หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - เทวตานุสติกรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย กาลกตา, 17 กรกฎาคม 2009.

  1. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    [​IMG]

    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - เทวตานุสสติ ตอนที่ ๑

    โอกาสนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อแต่นี้ไปก็เป็นโอกาสที่บรรดาท่านพุทธบริษัทจะรับฟังคำแนะนำในการเจริญพระกรรมฐาน สำหรับวันนี้ ก็จะขอแนะนำในด้านของเทวตานุสติกรรมฐาน คำว่าเทวตานุสติกรรมฐานหมายถึงว่า เอาจิตเข้าไปตั้งไว้ในอารมณ์ที่นึกถึงความดีของเทวดา หรือว่าคุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา เมื่อพูดถึงเทวดาแล้วก็รู้สึกว่าบรรดาท่านทั้งหลายที่รับฟัง บางท่านอาจจะฟังมาจากที่อื่นว่าเทวดาไม่มีบ้าง การเชื่อถือเทวดาถือว่าเป็นคนโง่เกินไปบ้าง ทว่าเวลานี้มีกระแสเสียงต่างๆ ปรากฎขึ้นในทำนองที่ไม่ยอมรับนับถือว่าเทวดามี แต่ความเข้าใจอย่างนั้น เรื่องของท่านผู้นั้นจะเป็นยังไง ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายก็จงอย่าไปสนใจ อย่าคิดว่าท่านพวกนั้นคิดถูกหรือว่าคิดผิด เราก็จงมาคิดว่าคำว่าเทวตานุสติกรรมฐาน การแนะนำให้รู้จักเทวธรรม คือธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดานี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์ตรัสเอง ไม่มีใครแต่งขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระพุทธประวัติคือประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ดี ประวัติของพระสาวกก็ดี ก็ปรากฏว่ามีเรื่องราวที่สัมผัสกับเทวดามามาก

    ฉะนั้น ในเมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่าเทวดามีจริง ถ้าเรามีความเคารพในพระองค์ เราก็ยอมรับนับถือไว้ก่อน แต่ทว่าวิธีการที่จะเปลื้องความสงสัยว่า เทวดามีจริงหรือว่าเทวดาไม่มี ความจริงเรื่องนี้เป็นของไม่แปลก เป็นความรู้ขั้นประถมในหลักสูตรของพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความรู้ด้านขั้นพระอริยเจ้า เป็นแต่เพียงว่าถ้าเราสามารถจะสร้างฌานโลกีย์ให้เกิด อันดับแรกเราจะทรงจิตแค่อุปจารสมาธิ ที่เราเรียกกันว่ายังไม่ขึ้นประถมปีที่ ๑ ของหลักสูตรพระพุทธศาสนา แล้วก็ใช้อุปจารสมาธิฝึกจิตให้เข้าถึงด้านทิพจักขุญาณ เพียงเท่านี้ เรื่องนรก เรื่องเปรต อสุรกาย เทวดา พรหมหรือสัมภเวสีก็จะปรากฎกับเราเอง ไม่ต้องไปนั่งเดา แล้วก็ไม่ต้องไปคัดค้านคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มันเป็นบาป ไอ้คำว่าบาปนี่แปลว่าชั่ว ถ้าจิตของเราคิดผิดจากความดีก็ชื่อว่าจิตคิดชั่ว ปากพูดผิดจากความเป็นจริงก็เรียกว่าปากชั่ว กายทำไม่ดีก็เรียกว่ากายชั่ว แต่ทั้งนี้ขอท่านทั้งหลายจงอย่าไปประณามท่านที่คัดค้านว่าเทวดาไม่มีหรือว่าพรหมไม่มีว่าชั่ว นั่นมันเป็นเรื่องของท่าน เรื่องของท่านเราอย่าสนใจ เราจงสนใจแต่กำลังใจของเราเองให้อยู่ในขอบเขตของความดีเท่านั้นเป็นพอ ถ้าเรามีใจดีเสียอย่างเดียว กายของเราก็ดี วาจาของเราก็ดีด้วย

    วันนี้ก็จะขอพูดเรื่องเทวธรรม หรือว่าเทวตานุสติกรรมฐาน สำหรับกรรมฐานข้อนี้ ผมจะพูดเพียง ๒ หน้าของคาสเส็ทท์เท่านั้น เพราะว่าเป็นกรรมฐานใหญ่ เป็นกรรมฐานใหญ่และก็เป็นกรรมฐานก้าวเข้าไปสู่ระดับความดีอันดับสูงมาก การที่พระพุทธเจ้าทรงให้นึกถึงเทวดาเป็นอารมณ์ แต่ความจริงไม่ได้ให้นึกถึงเทวดาชั้นนั้นชั้นนี้โดยเฉพาะ คือให้เราทั้งหลายพากันคิดว่า ท่านที่เป็นเทวดานั้น ท่านทำอะไรจึงเป็นเทวดา พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ผลมาจากเหตุ ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่มีผล คำว่าเทวดาเป็นผล ก็ต้องไปนั่งดูว่าเหตุที่จะทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้น เขาทำกันยังไง เพราะถ้าเราจะดูในพระสูตร ก็จะพบว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงตรัสไว้ว่า เทวธรรมคือธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นมีอยู่ ๒ ข้อ คือ

    ๑ หิริ ความละอายต่อความชั่ว
    ๒ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่วที่จะให้ผลเป็นทุกข์

    อารมณ์จิต ๒ ประการนี้ทำคนให้เทวดา ถ้าหากว่าท่านผู้นั้นยังเป็นมนุษย์ธรรมดาอยู่ ก็ถือว่าร่างกายของท่านเป็นมนุษย์แต่จิตของท่านเป็นจิตของเทวดา ถ้าตายจากคนก็เป็นเทวดา คำว่าเทวดาอีกศัพท์หนึ่งเขาเรียกว่าเทพ เทวะหรือเทวดานี่เขาแปลว่า ผู้ประเสริฐ แบ่งเป็น ๓ ชั้นด้วยกัน

    ๑ สมมติเทพ คนที่ทรงจิตมีคุณธรรมอยู่ในด้านของเทวธรรม คือมีหิริ ความละอายต่อความชั่ว โอตตัปปะ เกรงกลัวผลของความชั่วจะให้ผลเป็นทุกข์ และก็ไม่พยายามคิดชั่ว ไม่พยายามพูดชั่ว ไม่พยายามทำชั่ว อย่างนี้ท่านเรียกว่าสมมติเทพ ถีงแม้ว่าจะเป็นคนก็มีสภาพเหมือนเทวดา สมมติว่าท่านผู้นั้นเป็นเทวดาได้

    ๒ เรียกว่าอุปัตติเทพ นี่อยู่ในหลักสูตรนักธรรมโท อุปัตติเทพนี่หมายความว่าเกิดขึ้นไปนี่เป็นเทวดาเลย เป็นเทวดาหรือพรหม เราก็เรียกกันว่าเทวดา นั่นก็หมายความว่าท่านที่ทรงคุณธรรม ๒ ประการประจำใจ ปฏิบัติจิตใจให้หมดจด ปราศจากความชั่วอันดับต้น ที่เรียกกันว่าขั้นกามาวจรสวรรค์ หรือว่าสามารถจะทรงฌานสมาบัติ ทั้ง ๒ ประการนี้ เวลาตายจากคนก็ไปเป็นเทวดา เทวดาชั้นกามาวจรหรือว่าเทวดาชั้นพรหม

