สมาธิเพื่อชีวิต..หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย ลุงไชย, 19 มกราคม 2012.

  1. ลุงไชย

    ลุงไชย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มิถุนายน 2011
    โพสต์:
    645
    ค่าพลัง:
    +2,436
    [​IMG]

    สมาธิเพื่อชีวิต..

    โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

    วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา


    สมาธิตามธรรมชาติ

    คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนของปัญญาชน ไม่ใช่เป็นคำสอนของบุคคลผู้เชื่อในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลด้วยความงมงาย ศาสนาพุทธสอนให้คนเรียนให้รู้ธรรมชาติและกฎของธรรมชาติ ถ้าใครจะถามว่าธรรมะคืออะไร ? ธรรมะ ก็คือ ธรรมชาติ ธรรมชาติคืออะไร ? ก็คือ กายกับใจของเรา

    สมาธิแบบพระพุทธเจ้า การกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวัน นี่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสำคัญ สำคัญยิ่งกว่าการนั่งหลับตาสมาธิ สอนสมาธิต้องสอนสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ความรู้เห็นอะไรที่เขาอวดๆ กันนี่ อย่าไปสนใจเลย ให้มันรู้เห็นจิตของเรานี่ รู้กายของเรา รู้ว่าธรรมชาติของกายอย่างหยาบๆ มันต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อันนี้คือความจริงของกาย

    สมาธิ.....เพื่ออะไร

    ปัญหาสำคัญของการฝึกสมาธินี่ บางทีเราอาจจะเข้าใจไขว้เขวไปจากหลักความจริง สมาธิอย่างหนึ่ง เราฝึกเพื่อให้จิตสงบนิ่ง สมาธิอย่างหนึ่ง เราฝึกเพื่อให้มีสติสัมปชัญญะรู้ทันเหตุการณ์นั้นๆ ในขณะปัจจุบัน สมาธิบางอย่าง เราปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความเห็นภายในจิต เช่น รู้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ รู้เรื่องอดีต อนาคต ..รู้อดีต หมายถึงรู้ชาติในอดีตว่าเราเกิดเป็นอะไร ..รู้อนาคต หมายถึงว่าเมื่อเราตายไปแล้วเราจะไปเป็นอะไร อันนี้เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้อดีต เป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว อนาคตก็เป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดังนั้น เราสนใจอยู่ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันดีไหม

    ที่ครูบาอาจารย์สอนว่า ทำกรรมฐานไปเห็นโน่นเห็นนี่ นี่มันใช้ไม่ได้ ให้มันเห็นใจเราเองซิ อย่าไปเข้าใจว่าทำสมาธิแล้วต้องเห็นนรก ต้องเห็นสวรรค์ ต้องเห็นอะไรต่อมิอะไร สิ่งที่เราเห็นในสมาธิมันไม่ผิดกันกับที่เรานอนหลับแล้วฝันไป แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ ต้องเห็นนี่ คือเห็นกายของเราเห็นใจของเรา

    หลักสากลของการปฏิบัติสมาธิ

    การบำเพ็ญสมาธิจิตเพื่อให้เกิดสมาธิ สติ ปัญญา มีหลักที่ควรยึดถือว่า ทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้ สติให้มีสิ่งระลึก จิตนึกรู้สิ่งใดให้มีสติสำทับเข้าไปที่ตรงนั้น ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิต ฝึกสติให้รู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะทำอะไร มีสติตัวเดียว เวลานอนลงไป จิตมันมีความคิดอย่างใด ปล่อยให้มันคิดไปแต่ให้มีสติตามรู้ไปจนกว่าจะนอนหลับ อันนี้เป็นวิธีการทำสมาธิตามหลักสากล

    ถ้ามีใครมาถามว่า ทำสมาธินี่คือทำอย่างไร ?
    คำตอบมันก็ง่ายนิดเดียว การทำสมาธิคือ การทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก หมายความว่า เมื่อจิตของเรานึกถึงสิ่งใด ให้มีสติสำทับไปที่ตรงนั้น เรื่องอะไรก็ได้ ถ้าเอากันเสียอย่างนี้ เราจะรู้สึกว่าเราได้ทำสมาธิอยู่ตลอดเวลา

    สมาธิ.....ไม่ใช่การนั่งหลับตาเท่านั้น

    ถ้าหากไปถือว่าสมาธิคือการนั่งหลับตาอย่างเดียว มันก็ถูกกับความเห็นของคนทั้งหลายที่เขาแสดงออก แต่ถ้าเราจะคิดว่าอารมณ์ของสมาธิคือ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ไม่ว่าเราจะทำอะไร มีสติสัมปชัญญะรู้อยู่กับเรื่องปัจจุบัน คือเรื่องชีวิตประจำวันนี้เอง เราจะเข้าใจหลักการทำสมาธิอย่างกว้างขวาง

