สภาวธรรม : นวองคุลี วัดสุวรรณประสิทธิ์

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 12 ตุลาคม 2010.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]


    นวองคุลี วัดสุวรรณประสิทธิ์

    มีวาทะอันสือลั่นเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
    ทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่ประโยคหนึ่ง
    คือ พระพุทธดำรัสในประโยคที่ว่า

    “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”

    ถามว่า ที่ชื่อว่า “เห็นธรรม” นั้น เห็นอย่างไร
    อย่างไรจึงชื่อว่าเห็นธรรม


    ตอบได้ว่า บุคคลจะเห็นธรรมก็ต้องเห็นที่สภาวะ
    เพราะธรรมทั้งหลาย
    มีสภาวะเป็นเครื่องประกาศตัวของมันเอง


    อุปมาเหมือนการเห็นดวงอาทิตย์
    คนทั้งหลายจะเห็นดวงอาทิตย์ได้
    ก็เพราะแสงของดวงอาทิตย์
    ถ้าดวงอาทิตย์ไม่มีแสง
    ป่านนี้เราก็คงไม่รู้จักดาวดวงนี้ในความหมายเช่นทุกวันนี้

    หรืออุปมาเหมือนกับหิ่งห้อยที่บินไปในเวลากลางคืนอันมืดมิด
    ย่อมส่งแสงกะพริบที่ก้นของมัน
    ทำให้เราเห็นมันได้ในเวลามืดสนิทอย่างนั้น

    แสงอาทิตย์ประกาศความมีอยู่ของดวงอาทิตย์
    แสงหิ่งห้อยประกาศความมีอยู่ของตัวหิ่งห้อย
    และสภาวธรรมก็มีความมีอยู่ของธรรมนั้นๆ
    ให้เราๆ ได้เห็นด้วยวิปัสสนาเช่นกัน

    เวลาที่เราพูดคำว่า “เห็น” ในภาษาไทย
    เรามักจะนึกถึงการเห็นด้วยตา การมองด้วยตา

    แต่ในความหมายของภาษาธรรม
    โปรดจำไว้ว่าคำๆ นี้ หมายถึง

    การเห็นด้วยความรู้สึก การดูด้วยความรู้สึก
    หรือเห็นด้วยสติปัญญา ดูด้วยสติปัญญา


    บางทีก็ใช้คำว่า ตามดู ตามรู้ ตามเห็น
    หรือบางทีก็ใช้คำว่ามีสติระลึกรู้ มีสติกำหนดรู้
    คือ กำหนดรู้ซึ่งสภาวธรรมนั่นเอง


    [​IMG]

    สภาวธรรมคืออะไร

    ในพระพุทธศาสนา เมื่อใดที่พูดถึงคำว่า “สภาวธรรม”
    โปรดทราบว่านั่นหมายถึง สภาวธรรม ๒ อย่างเท่านั้น คือ

    ๑. วิเสสสภาวะ
    ๒. สามัญญสภาวะ


    วิเสสสภาวะ

    แปลว่า สภาวะอันวิเศษ
    ที่ชื่อว่า วิเศษ เพราะอรรถว่า ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร
    มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ปัจจัตตสภาวะ”
    แปลว่า “สภาวะเฉพาะตน”

    คำว่าวิเสสสภาวะนั้นมีไวพจน์ที่ใช้แทนกันอยู่คำหนึ่งนั่นก็คือ
    คำว่า “วิเสสลักษณะ” แปลว่า ลักษณะอันวิเศษ
    มีผู้ใช้คำนี้มากกว่าคำว่าวิเสสสภาวะเสียอีก

    ส่วนคำว่า ปัจจัตตสภาวะ
    ก็มีคำไวพจน์ที่ใช้แทนคำกันอยู่คำหนึ่งเหมือนกัน
    นั่นคือคำว่า “ปัจจัตตลักษณะ”
    แปลว่า ลักษณะเฉพาะตน