    ๓ สำหรับเทวดาอีกพวกหนึ่ง นั่นก็คือวิสุทธิเทพ วิสุทธิเทพนี่หมายความว่าเป็นเทวดาด้วยความบริสุทธิ์ คือพระอรหันต์ที่เข้าถึงพระนิพพาน

    เป็นอันว่าคำว่าเทวดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจัดไว้ ๓ ระดับ จงอย่าลืมว่าคำว่าเทวดาแปลว่าประเสริฐ ผู้ใดทรงคุณธรรมของความเทวดาได้ บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐถ้าเป็นคน แต่ก็ประเสริฐกันตามลำดับ ประเสริฐเล็ก ประเสริฐกลาง ประเสริฐใหญ่ ประเสริฐเล็กก็หมายความว่า ทรงคุณธรรมความดีได้ คือมีทานเป็นปัจจัย มีศีลเป็นปัจจัย มีภาวนาเป็นปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวนาได้ถึงขั้นขณิกสมาธิหรืออุปจารสมาธิ อย่างนี้ถือว่าเป็นเทวดาเล็ก ถ้ายังมีชีวิตอยู่ เรียกว่าร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเทวดา ถ้าตายจากคนขึ้นไปก็เป็นเทวดาขนาดย่อม เรียกว่าเป็นเทวดาขนาดขั้นกามาวจรสวรรค์ คือไปเกิดเป็นเทวดา ๖ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่งก็ได้

    ถ้าหากว่าทรงอารมณ์ในทานการบริจาค จิตใจตั้งไว้เป็นปรกติ คิดไว้เสมอว่า เราต้องการจะสงเคราะห์บุคคลอื่นให้มีความสุข จิตใจตั้งอยู่อย่างนี้เป็นอารมณ์ หรือว่าจิตมีการทรงศีลเป็นปรกติ ไม่ยอมให้จิตเคลื่อนจากอารมณ์ของศีล หรือว่าเจริญฌานสมาบัติอย่างอื่น จนกระทั่งมีอารมณ์เป็นฌาน ถ้ามีเป็นอารมณ์ คำว่าเป็นอารมณ์หมายความว่าจิตทรงตัวอยู่อย่างนั้น ในเมื่อเวลาจะตาย จิตยังมั่นหมายคิด มีความประสงค์ในการให้ทาน จิตยังมีความรักเหนียวแน่นในศีล จิตยังมีความรักเหนียวแน่นในอารมณ์ฌานอย่างอื่น อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ตายในระหว่างฌาน ถ้าอย่างนี้เป็นเทวดาขั้นกลางคือเป็นพรหม ตายจากคนแล้วก็ไปเป็นพรหม

    ถ้าจิตสามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ไม่ยึดถือร่างกายของเราเองว่าเป็นเราเป็นของเรา และก็ไม่สนใจในร่างกายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น ไม่สนใจในวัตถุธาตุใดๆ ทั้งหมด ถือว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของโลกีย์วิสัย ถ้าไปสนใจกับมันเข้า มันเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ จิตใจเราปลดร่างกายของเรา ปลดร่างกายของบุคคลอื่น แล้วก็ปลดวัตถุธาตุทั้งหมด ไม่มีเยื่อใยในวัตถุธาตุใดๆ แล้วก็ไม่มีความพอใจในการเป็นเทวดาชั้นกามาวจรสวรรค์ ไม่มีความพอใจในการเป็นพรหม เพราะว่าเห็นว่าเป็นปัจจัยที่ยังไม่พ้นจากความทุกข์แน่นอน ใจของเรามีอย่างเดียวคือต้องการพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้ชื่อว่าเป็นเทวดาสูงสุด หมดกิจกันในพระพุทธศาสนา

    ในเมื่อคุยกันมาถึงตอนนี้แล้ว ต่อไปก็จะขอคุยถึงปฏิปทาเสียก่อน ความจริงบุคคลที่เจริญเทวตานุสสติกรรมฐาน ถ้าท่านทรงจิตในเขตนี้จริงๆ ล่ะก็ ผมขอโมทนาอย่างยิ่ง ไม่ว่าภิกษุสามเณรหรืออุบาสกอุบาสิกา ถือว่าทุกท่านเป็นผู้มีอารมณ์เลิศประเสริฐจริงๆ ผมขอยกย่องบุคคลประเภทนี้ เพราะอะไร เพราะว่าเป็นคนที่มีกำลังใจสูงมาก ทำไมจึงว่ายังงั้น ถ้าจะถามว่าเจริญพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ อุปสมานุสติก็ยกย่องว่าดี ถือว่าท่านเจริญในเขตนี้แล้ว อยู่ในเขตของพระโสดาบัน แล้วก็ทำไมมานั่งชมกันว่าท่านที่มีจิตใจเข้าถึงเทวตานุสติกรรมฐานเป็นผู้เลิศ เพราะว่าอนุสติทั้ง ๕ ตามที่กล่าวมา เริ่มต้นก็เข้าเขตของพระโสดาบัน แต่ว่าเทวตานุสตินี้นั้น พอเริ่มต้นก็เข้าพระนิพพานเลย ถ้าหากว่าท่านสงสัย คิดตามผมไปด้วย คิดตามผม ฟัง ว่า

    ๑ หิริ ความละอายต่อความชั่ว ขึ้นชื่อว่าความชั่วทุกอย่าง ไม่ว่าชั่วเล็กหรือว่าชั่วใหญ่ ชั่วหยาบหรือชั่วละเอียด เราอาย ความจริงคนถ้าอายกันละเขาไม่สบตากัน หรือว่าเขาไม่อยากจะพบกัน ไม่อยากจะเห็นกัน นี่ถ้าคนอายความชั่ว ก็ไม่อยากจะเข้าไปใกล้ความชั่ว แม้แต่เงาของความชั่วก็ไม่อยากจะเห็น

    ๒ โอตตัปปะ เกรงกลัว เพราะว่าความกลัว หวาดกลัวในความชั่ว ผลของความชั่วที่จะบังเกิด เมื่อคนเราทุกคนไม่มีชั่วแล้วมันก็มีแต่ดี การไม่มีชั่วมีแต่ดี อะไรบ้างที่เรียกกันว่าชั่ว ถ้าจิตของท่านจับอยู่ในเทวตานุสสติกรรมฐานแล้วก็ท่านไม่ต้องมองจุดอื่นหรอก มองจุดเดียวสังโยชน์ ๑๐ ประการ

