อุปทานและขันธ์๕

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ยศวดี, 5 ธันวาคม 2012.

  1. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    ขันธ์ ๕

    จาก หนังสือ ธรรมะปกิณกะ ๒

    วันนี้ก็พูดกันถึงมหาสติปัฏฐานสูตรในด้านธรรมนุปัสสนา มหาสติปัฏฐาน วันนี้ก็มาพูดกันถึงขันธ์ ๕ ตามพระบาลีว่า ปุน จปรํ ภิกฺขเว ธมฺเมสุ ธมฺมานุสฺสี วิหรติ เป็นต้น แปลใจความตามพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานและขันธ์ ๕ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างไรภิกษูย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อุปาทานและขันธ์ ๕ ดังกล่าวต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้เนือง ๆ ว่า อย่างนี้รูป และความเกิดขึ้นของรูป ความดับไปของรูป แล้วก็พิจารณา เวทนา พิจารณาถึงความเกิดขึ้นของเวทนาและก็ดับไปของเวทนา

    เป็นอันว่าขันธ์ ๕ ในมหาสติปัฏฐานสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสก็คือขันธ์ ๕ ปกติเราเคยศึกษากันมานั่นเอง ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปคือสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา เวทนาก็คือเสวยอารมณ์ ได้แก่ ความรู้สึก สัญญาความจำ สังขารได้แก่ อารมณ์ที่ปรุงแต่งใจให้ดีหรือชั่ว นี่เราเรียกกันว่าบุญหรือบาป ถ้าบุญก็หมายความถึงความดี บาปก็หมายถึงความชั่ว สำหรับคำว่าวิญญาณแปลว่าความรู้สึก ได้แก่ความรู้สึก หนาว ร้อน หิว กระหาย เผ็ด เปรี้ยว เค็ม ของอ่อน อย่างนี้เป็นต้น ความว่าวิญญาณนี้ พระมักจะเทศน์บวกไปกับจิต ชักจะยุ่งเหมือนกัน คำว่าวิญญาณเดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าประสาท เขาใช้ประสาโท โดยแยกไปกับจิต วิญญาณกับจิตนี่ มันคนละตัว จำไว้ด้วยนะ ถ้าใครเขาถามเรื่องวิญญาณก็บอกเขาด้วยว่า วิญญาณไม่ใช่จิต เราก็มารู้กันว่ารูปเราสามารถจะเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เราหมายถึงมหาภูตรูปนะ อีกพวกหนึ่งอุปาทานรูปนี่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อ มีความรู้สึกกระทบ อย่างเสียงและกลิ่นเป็นต้น ท่านถือว่า เป็นกลิ่นเหมือนกัน แต่สำหรับรูปในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ ท่านต้องการรูปที่ประกอบไปด้วยมหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ นี่จัดว่าเป็นรูป เพราะสามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อ

    สำหรับเวทนา ก็ได้แก่การเสวยอารมณ์คือความรู้สึกว่าสุข ว่าทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ อันนี้เรียกกันว่าเวทนา สัญญาได้แก่ความจำ เราจำอย่างโน้นได้ จำอย่างนี้ได้นี่เป็นอาการของสัญญา สังขารได้แก่อารมณ์ที่เข้ามาจูงใจ จูงใจให้เราทำความดีบ้าง ความชั่วบ้าง นี่เรียกว่า สังขาร บางทีเราก็ไปบอกเอาเนื้อเอาหนังเข้าไปด้วย ความจริงความหมายไม่ใช่ เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ สอนให้ทำความดี หรือว่าสอนใจให้ทำความชั่ว สำหรับวิญญาณตอบง่าย ๆ ว่าประสาทรับความรู้สึก

    ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรามีสติสัมปชัญญะเข้ามาควบคุม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เพราะว่าให้พิจารณาหาความจริง อันนี้เป็นธรรมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ให้พิจารณาว่ารูปที่เราเห็นอยู่นี้ มีสภาพเสื่อมเป็นปกติ รูปที่เราเห็นนะ จะเป็นรูปของเราก็ตาม จะเป็นรูปของใครก็ตาม เป็นรูปของสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม พระองค์ทรงแนะนำให้เราหากฎธรรมดาของรูปให้พบ ว่าตามธรรมดาที่เราจะเห็นรูปมันทรงอยู่นี่ ความจริงมันมีความเสื่อมเป็นปกติ ไม่มีรูปของใครแม้ว่าจะเป็นรูปที่เป็นวัตถุแข็งก็ตาม ทำด้วยทองแดง ทองเหลือ เหล็กก็ตาม ก็มีการทรุดโทรมไปเป็นปกติ นี่เป็นปกติของรูป มาว่าถึงรูปคนหรือรูปสัตว์ มันก็เดินเข้าไปหาความทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา ความจริงรูปในสิ่งที่มีชีวิตเราเห็นง่ายว่ามันไม่ทรงตัว เพราะว่าเราเองสำคัญดูรูปของเราให้เห็น รูปของคนอื่นถ้าเราเห็นก็มาเปรียบเทียบกับรูปเรา ว่าเราเกิดมามันตัวแค่นี้รึเปล่า ถ้าตัวแค่นี้น่ากลัวจะออกจากท้องแม่ไม่ได้นะ บางคนโตกว่าแม่ เดิมทีเดียวตัวเราเล็กกว่านี้ มันอยู่ในครรภ์มารดาได้ หากรูปมีสภาพเที่ยง มีการทรงตัวมันก็ไม่โต มันต้องเล็กอยู่ขนาดนั้น นี่มันไม่มีการทรงตัว มีการเคลื่อนในตอนเล็กขึ้นมาหาโตนี่เราเรียก ว่าเจริญขึ้น แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ว่าอย่างนั้น ท่านว่ามันเริ่มเสื่อมเพราะมันเดินเข้าไปหาความแก่ แล้วก็เดินเข้าไปหาความตาย ใจเรามีกิเลสความเศร้าหมอง ที่รวมเรียกว่าความโง่มีประจำใจ ใจเราคบกับความโง่อยู่ตลอดเวลา จึงเห็นอาการที่เติบโตของร่างกาย กลายเป็นความเจริญไป อย่างนี้เรียกว่าโมหะ ความหลง เมื่อมันเติบโตมาถึงที่สุดเป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มที่แล้ว ต่อไปนี้ก็จะไม่หนุ่มไม่สาวแล้วซิ ความเป็นหนุ่มเป็นสาวเริ่มน้อยลง กลายเป็นคนแก่ ความแก่เข้ามาถึง บางทีเราดูตัวเราไม่เห็น

    ภาษิตโบราณมีอยู่บทหนึ่ง สำหรับคนนะ สำหรับคนเราแก่แล้วน่ะ เมื่อความแก่เข้ามาถึง ท่านบอกว่า ไอ้บนน่ะยอมแก่ล่างก้ยอมแก่ แต่กลางไม่แก่ กลางไม่แก่ ไอ้ข้างบนหัวขาว ผมดำมันก็ขาวขึ้นมา มันหงอก ก็รู้สึกว่ามันแก่ สายตาเคยแจ่มใสอันนี้ไม่ไหวแล้ว ตามองอะไรไม่เห็นต้องใส่แว่น ยอมรับว่าหูแก่ ฟันเคยดีแต่มันกลับถอนไปเสียบ้าง หลุดไปเสียบ้าง ตอนนี้ยอมแก่ ข้างล่าง แข้งขาเดินไม่ไหว เดินไม่คล่องแคล่วเหมือนตอนที่เป็นหนุ่มสาว แต่กลางไม่แก่ ตรงกลางตรงไหนที่ไม่ยอมแก่นี่เป็นอันว่าที่ไม่ยอมแก่ก็คือใจ ตรงกลาง เพราะอะไร เพราะใจตกอยู่ในความประมาท ทั้ง ๆ ที่เห็นว่าร่างกายของเราทรุดโทรมอยู่ เราก็ไม่ยอมรับว่าทรุดโทรม ร่างกายประกอบไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ มีความหนาว มีความร้อน ป่วยไข้ไม่สบายเป็นปกติ อย่างนี้เป็นอาการของความทุกข์ทั้งหมด แต่ว่าเราไม่ยอมรับว่ามันเป็นทุกข์ อะไรทำให้ไม่ทุกข์ ถ้าเราตอบว่าความโง่ทำให้เราต้องทุกข์ แล้วเราจะตอบว่าอย่างไร แสดงว่าเราจอมโง่ ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่โง่ พระพุทธเจ้าทรงใช้ปัญญาพิจารณาหากฎของความเป็นจริง คนเราถ้าเข้าถึงความสุขได้จริง ๆ ก็เคยพูดไว้แล้ว ว่าเราต้องไม่ทวนกระแสของความเป็นจริง ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ตามที่เคยเปรียบเทียบไว้ว่าน้ำมันไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ถ้าเราปล่อยตัวเราให้ไหลไปตามกระแสน้ำ มันไม่มีความเหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าเราคิดว่า เราจะดำน้ำ จากที่ต่ำขึ้นไปหาที่สูงด้วยกำลังแรงของเรา นี่มันชักยุ่งเหมือนกันเพราะเกิดความลำบาก แล้วก็ทำไม่ได้ด้วย ถ้าใช้อาการฝืนทำอยู่เพียงใด ความทุกข์กายทุกข์ใจมันก็เกิดขึ้น ข้อนี้อุปมาฉันใด คนเราที่เกิดมาในโลกนี้ก็เหมือนกัน มันมีอารมณ์ทวนจากความเป็นจริงอยู่เสมอ

    เราฝืนความเป็นจริง ไม่ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริงมันก็ยุ่ง ถึงได้เกิดมาเป็นคน คนนี่แปลว่ายุ่ง ไอ้ที่เกิดมาเพราะไม่รู้ว่าเกิดมามันยุ่ง คิดว่ามันดี ที่เราคิดว่าดีนี่ เพราะความโง่เป็นปัจจัย รวมความว่าพระก็ดี เณรก็ดี อุบาสก อุบาสิกา ก็ดี ที่มานั่งนี่ทุกคนโง่หมด ถ้าผมไม่โง่ผมไม่เกิด ที่ผมมาเกิดนี่ ก็โง่เหมือนกัน เกิดเพราะโง่ เพราะยึดถือว่าอัตตภาพร่างกาย นี่เป็นเรา เป็นของเรา ทั้ง ๆ ที่หลาย ๆ ชาติเกิดมาแล้วความแก่ปรากฏ ความทรุดโทรมปรากฏ ความตายปรากฏ เราก็ไม่จำ ในเมื่อเราไม่เห็นว่าร่างกายของเราแก่ เราไม่เคยมอง คนอื่นที่เขาอยู่ใกล้เรา เขาแก่ให้เราดูเราไม่เคยดู มองเห็นคนอื่นเขาแก่ได้ แต่ไม่เคยคิดว่าเราจะแก่ เห็นคนอื่นเขาป่วยไข้ไม่สบาย เขาเป็นทุกข์ เราเห็นความป่วยของเขาได้ แต่เราก็ไม่เห็นว่าเราจะป่วย เห็นคนอื่นเขาตายให้ดู โดยเฉพาะพระ นี่เห็นได้ ใครเขาตายที่ไหนเขาเชิญไปบังสุกุล เลยกลายเป็นนาข้าวเบาไปนี่พระที่ประมาทนะ เห็นใครเขาตายก็นึกเอ้อ นี่นาข้าวเบาปรากฏแล้วนี่ ความประมาทคิดว่าเราจะไม่ตาย เห็นเขาตายแล้วคิดว่าเราจะไม่ตาย อารมณ์อย่างนี้ที่มันเกิดขึ้นมาก็เพราะอาศัยโมหะเป็นปัจจัย คือความหลงหรือเรียกว่าความโง่ดีกว่า โมหะหรืออวิชชา คิดว่ามันตัวเดียวกัน

    มาระบบของพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อิติ รูปํ อิติ รูปสฺส สมุทโย อย่างนี้เป็นต้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่านี่คือรูปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปที่มีความทรุดโทรมอยู่เป็นปกติ นี่มหาปัฏฐานนะ ใช้สตินึกไว้ว่า นี่รูป และก็รู้ตัวไว้เสมอว่ารูปอันนี้มันมีความทรุดโทรมอยู่เป็นปกติ มันไม่มีการคงที่ ไม่มีการทรงตัว เราต้องนึกไว้ทุกเวลาถามว่านึกเวลาไหนบ้างก็ตอบไม่ยาก ขณะใดที่ยังลืมตาอยู่ ยังมีความรู้สึกอยู่ ต้องรู้ตัวว่ารูปของเราไม่มีการทรงตัว มันเดินเข้าไปหาความเสื่อมอยู่ตลอดเวลา เสื่อมทุก วินาทีที่เคลื่อนเข้าไป ลมหายใจเข้าที่ออก ทีนี้แสดงถึงอาการเสื่อม ลมหายใจเข้าก็เสื่อม ลมหายใจออกก็เสื่อม ทีนี้การเสื่อม การทรุดการโทรม การสลายตัวของมัน ก็นับดูว่า วันหนึ่งมันมีกี่ครั้ง เราหายใจเข้าเราหายใจออกกี่ครั้ง นั่นแสดงว่าความเสื่อมมันเข้ามาทุกลมหายใจเข้าออก นี่เราพูดกันแค่เสื่อมนะ ถ้าพูดถึงความตายพระพุทธเจ้าก็พูดอย่างนี้เหมือนกัน ตถาคตคิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าและหายใจออก นี่เรามานึกถึงความเสื่อม ความเสื่อมเป็นปัจจัยของความพัง มันเสื่อมหนัก ๆ เข้ามันก็พัง นี่แปลว่า รูปนี้มีการทรุดโทรมอยู่แล้วก็มีความพังไปในที่สุด

    พระพุทธเจ้าให้พิจารณาต่อไปถึงอาการเสื่อมของรูป หาความเกิดของรูป และความดับของรูป ขันธ์ ๕ ให้พิจารณาเท่านี้ มาพิจารณาว่านี่เป็นรูป และรูปนี่มันเกิดมาได้อะไร ถ้าเรามาค้นกันดูว่า รูปนี่มันเกิดเพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย เราก็บอกได้เลยว่ากิเลส ความเศร้าหมองของจิต กิเลสก้ได้แก่จิตที่สกปรก ใช้คำว่าเศร้าหมองฟังยากท่านบอกได้เลยว่า จิตนี้มันสกปรกมันไม่ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง เห็นของสกปรกเข้าใจว่าเป็นของสะอาด เห็นของที่ไม่ดี เข้าใจว่าเป็นของดี ของที่ไม่มีความมั่นคงเข้าใจว่าเป็นของที่มีความมั่นคง นี่ความสกปรกและความรู้สึกของจิตมันเป็นอย่างนี้ นี่อ้างกิเลสอันนี้ มันเป็นเครื่องสอนเราให้สร้างความเกิด
     
  2. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    เมื่อกิเลส มานายหนึ่งแล้ว นายที่ ๒ ก็มาอีก นายผู้ใหญ่ก็คือ ตัณหา ก็คือความอยาก ความเศร้า ความโง่ มันเกิดขึ้น เจ้านี่ก็สอนว่านั่นก็ของกู นี่ก็ของกู สิ่งนั้นเราควรเอาเข้ามา สิ่งนี้เราควรเอาเข้ามา นั่นก็ของเรา นี่ก็ของเรา โน่นก็ของเรา สามีของเรา ภรรยาของเรา ลูกของเรา หลานของเรา พ่อของเรา ตัวของเรา ไร่นาสาโท รถราต่าง ๆ ของเรา ทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นของเราหมด เจ้าตัวตัณหามันบอกว่าอย่างนี้นะ เอาเข้ามานี่ของเราทั้งนั้น อย่าไปให้ใคร ดึงเข้ามาให้หมด สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของเรา เราไม่ให้ใคร นี่เจ้าตัวระยะที่ ๒ นี่เข้ามาสั่งความกอบโกยเข้ามาทั้งหมด ยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรา เจ้าตัวนี้มันสอนเราแบบนี้ มันทรงสภาพได้ดีรึเปล่า ที่เราเชื่อมันก็เพราะว่าเราไม่ได้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา มันบอกนี่ของกู นี่ก็ของกู พระพุทธเจ้า ทรงเปรียบไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร มีตอนหนึ่งที่ท่านทรงอธิบาย ว่าเหมือนกับนกเขาไฟ คือจับอยู่ที่ต้นไม้ นกทุกตัวจะร้อง จู้ฮุกกู จู้ฮุกกูบอกว่าต้นก็ของกู กิ่งก็ของกู ใบก็ของกู บ้านก็ของกู ทุกสิ่งทุกอย่างของกูหมด แต่ร้องไปแบบนี้ไม่ช้า บรรดานกพวกนั้นก็ตาย ไอ้ต้นไม้ต้นนั้นแม้แต่ชิ้นหนึ่ง ส่วนเล็ก ๆ ก็บอกว่าเป็นของกู ของกูเขาก็นำไปไม่ได้ นี่เราก็เหมือนกันที่มันเกิดในสมัยนี้ก็เพราะชาติก่อนเรามันโง่ มายึดถือว่านั่นก็ของกู นี่ก็ของกู ในที่สุดร่างกายเป็นสิ่งที่เรารักที่สุด เราก็นำมาไม่ได้ ต้องมาสร้างกันใหม่ สร้างเองก็ไม่ได้ต้องมาใช้พ่อแม่ท่านสร้าง เมื่อท่านสร้างขึ้นมาแล้ว ในตอนต้นก็ทรงตัวไม่ได้ต้องให้ท่านเลี้ยง เลี้ยงโตขึ้นมาแล้วก็กลับลืมตัว บางคนลืมตัวคิดว่าร่างกายนี้เป็นของเรา ไม่ใช่ของพ่อแม่ ความระยำมันมาอีก ิกเลส ตัณหา อุปาทาน ก็เข้ามายึดว่านั่นเป็นเราเป็นของเรา พอไอ้กิเลส ความเศร้าหมองจิตมันเกิด ตัณหาความทะยานอยากมีขึ้น ตะเกียกตะกายดึงมา อุปาทาน ก็ยึดมั่นว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นของเรา เมื่ออุปาทานมีขึ้นก็อาศัยกรรมที่ทำจาก ความโง่ คือ อกุศลมันก็มีขึ้นกรรมที่เรียกว่าอกุศลทำตนเป็นผู้วิเศษไม่ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง ชาวบ้านใครจะตายเท่าไหร่ก็เชิญตาย ฉันไม่ตาย ใครจะตายเท่าไรก็เชิญแก่เข้าไปนี่ฉันไม่แก่ คนป่วยไข้ไม่สบาย ป่วยไข้อย่างไรก็ช่างฉันไม่ป่วย ความจริงเราต้องป่วยเราต้องแก่ เราต้องตาย แต่ความโง่มันเป็นปัจจัยเข้ามาบังหัวใจเข้าไว้ จึงเป็นเหตุให้เรามองไม่เห็นความจริง

    พระพุทธเจ้าไม่สอนอย่างนั้น สอนแต่ว่า เมื่อเราเห็นรูปแล้วจงเข้าใจในรูป รูปนี้มีความเสื่อมไปเป็นปกติ หาการทรงตัวไม่ได้ เรามานั่งนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าตรงนี้นี่มันจริงหรือไม่จริง ใครที่มันเกิดมารูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงมีไหม เราคิดบ้างหรือเปล่าว่ารูปของเราเปลี่ยนแปลง มันทรุดโทรมไปหาความตาย ท่านก็บอกต่อไปว่า รูปมันทรุดโทรมอย่างนี้ ความทรุดโทรมเป็นปัจจัยของความทุกข์เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อมันทรุดโทรมขึ้นมาแล้วถ้าตาไม่ดีเราก็ไม่ชอบใจ มันไม่สบายใจ เห็นอะไรไม่ถนัด หูไม่ดีฟังอะไรไม่ถนัด ความไม่สบายใจมันเกิด ฟันหัก ฟันโยก ฟันคลอน เคี้ยวอะไรไม่ถนัด ความไม่สบายใจมันก็เกิด อาการไม่สบายกาย ไม่สบายใจ มันเป็นอาการของความทุกข์ ความทุกข์เกิด เมื่อความทุกข์มีขึ้น ความสลายตัว ความพังมันก็มา นี่เราหาตัวพังของมันได้แล้ว

