สัจธรรมภายใน หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 9 กุมภาพันธ์ 2012.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

    เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๙


    สัจธรรมภายใน



    การ เทศน์ย่อมเป็นไปตามกาล สถานที่ บุคคลเหมือนกัน สถานที่บางแห่งต้องเทศน์ยับๆ ยั้งๆ วกๆ เวียนๆ ไม่สะดวก คำว่าสถานที่ หมายถึงบุคคลเป็นสำคัญ สถานที่นั้นก็คือว่าชุมนุมนั้น สถานที่จะเหยียบคันเร่งให้เต็มที่เพราะทางราบรื่นดี ไม่มีหมู่บ้านสัตว์ผ่านไปมา ผู้คนสัญจรไม่ค่อยมี ทางก็สะดวก การขับรถก็สบายมองเห็นได้ไกล เป็นเครื่องปลุกประสาทไปไปในตัวด้วย เพราะการขับรถเร็วต้องใช้ประสาทมากกว่าการขับไปตามปกติธรรมดา


    การ แสดงธรรมก็ไม่ผิดอะไรกับการขับรถ การเทศน์ยับๆ ยั้งๆ รั้งๆ รอๆ ก็ไม่สะดวก ให้สะดวกจริงๆ นั้น ถึงเหงื่อจะแตกออกจนผ้าเปียกหมดก็ตาม แต่มันสะดวกอยู่ภายในใจ เลยไม่ทราบว่าความร้อนความเย็นเป็นอย่างไร เพราะจิตไม่ออกมารับทราบ ทราบอยู่เฉพาะความรู้กับธรรมที่สัมผัสกันแย็บๆ เท่านั้น มีเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นเข้ามาแอบแฝง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วก็แสดงเต็มที่และสะดวก หนักเบาขนาดไหนก็เป็นไปตามขั้นของจิตของธรรม ของจิตคือของจิตผู้ฟัง ของธรรมก็คือธรรมที่ให้เหมาะสมกับผู้ฟัง เปิดเต็มที่ เร่งตามอัธยาศัย ธรรมก็ถึงใจทั้งผู้เทศน์และผู้ฟัง


    ฉะนั้น การเทศน์สอนพระนักปฏิบัติล้วนๆ กับเทศน์สอนคนทั่วๆ ไปจึงต่างกันอยู่มาก จะให้เหมือนกันไม่ได้ เพราะสถานที่บุคคลไม่เหมือนกัน การเทศน์ก็เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ผู้ฟังจะสามารถรับประโยชน์มากน้อยเพียงไรก็ต้องแสดงออกตามนั้น จะให้เลยนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ ผู้สามารถจะรับฟังได้อย่างเต็มที่ในธรรมทุกขั้น จะมาเทศน์ธรรมะขั้นที่ไม่เหมาะสมนั้นก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์เท่าที่ควร เพื่อให้เกิดประโยชน์จะทำอย่างไร ก็ทำให้เหมาะสม คือเทศน์ด้วยเนื้อหาแห่งธรรมให้เหมาะสม


    ด้วย เหตุนี้เอง เทศน์บางกัณฑ์จึงไม่มีเทป ห้ามไม่ให้อัดเลย ถ้ากัณฑ์อย่างนั้นต้องเทศน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย เทศน์เต็มที่เต็มฐานของอรรถของธรรม ของเหตุของผลทุกสิ่งทุกอย่างรวมลงไปในนั้นหมด ถ้าเป็นรถก็พุ่งๆ ผู้ฟังขั้นสมาธิ ขั้นปัญญา เฉพาะปัญญาขั้นละเอียดเหมาะสมที่สุดกับธรรมประเภทเผ็ดร้อนนั้น จิตผู้ฟังจะขยับตามพับๆ เทศน์ขนาดไหนจิตตามได้ทั้งนั้น เหมือนกับท่านเบิกทาง คือเทศน์บุกเบิกทางให้กว้างขวางเวิ้งว้าง มองเห็นทิศทางใกล้ไกลได้สุดสายหูสายตา ทะลุปรุโปร่งทางสติปัญญา เพราะธรรมเปิดให้รู้ให้เห็นทุกแง่ทุกมุมไม่มีทางสงสัย ราวกับมรรคผลนิพพานอยู่แค่เอื้อมมือในขณะนั้น บางรายก็แก้ได้ในขณะที่ฟังเป็นระยะๆ ไป


    ที่ ท่านว่าท่านสำเร็จมรรคผลนิพพานต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า เวลาประทานพระโอวาทให้แก่พุทธบริษัทก็เป็นด้วยเหตุนี้เอง แต่ก่อนเราก็ไม่ได้คิดอะไรมากนัก เหมือนกับว่ายังไม่ใช่วิสัยในระยะนั้น เพราะกำลังศึกษาเล่าเรียนซึ่งมุ่งต่อความจำมากกว่าความจริง เวลาปฏิบัติไปๆ ก็ค่อยเกี่ยวโยงกันไปเอง เพราะความสนใจในภาคความจริงจากการปฏิบัติมีมากขึ้นโดยลำดับ มาปัจจุบันนี้เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทด้วยพระโอษฐ์เองต่อพุทธบริษัทสมัยนั้น จึงต้องได้สำเร็จมรรคผลนิพพานกันมากมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับอรรถธรรมลึกตื้นหยาบละเอียด ทรงบรรจุไว้ในพระทัยโดยสมบูรณ์ พร้อมที่จะนำออกสั่งสอนสัตว์โลกให้รู้เห็นอรรถธรรม ตามขั้นภูมิแห่งอุปนิสัยของตน ไม่มีอัดมีอั้นในการแสดง อีกประการหนึ่ง พุทธบริษัทผู้พร้อมแล้วด้วยอุปนิสัยที่ควรรับธรรมของพระพุทธเจ้าเข้าสู่ใจ และรู้เห็นอย่างรวดเร็วก็มีอยู่มากมาย เหมือนแพทย์ผู้ชำนาญในการรักษาโรคชนิดต่างๆ กับโรคที่คอยรับยามีจำนวนมากปฏิบัติต่อกันย่อมได้ผลเป็นที่พอใจ


    ถ้า จะเทียบก็เหมือนกับถ้วยชามหรือภาชนะสำหรับใส่สิ่งของต่างๆ บางอันสกปรกมาก ภาชนะบางอันมีความสกปรกน้อย การล้างก็ง่าย น้ำก็เป็นน้ำที่สะอาด ล้างก็สะอาดได้ง่ายเพราะมีความสกปรกน้อย นี่หมายถึงจิตใจที่มีมลทินเบาบางอยู่แล้ว พอได้รับธรรมซึ่งเป็นน้ำที่สะอาดจากพระพุทธเจ้า ใจก็ใสสะอาดได้รวดเร็วจนกลายเป็นใจบริสุทธิ์ได้ ที่เรียกว่าบรรลุธรรมขั้นนั้นๆ ต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า