    ที่ผมสรรเสริญนี่สรรเสริญตรงนี้ เอาจิตเราไปมองสังโยชน์ ๑๐ ประการ จะไปมองอย่างอื่นน่ะมันเลอะเทอะไป เพราะว่าใจเรามีกำลังสูง มองสังโยชน์ ๑๐ ประการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สักกายทิฏฐิ ความรู้สึกที่มีความเห็นว่าอัตภาพร่างกายหรือเราเรียกว่าขันธ์ ๕ ที่เรียกกันว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้ผมไม่ค่อยอยากจะพูด เพราะว่าทำใจของท่านมันยุ่ง ฟังกันแบบง่ายๆ ก็คือ เรียกว่าเราเอาร่างกายก็แล้วกัน ไอ้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้มันก็กาย คำว่ารูปก็คือสิ่งที่เรามองเห็น ได้แก่เนื้อได้แก่หนังเป็นต้น เวทนานี่ความเสวยอารมณ์ที่มีความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง สัญญาได้แก่ความจำ จำดีบ้าง จำชั่วบ้าง สังขารเรียกว่าอารมณ์ที่ปรุงแต่งใจ ปรุงแต่งในด้านของความดีที่เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งในต้านของความชั่วเรียกว่า อปุญญาภิสังขาร และก็อารมณ์ที่ทรงเ
    ฉยๆ เรียกอุเบกขารมณ์ อย่างนี้เรียกว่าอเนญชาภิสังขาร อเนญชาภิสังขารนี่คืออารมณ์ความเป็นพระอรหันต์ แล้วก็วิญญาณได้แก่ความรู้สึก รู้สึกหนาว รู้สึกร้อน รู้สึกหิว รู้สึกกระหาย รู้สึกอะไรต่ออะไรทุกอย่าง รู้สึกเปรี้ยว รู้สึกเค็ม รู้สึกขม อย่างนี้เรียกว่าวิญญาณ วิญญาณตัวนี้ไม่ใช่จิต เป็นประสาทจุดหนึ่ง ที่รับสัมผัส ที่รู้สัมผัสทุกอย่างนั่นเอง

    นี่เป็นอันว่าขันธ์ ๕ นี่แบ่งออกเป็นอย่างนี้ มันก็อยู่ในตัวเรา ถ้าเราจะพูดกันให้ง่ายๆ ก็คือร่างกายนี่มันง่ายกว่า เราก็มานั่งพิจารณาดูว่า ขันธ์ ๕ คือร่างกาย ที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา อย่างนี้จริงมั้ย ความรู้สึกของเราเป็นยังไง ความรู้สึกของเรายังเกาะอยู่ในอารมณ์นี้หรือเปล่า ถ้าความรู้สึกของเรายังเกาะว่ามันยังเป็นเรา เป็นของเราอยู่ ก็แสดงว่าเรายังอายความชั่วไม่หมด นี้เราก็ไปนั่งกำหนดดูว่ามันมีความรู้สึกอย่างไหน มีความรู้สึกว่ากายนั้นยังเป็นเรา เป็นของเรา แต่ทว่าเรามีความรู้สึกอยู่เสมอว่ามันจะต้องตาย ในเมื่อรู้สึกว่ามันจะต้องตาย จิตจะคิดว่าถ้าเราตายจากความเป็นคน มันยังไม่ถึงที่สุดของชีวิต มันยังจะต้องตะเกียกตะกายต่อไปในวันหน้า หมายความว่าถ้ากิเลสยังไม่หมดเพียงใด มันยังต้องเกิด ถ้าพลาดจังหวะไปเกาะอารมณ์ชั่วเข้าก็ไปเกิดในอบายภูมิ คือเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น หรือเป็นคนก็หาความสมบูรณ์แบบไม่ได้ ถ้าดีสักหน่อยเกิดเป็นคน ดีขึ้นไปอีกนิด เกิดเป็นเทวดา ดีขึ้นไปอีกหน่อยเกิดเป็นพรหม ดีหมดเป็นพระอรหันต์ไปนิพพาน

    ก็เป็นอันว่าในเมื่อจิตใจของเรายังไม่สามารถจะปลดกายได้จริงๆ มันยังมีอารมณ์ยึดถืออยู่ แต่ทว่ารู้ว่ามันจะต้องตาย เราก็เตรียมตัวเตรียมใจต่อสู้เพื่อรับสถานการณ์ของความตาย ว่าการตายคราวนี้เราไม่ยอมไปนรก จะยึดมั่นเฉพาะจิตในความเกิดเป็นคนหรือเป็นเทวดา หรือเป็นพรหมให้ได้ เรียกว่าชาตินี้เป็นเริ่มต้นที่เราจะไม่ยอมไปอบายภูมิ เพราะอบายภูมิมันเป็นทุกข์ เราก็ทำยังไง เราต้องเข้าไปศึกษาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยปัญญา พิจารณาด้วยปัญญา คิดว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านี่ควรยอมรับนับถือมั้ย ถ้าใจของเราดี อายชั่วจริง เกรงชั่วจริง จิตใจต้องยอมรับเหตุยอมรับผลว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระทศพลนี่ดีแน่ ถ้าเราปฏิบัติตาม มันมีสุข สุขตั้งแต่ชาตินี้และสุขถึงชาติหน้า และก็มองต่อไป คิดว่าพระะธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เราจะยึดอะไรเป็นสำคัญ มันจึงจะไม่ลงอบายภูมิ มองไปในอันดับหยาบ เราก็จะทราบว่า ศีล ๕ มีความสำคัญที่สุด สำหรับเณรก็คือศีล ๑๐ สำหรับพระก็คือศีล ๒๒๗ มันเป็นศีลประจำตัว ในเมื่อมีความมั่นใจว่าศีลนี่สามารถจะให้เราทรงความดีเป็นสุขได้เมื่อตายไปแล้ว ชาตินี้เมื่อเรามีศีลบริสุทธ์ อารมณ์เราก็เป็นสุข ชาติหน้าเมื่อเราตายไปแล้ว ศีลก็พาไปในส่วนแห่งความสุขที่สุด

    ก็เป็นอันว่าเราก็ยึดศีลเป็นอารมณ์ เกาะไว้ก่อน กันอบายภูมิ มีอารมณ์ตัดสินใจว่าเราจะไม่ยอมเป็นคนหน้าด้านเข้าไปทำลายศีล ถ้าเราทำลายศีลข้อใดข้อหนึ่ง นั่นแสดงว่าเราหน้าด้านหรือว่าใจด้านเต็มที เราเป็นคนไม่มียางอาย อย่าลืมนะ ว่าเทวตานุสสตินี่เขามีอารมณ์อาย มีอารมณ์กลัว อายชั่ว กลัวชั่ว ฉะนั้นเมื่ออายชั่ว กลัวชั่ว ก็ต้องมองดูชั่วหยาบเสียก่อน ที่เราจะจับมันได้ง่าย นั่นก็คือจับศีลเข้าไว้ ถ้าเราละเมิดศีล แสดงว่าเราชั่วหยาบ เราทรงศีลบริสุทธ์ แสดงว่าเราทรงความดีหยาบ ยังไม่ละเอียดพอ จิตใจยึดศีลเป็นอารมณ์จนจิตตั้งมั่นเรียกว่า ทรงฌานในสีลานุสติกรรมฐาน ตามที่กล่าวมาแล้วว่าจะหลับอยู่ก็ดี จะตื่นอยู่ก็ดี จะทำกิจการงานใดๆ ก็ดี ภาระใดมันจะยุ่งสักเท่าไหร่ก็ตามที ในขณะนั้นจิตของเราจะไม่ยอมวางศีลเป็นอันขาด การที่จะทำลายศีลด้วยตนเองก็ดี ยุให้ชาวบ้านทำลายศีลก็ดี หรือยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลก็ดี ไม่มีสำหรับเรา เพราะเรารู้สึกว่านั่นมันเป็นความชั่วที่เราละอายที่สุด แล้วก็เป็นความชั่วที่เรามีความเกรงกลัวที่สุด นี่เทวตานุสสติกรรมฐาน เริ่มต้นเขาจับจุดนี้ พอจับจุดนี้ได้แล้วเราเป็นอะไร เราก็เป็นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ไม่ยาก