    พระพุทธเจ้าให้แสวงหาตัวเกิดในรูปต่อไปว่า รูปที่มันเกิดมาได้อาศัยอะไรเป็นปัจจัย เราจะไปนั่งโทษพ่อกับแม่อยู่ไม่ได้ นี่ไปโทษใครไม่ได้ ที่เรามาเกิดก็เพราะว่าเรามีกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม เป็นตัวนำให้เกิด เป็นเหตุให้เข้าสู่ปฏิสนธิหากว่าแล้วต่อไป พระพุทธเจ้าให้มองดูความดับของรูปว่าความเกิดของรูปอะไรทำให้เกิดก็บอกแล้วว่ากิเลสความเศร้าหมองในจิตชั่ว จิตสกปรก ความทะยานอยาก คืออยากมี และการยึดมั่นในอาการต่าง ๆ ในทรัพย์สิน และในร่างกายอย่างหนึ่ง และการกระทำความชั่วได้แก่อกุศลกรรมอย่างหนึ่ง ๔ อย่างเป็นปัจจัยให้เราเกิด ทีนี้พระพุทธเจ้าพูดถึง ความเกิดของรูปแล้ว ทรงพูดถึงความดับของรูป ความจริงความดับของรูปเวลานี้ถ้าจะพูดถึงแค่ตายนะ ท่านจะคิดว่าพระพุทธเจ้าต้องการอย่างเดียว คือเมื่อมีความเกิดขึ้นแล้วก็มีความตายไปในที่สุด อันนี้พระพุทธเจ้ายังไม่พูดในที่นี้ ทั้งนี้เพราะว่าการเกิดขึ้นมาแล้วก็ตายนี่มันต้องหาเหตุหาผล ท่านให้หาเหตุว่าที่มันเกิดมาเพราะอาศัยอะไรทำให้เกิด จะไปนั่งโทษพ่อโทษแม่ไม่ได้ ถ้าเราไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมเป็นเจ้านาย พ่อแม่ท่านจะทำอย่างไร เราก็เกิดไม่ได้ นี้ที่เรามาเกิดจริง ๆ ก็เพราะความชั่วมันแนะนำให้

    พระพุทธเจ้าเทศน์ต่อไปว่า ความดับของรูป คำว่าดับของรูป ในที่นี้หมายความว่าดับเลย ได้แก่บาลีที่ว่า เตสํ วูปสโม สุโข ซึ่งพวกท่านก็บังสุกุลชาวบ้านเขาเวลาตายอนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ อุปาทวยธมฺมิโน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฌนฺติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เตสํ วูปสโม สุโข การเข้าไปสงบกายนั่นชื่อว่าเป็นความสุข นี่ในข้อที่พระองค์ตรัสว่า ความดับของรูปเป็นอย่างนี้ ความดับตัวนี้ พระพุทธเจ้าหมายให้มันดับไปเลย ไม่มีการเกิดกันอีก ถ้ามันยังมีการเกิดขึ้นอีกชื่อว่ามันไม่ดับ นี่เราแสวงหาความดับของรูปต่อไป เรารู้ว่ามีการเกิดขึ้นมาเพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย มันเกิดที่ไหนมันก็ดับที่นั่น ทีนี้เราต้องการความดับของรูป เราจะดับที่ไหน ดับตรงกิเลส ตัณหา อุปาทาน ทำลายตัวนี้ให้ดับ นี่ความจริงในบาลี ท่านพูดไว้แต่โดยย่อก็ข้าใจแล้ว ท่านอธิบายสั้น ๆ เพราะคนสมัยนั้นเป็นคน มีจิตถึงธรรมมาก มีความอ่อนโยนมาก กิเลสมันน้อย ท่านพูดแต่เพียงย่อ ๆ เขาก็เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น พระพุทธเจ้าเทศน์เฉพาะในกุรุรัฐเท่านั้น ไม่เคยเทศน์ในที่อื่น เพราะคนในสถานที่นั้นเป็นคนที่มีจิตละเอียดมาก เพราะมีจิตเข้าถึงธรรมได้ง่ายนั่นเอง เราให้มาพิจารณาความดับของรูป เราจะดับอย่างไร และต้องการไม่ให้รูปมันเกิดอีก ต้องแสวงหาความดับกิเลส ความเศร้าหมองของจิต ดับตัณหาคือความทะยานอยาก ดับอุปาทานคือความยึดมั่น ดับกรรมที่เป็นอกุศล ที่ทำด้วยอำนาจของความโง่ คือเห็นว่าของที่ไม่ดีว่าดี การทำที่ชั่วเห็นว่าเป็นการกระทำที่ดี

    นี้วิธีจะดับเราจะดับแบบไหนล่ะ วิธีจะดับเราต้องหาความจริงจากรูป ว่ารูปในเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วมันสุกข์หรือมันทุกข์ หาความจริงในรูปของอริยสัจ ความจริงอันนี้มันยังไม่ถึง มันยังไม่ถึงกับพูด เดี๋ยวใครตายเข้ารู้เลยไม่รู้กัน ในเมื่อเราจะดับรูปก็คิดหาสาเหตุว่ารูปนี่มันเกิดขึ้นมาแล้วมันสุขหรือมันทุกข์ มันมีการทรงตัวหรือว่ามีการเสื่อมไป นี้เราจะเห็นว่า การเกิดของรูปนับแต่วันเกิดถึงวันตายเราหาความสุขไม่ได้ นอกจากว่าเราจะหลอกตัวเอง ในเมื่อเราต้องการจะดับรูป ก็เอาอย่างง่าย ๆ ลองพิจารณาหาความเป็นจริงว่าการเกิดของเรา เต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์อะไร คือ ตอนเล็ก ๆ ที่เกิดมายังช่วยตัวเองไม่ได้ความหิวปรากฏ ความกระหายปรากฏ ความร้อนปรากฏ ความป่วยไข้ไม่สบายปรากฏ ช่วยตัวเองไม่ได้ นอกจากถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เลอะเทอะออกมาก็ช่วยตัวเองไม่ได้ กว่าผู้ใหญ่เขาจะรู้ ก็ต้องหิวจัดขนาดร้องไห้ แสดงถึงความทุกข์ใจ มาถึงความเป็นผู้ใหญ่ นี่เราหิวเราช่วยตัวเองได้บ้าง แต่สิ่งที่ช่วยมาไม่ได้จริง ๆ ต้องหาอะไรมาช่วยก็เพราะว่าความหิว ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคะ แปลว่า ความเสียดแทงมันทำให้ไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นปัจจัยของความทุกข์เราก็มานั่งดูว่า ความหิวเราเกิดขึ้นมาแล้ว วันเราหิวกี่ครั้ง แล้วเดือนหนึ่งมันหิวเท่าไหร่ เราเคยระงับความหิวให้ถึงที่สุดได้รึไม่ เป็นอันว่าไม่มีใครจะสามารถทำลายความหิวให้สิ้นไปได้แต่เพียงระงับชั่วคราวเท่านั้น เราก็หาความทุกข์ให้มันพบนะ ในเมื่อเราพบความทุกข์จากความหิว แค่หิวอย่างเดียวนี่ตลอดชีวิตเราเราจะหาทางระงับความหิวมันไม่ได้ในความเป็นคน ในเมื่อเรารู้ว่าร่างกายของเราทุกข์เสียอย่างเดียว เราอยากจะเกิดมาเป็นทุกข์อีกไหมถามตัวเรา
     
  3. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    ถ้าหากว่าเรายังหลงอัตตภาพร่างกายนี่เป็นเราเป็นของเราอยู่มันจะต้องเกิดอีก นั่นก็เรา นี่ก็เรา โน่นก็เรา อัตตภาพร่างกาย เป็นเรา เวลาตายจริง ๆ เพื่อนของเราที่ตายไปที่เกิดมาด้วยกัน เกิดพร้อมกันหรือเกิดก่อนกัน หรือเกิดที่หลังกัน ดูคนที่เขาตายทั้งหมดมีใครเขาแบกอะไรไปได้บ้าง สมบัติพัสถานที่เขาหาไว้ได้มีใครเขาแบกอะไรไปได้บ้าง คนที่รักที่สุดของทุกคนก็คือ ร่างกายของตัวเอง ที่บอกว่ารักอย่างนั้นมาก รักอย่างนี้มากน่ะ มันไม่จริง โกหก สิ่งที่รักมากที่สุดในชีวิตของเราก็คือร่างกายของเรา นี้เมื่อร่างกายของเราเป็นสมบัติที่เรารักมากที่สุด มีคนตายคนไหนบ้างไหมที่แบกร่างกายไปเมืองผีได้บ้าง ไม่มีเป็นอันว่าพระพุทธเจ้าบอกว่า ให้พิจารณาถึงความดับของรูป ก็หมายความว่าหาทางดับรูป วิธีดับรูปก็มีทางเดียว พิจารณายอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง ว่ารูปนี่ถ้ามีความเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็มีความเสื่อม ถ้าเรามาจับว่ามันเป็นเราเป็นของเรา เราก็มีความทุกข์ ถ้ามีจิตยอมรับนับถือ นึกไว้เสมอว่าสติปัฏฐาน ไอ้คำว่าสติปัฏฐานนี่ คือฐานะเป็นที่ตั้งของสติ คือนึกไว้เสมอว่า รูปนี่มันเสื่อม แล้วก็รู้ตัวว่านี่มันเสื่อม เราแก่ลงทุกวัน เราทรุดโทรมลงทุกวัน ไม่ใช่ว่าเรามานั่งว่ารูปของเราทรงตัวอยู่ตลอดเวลา อันว่าเรารูปกายของเราไม่เสื่อม มีความทรงตัวมีความแจ่มใสอยู่ นั่นทราบเถอะว่าเราเริ่มบูชาความโง่แล้ว เมื่อรูปมันเสื่อม มันไม่ทรงตัว มันเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ถามตัวเอง สมัยนั้นพระพุทธเจ้าเวลาท่านเทศน์ท่านก็ถามคนฟังด้วย ถามดูซิว่าร่างกายของเรามันสุขหรือมันทุกข์ อย่างความหิวเกิดขึ้น กินเข้าไปแล้วอาหารที่กินเข้าไปมันเสื่อม ร่างกายต้องการอาหารใหม่ ความหิวมันเกิดขึ้นใหม่ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ พระที่มาฟังก็ตอบว่าเป็นทุกข์ทุกคน นี่เราแค่หิวตัวเดียว

    ทีนี้ความแก่เฒ่าปรากฏ ร่างกายไม่ดี ผุพัง ตาฟาง ฟันโยก กินอะไรไม่ถนัด มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าหากว่าเราไม่โง่เสียอย่างเดียวเราก็ตอบว่าทุกข์ นี้การปวดอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เราก็ต้องตอบว่าเป็นทุกข์ การไม่สบายกาย ไม่สบายใจเพราะโรคภัยไข้เจ็บเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เราก็ต้องตอบว่าเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ถ้าเราถือว่านั่นเป็นเราเป็นของเรา เราไม่อยากให้มันพลัดพรากจากไป เมื่อมันจากไปแล้วเราก็เป็นทุกข์ ความตายเข้ามาถึงเราบ้าง เราถือว่าร่างกายเป็นของเรา เราไม่ต้องการให้มันพัง แต่เมื่อมันจะพัง ก็เกิดทุกข์ เมื่อเราได้พิจารณาว่า อาการทั้งหลายทั้งหมดเหล่านี้ ถ้าเรายังยึดว่าร่างกายนี่เป็นเราเป็นของเรามันก็เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ เป็นตัวอุปาทาน เป็นตัวสร้างให้เราเกิดอีกต่อไป นี่วิธีที่จะว่าความเกิดท่านบอกว่าให้มีความดับของรูป ไอ้ความดับของรูปก็หมายความว่าดับมันเสียเลย ไม่ต้องมีรูปต่อไป ถ้ารูปนี่มันเป็นปัจจัย เป็นที่ขังของความทุกข์ ถ้าเราไม่มีรูปเสียอย่างเดียวจะมีความหิวเกิดมาจากไหน มันจะมีความหนาว ความร้อนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จะมีโรคภัยไข้เจ็บมารบกวนใคร ในเมื่อเราไม่มีร่างกาย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันมีได้เพราะอาศัยร่างกายเป็นปัจจัย นี่เราก็โยนร่างกายทิ้งไป โยนให้ดีนะ โยนไม่ดีลงนรกนะ ถ้าโยนน่ะโยนให้เหมาะ ถ้าโยนอย่างหนีเจ้าหนี้ผูกคอตายนี่ลงนรกนะ

