วิปัสสนาญาณ ๙

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย ยศวดี, 15 มีนาคม 2014.

  1. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    ตอนที่ ๖ วิปัสสนาญาณ ๙

    จาก หนังสือ บารมี ๑๐

    การที่จะปฏิบัติให้วิปัสสนาญาณมีกำลัง ขอให้ท่านทั้งหลายจงเข้าสมาธิจิต ทำจิตให้เป็นสมาธิให้มีอารมณ์สบายเสียก่อน ยก พรหมวิหาร ๔ ขึ้นเป็นเบื้องหน้า แผ่เมตตาไปในทิศทั้งปวง ถือว่าเราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร

    ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหตุ การที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์จะทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ เวลานั้นถึงแม้ว่า พระยามาร จะมาล้อมทำร้ายพระองค์ก็ดี ปล่อย ๓ นารียอดหญิงมาประเล้าประโลมในด้านราคะจริตก็ตาม ลูกสาวยั่วเย้าในราคะ พ่อมาสร้างกรรมบันดาลเหตุแก่โทสะให้เกิดขึ้น เพราะเหตุทั้งสองประการนี้เป็นปัจจัยมาจากโมหะ ถ้าเราไปหลงในราคะ ความสวยสดงดงามก็ดี หรือมีอารมณ์ข้องอยู่ในโทสะ ความโกรธ ความพยาบาทก็ดี ก็ชื่อว่าเรามีความหลง

    ถ้าหากว่าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทปลงลงไปเสียได้แล้ว ตัดโมหะ หรือราคะ โลภะ ความโลภ ราคะ ความรัก หรือโทสะ ความโกรธได้ ก็ชื่อว่าเราไม่มีความหลง เพราะเหตุทั้งสองประการหรือสามตามที่กล่าวมานั้น จะมีขึ้นได้ก็เพราะอาศัยความหลงเป็นสำคัญ ถ้าเราหมดความโลภ หรือความรัก หมดความโกรธ ความหลงมันก็ไม่มี ความจริงตัวหลงนี้ก็ไม่ต้องตัด ถ้า 2 ตัวมันหมดไป

    ญาณที่ ๑ ท่านเรียกว่า อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ แปลว่า มีความคำนึงเห็นความดับและความเกิดของร่างกาย

    ตอนนี้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้พิจารณาดูว่า ร่างกายของเรามันเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความดับไปในขั้นสุดท้าย เราคิดออกไหมบรรดาท่านพุทธบริษัท อย่าไปนึกถึงความตายขั้นสุดท้ายเมื่อสิ้นลมปราณเสมอไป เราเกิดขึ้นแล้วมันดับ คือชีวิตในนาทีนี้ปรากฏและนาทีนี้ผ่านไปชีวิตนี้มันก็ดับ ลมหายใจเข้าเป็นอันเกิด พอลมหายใจสิ้นไปเราก็ตาย นี่นันเกิดและมันดับตลอดเวลา

    และยิ่งไปกว่านั้น ความดับมันจะปรากฎชัดคือ ความเป็นเด็กเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถจะคลานได้ ไม่สามารถจะคืบได้ไม่สามารถพูดได้ มันจะดับลงไป กลายเป็นเด็กที่เดินได้ พูดได้ ทำอะไรได้ และต่อมาความเป็นเด็กมักก็จะพับไป ความเป็นผู้ใหญ่ก็จะเกิดขึ้นมาแทน เหลือความเป็นหนุ่มเป็นสาว

    ทันทีความเป็นหนุ่มเป็นสาวปรากฎขึ้นแล้ว มีความเปล่งปลั่ง ร่างกายเต็มไปด้วยกำลังวังชา มีสติปัญญาสามารถเฉลียวฉลาด ทำอะไรได้คล่องแคล่ว ต่อไปความเป็นหนุ่มเป็นสาวมันก็จะดับ วัยแห่งการเป็นคนกลางคนมันก็เกิดขึ้น พอคนแก่ดับ ความเป็นผีมันก็เกิดขึ้น

