สภาวทุกข์ คือ ทุกข์โดยสภาพที่ต้องเสื่อมไปอยู่ตลอดเวลา

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 11 พฤษภาคม 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    184705268_4389958467721467_5379109771583726369_n.jpg

    เมื่อวานได้กล่าวถึงสภาพความไม่เที่ยงของตัวเราก็ดี คนอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี ตลอดจนกระทั่งวัตถุธาตุทั้งหลายทั้งปวงก็ดี วันนี้จะมากล่าวถึงสภาพที่เป็นปกติธรรมดาอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นทุกข์

    มนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนาม ตลอดจนกระทั่งวัตถุธาตุสิ่งของทั้งหลายทั้งปวง เมื่อกำเนิดขึ้นมา ก็ตกอยู่ในห้วงทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น คนและสัตว์มีความทุกข์ต่าง ๆ เราพอเข้าใจได้ แต่วัตถุธาตุมีความทุกข์อย่างไร ?

    ภาษาบาลีเรียกว่า สภาวทุกข์ คือ ทุกข์โดยสภาพที่ต้องเสื่อมไปอยู่ตลอดเวลา จากใหม่ก็กลายเป็นเก่า จากเก่าก็ค่อย ๆ ผุพังไป ท้ายที่สุดแม้แต่สิ่งที่คงทนอย่างก้อนหิน ภูเขา ก็ยังอุตส่าห์เสื่อมสลายลงกลายเป็นเม็ดทราย กลายเป็นดิน กลายเป็นฝุ่น

    ดังนั้น ขึ้นชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งหลายเมื่อปรากฏขึ้นแล้ว จะพ้นไปจากความทุกข์นั้นไม่มี ยกเว้นว่าเราทั้งหลายสามารถชำระจิตของเราให้ผ่องใส ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง โอกาสที่จะหลุดพ้นจากห้วงทุกข์จึงจะมีขึ้นได้

    ความทุกข์ที่รุมเร้าเรานี้ มีมาตั้งแต่ก่อนเกิด คำว่าก่อนเกิดหมายความว่า ทันทีที่เราปฏิสนธิในท้องแม่ ก็โดนไฟธาตุของแม่เคี่ยวเผาเราอยู่ตลอดเวลา พระสีวลีท่านกล่าวว่า ตอนที่อยู่ในท้องแม่เหมือนกับอยู่ในหม้อนึ่ง ก็คือโดนอบโดนรมด้วยความร้อนอยู่ตลอดเวลาจากไฟธาตุของแม่ อยู่ในที่คับแคบ ปวดเมื่อยไปทั้งเนื้อทั้งตัว คลอดออกมาเจอความหนักความหนาวความร้อนของอากาศ ก็แสบร้อนไปทั้งผิวกาย เด็ก ๆ ที่เกิดมาจึงร้องไห้เสียงดังมาก

    เมื่อเกิดมาแล้วเป็นอย่างไร ? สกปรกต้องชำระล้างร่างกาย หิวต้องกิน กระหายต้องดื่ม ปวดอุจจาระต้องถ่ายหนัก ปวดปัสสาวะต้องถ่ายเบา สกปรกโสโครกต้องชำระล้างร่างกาย ต้องหัดพลิกตัว หัดคืบ หัดคลาน หัดเดิน หัดยืน หัดวิ่ง พูดไม่ได้ก็พยายามฝึกหัดจนพูดได้ ต้องเล่าเรียนหนังสือ สิ่งทั้งหลายที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทับถมเพิ่มเติมเข้ามาในชีวิตของเรา ทำให้อยู่ในห้วงทุกข์ตลอดเวลา