    และสมาธิที่เราทำอยู่นี่ จะรู้สึกว่า นอกจากจะไปนั่งหลับตาภาวนา หรือเพ่งดวงจิตแล้ว ออกจากที่นั่งมา เรามีสติตามรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด แม้ว่าเราจะไม่นั่งสมาธิอย่างที่พระท่านสอนก็ได้ เพราะว่าเราฝึกสติอยู่ตลอดเวลา เวลาเรานอนลงไป คนมีความรู้ คนทำงาน ย่อมมีความคิด ในช่วงที่เรานอนนั่นแหละ เราปล่อยให้จิตเราคิดไป แต่เรามีสติตามรู้ความคิดจนกระทั่งนอนหลับ

    ถ้าฝึกต่อเนื่องกันทุกวันๆ เราจะได้สมาธิอย่างประหลาด นี่ถ้าเราเข้าใจกันอย่างนี้ สมาธิจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์โลกให้เจริญ แต่ถ้าหากจะเอาสมาธิมุ่งแต่ความสงบอย่างเดียว มันจะเกิดอุปสรรคขึ้นมาทันที แม้การงานอะไรต่างๆ มองดูผู้คนนี่ขวางหูขวางตาไปหมด อันนั้นคือสมาธิแบบฤาษีทั้งหลาย

    ทำสมาธิถูกทาง ไม่หนีโลก ไม่หนีปัญหา

    ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิที่ถูกต้องนี่ สมมุติว่ามีครอบครัวจะต้องรักครอบครัวของตัวเองมากขึ้น หนักเข้าความรักมันจะเปลี่ยน เปลี่ยนจากความรักอย่างสามัญธรรมดา กลายเป็นความเมตตาปรานี ในเมื่อไปเผชิญหน้ากับงานที่ยุ่งๆ เมื่อก่อนรู้สึกว่ายุ่ง แต่เมื่อปฏิบัติแล้ว ได้สมาธิแล้ว งานมันจะไม่ยุ่ง

    พอประสบปัญหาเข้าปุ๊บ จิตมันจะปฏิวัติตัวพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ทีนี้บางทีพอเราหยิบปัญหาอะไรขึ้นมา เรามีแบบแผนตำรายกขึ้นมาอ่าน พออ่านจบปั๊บ จิตมันวูบวาบลงไปปัญหาที่เราข้องใจจะแก้ได้ทันที อันนี้คือสมาธิที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน

    แต่สมาธิอันใดที่ไม่สนใจกับเรื่องชีวิตประจำวัน หนีไปอยู่ที่หนึ่งต่างหากของโลกแล้ว สมาธิอันนี้ทำให้โลกเสื่อม และไม่เป็นไปเพื่อทางตรัสรู้ มรรค ผล นิพพานด้วย

    ทุกคนเคยทำสมาธิมาแล้ว

    ทุกสิ่งทุกอย่างเราสำเร็จมาเพราะพลังของสมาธิ

    ไม่มีสมาธิ เรียนจบปริญญามาได้อย่างไร

    ไม่มีสมาธิ สอนลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างไร

    ไม่มีสมาธิ ทำงานใหญ่โตสำเร็จได้อย่างไร

    ไม่มีสมาธิ ปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร

    พวกเราเริ่มฝึกสมาธิมาตั้งแต่พี่เลี้ยงนางนม พ่อแม่สอนให้เรารู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักอ่าน รู้จักคนโน้นคนนี้ จุดเริ่มต้นมันมาแต่โน่น ทีนี้พอมาเข้าสู่สถาบันการศึกษา เราเริ่มเรียนสมาธิอย่างจริงจังขึ้นมาแล้ว แต่เมื่อเรามาพบพระคุณเจ้า หลวงพ่อ หลวงพี่ทั้งหลายนี้ ท่านจะถามว่า “เคยทำสมาธิไหม” จึงทำให้พวกเราทั้งหลายเข้าใจว่า เราไม่เคยทำสมาธิ ไม่เคยปฏิบัติสมาธิมาก่อน เพราะท่านไปขีดวงจำกัดการทำสมาธิ เฉพาะเวลานั่งหลับตาอย่างเดียว

