หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อนุสสติ ๕

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย กาลกตา, 17 พฤษภาคม 2009.

  1. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อนุสสติ ๕ : พุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน สีลานุสสติกรรมฐาน อุปสมานุสสติกรรมฐาน

    สำหรับโอกาสนี้ บรรดาท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว วันนี้ก็จะขอขึ้นพระกรรมฐานอีกบทหนึ่ง ตอนที่จบไปเป็นเรื่องของอานาปานุสสติกรรมฐาน ความจริงอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นบาทต้น แต่ทว่ามาตอนท้ายก็เป็นลูกผสม เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายได้รับทราบว่า การพอใจในการเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่งใน ๔๐ กองเบื้องต้น แล้วก็สามารถทำตนให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานคือเป็นอรหัตตผลได้ทุกจุด โดยไม่ต้องวิ่งไปหาอย่างโน้นหาอย่างนี้

    สำหรับวันนี้ ความจริงก็ควรจะเป็นเรื่องของพุทธานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว แต่ทว่าผมเห็นว่าถ้าทำอย่างนั้น มันก็เป็นนโยบายการซื้อการขายเสียงกันเท่านั้นเอง การแนะนำในการเจริญพระกรรมฐาน ไม่มีความมุ่งหมายในความร่ำรวย มีความต้องการอย่างเดียวคือว่าจะให้คนผู้รับฟังสูญเสียทรัพย์สินให้น้อยที่สุดที่จะพึงน้อยได้ ถ้าหากว่าไม่มีความจำเป็น ถ้าผมมีทรัพย์พอผมจะทำแจกฟรีทั้งหมด เพราะว่าเห็นว่าพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ควรจะเสียเงินเสียทอง แต่ว่านี่จะต้องเสียเพราะว่าต้องใช้สตางค์ซื้อคาสเส็ทท์ และเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ จึงได้ให้เสียเงินคาสเส็ทท์ละอัตราน้อยที่สุด เพลงเขาขายคาสเส็ทท์ละ ๓๕ บาท แต่ทว่าธรรมะของเราเพียงคาสเส็ทท์ละ ๒๕ บาท คิดเฉลี่ยแล้วไม่ขาดทุนก็บุญตัว เป็นอันว่าการให้ธรรมเป็นทาน พระพุทธเจ้ากล่าวว่าย่อมชนะทานทั้งหมด

    วันนี้ก็จะขอเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมสุคต ในด้านพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ อุปสมานุสสติ รวม ๕ อนุสสติด้วยกัน มาชี้แจงแก่พวกท่านทั้งหลาย เพื่อให้มีความเข้าใจในการเจริญพระกรรมฐาน ในตอนก่อนผมเคยพูดไว้แล้วว่าการเจริญกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง เราสามารถจะนำพระกรรมฐานกองนั้นเป็นบาทเข้าถึงอรหัตตผลได้ แต่ว่าอาศัยบุคคลผู้รับฟังที่ไม่ฉลาดมีมาก พูดแล้วพูดอีกเท่าไรก็ไม่เข้าใจ นี้มาเปลี่ยนกันใหม่ จับจุดกันเลยว่าจุดไหนจะเป็นพระอรหันต์ได้ยังไง วันนี้ก็จะขอใช้ลูกผสม นั่นก็คือพุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน สีลานุสสติกรรมฐาน อุปสมานุสสติกรรมฐาน ถ้าทุกอย่างทั้ง ๕ ประการนี้ทรงตัวในจิตของท่าน ท่านก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีในเบื้องต้น นี้ว่ากันถึงเบื้องต้นเป็นพระอรหันต์ง่ายๆ แล้วต่อไปการจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นพระอนาคามี พระอรหันต์เป็นของไม่ยาก แต่ทว่าท่านทั้งหลายจงอย่าลืมอานาปานุสสติกรรมฐานเสีย ถ้าหากว่าท่านลืมขึ้นต้นด้วยอานาปานุสสติกรรมฐาน ก็เหมือนกับว่าท่านจะไปปลูกบ้านในอากาศ มันไม่มีจุดยืน ไม่มีจุดตั้ง อานาปานุสสติกรรมฐานเหมือนกับแผ่นดิน ถ้าเป็นอาคาร ถ้าเป็นเรือ อานาปานุสสติกรรมฐานก็เหมือนกับน้ำ ท่านจะต่อเรือเล็กต่อเรือใหญ่วิ่งไปตามกระแสน้ำ จะเล็กหรือจะใหญ่ก็ตาม มีเครื่องยนต์หรือไม่มีเครื่องยนต์ก็ตาม ต้องมีน้ำ เรือจึงจะวิ่งได้ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด กรรมฐานทั้งหมดที่พูดมาแล้วจงอย่าทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน

    วันนี้ขอพูดพุทธานุสสติกรรมฐานก่อน บางทีก็จะบวกทั้ง ๓ อย่าง ทั้งธัมมานุสสติกรรมฐานและสังฆานุสสติกรรมฐานเลย สำหรับพุทธานุสสติกรรมฐานก็ดี ธัมมานุสสติกรรมฐานก็ดี สังฆานุสสติกรรมฐานก็ดี มีการปฏิบัติได้ ๒ แบบ แต่แบบที่จะพึงสอนนี้ มีความมุ่งหมายในขั้นสุกขวิปัสสโก เพราะว่าหลักสูตรอภิญญาหก วิชชาสาม ปฏิสัมภิทาญาณมีอยู่แล้ว นั่นเป็นกีฬาสมาธิ เนื้อแท้จริงๆ ก็คือสุกขวิปัสสโกนั่นเอง สำหรับพุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน ปฏิบัติได้ ๒ นัย คือ การพิจารณาใคร่ครวญถึงความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อีกอย่างหนึ่ง แต่ว่าอาการที่ใคร่ครวญนี่ จะทรงจิตอยู่ได้ในขั้นอุปจารสมาธิ หรือว่าปฐมฌานเป็นอย่างสูง แต่หากว่าจะใช้อารมณ์เพ่งก็สามารถจะทรงอารมณ์ได้ถึงฌาน ๔ ฉะนั้นขอนักปฏิบัติควรทำทั้ง ๒ อย่าง เวลาใดที่จิตของท่านตั้งใจเพื่อความสงบ ไม่อยากจะคิด ก็เอาจิตไปจับรูปพระพุทธรูปก๊ดี นึกถึงพระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดีหรือว่าพระอริยสงฆ์ พระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ดีที่เรามีความเคารพ ถ้านึกถึงพระพุทธเจ้า ภาวนาว่าพุทโธ ถ้านึกถึงพระธรรม ภาวนาว่าธัมโม ถ้านึกถึงพระสงฆ์ ภาวนาว่าสังโฆ ทรงอารมณ์อยู่อย่างนี้จนกว่าจิตจะเข้าถึงฌานสมาบัติ คือจิตมีการทรงตัว แต่ทว่าเวลาที่ท่านปฏิบัติ ก็จงอย่าบังคับจิตว่ามันจะถึงจุดนั้นจุดนี้ จะถึงสมาธิระดับนั้นสมาธิระดับนี้ คือขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปมาณสมาธิ ซึ่งเป็นฌาน ว่าฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ถ้าคิดอย่างนี้ล่ะก็พังด้วยกันทั้งหมดน่ะ ไม่มีทาง จงตั้งใจไว้ว่าสมถภาวนาเป็นอุบายเครื่องสงบใจ อารมณ์สมาธิของเราจะถึงไหนก็ช่าง เราพอใจอารมณ์สมาธิที่เราถึงในขณะนั้น ต้องการอย่างเดียวคืออารมณ์จิตเป็นสุข ถ้าหากว่าท่านไปกำหนดว่า วันนี้จะต้องเอาอย่างนั้น วันนี้จะต้องเอาอย่างนี้ นั่นมันเป็นนิวรณ์เข้ามาครอบงำจิต คือ อุทธัจจะกุกกุจจะ ถ้าอารมณ์ไม่สามารถจะถึงจุดนั้นได้จริงๆ ความกลุ้มมันก็เกิด แทนที่จะมีสุข อารมณ์สงบตามความมุ่งหมายของสมถภาวนา มันก็เลยกลายเป็นจิตพล่านไป ขาดทุน

    ตอนนี้ต้องจำให้ดี วิธีที่จะดีที่สุด นั่นก็คือ นั่งอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี เดินไปบิณฑบาต เดินไปทำงาน หรือทำงานทำการอยู่ก็ดี เอาจิตจับกับคำภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ไว้เป็นปรกติ อย่าให้อารมณ์คลาดจากอนุสสติทั้งสามประการ ถ้าอาการของท่านทรงได้อย่างนี้ล่ะก็ ก็ถือว่าท่านเป็นผู้ทรงฌาน ผมได้เคยบอกมาแล้วว่า ฌานัง แปลว่าการเพ่ง หรือนัยหนึ่ง ถ้าพูดเป็นภาษาไทย ฌานก็คืออารมณ์ชิน ชินอยู่ในคุณธรรมที่เราต้องการ เรียกว่า ฌาน แล้วการที่อารมณ์ของท่านจะเข้าถึงพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี อารมณ์ที่จะทรงตัวจริงๆ ก็แค่ปฐมฌานเท่านั้น เมื่ออารมณ์จิตถึงปฐมฌานแล้ว ท่านก็เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามีได้

    ขณะที่เราภาวนาว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ เราจะต้องมีอารมณ์ชนะความเลวไว้เสมอ จงอย่าคิดว่าจะยอมรับอารมณ์ซ่านไปสู่อารมณ์อื่น ตั้งใจไว้ว่าช่วงเวลาเล็กน้อย ถ้ามันทำไม่ได้ให้มันตายไป ขันธ์ ๕ ทั้งหลายไม่มีความหมายสำหรับเรา มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ หรือว่าก่อนที่จะภาวนาก็พิจารณาเสียก่อนว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เราเรียกกันว่าร่างกาย อันประกอบไปด้วยธาตุ ๔ แบ่งแยกไปด้วยอาการ ๓๒ มีวิญญาณธาตุคือจิตเข้ามาอาศัยอยู่ มันเป็นธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ตั้งเป็นบ้านเรือนที่อาศัยของจิตชั่วคราว ไม่ช้ามันก็พัง เราจะมาสนใจอะไรกับการพังของร่างกาย หรือร่างกายที่มันจะพัง มันมีการทรุดโทรม มันเป็นของไม่ดี ถ้ามันดีจริงๆ ล่ะก็ เราต้องไม่แก่ เราต้องไม่เจ็บ เราต้องไม่ตาย แต่นี่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราห้ามปรามมันไม่ได้ ก็แสดงว่ามันกับเราเป็นศัตรูกัน กิเลส ตัณหา อุปาทาน มันหลอกให้เราเข้ามาอาศัยกายที่เต็มไปด้วยความโสโครก ไม่มีสภาวะทรงตัว การเกิดเป็นเทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดี เป็นมนุษย์ก็ดี ไม่ใช่แดนความสุข แดนของความสุขจริงๆ ก็คือพระนิพพาน การจะไปพระนิพพานเขาทำกันยังไง มองเห็นโทษของร่างกายของตนว่ามันสกปรก ไม่มีการทรงตัว มองเห็นร่างกายของบุคคลอื่น ว่ามันมีสภาพสกปรก ไม่มีการทรงตัว ในที่สุดก็สลายเหมือนกัน เห็นวัตถุธาตุทั้งหลายทั้งหมดไม่เป็นเหตุไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข มันเป็นปัจจัยที่เราจะพึงอาศัยในชาติปัจจุบันแต่ทว่าอาศัยอย่างร้อนๆ ไม่ใช่อาศัยแบบเย็น เรามีทรัพย์มีสินเราก็มีความร้อนใจอยู่เสมอ มีเสื้อตัวเดียว มีกางเกงตัวเดียว เราก็ยุ่งกับเสื้อ เราก็ยุ่งกับกางเกง จะหามันมาได้ต้องทำเงินทำทองด้วยความเหนื่อยยาก ใช้มันแล้วมันเก่าทุกวัน มันสกปรกเราก็ต้องซัก ตากให้แห้ง แล้วก็นำมารีด เสื้อกางเกงเพียงตัวเดียวมันก็สร้างความยุ่ง นี่ทรัพย์สินทั้งหลายที่มีอยู่ไม่ใช่เป็นปัจจัยของความสุขเป็นปัจจัยของความทุกข์

    แล้วก็หันมาดูร่างกายของเรา โอหนอ ที่เราคิดว่ามันเป็นเรานี่เนื้อแท้จริงๆ มันไม่ใช่เรา เราคือจิต ที่เข้ามาสิงสถิตย์ในร่างกายที่เต็มไปด้วยร่างกายสกปรก โสโครก มีความเสื่อมลงไปทุกวัน มีการสลายตัวไปในที่สุด การเกิดเป็นมนุษย์ไม่ใช่เป็นของดี ความเป็นมนุษย์นี่ไม่ใช่ดี เรามาเกิดด้วยความโง่ ที่หลงใหลใฝ่ฝันคำแนะนำของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม จึงมีทุกข์ไม่สร่างไม่ซา ขึ้นชื่อว่าร่างกายอย่างนี้ เราจะไม่พึงปรารถนามันต่อไป ตายแล้วคราวนี้ตายไป เลิกกัน สำหรับร่างกายที่เต็มไปด้วยความโสโครก สกปรก ไม่มีความจีรังยั่งยืน สิ่งที่เราต้องการคือ พระนิพพาน เราจะไปนิพพานได้ทางไหน

    หนึ่ง ตัดราคะ ความรัก ไปรักในร่างกายของบุคคลอื่นที่เต็มไปด้วยความสกปรก และเต็มไปด้วยความทุกข์ เห็นร่างกายของชาวบ้าน ร่างกายของเรามันมีสภาพเหมือนกับส้วมเดินได้ ประการที่สอง ตัดโลภะ ความโลภ ความทะเยอทะยาน เพราะว่าคนรวยเศรษฐีมหาเศรษฐีทุกท่านตายแล้วแบกอะไรไปไม่ได้เลย ตัดความโกรธ ความพยาบาท คิดจองล้างจองผลาญกัน เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นปัจจัยบันดาลความสุข เป็นปัจจัยบันดาลความทุกข์ เริ่มโกรธ อารมณ์ก็กลุ้ม ถ้าเราไปทำร้ายเขา เขาก็จะทำร้ายเราบ้าง เราจะฆ่าเขา เขาก็จะฆ่าเราบ้าง มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ ในเมื่อเรามีศัตรู ถ้าเราจะคิดให้เขาตาย มันก็ไม่ยาก คนทั้งโลกเราจะแช่งให้ตายเสียทั้งหมดก็ได้ ไม่ต้องไปเรียนวาจาคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน เราแช่งเขาหรือเราไม่แช่ง เขาก็ตาย เราต้องการให้เขามีความทุกข์ เราจะบันดาลหรือไม่บันดาล เขาก็มีความทุกข์ ทุกข์เพราะความหิว ความกระหาย ความป่วยไข้ไม่สบาย การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์เพราะร่างกายของตนจะต้องตาย แล้วก็จะไปนั่งโกรธทำอะไร เลิกโกรธเสีย ใครจะเลวก็เชิญเลว เชิญเลวไปแต่ผู้เดียว ฉันไม่ยอมเลวด้วย
    โมหะความหลง มองลงไปว่าโลกทั้งโลกไม่มีอะไรเป็นของจีรังยั่งยืน สิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต แม้แต่อารมณ์ใจที่เราคิด มันก็ยังไม่ทรงตัว ถ้าเราติดอยู่ในโลกีย์วิสัย โยนมันทิ้งไป ขึ้นชื่อว่าโลกจะเกาะใจของเราไม่ได้

    เป็นอันว่าเราตัดโลภะได้ ตัดราคาะได้ ตัดโทสะได้ ตัดโมหะได้ ได้มากได้น้อยก็ช่างมัน ตัดมันทุกวันไม่ช้ามันก็หมด ภูเขาลูกใหญ่ เราใช้ฆ้อนมีกำลังสักครึ่งตัน ไปนั่งทุบทุกวัน เราไม่เลิกทุบ ในที่สุดภูเขามันก็พังฉันใด กิเลสทั้งหลายที่มีในใจก็เหมือนกัน นี่ ถ้าบังเอิญท่านจะไม่ภาวนาเลย ท่านพิจารณาอย่างนี้ทุกวัน ทุกลมหายใจเข้าออก ผมจะพอใจมาก ถ้าจะย้อนมาถามว่าทำไมถึงพอใจ ก็จะตอบได้ทันทีว่า ท่านกำลังจะเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านจะย้อนมาภาวนาทำไม อารมณ์ที่พูดเมื่อกี้นี้เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ ถ้าจิตใจของท่านทรงอารมณ์อย่างนี้ล่ะก็ ท่านไม่ต้องไปนั่งคอยพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี สิ่งที่จะเข้ามาถึงท่านเร็วที่สุด ก็คือความเป็นพระอรหันต์ จำไว้นะครับ ถ้าจิตมันอยากจะคิด เราก็คิดในมุมนี้ให้มาก

    ต่อมาก็หันมาพูดกันถึงอนุสสติทั้ง ๓ ว่าถ้าเราจะภาวนา กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกก็ภาวนาว่าพุทโธ หรือว่าธัมโม หรือว่าสังโฆ ทรงอารมณ์จิตให้สบาย ได้ฌานอะไรก็ช่าง ได้หรือไม่ได้ก็ช่าง ต้องการอย่างเดียวคืออารมณ์เป็นสุข นี่จุดหนึ่ง ประการที่สอง การพิจารณาถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำความดีเป็นอเนกนานัปการ เราจะนับเราจะประมาณมีได้ แต่ทว่า การปฏิบัติคราวนี้ เราต้องการพระนิพพาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องการเป็นพระโสดาบัน หรือว่าพระสกิทาคามี เพราะของทั้งหลายเหล่านี้ กำลังวางอยู่ข้างตักของเรา นี่การเจริญพระกรรมฐานหมวดนี้นะ ท่านเอ๋ย กำไรจริงๆ เป็นกำไรมหาศาล ถ้าฉลาดเสียหน่อยเดียว ผมให้โอกาสแก่ท่านเพียงหนึ่งเดือนเป็นอย่างช้า แต่ใครรักษาอารมณ์ใจเกินเดือนนี่ ผมจะถือว่าเลวที่สุด มันเป็นบุคคลที่ที่สุดของความเลว แล้วก็จงอย่าเอาดีกันเลย เมื่อเลวขนาดนั้นก็จงอย่าหาความดี กล้วยสุกที่เขาปอกแล้ว วางอยู่ใกล้ปากห่างปากไปเส้นขนเดียว แต่ไม่สามารถจะกินได้นี่มันก็จอมเลวแล้ว ผมไม่คบคนเลวประเภทนั้น จะดีกันตรงไหน เอากันซะเลยวันนี้เป็นยังไง ล่อพระนิพพาน คือเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี ซะเลยเป็นยังไง ได้หรือไม่ได้ก็ช่าง ผมจะพูดอีก ๖ นาที