    ดังนั้นถ้าเราอ่านพบ หรือได้ยินคำว่า

    วิเสสสภาวะ วิเสสลักษณะ
    ปัจจัตตสภาวะ ปัจจัตตลักษณะ


    เมื่อใด ขอให้ทราบว่า คำทั้ง ๕ นี้
    มีความหมายเป็นอันเดียวกัน
    หรือหมายถึงสิ่งๆ เดียวกัน

    และต่อจากนี้ไปนี้หนังสือเล่มนี้จะขอเลือกใช้คำว่า “วิเสสลักษณะ”
    เป็นตัวแทนสื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจถึงสภาวธรรมชนิดนี้


    [​IMG]

    วิเสสลักษณะ

    ก่อนอื่นขอให้เรานึกถึงสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิตอยู่ในป่า
    ซึ่งในป่าอันกว้างใหญ่จะมีสัตว์อยู่มากมายหลายชนิด หลายเผ่าพันธุ์
    แต่ละชนิดจะมีรูปร่างหน้าตามีลักษณะทางกายภาพตามสายพันธุ์ของตน

    เช่น ลิง ก็มีหัวมีตัวมีหางอย่างลิง
    เสือ ก็มีหัวมีตัวมีหางมีลายอย่างเสือ
    ช้างก็มีหัวมีตัวมีงวงมีงาอย่างช้าง ฯลฯ
    สัตว์แต่ละตัวจะมีลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมเป็นของตนเอง
    ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ

    ในทำนองเดียวกัน รูปนามที่เกิดอยู่ที่ทวารทั้ง ๖ ของเรา
    ก็มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด
    แต่ละชนิดจะมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง


    เช่น ลักษณะเฉพาะของสีก็ไม่เหมือนลักษณะเฉพาะของเสียง
    ลักษณะเฉพาะของเสียงก็ไม่เหมือนลักษณะเฉพาะของกลิ่น
    ลักษณะเฉพาะของกลิ่นก็มาเหมือนลักษณะเฉพาะของรส
    ลักษณะเฉพาะของรส
    ก็ไม่เหมือนลักษณะเฉพาะของเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ฯลฯ

    เราจะเห็นความแตกต่างไม่เหมือนกันชัดเจนขึ้น
    เมื่อนำลักษณะเฉพาะเหล่านี้มาเทียบเคียงกัน


    เราลองนำสีมาเทียบกับเสียง
    นำเสียงมาเทียบกับกลิ่น
    นำกลิ่นมาเทียบกับรส
    เย็นมาเทียบกับร้อน
    อ่อนมาเทียบกับแข็ง
    ตึงมาเทียบกับไหว ฯลฯ

    แล้วเราจะพบว่าลักษณะทั้งหลายเหล่านี้
    มีความเหมือนกันโดยสภาพ
    โดยคุณสมบัติของอารมณ์
    โดยเฉพาะทวารทางใจ


    ลองนำอารมณ์ทางใจมาเทียบกันดูอีกที

    โดยลองนึกเปรียบเทียบระหว่างความโกรธกับเมตตา
    โกรธมีลักษณะอาการร้อนวูบวาบเผารน
    แต่เมตตามีลักษณะเย็นสบายอ่อนละมุน
    ในขณะที่โลภะ มีลักษณะกระหายทะยานอยาก
    แต่ศรัทธามีลักษณะผ่องใส อิ่มเอิบ
    ฟุ้งซ่านมีลักษณะกระสับกระส่าย
    ปีติมีลักษณะซาบซ่าโลดโผน
    และความเศร้ามีลักษณะหดหู่รันทด

    เดิมทีลักษณะเฉพาะเหล่านี้ทั้หมดไม่มีชื่อเรียกอย่างที่ว่ามีนี้
    เดิมทีเป็นของไม่มีชื่อไม่แซ่
    เป็นแต่สภาพธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่ตามทวารทั้งหลาย


    [​IMG]

    แต่โดยที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม
    จึงได้ตั้งชื่อธรรมชาติเหล่านี้ว่า

    สี เสียง กลิ่น รส
    เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว
    โกรธ รัก ชอบ ชัง
    อิจฉาริษยา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
    ดีใจ เสียใจ เศร้า เหงา ปีติ ฯลฯ

