สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 21 มีนาคม 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๑๐๗/๓๗๙
    อรกานุสาสนีสูตร
    [๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาชื่ออรกะ เป็นเจ้าลัทธิ ปราศจาก
    ความกำหนัดในกาม ก็อรกศาสดานั้นมีสาวกหลายร้อยคนเธอแสดงธรรมแก่สาวกอย่างนี้ว่า
    ดูกรพราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อยนิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
    จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้ว
    จะไม่ตายไม่มีดูกรพราหมณ์ หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่ออาทิตย์ขึ้นมา ย่อมแห้งหายไปได้เร็ว
    ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง ฉันนั้น
    เหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา
    ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดแล้วจะไม่ตายไม่มี ฯ
    ดูกรพราหมณ์ เมื่อฝนตกหนัก หนาเม็ด ฟองน้ำย่อมแตกเร็ว ตั้งอยู่ไม่นาน แม้ฉันใด
    ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนฟองน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์
    มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์
    เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ฯ
    ดูกรพราหมณ์ รอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ย่อมกลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด
    ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำฉันนั้นเหมือนกัน ... ฯ
    ดูกรพราหมณ์ แม่น้ำไหลลงจากภูเขา ไหลไปไกล กระแสเชี่ยว พัดไปซึ่งสิ่งที่พอจะพัด
    ไปได้ ไม่มีระยะเวลาหรือชั่วครู่ที่มันจะหยุด แต่ที่แท้แม่น้ำนั้นมีแต่ไหลเรื่อยไปถ่ายเดียว แม้
    ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ฉันนั้นเหมือนกัน ... ฯ
    ดูกรพราหมณ์ บุรุษมีกำลัง อมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้น แล้วพึงถ่มไปโดยง่ายดาย
    แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนก้อนเขฬะฉันนั้นเหมือนกัน ... ฯ
    ดูกรพราหมณ์ ชิ้นเนื้อที่ใส่ไว้ในกะทะเหล็ก ไฟเผาตลอดทั้งวัน ย่อมจะย่อยยับไป
    รวดเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฉันนั้น
    เหมือนกัน ... ฯ
    ดูกรพราหมณ์ แม่โคที่จะถูกเชือด ที่เขานำไปสู่ที่ฆ่า ย่อมก้าวเท้าเดินไปใกล้ที่ฆ่า
    ใกล้ความตาย แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่โคที่จะถูกเชือด ฉันนั้น
    เหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา
    ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ๖๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิง
    มีอายุ ๕๐๐ ปี จึงควรแก่การมีสามี ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอาพาธ ๖ อย่างเท่านั้น คือ
    เย็น ร้อน หิว ระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อรกศาสดานั้น
    เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืนตั้งอยู่นาน มีอาพาธน้อยอย่างนี้ จักแสดงธรรมให้สาวกฟังอย่างนี้ว่า
    ดูกรพราหมณ์ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้น
    มาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์เพราะสัตว์ที่เกิด
    มาแล้วจะไม่ตายไม่มี ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวโดยชอบ ก็พึงกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์
    ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา
    ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ คนที่มีอายุอยู่ได้นาน ก็เพียงร้อยปีหรือน้อยกว่านั้นบ้าง เกินกว่าบ้าง
    ก็คนที่มีอายุอยู่ถึงร้อยปี ย่อมอยู่ครบ ๓๐๐ ฤดู คือ ฤดูหนาว ๑๐๐ ฤดูร้อน ๑๐๐ ฤดูฝน ๑๐๐
    คนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๐๐ ฤดู ย่อมอยู่ครบ ๑,๒๐๐ เดือน คือ ฤดูหนาว ๔๐๐ เดือน ฤดูร้อน ๔๐๐
    เดือน ฤดูฝน ๔๐๐ เดือน คนที่มีอายุอยู่ถึง ๑,๒๐๐ เดือน ย่อมอยู่ครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน คือ
    ฤดูหนาว ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูร้อน ๘๐๐ กึ่งเดือนฤดูฝน ๘๐๐ กึ่งเดือน คนที่มีอายุอยู่ครบ
    ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน ย่อมอยู่ครบ ๓๖,๐๐๐ราตรี คือ ฤดูหนาว ๑,๒๐๐ ราตรี ฤดูร้อน ๑,๒๐๐ ราตรี
    ฤดูฝน ๑,๒๐๐ ราตรีคนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรี ย่อมบริโภคอาหาร ๗๒,๐๐๐ เวลา คือ
    ฤดูหนาว๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูร้อน ๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูฝน ๒๔,๐๐๐ เวลา พร้อมๆ กับดื่มนม
    มารดาและอันตรายแห่งการบริโภคอาหาร ใน ๒ ประการนั้น อันตรายแห่งการบริโภคอาหาร
    มีดังนี้ คือ คนโกรธย่อมไม่บริโภคอาหาร คนมีทุกข์ก็ไม่บริโภคอาหาร คนป่วยไข้ก็ไม่บริโภค
    อาหาร คนรักษาอุโบสถก็ไม่บริโภคอาหาร เพราะไม่ได้อาหารจึงไม่บริโภคอาหาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เราได้กำหนดอายุ ประมาณแห่งอายุ ฤดู ปี เดือน กึ่งเดือน ราตรี วัน การบริโภคอาหาร
    และอันตรายแห่งการบริโภคอาหาร ของมนุษย์ผู้มีอายุร้อยปี ด้วยประการดังนี้แล้ว ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลายกิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์เอื้อเอ็นดู พึงกระทำแก่สาวก
    กิจนั้นเรากระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอ
    ทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย นี้คืออนุศาสนีของ
    เราสำหรับเธอทั้งหลาย ฯ
    จบสูตรที่ ๑๐
     