    เป็นอันว่าใจของเราก็ตั้งจิตว่า โอหนอ องค์สมเด็จพระชินสีห์ ที่บำเพ็ญบารมีมาถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป ต้องการรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ จุดที่จะบันดาลความสุขตัดอบายภูมิ อันดับแรก ก็คือ ความเป็นพระโสดาบัน แล้วจะเป็นยังไงหนอ หนึ่ง กฎพระโสดาบัน ถ้าเป็นฆราวาส ฆราวาสถ้าจะเป็นพระโสดาบัน ก็มีจิตใจมั่นคงในศีล ๕ เป็นปรกติ หมายความว่าจิตรักศีล ๕ เป็นปรกติ ไม่ยุ่งกับอารมณ์ใดที่เข้ามาทำลายศีล ๕ เห็นมั้ย นิดเดียว สำหรับสามเณรต้องทรงศีล ๑๐ เป็นปรกติ สำหรับพระจะต้องมีศีล ๒๒๗ เป็นปรกติ จำได้ไหมครับ ศีลนี้มาจากไหน ศีลนี้เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกกันว่าพระวินัย แล้วใครนำมา พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์มีพระมหากัสสปเป็นต้น รวบรวมเข้ามาในสมัยปฐมสังคายนา นี่พิจารณาทีเดียวล่อทั้ง ๓ อนุสสติ ทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็นั่งดูศีล การที่เราปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์เป็นปัจจัยให้เกิดความสุขอย่างยิ่ง อย่างศีล ๕ เราไม่อยากให้เขาฆ่าเรา เราก็ไม่ฆ่าเขา แทนที่จะคิดร้ายต่อกัน มีจิตรักในอำนาจพรหมวิหาร ๔ คือเมตตา เมื่อรักกันอารมณ์ก็มีความสุข การคิดฆ่ากันไม่มี ผมพูดย่อๆ การลักการขโมยของซึ่งกันและกันก็เหมือนกัน ไม่ได้เกิดประโยชน์ ของที่ขโมยมาไม่ได้สร้างให้เรามีความสุขตลอดชาติ เรามีพริกกินพริก มีเกลือกินเกลือ มีผ้าขาดนุ่งผ้าขาด มีผ้ามีดีนุ่งผ้าดี หมดเรื่อง อยู่กระต๊อบอยู่ตึก มันก็เกิด มันก็แก่ มันก็เจ็บ มันก็ตายเหมือนกัน ทะเยอทะยานไปทำไม ของเราเรารัก ของเขาเขาไม่รักหรือ เราลักเราขโมยของของเขา เราก็เป็นศัตรูกับเขา เราจะหาความสุขไม่ได้ ต่อไปกาเมสุมิจฉาจาร เรื่องเล็ก มันก็แค่นั้นแหละ ไอ้ผัวกันเมียกัน มันก็แค่นั้น ไม่มีใครสร้างความสุข มันสร้างแต่ความทุกข์ ฉะนั้นจะไปทำทำไม มุสาวาท เราต้องการความจริงจากคนอื่นเขาพูด เรารักคนพูดจริงแต่เราพูดไม่จริง ใครเขาจะรัก เขาก็เกลียดน้ำหน้า ก็เป็นอันว่าเราก็ไม่พูดความไม่จริง พูดแต่ความจริงมันก็หมดเรื่อง การดื่มสุราเมรัย ฉุดใจของตนให้เป็นคนบ้า มันจะเกิดประโยชน์อะไร

    เป็นอันว่าฆราวาสทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ คิดอย่างนี้ ทบทวนไปๆ มาๆ อันนี้ผมจะไม่อธิบายรายละเอียด เพราะเรื่องมันง่ายๆ ของกล้วยๆ พอเข้ามาจับศีลเข้าตอนนี้ก็เรื่องสีลานุสสติกรรมฐาน เมื่อจิตเรามั่นคงในคุณพระพุทธเจ้า มั่นคงในพระธรรม มั่นคงในพระสงฆ์ จิตปลงลงไปด้วยอาการของความจริงว่า โอหนอ ร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ประเดี๋ยวมันก็พัง ประเดี๋ยวมันก็ตาย ไม่ได้เกิดประโยชน์ มันไม่มีความจีรังยั่งยืน อย่าคบหาสมาคมกับมันต่อไป แต่ว่าการที่จะสละมันได้จริงๆ ยากอยู่สักหน่อย ในตอนต้นขอเกาะกระแสพระนิพพานไว้ก่อน คืออารมณ์พระนิพพาน คือทรงไตรสรณคมทั้งสามประการ รักในพระพุทธเจ้า รักในพระธรรม รักในพระอริยสงฆ์ คำว่ารักในทีนี้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ด้วย พระองค์บอกว่า ถ้ารักฉัน ต้องการให้ฉันเป็นที่พึ่ง จงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เราก็รักษาศีลให้บริสุทธิ์ เมื่อศีลทรงตัว อารมณ์รักในพระพุทธเจ้า มีความไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าจะตายไว้เสมอ ต่ออารมณ์อีกนิด คือมีจิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าจิตของบรรดาท่านทั้งหลายทรงไว้ได้อย่างนี้เป็นปรกติ ท่านเองเขาเรียกกันว่า พระโสดาบัน หรือว่าพระสกิทาคามี สำหรับอารมณ์พระโสดาบัน และพระสกิทาคามี อยากจะรู้ละเอียด ก็จงหันไปดูอานาปานุสสติกรรมฐาน ที่ว่าด้วยพระโสดาบัน กับพระสกิทาคามี ยากหรือง่าย ท่าน ยากมั้ย ถ้าบอกว่ายากล่ะก็ พระและเณรทั้งหลายศีลขาดไปหมดแล้ว ไม่มีความเป็นพระ ไม่มีความเป็นเณร เป็นสัตว์นรกไปหมด เพราะปรกติเราเป็นผู้รักษาศีลอยู่แล้ว แล้วเราก็ประกาศตนว่าจะเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า ถ้าเราลืมพระพุทธเจ้า ลืมพระธรรม ลืมพระสงฆ์ มันก็เป็นเดียรถีย์ ความดีที่เราจะพึงได้ ก็คือ อเวจีมหานรก นี่มันเป็นของไม่ยาก เป็นอันว่าจุดนี้ขอสรุปไว้ย่อๆ เพียงแค่นี้ จะไม่อธิบายมาก เพราะมันเป็นของธรรมดา

    เป็นอันว่าสำหรับวันนี้ มองดูเวลาเลยไปหนึ่งนาที ที่เป็นเวลาสำหรับพูดคือ ๒๙ นาที ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอทุกท่านต่อไปนี้ ตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจหายใจออก จับอารมณ์พระโสดาบัน พระสกิทาคามี ตามที่กล่าวมาให้ได้ จิตใจของท่านจะเข้าถึงซึ่งกระแสพระนิพพาน แล้วก็ขอทุกท่าน จงพยายามพิจารณาภาวนาไว้เป็นปรกติจนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร สวัสดี
     
  2. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อนุสสติ ๕ : พุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน สีลานุสสติกรรมฐาน อุปสมานุสสติกรรมฐาน - ตอนที่ ๒

    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย เวลานี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว โอกาสต่อนี้ไป เป็นวาระที่ท่านทั้งหลายจะได้รับการศีกษาในการเจริญพระกรรมฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระกรรมฐานหมวดนี้ แทนที่ผมจะแนะนำท่านในด้านพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ อุปสมานุสสติแต่ละอย่าง ผมขอโอกาสแนะนำรวม เพราะว่าถ้าปฏิบัติแบบนั้น ไม่ทันกับอายุของเราที่จะสิ้นไป ด้วยว่าพระกรรมฐานทั้ง ๕ อย่างนี้ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสามารถจะทรงได้ เพียงแค่กำลังเบาๆ ท่านทั้งหลายจะทรงความเป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี เป็นอันว่าการศึกษาพระกรรมฐานหมวดนี้ เป็นการศึกษาที่มีกำไรอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแนะนำของกระผม ก็แนะนำในด้านสุกขวิปัสสโก คำว่าสุกขวิปัสสโกนี้ ใช้กำลังการพิจารณาแบบเบาๆ หมายความว่ามีการรู้แจ้งเห็นจริงแบบสบายๆ ไม่ต้องเร่งรัดในฌานสมาบัติจนเกินไป และขอท่านทั้งหลายจงจำไว้ด้วยว่า สำหรับพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี อันนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรัสว่า เป็นผู้ทรงอธิศีล หมายความว่าเป็นผู้ทรงศีลยิ่ง ฉะนั้นผมจึงเอาคำแนะนำทั้งหมดในกลุ่มนี้ แทนที่จะแยก เอามารวมกันเสียเลย

    สำหรับวันนี้ก็จะขอแนะนำหัวข้อที่จะพึงปฏิบัติเป็นตอนๆ ไป เพื่อความจำเป็นที่จะพึงเข้าถึง สำหรับพุทธานุสสติกรรมฐานก็ดี หรือว่ากรรมฐานทั้งหมดก็ดี มีวิธีปฏิบัติ ๒ อย่าง การปฏิบัติให้ทรงฌานแบบสงัดด้านสมาธิปรกติ กับการพิจารณา วันนี้จะขอแนะนำทั้งสองแบบ ตามเวลาที่พึงจะให้ สำหรับพุทธานุสสติกรรมฐานนี่ตามความนิยม ในด้านการทรงอารมณ์ให้เป็นสมาธิหรือว่าทรงอารมณ์ให้เป็นฌาน ท่านปฏิบัติกันแบบนี้ ผมได้เคยบอกท่านแล้วว่า พระกรรมฐานทุกอย่าง ท่านจะทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานไม่ได้ เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานระงับอารมณ์จิตฟุ้งซ่าน ถ้าเมื่ออารมณ์จิตฟุ้งซ่านขึ้นมาเมื่อไหร่ ถ้าเราใช้คำภาวนาหรือว่าพิจารณา อารมณ์ไม่ยอมหยุดจากการฟุ้งซ่าน ก็ให้ทิ้งคำภาวนาหรือพิจารณาเสีย จับแต่อานาปานุสสติอย่างเดียว ประเดี๋ยวก็จะหยุด สำหรับในด้านพุทธานุสสติกรรมฐานที่ปฏิบัติเป็นการทรงฌาน ท่านให้จับคู่กับลมหายใจเข้าออก คือเวลาหายใจเข้า นึกว่าพุท เวลาหายใจออก นีกว่าโธ ทรงอยู่แบบนี้ สำหรับธัมมานุสสติกรรมฐาน เวลาหายใจเข้านึกว่าธัม เวลาหายใจออกนึกว่าโม แปลว่าธัมโม สำหรับสังฆานุสสติกรรมฐาน เวลาหายใจเข้านึกว่าสัง เวลาหายใจออกนึกว่าโฆ แปลว่าสังโฆ สำหรับสีลานุสสติกรรมฐานนั้นเป็นกรรมฐานใคร่ครวญคุมศีล สำหรับอุปสมานุสสติกรรมฐานนั้น เป็นกรรมฐานตั้งอารมณ์ไว้เฉพาะพระนิพพาน เป็นอารมณ์คิด ก็ไม่ควรจะนั่งภาวนาว่าสีโล หรืออุปสโม อันนี้ไม่ควร ใช้ให้ตรง

    ต่อนี้ก็จะขอพูดถึงว่าผลที่จะพึงบังเกิดแก่นักเจริญพระกรรมฐาน ในด้านปฏิบัติในพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ซึ่งมีผลปรากฎเป็น ๒ ประการ ความจริงเรามุ่งนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในด้านทรงอารมณ์ให้เป็นสมาธิ และขอจงอย่าลืมว่าจิตของเรานี่บางครั้งเราต้องการสงัด ต้องการทรงอารมณ์เฉยๆ ให้มีอารมณ์ทรงตัว แต่บางคราวจิตก็ต้องการความคิด ต้องการคิด นักเจริญกรรมฐานที่ดี จะต้องไม่ฝืนอารมณ์จิต เมื่อจิตต้องการสงัด ต้องการอารมณ์ทรงตัว เราก็ใช้จับลมหายใจเข้าออกคู่กับภาวนา ถ้าจิตต้องการคิดเราก็คิดถึงความดีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือความดีของพระธรรม หรือความดีของพระอริยสงฆ์ ถ้าหากว่าท่านเจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธานุสสติก็ดี สังฆานุสสติก็ดี ผลจะเกิดขึ้นอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นอาการแทรกเข้ามาแต่ก็เป็นความดี อันนี้ต้องจำ นั่นก็คือเวลาพิจารณา เมื่อจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ จิตจะปรากฎเห็นเป็นภาพพระพุทธรูป หรือว่าเป็นภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงความเป็นมนุษย์ แต่ก็มีความสวยสดงดงามเกินกว่ามนุษย์ธรรมดา อาจจะเป็นภาพพระ หรือว่าจะเห็นภาพพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งปรากฎขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดพิจารณาพุทธานุสสติกรรมฐาน หรือว่าสังฆานุสสติกรรมฐาน อันนี้มีอยู่ ๒ แบบด้วยกัน แบบหนึ่ง ภาวนาโดยไม่คิดถึงรูปพระพุทธเจ้าหรือภาวนาโดยไม่คิดถึงรูปพระสงฆ์ อีกแบบหนึ่งถ้าจิตเรานิยม ก็ให้นึกถึงรูปพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งคือพระพุทธรูปที่เรามีความพอใจที่สุด สามารถจะติดใจง่าย ผมไม่เรียกว่าติดตาเพราะเราหลับตาแล้ว เวลาภาวนาไปนึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์นั้น สำหรับสังฆานุสสติเราก็นึกถึงพระอริยสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่ง หรือว่าพระสงฆ์องค์ใดที่เรามีความเคารพไปด้วย อย่างนี้ก็ทำได้

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายนึกถึงภาพพระพุทธรูปก็ดี นึกภึงภาพพระสงฆ์ก็ดี ถ้าบังเอิญภาพนั้นกลายขึ้นมีสีแปลกหรือมีสีรูปพระอื่น แต่ว่าเป็นรูปพระเหมือนกัน นอกจากพระที่เรากำหนดจิตไว้ในขณะที่ภาวนา ก็จงอย่าตกใจ เมื่อเป็นภาพพระเหมือนกันก็จับภาพพระนั้นไว้ ถ้าใช้จิตจับภาพรู้สึกว่าจะมีประโยชน์มาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าการจับภาพเป็นกสิณ แต่ว่าจะเป็นกสิณอะไรก็ช่าง ถือว่าเป็นกรรมฐานหยาบ จิตสามารถจะเป็นสมาธิได้ดีและก็ทรงได้ถึงฌานสี่ จำไว้ให้ดีนะครับ ที่นี้สำหรับการเจริญพระกรรมฐานปรากฎภาพ จงศึกษาไว้อีกนิดหนึ่ง นั่นก็คือเมื่อเวลา ๕ ปีผ่านมา ปรากฎว่ามีอุบาสิกาคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ในขณะนั้นเธอไปศึกษาพระกรรมฐานในสำนักสอนพระกรรมฐานแห่งใดแห่งหนึ่ง อย่าให้ผมออกนามจะเสียชื่อเสียงเขา การสอนพระกรรมฐานของสำนักนั้น ไม่ใช้คำภาวนาว่าพุทโธ คิดถึงรูปกับนาม แต่ทว่าท่านอุบาสิกาท่านนั้น เมื่อหลับตาลงไปคิดถึงรูปกับนามคราวไร ก็ปรากฎว่ามีรูปพระพุทธรูปปรากฎขึ้นในใจเสมอ ท่านไปบอกท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า นั่นเป็นกิเลสให้ทิ้งไป จงอย่าเอาใจเข้าไปยุ่ง ให้สนใจแต่คำว่ารูปกับนามเสมอเท่านั้น ท่านอุบาสิกาท่านนั้นก็ตั้งใจจะทิ้งภาพนั้น จึงไม่นึกถึง แต่ปรากฎว่ายิ่งไม่นึกถึง จิตจับรูปกับนาม แทนที่รูปจะหายไป รูปนั่นก็ชัดเจนแจ่มใสขึ้นทุกวัน เป็นอันว่าทั้งเวลา ๓ เดือนที่ผ่านมา เมื่อหลับตาลงไป หรือจะลืมตาก็ตาม ภาพพระพุทธรูปนั้นติดใจอยู่เสมอ เห็นชัด เห็นทางใจ ไปหาอาจารย์คราวไร อาจารย์ก็บอกว่าเป็นกิเลส ไอ้ผมก็สงสัยเหมือนกัน ว่าถ้าเราเห็นพระเป็นกิเลสล่ะก็เราจะหลบกิเลสไปทางไหน ตามแบบฉบับที่เราศึกษากันมา ถือว่าเห็นภาพพระเป็นภาพมงคล เมื่อออกพรรษาแล้วปรากฎว่าท่านอุบาสิกากลับบ้าน มาพบกับอาจารย์ที่บ้านซึ่งศึกษากรรมฐานทางวิทยุ ท่านได้บอกว่าเห็นทางวิทยุแนะนำ ว่าถ้าเห็นเป็นภาพพระพุทธรูปหรือว่าเห็นเป็นภาพพระสงฆ์ถือว่าเป็นมงคลยิ่ง ถ้าจับภาพได้นานแสดงว่าจิตทรงฌาน หรือว่าเข้าถึงอุปจารสมาธิ ถ้าภาพนั้นๆ แจ่มใสจนเป็นประกายพฤกษ์ กลายจากสีเหลือง ขาวน้อยๆ จางลงไปทุกทีๆ ในที่สุดก็กลายเป็นประกายพฤกษ์ ขาวโพลน อันนี้ชื่อว่าเป็นฌาน ท่านอุบาสิกาได้ฟังอย่างนั้นก็ดีใจ เวลาที่ภาวนาหลับตาก็ดี ลืมตาก็ดี นึกถึงภาพพระองค์นั้น ปรากฎว่าเป็นประกายผ่องใส ทีหลังเมื่อเวลาใครเขาพูดถึงใครถึงเรื่องอะไร ถึงบุคคลที่ตายไปแล้วหรือยังไม่ตาย วัตถุอะไรก็ตาม ภาพนั้นมันก็ปรากฎขึ้นมาแทนที่รูปพระ กลายเป็นบุคคลได้ทิพจักขุญาณไป