    เพราะฉะนั้นชื่อต่างๆ ที่เอ่ยมานี้
    ก็เป็นเพียงกลุ่มคำที่ใช้เรียกว่า
    “วิเสสลักษณะ” ของรูปนามแต่ละชนิดนั่นเอง


    ซึ่งในต่างประเทศก็คงจะไม่เรียกชื่ออย่างนี้
    แต่ไม่ว่าใครจะเรียกชื่อว่าอย่างไร
    เวลาที่สภาวธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นกับใคร
    ก็จะมีลักษณะเป็นอันเดียวกันหมดทั่วทั้งโลก

    ลักษณะแข็งที่ผิวกายของคนอัฟริกัน
    กับแข็งที่ผิวกายของคนไทย แขก จีน ญวน อเมริกา ยุโรป ฯลฯ
    ก็เป็นเช่นเดียวกัน

    วิเสสลักษณะของแข็งอันเกิดที่ฝ่าพระหัตถ์ของพระราชาในขณะกำเหรียญทอง
    จะไม่แตกต่างกับของแข็งในฝ่ามือของยาจกขอทาน
    ในขณะกำเศษเงินที่มีคนโยนให้


    โกรธของฝรั่ง คนป่า คนเอสกิโม คนไทย
    เวลาที่เกิดขึ้นที่ใจแล้วเป็นแบบบดียวกันหมด
    รวมทั้งรูปนามทุกชนิดในทวารทั้ง ๖

    คนทั้วโลก จะมีและเป็นในสภาพเดียวกัน ในคุณสมบัติเดียวกัน
    เพียงแต่อาจจะเกิดความรู้สึกต่างๆ ทางใจไม่พร้อมกัน


    นอกจากรูปนามจะไม่มีชื่อ ไม่มีแซ่ มาแต่เดิมแล้ว
    รูปนามก็ยังไม่มีรูปทรงสัณฐานด้วย

    ใครเคยเห็นความโกรธบ้างว่า
    มีรูปทรง ๓ เหลี่ยม ๔ เหลี่ยม ทรงกลม หรืออ้วน
    หรือ ผอม หนา หรือ บางประการใด

    แม้เมตตา แม้อื่นๆ ในทวารทางใจก็เหมือนกัน
    ใครเคยเห็นว่า มีรูปทรงเป็นอย่างไรบ้าง
    เมตตามีรูปทรง ๓ เหลี่ยม ๔ เหลี่ยม ทรงกลมหรือไม่

    นอกจากรูปนามจะไม่มีรูปทรงแล้ว
    รูปนามก็ยังไม่มีมวล
    ไม่มีเนื้อสารใดใดอันเป็นส่วนประกอบ


    เราไม่สามารถนำเอาสี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว
    โกรธ รัก ชัง ชอบ อิจฉาริษยา เมตตา กรุณา อุเบกขา ฯลฯ
    ไปชั่งน้ำหนักได้ว่ามีนำหนักกี่กิโลกรัม

    (ยกเว้นไว้แต่จะเป็นมหาภูตรูป อันเป็นเนื้อหนังมังสาทางกาย
    ซึ่งมีทั้งมวลและรูปทรง)


    เพราะฉะนั้นที่พูดมาทั้งหมดนี้ มุ่งกล่าวถึง อุปทายรูป
    ซึ่งเป็นรูปโดยสภาวะ

    มิใช่รูปโดยวัตถุเหมือนกายภาพ
    มีแต่สภาวะล้วนๆ
    อีกทั้งนามก็มีแต่สภาวะล้วนๆ เช่นเดียวกัน


    สภาวะที่ว่านี้ก็ได้แก่ “วิเสสสภาวะ”
    หรือ “วิเสสลักษณะ” ของนามรูปนั่นเอง


    [​IMG]