    ไม่เป็นชาววัดก็ทำสมาธิได้

    ใครที่ยังไม่มีโอกาสจะเข้าวัดเข้าวา มานั่งสมาธิหลับตาอย่างที่พระท่านชักชวน การปฏิบัติสมาธิเอากันอย่างนี้ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา ทุกคนได้ฝึกสมาธิมาตามธรรมชาติแล้วตั้งแต่เริ่มรู้เดียงสามา ทีนี้เรามาเริ่มฝึกใหม่ นี่เป็นการเสริมของเก่าที่มีอยู่แล้วเท่านั้น อย่าไปเข้าใจผิด

    ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์ของจิต เราทำให้สิ่งเหล่านี้ให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น เวลานอนลงไป จิตมันคิดอะไร ให้มันคิดไป ให้มีสติไล่ตามรู้มันไปจนกระทั่งนอนหลับ ปฏิบัติต่อเนื่องทุกวัน แล้วท่านจะได้สมใจอย่างไม่คาดฝัน

    ในขณะทำงาน กำหนดสติรู้อยู่กับงาน เวลาคิด ทำสติรู้อยู่กับการคิด โดยถือการทำงาน การคิด เป็นอารมณ์ของจิต โดยธรรมชาติของจิต ถ้ามีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก จิตย่อมสงบ มีปีติ สุข เอกัคคตาได้ ในโอกาสใดโอกาสหนึ่งจนได้ ถ้าผู้ปฏิบัติตั้งใจทำจริง

    นักธุรกิจทำสมาธิกับการงาน

    มีผู้หญิงมาหาหลวงพ่อแล้วมาบอกว่า “หลวงพ่อหนูอยากจะฝึกสมาธิ แต่หนูนั่งสมาธิไม่เป็น”
    หลวงพ่อก็บอกว่า “คุณนั่งไม่เป็นก็ไม่ต้องนั่ง ให้ฝึกสติให้มันรู้อยู่กับ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด”

    ทีนี้เมื่อสมาธิมันเกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติอย่างนี้ ภายหลังมานี่ ความรู้สึกมันก็รู้สึกว่า เราทำอะไร พูด คิดอะไร มันเป็นสมาธิทั้งนั้น มันก็ไปสอดคล้องกันเอง มองเห็นงานที่มันเคยยุ่งๆ ตั้งแต่ก่อน เมื่อมีสมาธิดีแล้ว ไปประสบความยุ่งเหยิงอย่างนั้น จิตมันรู้สึกว่ามันไม่ยุ่ง มันสามารถแก้ไขปัญหาของมันได้

    อย่างบางทีพอติดปัญหาปั๊บ กำหนดจิตมันวูบวาบไป ปัญญาที่จะแก้ไขปัญหานั้นมันก็เกิดขึ้น แม้แต่เกี่ยวกับเรื่องงานเรื่องการก็เหมือนกัน อันนี้เราไปติดอยู่ตรงที่ว่า อย่าไปคิดเรื่องโลก ให้คิดแต่เรื่องธรรม แต่ความจริงโลกน่ะเป็นอารมณ์ของจิต ในเมื่อจิตตัวนี้รู้ความจริงของโลก
    แล้วมันจะปลีกตัวไปลอยเด่นอยู่เหนือโลก และมันอาศัยโลกนั่นแหละ เป็นบันไดเหยียบไปสู่จุดที่อยู่เหนือโลก โลกทั้งหลายนี่เป็นอารมณ์ของจิต กายและใจของเราก็เป็นโลก

    สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่เราประสบอยู่ เป็นเรื่องชีวิตประจำวันของโลก ในเมื่อเรามาฝึกสติให้รู้ทันโลกอันนี้แล้ว จิตมันจะรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริงของโลก มันก็ปล่อยวาง ถึงแม้ว่ามันจะอยู่กับโลก มันก็แตะๆ แตะๆ มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างนี่ เป็นแต่เพียงหน้าที่เท่านั้น แล้วมันจะจัดสรรตัวมันเองว่าเรามีหน้าที่อย่างไร ควรจะรับผิดชอบอย่างไร มันจะปฏิบัติหน้าที่ไปตามหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

    นักเรียน นักศึกษาทำสมาธิในการเรียน

    ขณะนี้นักเรียนทั้งหลายกำลังเรียน ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะได้พลังของสมาธิ พลังของสติเพื่อสนับสนุนการศึกษา หลวงตาจะสอนวิธีทำสมาธิในห้องเรียน สมมุติว่าขณะนี้หลวงตาเป็นครูสอนพวกเธอทั้งหลาย ให้พวกเธอทั้งหลายเพ่งสายตามาที่หลวงตา ส่งใจมาที่หลวงตาแล้วก็สังเกตดูให้ดีว่าหลวงตาทำอะไรบ้าง หลวงตายกมือหนูก็รู้ เขียนหนังสือให้หนูรู้ พูดอะไรให้หนูตั้งใจฟัง