    วิธีโยนกายทิ้งไปอย่างง่าย ๆ ก็ดูอย่างท่านโคธิกะ ความดับของรูป ดับง่าย ๆ แต่ว่าใช้อารมณ์อย่างท่านโคธิกะ ใช้ปฏิปทาอย่างท่านโคธิกะ ท่านโคธิกะบวชในสมัยพระพุทธเจ้า แล้วก็อยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้าโดยตรง ปรากฏว่าเมื่อบวชแล้ว ท่านได้ฌานโลกีย์ แต่ว่าเพื่อนของท่านเป็นพระอรหันต์กันไปบ้าง เป็นพระโสดาและสกิทาคา พระอนาคา กันไปเยอะแยะ เป็นพระอริยเจ้า ท่านเองได้ฌานโลกีย์ แล้วก็ปรากฏว่าท่านโคธิกะป่วยเป็นโรคบวมทั้งตัวลุกไม่ขึ้น ในเมื่อโรคภัยไข้เจ็บมันเบียดเบียน กำลังใจก็ไม่มี ไม่สามารถจะปลดเปลื้องกิเลสได้ ต่อมาท่านบังเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกาย ถือว่านี่เป็นมาร คำว่ามารนี่เขาแปลว่าเป็นผู้ฆ่า ก็คิดว่านี่เราบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าแท้ ๆ แล้วเราก็อยู่กับพระพุทธเจ้าด้วย เราศึกษากับพระพุทธเจ้าได้แค่ฌานโลกีย์ เวลานี้เพื่อนของเราเป็นพระอริยเจ้านับไม่ถ้วน เราก็แหงแก๋อยู่แค่ฌานโลกีย์อย่างนี้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าร่างกายเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวร้าย เพราะว่าร่างกายมีความป่วยไข้ไม่สบายเป็นปกติ นี่ถ้าร่างกายของเราไม่ป่วยไข้ไม่สบายอย่างนี้ เราก็คงเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างเพื่อน ๆ ที่ท่านคิดแบบนี้ ต่อมาท่านก็เลยคิดไปว่าร่างกายเป็นมาร ถ้าร่างกายนี้ไม่ป่วยไข้ไม่สบายเราต้องเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ที่ไม่ได้เพราะว่าร่างกายเป็นผู้ทำลายความดีของเรา ในเมื่อร่างกายเป็นศัตรูของเรา เราจะไม่เลี้ยงมันไว้ จัดการกับมันเสียเถอะท่านก็หยิบมีดโกนมาเชือดคอ เชือดคอตายเสียก็หมดเรื่อง ขึ้นชื่อว่าร่างกายอย่างนี้เราไม่ต้องการมันอีกนับแต่วันนี้เป็นต้นไป หมายความว่า ชาตินี้ต่อไปชาติอื่นจะมีอีก เราก็ไม่ต้องการร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ มีขันธ์ ๕ นี่เราอยู่กับพระพุทธเจ้าแท้ ๆ มันยังขัดคอเราได้นี่เกลียดมากเลยจะเชือดคอ ก็ปรากฏว่าพระองค์สำคัญ ๔ ท่านคือ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร พระอนุรุทธ พระอานนท์ พระสี่ท่านนี่สำคัญมาก โดย ๒ ท่านแล้วก็เป็นพระอัครสาวก ทิพยจักขุญาณท่านว่องไวมาก มาพระอนุรุทธนี่ก็เลิศทางทิพยจักขุญาณ พระอานนท์ก็เป็นพระโสดาบัน เป็นพระที่มีความฉลาดมาก ท่านเป็นเพื่อนพอรู้ข่าวว่าโคธิกะจะเชือดคอตาย จะทำอัตวินิบาตกรรม เกรงว่าจะเป็นโทษก็เข้าไปห้ามโคธิกะ ห้ามอย่างไรก็ตามท่านโคธิกะท่านไม่ยอม ท่านบอกว่าฉันไม่ยอมให้ เพราะร่างกายมันเลอะ ฉันไม่ต้องการมัน นี่เป็นศัตรูร้าย ชาตินี้ฉันเกิดพระพุทธเจ้า ถ้าฉันตายไปจากชาตินี้อีกเท่าไหร่ล่ะ ฉันถึงจะเกิดพระพุทธเจ้า การพบหรืออยู่ในเขตที่เป็นอุดมมงคลเช่นนี้จะไม่มีสำหรับผมอีก หรือว่าถ้าจะมีก็ไปกำหนดเวลาไม่ได้ ที่ผมอยู่กับพระพุทธเจ้า หาความดีไม่ได้ ก็เพราะว่าร่างกายมันเลว จะฆ่ามันเสีย เมื่อห้ามปรามก็ไม่ฟัง ท่านทั้ง ๔ องค์ก็ลุกไปจากพระโคธิกะ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันทั้ง ๔ องค์ ความจริงท่านทั้ง ๔ องค์ องค์หนึ่งองค์ใดจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อกราบเรียนให้ทรงทราบไปเฝ้าองค์เดียวอีก ๓ องค์อยู่ ท่านพระโคธิกะก็สู้ไม่ได้ ไม่สามารถจะเชือดคอตายได้ แต่นี่ท่านย่องไปทั้ง ๔ องค์แหมถ้าคนอื่นเขามาเล่าให้ฟังว่าทั้ง ๔ องค์เป็นพระอริยเจ้าองค์สำคัญนี่ผมเกือบไม่เชื่อก็บอกว่าพระอริยเจ้าทำไมโง่แบบนั้น แต่ความจริงท่านไม่โง่ ท่านจะโง่หรือไม่โง่ก็ไม่ทราบ แต่กรรมที่เป็นกุศลใหญ่จะช่วยท่านพระโคธิกะ เพราะว่าพระโคธิกะมีปัจจัยที่จะเข้าพระนิพพานเพราะเหตุนั้น เรื่องกรรมฐานที่เป็นกุศลให้ผลก็มี กรรมที่เป็นอกุศลให้ผลก็มี ฉะนั้นห้ามไม่ได้อย่าไปดิ้นอย่าไปรนห้ามปรามมันเลย เราไม่มีทางสู้กฎของกรรม พระพุทธเจ้าถึงได้ให้ยอมรับนับถือกฎของกรรมของเราเสีย จะได้สบายใจ ความไม่สบายกายไม่สบายใจเกิดก็รู้ว่านี่เมื่อก่อนเราทำความชั่วไว้ความชั่วมันมาตาม ถ้าเรามีความสบายกายสบายใจปรากฏ ก็นี่เมื่อก่อนเราเคยทำความดี ความดีให้ผล เราจะทำความดีต่อไป ผลของความชั่วเราคิดว่าความชั่วให้ผลแล้วในชาติก่อน ฉะนั้นต่อไปนี้เราจะไม่ทำความชั่ว ความไม่ดีอย่างนี้จะได้ไม่มียุ่งกับเราอีก นี่กฎของกรรม ท่านโคธิกะ ท่านไปนิพพานด้วยกรรมแบบนั้น เป็นเหตุให้ท่านทั้ง ๔ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ในเมื่อท่านทั้ง ๔ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พอลับหลังพระโคธิกะก็เชือดคอตาย ท่านทั้ง ๔ ไม่ทราบ ก็กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดกรุณาไปห้ามพระโคธิกะ เวลานี้พระโคธิกะจะเชือดคอตาย พระพุทธเจ้าตอบว่าอย่างไร บอกว่าจิตในกามห้ามพระโคธิกะไม่อยู่ ท่านทั้ง ๔ จึงทูลถามว่าเป็นเพราะอะไรพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าตอบว่า เธอหันหลังมาแล้วพระโคธิกะเชือดคอตายแล้ว ท่านทั้ง ๔ จึงถามพระพุทธเจ้าว่าท่านรู้รึ พระพุทธเจ้าบอกว่ารู้ ถามว่าท่านรู้แล้วทำไมไม่ห้ามพระโคธิกะ ท่านก็เลยบอกว่า นี่ฉันสอนคนให้พ้นทุกข์นะ ฉันสอนคนนี้ฉันบำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขยกำไรแสนกัปทนทรมานความทุกข์ ความยากมาแล้วก็มานั่งทรมานตัวสอนคนอยู่เวลานี้ เพราะต้องการอย่างเดียว ให้คนพ้นทุกข์จนเข้าพระนิพพาน ก็ในเมื่อคนจะเข้าพระนิพพานแบบนั้นแล้วฉันจะไปห้ามเขาทำไม เป็นอันว่าพระโคธิกะเชือดคอคราวนั้น ท่านไปนิพพาน
     
  4. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    ความจริงอัตวินิบาตกรรม เราคิดกันอย่างโลกเคร่า ๆ คิดว่า เป็นอารมณ์ชั่วทำตัวให้ตกนรก ทีนี้อารมณ์ของพระโคธิกะ พวกท่านลองคิดดูเวลานั้นท่านโคธิกะไม่ต้องการร่างกาย ท่านโคธิกะเกลียดร่างกายเป็นที่สุด เพราะเห็นว่าร่างกายนี้เป็นภัย เป็นศัตรูร้ายที่เรียกกันว่ามาร มารแปลว่าผู้ฆ่า ผู้ทำลาย โคธิกะเห็นว่าร่างกายเป็นศัตรู จึงมีสิทธิจะไม่ต้องการร่างกายต่อไปอีก ความคิดว่าถ้าความเกิดใดจะพึงมีในภายข้างหน้าต่อไปก็ตามที หรือคิดว่าร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ ๔ และบริบูรณ์ไปด้วยขันธ์ ๕ อย่างนี้จะไม่มีสำหรับเรา นี่ตัดญาติขาดมิตรกันเลย คิดว่าร่างกายนี้เราไม่ต้องการอีก แค่นี้เองไปนิพพาน