    นี่พระพุทธเจ้าให้พิจารณาดูว่าชีวิตของเราคือร่างกาย มันมีความเกิดและความดับเป็นปกติ และในที่สุดมันก็จะดับสลายไปเลย นี่พูดถึงร่างกายที่ท่านกล่าวว่า ร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีความประสงค์เป็นอย่างนั้น แต่มันก็เป็นของมัน ท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูว่าเราควรจะมัวเมาในร่างกายบ้างหรือไม่

    หากว่าบทนี้ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมองไม่เห็น ก็ดูสภาวะของคนตายเป็นสำคัญ ตอนนี้เป็นวิปัสสนาญาณตอนหนึ่ง เป็นตัวหยาบ ๆ เราก็ต้องมองดูว่า

    คนที่เกิดแล้วมีความตายเป็นที่สุดจริงไหม

    สัตว์ที่เกิดมาแล้วมีความตายเป็นที่สุด จริงไหม

    วัตถุต่าง ๆ ที่ปรากฏแล้วมีการสลายตัวไปในที่สุด จริงไหม อันนี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทพิจารณาเองเอง

    กรรมฐานที่เราควรจะใช้ในด้านสมถภาวนาควบคู่กับวิปัสสนาญาณข้อนี้ก็คือ มรณานุสสติกรรมฐาน ใช้มรณานุสสติกรรมฐานควบคู่กันไป

    แต่ก่อนที่จะคำนึงถึงวิปัสสนาญาณ ก็ควรจะทำใจให้มีความสุขด้วยอำนาจของสมาธิจิตก่อน เมื่อจิตมันมีสมาธิดีแล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้ปรากฏ เมื่อพิจารณาไปแล้วถ้ายังเห็นไม่พอเพราะจิตมันจะซ่าน ก็ดับความรู้สึกในการพิจารณาเสีย กลับมาภาวนาและทรงจิตให้หยุดในอารมณ์เดิมก่อน ให้จิตสบายเป็นสมาธิ ทำสลับกันไปสลับกันมา

    ถ้าเรามานั่งนึกอยู่ว่า ถ้าความเกิดมีแล้วมีความตายเป็นที่สุด แล้วคนที่ตายแล้วเขาแบกอะไรไว้ได้บ้าง เมียแบกผัว ผัวแบกเมีย พ่อแม่แบกลูก ลูกแบกพ่อแบกแม่ หรือคนทั้งหลายที่มีทรัพย์สมบัติ แบกทรัพย์สมบัติไปเมืองผีกันได้ไหม ถ้ามันแบกไปไม่ได้ เราจะติดอะไรอยู่อีกบรรดาท่านพุทธบริษัท คำด่า คำสรรเสริญของบรรดาคนทั้งหลายที่เขาสาปแช่งเรา หรือว่าการสรรเสริญที่เขายกยอปอปั้นให้เวลาที่เราตายเราแบกไปได้ไหม ทั้ง 2 ประการ

    ถ้าเรามีจิตชั่ว เขาสรรเสริญว่าเราเป็นคนดี ตายแล้วเราจะไปนรกหรือสวรรค์ เราจะไปสวรรค์ตามคำเขาสรรเสริญ หรือว่าเราจะไปนรกเพราะเราทำความชั่ว

    เป็นอันว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึด ในเมื่อเราจะตายเสียอย่างเดียว เราจะไปมัวนั่งนึกคำนึงถึงว่าไอ้ความโลภ ความโกรธ หรือความรัก ที่ว่าจะมีอะไรเป็นเราเป็นของเรามันจะมีที่ไหน