    ต่อไปจิตเราก็ก้าวต่อไปว่า ความเป็นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีนี่ ยังดีไม่พอ ถ้าเราทรงคุณธรรมเพียงเท่านี้ เราก็เป็นคนที่น่าอายที่สุด เพราะว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องอะไรเป็นสำคัญ ส่วนสำคัญที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องก็คือพระนิพพาน สมเด็จพระพิชิตมารไม่เคยทรงยกย่องอย่างอื่นที่มีความดีเหนือพระนิพพานเลย เราจะต้องทำกำลังใจของเราก้าวเข้าสู่พระนิพพานให้ได้ในชาตินี้ และก็ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ใช่ช้านัก เพราะเราไม่แน่ใจว่าชีวิตของเรานี่ มันจะอยู่ไปได้สักกี่วัน วันนี้เห็นดวงอาทิตย์ แต่วันพรุ่งนี้อาจจะไม่เห็นดวงอาทิตย์ก็ได้ วันนี้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า แต่ว่าในตอนบ่ายเราอาจจะไม่เห็นดวงอาทิตย์ก็ได้ เพราะอะไร เพราะว่าเราอาจจะตายก่อน ฉะนั้นจงรวบรวมกำลังใจ ประพฤติทรงธรรม ตามที่องค์สมเด็จพระชินวรทรงตรัส คือทำจิตให้มีความมั่นคง มีความประสงค์ที่จะตัดสังโยชน์อีก ๒ ประการ ก้าวเข้าไป สังโยชน์น่ะมันมี ๑๐ เราได้ ๓ ถ้าเราทรงเพียง ๓ เราก็เป็นคนที่น่าอายที่สุด เพราะว่ายังบูชาความชั่วอยู่ ความชั่วที่เราจะต้องตัดนั่นก็ได้แก่อะไร ได้แก่ ๑ กามฉันทะ มีความพอใจรูปสวย คือรูปที่มันไม่มีการทรงตัวในความสวย มีความพอใจในเสียงเพราะ มีความพอใจในกลิ่นหอม มีความพอใจในรสอร่อย มีความพอใจในการสัมผัสระหว่างเพศ จิตมั่วสุมในกามารมณ์ นี่มันเป็นความเลวทรามที่น่าละอายที่สุด เพราะว่ารูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัสทั้งหมด มันไม่มีอะไรจริงๆ ไม่มีความจริงจัง ความสวย ไม่ได้สวยจริง ร่างกายของคนและสัตว์เต็มไปด้วยความสกปรก วัตถุธาตุที่เราเห็นว่ามีความสวยงาม มันก็ไม่มีความทรงตัว มันสกปรกด้วยและก็หาการทรงตัวไม่ได้

    สำหรับกิเลสข้อที่ ๒ ที่เราจะต้องเหวี่ยงทิ้งมันไปให้ไกลที่สุดที่มันจะไกลได้ คือทั้งสองอย่างนี่แหละ ทั้งกามฉันทะก็ดี ปฏิฆะก็ดี ปฏิฆะเป็นข้อที่ ๒ หรือว่าข้อที่ ๕ ของสังโยชน์ การที่มีอารมณ์รับการกระทบแล้วเกิดความไม่พอใจ ไอ้คำว่าไม่พอใจนี้มันเป็นปัจจัยของความเร่าร้อนหรือความทุกข์ มันเป็นความเลวที่น่าละอายที่สุด ถ้าจิตใจของเรายังมีสภาพอยู่อย่างนั้น เราก็เลวเต็มที เพราะเราคบกับความชั่ว เราไม่มีความอายความชั่ว อารมณ์ของตัวเราถ้ามีความเร่าร้อนในการกระทบกระทั่งอารมณ์จากบุคคลอื่นที่กล่าวมาเป็นเครื่องสัมผัสแล้วก็มีความไม่พอใจ อันนี้เป็นความเลวใหญ่ เราจะต้องโยนทิ้งไปให้ได้ แต่ว่าท่านทั้งหลาย วันนี้โยนทิ้งยังไงล่ะ เวลามันหมดเสียแล้วนี่ เป็นอันว่าขอให้ท่านศึกษาในเทวตานุสสติกรรมฐาน ผมอยากให้ท่านทุกองค์สำหรับภิกษุและสามเณร และญาติโยมพุทธบริษัททุกท่าน อยากจะให้ทุกคนทรงเทวตานุสสติกรรมฐานนี้เป็นอารมณ์ ไม่ใช่ไปนั่งท่องจำ ให้จิตมันทรงตัว คิดว่าอะไรมันชั่ว เราไม่ยอมทำ เราอาย นี่เราเป็นคนหน้าบาง ไม่ใช่คนหน้าด้าน หรือเป็นคนใจบาง ไม่ใช่คนใจด้าน แล้วก็กลัว เป็นคนขี้ขลาดในความชั่วทั้งหมดที่จะปรากฎกับใจ

    เอาละ บรรดาท่านทั้งหลาย วันนี้เวลาหมดแล้วก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไปขอท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น อยู่ในอิริยาบถ ๔ ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 7 สิงหาคม 2009
  2. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260
    สาธุ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ
     
  3. กาลกตา

    กาลกตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    153
    ค่าพลัง:
    +424
    หลวงพ่อสอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ - เทวตานุสสติ ตอนจบ

    เรื่องของเทวตานุสติกรรมฐานนี่ ผมจะใช้เวลาไม่มาก เพราะว่าเป็นกรรมฐานที่มีความละเอียด ถ้าจิตใจของท่านผู้ใดมีความฝังใจอยู่ในเทวตานุสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ ก็ถือว่าท่านผู้นั้นควรจะเป็นพระอรหันต์ที่มีความรวดเร็วอย่างยิ่ง เพราะอะไร เพราะว่าเทวตานุสติกรรมฐานมีธรรมะประจำอยู่ ๒ ประการ คือ หิริและโอตตัปปะ หิริ ความอายต่อความชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่ว รวมความว่าท่านผู้ใดพอใจในเทวตานุสติกรรมฐาน ท่านผู้นั้นก็ไม่พอใจในความชั่วนั่นเอง หากว่าท่านผู้ใดไม่พอใจในความชั่ว ท่านผู้นั้นก็เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ย่อมเป็นไปตามลำดับ

    สำหรับวันนี้ก็จะขอพูดต่อจากวันที่แล้วมา คือวันนี้ก็จะขอพูดในอารมณ์ของพระอนาคามีและอารมณ์ของพระอรหันต์ สำหรับท่านที่ไม่พอใจในความชั่ว มีความละอายในความชั่ว ด้านอันดับพระอนาคามี ท่านมีความเห็นว่าการมีความพอใจในกามารมณ์หรือว่ามัวเมาในกามฉันทะเป็นอารมณ์ที่เป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ หรือประการหนึ่ง การที่มีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธ พยาบาท คิดประทุษร้ายคนอื่น เป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ หรือว่าเป็นอารมณ์ของความชั่วนั่นเอง ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าทุกข์มีที่ไหน ผู้ชั่วก็มีที่นั่น ที่ไหนมีความชั่ว ที่นั่นเป็นปัจจัยของความทุกข์