    แต่ว่าจะถามว่า ทำไมถึงง่ายนัก ทีนี้มาดูอำนาจของวิปัสสนาญาณว่าคราวหนึ่งพระไปลาพระพุทธเจ้า คือเรียนกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า เพื่อไปฝึกพระกรรมฐานในป่า ลาพระพุทธเจ้าแล้วพระพุทธเจ้าทรงทราบว่า ถ้าพระผู้นี้ไปหาพระสารีบุตร พระสารีบุตรจะสอนอะไรบ้าง พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้วก็เลยถามว่า พวกเธอทั้งหลายไปหาสารีบุตรรึยัง ไปลาพระสารีบุตรแล้วรึยัง พระพวกนั้นบอกว่ายังพระเจ้าข้า พระองค์จึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเธอไปลาพระสารีบุตรเสียก่อนนะ เธอจึงค่อยไปป่า พระพวกนั้นก็กราบถวายบังคมลาพระพุทธเจ้า เมื่อพระพวกนั้นเข้าไปหาพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็แนะนำให้โอวาทตามสมควร เรื่องการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี่เรามีความต้องการอย่างเดียว คือความดับไม่มีเชื้อหมายความว่า ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เราจะได้พ้นทุกข์ คือหมายความว่าเป็นพระอริยเจ้า พระพวกนั้นก็เลยถามว่า เวลานี้พวกผมปุถุชนคนธรรมดา หนาแน่นไปด้วยกิเลส ถ้ามีความประสงค์จะปฏิบัติตนให้เป็นพระโสดาบัน จะทำอย่างไรขอรับ ท่านพระสารีบุตรก็บอกว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า พิจารณาในขันธ์ ๕ ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้เข้าใจยาก เอาง่าย ๆ เอาร่างกายของเราก็แล้วกัน ถ้าพังร่างกายเสียอย่างเดียว ไอ้นามทั้ง ๔ อย่างมันไปไม่ได้ ทำลายบ้านเสียแล้วคนมันก็อยู่ได้อย่างไร นามธรรม ๔ ประการไม่ต้องไปสนใจมันเท่าไร เอารูปธรรมคือรูปตัวเดียว เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ทำจิตคิดอย่างนี้เป็นปกติ ถ้าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเราจริงมันต้องไม่แก่ มันต้องไม่ป่วย มันต้องไม่ตาย ต้องไม่มีการทรุดโทรม คนเราทุกคนเกิดมาไม่ต้องการความแก่ ไม่ต้องการความป่วยไข้ไม่สบาย ไม่ต้องการตาย ไม่ต้องการทุกขเวทนา อาการที่เกิดกับร่างกายแล้วเราห้ามได้ไหม เราห้ามไม่ได้ ในเมื่อเราห้ามไม่ได้เราก็พึงรู้ว่าร่างกายมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีอำนาจเหนือมัน มันเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจเหนือเรา มันต้องเป็นไปตามกฎของธรรมดา ถ้าเราทั้งหลายพิจารณาสภาพร่างกายที่เราเรียกว่าขันธ์ ๕ ผมก็ขอยกมาพูดแต่กายอย่างเดียว มันจะรวมเป็นขันธ์ ๕ นี่พูดแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดีไม่ดีเลอะเพราะอะไรก็ไม่รู้ ในเมื่อร่างกายไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราแล้ว พอพิจารณาไปจิตละเอียดขึ้นหน่อยปัญญาก็เกิด ก็เป็นพระโสดาบันได้ พระพวกนั้นก็ถามต่อไปว่า ถ้าผมเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าจะเป็นพระสกิทาคามีจะทำอย่างไร ท่านก็บอกว่า ก็พิจารณาอย่างเดียวว่าอัตตภาพร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา แล้วก็พิจารณาหาความจริงนร่างกายให้ปัญญามันเกิด ราคะ โทสะ โมหะ มันก็จะเบาลง อันนี้คุณจะเป็นพระสกิทาคามีได้ พระพวกนั้นก็ถามต่อไปว่า พวกผมเป็นพระสกิทาคามีแล้วต้องการเป็นพระอนาคามีจะทำอย่างไร บอกว่าทำแบบเดียวกัน คือพิจารณาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่าตัวเรา ถ้ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายมีแต่ขันธ์ ๕ เท่านี้ปัญญามันก็เกิดขึ้น จิตละเอียดลง ก็สามารถตัดความโกรธทิ้งได้ ตัดกามราคะทิ้งได้ เราก็เป็นพระอนาคามี พระพวกนั้นก็ถามต่อไปอีกว่า ในเมื่อพวกผมเป็นพระอนาคามีแล้ว ต้องการเป็นพระอรหันต์ จะพิจารณาแบบไหน ท่านก็เลยบอกว่า ไอ้แบบเดียวกันนั่นแหละ พิจารณาขันธ์ ๕ ว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา หรือว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา พิจารณาไปปัญญามันก็เกิด เกิดขึ้นแล้วในที่สุดมันก็ทำลายตัวเอง สภาพร่างกายนี่มันไม่ใช่เราจริง ไม่ใช่ของเราจริง ไอ้เรื่องกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมต่าง ๆ มันก็สลายตัวไป คือ

    ๑. สักกายทิฏฐิ คือว่า อัตตภาพร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันก็ปรากฏด้วยอำนาจของปัญญา

    ๒. วิจิกิจฉา ความสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่มี

    ๓. สีลัพพตปรามาส การทรงศีล ลูบคลำศีลไม่ปรากฏ เพราะรักษาศีลบริสุทธิ์ เพราะเกรงว่าถ้ามีศีลไม่บริสุทธิ์มักจะไปอบายภูมิ มันก็ต้องเกิดอีก

    ๔. ตัดกามราคะ ความพอใจในกามารมณ์ระหว่างเพศ อารมณ์มันก็ตัดขาดไป ตัดฉันทะ ความโกรธ ความพยาบาท การกระทบกระทั่งของจิตออกไป เหลือแต่อำนาจของเมตตา เป็นพระอนาคามี

    แล้วต่อจากนั้นก็เก็บเล็กเก็บน้อย คือ ตัดรูปราคะ ตัดความเมาในรูปฌาน บางคนที่ได้อรูปฌานแล้วก็เมาในรูปฌานปรากฏ ถือว่า ตัวเป็นผู้วิเศษ ไม่ทำตัวให้สูงขึ้นไปใช้ไม่ได้ เห็นว่ารูปฌานเป็นแต่เพียงว่าเป็นบันไดก้าวไปสู่พระนิพพานเท่านั้น

    ตัดอรูปราคะ คืออรูปฌานเสียได้ ไม่เมาในอรูปฌาน ไม่ใช่ทิ้งอรูปฌาน ทรงอรูปฌานไว้ เป็นกำลังใจ เป็นเครื่องมือทำลายกิเลส ตัดมานะ ความถือตัว ถือตน ว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา เห็นว่าคนและสัตว์เกิดมาเพราะอาศัยธาตุ ๔ มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน ไม่มีใครวิเศษกว่าใคร ไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกว่ากัน ตายเหมือนกัน ไม่รังเกียจแม้แต่คนและสัตว์ซึ่งอยู่ในสภาพสกปรก

    อุทธัจจะ ตัดอารมณ์ฟุ้งซ่านด้านอกุศล ความจริงได้อนาคามีแล้ว ไม่มีอกุศลมีแต่จิตที่เป็นกุศลอย่างเดียว แต่ว่าอารมณ์ ฟุ้งซ่านอยู่นิดหนึ่ง คือยังคิดว่านั่นดี นั่นเลว ถ้าตัดตัวนี้ไปเสีย ไอ้ตัวดีนอกจากนิพพานเราไม่ต้องการ เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน ในที่สุดก็ตัดความโง่ คือ อวิชชา อวิชชานี่ถ้าเราพูดว่าแค่อวิชชาอย่างเดียว มันก็จนตายไม่รู้จะไปทางไหน ความจริงอวิชชานี่มันไม่ใช่ความโง่หรอก ไอ้โง่เสียจริง ๆ มันก็ไม่รู้อะไรเลย คนที่เกิดมาในโลกทั้งหมดที่ไม่รู้อะไรเลยไม่มี อวิชชาต้องแปลว่า โง่เหมือนกัน แต่ว่าโง่ไม่หมด มีความฉลาดเหมือนกัน แต่ว่าฉลาดไม่ครบถ้วน ตัวอวิชชาคือตัวไหน อะไรที่ชนะอวิชชา ทีนี้ตัวธรรมะที่เป็นตัวอวิชชาจริง ๆ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎกได้แก่ ฉันทะกับราคะ ฉันทะ คือความพอใจโลกนี้ ความพอใจ ในการเกิดในโลกนี้ หรือทรัพย์สินทั้งหลายในโลกนี้ ร่างกายที่มีอยู่ในโลกนี้ เทวโลกและพรหมโลกด้วยนะ ฉันทะความพอใจ อยากเกิดเป็นคน อยากเกิดเป็นเทวดา อยากเกิดเป็นพรหม อยากเป็นมันอยู่แค่นี้ อีกตัวหนึ่งก็ราคะว่าโลกมนุษย์สวยสดงดงาม อะไรมันสวยไปทั้งสิ้น เทวโลก และพรหมโลก สวยสดงดงามอยากมาอีก ตัวนี้เป็นตัวอวิชชา เขาถามว่าอวิชชาคืออะไร ก็ได้แก่ ฉันทะกับราคะ ถ้าตัดฉันทะกับราคะเสียได้แล้ว ทุกคนไปนิพพานหมด
     
  5. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    ที่ภาษาที่สอนอย่างนั้นก็เพราะพระทุกท่านท่านตัดฉันทะ และราคะ ในร่างกายเสีย ความพอใจในร่างกาย ความเห็นว่าร่างกายดี ตัดทิ้งไปเสีย ใช้อารมณ์อย่างเดียวกับพระโคธิกะถือว่าร่างกายเป็นมาร ร่างกายเป็นโทษ เท่านี้จิตก็ถึงอรหัตผล พระพวกนั้นก็เลยถามต่อไปว่า ถ้าพวกผมเป็นอรหัตผลแล้ว ก็ไม่หยิบ ไม่ต้องทำอะไรใช่ไหม ท่านบอกว่า ไม่ใช่ พระอรหันต์นี่ขยันมาก ถ้าพิจารณาขันธ์ ๕ ว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรานั้นเพื่อความเป็นอยู่เป็นสุข อย่าเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์แล้วเลิก ความจริงพระอรหันต์นี่เขายิ่งทำหนัก เพราะพระอรหันต์เบื่อร่างกายเต็มที เพราะการเบื่อร่างกาย ความเบื่อทางโลก เห็นมันไม่เที่ยง เป็นอนัตตาท่านจึงเป็นพระอรหันต์ เมื่อถึงความเป็นอรหันต์แล้ว ความเบื่อมันทรงตัวเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันอยู่ในโลกได้อย่างไร มานั่งนึกว่ามันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราอยู่ชั่วคราวแล้วเมื่อมันยังไม่พัง เพราะกรรมมันสนองเพียงใดก็ทนไป อยู่เพื่อทำประโยชน์ให้แก่โลกแล้วก็รีบสนองความชั่วของอกุศลกรรมที่เราเคยทำมาในชาติก่อน ใช้หนี้มันแค่นี้พอ