    คำสาปแช่ง การประชดประชันทั้งหลายที่เขาด่าเรา ที่จริงใช้คำว่าเรานี้ไม่ถูก ความจริงเขาด่าขันธ์ ๕ คือ ร่างกาย ร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราจะไปยุ่งอะไรกับมัน มันจะถูกด่าก็ด่าไป เพราะร่างกายมีสภาพสับปลับ เราก็ไม่คบมันอยู่แล้วนี่ร่างกาย เมื่อใครเขาจะสาปแช่ง เขาจะด่าก็ช่างเขาปะไร

    วัตถุทั้งหลายที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา บรรดาท่านพุทธบริษัทมันเกิดแล้วมันก็พัง มันต้องสลายตัว ถ้าบังเอิญมันจิตต้องสลายไปเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ที่เราไม่สามารถจะยับยั้งไว้ได้จะสร้างความเสียหายไปเพื่อประโยชน์อะไร

    นี่เป็นวิปัสสนาญาณข้อที่ ๑ เป็นวิปัสสนาญาณหยาบเราพอจะจับได้แล้วหรือยัง ถ้าจับตัวนี้ไม่ได้ก็วนอยู่แค่นี้ก่อน บรรดาท่านทั้งหลาย อย่าขยับไปข้ออื่น เอาให้มันช่ำ ตัดให้มันเสร็จ นั่งอยู่ ยืนอยู่ หรือไปธุระที่ไหน ก็มองคนมองวัตถุทั้งหลายว่าสภาวะอย่างนี้มันเกิดขึ้นแล้วมันก็สลายตัว คนที่เดินอยู่ทำงานอยู่นี่ เกิดขึ้นมาแล้วทุกคนไม่ช้าก็ตายหมด พังหมด และทรัพย์สินทั้งหลายที่เขากำลังทำอยู่นี่ ก็จะต้องตกไปเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นต่อไป

    นี่แนะนำให้ฟังแบบย่อ ๆ เข้าใจหรือไม่เข้าใจ ใช้บ่อย ๆ คิดบ่อย ๆ ก็จะเห็นเอง

    ญาณที่ ๒ ในวิปัสสนาญาณ ๙ ทานกล่าวว่า ภังคานุปัสสนาญาณ แปลว่า ปรีชาคำนึงถึงความดับ

    สำหรับญาณนี้ มองความดับอย่างเดียวไม่มองความเกิดย่อลงมาเสีย เห็นวัตถุอาคารสถานต่าง ๆ ที่เขาสร้างใหม่ก็คิดว่าไม่ช้ามันก็พัง มันไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน เห็นคนเดิน สัตว์เดินผ่านหน้าเราก็คิดว่าพวกนี้ตายหมด ในเมื่อเขาตายแล้ว เราล่ะตายไหม ถ้าตายแล้วเราแบกอะไรไปได้

    นี่ความเกิดมันไม่ดีแบบนี้ ความเกิดมันไม่ดีเพราะเกิดแล้วมันก็พัง สร้างขึ้นมาแล้วมันก็พัง แต่เกิดแล้วมันก็ต้องสร้าง ถ้าไม่สร้างก็ไม่มีอะไรอยู่ ไม่มีอะไรอาศัย ต้องหาปัจจัยเป็นเครื่องประคับประคอง แต่ว่าประคองมันเท่าไรก็ตาม มันก็สลายตัวมันก็พังไปหมด นี่เราจะมานั่งแสวงหาความเกิดเพราะอำนาจของความรัก ความโลภ ความโกรธ เพื่อประโยชน์อะไร ที่เราจะเกิดมาเพื่อตายก็เพราะอาศัยของความรักอย่างหนึ่ง ความโลภอย่างหนึ่ง และความโกรธอีกอย่างหนึ่ง นี่ถ้าเราทั้ง ๓ ตัวนี้เสียได้เมื่อไรเราก็หมดการเกิด

    ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ทำไมไม่ถามว่าความหลงจึงไม่พูดถึง ที่ไม่พูดถึงก็เพราะไม่จำเป็นจะต้องพูด ที่เรารักก็ดี เราโลภอยากได้ก็ดี เราโกรธก็ดี มันมาจากความหลง ถ้าทิ้งอาการทั้ง ๓ อย่างนี้ได้แล้ว ตัวหลงมันจะมีมาจากไหน เอาอะไรมาหลงกันอีก