    นี่การศึกษาของท่านทั้งหลายต้องจับไว้ทั้งสองประการ การสอนของผมในระดับนี้ไม่ประสงค์ทิพจักขุญาณ ประสงค์อย่างเดียวคือขั้นสุกขวิปัสสโก แต่ทว่าบังเอิญท่านทั้งหลายจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นผู้ได้ทิพจักขุญาณ หรือมโนมยิทธิ ผมก็สนับสนุน ถ้าต้องการอย่างนั้น ให้หันไปสนใจกับหลักสูตรวิชชา ๓ ซึ่งมีอยู่แล้ว ที่แนะนำแบบนี้ก็เป็นจุดหนึ่ง แทนที่ท่านจะไปเถียงกับใครเขา เราจะได้รู้ไว้ว่า ว่าแม้แต่เราตั้งใจภาวนาว่าพุทโธ หรือว่าธัมโม หรือว่าสังโฆ โดยไม่กำหนดจิตคิดว่าจะเห็นภาพ ภาพก็สามารถจะเกิดได้ ถ้าอารมณ์ใจของเราควรจะเข้าถึงเป็นผู้ได้ทิพจักขุญาณ จำไว้ให้ดีนะครับ นี่เป็นจุดหนึ่ง สำหรับอีกจุดหนึ่ง ในการใช้พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ นั่นก็คือถ้าจิตของเราไม่ต้องการความสงัด คืออารมณ์สงบโดยเฉพาะ แต่ว่าจิตต้องการอารมณ์คิด เรื่องจริยาคืออาการของจิตนี่ ท่านจะต้องศึกษากันให้ดี อย่าให้มันตรงเกินไป ตรงเกินไปจะถือว่าฉันศีกษาพุทธานุสสติ ต้องการอารมณ์หยุด แต่พอจิตจะคิดเข้ามาถึงด้านพิจารณาความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราไม่เอา เราฝืนอารมณ์จิตแบบนี้ แทนที่จะเป็นผลดีกลับจะกลายเป็นอาการของผลกลุ้มไป กลุ้มอารมณ์จิตมันก็เสีย มีความเร่าร้อน ฉะนั้นจงใช้อารมณ์ให้ถูกจังหวะของอารมณ์จิตที่ต้องการ ถ้าจิตอยากจะคิดก็เชิญคิด คิดตอนไหน คิดถึงพุทธานุสสติ คำว่าพุทธานุสสตินี่แปลว่าตามนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็มานั่งพิจารณาว่าพระพุทธเจ้าท่านดียังไง น้อมเข้าไปถึงความดีของพระองค์ พระองค์เป็นกษัตริย์ ถ้าพระองค์จะแสวงหาความสุขส่วนพระองค์ เป็นกษัตริย์สบายกว่าที่จะต้องเดินป่าเดินดง นอนกลางดินกินกลางทราย เป็นพระพุทธเจ้าที่สอนคนซึ่งไม่มีรางวัล สินจ้างรางวัลใดๆ ไม่มี นี่ตอนหนึ่ง หรือว่าอีกตอนหนึ่ง เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วเป็นพระอรหันต์มีความสุข สามารถจะไปนิพพานได้แบบสบาย ถ้าไม่สอนใครไม่พบใคร ใจก็มีแต่ความสุขไม่มีความทุกข์ หากว่าพระองค์จะเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่สอนพวกเราเสีย ใครจะไปบังคับท่านเพราะว่าไม่มีใครเป็นนายท่าน การจะบังคับให้ท่านเป็นอรหันต์เป็นครูไม่มี แต่ทว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์ไม่ทำอย่างนั้น กลับมีพระมหากรุณาธิคุณ ทนแก่ความยากลำบาก ทรงนอนกลางดินกินกลางทราย ต้องต่อสู้กับบรรดาลัทธิทั้งหลายนอกพระพุทธศาสนาที่สอนผิด จนองค์สมเด็จพระธรรมสามิสร์มีความลำบาก บางคราวต้องพักถึง ๑๕ วัน นี่ชื่อว่าเป็นความดีขององค์สมเด็จพระภควันต์ที่มีมหากรุณาธิคุณต่อพวกเรา เป็นความดีของพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นความดีส่วนพระองค์

    ความดีอีกจุดหนึ่งที่พระองค์ทรงสอนพวกเรา ที่เราเรียกกันว่าพระธรรม สำหรับพระธรรมนั้นมีถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ว่าตอนนี้เราจะมาหยุดจุดเฉพาะความเป็นพระโสดาบันของเรา เราตั้งใจไว้ว่าเราจะเป็นพระโสดาบัน เราก็ตั้งขอบเขตไว้โดยเฉพาะความเป็นพระโสดาบัน ถ้าก้าวเกินไปมันจะลำบาก เอากันแบบง่ายๆ การเจริญกรรมฐานกลุ่มนี้เป็นกำไรพิเศษ เราก็หันมาดูคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณ ให้เราสนใจกับศีล นี่เราย่องเอาสีลานุสสติกรรมฐานเข้ามาแทรกเลย ไม่ใช่ต้องไปนั่งไล่เบี้ยว่าคำสอนของพระองค์ที่มีความสำคัญในขั้นที่จะเข้าถึงพระโสดาบันนี่คือศีล จับจุดลงเฉพาะแบบนี้ อย่าให้มันเปะปะไป สำหรับพระ พิจารณาวินัยสิกขาบท ๒๒๗ สิกขาบทอย่าให้บกพร่อง สำหรับสามเณร อย่าให้ศีล ๑๐ บกพร่อง และก็ต้องศีกษาเสขิยวัตรอีก ๗๕ เป็นอันว่าสามเณรนี่จะต้องมีสิกขาบทปฏิบัติจริงๆ ๘๕ ด้วยกัน สำหรับฆราวาสสนใจศีล ๕ เป็นสำคัญ เฉพาะพระกับเณรผมจะไม่พูดถึง เพราะศีลบังคับท่านอยู่แล้ว หากว่าท่านพลาดสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง จงทราบว่าท่านหมดสภาพจากความเป็นพระ ถ้าหมดสภาพจากความเป็นพระ มันก็เป็นเถน เถนะแปลว่าหัวขโมย ขโมยเอาภาพของความเป็นพระสงฆ์ของพระพุทธศาสนามาใช้หลอกลวงชาวบ้าน รู้สึกตัวไว้ด้วย

    สำหรับฆราวาสเราก็มาพิจารณาศีลว่าที่พระพุทธเจ้าแนะนำไว้ว่ามีดีตรงไหน เอาศีล ๕ ข้อที่ ๑ พระองค์ให้มีความรักซึ่งกันและกัน ไม่พิฆาตเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน ความรักมันดีหรือว่ามันชั่ว คิดเอา ใช้ปัญญา เราเป็นเพื่อนกัน เรารักกันน่ะมันดี มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ ใช้ปัญญาเอาเองนะ ข้อที่ ๒ ให้มีความสันโดษ พอใจเฉพาะทรัพย์ของเราที่เป็นสิทธิโดยเฉพาะ ไม่ยื้อแย่งไม่ลักขโมยทรัพย์ของใคร อันนี้ดีหรือชั่ว คิดเอา ข้อที่ ๓ สามีภรรยาอันเป็นที่รัก เรารัก เราก็ไม่ละเมิดความรักของบุคคลอื่น ไม่ละเมิดสามี ภรรยา บุตรธิดา ข้าทาสหญิงชาย คนในปกครอง โดยที่ท่านเจ้าของไม่อนุมัติ ดีหรือไม่ดี คิดเอา ข้อที่ ๔ วาจาไม่จริง วาจาหยาบ วาจาที่พูดส่อเสียด ยุยงส่งเสริมให้เขาแตกร้าวกัน วาจาสำรากไร้ประโยชน์ มันเป็นของไม่ดี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เว้น ถ้าเราเว้น ถ้าเขาเว้น เว้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดีหรือไม่ดี คิดเอา ข้อที่ ๕ สุราเมรัย เป็นฐานะที่ตั้งแห่งความเป็นคนบ้า ผมไม่พูดว่าความเป็นคนประมาท พระบาลีท่านบอกว่าสุราและเมรัยเป็นฐานะที่ตั้งแห่งความประมาท ผมขอพูดว่าตั้งอยู่ในความเป็นคนบ้า ตามปรกติเราก็บ้ากิเลสตัณหาอุปาทานอยู่แล้ว แต่ในบางขณะหน้ายังบาง ไม่หนามากนัก แต่พอดื่มสุราเมรัยเข้าไปแล้ว หน้าของคนคนนั้นหนายิ่งกว่าส้นเท้าเสียอีก สามารถจะพูดเลวทำเลวยังไงก็ได้ มันดีหรือไม่ดี นี่ผมเปรียบเทียบเท่านี้ผมยังเกรงใจนะ ยังเกรงใจ

    เป็นอันว่าเรามานั่งพิจารณาศีล ๕ ว่าเราควรจะละหรือควรจะละเมิด ถ้าเราต้องการเป็นพระโสดาบัน ศีลของฆราวาส ศีลของเณร ศีลของพระ ก็ควรจะปฏิบัติให้เคร่งครัด ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด อย่างนี้ ถ้าจิตทรงศีลได้มีอารมณ์เป็นปรกติโดยไม่ต้องระวัง เพราะกำลังใจคิดจะทำลายศีลน่ะมันไม่มี แต่ถ้าหากว่าพลาดพลั้งไปเหยียบสัตว์ตายโดยไม่มีเจตนาหรือใช้วาจาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่รักษาผลประโยชน์ของบุคคลผู้รับฟัง อันนี้ไม่ชื่อว่าศีลขาด เหยียบสัตว์ตายไม่เจตนาศีลไม่ขาด พูดรักษาประโยชน์ถ้าเขาจะแตกร้าวกัน เราก็หานโยบายใดๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง มาแนะนำให้เขามีความสามัคคีกัน อย่างนี้ไม่ใช่มุสา เป็นเมตตา สิ่งที่ระวังยากมีอยู่ ๒ ข้อเท่านั้น นอกนั้นระวังง่าย หากว่าจิตเราทรงได้อย่างนี้ก็ชื่อว่ามีความเป็นพระโสดาบัน จงจำไว้ว่าองค์สมเด็จพระภควันต์ ทรงสอนไว้ในอุทุมพริกสูตร ว่าหนึ่ง เราจะไม่ตั้งใจทำลายศีลด้วยตนเอง สอง จะไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นทำลายศีล สาม เราจะไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว คุมใจของเราไว้แบบนี้ ถ้าจิตทรงอยู่อย่างนี้เป็นอารมณ์ แสดงว่าท่านทรงสีลานุสสติกรรมฐานไว้เป็นปรกติ สำหรับสังฆานุสสติกรรมฐาน นั่นให้นึกความดีของพระสงฆ์ เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วทรงทรมานพระกายสอนพวกเราอยู่ถึง ๔๕ พรรษา เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว สาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็รวมกัน ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน รวบรวมคำสอนขององค์สมเด็จพระพิชิตมารที่ต่างคนต่างฟังต่างคนต่างศีกษาเข้าให้เป็นหมวดเป็นหมู่ เอาไว้เป็นครูสอนสำหรับเรา และท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็ติดตามสอนบุคคลทั้งหลายโดยไม่คิดค่าจ้างรางวัล ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ความจริงท่านเป็นพระอรหันต์ท่านมีความสุข หากว่าท่านไม่สอนเรา ก็ไม่เห็นจะเป็นไร ใครจะไปว่าอะไร แต่ว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างองค์สมเด็จพระจอมไตรไม่มีผิด สมเด็จพระธรรมสามิสร์ติดตามสอนคนด้วยความเมตตาฉันใด บรรดาพระอริยสงฆ์ทั้งหลายก็ติดตามสอนพวกเราเช่นเดียวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอาศัยที่ท่านฟังคำสอนพระพุทธเจ้าแล้วได้ปฏิบัติตาม ท่านได้เป็นพระอรหันต์ แล้วเราล่ะ เห็นความดีของพระสงฆ์ไหม ว่าท่านดีขนาดไหน

    นี่เป็นอันว่าจิตใจของเราพอใจในพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง พอใจในพระธรรมคำสั่งสอนคือศีลของพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง พอใจในพระอริยสงฆ์แล้วหรือยัง ถ้าพอใจแล้วก็ดูคำแนะนำขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วอีกจุดหนึ่ง ว่าโลกมันเป็นทุกข์ มนุษยโลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี ไม่เป็นแดนหมดทุกข์ แดนที่มีความสุขเป็นเอกัคตา เป็นสุขฝ่ายเดียวไม่มีทุกข์เจือปนคือพระนิพพาน อันนี้ก็ได้แก่อุปสมานุสสติกรรมฐาน จิตของเราน้อมยอมรับพระนิพพาน ใจของเราแยกจากความต้องการเป็นมนุษย์ แยกความต้องการเป็นเทวดา แยกความต้องการเป็นพรหมด้วยความจริงใจ ทรงอารมณ์ใจของเราให้มั่น คิดว่าพระนิพพานเท่านั้นเป็นที่ไปของเรา ถ้าจิตของเราตั้งมั่นแบบนี้ ก็ชื่อว่าท่านทั้งหลาย เป็นพระโสดาบัน ชื่อว่าเป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้น อบายภูมิทั้ง ๔ ประการคือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่ทางไปของเรา ถ้าจะพูดต่อไปเวลามันหมดแล้วครับ ผมว่าเท่านี้ควรจะเป็นที่พอใจของท่านทั้งหลายแล้ว รู้ว่าความเป็นพระโสดาบันเป็นของไม่ยาก ฉะนั้นขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค ศึกษาแล้วจงอย่าโยนทิ้งเสีย ใช้อิทธิบาท ๔ เข้าควบคุมอารมณ์ใจ คิดว่าอย่างเลวที่สุด ภายในระยะเวลา ๑ เดือน ความเป็นพระโสดาบันก็จะถึงท่าน นี่ความจริงเขาศึกษากันแบบนี้นะ เดือนเดียวเขาเป็นพระอรหันต์หมด

    ต่อแต่นี้ไป ขอสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคต ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร สวัสดี
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 พฤษภาคม 2009
  3. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อนุสสติ ๕ : พุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน สีลานุสสติกรรมฐาน อุปสมานุสสติกรรมฐาน - ตอนที่ ๓ อารมณ์พระโสดาบัน

    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย เวลานี้ท่านทั้งหลายได้สมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อแต่นี้ไป ขอได้โปรดฟังคำแนะนำ อารมณ์ของพระโสดาบัน สำหรับวันนี้จะได้พูดถึงอารมณ์ของท่านที่ทรงความเป็นพระโสดาบัน ท่านทั้งหลายจะได้ทราบไว้ว่า คนที่เป็นพระโสดาบันแล้วมีอารมณ์เป็นยังไง ส่วนใหญ่ของคนทั้งหลายมักจะมีความรู้สึกว่า คนที่เข้ามาเจริญพระกรรมฐาน คือสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา พอเริ่มเข้ามาเจริญแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องตัดหมด นั่นเป็นความรู้สึกผิดของท่านที่มีความคิดอย่างนั้น ความจริงการเจริญพระสมณธรรมมีอารมณ์เป็นขั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่ทรงจิตเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ สำหรับอัปปนาสมาธินี่หมายถึงอารมณ์ฌาน ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๘ อารมณ์ประเภทนี้จะระงับได้เพียงนิวรณ์ ๕ ประการ แต่ก็เป็นเพียงการระงับเท่านั้นไม่ใช่ตัด ถ้ายังมีความประมาท จิตคิดชั่ว ฌานก็สลายตัว

    เป็นอันว่าผู้ทรงฌานโดยเฉพาะอย่างยิ่งฌานโลกีย์ ยังไม่มีความหมายในการเจริญสมณธรรมในพระพุทธศาสนา ถึงแม้ว่าท่านผู้นั้นจะได้มโนมยิทธิก็ดี ได้อภิญญา ๕ ในอภิญญา ๖ ก็ดี ได้ ๒ ในวิชชา ๓ ก็ดี ก็ยังไม่มีความหมายในการตัดอบายภูมิ ท่านที่จะตัดอบายภูมิได้จริงๆ ก็คือตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป คำว่าพระโสดาบันแปลว่าผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพาน ฉะนั้นพระโสดาบันก็ยังตัดอะไรไม่ได้หมด ดีแต่เพียงว่ามีอารมณ์ชนะสังโยชน์ ๓ ประการเบื้องต้นแต่เพียงอย่างหยาบเท่านั้น อารมณ์ชนะสังโยชน์ ๓ ประการเบื้องต้น ก็คือ ๑ สักกายทิฏฐิ ที่มีความรู้สึกว่าสภาพร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเรา เฉพาะอย่างยิ่งในด้านสักกายทิฏฐินี้ พระโสดาบันลดลงมาได้เพียงเล็กน้อย ยังมีความรู้สึกว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเราอยู่ แต่ทว่ามีอารมณ์ไม่ประมาท มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า เราจะต้องตาย นี่ท่านกล่าวว่า ปัญญาพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ มีสมาธิเล็กน้อย แล้วก็มีปัญญาเล็กน้อย คำว่ามีสมาธิเล็กน้อย คืออารมณ์สมาธิของท่านผู้เจริญฌานสมาบัติ มีอารมณ์ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป ยังไม่ถึงฌาน ๔ ก็สามารถจะเป็นพระโสดาบันได้ สำหรับที่ว่ามีปัญญาเล็กน้อยก็เพราะว่ายังไม่สามารถจะตัดขันธ์ ๕ ได้เด็ดขาดด้วยกำลังของจิต ยังมีความรู้สีกว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา แต่ทว่าความรู้สึกของท่านมีความดีอยู่หน่อยหนึ่งว่าเราจะต้องตาย ยังไงๆ ก็ตายแน่ เหมือนกับที่เปสการีมีอารมณ์คิดถึงคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมสามิสร์ที่ทรงตรัสว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ว่าความตายเป็นของเที่ยง ท่านทั้งหลายจงอย่ามีความประมาทในการสร้างความดี นี่ความรู้สึกของพระโสดาบันในด้านสักกายทิฏฐิมีอยู่จุดนี้ เข้าใจไว้ด้วย

    มีคนพูดกันว่าถ้าเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน จะต้องสามารถระงับทุกขเวทนาได้หมด ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ร้อน ไม่หนาว นี่ไม่ใช่ความจริง ร่างกายยังมีความรู้สึก ร่างกายยังมีจิตเป็นเครื่องรักษา ร่างกายยังมีวิญญาณรู้การสัมผัส ถึงแม้ว่าพระอรหันต์ก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดีก็ยังรู้สึกเจ็บรู้สึกปวดเหมือนกัน นี้ว่ากันถึงอารมณ์ของพระโสดาบัน เมื่อจิตเข้าถึงพระโสดาบันแล้วมีความไม่ประมาทในชีวิต มีความรู้สึกเสมอว่าเราจะต้องแก่ เราจะต้องตาย แล้วก็ขึ้นชื่อว่าความตายนี้ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ไม่ใช่ว่าจะไปกำหนดอายุกาลตายว่าต้องเท่านั้นเท่านี้ จะตายตั้งแต่ความเป็นเด็ก ความเป็นหนุ่มเป็นสาว ความเป็นคนแก่ อาการที่จะตายอาจจะตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อาจจะตายเพราะอุบัติเหตุ หรือตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายกลางคืน ตายดึก ตายหัวค่ำ ก็เอาแน่นอนไม่ได้ ฉะนั้นพระโสดาบันจึงไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าถ้าเราจะตายก็เชิญ แต่ทว่าเราจะตายอยู่กับความดี อารมณ์ของพระโสดาบันที่จะคัดค้านคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์นั้นไม่มี คือว่าเป็นคนไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นอับดับที่สองที่เรียกว่า วิจิกิจฉา พระโสดาบันตัดสังโยชน์ตัวที่สองได้ คือความสงสัยที่เรียกว่าวิจิกิจฉา ขึ้นชื่อว่าความสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่มีในพระโสดาบัน เกิดขึ้นด้วยกำลังของปัญญาที่พิจารณาหาความจริงว่า พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปัจจัยให้เกิดความสุข และอันดับหลัง สีลัพตปรามาส พระโสดาบันย่อมทรงศีลบริสุทธิ์ตามฐานะของตัว คำว่าฐานะของตัวก็หมายความว่า ถ้าเป็นฆราวาสก็มีศีล ๕ เป็นปรกติ มีศีล ๕ บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ไม่มีเจตนาในการทำลายศีล รักษาศีลบริสุทธิ์ ไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง ไม่ยุให้บุคคลอื่นทำลายศีล แล้วก็ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว

    เป็นอันว่าพระโสดาบันเป็นผู้ทรงอารมณ์อยู่ในศีลเป็นสำคัญ หนักหน่วงในเรื่องของศีล ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด ที่กล่าวมานี้หมายถึงว่า สังโยชน์ ๓ ประการนี้ พระโสดาบันปฏิบัติมีจิตเข้าถึงตามนี้ ก็ขอพูดกันต่อไปว่า ก่อนที่จะเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน จากโลกีย์เป็นโลกุตระ ตอนนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกว่าโคตรภูญาณ ขณะที่อารมณ์จิตของท่านผู้ปฏิบัติเข้าถึงโคตรภูญาณ คำว่าโคตรภูญาณนี่ ก็หมายความว่าจิตของท่านผู้นั้น ยังอยู่ในช่วงระหว่างโลกียะกับโลกุตระ แต่ทว่าอารมณ์จิตตอนนี้ จะไม่ขังอยู่นาน บางท่านจิตจะทรงอยู่เพียงแค่ชั่วโมงหนึ่งหรือไม่ถึงชั่วโมง แต่บางท่านก็อยู่ถึงอาทิตย์สองอาทิตย์ ถึงเป็นเดือนก็มี สุดแล้วแต่ความเข้มแข็งของจิต ในช่วงที่จิตเข้าถึงโคตรภูญาณ ท่านกล่าวว่าในขณะนั้น อารมณ์จิตของนักปฏิบัติจะมีความรักพระนิพพานอย่างยิ่ง คือมีความรู้สึกอยู่เสมอว่ามนุษยโลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี ไม่เป็แดนแห่งความสุข ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์มันก็ทุกข์ตลอดเวลา ถ้าเกิดเป็นเทวดาก็พักทุกข์ชั่วคราว หรือพรหมก็เช่นเดียวกัน ถ้าหมดบุญวาสนาบารมีแล้วก็จะต้องจากเทวดาจากพรหมมาเกิดเป็นคนบ้าง บางรายก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอันว่าเขตทั้งสามจุดไม่มีความหมายสำหรับใจ จิตใจของท่านที่มีอารมณ์เข้าถึงโคตรภูญาณ ใจมีความต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพานเป็นปรกติ แต่ทว่าพอจิตพ้นจากโคตรภูญาณไปแล้ว ก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบันเต็มที่ ที่เรียกกันว่าพระโสดาปัตติผล ตอนนี้อารมณ์จิตของท่านละเอียดขึ้นมานิดหนึ่ง นอกจากจะรักพระนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว ก็มีความรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันเป็นของธรรมดา การนินทาว่าร้ายที่จะปรากฎขึ้นกับบุคคลผู้ใดกล่าวถึงเรา จิตตัวนี้จะมีความรู้สึกว่าธรรมดาของคนที่เกิดมาโลกมันเป็นอย่างนี้ ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเกิดขึ้น มีความรู้สึกหนักไปในด้านของธรรมดา แต่ทว่าธรรมดาของพระโสดาบันยังอ่อนกว่าธรรมดาของพระอรหันต์มาก

    ฉะนั้นท่านที่เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน จึงยังมีความรักในระหว่างเพศ ยังมีการแต่งงาน ยังมีความอยากรวย ยังมีความโกรธ ยังมีความหลง ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านกล่าวไว้แล้วว่า พระโสดาบันมีสมาธิเล็กน้อยและก็มีปัญญาเล็กน้อย หากว่าท่านทั้งหลายจะถามว่า ถ้าคนยังมีความรักในเพศ ยังมีการแต่งงาน ยังมีการอยากรวย ยังมีความโกรธ ยังมีความหลง ก็ดูเหมือนว่าพระโสดาบันก็คือชาวบ้านธรรมดา แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ความรักในระหว่างเพศก็ดี ความอยากรวยก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดีของพระโสดาบัน อยู่ในขอบเขตของศีล เรารักในรูปโฉมโนมพรรณ มีการแต่งงานกันได้ระหว่างสามีภรรยา ในตอนนั้นพระโสดาบันจะมีความซื่อสัตย์สุจริตกับสามีและภรรยาของตนเอง ยอมเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน จะไม่นอกใจสามีและภรรยา ขึ้นชื่อว่ากาเมสุมิจฉาจารจะไม่มีสำหรับพระโสดาบัน จะทำให้ครอบครัวนั้นมีอารมณ์เป็นสุข และประการที่สองพระโสดาบันยังมีความโกรธ ท่านโกรธจริง พูดเป็นที่ไม่ถูกใจท่านก็โกรธ ทำให้เป็นที่ไม่ถูกใจท่านก็โกรธ แต่ทว่าพระโสดาบันมีแต่อารมณ์โกรธ ไม่ประทุษร้ายให้เขามีการบาดเจ็บ และไม่ฆ่าคนและสัตว์ที่ทำให้พึงโกรธให้ถึงแก่ความตาย เป็นอันว่าความโกรธหรือความพยาบาทของท่านอยู่ในขอบเขตของศีล จิตโกรธแต่ว่าไม่ทำร้าย นี่แตกต่างกับคนธรรมดาตรงนี้

    สำหรับด้านความหลงของพระโสดาบัน ที่ขึ้นชื่อว่าหลงก็เพราะว่ายังมีความรักในเพศ ยังมีความอยากรวย เมื่อสักครู่นี้ข้ามคำว่าอยากรวยไป การอยากของพระโสดาบันคือต้องการความรวยในด้านสุจริตธรรมเท่านั้น หรือว่าการทุจริตคิดร้ายคดโกงบุคคลอื่นใด ไม่มีในอารมณ์จิตของพระโสดาบัน ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต เพราะอาศัยยังรักในความสวยสดงดงาม คือรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ ยังมีอยู่ ยังมีความอยากรวย ยังมีความโกรธ ยังมีความหลง เพราะว่ายังคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกยังมีของสวยของงาม การถือตัวถือตนแบบนี้จึงชื่อว่ามีความหลง แต่ความหลงของพระโสดาบันนั้นไม่สามารถจะนำบุคคลผู้นั้นเมื่อเวลาตายแล้วไปสู่อบายภูมิได้ จุดนี้ขอบรรดาท่านทั้งหลายผู้รับฟังจงจำไว้ว่า ความจริงอารมณ์ของพระโสดาบันนั้น ไม่แตกต่างกับชาวบ้านธรรมดาเท่าไรนัก ชาวบ้านธรรมดายังมีความรักในเพศ ยังมีสามีภรรยา แต่ทว่ายังมีการนอกใจสามี นอกใจภรรยา สำหรับพระโสดาบันไม่มี ชาวบ้านอยากรวย รวยก็จะมีการคด การโกง มีการยื้อแย่งฉกชิงวิ่งราวทรัพย์ สำหรับพระโสดาบัน ถ้าต้องการรวยก็รวยด้วยการสุจริต หากินด้วยการชอบธรรม ต่างกันตรงนี้ พระโสดาบันมีความโกรธ ชาวบ้านโกรธแล้วก็ปรารถนาจะประทุษร้าย ถ้ามีโอกาสก็ประทุษร้ายบุคคลที่เราโกรธ ถ้าสามารถจะฆ่าได้ก็ฆ่า สำหรับพระโสดาบันมีแต่ความโกรธ แต่การประทุษร้ายไม่มี การฆ่าการประหารกันไม่มี นี่ต่างกันกับชาวบ้าน พระโสดาบันยังมีความหลงตามที่กล่าวมาด้วยอาการที่ผ่านมาแล้ว แต่ทว่าพระโสดาบันก็ไม่ลืมคิดว่าเราจะต้องตาย เมื่อเราตายแล้วเราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ตอนนี้ พระโสดาบันไม่เสียใจ ไม่เสียดาย ถือว่าถ้าตายเรามีความสุข

    นี่ขอท่านทั้งหลายจำอาการจำอารมณ์จิตที่เข้าถึงพระโสดาบันไว้ด้วย ตอนนี้จะขอพูดอีกนิดหนึ่งถึงอารมณ์ความจริงของพระโสดาบัน ที่เรียกกันว่าองค์ของพระโสดาบัน คำว่าองค์ก็ได้แก่อารมณ์จิตที่จะทรงไว้อย่างนั้นอย่างแนบแน่นสนิท นั่นก็คือ ๑ พระโสดาบันมีความเคารพในพระพุทธเจ้าอย่างจริงใจ ไม่คลายในความเคารพในพระพุทธเจ้าไม่ว่าจะมีเหตุใดๆ เกิดขึ้น ใครจะมาจ้างจะให้รางวัลมากๆ ให้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ แม้แต่พูดเล่น พระโสดาบันก็ไม่พูด ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านมีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระอริยสงฆ์อย่างจริงใจ แต่ทว่าระวังให้ดี ถ้าพระสงฆ์เลว พระโสดาบันไม่ใส่ข้าวให้กิน ตัวอย่างภิกษุโกสัมพี มีความประพฤติชั่ว ตอนนั้นฆราวาสที่เป็นพระอริยเจ้านับหมื่นไม่ยอมใส่ข้าวให้กิน เพราะถือว่าเป็นโจรปล้นพระพุทธศาสนา เป็นผู้ทำลายความดี ไม่ใช่ว่าเป็นพระอริยเจ้าแล้วล่ะก็จะเมตตาไปเสียทุกอย่าง ท่านเมตตาแต่คนดี หรือว่าบุคคลผู้ใดมีความประพฤติชั่ว แนะนำแล้วสามารถจะกลับตัวได้ พระโสดาบันก็เมตตา ถ้าเขาชั่วแนะนำแล้วไม่สามารถจะกลับตัวได้ พระโสดาบันก็ทรงอุเบกขาคือเฉย ไม่สงเคราะห์ โปรดจำอารมณ์ตรงนี้ไว้ให้ดี ในอาการต่อไป พระโสดาบันมีศีลบริสุทธิ์ ขอพูดย่อให้สั้น ว่าองค์ของพระโสดาบันก็คือ ๑ มีความเคารพในพระพุทธเจ้า ๒ มีความเคารพในพระธรรม ๓ มีความเคารพในพระอริยสงฆ์ นี่จัดเป็นองค์มี ๓ ประการ แต่สิ่งที่จะแถมขึ้นมานั่นก็คือรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ทำทุกสิ่งทุกอย่างไม่หวังผลตอบแทน ไม่หวังความดีมีชื่อเสียงในชาติปัจจุบัน มีความรู้สึกต้องการอยู่อย่างเดียวว่า เราทำความดีทุกอย่างเพื่อพระนิพพานเท่านั้น นี่อารมณ์จิตตอนนี้ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัท ภิกษุสามเณรทุกท่านต้องจำไว้ จงอย่าไปคิดว่าพระโสดาบันนี่เลอเลิศไปถึงอารมณ์พระอรหันต์ โดยมากมักจะคิดว่าอารมณ์ของพระอรหันต์เป็นอารมณ์ของพระโสดาบัน ก็เลยทำกันไม่ถึง นั่นเป็นการคิดผิด ความจริงการเป็นพระโสดาบันนี่เป็นง่าย มีอารมณ์ไม่หนัก ที่หนักจริงๆ ก็คือศีลอย่างเดียว

    ต่อนี้ไปขอพูดถึงอาการของพระโสดาบันที่จะพึงได้ พระโสดาบันจัดเป็น ๓ ขั้น คือ ๑ สัตตขัตตุง สำหรับท่านที่เป็นพระโสดาบัน มีอารมณ์ยังอ่อน จะต้องเกิดและตายในระหว่างเทวดาหรือพรหมกับมนุษย์อีกอย่างใน ๗ ชาติ เป็นมนุษย์ชาติที่ ๗ จะเข้าถึงความเป็นอรหัตตผล ถ้ามีอารมณ์เข้มแข็งปานกลาง ที่เรียกกันว่าโกลังโกละ อย่างนี้จะทรงความเป็นเทวดาหรือมนุษย์อีกอย่างละ ๓ ชาติ ครบเป็นมนุษย์ชาติที่ ๓ จะเป็นพระอรหันต์ สำหรับพระโสดาบันที่มีอารมณ์เข้มแข็ง นั่นก็จะเกิดเป็นเทวดาอีกครั้งเดียว มาเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็เป็นพระอรหันต์ ที่พูดตามนี้หมายความว่า ท่านผู้นั้น เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว เกิดใหม่ไม่ได้พบพระพุทธศาสนา จะต้องฝึกฝนตนเองอยู่เสมอทุกชาติ แต่ทว่าความเป็นมิจฉาทิฎฐิในชาติต่อๆ ไปจะไม่มีแก่พระโสดาบัน เพราะว่าพระโสดาบันไม่มีสิทธิจะไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน จะเกิดได้แค่ช่วงแห่งความเป็นมนุษย์กับเทวดาหรือพรหมสลับกันเท่านั้น เป็นอันว่าพระโสดาบันนี่ ถ้าท่านทั้งหลายพิจารณาให้ดีแล้ว ก็จะมีความรู้สึกว่าเป็นของไม่ยาก หากว่าท่านจะถามว่าพระโสดาบันขั้นสัตตขัตตุง โกลังโกละ และเอกพิชี มีอารมณ์ต่างกันยังไง ก็จะขอตอบว่า สัตตขัตตุงมีจริยาคล้ายชาวบ้านธรรมดามาก ยังมีอารมณ์รุนแรงในความรัก ยังมีอารมณ์รุนแรงในความโลภ ในความโกรธ ในความหลง แต่ทว่าเป็นผู้มั่นคงในศีล ไม่ละเมิด สำหรับพระโสดาบันขั้นโกลังโกละ ขั้นโกลังโกละนี่มีอารมณ์เยือกเย็นมาก คือว่ามีความมั่นในคุณพระรัตนตรัย มีศีลมั่นคงมาก ความจริงเรื่องศีลนี่มั่นคงเหมือนกัน แต่ว่าจิตของท่านเบาบางในด้านความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความคำนึงถึงอารมณ์อย่างนี้มีอยู่แต่ก็น้อย ถ้ามีคู่ครองเขาจะโทษว่า กามคุณเขาจะลดหย่อนลงไป ความสนใจในเพศ ความสนใจในความโลภ อารมณ์แห่งความโกรธ อารมณ์แห่งความหลง มันเบา กระทบไม่ค่อยจะมีความรู้สึก

    สำหรับพระโสดาบันขั้นเอกพิชี ในตอนนี้อารมณ์ของท่านผู้นั้น จะมีอารมณ์ธรรมดาอยู่มาก ขอท่านทั้งหลายโปรดอย่าลืมว่าพระอริยเจ้าจะเป็นฆราวาสก็ดี จะเป็นพระก็ดี จะเป็นเณรก็ดี จะเป็นคนมีจิตละเอียดไม่ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และไม่ขัดคำสั่ง ไม่ฝ่าฝืนกฎระเบียบวินัยและกฎหมาย อันนี้เป็นอารมณ์ของพระโสดาบันที่ท่านทั้งหลายจะพึงทราบ สำหรับเอกพิชีนี่ความจริงมีอาการจิตใกล้พระสกิทาคามี แต่ทว่าสิ่งที่จะระงับไว้ได้นั้นกดด้วยกำลังของศีล มีความรู้สึกว่าเราจะต้องประคับประคองศีลของเราให้แจ่มใสอยู่เสมอ มองดูความรักระหว่างเพศหรือว่าความร่ำรวย หรือว่าความโกรธ หรือความหลงในระหว่างเพศ หลงในสภาวะต่างๆ เห็นว่าเป็นของไร้สาระ มีอารมณ์เบาในความปราถนาในสิ่งนั้นๆ แต่ทว่าก็ยังมีความปรารถนาอยู่

    เอาละบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครู เมื่อพูดมาถึงจุดนี้ วันนี้ก็คงไม่ได้อารมณ์แห่งการปฏิบัติ แต่ทว่าอารมณ์แห่งการปฏิบัติในความเป็นพระโสดาบัน ท่านฟังกันมาแล้วสองคืน กระผมเองมีความรู้สึกว่าท่านทั้งหลายคงจะมีความรู้สึกว่าง่ายสำหรับท่าน แต่ถ้าหากท่านเห็นว่าอารมณ์ของพระโสดาบันยากนี่ ถ้าเป็นพระหรือเป็นเณร ผมไม่ถือว่าพระหรือว่าเณร ผมถือว่าเป็นเถน เถนในที่นี้ หมายความว่ามี สระเอ นำหน้า มี ถ. ถุง แล้วก็ น. หนู เขาแปลว่าหัวขโมย คือขโมยเอาเพศของพระอริยเจ้ามาหลอกลวงชาวบ้าน ตามปรกติพระกับเณรนี่ ต้องทรงศีลบริสุทธิ์อยู่แล้ว เอาละพูดไป เวลามันเกินไป ๑ นาที ก็ขอพอไว้แต่เพียงนี้ หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจ ต่อแต่นี้ไปขอท่านทั้งหลาย ตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม นั่งก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นอนก็ได้ตามอัธยาศัย ทรงกำลังใจควบคุมอารมณ์ความเป็นพระโสดาบันของท่านไว้ จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร สวัสดี
     
  4. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อนุสสติ ๕ : พุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน สีลานุสสติกรรมฐาน อุปสมานุสสติกรรมฐาน - ตอนที่ ๔ ปฏิปทาพระสกิทาคามี

    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับวันนี้ ก็จะขอนำเอาปฏิปทาในอนุสสติ ๕ ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปฏิปทาของพระสกิทาคามี มาแนะนำกับบรรดาท่านทั้งหลาย เพราะว่าการปฏิบัติในด้านอนุสสติ ๕ ประการนี้ ก็รู้สึกว่าจะเป็นปฏิปทาที่มีกำไรมาก ด้วยว่าจิตเริ่มต้นก็เริ่มขึ้นด้วยในปฏิปทาของพระโสดาบัน แต่ว่าท่านทั้งหลายถ้าประสงค์จะรู้รายละเอียดในอารมณ์ของจิต ก็จงพากันศึกษาในด้านของอานาปานุสสติกรรมฐานประกอบ ถ้าเราจะพูดกันให้ละเอียดเฉพาะทุกจุด มันก็จะเป็นการเปลืองทรัพย์เปลืองสินของบรรดาท่านทั้งหลาย ฉะนั้น หากว่าท่านผู้ใดอยากจะรู้อารมณ์ละเอียดก็หันเข้าไปดูอานาปานุสสติกรรมฐาน

    สำหรับจุดนี้ก็จะพูดโดยเฉพาะอนุสสติ ๕ ประการ ได้ผ่านปฏิปทาของพระโสดาบันหรือว่าอารมณ์ของพระโสดาบันมาแล้ว สำหรับพระสกิทาคามีก็คงมีอารมณ์ทรงอยู่ในสังโยชน์ ๓ ประการเช่นเดียวกับพระโสดาบัน แต่ทว่าพระโสดาบันที่ผ่านมานี่ องค์สมเด็จพระชินสีห์กล่าวว่ามีอารมณ์ถึง ๓ ชั้น นั่นก็คือพระโสดาบันขั้นสัตตักขัตตุงเป็นชั้นที่ ๑ และพระโสดาบันขั้นโกลังโกละเป็นชั้นที่ ๒ พระโสดาบันขั้นเอกพิชีเป็นชั้นที่ ๓ สำหรับพระโสดาบันขั้นเอกพิชีนี่ มีปฏิปทาคล้ายคลึงกับพระสกิทาคามี