    การดับรูป เมื่อรูปเกิดขึ้นแล้ว ก็พิจารณาถึงความดับไปของรูป ไอ้ความดับไปของรูปท่านก็ให้พิจารณาในต้นขันธ์ ๕ ตามแบบของวิปัสสนาญาณ หรือจะเอาแบบสั้น ๆ แบบท่านพระโคธิกะนี่ก็สบาย การพิจารณาอย่ามัวไปนั่งนึกแบบเลย แบบที่แผลงเกินไปแล้วก็เป็นตัวตัดสัญญาเกินไป ตัวสัญญามันมั่นคงอยู่มาก ปัญญามีน้อยก็เห็นจริงไม่ได้ การเห็นจริงนี่ก็เกิดด้วยอำนาจของปัญญา ไม่ใช่สัญญา สัญญาเป็นตัวโยงคือเป็นพื้นฐาน คือกำหนดว่าร่างกายไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา นี่เราช่วยกันแค่กายนะ พอถึงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เหมือนกัน ทีนี้เราจะคิดแบบสั้น ๆ คิดอย่างท่านพระโคธิกะ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ป่วยอย่างพระโคธิกะ ปกติเราก็ป่วยทุกวัน โรคที่หนัที่สุดคือหิวเพราะพระพุทธเจ้าท่านว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคะแปลว่า เสียดแทง อาการเสียดแทงทำให้ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ นี่หากว่าเราจะพิจารณาความดับของรูป เราต้องพิจารณาตามรูปของวิปัสสนาญาณตามที่พระสารีบุตรสอนกับพระ หรือเอาแบบพระโคธิกะตอนต้นก็ได้ แต่ตอนต้นไม่สนับสนุนนะ เชือดคอตาย ดีไม่ดีบอกพญายม ว่าผมแนะนำให้เชือดคอตายละผมแย่เลย เอาในตอนต้นนะพิจารณาหาโทษของมันทุกวันทุกวัน ถ้ามันหิวขึ้นมาก็คิดว่า นี่ถ้าเราไม่มีร่างกาย จะไม่มีอะไรหิว ถ้ามันร้อนถ้าเราไม่มีร่างกายจะมีอะไรร้อน ถ้าปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ถ้าเราไม่มีร่างกายจะมีอะไรมาทรมานแบบนี้ ถ้าโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นมาก็คิดว่า ถ้าเราไม่มีร่างกายอาการอย่างนี้จะมีไหม ถ้าความขัดข้องใจเกิดขึ้นก็คิดว่าอารมณ์อย่างนี้ถ้าไม่มีร่างกายจะเกิดได้อย่างไร ถ้าความตายเกิดขึ้น ก็คิดว่าถ้าเราไม่เกิดเสียอย่างเดียว จะเอาอะไรมาตาย นี่จิตของท่านทั้งหลายถ้าวางได้แบบนี้ ทรงสติสัมปชัญญะเป็นปกติ ไม่ลืมตลอดเวลา แล้วก็ไม่มีความเมาในร่างกาย ไม่เห็นว่า ร่างกายเป็นแดนของความสุข เพราะร่างกายเป็นแดนของความทุกข์ แต่ก็ไม่มีความหวั่นไหวในทุกข์อันนั้น ทั้งนั้นเพราะอะไร เพราะดีใจว่าไม่ช้าไม่นานร่างกายมันก็พัง ถ้ามันพังเมื่อไรเราก็เลิกมีร่างกายเมื่อนั้น แบบเดียวกับที่ทรมานอยู่ในเรือนจำ เมื่อเราออกจากเรือนจำเมื่อไร เราจะไม่เข้ามาอีก เวลานี้เราอยู่ในเรือนจำของวัฏฏะ ไอ้เรือนจำของวัฏฏะเรามองไม่เห็นตัว เป็นกิเลส ตัณหา อุปทานอกุศลกรรม มันบีบคั้นเราทุกอย่าง สิ่งที่ไม่ดีมันสอนว่าดี สิ่งที่เป็นทุกข์มันสอนว่าเป็นสุขเรารู้อยู่แล้ว เราพบพระพุทธเจ้าแล้ว คือ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง เราคิดว่าเรามีทุกข์มาแล้วหลายแสนกัป เวลานี้เราพอแล้ว เรามีความฉลาดพอแล้ว ขึ้นชื่อว่าความเกิดจะไม่มี สำหรับเราอีก

    สำหรับวันนี้ เราเรียนธรรมานุปัสสนาปัฏฐาน เรื่องขันธ์ ๕ ต่อ เมื่อวานนี้เรื่องขันธ์ ๕ เราจบแค่รูป หวังว่าเรื่องของรูปก็คงจะเข้าใจกันแล้ว สำหรับวันนี้ก็เหลือ ๔ แบบ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความประสงค์ของพระพุทธเจ้าให้ศึกษามหาสติปัฏฐานสูตรในเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไปหาความเป็นจริง ที่เรียกว่าหาความเป็นจริงก็ตามที่พูดมาแล้วว่า รูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขาร วิญญาณก็ดี ทั้งหมดนี้มีสภาพไม่เที่ยง ตกอยู่ในลักษณะของความเป็นทุกข์แล้วก็มีความสลายไปในที่สุด เรียกกันว่าเป็นอนัตตา วันนี้เรามาพูดกันเฉพาะเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เห็นจะจบกันวันนี้เพราะว่ามันเหมือนกัน คำว่าเวทนาได้แก่อาการที่เสวยอารมณ์ ถ้าเราจะฟังเป็นภาษาไทย กันชัด ๆ คำว่าเสวยอารมณ์คือความรู้สึก ได้แก่ความรู้สึกเป็นสุขหรือว่าเป็นทุกข์ หรือว่าไม่สุขไม่ทุกข์ อันนี้เป็นลักษณะของเวทนา ลักษณะของเวทนามีความรู้สึกเป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี เป็นเวทนาในมหาสติปัฏฐาน

    พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารู้เรื่องของเวทนา เพื่อประโยชน์อะไร เวทนาตัวนี้ความจริงมันเป็นเครื่องเกาะอยู่หรือเป็นอุปกรณ์ของขันธ์ ๕ เรียกว่าร่างกาย ถ้าร่างกายของเราดับเมื่อไร เวทนามันก็ดับเมื่อนั้น เราก็รู้อยู่แล้ว เมื่อเราพูดกันถึงรูปว่า เมื่อรูปมันทรงตัวอยู่เวทนาก็มีการทรงตัวมีความรู้สึก หากว่ารูปมันดับแล้วร่างกายมันพัง ตอนนี้เวทนามันก็อยู่ไม่ได้ ตัวอย่างที่เราเห็นก็คือคนตาย คนตายทุกคนไม่มีใครห่วงใยในอาการทั้งหมด หมายความว่าเวทนาต่าง ๆ จะมีสุขก็ตามความทุกข์ก็ตาม คนตายไม่คำนึงถึงเพราะว่ารูปดับ เมื่อรูปหรือร่างกายมันดับแล้วเวทนามันก็ดับไปด้วย มาเวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์ มันก็เป็นภัยเหมือนกันสำหรับเราที่มีรูป ขณะใดที่เราทรงร่างกายอยู่นี้ เฉพาะร่างกายจริง ๆ ไม่เป็นเครื่องหนัก ที่ว่าไม่เป็นเครื่องหนักเพราะว่ามันมีสภาพเหมือนท่อนไม้ ไม่มีความรู้สึกอะไร หากว่าจิตออกไปจากร่างเสียแล้วมันก็หมดเรื่องกัน

    ขณะที่ร่างกายทรงอยู่เราจะมีความสุขหรือความทุกข์ก็คือเวทนา ตัวเวทนาที่ปรากฏ ถ้าเวทนาเป็นสุขเวทนามันก็ดีเราชอบใจ แต่พระพุทธเจ้าไม่ชอบใจ ทุกขเวทนาปรากฏ อันนี้เราไม่ชอบใจ พระพุทธเจ้าก็ไม่ชอบใจเหมือนกัน อทุกขมสุข คืออุเบกขา เวทนาเกิดขึ้นนี่เราสบาย แต่พระพุทธเจ้าไม่ชอบใจ รวมความว่าเวทนาทั้ง ๓ ประการ คือสุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดีได้แก่อารมณ์ที่เป็นทุกข์ แล้วก็ความไม่สุขไม่ทุกข์ก็ตามทั้ง ๓ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าถือว่าไม่มีความสำคัญ ทั้งนี้เพราะว่ามันเป็นความสุขหรือว่าความทุกข์ หรืออาการนิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ มันก็เป็นระดับของโลก เพราะอารมณ์ของโลกเป็นอารมณ์ที่ไม่แน่นอน ตามบาลี คำว่าโลกท่านแปลว่า มีอันจะต้องฉิบหายไป คำว่าฉิบหายไปก็หมายถึงว่าสลายตัวไป ความสุขที่เกิดเพราะอาศัยโลกียวิสัย มีอะไร เราได้ผ้านุ่งผ้าห่มที่มีสีสวย หรือว่าได้คนที่มีความชอบใจ หรือวัตถุที่เราพึงปรารถนา อารมณ์ความสุขมันก็เกิด เกิดเพราะว่าเราได้สิ่งที่เราต้องการ นี่เป็นอารมณ์ของชาวโลกนะ หรือว่าชาวโลกโดยปกติมีความโง่เป็นปกติ ทำไมถึงว่าชาวโลกนี่โง่ เขาว่าชาวโลกไม่โง่ก็มี
     
