฏิบัติธรรม ไม่มีเวลาที่จะพักผ่อน ไม่มีเวลาที่จะขี้เกียจ เราจะทำไปเรื่อย ๆ ถือเป็นหน้าที่ของเรา เราจะได้ผลน้อย ได้ผลมาก ก็ไม่เป็นไร เราจะไม่คาดหวังอะไร เราจะทำไป จากนั้นเขาเลยลงมือปฏิบัติ อาจารย์เห็นแล้วชมเชย พาไปชายทะเล อธิบายความหมายของคำสอนของท่าน

    ท่านไปยืนอยู่บนหินก้อนใหญ่ที่ยื่นออกไปในน้ำแล้วเอากระชอนนั้นลงไปในน้ำ ทะเล ยกขึ้นมา น้ำก็ไหลออกไป ทำสองสามครั้งให้เห็นว่าทุกครั้งที่ยกกระชอนขึ้นมา น้ำไหลออกไป มันไม่อยู่ ท่านบอกว่าการปฏิบัติของปุถุชนมักจะเป็นอย่างนี้ เอาธรรมะน้อมมาใส่ใจของตน แล้วมันก็อยู่ไม่นาน มันไหลออกไป แต่ว่าอันนี้ก็เพราะปุถุชนยืนอยู่บนหินแข็ง คืออัตตา การปฏิบัติยึดอัตตาเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติของฉัน ความก้าวหน้าของฉัน ความสุขของฉัน ความทุกข์ของฉัน การปฏิบัติที่ยืนบนอัตตาเป็นหลักตายแล้ว ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความลึกซึ้งของพระพุทธธรรมได้

    อธิบายจบแล้วท่านโยนกระชอนทิ้งไว้ในน้ำทะเล กระชอนนั้นค่อยเต็มไปด้วยน้ำ แล้วก็จมไปในน้ำ

    “เห็นไหมล่ะ?” อาจารย์ถาม “กระชอนมันเต็มไปด้วยน้ำแล้ว”

    คือแทนที่จะเอาธรรมะน้อมเข้ามาสู่ใจของเรา เราต้องเอาใจของเราน้อมไปหาธรรมะ เหมือนกับว่าเราเอาความยึดมั่นถือมั่นของเราไปทิ้งในทะเล คือความจริงหรือสัจธรรมทิ้งความหวงแหนทั้งหลายเอาไว้ในความจริง ยอมรับความจริง ปล่อยวางความผิด แล้วจิตใจของเรามันก็จะค่อยเต็มไปด้วยธรรมะ จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมะ แล้วเราก็เป็นธรรมะ เมื่อเรามีสัมมาทิฐิอย่างเต็มที่แล้ว เราจะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไร มันก็จะเป็นธรรมะหมด ชีวิตของเรากับธรรมะจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนกับกระชอนที่มันเต็มไปด้วยน้ำ แล้วค่อยจมลงในน้ำ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทะเล

    พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน อย่าไปปฏิบัติเพื่อจะประดับประดาตัวอัตตาของตน ตัวฉันของเรานั้น แต่ทิ้งมันไว้ในทะเลแห่งสัจธรรม สักแต่ว่าใจ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปัญจขันธ์นี้เป็นของธรรมชาติ ไม่ใช่ของเรา ใครเป็นผู้เสวยอารมณ์? ใครเป็นผู้รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉย ๆ เวทนานั่นแหละเป็นผู้รู้สึก ใครเป็นผู้จำได้หมายรู้? สัญญาขันธ์นั่นแหละเป็นผู้จำได้หมายรู้ ใครเป็นผู้คิดดีคิดชั่ว? สังขารนั่นแหละเป็นผู้คิด ใครเป็นผู้รับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์? วิญญาณขันธ์ ถ้าเราเห็นอย่างนี้แล้วเรียกว่า สลัดคืน เรียกว่า เอาของที่ไม่ใช่ของเราสลัดคืน คืนให้เจ้าของที่แท้จริงคือธรรมชาติ ที่นี้เรายังแบกขันธ์ของเราไว้ แบกกายแบกใจของเราไว้ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา แล้วมันก็เลยหนัก ยิ่งแบกก็ยิ่งหนัก หนักจนกระทั่งเรียกว่าหนักแผ่นดิน คนหนักแผ่นดินมีเยอะทุกวันนี้ เราจะทำยังไง? เห็นโทษของการแบกขันธ์แล้ว พยายามปล่อยวาง ที่ไหนที่เราจะปล่อยวางได้ต้องปล่อยวาง ตรงไหนปล่อยไม่ได้ก็พยายามอดทน ไม่ทำตามมัน ไม่พูดตามมัน ถ้าเราทำอย่างนี้ได้แล้ว เราก็จะค่อยเบา เราจะเป็นคนเบาแผ่นดิน ในที่สุดเวลาเราปล่อยวางได้ เราก็จะเป็นคนที่ไม่มีน้ำหนักเลย อันนี้เป็นจุดมุ่งหมายของเราต้องพยายามทำอย่างนี้

    ขออย่าไปคิดว่าบุญของเราน้อย บารมีของเราน้อย พวกเราชอบอ้างบุญ อ้างบารมีอยู่เรื่อย เพื่อเป็นการแก้ตัว บางคนก็อ้างว่า บุญหรือบารมีที่จะภาวนาก็ไม่มี ทำไมเรามีแต่บุญ มีแต่บารมีเพื่อทำความชั่ว ทำไมเราไม่มีบุญบารมีเพื่อทำความดีบ้าง บุญบารมีทำความชั่วเห็นเรามีทุกคนตลอดเวลา ทำไมเราไม่มีบุญบารมีทำความดี นั่นต้องถามตัวเองอย่างนี้ ให้ฝึกสติ ให้สติเป็นพี่เลี้ยงของจิต เป็นเครื่องคุ้มครองชีวิตของเรา การที่เราจะได้ปรับปรุงตัวเองให้มีความอดทนต้องมีสติไว้ก่อน
     
  2. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    การตั้งสติให้มั่น มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในชีวิตประจำวันคือการภาวนาแท้ ๆ ….