    ในเมื่อเราหมดความรัก ความเยื่อใยในบุคคลและสัตว์ วัตถุแม้แต่ร่างกายของเรา นี่ตัดความรักแม้แต่ร่างกายของเรา นี่ตัดความรักแม้แต่กายหรือธาตุ ๔ ที่มาเป็นกายของเรานี่ เราก็ตัดความรักมันเสีย ตัดความอยากมีอยากเกิดมันเสีย ตัดความโกรธที่มันเป็นร่างกายที่สับปลับไม่ทรงสภาวะตามความเป็นจริง ไม่หยุดนิ่ง ไม่มีความกตัญญูไม่รู้คุณที่เราสงเคราะห์มันด้วยประการทั้งปวง อยากจะกินอะไรก็หาให้ หนาวก็หาเครื่องอบอุ่นปกป้องมาให้ ร้อนก็หาเครื่องทำความเย็นมาให้ มันไม่สบายก็หายามารักษาโรค แต่ร่างกายมันเคยตามใจเราบ้างหรือเปล่า ร่างกายมันรู้คุณของเราบ้างหรือเปล่า มันก็เปล่า

    เมื่อเราไม่ต้องการให้มันป่วยมันก็ป่วย เราไม่ต้องการให้มันตายมันก็จะตาย เราไม่ต้องการให้มันทุพพลภาพ เราต้องการให้ร่างกายแข็งแรงมีความผ่องใสของผิวพรรณมันก็ไม่เป็นไปตามใจเรา เมื่อกาลสมัยเปลี่ยนแปลง เวลาล่วงไปมันก็เสื่อมทรามไปทุกที

    นี่ร่างกายนี้ถ้าเป็นคนก็ถือว่าเป็นคนอกตัญญูไม่รู้คุณคน ในเมื่อคนที่ไม่รู้คุณคนเราจะไปคบทำไม คบแล้วก็มีแต่ความร้อนใจ ข้อนี้มีอุปาฉันใด แม้แต่ร่างกายของเราก็เหมือนกัน เราก็เลิกคบมันเสียซิ คบมันทำไม ตามใจมันทุกอย่าง แต่มันไม่เคยตามใจเรา

    นี่คิดเปรียบเทียบเพียงข้อนี้ นี่เป็นญาณตัวที่ ๒ มองเห็นความดับ ใครเดินผ่านหน้า วัตถุผ่านหน้า เห็นว่าพังหมด พวกนี้ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีโอกาสจะอยู่คู่กับโลกต่อไป แม้แต่ร่างกายของเราก็พัง เมื่อร่างกายของเราจะพังแล้ว เราจะมีอะไร สำหรับความพังต่อไป แล้วเราจะเกิดต่อไปนั่นมันเป็นของดีรึ ข้อนี้ก็ทิ้งกันได้แค่นี้

    นี่นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ในด้านสมถภาวนา เอาเป็นตัวยึดเป็นเครื่องประคับประคอง นึกถึงความตายไว้เป็นปกติ อย่าไปนึกว่าชาวบ้านเขาจะตายนะ นึกถึงเราตาย เมื่อเราจะตายเสียอย่างเดียว แล้วใครล่ะจะมีประโยชน์สำหรับเรา นึกเท่านี้พอ นึกให้มันเห็น ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา คือว่าอย่าใช้สัญญามากเกินไป