    เท่านั้นยังไม่พอ เราเองยังจะสรรหาคู่มา จากคนเดียวกลายเป็น ๒ คน จากขันธ์ ๕ กลายเป็นขันธ์ ๑๐ ตัวคนเดียวทุกข์คนเดียวยังไม่พอ หาทุกข์มาเพิ่มให้อีก จากที่จะกินจะนอนอย่างไรก็ได้ กลายเป็นมีคนให้ต้องห่วงต้องใยอยู่ตลอดเวลา เขาป่วยก็เหมือนกับเราป่วยไปด้วย อดตาหลับขับตานอนเพื่อดูแล

    ถ้ายิ่งมีลูกเล็ก ๆ ขึ้นมาก็ยิ่งทุกข์หนัก ไม่ได้นอนเต็มตาแม้แต่คืนเดียว ต้องคอยดูแล คอยเลี้ยงดู คอยทำความสะอาด เจ็บไข้ได้ป่วย พ่อแม่ก็เหมือนกับจะขาดใจไปด้วย คอยช่วยรักษาพยาบาลอยู่ตลอดเวลา

    สภาพร่างกายค่อย ๆ เคลื่อนไปสู่ความแก่ ความหนาว ความร้อน ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความสกปรกที่ต้องชำระล้างมีติดกายอยู่ตลอดเวลา ร่างกายยิ่งแก่ยิ่งทำอะไรยากขึ้น แต่ความทุกข์ยังมีเท่าเดิม ก็เท่ากับความทุกข์มีมากขึ้น

    ทุกขเวทนาที่บีบคั้นเข้ามายามเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี ยามกระทบกระทั่งของที่ไม่รักไม่ชอบใจก็ดี ยามพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็ดี ยามที่ปรารถนาไม่สมหวังก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้บีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลา ท้ายที่สุดบีบคั้นมาก ๆ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นจนทนไม่ไหว...ก็ตาย
    ตายแล้วไม่ใช่พ้นทุกข์ ถ้าหากว่าสร้างกรรมดีไว้มาก ได้เกิดเป็นนางฟ้า เทวดา ก็พ้นทุกข์เพียงชั่วคราว แต่ถ้าตกสู่อบายภูมิ จะทุกข์หนักกว่าเป็นมนุษย์หลายเท่า หมายความว่าตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นตา จนหลับตาลงไปในแต่ละวัน เรากำลังเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ เป็นความทุกข์เหลือที่จะทนได้

    แล้วเราจะรับมือความทุกข์ทั้งหลายอย่างไร ? ก็ต้องพิจารณาให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีมาพร้อมกับร่างกายนี้แล้ว ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาย่อมมีความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นธรรมดา ขึ้นชื่อว่าความทุกข์เช่นนี้ จะไม่มีสำหรับเราอีก การเกิดของเราชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้าย ตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว

    ถ้าสภาพจิตสามารถเห็นความทุกข์อย่างชัดเจน ยอมรับว่าทุกข์นี้เป็นธรรมดาของร่างกาย จิตใจไม่ไปหวั่นไหวปรุงแต่ง ประกอบด้วยการปล่อยวาง สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส สักแต่ว่าสัมผัส ไม่นำมาคิดให้เกิดเป็น รัก โลภ โกรธ หลง ความทุกข์ทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้

    เมื่อสภาพจิตไม่ปรุงแต่ง ทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าสภาพจิตเคยชินกับการไม่ปรุงแต่งไปนาน ๆ ก็ย่อมขาดจากการปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงไป เมื่อการปรุงแต่งขาดหายไป รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ ที่กลายเป็นสภาพทุกข์บีบคั้นเราอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน

    ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาพิจารณาตามอัธยาศัย พยายามดูทุกข์ให้เห็น มองทุกข์ให้เจอ ยอมรับให้ได้ว่าธรรมดาการเกิดมาก็มีความทุกข์เช่นนี้ พินิจพิจารณาไปให้ถึง ถ้าสภาพจิตยอมรับได้ เราก็มีโอกาสที่จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ให้พิจารณาเช่นนี้ไปจนกว่าได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
    วันเสาร์ที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...