    ฉะนั้นก่อนที่จะพูดถึงปฏิปทาหรืออารมณ์ของพระสกิทาคามี ซึ่งความจริงแล้วละสังโยชน์ได้ ๓ ประการเหมือนพระโสดาบัน แต่ทว่ามีอารมณ์ต่างกันอยู่นิดหน่อย ก่อนที่จะพูดเรื่องนั้นก็จะขอพูดระดับชั้นของจิตของพระโสดาบันเสียก่อน เพื่อความสะดวกต่อการจดจำ หรือว่าเพื่อสะดวกแก่การกำหนดรู้ในจิตของท่าน สำหรับพระโสดาบันขั้นสัตตักขัตตุง ตอนนี้ท่านกล่าวว่ายังมีอารมณ์หยาบมาก ก็เหมือนกับเด็กเพิ่งจะสอนเดิน เหมือนกับคนเราที่เกิดมาแล้วนี่มีวัย ๓ วัย คือ ๑ ปฐมวัย คือวัยระหว่างเด็กหรือระหว่างหนุ่ม ตั้งแต่เด็กถึงหนุ่ม ๒ สองมัชฌิมวัย วัยกลางคน ๓ ปัจฉิมวัย วัยแก่ สำหรับพระโสดาบันก็เหมือนกัน ก็ต้องมีว่าพระโสดาบันเด็กถึงหนุ่ม พระโสดาบันวัยกลางคน พระโสดาบันวัยแก่ แต่ไม่ใช่หมายถึงคนแก่ คืออารมณ์จิตแก่

    สำหรับพระโสดาบันวัยหนุ่ม ก็ได้แก่สัตตักขัตตุง พระโสดาบันขั้นสัตตักขัตตุงนี้จิตก้าวจากโลกียชนเข้ามาเป็นโลกุตรชนใหม่ๆ คำว่าโลกีย์นี่ก็หมายความว่า จิตยังมั่วสุมอยู่ในกามารมณ์ หรืออารมณ์ที่เป็นอกุศลมาก สำหรับคำว่าโลกุตรชนก็หมายความว่าคนที่มีอารมณ์พ้นโลก จำให้ดีนะครับ คำว่าเป็นคนผู้มีอารมณ์พ้นโลก คืออำนาจของปุถุชนที่มีอารมณ์เต็มไปด้วยอกุศลพ้นไปเสียแล้ว คำว่าโลกไม่สามารถจะดึงท่านผู้นี้ให้กลับไปใหม่ เหลือแต่อารมณ์ที่ทรงธรรม ตั้งแต่ธรรมชั้นหยาบจนก้าวเข้าไปสู่ความเป็นผู้มีธรรมละเอียด จนกระทั่งถึงที่สุดกล่าวคือเป็นพระอรหันต์ เรื่องการถอยหลังลงไม่มีสำหรับพระโสดาบัน เพราะว่าคำว่าพระโสดาบัน ท่านแปลว่าผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพาน เป็นผู้ที่มีความหวังได้จริงๆ ว่าจะถึงพระนิพพาน

    ตอนนี้ก็มาพูดถึงพระโสดาบันเด็กกันเสียก่อน พระโสดาบันเด็กถึงพระโสดาบันหนุ่มสาวที่เรียกกันว่าสัตตักขัตตุง อันดับนี้ถ้าทรงเป็นพระโสดาบันอย่างนี้ จะต้องเกิดเป็นคนกับเทวดาอีกอย่างละ ๗ ชาติ และชาติที่ ๗ จะได้เป็นพระอรหันต์ สำหรับโกลังโกละ จะเกิดเป็นคนกับเทวดาสลับกันไปสลับกันมา ๓ ชาติ ชาติที่ ๓ ของมนุษย์ครบถ้วนเป็นพระอรหันต์ สำหรับขั้นเอกพิชี จะเกิดเป็นเทวดาอีกครั้งเดียวแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็เป็นพระอรหันต์ เหมือนกับพระสกิทาคามี นี่จะเห็นว่าระดับของพระโสดาบัน มีระดับไม่เสมอกัน ฉะนั้นขอพูดถึงระดับพระโสดาบันขั้นต้นที่เรียกว่า สัตตักขัดตุง ตอนนี้จิตของท่านยังเป็นพระโสดาบันใหม่ อารมณ์เนื่องด้วยโลกียะยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ หรือว่ากำลังหนัก กลิ่นคาวโลกียะยังติดอยู่มาก

    ฉะนั้นพระโสดาบันขั้นนี้ จึงยังมีอารมณ์รักในเพศอยู่มาก ยังมีอารมณ์หนักหน่วงอยู่ในความโลภ ยังมีอารมณ์หนักหน่วงอยู่ในความโกรธ และก็ยังมีอารมณ์หนักหน่วงอยู่ในความหลง คำว่าหนักหน่วงในที่นี้ หมายความว่าอารมณ์รักความสวยสดงดงาม เช่นรักรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ ยังมีอยู่ในใจมาก ยังมีความต้องการในทรัพย์สินมาก ยังหนักอยู่ในอำนาจของความโกรธ ยังมีความหลงคือยังมีความพัวพันอยู่ในเหตุทั้ง ๓ ประการตามที่กล่าวมาแล้ว รวมความว่าสมาธิจิตดี ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป แต่กำลังละสักกายทิฎฐิยังเบาเกินไป ตามที่ได้กล่าวว่าพระโสดาบันมีอธิศีล คือมีศีลยิ่ง แต่ว่ามีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย และอย่าลืมว่ามีความรักในรส กลิ่น เสียง รูปและสัมผัสก็จริงแหล่ แต่ทว่าไม่ยุ่งกับกาเมสุมิจฉาจาร ไม่ละเมิดศีล จิตใจยังหนักหน่วงอยู่ในความโลภ คืออยากจะรวย แต่ไม่คดไม่โกงใคร แต่ยังติดรวยอยู่มาก จิตใจยังหนักหน่วงอยู่ในความโกรธ คืออารมณ์โกรธยังเต็มตัว แต่ไม่ทำอันตรายใครเพราะเกรงว่าศีลจะบกพร่อง อารมณ์ยังติดในความหลงคือดึงในทรัพย์สิน ดึงในร่างกาย ยังไม่คลายการดึง ยังคิดว่านั่นเป็นเรา คิดว่านี่เป็นเรา แต่ทว่าไม่ลืมความตาย

    ตอนนี้เราจะแยกใจออกมาได้ยากเพราะจิตมันหยาบอยู่มาก แต่ทว่ามีขอบเขตจำกัดดีกว่าปุถุชน ที่ทำตนให้อยู่ในขอบเขตของศีล ถึงจะรักก็ไม่ละเมิดศีล จะโลภก็ไม่ละเมิดศีล จะโกรธก็ไม่ละเมิดศีล จะหลงในทรัพย์สินทั้งหลายก็ตามก็จริงแหล่แต่ทว่าไม่ลืมคิดว่าเราจะตาย ไม่มีความประมาทในชีวิต อารมณ์จิตของพระโสดาบันขั้นสัตตักขัตตุงเป็นอย่างนี้ จึงต้องอบรมใจอีก ๗ ชั้น เป็นมนุษย์อีก ๗ คราว ตายจากมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม พักร้อน พ้นจากจิตนั้นแล้วก็มาเกิดเป็นมนุษย์ สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ จนกว่าจะครบ ๗ หนในคราวเป็นมนุษย์ จึงจะได้อรหัตตผล

    สำหรับพระโสดาบันขั้นโกลังโกละ ขั้นโกลังโกละนี่มีจิตเบา เบาเพราะว่าอำนาจสักกายทิฏฐิที่ใช้ปัญญาเข้าไปพิจารณาร่างกาย ร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ธรรมะส่วนหนึ่งมันก็เกิด ว่าร่างกายของคนเรานี่เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก นี่ปัญญาเริ่มเพิ่มขึ้นมาน้อยหนึ่ง แต่ไม่เป็นชิ้นเป็นท่อนเป็นอันเต็มไปด้วยสกปรก แต่ทว่าอาศัยกำลังฌานที่เข้าไม่ถึงฌาน ๔ อารมณ์ตอนนี้จึงยังไม่ปักนัก ก็ชักจะเริ่มมีความรังเกียจในร่างกาย ว่าร่างกายนี้มีสภาพไม่ทรงตัวแน่ เกิดแล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย บางทีก็ตายตั้งแต่ความเป็นเด็กก็มี ฉะนั้นหากว่าจิตใจของเราที่จะเข้าไปผูกพันร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี หรือทรัพย์สินทั้งหลายเหล่าอื่นก็ดี จะมุ่งคิดประทุษร้ายบุคคลอื่นใดก็ดี มันก็ไร้ประโยชน์ มันไม่มีอะไรเป็นคุณ มันก็มีแต่โทษ เพราะกายเราก็ตาย กายเขาก็ตาย เมื่อกายเราเป็นทุกข์ กายเขาก็เป็นทุกข์ เราต้องการให้เขาทุกข์มันก็ไม่เกิดประโยชน์ ไปทำให้เขาทุกข์มันก็ไปซ้ำทุกข์เดิมของเขา เนื้อแท้จริงๆ เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว

    ก็เป็นอันว่าจิตดวงนี้มันสลับกันไป เพราะกำลังฌานยังไม่มั่นคง กระผมมีความเข้าใจว่าท่านพระโสดาบันที่เข้าถึงโกลังโกละ อารมณ์จิตของท่านผู้นี้จะต้องมีกำลังจิตสูงกว่าปฐมฌาน ธรรมปีติจะเกิดขึ้นกับท่านมาก เพราะความวุ่นวายน้อยลง คือที่เรียกว่าความวุ่นวายน้อยลงก็เพราะว่ามีความเมตตากรุณาทั้งสองประการสูงขึ้น จิตมีความเอิบอิ่มในธรรมปีติ ตอนนี้อย่างเลวที่สุด จิตของท่านโกลังโกละก็ต้องตั้งอยู่ถึงขั้นทุติยฌาน ฌานที่ ๒ หรือว่าฌานที่ ๓ ฉะนั้นจึงจะสามารถมีกำลังกดความรักในเพศ กดความโลภ กดความโกรธ กดความหลงให้เบาบางลง จิตตั้งตรงมีอารมณ์ว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่ทว่าอารมณ์เผลอก็ยังมีอยู่นิดหนึ่ง บางครั้งมันก็เข้าไปเกาะติด ในสภาพรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส แต่ทว่าศีลมั่นคงยิ่งขึ้น จึงไม่ละเมิดศีล สำหรับโลภะ ความโลภ ความอยากรวย ยังอยากมีเงินใช้ แต่ทว่าใจที่จะลำพองตะเกียกตะกายเกินพอดีไม่มี เห็นว่าการประกอบอาชีพเพียงเท่านี้เป็นที่เพียงพอของเรา การจะโกรธชาวบ้านชาวเมืองคิดประหัตประหารนั้นไม่มี ก็ยังมีโกรธอยู่แต่คิดว่านี่ไม่น่าจะทำให้เราไม่ชอบใจ แต่ทว่าอาศัยที่เขาเป็นคนจัญไรเป็นคนเลว เราก็ไม่น่าจะโกรธตอบ แต่ก็จะมีความรู้สึกได้ก็ต้องใช้กำลังใจนิดหน่อย ด้วยใจมีเหตุมีผลมากขึ้น สำหรับด้านความหลง คิดว่าร่างกายจะทรงตัว มีความรู้สึกน้อยไปด้วยอำนาจปัญญาดี อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าโกลังโกละ

    สำหรับท่านเอกพิชี ตอนนี้ท่านทั้งหลาย กำลังใจของขั้นเอกพิชีนี่ ตามความรู้สึกของผม คิดว่าท่านผู้นี้ต้องมีกำลังใจทรงฌาน ๔ เพราะอะไร เพราะวาสนาบารมีอารมณ์จิตละเอียดมาก ถึงกับว่าถ้าตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นพรหมหรือเทวดา หมดบุญวาสนาบารมีมาเกิดเป็นคนอีกครั้งเดียวก็เป็นอรหัตตผล เหมือนกับพระสกิทาคามี ตอนนี้ท่านเรียกกันว่าพระโสดาบันละเอียด ฟังให้ดีนะ สำหรับนักปฏิบัติ ถ้าจิตของท่านเข้าถึงอุปจารสมาธิ มีอารมณ์เป็นทิพย์ ถ้าจะได้ยินเสียงของพระหรือเทวดา หรือว่าพรหมที่เป็นพระอริยเจ้าตรัสว่า ท่านเวลานี้ท่านทรงอารมณ์เป็นพระโสดาบันละเอียดแล้ว ก็จงทราบว่าขณะนั้นท่านเป็นเอกพิชี อารมณ์ของเอกพิชีนี่ที่ผมคิดว่า ท่านผู้นี้อารมณ์จิตของท่านเป็นผู้เข้าถึงฌาน ๔ แล้วก็ทรงฌาน ๔ ได้ดีตามสมควร ก็เพราะว่าอารมณ์ของพระโสดาบันขั้นเอกพิชีนี่ มีความรู้สึกพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง เอาเก็บไว้เป็นที่สังเกตว่าความรู้สึกของพระโสดาบันขั้นเอกพิชียังเห็นคนสวย แล้วก็ยังเห็นความดีของทรัพย์สิน ยังรู้สึกมีความไม่พอใจ แต่ทว่ากำลังใจของท่าน ไอ้อารมณ์อย่างนี้มันน้อย ความรู้สึกอันหนึ่งที่มันเกิดขึ้นกับจิต ซึ่งซ้อนขึ้นมากับอุปสมานุสสติกรรมฐาน นั่นก็คือคำว่าธรรมดา จุดนี้จุดธรรมดาเกิดขึ้นมาก เกิดอารมณ์กระทบขึ้นมาก็รู้สึกว่านี่มันเป็นธรรมดาของโลก จิตเย็นทันที แต่เห็นคนสวยสดงดงามเข้ามาถึง มองแล้วก็รู้สึกว่าเธอเป็นธรรมดา เราเป็นชายเห็นหญิงสาวสวย เราก็รู้สึกว่าธรรมดา ถ้าเป็นหญิงเห็นชายงามก็รู้สึกว่าธรรมดา ธรรมดาตรงไหน มองไปมันก็สวย ผิวสวย ลักษณะทรวดทรงสวย เครื่องประดับกายสวย แต่ว่าธรรมดาของเธอข้างในมันเน่า

    นี่จิตมันเข้าไปถึงจุดนี้แล้ว ฉะนั้นอารมณ์ที่เกาะติดในกามฉันทะก็ดี ในความโลภในทรัพย์สินก็ดี ในความโกรธก็ดี ในความหลงก็ดี มันก็ติดอยู่แค่ผิวๆ แค่หนังกำพร้านิดหนึ่ง จะว่าหนังกำพร้า หนังกำพร้าก็ไม่ติด มันติดอยู่แค่ปลายขน จิตกระทบถูกเข้าหน่อยมันก็หล่น มองหน้าเขาว่าคนนี้เป็นนางงามประจำภาค ประจำชาติ แต่มองปราดลงไปรู้สึกว่าเธอสวย ชั่วขณะอารมณ์จิตเดียวสักหนึ่งวินาที ใจนี้มันก็จะคลายสลายความสวย จิตมันจะแทงทะลุเข้าไปถึงภายในของร่างกาย หรือว่าผิวพรรณทั้งหลายเหล่านี้ จะมีความเข้าใจว่ามันเต็มไปด้วยความสกปรก ไม่ทรงอยู่ในความสะอาด สำหรับทรัพย์สินทั้งหลายมองแล้วก็รู้สึกว่าดี มีใช้มีกิน แต่ทว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อชีวิตมันสิ้นก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ นี้การจะเพ่งเล็งถึงโทษของบุคคลผู้ทำให้เกิดความช้ำใจ ก็ไม่ได้มองเห็นประโยชน์อะไรว่ามันจะเป็นคุณ เห็นว่าคนที่เราทำ ทำใจให้สะเทือนใจ มันเป็นความเข้าใจผิดของบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น แล้วมันก็เป็นภารกิจคือความชั่วของเราที่อยากเกิดมาในโลก เป็นอันว่าความรู้สึกว่าธรรมดาเกิดขึ้นกับใจของพระโสดาบันขั้นนี้ จำให้ดีนะครับ เรื่องอารมณ์นี่ต้องจำให้ดีนะ จะได้รู้ตัวว่าเวลานี้เรามาถึงไหน ไม่ยังงั้นละก็ดำน้ำกันเรื่อยไป คล้ายๆ กับเอาผ้าดำมาผูกตา มันไม่เกิดประโยชน์ เป็นอันว่าจุดนี้แหละเป็นจุดของพระโสดาบันขั้นเอกพิชี

    ฉะนั้นต่อแต่นี้ก็จะพูดกันถึงด้านสกิทาคามี ตอนถึงพระสกิทาคามีนี่อารมณ์มันสบายเสียแล้ว เพราะย่ำต๊อกมาจากเอกพิชีหมดทุกระดับ คุณค่าของพระโสดาบันขั้นเอกพิชีกับพระสกิทาคามีมีคุณค่าเท่ากัน นั่นก็คือเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ๑ ชาติ แล้วก็มาเกิดเป็นมนุษย์เป็นพระอรหันต์เลย ง่ายนิดเดียว มีค่าเท่ากัน เหมือนกัน ไม่ได้มีอะไรต่างกันตรงไหน แต่ทว่าสำหรับพระสกิทาคามีนี่มีปัญญาละเอียดขึ้นกว่าพระโสดาบันหน่อยหนึ่ง สำหรับเรื่องศีลไม่ต้องพูดกัน มั่นคงมาตั้งแต่สัตตักขัตตุง ตอนนี้พระสกิทาคามีนี้ เพราะอาศัยอารมณ์ละเอียดมาจากเอกพิชี จึงใช้ปัญญาได้มีความหลักแหลมเพราะอาศัยจิตเข้าถึงฌาน ๔ คำว่าฌาน ๔ มาจากไหน ก็มาจากการพิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณาศีล พิจารณาโทษของความรัก พิจารณาโทษของความโลภ พิจารณาโทษของความโกรธ พิจารณาโทษของความหลง พอจิตมีอารมณ์เยือกเย็นลง จิตก็ก้าวไปสู่ฌานสมาบัติทีละน้อยๆ โดยที่ไม่ต้องไปนั่งฝึกให้มันมีอาการเคร่งเครียด อารมณ์สมาธิมาพร้อมกับวิปัสสนาญาณ คือใช้อารมณ์พิจารณาสังโยชน์ ๓ ประการและโดยเฉพาะพิจารณาโทษของความรักในระหว่างเพศ การมีคู่ครอง เห็นว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หาสาระประโยชน์ไม่ได้ ไม่มีการทรงตัว และประการที่สอง ทรัพย์สินทั้งหลาย ไม่มีใครสามารถจะแบกจากโลกนี้ไปโลกอื่นได้ ทำเสียเกือบตาย เหน็ดเหนื่อยเกือบตาย แต่ตายแล้วก็หมดสิทธิ ไม่มีสิทธิที่จะครองแม้แต่ร่างกาย เรื่องของความโกรธนี่ไซร้เป็นปัจจัยยั่วให้เกิดความทุกข์ ไม่ใช่มีความสุข ไม่มีความปรารถนา และก็เป็นอันว่าถ้าจิตเราจะหลงร่างกายกายานี้มันก็ไม่เป็นประโยชน์ มันจะถูกทำลายอยู่ทุกขณะ ในที่สุดมันก็สลายตัวไป อารมณ์รักในกายมันก็เบา รักกายเราก็เบา รักกายคนอื่นก็เบา เห็นโทษแห่งการครองคู่อยู่ด้วยกันในฐานะสามีภรรยา ตอนนี้ระวังให้ดีนะ ถ้ามีสามีภรรยาละก็บางทีเขาจะคิดว่านอกใจเขา แต่ว่าใจเรามันไม่สู้ อารมณ์มันไม่รู้สึก ความรู้สึกมันน้อย นานๆ จะมีความรู้สึกสักครั้งแล้วก็หายเร็ว