    เป็นอันว่าการพอใจในกามารมณ์ คือรักรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ จิตคลุกเคล้าไปด้วยกามารมณ์ก็ดี ความมักโกรธ พยาบาท จองล้างจองผลาญบุคคลอื่นก็ดี อาการทั้ง ๒ ประการนี้ไม่มีอะไรบันดาลความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูป รูปคนหรือว่ารูปสัตว์ หรือว่ารูปวัตถุ เป็นสภาวะที่มีความเศร้าหมอง ขี้นชื่อว่ารูปมีแล้วต้องเลี้ยง เลี้ยงเท่าไหร่ก็ตาม รูปก็ไม่มีการทรงตัว มีความเสื่อมโทรมไปเป็นตามปรกติเป็นธรรมดา ไม่มีทางแก้ไขที่จะให้รูปทรงตัวได้ หมอที่วิเศษที่ไหนก็ตามก็ไม่สามารถจะแก้ไข แม้แต่รูปของตนเองให้ทรงอยู่ตามสภาพตามปรกติ จึงเห็นว่ารูปมีสภาพเป็นอนิจจัง แล้วก็รูปมีสภาพเป็นอนัตตา เกิด แก่ ป่วย ตาย และรูปมีสภาวะเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก ไม่มีสภาพทรงตัว หาความสะอาดไม่ได้ นี่เป็นอันว่ารูป ไม่ว่ารูปอะไรหาดีไม่ได้เลย เสียงไม่เป็นปัจจัยแห่งการทรงตัว เสียงเพราะก็ไม่สร้างความทรงตัวให้เราไม่แก่ หรือเสียงเพราะก็ไม่สามารถจะห้ามความป่วยได้ เสียงเพราะไม่สามารถจะห้ามความตายของเราได้ กลิ่น รส สัมผัสก็มีสภาพเช่นเดียวกัน

    เป็นอันว่ารูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส เป็นอนัตตา เมื่อผ่านไปแล้วก็แล้วกันไป การทรงตัวของรูป เสียง กลิ่น รส ไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความพอใจในกามารมณ์หรือกามฉันทะ คนผู้นั้นเป็นผู้สร้างทุกข์และก็แบกทุกข์ เราจะเห็นว่าคนที่แต่งงานทุกคน ไม่มีใครมีความสุข แบกทุกข์ที่เห็นว่าการแต่งงานเป็นสุขก็เพราะอาศัยอารมณ์ที่เป็นอกุศล หรือเราจะพูดกันง่ายๆ ก็เรียกว่าความโง่มันเข้ามาสิงใจ ตัวเองยังปกครองตัวเองยังไม่ได้ ตัวเองยังไม่สามารถจะบันดาลตัวเองให้มีความสุขได้ ทำไมเราจึงจะเอาคนอื่นมาร่วมเรียงเคียงหมอนอยู่ด้วยกัน ก็เป็นปัจจัยบันดาลความทุกข์ให้เกิดมากขึ้น

    ทั้งนี้ท่านทั้งหลายโปรดใช้ปัญญาพิจารณาเอา ซึ่งเราจะเห็นกันได้โดยง่าย เพราะว่าถ้าจะพูดมากไปก็ยืดยาว ทั้งคู่ที่แต่งงานกันก็แก่ลงไปทุกวัน ช่วยกันแบกภาระความเคลื่อนไหวของกาย กายที่ทรุดโทรมไป ต่างคนต่างก็เริ่มทุกข์ เราอยู่คนเดียว เราทุกข์คนเดียว เรามีคู่ก็ทุกข์คู่ เมื่อมีบุตรธิดาขึ้นมาก็สร้างภาระหนักขึ้น แก่ลงไป ป่วยลงไป ตาย แล้วความตายจะเข้ามาถึง ภาระหนักก็แบกขึ้นมาทุกที ในที่สุดถ้าลูกเป็นคนดีก็แบกภาระน้อยหน่อย ถ้าไปโดนลูกอกตัญญูไม่รู้คุณเข้าก็เสร็จ การมีลูกมีเต้าถือว่าย่อมเป็นที่พึ่งสืบตระกูล นั่นเป็นภาระของคนโง่ ใครจะเป็นคนสืบตระกูลใครนั้นมันไม่มี สืบตระกูลสักเท่าไหร่ก็ตามที เราก็ตาย มองดูหาความจริงมันเป็นของธรรมดาที่เราจะพึงเห็นได้ ถ้าเราตัดภาระความพอใจความผูกพันในกามฉันทะเสียได้ ความสุขมันเกิด มันมีแต่ความเยือกเย็น มีแต่ชื่นบานหรรษา ความกระสันต์ปรารถนาในการมีคู่ครองไม่มี มันสุขจริงๆ แต่ความสุขนี่จะมีขนาดไหนท่านทั้งหลายถ้ายังไม่ถึง ท่านก็ยังไม่เห็น ขอท่านทั้งหลายจงพิสูจน์คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยใช้กำลังจิตยับยั้งความพอใจในกามารมณ์ด้วยกำลังของฌาน ถ้าแค่ฌานสมาบัติจะทำให้บรรดาท่านพุทธบริษัทเห็นว่าเป็นสุข ถ้าโดยการตัดทุกข์ประเภทนี้ด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณจะมีสุขมากขึ้น

    วิธีตัดก็คือใช้กายคตานุสสติ คือพิจารณาร่างกายตามความเป็นจริง และอสุภสัญญาหรืออสุภกรรมฐาน เห็นว่าร่างกายเป็นชิ้นเป็นท่อนเป็นตอน มันเป็นของสกปรก แล้วใช้สักกายทิฏฐิเข้ามาเทียบควบกัน คือพิจารณากายเป็นชิ้นเป็นอันเป็นท่อน พิจารณากายเป็นของสกปรกตามสภาวะความเป็นจริง และก็พิจารณาเห็นว่ากายนี้เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา สลายตน กายไม่ใช่เรา กายไม่ใช่เขา เราไม่สามารถจะเป็นจ้าวเป็นผู้บังคับบัญชากายได้ กายเป็นอิสระภาพไม่ขึ้นอยู่กับใจ มองไปตามความเป็นจริงว่ากายของคน มีความสกปรกตรงไหน กายของคนมีสภาพเหี่ยวแห้งลงไป กายของคนมีสภาพสลายตัวไปทุกวัน ในที่สุดกายนี้ถ้าเราจะเกาะจะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรามันก็ไม่ได้ ถ้าเราเอาจิตเข้าไปแบกกาย เอาจิตเข้าไปนำภาระของกายว่าเป็นเราเป็นของเรา ในที่สุดความผิดหวังมันก็จะมี เพราะว่ากายของเราก็ดี กายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุก็ดี มันจะสลายตัวไปในที่สุด ถ้าอารมณ์จิตของบรรดาท่านพุทธบริษัทเห็นกายเป็นชิ้นเป็นท่อนเป็นตอน พิจารณากาย พิจารณากายเรา พิจารณากายเขาว่าเป็นของสกปรกตามธรรมชาติของมัน พิจารณาตามความเป็นจริงของสังขารคือร่างกายว่ามีความทรุดโทรมแล้วก็พังไปในที่สุด อย่างนี้จิตก็จะมีความสุข เมื่อตัดจุดนี้ได้ความสุขมีมากขึ้น หากว่าท่านยังตัดไม่ได้ ท่านจะไม่เห็น ถ้าตัดได้จริงๆ จะมีความรู้สึกว่ามันสบายบอกไม่ถูก