    นี่ ใจพวกเราเทียบก็เหมือนกับภาชนะ บางอย่างก็สกปรกมาก ล้างเสียจนจะหมดน้ำเป็นถังๆ มันก็ยังไม่สะอาดได้ มิหนำยังเที่ยวกว้านเอามูลสดมูลแห้งมาเทลงในภาชนะ และเทลงใส่น้ำที่สะอาดให้กลายเป็นน้ำที่สกปรกไปด้วยอีก


    ภาชนะ บางอย่างล้างไม่ได้ก็มี สุดวิสัยที่จะล้างให้ดีได้ น้ำยังมีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งที่ถูกล้างเสียอีก นำไปชะล้างให้เสียน้ำไปเปล่าๆ ย่อมไม่ใช่ฐานะที่ควรทำ ที่พระพุทธเจ้าท่านชักสะพานนั้นก็เพราะเสียดายธรรมที่ไม่ควรเสียไปโดยไม่ เกิดผลอันใด จะเป็นทำนองเอายาไปรักษาคนตายที่อยู่ในโลงผีให้ฟื้นคืนชีพมานั่นแล เพราะพวกปทปรมะได้แก่ประเภทที่ล้างไม่ออกเลย คือสิ่งสกปรกติดกันมาจนหาทางแยกกันไม่ได้ ล้างยังไงก็เหมือนกับเราล้างถ้วยชามที่มีลวดลายมาดั้งเดิมนั่นแล มันติดมาของมันอย่างเหนียวแน่นประหนึ่งเป็นอันเดียวกัน ในเวลานั้นมันติดกันถึงขนาดจมเทียว ไม่สามารถจะล้างออกด้วยน้ำได้


    นี่ พวกปทปรมะ คือพวกมืดแปดทิศแปดด้านทั้งวันทั้งคืน ไม่มีกระแสจิตใจที่จะเล็ดลอดออกมารับความจริงคือธรรมได้ ธรรมแสดงลงไป สอนลงไปเท่าไร ก็ไม่เกิดประโยชน์ ก็เมื่อไม่เกิดประโยชน์แล้วธรรมเป็นของมีคุณค่า จะสอนไปให้เสียเวล่ำเวลาและเหนื่อยเปล่าไปทำไม ต้องชักสะพานคือไม่สั่งสอนเสียเลยดีกว่า ประเภทที่ง่ายก็เหมือนกับภาชนะที่มีความสกปรกน้อย พอล้างก็เริ่มสะอาดๆ ไปเรื่อยๆ จนสะอาดเต็มที่ ทำประโยชน์ได้เต็มภูมิ


    คน มีหลายประเภทดังที่ว่านี้ เหมือนภาชนะมีหลายชนิด ฟังครั้งนี้คราวนี้ได้อุบายอย่างนั้นขึ้นมา เข้าใจหายสงสัยในธรรมหรือในกิเลสประเภทนั้น หรือตัดได้ขาดกิเลสประเภทนั้นแขนงนั้น ฟังครั้งต่อไปเข้าใจอย่างนั้น หลายครั้งหลายหนก็เลื่อนชั้นเลื่อนภูมิขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะผู้เทศน์ๆ ด้วยความจริง รู้แล้วค่อยมาเทศน์ ไม่ใช่นำมาเทศน์แบบสุ่มเดาทั้งๆ ที่ตนไม่รู้ และสอนด้วยความลูบคลำ ผู้ฟังก็จะเอาความจริงความแน่ใจมาจากที่ไหน มันก็ต้องลูบคลำเหมือนกัน เช่นเดียวกับคนตาบอดจูงคนตาบอดจะไปถึงไหน ต้องวกเวียนอยู่นั้น ต้นเสาต้นเดียว ต้นไม้ต้นเดียว คนตาบอดโดนไม่ทราบกี่ครั้งกี่หน ก็ไม่ทราบว่าเป็นต้นไม้ที่เคยโดนมาแล้ว เพราะตามองไม่เห็น คนตาบอดจูงคนตาบอดย่อมเป็นดังที่กล่าวมา คนตาดีจูงคนตาบอดย่อมไปถูกที่ถูกทางและปลอดภัย จึงผิดกันอยู่มาก


    พระ พุทธเจ้าทรงเป็นผู้ฉลาดแหลมคม เรียกว่าคนตาดีพร้อมญาณวิถี ทั้งตานอกตาในประกอบกันโดยสมบูรณ์ การสั่งสอนสัตว์โลกจึงเป็นไปเพื่อความรู้จริงเห็นจริงได้ง่ายยิ่งกว่าสาวก แม้จะรู้ถึงธรรมขั้นสุดยอดด้วยกัน แต่ความกว้างขวางลึกซึ้งในอุบายวิธีการต่างๆ นั้น ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพุทธวิสัย เพราะฉะนั้นการสั่งสอนจึงต่างกันในส่วนปลีกย่อยทั้งหลาย แม้ส่วนใหญ่เหมือนกันก็จริง แต่การสั่งสอนธรรมส่วนละเอียดที่ให้นามว่าส่วนใหญ่ ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระสาวกก็ย่อมต่างกัน กิเลสส่วนปลีกย่อยซึ่งมีอยู่ในบรรดาสรรพสัตว์นั้นมีมากต่อมาก ที่จะต้องนำอุบายเหมาะสมกันมาสั่งสอนให้พอดีกับนิสัยนั้นๆ เพื่อจะได้รับประโยชน์จากการฟัง จึงต่างกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระสาวกผู้ทรงธรรมบริสุทธิ์ด้วยกัน


    การ ได้เห็นได้ยินมาด้วย การรู้ประจักษ์ใจตนด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลกเรื่องของธรรมย่อมพูดได้อย่างเต็มปาก ไม่สะทกสะท้านว่ากลัวจะผิดไป ความรู้ธรรมเห็นธรรมก็เช่นเดียวกับเรารู้เราเห็นสิ่งต่างๆ นั่นแล เราเห็นด้วยตาของเรา สิ่งนั้นมีรูปลักษณะอย่างไร สีสันวรรณะอย่างไร ย่อมไม่สงสัยในบรรดาคนมีนัยน์ตาอันดีทั้งหลาย เสียงนั้นเสียงอะไร มีลักษณะและความหมายอย่างไร คนรู้ภาษาเดียวกันพูดภาษาเดียวกันรู้เรื่องกัน ย่อมไม่สงสัยในคำพูดนั้นๆ จะนำเรื่องนั้นมาพูดได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ด้วยความองอาจกล้าหาญต่อเรื่องหรือเหตุการณ์ที่ได้ประสบมา