    คำว่า “วิเสสลักษณะ” เกี่ยวข้องกับวิปัสสนาอย่างไร

    วิปัสสนา นั้น แปลว่า การเห็นแจ้ง หรือเห็นอย่างวิเศษ

    เมื่อบุคคลมาตามดู ตามรู้ ตามเห็น
    ตามพิจารณาอยู่ซึ่งวิเสสลักษณะของรูปนาม
    หรือสามัญลักษณะของรูปนาม

    ท่านก็เรียกกิริยาที่ตามดู ตามรู้ ตามเห็น ตามพิจารณานี้ว่า “วิปัสสนา”

    ในบางอาจารย์ไม่นิยมใช้คำว่า ตามดู ตามรู้ ตามเห็น
    แต่ชอบใช้คำว่า ตามระลึกรู้ ตามกำหนดรู้ หรือเจริญสติระลึกรู้

    ซึ่งจะใช้คำไหนก็สุดแล้วแต่จะถนัด
    แต่ขอให้มีปฏิบัติการถูกต้อง เป็นอย่างเดียวกันเป็นใช้ได้

    สามัญญสภาวะ คือ อะไร

    ก็รูปนามนั่นเอง
    เมื่อเกิดขึ้น ณ ทวารใดแล้ว จะมีอายุไม่ยั่งยืน
    เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วดับไปไม่จีรัง
    ท่านเรียกอาการนี้ว่า “อนิจจัง”แปลว่า ไม่เที่ยง


    เมื่อเป็นเช่นนี้
    รูปนาม นอกจากจะมีลักษณะเฉพาะแล้ว
    ก็ยังมีอายุเป็นขณะๆ อีกด้วย

    สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    “ดูกรพระภิกษุทั้งหลาย
    ขณะทั้งหลายอย่าให้ล่วงไปเลย
    บุคคลผู้ปล่อยให้ขณะทั้งหลายล่วงไป
    ย่อมไปเนืองแน่นในนรกมากแล้ว”


    คำว่า “ขณะ” หมายถึง “ขณะ” แห่งรูปนาม
    เพราะรูปนามมีอายุเป็นขณะๆ

    คำว่า”ทั้งหลาย” นั้น เป็นศัพท์พหูพจน์
    หมายถึง รูปนามมีจำนวนมาก ทั้งที่ตา หู จมูก ปาก ลิ้น กาย ใจ
    เฉพาะทวารทางใจอย่างเดียวก็นับไม่ถ้วนแล้ว

    คำว่า “อย่าปล่อยให้ล่วงไป”
    หมายถึง ต้องระลึกรู้ กำหนดรู้

    คำว่าบุคคลผู้ปล่อยให้ขณะทั้งหลายล่วงไป
    หมายถึง บุคคลนั้น ไม่กำหนดรู้ ไม่ระลึกรู้ เห็นอยู่
    ก็ย่อมไปเนืองแน่นในนรก
    เพราะเมื่อสติไม่เกิดอกุศลย่อมกำเริบ

    [​IMG]

    กิริยาดับ สภาพที่ดับ อาการดับไปแห่งรูปนาม
    ความทรงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ของรูปนาม
    ท่านเรียกว่า “ทุกขัง” แปลว่า ทนอยู่ไม่ได้


    ความเป็นไปต่างๆ นานา
    ความไม่อยู่ในอำนาจ
    ความไม่อยู่ในบังคับบัญชาของรูปนามนี้
    เรียกว่า “อนัตตา” แปลว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล


    อาการทั้ง ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้
    ถูกเรียกรวมกันว่า “สามัญญสภาวะ” แปลว่าสภาวะสามัญทั่วไป
    เป็นสาธารณะแก่รูปนามทุกชนิด ทุกทวาร


    รวมไปจนกระทั่ง มหาภูตรูป อันเป็นส่วนของกายภาพด้วย
    แม้ประทั่งรูปภายนอกทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต
    วัตถุต่างๆ ที่มีในสากล จักรวาล
    ชีวิตต่างๆ ในสากลจักรวาล
    ก็ล้วนตกอยู่ในสามัญลักษณะนี้ เช่นเดียวกัน

    คือ เสื่อมไป เปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา
    ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
    และบังคับบัญชาก็ไม่ได้ด้วย