    อารมณ์ที่สอง ปฏิฆะ คือความกระทบกระทั่งอารมณ์ ข้อนี้รู้สึกว่าจะมีความหนักน้อยในการตัด เพราะเป็นกิเลสที่มีภัยใหญ่กระทบกระทั่งมาก ไม่เหมือนกามฉันทะ กามฉันทะเป็นตัวนำความทุกข์มา จะมีความรู้สึกของคนเหมือนว่าจะมีความสุขขึ้น เราก็มองหาสภาวะตามความเป็นจริงกัน ว่าปฏิฆะคือการที่ทำใจตนเป็นคนโหดร้าย ชอบด่าเขา ชอบคิดประทุษร้ายเขา คิดจะฆ่าคิดจะทำร้ายเขา อย่างนี้มันเป็นการประกาศความชั่วของจิต เพราะอะไร เพราะอารมณ์อย่างนี้เป็นการสร้างความชั่ว สร้างความเร่าร้อน ถ้าเราคิดจะฆ่าเขา เขาก็ต้องคิดจะฆ่าเรา เราคิดจะประทุษร้ายเขา เขาคิดจะประทุษร้ายเรา ตามที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ปูชโก ลภเต ปูชัง วันทโก ปฏิวันทนัง ผู้บูชาย่อมได้รับการบูชาตอบ ผู้ไหว้จะได้รับการไหว้ตอบ เมื่อเราไหว้เขา เขาก็ไหว้เราตอบ เรายอมรับนับถือเขา เขาก็ยอมรับนับถือเราตอบ ถ้าเราด่าเขา เขาก็ด่าตอบ เราตีเขา เขาก็ตีตอบ มันสุขหรือมันทุกข์ มันดีหรือมันชั่ว ในเมื่ออารมณ์ของเรารักสุข เกลียดทุกข์ หิริ เราอายความชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่ว ก็การคิดประทุษร้ายเขามันชั่ว เราก็ต้องไม่ทำ ไอ้การที่เราจะไม่ทำมันก็เป็นของไม่ยาก

    ถ้าจิตใจก้าวเข้ามาถึงตอนนี้ อาศัยความเมตตาปรานี คือจิตทรงอยู่ในพรหมวิหาร ๔ อยู่เป็นปรกติ ได้แก่ มีความรัก มีความสงสาร ไม่อิจฉาริษยาเขา ยินดีในเมื่อเขาทั้งหลายเหล่านั้นได้ดี และก็เฉยในเมื่อถูกต้องกับอารมณ์ที่มาขวางกับความตั้งใจ อารมณ์ใดก็ตามที่เราตั้งใจแล้ว แต่มีอารมณ์อื่นขวางเข้ามาแทรกซ้อนเข้ามา จิตใจของเราไม่หวั่นไหวถือว่าในเมื่อใดขันธ์ ๕ ยังปรากฎ ในขณะนั้นองค์สมเด็จพระบรมสุคตถือว่า เราจะต้องกระทบกับอารมณ์ทั้งสองประการ คือ อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างหนึ่ง แล้วก็อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาอย่างหนึ่ง เป็นอันว่าอารมณ์ทั้งสองประการนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ใจของเราก็มีการวางเฉย ถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ใครจะด่าจะว่าก็รู้สึกว่า นั่นเป็นเรื่องของความเลวของคน เรากลัวความชั่ว เราอายความชั่ว เราจะไม่ยอมด่าตอบ เราจะไม่ยอมว่าตอบ เราจะไม่ยอมชั่วตอบ เรียกว่า เราจะไม่ยอมร่วมความชั่วกับเขา

    ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายทรงพรหมวิหาร ๔ แล้วเอาสักกายทิฏฐิที่องค์สมเด็จพระมหามุนีมาพิจารณาว่า ร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา กายไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา กายเป็นอิสระภาพ กายนำความทุกข์มาให้ จิตใจของเราจะมีความสุขได้จริงๆ คือเราไม่ยึดถือกายเป็นสำคัญ ตามที่องค์สมเด็จพระภควันต์ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า ท่านทั้งหลายจงอย่าสนใจกายในกายคือกายของเรา อย่าสนใจในกายภายนอกคือกายคนอื่น อย่าสนใจในวัตถุธาตุใดๆ ถ้าเราไม่สนใจวางภาระร่างกายเสีย ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ กายเราก็นำทุกข์มาให้ กายเขาเราพอใจก็นำทุกข์มาให้ วัตถุธาตุใดๆ ที่เราเข้าไปแบกภาระก็นำทุกข์มาให้ เป็นอันว่าทั้งกายภายในและกายภายนอก วัตถุธาตุทั้งหมด เราจะถือว่าเราจะทำทุกอย่างตามหน้าที่เท่านั้น กินข้าวเพื่อให้ร่างกายทรงอยู่ตามหน้าที่ เป็นการระงับเวทนาชั่วคราว เราจะใช้ผ้าห่มกันหนาวใช้เครื่องแต่งตัวก็สักแต่ว่า ให้มันทรงสภาวะตามภาวะในเวลานั้นๆ ที่จะไม่ทำให้เก้อเขินเกินไป ร่างกายจะแก่ก็ตามใจ ร่างกายจะป่วยก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อความตายเข้ามาเราก็ถือว่าเป็นเหตุปรกติ คิดว่าดีแล้ว ร่างกายที่มีสภาพสับปรับอย่างนี้ ควบทั้งสองอย่าง มีทั้งความสกปรก มีทั้งความไม่ดี เมื่อร่างกายเป็นอย่างนี้เราก็ไม่ควรจะคบ เราต้องยอมรับนับถือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระทรงภพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าร่างกายสกปรก ร่างกายมีอารมณ์แทรกแซง และก็มีอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ปรารถนาและไม่ปรารถนา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เมื่อวอดวายไปเสียได้ก็ดี เราจะได้พ้นทุกข์ อารมณ์เราจะมีความสุขเพราะไม่มีกายอย่างนี้ เป็นอันว่าสำหรับปฏิฆะนี้ ถือเรื่องอารมณ์เป็นสำคัญ อารมณ์สรรเสริญไม่สนใจ อารมณ์ที่เขาด่าว่า นินทาว่าร้าย เราก็ไม่สนใจ ตัวที่มีความสำคัญที่สุดส่วนนี้ก็คืออุเบกขา ในขณะใดเราทรงอุเบกขาได้ ขณะนั้นเราได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งหิริโอตตัปปะขั้นอนาคามี ผมขออธิบายย่อๆ ไว้แต่เพียงเท่านี้ เพราะถ้าพูดกันไปมันก็ซ้ำตอนต้น แต่ละอย่างขยายความเหมือนกัน

