สุขถาวร (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย หัว-หอม, 24 มกราคม 2015.

  1. หัว-หอม

    หัว-หอม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 มีนาคม 2011
    โพสต์:
    179
    ค่าพลัง:
    +1,547
    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
    เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๙



    [​IMG]


    จิต ไม่ใช่จะมืดบอดอยู่ตลอดเวลา เหมือนอย่างกลางคืนเวลานี้ไม่ใช่จะมืดอยู่อย่างนี้ตลอดไป พอพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมาความมืดก็หายไป นี่ความมืดที่มีอยู่ในจิตใจของเรา ก็เพราะสติปัญญายังไม่สามารถผลิตตัวขึ้นมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น ความมืดที่มีอยู่ภายในใจจึงเหมือนมีอำนาจและทำใจให้มืดได้ตลอดไป ประหนึ่งใจจะไม่มีวันสว่างไสวไร้ความมืดมิดปิดทวารนี้ไปได้เลย จะมืดบอดอย่างนั้นตลอดกัปตลอดกัลป์ ความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ใจที่มีธรรมย่อมมีเวลาสว่างได้

    ถ้าการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมพระพุทธเจ้า ยังมีอยู่ในจิตใจดวงใดในบุคคลผู้ใด จิตของผู้นั้นจะมีความสว่างขึ้นมาโดยลำดับจนถึงความสว่างเต็มที่ ไม่มีมลทินแม้นิดแปดเปื้อนภายในจิตใจ กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ขึ้นมาได้จากความโง่เขลาเบาปัญญาซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน


    [​IMG]


    พระพุทธเจ้าก็ทรงอุบัติขึ้น ในท่ามกลางแห่งความโง่เขลาเบาปัญญาเช่นเดียวกับพวกเรา ความมืดบอดมีเหมือนกัน กิเลสมีอยู่จะไม่เรียกว่าคนมืดบอดยังไง พระราชบิดา พระราชมารดาทั้งสองก็เป็นคนมีกิเลส พระองค์ก็เป็นคนมีกิเลส เกิดในท่ามกลางแห่งความมีกิเลสทั้งร่างกายและจิตใจที่เต็มไปด้วยกิเลสเหมือนกัน

    แต่เมื่ออาศัยการชำระสะสางซักฟอกอยู่เสมอ จิตใจก็โผล่ขึ้นมาจากความมืดบอดทั้งหลาย กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ขึ้นมา พระทัยสว่างกระจ่างแจ้ง เป็นโลกวิทู รู้แจ้งโลกทั้งปวง แต่ก่อนไม่ได้ทรงเปล่งพระวาจาว่ารู้แจ้งโลกเพราะยังไม่แจ้ง แม้แต่จะรู้แจ้งตัวเองยังไม่รู้แจ้งได้ จะไปรู้แจ้งโลกได้ยังไง โลกขันธ์ตัวเองยังไม่รู้จะไปรู้โลกขันธ์ โลกธาตุภายนอกได้ยังไง พอทราบตัวเองแจ้งชัดก็กระจายไปหมด รู้ได้หมด จึงทรงมีพระนามว่าโลกวิทู เรื่อยมาจนปัจจุบันนี้

    สาวกทั้งหลายก็เกิดมาในท่ามกลางแห่งคนมีกิเลสเหมือนกันกับพวกเรา จะว่าใครดีใครยิ่งใครหย่อนกว่าใคร เมื่อมีพ่อแม่เป็นแดนเกิดด้วยกัน เป็นผู้มีกิเลสด้วยกัน ผู้เกิดมาก็เป็นคนมีกิเลส พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดก็เป็นผู้มีกิเลสด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องของความมืดบอดด้วยกัน อาศัยที่เราบำเพ็ญทั้งใหม่และเก่าอยู่เสมอ ประพฤติปฏิบัติตัวด้วยธรรมนี้แลซึ่งเป็นเครื่องขัดเกลาสิ่งที่มืดบอดที่มีอยู่ภายในใจ ใจค่อยสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมาเรื่อยๆ

    อย่างคำที่ว่า"จิตสงบ" นี่เราไม่เคยได้ยินแต่ก่อน อย่าว่าถึงเราได้ทำเลย ความได้ยินก็ไม่เคยได้ยิน แต่เมื่อเราได้ศึกษาอรรถธรรมกับครูกับอาจารย์เรื่อยๆ เราก็ทำด้วย ความสงบก็ค่อยปรากฏขึ้นภายในใจเรา เอ้อ วันนี้สบาย จิตสงบไม่วุ่นวาย ถ้ายิ่งได้ประพฤติปฏิบัติมากเข้า ความสงบก็เปลี่ยนสภาพสู่ความละเอียดเรื่อยๆ ไป ความสงบมีมากเพียงไร ความสบายก็มีมากเพียงนั้น ความสุขมีมากเพียงนั้น


    [​IMG]