    การภาวนาไม่ใช่แต่เรื่องการนั่งหลับตาอยู่อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการฝึกสติจนมีความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา เราทำอะไร เราพูดอะไร ให้มีความรู้สึกในสิ่งที่เราทำ คำที่เราพูด อันนี้ถูกไหม ? อันนี้ผิดไหม? อันนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของตัวเองและผู้อื่น หรือว่าเป็นไปเพื่อความเดือดร้อนของตัวเองและผู้อื่น? ให้มีความรู้สึกผิดชอบอยู่ตลอดเวลา นี้คือการภาวนา เพราะว่าก่อนที่เราจะพูดอะไร ให้มีความรู้สึกในสิ่งที่เราทำ คำที่เราพูด อันนี้ถูกไหม? อันนี้ผิดไหม? อันนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของตัวเองและผู้อื่น หรือว่าเป็นไปเพื่อความเดือดร้อนของตัวเองและผู้อื่น? ให้มีความรู้สึกผิดชอบอยู่ตลอดเวลา นี้คือการภาวนา เพราะว่าก่อนที่เราจะพูดอะไร ก่อนที่เราจะทำอะไร ย่อมมีเจตนามาก่อน ต้องมีความคิดที่จะพูดหรือที่จะทำเป็นเครื่องผลักดัน แต่โดยปกติเรามักจะมองข้าม หรือรู้ไม่ทันต่อเจตนาของตน ซึ่งทำให้เจตนากับการกระทำถูกเชื่อมโยงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเราไม่รู้สึกตัว แต่ผู้มีสติ ชำนาญในการตามดูตัวเอง สามารถเปิดช่องว่างระหว่างเจตนาและการกระทำได้ และช่องว่างนี้แหละที่เราใช้เป็นที่ปกป้องตนได้ เป็นที่เรารับผิดชอบเรื่องตัวเองได้

    เรามีสติตั้งไว้ตรงนี้ แล้วสัมปชัญญะจะวิ่งเข้ามาช่วย เราจะเห็นว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล แล้วเราจะได้ละสิ่งที่เป็นอกุศล และป้องกันไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เราจะได้ทำสิ่งที่เป็นกุศลให้เกิดขึ้น และทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงาม ทั้งหมดนี้ทำได้เพราะมีสติอยู่ในช่องว่างระหว่างเจตนากับการกระทำ

    สติคือชีวิต หลวงพ่อชาเคยสอนว่า ผู้ที่ไม่มีสติเป็นบ้า ขาดสติ ๕ นาทีเท่ากับเป็นบ้า ๕ นาที ท่านว่าอย่างนั้น ขาดสติชั่วโมง ก็บ้าชั่วโมง ฉะนั้น ขอให้พวกเรามีสติ ชีวิตจะมีความมั่นคง เราจะเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ เชื่อตัวเองได้ เราจะไม่ต้องไปปลุกเสก ไม่ต้องสะเดาะเคราะห์ ไม่ต้องขออะไรจากใคร ไม่ต้องสร้างพระเจ้าไว้เพื่ออ้อนวอน เพื่อขอรางวัลใด ๆ เราจะช่วยตัวเองได้ ถ้าเราสร้างพระเจ้าขึ้นมาแล้ว พระเจ้าก็ต้องทำหน้าที่ของพระเจ้า คือสร้างโลก แต่ถ้าหากว่าเรามีสติ ไม่ต้องสร้างพระเจ้า ไม่มีพระเจ้าก็ไม่ต้องมีโลก ไม่ต้องมีโลกก็ไม่ต้องมีวัฏฏสงสาร ไม่ต้องมีความทุกข์ เพราะว่าโลกคือความทุกข์ โลกคือความมืด ผู้มีสติมีความสว่างแล้วจะสร้างความมืดทำไม?

    การภาวนาคือการลดความโง่ของตัวเอง ผู้ที่หาว่าไม่มีเวลาภาวนาคือผู้ที่ถือว่าไม่มีเวลาลดความโง่ของตัวเอง ซึ่งไม่น่าเชื่อ พวกเราไม่ได้เกิดมาเพื่อความโง่ โดยเฉพาะชาวพุทธเราเกิดมาเพื่อความฉลาด เพื่อเป็นที่พึ่งของตน เพื่อช่วยตัวเองได้ พระพุทธองค์ก็ชี้แนะแนวทางได้ ครูบาอาจารย์ก็ช่วยได้ แต่ในที่สุดท่านก็สอนเราตลอดเวลาไม่ได้ มีแต่ตัวเองสอนตัวเองตลอดเวลาได้ ด้วยการมีสติ คอยดูจิตใจของตัวเอง เดี๋ยวนี้เรามีอะไรอยู่? เราฟังเทศน์ จิตมันสนใจไหม? เบื่อไหม? ง่วงไหม เราเป็นอย่างไรเดี๋ยวนี้ ร่างกายของเรามันเป็นอย่างไรเดี๋ยวนี้ เรามีความตึงเครียดไหม? คอยดูตัวเองอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับว่าเรามีนัดอะไรกับเพื่อน เรามีการนัดหมายที่สำคัญ แล้วเราทำอะไรในระหว่างนั้น ก็คอยดูนาฬิกาของเรา กี่โมงแล้ว กี่โมงแล้ว กี่โมงแล้ว ทุกครั้งที่เราระลึกได้ว่าเดี๋ยวเราต้องออกไปข้างนอก เราก็จะดูนาฬิกาของเรา กี่โมงแล้ว กี่โมงแล้ว ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันทุกครั้งที่เรารู้สึกตัว ต้องดูตัวเองว่าเรามีอะไรอยู่เดี่ยวนี้ เป็นกุศลไหม เป็นอกุศลไหม เป็นไปเพื่อความสุข เป็นไปเพื่อความสุข เป็นไปเพื่อประโยชน์ หรือเป็นไปเพื่อความทุกข์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ให้ดูตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เหมือนกับว่าเราดูนาฬิกา ดูบ่อย ๆ ดูให้มากที่สุด