    นี้คือความหมายของ “สามัญญสภาวะ”
    บางทีก็เรียกกันว่า “สามัญญลักษณะ”
    บางทีก็เรียกว่า “ไตรลักษณ์”


    คำทั้ง ๓ นี้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน
    ต่อไปนี้จะใช้คำว่า “ไตรลักษณ์”
    ในการกล่าวเรียกสภาวะทั้ง ๓ นี้
    คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    [​IMG]
    [ขอบอบคุณที่มาของภาพจาก www.pixpros.net เป็นอย่างยิ่ง]

    ไตรลักษณ์

    ไตรลักษณ์มี ๒ ประเภท คือ

    ๑. ไตรลักษณ์โดยอาการ ๑
    ๒. ไตรลักษณ์โดยสภาวะ ๑


    ไตรลักษณ์โดยอาการ

    ถ้าเราได้ยินคำพรรณนาความไม่เที่ยงของชีวิต ว่า
    เกิดขึ้นมา แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป
    มีการเจริญเติบโต เป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วก็แก่เฒ่า
    แล้วก็ตายไปในที่สุด
    สังขารร่างกายมีความเสื่อมไปทุกขณะ
    นี้เป็นความไม่เที่ยงโดยอาการ

    หรือ “พรรณนาอนิจจังโดยอาการ”

    ถ้าเราได้ยินคำพรรณนาว่า ชีวิตนี้
    มีแต่ทุกข์ ทุกข์เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย
    ทุกข์เพราะหิวกระหาย ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ
    นั่งนานก็เป็นทุกข์ ยืนนานก็เป็นทุกข์
    เดินนานก็เป็นทุกข์ นอนนานก็เป็นทุกข์
    การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์
    การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์

    อันนี้เป็นการ “พรรณนาทุกขังโดยอาการ”

    ถ้าเราได้ยินคำพรรณนาว่า
    อัตภาพร่างกายนี้ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา
    จะสั่งบังคับว่า ผมจงอย่าหงอกมันก็จะหงอก
    หนังจงอย่าเหี่ยวมันก็จะเหี่ยว
    ฟันจงอย่าหัก มันก็จะหัก
    กายจงอย่าป่วยมันก็จะป่วย
    ช่างบังคับบัญชาไม่ได้เอาเสียเลย

    อันนี้เป็นการ “พรรณนาอนัตตาโดยอาการ”

    [​IMG]

    ไตรลักษณ์โดยสภาวะ

    ไตรลักษณ์โดยสภาวะนี้ได้แก่
    ลักษณะของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของ รูปนาม
    ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว อยู่ทุกนาที ทุกวินาที
    มีลักษณะเกิดขึ้นแล้ว ดับไปอยู่ตลอดเวลา
    สภาวะที่ว่านี้ไม่เคยหยุดยั้งความเป็นไปเลยแม้แต่วินาทีเดียว

    ถ้าฟังเรื่องนี้หรืออ่านเรื่องนี้แล้วยังไม่เข้าใจ
    ก็ไม่ต้องนึกเสียใจ หรือนึกท้อ

    เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรู้ได้ด้วยการอ่าน หรือการฟัง
    แต่เป็นสิ่งที่จะรู้ได้ด้วยการปฏิบัติเท่านั้น
    และจะต้องปฏิบัติให้ได้วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๓-๔ ขึ้นไปจึงจะเห็นได้


    การอ่านและการฟัง
    อย่างมากก็ช่วยให้คาดคะเน
    ถึงไตรลักษณ์ว่าลักษณะเป็นอย่างไร


    แต่เชื่อไหมว่า
    ไม่ว่าจะคาดคะเนอย่างไร เป็นนักคิดแค่ไหน
    ไตรลักษณ์ตามคาดคะเน
    ก็จะไม่เป็นเหมือนอย่างที่เห็นเองจริงๆ เลย
    คิดคาดคะเนอย่างไรก็ไม่ไกล้ความจริง