    นี่เป็นเรื่องของพระสกิทาคามี พระสกิทาคามีมีอารมณ์ละเอียด จิตเข้าถึงฌาน ๔ เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือรูปสวยไม่จริง ปัญญามาก เสียงเพราะก็ไม่จริง รสอร่อยก็ไม่จริง กลิ่นหอมก็ไม่จริง สัมผัสที่เกิดก็ไม่จริง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้สร้างอิ่ม มันสร้างความหิว

    มาในด้านของความโกรธก็ไม่มีความหมาย ถึงจะถือร่างกายก็ไร้ประโยชน์ ระวังมีจิตตัวหนึ่งที่เขาเรียกว่ากิเลสที่เป็นอุปนิสัย ท่านที่มีกำลังใจเข้าถึงพระสกิทาคามีนี่ เห็นโทษของกามคุณมาก เห็นโทษของความโลภมาก เห็นโทษของความโกรธมาก เห็นโทษของขันธ์ ๕ มาก จนกระทั่งมีอารมณ์ละเอียดดับสนิท ความคิดจะรักในระหว่างเพศไม่มี เฉยๆ แล้วก็ความโลภโมโทสันอยากจะร่ำรวยมันไม่มี เฉยๆ สบายๆ แล้วความโกรธคิดประทุษร้ายเขามันไม่มี มันจะเป็นยังไงก็ช่าง ด่าก็ช่าง ว่าก็ช่าง เฉยๆ สบาย จิตจะติดกายติดใจของเรามันไม่มี มันไม่มีเป็นส่วนมากแต่บางขณะมันมี เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มันเป็นอนุสัย มันมีความละเอียดคล้ายกับตะกอน น้ำที่มีตะกอน พอเอาสารส้มเข้าไปแกว่ง มันไปนอนอยู่ในก้นตุ่ม แต่ก่อนมันขุ่นก็จริงแหล่แต่ทว่ามันไม่มากวนน้ำ น้ำใสสะอาด ใจโปร่ง ตะกอนเหล่านั้นเหมือนกิเลส ใจเหมือนกับน้ำที่ถูกสารส้มแกว่งแล้ว แต่ทว่าในบางขณะที่มีจิตมีอารมณ์ละเอียด มีจิตสบายมีอารมณ์เป็นสุข ไม่ว้าวุ่นกับอะไร บางครั้งความรู้สึกความพอใจในเพศ ความพอใจในทรัพย์สิน คิดว่าใครเขาว่าเรา ประทุษร้ายเราให้เจ็บใจ มันเกิดขึ้นมานิดหนึ่ง มันกระตุ้นจิตขึ้นมานิดหนึ่ง แล้วก็สลายตัวไปโดยฉับพลัน อย่างนี้เป็นอาการของพระสกิทาคามี

    เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับเวลาที่จะพูดกันก็หมดเสียแล้ว หวังว่าบรรดาท่านทั้งหลายคงมีความเข้าใจ เพราะเป็นของไม่ยาก ต่อแต่นี้ไปขอสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค จงตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าเวลานั้นท่านจะเห็นว่าเป็นการสมควรสำหรับท่าน
     
  5. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อนุสสติ ๕ : พุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน สีลานุสสติกรรมฐาน อุปสมานุสสติกรรมฐาน - ตอนที่ ๕ ปฏิปทาพระอนาคามี

    ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย และบรรดาพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย สำหรับเวลานี้ ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานพระกรรมฐาน สมาทานศีลแล้ว วันนี้จะได้ศึกษาในเรื่องของพระอนาคามีผล สำหรับวันก่อนได้น้อมนำเอาอารมณ์ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระโสดาบันก็ตั้งแต่สัตตักขัตตุง โกลังโกละ เอกพิชี และพระสกิทาคามีมาพูด สำหรับวันนี้จะนำเอาอารมณ์ของพระอนาคามีมาพูด แต่ก่อนที่จะพูดถึงอารมณ์ของพระอนาคามี ความจริง ถ้าอารมณ์จิตของบรรดาท่านทั้งหลายเข้าถึงพระสกิทาคามีแล้ว การทรงอารมณ์ของพระอนาคามีผลเป็นของไม่ยาก เพราะว่าเป็นการศึกษามาตามลำดับ แต่ว่าก่อนที่จะพูดในอารมณ์ของพระอนาคามี ก็จะขอน้อมนำเอาวิธีปฏิบัติที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคสอนไว้ มาแนะนำกันเสียก่อน เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกหลัก ไม่ถูกเกณฑ์ ไม่ถูกแผน ผลแห่งการบรรลุมันก็ไม่มี

    นี้วิธีปฏิบัติที่ปฏิบัติได้กันมา จะต้องทำแบบนี้ ไปดูในวิปัสสนาญาณ ๙ ข้อที่ ๘ ท่านเรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ แต่ว่าข้อที่ ๙ นั่นท่านเรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ คำว่า สัจจานุโลมิกญาณนั้นไม่มีญาณเฉพาะสำหรับตน เป็นการปฏิบัติคือคำนึงจิตและพิจารณาย้อนไปย้อนมา สมมติว่าท่านทั้งหลายกำลังเจริญสมาธิจิต เริ่มตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือว่าถือนิมิตในกสิณ เช่นเราเคยเจริญอานาปานุสสติ หรืออนุสสติมาก่อน แล้วก็ไปจับพุทธานุสสติ หรือไปจับธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ หรือว่าเล่นกสิณกองใดกองหนึ่ง วิธีปฏิบัติเขาทำแบบนี้ พอเริ่มต้นเข้ามา เขาต้องจับอารมณ์ต้นก่อน เช่น เจริญอานาปานุสสติก่อนก็ต้องจับอานาปานุสสติให้มีอารมณ์ถึงที่สุดที่เราได้มาแล้ว แล้วก็ปล่อยอารมณ์จิตให้มันทรงอยู่ในอารมณ์นั้นให้สบาย เมื่อจิตมีความสบายถึงที่สุด ทรงอารมณ์ถึงที่สุด แล้วก็เคลื่อนไปจับกองที่ ๒ กองที่ ๓ กองที่ ๔ กองที่ ๕ ตามลำดับ แต่ละกองนั้น ๆ ก่อนที่จะเคลื่อนไป ให้จิตเข้าถึงจุดสูงสุดตามกรรมฐานกองต้นเสียก่อน เมื่อจับไปตามลำดับถึงที่สุดแล้วจึงค่อยทำต่อในกองที่ทำต่อใหม่ กองที่ทำต่อใหม่นั้นเราจะใช้เวลาเพียงนิดเดียวอารมณ์ก็จะทรงตัว ทั้งนี้เพราะว่ากรรมฐานทั้ง ๔๐ กองก็ดี มหาสติปัฏฐานสูตรก็ดี มีอารมณ์เหมือนกัน เช่น เราทรงสมาธิจิตในด้านอานาปานุสสติถึงฌาน ๔ หรือว่าฌาน ๑ หรือฌาน ๒ หรือฌาน ๓ ก็ตาม พอเริ่มต้น เราก็จับอานาปานุสสติให้เข้าทรงฌานถึงที่สุดตามที่เราจะพึงทำได้ในวันนั้น เราปล่อยจิตให้ทรงอยู่ให้อารมณ์สบาย เมื่อจิตเป็นสุขดีแล้วขยับไปกองที่ ๒ หรือกองที่ ๓ แต่ละกอง จะใช้เวลาไม่เกิน ๑ นาที อารมณ์ก็จะทรงตัวตามนั้น

    เป็นอันว่าถ้าทำอย่างนี้ก็ชื่อว่าเราใช้วิธิสัจจานุโลมิกญาณ อันนี้รวมเดินตั้งแต่ต้นเข้าไปถึงปลาย บางทีจับตั้งแต่ปลายเข้ามาหาต้น จิตทรงอารมณ์ได้ตามปรกติสม่ำเสมอกันทุกจุด อย่างนี้จะมีอารมณ์ไม่เคลื่อนจากสมาธิทุกกอง ไม่ใช่ทำกองนี้ได้ไปกองหน้าทิ้งกองหลัง อันนี้ใช้ไม่ได้ เขาต้องเก็บไปตั้งแต่ต้น ถ้าหากว่าสมมติว่าทุกท่านทรงกรรมฐานทั้งหมดได้ ๔๐ กอง เวลาเราจับตั้งแต่ต้น ๑ ถึง ๔๐ มิต้องใช้เวลาตลอดคืนหรือ ผมก็จะขอตอบให้ท่านทราบว่าอย่างช้าที่สุด กรรมฐาน ๔๐ กองนี่ เราจะเรียงตามลำดับให้ทรงฌานถึงที่สุด ไม่เกิน ๑๕ นาที แต่ผมว่ามันไม่ถึงนะ ผมไม่เคยทำถึงน่ะ เมื่อกองแรกเราคล่อง กองอื่น ๆ มันก็เหมือนกัน กรรมฐาน ๔๐ กอง ถ้าจะเปรียบกับเรากินข้าว ถ้าเราเคยกินข้าวด้วยมือ เขาไม่ให้กินข้าวด้วยช้อน มันก็เป็นของไม่ยาก ถ้าเคยกินข้าวด้วยช้อนสังกะสีเปลี่ยนมาเป็นช้อนส้อมมันก็ไม่หนัก มันจะเกะกะอยู่นิดเดียว ข้อนี้ฉันใด แม้การเจริญพระกรรมฐานซึ่งมีการเปลี่ยนอารมณ์ก็เหมือนกัน การเปลี่ยนอารมณ์เข้าไปหาอารมณ์แต่ละกอง แต่ทว่าอารมณ์จริง ๆ คือสมาธิมันอันเดียวกัน นี่จุดหนึ่งนะครับ และอีกจุดหนึ่ง ถ้าเราเจริญด้านวิปัสสนาญาณ เวลานี้ก็จะพูดกันถึงพระอนาคามี แต่ทว่าก่อนที่เราจะใชัอารมณ์จับพระอนาคามี ในเวลาสงัดหรือเวลาไหนก็ตาม เราก็ต้องนั่งไล่เบี้ยมาตั้งแต่พระโสดาบันก่อน คำว่าไล่เบี้ยมานี่เป็นการสอบสวนอารมณ์จิตของเรา ว่าอารมณ์จิตเดิมที่เราไล่เบี้ยมาตั้งแต่พระโสดาบันน่ะ มันทรงตัวแล้วหรือเปล่า ถ้าพระโสดาบันกับพระสกิทาคามียังไม่ทรงตัว เราก็อย่าเพิ่งไปยุ่งกับพระอนาคามีผลหรือว่าจะเป็นอนาคามีมรรค ต้องจับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปตามขั้นตามระยะ มีอารมณ์ทรงตัวเห็นว่าจิตทรงแน่แล้วจึงจะก้าวเข้าไปสู่ข้อหน้าต่อไป ตอนนี้เราใช้วิธีสัจจานุโลมิกญาณ

    อันดับแรกเริ่มต้น เมื่อหาที่สงัดได้ คำว่าที่สงัดมันจะสงัดเสียงหรือไม่สงัดก็ช่างมัน แต่ว่าทำใจของเราให้สงัดในนิวรณ์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า บรรดาพระสมณะอยู่ที่ไหน ที่นั่นย่อมเป็นที่สงัด คือมีพราหมณ์ถามพระพุทธเจ้าว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายต้องการที่สงัดใช่ไหม คือว่าต้องการอยู่ในป่าชัฏ ต้องการอยู่ในป่าช้า ต้องการอยู่ในเขา ต้องการอยู่ในบ้านที่ปราศจากผู้คน แต่องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดากลับทรงตรัสว่า พราหมณะ ดูก่อน พราหมณ์ พระอริยเจ้าจะอยู่ในป่าก็ดี อยู่บนยอดเขาก็ดี อยู่ในถ้ำก็ดี อยู่ป่าช้าก็ดี อยู่ป่าชัฏก็ดี อยู่บ้านที่ปราศจากคนก็ดี หรือว่าอยู่ในบ้านก็ดี อยู่กลางเมืองก็ดี อยู่กลางสนามหลวงก็ดี พระอริยเจ้าทั้งหมดนี้ย่อมมีอารมณ์สงัด ไม่ว่าที่ใดสงัดหมด เพราะว่าอารมณ์ของทุกท่านสงัดจากกิเลสแล้ว นี่เป็นอันว่าคำว่าสถานที่สงัด คือเราใช้อารมณ์สงัด จะไปนั่งคิดว่าที่นั้นต้องไม่มีเสียง ที่นี่ต้องไม่มีเสียง เราคิดหรือว่าเวลาที่เราจะตายนี่ เราจะหาที่สงัดได้ เราต้องพร้อมใจไว้เสมอว่า เวลาที่เราจะตาย อาจจะมีเสียงเครื่องขยายเสียงทั้งด้านข้าง ด้านซ้ายและด้านขวา ใกล้ ๆ เราอาจจะมีใครกำลังทะเลาะกันอยู่ก็ได้ หรืออาจะมีใครเขามานั่งด่าอยู่ใกล้ ๆ ก็ได้ เราต้องเตรียมใจไว้ ถ้าอาการอย่างนั้นมันปรากฎ เราจะไม่เอาจิตของเราเข้าไปยุ่งกับเสียง กับอารมณ์ต่าง ๆ ทำจิตของเราให้สงัดจากเสียง เรื่องของเขาก็เรื่องของเขา เรื่องของเราก็เรื่องของเรา นี่เป็นอันว่าที่สงัดของเราไม่ใช่หมายความว่าสงัดเสียง ไม่ใช่หมายความว่าสงัดจากกายกรรมคือการทำงานต่าง ๆ ที่สงัดของเราคือใช้อารมณ์จิตสงัดจากนิวรณ์ ๕ ประการ และก็สงัดจากกิเลสด้วย จำให้ดีนะครับ ต้องถอยหน้าถอยหลังเล่นกันไปแบบนี้ให้มันช่ำมันชอง

    ตอนนี้เราจะก้าวเข้าไปสู่พระอนาคามีผล เราก็มานั่งนึกดูตอนต้นว่า โอหนอ เวลานี้เรามีความเสียดายอะไรบ้าง ถ้าพ่อเราจะตาย แม่เราจะตาย เมียเราจะตาย ผัวเราจะตาย ลูกเราจะตาย เพื่อนเราจะตาย ตัวเราจะตาย ของของเราต้องสลายไป เรามีความรู้สึกว่าห่วงใยจุดใดบ้าง ถ้าปรากฎว่ามีอารมณ์ยังห่วงอยู่ สมมติว่าถ้าคิดว่าเขาจะตาย เราจะร้องไห้ เราจะเสียใจ เราจะมีอารมณ์ว้าเหว่ ถ้าเราจะตาย เราจะสงสารคนที่อยู่ข้างหลัง ไม่มีใครประคับประคอง ไม่มีใครเลี้ยงดูเกื้อหนุนเธอให้มีความสุข ถ้าอารมณ์ยังมีอยู่อย่างนี้ก็เสร็จ ต้องใช้อารมณ์จิตใช้ปัญญาต่อว่าจิตว่าเอ็งนี่มันเลวเกินไป ทำไมเอ็งลืมความจริงเสียแล้วหรือว่า คนทุกคน สัตว์ทั้งหมด วัตถุธาตุทั้งหมด มันมีอนิจจังเป็นเบื้องต้น อันดับแรกมันไม่มีความทรงตัว คือ ไม่เที่ยง แล้วก็มีการสลายตัวไปในที่สุด ทำไมเธอไม่รักษาสัจธรรมอันนี้ไว้ สัจจานุโลมิกญาณ คือ อนุโลมถอยหน้าถอยหลังด้วยอริยสัจ อริยสัจคือของจริงที่พระอริยเจ้าทรงไว้ จงเตือนใจว่าเจ้าจงอย่าลืมความจริง ว่าญาติผู้ใหญ่ของเรามี ถอยหลังไปตามลำดับนับหาที่สุดไม่ได้ แต่ว่าญาติทุกคนของเราท่านไม่มี เวลานี้บางคนมีชื่อแต่ไม่มีตัว และก็ส่วนใหญ่ทั้งหมดหายไปหมดทั้งตัวและชื่อคือนั่นท่านตาย แล้วเราจะทรงอยู่ได้ยังไง ท่านทั้งหลายเหล่านั้นเวลาตายท่านห่วงเราหรือเปล่า ท่านอาจจจะห่วง แต่ว่าอาการห่วงนั้นมีประโยชน์อะไรสำหรับเราบ้างเมื่อท่านตายไปแล้ว ประโยชน์ที่ดีจริง ๆ ตามสัจธรรม นั่นก็คือว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ เป็นต้นตระกูลของเราแต่ท่านก็ตาย ในเมื่อต้นตระกูลตายแล้วก็ไอ้ปลายตระกูลมันจะทรงอยู่ได้ยังไง มันก็ต้องมีสภาวะการตายเหมือนกัน