    เท่าที่ความสุขไม่ปรากฏก็เพราะความสงบไม่มี ความวุ่นวายนั่นแลเป็นเครื่องก่อกวนไม่ให้เกิดความสงบขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นการชำระจิตใจด้วยจิตตภาวนาจึงเป็นการระงับดับความวุ่นวายทั้งหลาย เพื่อให้ความสงบปรากฏตัวขึ้นมา ความสุขซึ่งเป็นเงาเทียมตัวกับความสงบนั้น ย่อมปรากฏตัวขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งปรากฏอย่างเด่นชัด นี่ท่านให้ชื่อว่าสมาธิ ได้กลายมาเป็นสมบัติของผู้บำเพ็ญจิตตภาวนาอย่างชัดเจน

    เมื่อจิตมีความสงบหลายครั้งหลายหนก็เป็นฐานมั่นคงขึ้นมาภายในใจ เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ คือจิตมีหลักฐานมั่นคงไม่หวั่นไหวโยกคลอนง่ายๆ เหมือนอย่างแต่ก่อน ความรับสัมผัสรับได้เพราะจิตเป็นเจ้าฉลาดรู้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำไมจะรับทราบไม่ได้ อะไรสัมผัสต้องรับทราบ แต่ไม่หวั่นไหวไปตามนั้นอย่างง่ายดายเหมือนแต่ก่อนเท่านั้นเอง

    ทีนี้เราควรพิจารณาทางด้านปัญญา เอ้า ปัญญาคือความฉลาดแหลมคม ขุดค้นลงได้ ลึกตื้นหยาบละเอียดสามารถทำได้ทั้งนั้น เราขุดดินทั้งแผ่นเราขุดได้กี่เมตรเรายังขุดได้ เจาะหินเจาะเพชรยังเจาะได้ แต่จะมาเจาะธาตุขันธ์ของตัวเองนี้ ทำไมจะเจาะไม่ได้เจาะไม่ทะลุ ถ้าใช้ปัญญาเจาะยิ่งลึกยิ่งกว่าเจาะสิ่งเหล่านั้นเสียอีก สติปัญญายังละเอียดแหลมคมยิ่งกว่าเครื่องมือทั้งหลายที่เจาะหินเจาะเพชรนั้นอีก พระพุทธเจ้าท่านเจาะด้วยวิธีนี้ ปัญญาคือความฉลาดแหลมคม สอดส่องเข้าไป ขุดค้นเข้าไป

    ความจริงมีอยู่ เราปีนเกลียวความจริงต่างหาก จึงขนเอาทุกข์ขึ้นมาเผาตนเอง แต่เราก็ไม่เห็นโทษแห่งความปีนเกลียวกับธรรมว่าเป็นโทษ จึงต้องปีนอยู่เสมอ ปีนเสมอก็ทุกข์อยู่เสมอ ปีนไม่หยุดก็ทุกข์ไม่หยุด ทุกข์อยู่ร่ำไปไม่มีใครช่วยได้ถ้าเราไม่ช่วยตัวเราเอง ด้วยการฝืนกิเลสและปฏิบัติตนตามธรรม

    เอ้า เพื่อไม่ปีนเกลียว มันเป็นยังไงในธาตุขันธ์อันนี้ พิจารณาดูทั้งข้างนอกข้างใน นับแต่วันเกิดมาร่างกายเป็นยังไง ตัวเล็กๆ โตขึ้นมาขนาดนี้แล้วเป็นยังไง มันค่อยทรุดโทรมลงไป ข้างนอกข้างในมันเปลี่ยนไปโดยลำดับลำดาเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ปิดไม่บังทั้งวันทั้งคืน รู้อยู่เห็นอยู่ด้วยใจของเราเองซึ่งเป็นผู้รับทราบกับสิ่งเหล่านี้

    เรื่องอนิจจัง ก็เห็นได้ชัด ทุกขัง ก็เป็นอยู่แล้ว ทุกขัง มันขังเรานี่ซิ นั่งก็นั่งอยู่กับกองทุกข์ นอนอยู่กับกองทุกข์ ยืนเดินนั่งนอนอยู่กับกองทุกข์ทั้งนั้น ถูกทุกข์มันขังอยู่ตลอดเวลา เราจะว่าทุกข์ขังเราก็ได้ แยกไปซิสติปัญญาเรามี ยอมจนตรอกให้กิเลสกองทุกข์ขังอยู่ทำไม