  6. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    ทำไมจึงเรียกว่าโง่ ที่เราได้ของมาแต่ละชิ้น หรือว่าได้สิ่งที่มีชีวิตมาแต่ละรายเราพอใจ เรามีความสุข เมื่อเราได้ของสิ่งนั้นมา นี่ด้านของสุขเวทนานะ แต่ว่าคนนี่ไม่ได้คิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้มานี่มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ พูดให้รู้เรื่องง่าย ๆ ว่า เป็นเหตุของความทุกข์ ไอ้ตัวนั้นมันเป็นตัวสร้างความทุกข์ไม่ใช่ความสุข เขาให้รถยนต์ประจำตำแหน่งมาชอบใจไหม ไม่ต้องเดิน ขี่รถสบาย แต่ไอ้เจ้ารถนั่นมันสร้างความทุกข์มาให้คุณบ้างรึเปล่า น้ำมันไม่มี น้ำมันเครื่องไม่มี เครื่องสึกหรอ ดีไม่ดีรถไปจิ้มกับใครเขาเข้า มันสร้างความทุกข์ให้เกิด เป็นอันว่าวัตถุก็ตาม สิ่งที่มีชีวิตก็ตามถ้าเป็นของโลก ได้มาเรามีความสุขจริง แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นเหตุของความทุกข์ เราต้องตามบำรุงรักษามัน ต้องเอาน้ำมันไปใส่มัน เอาน้ำมันเครื่องไปใส่มัน หาสีมาพ่นให้เครื่องตรงไหนไม่ดีเราก็ต้องหามาบำรุง ไม่งั้นก็ใช้ไม่ได้ อาการที่เราจะต้องบำรุงรักษานี่เราต้องแสวงหาทรัพย์สินมา เพื่อแสวงหาวัตถุสิ่งนั้นมา นี่คืออาการของความทุกข์ แล้วก็สิ่งที่เราได้มาทั้งหมดมันทรงตัวเมื่อไหร่ มันมีความเสื่อมเป็นปกติ ไอ้เสื่อม ถ้าวัตถุก็คือเก่า ถ้าคนก็คือแก่ลงไป ทรุดโทรมลงไป ในที่สุดก็พัง ใครพัง ถ้ามันไม่พังเราก็พัง ของมันไม่พัง เราตายก่อนเราพัง บางทีเรายังไม่ทันพัง นี่ตัวที่มันเสื่อมลงไป มันพังลงไป มันก็เป็นทุกข์แน่ เห็นชัดว่าเราทุกข์

    สำหรับชาวโลกมีความทุกข์บ้าง ชาวโลกจริง ๆ ถ้าฝ่ายธรรมะน่ะเขาคิด ถึงแม้ว่าจะเป็นฆราวาสก็ตาม ถือว่าเขาเป็นชาวโลกเสมอไปนี่ไม่ได้ แม้แต่เป็นฆราวาสที่ยังนุ่งผ้า นุ่งกางเกง ผมยาวก็ตาม เราจะถือว่าเขาเป็นชาวโลกไม่ได้ คำว่าชาวโลกหรือชาวธรรมนี่มันขึ้นอยู่กับจิตใจ ไม่ใช่หมายถึงเพศ คนที่มีอารมณ์เข้าถึงธรรม ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริงก็เห็นว่า วัตถุต่าง ๆ ก็ดี สิ่งมีชีวิตก็ดี เราปรารถนาอยากจะได้ เราดีใจว่าเป็นเหตุของความสุข แต่เนื้อแท้จริง ๆ ไอ้นั่นมันเป็นเหตุของความทุกข์ ความสุขที่เราได้ ที่เราเรียกว่าสุขเวทนา ในมหาสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าให้ทิ้ง ท่านบอกให้ทิ้งไปเสียนะ ไม่ใช่ให้พวกเราไปเก็บ ความสุขที่เกิดจากวัตถุหรือว่าความสุขที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต อันนี้พระพุทธเจ้าให้โยนทิ้งไปเสียเพราะว่ามันสุขไม่จริง ไอ้ตัวที่เราว่าสุขมันเป็นเหตุของความทุกข์ทุกอย่าง

    มาว่ากันถึงทุกขเวทนาที่มันเกิด คำว่าทุกขเวทนาแปลว่าจิตใจไม่สบาย อารมณ์ไม่สบายเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบใจ มันเกิดขึ้น เราควรจะทำอย่างไร ตัวทุกข์นี่ไม่ต้องอธิบายมันเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบใจอยู่แล้ว เรารู้ว่ามันทุกข์ ทีนี้ความสุขมันก็ดี ความทุกข์ก็ดี ที่เป็นเรื่องของโลกมันเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างไร ท่านบอกว่า ความเกิดของเวทนา ความดับของเวทนา ไม่เห็นมีอะไร ให้รู้อยู่เสมอว่าทำจิตให้เป็นสัมปชัญญะ ให้รู้ความเกิดของเวทนา ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นเพราะอาศัยวัตถุหรือไม่มีวัตถุเป็นปัจจัย ว่านี่มันเป็นความสุขหรือเป็นความทุกข์ ถ้าเวทนาปรารถนาสิ่งประกอบไปด้วยอามิส ได้แก่ สิ่งของ ก็ทำความรู้สึกไว้เสมอว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันมีสภาพไม่เที่ยง มีอาการทรงตัว มันต้องมีการทำลายไป จิตใจมันไปยึดไปถือว่านั่นมันเป็นเราเป็นของเรา ถือว่าเป็นความสุข ถ้าความทุกข์มันเกิดมาเมื่อไร ความเดือดร้อนมันก็เกิด ความหวั่นไหวมันก็เกิด ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงแสวงหาเหตุที่มันจะเกิดความสุขและเหตุที่จะเกิดความทุกข์ในด้านโลกียวิสัย ว่าสิ่งที่เราอยากได้ปรารถนาอยากได้มานี่ มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แต่ทว่าในเมื่อเรามีร่างกายอยู่เราจำเป็นต้องอาศัยวัตถุและอาศัยสิ่งมีชีวิต วัตถุที่ใช้ทั้งหมดมีความจำเป็นสำหรับคนที่มีชีวิตอยู่ และสิ่งที่มีชีวิตจำเป็นต้องอาศัยซึ่งกันและกัน นี่รู้แต่เพียงว่าสิ่งเหล่านี้มันมีประโยชน์ในสมัยที่เรามีลมปราณอยู่เท่านั้น หากว่าเราตายไปแล้วสิ่งที่เป็นทางโลกเราแบกไปไม่ได้

    ฉะนั้น เวทนาในที่นี้ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาให้ใช้สติกำหนดไว้ว่า ขณะใดที่เรามีชีวิตอยู่ความสุขที่เกิดจากความพอใจมันเกิดขึ้น และความทุกข์ที่เกิดจากความไม่พอใจเกิดขึ้นเพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย อาศัยอะไรเป็นเหตุ เราก็จะรู้เลยว่า ความปรารถนาเป็นเหตุ นี่แหละที่ท่านเรียกว่าตัณหาคือความอยาก เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วท่านให้มีสติรู้เข้าไว้ ใช้สติสัมปชัญญะควบคุมว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่ทรงตัวตลอดกาล อย่างนี้ทุกวันบางทีตอนเช้าใจเราสบาย ชอบทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปรารถนาได้รับผลสมหวัง เจอะหน้าใครก็ดี ก็มีแต่เขาสรรเสริญพอใจ หากว่าอาการอย่างนี้ปรากฏขึ้นท่านบอกให้เอาสติควบคุมเข้าไว้ว่า นี่มันไม่จริง อาการความชุ่มชื่นของจิตไม่ทรงตลอด อีกไม่ช้าดีไม่ดีไม่ทันข้ามวันที่ผ่องใสมันจะกลายเป็นอารมณ์ขุ่นมัวก็ได้ ทั้งนี้เพราะอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโลก มันเป็น อนิจฺจํ หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขํ เป็นอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจหรือทรงไว้ไม่ได้ เราก้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ ในที่สุดก็ต้องนึกว่าเป็น อนตฺตา สิ่งเหล่านี้ไม่มีการทรงตัว นี่เราจะต้องมีสติสัมปชัญญะว่าเวทนาที่เราเสวยอยู่ อารมณ์ที่เราทรงอยู่เป็นของไม่แน่นอน ขึ้นชื่อว่าอารมณ์ใดเป็นปัจจัยของโลก อารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้เรามีหน้าที่อย่างเดียวโยนทิ้งไป ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกให้วางเสีย แต่ผมไม่อยากจะใช้ ถ้าวางแล้วมันใกล้ตัว เดี๋ยวมันโดดเกาะตัว เป็นอันว่าเราควรใช้ศัพท์ว่าโยนทิ้งมันไป คือปล่อยให้มันไปไกลจากใจของเรา

    วิธีโยนทิ้งเขาทำอย่างไร ก็นั่งคำนึงอยู่เสมอ ตลอดเวลา ว่าอารมณ์ต่าง ๆ ที่เราทรงอยู่แบบนี้ จะเป็นความสุขหรือความทุกข์ก็ตามมันหาสาระอะไรไม่ได้ หาความจริงอะไรไม่ได้ เมื่อไรสภาพร่างกายพัง สิ่งเหล่านี้ที่สร้างความสุขใจให้แก่เรา เรามีบ้านสวย ๆ มีตึกสวย ๆ มีรถยนต์งาม ๆ หรือมีคนที่ถูกใจ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเราตายเสียอย่างเดียว มันก็จะหมดจากความเป็นสมบัติของเรา เราไม่มีอำนาจจะนำไปได้ เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารู้เหตุเกิดของเวทนา ว่าเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ก็ตามต้องพยายามรู้ไว้ว่า อาการอย่างไหนเป็นปัจจัยของความสุข อาการอย่างไหนเป็นปัจจัยของความทุกข์ ปัจจัยของความสุขก็มี คือว่าถ้าเราสร้างความสุขให้แก่คนอื่น เราก็รับผลคือความสุขในปัจจุบัน ตัวอย่างที่เราเห็นง่าย ๆ ถ้าเราพบหน้าใครเรายิ้มให้เขา เขาก็ยิ้มรับ เรายกมือไหว้เขา เขาก็ยกมือไหว้ตอบ เราแสดงความเป็นมิตรกับเขา เขาก็แสดงความเป็นมิตรกับเรา นี่ว่ากันถึงคนที่มีอารมณ์ใกล้ ๆ จะถึง ๑๐๐ % สักหน่อยนะ คนที่มีอารมณ์ขาดจากความเป็นคนมาก ๆ อันนี้ไม่รับรองเหมือนกัน มาอีกด้านหนึ่ง ถ้าเราต่างด่าเขา เขาก็ด่าเรา เราตีเขา เขาก็ตีเรา เราประกาศตัวเป็นศัตรูกับเขา เขาก็ประกาศตัวเป็นศัตรูกับเรา