    ถ้าสังเกตจนกระทั่งกระพริบหูกระพริบตาได้ยิ่งดี เวลาเข้าห้องเรียนให้ เพ่งสายตาไปที่ตัวครู ส่งใจไปที่ตัวครู อย่าเอาใจไปอื่น เพียงแค่นี้ วิธีการทำสมาธิในห้องเรียน ถ้าพวกหนูๆ จำเอาไปแล้วปฏิบัติตาม จะได้สมาธิตั้งแต่เป็นนักเรียนเล็กๆ ชั้นอนุบาล

    ในตอนแรกนี่ การควบคุมสายตาและจิตไปไว้ที่ตัวครู นี่อาจจะลำบากหน่อย แต่ต้องพยายามฝึก ฝึกจนคล่องตัวชำนิชำนาญ ภายหลังแม้เราจะไม่ตั้งใจ พอเห็นใครเดินผ่านหน้ามันจะจ้องเอาๆ พอมาเข้าห้องเรียนแล้วพอครูเดินเข้ามาในห้อง สายตามันจะจ้องปั๊บ ใจมันก็จะจดจ่ออยู่ตรงนั้น หนูลองคิดดูซิว่า การที่มองที่ครู และเอาใจใส่ตัวครูนี่ เราเรียนหนังสือเราจะเข้าใจดีไหม ลองคิดดู ทีนี้เมื่อฝึกจนคล่องตัวชำนิชำนาญแล้ว สายตามันยังจ้องอยู่ที่ตัวครู

    แต่ใจจะมาอยู่ที่ตัวเราเอง มาตอนนี้ครูท่านสอนอะไร พอท่านพูดจบประโยคนั้น ใจของเรารู้ล่วงหน้าแล้วว่าต่อไปท่านพูดอะไร เวลาไปสอบ อ่านคำถามจบ ใจของเราจะวูบวาบแล้วคำตอบมันจะผุดขึ้น อันนี้เป็นสูตรทำสมาธิที่หลวงพ่อทำได้ผลมาแล้ว

    หลวงพ่อทำสมาธิในการเรียนสมัยเป็นเณร

    อาจารย์องค์นั้นชื่อ อาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโณ ลูกศิษย์ต้นของหลวงปู่มั่น เห็นหลวงพ่อถือหนังสือเดินท่องไปท่องมาแบบเดินจงกรม ท่านก็ทักว่า “เณร ถ้าจะเรียนก็ตั้งใจเรียน จะปฏิบัติก็ตั้งใจปฏิบัติ จับปลาสองมือมันไม่สำเร็จหรอก” ที่นี้เราก็อุตริคิดขึ้นมาว่า “เอ๊ หลักของการเพ่งกสิณนี่ ปฐวีกสิณ เพ่งดิน อาโป เพ่งน้ำ วาโย เพ่งลม เตโช เพ่งไฟ อากาศ เพ่งอากาศ วิญญาณ เพ่งวิญญาณ ในตัวครูนี่มีกสิณครบ ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ เราจะเอาตัวครูเป็นเป้าหมายของจิต ของอารมณ์ เอาตัวครูเป็นอารมณ์ของจิต เป็นที่ตั้งของสติ เอามันที่ตรงนี้แหละ

    การเรียนคือการปฏิบัติธรรม

    วิชาความรู้ที่นักศึกษาเรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี่ มันเป็นสิ่งที่เราสามารถรู้ด้วยจิตใจ สิ่งใดที่เราสามารถรู้ด้วยจิตใจ สิ่งนั้นคือสภาวธรรม สภาวธรรมอันนี้มันทำให้เราดีใจเสียใจเพราะมัน เราท่องหนังสือไม่ได้ เราเกิดเสียใจน้อยใจตัวเอง หนังสือที่เราท่องนั่นคือสภาวธรรม เราจำไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่มันไม่เป็นไปตามความปรารถนา มันเข้าในหลักอนัตตา

    บางทีอยู่ดีๆ เกิดเจ็บไข้ เราไปวิทยาลัยของเราไม่ได้ มันก็ส่อถึงอนัตตา อนิจจัง ทุกขังนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อเรามาฝึกสติสัมปชัญญะของเรานี้ ให้มันรู้พร้อมอยู่กับปัจจุบัน มันเป็นการปฏิบัติธรรม เดินเรารู้ ยืนเรารู้ นั่งเรารู้ นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เรารู้ เอาตัวรู้คือสติตัวเดียวเท่านั้น