    ธรรม ซึ่งเป็นจริงเต็มส่วนอยู่แล้ว ผู้ประพฤติปฏิบัติรู้เห็นตามความจริงเต็มเม็ดเต็มหน่วย ย่อมนำมาพูดได้ตามหลักความจริงนั้นๆ โดยไม่สะทกสะท้าน ด้วยเหตุนี้การประกาศสอนธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเป็นเครื่องชักจูงจิตใจของ สัตว์โลก ให้เข้าใจในอรรถธรรมได้ง่ายกว่าธรรมดาของสามัญชน หรือผู้ที่รู้ไม่จริงทั้งหลายแสดง


    สมัย พุทธกาลท่านสอนกันด้วยปากเปล่าทั้งนั้น สอนออกมาจากความรู้จริงภายในใจ เพราะท่านปฏิบัติทางใจ ท่านรู้ด้วยใจ ไม่ว่าสมาธิ ท่านพูดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะจิตของท่านเคยปฏิบัติสมาธิ รู้เห็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิมาแล้วโดยลำดับ จะเป็นสมาธิขั้นใดท่านไม่สงสัย เพราะท่านเป็นมาแล้วท่านถึงได้นำมาสั่งสอนคน ปัญญาจะเป็นปัญญาขั้นใด มีแยกแยะแขนงออกไปลึกตื้นหยาบละเอียดอย่างไรบ้าง มีความฉลาดแหลมคมขนาดไหน ท่านเคยผ่านมาแล้วด้วยการปฏิบัติของท่าน การแสดงออกจึงไม่มีการสะทกสะท้าน เข้าใจทุกแง่ทุกมุมในธรรมที่นำมาพูด เมื่อเป็นเช่นนั้นทำไมผู้ฟังจะไม่เข้าใจ เพราะพูดความจริงไม่ผิดเพี้ยนไปไหน เราก็ปฏิบัติเพื่อรู้ความจริงอยู่แล้วด้วย กำลังเสาะแสวงหาความจริงอยู่แล้วด้วย ต้องเข้าใจเป็นลำดับไป


    แม้ แต่บรรดาพระอรหันต์ซึ่งเป็นผู้ถึงวิมุตติพระนิพพาน อันเป็นหลักใหญ่ด้วยกันก็ตาม แต่อุบายวิธีที่จะแนะนำสั่งสอนประชาชนพุทธบริษัททั้งหลาย ย่อมมีแตกต่างหรือลึกตื้นหยาบละเอียดต่างกันในอุบายวิธีต่างๆ เพราะความฉลาดแหลมคมในแง่ต่างๆ นั้นต่างกัน ส่วนหลักใหญ่นั้นยกไว้ว่าเหมือนกัน


    ครั้ง พุทธกาลท่านทรงอรรถทรงธรรมไว้ด้วยใจ แสดงออกทางวาจา สั่งสอนกันด้วยวิธีนี้ทั้งนั้น ครั้นเวลาศาสนาล่วงไปได้หลายร้อยปี จึงได้พากันคิด กลัวศาสนาหรือธรรมของจริงนี้จะเลือนรางและเสื่อมสูญไปเสีย เพราะไม่มีใครทรงธรรมอันแท้จริงไว้เหมือนอย่างครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระ ชนม์อยู่ จึงได้จดจารึกลงไว้ในคัมภีร์


    เมื่อ ออกมาสู่คัมภีร์ ธรรมก็เป็นธรรมในคัมภีร์ เป็นธรรมในหนังสือไปละที่นี่ ผู้ศึกษาศาสนาก็พากันอ่านไปตามนั้น ชื่อของกิเลสก็ไปอยู่ในหนังสือหมด ชื่อของอรรถของธรรมก็ไปอยู่ในตำราหมด กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด มรรคผลนิพพานก็ไปอยู่ในคัมภีร์หมด ไม่ได้คิดว่ากิเลส มรรคผลนิพพาน อยู่ที่หัวใจคนดังท่านชี้บอกไว้ ผู้เรียนก็ไปจดจำเอาชื่อเอาเสียงของกิเลส มรรคผลนิพพานนั้นมา แต่ไม่ได้ตัวจริง ได้แต่ชื่อตัวจริงไม่มี ถ้าเป็นเงินก็มีแต่บัญชี แต่ตัวเงินไม่มี บัญชีจะเขียนไว้มากน้อยก็มีแต่ชื่อ ตัวเงินจริงๆ ไม่มีตามบัญชีนั้น นี่มันเกิดประโยชน์อะไร อ่านวันยังค่ำก็ไม่จบบัญชีเงิน อ่านนับกันไม่ทราบว่ากี่ล้านๆ ก็ไม่จบ แต่ตัวเงินสตางค์หนึ่งก็ไม่มี มันเกิดประโยชน์อะไร


    เมื่อ ศาสนาออกไปสู่คัมภีร์ใบลาน ถือคัมภีร์ใบลานเป็นศาสนาโดยไม่คำนึงถึงตัวศาสนา คือตัวเราตัวท่านเป็นผู้รับเรื่องของสัจธรรมทั้งมวลแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์ อะไร ได้แต่ชื่อของศาสนา ได้แต่ชื่อของกิเลส ชื่อของมรรคผลนิพพานไว้ในความจดจำเท่านั้น ส่วนกิเลสที่สนุกร้องเพลงอยู่บนหัวใจเราไม่ถลอกผิวบ้างเลย มรรคผลนิพพานก็เข้าแทรกหัวใจไม่ได้ เพราะไม่มีใครสนใจหาตัวจริงของมรรคของผล แล้วจะเกิดประโยชน์อะไรกับพวกเราชาวพุทธซึ่งทำตัวประดุจนกขุนทอง


    คำว่าสัจธรรม ทุกข์ แน่ะ คัมภีร์ใบลานไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้แสดงทุกข์ขึ้นมาในตัวคัมภีร์เอง


    สมุทัย เรื่องของความคิดความปรุงของใจ ความคะนองของใจ เกิดขึ้นจากกิเลสตัณหาทั้งมวล ท่านเรียกว่าสมุทัย ซึ่งมีชื่ออยู่ในคัมภีร์โน้น แต่ตัวสมุทัยจริงๆ ตัวกิเลสจริงๆ มันอยู่กับคน อยู่กับหัวใจคน ความทุกข์จริงๆ อยู่กับกายกับใจของคน คือเราๆ ท่านๆ นี้ แต่เราไม่มาคำนึง ไม่มาเรียน ไม่มาสังเกตตรงนี้ ซึ่งเป็นจุดของศาสนาชี้บอกไว้ และเป็นจุดที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนโดยแท้จริง ใจกลับไปอยู่คัมภีร์โน้นเสีย ตะครุบเงาอยู่โน้นเสีย ไม่หันมาหาตัวจริงที่อยู่กับตัวตามคัมภีร์ชี้บอก