    ญาณที่ ๓ ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขาร ปรากฏเป็นของน่ากลัว มันน่ากลัวตรงไหนล่ะบรรดาท่านพุทธบริษัท คำว่า สังขาร ในที่นี้ก็หมายถึงว่า ร่างกาย อย่าไปเอาสังขารในขันธ์ ๕ นะมันคนละเรื่อง สังขารในขันธ์ ๕ ท่าน หมายถึงอารมณ์ นี่เอาร่างกายของเรานี่แหละ ร่างกายของเรามันเป็นของน่ากลัว น่ากลัวตรงไหน กลัวตรงที่มันเป็นของไม่แน่นอนน่ะซิบรรดาท่านพุทธบริษัท มันหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ร่างกายที่เราอาศัยมันก็หลอกเรา มันบอกมันแข็งแรง มันมีสภาพดี มันยังไม่ตาย มันยังไม่แก่ ดีไม่ดีตาขาวเป็นน้ำข้าวแล้วมันก็ยังหลอกอีก นี่ถ้าจะพูดไปตามส่วนว่าร่างกายมันหลอกหรือว่าใจของเรามันหลอก

    ถ้าจะพูดไปอีกทีก็คือ ร่างกายนี่เป็นของน่ากลัวก็เพราะเราอาศัยอยู่กับมัน ไม่ช้ามันก็พัง ถ้ามันพังเมื่อไร ถ้าเราไม่หาที่พึ่งใหม่มันก็จะไม่มีที่อาศัย กลัวตอนที่มันจะพังนำบรรดาท่านพุทธบริษัท

    แต่ความหลงนี่ไม่ใช่ร่างกายมันแนะนำให้เราหลง เรามันเลวเอง ร่างกายเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เราไม่ได้พิจารณา ร่างกายประกอบไปด้วยความทุกข์ทุกวัน เราไม่ได้พิจารณา นี่เรามันระยำเอง ความเลวของเราเอง

    นี่พระพุทธเจ้าแนะนำสอนให้กลัวร่างกาย ก็เพราะกลัวที่มีไม่ทรงตัว มันเปลี่ยนแปลง มันทำการสลายตัวเรียกว่า มันมีการทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา มันหาสิ่งที่ปรากฏจริง ๆ ไม่ได้ กลัวมัน เมื่อกลัวแล้วทำอย่างไร คิดว่าชาตินี้เราเกิดมาเพราะชาติก่อน ๆ เราโง่ เราจึงแสวงหาร่างกาย เราก็มีร่างกายขึ้นมาได้ การที่เราจะมีร่างกายขึ้นมาได้ก็เพราะความเมาในร่างกาย เรารักในกาย พอใจอยากได้กาย และใครเขาทำอะไรกายก็ยึดถือกายเป็นสำคัญ โกรธเขา นี่อาการที่มัวเมาแบบนี้มันจึงเป็นเหตุให้เรามีกาย

    ต่อแต่นี้ไปถ้าหากกลัวมันเสียแล้ว ก็จงกลัวต่อไป ร่างกายนี้น่ากลัว กลัวความพังของมัน กลัวความไม่เที่ยงของมัน กลัวความสกปรกโสมมของมัน ตอนนี้เอาตรงไหนกันดีล่ะ บรรดาท่านพุทธบริษัท เอา กายคตานุสสติกรรมฐาน ในสมถภาวนาและ อสุภกรรมฐาน ในสมถภาวนาและ มรณานุสสติกรรมฐาน ในสมถภาวนา มาพิจารณารวมกันเป็นวิปัสสนาญาณด้วย จะได้ช่วยกันชี้เหตุผลว่าร่างกายมันน่ากลัวตรงไหน ความจริงไม่น่ากลัวอย่างเดียว มันน่าเกลียดเสียด้วย

    วิปัสสนาญาณข้อที่ ๔ อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษ ให้เห็นโทษของร่างกายคือขันธ์ ๕ ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้แก่ร่างกาย มันมีแต่โทษอย่างเดียว ตั้งแต่เราเกิดมา เราเคยเห็นอะไรเป็นคุณบ้างบรรดาท่านพุทธบริษัท มันไม่มีอะไรเป็นคุณเลย ร่างกายของเรามองพิจารณาหาความเป็นคุณของมันให้เกิดขึ้นซิ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วนับตั้งแต่วันแรกคลอดออกจากครรภ์มารดามากระทบกระทั่งกับอากาศที่แรงกล้า ปรากฏว่าเจ็บแสบไปทั้งร่างกาย ร้องจ้ามีทุกขเวทนา อันนี้มันเป็นคุณหรือโทษ เจ็บแสบไปทั้งตัว