    แม้ในขณะที่เราเรียนหนังสืออยู่ เราตั้งใจจดจ่อต่อการเรียนในปัจจุบันนั้น นั่นก็เป็นการปฏิบัติสมาธิ ทีนี้ความรู้ ความเห็น ที่เราจะพึงทำความเข้าใจ มันอยู่ที่ตรงไหน มันอยู่ที่กายกับใจของเรานี่ ทำอย่างไรกายของเราจึงจะมี สุขภาพอนามัยเข้มแข็ง ทำอย่างไรจิตใจของเราจึงจะปลอดโปร่ง เมี่อมีปัญหาขึ้นมา ทำอย่างไรเราจึงจะมีสติปัญญาแก้ไขปัญหา หัวใจของเราได้ นี่มันอยู่ที่ตรงนี้ที่เราจำเป็นต้องเรียนให้มันรู้

    ทำสมาธิในการเรียนได้ผลอย่างไร

    นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เป็นนักศึกษาในทุนที่หลวงพ่อ ส่งไปเรียนเอง ตอนแรกเขาไม่อยากจะไปเรียน เพราะเขาคิดว่า มันสมองของเขาไม่สามารถจะเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ หลวงพ่อก็เคี่ยวเข็ญให้เขาไป ในเมื่อเขารับปากว่าจะไปเรียน หลวงพ่อก็บอกว่า “หนูไปเรียนมหาวิทยาลัยต้องฝึกสมาธิด้วย” เขาก็เถียงว่า “จะให้ไปเรียนมหาวิทยาลัย แล้วต้องให้ทำสมาธิ จะเอาเวลาที่ไหนไปเรียน”

    มันเกิดมีปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ หลวงพ่อก็ให้คำแนะนำว่า การฝึกสมาธิแบบนี้ไม่ขัดต่อการศึกษา หลวงพ่อก็ให้ คำแนะนำเบื้องต้นว่า “เมื่อเวลาหนูเข้าไปอยู่ในห้องเรียน ให้กำหนดจิตให้มีสติรู้อยู่ที่จิตของตัวเอง ถ้าหากมีจุดใดจุดหนึ่ง ที่จะต้องเพ่งมองก็เพ่งมองไปที่จุดนั้น เช่น กระดานดำ เป็นต้น เมื่ออาจารย์เดินเข้ามาในห้องเรียน ให้เอาความรู้สึกและสายตา ทั้งหมดไปรวมอยู่ที่ตัวอาจารย์ ให้มีสติรู้อยู่ที่ตัวอาจารย์ เพียงอย่างเดียว อย่าส่งใจไปอื่น”

    เขาใช้เวลาเรียนเพียง ๔ ปีก็จะจบแล้ว ทีแรกเขาคิดว่าเขาอาจจะ เรียนถึง ๖ ปีกว่าจะเอาให้จบได้ แต่มันก็ผิดคาดทุกสิ่งทุกอย่าง มันเปลี่ยน ความรู้สึกว่ามันสมองไม่ดีมันเปลี่ยนเป็นดีขึ้นมาหมด
    ก็เป็นอันว่าเขาสามารถฝึกสมาธิ ให้จิตมีสมาธิ มีสติสัมปชัญญะเพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษาที่เขาเรียนอยู่ในปัจจุบันได้

    ถ้านักศึกษาพยายามฝึกสมาธิแบบนี้ ผลพลอยได้จากการฝึก ความเคารพ ความเอาใจใส่ ความกตัญญูกตเวที ความรู้สึกซึ้งในพระคุณของครูบาอาจารย์มันจะฝังลึกลงสู่จิตใจ เราจะกลายเป็นคนกตัญญูกตเวที ไม่อาจลบหลู่ดูหมิ่นครูบาอาจารย์ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็มีแต่ความเคารพบูชาในครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ที่มีความเคารพในครูบาอาจารย์ การเรียนก็ทำให้เรียนได้ดีเกินกว่าที่เราคาดคิด