    นี่เป็นยังงี้ คิดให้มันลงตัว แล้วก็ในเมื่อเราจะตายแล้วเรามีอะไรเป็นที่พึ่ง พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพระธรรมวินัย พระวินัยเป็นคำสั่ง พระธรรมเป็นคำสอน ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งและก็๋สอนให้เราละชั่ว ประพฤติดีนี่น่ะ เราทรงตัวได้แล้วหรือยัง ฝ่าฝืนพระธรรมวินัยตอนไหนบ้าง ค้นคว้าในจิตของตัว ถอยหน้าถอยหลัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีลของเราบริสุทธิ์พร้อมมูลแล้วหรือยัง นี่เรื่องของพระโสดาบัน ก้าวไปถึงพระสกิทาคามี โลภะ ความโลภของเรานี้มันลดลงไปจริง ๆ หรือเปล่า หรือว่ายังมีความทะเยอทะยานอยู่ โทสะ ความโกรธ มีกำลังหนักหรือว่ามีกำลังเบา ถ้าหากว่าโลภะ ความโลภยังมี โทสะ ความโกรธยังหนัก ใช้ไม่ได้ โลภะ ความโลภในจิตของพระสกิทาคามี คือความอยากรวยมันต้องน้อย มีความรู้สึกว่ามียังไงกินยังงั้น มีแบบไหนใช้อย่างนั้น การประกอบอาชีพเป็นของปรกติที่ในเมื่อร่างกายยังมีชีวิต มันก็ต้องหากินหาใช้ ได้มากพอใจ ได้น้อยพอใจ แล้วก็คิดกันว่าของที่ได้มาถ้ามากถ้าน้อยตายแล้วเอาไปไม่ได้เลย จิตมีความสุข โทสะ ความโกรธ โกรธเขาทำไม เรามันเสือกเกิดมาให้เขาด่า เสือกเกิดมาให้เขานินทา เสือกเกิดมาให้เขาใช้ เสือกเกิดมาเพื่อความป่วยไข้ไม่สบาย เสือกเกิดมาเพื่อความแก่ เสือกเกิดมาเพื่อความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เสือกเกิดมาเพื่อตาย ในเมื่ออาการอย่างนี้มันเป็นปรกติที่เราจะพึงรับ ทำไมเราจะไปสนใจในมัน ถ้าตายเมื่อไหร่นั่นเราจะมีความสุข คือเรามีหวังพระนิพพาน เราจะไปนิพพานแดนอมตะที่หาความทุกข์ไม่ได้

    นี่ทวนถอยหลังอารมณ์ของเราเข้าไว้ให้จิตมันทรงตัว ด้านสมาธิก็ฝึกซ้อมไว้เป็นปรกติ เวลาฝึกซ้อมไม่ต้องไปนั่งหลับตา หลับตามันไม่เก่ง ลืมตาอยู่อย่างนี้แหละ ให้จิตมันทรงสมาธิ ลืมตาอยู่อย่างนี้แหละ ให้จิตมันยอมรับนับถือกฎของธรรมดาและความเป็นจริง เห็นอะไรเข้าตายหมด เห็นคน คนตาย เห็นสัตว์ สัตว์ตาย เห็นวัตถุธาตุ วัตถุธาตุพัง แล้วก็นึกถึงว่าเราจะต้องตายเหมือนกัน นี่ต้องถอยหน้าถอยหลัง จะก้าวไปแต่ข้างหน้าแล้วก็ไม่เหลียวหลัง ท่านทั้งหลายที่ระงับความวุ่นวายของจิตไม่ได้นั่นน่ะ เขาเรียกว่าสีลัพตปรามาส เป็นผู้ลูบคลำในศีล จิตปรามาส ลูบคลำในสมาธิ ปัญญาปรามาส ลูบคลำในวิปัสสนาญาณ ทำเท่าไร ๆ ก็ไม่พ้นความวุ่นวายของจิต มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น โฉงเฉง โวยวาย ปราศจากเหตุผล คนประเภทนี้ทำกี่แสนกัปก็ลงนรก เพราะสักแต่ว่าปฏิบัติ สักแต่ว่าประพฤติ ไม่รู้จักที่จะพิจารณาจิตของตัวเองว่ามันดีหรือว่ามันชั่ว นี่ถอยหลังไปถอยหลังมากันแค่นี้นะ ความจริงเขาถอยกันเป็นปรกติ ย้อนไปย้อนมา สิ่งที่เราละได้แล้วมันละจริงหรือไม่ อารมณ์สมาธิที่ทรงได้แล้วทรงจริงหรือไม่ อย่าไปหาที่สงัดเสียง อย่าไปหาที่สงัดความวุ่นวาย จงหาความสงัดใจคือใจสงัดจากกิเลส นี่มันถึงจะถูก

    เป็นอันว่าต่อนี้ไปเหลือเวลาอีก ๘ นาที เรามานั่งคุยกันถึงเรื่องความจะเป็นพระอนาคามี ไม่ยาก ไม่เห็นมีอะไรยาก กามฉันทะ เราเบามาจากพระสกิทาคามีแล้ว หรือว่าฌานสมาบัติ อารมณ์ฌาน การที่จะก้าวเข้าถึงพระสกิทาคามี อย่างน้อยกำลังจิตของเราต้องทรงฌาน ๓ หรือว่าดีไม่ดีก็ทรงฌาน ๔ ไม่ยาก ต่อนี้ไปเราก็มาเอากันจริงจัง กามฉันทะ ความใคร่ในรูปสวย นั่งนึกสิว่ารูปใครเขามันสวย ที่ว่ารูปสวย สวยจริงหรือไม่จริง สะอาดหรือว่าสกปรก เสียงเพราะ เสียงสร้างคนให้ไม่แก่ไม่ตายได้มั้ย กลิ่นหอม กลิ่นกันความทรุดโทรมของร่างกาย กันความตายได้หรือเปล่า รสอร่อยของอาหาร อาหารที่ว่าดีวิเศษมีวิตามินดี ไอ้อย่างโน้นก็ดี ไอ้อย่างนี้ก็วิเศษที่หมอเขาแนะนำ แล้วไปดูหมอที่แนะนำเราสิ ว่าหมอน่ะแก่เป็นมั้ย หมอป่วยเป็นมั้ย หมอตายเป็นมั้ย ถ้าหมอมีความรู้ดีทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามคำแนะนำของหมอ หมอก็ต้องไม่แก่ หมอก็ต้องไม่ป่วย หมอก็ต้องไม่ตาย แต่ตามข่าวที่ทราบมา หมอในประเทศไทยตายไปแล้วนับล้าน ๆ คน เป็นเพราะอะไรเพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันดีน่ะมันอาจจะดีจริง เพียงแค่ประทังชีวิตให้ทรงอยู่ แต่ทว่าเปล่า จะกันแก่กันตายน่ะมันไม่ได้ ในเมื่ออาหารทุกอย่างไม่สามารถจะยับยั้งให้คนทรงชีวิตอยู่ได้ ร่างกายของคนแต่ละคนเต็มไปด้วยความสกปรก นอกจากสกปรกแล้วก็ยังจะหาทางสลายตัวไปในที่สุด

    เป็นอันว่ามันสกปรกด้วย มันก็ไม่ใช่เราด้วย เอาจิตน้อมไปอย่างนี้ เราสกปรก เขาสกปรก ก็มานั่งดูว่าคำว่าเราว่าเขานี่อยู่ที่ไหน ร่างกายนี้เป็นของเราหรือ ร่างกายโน้นเป็นของเขาหรือ เป็นอันว่าร่างกายทั้งสองประการนี้ ไม่มีเรา ไม่มีเขา มันเป็นบ้านเช่าที่แสนจะสกปรก เป็นบ้านเช่าที่จะมีแต่ความผุพังไปตามปรกติ ไม่ช้าเรากับมันก็จากกัน แล้วจิตใจของเรานั้นจะไปผูกพันในไอ้โลกียวิสัย กามราคะ ปรารถนาความมีคู่ครองซึ่งกันและกันน่ะ มันจะเกิดประโยชน์ตรงไหน คนที่รัก จะเริ่มรักใครต้องเริ่มรักคนสวยเริ่มรักคนงาม มีการเยื้องกราย กิริยาวาจาดีทุกอย่าง แต่ไอ้ตัวดีนั้นน่ะมันดีนานมั้ย ไม่นาน ร่างกายก็สวยไม่นาน จริยาวาจาของแต่ละบุคคลมันก็ไม่อ่อนหวานไม่อ่อนช้อยจริง มันยังมีโมโหโทโส มีความเลวประจำอยู่ในจิต มีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง ตัวทั้งหลายเหล่านี้เป็นปัจจัยของความทุกข์ ถ้าเราอยากก็คือตัณหา อยากได้มาเราก็อยากได้ทุกข์ เราก็ต้องตัด ตัดด้วยกำลังของศีลบริสุทธิ์ ตัดด้วยกำลังของอารมณ์สมาธิที่เห็นว่าร่างกายของคนและสัตว์สกปรก และมีการสลายตัวไปในที่สุด ให้จิตมันทรงตัวแบบนี้ ในที่สุดจิตมันก็จะเบื่อ เห็นคนเป็นซากศพ

    อันนี้มาในด้านของความโกรธ ในสมัยเป็นพระสกิทาคามี เราโกรธหน่อยหนึ่งแล้วก็ให้อภัย มาในด้านของพระอนาคามีนี่ตัดให้มันพัง สลายไปเสียเลย วิธีตัดเป็นยังไง ใช้กสิณ ๔ กสิณสีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรือว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมตตาในพรหมวิหารดีที่สุด เพราะมีอารมณ์เบา นั่งคิดไว้เสมอว่าเรากับเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกาย มันไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร ถ้าเราจะโกรธคนที่โกรธเรา เราก็จะเลวกว่าเขา ตามที่พระพุทธเจ้าว่า แล้วการโกรธมันทำให้เราหนุ่มขึ้นหรือเปล่า การโกรธทำให้เราสวยขึ้นมั้ย ความโกรธทำให้เราอิ่มเอิบขึ้นหรือเปล่า ความโกรธทำให้จิตเราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นอันว่าความโกรธ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ สร้างความเร่าร้อนให้แก่จิต โกรธง่ายแก่เร็ว โกรธบ่อยแก่บ่อย มันแก่ลงไปทุกวันๆ ในที่สุดมันก็พัง เพราะความโกรธมันเผาผลาญร่างกาย เผาทั้งกายเผาทั้งใจ ใจก็มีแต่ความเร่าร้อน เมื่อโกรธเขาใจเร่าร้อนไม่สบายกายไม่สบายใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่ช้ามันก็โทรม ไม่ช้ามันก็ตาย แล้วคนที่เราจะโกรธ เราโกรธทำไม อยากจะฆ่าเขาอย่างนั้นหรือ ถ้าเราไม่ฆ่า เขาตายมั้ย เป็นอันว่าเราไม่ฆ่าเขาก็ตาย ถ้าเราจะแกล้งให้เขามีทุกข์ ถ้าเราไม่แกล้งเขา เขาจะมีทุกข์ไหม เขาก็มีทุกข์อยู่แล้ว และในที่สุดเขาจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความปรารถนาย่อมไม่สมหวัง ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้ เราจะโกรธเพื่อประโยชน์อะไร เราต้องการปัจจัยของความสุข ความโกรธเป็นปัจจัยให้เข้าสู่อบายภูมิ ฉะนั้นเราก็ยึดมั่นในพรหมวิหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร เห็นใครเขาโกรธเรา เราก็สงสาร อะพิโธ่เอ๊ย ไม่น่าจะโง่เลย มาโกรธเราเข้า เขาก็หมดมิตรที่ดีคือเราไปคนหนึ่ง และก็นอกจากเรา เพื่อนของเรา ญาติของเรา ลูกของเรา หลานของเราก็เป็นศัตรูเขาไปด้วย ช่วยให้เขามีความทุกข์ใจมากที่สุด ฉะนั้นเรื่องความโกรธ เมื่อเขาโกรธมันไม่ดี เราก็ไม่โกรธเขาเช่นเดียวกัน เขาจะโกรธมาช่างเขา เราไม่โกรธไป จงดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ที่นางมาคันธิยาจ้างคนด่า พระพุทธเจ้าก็ไม่โกรธ พราหมณ์มาด่าต่อหน้าธารกำนัล พระพุทธเจ้าก็ไม่โกรธ จิญจามานวิกาแกล้งกล่าวหาว่าพระองค์ทำให้เธอท้อง พระพุทธเจ้าก็ไม่โกรธ พระเทวทัตทำอันตรายพระพุทธเจ้าทุกอย่าง พระพุทธเจ้าก็ไม่โกรธ เพราะว่าพระองค์ไม่โกรธ อารมณ์พระองค์จึงมีความสุข และก็พระองค์ไปนิพพาน คนที่โกรธพระพุทธเจ้า ยั่วให้พระพุทธเจ้าโกรธ ทุกท่านไปอเวจีทั้งหมด

    เอาละ บรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคต ความจริงการศึกษาเข้ามาระดับนี้ มันสบาย ๆ ไม่มีอะไรมาก เพราะเข้าถึงจุดที่จะเข้าถึงพระนิพพานอยู่แล้ว วันนี้หมดเวลา ขอบรรดาท่านสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วทุกท่าน จงตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น อยู่ในอิริยาบถที่ท่านเห็นว่าสบาย กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าท่านเห็นว่าเวลานั้นควรจะเลิก สวัสดี
     
  6. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - อนุสสติ ๕ : พุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน สีลานุสสติกรรมฐาน อุปสมานุสสติกรรมฐาน - ตอนที่ ๖ อารมณ์พระอรหันต์ ( ตอนจบ )

    โอกาสนี้ บรรดาท่านสาธุชนพุทธบริษัท และพระโยคาวจรทั้งหลาย ได้พากันสมาทานศีล พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอท่านทั้งหลายโปรดตั้งใจสดับคำแนะนำการศึกษาซึ่งจะแนะนำในด้านพระอรหัตผล สำหรับภาคนี้เป็นภาคของพระอรหัตผล ท่านทั้งหลายคงจะยังไม่ลืมว่าที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สำหรับพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี เป็นผู้ทรงอธิศีล คือมีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย แต่ทว่าเป็นผู้มีความมั่นคงในศีล สำหรับพระอนาคามี เป็นผู้ทรงอธิจิต นี้หมายความว่าศีลของท่านบริสุทธิ์ถึงศีล ๘ และก็มีจิตทรงสมาธิมั่นคงถึงฌาน ๔ อย่าลืมว่าจริยาอาการของพระอนาคามี ท่านผู้ทรงความเป็นพระอนาคามีนั้นจะมีศึล ๘ เป็นปรกติ จะสมาทานหรือไม่สมาทานไม่มีความสำคัญ ผู้มีศีลไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องนั่งสมาทานกันทั้งวันทั้งคืน ศึลที่จะมีจริงๆ อยู่ที่ตัวเว้น เราไม่สมาทานเลยแต่ว่าเราเว้น ที่เขาเรียกกันว่าวิรัติ คำว่าวิรัติแปลว่าเว้น เว้นจากความชั่ว ๕ ประการชื่อว่าเป็นผู้มีศีล ๕ เว้นจากความชั่ว ๘ ประการชื่อว่าเป็นผู้มีศีล ๘

    ฉะนั้นท่านที่ทรงความเป็นพระอนาคามีจะมีศีล ๘ เป็นปรกติ เพราะว่าเป็นศีลพรหมจรรย์ จะเห็นว่าพระอนาคามีหมดกามฉันทะ หมดความโกรธพยาบาทหรือปฏิฆะคืออารมณ์ที่ไม่พอใจ อารมณ์ที่สะดุดใจให้ไม่สบายเกิดขึ้น ไอ้ความขัดข้องไม่มีอยู่ในพระอนาคามี สำหรับพระอรหันต์เป็นผู้ทรงอธิปัญญา รวมความว่าพระอรหันต์นี่ทรงครบ ศีลก็บริสุทธิ์ สมาธิก็ทรงตัวตั้งมั่น ปัญญาก็รอบรู้จริงๆ สำหรับการปฏิบัติ เท่าที่ผมอธิบายมารู้สึกว่ามันเยิ่นเย้อเกินไป แต่ว่านั่นเป็นแนวแห่งคำสอน วิธีปฏิบัติจริงๆ นี่ไม่มีใครเขามุ่งพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี คือขึ้นต้นกันจริงๆ ก็มุ่งพระอรหันตผลกันเลย แต่ว่าอาการมุ่งพระอรหัตผลนี่ เขาถือว่าอย่างเลวที่สุดจิตจะจับไว้เฉพาะพระโสดาบันก่อนเป็นอันดับแรก เพราะว่าเป็นของง่าย ความจริงการทรงพระโสดาบันไม่มีอะไรจะยาก เพียงทรงศีลบริสุทธิ์ ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์เราก็เป็นมนุษย์ไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าร่างกายเป็นมนุษย์ก็ถือว่าเป็นมนุสเปโต คือร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นเปรต มนุสเดรัจฉาโน ร่างกายเป็นมนุษย์แต่ทว่าจิตใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน มนุสนิรโย ร่างกายเป็นมนุษย์แต่จิตใจเป็นสัตว์นรก ตายแล้วก็ไปตามนั้น คำว่ามนุษย์แปลว่าผู้มีใจสูง หมายความว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ทรงศีล ๕ หรือว่าทรงกรรมบถ ๑๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านถือว่าผู้ใดทรงกรรมบถ ๑๐ ผู้นั้นมีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ เพราะว่ากรรมบถ ๑๐ เป็นธรรมให้บุคคลไปเกิดเป็นมนุษย์

    เป็นอันว่าตอนนี้เราก็พูดกันถึงพระอรหัตผล ก็ขอย้อนต้นไปถึงปลาย อันดับแรก การที่จะเข้ามาเจริญพระกรรมฐาน ก็ต้องใช้อารมณ์อย่างหนึ่งที่เราทิ้งไม่ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เป็นพระพุทธเจ้าแล้วท่านยังไม่ละ พระอรหันต์ทุกองค์ที่ทรงความเป็นพระอรหันต์แล้วยังไม่ละ นั่นก็คือสมถภาวนา ๒ ประการ ได้แก่ ๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เพื่อความอยู่เป็นสุขของเราเพราะเป็นการระงับทุกขเวทนา และประการที่ ๒ กายคตานุสสติ สำหรับสมถะ พิจารณาเห็นว่าร่างกายมันเป็นของสกปรก โสโครก ไม่ทรงตัว

    ประการที่ ๓ ขอแถมนิด พระอรหันต์ก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี ไม่ลืมความตาย ตามที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูก่อน อานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์ทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงความตายวันหนึ่งประมาณ ๗ ครั้ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า อานันทะ ดูก่อน อานนท์ เธอนึกถึงความตายห่างเกินไป สำหรับตถาคตนี้นึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ตอนนี้จำกันได้แล้วหรือยังว่าพื้นฐานที่จะทรงให้เราเป็นพระอริยเจ้าได้ ต้องทรงสมถะเป็นประจำนั่นก็คือ ๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเป็นปรกติ ๒ กายคตานุสสติ เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ทรงตัว แบ่งเป็นอาการ ๓๒ ควบกับอสุภกรรมฐานมีความสกปรกเป็นปรกติ ประการที่ ๓ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ มีความรู้สึกว่า เราจะต้องตายเดี๋ยวนี้อยู่เสมอ ความประมาทมันก็ไม่มี

