ศรัทธา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 4 มีนาคม 2007.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,892
    การที่อินทรีย์แก่กล้าหรือศรัทธาพละแก่กล้าก็จะต้องอาศัยเรานี่แหละทำไม่ใช่แก่กล้ามาแต่ก่อนล้าเราจะไม่ทำเลยอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ แก่กล้าแล้วมันต้องรีบเร่งขยันหมั่นเพียรประกอบ พยายามจนสำเร็จมรรคผลนิพพาน อย่างพระพุทธเจ้าของเราเป็นต้น ท่านบำเพ็ญบารมีมามากมาย ถึงขนาดนั้นแล้วพระองค์ยังบำเพ็ญทุกกิริยาอยู่ตั้ง ๖ พรรษากว่าจะสำเร็จมรรคผลนิพพาน นับประสาอะไรกับพวกเรา ไม่รู้ว่าบำเพ็ญมากี่มากน้อยหรือไม่ได้บำเพ็ญมาเลยก็ไม่ทราบแต่เข้าใจว่าคงจะบำเพ็ญกันมาบ้างแล้วทุก ๆ คน จึงค่อยมีศรัทธาเลื่อมใสและตั้งใจปฏิบัติจงรีบเร่งทำเข้าชีวิตไม่คอยท่า กาลเวลาไม่ค่อยใคร หมดไป ๆ วันหนึ่ง ๆ ชีวิตมันกัดกร่อนกินไปทุกวัน หมดไป ๆ ทุกวัน
    ศรัทธาที่จะกล่าวถึงนี้ ท่านเรียกว่า สทฺธีธ วิตฺตํ ปุริสสฺส เสฏฐํ ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของมนุษย์ท่านจึงได้เรียกว่าพลัง หรืออินทรีย์ ก็อันเดียวกันศรัทธาอันหนึ่ง ปสาทะอันหนึ่ง เราเรียกควบคู่กันไปว่า “ ศรัทธาปสาทะ ” ความเชื่อความเลื่อมใส มีแต่ศรัทธาแต่ปสาทะไม่มี หรือมีปสาทะ แต่ไม่มีศรัทธาก็มี
    ศรัทธา คือความเชื่อมั่นในใจของตนว่าทำสิ่งนี้ถูกต้องแล้ว ทำสิ่งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เป็นความเชื่อมั่นในใจของตนเรียก ศรัทธา ส่วนปสาทะนั้นกล่าวถึงวัตถุสิ่งของ อย่างเห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เกิดเลื่อมใส หรือเห็นพระภิกษุที่มีศีลธรรม มีสัมมาอาจารวัตรเกิดเลื่อมใส นั้นเรียกปสาทะ แต่ว่าไม่เกิดศรัทธา
    มีหลายเรื่องหลายอย่างที่กล่าวถึงศรัทธา เช่น กล่าวว่า สทฺธาย ตรติ โอฆํ จะข้ามพ้นมหารรณพภพสาสารได้ก็เพราะศรัทธา ศรัทธาเป็นของภายใน มีเฉพาะจิตใจของทุก ๆ คน ศรัทธามีแล้ว วิริยะมันก็ไปด้วยกัน อย่างเชื่อมั่นว่าขุดน้ำที่ตรงนี้มันจะต้องมีน้ำแน่นอนก็ขุดลงไป การขุดนี้เรียกว่าวิริยะ ความเพียร ขุดจนไปถึงน้ำ ศรัทธาเชื่อมั่นว่าหาเงินอย่างนี้มันจะรวยก็ตั้งใจพยายามหา เช่น ซื้อบัตรเบอร์ ซื้อจนหมด เชื่อว่าจะได้อยู่ร่ำไป อันความเชื่อย่างนั้นแหละพยายามหาเงินหาทองมาซื้อ นั่นก็เป็นวิริยะ นี่แหละความเชื่อภายใน แต่ก็ความเชื่อนี่อีกแหละที่ทำให้เหลวไหลผิดลู่ผิดทางนอกลู่นอกทางไป ก็ศรัทธานี่แลหะทำให้เชื่องมงายในสิ่งที่ไร้เหตุไร้ผล