    ช่างประดิษฐ์ทำสมาธิในการประดิษฐ์

    เมื่อไม่นานมานี้ มีคฤหบดีท่านหนึ่งอุตส่าห์นั่งรถมาจากกรุงเทพฯ พอมาถึงเขาก็มาบอกหลวงพ่อว่า “ผมจะมาขอขึ้นครูกรรมฐานกับท่าน ได้ทราบว่าท่านสอนกรรมฐานเก่ง” หลวงพ่อก็ถามว่า “คุณมีอาชีพอะไร” เขาตอบว่า “ผมมีอาชีพในการประดิษฐ์สิ่งของขาย”
    “ไหนคุณลองเล่าดูซิว่าขณะที่คุณประดิษฐ์สิ่งของขายนั่นน่ะ คุณคิดประดิษฐ์ของคุณอยู่นั่น มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง”
    เขาก็เล่าให้ฟังโดยยกตัวอย่างว่า “สมมุติว่าผมจะสร้างตุ๊กตาสักตัวหนึ่ง ผมก็มาคิดว่าจะทำใบหน้าอย่างนั้น ทรงผมอย่างนี้ รูปร่างลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็คิดไปตามที่ผมจะคิดได้ คิดไปคิดมามันมีอาการเคลิ้ม เหมือนกับจะง่วงนอน แล้วก็มีอาการหลับวูบลงไป รู้สึกหลับไปพักหนึ่ง ในขณะที่รู้สึกหลับไปพักหนึ่งนั่น จิตก็เกิดสว่าง มองเห็นภาพตุ๊กตา ที่คิดจะสร้างลอยอยู่ข้างหน้า ที่นี้จิตก็ดูของมันอยู่จนกระทั่งแน่ใจ แล้วก็ถอนขึ้นมาตื่นขึ้นมาจากภวังค์”

    ในช่วงที่จิตมันวูบนั่น นอนหลับไปแล้วเกิดฝันขึ้นมา ฝันเห็นตุ๊กตาลอยอยู่ต่อหน้า เขาก็มาสร้างตุ๊กตาตามที่เขาฝันเห็น เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ส่งออกขายในท้องตลาดก็เป็นที่นิยมแก่ลูกค้า

    หลวงพ่อก็บอกว่า “คุณ คุณทำสมาธิเก่งแล้ว คุณไม่ต้องมาขึ้น ครูกรรมฐานกับฉันก็ได้ ให้คุณทำสมาธิด้วยการประดิษฐ์ตุ๊กตา ของคุณต่อไป นั่นแหละคือสมาธิที่คุณต้องการจะเรียนจากฉัน ถ้าคุณต้องการจะให้สมาธิของคุณดียิ่งขึ้น ให้คุณสมาทานศีล ๕ เสีย แล้วสมาธิของคุณจะเป็นไป เพื่อการละความชั่ว ประพฤติความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดได้”

    ทำสมาธิโดยการบริกรรมภาวนา

    หมายถึงการท่องคำบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พุทโธ ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัน เป็นต้น ผู้ภาวนาท่องบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตสงบ ประกอบด้วยองค์ฌาณ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตสงบจนกระทั่งตัวหาย ทุกสิ่งทุกอย่างหายไป

    เหลือแต่จิตที่สงบนิ่งสว่างอยู่ ความนึกคิดไม่มี เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ พอรู้สึกว่ามีกาย ความคิดเกิดขึ้น ให้กำหนดสติตามรู้ทันที อย่ารีบออกจากที่นั่งสมาธิ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้จะได้ปัญญาเร็วขึ้น ในช่วงนี้ถ้าเราไม่รีบออกจากสมาธิ ออกจากที่นั่ง เราก็ตรวจดูอารมณ์จิตของเราเรื่อยไป โดยไม่ต้องไปนึกอะไร เพียงแต่ปล่อยให้จิตมันคิดของมันเอง อย่าไปตั้งใจคิด

    ที่นี้พอออกจากสมาธิมาแล้ว พอมันคิดอะไรขึ้นมา ก็ทำใจดูมันให้ชัดเจน ถ้าจิตมันคิดไปเรื่อยๆ ก็ดูมันไปเรื่อยๆ จะคิดไปถึงไหนช่างมัน ปล่อยให้มันคิดไปเลย เวลาคิดไป เราก็ดูไปๆๆๆ มันจะรู้สึกเคลิบเคลิ้มในความคิด แล้วจะเกิดกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ กายเบา กายสงบ ได้กายวิเวก จิตเบา จิตสงบ ได้จิตวิเวก ทีนี้จิตสงบแล้ว จิตเป็นปกติได้ ก็ได้อุปธิวิเวกในขณะนั้น

    บริกรรมพุทโธกับการตามรู้จิตคือหลักเดียวกัน

    ภาวนาพุทโธเอาไว้ พอจิตมันอยู่กับพุทโธก็ปล่อยให้มันอยู่ไป พอทิ้งพุทโธแล้วไปคิดอย่างอื่น ปล่อยให้มันคิดไป แต่ให้มีสติตามรู้.....พุทโธที่เรามาท่องเอาไว้