    พอเรามีเวลาว่าง ๆ ให้อยู่กับตัวเอง ไม่ต้องฆ่าเวลา ทุกวันนี้ชีวิตพวกเรามีการฆ่าเวลาอยู่มาก ฆ่าเวลาแล้วไม่ได้ยอมรับว่าเป็นการฆ่าเวลา ฆ่าเวลาแล้วก็เรียกว่างานอดิเรกบ้าง เรียกว่ากีฬาบ้าง เรียกว่าธุรกิจบ้าง แต่ส่วนมากเป็นการฆ่าเวลา ฆ่าเวลาเพราะอะไร เพราะเรากลัวตัวเอง กลัวอยู่กับตัวเอง ก็ต้องเดินออกนอกอยู่ตลอดเวลา ซัดส่ายไปตามอารมณ์ภายนอกอยู่ตลอดเวลา เลยเป็นทาสของสิ่งภายนอกอยู่ร่ำไป สิ่งภายนอกขึ้น ๆ ลง ๆ เราก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามความเคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านั้น จิตใจของเราก็ไหวกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา ไหวกระเพื่อมจนกระทั่ง เราถือความวุ่นวายว่าเป็นความปกติ “ก็เป็นอย่างนี้แหละ ชีวิตก็เป็นอย่างนี้แหละ” แต่ความเป็นอย่างนี้แหละคือตัวความทุกข์ ตัวนี่แหละที่เราจะต้องพ้นแล้วก็พ้นได้

    พระพุทธองค์ยืนยันว่า ที่ตถาคตให้พวกเธอทั้งหลายละความชั่ว บำเพ็ญความดี ชำระจิตใจของตัวเองให้บริสุทธิ์นั้นก็เพราะเป็นสิ่งที่พวกเธอทำได้ ถ้าพวกเธอทำไม่ได้ ตถาคตก็ไม่สอน ขอให้สำนึกว่า การพูดว่าละไม่ได้ ทำไม่ได้ เป็นการไม่เชื่อพระพุทธองค์ เป็นการค้านคำสอนของพระพุทธองค์ เป็นความดื้อ

    พระพุทธองค์สอนว่าเราทำได้ แต่เราต้องมีความพากเพียรพยายาม คุณงามความดีทั้งหลายไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ เราต้องทำให้มันมีขึ้น ภาวนาเป็นสิ่งที่ทำให้มันมีขึ้น ทำให้มันเจริญ ทำให้สิ่งทั้งหลายดีกว่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำได้ แต่เราต้องพยายามสร้างความรู้ ความตื่น และความเบิกบานขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา พยายามสำนึกตัวอยู่ให้มาก พิจารณาให้มาก วันนี้เรามีหน้าที่อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น เราจะทำยังไงจึงจะ ทำด้วยสติ เราจะทำหน้าที่อย่างไรจึงจะ ไม่เผลอ จึงจะรักษาความไม่เศร้าหมองของจิตใจของเราไว้วันนี้ หรือทำอย่างไรความเศร้าหมองจึงจะครอบงำจิตเราน้อยที่สุด ตั้งใจอย่างนี้ ถึงแม้ว่าการปฏิบัติของเรานั้นยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าการปฏิบัติชอบ ก็อย่างน้อยที่สุดขอให้เราชอบปฏิบัติเสียก่อน ถ้าหากว่าเราชอบปฏิบัติ มีความยินดี มีความเบิกบาน มีความพอใจในการปฏิบัติที่จะละสิ่งที่เป็นอกุศล บำเพ็ญสิ่งที่เป็นกุศล ชำระจิตใจของตนให้สะอาดแล้ว มีความรู้ความตื่นความเบิกบานในการทำอย่างนี้ ในที่สุดชีวิตของก็ต้องมีความปลอดโปร่งผ่องใส แล้วการปฏิบัติก็ต้องเป็นการปฏิบัติชอบ ทำให้มันชอบเถิด ทำให้มันเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะชอบ จะถูกต้องทั้งนั้น

    เราต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้เราปฏิบัติเพื่ออะไร อย่าไปปฏิบัติเพื่อจะได้อะไร อย่าไปเป็นพระพุทธเจ้า อย่าเป็นพระอรหันต์ อย่าเป็นพระอนาคามี อย่าเป็นพระสกิทาคามี อย่าเป็นพระโสดาบัน อย่าเป็นอะไรเลย เป็นแล้วมันจะทุกข์ อย่าเป็นอะไรเลย สบาย ความสบายอยู่ตรงที่เราไม่ต้องเป็นอะไร เราไม่ต้องเอาอะไร ภาวนาจนไม่มีความรู้สึกว่าได้กำไรหรือขาดทุนจากการปฏิบัติ มีความรู้สึกราบรื่น สิ่งภายนอกขึ้น ๆ ลง ๆ แต่เราก็ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ ตาม เราอยู่ด้วยความวางเฉยของผู้รู้เท่าทัน อาการแห่งความสุขก็มีอยู่ อาการแห่งความทุกข์ก็มีอยู่ แต่มันอยู่ข้างนอก มันไม่ได้เข้าไปถึงใจของเรา

    จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต อันนี้เป็นหลักที่สำคัญมาก ท้องฟ้าไม่ใช่เมฆ เมฆไม่ใช่ท้องฟ้า ท้องฟ้าไม่ใช่เครื่องบิน ท้องฟ้าก็อยู่อย่างนั้นแหละ เมฆก็ผ่านไปผ่านมา เครื่องบินก็ผ่านไปผ่านมา เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว อันนี้เป็นอากาศ แต่ว่าอากาศไม่ใช่ท้องฟ้า ท้องฟ้าไม่ใช่อากาศ จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวพอใจ เดี๋ยวไม่พอใจ อันนี้เป็นอารมณ์ แต่อารมณ์ไม่ใช่ใจ ที่ว่าวันนี้ใจไม่ดี ใจไม่สบาย ความจริงไม่ใช่เรื่องของใจนี่ ใจมันนิ่ง ความยินดีและความยินร้าย ความพอใจและความไม่พอใจ เหล่านี้เป็นเรื่องของอารมณ์ต่างหาก ให้รู้จักแยกจิตออกจากอารมณ์ ยอมให้อารมณ์เป็นอารมณ์ ให้จิตเป็นจิต นี่เราจะมีความสบายอยู่ตรงนี้

    ฉะนั้น ขอให้ทำสติให้มาก เจริญให้มาก จนเบื่อหน่ายปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ การปฏิบัตินี้จะให้สนุกตลอดเวลาไม่ได้ มันต้องผ่านความไม่สนุกเสียก่อน ต้องมีความตะเกียกตะกาย ต้องมีความล้มลุกคลุกคลานเสียก่อน ไม่เป็นไร เราเกือบทุกคนก็ต้องเป็นอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านก็เคยเป็นอย่างนั้น เคยผ่านความกระเสือกกระสน เคยผ่านความยากลำบากตรากตรำอยู่ทุกองค์แล้ว พวกเราทั้งหลายก็ต้องยอมรับ เพราะเป็นความทุกข์ที่เป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งความทุกข์ เราต้องยอมรับ แต่ไม่ท้อถอย ขออย่าเป็นหัวหน้าในการท้อถอย อย่าไปปล่อยความเพียร การทำความเพียร ไม่ใช่เรื่องของร่างกายเท่าไหร่นัก แต่เป็นเรื่องของจิตใจ คือเพียรไม่ให้ลุอำนาจแก่ความโลภ ลุอำนาจแก่ความโกรธ หรือลุอำนาจแก่ความหลง พยายามเห็นโทษในสิ่งที่มีโทษ พิจารณา อดทน อย่าปล่อยให้มันดีใจมาก อย่าไปปล่อยให้มันเสียใจ อดทน อดทน ต่ออารมณ์ทั้งหลาย แล้วก็ยกอารมณ์นั้นขึ้นมาดู ยกขึ้นมาพิจารณา อย่างที่ท่านว่า “ยึดแต่ไม่ถือ” การยกขึ้นมาเรียกว่า วิตก วิตกขึ้นมาแล้วถือไว้เพ่งดู เรียกว่า วิจาร ถ้าเราวิตกวิจารสิ่งใดเรื่อย ๆ ด้วยความตั้งใจที่จะเห็นความจริงของสิ่งนั้น ในที่สุดมันก็จะเกิดปีติ และปีตินั้นก็ต้องมีความสุขพ่วงมาด้วย มีวิตก วิจาร ปีติ ความสุข เอกัคตา มีองค์แห่งฌานครบแล้ว จิตใจของเรามันจะเข้าถึงความสงบ ทีนี้เราไม่ต้องตั้งชื่อว่า ขณิกะ อุปจาระ อัปปนา ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไม่ต้องตั้งชื่อมันก็ได้ แต่ขอให้เราชิมรสของมันก็แล้วกัน ดูว่ามันผ่องใสมาก หรือว่ามันผ่องใสน้อย มีไหม? อาการแห่งความง่วงหงาวหาวนอนมีไหม? อาการแห่งความฟุ้งซ่านมีไหม? อาการแห่งความลังเลสงสัยมีไหม? ถ้ายังมีอยู่ ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากมันได้

    การที่เราจะฆ่ากิเลสหรือฆ่านิวรณ์นั้น ต้องเข้าใจคำว่าฆ่านั้นหมายถึงการรู้เท่าทัน ฆ่าด้วยการรู้เท่าทัน รู้กับละมีความหมายอันเดียวกัน คำว่า รู้ กับ ละ กับ ฆ่า ใช้แทนกันได้ ขอให้เราฆ่ามันด้วยความรู้ ความเข้าใจ รู้ตามความเป็นจริง ควรปฏิบัติทุกขั้นตอน อย่าไปปฏิบัติเพื่อจะเป็น เพื่อจะเอา เพราะจะเป็นการปฏิบัติที่เป็นการพายเรือในอ่าง ไม่เป็นการปฏิบัติที่จะข้ามไปฝั่งโน้น พายเรือในอ่างหมายถึงว่า การปฏิบัติเพื่อภพ เพื่อชาติ เพื่ออยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นผู้วิเศษ แต่ความวิเศษไม่เป็นปัญหาของพวกเราทั้งหลาย สิ่งที่เป็นปัญหา คือ ความหมกมุ่น ความมัวเมา เพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่วิเศษ แล้ว การปฏิบัติของเราไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อจะได้ความวิเศษมาเป็นของฉัน แต่เป็นไปเพื่อให้รู้เท่าทันสิ่งที่ไม่ใช่ความวิเศษ เห็นโทษในสิ่งที่ไม่วิเศษ ถ้าเห็นโทษในความไม่วิเศษแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์หรือธรรมะจะเกิดขึ้น ไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์ นอกจากธรรมะคือความจริง ขอให้เรามีความพอใจในความจริง มุ่งเพื่อเห็นความจริง ปฏิบัติเพื่อความจริง ให้ทานด้วยความจริงใจ รักษาศีลด้วยความจริงใจ ภาวนาด้วยความจริงใจ เพื่อความจริง มุ่งความจริง