    มาขั้นสุดท้าย เมื่อจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายสามารถทรงอนาคามีไว้ได้ โดยตัดอารมณ์ในกามฉันทะทั้งหมด จิตใจที่เห็นรูปกายของคน รูปกายของสัตว์ วัตถุธาตุ ก็มีแต่ความสลดว่า โอหนอ นี่เป็นปัจจัยของความทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นปัจจัยของความสุข ไม่มีดี ไม่มีสะอาด มีแต่ความสกปรก อารมณ์ทั้งหลายที่เป็นของโลกที่ก้องเข้ามาในใจ ความรู้สึกของเราทรงไว้ว่าอารมณ์ของโลกที่เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ชาวบ้านเขาชอบใจและก็คำสรรเสริญ และอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ชาวบ้านเขาไม่ชอบใจและก็เปรียบเปรยหรือนินทาว่าร้าย อารมณ์ทั้งสองประการนี้ ไม่ได้สร้างให้ใครดี สร้างใครชั่ว ถ้าใจไม่ยอมรับเสียอย่างเดียว อารมณ์ทั้งสองประการก็ไม่มีประโยชน์สำหรับเรา เราก็ไม่ดีเพราะคำสรรเสริญ เราไม่ชั่วเพราะคำนินทา ความดีความชั่วอยู่ที่เรา สร้างอารมณ์ของเราดีหรือว่าสร้างอารมณ์ของเราชั่ว ถ้าอารมณ์ของเราคิดชั่ว ใครเขามาสรรเสริญว่าดี เราก็ไม่ดีไปตาม ถ้าอารมณ์ของเราดี ใครเขามานินทาว่าร้ายว่าเราชั่ว เราก็ไม่ชั่วตาม รวมความว่าเราหวังอารมณ์เป็นสำคัญ

    ต่อนี้ไปก็ก้าวถึงความดีของความเป็นพระอรหันต์ หิริและโอตตัปปะ อายอะไรสำหรับพระอรหันต์ การจะเป็นพระอรหันต์ล่ะก็ต้องอายจิตที่มันติด ความจริงตอนนี้ง่าย เราจะลำบากอยู่แค่พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีเพราะตัดกิเลสหยาบ ตอนนี้เรามาอายกิเลสละเอียด กิเลสละเอียดก็คือ ๑ รูปราคะ ๒ อรูปราคะ ถ้าหากจิตของเรายังคิดอยู่ว่า รูปฌานและอรูปฌานนี้เป็นของดีชั้นเลิศประเสริฐ สามารถทำให้คนหลุดพ้นทุกข์ได้ก็แสดงว่าอารมณ์ของเรายังชั่ว เพราะว่าแค่รูปฌานและอรูปฌานไม่สามารถจะบันดาลให้คนพ้นทุกข์ได้จริงจัง แต่ทว่าเราก็ต้องเกาะรูปฌานและอรูปฌานเป็นกำลังใหญ่ ไว้สำหรับห้ำหั่นกับบรรดากิเลสทั้งหลาย ฉะนั้นใจของเราจะไม่หยุดยั้งไว้แค่รูปฌานและอรูปฌาน เราจะทรงรูปฌานหรือว่าอรูปฌาน หรือทั้งสองอย่างไว้เพื่อเป็นการกั้นกิเลสหยาบไม่ให้มันเข้ามาสิงใจ และให้เป็นกำลังใหญ่สำหรับปัญญาคือวิปัสสนาญาณ เข้ามาห้ำหั่นกิเลสละเอียดทั้งหลายให้พินาศไป ตอนนี้ที่เรียกว่าอธิปัญญา มองดูคนได้ฌาน คนผู้หลงอยู่ในฌาน หรือท่านที่ทรงอยู่ในฐานะอนาคามี ก็ยังไม่มีความดีจริงๆ ยังไม่มีความสุขจริงๆ เพราะว่ายังมีความวุ่นวายอยู่ในมานะคือการถือตัวถือตน ยังมีความวุ่นวายอยู่ในอุทธัจจะ คืออารมณ์ยังแทรกซ้อน มีอารมณ์ซ่าน ไม่เข้าจุดหมายปลายทาง ยังไม่มีอารมณ์สงบ ยังมีอวิชชาคือความโง่ยังหลงเหลืออยู่ ที่ยังติดอยู่ในรูปฌานและอรูปฌาน ในมานะและอุทธัจจะ

    ฉะนั้นในฐานะที่เรามีความต้องการความสุขที่สุดในฐานะที่จิตของเราเป็นจิตชั้นเลิศ ที่ทรงเทวตานุสติเป็นอารมณ์ เทวตานุสตินี่เขาเรียกว่านึกถึงอารมณ์ประเสริฐ นึกถึงคุณธรรมที่ทำบุคคลให้มีความประเสริฐ เป็นอันว่าท่านผู้ใดใช้กรรมฐานกองนี้ อารมณ์ของท่านไม่มีชั่ว มีแต่ดีถึงที่สุดและก็เป็นพระอรหันต์ง่าย เราก็มานั่งมองว่าการถือตัวถือตนน่ะมันดีหรือเลว ถ้ามองไปจริงๆ คิดว่าการถือตัวถือตนนี้เลวจริงๆ เพราะอะไร เราไปนั่งถือกันทำไม ผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี เด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี คนแก่ก็ดี หรือว่าสัตว์เดรัจฉานก็ดี ฐานะสูงก็ดี ฐานะต่ำก็ดี ความรู้มากก็ดี ความรู้น้อยก็ดี และก็มีตระกูลสูงก็ดี มีตระกูลต่ำก็ดี ก็ไอ้สภาพของเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีสภาพร่างกายสกปรก มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น ร่างกายเสื่อมไปในท่ามกลาง และก็สลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน และก็จะมานั่งรังเกียจอะไร แร้งต่อแร้งที่จะเหม็นสาบกันเองนี่ ก็รู้สึกมันจะเลวเกินไป เป็นอันว่าร่างกายของใครๆ ก็ตาม มันมีสภาวะเช่นเดียวกัน คนรวยก็ตาย คนมีศักดิ์ศรีใหญ่ก็ตาย คนตระกูลสูงก็ตาย ตระกูลต่ำก็ตาย มีความรู้น้อยก็ตาย มีความรู้มากก็ตาย และก็สกปรกโสมมเหมือนกัน อารมณ์ไม่ทรงตัวเหมือนกัน ทำไมจึงต้องรังเกียจกัน ก็ตัดสินใจง่ายๆ แบบนี้

    แล้วก็มาอุทธัจจะ อารมณ์ที่มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน เพราะตอนนี้ไม่มีอะไรมาก เป็นแต่เพียงว่ามีอารมณ์ยับยั้งไว้ตอนหนึ่งว่าเวลานี้เราทรงความเป็นพระอนาคามีเราก็มีความสุข ที่เรา ๑ เรามีศีลบริสุทธิ์ เราไม่ไปอบายภูมิ ๒ เราไม่มีกามฉันทะ ความวุ่นวายของอารมณ์ไม่มี ๓ เราไม่มีปฏิฆะ อารมณ์ที่สร้างความเศร้าหมองเพราะอารมณ์อื่นเข้ามากระทบ ไม่มี ตอนนี้ก็รู้สึกมีความสุขสงัด แล้วก็ถ้าเราตายจากความเป็นคนไปเป็นเทวดาหรือพรหม เราก็ไปนิพพาน ถ้าเราอารมณ์จิตซ่าน มันซ่านนิดเดียว ข้อนี้ แต่ก็ยังไม่ดี มันยังไม่ถึงที่สุด ในเมื่อชีวิตของเรายังทรงตัวอยู่ ต้องตัดความดีให้ถึงที่สุด นั่นก็คือทรงอารมณ์เฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าลมปราณของเรายังมีอยู่ เราจะไม่ละธรรมะขององค์สมเด็จพระบรมครูที่สอนไว้ว่าความสุขที่สุดของเรานั้นไซร้ นั่นก็คือมีอารมณ์เข้าถึงพระนิพพาน นั่นก็คือเป็นพระอรหันต์ แต่ทว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านเท่านี้ระงับง่ายๆ ถ้าตัดสินกำลังใจว่าแค่นี้จะเก็บไว้ทำไม โยนทิ้งไปเสียดีกว่า กิเลสหยาบที่กล่าวมามันใหญ่โตมากกว่านี้ เราก็สามารถจะตัดได้ ไหนๆ เราจะต้องตายแล้ว เมื่อตายแล้วให้มันมีความสุขจริงๆ จะไปพักอยู่ที่เทวดาก็ไม่ได้มีประโยชน์ พักอยู่ที่พรหมมันก็ไม่ได้มีประโยชน์ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเมื่อไปแล้วไปให้มันถึงที่สุด ไม่ต้องมีการงานอะไรต่อไป ตั้งใจเท่านี้มันก็หมด