    มรรค ก็มัชฌิมาปฏิปทา มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป มี สัมมาสมาธิเป็นที่สุด นี่คือทางเดินหรือเครื่องมืออันทันสมัยสำหรับแก้กิเลสทุกประเภท ก็มีแต่ชื่อเสียเราไม่ทำตาม ปล่อยทิ้งธรรมเหล่านี้ให้อยู่ในคัมภีร์โน้นเสีย มอบธรรมเหล่านี้ให้ไปฆ่ากิเลสในคัมภีร์โน่นเสีย ไม่สนใจนำเข้ามาฆ่ากิเลสในใจตัวเอง


    นิโรธ คือความดับทุกข์ ก็ได้แต่ชื่อว่าดับทุกข์ๆ ทั้งๆ ที่ทุกข์เต็มหัวใจ ไม่ได้ถลอกแม้นิดหนึ่งเลย จากความจำได้ว่านิโรธๆ นั้นน่ะ ได้พากันคิดบ้างหรือยังว่า กิเลสมรรคผลนิพพานที่มีชื่อในคัมภีร์ท่านชี้เข้ามาที่ใจชาวพุทธเรา ให้พากันปฏิบัติกำจัดกิเลสด้วยมรรค คือปฏิปทาเครื่องดำเนินซึ่งมีอยู่กับใจกับกายเราด้วยกัน คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันแท้จริงมีอยู่กับตัวเรา ส่วนชื่อธรรมเหล่านี้มีอยู่ในคัมภีร์


    นี่ มันออกไปข้างนอกเรื่อยๆ ต่อมาก็เลยกลายเป็นนอกไปเสียหมด จากนั้นก็จะกลายเป็นศาสนพิธีเต็มตัวชาวพุทธ ไม่มีความจริงตามหลักศาสนาที่สอนไว้เลย แล้วจะเอามรรคผลนิพพานมาจากไหน ต่อจากนั้นก็ว่ามรรคผลนิพพานไม่มี จะมีอะไรกับโมฆบุรุษ โมฆสตรีที่ไม่สนใจในการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ไม่มีจริงสำหรับคนที่มีแต่ชื่อศาสนาเต็มตัว ศาสนาพิธีเต็มใจ การปฏิบัติไม่มีแม้นิด


    แม้ ในครั้งพุทธกาลก็เป็นได้เช่นนี้เหมือนกัน ผู้ไม่เชื่อไม่เคารพเลื่อมใส ไม่ประพฤติปฏิบัติตามก็เป็นโมฆบุคคลอยู่โดยดี ทั้งๆ ที่ท่านผู้ปฏิบัติตักตวงมรรคผลนิพพานนับจำนวนไม่น้อยผ่านหน้าผ่านตาอยู่หยกๆ ก็ไม่สนใจ นี่มรรคผลนิพพานไม่มีเพราะเหตุที่กล่าวมานี้แล ไม่ว่าสมัยใดก็เป็นโมฆะได้และสมบูรณ์ได้เพราะคนทำให้เป็น


    ถ้า หากการประพฤติปฏิบัติตามหลักศาสนธรรม ที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วโดยถูกต้องมีอยู่ตราบใด เรื่องมรรคผลนิพพานไม่ต้องถาม เพราะไม่มีกาล ไม่มีสถานที่ของการสิ้นสูญไปแห่งมรรคผลนิพพานแก่ผู้ปฏิบัติตามอยู่ หลักศาสนาจึงอยู่ที่การปฏิบัติ อยู่ที่การปฏิบัติมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และจะยังอยู่ที่การปฏิบัตินี้ตลอดไป เพราะความจริงมีอยู่ที่ตรงนี้


    ทุกข์ จะเป็นทุกข์กายก็ตาม ทุกข์ใจก็ตาม ก็เป็นเครื่องประกาศให้ความรู้คือใจนั้นทราบอยู่ตลอดเวลาที่ทุกข์แสดงขึ้นมา เพราะคนไม่ใช่คนตาย คนมีหัวใจ ใจนี้เป็นธรรมชาติที่รับทราบอยู่เสมอ มีความรู้อยู่โดยลำพังตนเอง และรู้สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาสัมผัสเกี่ยวข้องตนเอง เช่น ทุกข์เกิดขึ้นมากับกายกับใจ ใจเป็นผู้รับผิดชอบกายกับใจตัวเองอยู่แล้ว ทำไมจะไม่ทราบเรื่องของทุกข์ ทุกข์มากทุกข์น้อยทราบได้ทั้งนั้น นอกจากคนตายซึ่งไม่มีใจครอง จึงไม่ทราบว่าทุกข์เป็นยังไง ทุกข์มีหรือไม่มีก็ไม่รู้ เขาเอาไปเผาไฟจนเป็นเถ้าเป็นถ่านก็ไม่แสดงอาการทุรนทุรายอะไรเลย เพราะความรู้ที่รับผิดชอบสุขทุกข์ทั้งหลายไม่มี นี่ท่านเรียกว่าทุกขสัจ คำว่าสัจจะก็คือความจริงอันหนึ่งแท้ๆ มีอยู่ที่นี่ คือที่กายกับใจนี้


    สมุทัย เหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ หรือธรรมชาติที่ผลิตทุกข์ให้เกิดขึ้นมาทางจิตใจได้แก่ธรรมชาตินี้ จะแก้ด้วยวิธีใด ธรรมชาตินี้คืออะไร ย่นย่อเข้ามาตามที่ท่านบอกไว้มีสาม คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้คือตัวสมุทัย ท่านให้ชื่อว่าสมุทัย แล้วจะแก้อันนี้ด้วยวิธีใด ธรรมชาตินี้เกิดที่ใจ อยู่ที่ใจ


    ท่านสอนมรรค วิธีแก้คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาทิฏฐิ คือ ความฉลาดแหลมคม ความเห็นชอบ เห็นชอบในอุบายที่ควรจะแก้กิเลสทุกประเภทได้นั้นเอง จึงเรียกว่าเห็นชอบ ถ้าความเห็นเป็นเครื่องส่งเสริมกิเลสก็ไม่เรียกว่าความเห็นชอบ เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ


    สัมมาสังกัปโป ความดำริ ดำริชอบท่านก็บอก ดำริชอบ อาการของความดำริชอบนี้มีกี่แง่ท่านก็บอก ท่านแยกเป็นแขนงออกไป อพฺยาปาทสงฺกปฺโป ความดำริเพื่อความไม่พยาบาทปองร้ายหมายโทษผู้อื่น ความคิดที่ผิดนั้น ตนก็ทำลายตนได้ และปองร้ายผู้อื่นได้ เพราะความคิดที่ผิดนี้ไม่เข้าใครออกใคร ใครคิดขึ้นมาผู้นั้นก็ชื่อว่าคิดเพื่อทำลายตนและทำลายคนอื่นได้ อวิหึสาสงฺกปฺโป ความไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น อันใดที่เห็นว่า เป็นภัยต่อจิตใจรวมหมดทั้งกายด้วย ก็พยายามหลีกเว้นในสิ่งนั้น เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป ความดำริคิดเพื่อจะออกจากเครื่องผูกพัน ท่านแยกแขนงๆ ไปอย่างนี้ เหมือนดังต้นไม้มีแขนงมีกิ่งก้านสาขาต่างๆ จนกระทั่ง สมฺมาสมาธิ เป็นที่สุด นี้คือเครื่องแก้กิเลส แก้สมุทัยนี้เอง


    การ ดำเนินเพื่อการแก้กิเลสด้วยธรรมอันชอบแปดประการนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินเพื่อการแก้กิเลสไปโดยลำดับ กิเลสก็มีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด มรรคก็มีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เหมาะสมกัน เหมือนเครื่องมือทำงานมีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด


    คำ ว่านิโรธ คือความดับทุกข์ เมื่อสติปัญญามีความสามารถดับทุกข์ได้มากน้อยนิโรธะ คือความดับทุกข์ก็แสดงขึ้นมาโดยธรรมชาติของตน ไม่ต้องไปบังคับให้นิโรธต้องแสดงท่าดับทุกข์ท่านั้นท่านี้ มันเป็นอาการเป็นกิริยาอันหนึ่งเท่านั้นที่เกิดขึ้นในขณะที่บำเพ็ญ ท่านแจงไว้อย่างนี้เพื่อเราได้เข้าใจกิ่งแขนงต่างๆ แต่ไม่ให้ไปยึดไปถือว่าเป็นตนเป็นตัว จนลืมข้อปฏิบัติที่จะกำจัดกิเลสนั้นเสีย ได้แต่กิริยา ได้แต่ชื่อก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร


    นี่ คือเครื่องตัดสินของศาสนาว่า สามารถจะยังคนให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้มากน้อย เป็นเครื่องตัดสินด้วยเครื่องมืออันนี้ ผู้ที่นำเครื่องมือนี้ไปประกอบ มีความสามารถฉลาดแหลมคมขนาดไหน เอ้า ถ้าเป็นผู้มีความสามารถ เครื่องมือนี้เหมาะสมอยู่แล้วเอาไปเถิด ไปปฏิบัติเถิด ไม่มีกิเลสตัวใดจะเหนือเครื่องมือหรือเครื่องประหัตประหารนี้ได้ กิเลสทุกประเภทต้องหมอบราบลงด้วยเครื่องมือนี้ไม่ว่ากาลใดสมัยใด อดีตที่ผ่านมาแล้วก็ด้วยเครื่องมืออันนี้ ที่กิเลสราบไปได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ก็เพราะเครื่องมือมัชฌิมาปฏิปทานี้


    พระ พุทธเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะเครื่องมืออันนี้ พระสาวกทั้งหลายได้เป็นพระอรหันต์ก็เพราะเครื่องมืออันนี้ ที่จะเป็นในระยะต่อไปก็เครื่องมืออันนี้ ไม่มีสิ่งใดกีดขวางทางเดินเพื่อความถึงวิมุตติหลุดพ้นได้ ธรรมชาติที่กีดขวางก็คือสมุทัยเป็นสำคัญเครื่องมือบุกเบิกธรรมชาติที่กีด ขวางนี้ก็คือมรรคเป็นสำคัญ เมื่อทั้งสองอย่างนี้เข้าประกอบทำหน้าที่ต่อกันแล้ว ก็เป็นการบุกเบิกทำลายกิเลสไปในตัว นิโรธวิ่งตามหลังเฉยๆ มรรคฆ่ากิเลสเพื่อดับทุกข์ได้ขนาดไหน นิโรธก็แสดงความดับทุกข์ๆ ไปตามลำดับ เพราะอำนาจของมรรคทำงานฆ่ากิเลสโดยถ่ายเดียว นิโรธไม่เกี่ยวกับการฆ่ากิเลส


    ธรรม จึงเป็นมัชฌิมาอยู่เสมอ ไม่มีที่จะต้องดัดแปลงแก้ไขที่ตรงไหน ว่าครั้งพุทธกาลท่านฆ่ากิเลสด้วยธรรมนั้นๆ บัดนี้ธรรมนั้นๆ ได้ล้าสมัยไปแล้ว กิเลสแซงหน้าธรรมไปไกลแล้ว ไม่มีธรรมประเภทใดที่สามารถแก้กิเลสได้ จึงต้องผลิตธรรมขึ้นมาใหม่ อย่างนี้ไม่มี ธรรมเป็นธรรม เป็นเครื่องปราบปรามกิเลสด้วยความเหมาะสมตลอดมา จึงเรียกว่ามัชฌิมา คือเหมาะสมอยู่เสมอ


    ผู้ ที่กีดกั้นทางเดินของตัวก็คือเรา กีดกั้นมรรคผลนิพพานก็คือเรา ผู้จะบุกเบิกมรรคผลนิพพานให้ปรากฏขึ้นมาในใจก็คือเรา จึงไม่มีสถานที่หรือบุคคลใดที่น่าตำหนิว่ามากีดขวางทางเดินเพื่อความพ้น ทุกข์ของเรา นอกจากจะตำหนิเราเท่านั้น ว่าเป็นผู้กีดกันและทำลายตัวเอง สถานที่ กาลเวลา ไม่มีทางที่จะไปตำหนิเขาได้ มันเป็นความจริงแต่ละอย่างๆ เรื่องทั้งหมดขึ้นอยู่กับเรา