    เราไม่มุ่งความจริงแล้ว จุดอ่อนของเราจะอยู่ที่ว่า พอเกิดปีติ เกิดความสุข เราก็จะหลงเพลิดเพลินยินดีกับปีติ กับความสุขนั้น แล้วจิตใจของเราก็จะติดสมถะ ติดในความสงบ จิตใจของเราก็จะไม่ก้าวหน้าไปสู่วิปัสสนา การรู้แจ้ง เพราะฉะนั้น การกระทำของเราทุกอย่าง ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ไม่ว่าเราอยู่กับใคร ต้องทำเพื่อให้มันแจ้ง รู้จริงเห็นแจ้งในหน้าที่ของเรา

    สิ่งที่จะช่วยการปฏิบัติอย่างหนึ่งคือ การพยายามที่จะให้ความร่มเย็นแก่เพื่อนมนุษย์ มันเป็นอุบายช่วยให้เรามีการปล่อยวางในการปฏิบัติ บางทีการปฏิบัติเป็นเหตุให้เราเห็นแก่ตัวอย่างละเอียด คือ เราจะเห็นแต่การปฏิบัติของฉัน เห็นว่าการปฏิบัติของฉันสำคัญที่สุด เหมือนแต่ก่อนเราเคยเห็นความสนุกสนานของเราสำคัญที่สุด ทีนี้การปฏิบัติของเรากลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การก้าวหน้าของเรา หรือการถอยหลังของเรานั้นจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แล้วมันก็สำคัญจริงอยู่หรอก แต่ ต้องระวัง “ตัวเรา” “ของเรา” มันเสียตรงนี้ บางทีเรารู้สึกว่า สติอยู่ เรามีสติดีอยู่ สมาธิของเราดีอยู่ แต่ว่าสติและสมาธินั้นไม่รอบคอบ ขาดความรอบรู้ สติต้องรอบคอบทั้ง ๓๖๐ องศา คือต้องเป็นสติที่คำนึงถึงผลกระทบของการเจริญสติของเราด้วย เช่น ลมมรสุม ถ้าเราดู จุดกลางของมรสุมนั้น มันนิ่งสงบ ไม่มีอะไร แต่รอบ ๆ นั้นลมมันพัดอย่างรุนแรง อย่างน่าอันตราย บางทีความสงบของเราอาศัยความไม่สงบของผู้อื่นก็ได้ การระวังเรื่องนี้จะเป็นการป้องกันคน คำกล่าวหาว่าการปฏิบัติทำให้เห็นแก่ตัว ซึ่งไม่เป็นความจริง

    การปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น ต้องเกิด ”พรหมวิหาร” คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นผลพลอยได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะว่า ปัญญากับความเมตตากรุณานั้นแยกออกจากกันไม่ได้ ปัญญาที่ชอบก็ต้องประกอบด้วยความกรุณา ความกรุณาที่ชอบก็ต้องประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติด้วยการทำจิตให้สงบเพื่อเกิดปัญญา เพื่อรู้สิ่งทั้งหลาย จิตใจของเราก็ต้องเกิดความกรุณา เรามองจิตใจของตัวเองแล้วเห็นอะไรบ้าง? ก็เห็นกิเลสของตัวเองนั่นแหละ เราเห็นกิเลสของตัวเอง เห็นความทุกข์ของตัวเองแล้ว จะเห็นว่าความทุกข์และกิเลสนั้นไม่ใช่ของเราคนเดียว แต่เป็นของทุกสิ่งที่มีชีวิต ที่หลงอารมณ์ของตัวเอง เห็นความร้ายกาจของความทุกข์ ความน่าเกลียดของกิเลส ทั้งหลายแล้ว เห็นว่าเป็นของประจำโลก ประจำวัฏฏสงสาร ความกรุณาย่อมเกิด เพราะเราจะนึกว่า โอ้ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ก็มีความทุกข์ มีกิเลสอย่างนี้ เป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นสิ่งที่บีบคั้นกดขี่ตลอดเวลา คือเห็นความทรมานของสิ่งเหล่านี้แล้ว เราก็ต้องสงสารสรรพสัตว์ทั้งหลาย อย่างนี้เป็นการปฏิบัติที่ชอบ

    การที่จะเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้น ต้องการความจริงใจต่อความจริง และการพยายามที่จะให้ความร่มเย็นต่อมนุษย์เหมือนกับต้นไม้ ดูสิ เวลาเราอยู่ในที่แจ้ง มันร้อน เราหาต้นไม้ หาร่มเงาของต้นไม้ ต้นไม้นั้นเราไม่ได้คิดว่ามันเป็นต้นไม้ที่สวยหรือต้นไม้ที่ไม่สวย ต้นไม้ที่สูงหรือต้นไม้ที่เตี้ย ต้นไม้ที่ดำหรือต้นไม้ที่ขาว เราไม่ได้สนใจเรื่องลักษณะของต้นไม้ ขอให้มีร่มเงาที่เยือกเย็นก็พอแล้ว และต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็นแก่เรารู้สึกว่าเป็นที่ชื่นใจของมนุษย์ทั้งหลาย