    พยาบาลปัจจุบัน นายแพทย์ปัจจุบันเขามีความฉลาด เด็กออกจากครรภ์มารดาใหม่ ๆ รีบเอาสำลีเข้าไปห่อไว้ อุ้มให้ความอบอุ่น เพราะการอยู่ในครรภ์ของมารดาร่างกายไม่เคยกระทบกับอากาศ และความอบอุ่นจากธาตุไฟของมารดามีความสุข นี่มากระทบความเย็นความร้อนเข้า ผิวใหม่ประสาทมันใหม่ยังไม่เคยชิน อาการเจ็บแสบมันก็ปรากฏ จึงเกิดอาการร้องขึ้น นี่เป็นหมอตำแยสมัยปัจจุบัน

    ถ้าเป็นหมอตำแยสมัยโบราณยิ่งไปกว่านั้นอีก ทั้งเจ็บทั้งแสบร่างกายยังไม่พอ พอออกมาแล้วท่านหมอตำแยก็รีบเอาน้ำเข้ามาล้าง ก็เกิดความหนาวจัด แสบร่างกายเหมือนกับเวลาหน้าหนาวจัด ๆ หนาวจัด ๆ อาการทางผิวกายจะเครียด จะเจ็บไปทั้งตัว แต่ว่านั่นเราชินกับความหนาวเสียแล้ว นี่เรายังไม่ชิน มันออกใหม่ๆ นี่มันเจ็บหนัก อาการเจ็บอาการปวด มันเป็นโทษหรือมันเป็นคุณ และออกมาแล้วความหิวปรากฏ ความหิวนี่เราก็รู้อยู่แล้วนี่ ว่าความหิวอาการเป็นอย่างไร คือถ้ายังไงไม่ได้กินอะไรยังหิวอยู่ เรามีความสุขหรือความทุกข์ ถ้ามันเป็นความสุขมันก็เป็นคุณ และ

    อาการปวดอุจจาระปัสสาวะปรากฏอีก ถ้าเราไม่ได้ถ่ายอุจจาระไม่ได้ถ่ายปัสสาวะ จะมีความรู้สึกเป็นอย่างไร จะมีความสบายใจหรือว่ามีความเครียดทางใจ ถ้ากำลังเป็นเด็กถ่ายอุจจาระมายังเคลื่อนตัวไม่ได้ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดตัวเอง ความเหม็นปรากฏ ประสาทมันยังใหม่ ก็มีอาการกระทบแรงเหม็นจัด จะประสาทใหม่หรือประสาทเก่าก็ตามที่ไปนั่งอยู่ในส้วมที่มันมีกลิ่นเหม็นจัด ๆ เราจะมีความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จะเห็นว่ามันเป็นคุณหรือว่ามันเป็นโทษ

    ต่อมาความป่วยไข้ไม่สบายปรากฏ สบายไหมคนป่วย....? เอาละนึกเอาเองก็แล้วกันว่ามันเป็นคุณหรือว่ามันเป็นโทษ มันเป็นสุขหรือว่ามันเป็นทุกข์

    ต่อมาความแก่ปรากฏ ตาเคยดี หูเคยดี ตาก็มองไม่ค่อยเห็น หูก็ฟังอะไรไม่ค่อยได้ยิน มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ร่างกายที่มีอาการแข็งแรงกลับเปลี้ยเพลียลงไป เพราะความเฒ่าชราเข้ามาถึง ทำอะไรไม่ค่อยจะไหวต้องอาศัยคนอื่น การยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจมันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์.....?