    อย่างเขาพูดว่าเวลานี้เรามีกรรมมีเคราะห์ ทำไงจึงจะหายไปหาหมอสะเดาะเคราะห์ให้เขาสะเดาะเคราะห์ สะเดาะเคราะห์มันจะหายยังไง มันก็ของมีเคราะห์อยู่แล้ว นี่ก็เชื่องมงาย พระพุทธเจ้าท่านว่า กรรมที่คนทำมาแล้ว ความเชื่อที่ตนทำมาแล้ว ทำอย่างไรมันก็ไม่หาย ต้องติดตัวอยู่ร่ำไปกว่าจะหมดเวรหมดกรรม แต่ว่าทำดีนั้นคนละอย่างกับทำชั่ว อย่างเราเห็นว่าทุกข์อยากลำบากตรากตรำอย่างนี้แหละ เราอุตส่าห์พยายามรักษาศีล ทำบุญ ทำทาน ทำสมาธิ ภาวนา เราสร้างความดีต่อไป ความชั่วเราจะไม่ทำอีกต่อไปอันนั้นเป็นการตัดกรรมตัดเวรโดยเฉพาะ แต่กรรมที่ทำแล้วมันก็ยังอยู่ ท่านจึงว่า กมฺมสฺสกา กมฺมทายาทา คนทำกรรมใดแล้วต้องได้รับกรรมนั้นแน่นอน คนอื่นรับให้ไม่ได้
    นี่แหละ ไม่มีสติไม่มีปัญญาจึงเป็นเหตุให้นับถือเหลวไหลไปต่าง ๆ ถ้ามีสติ มันต้องมีปัญญารอบคอบสิ่งที่พูดและสิ่งที่เขาพูดนั้นมีเหตุมีผลอะไรจริงหรือไม่ มันต้องมีปัญญาในพละ ๕ หรืออินทรีย์ ๕ ที่ว่านั้น มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พร้อมกันในตัว จึงสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในตอนนั้น
    ความเชื่อนั้นเป็นของมีจริงและเป็นของมีประจำตัวอยู่แล้ว เป็นทรัพย์อันประเสริฐประจำตัวอยู่แล้ว จะมีสติมีสมาธิแน่วแน่ในใจ และมีปัญญาหรือมเท่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องมันจะสำเร็จสมความปรารถนาของตนหรือไม่สำเร็จนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก แต่ศรัทธาตัวนี้เป็นของมีประจำอยู่ในใจของทุกคน จะไปไหน ๆ ก็มีศรัทธาฝังไว้ในใจ อย่างเราจะเดินไปมาไหน เราเชื่อมั่นว่าไปนี่ต้องถูกจุดประสงค์แน่นอน จึงตั้งหน้ามุ่งปรารถนาที่จะถึงนั้น มันจึงค่อยไป ถ้าไม่เชื่อในความสามารถของตนแล้วก็ไปไม่ถึงเหมือนกัน
    ส่วนปัญญานั้นอีกอย่างหนึ่งต่างหาก จะบริสุทธิ์ได้ก็เพราะปัญญา ต้องอาศัยศรัทธาจึงค่อยเกิดปัญญาขึ้น เกิดปัญญาขึ้นแล้วจึงค่อยพิจารณาเหตุผลเรื่องราว อันนั้นจึงจะบริสุทธิ์ได้ พวกเรามีศรัทธาอยู่แล้ว จงใช้ศรัทธาให้เป็น ใช้ศรัทธาให้ถูกต้อง ถ้าไม่อย่างนั้นก็หลงเหลวไหลหมด อย่างบางคนมีศรัทธาเต็มที่ทำการทำงานสักแต่ว่าทำ ไม่รู้จักที่ได้ที่เสีย ทำมันอยู่อย่างงั้น คงจะเห็นกันทั่วไปที่อยู่ในบ้านเมืองของเราอันนั้นแหละศรัทธา ศรัทธามากเกินไป ผู้ที่ทำน้อย ๆ แต่ว่ามีความรู้รอบคอยรอยตัว มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาในตัว รู้จักพิจารณาเหตุผลของเรื่องอันนั้นพอสมพอควร ย่อมได้รับผลสำเร็จตามความประสงค์ สมความปรารถนา


    จากหนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ 4 ฉบับที่ 48 พฤศจิกายน 2547
    โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
    <o:p> </o:p>
     

แชร์หน้านี้

Loading...