    ต่อไปองค์สมเด็จพระบรมสุคตว่าตัดอวิชชา แต่ความจริงตัดอวิชชาตัวเดียวก็พอ เข้าไปตัดเสียแต่เพียงว่าร่างกายมันเป็นทุกข์ เกิดเป็นคนเป็นทุกข์ เกิดเป็นพรหมหรือเทวดาพักทุกข์ชั่วคราว ไม่ได้มีประโยชน์ ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีโทษเข้าถึงอบายภูมิ ก็ยังไม่เสร็จกิจ กิจที่ดีที่สุดนั่นก็คือเข้าถึงพระนิพพาน คนที่จะเข้าถึงพระนิพพานเขาทำยังไง นั่นก็คืออารมณ์ใจของเขาละความพอใจในการเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือพรหม มีความนิยมเฉพาะพระนิพพานเพียงอย่างเดียว และจิตประกอบไปด้วยความเมตตาและปรานี มีความเยือกเย็น ไม่สนใจกับอารมณ์ทั้งหลาย ที่เป็นปัจจัยของความสุขและความทุกข์ ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ยิ้มให้แก่กรรมที่เข้ามาสนองที่เป็นปัจจัยให้เกิดการหวั่นไหวทางกายคือโรคภัยไข้เจ็บก็ดี ความป่วยไข้ไม่สบายก็ดี ความแก่ก็ดี ความตายก็ดี จะมาถึงเรานี้เมื่อไหร่ ยิ้มได้เป็นปรกติ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา จนกระทั่งจิตใจของเราไม่มีอารมณ์ติดอยู่ในกามฉันทะ มีความสุขใจ อารมณ์ไม่ติดอยู่ในความโลภ มีความสุขอย่างยิ่ง อารมณ์ไม่ติดอยู่ในความโกรธ มีความหรรษาชื่นบาน อารมณ์ไม่มีสันดานเกาะอะไรทั้งหมดแม้แต่ขันธ์ ๕ ของเรา จิตใจเรามีความต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน มีความรู้สีกอยู่ว่าร่างกายนี้มันมีแต่ความแหลกรานเป็นปรกติ ไม่ช้ามันก็กลายเป็นผุยผงไป เป็นความตาย แค่นี้ใจสบาย

    บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับเทวตานุสติกรรมฐาน ผมพูดย่อที่สุด เพราะว่าถือว่าเป็นอารมณ์ที่สูงสุดในอนุสติอันหนึ่ง ซึ่งบุคคลใดมีความนิยมในเทวดานุสติกรรมฐานนี้ไซร้ ผมคิดว่าถ้าเราจะพยากรณ์ว่าท่านผู้นั้นควรจะเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ในชาติปัจจุบันนี้ ก็รู้สึกว่าจะต่ำเกินไป เพราะว่ากำลังใจของท่านนี่พอใจในเทวตานุสติกรรมฐานนั้นเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ เอาละสำหรับวันนี้เห็นว่าเวลาหมดแล้ว ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไป ขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย และจะเลิกเมื่อไรก็ได้ตามที่ท่านเห็นว่าสมควร สวัสดี
     
  4. oomsin2515

    oomsin2515 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    2,934
    ค่าพลัง:
    +3,393
    ขออนุโมทนาสาธุธรรม เป็นอย่างสูง ครับ
     
  5. wvichakorn

    wvichakorn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    3,684
    ค่าพลัง:
    +9,239
    "ส่วนสำคัญที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องก็คือพระนิพพาน สมเด็จพระพิชิตมารไม่เคยทรงยกย่องอย่างอื่นที่มีความดีเหนือพระนิพพานเลย
    เราจะต้องทำกำลังใจของเราก้าวเข้าสู่พระนิพพานให้ได้ในชาตินี้ และก็ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ใช่ช้านัก เพราะเราไม่แน่ใจว่าชีวิตของเรานี่ มันจะอยู่ไปได้สักกี่วัน"

    ขออนุโมทนาค่ะ
     
  6. ใจกาย

    ใจกาย สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    19
    ค่าพลัง:
    +19
    ขออนุโมทนาบุญเป็นอย่างสูง ได้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นมากค่ะ จะประพฤติปฎิบัติในแนวทางที่หลวงพ่อได้สอน
     
  7. Numsai

    Numsai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2007
    โพสต์:
    5,778
    ค่าพลัง:
    +87,677
    ขออนุโมทนาบุญด้วยกับท่านเจ้าของกระทู้ด้วยค่ะ

    ขอบุญกุศลบริสุทธิ์ใด ๆ ที่ข้าพเจ้ามาตั้งแต่ปฐมชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ ขอน้อมถวายแด่ปวงเทพเทวาทุก ๆ องค์ โดยท่านท้าวสักกะเทวราช เป็นประธาน ท่านท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ท่านอินทกะ และปวงเทพเทวาทุก ๆ ชั้นจากเบื้องล่างถึงเบื้องบนเป็นที่สุด

    และขออนุโมทนาบุญกับทุก ๆ ท่านด้วยค่ะ สาธุ..

    Numsai

    fairy3
     
  8. pkpnk

    pkpnk เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    244
    ค่าพลัง:
    +112
    สาธุ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ<!-- google_ad_section_end -->
     
  9. ประทีปแก้ว

    ประทีปแก้ว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กันยายน 2008
    โพสต์:
    3,506
    ค่าพลัง:
    +8,329
    [​IMG]

    กราบอนุโมทนาเป็นอย่างสูงค่ะ
    ---------------------------------------
    * คนเจ้าปัญญา ย่อมบริหารอารมณ์
    สร้างอารมณ์ที่ควรสร้าง
    เสพอารมณ์ที่ควรเสพ
    ควบคุมอารมณ์ทีควรควบคุม
    รักษาอารมณ์ที่ควรรักษา
    สลายอารมณ์ที่ควรสลาย
    เขาจึงเป็นนายของอารมณ์โดยสมบูรณ์ *

    ขอพระยายมราชและท้าจตุโลกบาลทั้งสี่จงโมทนาและเป็นสักขีพยานด้วยเถิด...สาธุ
     
  10. เฮียปอ ตำมะลัง

    เฮียปอ ตำมะลัง ทุกสิ่งจบสิ้นลงด้วยความตาย วุ่นวายทำไม ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มีนาคม 2007
    โพสต์:
    24,969
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +91,130
    อ นุ โ ม ท น า ส า ธุ . . . . ดีแล้วชอบแล้ว




    .
     

แชร์หน้านี้

Loading...