    มรรค ผลนิพพานไม่มี มันจะมีอะไร ก็โมฆบุคคล มันหมดคุณค่าราคาเสียทุกอย่าง แล้วจะเอามรรคผลนิพพานที่ไหนซึ่งเป็นของมีคุณค่ามาก มาเกี่ยวข้องกับบุคคลที่หมดคุณค่าราคาแล้วนั้น เหมือนคนตายแล้วเอาสายสร้อยสังวาลไปประดับตกแต่งให้มีสง่าราศี สวยงามที่ตรงไหนก็คนตายแล้ว เอาเครื่องประดับไปประดับหาพระแสงอะไรก็ประดับคนตาย มีค่าที่ไหน มันเหมาะสำหรับฟืนไฟเท่านั้น คนตายทั้งเป็นก็เป็นอย่างนั้น จะเอามรรคผลนิพพานไปประดับยังไง ต้องประดับคนที่มีคุณค่ามีราคา ผู้มีความใคร่ความสนใจในอรรถในธรรม มีความประพฤติปฏิบัติดีตามหลักธรรม ผู้เช่นนี้คู่ควรกับมรรคผลนิพพาน มรรคผลนิพพานอยู่กับคนนี้ ซึ่งเหมือนกับคนเป็น เอาอะไรมาประดับก็ได้ ธรรมาลังการ ธรรมะเครื่องประดับประเภทไหนได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับเจ้าของที่จะสามารถนำธรรมะนั้นๆ มาเป็นเครื่องประดับตัว


    จิต ไม่ใช่จะมืดบอดอยู่ตลอดเวลา เหมือนอย่างกลางคืนเวลานี้ไม่ใช่จะมืดอยู่อย่างนี้ตลอดไป พอพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมาความมืดก็หายไป นี่ความมืดที่มีอยู่ในจิตใจของเรา ก็เพราะสติปัญญายังไม่สามารถผลิตตัวขึ้นมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น ความมืดที่มีอยู่ภายในใจจึงเหมือนมีอำนาจและทำใจให้มืดได้ตลอดไป ประหนึ่งใจจะไม่มีวันสว่างไสวไร้ความมืดมิดปิดทวารนี้ไปได้เลย จะมืดบอดอย่างนั้นตลอดกัปตลอดกัลป์ ความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ใจที่มีธรรมย่อมมีเวลาสว่างได้


    ถ้า การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมพระพุทธเจ้า ยังมีอยู่ในจิตใจดวงใดในบุคคลผู้ใด จิตของผู้นั้นจะมีความสว่างขึ้นมาโดยลำดับจนถึงความสว่างเต็มที่ ไม่มีมลทินแม้นิดแปดเปื้อนภายในจิตใจ กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ขึ้นมาได้จากความโง่เขลาเบาปัญญาซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน


    พระ พุทธเจ้าก็ทรงอุบัติขึ้น ในท่ามกลางแห่งความโง่เขลาเบาปัญญาเช่นเดียวกับพวกเรา ความมืดบอดมีเหมือนกัน กิเลสมีอยู่จะไม่เรียกว่าคนมืดบอดยังไง พระราชบิดา พระราชมารดาทั้งสองก็เป็นคนมีกิเลส พระองค์ก็เป็นคนมีกิเลส เกิดในท่ามกลางแห่งความมีกิเลสทั้งร่างกายและจิตใจที่เต็มไปด้วยกิเลสเหมือน กัน


    แต่ เมื่ออาศัยการชำระสะสางซักฟอกอยู่เสมอ จิตใจก็โผล่ขึ้นมาจากความมืดบอดทั้งหลาย กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ขึ้นมา พระทัยสว่างกระจ่างแจ้ง เป็นโลกวิทู รู้แจ้งโลกทั้งปวง แต่ก่อนไม่ได้ทรงเปล่งพระวาจาว่ารู้แจ้งโลกเพราะยังไม่แจ้ง แม้แต่จะรู้แจ้งตัวเองยังไม่รู้แจ้งได้ จะไปรู้แจ้งโลกได้ยังไง โลกขันธ์ตัวเองยังไม่รู้จะไปรู้โลกขันธ์ โลกธาตุภายนอกได้ยังไง พอทราบตัวเองแจ้งชัดก็กระจายไปหมด รู้ได้หมด จึงทรงมีพระนามว่าโลกวิทู เรื่อยมาจนปัจจุบันนี้


    สาวก ทั้งหลายก็เกิดมาในท่ามกลางแห่งคนมีกิเลสเหมือนกันกับพวกเรา จะว่าใครดีใครยิ่งใครหย่อนกว่าใคร เมื่อมีพ่อแม่เป็นแดนเกิดด้วยกัน เป็นผู้มีกิเลสด้วยกัน ผู้เกิดมาก็เป็นคนมีกิเลส พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดก็เป็นผู้มีกิเลสด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องของความมืดบอดด้วยกัน อาศัยที่เราบำเพ็ญทั้งใหม่และเก่าอยู่เสมอ ประพฤติปฏิบัติตัวด้วยธรรมนี้แลซึ่งเป็นเครื่องขัดเกลาสิ่งที่มืดบอดที่มี อยู่ภายในใจ ใจค่อยสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมาเรื่อยๆ


    อย่าง คำที่ว่าจิตสงบ นี่เราไม่เคยได้ยินแต่ก่อน อย่าว่าถึงเราได้ทำเลย ความได้ยินก็ไม่เคยได้ยิน แต่เมื่อเราได้ศึกษาอรรถธรรมกับครูกับอาจารย์เรื่อยๆ เราก็ทำด้วย ความสงบก็ค่อยปรากฏขึ้นภายในใจเรา เอ้อ วันนี้สบาย จิตสงบไม่วุ่นวาย ถ้ายิ่งได้ประพฤติปฏิบัติมากเข้า ความสงบก็เปลี่ยนสภาพสู่ความละเอียดเรื่อยๆ ไป ความสงบมีมากเพียงไร ความสบายก็มีมากเพียงนั้น ความสุขมีมากเพียงนั้น


    เท่า ที่ความสุขไม่ปรากฏก็เพราะความสงบไม่มี ความวุ่นวายนั่นแลเป็นเครื่องก่อกวนไม่ให้เกิดความสงบขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นการชำระจิตใจด้วยจิตตภาวนาจึงเป็นการระงับดับความวุ่นวายทั้ง หลาย เพื่อให้ความสงบปรากฏตัวขึ้นมา ความสุขซึ่งเป็นเงาเทียมตัวกับความสงบนั้น ย่อมปรากฏตัวขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งปรากฏอย่างเด่นชัด นี่ท่านให้ชื่อว่าสมาธิ ได้กลายมาเป็นสมบัติของผู้บำเพ็ญจิตตภาวนาอย่างชัดเจน


    เมื่อ จิตมีความสงบหลายครั้งหลายหนก็เป็นฐานมั่นคงขึ้นมาภายในใจ เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ คือจิตมีหลักฐานมั่นคงไม่หวั่นไหวโยกคลอนง่ายๆ เหมือนอย่างแต่ก่อน ความรับสัมผัสรับได้เพราะจิตเป็นเจ้าฉลาดรู้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำไมจะรับทราบไม่ได้ อะไรสัมผัสต้องรับทราบ แต่ไม่หวั่นไหวไปตามนั้นอย่างง่ายดายเหมือนแต่ก่อนเท่านั้นเอง