    เป็นอันว่าถ้าบรรดาท่านทั้งหลาย ทรงอารมณ์ทั้ง ๓ ประการนี้ทรงตัว คำว่าทรงตัวที่เรียกกันว่าเป็นฌาน คำว่าฌานผมถือว่าคืออารมณ์ชิน อารมณ์นี้ทรงอยู่เป็นปรกติในใจของเรา ถ้าทรงอารมณ์ทั้ง ๓ ประการนี้ได้เป็นปรกติ ถ้าท่านจะเป็นพระโสดาบัน ท่านก็เป็นได้ภายใน ๗ วัน ถ้ามุ่งจะเป็นพระสกิทาคามี ผมว่าไม่เกิน ๑๕ วัน ถ้ามุ่งจะเป็นพระอนาคามี ผมก็คิดว่าไม่เกิน ๑ เดือน ถ้ามุ่งจะเป็นพระอรหันต์ ผมว่าไม่เกิน ๗ เดือนเป็นอย่างมาก เพราะอะไรก็ลองคิดดูว่าคนเราถ้าลองคิดว่าเราจะต้องตาย แล้วก็มานั่งพิจารณาในด้านวิปัสสนาญาณว่า การทรงชีวิตอยู่นี่มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ใช้ปัญญาอย่าใช้แต่สมถะ นั่งหลับหูหลับตากับมันค่ำคืนยันรุ่งโดยไม่ได้ใช้ปัญญา ไม่ใช้อาการสัมผัส ไม่ใช้ตาสัมผัส ไม่ใช้หูสัมผัส ไม่ใช้กายสัมผัส ไปนั่งเงียบอยู่ในเขาลำเนาป่า อยู่แต่ในห้องโดยเฉพาะก็คิดว่าจิตของตนบริสุทธิ์ เพราะว่าไม่กระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่ต่อสู้กับความจริง ในที่สุดก็จะเป็นแบบท่านพระผู้ถูกควายเขาอ่อนขวิด เมื่อเข้ามากระทบกับอารมณ์จริงๆ แล้วมันก็จะทนไม่ไหว ฉะนั้นการปฏิบัติจะเป็นด้านสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี หวังเป็นผู้ทรงฌานโลกีย์ก็ดี ฌานโลกุตระก็ดี เขาต้องสู้กับความจริง ไม่ใช่หนีความจริง ฉะนั้นเราจะต้องมีอารมณ์สัมผัสอยู่เสมอ จะต้องไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าเราดี ความเป็นพระอรหันต์มีอยู่ตรงไหน

    อันดับแรกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาสักกายทิฏฐิ ความจริงตัดตรงนี้แห่งเดียว ไม่ใช่ตัดที่ไหน สักกายทิฏฐิ พิจารณาร่างกายคือขันธ์ ๕ ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๕ อย่างนี้ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา ที่ว่าขันธ์ ๕ ไม่มีในเราไปลงกับในสมถะ คำที่เรียกกันว่า ตาย สมถะเห็นว่ากายตาย วิปัสสนาเห็นว่ากายพัง เราไม่มีอำนาจควบคุมกายให้ทรงตัว กายมันจะแก่ เราห้ามแก่ไม่ได้ กายมันจะป่วย เราห้ามป่วยไม่ได้ กายมันจะตาย เราห้ามตายไม่ได้ เขาทำกันยังไง วิธีที่เขาทำ เขาใช้ปัญญา นั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ ทำกิจการงานอยู่ มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า คนที่มีอิริยาบถอย่างเราๆ นี่ ท่านตายไปแล้วนับไม่ถ้วน ในสถานที่ที่เรานั่งอยู่นี่ เรายืนอยู่ เราเดินอยู่ หรือเราอาศัยอยู่ ในสถานที่ที่ตรงนี้เคยมีคนตายสัตว์ตายแล้วนับไม่ถ้วน หากว่าถ้าเราตายแล้วเกิดมันจะมีผลอะไร ดูผลของการเกิด เกิดอยู่ในท้องแม่ก็ทุกข์ ออกมาจากท้องแม่เป็นเด็กช่วยตัวเองไม่ได้ก็ทุกข์ เป็นเด็กโตขึ้นไปหน่อย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องอาศัยพ่ออาศัยแม่ อาการที่เราอาศัยท่าน ท่านมีเมตตาก็จริงแหล่ แต่ทว่าสิ่งที่เราปรารถนามันไม่ค่อยจะสมหวัง เราก็เป็นทุกข์ โตขึ้นมาแล้วพ้นจากอกพ่ออกแม่ก็ต้องประกอบกิจการงานหนัก งานทุกอย่างเป็นปัจจัยของความทุกข์ เรามีคู่ครองไม่ใช่ว่าเราจะเปลื้องความทุกข์ เราก็ไปดึงเอาความทุกข์เข้ามา มีลูกมีหลานมากเท่าไหร่ ทุกข์มากเท่านั้น เราก็แก่ไปทุกวัน ถ้าหากว่าเรายังดิ้นรนเพื่อการเกาะ มันก็ต้องเกิด เกิดเมื่อไรทุกข์เมื่อนั้น เกิดเป็นคนเป็นมนุษย์ยังดีกว่าเกิดในอบายภูมิ แต่เกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ทุกข์ยิ่งกว่าความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็พักทุกข์ชั่วคราว หมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องกลับมาทุกข์กันใหม่

    เราก็พิจารณาไปว่าร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้โดยนำเอาสักกายทิฏฐิ กายคตานุสสติกับอสุภกรรมฐานมาควบ หาความจริงว่าร่างกายไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่เป็นแท่งทึบ ร่างกายนี่แบ่งเป็นอาการ ๓๒ เต็มไปด้วยความสกปรกโสมม เป็นสิ่งโสโครก ถ้าเราปรารถนาในการครองคู่ มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เราอยู่ตัวคนเดียว เราก็เป็นทุกข์ ถ้าเรามีคู่ครองเราก็เพิ่มทุกข์ แล้วใครบ้างที่จะเป็นที่พึ่งของเรา ไม่มี แต่ขืนไปดึงเอากิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาก็มุ่งเอากิเลสใหญ่ หันเข้าไปดู ราคะ ความรักในระหว่างเพศ จุดไหนบ้างที่เป็นของสวยในเพื่อนระหว่างเพศไม่มี แล้วมีใครทรงตัวในความเป็นหนุ่มเป็นสาวบ้าง ไม่มี คนแก่เราอยากจะแต่งงานด้วยมั้ย อายุสัก ๘๐ ปี หนังก็ย่น หน้าก็ตกกระ ผมหงอก ฟันหัก ตาขาวโหล หลังโก่ง ทำอะไรไม่ไหว อยากจะแต่งงานด้วยไหม ถ้าเราไม่พอใจคนที่มีสภาพอย่างนี้ ก็จงนึกว่าเราก็ดี คนที่เราจะคิดว่าจะแต่งงานด้วยก็ดี ถ้ามีอายุถึงปานนั้นแล้วเราจะหลีกเลี่ยงได้หรือเปล่า ใช้ปัญญาพิจารณาดูให้ดี ตอนนี้เป็นตัวปัญญา

    แล้วก็มาตอนโลภะ ความโลภ อย่าลืมนะ คนถ้าเป็นพระอริยเจ้าหรือว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติตั้งแต่ฌานโลกีย์ขึ้นมา ถ้าอารมณ์จิตเริ่มทรงฌาน หรือก้าวเข้าเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ทุกระดับนี้ฌานโลกีย์ถ้าทรงตัวลาภจะมาก ถ้ายิ่งเป็นพระอริยเจ้าก็มีลาภมากขึ้น พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี จะรวยขึ้นตามลำดับ ถ้าถึงพระอรหันต์ก็รวยใหญ่ รวยตรงไหน รวยที่มันตัดโลภะ ความโลภ ทรงฌานโลกีย์จิตระงับความโลภ เป็นพระโสดาบันจิตเริ่มตัดความโลภ ไม่ใช่ระงับเฉยๆ เริ่มตัด ถึงพระสกิทาคามีตัดความโลภมากขึ้น ถึงพระอนาคามีตัดความโลภเกือบหมด ถึงพระอรหันต์ความโลภไม่เหลืออยู่ในใจ เมื่อความโลภมันหมดไป ลาภมันก็เกิด พระอริยเจ้าอยู่ที่ไหน อยู่ในป่าอยู่ในดงมันก็เป็นวัด แล้วก็คงจะไม่ใช่วัดโกร่งเกร่ง จะเป็นวัดที่เต็มไปด้วยความแจ่มใส ดูตัวอย่างหลวงปู่บุญมีที่ดอยโมคคัลลาน์ ใกล้ดอยอินทนนท์ ที่นั่นคนขึ้นไปหาก็แสนยาก ท่านขึ้นไปอยู่ใหม่ๆ ๗-๘ วัน จะมีคนเอาข้าวไปให้กินสักครั้ง คนเต็มไปด้วยความคับแคบข้องใจ แต่ในระยะต้น ระยะหลังนี่กลับมาใหม่ เมื่อจิตดีแล้ว เพียงแค่ ๒ ปี วัดก็มีราคาเป็นล้าน คนนั้นก็อยากไปสร้างให้ คนนี้ก็อยากไปสร้างให้ แต่ว่าท่านจะเป็นพระอริยเจ้าหรือไม่ นี่ผมไม่ทราบ แต่เวลาคุยกับท่าน ท่านก็คุยอยู่ข้อเดียวคือตัดสักกายทิฏฐิ

    นี่อันนี้ท่านทั้งหลายจะพึงเห็นว่าจิตถ้าบริสุทธิ์มากเพียงใด ลาภสักการะมันก็เกิดมากเพียงนั้น เมื่อลาภสักการะเกิดก็จงอย่าไปคิดว่าท่านทุกคนจะติดลาภสักการะ ความจริงเปล่า เพราะใจท่านไม่ติด ตอนนี้นะเราจะต้องคิด อันดับแรกเราก็ไปจับจุดตัดกามราคะเสียก่อน เห็นว่ามันไม่เป็นประโยชน์ นี่ผมพูดตั้งแต่เริ่มปฏิบัติครั้งแรกนะครับ แล้วต่อมาก็มองดูทรัพย์สินทั้งหลาย ว่าคนที่แบกทรัพย์สินทั้งหลายมากเท่าไหร่ก็ตามที เขาก็ตาย มีทรัพย์มากก็ตาย มีทรัพย์น้อยก็ตาย จนก็ตาย รวยก็ตาย ฉะนั้นจิตใจจะไปนั่งมัวเมาอยู่ในทรัพย์สินเพื่ออะไร ทรัพย์มี ดี มีประโยชน์ ได้ทรัพย์มากเท่าไหร่ ทำทรัพย์นั้นให้เป็นสาธารณประโยชน์ให้มากขึ้น จงอย่าเอาจิตเข้าไปติดในทรัพย์ เป็นแต่เพียงว่ารับมาแล้วเพื่อทำประโยชน์ใหญ่ให้เป็นสาธารณะให้มากขึ้น ใจไม่เกาะ

    ต่อมาอำนาจของความโกรธ ก็มานั่งดูสักกายทิฏฐิ เราโกรธน่ะเราอยากจะฆ่ากายของเขา เราอยากจะประทุษร้ายร่างกายของเขา แต่ไอ้ร่างกายนี่ เขาเองเขาก็ทรงตัวไว้ไม่ได้ เขาห้ามความแก่ไม่ได้ เขาห้ามความป่วยไม่ได้ เขาห้ามความตายไม่ได้ เราจะไปนั่งโกรธร่างกายของเขาด้วยเรื่องอะไร อยากประทุษร้ายเขามันก็สร้างความชั่วให้แก่เรา เราไม่ต้องไปทรมานเขา เขาก็ทุกข์ เราไม่ต้องฆ่าเขา เขาก็ตาย ยกมันไปไม่ดีกว่าหรือ เขาชั่วปล่อยเขาชั่วไปแต่ผู้เดียว เขาด่าเรา เราไม่ด่าเขา เขาเลวคนเดียว เขาแกล้งเรา เราไม่แกล้งเขา เขาเลวคนเดียว เราไม่เลว ทำอารมณ์จิตให้เป็นสุข คิดว่านั่นเขาเป็นทาสของกิเลสและตัณหา

    สำหรับโมหะความหลง ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ อันดับแรกเราก็มาตัดความหลง มานั่งมองร่างกายเรา นั่งมองร่างกายของบุคคลอื่น มองดูความสกปรกของร่างกาย มองดูความเสื่อมไปของร่างกายและดูการเดินเข้าไปหาทางสลายตัวของร่างกาย มองดูร่างกายที่มันใช้เราคือจิตให้แสวงหาอาหารมาให้มัน กินแล้วมันก็ถ่าย ถ่ายแล้วมันก็กิน แต่ทว่ามันก็ทรุดโทรมลงไปทุกวัน มันดีหรือมันชั่ว แสดงว่าร่างกายนี้มันชั่ว เราควรจะมีร่างกายต่อไปไหม ก็เชื่อว่าเราไม่ควรจะมี ถ้าเราจะไม่มีร่างกายต่อไป เราจะทำยังไง เราก็ต้องเป็นคนใช้ปัญญา ปัญญาของเราจะเอาอะไรมาใช้ ปัญญามันมีอยู่แล้วแต่เหตุที่จะต้องใช้ ต้องใช้ตามแนวที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงแนะนำ นั่นก็คือพิจารณาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ต้นจนอวสาน ในที่สุดองค์สมเด็จพระพิชิตมารว่า เราสามารถเข้าใจในอริยสัจด้วยปัญญา เราเป็นพระอรหันต์ อริยสัจ มองเห็นทุกข์ของคน ทุกข์ของตนเอง ทุกข์ของคนอื่น ทุกข์ของสัตว์โลกทั้งหมด ทุกข์มาจากไหน มาจากตัณหา ตัณหาคืออะไร คือความอยาก เราจะตัดตัณหา เราตัดตรงไหน ตัดที่ศีล สมาธิ ปัญญา อันนี้เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผมขอกล่าวโดยย่อ เราก็ทรงศีล สมาธิ ปัญญาให้ครบถ้วน เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาครบถ้วน จิตทรงตัวดี อันดับแรกเป็นฌานโลกีย์

    ต่อมาก็มานั่งดูว่าพระโสดาบันทรงอะไร พระโสดาบันทรงอธิศีลและไม่ข้องในกาย เราเป็นพระโสดาบัน พระอนาคามีมีอะไร พระสกิทาคามีผมไม่พูด พระอนาคามีคือตัดกามฉันทะ โดยใช้กายคตานุสสติกับอสุภกรรมฐาน และสักกายทิฏฐิควบกัน กายคตานุสสติ เห็นว่าร่างกายเป็นชิ้นเป็นท่อนเป็นตอน อสุภกรรมฐานเห็นว่าร่างกายสกปรก สักกายทิฏฐิ ไอ้สิ่งที่มันสกปรกอย่างนี้ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราอาศัยมัน พอใจมันทำไมสำหรับความสวยงามในร่างกาย มันเป็นความสกปรก ร่างกายเรา เราก็ไม่พอใจ ร่างกายเขา เราก็ไม่พอใจ เป็นอันว่าไม่สนใจ อย่าลืมนะ ตรงนี้ต้องสู้กับอารมณ์ ถ้าเราตัดกามฉันทะ เราก็หาคนสวย ถ้าชนหน้ากันเมื่อไหร่แล้วลับหลังเขา เราเห็นว่าไม่สวยเมื่อไหร่ เมื่อนั้นใช้ได้ จิตใจไม่ผูกพัน

    มาด้านโทสะ ความโกรธ พระอนาคามีตัดได้ด้วยอาศัยพรหมวิหาร ๔ กับสักกายทิฏฐิควบกัน ตามที่อธิบายมาแล้ว นี่ต้องใช้ปัญญานะ จะไปนั่งภาวนาอยู่เฉยๆ มันไม่ไป มองดูโทษของความโกรธ และมองดูโทษอารมณ์ที่โกรธ มันไม่ได้เกิดประโยชน์ตามที่กล่าวมา เมื่อถึงพระอนาคามีแล้ว ความเป็นพระอรหันต์เก็บเล็กเก็บน้อย เป็นของสบายๆ ใช้ปัญญาว่ารูปฌานและอรูปฌานเป็นบันไดสำหรับก้าวเข้าไปสู่พระนิพพาน เราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ มานะ การถือตัวถือตน ไปถืออะไรกันตรงไหน ถือนี่มันถือกาย ถือความเลว ถือชาติตระกูล ถือฐานะ ถือวิชาความรู้ ไอ้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่ทรงตัวนี่ ไปถืออะไรกัน คนกับสัตว์มีสภาวะเท่ากัน ถ้าเราเป็นเพื่อนกับสัตว์ได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นชื่อว่าจิตเราปลดมานะได้ ถ้าเรายังเห็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์ขี้เรื้อนเป็นที่น่ารังเกียจ เวลานั้นชื่อว่าเรายังเป็นผู้ตัดมานะยังไม่ได้ จำให้ดีเท่านี้นะ ทำใจให้มันลงตัว และอุทธัทจะ อารมณ์ฟุ้งซ่าน นี่หมายความว่าอารมณ์เราจับนิพพานตรงหรือเปล่า โลภะ ความโลภ มีในจิตหรือเปล่า ราคะ ความกำหนดยินดี มีในอารมณ์หรือเปล่า โทสะ ความพยาบาท ความโกรธ มีในใจหรือเปล่า จิตเรายังนึกถึงถือว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นของเราหรือเปล่า ถ้ายังมีอยู่ ยังตัดไม่ได้ อารมณ์ต้องเบาในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมด จิตกำหนดเฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้ชื่อว่าตัดอุทธัทจะ คืออารมณ์ฟุ้งซ่านได้

    และก็อวิชชามันไม่มีอะไร อวิชชานี่แปลว่าไม่รู้ เหลือนิดเดียว อวิชชาที่อารมณ์จิตคิดว่า การทรงเป็นอนาคามียังดี เกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็หมดกัน อย่างนี้เราตัดมันทิ้งไป ตั้งใจเฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์ พอจิตเข้าถึงอรหัตผล จิตใจของเราจะมีอาการของความเบา ไม่มีความรู้สึกหนักในกรณีทั้งปวง จะมีอารมณ์โปร่ง มีใจเป็นสุข เขาจะมาในด้านไหน กามฉันทะมาก็เหลว โลภะ ความโลภ เขาจะนำมาก็เหลว โทะสะ ความโกรธมายั่วเย้าก็เหลว โมหะ เข้ามายั่วเพียงใดก็เหลว ใจเราไม่ติด อารมณ์มันสบายๆ คล้ายๆ กับว่ามือไม่เกาะอะไรทั้งหมด จิตมันโปร่ง มีอารมณ์เป็นสุข เห็นคนสวยก็เหมือนกับเห็นเปรต เห็นทรัพย์สินทั้งหลายก็เหมือนเห็นก้อนดินเหนียว เห็นบุคคลทำให้โกรธเราก็นึกว่าเราเห็นคนบ้า เห็นร่างกายกายาทรัพย์สินทั้งหลาย เห็นวัตถุเหมือนไร้ค่า จิตใจเป็นสุข อารมณ์โปร่ง เท่านี้ล่ะ บรรดาท่านทั้งหลาย เป็นอาการที่เป็นกรปฏิบัติตนให้เข้าถึงพระอรหัตผล ผมพูดมาน่ะมันยาวเกินไป แต่ความจริงการปฏิบัติ เขาปฏิบัติกันแบบนี้ เขาลัดๆ กัน ประเดี๋ยวก็ถึง

    เอาละ ท่านทั้งหลาย มองดูเวลา แต่ความจริงเรื่องนี้เราย้ำกันมาเป็นปี เห็นว่าเท่านี้ก็พอ เวลาก็หมดเสียแล้ว ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ สำหรับด้านอนุสสติ ๕ ประการ ที่เริ่มต้นด้วยพระโสดาบัน ก็ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ต่อนี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก อยู่ในอิริยาบถที่ท่านต้องการจนกว่าจะถึงเวลานั้นที่ท่านเห็นว่าสมควร สวัสดี
     

แชร์หน้านี้

Loading...