    เราเป็นผู้ชายก็ดี เป็นผู้หญิงก็ดี เป็นคนไทยก็ดี เป็นฝรั่งก็ดี เป็นคนฉลาดก็ดี เป็นคนไม่ฉลาดก็ดี เป็นคนสวยก็ดี เป็นคนไม่สวยก็ดี เป็นคนอย่างไร มีนิสัยใจคออย่างไร ชาติชั้นวรรณะอย่างไรก็ตาม เราทุกคนสามารถให้ความร่มเย็นแก่มนุษย์ทั้งหลายได้ด้วยความเมตตากรุณา ให้พยายามทำสิ่งที่ทำไม่ได้ พยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือ พยายามรักคนอื่นมากกว่ารักตัวเอง เรื่องนี้เรามักจะค้านทันทีว่าเป็นไปไม่ได้ มันขัดต่อความรู้สึกของเรามากเกินไป ใช่ ยอมรับ แต่ถ้าเรามุ่งที่จะรักคนอื่นมากกว่ารักตัวเอง มุ่งที่จะให้ความรุ่มเย็นแก่คนอื่น ด้ยไม่ต้องหาความร่มเย็นจากเขา มุ่งไปทางนี้แล้วจะค่อยเห็นโทษในการเห็นแก่ตัวมากขึ้น มันจะเป็นการส่งแสงสว่างให้เราเห็นความน่าเกลียดของความเห็นแก่ตัว แล้วก็จะเป็นทางป้องกันความเห็นแก่ตัวในการปฏิบัติ ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดถ้าเรามีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยง

    เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายถือว่าโชคดี โชคดีที่มีโอกาสที่จะปฏิบัติ มีโอกาสที่จะทรมานตัวเอง ด้วยการฝึกหัดขัดเกลา เราต้องมีความพร้อมใจในการขัดเกลา การปฏิบัติที่ไม่ขัดเกลาไม่ใช่การปฏิบัติ การปฏิบัติที่ไม่มีการฝืนความรู้สึกเก่า ความเคยชินของตน จะเป็นการปฏิบัติที่ไม่มีฤทธิ์ แล้วก็จะเป็นการปฏิบัติที่จะอยู่ในลักษณะเหลาะ ๆ แหละ ๆ จะไม่เอาเป็นเอาตายสักที จะมีแต่ซังกะตายอย่างเดียว ถ้าอย่างนี้เราไม่มีหวังที่จะพ้นบ่วงแห่งมาร

    พยายามฝึกพยายามฝืน แต่ไม่ต้องฝืนมากไป ฝืนนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ละวัน ๆ เหมือนกับการออกกำลังกาย ถ้าเราทำมากไปในวันแรกนั้น มันก็จะเจ็บปวด จะไม่ไหว ผู้ฉลาดจะพยายามทำให้มากขึ้น ๆ โดยลำดับ ลองฝืนความอยาก ถ้าไม่ฝืนเลย ความอยากจะดูเหมือนกับเป็นเพื่อนของเราหรือเป็นของธรรมดา เราจะไม่เห็นโทษของมัน ฝืนความอยากแล้วเราจะเห็นทุกข์ที่เกิดจากมัน ต้องอดทนต่อความอยาก จึงจะได้เห็นลักษณะอาการแห่งความทะเยอทะยานอยาก ความกระวนกระวายที่จะได้ ที่จะเด่น ที่จะเอา จะเป็นเห็นอย่างชัดเจนแล้วย่อมเห็นโทษของมัน แล้วจะปล่อยวาง ต้องปฏิบัติอย่างนี้มันถึงจะถูกต้อง

    การหนีออกจากการสร้างเนกขัมมะบารมีนั้น ไม่ใช่เรื่องของพระอย่างเดียว เช่น สมมติว่าเราเผลอสติ เผลอเพลินกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พอเราสำนึกตัวแล้ว เราก็กลับมาสู่ความรู้สึกตัวซึ่งเป็นสัมปชัญญะ หรือว่าถ้าเป็นในขณะที่เรากำลังทำสมาธิกำหนดอารมณ์กรรมฐานของเรา ก็กลับมาสู่พุทโธ พวกเราส่วนมากมีจิตใจที่ชอบเผลอไปบ่อย ๆ เผลอไปแล้วก็ดึงกลับมา เผลอไปแล้วก็ดึงกลับมา จนท้อใจหรือน้อยใจ หรือว่าเกิดความอิดหนาระอาใจในการปฏิบัติ แต่ขอให้เรามองปัญหานี้อย่างใหม่ คือ ให้เห็นว่า ทุกครั้งที่เผลอสติแล้วสำนึกตัวว่าราเผลอ ดึงจิตกลับมา การดังกลับมานั่นแหละคือการออกบวช การออกบวชด้วยศรัทธา คือเป็นการสร้างเนกขัมมะบารมี

    สมมติว่าเรานั่งสมาธิ ๓๐ นาที จิตใจซัดส่ายไปสู่อารมณ์ภายนอก เรื่องอนาคตบ้าง เรื่องอดีตบ้าง ๓๐ ครั้ง ก็ถือว่าทุกครั้งที่เราดึงมันกลับมานี้เป็นการบวช เราได้นั่งสมาธิ ๓๐ นาที เราก็ได้บวช ๓๐ ครั้ง ควรมีความภูมิใจที่เราได้บวชมาก ๆ สร้างบารมีมาก ๆ เราผิดแล้วกลับตัว ดึงกลับมาสู่ความจริง ตื่นแล้วกลับมาสู่อารมณ์กรรมฐานของเรา เป็นการสร้างเนกขัมมะบารมี