    ที นี้เราควรพิจารณาทางด้านปัญญา เอ้า ปัญญาคือความฉลาดแหลมคม ขุดค้นลงได้ ลึกตื้นหยาบละเอียดสามารถทำได้ทั้งนั้น เราขุดดินทั้งแผ่นเราขุดได้กี่เมตรเรายังขุดได้ เจาะหินเจาะเพชรยังเจาะได้ แต่จะมาเจาะธาตุขันธ์ของตัวเองนี้ ทำไมจะเจาะไม่ได้เจาะไม่ทะลุ ถ้าใช้ปัญญาเจาะยิ่งลึกยิ่งกว่าเจาะสิ่งเหล่านั้นเสียอีก สติปัญญายังละเอียดแหลมคมยิ่งกว่าเครื่องมือทั้งหลายที่เจาะหินเจาะเพชรนั้น อีก พระพุทธเจ้าท่านเจาะด้วยวิธีนี้ ปัญญาคือความฉลาดแหลมคม สอดส่องเข้าไป ขุดค้นเข้าไป


    ความ จริงมีอยู่ เราปีนเกลียวความจริงต่างหาก จึงขนเอาทุกข์ขึ้นมาเผาตนเอง แต่เราก็ไม่เห็นโทษแห่งความปีนเกลียวกับธรรมว่าเป็นโทษ จึงต้องปีนอยู่เสมอ ปีนเสมอก็ทุกข์อยู่เสมอ ปีนไม่หยุดก็ทุกข์ไม่หยุด ทุกข์อยู่ร่ำไปไม่มีใครช่วยได้ถ้าเราไม่ช่วยตัวเราเอง ด้วยการฝืนกิเลสและปฏิบัติตนตามธรรม


    เอ้า เพื่อไม่ปีนเกลียว มันเป็นยังไงในธาตุขันธ์อันนี้ พิจารณาดูทั้งข้างนอกข้างใน นับแต่วันเกิดมาร่างกายเป็นยังไง ตัวเล็กๆ โตขึ้นมาขนาดนี้แล้วเป็นยังไง มันค่อยทรุดโทรมลงไป ข้างนอกข้างในมันเปลี่ยนไปโดยลำดับลำดาเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ปิดไม่บังทั้งวันทั้งคืน รู้อยู่เห็นอยู่ด้วยใจของเราเองซึ่งเป็นผู้รับทราบกับสิ่งเหล่านี้


    เรื่องอนิจฺจํ ก็เห็นได้ชัด ทุกฺขํ ก็เป็นอยู่แล้ว ทุกฺขํ มัน ขังเรานี่ซิ นั่งก็นั่งอยู่กับกองทุกข์ นอนอยู่กับกองทุกข์ ยืนเดินนั่งนอนอยู่กับกองทุกข์ทั้งนั้น ถูกทุกข์มันขังอยู่ตลอดเวลา เราจะว่าทุกข์ขังเราก็ได้ แยกไปซิสติปัญญาเรามี ยอมจนตรอกให้กิเลสกองทุกข์ขังอยู่ทำไม


    อัน ใดเป็นอุบายที่จะถอดถอนหรือได้สติสตังขึ้นมา ได้ความคิดอ่านแปลกๆ ขึ้นมาเพื่อถอดถอนความโง่เขลาเบาปัญญาของตน อันนั้นเรียกว่าปัญญา เรียกว่าธรรมทั้งนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีอยู่ในแบบแผนตำรับตำราอย่างเดียว เพราะกิเลสไม่ใช่จะถูกขังให้อยู่ในแบบแผนตำรับตำราถ่ายเดียวเท่านั้น มันอยู่ได้กับหัวใจของคน สิ่งที่ให้เป็นกิเลสมากน้อยมันเป็นไปได้ทั้งนั้น โดยไม่คำนึงถึงแบบแผนตำรับตำราเลย แต่เวลาเราจะพิจารณา ทำไมจึงต้องไปค้นหาแบบแผนตำรับตำราเสียทุกบททุกบาททุกคาถาบาลี อุบายวิธีนี้มีในตำราไหม อุบายวิธีนี้ท่านเขียนไว้ไหม บทเวลาสั่งสมกิเลสพอกพูนหัวใจไม่เห็นไปดูตำราเสียก่อนล่ะ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ทันกัน เพื่อให้ทันกัน เอ้า คิดขึ้นมา อุบายวิธีใดที่เป็นไปเพื่อความถอดถอนตัวเองให้รู้แจ้งเห็นจริง นั้นแหละคือ ปัญญา นั่นแหละคือธรรม


    ธรรม มีอยู่กับเรา จงหาอุบายวิธีฉลาดแหลมคมแก้ตัวเราเอง ดูที่ตรงขันธ์นี้ดูให้ชัดเจน หน้าที่ของเราที่จะดู เวลานี้กำลังทำงาน จงบังคับจิตใจให้ทำงานในหน้าที่ของตัว อย่าให้วอกแวกคลอนแคลนส่งไปข้างนอก การส่งไปไหนทั้งวันทั้งคืน ส่งตั้งแต่วันเกิดมาได้ประโยชน์อะไร เวลานี้จะส่งจิตใจเข้าสู่สภาวธรรมทั้งหลายมีกายเราเป็นต้น เพื่อจะถอดถอนตนออกจากหล่มลึกนี้ ทำไมถึงไม่พอใจคิดเข้ามา มีแต่พอใจคิดภายนอก ซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟทั้งนั้น ยังไม่เห็นโทษอยู่เหรอ เอาเผ็ดๆ ร้อนๆ อย่างนั้นซิ อุบายวิธีแก้ตัวเองหรือสั่งสอนตัวเองต้องสั่งสอนอย่างนั้น


    ค้น เข้าไปให้เห็นชัด ในรูปในกายก็อย่างที่เห็นนี้แหละ โลกทั้งโลกที่มีรูปมีกายมันเหมือนกัน สีสันวรรณะความสูงต่ำอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่มันเหมือนกันในเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หรือเป็นรูปเป็นกายเหมือนกัน


    อนตฺตา เอ้า พิจารณาดู อันไหนเป็นเรา อะไรเป็นของเรา กองรูปทั้งหมดที่เรียกว่าร่างกายทั้งท่อนนี้แหละ ทั้งเวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ที่ปรากฏตัวขึ้นมาแล้วดับไปๆ สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้มันเป็นอาการอันหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ได้มารับทราบเราว่าเราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ มีแต่เราไปรับทราบเขา ก็หลงเขา ไปยึดเขา ปีนเกลียวกับธรรมที่ท่านว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนตฺตา สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น ถึงขั้นสุดท้าย พิจารณาหมดบรรดาสภาวธรรมทั้งมวล นั่นฟังแต่ว่าทั้งปวงนั้นคือทั้งหมด ไม่ควรถือมั่น