    ต่อมาการพลัดพรากของรักของชอบใจปรากฏ เพราะอาศัยกายเป็นเหตุ ถ้าไม่มีกายมันก็ไม่มีของอย่างนี้ สิ่งที่เรารักจากไป พลัดพรากจากกันไป มันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์

    เอาละสรุปกันง่าย ๆ เมื่อความตายปรากฏ ถูกเขาด่าเขาว่าก่อน เขานินทา เขาให้ร้าย มันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์ ถ้ามันเป็นทุกข์มันก็เป็นโทษ ถ้ามันเป็นสุขมันก็เป็นคุณ อันนี้ก็ขอพระโยคาวจรทั้งหลายมาพิจารณากันเองก็แล้วกัน มองดูว่าร่างกายมันเป็นโทษหรือมันเป็นคุณ มันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์ ถ้าจะมานั่งแนะนำบอกว่า "มันเป็นโทษจ้ะ" แบบนี้อยู่เสมอ ก็จะพากันคิดว่านี่เราไม่ได้ใช้ความคิดของเราเลยนี่ มานั่งแนะนำให้เชื่อกันอยู่ตลอดเวลา นี่มันจะมีประโยชน์อะไร

    ขอบรรดาพระโยคาวจรทั้งหลาย องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเวลาที่พระองค์ทรงสอนพระองค์ก็ไม่เคยบอกว่า จงเชื่อเถิดที่ตถาคตพูดนี้ มีแต่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาทรงตรัสว่า

    เมื่อเราตรัสไปแล้ว พูดไปแล้ว จงอย่าเพิ่งเชื่อ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเชื่อก่อนเป็นอธิโมกขศรัทธา จัดว่าเป็นความโง่ เราไม่สรรเสริญ เมื่อท่านทั้งหลายฟังแล้วจงใช้ปัญญาพิจารณาดูก่อน ถ้าวาจาที่เรากล่าวไปนี้มันเป็นคุณเธอ จึงเชื่อ ถ้าวาจาที่เรากล่าวมานี้มันเป็นโทษ หรือไม่เป็นความจริง ตามที่เรากล่าว เธอจงอย่าเชื่อ

    นี่พระพุทธเจ้าทรงตรัสอย่างนี้ เมื่อเราพิจารณาไป เราก็หันไปดู บารมี เสียด้วย ช่วยเอา บารมีทั้ง 10 ประการ เข้ามาประคับประคองใจให้ใจมีกำลัง ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทใช้ บารมีทั้ง ๑๐ ประการ ประคับประคองอยู่ตลอดวัน การเจริญวิปัสสนาญาณมันไม่เกิน 7 วัน เราก็เป็นพระอรหันต์ได้ นี่เราพูดตามความจริงของนักปฏิบัติทั้งหลายที่ท่านปฏิบัติกัน

    เร็วเกินไปไหมบรรดาท่านพุทธบริษัท หากท่านบอกว่าเร็ว อาตมาก็จะบอกว่าช้าเกินไป

    หากว่าท่านทั้งหลายมี บารมีทั้ง ๑๐ ประการ ครบถ้วนเป็น ปรมัตถบารมี เพียงแค่ใช้เวลาที่อาตมาพูดนี้ ฟังแล้วก็ได้สำเร็จ อรหัตผล

    ถ้าจะไปพูดกันว่ามีบารมีละก็มันหนักใจนัก ความจริงองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเห็นจะรับรองว่า คนที่สนใจในด้านสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาต้องมีบารมี อาตมาเห็นว่าคนไม่มีบารมีเกิดมาเป็นคนไม่ได้ แต่ว่าท่านทั้งหลายจะรู้จักใช้บารมีให้เป็นประโยชน์หรือไม่นั้น นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าบารมีนี้องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดากล่าวว่าเป็น กำลังใจ

    เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เวลาที่จะพูดก็หมดเสียแล้ว สำหรับวิปัสสนาญาณตอนนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน

    ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 30 มีนาคม 2014

แชร์หน้านี้

Loading...