    ส่วนไตรลักษณ์โดยอาการนั้น
    แม้ผู้ไม่ปฏิบัติวิปัสสนา
    ก็พอจะคาดคะเนได้ออก
    คิดตามได้ตรงตามที่สภาพร่างกายควรจะเป็น


    แม้ไม่ต้องปฏิบัติวิปัสสนาก็รู้ ก็เห็นว่า
    ชีวิตร่างกายนี้ ไม่เที่ยงอย่างไร
    เป็นทุกข์อย่างไร เป็นอนัตตาอย่างไร โดยอาการ


    <table align="center" border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="94%"><tbody><tr><td class="postbody" valign="top">[​IMG]
    [ภาพจิตรกรรมสีฝุ่นบนกระดาษสา ชุดธรรมศิลป์ “มหานครนิพพาน” :
    สร้างสรรค์โดย ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ]


    นิพพาน

    แม้การเห็นนิพพาน ก็เป็นการเห็นที่สภาวะเหมือนกัน
    เพียงแต่สภาวะของนิพพาน ไม่เป็นอย่างสภาวะทั้ง ๒ นี้
    เพราะ นิพพาน เป็น อนิมิตสภาวะ
    คือไม่มีนิมิตหมายให้กำหนดรู้ได้


    ถ้าเป็นวิเสสลักษณะ
    ยังมีลักษณะเฉพาะของรูปนามแต่ละชนิด
    เป็นนิมิตหมายให้กำหนดรู้ได้

    ถ้าเป็นสามัญญลักษณะยังมีลักษณะเกิดดับ
    แปรปรวนของรูปนามเป็นนิมิตหมายให้กำหนดรู้ได้

    แต่นิพพานไม่มีนิมิตหมายใดทั้งสิ้น

    ดังนั้นสภาวะของนิพาน
    จึงเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งรู้ได้ยาก

    ข้อที่น่าคิดคือ

    แม้ความไม่มีนิมิตหมายใดใด
    ก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง


    สรุปความว่า

    รูปนามมี วิเสสสภาวะ (วิเสสลักษณะ)
    เป็นนิมิตหมายให้กำหนดรู้

    สามัญญสภาวะเป็นลักษณะของความไม่เที่ยง
    เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
    เป็นนิมิตหมายให้กำหนดรู้

    ส่วนนิพพานไม่มีนิมิตหมายใดใดให้กำหนดรู้
    แต่ผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ กลับรู้เห็นในความไม่มีอะไรนั้น


    ดังนั้น แม้ภาพความว่างเปล่า
    ไม่มีอะไรก็เป็นสภาวะอย่างหนึ่ง
    ซึ่งไม่เหมือนสภาวะใดใดที่โลกมี

    สิ่งใดที่เกิดอยู่ในโลก
    เป็นฝักฝ่ายของโลกีย์
    สิ่งนั้นไม่มีในนิพพาน

    เป็นฝักฝ่ายแห่งโลกุตตระ
    สิ่งนั้นไม่มีอยู่ในโลกีย์
    เป็นภาวะพ้นไปอย่างสิ้นเชิง

    ดังนั้น คำว่า “หลุดพ้น”
    จึงเป็นไวพจน์อีกคำหนึ่งของคำว่า “นิพพาน”


    สรุปความว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”
    นั้นหมายถึง การเห็นในสภาวธรรมทั้ง ๓ อย่าง คือ

    ๑. เห็นวิเสสสภาวะตามความเป็นจริง
    ๒. เห็นสามัญญสภาวะตามความเป็นจริง
    ๓. เห็นสภาวะนิพพานตามความเป็นจริง




    (ที่มา “สภาวธรรม” ใน ศาสตร์อิสระ โดย นวองคุลี : วัดสุวรรณประสิทธิ์,
    พิมพ์ครั้งที่ ๒, พ.ศ. ๒๕๔๓, หน้า ๓๔-๔๖)
    </td> </tr> <tr> <td> </td> </tr> <tr> <td class="postdetails" height="40" valign="bottom">ที่มา::
     

แชร์หน้านี้

Loading...