    เราอยู่ในโลก เราต้องพยายามสร้างบารมีให้มาก พระพุทธเจ้าท่านปรินิพพานนานแล้ว แต่ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้ายังมีอยู่ การให้ทาน การรักษาศีล การออกจากกาม ทำให้คนที่มีปัญญาเป็นผู้ที่มีความอดทน ความตั้งมั่นในความอดทน เรียกว่าความเพียร มีความเพียรมีสัจจะความจริง มีอธิษฐาน มีเมตตา มีอุเบกขา การสร้างบารมีคือการสร้างให้มีธรรมะอยู่ในใจ ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า ทำให้เราเป็นชาวพุทธที่แท้จริง คือถ้าเราสร้างทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา ขันติ วิริยะ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ขึ้นมาในใจ อาการแห่งความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน จะปรากฏขึ้นอยู่ในตัวเราอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งอาตมาก็หวังว่า ความรู้ ความตื่น ความเบิกบานนั้นจะปรากฏขึ้นในจิตใจของพวกเราทั้งหลายให้มากที่สุดต่อไป วันนี้จะขอยุติลงเพียงเท่านี้

    คัดลอกจาก paang อกาลิโก
    วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรม
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 พฤศจิกายน 2009
  3. ตรงประเด็น

    ตรงประเด็น เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    309
    ค่าพลัง:
    +677
    สาธุ ครับ



    ท่าน อ.ชยสาโร ท่านเน้น การรู้ตามจริง

    แต่ ในขณะเดียวกัน ท่านก็ให้ความสำคัญ กับ การเจริญสมาธิภาวนา


    ".......การทำสมาธิจึงช่วยได้ตั้งแต่เรื่องธรรมดา ๆ หรือง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันตลอดจนถึงเรื่องสูงสุด คือการบรรลุมรรคผล นิพพาน การพ้นทุกข์ในระดับสูงเกิดจากปัญญาระดับวิปัสสนา

    ปัญญาระดับวิปัสสนานั้นเกิดจากจิตใจที่สงบ ไม่มีนิวรณ์ณ์ จิตใจที่พ้นนิวรณ์ คือจิตใจที่ได้รับการฝึกอบรมทางสมาธิภาวนา

    ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการพ้นทุกข์ไม่ว่าระดับไหนก็ตาม ควรสนใจการทำสมาธิภาวนา.....บางคนถามว่า เอาแต่เจริญสติในชีวิตประจำวันได้ไหม....ถ้าทำสติมีความรู้อยู่ทุกอิริยาบถไม่ทำสมาธิได้ไม?


    (คำตอบคือ)ไม่ได้ .....คือต้องทำ(สมาธิ)......

    ถ้าไม่ทำ สติเราจะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของกิเลส และจิตใจจะไม่เข้มแข็งพอที่จะปฏิเสธการสำออยของมัน จิตใจที่มีสมาธิย่อมมีกำลังมาก ......"

    "......หลักการสำคัญที่ขอย้ำไว้ที่นี่ ก็คือ สมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลสไว้ ไม่ใช่เป็นตัวทำลายกิเลส ...แต่ก็จำเป็น.....เพราะการข่มกิเลสไว้ทำให้ปัญญามีโอกาสทำงานคล่องแคล่ว... เหมือนหมอผ่าตัด ต้องวางยาสลบก่อนผ่า ไม่วางยาสลบจะผ่าตัดยากเพราะคนไข้เจ็บแล้วต้องดิ้น .....สมาธิเหมือนยาสลบ .....สิ่งที่สลบไปก็คือ ความรู้สึกยินดียินร้าย ความหลงใหลตามสิ่งที่ปรากฏอยู่ในจิต ด้วยความพอใจและไม่พอใจ ....เมื่อจิตไม่เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ มีการรับรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็จะเห็นชัดขึ้นซึ่ง อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความบกพร่อง ความไม่สบบูรณ์ และ อนัตตา ความไม่มีเจ้าของหรือแก่นสารในสิ่งเกิดดับ...."
     
  4. วิศว

    วิศว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    2,349
    ค่าพลัง:
    +5,104
    อนุโมทนา สาธุ พี่หมอกล่าวชอบแล้วครับ
     
  5. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    น้ำใส ไหลกระเซ็น เห็นตัวปลา ว่ายวน ไป่มา น่าเอ็นดู
     
  6. Bull_psi

    Bull_psi เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    889
    ค่าพลัง:
    +1,445
    เช่นนั้น ขอเรียนถามว่านั่งสมาธิเท่าไหร่ถึงจะพอ
    และอย่างไหนไม่พอ มีนั่งสมาธิเกินไปเกิดขึ้นได้ไหม ครับท่าน
     
  7. Bull_psi

    Bull_psi เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    889
    ค่าพลัง:
    +1,445
    งั้นหลักปฎิบัติ
    เราเข้าฌานเพียงจิตตัดนิวรณ์ไว้ได้เสมอ
    แล้วก็พิจารณาเกิดดับก็พอสิครับ
    ตรงประเด็น จริงๆสาธุ

    งั้นขอถามว่า นั่งอยู่เฉยๆ ทำความคิดให้ว่าง ทำใจให้สงบ
    ไม่มีอารมณ์อะไรมาฟุ้งเพราะสำรวม ปลีกวิเวกทั้งวันอยู่แล้ว
    เราต้องฝึกอย่างไรครับต่อไป
     