    อันใดเป็นอุบายที่จะถอดถอนหรือได้สติสตังขึ้นมา ได้ความคิดอ่านแปลกๆ ขึ้นมาเพื่อถอดถอนความโง่เขลาเบาปัญญาของตน อันนั้นเรียกว่าปัญญา เรียกว่าธรรมทั้งนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีอยู่ในแบบแผนตำรับตำราอย่างเดียว เพราะกิเลสไม่ใช่จะถูกขังให้อยู่ในแบบแผนตำรับตำราถ่ายเดียวเท่านั้น มันอยู่ได้กับหัวใจของคน สิ่งที่ให้เป็นกิเลสมากน้อยมันเป็นไปได้ทั้งนั้น โดยไม่คำนึงถึงแบบแผนตำรับตำราเลย แต่เวลาเราจะพิจารณา ทำไมจึงต้องไปค้นหาแบบแผนตำรับตำราเสียทุกบททุกบาททุกคาถาบาลี อุบายวิธีนี้มีในตำราไหม อุบายวิธีนี้ท่านเขียนไว้ไหม บทเวลาสั่งสมกิเลสพอกพูนหัวใจไม่เห็นไปดูตำราเสียก่อนล่ะ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ทันกัน เพื่อให้ทันกัน เอ้า คิดขึ้นมา อุบายวิธีใดที่เป็นไปเพื่อความถอดถอนตัวเองให้รู้แจ้งเห็นจริง นั้นแหละคือ ปัญญา นั่นแหละคือธรรม


    [​IMG]


    ธรรมมีอยู่กับเรา จงหาอุบายวิธีฉลาดแหลมคมแก้ตัวเราเอง ดูที่ตรงขันธ์นี้ดูให้ชัดเจน หน้าที่ของเราที่จะดู เวลานี้กำลังทำงาน จงบังคับจิตใจให้ทำงานในหน้าที่ของตัว อย่าให้วอกแวกคลอนแคลนส่งไปข้างนอก การส่งไปไหนทั้งวันทั้งคืน ส่งตั้งแต่วันเกิดมาได้ประโยชน์อะไร เวลานี้จะส่งจิตใจเข้าสู่สภาวธรรมทั้งหลายมีกายเราเป็นต้น เพื่อจะถอดถอนตนออกจากหล่มลึกนี้ ทำไมถึงไม่พอใจคิดเข้ามา มีแต่พอใจคิดภายนอก ซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟทั้งนั้น ยังไม่เห็นโทษอยู่เหรอ เอาเผ็ดๆ ร้อนๆ อย่างนั้นซิ อุบายวิธีแก้ตัวเองหรือสั่งสอนตัวเองต้องสั่งสอนอย่างนั้น

    ค้นเข้าไปให้เห็นชัด ในรูปในกายก็อย่างที่เห็นนี้แหละ โลกทั้งโลกที่มีรูปมีกายมันเหมือนกัน สีสันวรรณะความสูงต่ำอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่มันเหมือนกันในเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หรือเป็นรูปเป็นกายเหมือนกัน

    อนัตตา เอ้า พิจารณาดู อันไหนเป็นเรา อะไรเป็นของเรา กองรูปทั้งหมดที่เรียกว่าร่างกายทั้งท่อนนี้แหละ ทั้งเวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ที่ปรากฏตัวขึ้นมาแล้วดับไปๆ สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้มันเป็นอาการอันหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ได้มารับทราบเราว่าเราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ มีแต่เราไปรับทราบเขา ก็หลงเขา ไปยึดเขา ปีนเกลียวกับธรรมที่ท่านว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น ถึงขั้นสุดท้าย พิจารณาหมดบรรดาสภาวธรรมทั้งมวล นั่นฟังแต่ว่าทั้งปวงนั้นคือทั้งหมด ไม่ควรถือมั่น

    นั่นถึงเวลาจะปล่อยแล้วปล่อยหมด ขึ้นบันไดไปถึงบ้านแล้วก็ปล่อยบันได เดินทางเข้ามาถึงจุดที่หมายแล้วก็ปล่อยทาง เมื่อจิตก้าวขึ้นเป็นตัวของตัวอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องพึ่งพิงอาศัยอะไรแล้ว จิตก็ปล่อยหมด นี่สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา จุดสุดยอดจริงๆ แล้ว สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ปล่อยหมดโดยประการทั้งปวง

    นั่นคือปัญญาแทงทะลุไปหมดแล้วจะไม่ปล่อยยังไง จะไปถืออะไรไว้ รูปก็ปล่อย เวทนาก็ปล่อย เวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ที่เป็นภายในร่างกายจิตใจปล่อยไปหมด สัญญา ความจำได้หมายรู้มามากน้อยจำได้เท่าไรปล่อยหมด สังขาร วิญญาณ ปล่อยหมด แม้ที่สุดจิตซึ่งเป็นที่ยึดในตัวอันสำคัญ พิจารณาเข้าจริงๆ จังๆ แล้วปล่อยหมด จิตก็ไม่ยึดจิต รู้จริงแล้วไม่ยึด นั่นละท่านว่า สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ถอนกิเลสตัณหาออกพร้อมทั้งราก เป็นผู้ดับสนิทในความหิว นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ความหิวคือความอยากด้วยอำนาจของกิเลสตัณหานั่นแหละดับสนิท ก็มีเท่านั้น


    [​IMG]


    ที่มา : http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1986&CatID=2
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 มกราคม 2015

แชร์หน้านี้

Loading...