    ๑. เพื่อระลึกถึงพระบรมครู
    ๒. เพื่อกระตุ้นเตือนจิตให้เกิดความคิดเอง

    ทีนี้เมื่อจิตทิ้งพุทโธปั๊บ มันไปคิดอย่างอื่นขึ้นมาได้ แสดงว่าเขาสามารถหาเหยื่อมาป้อนให้ตัวเองได้แล้ว เราก็ไม่ต้องกังวลที่จะหาอารมณ์มาป้อนให้เขา ปล่อยให้เขาคิดไปตามธรรมชาติของเขา
    หน้าที่ของเรามีสติกำหนดตามรู้อย่างเดียวเท่านั้น นี่หลักการปฏิบัติเพื่อจะได้สมาธิ สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน ต้องปฏิบัติอย่างนี้

    อย่าข่มจิตถ้าจิตอยากคิด

    ถ้าเราภาวนาพุทโธๆ แม้ว่าจิตสงบเป็นสมาธิถึงขั้นละเอียด ถึงขั้นตัวหาย เมื่อสมาธินี้มันจะได้ผล ไปตามแนวทางแห่งการปฏิบัติเพื่อมรรค ผล นิพพาน ภายหลังจิตที่เคยสงบนี้มันจะไม่ยอมเข้าไปสู่ความสงบ มันจะมาป้วนเปี้ยนแต่การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ซึ่งอันนี้ก็เป็น ประสบการณ์ที่หลวงพ่อเองประสบมาแล้ว พยายามจะให้มันเข้าไปสู่ความสงบอย่างเคย มันไม่ยอมสงบ

    ยิ่งบังคับเท่าไรยิ่งดิ้นรน นอกจากมันจะดิ้นแล้ว อิทธิฤทธิ์ของมันทำให้เราปวดหัวมวนเกล้า ร้อนผ่าวไปทั้งตัว เพราะไปฝืนความเป็นจริงของมัน ทีนี้ภายหลังมาคิดว่า แกจะไปถึงไหน ปรุงไปถึงไหน เชิญเลย ฉันจะตามดูแก ปล่อยให้มันคิดไป ปรุงไป ก็ตามเรื่อยไป

    ทีนี้พอไปๆ มาๆ ตัวคิดมันก็คิดอยู่ไม่หยุด ตัวสติก็ตามไล่ ตามรู้กันไม่หยุด พอคิดไปแล้ว มันรู้สึกเพลินๆ ในความคิดของตัวเอง มันคล้ายๆ กับ ว่ามันห่างไกล ไกลไปๆๆ เกิดความวิเวกวังเวง กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ และพร้อมๆ กันนั้นน่ะ ทั้งๆ ที่ความคิดมันยังคิดไวเร็วปรื๋อ จนแทบจะตามไม่ทัน ปีติและความสุขมันบังเกิดขึ้น แล้วทีนี้มันก็มีความเป็นหนึ่ง คือ จิตกำหนดรู้อยู่ที่จิต

    ความคิดอันใดเกิดขึ้นกับจิตสักแต่ว่าคิด คิดแล้วปล่อยวาง ไปๆ มันไม่ได้ยึดเอามาสร้างปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อน แล้วในที่สุดเมื่อมันตัดกระแสแห่งความคิดแล้ว มันวูบวาบๆ เข้าไปสู่ความสงบนิ่งจนตัวหายเหมือนอย่างเคย จึงได้ข้อมูลขึ้นมาว่า ..... อ๋อ ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต

    ความคิดอันใดที่สติรู้ทันทุกขณะจิต ความคิดอันนั้นคือปัญญาในสมาธิ เป็นลักษณะของจิตเดินวิปัสสนา พร้อมๆ กันนั้นถ้าจะนับตามลำดับของ องค์ฌาน ความคิด เป็นตัววิตก สติรู้พร้อมอยู่ที่ความคิด เป็นตัววิจาร เมื่อจิตมีวิตก วิจาร ปีติ และสุขย่อมบังเกิดขึ้นไม่มีปัญหา

    ทีนี้ปีติเกิดขึ้นแล้ว จิตมันก็อยู่ในสภาพปกติ กำหนดรู้ความคิดที่ เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา ก็ได้ความเป็นหนึ่ง ถ้าจิตดำรงอยู่ในสภาวะเป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่าจิตดำรงอยู่ในปฐมฌาน คือ ฌานที่ ๑ ประกอบด้วยองค์ ๕ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