  8. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ฌานข่มนิวรณ์ได้ในบางโอกาส แต่ในวิธีแล้วเราไม่สามารถเข้าฌานไว้ได้ตลอด

    เอาสำรวมให้พอเหมาะ ค่อย ๆ ดับนิวรณ์ไปที่ละน้อย

    นิวรณ์คือเครื่องกั้นความดี ทำใ้ห้เรา หดหู่ เพ้อเจ้อ ขาดสมาธิ หลงฟุ้งไปอยู่ตลอดเวลา

    การละนิวรณ์ ทำสมาธิเล็กน้อย พอให้มีกำลังในการเห็น พึ่งดู พึ่งพิจารณาการเกิดดับทั้งหลาย สิ่งใดเกิด ไม่ว่าจะเกิดจากรูป จากสัญญาณ วิญญาณรับรู้ ดูซิว่าสังขารมันปรุงอย่างไร เทียบตามนิวรณ์ธรรม แรก ๆ ก็พลาดยึดจับไปเห็นสุดท้ายที่เวทนาทุกข์ทั้งสิ้น หรือไม่ก็เผลอปรุงแต่งเรื่อยเปื่อยไปตามกระแสกิเลส

    บางคนบอกไม่ควรพากษ์ แต่ที่ผ่านมาผมก็พากษ์ เอาสติพากษ์ พากษ์เป็นสติ พอระลึกได้ ก็ต้องพากษ์ ให้รู้พิจารณาให้ไวขึ้น ว่ามันเป็นนิวรณ์ตัวไหน แล้วก็ละมัน แรก ๆ ก็ละช้า แล้วทำไปอย่างเพียรสุดกำลังว่าจะต้องละมันให้ได้ ก็จะสามารถละได้ไว้ขึ้น ปัญญามันเกิดได้ เพราะสติมันแยกแยะได้ เพราะสติมันพิจารณาเร็วขึ้น ละเอียดขึ้น เห็นโทษ จึงละได้

    ลองฝึกสติให้เห็นให้ไว เห็นความจริง เห็นไปถึงเหตุทั้งหลายทั้งปวงที่ก่อความทุกข์ อย่าไปแค่เห็นอาการวับ ๆ แว็บ ๆ แล้วบ้าจี้หลงเพลินไปกับมันว่าเห็นจิตแล้ว ทึกทักตามตำราว่าจิตเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ มันไม่มีอะไรหรอกจิตมันมีแต่กิเลสทั้งนั้นที่เป็นเหตุ

    อีกประเภทคือเห็นหาง ๆ เห็นลงไปที่เวทนาแล้ว อุ้ยเค้าให้รู้เฉย เอ่อนั้นแหล่ะ ไปบังคับให้มันเฉยอีก มันเฉยได้เพราะการข่ม ถ้าไม่ข่มมันก็ต้องตกลงไปที่เวทนาทุกข์เช่นกัน กลายเป็นทำตรงกันข้ามเลย ไปบังคับ ทั้งที่ปากบอกรู้เฉย

    มั่วแต่ไปตามกระแสนิยม เป็นการคว้านหาคำว่าจิต แล้วก็คล้อยตามมันไปแบบตามวิ่งตามดู สิ่งที่ขาดไป คือสิ่งสำคัญ สิ่งนั้นคือ วินิจฉัยธรรม

    แท้จริงจิตไม่มีแก่นสาร ไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมันเลยแม้น้อย จึงไม่ควรจะไปทรงมันไว้ ถ้าทำได้ ก็พิจารณาเป็นองค์ธรรมที่ประกอบกันดีกว่า

    เอาเป็นว่าขั้นแรกละนิวรณ์ให้ได้ก่อน เมื่อละได้แล้วที่นี้อะไรเกิด อะไรดับ ทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นได้อย่างไร ชาติภพทั้งน้อยใหญ่เกิดขึ้นไม่อย่างไร ก็ไม่เหลือบากกว่าแรงแล้ว
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 ธันวาคม 2009
  9. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ตอบยากนะ ผมไม่รู้คุณนั่งใช้อะไรเป็นกรรมฐาน และได้ถึงไหนแล้ว

    กล่าวรวม ๆ แล้วกันว่าสมาธิที่แนบ เอาสงบ เอานิ่งนี่ สักครึ่งชั่วโมงก็พอ แล้วพลิกมาเป็นการเห็นสิ่งที่เคลื่อนไหว แรก ๆ ก็น้อมลงมาที่ลมก็ได้ ดูลมตลอดสาย ดูลมปลายจมูก ดูปอด กะบังลม

    หรือจะเอาแค่สมาธิพอปิติเกิด สยิว ตัวโยก ก็พลิกเลย

    ส่วนตัวผมดูลม พอปล่อยลมได้ ก็มาดูท้องแทน ถ้ากำัลังดีก็พยายามวิปัสสนา ถ้าไม่ไหว ก็เอาให้สงบ พักผ่อนไป

    สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การวางใจว่าเราต้องการจะเอาอะไรจากการปฎิบัติ ถ้าเราว่าใจถูก วางใจว่าจะเอาดับทุกข์ มันก็ไปเร็วเลย มันมีเป้าหมายที่เป็นทางออก แต่ถ้าปฎิบัติด้วยความอยาก อยากเห็นนรกสวรรค์ อยากเห็นอนาคต รู้ระลึกชาติ มันจะเป็นปฎิบัติแบบพอกพูนกิเลส อันนี้ก็ต้องคิดกัน ว่าจะช้าหรือไว
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 ธันวาคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...