    นี่เราจะรู้ได้ว่าเหตุที่เป็นปัจจัยให้เรามีความสุขก็คือความดี ถึงแม้ว่าความดีนี้จะเป็นอารมณ์ของชาวโลก มันจะไม่ทรงตัวนานก็ตาม เพราะว่าเป็นการประคับประคองจิตให้มีความสุขอยู่ขณะให้จิตเข้าฌานโลกีย์ ไม่มีความรุ่มร้อน องค์สมเด็จพระทศพลให้ควบคุมกำลังใจ สร้างความดีกับเพื่อนร่วมโลกกันเข้าไว้ จิตใจของเราก็จะมีความสุขชั่วคราว ที่ผมบอกว่าสุขชั่วคราวก็เพราะว่า มีความสุขชั่วขณะหนึ่งที่เราทรงชีวิตอยู่ แต่ว่าความสุขประเภทนี้ ถ้าเรามีความประมาทคิดว่าเรามีความสุข เรามีทรัพย์สมบัติมาก เรามีเพื่อนเป็นที่รัก มีของเป็นที่รักอยู่มากก็มีความสุข และเราลืมคิดถึงตัวท้าย ตัวปลาย คือความดับไปของเวทนา นี่พระพุทธเจ้าให้แสวงหาตัวดับไปของเวทนา เป็นตัวพิเศษ ท่านบอกอย่างนั้น ความดับของเวทนา ไอ้เวทนาตัวนี้ที่มันเป็นชาวโลก มันดับไปทางไหน ก็ดับกันตรงที่เราตาย เวลาที่เรามีชีวิตอยู่ดีใจว่าคนนี้เป็นสามี ดีใจว่าคนนี้เป็นภรรยาที่ดี ดีใจว่าลูกของเรามีความกตัญญูกตเวที มีความประพฤติดี ประพฤติชอบ ดีใจว่าทรัพย์สินทั้งหลายที่เราหามาได้บริบูรณ์สมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง แต่ว่าพอเราตายเสียอย่างเดียวสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราขาดสิทธิ์ ไม่มีสามีเราหรือภรรยาเรา อาจจะเป็นของใครเสียเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะเราหมดสิทธิ์ในการบังคับ ลูกเขาจะเลิกรักเราเสียเมื่อไหร่ก็ได้ ทรัพย์สินทั้งหลายทั้งหมด ที่เราหามาก็มีคนอื่นที่มีสิทธิ์ในการปกครองเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะว่าเราตายแล้ว

    ทีนี้องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงแนะนำให้เราดับเวทนา อาการที่จะดับเวทนา คือ อาการที่ไม่ยึดถือคือว่าการวางอารมณ์ถือว่า เวทนาประเภทนี้มันไม่มีการทรงตัว มันเป็นอารมณ์ของชาวโลก มันติดอยู่กับกาย ถ้ากายของเราดับไปเมื่อไหร่ สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี ที่ประกอบไปด้วยกายมันก็ดับเมื่อนั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรมให้คิดไว้เสมอว่า เวทนานี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในเวทนา เวทนาไม่มีในเรา ไอ้เรามันดันรู้สุขรู้ทุกข์ มาคิดว่าเวทนานี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในเวทนา เวทนาไม่มีในเรา ใครเป็นคนรู้ความรู้สึกของเวทนา เราก็ต้องตอบว่าเรา และถ้าพระพุทธเจ้ามาพูดแบบนี้เราจะเข้าใจแบบไหน เราก็ต้องไปนั่งนึกดูอีกทีว่า ไอ้เรานี่มันคือใคร ใครคือเรา คำว่าเราคือใคร ใครคือเรานี่ก็ดูร่างกายทั้งหมดนี่ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา เพราะว่าพระพุทธเจ้าบอกแล้วว่า รูปก็ดี เวทนาคือความเสวยอารมณ์ก็ดี สัญญาความจำก็ดี สังขารอารมณ์ที่ปรุงแต่งใจก็ดี วิญญาณความรู้สึกในอาการสัมผัสก็ดี ทั้ง ๕ ประการนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เราก็ดูต่อไปว่าสิ่งทั้ง ๕ ประการ ที่เราเรียกว่าเราเป็นของเรานั้น มันเป็นเราเป็นของเราหรือเปล่า สิ่งทั้ง ๕ ประการนี้ที่เราเรียกกันว่าร่างกายมีความรู้สึก คือว่าร่างกายที่เราใช้มันได้อยู่นี่เรียกว่าขันธ์ ๕ ทีนี้พอร่างกายที่เราใช้มันได้นี่ มันตายปุ้บลงไป เราไม่เคยตายช่างมัน เคยตายมาแล้วแต่จำไม่ได้ก็ช่างมัน เราเอาตรงที่ชาวบ้านเขาตายให้เราดู พอเขาตายแล้ว คนทุกคนไม่ชอบเจ็บ เวลาตายไปแล้วเขาเอามีดไปเฉือน ถ้าเรามีชีวิตอยู่เราต้องดิ้นรนพยายามหาทางหนี แต่ทว่าคนตายแล้วมันไม่หนี ใครจะเชือดก็เชิญ ใครจะมัดก็เชิญ ใครจะเอาไฟไปเผาก็เชิญ ตรงนี้มันไม่หนีแล้ว ร่างกายของเรามีอุปมาคล้าย ๆ กับประหนึ่งว่าขอนไม้ วางทิ้งไว้กลางป่า นี่โดยเฉพาะร่างกายนะ ถ้าเรามีจิตไม่ควบคุม เป็นอันว่าพอตายแล้วความรู้สึกใด ๆ ไม่มี เมื่อตายแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้บอกถึงที่สุดแค่นั้นนี่ มันมีนรกเป็นที่ไป มีสวรรค์เป็นที่ไป มีพรหมเป็นที่ไป มีนิพพานเป็นที่ไป ท่านบอกว่าคนที่ความดีแล้วตายไปสู่สุคติ ถ้าดีเล็กก็ไปเป็นเทวดา ถ้าดีขนาดกลางก็ไปเป็นพรหม ถ้าดีทั้งตัวก็เป็นอรหันต์ไปนิพพาน ถ้าหากว่าเราสร้างความระยำไว้มาก เวลาจะตายจิตเกาะความระยำไปสู่อบายภูมิไปเกิดในนรกบ้าง เปรตบ้าง อสุรกายบ้าง สัตวเดรัจฉานบ้าง

    ทีนี้เรามานั่งดูว่าถ้าร่างกายนี่มันเป็นเราเป็นของเรา

    แสงสว่างนี้ นำมาจากขันธ์ ๕ จาก คำสอน พระราชพรหมยาน

    โมทนาสาธุคะ
     
  7. มะหน่อ

    มะหน่อ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    1,652
    ค่าพลัง:
    +1,210
    แปลกนะครับ
    ท่านลากไปเรื่องของรูป
    แล้วไปเรื่องเวทนา
    บวกกับตัวเชื่อมคืออารมณ์นี่ว่าไปจิตแล้วหรือไม่อย่างไร
    แล้วลากกลับมายังกายอีก

    ว่ากายนี้ตายแล้วลงนรก
    หรือไม่อย่างไร
    ผมอ่านต้นแล้วสุดท้าย

    ทำไมวนมาลงที่ความตายอีกละครับ
    ที่กายตาย

    เวทนาก็ยังเหลืออยู่หรือไม่อย่างไร
    หรือจิตเหลืออยู่
    หรือที่ว่ารู้ธรรมนั้นธรรมไหน

    ต้องเวียนว่ายอีกหรือไม่

    หากรู้เรื่องกายแล้วว่ากายนี้ไม่ใช่เราแล้ว
    เวทนานี้ของเราไหมรู้ได้อย่างไร
    จิตนี้ของเราไหมรู้ได้อย่างไร
    ธรรมนี้ของเราไหมรู้ได้อย่างไร

    เราศึกษาตามครูบาอาจารย์ท่านแล้วเราตามท่านทันหรือยัง
    ทำอย่างไรเราจะเป็นดังนั้นเห็นดังนั้นตามท่านกล่าว
    เห็นตรงเห็นตามหรือเห็นข้างหรือเห็นอย่างกลางๆ

    เอากายก่อน
    ท่านเข้าของกระทู้นี้ผ่านมาเยอะเรื่องแล้ว
    แต่สับสนหรือไม่
    หรือติดกับติดกวมติดกวามหรือความหรือพัฒนามาเป็นกามแล้วไปติดพยาบาท
    ตามไปฟุ้งแล้วง่วงแล้วสุดท้ายลังเลสงสัยอยู่ว่า

    หากเราตายไปรอบหนึ่งแล้วเรื่องกายที่กล่าวในชั้นปอสี่
    เสร็จแล้วไม่ตายอีกหรือไม่ในชั้นอื่น
    หรือพวกที่กลัวสาระพัดเมื่อตัดโลกไม่ได้แล้วบอกว่ารู้ธรรมอย่างไร

    วนไปวนมากลับมาโลกอีกเรื่องกาย

    ผมแทงเลยนะครับท่านอยู่ในโลกของเวทนาอยู่

    และตรงนี้อร่อย

    ทานให้ทั่วก่อน ชมและจมให้จบแล้วท่านจะเข้าใจว่านี่แหละเวทนา
    พอจบเรื่องนี้แล้วท่านไปดูเรื่องต่อไปอีกก็ก้าวไปตามกัน
    ความจริงไปตามกันแต่เราไม่รู้

    กว่าจะรู้ก็แทบไม่เหลืออะไร

    หรือเหลือทางโลกน้อยลงทางธรรมรู้สึกว่าได้มามากขึ้น

    สุดท้ายใครอยากไม่เหลืออะไรเลยก็เล่นจนไม่เหลือหรือไม่อย่างไร

    ถามว่าจะหมดทั้งตัวหัวใจอีกกี่ครั้งกี่รอบกี่หนก็ลองเล่นดูเดี๋ยวก็รู้

    หากให้แน่จริงก็เหลือกะลาใบเดียวที่ต้องขอเขากินเป็นที่แน่นอนของจริง
    เพราะเราท่านละแล้วเรื่องโลกหรือไม่อย่างไร
    ความจริงน่าจะตั้งว่าสับสนหรือสนสับมากกว่าหรือไม่อย่างไร

    หากท่านยังกลัวตายอยู่ก็คงไปไม่ไกลขอรับ
    ตายไม่กลัวคงกลัวกะลาขอทานมากกว่าเพราะไฮโลคงไม่โลต่ำเอี่ยวหรือสามต่ำแน่นอน

    หากท่านเอาธรรมของท่านเองมาแสดงกระผมว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพือ่นไม่มากก็น้อย
    พอเป็นเป้าทีไหนเอาลิ่วล้อมารับเป้าแทนทุกทีน่าสงสารสตันแมนขอรับ

    ขอท่านเจริญในธรรมยิ่งแล้วขอรับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...