    ปล่อยจิตให้คิด เกิดความฟุ้งซ่านหรือเกิดปัญญา

    ความคิดที่จิตมันคิดขึ้นมาเอง เป็นวิตก สติรู้พร้อม เป็นวิจาร เมื่อจิตมีวิตก วิจาร ปีติ และความสุขย่อมเกิดขึ้นไม่มีปัญหา ผลที่จะเกิดจากการตามรู้ความคิด ความคิดเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ เมื่อสติสัมปชัญญะดีขึ้น เราจะรู้สึกว่า ความคิด เป็นอาหารของจิต ความคิด เป็นการบริหารจิต ความคิด เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด

    ความคิด เป็นนิมิตหมายให้เรารู้ว่าอะไรเป็นเรื่องทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วความคิดนี่แหละมันจะมายั่วยุให้เราเกิดอารมณ์ดี อารมณ์เสีย เมื่อเรามองเห็นอารมณ์ดี อารมณ์เสีย มองเห็นอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ที่ก่อเป็นตัวกิเลส ทีนี้เมื่อจิตมีอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ มันก็มีสุขบ้าง ทุกข์บ้างคละกันไป

    ในที่สุดก็มองเห็นทุกข์อริยสัจ ถ้าจิตมันเกิดทุกข์ขึ้น ได้สติรู้พร้อม มองเห็นทุกข์อริยสัจ ถ้าจิตมีปัญญา รู้สึกมันจะบอกว่า อ้อ ! นี่คือทุกข์อริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วมันจะดูทุกข์กันต่อไป สุข ทุกข์ ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นสลับกันไป อันนี้คือกฎอริยสัจแล้ว ในที่สุดจิตมีสติมีปัญญาดีขึ้น มันจะกำหนดหมายรู้ว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ

    แล้วจะมองเห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไปอยู่อย่างนั้น ยังกิญจิ สมุทย ธัมมัง สัพพันตัง นิโรธ ธัมมันติ ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา คือจุดนี้

    เส้นทางตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า

    หลักการที่พระองค์ทรงยึดเป็นหลักปฏิบัติก็คือว่า ทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก พระองค์ทำลมอานาปานสติให้เป็นสิ่งรู้ของจิต แล้วเอาสติไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ พระองค์ทรงทำพระสติรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทำให้พระองค์ต้องรู้ ความหยาบความละเอียดของลมหายใจ และรู้ความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจ

    ในขณะใดที่พระองค์ไม่ได้ดูลมหายใจ พระองค์ก็กำหนดดูอารมณ์ ที่เกิดขึ้นภายในจิตของพระองค์ สิ่งใดเกิดขึ้นพระองค์ก็รู้ รู้ด้วยวิธีการทำสติกำหนดจิต กำหนดคอยรู้ คอยจ้องดูอารมณ์ ที่เกิดดับกับจิต ในเมื่อสติสัมปชัญญะของพระองค์มีความเข้มแข็งขึ้น สามารถที่จะประคับประคองจิตใจ ให้มีความรู้ซึ้งเห็นจริงใน ความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ในสภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ

    คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อรู้ว่าอารมณ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อารมณ์อันใด ที่จิตของพระองค์ยังยึดถืออยู่ เมื่ออารมณ์สิ่งนั้นเกิดขึ้นก็มายุแหย่ให้จิตของพระองค์ เกิดความยินดี เกิดความยินร้าย ความทุกข์ก็ปรากฏขึ้นภายในจิต ทุกข์ที่ปรากฏขึ้นภายในจิตของพระองค์ พระองค์ก็กำหนดว่า นี่คือทุกข์อริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อรู้ว่า เป็นทุกข์จริงๆ พระองค์ก็สาวหาสาเหตุ ทุกข์นี่มันเกิดมาจากเหตุอะไร ทุกข์อันนี้เกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดมาจากไหน เกิดมาจากความยินดี และความยินร้าย

    ความยินดีเป็นกามตัณหา ความยินร้ายเป็นวิภวตัณหา

    ความยึดมั่นถือมั่นในความยินดียินร้ายทั้ง ๒ อย่างเป็นภวตัณหา

    ในเมื่อจิตมีภวตัณหา มันก็ย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น

    จึงทำให้พระองค์รู้ซึ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

    อันนี้เป็นภูมิธรรมที่พระองค์ค้นคว้าพบ และตรัสรู้เองโดยชอบ..<O:p
    ……………………………………………………………………………………………………
    <O:p
    ที่มา www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=1854
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 19 มกราคม 2012

แชร์หน้านี้

Loading...