    นั่น ถึงเวลาจะปล่อยแล้วปล่อยหมด ขึ้นบันไดไปถึงบ้านแล้วก็ปล่อยบันได เดินทางเข้ามาถึงจุดที่หมายแล้วก็ปล่อยทาง เมื่อจิตก้าวขึ้นเป็นตัวของตัวอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องพึ่งพิงอาศัยอะไรแล้ว จิตก็ปล่อยหมด นี่สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา จุดสุดยอดจริงๆ แล้ว สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ปล่อยหมดโดยประการทั้งปวง


    นั่น คือปัญญาแทงทะลุไปหมดแล้วจะไม่ปล่อยยังไง จะไปถืออะไรไว้ รูปก็ปล่อย เวทนาก็ปล่อย เวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ที่เป็นภายในร่างกายจิตใจปล่อยไปหมด สัญญา ความจำได้หมายรู้มามากน้อยจำได้เท่าไรปล่อยหมด สังขาร วิญญาณ ปล่อยหมด แม้ที่สุดจิตซึ่งเป็นที่ยึดในตัวอันสำคัญ พิจารณาเข้าจริงๆ จังๆ แล้วปล่อยหมด จิตก็ไม่ยึดจิต รู้จริงแล้วไม่ยึด นั่นละท่านว่า สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ถอนกิเลสตัณหาออกพร้อมทั้งราก เป็นผู้ดับสนิทในความหิว นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ความหิวคือความอยากด้วยอำนาจของกิเลสตัณหานั่นแหละดับสนิท ก็มีเท่านั้น


    นี่ จะเรียกว่าได้มรรคผลนิพพานหรือไม่ที่นี่ เมื่อพิจารณาถึงขนาดนั้นแล้ว ได้ไม่ได้ก็ไม่เห็นสำคัญอะไร ทราบอยู่กับตัวแล้วจำเป็นต้องไปหาชื่อหานามที่ไหนมาอีก มาตีตรากันทำไม เหมือนรับประทานอิ่มแล้วตีตราให้หรือไม่ตีตราให้ เซ็นใบอิ่มให้หรือไม่เซ็นใบอิ่มให้ ให้ประกาศนียบัตรหรือไม่ให้ไม่สำคัญ ก็เราอิ่มแล้วรู้อยู่นี่ เอาใบประกาศมาทำไม รู้อยู่ในตัว ใบประกาศมันเกิดประโยชน์อะไร ชื่อนามเกิดประโยชน์อะไร สิ่งที่เป็นประโยชน์แท้ๆ ก็เราเป็นผู้ทรงไว้แล้วเวลานี้ นั่นละมรรคผลนิพพานแท้ๆ เป็นอย่างนั้น


    มี อยู่กับจิตทุกดวงที่ว่ามาทั้งนี้ ไม่ว่าจิตหญิงจิตชายเมื่อชำระได้ อันนั้นเป็นสมมุติอันหนึ่ง ธรรมชาติของความรู้นั้นไม่ได้มีอยู่กับคำว่าเป็นหญิงเป็นชาย อันนี้แหละเป็นแก่นสำคัญ เป็นแกนสำคัญ เป็นแท่นเป็นแกนอันสำคัญ แก้ก็แก้เพื่อจะให้เห็นธรรมชาติอันสำคัญนี้เต็มภูมิของจิตของธรรม


    แบก อะไรมันก็ไม่ทุกข์เหมือนแบกธาตุแบกขันธ์ แบกอุปาทานในขันธ์และอารมณ์ทั้งปวง เราแบกไม้หามเสาถึงเวลาปล่อยวางก็ได้ปล่อย แบกธาตุแบกขันธ์นี้มันไม่ได้ปล่อยนา ตายแล้วยังหวงอีกด้วย เวลาจะตายยังหวงไม่อยากตาย หวงก็คือ อยากจะหามอยากจะแบกทุกข์ต่อไปอีกอยู่นั้นแล ให้รู้ให้ปล่อยทั้งที่ยังไม่ปล่อยขันธ์นี่ซิ วางเสียตอนที่ยังไม่ได้วางขันธ์ทิ้งนี้ มันเหมาะ อยู่สบาย


    ใคร จะมีความฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า ที่สั่งสอนสัตว์โลกให้ถึงความสบายอันสูงสุดนี้ มีหรือในโลกนี้ มีใคร ไม่มองเห็นใครจะฉลาดยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เอ้า ยึดให้ถึงใจ ปฏิบัติให้ถึงตัวจริงความจริง


    เรา จะพบศาสดาที่ตรงความจริงล้วนๆ นั่นแหละ คือจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ นั้น เมื่อถึงจิตบริสุทธิ์แล้ว เราจะไม่ถามหาศาสดาเลยว่าอยู่ที่ไหน นิพพานไปแล้วกี่ปีกี่เดือนอันเป็นกาลสถานที่เวล่ำเวลาเท่านั้น ไม่มีปัญหาอะไรเลย ความจริงก็คืออันนี้ อันนี้เป็นฉันใด พระพุทธเจ้าเป็นฉันนั้น แล้วจะไปถามหาพระพุทธเจ้าที่ไหนอีก เพราะอยู่ที่ไหนก็เหมือนอยู่กับพุทธะ นี่แหละพุทธะแท้ ถึงพุทธะนี้แล้วก็เหมือนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลาอกาลิโก


    เอาละการแสดงธรรมก็เห็นสมควร รู้สึกเหนื่อยๆ



    คัดลอกจาก http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1986&CatID=2
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 กุมภาพันธ์ 2012
  2. หม้อหุงข้าว..!

    หม้อหุงข้าว..! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,103
    ค่าพลัง:
    +1,072
    [​IMG]

    ...อนุโมทนาครับ.....
     
  3. datchanee

    datchanee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มกราคม 2009
    โพสต์:
    2,947
    ค่าพลัง:
    +1,276
    satu satu satu .........
     
  4. shaman loseless

    shaman loseless เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    156
    ค่าพลัง:
    +185
    อนุโมทนาสาธุในธรรมครับ หลวงตามหาบัวผมระลึกถึงเสมอเวลาไหว้พระสวดมนต์
     
  5. อวตาร888

    อวตาร888 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    259
    ค่าพลัง:
    +1,070
    สาธุ อ่าน+ฟังหลวงตาเทศน์ทีไรปิติทุกครั้ง สาธุอนุโมทนาที่นำมาเผยแผ่ครับ.
     

แชร์หน้านี้

Loading...