  2. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๓๓๕/๔๑๘

    สัลลสูตรที่ ๘
    [๓๘๐] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีเครื่องหมาย ใครๆ รู้ไม่ได้
    ทั้งลำบาก ทั้งน้อย และประกอบด้วยทุกข์ สัตว์ทั้งหลาย ผู้เกิดแล้ว
    จะไม่ตายด้วยความพยายามอันใดความพยายามอันนั้นไม่มีเลย แม้อยู่
    ได้ถึงชราก็ต้องตายเพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ผลไม้สุกงอม
    แล้วชื่อว่าย่อมมีภัยเพราะจะต้องร่วงหล่นไปในเวลาเช้า ฉันใด
    สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้ว ชื่อว่าย่อมมีภัย เพราะจะต้องตายเป็นนิตย์
    ฉันนั้น ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิด มีความแตกเป็นที่สุด
    แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา
    ทั้งคนฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจของมฤตยู มีมฤตยูเป็นที่ไป
    ในเบื้องหน้าด้วยกันทั้งหมด เมื่อสัตว์เหล่านั้นถูกมฤตยูครอบงำแล้ว
    ต้องไปปรโลก บิดาจะป้องกันบุตรไว้ก็ไม่ได้ หรือพวกญาติจะป้องกัน
    พวกญาติไว้ก็ไม่ได้ ท่านจงเห็น เหมือนเมื่อหมู่ญาติของสัตว์ทั้งหลาย
    ผู้จะต้องตาย กำลังแลดูรำพันอยู่โดยประการต่างๆ สัตว์ผู้จะต้องตาย
    ผู้เดียวเท่านั้นถูกมฤตยูนำไปเหมือนโคที่บุคคลจะพึงฆ่าถูกนำไปตัวเดียว
    ฉะนั้น ความตายและความแก่กำจัดสัตว์โลกอยู่อย่างนี้ เพราะเหตุนั้น
    นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัดสภาพของโลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศกท่าน
    ย่อมไม่รู้ทางของผู้มาหรือผู้ไป ไม่เห็นที่สุดทั้งสองอย่างถึงจะคร่ำครวญ
    ไปก็ไร้ประโยชน์ ถ้าผู้คร่ำครวญหลงเบียดเบียนตนอยู่จะยังประโยชน์
    อะไรๆ ให้เกิดขึ้นได้ไซร้ บัณฑิตผู้เห็นแจ้งก็พึงกระทำความคร่ำครวญ
    นั้น บุคคลจะถึงความสงบใจได้ เพราะการร้องไห้ เพราะความเศร้าโศก
    ก็หาไม่ทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้น และสรีระของผู้นั้นก็จะซูบซีด
    บุคคลผู้เบียดเบียนตนเอง ย่อมเป็นผู้ซูบผอม มีผิวพรรณเศร้าหมอง
    สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปแล้ว ย่อมรักษาตนไม่ได้ด้วยความรำพันนั้น การ
    รำพันไร้ประโยชน์ คนผู้ทอดถอนถึงบุคคลผู้ทำกาละแล้ว ยังละความ
    เศร้าโศกไม่ได้ ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก ย่อมถึงทุกข์ยิ่ง
    ขึ้น ท่านจงเห็นคนแม้เหล่าอื่นผู้เตรียมจะดำเนินไปตามยถากรรม
    (และ)สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ผู้มาถึงอำนาจแห่งมัจจุแล้ว
    กำลังพากันดิ้นรนอยู่ทีเดียว ก็สัตว์ทั้งหลายย่อมสำคัญด้วยอาการใดๆ
    อาการนั้นๆ ย่อมแปรเป็นอย่างอื่นไปในภายหลัง ความพลัดพรากกัน เช่นนี้
    ย่อมมีได้ ท่านจงดูสภาพแห่งโลกเถิดมาณพแม้จะพึงเป็นอยู่ร้อยปี
    หรือยิ่งกว่านั้น ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ ต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้
    เพราะเหตุนั้น บุคคลฟังพระธรรมเทศนาของพระอรหันต์แล้ว
    เห็นคนผู้ล่วงลับทำกาละแล้ว กำหนดรู้อยู่ว่า บุคคลผู้ล่วงลับทำกาละแล้วนั้น
    เราไม่พึงได้ว่า จงเป็นอยู่อีกเถิด ดังนี้ พึงกำจัดความรำพันเสีย
    บุคคลพึงดับไฟที่ไหม้ลุกลามไปด้วยน้ำ ฉันใดนรชนผู้เป็นนักปราชญ์
    มีปัญญา เฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสีย โดยฉับพลัน
    เหมือนลมพัดนุ่นฉะนั้น คนผู้แสวงหาความสุขเพื่อตน พึงกำจัดความรำพัน
    ความทะยานอยากและความโทมนัสของตน พึงถอนลูกศรคือ
    กิเลสของตนเสีย เป็นผู้มีลูกศร คือ กิเลสอันถอนขึ้นแล้ว อันตัณหาและทิฐิ
    ไม่อาศัยแล้วถึงความสงบใจ ก้าวล่วงความเศร้าโศกได้ทั้งหมด
    เป็นผู้ไม่มีความเศร้าโศกเยือกเย็น ฉะนี้แล ฯ
    จบสัลลสูตรที่ ๘
     

แชร์หน้านี้

Loading...